Sunday, 3 December 2023
POLITICS NEWS

‘นายกฯ’ ยัน!! เดินหน้าต่อยอด ‘30 บาทรักษาทุกโรค’  เพื่อยกระดับชีวิตคนไทย คาด!! ปีหน้าเสร็จสมบูรณ์

(12 พ.ย.66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่าน X (ทวิตเตอร์เดิม) ระบุว่า “เดินหน้าต่อ 30 บาทรักษาทุกโรคยกระดับเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนครับ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐาได้แนบลิงก์ บทสัมภาษณ์ของนายแพทย์สุรพงศ์ สืบวงศ์ลี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ถึงความคืบหน้าการ ใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาสุขภาพทุกเครือข่าย ซึ่งต่อยอดนโยบาย 30 บาทของพรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความคืบหน้า 80 เปอร์เซ็นต์ โดยนำร่องรักษา 4 จังหวัด และภายในปี 2567 จะสมบูรณ์ทั้งระบบ และคาดว่าในอนาคตเตรียมพร้อมรับ 2 สิทธิ คือ ข้าราชการและประกันสังคม

‘เศรษฐา-สุริยะ’ เยือนสหรัฐฯ ลุยโรดโชว์ ‘แลนด์บริดจ์’  ดึงนักธุรกิจต่างชาติร่วมทุน ดันเส้นทางขนส่งแห่งใหม่ระดับภูมิภาค

เมื่อวานนี้ (11 พ.ย.66) นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 12 พ.ย. ซึ่งก็คือวันนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 (2023 APEC Economic Leaders’ Meeting) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 12-19 พฤศจิกายน 2566 ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

การเข้าร่วมการประชุมฯ ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เป็นโอกาสเพื่อนำเสนอนโยบาย สร้างความเชื่อมั่น รวมถึงสานต่อผลลัพธ์ของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 โดยยังจะเป็นโอกาสให้ได้พบหารือเพื่อสร้างความร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจเอเปค และภาคเอกชนเอเปค โดยประเด็นที่ไทยผลักดัน อาทิ 

1.การค้าการลงทุน ย้ำความมุ่งมั่นต่อระบบการค้าพหุภาคีที่มีองค์การการค้าโลกเป็นแกนกลาง 
2.ความเชื่อมโยง ผ่านการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นศูนย์กลางขนส่งในภูมิภาค เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียผ่านโครงการ Landbridge 
3. ความยั่งยืน ผลักดันการสานต่อเป้าหมายกรุงเทพฯ 
4.เศรษฐกิจดิจิทัล 
5.ความครอบคลุมและความเท่าเทียม

ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายเศรษฐาและผม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะเดินทางไปจัดงาน Thailand Landbridge Roadshow ในวันที่ 13 พฤศจิกายน ณ โรงแรม Ritz Carlton เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐ

นายสุริยะกล่าวอีกว่า ในฐานะเจ้าภาพจัดงานจะร่วมกันให้ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของโครงการ อาทิ โอกาสทางธุรกิจ รูปแบบการลงทุน ศักยภาพทำเลที่ตั้งของพื้นที่โครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ โดยมีนักลงทุนภาคธุรกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงาน ทั้งสายการเดินเรือ ผู้บริหารท่าเรือ กลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มผู้ลงทุนด้านอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนักลงทุนต่างให้ความสนใจประเด็นโอกาสในการลงทุนของโครงการ

นายสุริยะกล่าวว่า ในอนาคตโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือแลนด์บริดจ์ จะเป็นช่องทางการค้าแห่งใหม่เพื่อใช้เป็นเส้นทางขนถ่ายสินค้าหลักระดับภูมิภาคและจะเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชีย และช่วยลดระยะเวลาการขนส่งทางทะเลและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง อีกทั้งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางการค้า ประกอบด้วย เขตการค้า เมืองท่าและเขตอุตสาหกรรม และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

วิเคราะห์!! วิบากกรรม ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ชี้ชะตา ‘เศรษฐา’ บอกอนาคต ‘อุ๊งอิ๊ง’

ในที่สุดก็แจ่มแจ้งแดงแจ๋ไปแล้วว่า… โฉมหน้าค่าตานโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาลเศรษฐา เป็นอย่างไร

ต้องยอมรับว่าทุกค่ายทุกสำนักพูดออกมาเป็นเสียงเดียวแทบจะพร้อมๆ กันว่า… ไม่ตรงปก!!

ครับ!! ‘เล็ก เลียบด่วน’ พูดด้วยใจนิ่งๆ เป็นกลางอย่างที่สุดว่า… ไม่ตรงปกจริงๆ… คำว่า ‘ไม่ตรงปก’ ในความหมายก็คือ ไม่ตรงกับที่ตัวเอง (พรรคเพื่อไทย) พูดตอนหาเสียงและยื่นเอกสารให้กับ กกต.

ไม่ตรงทั้งวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ ไม่ตรงทั้งรูปแบบและเนื้อหาว่างั้นเถอะ… หนำซ้ำที่บอกกับ กกต. ว่าจะใช้เงินจากระบบงบประมาณและรายได้ภาษีปกติ… 

แต่ที่สุดของเศรษฐา คือ ‘กู้’ ออก พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท พร้อมคำยืนยันว่าจะผ่อนใช้ทัน 4 ปีช่วงรัฐบาลนี้

เหนื่อยครับ… อยากเอาใจช่วย แต่อ่านและฟังที่ท่านนายกฯ แถลงเมื่อวันที่ 10 พ.ย.แล้วเหนื่อยแทน… เหนื่อยแทนพรรคเพื่อไทย เหนื่อยแทนประเทศไทย… 

‘เล็ก เลียบด่วน’ ไม่ขอลงรายละเอียดหน้าตาของโครงการ แต่จะแลไปข้างหน้าว่า นโยบายที่ไม่ตรงปกนี้จะต้องฝ่าหลุมขวาก เป็นวิบากกรรมอย่างไรบ้าง… 

ประการแรก - ต้องลุ้นกันระทึกว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จะฝ่าข้าม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 ไปได้หรือไม่… ไม่จำเพาะมาตรา 53 ที่พูดถึงกันเท่านั้น แต่มาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 3-4 มาตรา ก็เป็นกับดัก… ซึ่งก็ต้องให้กรรมการกฤษฎีกายืนยันออกมาดังๆ อีกทีว่า ‘โน พรอมแพลม’ ถึงจะยอมๆ กันไปได้บ้าง…

