ครั้งแรกในรอบ 19 ปี ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ครั้งที่ 5 กระทรวงทรัพย์ฯ มอบกรมป่าไม้เตรียมความพร้อมมุ่งร่วมมือจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ครั้งแรกในรอบ 19 ปี พาไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 หรือ MMRF5 ระหว่างวันที่ 23 – 25 ส.ค. 65 ที่จังหวัดเชียงใหม่ มอบกรมป่าไม้ เตรียมความพร้อมจัดยิ่งใหญ่ มุ่งสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค ร่วมบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ในปี 2565 นี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 หรือ The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry : MMRF5 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 23 – 25 สิงหาคม 2565 โรงแรมเลอ เมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่ โดยถือเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในประเทศไทยในรอบ 19 ปี และนับจากการจัดประชุมครั้งแรก ใน ปี 2007 ณ นครซิดนีย์เครือรัฐออสเตรเลีย การประชุม MMRF ถือเป็นเวทีการประชุมเพื่อสนับสนุนให้ทุกเขตเศรษฐกิจของเอเปค ให้ความร่วมมือระหว่างกันในด้านวิชาการเทคนิค และกระบวนการด้านการเงิน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดความยั่งยืน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการป่าไม้ในแต่ละเขตเศรษฐกิจ ดังนั้น การมารวมตัวกันของเขตเศรษฐกิจจากทั่วโลก จึงเป็นเวทีที่สำคัญในการที่จะแสวงหาความร่วมมือในการร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อคนรุ่นเราและลูกหลานของเราในอนาคต
“จากการประชุม MMRF5 ที่มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ ของกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อนำไปสู่การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ดังนั้น สำหรับท่าทีของประเทศไทย โดยกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการโดยอ้างอิงจาก Themeการประชุม APEC 2022 THAILAND คือ “OPEN. CONNECT. BALANCE.” และถือโอกาสใช้เวทีแห่งนี้เรียกร้องและกระตุ้นให้สมาชิกเอเปคก้าวข้ามความขัดแย้งหันมาให้ความร่วมมือส่งเสริมและพัฒนา โดยเน้นให้เห็นถึงทางเลือก (Scenario) ใน 3 ทางเลือกหลัก คือ หนึ่ง ทางเลือกโดยการดำเนินการตามธุรกิจปกติ (Business-as-usual) ซึ่งหากพิจารณาตามแนวโน้มในปัจจุบัน ยังคงต้องประสบกับปัญหาที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขอีกมาก สอง ทางเลือกแบบท้าทาย (Aspiration) สมาชิกเอเปคทุกเขตเศรษฐกิจร่วมกันกำหนดเป้าหมาย โดยอาศัยหมุดหมายหลักเป็นจุดอ้างอิงให้บรรลุเป้าหมาย เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ข้อตกลงปารีสด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลงมือปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และสาม ทางเลือกที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง (Disruptive)” นายจตุพรกล่าว