Wednesday, 2 July 2025
POLITICS

ครม.ตั้งคนพรรค รวมพลังประชาชาติไทย นั่ง ผู้ช่วยรัฐมนตรี - ยัน มหาดไทย ยังไม่ชง โผ ปลัดมท.-ผวจ. เข้าครม.

น.ส. ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติ อนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้ง นางสาวเก็จพิรุณ เกาะสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาการพาณิชย์ (นักวิชาการพาณิชย์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 

ครม.เห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายดนุช ตันเทอดทิตย์ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง 

ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง นางสาวศิริพร บุญชู เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเกษตรในคณะกรรมการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป

ครม.เห็นชอบตามที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เสนอแต่งตั้ง นายประเวทย์ ตันติสัจจธรรม ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล) แทนผู้ที่ลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในวันนี้ครม.ไม่มี การพิจารณาวาระแต่งตั้งโยกย้าย ของ กระทรวงมหาดไทย ทั้ง ตำแหน่งปลัดกระทรวง และผู้ว่าราชการจังหวัด แต่อย่างใด

ครม. ทุ่มกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ให้สปสช.ดูแลผู้ป่วยโควิด- เยียวยาผู้เสียหายจากวัคซีน ย้ำ เร่งประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์-เงื่อนไขให้ปชช.ทราบ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติวงเงิน 13,026 ล้านบาท ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)เป็นค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการ สถานพยาบาล ที่ให้บริการสาธารณสุขโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับประชาชนทุกสิทธิ ระหว่างเดือนส.ค. - ก.ย.2564 ในกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 3,508,060 ราย ประกอบด้วย 1.กลุ่มเสี่ยงที่ได้รับการตรวจคัดกรองไวรัสโควิด-19 จำนวน 3,392,800 ราย  2.ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับบริการสาธารณสุข จำนวน 114,500 ราย และ 3.ผู้ได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีนโควิด-19  จำนวน 760 ราย 

นายอนุชา กล่าวว่า โครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของสปสช.จะช่วยลดงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลในภาพรวม เนื่องจากเป็นโครงการลงทุนให้เกิดการบริการตรวจคัดกรองหรือป้องกันไม่ให้เกิดการติดโรค มีต้นทุนค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษาเมื่อป่วยแล้ว เป็นหลักประกันทางสังคมด้านสุขภาพสำหรับประชาชนไทย ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ให้สปสช.เร่งประชาสัมพันธ์กับประชาชน รับทราบถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อภายใต้สวัสดิการต่างๆของภาครัฐ รวมทั้งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาแนวทางการจัดบริการตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชน เพื่อสนับสนุนให้แต่ละภาคส่วนสามารถจัดบริการป้องกันการติดเชื้อเชิงรุกในชุมชนได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพต่อไป

จีนออกกฎกติกาเข้มด้านการศึกษาหลายข้อที่สะท้อนความเป็น “ระบบแบบจีน” แล้วจีนทำเพื่ออะไร ?

#ระบบแบบจีน เน้นลดเหลื่อมล้ำการศึกษา​ ตัดไฟแต่ต้นลม เพื่อลดอิทธิพลฝรั่ง

จีนออกกฎกติกาเข้มด้านการศึกษาหลายข้อที่สะท้อนความเป็น “ระบบแบบจีน” แล้วจีนทำเพื่ออะไร ?

ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีนจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้วิเคราะห์ไว้ในเฟซบุ๊ก Aksornsri​ Phanishsarn ดังนี้...

ทางการจีนได้ออกกฎระเบียบล่าสุดที่กำหนดให้ธุรกิจด้านการศึกษา และบริษัทเทคโนโลยีด้านการศึกษา หรือ Edu Tech รวมไปถึงโรงเรียนกวดวิชาต่าง ๆ ในจีนต้องเป็น “องค์กรไม่แสวงหากำไร”

กฎใหม่ของจีนนี้ส่งผลให้หุ้นของบริษัท EduTech ของจีนร่วงลงอย่างหนักมาตั้งแต่วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม 2564

จีนทำเพื่ออะไร ดร.อักษรศรี​ วิเคราะห์ว่า หากพิจารณาจากมุมของรัฐบาลจีน จะพบว่า นี่คือ ความพยายามจะลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในจีน เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามไปสร้างปัญหาทางสังคมอื่น ๆ ตามมา

ดร.อักษรศรี​ ให้ข้อสังเกตว่า ทางการจีนมักจะ “ตัดไฟแต่ต้นลม” และตัดวงจรก่อนปัญหาอื่น ๆ จะตามมา

กฎใหม่ของจีนที่ออกมาก็เพื่อจัดการกับโรงเรียนกวดวิชาและบริษัท Edu Tech ทั้งหลายที่เน้นธุรกิจมากจนสร้างความเหลื่อมล้ำให้ชาวจีนส่วนใหญ่ที่ไม่มีเงินจ่ายให้ลูกหลานตัวเองเข้าติวกับธุรกิจกวดวิชาเหล่านี้

นอกจากนี้ ทางการจีนต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านการเลี้ยงดูบุตรหลาน และลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา (เช่น ต้องส่งลูกเข้าโรงเรียนกวดวิชา) ของผู้ปกครอง เพื่อจูงใจให้คนจีนยอมมีลูกมากขึ้น ตาม​ "นโยบายลูกสามคน” เพื่อรับมือปัญหาผู้สูงอายุ Aging Society ของจีนในอนาคตด้วย

ดร.อักษรศรี ยังย้ำประเด็นที่น่าสนใจ คือ ภายใต้กฎใหม่ จะมีการห้ามนำหลักสูตรของต่างชาติมาสอนในโรงเรียนเหล่านี้และห้ามจ้างครูต่างชาติมาเป็นผู้สอนด้วย ซึ่งจีนดำเนินการอย่างเด็ดขาดมาก และชัดเจนว่า จีนต้องการสร้างเกราะป้องกันไม่ให้ต่างชาติที่อาจจะทำเนียนเข้ามาแทรกแซงปลุกปั่นเยาวชนจีน

อย่างไรก็ดี ดร.อักษรศรี​ ชี้ให้เห็นว่า เหรียญมีสองด้าน ทางการจีนที่เป็น Regulator ทำเช่นนี้ ก็ถูกตั้งคำถามว่า จะเป็นการปิดกั้นหรือดับฝันการเติบโตของอุตสาหกรรมการศึกษาและ Edu Tech ของจีนหรือไม่ รวมไปถึงประเด็นคนรุ่นใหม่และ Startup จีนจะถูกควบคุมมากเกินไป หรือไม่?

ดร.อักษรศรี ได้สรุป สาระสำคัญภายใต้กฎใหม่ด้านการศึกษาของจีน ไว้ดังนี้...

