Wednesday, 19 March 2025
POLITICS NEWS

‘วิทยา’ ติดตามโครงการพัฒนา รพ.มหาราชเมืองคอน หลังช่วยประสานงานจนได้งบจาก สนง.สลากฯ 723 ล้าน

เมื่อวันที่ (3 ก.พ. 68) นายวิทยา แก้วภราดัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมด้วยนายนนทิวรรธน์ นนทภักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายวิทยา แก้วภราดัย และคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตามโครงการพัฒนาโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถทางด้านอาคาร และอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการติดตามรักษาโรคมะเร็ง และโรคที่มีความขาดแคลนเครื่องมือ ซึ่งได้รับการอุดหนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในวงเงิน 723 ล้านบาท 

โดยงบประมาณอุดหนุนโครงการดังกล่าวนั้น นายวิทยา แก้วภราดัย ได้ดำเนินการประสานงานกับหลายหน่วยงานเพื่อให้มีการอุดหนุนดังกล่าว ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ในการดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง ต่อไป

สำหรับ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ของ จ.นครศรีธรรมราช และจังหวัดใกล้เคียง ทั้งยังเป็นโรงพยาบาลศูนย์แม่ข่ายรับการรักษาส่งต่อจากโรงพยาบาลประจำอำเภอของ จ.นครศรีธรรมราช ที่ต้องการเทคโนโลยีการรักษา และการหัตถการชั้นสูง มีประชาชนเข้ามาใช้บริการจำนวนหลายพันคนต่อวัน ซึ่งการได้งบประมาณในการพัฒนาโรงพยาบาลล่าสุด จะช่วยเพิ่มศักยภาพการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม โพสต์เฟซบุ๊กกรณีให้ผลักดันผู้ลี้ภัยเป็นแรงงานถูกกฎหมาย

นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม โพสต์เนื้อหาบนเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 68 ระบุว่า เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ให้ผู้ลี้ภัยเป็นแรงงานถูกกฎหมาย ไทยไม่ต้องเสียงบประมาณในการดูแล ให้พวกเขาได้ทำงานจ่ายภาษีร่วมพัฒนาประเทศได้

วันนี้ผมได้ขอหารือต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ทรัมป์ 2.0 ด้านความหลากหลายความเท่าเทียมและผสมกลมกลืน ซึ่งนโยบายนี้กระทบค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งที่อยู่ในประเทศไทย จากการเปลี่ยนนโยบายทำให้เงินบริจาคไปยังต่างประเทศถูกระงับลง โดยรัฐบาลทรัมป์ที่บริจาคให้องค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศในค่ายผู้ลี้ภัยได้ถูกระงับลง ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล

ผลกระทบจะหนักกว่านี้ เพราะในไทยเรามี 9 แห่ง เราเห็นว่าเป็นผู้ลี้ภัยสัญชาติเมียนมาก็จริง แต่ถ้าหนักกว่านี้หากการช่วยเหลือถูกตัดลง จะทำให้คนกว่า 80,000 คน ต้องออกมาข้างนอกและกระทบต่อประชาชนคนไทย

อยากให้นึกถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่พวกเขาต้องแบมือขอมากว่า 40 กว่า รอเงินบริจาคต่างๆ ดังนั้นไทยเราต้องเปลี่ยนแปลง ถือโอกาสตรงนี้ทำให้เราสามารถทำให้งานมนุษยธรรม ยืนด้วยขาตัวเองได้

ผมจึงขอให้นายกรัฐมนตรีเปลี่ยนแปลงนโยบายในการดูแลผู้ลี้ภัย การดูแลค่ายผู้ลี้ภัยทั้งที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน 4 แห่ง จังหวัดตาก 3 แห่ง จังหวัดราชบุรี 1 แห่ง และขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้องใช้ พ.ร.บ.เข้าเมือง มาตรา 17 ให้ผู้ลี้ภัยสามารถทำงานได้และอยู่ในไทยได้ชั่วคราว

และขอหารือไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อจะประกาศกฎกระทรวงออกมาให้ผู้ลี้ภัยทำงานได้ในไทยจนกว่าจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ ถ้าเขาทำงานได้จะทำเงินภาษีให้ไทย ร่วมพัฒนาประเทศไทย และเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ด้วยตัวเขาเอง ไม่เป็นภาระ ต้องเปลี่ยนภาระให้เป็นพลังให้ได้ ทำให้ไทยเรามีบทบาทที่ดีในเวทีระหว่างประเทศได้

‘โด่ง อรรถชัย’ เข้าใจเสื้อแดงศรีสะเกษ ร่ำไห้ถูกคนเพื่อไทย ด้อยค่า รับเจอกับตัวแล้วอึ้งเลย โดยเฉพาะเอานกหวีด - สลิ่ม มามีตำแหน่ง

(4 ก.พ. 68) นายอรรถชัย อนันตเมฆ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง หนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดง ได้โพสต์ข้อเขียนผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็นกรณี แกนนำคนเสื้อแดงศรีสะเกษแถลงข่าวถูกคนในเพื่อไทยด้อยค่า ไม่ให้เกียรติ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ขอพูดตรงๆ ในฐานะคนเสื้อแดง
ผมเองก็พบเจอ.. เรื่องแบบที่แกนนำศรีสะเกษพูด..ว่า ไม่ให้เกียรติคนเสื้อแดง..??
กลับจากต่างประเทศ เข้าพรรควันแรกได้ยินคนในพรรคสอนว่า “อย่าแดงมาก”
ไม่เชื่อหู นึกว่าเข้าพรรคผิด..??
ผมไม่สนใจ.. เดินหน้าแดงต่อไป..

