Friday, 29 March 2024
POLITICS NEWS

ครม.ไฟเขียว จัดสรรอัตรา ขรก.ตั้งใหม่ “สธ.-ยต.” 2,411 อัตรา เพิ่มค่าใช้จ่ายปีละประมาณ 760 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ ให้กับส่วนราชการ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งสิ้น 2,411 อัตรา ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 2,136 อัตรา และ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม จำนวน 275  อัตรา เพื่อปฏิบัติภารกิจการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนในส่วนภูมิภาค รวมถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยจะมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 760 ล้านบาท  

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ส่วนรายละเอียดการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับส่วนราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงยุติธรรม ประกอบด้วย นายแพทย์ปฏิบัติการหรือชำนาญการ หรือชำนาญการพิเศษ 1,651 อัตรา ค่าใช้จ่าย 511 ล้านบาทต่อปี ทันตแพทย์ปฏิบัติการหรือชำนาญการ หรือชำนาญการพิเศษ 370 อัตรา ค่าใช้จ่าย 114 ล้านบาทต่อปี นายแพทย์ปฏิบัติการหรือชำนาญการ หรือชำนาญการพิเศษบรรจุใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 90 อัตรา ค่าใช้จ่าย 30 ล้านบาทต่อปี และทันตแพทย์บรรจุใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 25 อัตรา ค่าใช้จ่าย 8.4 ล้านบาท  และพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการหรือชำนาญการของกรมราชทัณฑ์ จำนวน 275 อัตรา ค่าใช้จ่าย 95 ล้านบาทต่อปี

“ครม.”ขยายวงเงินเยียวยา ‘นายจ้าง-ลูกจ้างม.33’พื้นที่แดงเข้ม 10 จว.รวม 13,505 ล้านบาท เตรียมเยียวยาอีก 3 จ.เพิ่มเติม

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรีว่า (ครม.) ว่า ครม. อนุมัติกรอบวงเงินโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ  ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ รวม 10 จังหวัด ให้กิจการที่ได้รับผลกระทบ 9 สาขา จากเดิมที่ได้เห็นชอบไปแล้ว 2,519.38 ล้านบาท เพิ่มเป็น 13,504.696 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10,985.316 ล้านบาท

นายอนุชา กล่าวว่า นอกจากนี้ครม. เห็นชอบให้ขยายพื้นที่เยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการโควิด เพิ่มเติมจาก 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา ครม.และจะนำกรอบวงเงินที่เพิ่มขึ้นนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาต่อไป

ครม.อนุมัติ ขยายระยะเวลาประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.- 30 ก.ย. เพื่อ ยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 2 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 และสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2564 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)เสนอ  ซึ่งประกาศฉบับเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 31กรกฎาคม 2564 นี้  โดยสมช.ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ซึ่งในที่ประชุมปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานการแพร่ระบาดว่า สถานการณ์ในระดับโลก ยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในหลายภูมิภาค ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้ออยู่ในอันดับที่ 62  อันดับหนึ่งคือสหรัฐอเมริกา อันดับสอง อินเดีย และอันดับสาม บราซิล

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในไทยระลอกเดือน เมษายน 2564 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 9 กรกฎาคม 2564 มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมจำนวน 288,643 ราย  ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปรากฏจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมากกว่าหลายพันคนต่อวัน และมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเชื้อไวรัสโควิด -19 เป็นชนิดสายพันธุ์ใหม่อย่างเดลต้า สามารถแพร่ระบาดและติดต่อกันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในบางพื้นที่ยังพบสายพันธุ์เบต้า ที่มีความรุนแรงมาก อาจส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยสูงขึ้น ขณะเดียวกันยังพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในจังหวัดที่มีสถานประกอบการ โรงงาน ตลาดค้าส่ง  และพบการระบาดต่อเนื่องจากผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ที่พักแรงงานก่อสร้างชั่วคราว ครอบครัว ตลาด สถานที่ทำงาน และสถานที่ชุมชนต่างๆ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มการแพร่ระบาดในระยะต่อไป กระทรวงสาธารณสุขประเมินว่าจะมีผู้ติดเชื้อจำนวน 10,000รายต่อวัน หรือมีผู้ป่วยสะสมมากกว่า 100,000 ราย ภายในระยะเวลา 14 วัน ซึ่งจะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในอัตราเกิน 100 รายต่อวัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการกำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเพื่อควบคุมและแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข จะช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาระต่อบุคลากรทางการแพทย์ เตียงรักษา หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ศปก.ศบค. พิจารณาแล้วเห็นว่า สถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและระยะต่อไปยังคงเป็นภัยคุกคามความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน ความมั่นคงปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข และระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ออกไป เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการควบคุมและระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยในสุขภาพและชีวิตของประชาชน

