ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิฯ จาก UN เรียกร้องไทย ยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิฯ สากล ลั่น‘กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ต้องไม่มีที่ยืนในประเทศประชาธิปไตย’
เมื่อวันที่ (29 ม.ค. 68) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เผยแพร่ข่าวกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนจากสหประชาชาติ ประกอบด้วย ผู้รายงานพิเศษด้านต่าง ๆ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติตั้งขึ้น แสดงความกังวลอย่างมากต่อสถานการณ์ในประเทศไทย ที่ยังคงใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์อย่างต่อเนื่อง จนไปสู่การคุมขังนักกิจกรรม และผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิก หรือทบทวนประมวลกฎหมายอาญา ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชน
“ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ บุคคลต้องมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะ รวมถึงพระมหากษัตริย์ และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันสาธารณะ รวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์”
“กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ของไทยมีทั้งโทษที่รุนแรง และกำกวม ส่งผลให้ศาลและเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจตีความผิดได้อย่างกว้างขวาง จนนำไปสู่การคุมขัง ดำเนินคดี และลงโทษ จำนวนกว่า 270 คนตั้งแต่ปี 2563 หลายรายได้รับโทษคุมขังติดต่อกันหลายคดี” ผู้เชี่ยวชาญระบุ
สำหรับมาตรา 112 ระบุว่าผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ซึ่งกฎหมายดังกล่าวถูกวิจารณ์จากหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติหลายครั้ง เนื่องจากขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล
“เราพบบ่อยครั้งว่า การคุมขังภายใต้กฎหมาย 112 ต่อบุคคลใดก็ตามที่ออกมาใช้เสรีภาพการแสดงออก ถือเป็นการกระทำโดยพลการ” กลุ่มผู้เชี่ยวชาญกล่าวย้ำ
ย้อนไปเมื่อ ธ.ค.ที่ผ่านมา ศาลอาญา ตัดสินให้อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ถูกมีความผิดในมาตรา 112 และมาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) จากการปราศรัยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการชุมนุมประท้วงเมื่อ ส.ค. 2563 ศาลพิเคราะห์ว่า อานนท์ กล่าวหาพระมหากษัตริย์ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคม และให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปี
นี่เป็นคดี 112 ของอานนท์ คดีที่ 6 ที่ศาลมีคำตัดสินลงโทษจำคุก ปัจจุบัน อานนท์ มีโทษจำคุกสูงสุดกว่า 18 ปี และยังมีคดี 112 ที่รอมีคำตัดสินอีก 8 คดี
คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมโดยพลการแห่งสหประชาชาติ (UNWGAD) เคยให้ความเห็นก่อนหน้านี้ว่า การคุมขังอานนท์ นำภา ถือเป็นการคุมขังโดยพลการ และละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหลายคน ยังคงแสดงความกังวลต่อการดำเนินคดีอาญากับอานนท์ นำภา และคนอื่นๆ ในประเทศไทย
“กฎหมายหมิ่นประมาทต้องไม่มีพื้นที่ในประเทศประชาธิปไตย” ผู้เชี่ยวชาญ กล่าว
“การบังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างขวาง เพื่อลงโทษนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สมาชิกของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน นักกิจกรรมทางสังคม นักข่าว และบุคคลทั่วไปที่ออกมาแสดงออกอย่างสันติ ทำให้เกิดบรรยากาศของความกลัวในการแสดงออกทางการเมือง”
"รัฐบาลไทยต้องทำให้ประมวลกฎหมายอาญาสอดคล้องกับกฎหมายนานาชาติ และเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน" ผู้เชี่ยวชาญ กล่าว และเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีและการคุมขังภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยทันที
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน บันทึกไว้ว่า ตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงปัจจุบัน (30 ม.ค.) มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 อย่างน้อย 277 คน จากจำนวน 309 คดี
ขณะที่แกนนำนักกิจกรรมการเมืองถูกดำเนินคดี เป็นจำนวนทั้งหมด ดังนี้
‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรมการเมือง 25 คดี
อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 14 คดี
ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักกิจกรรมการเมือง 10 คดี
ภาณุพงศ์ จาดนอก นักกิจกรรมการเมือง 9 คดี
ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมการเมือง 9 คดี
เบนจา อะปัญ นักกิจกรรมการเมือง 8 คดี
ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมการเมือง 6 คดี
พรหมศร วีระธรรมจารี นักกิจกรรมการเมือง 6 คดี
ชูเกียรติ แสงวงค์, วรรณวลี ธรรมสัตยา, เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ, มงคล ถิระโคตร 4 คดี
ขณะที่ข้อมูลศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุด้วยว่า ปัจจุบัน (30 ม.ค.) มีผู้ถูกคุมขังทางการเมืองทั้งคดีเด็ดขาด และที่ยังอยู่ระหว่างพิจารณาคดี จำนวนอย่างน้อย 42 คน เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 28 คน