ในการเลือกตั้ง ปี’66 จน จบภาระกิจ
จนถึงเลือกตั้งซ่อม พิษณุโลก..
จนเลือก นายก อบจ.ครั้งนี้ ..??
จะไปช่วยหาเสียง เดินทางไปเอง แท้ๆ ยังไม่มี ที่ยืนแม้แต่ “ถ่ายรูป ” …..??

“ไม่เกี่ยวกับ คุณทักษิณนะครับ”
คุณทักษิณ ไปไหนยังถามหาพี่น้องเราเสมอ..ไม่เคยลืม..ยังจำพี่น้องเราได้แม้ แต่แกนนำ เล็กๆ
แต่คือ “คนในพรรค” วันนี้
คนของพรรคชุดนี้ทำอะไร ไม่เคยคิดถึงใจคนเสื้อแดง เป็นมุ้งเป็นเหล่า เอาแต่พวกอุดมการณ์คืออะไร ไม่ชัดเจน
เสื้อแดงไม่ต้องการอะไร แค่ให้เกียรติกันบ้าง เท่านั้นยังไม่มี
.
ที่บอกไม่มีอุดมการณ์ไม่ใช่ใส่ความ แต่ได้ยินกับหู ช่วงส้มกำลังตึง คนในพรรคบอก
“ไม่เอาแดง” อย่าแดงมาก...??
ตรงข้ามมักได้ยินคำนิยมส้ม จากคนในพรรค อยู่เนืองๆ
ทั้งที่ คือ คนของพรรคเพื่อไทย

รวมทั้งการเอาฝ่ายตรงข้ามมา มีบทบาทในพรรค นอกพรรค…ทั้งที่คนเหล่านั้น คือ นกหวีด สลิ่ม
ไม่ต้องมาให้ตำแหน่ง อะไรกับคนเสื้อแดง แต่เอาฝ่ายตรงข้าม มามีตำแหน่ง นี่

ผมยังอึ้ง…
คนในพรรคเปลี่ยนไปได้ขนาดนั้น

ผลเลือกตั้ง นายกอบจ.ลำพูน เมื่อลูกลำไยกลายเป็นมีเปลือกส้ม รสชาติออกเปรี้ยวนำ ความหวานหอมแต่ดั้งเดิมกำลังจะเลือนหาย

(4 ก.พ. 68) เป็นที่แน่นอนแล้วว่าทุกจังหวัดในประเทศไทย “พรรคส้มล้มสถาบัน” ไม่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เลย ยกเว้นจังหวัด ลำพูน เพียงจังหวัดเดียว ย่อมสะท้อนให้เห็นแนวคิด และมาตรฐานของผู้คนในพื้นที่ได้หลากหลายมิติ 

ส่วนใหญ่ที่สุด คนลำพูนเบื่อหน่ายนายก อบจ. คนเก่า ซึ่งเป็นคนของ “พรรคโกงจำนำข้าว” ซึ่งเป็นคนใหญ่โตในพื้นที่ เก๋าเกมกางปีกคลุมเมืองลำพูนมาช้านาน แต่กลับไร้การพัฒนาตามความรู้สึกนึกคิดของ “คนรุ่นใหม่” เมื่อตัวแทนผู้สมัครจาก “พรรคส้มล้มเจ้า” โชว์วิสัยทัศน์และนโยบายที่ตรงใจ มีความหวังว่าจะเกิดขึ้นจริงในจังหวัดลำพูนได้ จึงคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง ได้เป็นนายก อบจ. ของจังหวัดลำพูนคนใหม่ทันที

ประชาชนหลายจังหวัด แม้จะเบื่อนายก อบจ. คนเก่าของจังหวัดตัวเอง แต่ก็ตื่นรู้เรื่องแนวคิด “ล้มสถาบัน” ของพรรคประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อประเทศชาติ ไม่อาจหาญไปกาเลือกผู้สมัครของ “พรรคล้มสถาบัน” ให้เข้ามาเจาะเปลี่ยนความคิดของผู้คนให้ชิงชังกษัตริย์ตาม “นโยบายล้มเจ้า” ที่ฝังลึกอยู่ใน DNA ของพรรคส้ม ถ้าไม่กาช่อง “โหวตโน” ก็จะเลือกจะให้โอกาสคนจากพรรคใดก็ได้ที่ไม่มีแนวคิดล้มล้างการปกครองอย่างที่รู้สึกกัน 

เพราะตกผลึกแล้วว่า “ได้ย่อมไม่คุ้มกับเสีย” แค่การเบื่อคนเก่า แต่กาเลือกคนที่มีแนวคิดล้มสถาบันให้เข้ามาดูแลจัดการจังหวัดบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง อนาคตอาจจะพังพินาศยิ่งกว่า

การเมืองท้องถิ่นย่อมใกล้ชิดประชาชนในพื้นที่ การจะปลุกระดม เปลี่ยนแปลง สร้างความเชื่อมั่น และปลุกปั่นความนึกคิดของผู้คนให้คล้อยตาม โดยแลกด้วยผลประโยชน์ที่จับต้องได้ ก็สามารถหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันได้ไม่ยาก ไม่นานก็จะกลายเป็น “ลำพูนส้ม” ที่ลำไยทุกลูกเมื่อลิ้มรสชาติก็จะออกเปรี้ยวนำ หวานแต่ดั้งแต่เดิมกำลังจะหมดหายไป กลายเป็น “ลำไยเปลือกส้ม” แทน