ประการที่สอง - โดยส่วนลึก เชื่อ ‘เล็ก เลียบด่วน’ เถอะว่า พรรคภูมิใจไทยและพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ได้แฮปปี้กับนโยบาย 5 แสนล้านบาทนี้ ยิ่งต้องมาร่วมยกมือผ่านกฎหมายด้วยแล้ว… งานนี้อย่าคิดว่าจะผ่านไปได้ง่ายๆ แม้ทั้งสองพรรคยังอยากจะเป็นรัฐบาลต่อไปก็เหอะ… 

ประการที่สาม - ต่อให้กฎหมายกู้เงินผ่านสองสภาฯ ไปแล้ว แต่เชื่อว่า ในที่สุดจะมีคนไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ… ดีไม่ดีอาจล้มคว่ำซ้ำรอย พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ล้านล้าน สมัยรัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์’ ก็ได้ ทำเป็นเล่นไป… 

เอาแค่สามประการดังว่ามาก็พอ… พื้นที่ที่เหลือ ‘เล็ก เลียบด่วน’ ใคร่ขมวดปมสถานการณ์เหตุบ้านการเมืองที่เกี่ยวเนื่องมาเล่าสู่กันฟังว่า… 

ทว่า ณ นาทีนี้ สถานการณ์ของตัวนายกฯ เศรษฐาที่มั่นคงแบบป้อแป้ แต่ก็ยังโชคดีที่ใครต่อใคร รวมทั้งนายห้างชั้น 14… ยังเห็นใจในความมุ่งมั่น ขยันทำงาน

สายข่าวในพรรคเพื่อไทยกระซิบให้ ‘เล็ก เลียบด่วน’ ฟังว่า… หลายวันก่อนโน้น นายห้างชั้น 14 ได้ส่งสัญญาณตรงๆ ถึง นายกฯ สูงยาวถุงเท้าแดงว่า ต้องปรับตัวให้เข้ากับ สส.ให้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะ สส.เหนือกับอีสาน ซึ่งขณะนี้ นายเศรษฐาได้ไหว้วานให้ ‘มาดามนครพนม’ อย่าง ‘มนพร เจริญศรี’ รมช.คมนาคม เป็นตัวช่วยประสานเรียบร้อยแล้ว… 

และช่วงปลายเดือน พ.ย. ต่อต้นเดือน ธ.ค. ‘วาระงาน’ ของนายกฯ ถุงเท้าแดงก็จะขึ้นเหนือ ไปอีสานแบบรัวๆ กันเลยทีเดียว!!

สำหรับ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร ที่พักหลังออกงานบ่อย และปรากฏตัวที่ทำเนียบรัฐบาลถี่ขึ้น… ย่อมเป็นธรรมดาที่จะถูกจับจ้องมองว่า เห็นท่าจะหนีไม่พ้นปีหน้า 2567 จะย่างสามขุมขึ้นเป็นนายกฯ แน่นอนนั้น… 

ยังต้องยืนยันฟันธง ว่า นายห้างชั้น 14 ต้องการให้ลูกสาวเป็นนายกฯ แน่นอน แต่ไม่ได้ขีดเส้นว่าต้องเป็นภายในปีหน้า… 

ครึ่งเทอมหลัง หรือสมัยหน้าก็รอได้… ให้ ‘อุ๊งอิ๊ง’ บำเพ็ญบารมีไปก่อน เว้นแต่ว่า… เศรษฐาเดินสะดุดบันไดทำเนียบ เดินต่อไปไม่ได้จริงๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง… 

เป็นนายกฯ ไม่ยากเท่ากับอยู่ให้ได้ ไปให้เป็น… ให้ประชาชนยอมรับ… 

ถ้าไม่ดื้อด้านหน้ามืดตามัว… แค่ ดิจิทัลวอลเล็ต เรื่องเดียวก็คงทำให้ ‘อุ๊งอิ๊ง’ ในฐานะหัวหน้าพรรคคนใหม่ คงได้คิดและนำไปถอดรหัสเป็นกรณีศึกษาได้ไม่น้อยทีเดียว

‘เพื่อไทย’ ชี้!! ผลงาน ‘ครม.นิด1’ 60 วัน แก้ปัญหาสำเร็จหลายมิติ ปลื้มผลโพล ปชช.พอใจ พร้อมเดินเครื่องฟูลแพ็กเกจดิจิทัลวอลเล็ต

(11 พ.ย. 66) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการแถลงผลงานในรอบ 60 วัน ตามด้วยการแถลงฟูลแพ็กเกจนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ว่า เป็นการแถลงสรุปผลงานสำคัญในสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการในช่วง 60 วันแรกที่ครบถ้วน ลุยแก้ปัญหาในหลายมิติ แก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชน สอดคล้องกับผลการสำรวจความเห็นของประชาชนจากนิด้าโพล ที่ระบุชัดว่า ประชาชนส่วนใหญ่พึงพอใจในผลงานของรัฐบาลเศรษฐา

ส่วนฝ่ายค้านจะเห็นต่าง จะให้ผ่านหรือปรับตกอย่างไรก็ถือเป็นสิทธิ ในช่วง 60 วันแรกรัฐบาลได้ออกหลายมาตรการในลักษณะ ‘Quick wins’ ที่หวังผลระยะสั้น ทำทันที และจะเป็นฐานสนับสนุนในภารกิจที่เป็นเป้าหมายหลักในอนาคตของรัฐบาลด้วยการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ครม.เศรษฐา เข้ามา 2 เดือน หลายเรื่องที่เคยประกาศไว้ได้ทำจนประสบผลสำเร็จ ทั้งลดค่าไฟฟ้า ลดค่าน้ำมัน นโยบายฟรีวีซ่ากระตุ้นการท่องเที่ยว ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ดันมาตรการเร่งด่วนด้านต่างประเทศ แก้ปัญหายาเสพติด แก้หนี้นอกระบบ

รวมถึงนโยบายเรือธงอย่างดิจิทัลวอลเล็ต ของพรรค พท.ก็มีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
สิ่งที่รัฐบาลเศรษฐาได้ดำเนินการ ไม่เพียงพูดแล้วทำตามนโยบายที่ได้หาเสียง หรือแถลงนโยบายไว้ แต่หลายเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ รัฐบาลก็พร้อมดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