ครม.ไฟเขียวเยียวยาประกันสังคมเพิ่มอีก 3 จังหวัดล็อกดาวน์

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบให้ช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้างและนายจ้าง ที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพิ่มเติมอีก 3 จังหวัด คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา จากเดิมที่ช่วยเหลือไปแล้ว 10 จังหวัด โดยจะช่วยเหลือลูกจ้างและนายจ้างในกลุ่มเป้าหมายเดิม 9 สาขาอาชีพ และผู้ที่อยู่ในระบบถุงเงิน สัญชาติไทย และยังประกอบอาชีพ ซึ่งไม่รวมข้าราชการและข้าราชการบำนาญ ครอบคลุมทั้งผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมและไม่อยู่ในระบบประกันสังคม เป็นเวลา 1 เดือน 

สำหรับการช่วยเหลือ แยกเป็น แรงงานตามมาตรา 33 ได้รับ 2,500 บาทต่อคน และมาตรา 39 และ 40 ได้รับ 5,000 บาท โดยมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม จัดทำรายละเอียดและนำเสนอครม.ตามขั้นตอนกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยให้นายจ้างและลูกจ้างที่ได้นับเงินช่วยเหลือนี้ ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาจากเงินที่ได้รับการช่วยเหลือด้วย 

ครม. ไฟเขียว ขยาย พื้นที่แดงเข้ม จาก 10 เป็น 13 จังหวัด สั่ง เยียวยาผู้ประกอบการ-ลูกจ้าง ด้วย

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ 13 กรกฎาคม 64 ให้ครอบคลุมพื้นที่จากเดิม 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด เพิ่มเติมจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และอยุธยา โดยยังคงกลุ่มลูกจ้างและผู้ประกอบการใน 9 กลุ่มกิจการที่ได้รับผลกระทบ อัตราการจ่ายและวิธีการจ่ายเงินเช่นเดิม เป็นระยะเวลา 1 เดือน

"สถาบันนโยบายก้าวไกล" เสนอ มหาลัยลดค่าเทอม 30% ชี้ รัฐบาลควรอุดหนุนมหาลัยขนาดกลาง-เล็ก เพื่อลดค่าเทอมให้เท่าเทียม

นายเดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายของพรรคก้าวไกล (Think Forward Center) กล่าวว่า ขอเสนอให้มหาวิทยาลัยลดค่าเทอมลง 30% ช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 และรัฐบาลต้องเข้ามาอุดหนุนมหาวิทยาลัยขนาดกลาง-ขนาดเล็ก เพราะภาระค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับครัวเรือน โดยเฉพาะสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย เมื่อก้าวจากการศึกษาภาคบังคับมาสู่มหาวิทยาลัยจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า และเมื่อนำค่าใช้จ่ายในการศึกษาดังกล่าวมาเทียบกับรายได้ของแต่ละครัวเรือนด้วยแล้วจะพบว่าครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุด 10% จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาถึง 49% ของรายได้ครัวเรือน ในขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้สูง มีภาระค่าใช้จ่ายประมาณร้อยละ 7 ของรายได้เท่านั้น