ผมไม่บังอาจฟันธงว่าท่านนายก อบจ. คนใหม่จาก “พรรคส้มล้มเจ้า” เป็นคนไม่เก่ง ไม่มีความรู้ ไม่เจนจัดเรื่องการบริหาร หรือจะเป็นคนที่ไม่สามารถพัฒนา “เมืองลำไย” ได้สำเร็จ ท่านอาจจะทำได้ดี และทำให้ผู้คนชื่นชมมากกว่านายก อบจ. คนก่อนจาก “พรรคนายกหนีคดี” แต่เรื่องแนวคิดการไม่เอาสถาบันผ่านอำนาจที่ท่านมี ยังไง “พรรคล้มเจ้าของท่าน” ก็ต้องวางแผนออกอาวุธอย่างเป็นระบบ 

อย่าลืมว่าพรรคส้มเกิดมาเป้าหลักก็เพื่อล้มสถาบัน อย่างอื่นน่ะเป็นได้แค่เครื่องมือ

UN ปฏิเสธ ไม่เคยกดดันไทยยกเลิก มาตรา 112 ย้ำชัด หน่วยงานที่มีการกล่าวอ้าง ก็ไม่มีอยู่จริง

(4 ก.พ. 68) จากกรณีที่ มีสื่อแห่งหนึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิฯ จาก UN เรียกร้องไทย ยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิฯ สากล นั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 68 ทางภาคีกลุ่มราชภักดี ได้เดินทางไปยื่นหนังสือ ณ สำนักงาน สหประชาชาติ โดยได้เข้าพบ mr.dip magar ผู้แทนข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(ohchr) กรณีที่มีข่าวกดดันให้ประเทศไทยยกเลิก กฎหมาย 112 ได้รับคำยืนยันว่า สหประชาชาติไม่มีนโยบายแทรกแซงกฎหมายของประเทศไทย รวมทั้งรูปแบบการปกครองของประเทศไทยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การที่จะไป ละเมิดหรือคุกคาม เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เช่นเดียวกับประมุขทั่วโลก !!!

เมื่อทางภาคีได้ตรวจสอบหน่วยงาน ตามที่ศูนย์ทนายสิทธิฯอ้าง ว่าเป็นผู้รายงานพิเศษที่ร่วมกันส่งหนังสือกดดันรัฐบาลไทย ยกเลิก 112  ก็ไม่พบหลักฐานว่าเป็นผู้รายงานพิเศษแต่อย่างใด!!!

‘นายกฯอิ๊งค์’ เผย ‘ทักษิณ’ คุย ‘อันวาร์’ หลายเรื่อง เน้นหารือสถานการณ์ความสงบในเมียนมา

เมื่อวันที่ (3 ก.พ. 68) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ เดินทางไปประเทศมาเลเซียเพื่อพบนายนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา จะนำผลดีต่อการพูดคุยเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไรว่า ก็เป็นการคุยในเรื่องความร่วมมือต่างๆที่ทั้งสองประเทศสามารถสนับสนุนกันได้

“ที่ได้คุยโทรศัพท์กับนายทักษิณ สั้นๆกันเมื่อคืนวันที่ 2 ก.พ. การพูดคุยเน้นในเรื่องของเมียนมา นายอันวาร์ เป็นประธานอาเซียน การดูแลช่วยเหลือเมียนมาเป็นเรื่องที่สำคัญของอาเซียนมากๆ ซึ่งในการประชุมในอาเซียนทุกครั้งจะได้รับการยืนยันว่าอยากให้เมียนมาเกิดความสงบสุข และในเมียนมาเองเขาก็อยากให้เกิดความสงบสุขเช่นกัน ฉะนั้นการเข้ามาคุยกันแบบนี้ทำให้เกิดประโยชน์กับภาครวมของอาเซียน และพัฒนาเรื่องอื่นได้อีก ไม่ว่าจะเรื่องฝุ่น PM2.5 ที่ได้มาคุยกันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีช่วยเหลือกัน และมีอีกหลายเรื่อง แต่การไปรอบนี้มีการพูดคุยเรื่องเมียนมาเยอะหน่อย เห็นนายทักษิณอัพเดทมาอย่างนั้น”

ส่องปรากฎการณ์ ‘โนโหวต – บัตรเสีย’ พุ่ง สะท้อนอารมณ์ประชาชนสั่งสอนนักการเมือง

(4 ก.พ. 68) น่าสนใจศึกษา และถอดรหัสยิ่ง สำหรับปรากฏการณ์ทางการเมืองในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) กับปรากฏการณ์บัตรเสีย และบัตรโนโหวต-โหวตโนจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน

อ.เมืองตรังเขต 2 ถึงขั้นต้องจัดเลือกตั้งใหม่ ส.อบจ.16 มีนาคมนี้ หลังเกิดปรากฏการณ์ประชาชนสอนนักการเมืองจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้ชนะอันดับ 1 ได้ 2,000 กว่าคะแนน แต่แพ้คะแนนโหวตโนที่พุ่งไปเกือบ 3,000 กว่าคะแนน จน กกต.จังหวัดต้องเรียกประชุมด่วน เพื่อเปิดรับสมัคร และจัดการเลือกตั้งใหม่

กกต.ตรังกำหนดแล้ว เปิดรับสมัครใหม่ และเลือกตั้งใหม่ 16 มีนาคมนี้ 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นปรากฏการณ์อารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง ที่น่าจะเกิดจากความไม่พอใจต่อตัวผู้สมัคร ทั้งในส่วนของฝ่ายบริหาร และฝ่ายสภาประชาชนจึงต้องสั่งสอนนักการเมือง ผ่านการโหวตโน โนโหวต หรือบัตรเสีย เราจึงพบว่า การเลือกตั้งนายกฯอบจ.คราวนี้มีบัตรเสียจำนวนมากผิดปกติ

ขอยกเป็นตัวอย่างจังหวัดที่บัตรเสียจำนวนมาก

ในส่วนของการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหลายจังหวัดมียอดของจำนวนบัตรเสีย กับบัตรไม่เลือกผู้สมัครคนใด หรือ บัตรโหวตโน สูงหลักหมื่นถึงหลักแสนจำนวนมาก อาทิ

