Thursday, 23 May 2024
NEWS FEED

หลังจากรอคอยมานาน! ล่าสุด รฟม. ประกาศจัดโปรโมชั่นเที่ยวโดยสาร ใช้เดินทางในระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง แบบรายเที่ยว ราคาถูกสุด 20 บาทต่อเที่ยว เริ่ม 1 กุมภาพันธ์ 2564 นี้

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดโปรโมชั่นเที่ยวโดยสาร ใช้เดินทางในระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง เริ่ม 1 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ มอบทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT สำหรับผู้ถือบัตรโดยสารประเภทบุคคลทั่วไป บัตรโดยสารธุรกิจ และบัตรร่วมธุรกิจ สามารถเติมเที่ยวโดยสารที่เหมาะสมกับการเดินทางได้ 5 รูปแบบ

- เที่ยวโดยสาร 15 เที่ยว ใช้เดินทางภายใน 30 วัน ราคา 450 บาท

- เที่ยวโดยสาร 25 เที่ยว ใช้เดินทางภายใน 30 วัน ราคา 700 บาท

- เที่ยวโดยสาร 40 เที่ยว ใช้เดินทางภายใน 30 วัน ราคา 1,040 บาท

- เที่ยวโดยสาร 50 เที่ยว ใช้เดินทางภายใน 30 วัน ราคา 1,100 บาท

- เที่ยวโดยสาร 60 เที่ยว ใช้เดินทางภายใน 60 วัน ราคา 1,200 บาท

*สามารถเติมเที่ยวโดยสารได้ที่ห้อง MRTสายสีม่วงเท่านั้น โดยยังไม่สามารถเติมแบบออนไลน์ได้*

ทั้งนี้ เที่ยวโดยสารจะมีอายุการใช้งานนับจากวันที่ใช้เดินทางครั้งแรกตามประเภทของเที่ยวโดยสารแต่ละชนิด (นับวันที่เริ่มใช้งานเป็นวันที่ 1) และต้องใช้เดินทางครั้งแรกภายใน 45 วันนับจากวันที่เติมเที่ยวโดยสาร หากพ้นกำหนดจะไม่สามารถใช้เดินทางได้ และเที่ยวโดยสารไม่สามารถเปลี่ยนหรือขอคืนเป็นเงินสดได้ กรณีเดินทางในระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ระบบจะทำการหักเที่ยวโดยสารก่อน หากเที่ยวโดยสารหมด ระบบจะหักเงินในบัตรโดยสารนั้นๆ

ส่วนกรณีเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ระบบจะหักเที่ยวโดยสารสำหรับการเดินทางในระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และจะหักเงินในบัตรโดยสารนั้นๆ ตามจำนวนสถานีที่เดินทางในระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน

กระทรวงการคลัง ออกโรงเตือน ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าว และดาวน์โหลด “แอปพลิเคชันลงทะเบียนเราชนะ” ยืนยันยังไม่มีแอปฯหรือเว็บไซต์เปิดให้ลงทะเบียนอย่างเป็นทางการ ระบุให้รอความชัดเจนหลังครม.เห็นชอบ 19 ม.ค.นี้

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ได้ปรากฏว่ามีการเผยแพร่ “แอปพลิเคชันลงทะเบียนเราชนะ” ตามสื่อต่างๆ นั้น กระทรวงการคลัง ขอเรียนว่า แอปพลิเคชันดังกล่าว ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับโครงการเราชนะของรัฐบาลและกระทรวงการคลังแต่อย่างใด ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดความสับสน และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโครงการเราชนะของรัฐบาล จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังในการอ่าน ส่ง หรือแชร์ข้อมูลต่าง ๆ ที่มิได้ถูกเผยแพร่อย่างเป็นทางการจากกระทรวงการคลัง

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังขอเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมแอบอ้างโดยมีเจตนาหลอกลวงหรือทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ขอให้หยุดการกระทำดังกล่าวโดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด และหากพบว่ามีการกระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายทันที

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาโครงการเราชนะในวันอังคารที่ 19 มกราคม 2564 นี้ และจะมีการแถลงข้อมูลที่เป็นทางการอย่างชัดเจน โดยสามารถติดตามสืบค้นข้อมูลข่าวสารและความคืบหน้าที่ถูกต้องเกี่ยวกับโครงการเราชนะ ได้จากแถลงข่าวกระทรวงการคลัง ในเว็บไซต์ www.mof.go.th หรือในเฟซบุ๊ก “สถานีข่าวกระทรวงการคลัง”