เปิดใจ 'พีระพันธุ์' ทำไมเดินหน้าแก้ปัญหาราคาพลังงานได้ทันใจ เหตุ!! 'นายกฯ' ไฟเขียว!! ไม่ยอมให้ราคาแปรผันเหมือนตลาดหุ้น

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 66 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘ฟังหูไว้หู’ ในหัวข้อ ‘The Special คุยกับรัฐมนตรีพลังงาน’ ออกอากาศทาง ช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 โดยมี ชุติมา พึ่งความสุข และ วีระ ธีรภัทร ดำเนินรายการ

เมื่อถามถึงบรรยากาศในการทำงานระหว่างนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ เป็นอย่างไรบ้าง? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "บรรยากาศดีครับเมื่อได้เข้าประชุม ครม. กับ ท่านนายกฯ ส่วนที่บอกว่าท่านไปต่างประเทศบ่อย ท่านก็ไปในช่วงที่ไม่มีประชุม ถ้าจำไม่ผิด ท่านลาประชุมเพียงแค่ครั้งเดียวเอง"

เมื่อถามถึงช่วงก่อนหน้านี้ ทำไมรัฐมนตรีท่านอื่นถึงทำเรื่องลดราคาค่าครองชีพด้านพลังงานไม่ได้ โดยเฉพาะค่าไฟ? พีระพันธุ์ กล่าวว่า "ผมขอเรียนตรง ๆ ว่า ตอนที่ผมรู้ว่าต้องรับหน้าที่นี้ ผมหนักใจมาก เพราะผมรู้ว่าภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงพลังงานเพียงอย่างเดียว จากที่ผมศึกษากฎหมายมา อำนาจไม่ได้อยู่ที่เราคนเดียวหมด

"เมื่อตอนที่เราหาเสียง เราพูดถึงนโยบายไว้มาก เราหวังว่าเราจะเข้ามาทำให้ได้ แต่พอเข้ามาแล้ว เรามารู้เบื้องหลัง ก็รู้สึกหนักใจ แต่ในเมื่อพูดไว้แล้ว และได้โอกาสเข้ามาทำแล้ว ก็คิดว่าอย่างไรก็จะทำให้สำเร็จ ด้วยว่านิสัยผมเป็นคนแบบนี้ จะทำได้หรือไม่ได้ แต่จะลงมือเลย" นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "และผมก็โชคดีที่ท่านนายกฯ ก็มุ่งทำนโยบายนี้เหมือนกัน ท่านประกาศตั้งแต่ช่วงแรก ๆ เลย ผมก็รู้สึกเหมือนได้ยกภูเขาออกจากอก เพราะว่าทำให้หลายเรื่องที่ผมกังวลว่าจะทำอย่างไร กลายเป็นนโยบายของรัฐบาล จึงทำให้ผมแก้ปัญหาและดำเนินนโยบายได้อย่างราบรื่นดี"

"เมื่อผมได้ศึกษาปัญหาแล้ว เรื่องของไฟฟ้าประเด็นหลักคือ ก๊าซ ผมไม่เถียงว่าโครงสร้างมันผิด แต่ถ้ามัวแต่ไปแก้โครงสร้างให้ถูก ผมก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ จึงต้องกลับมาดูว่าภายใต้โครงสร้างแบบนี้ สามารถทำอะไรได้บ้าง ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ผมคิดแบบนี้นะ" นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ผมมานั่งดูว่า โครงสร้างของไฟฟ้าในปัจจุบันนี้ อย่างแรกเลยต้องลดก๊าซก่อน ถ้าไม่ลดก๊าซ ก็ไม่มีทางลดค่าใช้จ่ายได้เลย อย่างที่ 2 เมื่อดูจากผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องขยายการชำระหนี้ ก็ต้องขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพราะเมื่อผมขอความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา ทุกคนทุกฝ่ายร่วมมือเต็มที่เลย เพื่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "ผมได้ให้โจทย์ผู้ที่เกี่ยวข้องไปว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ราคาสุทธิต่ำกว่า 4 บาท ตอนแรกทำไม่ได้ เพราะอย่างที่ผมบอกเรื่องนี้ต้องดู 2 ขา ขาแรกคือราคากลาง ขาที่ 2 คือการชำระหนี้ สำหรับการชำระหนี้ มันขึ้นตรงกับเราเลย (กฟผ.) ก็สามารถทำได้ก่อน ทำให้ราคาลงมาอยู่ที่ 4.50 บาท"

นายพีระพันธุ์ กล่าวเสริมว่า "แต่ผมก็ยังไม่ล้มเลิกนะ เดินหน้าต่อในเรื่องก๊าซ (ปตท.) ก็ไปคุยกันจนได้มาเป็นราคาในปัจจุบันนี้ เพราะหากรอให้สะเด็ดน้ำทั้ง 2 ขา ผมก็ไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ ทางท่านนายกฯ ก็ขอมาว่า ภายใน 1 อาทิตย์ จบปัญหาได้ไหม? ผมก็รับปาก และไปพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง จนสุดท้ายก็ได้มาที่ราคา 3.99 บาท" 

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ส่วนงวดต่อไป (ม.ค. - เม.ย.) ถ้าจะทำก็ทำได้ แต่ต้องบอกตรง ๆ ว่า โครงสร้างพลังงาน ทั้งน้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า ต้องปรับนะ ถ้าไม่ปรับโครงสร้าง ก็จะกลับมารูปแบบเดิม แต่ผมตั้งใจจะทำ และจะทำให้ได้ด้วย"