1.) ธุรกิจ Edu Tech และสถาบันกวดวิชาจะไม่ได้รับอนุญาตให้ระดมทุนหรือขายหุ้นสู่สาธารณะ

2.) บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของจีนก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนหรือเข้าซื้อกิจการในธุรกิจดังกล่าวเช่นกัน

3.) เงินทุนจากต่างประเทศจะถูกกีดกันไม่ให้เข้าสู่ภาคการศึกษาของจีนด้วย

4.) ธุรกิจด้านการศึกษาในจีนห้ามนำหลักสูตรของต่างประเทศมาสอน และห้ามจ้างครูต่างชาติ มาสอนในสถาบันการศึกษาของตนด้วย

5.) หน่วยงานกำกับดูแลของจีนจะหยุดการออกใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันกวดวิชาใหม่ ๆ และจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบโรงเรียนกวดวิชาที่มีการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์เข้มงวดยิ่งขึ้น

6.) ควบคุมปริมาณสถาบันกวดวิชาไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป

7.) นโยบายลดการบ้านหลังเลิกเรียน พร้อมห้ามไม่ให้มีการเรียนการสอนในช่วงสุดสัปดาห์

8.) ห้ามใช้หลักสูตรออนไลน์สำหรับเด็กอายุ 6 ปีหรือต่ำกว่า เพื่อลดความตึงเครียดจากการแข่งขันทางการศึกษาของเยาวชนจีน

9.) มีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาควบคุมสถาบันการศึกษาเอกชนโดยเฉพาะเพื่อกำกับดูแลค่าเล่าเรียน และจำกัดเวลาที่เด็กสามารถใช้ในโรงเรียนกวดวิชาไม่ให้มากเกินไป


ที่มา : https://www.facebook.com/1037140385/posts/10223687420627009/?d=n


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

‘ธนกร’ สวนกลับ ‘นพ.ชลน่าน’ อย่าทำตัวไร้เกียรติ ไร้จรรยาบรรณบิดเบือนข้อมูล ปั่นเฟกนิวส์โจมตีรัฐบาลทุกวันเหมือนคนในพรรคที่ไม่มีงานทำ ย้ำวัคซีนไม่ได้หายไปไหน สธ.เตรียมฉีดไฟเซอร์-แอสตร้าฯ เป็นบูสเตอร์เข็ม 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) กล่าวถึงกรณีนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ออกมาเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงข้อมูลวัคซีนเข็ม 3 ของบุคลากรทางการแพทย์ 4 แสนโดสหายไปว่า บอกตรง ๆ ตนผิดหวังกับนพ.ชลน่านอย่างที่สุด ไม่คิดว่าคนที่เป็นหมอจะกล้าบิดเบือนข้อมูล เอาข้อมูลเท็จมาโจมตีรัฐบาล ไร้ซึ่งเกียรติยศ และไร้จรรยาบรรณของแพทย์ที่สุด

ซึ่งในส่วนการของการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็ม 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์เกือบ 7 แสนคนนั้น ขอย้ำให้นพ.ชลน่าน ได้ยินชัด ๆ ว่าวัคซีนไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่ครบหมด โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าจำนวนหนึ่งและไฟเซอร์ไม่ต่ำกว่า 5 แสนโดสให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนตามรายชื่อที่แจ้งไว้ ทุกคนได้บูสเตอร์เข็ม 3 ตามความต้องการ และเรื่องนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกมาชี้แจงอย่างชัดเจนแล้ว แต่นพ.ชลน่าน ก็ยังออกมาโจมตีรัฐบาลอย่างหน้ามืดตามัว เป็นพฤติกรรมที่ไร้คุณธรรมมาก และน่าเศร้าใจมาก ตนแปลกใจมากที่นพ.ชลน่านทำตัวอยากดังเหมือนนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เหมือนไม่มีงานทำในพรรค เลยออกมาโจมตีรัฐบาลทุกเสาร์-อาทิตย์แบบไร้เหตุผลรองรับ เหมือนตั้งระบบไว้ เสียดายจริง ๆ

นายธนกร กล่าวอีกว่า ตนไม่เข้าใจจริง ๆ ว่า ทำไมพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านยังคงพุ่งเป้าโจมตีการทำงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหาโควิด-19 ได้ทุกวัน ทั้งที่ทุกฝ่ายก็ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ บุคลากรทางการแพทย์ก็ทำงานอย่างหนัก แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มมากขึ้น แต่ระบบการแก้ปัญหาก็เป็นระบบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาวัคซีน การเร่งฉีดวัคซีน การเยียวยา รวมไปถึงสิ่งที่นายกได้สั่งการไปไม่ว่าจะเป็น

1.) การเร่งจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้น เพื่อรับผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 ที่มีอาการ ให้เข้าถึงการรักษาและสถานพยาบาลให้มากและเร็วที่สุด

2.) เพิ่มขีดความสามารถโรงพยาบาลสนามที่มีอยู่ในขณะนี้ ให้สามารถรองรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงให้มากขึ้น

3.) เห็นชอบแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Isolation - HI) และการดูแลผู้ป่วยในชุมชน (Community Isolation - CI) อย่างเป็นระบบ โดยจัดให้มีทีมแพทย์คอยติดตามอาการ ชุดเวชภัณฑ์และยาที่จำเป็นเพี่อคัดแยกผู้ป่วย ลดการแพร่เชื้อภายในครอบครัวและชุมชน สำหรับผู้ป่วยที่สามารถกักตัวที่บ้านได้ (HI) จะมีการจ่ายยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจน สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้จะนำส่งศูนย์พักคอย หรือ (CI) ซึ่งกรุงเทพมหานครจะได้จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อให้ครบทั้ง 50 เขต

4.) มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาร่วมช่วยเหลือ สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รวมถึงการจัดส่งอาหารและยาให้ผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวที่บ้านและที่ชุมชนในแต่ละวันอย่างต่อเนื่อง

5.) ให้รัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยประสานผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวในภูมิลำเนาได้ ตามมาตรการสาธารณสุขที่กำกับการเคลื่อนย้ายทุกขั้นตอน เพี่อลดปัญหาการได้เข้ารับการรักษาในพื้นที่ กทม. ที่มีข้อจำกัดเรื่องเตียง

6.) สนับสนุนทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุก (Comprehensive Covid-19 Response Team) หรือ CCRT อย่างต่อเนื่อง โดยจะดำเนินการลงพื้นที่ทั้ง 50 เขต เพื่อตรวจคัดกรองเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนให้ครอบคลุมและทั่วถึง เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเร็วที่สุด

และ 7.) ปรับปรุงระบบการรับเรื่องผ่านโทรศัพท์สายด่วนต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้สามารถประสานข้อมูลร่วมกัน เพื่อนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว

“ความจริงตนรู้สึกเบื่อมากที่จะต้องออกมาเสมือนตอบโต้กันไปมา แต่ตนก็มีความจำเป็นที่จะต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงให้พี่น้องประชาชนได้ทราบ เพราะมีการบิดเบือนข้อมูล ปั่นเฟกนิวส์กันทุกวัน ทุกนาที และท่านนายกฯ เองก็ให้ความสำคัญในเรื่องการชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกบิดเบือนให้ประชาชนเข้าใจ โดยกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องออกมาชี้แจงให้ทันสถานการณ์ นาทีต่อนาทีเช่นเดียวกัน เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนไม่ให้เกิดความสับสน เข้าทางฝ่ายที่ต้องการออกมาโจมตีโดยไม่มีจิตสำนึกของความเป็นคนไทย หรือไม่มีจรรยาบรรณอย่างหมอบางคนที่หันมาเอาดีทางด้านการเมือง”


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“องอาจ” เสนอเร่งเพิ่ม Community Isolation รองรับผู้ติดเชื้อที่ผ่านการตรวจ ATK แล้ว

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคและประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดตรวจหาเชื้อแบบ ATK (Rapid Antigen Test Kit) แล้วพบว่ามีผลเป็นบวกให้เข้าระบบกักตัวที่บ้าน หรือกักตัวที่ชุมชนเลย โดยไม่ต้องผ่านการตรวจแบบ RT-PCR ก่อน เหมือนที่ผ่านมาว่า เห็นด้วยกับวิธีการนี้ที่จะช่วยทำให้ผู้ติดเชื้อจากการตรวจ ATK เบื้องต้นมีที่แยกตัวไปอยู่เฉพาะในฐานะเป็นผู้ติดเชื้ออยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสจะนำเชื้อไปแพร่ระบาดที่อื่นต่อไปได้ถ้าไม่มีที่รองรับที่ชัดเจน