กระทรวงสาธารณสุข ชี้กรณีนอร์เวย์เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิดของไซเฟอร์ โมเดอร์นา ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว ยืนยันไทยสั่งซื้อวัคซีนคนละตัว ขอประชาชนอย่ากังวล

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ปฏิบัติราชการรองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีประเทศนอร์เวย์พบรายงานผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า ที่ประเทศนอร์เวย์ใช้วัคซีนของ Pfizer และ Moderna โดยทั้ง 2 ใช้เทคโนโลยีเดียวกัน คือ mRNA vaccine ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่เป็นของบริษัท แอสตร้าเซเนก้า จำกัด และซิโนแวค ประเทศจีน ที่ใช้กลุ่มวัคซีนเชื้อตาย ดังนั้นจึงอยากให้คนไทยเชื่อมั่นว่าไม่ได้ใช้ตัวเดียวกับนอร์เวย์

อย่างไรก็ตามการใช้วัคซีนอาจมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้ เช่น ปวดศีรษะ บวมร้อน คลื่นไส้ ซึ่งผู้ที่ได้รับวัคซีที่มีความเปราะบางจะต้องได้รับการติดตามสังเกตุอาการ ปกติ 30 นาทีหลังรับการฉีดวัคซีน และ 30 วัน หลังจากฉีดแล้ว

กรณีของนอร์เวย์ พบผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ 29 ราย เป็นผู้หญิง 21 ราย และผู้ชาย 8 ราย มีผู้เสียชีวิต 23 ราย หลังได้รับวัคซีน Pfizer-BioNTech mRNA vaccine เข็มแรก จากผู้ที่ได้รับวัคซีนไปแล้วกว่า 30,000 คน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของนอร์เวย์ ยืนยันว่าการฉีดวัคซีนถือว่ามีความเสี่ยงน้อย ยกเว้นการฉีดในผู้สูงอายุที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปและมีโรคประจำตัว ซึ่งจะต้องมีการประเมินเป็นรายบุคคล

นพ.โสภณ กล่าวว่า จากการชันสูตรผู้เสียชีวิต พบว่าในจำนวน 13 ราย เป็นผู้สูงอายุมากกว่า 80 ปี และเป็นผู้ป่วยที่พักรักษาตัวอยู่ใน Nursing Home ส่วนสาเหตุของการเสียชีวิตอยู่ระหว่างการสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ โดยแนะนำให้แพทย์ประเมินความเสี่ยงก่อนการสั่งฉีดวัคซีน

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากต่างประเทศก็ถือเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยที่จะช่วยวางแผนในการเตรียมรับวัคซีนอย่างปลอดภัย และขณะนี้ แพทย์นอร์เวย์ได้แนะนำว่าต้องประเมินความเสี่ยงก่อนการสั่งฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้มีอายุมากและมีโรคประจำตัวด้วย

กรมการปกครองประกาศ ยกเว้น/ลด ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจดทะเบียนครอบครัว การออกหนังสือสำคัญเกี่ยวกับชื่อบุคคล บัตรประจำตัวประชาชน และการทะเบียนราษฎร กรณีภัยที่เกิดจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

เนื่องจากปัจจุบันพบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ระลอกใหม่ขึ้นในหลายพื้นที่ โดยมีประกาศพื้นที่ภัยที่เกิดจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชุมพร ชลบุรี ตราด ตาก นครนายก นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ราชบุรี ระนอง ระยอง ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี สระแก้ว สระบุรี อ่างทอง ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนในสถานการณ์วิกฤตินี้ กรมการปกครองจึงได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมและลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร ในเรื่องต่อไปนี้
(1) การขอคัดสำเนา หรือคัดและรับรองสำเนารายการทะเบียนราษฎร
(2) การขอคัดสำเนา หรือคัดและรับรองสำเนารายการข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร
(3) การแจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่อื่น
(4) การแจ้งการตายต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่อื่น
(5) การแจ้งการย้ายที่อยู่
(6) การออกบัตรประจำตัวให้กับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย
(7) การขอรับสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านใหม่แทนฉบับเดิมที่ชำรุดหรือสูญหาย

2. ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชน ในเรื่องต่อไปนี้
(1) การออกบัตรใหม่ในกรณีบัตรหายหรือถูกทำลาย บัตรชำรุดในสาระสำคัญ การแก้ไขชื่อตัว หรือชื่อสกุล หรือชื่อตัวและ
ชื่อสกุล หรือการย้ายที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน
(2) การออกใบแทนใบรับ
(3) การขอคัดและรับรองสำเนาข้อมูลเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชน

3. ให้ลดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจดทะเบียนครอบครัว ในเรื่องต่อไปนี้
(1) การขอคัดสำเนาหรือคัดและรับรองสำเนาทะเบียนครอบครัว ฉบับละ 1บาท
(2) การจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักทะเบียนโดยมีผู้ขอ รายละ 1 บาท
(3) การจดทะเบียนสมรส ณ สถานที่สมรสซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุมัติ ให้มีขึ้น รายละ 1 บาท

4. ให้ลดค่าธรรมเนียมการออกหนังสือสำคัญเกี่ยวกับชื่อบุคคล โดยเรียกเก็บฉบับละ 1 บาท ในเรื่องต่อไปนี้
(1) การออกหนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อรอง
(2) การออกหนังสือสำคัญแสดงการรับจดทะเบียนตั้งชื่อสกุล
(3) การออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล
(4) การออกใบแทนหนังสือสำคัญตาม (1) (2) หรือ (3)

ทั้งนี้ ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมและลดค่าธรรมเนียมข้างต้น เป็นระยะเวลา 120 วัน นับแต่วันที่มีประกาศ (8 มกราคม 2564) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารการทะเบียน โทร 0-2791-7427

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (17 มกราคม พ.ศ. 2564)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 374 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 12,058 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิต 70 ราย รักษาหายเพิ่ม 109 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 9,015 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 2,969 ราย


ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 374 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จากสหรัฐอเมริกา 2 ราย ,เยอรมนี 1 ราย ,อินเดีย 2 ราย ,เดนมาร์ก 1 ราย ,กาตาร์ 1 ราย ,มาเลเซีย 3 ราย
ผู้ป่วยรายใหม่ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ จำนวน 43 ราย
ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 321 ราย
ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้
ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 174 ราย รักษาหายแล้ว 168 ราย เสียชีวิต 3 ราย
ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 439 ราย รักษาหายแล้ว 385 ราย  ไม่มียอดผู้เสียชีวิต
ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 8.97 แสน ราย รักษาหายแล้ว 7.27 แสน เสียชีวิต 25,767 ราย
ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 41 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต
ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.55 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.17 แสน ราย เสียชีวิต 594 ราย
ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.34 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.17 แสน ราย เสียชีวิต 2,942 ราย
ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.99 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.6 แสน ราย เสียชีวิต 9,884 ราย
ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 59,083 ราย รักษาหายแล้ว 58,784 ราย เสียชีวิต 29 ราย
ประเทศเวียดนาม ยอดรวมติดเชื้อ 1,537 ราย รักษาหายแล้ว 1,380 ราย เสียชีวิต 35 ราย

‘หมอยง’ แนะทำความเข้าใจความรุนแรงของโควิด-19 เผยองค์กรอนามัยโลกแบ่งความรุนแรงเป็น 4 ระดับ โดยจะนำทั้ง 4 ขั้น เล็กน้อย ปานกลาง รุนแรง และเสียชีวิต ก่อนนำมาประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนว่ามีประสิทธิผลมากขนาดไหน

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Yong Poovorawan’ โดยได้ออกมาพูดถึงถึงความรุนแรงของโรคโควิด-19 จะต้องมีการประเมินอาการของผู้ป่วยก่อนที่จะมีการฉีดวัคซีน โดยระบุว่า

ก่อนที่จะเข้าใจประสิทธิภาพของวัคซีน เรามาเข้าใจเรื่องความรุนแรงของโรคโควิด 19

องค์การอนามัยโลกแบ่งความรุนแรงของโรคโควิด 19 เป็น เล็กน้อย ปานกลาง รุนแรง และเสียชีวิต