จ.นครราชสีมาผู้มาใช้สิทธิ 1,155,142 คน บัตรดี 972,902 ใบ บัตรเสีย 71,306 ใบ (6.17%) บัตรไม่เลือกผู้ใด 110,934 ใบ (9.60%)

จ.มหาสารคาม ผู้มาใช้สิทธิ 453,567 คน บัตรดี 408,108 ใบ บัตรเสีย 29,007 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 16,452 ใบ

จ.เชียงใหม่ ผู้มาใช้สิทธิ 877,640 คน บัตรดี 778,227 ใบ บัตรเสีย 41,798 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 57,625ใบ

จ.เชียงราย ผู้มาใช้สิทธิ 605,780 คน บัตรดี 525,928 ใบ บัตรเสีย 36,446 ใบ (6.02%) บัตรไม่เลือกผู้ใด 43,406 ใบ (7.17%)

จ.ยะลา ผู้มาใช้สิทธิ 224,707 คน บัตรดี 176,840 ใบ บัตรเสีย 18,533 ใบ (8.25%) บัตรไม่เลือกผู้ใด 29,334 ใบ (13.05%)

จ.สงขลาผู้มาใช้สิทธิ 687,944 คน บัตรดี 572,496 ใบบัตรเสีย 28,593 ใบ (4.16%) บัตรไม่เลือกผู้ใด 86,855 ใบ (12.63%)

จ.สมุทรปราการ ผู้มาใช้สิทธิ 569,659 คน บัตรดี 547,604 ใบ บัตรเสีย 22,055 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 42,142 ใบ

จ.นนทบุรี ผู้มาใช้สิทธิ์ 432,613 คน บัตรดี 382 ,782 ใบ บัตรเสีย 12,268 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 37,562 ใบ (8.68%)

จ.สุพรรณบุรี ผู้มาใช้สิทธิ 393,849 ใบ บัตรดี 353,460 ใบ บัตรเสีย 16,274 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 24,113 ใบ

จ.กำแพงเพชร ผู้มาใช้สิทธิ 272,278 คน บัตรดี 236,084 ใบ บัตรเสีย 14,712 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 21,482 ใบ

จ.ลำพูน ผู้มาใช้สิทธิ 242,381 คน บัตรดี 212,777 ใบ บัตรเสียจำนวน 15,131 ใบ (6.2 4%) บัตรไม่เลือกผู้ใด 14,473 ใบ (5.97%)

บัตรเสียน่าจะเกิดขึ้นทั้งจากความผิดพลาดในการกาช่องลงคะแนน และเจตนาให้เป็นบัตรเสีย ส่วนการโนโหวต หรือโหวตโนก็ตามเป็นเจตนาของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ต้องการสะท้อนความรู้สึกของประชาชน อันเป็นเรื่องน่าสนใจยิ่งว่าอารมณ์ของคนที่สะท้อนออกมาเช่นนี้เกิดจากอะไร

จากการประมวลความคิดเห็นของนักวิชาการ และวงกาแฟพอจะสรุปได้ใน 4-5 ประเด็น

ประการแรก ประชาชนไม่พอใจต่อการที่ “บ้านใหญ่” เข้าไปจัดการในการคัดสรรบุคคลที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นนายกฯอบจ.และ ส.อบจ.ที่ประชาชนรับรู้ได้จากสื่อที่หลากหลาย และความรวดเร็วของสื่อโซเชียล ซึ่งบางคนไม่ได้มีคุณสมบัติอะไร แต่บ้านใหญ่ชี้ตัวลงมาก็ต้องเอาตามนั้น บางคนมีคุณวุฒิ วัยวุฒิ และประสบการณ์เพียบ แต่ถูกบีบให้หลุดวงโคจรก็มีไม่น้อย

ประการที่สอง คือประชาชนไม่พอใจต่อพรรคการเมือง และนักการเมืองระดับชาติที่เข้าไปจุ้นจ้านชี้นำประชาชน ทำให้ประชาชนขาดความเป็นอิสระในการตัดสินใจด้วยตัวเองตามหลักการกระจายอำนาจ องค์กรท้องถิ่นต้องมีอิสระปลอดจากการครอบงำ หรือชี้นำของการเมืองสนามใหม่

ประการที่สาม ประชาชนไม่พอใจต่อตัวผู้สมัครเอง ไม่ว่าจะเป็นการนำตัวเองไปสังกัดซุ้มการเมืองต่างๆ การมีประวัติที่ไม่ใสสะอาด บางคนมีเรื่องร้องเรียนเรื่องทุจริตคอร์รัปชน มั่วสุมในวงการพนัน ได้รับโอกาสจากประชาชนแล้ว แต่กลับไม่มีผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

ประการที่สี่ ประชาชนเรียนรู้มากขึ้นผ่านสื่อต่างๆมากมาย สืบค้นได้ด้วยตัวเอง เมื่อประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้แล้ว วิธีการที่ประชาชนทำได้คือการสะท้อนผ่านการเลือกตั้งนั้นเอง

ประการที่ห้า ปรากฏการณ์การใช้เงินจำนวนมากของผู้สมัครนายกฯอบจ.บางคน ที่มีข่าวสะพัดกับการจัดการหัวละ 500 หัวละ 1000 เมื่ออเทียบกับเงินเดือน ค่าตอบแทนของผู้บริหารแค่หลักแสน ปีละล้านกว่าบาท สี่ปีก็แค่ไม่เกิน 5 ล้านบาท แต่กลับทุ่ม 200-300 ล้านเพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่การถอนทุนในอนาคตบนตำแหน่งบริหาร