เพราะที่ผ่านมาผู้ผ่านการตรวจ ATK จะเข้าสู่การรักษาได้ต้องผ่านการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR ก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการตรวจและต้องรอผลตรวจ 1-2 วัน จึงทำให้ผู้ติดเชื้อจากการตรวจ ATK ไม่มีที่รองรับระหว่างที่รอ ต้องกลับบ้านไปใช้ชีวิตปกติ ถ้าเป็นคนยากคนจนที่ต้องหาเช้ากินค่ำก็ต้องออกไปทำงานหารายได้ ทำให้มีโอกาสออกไปแพร่เชื้อเพิ่มมากขึ้น

ที่ผ่านมาพวกเราอดีต ส.ส. อดีต สก. สข. ตัวแทนพรรคที่ทำงานดูแลชาวบ้านในพื้นที่พบเห็นปัญหานี้มาโดยตลอด และพยายามแจ้งให้ผู้รับผิดชอบรีบแก้ไข วันนี้จึงเห็นด้วยที่ ศบค. แก้ไขให้ผู้ป่วยที่ตรวจหาเชื้อแบบ ATK หากผลเป็นบวกให้ติดต่อโรงพยาบาลที่ทำการตรวจเพื่อนำเข้าสู่ระบบ Home Isolation หรือการกักตัวที่บ้าน และ Community Isolation หรือการแยกกักตัวที่ชุมชน

แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก็คือผู้ติดเชื้อที่อยู่ในชุมชนแออัดซึ่งมักอยู่แออัดกันหลายคนในห้องเล็กๆ ทำให้ใช้ระบบกักตัวที่บ้านไม่ได้แน่นอน คนกลุ่มนี้จึงควรนำเข้าระบบ Community Isolation หรือการแยกกักตัวที่ชุมชน โดยมีข้อเสนอให้ ศบค. พิจารณาดังนี้

1. เร่งเพิ่มจำนวนสถานที่แยกกักตัวที่ชุมชนให้เพียงพอ เพราะมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่ผ่านการตรวจหาเชื้อแบบ ATK จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
2. สถานที่แยกกักตัวที่ชุมชนต้องมีความพร้อมที่จะดูแลผู้ติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ
3. สถานที่แยกกักตัวที่ชุมชนบางแห่งอาจมีผู้ติดเชื้อที่รอผลตรวจ RT-CPR อยู่ก่อนแล้ว เมื่อมีผู้ติดเชื้อเข้ามาใหม่ อาจต้องมีการจัดการไม่ให้ปะปนกัน เพราะคนกลุ่มนี้ทั้งหมดเมื่อตรวจ RT-PCR อย่างละเอียดแล้วอาจมีผลเป็นผู้ไม่ติดเชื้อก็ได้

เชื่อมั่นว่าข้อเสนอจากการพบเห็นปัญหาจากการปฏิบัติจริงในพื้นที่เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของทางราชการและผู้เกี่ยวข้องเพื่อช่วยให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ชะลอตัวลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อันจะทำให้สถานการณ์วิกฤตโควิดคลี่คลายได้ในที่สุด

ศปฉ. ปชป. ตัวกลางประสาน รพ.ต้นสังกัด- ชุมชนคลองเตย เร่งหารือกรณีรักษาส่งต่อผู้ป่วยโควิด และทำความเข้าใจร่วมกัน สร้างโมเดลชุมชนเข้มแข็ง ผนึกกำลังชุมชน-โรงพยาบาล

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าทีมประสานข้อมูลผู้ติดเชื้อเพื่อการส่งต่อ ศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 พรรคประชาธิปัตย์ (ศปฉ.ปชป.) และนายปานชัย แก้วอัมพรดี ประธาน อพม. กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่คลองเตย เมื่อวานนี้ (26 ก.ค.) เพื่อเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างตัวแทนชาวชุมชนคลองเตย และโรงพยาบาลต้นสังกัดย่านกล้วยน้ำไท ที่ประชาชนส่วนใหญ่ถือสิทธิบัตรทองอยู่ เพื่อเร่งหารือและทำความเข้าใจร่วมกันถึงแนวทางการส่งต่อผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หลังผู้ป่วยเคสสีเหลือง-แดงในพื้นที่ประสบปัญหาเรื่องการตรวจ PCR และประสานเตียง

สืบเนื่องจากกรณีที่ก่อนหน้านี้มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อแบบ Rapid Test ในชุมชนคลองเตยเป็นผู้สูงอายุจำนวน 2 ราย ที่มีอาการเหนื่อยหอบ และต้องการเข้าไปรับการรักษาต่อในสถานพยาบาลอย่างเร่งด่วนซึ่งจำเป็นต้องใช้ผลการตรวจแบบ PCR เพื่อทำเรื่องประสานเตียง แต่ทางโรงพยาบาลต้นสังกัดยังไม่มีคิวให้ตรวจ และทางผู้ป่วยไม่สามารถกลับเข้าสู่ชุมชนได้ เนื่องจากอยู่รวมกันอย่างแออัด อาจเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย และนายปานชัย แก้วอัมพรดี จึงได้ลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นที่เรียบร้อย

ทั้งนี้นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ในฐานะผู้ที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนคลองเตยมาโดยตลอด ได้รับทราบถึงความเดือดร้อนดังกล่าว จึงได้เป็นตัวกลางในการจัดพื้นที่พูดคุยระหว่างประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลย่านกล้วยน้ำไทและตัวแทนชุมชนคลองเตย เพื่อรับทราบถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งข้อจำกัดของโรงพยาบาล เพื่อหาทางออกร่วมกัน ในกรณีที่ผู้ป่วยอาการรุนแรงขึ้น ไม่สามารถกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ได้อีกต่อไป ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ขณะนี้โรงพยาบาลประสบปัญหาเตียงเต็ม หากผู้ป่วยอาการอยู่ในระดับสีเขียว ยังคงขอความร่วมมือให้กักตัวอยู่บ้าน แต่หากมีอาการอยู่ในระดับสีเหลือง - แดง ทางโรงพยาบาลจะทำการตรวจ PCR ให้ตามคิว เพื่อทำเรื่องส่งต่อผู้ป่วยให้เข้ารับการรักษาโดยจะพิจารณาตามความต้องการเร่งด่วน

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กล่าวว่า ความสำเร็จในการพูดคุยกันวันนี้ คือสามารถช่วยประสานงานให้ทางโรงพยาบาลมีตัวกลางที่ชาวชุมชนคลองเตยสามารถติดต่อสื่อสารได้ตลอดเวลา และช่วยปรับความเข้าใจระหว่างคนในพื้นที่ รวมถึงความคลายกังวลของประชาชนลงไปได้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ปัญหาการขาดแคลนเตียงยังคงมีอยู่ ประชาชนต้องกักตัวที่บ้านเป็นหลัก จึงอยากเน้นย้ำให้รัฐบาลเร่งการนำเข้าและแจกจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ให้แก่ผู้ติดเชื้อระดับสีเขียวโดยเร็วก่อนที่จะแย่ลงและจำเป็นต้องใช้เตียงในภาวะที่ขาดแคลน

ด้านนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจตรงกัน ชุมชนเข้มแข็งจะสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิดในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ทั้งการประสานงานเรื่องเตียงได้เป็นระบบ แยกผู้ติดเชื้อออกจากครอบครัว และลดการแพร่เชื้อในชุมชนได้ ช่วยสร้างโมเดลความร่วมมือระหว่างชุมชนกับโรงพยาบาล และชุมชนก็พร้อมดูแลตัวเองรวมถึงรับเคสสีเหลืองที่รักษาหายจนกลายเป็นเขียวกลับไปรักษาตัวต่อในชุมชนจนหายดี ช่วยลดภาระโรงพยาบาลและภาระทางด้านสาธารณสุขของภาครัฐอีกด้วย

ศรีสุวรรณ จี้ ป.ป.ช. สอบ จ.บุรีรัมย์ทั้งจังหวัด ปมฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ตำรวจ บอก อนุทิน ต้องอธิบายสังคม