เมื่อถามถึงแนวทางในการปรับลดราคาน้ำมัน นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ถ้าจะลด ก็ต้องลดในส่วนของภาครัฐ สำหรับโครงสร้างปัจจุบันนะ ซึ่งจะคล้าย ๆ กับของมาเลเซีย รัฐต้องเข้าไปสนับสนุน เพียงแต่มาเลเซียเขามีอีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างจากเรา แต่ผลลัพธ์คือรัฐเข้าไปช่วยอุดหนุนเหมือนกัน รัฐบาลมาเลเซียช่วยลิตรละ 10 กว่าบาท จนทำให้ราคาขายเหลือลิตรละ 10 กว่าบาท แต่ตอนนี้รัฐบาลไทยยังไม่สามารถเข้าไปโอบอุ้มได้แบบนั้น แต่ชี้ให้เห็นว่า ถ้ารัฐอุดหนุน 2.50 บาท ราคาก็ปรับลงทันที"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "อย่างน้ำมันดีเซล เราลดราคาภาษีสรรพสามิต 2.50 บาท ทำให้ราคาลงมาเหลือลิตรละ 30 บาท จากตอนแรกราคา 35 หรือ 32 บาท ตอนนี้รัฐบาลขีดเส้นไว้ว่าจะลดราคาให้ถึงธันวาคมนี้ (3 เดือน)"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า "ส่วนกรณีน้ำมันเบนซิน ซับซ้อนกว่าดีเซล เพราะมีหลากหลายชนิด ตอนที่เริ่มคุยกัน ก็ต้องศึกษาเยอะมาก ๆ จะให้ลดเหมือนกันหมดก็จะกลายเป็นภาระรัฐบาล ทำให้รัฐบาลแบกภาระมากเกินไปในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ สุดท้ายผมจึงเสนอว่า เลือกมาเลย 1 ตัวที่จะลด เอาเป็นตัวที่คนใช้เยอะ คนใช้ทำมาหากิน จึงเลือกแก๊สโซฮอล์ 91 ลดราคาลงก่อน และใช้ตัวเลขเดียวกับดีเซลคือ 2.50 บาท และยังไม่คิดถึงตัวอื่นเลย เพราะแก๊สโซฮอล์ 91 เป็นสิ่งที่ประชาชนใช้ทำมาหากินกัน"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "ระหว่างศึกษาก็ติดขัดหลายเรื่อง แต่ก็บอกทุกคนว่าทำให้ได้นะ ต้องขอขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้องเลย และพอผมมั่นใจแล้วว่าจะลด แก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาท ผมก็รายงานท่านนายกฯ ท่านก็ดีใจ แต่พอไปถึงขั้นตอนสุดท้าย ตอนลงรายละเอียด กระทรวงการคลังซึ่งดูแลกรมสรรพสามิตบอกว่า ทำไม่ได้ โดยบอกว่าโครงสร้างภาษีสรรพสามิตไม่ได้แยก แก๊สโซฮอล์ 91 กับ 95 ถ้าลด 2.50 บาท เขาจะไปต่อไม่ได้ ทำให้ต้องลดภาษีฯ ลงได้แค่ 1 บาท แต่เราไม่อยากผิดคำพูดกับประชาชน จึงไปดึงเงินจากกองทุนบริหารน้ำมันเชื้อเพลิงมาอีก 1.50 บาท"

เมื่อถามว่า หาก รมว.คลังไม่ใช่ 'เศรษฐา' การดำเนินการลดน้ำมันจะยากกว่านี้หรือไม่? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ยาก อย่างที่ผมเรียนไปว่า ตอนผมรับตำแหน่งใหม่ ๆ ผมตั้งใจทำอยู่แล้ว แต่เพราะไม่ใช่อำนาจเราคนเดียว แต่พอท่านนายกฯ ประกาศว่าจะทำเหมือนกัน ผมก็โล่งใจเลย เพราะพอประกาศออกมา ทุกคนก็พร้อมใจกันทำเลย"

เมื่อถามถึงในส่วนราคาพลังงานกลุ่มที่เหลืออย่าง NGV / LPG และ LNG จะมีทิศทางปรับลดอย่างไรต่อไป? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ในส่วนของ NGV ผมกำลังศึกษาอยู่ รวมถึงเรื่องก๊าซทั้งระบบด้วย NGV เป็นก๊าซที่ใช้กับรถยนต์ ผมกำลังศึกษาโครงสร้างอยู่ว่าเขาวางระบบกันอย่างไร เห็นว่าช่วงนี้มีการไล่ปิดปั๊มกันอยู่ ผมก็ได้รับเรื่องร้องเรียนมา เช่น กลุ่มแท็กซี่"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า "ผมมองว่า เป็นไปได้อย่างไร? ที่พลังงานคือชีวิตของคน แต่รัฐบาลควบคุมไม่ได้ ผมว่ารัฐบาลควรต้องทำได้ จะเสรีแบบใดก็ทำไป แต่ต้องมีขอบเขต มีการกำกับดูแลตามนโยบายที่ควรจะเป็น วันนี้ผมเป็น รมต.พลังงาน และมีท่านนายกฯ ด้วย แต่เรากำหนดอะไรไม่ได้เลย ถามว่าใครกำหนด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ ผมว่าแบบนี้ไม่ได้ ทั้ง NGV / LPG เลยนะ ผมว่ามันต้องมีเครื่องมือรัฐเข้ามาบริหารจัดการเรื่องตรงนี้ให้ได้ครับ"

"สำหรับก๊าซ LNG นั้น เพราะความต้องการใช้แก๊สมากขึ้น ที่เรามีในอ่าวไทยไม่เพียงพอแล้ว ผลิตได้แค่ครึ่งหนึ่งของความต้องการเอง ประมาณ 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน อีกครึ่งหนึ่งต้องนำเข้า ซึ่งมาจากเมียนมาเป็นส่วนใหญ่" นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "ก๊าซ LNG อิงกับราคาตลาดโลก ผมเข้าใจในส่วนนี้นะ แต่ผมมองว่าเราในฐานะรัฐบาล จะมาเล่นราคาพลังงานเหมือนตลาดหุ้นไม่ได้ เพราะพลังงานไม่ใช่สินค้าที่จะนำมาหาจังหวะทำกำไร มันเกี่ยวโยงกับชีวิตคน รัฐบาลจึงต้องวางรูปแบบที่สามารถควบคุมได้ ราคาในตลาดโลกจะเป็นแบบใดก็เป็นไป แต่ราคาในประเทศต้องนิ่ง รัฐต้องควบคุมตรงนี้ให้ได้ จะใช้วิธีการใดก็ได้ และผมกำลังคิดเรื่องตรงนี้ให้ประเทศไทย"

เมื่อถามถึงกรณีปัญหาจากตัวแปรการคำนวณราคาหน้าโรงกลั่น? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ประเด็นนี้ผิดทั้งหมด ต้องรื้อแก้ไขทั้งหมด ราคาหน้าโรงกลั่นคือราคาน้ำมันดิบที่นำเข้ามา บวกค่าการกลั่น ต่อจากนี้ผมจะไม่ให้เรียกว่าค่าการกลั่นแล้ว เพราะคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการนำน้ำมันดิบมากลั่น และคือราคาหน้าโรงกลั่น ซึ่งมันไม่ใช่นะ เพราะค่าการกลั่นคือกำไรเบื้องต้นของเขาแล้วนะ ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการกลั่น สรุปคือจริง ๆ ไม่ใช่ค่าการกลั่น แต่เป็นกำไร"