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นฝ่ายที่เกี่ยวข้องน่าจะได้นั่งลงถอดรหัส และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิถี หมายรวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติด้วยในการคิดแก้กฎหมาย เช่น การแก้ปิดทางนักการเมืองใหญ่เข้าไปบงการ สั่งการ จัดการกับการเมืองท้องถิ่น รวมถึงจะแก้เรื่องฝ่ายบริหารลาออกก่อนหมดวาระอย่างไม่จำเป็น ทำให้สูญเสียงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งใหม่ และต้องใช้งบประมาณซ้ำสองครั้ง

ปรากฏการณ์บัตรเสีย โนโหวต เป็นปรากฏการณ์ชัดเจนว่า ประชาชนได้ออกมาใช้สิทธิ์สั่งสอนนักเมืองแล้ว เหลือแค่นักการเมืองจะสำนึกหรือไม่

‘ทักษิณ’ สิ้นมนต์ขลัง!! ‘ฝั่งน้ำเงิน’ ขึ้นผงาด ‘ผู้กองธรรมนัส’ เดินเกมพลาด!! ปรากฏการณ์!! สมานฉันท์การเมือง ‘สิงห์บุรีโมเดล’ ด้วยท่าที ‘ถ้อยทีถ้อยอาศัย’

(3 ก.พ. 68) ณ เวลานี้ ถึงแม้ว่า ผลการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ นายกฯ อบจ. 2568 ทางกกต. ยังไม่ประกาศรับรองผลอย่างเป็นทางการ แต่จากการนับคะแนนนั้น ก็เห็นได้ชัดแล้วว่า ‘ใครแชมป์ – ใครชวด’ 

การเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นที่จับตามองของทางหลายๆ ฝ่าย เรียกได้ว่าเป็นการวัดพลังกัน ระหว่าง บ้านใหญ่,บ้านใหม่,กระแสพรรค,ความกว้างขวางของตัวผู้สมัคร ฯลฯ 

แน่นอนว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ แม้จะเป็นเพียงการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น แต่ก็ย่อมจะส่งผลไปยัง การเมืองในระดับชาติ เพราะพรรคการเมืองใหญ่ ทั้งในฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ก็ส่งผู้สมัครกันหลายคน ทั้งแบบอิสระไม่ระบุพรรค แต่สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ทั้งจังหวัดก็รู้ดีว่า ‘คนนี้ เป็นคนของใคร’ 

และอีกแบบที่ ลงในนามพรรค เปิดหน้าสนับสนุน ถึงขั้นลงทุนเดินทางไปปราศรัยด้วยตัวเอง อย่างเช่นกรณีของท่านอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่ขึ้นเดินสายขึ้นเวที ปลุกกระแสมวลชน หวังโกยคะแนน ให้เพื่อไทย แลนด์ไสด์ ในศึกครั้งนี้

แต่ผลลัพธ์ที่ออกมานั้น ดูเหมือนว่า ‘ทักษิณ’ จะสิ้นมนต์ขลังเสียแล้ว

จากข้อมูลที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รวบรวมไว้ ในจังหวัดที่ ทักษิณ ได้ไปขึ้นเวทีจับไมค์ ปรากฏว่า  

1. เชียงราย   แพ้ (แพ้ตระกูลวันไชยธนวงศ์)

2. เชียงใหม่  ชนะ (ฉิวเฉียด)

3. ลำปาง  ชนะ (เครดิต ตระกูลโล่ห์สุนทร)

4. ลำพูน แพ้ (ส้ม ชนะ ตระกูล วงศ์วรรณ)

5. นครพนม  ชนะ (ชนะตระกูล โพธิ์สุ)

6. บึงกาฬ  แพ้ (แพ้ตระกูล ทองศรี)

7. หนองคาย  ชนะ (ล้มแชมป์เก่าได้)

8. มหาสารคาม  ชนะ (เครดิต ตระกูล จรัสเสถียร ล้มแชมป์เก่า)

9. ศรีสะเกษ  แพ้ (ไล่หนู ตีงูเห่า แต่แพ้ตระกูล ไตรสรณกุล)

10. มุกดาหาร แพ้ (มีกำหนดการหาเสียงแต่ไม่ไป)

สรุป 10 จังหวัด แพ้ 5 จังหวัด ในจังหวัดที่ชนะ ต้องบอกว่าเป็นเรื่องบารมีนักการเมืองในพื้นที่และบ้านใหญ่ ในพื้นที่จังหวัดลำพูน ซึ่งติดกับเชียงใหม่ ฐานเสียงหลักของพรรคเพื่อไทย ซึ่ง ‘ทักษิณ’ เองก็หมายมั่นปั้นมือที่จะให้ นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ อดีตนายกฯ อบจ. ตัวแทนบ้านใหญ่ จากพรรคเพื่อไทย เข้าครองเก้าอี้นี้ อีกหนึ่งสมัย แต่ก็ต้องพ่ายแพ้อย่างยับเยินให้กับ นายวีระเดช ภู่พิสิฐ ผู้สมัครนายกฯ อบจ. จากพรรคประชาชน

ส่วนที่ ‘เชียงใหม่’ แม้ชนะ  แต่ ‘ส้ม’ ไล่จี้!! หลักสามแสน ‘ชนะแค่สองหมื่น’ ไม่ถือว่าสำเร็จ!! 