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า กรณีเพจเฟซบุ๊ก สภ.บ้านใหม่ไชยพจน์ จ.บุรีรัมย์ โพสต์ข้อความระบุว่า มีข้าราชการตำรวจ 11 นาย ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กับทางสาธารณสุขอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ โดยมีเจ้าหน้าที่ รพ. ดำเนินการให้ จนมีประชาชนจำนวนมากในโชเชียลตั้งคำถามว่า ทำไมตำรวจถึงได้รับการฉีดวัคซีนเข็ม 3 พร้อมบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ทั้งๆที่คนไทยกว่า 50 ล้านคนยังไม่ได้ฉีกเลยสักเข็มเดียวนั้น

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวแม้ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์จะแก้เกี้ยวโดยการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาแล้ว แต่ทว่าจากการให้สัมภาษณ์ของผู้บังคับการตำรวจบุรีรัมย์กลับชี้แจงว่า เป็นการใช้วัคซีนเหลือก้นขวด และใช้ฉีดให้กับตำรวจด่านหน้าที่ไปรับผู้ป่วยกรุงเทพฯกลับบ้านตามโครงการทำดีด้วยหัวใจสู้ภัยโควิดด้วยศรัทธาเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมยังแคลงใจและฟังไม่ขึ้น

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การกระทำดังกล่าว เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไม่ต้องสงสัย และเป็นการตอกย้ำข้อเท็จจริงที่ก่อนหน้านี้รายงานของทีดีอาร์ไอที่ระบุว่า “การกระจายวัคซีนบิดเบี้ยวไม่เป็นไปตามลำดับความสำคัญตามยุทธศาสตร์ ดังปรากฏว่า บางจังหวัดเช่นบุรีรัมย์มีการฉีดวัคซีนมากเป็นลำดับที่ 11 ของประเทศ ณ วันที่ 7 ก.ค. โดยมีการฉีดวัคซีนทั้งหมดประมาณ 3 แสนเข็มหรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากร แม้ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีการระบาดสูง ไม่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวหลักและไม่อยู่ในกลุ่มจังหวัดที่มีความเร่งด่วนในการได้รับวัคซีนตามแผนการกระจายวัคซีนที่กรมควบคุมโรคได้ประกาศ” ซึ่งกรณีดังกล่าว รมว.สาธารณสุข และหน.พรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีฐานที่มั่นทางการเมืองอยู่ จ.บุรีรัมย์ต้องมีคำตอบให้กับสังคมในเรื่องนี้

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าว หากปล่อยให้การจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นไปโดยอำเภอใจของฝ่ายการเมืองและข้าราชการเส้นใหญ่บางจำพวกหรือพวกมือที่มองไม่เห็น การกระจายวัคซีนที่ควรจะเป็นไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมให้กับคนทั้งประเทศก็คงจะบิดเบี้ยวต่อไป การป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ก็คงจะยากและมีผลสัมฤทธิ์น้อยเต็มที หากสังคมไม่ร่วมกันกระชากหน้ากากของผู้ที่สั่งการ และหรือผู้ที่ชอบเชลียร์เอาใจนายจนมองข้ามความจำเป็นเร่งด่วนที่คนไทยกว่า 50 ล้านคนยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เลยแม้สักเข็มเดียวได้

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ม.27 ประกอบ ม.47 โดยตรง อีกทั้งอาจเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการฯ ตามกฎหมายของ ป.ป.ช.โดยชัดแจ้ง สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงส่งเรื่องไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.เพื่อให้ไต่สวนและวินิจฉัยเอาผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่สั่งการให้มีการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับตำรวจในจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างของความไม่เป็นธรรมตามครรลองของกฎหมาย

“วิโรจน์” แนะ ศบค.เร่งทำ 3 ข้อ เพื่อประคับประคองสถานการณ์ ซัด บริหารสถานการณ์บกพร่องร้ายแรง ย้ำ ต้องอย่าทำให้ระเบียบราชการและการรอคอยทำปชช.เสียชีวิต 

เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ทำการพรรคก้าวไกล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิสร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีที่รัฐบาลบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดที่บกพร่องอย่างร้ายแรง โดยข้อเสนอดังกล่าวส่งตรงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ล่าสุด มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 14,000-15,000 ราย และเป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 รายต่อวัน ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาถึง 10 วันแล้ว โดยการระบาดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียงแค่ระยะเวลา 15 วัน จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากระดับ 7,000 เป็น 14,000 รายต่อวัน

นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการบริหารจัดการ การจัดหา และจัดฉีดวัคซีน แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้กล้าหาญที่จะออกมากล่าวคำขอโทษกับประชาชนด้วยตนเอง แต่เหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าการออกมาขอโทษประชาชนของผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และเปลี่ยนการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ COVAX Facility เมื่อวันที่ 21 ก.ค. การที่คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มีมติให้จัดหาวัคซีนที่สามารถตอบสนองต่อเชื้อกลายพันธุ์ได้จำนวน 120 ล้านโดส ในปี 2565 พร้อมกับเร่งรัดให้จัดหาวัคซีนภายในปีนี้ ให้ได้ 100 ล้านโดส เมื่อวันที่ 14 ก.ค. การที่ อนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำหนังสือถึง AstraZeneca เพื่อขอให้เขาส่งมอบวัคซีนให้ได้เดือนละ 10 ล้านโดส เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ตลอดจนการยื่นข้อเสนอซื้อวัคซีน Pfizer เพิ่มเติมอีก 50 ล้านโดส เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ก็คือ การที่รัฐบาลได้สารภาพผิดโดยพฤตินัย เพราะจำนนต่อหลักฐาน ซึ่งประชาชนและสังคมก็ได้พิพากษา พล.อ.ประยุทธ์ ,นายอนุทิน และรัฐบาลนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“การบริหารจัดการด้านวัคซีน ผมก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะสำนึกในบาปบุญคุณโทษ ที่ได้ก่อกรรมทำเข็ญเอาไว้กับประชาชน และเร่งใช้ความสามารถทางการทูต และการเร่งรัดติดตามอื่นๆ เพื่อนำเอาวัคซีนที่มีประสิทธิผลต่อสถานการณ์การระบาด มาฉีดให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด การดำเนินการดังกล่าว แม้ว่ารัฐบาลจะกลับเนื้อกลับตัวได้แล้ว ก็ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ สิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ มีมากกว่าผู้ที่หายป่วยกลับบ้านถึงวันละ 5,000-8,000 ราย สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การประคับประคองให้จำนวนผู้ติดเชื้อชะลอตัวลง และลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชนให้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่นี้ให้ได้”โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าว 

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ตนมีข้อเสนอแนะต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. จำนวน 3 ข้อ คือ 1.เร่งใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ตรวจประชาชนให้มากที่สุด และจัดสรรให้ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่สีแดง สามารถนำเอาบัตรประชาชนมาขอรับ เพื่อนำไปใช้ตรวจวินิจฉัยตนเองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ได้สัปดาห์ละ 1 ชุด โดยสามารถลงทะเบียนขอรับผ่านทางไปรษณีย์ หรือขอรับด้วยตนเอง ได้ที่หน่วยงานท้องถิ่น หรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย  เช่น สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข พร้อมจุดบริการเสริมต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล องค์กาบริหารส่วนจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ในต่างจังหวัด ทั้งนี้เพื่อลดภาระของกระทรวงสาธารณสุขลง พร้อมให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาอุดหนุน เพื่อให้ราคาของชุดตรวจ Antigen Test Kit อยู่ที่ไม่เกินชุดละ 50 บาท และเร่งจัดหามาให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อได้ตามร้านขายยามาตรฐานทั่วไป