นายเดชรัต กล่าวต่อว่า จึงไม่น่าแปลกใจว่าเด็กจากกลุ่มครัวเรือน 40% ล่าง มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 16.6 ของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาทั้งหมด ตรงกันข้ามกับสัดส่วนของนักเรียนในระดับชั้นอื่นๆ ยิ่งเมื่อรายได้ของครัวเรือนลดลงจากผลกระทบของโควิด-19 จะพบว่าสัดส่วนของภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยต่อรายได้ทั้งหมดของครัวเรือน จะเพิ่มขึ้นเยอะกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูงมาก ยังไม่ต้องพูดถึงข้อเท็จจริง ที่ว่า ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยน่าจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภาวะโควิด-19 มากกว่า นั่นหมายความว่าเด็กๆ จากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยอาจต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือครัวเรือนก็ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินมากขึ้น ฉะนั้น ตนขอสนับสนุนให้มีการลดค่าลงทะเบียนและค่าใช้จ่ายในการศึกษาอื่นๆ ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เพื่อไม่ให้กลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากไปกว่านี้

นายเดชรัตน์ กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยควรลดค่าเทอมเท่าไรเป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยมีโครงสร้างทางการเงินที่แตกต่างกันมาก อาจแยกได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ 1.มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่พึ่งพารายได้จากการจัดการศึกษา หรือค่าเทอมและอื่นๆ ของนิสิตนักศึกษา ไม่ถึง 20% ของรายรับทั้งหมด ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ช่วงปี 63 มหาวิทยาลัยกลุ่มนี้ยังมีรายได้สุทธิเป็นหลักพันล้านบาท และมีรายได้สุทธิสะสมเป็นหมื่นล้านบาทขึ้นไป เช่น จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยกลุ่มนี้น่าจะลดค่าเทอมได้มากกว่า 30-50% โดยยังรายได้สุทธิเป็นบวก และถึงติดลบบ้างก็ไม่กระเทือนเงินสะสมมากนัก 2. มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่พึ่งพารายได้จากการจัดการศึกษามากกว่า 30% ขึ้นไป เช่น ศิลปากร มศว มหาวิทยาลัยกลุ่มนี้มีรายได้สุทธิสะสมเป็นหลักพันล้านบาทปลายๆ มหาวิทยาลัยกลุ่มนี้น่าจะได้รับผลกระทบจนรายได้สุทธิติดลบได้ ถ้ามีการลดค่าเทอมมากกว่า 30% และ 3.มหาวิทยาลัยขนาดเล็ก กลุ่มนี้ฐานะการเงินในช่วงหลังไม่ดีนัก รายได้สุทธิอาจมีติดลบในบางปี หรือถ้าเป็นบวกก็ไม่มากนัก กลุ่มนี้อาจลดค่าเทอมได้ในอัตรา 10% ถ้าลดมากกว่าอาจกระทบต่อรายได้สุทธิได้ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยกลุ่มนี้มีรายได้สุทธิสะสมเป็นหลักพันล้านต้นๆ

"ผมเชื่อว่า ทุกมหาวิทยาลัยน่าจะลดค่าเทอมได้ 10% มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่อาจลดได้ถึง 15-30% ส่วนที่เหลือ ผมว่าถ้ารัฐบาลเข้ามาช่วยอุดหนุนมหาวิทยาลัยขนาดเล็กและขนาดกลาง เพื่อให้ลดค่าเทอมได้ในสัดส่วนเดียวกันที่ 30% น่าจะเป็นเรื่องที่ดี นอกจากนี้ รัฐบาลและมหาวิทยาลัยควรเตรียมสินเชื่อเฉพาะกิจปลอดดอกเบี้ย สำหรับค่าเล่าเรียนในปีการศึกษานี้" นายเดชรัต กล่าว