  1. ผู้ป่วยที่เป็นเล็กน้อยประกอบไปด้วย ผู้ที่ไม่มีอาการแต่ตรวจพบไวรัสในลำคอ มีอาการเล็กน้อยไม่ได้รับการรักษา มีอาการ กินยา แต่ไม่ได้นอนโรงพยาบาล รวมถึงผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลเพื่อจุดประสงค์การแยกตัว ที่ไม่ได้ต้องการการรักษา
  2. อาการปานกลาง จะเป็นผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ได้ให้ออกซิเจน หรือ ถ้าให้ออกซิเจนก็ให้แบบเสียบจมูก หรือครอบจมูก
  3. ผู้ป่วยมีอาการมากหรือหนัก ผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลและต้องให้ออกซิเจนแบบ High Flow ใส่ท่อช่วยหายใจ ใส่เครื่องช่วยหายใจ หรือเครื่องพยุงปอด
  4. ผู้ป่วยที่เสียชีวิต จะตัดสินกันภายใน 60 วัน

การตัดสินประสิทธิผลของวัคซีน จะมีการพูดกันถึงการป้องกันโรคในระดับไหน ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการในการประเมินวัคซีน จะยากมากเพราะไม่ได้มีการตรวจเชื้อทุกราย หรือสุ่มตรวจเชื้อเป็นระยะ ส่วนใหญ่จะเน้นตั้งแต่มีอาการขึ้นไป หรือ ต้องนอนโรงพยาบาล

ตอนต่อไปเล่าเรื่อง การประเมินประสิทธิภาพของวัคซีน

ที่มา : เพจ Yong Poovorawan

โฆษก กอ.รมน. แจงแล้ว ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับการหายตัวไป ของ 1 ใน สมาชิกการ์ด Protect Freedom หลังถูกแอบอ้างในแชทไลน์ ยัน ไม่มีภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อย และการดูแลพื้นที่ของการชุมนุม

พล.ต. ธนาธิป  สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวภายหลังที่มีสมาชิกกลุ่มการ์ด (Protect Freedom) ได้เดินทางมาชุมนุมหน้า กอ.รมน. เช้าวันนี้ พร้อมเรียกร้องให้ กอ.รมน. ปล่อยตัวสมาชิกการ์ดฯ ที่หายตัวไปตั้งแต่ เมื่อคืน (16 ม.ค.) เวลาประมาณ 23.00 น. ภายหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรมเขียนป้ายผ้า ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีกลุ่มคนอ้างว่าเป็น กอ.รมน. ได้ใช้โทรศัพท์มือถือของสมาชิกการ์ดที่หายตัวไปแชทไลน์ข่มขู่เพื่อนกลุ่มสมาชิกการ์ด และแจ้งว่าจะปล่อยตัวตอน 05.00 น. ของเช้าวันนี้ ซึ่งปัจจุบันไม่มีการปล่อยตัวแต่อย่างใด

โดย โฆษก กอ.รมน. ระบุว่า จากการตรวจสอบในรายละเอียดตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมนั้น ทางกอ.รมน. ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีภารกิจความรับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย และการดูแลพื้นที่การรักษาความปลอดภัยของการชุมนุม อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบขั้นต้น กอ.รมน. ขอยืนยันว่า ไม่ปรากฏหน่วยงานของ กอ.รมน. เข้าไปยุ่งเกี่ยวต่อเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด

         

/////////

นับถอยหลัง!! โครงการ ‘คนละครึ่ง-เราชนะ’ คาดเปิดให้ลงทะเบียนได้ หลังเข้าที่ประชุมครม.ในวันที่ 19 ม.ค.นี้ ด้าน ‘บิ๊กตู่’ กำชับ ห้ามมีช่องโหว่ พร้อมเร่งสื่อสารให้ประชาชนรับรู้และขั้นการลงทะเบียน ป้องกันเข้าใจคลาดเคลื่อนมาตรการรัฐ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กำชับกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมระบบรองรับการลงทะเบียนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาประชาชน ไม่ว่าจะเป็น โครงการคนละครึ่ง เพิ่ม 1 ล้านสิทธิ และโครงการเราชนะ เยียวยาประชาชน 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน โดยให้ดูความพร้อมของระบบเพื่อบริการประชาชน ลดช่องโหว่ต่างๆ ให้ได้มากที่สุด พร้อมยังให้อธิบายชี้แจงวิธีการลงทะเบียนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง ทุกช่องทางการสื่อสาร เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจ รวมถึงป้องกันความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับมาตรการต่างๆของภาครัฐ