2.ให้รัฐบาลกระจายอำนาจจากกระทรวงสาธารณสุขให้กับหน่วยงานท้องถิ่น และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียว และเหลืองอ่อน เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถทุ่มเท ดูแลรักษาผู้ติดป่วยในกลุ่มสีเหลือง สีแดง และผู้ป่วยในภาวะวิกฤติได้ โดยให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ คือ เร่งจัดทำศูนย์พักคอยเพื่อติดตามอาการ หรือ Community Isolation Center ให้มากที่สุด โดยใช้พื้นที่วัด ศาสนสถาน โรงเรียน ค่ายทหาร และสวนสาธารณะ ตลอดจนสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว และเหลืองอ่อน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 70-75% ที่ไม่สามารถกักตัวรักษาตนเองที่บ้านได้ ระจายเป็นจุดต่างๆ อย่างครอบคลุม ในระดับแขวงเขต ตำบล และอำเภอ

ให้รัฐบาลกระจายอำนาจให้กับหน่วยงานท้องถิ่น หรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ในการดูแลศูนย์พักคอยเพื่อติดตามอาการ เช่น ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้สำนักอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข และสำนักเทศกิจ ทำหน้าที่ดูแล และในพื้นที่ต่างจังหวัดให้ อบต. และอบจ. เป็นผู้ดูแล เป็นต้น

สำหรับผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ และไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาล หากพบว่ากักตัวมาเป็นระยะเวลา 10 วันแล้ว ไม่มีอาการของโรค และสภาพปอดปกติ ให้ผู้ป่วยกลับไปกักตัวรักษาตนเอง หรือทำ Home Isolation ที่บ้าน ให้โรงพยาบาลรับผู้ป่วยในกลุ่มที่เปลี่ยนจากสีเขียว เป็นสีเหลือง จากศูนย์พักคอยติดตามอาการ Community Isolation Center หรือ Home Isolation หรือกรณีใดๆ มารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ภายใต้การกำกับดูแลของโรงพยาบาล โดยห้ามมิให้ปฏิเสธ

และ 3.ให้รัฐบาลตรวจสอบอุปสรรคหน้างานอย่างเร็วที่สุด โดยเฉพาะข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงยาต้านไวรัสอย่างล่าช้า เร่งแก้ไขระเบียบ ลดขั้นตอน และลดงานเอกสารงานธุรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลและการเข้าถึงยาลง ในกรณีที่จำเป็น ก็ต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการแก้ไขปัญหาคอขวดที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ที่เริ่มมีอาการ ตลอดจนผู้ติดเชื้อที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว ได้เข้าถึงยา Favipiravir ได้เร็วที่สุด โดยการวินิจฉัยของแพทย์ ภายใน 4 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการ ซึ่งเป็นไปตามแนวเวชปฏิบัติ ของกรมการแพทย์ ฉบับวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถทำได้เป็นการทั่วไป นี่คือ สิทธิการมีชีวิตรอดของประชาชน ซึ่งไม่ควรต้องสูญเสียไป จากระบบงานธุรการ ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤติ

โดยให้ผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว และสีเหลืองอ่อน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 75% ควรลงทะเบียน โดยได้รับหมายเลขผู้ป่วยนอก (HN) หรือหมายเลขผู้ป่วยใน (AN) โดยเร็วที่สุด ลดเรื่องงานเอกสารธุรการลงทั้งหมด สำคัญที่สุด เมื่อประชาชนพบว่าตนเองติดเชื้อ จากการตรวจโดยใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ประชาชนควรเข้าถึงการรักษาได้ทันที แพทย์สามารถจ่ายยา Favipiravir และยารักษาตามอาการได้โดยทันที การตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR และการตรวจวินิจฉัยอื่นๆ ตลอดจนการตระเตรียมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำ Home Isolation การทำ Community Isolation หรือการรับเข้ารักษาที่โรงพยาบาล
.
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า  รัฐบาลควรจะแก้ไขกฎระเบียบ ให้อาสาสมัครต่างๆ ที่ช่วยประสานหาเตียงให้กับผู้ติดเชื้อ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ศูนย์พักคอยติดตามอาการ Community Isolation Center สามารถที่จะประสานงานกับโรงพยาบาล เพื่อลงทะเบียนให้กับผู้ติดเชื้อได้ และสามารถรับยาที่แพทย์สั่ง มาจ่ายให้กับผู้ป่วยที่อยู่ในศูนย์พักคอยติดตามอาการ รวมทั้ง ‘นำส่งยาที่แพทย์สั่ง’ ให้กับผู้ติดเชื้อที่ทำ Home Isolation หรืออยู่ระหว่างการรอเตียง เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิต ให้น้อยลงที่สุดเท่าที่จะทำได้

ทั้งนี้ ตนข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาศูนย์ล้างไตให้กับผู้ป่วยโควิด-19 การหารือกับ กสทช. ร่วมกับค่ายโทรศัพท์มือถือต่างๆ ให้งดเว้นการตัดสัญญาณโทรศัพท์ และสัญญาณอินเตอร์เน็ต ที่ค้างชำระค่าบริการในช่วงนี้ ซึ่งการระบาดของโรคอย่างรุนแรง เนื่องจาก กระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การประสานงานเพื่อหาเตียง หรือการติดตามอาการผู้ป่วยที่ทำ Home Isolation ล้วนจำเป็นต้องใช้สัญญาณโทรศัพท์ หรือสัญญาณอินเตอร์เน็ต ทั้งสิ้น

“ผมขอฝากไปถึงรัฐบาลก็คือ ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่จำเป็น เช่น ยา Favipiravir ยา Remdesivir หรือยาที่จำเป็นต้องใช้ในห้อง ICU เช่น ยา Nimbex, Propofol หรือ Midazolam รัฐบาลต้องดูแลไม่ให้สต๊อกยา และเวชภัณฑ์เหล่านี้ขาดแคลน และถ้าเป็นไปได้ รัฐบาลต้องมีวิสัยทัศน์ ในการพิจารณานำเข้ายาต้านไวรัสประเภทอื่นที่ผ่านการรับรองมาแล้ว เช่น ภูมิคุ้มกันสังเคราะห์ ที่เรียกว่า Monoclonal Antibody เพื่อให้แพทย์เลือกใช้ในการรักษาชีวิตของประชาชน นี่ไม่ใช่เวลาที่รัฐบาลจะมาประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ ”นายวิโรจน์ กล่าว

นายกฯ สั่ง ทุกส่วนบูรณาการการทำงานร่วมกัน ให้ เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชน รวดเร็ว-ทั่วถึง เน้น ผู้สูงอายุ-กลุ่มเปราะบาง-หญิงตั้งครรภ์ - ขอบคุณบุคลากร ทำงาน อดทน เสียสละ ช่วยคนไทย ต่อสู้กับความท้าทาย

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยและได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ เพื่อลดอัตราการป่วยหนัก และเสียชีวิต 

นายอนุชา กล่าวว่า โดยในช่วงที่ผ่านมา กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) สำนักอนามัย กทม. สำนักงานเขตในพื้นที่ ทหาร ตำรวจ และ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) จัดทีมลงพื้นที่เร่งบริการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ เป็นลำดับแรกก่อน ในชุมชนต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ รวมทั้งได้ให้คำแนะนำแนวทางการป้องกันโรคโควิด-19 ตามมาตรการ D-M-H-T-T ของสาธารณสุข เพื่อลดอัตราการแพร่กระจายของเชื้อ

“จํานวนยอดสะสมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของไทยถึงวันที่ 25 ก.ค. 2564 รวมทั้งสิ้น 15,994,842 ราย จําแนกเป็น ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จํานวน 12,339,985 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จํานวน 3,654,857 ราย สำหรับการฉีดวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มียอดสะสม 5,318,434โดส แบ่งเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 3,341,846 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มจำนวน 988,294 ราย” นายอนุชา กล่าว