ส่วนทางฝั่ง ‘สีน้ำเงิน’ นั้น หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการปฏิบัติงานด้วยการสวมหมวก ‘มท.1’ นั้น ‘มท.หนู’ ย่อมต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่สามารถออกไปสนับสนุนผู้สมัครคนใดได้ เนื่องจากการปกครองส่วนท้องถิ่น ตามหลักการบริหารราชการแผ่นดินแบบกระจายอำนาจนั้น กระทรวงมหาดไทย จะต้องมีส่วนเข้าไปกำกับดูแล ‘องค์การบริหารส่วนจังหวัด’ หรือพูดกันง่ายๆ ก็คือ ‘มท.หนู’ นั้นจะต้องมีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้องกับ นายกฯ อบจ. ฉะนั้นการวางตัวเป็นกลางของ ‘มท.หนู’ ย่อมเหมาะสมแล้ว

แต่ถึงแม้ว่าจะไม่ออกตัวสนับสนุนผู้สมัคร แต่ด้วยพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีเครือข่ายมากมาย ในคอนเน็คชั่นบ้านใหญ่หลายจังหวัด จึงทำให้ครองแชมป์ได้ในหลายพื้นที่ ทั้ง บึงกาฬ บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ สตูล เชียงราย ลพบุรี พังงา พัทลุง เป็นต้น ทั้งที่พรรคภูมิใจไทยประกาศไม่ส่งผู้สมัครนายก อบจ.ในนามพรรคก็ตาม

ส่วน ‘พรรคกล้าธรรม’ ของ ‘ผู้กองธรรมนัส’ ที่อุตส่าห์ ไปดึงนายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว หรือ กำนันศักดิ์ อดีตนายกฯ อบจ.สุราษฎร์ธานี สมัยที่ผ่านมา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ งานนี้ เพราะผู้กองมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีจาก ‘คดีแป้ง’ จึงทำให้ไม่กล้าเปิดหน้า ว่าส่งในนาม ‘พรรคกล้าธรรม’ ซึ่งสุดท้ายแล้ว นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว ก็พ่ายแพ้ให้กับ ‘ป้าโส’ นางโสภา กาญจนะ ภรรยานายชุมพล กาญจนะ แกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติภาคใต้ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ หลายสมัย ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนท่วมท้นกว่า 205,000 คะแนน 

ซึ่งงานนี้ แสดงให้เห็นแล้วว่า ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ก็ยังมีฐานเสียงที่เหนียวแน่นในภาคใต้ โดยนอกจากที่จ.สุราษฎร์ธานี จะชนะขาดแล้ว ที่จ.พัทลุง นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร ก็ยังคว้าแชมป์ ไม่เสียแรงที่ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ขึ้นเวทีให้กำลังใจ คล้องพวงมาลัย ให้แก่นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร และลูกทีมผู้สมัครสมาชิก อบจ.พัทลุง

มาที่จังหวัดนราธิวาส กับความผิดหวังอีกครั้งของ ‘พรรคกล้าธรรม’ นายอับดุลลักษณ์ สะอิ นักธุรกิจชื่อดัง ที่ได้รับแรงหนุนจาก สองสส.นราธิวาส ‘พรรคกล้าธรรม’ คือสองพี่น้องนายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ และ นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ ก็พ่ายแพ้ให้กับ นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน อดีตนายกฯ อบจ.ห้าสมัย ไปอย่างขาดลอย ทำให้พรรคกล้าธรรม ผิดหวังไปอีกจังหวัด

มาถึงจังหวัด ‘สิงห์บุรี’ ที่จังหวัดนี้ไม่เน้นบ้านใหญ่ แต่เน้นการเมืองใหม่ สส.หนึ่งเดียวของจังหวัดนี้ได้แก่ นายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ จากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีพี่ชายเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และปัจจุบันเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นั่นก็คือ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ หรือ ‘พี่โอ๋’ นักการเมืองผู้มากด้วยน้ำใจ เข้าถึงได้กับคนทุกกลุ่ม ด้วยท่าทีถ้อยทีถ้อยอาศัย เป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้เสมอ 

นายศุภวัฒน์ เทียนถาวร คือบุคคลที่นายชัยวุฒิ ให้การสนับสนุน ให้ลงเลือกตั้งนายกฯ อบจ. ในครั้งนี้ เพื่อเข้ามารับใช้พ่อแม่พี่น้องชาวจังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งการเลือกตั้งในครั้งนี้  นายศุภวัฒน์ ก็ได้รับโอกาสเข้ามาทำงาน ในฐานะนายกฯ อบจ. เป็นที่น่าจับตามองว่า การเมืองในจังหวัดสิงห์บุรีนั้น เป็นการเมืองในรูปแบบใหม่ เป็นการเมืองที่สร้างสรรค์ ไม่ใช้ความรุนแรง ไร้ซึ่งความขัดแย้ง โดย ‘โอ๋ ชัยวุฒิ’ เป็นผู้เดินหน้าสร้างความสามัคคีในการเมือง สร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่ ทำให้การเลือกตั้งในครั้งนี้ มีผู้สมัครเพียงคนเดียว คือ นายศุภวัฒน์ เทียนถาวร หมายเลข 1 หรือ ‘ตุ้ม’ อดีตนายกฯ อบจ.สิงห์บุรี สมัยที่ผ่านมา โดยไม่มีผู้สมัครรายอื่นลงสมัครร่วมชิงชัย

ซึ่งตามกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น มาตรา 111 นั้น ผู้สมัครจะได้รับเลือกตั้ง ก็ต่อเมื่อได้รับคะแนนเสียง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และมากกว่าคะแนนเสียงไม่เลือกผู้ใด หากผู้สมัครได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น หรือไม่มากกว่าคะแนนเสียงไม่เลือกผู้ใด ให้ ผอ.กกต.จังหวัดดำเนินการให้มีการเลือกตั้งใหม่ 

แต่จากผลการเลือกตั้งที่ออกมานั้น นายศุภวัฒน์ เทียนถาวร ก็ได้รับความไว้วางใจอย่างท่วมท้น จากชาวสิงห์บุรี โดยจะปฏิบัติหน้าที่ได้นั้น ก็ต้องรอทางกกต. ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการเสียก่อน 

การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในครั้งนี้ ได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่การปฏิบัติหน้าที่ ทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน ของนายกฯ อบจ. คนใหม่ (ทั้งหน้าเก่าและหน้าเดิม) เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น 

จับตาดูกันต่อไป!! ว่าพวกเขา จะทำงานได้ดี สมกับที่ได้รับความไว้วางใจหรือไม่

ประเทศไทย...ยังคงห่างไกลจากความเป็น ‘รัฐล้มเหลว’ ชี้ การเมือง – เศรษฐกิจ – สังคม ยังมั่นคงแข็งแรง

(3 ก.พ. 68) เร็ว ๆ นี้มีบทความเศรษฐกิจของสื่อแห่งหนึ่งได้ตั้งประเด็นว่า “ประเทศไทยใกล้จะเป็น Failed State ?” โดยมีการหยิบยกเอาเกณฑ์หรือตัววัดความเป็นรัฐล้มเหลว 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) การเมือง (2) เศรษฐกิจ และ (3) สังคม แล้ว ประเทศไทยเข้าสู่สถานการณ์เช่นที่ว่า “จริงหรือไม่”

นิยามความหมายของ ‘รัฐล้มเหลว’ คือ ประเทศที่สูญเสียการควบคุมตนเอง อันเนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น ความไม่มั่นคงทางการเมือง ความไม่สงบทางการเมือง และไม่มีการปกครอง ทั้งนี้ “รัฐล้มเหลว” ไม่ใช่คำศัพท์อย่างเป็นทางการที่ใช้ในกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่ได้หมายความว่า “รัฐบาลที่มีสภาพดังกล่าวได้ล่มสลายโดยสมบูรณ์”

อย่างไรก็ตาม คำว่า "รัฐล้มเหลว" บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า “รัฐนั้นกำลังเผชิญกับช่วงเวลาแห่งความไม่มั่นคงอย่างรุนแรง และมีความเสี่ยงที่จะปกครองไม่ได้เลย” ซึ่งในบางกรณีมีการใช้คำว่า “รัฐเปราะบาง” โดยทั่วไป คำว่า “รัฐล้มเหลว” หมายความถึง “รัฐชาติที่มีอำนาจอธิปไตย แต่สูญเสียความสามารถหลักสองประการ ได้แก่ ความสามารถในการรักษาอำนาจเหนือประชาชนและดินแดนของตนเอง และความสามารถในการปกป้องพรมแดนของประเทศตนเอง”

ในหลาย ๆ กรณีที่รัฐบาลของ “รัฐล้มเหลว” สูญเสียความสามารถในการให้บริการสาธารณะพื้นฐาน บังคับใช้กฎหมาย หรือปกป้องพลเมืองจากความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอก กรณีร้ายแรงของ “รัฐล้มเหลว” อาจประสบกับสงครามกลางเมือง ความอดอยาก หรือการอพยพประชาชนจำนวนมาก โดย “รัฐที่ล้มเหลว” มักตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเครือข่ายอาชญากร องค์กรก่อการร้าย และมหาอำนาจระหว่างประเทศ ซึ่งใช้ประโยชน์จากความไม่มั่นคงของรัฐเหล่านี้

มีสาเหตุที่เป็นไปได้หลายประการของรัฐที่ล้มเหลว ตั้งแต่ความไม่มั่นคงทางการเมือง ไปจนถึงการละเลยทางเศรษฐกิจและการขาดการปกครอง สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดบางประการของรัฐที่ล้มเหลว ได้แก่ :

1. ความไม่มั่นคงทางการเมือง : การขาดรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจปกครองที่มีประสิทธิภาพอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางการเมืองและความวุ่นวาย ซึ่งอาจรุนแรงขึ้นได้จากการทุจริต การบริหารจัดการทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม หรือความขัดแย้งภายใน

2. การบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาด : รัฐที่ล้มเหลวมักมีประวัติการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาดและการละเลย ส่งผลให้เกิดความยากจน การว่างงาน และปัญหาอื่น ๆ

3. ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม : การเข้าถึงทรัพยากร การศึกษา และสุขภาพที่ไม่เท่าเทียมกันกระทั่งสร้างความแตกแยกอย่างมากมายขึ้นภายในประเทศ และนำไปสู่ความขัดแย้งจนเกิดความไม่สงบขึ้น

4. ความขัดแย้งในภูมิภาค : สงคราม การก่อความไม่สงบ และความขัดแย้งอื่น ๆ ระหว่างรัฐหรือกลุ่มต่างๆ สามารถทำให้ภูมิภาคไม่มั่นคงและนำไปสู่รัฐที่ล้มเหลว เกิดสงครามกลางเมืองที่ร้ายแรงมาก จนกระทั่งสามารถทำลายรัฐบาลและโครงสร้างทางสังคมของประเทศได้

5. การแทรกแซงจากต่างประเทศ : บางครั้งรัฐที่ล้มเหลวอาจเป็นผลจากการแทรกแซงจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ซึ่งอาจรวมถึงการแทรกแซงทางทหาร การคว่ำบาตร และการแทรกแซงทางการเมืองภายในประเทศในรูปแบบอื่น ๆ

6. แรงกดดันจากต่างประเทศ : การแทรกแซงจากต่างประเทศในวงกว้าง เช่น การคว่ำบาตรทางการค้าหรือการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ อาจทำให้เกิดความยากลำบากทางเศรษฐกิจและนำไปสู่ความไม่มั่นคงในประเทศ

7. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : ประเทศที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติอย่างมากในการดำรงชีพอาจมีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมือง

ทั้งนี้ ด้วยเกณฑ์หรือตัววัดที่บทความ “ประเทศไทยใกล้จะเป็น Failed State ?” ได้หยิบยกมานั้น แม้จะเป็นไปตามสาเหตุข้อ 1 -3 ของการนำไปสู่ความเป็น “รัฐล้มเหลว” ก็ตาม แต่ก็สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยนั้น ยังคงห่างไกลจากความเป็น “รัฐล้มเหลว” อย่างมากมาย สิ่งที่เห็นเป็นเรื่องแรกคือ “การพ้นจากตำแหน่งของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 30” ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถอดถอนพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2567 จากกรณีทูลเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่นายพิชิตเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี 

สำหรับการตรวจสอบและดำเนินการบังคับใช้กฎหมายนั้น ยังคงมีการดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่องตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ แต่คดีความต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้ส่วนหนึ่งมีความซับซ้อนและยุ่งยากกว่าในอดีตมาก ทั้งหลายคดียังเกี่ยวข้องกับบุคคลและองค์กรนอกประเทศอีกด้วย การดำเนินการจึงเป็นไปด้วยความล่าช้า แต่ไม่ใช่ว่า ไม่มีการดำเนินการใด ๆ เลย สำหรับ สาเหตุจากการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาดนั้น ที่สุดแล้วหลังจากความจริงปรากฎจะต้องมีผู้รับผิดชอบ ดังเช่น “กรณีการรับจำนำข้าว ซึ่งแม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรี และอดีตข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องต้องถูกตัดสินจำคุก” สำหรับสาเหตุจากความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมนั้น เป็นเรื่องที่ย้อนแย้งกับบริบททางสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง ไทยเราเป็นประเทศแรก ๆ ของทวีปเอเชียที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีระบบดูแลสุขภาพที่ดีติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก แต่การกระทำความผิดตามกฎหมายอย่างชัดเจน แล้วอ้างความชอบธรรมว่าเป็นสิทธิเสรีภาพนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง และตลอด 93 ปีในระบอบประชาธิปไตยของไทยนั้น รัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมส่วนใหญ่แล้วมักจะอยู่ไม่ครบเทอม และด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผู้ที่ประพฤติหรือมีพฤติการณ์ทุจริตและประพฤติมิชอบนั้นจะอยู่ในตำแหน่งได้ยาก เพราะในที่สุดแล้วจะต้องถูกตรวจสอบและดำเนินคดีตามโทษานุโทษที่ได้ก่อกรรมทำขี้น

‘เจือ ราชสีห์’ เผย ปี 69 ‘กรมทางหลวงชนบท’ เตรียมตั้งงบฯ ศึกษาความเป็นไปได้สร้างสะพานเชื่อมเมืองสขลา - สงหนคร

(3 ก.พ. 68) คืบหน้า…ปีหน้าทางหลวงชนบทตั้งงบศึกษาความเป็นไปได้สร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา

นายเจือ ราชสีห์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค) อดีต สส.สงขลา ผู้ผลักดันเต็มที่ และต่อเนื่องให้มีการสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา บริเวณหัวเขาแดง เพื่อเชื่อม อ.สิงหนครกับ อ.เมือง เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงชนบทว่า ได้ข้อสรุป กรมทางหลวงชนบท จะตั้งงบประมาณ ปี 69 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้การก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา เพื่อเชื่อม อ.เมืองสงขลา กับ อ.สิงหนคร จ.สงขลา และมีความน่าจะเป็นการสร้างในรูปแบบ ‘สะพานเปิดปิด’ ซึ่งจะรองรับการข้ามผ่านของเรือและยังสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัดในพื้นที่ได้สะดวก 

ทั้งนี้ปัจจุบันผู้ที่สัญจรไปมาระหว่าง อ.สิงหนคร และอำเภออื่นๆ เพื่อเข้าไปยังตัวเมืองสงขลา มีทางเลือกอยู่สองทาง คือ ข้ามด้วยแพขนานยนต์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ซึ่งมีแพอยู่ 4 ลำ มีท่าเทียบแพฝั่งละสองท่า ในช่วงเช้าๆ การจราจรจะหนาแน่น บางครั้งรถติดยาวเป็นกิโล เพราะมีทั้งคนเดินทางไปทำงาน และนักเรียนเข้ามาเรียนหนังสือ นายเจือจึงเคลื่อนไหวผลักดันให้มีการสร้างสะพานข้ามทะเลสาบ หรือจะสร้างเป็นอุโมงค์ก็ได้

อีกทางเลือกหนึ่งคือ อ้อมไปขึ้นสะพานติณสูลานนท์ ผ่านเกาะยอ แล้วอ้อมสี่แยกเกาะยอมาเข้าเมือง เส้นทางสายนี้ก็สะดวก แต่อ้อมไกลไปประมาณ 20 กิโลเมตร

สมัยนายไพเจน มากสุวรรณ์ เป็นนายกฯอบจ.สงขลา ก็พยายามแก้ปัญหาความคับคั่งของรถข้ามแพ ด้วยการเพิ่มจำนวนแพขนานยนต์ และเพิ่มท่าเทียบแพ ก็พอจะบรรเทาการจราจรไปได้บ้าง

นายไพเจนเคยให้สัมภาษณ์ว่า ยินดีถ้าจะมีการสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา เพราะการให้บริการแพขนานยนต์ ก็เป็นการให้บริการที่ขาดทุนอยู่แล้ว แต่ถือว่าเป็นภารกิจในการให้บริการสาธารณะ จึงต้องตั้งงบสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง และปรับปรุงการให้บริการมาโดยตลอด เช่นล่าสุดการติดตั้งระบบแพขนานยนต์อัจฉริยะ เป็นต้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top