นายพีระพันธุ์กล่าวต่อว่า "จะเห็นว่าแค่เริ่มต้นก็ผิดแล้ว ผิดที่ 2 คือราคาที่บอก ๆ กันอยู่นี่ ไม่ใช่ราคาจริง แต่เป็นราคาทิพย์ คิดมาจากสูตรอะไรไม่รู้ ผิดถูกก็มาโต้แย้งกัน หลังจากนั้นก็บวก ๆ และที่น่างงสุด ๆ เลยคือภาษีสรรพสามิต บวกภาษีท้องถิ่น บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม บวกกองทุนน้ำมัน บวกกองทุนอนุรักษ์พลังงาน พอจะไปขายให้ปั๊ม ก็บวกภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% ต่อมาก็คือค่าการตลาด และค่อยมาเป็นราคาที่ขายหน้าปั๊ม แต่ค่าการตลาดเอามาลบ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมตรงนี้ถึงเอามาลบ"

"กลายเป็นว่าสุดท้ายปลายทาง เอาภาษี 7% (รอบ 2) มาลบกับราคาที่ขายหน้าปั๊ม ได้เท่าไหร่ก็บอกว่าเป็นค่าการตลาด แบบนี้มันไม่ใช่" นายพีระพันธุ์กล่าว

เมื่อถามถึงการยกเครื่องโครงสร้างราคาพลังงานด้วยการแก้ไขกฎหมายที่มีทั้งความ 'ยาก' และ 'ต้องใช้เวลา' จนอาจไม่ทันใจประชาชน? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "สำหรับผมนะ ไม่มีทั้ง 2 คำนั้นเลย ต้องเร็ว และไม่ยาก เพราะผมทำเอง เขียนเอง แต่เนื่องด้วยภาระเยอะ ผมจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับพลังงานทั้งระบบ เมื่อได้คำตอบ ผมก็จะมีคณะของผมยกร่างฯ เองเลย โดยที่ผมเป็นคนกำกับดูแล เพราะฉะนั้น สำหรับผมแล้วร่างกฎหมายไม่ใช่เรื่องยาก เพราะผมร่างกฎหมายมาตลอดชีวิตของผมอยู่แล้ว และเมื่อผมมีทีมงานมาช่วย ก็จะไม่มีความล่าช้า แต่กว่าจะถึงตรงนั้น ต้องศึกษาปัญหากฎหมายให้ละเอียดเสียก่อน"

‘เศรษฐา’ โต้เดือด!! ‘ศิริกัญญา-หยุ่น’ ปมดิจิทัลวอลเล็ต ซัด!! อย่าเอาความคิดตัวเองมาสร้างความสับสนให้ ปชช.

(11 พ.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความใน X หรือ ‘ทวิตเตอร์’ ตอบโต้นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

นายเศรษฐา ระบุว่า “อย่าเอามาตรฐานความคิดของตัวเองมาหวังว่าคนอื่นเขาจะเป็นเหมือนกัน อย่ามองความตั้งใจที่บริสุทธิ์ และความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน มาเป็นมุมการเมืองที่สร้างความสับสนให้กับประชาชนเลยครับ”

นอกจากนี้ นายเศรษฐา ยังได้ตอบโต้นายสุทธิชัย หยุ่น ที่โพสต์ระบุว่า “นายกฯ ย้ำคำว่า ‘e-government’ หลายครั้ง คงต้องนิยามให้ชัด ๆ อย่าให้งงเหมือน soft power” โดยนายกฯ กล่าวว่า “ผมว่าทุกคนเค้าเข้าใจดีครับ ยกเว้นสื่อบางสื่ออาจจะพยายามบิดเบือนหรือสร้างความเข้าใจ เพื่อให้คุณเข้าใจผิด”

‘ศิริกัญญา’ ชี้!! ออก ‘พ.ร.บ.กู้’ สุ่มเสี่ยงมาก แนะทำแท้งร่าง กม.เงินกู้ เชื่อ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ถึงทางตัน ฟันธง!! สุดท้ายจะไม่มีใครได้เงิน

(10 พ.ย. 66) ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงรายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ว่า ขณะนี้ความชัดเจนเริ่มปรากฎแล้ว แต่เป็นความชัดเจนที่ไม่มีเรื่องแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งนายกฯเลือกเส้นทางที่ยากที่สุด คือการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 5 แสนล้าน เพื่อระดมทุนมาแจกในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แม้วันนี้หลักเกณฑ์จะมีการพูดถึงคนที่รายได้ต่ำกว่า 7 หมื่นบาท แต่ท้ายที่สุดอาจไม่มีใครได้เงินจากโครงการนี้เลย เพราะเสี่ยงขัดต่อกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 และขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงิน การคลัง มาตรา 53 ที่มีการระบุว่า หากใช้เงินที่ไม่ได้เป็นไปตามงบประมาณปกติ จะทำได้กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น แต่วันนี้ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนอะไร เราไม่ได้อยากกดดันให้มีการร้องเรียนไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่เราคิดว่านี่เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารอย่างแท้จริงที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความให้เด็ดขาด ว่ารัฐบาลจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ได้หรือไม่ โดยไม่ต้องไปถึงมือขององค์กรอิสระที่ไม่เป็นวิถีทางประชาธิปไตยสักเท่าไหร่

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า ที่ต้องออกมาพูด เพราะการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท มีความสุ่มเสี่ยงจริงๆ เหมือนกับกรณี พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท อย่างชัดเจน ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ดังนั้น รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ ตนตั้งข้อสังเกตว่าการที่รัฐบาลเลือกทางนี้ เพราะไม่ต้องการให้โครงการนี้สำเร็จ แต่ต้องการให้เข้าทางนักร้องต่างๆ เพื่อหาทางลงให้สวยงามของโครงการที่มาถึงทางตันโดยสมบูรณ์แล้ว ตนไม่ได้เห็นด้วยกับการร้องศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนี้ แต่ขอให้รัฐบาลได้แสดงความรับผิดชอบทางการเมืองโดยการให้กฤษฎีกาตีความ