นายอนุชา กล่าวว่า เนื่องจากสถิติของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำและมักมีโรคประจำตัว ถือเป็นกลุ่มเปราะบางอาจทำให้เมื่อรับเชื้อแล้วมีอาการหนัก มีความเสี่ยงจากการเสียชีวิต หน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ ภายใต้การดำเนินนโยบายของรัฐบาล จึงได้เร่งสำรวจเชิงรุกและฉีดวัคซีนให้อย่างครอบคลุม เพื่อปกป้องประชาชนกลุ่มนี้ และนอกจากนี้ โฆษกรัฐบาลกล่าวถึงคำแนะนำเพื่อดูแลผู้สูงอายุ 

นายอนุชา กล่าวว่า โดยให้ยึดหลัก 5 อ. ของ กระทรวงสาธารณสุข ที่ประกอบไปด้วย 1. อาหาร สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ เลี่ยงอาหารหวาน หรือเค็มจนเกินไป โปรตีนสูง เสริมภูมิคุ้มกัน และรักษาสุขภาพช่องปาก 2. อารมณ์ อย่ารับข่าวสารมากเกินไป ทำกิจกรรมที่ผู้สูงอายุชื่นชอบ 3. ออกกำลังกาย ออกกำลังกายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ หรือเท่าที่ทำได้ตามสภาพร่างกาย 4. เอนกายพักผ่อน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมง 5. ออกห่างจากสังคมนอกบ้าน ทั้งผู้สูงอายุและผู้ดูแลควรเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ 

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีรับทราบ และขอบคุณการทำงานของทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน เเละ ภาคประชาสังคม ที่เป็นกำลังสำคัญร่วมกัน อดทน เสียสละ และมีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อช่วยประชาชนคนไทยต่อสู้กับความท้าทายในครั้งนี้ 

“ยุทธพงศ์” ซัด กลับ “เรืองไกร” ตักน้ำใส่กระโหลกชะโงกดูเงาดีจริงหรือยัง พรุ่งนี้จ่อยื่นเพียบ ขอให้ตรวจสอบที่มาเงินซื้อเบนซ์   

ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 มีผู้ใหญ่ใจดีซื้อรถเมอร์เซเดสเบนซ์ s class ให้ ว่า สภาฯแต่งตั้งนายเรืองไกร เป็นกมธ.งบฯ เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2564  ต่อมาวันที่ 1 ก.ค. นายเรืองไกร หิ้วเงินสด 5 ล้านบาท ไปซื้อรถหรูป้ายแดงที่โชว์รูมตรงสถานีรถไฟฟ้าอารีย์ ถ.พหลโยธิน เรื่องนี้นายเรืองไกร ต้องชี้แจงว่าเอาเงินสด 5 ล้านบาท ไปซื้อรถได้แจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หรือไม่ เพราะเป็นการถอนเงินเกิน 2 ล้านบาท และผู้ใหญ่ใจดีคนนั้นเป็นใครถึงได้ให้เงินนายเรืองไกร 5 ล้านบาท ถามว่านายเรืองไกร ได้เงินดังกล่าวมาด้วยความโปร่งใสหรือไม่ หรือเกี่ยวข้องอะไรกับการที่นายเรืองไกร เป็นกมธ.งบฯ หรือไม่ เรื่องนี้นายเรืองไกรต้องชี้แจง ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ระบุว่า ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกมธ. จะเสนอหรือกระทำการใดๆที่มีผลให้ ส.ส. ส.ว. หรือกมธ. มีส่วนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ในการใช้จ่ายงบประมาณจะกระทำมิได้ ซึ่งนายเรืองไกร เป็นกมธ. และเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ รับเบี้ยประชุม จึงต้องชี้แจงที่มาที่ไปของเงิน 5 ล้านบาท ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ท่านห้ามรับเงินเกิน 3,000 บาท เพราะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 

“ผมไม่ได้บอกว่านายเรืองไกร ทุจริตแต่เรียกร้องให้นายเรืองไกร ชี้แจง ซึ่งพรุ่งนี้ (27 ก.ค.) ผมจะยื่นหนังสือถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกมธ.งบฯ และยื่นต่อนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองประธานคณะกมธ.งบฯ เพราะนายวิรัช เป็นหัวหน้าทีมงบประมาณของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งนายเรืองไกร มาในนามของพรรคพลังประชารัฐ จึงจะให้ตรวจสอบว่ามีส่วนได้เสียหรือไม่ นอกจากนี้ จะยื่นต่อปปง. และป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบที่มาที่ไปของเงิน 5 ล้านบาท ในวันที่ 27 ก.ค.นี้ ด้วยเช่นกัน นายเรืองไกรต้องชี้แจง เพราะเป็นนักตรวจสอบ ดังนั้น ต้องโปร่งใส ต้องตักน้ำใส่กระโหลกชะโงกดูเงาตัวเองก่อนว่าโปร่งใสหรือไม่และดีจริงหรือไม่” นายยุทธพงศ์ กล่าว

“ยุทธพงศ์” แจงที่ดินที่ทำการส.ส. อ.พยัคฆพิสัย ใช้ทำรพ.สนาม เป็นของแม่ ลั่น พร้อมให้ตรวจสอบไม่มีอะไรปกปิด ท้า “เรืองไกร” เจอกัน 5 ส.ค. หน้าไทยเบฟฯ เตรียมเสนอขายที่ดิน 100 ไร่ “เสี่ยเจริญ” หวังนำเงินช่วยปชช.ติดโควิด – 19   

ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงตอบโต้กรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 65 เตรียมยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบตนกรณีบริจาคหน้ากากอนามัยให้ประชาชน และยกที่ทำการ ส.ส. ที่ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม ให้ทางราชการไปทำ รพ.สนาม ว่า กรณีหน้ากากอนามัย มีเจ้าสัวใหญ่จิตใจเป็นกุศลให้เอาไปบริจาคช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ คนทางบ้านตนยากจนเงินจะกินยังไม่มี แต่มีเจ้าสัวใหญ่ที่มีเมตตาได้มอบให้ซึ่งไม่มีมูลค่า เพราะหน้าซองก็เขียนว่าฟรี
 
นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีใช้ที่ทำการ ส.ส. พรรคเพื่อไทย เขต 3 อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม ทำรพ.สนาม ขอชี้แจงว่า ได้ใช้ที่ทำการส.ส. เป็นศูนย์ประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กระทรวงมหาดไทย และจังหวัด มาร่วมดูแล เพราะถือว่าเป็นรพ.สนาม ที่เปิดไว้รองรับผู้ป่วยโควิด – 19 ที่มาจากกทม. แล้วไม่มีที่รักษา ส่วนค่าใช้จ่ายต่างๆ นางเตือนใจ จรัสเสถียร มารดาของตน บริจาคให้กับรพ.พยัคฆภูมิพิสัย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลศูนย์แห่งนี้ ทั้งนี้ มารดาของตนเป็นเจ้าของโรงสีที่ใหญ่ที่สุดใน จ.มหาสารคาม ซึ่งมีมานานแล้ว ได้ร่วมกับผู้มีจิตศรัทธาทำเตียงต่างๆ 
 