สำหรับทั้ง 2 โครงการ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เตรียมเสนอที่ประชุมครม. อนุมัติในวันที่ 19 ม.ค.นี้ โดยคาดว่า โครงการคนละครึ่งละครึ่ง จะเปิดให้ลงทะเบียนรับ 1 ล้านสิทธิ์ในวันที่ 20 ม.ค. ขณะที่โครงการเราชนะ ได้วางแผนจะเปิดให้ลงทะเบียนในช่วงปลายเดือน ม.ค. หรือ ต้นเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณารายละเอียดขอบเขต เงื่อนไขโครงการ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ยังขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก้ไขข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะจากสื่อออนไลน์ ที่มีการส่งต่อข้อมูลเท็จเกี่ยวกับมาตรการต่างๆของรัฐ ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด สับสน และขอให้ประชาชนติดตามความคืบหน้า รายละเอียดมาตรการต่างๆจากการประกาศของหน่วยงานราชการ เลือกบริโภคข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และไม่ส่งต่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เช็คก่อนแชร์

‘แรมโบ้’ ตอกกลับ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ‘อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด’ ยันรัฐบาลทำตามกฎหมาย ไม่เคยทำเกินกว่าเหตุกับแกนนำผู้ชุมนุม ‘ประณาม’ พฤติการชักธงแดง 112  ขึ้นสู่ยอดเสา แทนธงชาติไทย เรียกร้องตำรวจดำเนินการกับผู้ดำเนินการให้เร็วที่สุด

นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่ารัฐบาลดำเนินการกับกลุ่มกิจกรรมเกินกว่าเหตุ พร้อมไล่ไปแก้ปัญหายาเสพติด-แรงงานต่างด้าว ว่า รัฐบาลไม่เคยทำเกินกว่าเหตุ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายที่มีอยู่ และที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ไม่เคยห้ามการชุมนุมแต่ขอให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งนายอนุสรณ์ก็รู้ดีว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่เคยทำตามกฎหมายเลย จาบจ้วงสถาบันอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสร้างความเดือดร้อนกับประชาชน

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องจับกุมกับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งก็ถือว่าเป็นการทำตามกฎหมาย เพราะผู้ชุมนุมทำเกินกว่าเหตุเหมือนไม่ใช่คนไทยไม่รักแผ่นดินไทย  ดังนั้นกฎหมายต้องบังคับใช้อย่างเข้มงวดเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ดำเนินคดีไม่ได้จะมีประชาชนที่ทนไม่ได้มาร้องเรียนเจ้าหน้าที่ละเว้น การปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา157 อย่างแน่นอน

นายสุภรณ์ กล่าวว่า ส่วนการปราบปรามยาเสพติด และแรงงานต่างด้าว นั้น นายกรัฐมนตรีมีความพยายามเอาจริงเอาจังที่จะปราบปรามมาโดยตลอดและสามารถจับกุมได้หลายคดี หากได้รับความร่วมมือจากประชาชนการปราบปรามจะสามารถทำได้มากยิ่งขึ้น

นายสุภรณ์ กล่าวถึงเหตุระเบิดที่บริเวณสามย่านเมื่อวานนี้ (16 ม.ค.)ว่า ขอประณามคนที่ไม่หวังดีก่อเหตุระเบิดจนมีนักข่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชนที่บริสุทธิ์ได้รับบาดเจ็บ ระหว่างที่มีการชุมนุมม็อบปลดแอก และอยากขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมมีสมองคิดด้วยว่าในสถานการณ์ประเทศเกิดโควิดระบาด ก็ไม่ควรที่จะออกมาร่วมตัวคนหมู่มากเช่นนี้ เพราะหากเกิดการระบาดเพิ่มขึ้นจะเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมจะต้องคิดถึงความปลอดภัยในสุขภาพของประชาชนคนอื่นด้วย ไม่ใช่คิดแค่เรื่องของกลุ่มตัวเองเท่านั้น อีกทั้งในขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกด้วย จึงไม่ควรออกมาชุมนุม ควรให้ความร่วมมือมีจิตสำนึกด้วยเพราะบ้านเมืองมีขื่อมีแปรควรช่วยกันทำตามกฎหมายอย่าล้ำเส้นจนพี่น้องประชาชนคนไทยจะทนไม่ไหวแล้ว