‘สิระ’ สุดทน! นอนโลงซ้อมตาย ประชดการช่วยเหลือโควิด ไล่ ‘อธิบดีควบคุมโรค’ พ้นเก้าอี้ จี้ รับผิดชอบปล่อยคนตายแบบหมาจรจัด ซัด เอาแต่โยนขี้กัน แช่ง พวกหากินกับวัคซีนให้เจอภัยพิบัติทั้งการเมืองและครอบครัว

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่สำนักงานของนายสิระ ที่ถนนวิภาวดี นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า การซ้อมตายในวันนี้ คือ การออกมาเรียกร้องให้กับประชาชน เพราะเขาไม่รู้ว่าจะมีชีวิตรอดท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 หรือไม่ และไม่รู้ว่าจะตายโดยไม่ได้สั่งลาคนใกล้ชิดเมื่อใด เนื่องจากขณะนี้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการรักษาของระบบสาธารณสุขได้เลย ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ภาพที่ปรากฏ คือ คนไทยจำนวนมากนอนรอความตายอยู่ที่บ้าน แม้กระทั่งยาฟาวิพิราเวียร์ก็ไม่ได้กินเพื่อปกป้องชีวิตของตัวเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบกับการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นี้ จะวางเฉยไม่ได้ ในเมื่อเป็นคนที่ได้รับมอบหมายมาให้แก้ไขเรื่องนี้ ถ้าแก้ให้คนไทยไม่ได้ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขต้องสั่งเปลี่ยนตัว ให้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถมาทำหน้าที่แทน ชีวิตของคนไทยไม่สามารถอยู่ในมือคนไร้ความสามารถได้อีกต่อไป ใครที่ทำไม่ได้ก็พิจารณาตัวเอง ลาออกไปซะ ท่านต้องตอบคำถามกับประชาชนให้ได้ในทุกเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องวัคซีนว่าทำไมต้องเจาะจงเฉพาะยี่ห้อนี้ ทำไมถึงแทงม้าตัวเดียว มีความพิเศษตรงไหน เรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของ ศบค.เพราะเป็นการเซ็นสัญญาซื้อตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว ไปดูคนที่ออกมาแถลงข่าวเก่า ๆ ว่าเป็นอำนาจของใคร

“วันนี้ผมเป็นผู้แทนราษฎร ประชาชนเลือกผมเข้ามาทำหน้าที่ แต่แค่เตียงให้ชาวบ้านไปนอนรักษาตัว ผมยังไม่สามารถทำได้ ผมทำได้เพียงนำถุงยังชีพและยาฟ้าทะลายโจรไปให้เพื่อบรรเทาอาการป่วย และที่สุดแล้วตนกับเพื่อน ๆ ก็รวบรวมเงินมาซื้อโลงศพไว้ สำหรับแจกให้กับประชาชน การที่ต้องไปเห็นคนป่วยนอนรอความตายอยู่ที่บ้าน รอการช่วยเหลือแบบไร้ความหวังเป็นภาพที่น่าหดหู่ นพ.โอภาส มีโอกาสได้เห็นภาพเช่นนี้หรือไม่ ผู้บริหารมัวแต่โยนขี้ใส่กัน ถึงตอนนี้ประชาชนเขาไม่สนใจหรอกว่าใครจะเป็นคนซื้อวัคซีน อำนาจหรือคนรับผิดชอบอยู่ที่ใคร แต่พวกเขาต้องการรู้ว่าเขาจะมีโอกาสรอดตายกี่เปอร์เซ็นต์ ต้องการรู้แนวทางการจัดการวิกฤตนี้อย่างชัดเจน ไม่ใช่คลุมเครือ จับต้องไม่ได้ ชีวิตคนไม่ใช่สุนัขจรจัด ถึงจะปล่อยให้ตายตามยถากรรม” นายสิระ กล่าว