“ที่ต้องเอาที่ทำการพรรคมาเป็นรพ.สนาม เนื่องจากตอนนี้คนมาจากกทม.ทำให้เตียงในรพ.ล้น แล้วใครจะยอมเสียสละบ้าน เสียสละที่ทำงานของตัวเองให้ แต่มารดาของผมบอกว่าคนเหล่านี้มีบุญคุณ สนับสนุนให้เราได้เป็นส.ส. แม่ทำธุรกิจโรงสี ชาวนาก็เอาข้าวมาขายส่งให้ผมได้เรียนหนังสือ เราจะไปทิ้งเขาได้อย่างไร จึงเสียสละพื้นที่ทำรพ.สนาม ไม่ได้มีความลับอะไร และเป็นที่ดินที่มีมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2516 เป็นที่ดินมีโฉนด ไม่ได้บุกรุกที่หลวง ที่ดินแปลงนี้ได้มาครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2533 เป็นชื่อของบิดาผม ต่อมาโอนเปลี่ยนเป็นชื่อมารดาของผม เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2543 กระทั่งถึงทุกวันนี้ไม่มีอะไรปกปิด และที่ทำการ ส.ส. มีมาตั้งแต่ผมยังไม่เป็น ส.ส. ผมได้บารมีของบิดา มารดา ที่สั่งสมไว้ จึงใช้ที่ตรงนี้ใครจะไปตรวจสอบก็ไปได้ ไม่มีอะไรปกปิด” นายยุทธพงศ์ กล่าว 
  
นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า วันนี้ตนปรึกษามารดาขอให้ขายที่สักแปลง 100 ไร่ ให้เจ้าสัวเจริญ โดยเสนอขายราคา 600 ล้านบาท เพื่อเอาเงินไปช่วยประชาชนที่ติดโควิด - 19 ต้องดูว่าเจ้าสัวเจริญจะช่วยหรือไม่ แล้วขอท้านายเรืองไกร ว่าวันที่ 5 ส.ค.นี้ เวลา 10.00 น. แน่จริงขอให้มาเจอกันหน้า บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ว่าปู่ของภรรยาตนเป็นหุ้นส่วนกับเจ้าสัวเจริญ ชื่อเจ้าสัวโกเมน เคยมีบุญคุณกับเจ้าสัวเจริญด้วย วันนี้ลูกหลานเจ้าสัวโกเมนเดือดร้อนดูว่าเจ้าสัวเจริญจะช่วยเหลือหรือไม่

"สมศักดิ์" ตรวจ คก.ขับเคลื่อนไทย รัฐหนุน ขุดคลองยม-น่าน หวังแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วม จ.สุโขทัย ระยะยาว จี้ กรมชลฯ ออกแบบแก้ปัญหา เตรียมพร้อมเผื่ออนาคต

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่ 3 จังหวัด (กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย ) เปิดเผยว่า จังหวัดสุโขทัยมีปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งทุกปี เมื่อภาคเหนือมีฝนตกมาก ต้นน้ำจาก จ.พะเยา และจ.แพร่ น้ำจะไหลตามแม่น้ำยมมาท่วมที่สุโขทัย แต่โดยปกติแล้วฝนที่ตกใน จ.สุโขทัย มีปริมาณน้อยมาก ประมาณ 1,000 ลบ.มม.ต่อปี เป็นปริมาณที่น้อยกว่าหลายจังหวัดในภาคอีสานด้วยซ้ำ แต่ผู้คนอาจจะเห็นว่าในหน้าน้ำ จ.สุโขทัยมีโอกาสน้ำท่วมบ่อยที่สุด ซึ่งเป็นเพราะน้ำฝนตกที่ตกหนักในจังหวัดอื่นแล้วรวมมาที่สุโขทัย ในขณะนี้รัฐบาลพยายามที่จะจัดการในระบบป้องกันน้ำท่วมให้ ในส่วนของฝั่งซ้ายแม่น้ำยม เรามีคลองยมเก่าที่ไหลจาก อ.สวรรคโลก ผ่าน อ.กงไกรลาศ ไปยัง อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ที่เรียกว่า วอเตอร์เวย์ แต่ปริมาณการไหลของน้ำยังไม่พอ รัฐบาลจึงได้ให้ขุดคลองยม-น่าน เพิ่มเติมอีก 40 กิโลเมตร ตนได้มีโอกาสไปติดตามดูอย่างต่อเนื่อง ที่รัฐบาลดำเนินการตรงนี้ วัตถุประสงค์ข้อแรกคือการระบายน้ำจากสุโขทัย ไป อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ แต่ส่วนที่ตนคิดว่าน่าจะทำเพิ่มเติมคือการสูบน้ำจาก แม่น้ำน่านมายังสุโขทัยในช่วงหน้าแล้งได้

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนจะเสนอให้รัฐบาลติดตั้งการสูบน้ำไหลกลับ ให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้น้ำในหน้าแล้งได้ ส่วนในฝั่งขวาแม่น้ำยมก็แห้งแล้งมากเช่นกัน มีคลองน้ำโจนในระบบของชลประทานที่กำลังออกแบบ ซึ่งตนได้เร่งรัดในโครงการการขับเคลื่อนไทยฯ อยากให้เร่งรัดการออกแบบรอไว้ให้เรียบร้อยโดยเร็วที่สุด เมื่อมีงบประมาณเมื่อไรจะสามารถลงมือทำได้ทันที รวมทั้งการจัดระบบน้ำประปา การจัดระบบในหน้าน้ำไม่ให้น้ำท่วม และการกักเก็บน้ำเพื่อให้ทำการเพาะปลูกได้บ้างในหน้าแล้ง ซึ่งการดำเนินการแบบนี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ตนจึงอยากนำเอาเรื่องนี้ไปประสานผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เตรียมความพร้อมต่อไปในอนาคตได้ด้วย

รัฐบาล สั่งซื้อ ชุดตรวจโควิด จำนวน 8.5 ล้านชุด ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ใช้ตรวจเอง คาดได้ ส.ค.-ก.ย.นี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19  เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อหาผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว และเร่งลดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในระลอกปัจจุบัน โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดจากผู้ติดเชื้อโควิด-19  ที่ไม่แสดงอาการ และไม่ได้รับการคัดแยกหรือกักตัว ทำให้เกิดการแพร่เชื้อภายในครอบครัวและในชุมชนที่พักอาศัยมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรีจึงได้มีนโยบายให้มีการดำเนินการ การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้ครอบคลุมที่สุด ด้วยการใช้ชุดตรวจหาเชื้อโควิด - 19 แบบ Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำต้องกระจายชุดตรวจ ATK นี้ อย่างทั่วถึงและด้วยความโปร่งใสด้วย

นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 8/2564 (วาระพิเศษ) เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564  ที่ผ่านมา จึงได้อนุมัติจัดซื้อชุดตรวจโควิดกว่า 8.5 ล้านชุด วงเงิน 1,014 ล้านบาท เพื่อจัดหาชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงใช้ตรวจเอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดหา และกรมควบคุมโรคกำลังวางแผนจะกระจายชุดตรวจให้ประชาชนได้ใช้ต่อไป ซึ่งเป็นไปตามแผนการจัดหาภายใต้โครงการยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ทั้งนี้ สปสช. คาดว่าจะสามารถแจกชุดตรวจโควิด-19 Antigen Test Kit (ATK) ให้ประชาชนสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้เองในช่วงระหว่างเดือน ส.ค. - ก.ย. 2564 นี้

นายอนุชา กล่าวว่า ขณะเดียวกัน การใช้ชุดตรวจ ATK ก็จะมีการใช้ตรวจในหน่วยบริการปฐมภูมิด้วย โดยจะขยายไปยังคลินิกชุมชนอบอุ่น 200 กว่าแห่งใน กรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. 69 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ สำหรับประชาชนที่จะใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit แล้ว หากผลการตรวจเป็นบวกและอยู่ในกลุ่มอาการสีเขียว คือ ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย จะได้รับการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) หรือดูแลรักษาที่ชุมชน (Community Isolation) ตามความสมัครใจ 