“รัฐบาลเองน่าจะเห็นแล้วว่าไม่มีทางที่จะไปได้จริงๆ ทางเลือกนี้เป็นการหาทางลงมากกว่าที่จะเดินหน้าโครงการนี้จริงๆ ถ้ากฤษฎีกาตีความเข้าข้างให้ผ่าน และ สส.ในสภาฯ ก็ให้ผ่าน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือภาระหนี้ในแต่ละปีงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้นปีละ 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 15% ของงบรายจ่ายประจำปี ซึ่งจะเป็นภาระงบประมาณอย่างใหญ่หลวง สิ่งที่รัฐบาลทำวันนี้จะทำภาระดอกเบี้ยเกิน 10% ในงบประมาณปี 68 ทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ได้พูดถึงทั้งเรื่องภาระหนี้ และภาระดอกเบี้ย ความเสี่ยงนี้จะไม่เกิดขึ้นหาก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ถูกทำแท้งตั้งแต่ต้นโดยกฤษฎีกา” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

เมื่อถามว่า แบบนี้เหมือนเป็นการขายผ้าเอาหน้ารอดหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ถ้าจะพูดแบบนั้นน่าจะได้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมาจากการที่ไม่ได้คิดนโยบายอย่างถี่ถ้วน ตั้งแต่ก่อนหาเสียง เมื่อถึงทางตันจึงต้องหาทางลงแบบนี้

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า เงื่อนไขต่างๆ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเหมือนลอยมาจากฟ้าโดยสิ้นเชิง หากตัดตามสัดส่วนผู้มีรายได้ 20% บนสุดต้องอยู่ประมาณ 6 หมื่นบาท แต่วันนี้เราไม่รู้ว่าตัวเลข 7 หมื่นบาท มาจากไหน จะตัดคน 4 ล้านกว่าคนได้จริงหรือไม่ ตนคิดว่ารัฐบาลต้องการตัวเลขกลมๆ ที่ 50 ล้านคน จึงไม่มีหลักเกณฑ์อะไรมากนัก

‘รองประธานฯ หอการค้าไทย’ มองภาพรวมผลงาน 2 เดือน ‘ครม.นิด 1’ ชี้!! ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ฟอร์มดี ตอบสนองเร็ว ผลงานเด่นชัด-จับต้องได้

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 66 นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการประเมินผลงานการทำงานตลอดระยะเวลา 60 วัน ของรัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้การบริหารของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผ่านรายการ ‘คุยข่าว ถึงเครื่อง’ ประจำวันที่ 9 พ.ย. 66 เผยแพร่ผ่านช่องทางรับชมในเครือ THE STATES TIMES, คุยถึงแก่น, เปรี้ยง, NAVY AM RADIO/ MAYA Channel ช่อง 44 และ FM101 โดยมี นายปรเมษฐ์ ภู่โต สื่อมวลชนอาวุโส พิธีกร ผู้ประกาศข่าวรายการคุยถึงแก่น เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทั้งนี้ นายวิศิษฐ์ ได้ให้มุมมองของภาคเอกชนต่อการบริหารงานของรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ว่ามีแนวโน้มหรือทิศทางในการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ ในแง่ของเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง ดังนี้…

เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้ ได้เข้ามาบริหารประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจไทยพยายามจะฟื้นตัว หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้งภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลให้การบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ไม่ง่ายเลย

ดังนั้น หากมองแบบกว้างๆ 2-3 แง่มุม เรื่องแรกคือ การลดภาระค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพต่างๆ ในภาคประชาชน ที่เห็นได้เด่นชัดเลยก็คือ ‘การลดค่าไฟ’ ที่ตลอด 3 เดือนนี้ อัตราค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย และ ‘การลดราคาน้ำมัน’ ที่ปรับลดราคาน้ำมันทั้งเบนซินและดีเซล สูงสุดที่ 2.50 บาทต่อลิตร 

และที่เห็นชัดๆ อีกเรื่อง คือ ความพยายามในการลดราคาค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีแดงและสีม่วง ให้เหลือแค่ 20 บาทตลอดสาย

อีกเรื่องที่น่าจับตามอง คือ ‘หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ’ ซึ่งมีแนวทางนโยบายที่ต้องการจะช่วยยกระดับสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศ… ก็คงต้องรอติดตามหลังจากนี้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

ในส่วนของเรื่องภาระหนี้สิน ที่จะเห็นได้ชัดเจนเลยก็คือ ‘ภาคเกษตรกรรม’ ที่ได้รับการดูแลในเรื่องนี้ไปก่อนแล้ว คือ การพักหนี้เกษตรกร 3 ปี SME 1 ปี ในวงเงินที่ตั้งไว้ไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งทั้งหมดนี้ ถือว่าเป็นภาพรวมในการพยายามช่วยลดภาระต้นทุน ค่าครองชีพ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและภาคกิจการ ที่รัฐบาลสามารถทำให้ได้

เรื่องที่ 2 การเพิ่มรายได้ อย่างที่ทราบกันดีว่า ในปัจจุบัน GDP ของประเทศไทยยังขึ้นอยู่กับ 2 เรื่องหลักๆ คือ ‘การส่งออก’ และ ‘การท่องเที่ยว’ ดังนั้น เรื่องที่เห็นได้ชัดเจน ในการเพิ่มรายได้ หรือการพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจในแง่มุมต่างๆ คือ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มรายได้เข้าประเทศได้รวดเร็ว และง่ายที่สุด อีกทั้งยังเป็นช่วงจังหวะที่นักท่องเที่ยวในหลายๆ ประเทศสามารถ ‘เที่ยวล้างแค้น’ ได้ หลังจากที่ต้องหยุดท่องเที่ยวไป 3 ปี เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงทำให้มีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ยังอยากจะเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยอยู่ หรือแม้แต่การที่คนไทยเดินทางไปเที่ยวที่ต่างประเทศเองก็เช่นกัน

โดยมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่เห็นเด่นชัดที่สุด คือ ‘นโบายฟรีวีซ่า’ ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากในการกระตุ้นความอยากเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองไทยของนักท่องเที่ยวชาวจีน เนื่องจากสามารถเดินทางมาได้อย่างง่ายดาย ส่งผลให้ยอดนักท่องเที่ยวชาวจีนและคาซัคสถานเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงยอดนักท่องเที่ยวชาวอินเดียและรัสเซียก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

แม้จะเกิดปัญหาที่ไม่คาดไม่ถึง เช่น สงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ที่ส่งผลทำให้ภาคธุรกิจเกิดการขาดความเชื่อมั่นพอสมควร เนื่องจากการที่ช่วงก่อนหน้านั้น ผู้บริโภคในประเทศต่างๆ ประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ทำให้รัฐบาลในแต่ละประเทศประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงเพื่อกดเงินเฟ้อ ทำให้ประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ซึ่งถือเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่ต้องติดตามและแก้ไขต่อไป