นายสิระ กล่าวต่อว่า วิกฤตวันนี้คือระบบสาธารณสุขกำลังล่มสลาย แต่ทุกคนที่เกี่ยวข้องลอยตัวกับปัญหา ออกข่าวให้ประชาชนใช้ยาฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษา แต่กลับไม่มีการควบคุมราคาและคุณภาพ ที่สำคัญคือของขาดตลาด ประชาชนหาซื้อไม่ได้ วันนี้เขาไม่มีทางเลือกแล้ว นอกจากรอว่าตัวเองจะดวงซวยติดโควิดและรับสภาพรอความตายที่จะมาถึงเท่านั้น ตนขอแช่งให้บรรดาบุคคลที่ยังหากิน หาผลประโยชน์จากวัคซีน และเห็นการตายของคนไทยเป็นของเล่นว่า ขอให้พบกับภัยพิบัติทางการเมืองและชีวิตครอบครัว และขอให้กรรมตามทันคนเหล่านี้ภายในภพชาตินี้

“กระทรวงสาธารณสุขมีคนที่มีความรู้ ความสามารถอยู่มาก มีจำนวนกรมมากมายที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตในครั้งนี้ เช่น กรมควบคุมโรค เป็นคนทำสัญญาซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา ขณะที่องค์การเภสัชกรรมทำสัญญาซื้อวัคซีนซิโนแวค และหากเอกชนจะซื้อวัคซีนไฟเซอร์หรือวัคซีนโมเดอร์นา จะต้องผ่านองค์การเภสัชกรรม ต้องไปดูว่าใครเป็นประธานบอร์ด และคนที่เป็นบอร์ด นามสกุลดังหรือนักการเมืองทั้งนั้น นี่คือต้นตอปัญหาวัคซีนใช่หรือไม่ เพราะวันนี้แม้กระทั่งคนที่มีกำลังทรัพย์ พร้อมจะควักเงินเพื่อซื้อวัคซีนมาป้องกันไม่ให้ตัวเองตายยังไม่สามารถเข้าถึงได้เลย แล้วประชาชนทั่วไปจะสามารถเข้าถึงวัคซีนพื้นฐานได้เมื่อไหร่ หรือต้องรอให้ตายก่อน

วันนี้ผมโชคดีที่ได้สั่งเสียก่อนที่จะตายแล้ว สงสารก็แต่คนที่ตายไปโดยที่ไม่มีโอกาสได้พบหน้าและกล่าวคำลาคนที่ตัวเองรักแม้สักนาทีเดียว นอกจากนี้ ภาพที่สะท้อนออกมาจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ทั้งกระโดดตึกฆ่าตัวตาย ทั้งลาออก เพราะความเครียดจากภาระหน้าที่ที่ต้องแบกรับ ผู้บริหารให้ความใส่ใจบ้างหรือไม่ มีการสร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากรหน้าด่านเหล่านี้หรือไม่” นายสิระ กล่าว


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

'ณัฐนันท์-พรรคกล้า' ซัดรัฐบาลไม่ใช้ผล 'Rapid Antigen Test' ยืนยันติดเชื้อโควิด ต้องไปตรวจ RT-PCR ซ้ำ ถึงเข้าระบบรักษา ยกเหตุการณ์จริง บางรายตายเพราะหาที่ตรวจซ้ำไม่ได้ ชี้คนรอความตาย เพราะระบบราชการล้าหลัง

นายณัฐนันท์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมาย พรรคกล้า กล่าวถึงการทำงานช่วยหาเตียงให้ประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 ว่า มีหลายคนตรวจ Rapid Antigen Test เป็นโควิด แต่เข้าระบบหาเตียงไม่ได้ เพราะรัฐบาลไม่ยอมรับ หลายรายป่วยหนัก ถึงขั้นให้ออกซิเจนอยู่ จะไปตรวจ RT-PCR ก็ไปไม่ไหว บางคนเป็นคนท้อง อาการหนัก บางบ้านเป็นทั้งบ้าน พอตรวจ Rapid Antigen Test ก็เข้าสู่ระบบหาเตียงได้เพียงบางคน ทั้งมีอาการทุกคน เมื่อคืนมีผู้ป่วยอายุ 80 กว่าปี รอตรวจ PCR จนน็อกเข้าไอซียู เป็นตายเท่ากันไปแล้ว พูดตรง ๆ มีผู้ป่วยตายไปแล้วด้วย เพราะหาที่ตรวจ PCR ไม่ได้