 “อยากขอเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมว่าอย่าชุมนุมผิดกฎหมาย จาบจ้วงสถาบัน เพราะหากดูพฤติกรรมของกลุ่มผู้ชุมนุมวานนี้ที่มีการชักผ้าสีแดงซึ่งมีเลข 112 ขึ้นสู่ยอดเสา และนำธงชาติไทยลงมานั้นถือว่าไม่เหมาะสม เพราะที่นี่คือประเทศไทย ผืนแผ่นดินไทย ซึ่งเป็นที่เกิดที่อาศัยของกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย เป็นคนไทยเกิดบนผื่นแผ่นดินไทยก็ไม่ควรที่จะทำพฤติกรรมเช่นนี้ นี่คือการทำลายชาติบ้านเมืองเหมือนพวกจิตวิปริต เป็นพวกคนสิ้นคิดหนักแผ่นดินที่สุด

และขอเรียกร้องไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งนำคนทำมาลงโทษอย่างเด็ดขาด เพราะผมและประชาชนส่วนใหญ่จะไม่ยอมให้คนที่ก้าวล่วง จาบจ้วงสถาบัน และมีความคิดถ่อยๆได้กระทำการที่ป่าเถื่อนเช่นนี้อีกต่อไป หากกลุ่มผู้ชุมนุมไม่รักชาติ รักสถาบัน ก็ขออย่าอยู่ในประเทศนี้อีกเลย ถ้าไม่รักชาติบ้านเมืองไม่จงรักภักดี จะไปอยู่ที่ไหนจะไปตายที่ไหนก็ไป คนไทยเบื่อระอาเต็มทน และเริ่มจะทนไม่ไหวกับพฤติกรรมเลวๆถ่อยๆชั่วช้าสารเลวเช่นนี้ เป็นการทำร้ายจิตใจย่ำยีหัวใจของคนไทยทั้งแผ่นดิน" นายสุภรณ์ กล่าว

ส่อเค้าวงแตก!! ทีมอาสาพัฒนาแอปฯ ‘หมอชนะ’ โพสต์ข้อความผ่านเฟ๊ซบุ๊ก ประกาศยุติบทบาท พร้อมมอบให้ภาครัฐบริหารจัดการแอปฯ แบบ 100% คาดสาเหตุถูกผู้ใหญ่ในรัฐบาลล้วงลูก หลังพบแชตว่อนเน็ตขอคุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จจากทีมงานผู้พัฒนา

ดูเหมือนจะเกิดเรื่องวุ่นซะแล้ว สำหรับการบริหารจัดการแอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ หลังจากทีมงานอาสาหมอชนะ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ‘ทีมงานอาสาหมอชนะ MorChana Volunteer Team’ โดยระบุว่า การเติบโตและความสำเร็จของ “หมอชนะ” เปลี่ยนผ่านจากแอปอาสาสมัคร เป็นแอปของภาครัฐเต็มตัว

ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะ มีความภูมิใจที่จะส่งมอบ แอปพลิเคชัน หมอชนะ อันเกิดจากการริเริ่มบูรณาการของภาคประชาชนสู่ภาครัฐ ที่มีความครบสมบูรณ์ในแนวทางการออกแบบและกระบวนการในการใช้งานทุกอย่าง ดังที่ได้เคยนำไปใช้แจ้งเตือนอย่างได้ผลเป็นที่ประจักษ์ในปีที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ภาครัฐได้นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการควบคุมการระบาดอย่างมีประสิทธิผล

จากการระบาดของโควิด-19 ที่ถาโถมเข้ามาอย่างฉับพลัน การรวมตัวของจิตอาสาหลายสิบกลุ่มจึงก่อกำเนิดขึ้น แทนที่จะต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างพัฒนา ในวาระวิกฤติแห่งชาตินี้ พวกเราได้หันหน้ามาจับมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน นำเอาจุดเด่นแต่ละไอเดีย มาบูรณาการร่วมมือกันภายใต้ทีม Code for Public โดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาคเอกชนในนามกลุ่มช่วยกัน ภาครัฐคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และจิตอาสาอิสระจำนวนมากมายรวมกว่าร้อยคนที่ทำงานมาร่วมกัน โดยมีสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ช่วยเข้ามารับดูแลแอปหมอชนะอย่างเป็นทางการ