การเพิ่มรายได้ อีกเรื่องหนึ่งที่อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักหน่อย แต่มีความน่าสนใจและจำเป็นต้องทำอย่างมากในยุคสมัยนี้ คือ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ซึ่งอาจจะเห็นตัวอย่างของหลายๆ ประเทศที่ผลักดันเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ได้ดี และประสบผลสำเร็จมาแล้ว เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ที่สามารถสอดแทรกเรื่องราวต่างๆ ไว้ในภาพยนตร์ หรือซีรีส์ ยกตัวอย่างเช่น อาหาร ซึ่งส่งผลต่อวัฒนธรรมการกินไปทั่วโลก ทำให้เห็นว่าเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ไทย ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สมควรต้องผลักดันอย่างมากในหลากหลายแง่มุม

ซึ่งซอฟต์พาวเวอร์นี้ถือเป็นเข็มมุ่งสำคัญที่รัฐบาลชุดนี้ มีความพยายามที่จะเอาจริงจังในการผลักดันอย่างมาก โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติขึ้นมาดูแลในส่วนนี้โดยเฉพาะ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องรอติดตามผลงานกันต่อไป

เมื่อถามถึงอีกหนึ่งนโยบายสำคัญที่ประชาชนทั้งประเทศจับตามองและพูดถึงมากที่สุด คือ ‘นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท’ ว่าจะมีผลอย่างไรบ้าง ในมุมมองของเศรษฐกิจ นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า…

ในส่วนของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เชื่อว่าอาจจะสามารถเริ่มต้นดำเนินนโยบายได้ในปีหน้า คือ 2567 ปกติการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเติมเงินในกระเป๋าในประชาชน ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยมี เราก็เคยมีมาแล้วในหลายรูปแบบและหลายจังหวะ แม้แต่ในช่วงเวลาที่ประชาชนแทบจะไม่สามารถทำมาหากินได้ หรือทำขึ้นมาเพื่อช่วยในยามที่ภาคการค้าขายมีความยากลำบาก การเติมเงินเข้ากระเป๋าของประชาชนจึงช่วยกระตุ้นทำให้ผู้คนกล้าออกมาจับจ่ายซื้อใช้สอยมากขึ้น ภาคกิจการก็สามารถผลิตสินค้าออกมาขายได้เรื่อยๆ

สำหรับมุมมองของภาคเอกชนที่มีความคิดเห็นต่อ ‘นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต’ ของทางภาครัฐนั้น คือ ต้องการให้มีการมุ่งเป้าเฉพาะเจาะจงให้ชัดเจน ว่ากลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับสิทธิ์ ควรจะเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย เพราะเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับสิทธิ์แล้ว เขาก็จะสามารถมีกำลังในการดูแลตัวเองและครอบครัว รวมถึงช่วยเติมเต็มด้านเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการหมุนเวียนการซื้อขาย

อีกหนึ่งมุมมองของภาคเอกชนที่อยากจะฝากทางภาครัฐ คือ ในส่วนของแอปพลิเคชันของดิจิทัลวอลเล็ตนั้น เนื่องจากต้องดำเนินนโยบายด้วยระยะเวลาที่ค่อนข้างเร่งด่วน จึงอยากแนะนำว่า ในส่วนของแอปพลิเคชันนั้น หากสามารถใช้แอปฯ ตัวเดิมที่เคยมีอยู่ก่อนแล้วได้ ก็จะเป็นการดีที่สุด เพราะได้มีการทดสอบการใช้งานและการแก้ไขข้อบกพร่องมาแล้วพอสมควร หากต้องมาเริ่มต้นลองผิดลองถูกกันใหม่ อาจเกิดความเสี่ยงค่อนข้างสูง

นอกจากนี้ นายวิศิษฐ์ ยังได้กล่าวถึงความตั้งใจอีกหนึ่งเรื่องของตัวนายกฯ เศรษฐา คือ เรื่องของการเป็น ‘เซลล์แมนของประเทศไทย’ ที่ได้มีภารกิจเดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ รวมถึงเข้าร่วมงานประชุมระดับโลกมาพอสมควร เหมือนเป็นการขายความพร้อมและแสดงศักยภาพของประเทศไทย ทั้งในแง่ของการเชิญชวนต่างชาติเข้ามาลงทุนทำกิจการในประเทศไทย หรือเชิญชวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ลองมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย ซึ่งการเดินทางไปพรีเซนต์ประเทศต่อนานาชาติด้วยตัวเอง นับว่าเป็นการแสดงความตั้งใจ และความจริงใจ ซึ่งถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากในการสื่อสารกับประชาคมโลก

เมื่อถามถึงการให้การให้คะแนนในช่วง 2 เดือนของการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ นายวิศิษฐ์ ได้ให้ความคิดเห็นว่า แม้ว่าระยะเวลาเพียง 2 เดือนแรกในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้นั้นจะยังไม่สามารถสรุปอะไรได้ แต่หากพิจารณาจากผลงานที่เป็นรูปธรรมทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ควบคู่กับสถานการณ์โดยรวมที่อาจพุ่งเข้าใส่อย่างไม่ทันตั้งตัว ตลอดจนบริบทต่างๆ ของเศรษฐกิจโลก รัฐบาลชุดนี้สามารถตอบสนองและตั้งรับต่อเรื่องต่างๆ ได้ดีพอสมควร

‘ปานปรีย์’ เผย!! ถกขึ้นเงินเดือน ขรก. แนวโน้มดี ชี้!! ต้องเน้น ขรก.แรกเข้า หวั่น!! เทใจไปเอกชน

(10 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นประธานการประชุมหารือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เรื่องการปรับเงินเดือนข้าราชการ ร่วมกับตัวแทนกระทรวงการคลัง เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงบประมาณเข้าร่วมประชุม

ต่อมาเวลา 13.35 น. นายปานปรีย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ. ไปศึกษาและดูแนวทางที่เหมาะสม เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ภายในสิ้นเดือน พ.ย.นี้ โดยการประชุมครั้งนี้ตนมาสังเกตการณ์ ในฐานะกำกับดูแล ก.พ. จึงมาฟังความคิดเห็นที่ทางหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายหารือกัน ซึ่งทิศทางออกมาดี ส่วนรายละเอียดต้องทำเพิ่มเติม คาดว่าก่อนสิ้นเดือน พ.ย. เสร็จแน่นอน 