“เรื่องนี้เราไม่โทษเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และเราเข้าใจความอึดอัดด้วยซ้ำ แต่นโยบายของรัฐบาล หรือนโยบายของกระทรวงที่ยึดติดระเบียบเคร่งครัด ไม่ยืดหยุ่น ไม่ตอบสนองต่อสถานการณ์ ระบบราชการล้าหลัง กำลังฆ่าคนอย่างช้า ๆ และเลือดเย็นที่สุด เฉพาะที่อยู่ในมือทีมงานพรรคกล้า คลองสามวา ผมคิดว่าจะมีอย่างน้อย 3 คน ที่กำลังจะเสียชีวิต จากระบบนี้"

นายณัฐนันท์ กล่าวว่า ถ้าจะอ้างว่าผลตรวจ Rapid Antigen Test ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการอาศัยการสอบสวนโรคควบคู่ เช่น เคสที่เป็นทั้งบ้าน มีผล PCR บางคน บางคนเป็น Rapid Antigen Test และอาการทุกคนก็ใช่ มันก็ชัดอยู่แล้ว จะไปบังคับให้ตรวจ PCR ซ้ำทำไม

หรือถ้าจะบังคับให้คนต้องตรวจ PCR ก็ต้องมีที่ตรวจให้เพียงพอ สะดวก รวดเร็ว ถ้าจัดให้ไม่ได้ก็ต้องหันมายอมรับ Rapid Antigen Test ซึ่งพรรคกล้าเรียกร้องให้รัฐบาลอนุมัติให้ใช้ และให้ยอมรับผลตรวจเข้าสู่ระบบหาเตียงมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง และรัฐไม่มีทีท่าจะตอบสนอง ต้องรอคนตายอีกเท่าไหร่ถึงจะคิดได้


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“สุทธวรรณ โฆษกพรรคก้าวไกล  เรียกร้องหน่วยงานรัฐดูแลสุขภาพจิตให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ หลังกรณีพยาบาลในนครปฐม ฆ่าตัวตายเพราะสภาวะกดดัน”

นางสาวสุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล และส.ส.จังหวัดนครปฐม กล่าวถึงกรณีพยาบาลวิชาชีพท่านหนึ่งในสังกัดโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม ที่ฆ่าตัวตายจากสภาวะกดดันและซึมเศร้าหลังคลอดบุตร และต้องกลับมาปฏิบัติงานในสถานการณ์โรคโควิดระบาด

นางสาวสุทธวรรณกล่าวว่า เป็นเหตุการณ์ที่น่าเห็นใจ และน่าสลดใจมาก เนื่องจากบุคลากรท่านนี้เพิ่งคลอดบุตรได้ไม่นาน แต่ต้องกลับมาปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางความกดดันและปัญหาภายในใจที่รุมเร้าเกินกว่าจะหาทางออกได้ด้วยตัวเอง ส่วนตัวขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์นี้ และขอส่งกำลังใจไปยังครอบครัวของผู้เสียชีวิตด้วย ต้องยอมรับว่าสถานการณ์วิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในขณะนี้มีความรุนแรงและยังระบาดหนักอยู่ในหลายพื้นที่ อย่างในจังหวัดนครปฐมก็มีการระบาดหนักอยู่หลายอำเภอ เช่น อำเภอสามพราน อำเภอเมือง ซึ่งที่ผ่านมา ตนได้ประสานกับสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม เพื่อหาทางส่งผู้ติดเชื้อที่มีอาการ ซึ่งนอนรออยู่ที่บ้านไปรักษา