กว่า 9 เดือนที่ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะได้ร่วมกันออกแบบ หมอชนะ ของประชาชนโดยคำนึงถึงเป้าประสงค์หลักในการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยหลักการ สังคมช่วยดูแลซึ่งกันและกัน พวกเราได้เก็บรวบรวมความต้องการการใช้งานจากหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่กรมควบคุมโรค หน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน ตลอดจนประชาชนที่มีความต้องการต่างๆกัน โดยทีมงานอาสาฯมุ่งเน้นออกแบบเพื่อการใช้งานได้จริง และ คำนึงความเป็นส่วนตัว (data privacy) เป็นหลักการในการพัฒนามาตั้งแต่ต้น

ถึงเวลานี้หลายภาคส่วนในสังคมไทยที่ร่วมกันต่อสู้กับโควิด ได้จุดประกายแห่งความหวัง และมีกำลังใจ เมื่อรัฐบาลเห็นความจำเป็นในการติดตามประวัติการเดินทาง และตัดสินใจใช้เทคโนโลยีที่ใช้ได้จริงในการติดตามผู้มีโอกาสสัมผัสได้รับเชื้อ หันมายอมรับและเลือกใช้ แอป หมอชนะ เพื่อใช้ต่อสู้กับการระบาดอย่างรุนแรงของโควิดในรอบนี้

ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ งานที่ผ่านการทุ่มเทจากอาสาสมัครนับร้อย จะได้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง พวกเราหวังว่า การที่แอปได้เปลี่ยนผ่านไปอยู่ในการดูแลของภาครัฐอย่างเต็มตัว น่าจะทำให้ประสิทธิภาพการติดตามประวัติการเดินทางจากเดิมเป็นข้อมูลที่อาสาสมัครต้องค้นหาเอง เป็นการที่ภาครัฐ และกรมควบคุมโรค จะเป็นผู้นำข้อมูลต้นทางที่แม่นยำครบถ้วน เข้าสู่ระบบ เพื่อให้ระบบที่ถูกพัฒนามาพร้อมอยู่แล้ว ได้รับการนำมาใช้ในการตรวจสอบประวัติการเดิน ทางและค้นหาผู้มีโอกาสเสี่ยงได้รับเชื้อ เพื่อให้เกิดการแจ้งเตือนกับผู้ถือแอป รับรู้ถึงระดับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล เพื่อให้กระบวนการควบคุมการระบาดเกิดความสมบูรณ์ครบวงจร

การมีข้อมูลผู้ป่วยตั้งต้น มาใช้ในการทำ contact tracing ให้ครบถ้วนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้ระบบ หมอชนะ ทำงานให้ประชาชนอย่างเต็มที่ตามที่ระบบได้ถูกวางไว้ หากไม่มีข้อมูล หรือไม่มีการดำเนินการ tracing ไม่มีการแจ้งเตือนและเปลี่ยนสีตามระดับ ก็จะไม่เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ แม้มีประชาชนจำนวนมากดาวน์โหลดแอป หมอชนะ ไปใช้ก็ตาม

ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะ มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ภาครัฐ จะใช้ศักยภาพของระบบอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับการเตือน และรับรู้ความเสี่ยงของตนเองผ่านการแสดงสีบ่งบอกสถานะความเสี่ยง (เขียว/เหลือง/ส้ม/แดง) ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการช่วยรัฐในการดูแลตนเอง และป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนที่ใกล้ชิดด้วย ได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงกว่าที่ทีมอาสาสมัครได้เคยดำเนินการมาเองในช่วงก่อนมีการระบาดอย่างวิกฤติในรอบนี้ อันจะเป็นการลดภาระงานและความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ และเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถควบคุมสถานการณ์โควิด และเอาชนะได้ในที่สุด

นอกจากนี้ บริษัท ห้างร้าน อาคาร โรงงาน สถานประกอบการ ที่ได้ใช้ แอปหมอชนะ ในปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องมือช่วยบ่งชี้ความเสี่ยงของพนักงานหรือผู้มาติดต่อที่เข้ามาใช้สถานที่ผ่านการตรวจดูสีสถานะความเสี่ยงบนหน้าจอหมอชนะ ก็จะได้ความมั่นใจยิ่งขึ้นที่หมอชนะได้ถูกนำมาใช้ในวงกว้าง ในการให้การดูแลพนักงานและสถานที่ โดยอาศัยสถานะสีช่วยแยกบุคคลผู้เสี่ยงออกจากกลุ่มคนส่วนใหญ่ การปฏิบัติคัดกรองและดูแลอย่างเหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของแต่ละบุคคลได้อย่างตรงจุด เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อติดต่อระหว่างกัน และมุ่งให้กิจการยังคงสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ ทำให้ไม่ต้องกลับไปปิดล็อคดาวน์ทั้งหมดแบบที่เสียหายต่อเศรษฐกิจ และเราทุกคนไม่อยากจะเห็นซ้ำอีก