นายอนุชา กล่าวว่า โดยมีทีมแพทย์ติดตามและประเมินอาการของผู้ป่วย โดยจัดให้มีช่องทางสื่อสารกับผู้ป่วย (Telemonitor) เพื่อติดตามอาการทุกวัน รวมทั้ง ช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน พร้อมทั้งจัดให้มีระบบ รับ-ส่งผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น รวมทั้งจะได้รับเครื่องตรวจอุณหภูมิสำหรับใช้วัดไข้ เครื่องตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด รวมถึงยาที่จำเป็น ทั้งฟาวิฟิราเวียร์และสมุนไพรฟ้าทะลายโจร และมีส่งอาหารให้ทั้ง 3 มื้อด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ชุดตรวจคัดกรอง Antigen Test Kit ยังไม่จำเป็นต้องนำไปใช้ตรวจกับทุกคน โดยแพทย์แนะนำให้ใช้ตรวจเฉพาะกลุ่มเสี่ยงตามความจำเป็น เช่น มีญาติ คนใกล้ชิดติดโควิด-19 หรือมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ หรือกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงและมีอาการคล้ายไข้หวัดเท่านั้น

ศปฉ. ปชป. ลงพื้นที่ย่านคลองเตยช่วยชาวบ้านหลังตรวจ Rapid Test พบผลบวก เจรจาโรงพยาบาลต้นสังกัดให้ช่วยตรวจ PCR เพื่อใช้ส่งตัวเข้ารับการรักษา หลังอาการแย่ลง

นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าทีมประสานข้อมูลผู้ติดเชื้อเพื่อการส่งต่อ ศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 พรรคประชาธิปัตย์ (ศปฉ.ปชป.) เปิดเผยว่าศูนย์ฯ ได้รับการประสานงานจากนายปานชัย แก้วอัมพรดี ประธาน อพม. กรุงเทพมหานคร และอดีต สข. พรรคประชาธิปัตย์ว่ามีครอบครัวผู้ติดเชื้อ 7 รายในชุมชนคลองเตยที่ได้รับการตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบเชิงรุกของ สปสช.ภายใต้ความร่วมมือจากชมรมแพทย์ชนบท ในการระดมตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกตามพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ในกทม. 

โดยผลตรวจพบว่าครอบครัวดังกล่าว มี 2 รายเป็นผู้สูงอายุ ที่เริ่มมีอาการเหนื่อยหอบ และต้องการเข้าไปรับการรักษาต่อในสถานพยาบาล แต่เนื่องจากต้องใช้ผลการตรวจแบบ PCR เพื่อใช้ประกอบในการประสานเตียงจึงพบปัญหาตามมาทั้งในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการตรวจ สถานที่ที่จะไปตรวจ รวมถึงการเดินทางไปตรวจเพราะเข้าข่ายเป็นผู้ติดเชื้อ และไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่ในชุมชนได้เนื่องจากอยู่รวมกันอย่างแออัด อาจเป็นส่วนหนึ่งในการแพร่กระจายเชื้อต่อได้ ครอบครัวผู้ป่วยจึงร้องขอความช่วยเหลือมายัง ศปฉ.ปชป. ให้ลงพื้นที่ช่วยเจรจากับโรงพยาบาลต้นสังกัดในย่านกล้วยน้ำไทที่ผู้ป่วยมีสิทธิในการรักษาพยาบาลบัตรทองเพื่อขอรับการตรวจดังกล่าว เนื่องจากถูกปฏิเสธการตรวจเพราะยังไม่มีคิวให้ตรวจ 

นางดรุณวรรณ จึงได้ลงพื้นที่ทันทีร่วมกับนายปานชัยพร้อมด้วยทีมงานของศูนย์ฯ และที่ปรึกษา รมช. สาธารณสุขเพื่อขอเจรจากับตัวแทนผู้บริหารของโรงพยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันดังกล่าว ภายหลังการเจรจาอยู่ระยะหนึ่งตัวแทนโรงพยาบาล จึงตอบรับที่จะให้ผู้ติดเชื้อสองรายที่เป็นผู้สูงอายุ สามารถขอรับการตรวจ PCR ได้ โดยเห็นใจว่าเป็นผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องรีบตรวจ เพื่อรักษาตัวต่อ แต่อย่างไรก็ตามยังต้องใช้เวลารอผล 2-3 วัน ในขณะเดียวกันโรงพยาบาลก็ได้ขอความเห็นใจจากคนในชุมชนด้วยเช่นกันในสถานการณ์ปัจจุบันที่โรงพยาบาลเองก็ประสบปัญหาเตียงไม่พอ และอุปกรณ์ก็ไม่เพียงพอด้วยเช่นกัน และอยู่ในระหว่างการปรับปรุงสถานที่เพื่อให้รองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น   

นางดรุณวรรณ กล่าวต่อด้วยว่าการตรวจ Rapid Test เป็นเรื่องที่ดีในการช่วยคัดกรองหาผู้ติดเชื้อ แต่อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดให้ครบว่าถ้าตรวจพบเป็นบวกแล้วจะต้องไปอย่างไรต่อ  โดยเฉพาะคนในชุมชนที่อยู่รวมกันแบบแออัด จะคัดแยกออกไปอยู่ที่ไหน หรือถ้าต้องตรวจแบบ PCR ต่อ ใครจะตรวจให้ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกรณีที่โรงพยาบาลต้นสังกัดไม่สามารถรองรับการตรวจให้ได้ และหากการตรวจแบบ PCR แล้วพบ Positive จะจัดการเรื่องเตียงอย่างไรด้วย

“เมื่อประชาชนเดือดร้อน ขอความช่วยเหลือมา หน้าที่เราคือต้องช่วยในส่วนที่ทำได้ แต่อยากให้แก้ปัญหาเชิงระบบมากกว่าการแก้ปัญหาแบบรายวัน วันนี้โชคดีที่เราช่วยแก้ปัญหาได้ 2 ราย แต่ยังมีคนอีกมากที่รอการช่วยเหลือและยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ จึงอยากส่งเสียงไปยังภาครัฐที่มีอำนาจและเป็นผู้รับผิดชอบได้ลงมาดูปัญหาที่หน้างานด้วย จะได้เข้าใจชัดเจนมากขึ้น ” นางดรุณวรรณ กล่าว

รมต.อนุชา เผย จำนวนวัด ร่วมเจตนารมณ์ “เผาศพโควิดฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย” สั่ง พศ. เร่งรัดฉีดวัคซีน พระ-สัปเหร่อ บอก มีวัดพร้อมตั้งรพ.สนาม ศูนย์พักคอย

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดต่อเนื่อง และมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น จากการตรวจสอบ พบว่าปัจจุบันมีหลายวัดทยอยร่วมเจตนารมณ์ "เผาศพโควิดฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย" โดยมีวัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 62 วัด วัดในจังหวัดปริมณฑล จำนวน 124 วัด วัดในส่วนภูมิภาค จำนวน 407 วัด รวมทั้งสิ้น 593 วัด 

นายอนุชา กล่าวว่า ยังมีวัดที่มีศักยภาพและมีพื้นที่เพียงพอให้การสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ โดยใช้พื้นที่วัดจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย และสถานที่กักตัวรอดูอาการผู้ติดเชื้อ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกวัน ปัจจุบันพบว่ามีวัดและสถานที่ในสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทั่วประเทศได้ดำเนินการปรับพื้นที่แล้ว จำนวน 118 แห่ง ซึ่งมีความพร้อมรองรับและสนับสนุนการดำเนินงานทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี

นายอนุชา กล่าวว่า ได้สั่งการให้ พศ. ดูแลคณะสงฆ์และผู้ปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดอย่างเต็มที่ โดยให้พิจารณาจัดหาอุปกรณ์ป้องกันเชื้อให้ทางวัด อาทิ ชุด PPE และอุปกรณ์ทำความสะอาด อีกทั้งให้เร่งประสานขอฉีดวัคซีนให้พระสงฆ์ สัปเหร่อและผู้ปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดอย่างเร่งด่วน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top