ผู้สื่อข่าวถามกรณีที่มีข่าวว่าจะขึ้นเงินเดือนเฉพาะข้าราชการชั้นผู้น้อย ส่วนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะขึ้นน้อยมาก มีหลักการและแนวทางอย่างไร นายปานปรีย์ กล่าวว่า ต้องดู เพราะมีในส่วนข้าราชการแรกเข้า ที่จะต้องปรับฐานเงินเดือน เพื่อให้คนที่เข้ามาใหม่มีความสนใจที่จะเข้ามาสู่ระบบราชการมากขึ้น เพราะถ้าฐานเงินเดือนต่ำเราอาจจะได้คนที่ไม่มีคุณภาพ และคนที่จะเข้ามารับราชการอาจจะตัดสินใจเลี้ยวไปภาคเอกชน การประชุมครั้งนี้ต้องมาดูด้วยว่าเงินเดือนเอกชน ที่จบปริญญาตรี จะเริ่มต้นจากตรงไหน และดูความเหมาะสมในส่วนของราชการว่าควรจะเป็นเท่าไหร่

เมื่อถามว่า ควรจะต้องปรับเป็นจำนวน 25,000 บาท ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายปานปรีย์ กล่าวว่า ยังไม่ใช่ ต้องดูรายละเอียดอีกอย่าเพิ่งสรุปว่าจะเป็นเท่าไหร่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่บรรจุตั้งแต่ระดับ 3-7 ที่ไม่ใช่ระดับผู้บริหาร จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ใช่หรือไม่ นายปานปรีย์ กล่าวว่า การหารือยังไปไม่ถึงตรงนั้น ตอนนี้กำลังดูในส่วนของข้าราชการแรกเข้าก่อน เมื่อถามย้ำว่าการขึ้นจะเป็นการขึ้นทั้งระบบ ใช่หรือไม่ นายปานปรีย์ กล่าวว่า ขอให้รอฟังก่อน 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการรับฟังข้อมูลครั้งนี้ โอกาสที่จะขึ้นเงินเดือน มีสูงหรือไม่ นายปานปรีย์ กล่าวว่า “เป็นไปตามนโยบาย” 

เมื่อถามย้ำว่า ถึงอย่างไรก็ต้องขึ้นใช่หรือไม่ นายปานปรีย์ กล่าวย้ำว่า “เป็นไปตามนโยบาย จะขึ้นมากหรือขึ้นน้อย ก็ค่อยว่ากัน”

‘อนุทิน’ คลอดมาตรการแบ่งเบาภาระประชาชนต่อเนื่อง ผุดขยายเวลา ‘จัดเก็บภาษีที่ดินฯ’ ปี 67 ต่ออีก 2 เดือน

(10 พ.ย.66) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ได้ลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ขยายกำหนดเวลาดำเนินการตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ประจำปี 2567 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการขยายกำหนดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี 2567 เป็นการทั่วไป ออกไป 2 เดือน ตามที่ รมว.มหาดไทยได้มีนโยบายให้ทุกหน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทยมีมาตรการเพื่อแบ่งเบาภาระพี่น้องประชาชนที่เผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้วในส่วนของไฟฟ้า ขณะที่ส่วนของประปาอยู่ระหว่างการพิจารณา 

ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศให้มีการขยายกำหนดการเก็บภาษีที่ดินและท้องถิ่นในปี 2567 ออกไป 2 เดือน ซึ่งท่านอนุทิน ได้ลงนามแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนมีผลบังคับต่อไป โดยมาตรการนี้จะช่วยทำให้ประชาชนมีเวลาสามารถบริหารค่าใช้จ่าย เหลือสภาพคล่องไปใช้จ่ายในระยะเวลาที่ยืดออกไป สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ขณะนี้อยู่ในช่วงของการฟื้นเศรษฐกิจ

โดยโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สาระสำคัญของประกาศกระทรวงฯ ได้ขยายระยะเวลาดำเนินการในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังนี้…

1.ขยายกำหนดเวลาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการจัดทำบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกาศ พร้อมจัดทำข้อมูลเกี่ยวข้องกับผู้เสียภาษีแต่ละรายทราบ จากเดิมภายในเดือน พ.ย. 2566 เป็น ภายในเดือน ม.ค. 2567

2.ขยายกำหนดเวลาของ อปท. ในการประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษีที่จัดเก็บ และรายละเอียดอื่นที่จำเป็นในการจัดเก็บภาษี จากเดิมก่อนวันที่ 1 ก.พ. 2567 เป็น ก่อนวันที่ 1 เม.ย. 2567

3. ขยายกำหนดเวลาของ อปท. ในการแจ้งการประเมินภาษี โดยส่งแบบประเมินภาษีให้ประชาชนผู้เสียภาษี จากเดิมภายในเดือน ก.พ. 2567 เป็น ภายในเม.ย. 2567

4.ขยายกำหนดเวลาของผู้เสียภาษีในการชำระภาษีตามแบบแจ้งการประเมินภาษี จากเดิมภายในเดือน เม.ย. 2567 เป็น ภายในเดือนมิ.ย. 2567

5.ขยายกำหนดเวลาของผู้เสียภาษีในการผ่อนชำระภาษี ดังนี้ งวดที่1 จากเดิมชำระภายในเดือนเม.ย. 2567 เป็น ภายในเดือนมิ.ย. 2567 / งวดที่2 จากเดิมภายในเดือน พ.ค. 2567 เป็น ภายในเดือน ก.ค. 2567 และ งวดที่ 3 จากเดิมภายในเดือน มิ.ย. 2567 เป็นภายในเดือน ส.ค. 2567 

6.ขยายกำหนดเวลาของ อปท. ในการมีหนังสือแจ้งเตือนผู้เสียภาษีที่มีภาษีค้าง จากเดิมภายในเดือน พ.ค. 2567 เป็น ภายในเดือน ก.ค. 2567 

และ 7.ขยายกำหนดเวลาของ อปท. ในการแจ้งรายการภาษีค้างชำระให้สำนักงานที่ดินหรือสำนักงานที่ดินสาขา จากเดิมภายในเดือน มิ.ย. 2567 เป็นภายในเดือน ส.ค. 2567


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top