ทั้งนี้ ตนขอส่งกำลังใจถึงบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่ทำงานหนัก ทุกท่านเป็นด่านหน้าที่ต้องรับความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา นอกจากสวัสดิการที่มีแล้ว ตนอยากเสริมให้หน่วยงานของรัฐคำนึงถึงความรู้สึกของบุคลากรแพทย์ ที่ขณะนี้มีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าหลายราย การปฏิบัติงานเต็มไปด้วยความเครียด วิตกกังวล อ่อนล้า และสิ้นหวัง หากเป็นไปได้ อยากให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องได้รับการดูแลสภาพจิตใจตลอดเวลา ได้รับการพูดคุยกับจิตแพทย์ หรือนักบำบัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความตึงเครียด และที่สำคัญ บุคลากรทางการแพทย์ ต้องได้รับวัคซีนชนิด mRNA โดยเร็วที่สุด เพื่อรับมือกับโควิดสายพันธุ์เดลตาที่กำลังระบาดหนักในขณะนี้

“สงคราม” ผิดหวังรัฐถ่วงเวลาเยียวยาคนรากหญ้าอัด “บิ๊กตู่”แก้ปัญหาแบบโง่เชื่อหยุดเชื้อโควิดไม่ได้

นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดในประเทศไทยทวีความรุนแรงขึ้น รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การประกาศมาตรการล็อคดาวที่เข้มข้นเพิ่มขึ้น เพื่อหวังลดจำนวนผู้ติดเชื้อจากหลักหมื่นคนต่อวันให้ลดลงนั้น เชื่อว่าไร้ประโยชน์ และ ไม่สามารถหยุดการระบาดของไวรัสโควิดได้ เพราะการบริหารจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยังคงใช้วิธีการแบบโง่ๆของรัฐบาลไม่มีทางลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้

รัฐบาลต้องเร่งในการจัดการ คือการตรวจเชิงรุกควรปูพรมตรวจทุกพื้นที่ เพื่อแยกผู้ติดเชื้อ ออกจากชุมชนพร้อมนำไปรักษา ทั้งนี้รัฐบาลควรขอความร่วมมือกับกองทัพบก โดยใช้พื้นที่ของหน่วยงานกองทัพ ที่มีทุกจังหวัด ปรับเป็นโรงพยาบาลสนาม เพราะมีความเหมาะสม เนื่องจากมีความพร้อมในการดูแลผู้ติดเชื้อ ทั้งสถานที่และมีแพทย์ทหารดูแล รวมทั้งกองทัพเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล จะไม่ปฏิเสธคนติดเชื้อแม้แต่คนเดียว การทำเช่นนี้จะเป็นผลดีกว่าการปล่อยให้ผู้ติดเชื้อรอจนต้องเสียชีวิตในบ้านหรือเสียชีวิตข้างถนน นอกจากนี้รัฐบาลต้องเร่งจัดหาวัคซีนที่ดีที่สุดให้กับประชาชนมากที่สุด อย่าดีแต่พูดว่าจะจัดหา ควรทำงานด้วยความจริงใจกับประชาชน เพราะรัฐบาลมีงบประมาณมหาศาล ดังนั้นต้องใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายสงคราม กล่าวด้วยว่า มาตรการล็อคดาวน์ต้องมาพร้อมความรับผิดชอบต่อความเดือดของประชาชน แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การเยียวยาล็อคดาวน์รอบแรกประชาชนยังไม่ได้รับ ทำไมรัฐบาลไม่ประกาศมาตรการเยียวยาก่อนบังคับใช้กฎหมาย พลเอกประยุทธ์เลือกใช้อำนาจบนความเดือดร้อนของประชาชน แต่ไม่มีความจริงใจจะช่วยประชาชน ประชาชนเดือดร้อนทุกพื้นที่ของประเทศ แต่รัฐกลับไม่ได้ยินเสียงความเดือดร้อนของประชาชน ดังนั้นที่พลเอกประยุทธ์บอกว่าพร้อมรับฟังเสียงประชาชนคือการดีแต่พูดแต่ไม่เข้าใจความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง รัฐบาลต้องไม่ถ่วงเวลาที่จะช่วยเหลือประชาชน ควรเร่งหามาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างรวดเร็ว” นายสงคราม กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top