จากนี้ไป เรามีความมั่นใจว่า การที่แอป หมอชนะ อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของภาครัฐ จะทำให้เกิดความชัดเจนในการให้ข้อมูลและการสื่อสารที่ทรงพลังของรัฐ อย่างเป็นทางการเพียงเสียงเดียว จะสามารถตอบคำถามความสงสัย ลดความสับสน เป็นไปด้วยความถูกต้อง คำนึงถึง privacy ของประชาชนอย่างมีธรรมภิบาลและทำให้ทุกคนในประเทศมีความสบายใจและมั่นใจที่จะร่วมกัน ให้ความร่วมมือใช้งานแอป หมอชนะ ในการต่อสู้วิกฤตินี้ด้วยกัน อย่างพร้อมเพรียง

ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะ ยังคงพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลต่อไป และยินดีช่วยเหลือรัฐบาลอย่างสุดกำลังความสามารถ เพื่อดูแลให้คนไทยผู้ใช้แอปได้ปลอดภัยจากโรค และได้ประโยชน์สูงสุดเป็นที่ตั้งตามเจตนารมณ์

ทั้งนี้ เพื่อให้แนวทางการพัฒนาในอนาคตเป็นไปอย่างมีเอกภาพ และเป็นไปตามแนวทางนโยบาย ยุทธวิธีต่อสู้กับโรคของภาครัฐ และเพื่อป้องกันความสับสนของสาธารณะ หากผู้ใช้ทุกท่านที่อาจมีข้อแนะนำ หรือ ความต้องการในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นในฟังก์ชัน แนวความคิดที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแอป หมอชนะ ในแง่มุมใด ขอให้ท่านส่งตรงไปยังหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบแอป หมอชนะ ต่อไป เพื่อให้ได้รับการพิจารณาโดยผู้ที่ได้รับมอบหมายได้ตัดสินใจตามสมควร

และหากมีความเปลี่ยนแปลง ในแนวทางการใช้งาน การบริหารจัดการแอปในอนาคตต่อไปอย่างไร ก็ขอให้ผู้ใช้งานได้ติดตามข่าวสาร โดยตรงจากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นข้อมูลทางการ เพียงแหล่งเดียว

Facebook ของหมอชนะ และช่องทางการสื่อสารต่างๆ ก็จะได้รับการดูแลและตอบโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานของรัฐ

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาแนวคิด การออกแบบ และการทำงานของระบบ หมอชนะ ตามที่ทีมอาสาสมัครได้ทำไว้แต่แรกเริ่ม รวมถึงสิ่งที่อยู่ระหว่างของการพัฒนา สามารถเข้าไปติดตามได้จาก https://www.facebook.com/CodeForPublic

ทีมงานอาสาสมัคร “หมอชนะ”

15/1/64

ขณะที่ในโลกทวิตเตอร์ มีการรีทวีตข้อความจาก ทวิตเตอร์ @PhilPrajya ของนายปรัชญา อรเอก ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ที่โพสต์ข้อความอ้างว่า "ทีมงานเอกชนพัฒนาแอปหมอชนะ ออกมาแฉเรื่องถูกผู้ใหญ่ล้วงลูกหนักเลย" พร้อมเปิดเผยข้อความสนทนาจากแชตไลน์ ของกลุ่ม Code for Public ซึ่งเป็นกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ ระบุขอวางมือ เนื่องจากสาเหตุ 2 ประการ

ประการแรก ‘ผู้ใหญ่’ ในรัฐบาลทั้งระดับรัฐมนตรีและปลัดกระทรวง ขอเข้ามาควบคุมและกำหนดอนาคต ‘หมอชนะ’ แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และประการที่สอง เกิดจากการใส่เกียร์ว่างของเจ้าหน้าที่ระดับกรมฯ

ที่มา : เพจ ทีมงานอาสาหมอชนะ MorChana Volunteer Team, ทวิตเตอร์ @PhilPrajya


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top