Tuesday, 8 October 2024
TODAY SPECIAL

23 มิถุนายน ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันโอลิมปิก’ หรือ ‘Olympic Day’ กระตุ้นให้ผู้คนในแต่ละชาติ เข้าถึงกีฬามากขึ้น

คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2437 โดยมี ปิแอร์ เดอ กูเบอร์แตง ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้นำในการประชุมระหว่างประเทศ ซึ่งจัด ณ มหาวิทยาลัยปารีส  เพื่อฟื้นฟูกีฬาโอลิมปิกยุคโบราณสู่กีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่

ซึ่งเป็นระยะเวลาสองปีก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกที่ถูกจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2439 โดย IOC เป็นองค์กรอิสระระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาสังคมแห่งมวลมนุษยชาติให้ดียิ่งขึ้นผ่านการเล่นกีฬาระดับสากล IOC เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกระดับสากล

ขณะเดียวกัน วันที่ 23 มิถุนายนของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็น ‘วันโอลิมปิก’ หรือ ‘Olympic Day’ เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันก่อตั้งของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล

นอกจากนี้ วันโอลิมปิกยังมีเป้าหมาย ต้องการให้ผู้คนทั่วโลกได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมกีฬาในแบบฉบับของตัวเอง โดยไม่จำกัดเพศ อายุ หรือแม้กระทั่งความสามารถทางกีฬา ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ หรือ National Olympic Committee (NOC) ในแต่ละประเทศได้พยายามจัดกิจกรรมในวันนี้เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเข้าถึงกีฬามากขึ้น

22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 ‘สมเด็จพระพุฒาจารย์’ (โต พรหมรังสี) มรณภาพ พระเกจิอาจารย์รูปสำคัญแห่งต้นสมัยรัตนโกสินทร์

วันนี้ในอดีต สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หรือนามที่นิยมเรียก ‘สมเด็จโต’, ‘หลวงปู่โต’ หรือ ‘สมเด็จวัดระฆัง’ พระเกจิอาจารย์รูปสำคัญแห่งต้นสมัยรัตนโกสินทร์ มรณภาพ สิริอายุรวม 84 ปี

ทั้งนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1150 เวลาพระบิณฑบาต ซึ่งตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 ณ บ้านไก่จ้น (บ้านท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

มารดาบิดาของท่านเป็นใครไม่ทราบแน่ชัด มีผู้กล่าวประวัติของท่านในส่วนนี้แตกต่างกันไปหลายฉบับ เช่น ฉบับของพระยาทิพโกษา กล่าวว่า มารดาของท่านชื่อนางงุด บุตรของนายผลกับนางลา ชาวนาเมืองกำแพงเพชร หรือฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล (เฮง อิฏฐาจาโร) กล่าวว่า มารดาของท่านชื่อเกตุ คนท่าอิฐ อำเภอบางโพ อย่างไรก็ดีมารดาของท่านเป็นชาวเมืองเหนือ (คำเรียกในสมัยอยุธยา) เพราะทุกแหล่งอ้างอิงกล่าวตรงกันว่ามารดาของท่านเป็นชาวเมืองเหนือแต่ได้ลงมาทำมาหากินแถบภาคกลางในช่วงหลัง

สำหรับบิดาของท่านนั้น ฉบับของพระยาทิพโกษา กล่าวว่าท่านเป็นโอรสนอกเศวตฉัตรของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งทรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าพระยาจักรี ส่วนฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล และฉบับของตรียัมปวายกล่าวว่าท่านเป็นโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และแม้ในฉบับของตรียัมปวายจะมีข้อสันนิษฐานเพื่อยืนยันหลายข้อ แต่อย่างไรก็ตาม ประวัติทั้งสองฉบับกล่าวตรงกันเพียงว่า ข้อสันนิษฐานว่าด้วยบิดาของท่านนั้นเป็นเพียงเรื่องเล่าซึ่งชาวบ้านในสมัยนั้นกล่าวและเชื่อกันโดยทั่วไป

เมื่อถึงวัยพอสมควรแล้ว ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2343 ต่อมาปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดและเมตตาสามเณรโตเป็นอย่างยิ่ง ครั้นอายุครบอุปสมบทปี พ.ศ. 2350 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีฉายานามในพุทธศาสนาว่า ‘พฺรหฺมรํสี’ เนื่องจากเป็นเปรียญธรรม จึงเรียกว่า ‘พระมหาโต’ มานับแต่นั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้รับพระมหาโตไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดปรานพระมหาโตเป็นอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. 2395 พระองค์จึงได้พระราชทานสมณศักดิ์พระมหาโตเป็นครั้งแรก เป็นพระราชาคณะที่ ‘พระธรรมกิติ’ และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ขณะนั้นท่านอายุ 65 ปี โดยปกติแล้วพระมหาโตมักพยายามหลีกเลี่ยงการรับพระราชทานสมณศักดิ์ แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้ท่านต้องยอมรับพระราชทานสมณศักดิ์ในที่สุด อีก 2 ปีต่อมา (พ.ศ. 2397) ท่านจึงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ ‘พระเทพกระวี’ หลังจากนั้นอีก 10 ปี (พ.ศ. 2407) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นสมเด็จพระราชาคณะที่ ‘สมเด็จพระพุฒาจารย์’ มีราชทินนามตามจารึกในหิรัญบัฏว่า

สมเด็จพระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธุตคุณ สิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกคณิศร สมณนิกรมหาปรินายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ สถิต ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงฯ

สมณศักดิ์ดังกล่าวนี้นับเป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงสุดและเป็นชั้นสุดท้ายที่ท่านได้รับตราบจนกระทั่งถึงวันมรณภาพ คนทั่วไปนิยมเรียกท่านว่า ‘สมเด็จโต’ หรือ ‘สมเด็จวัดระฆัง’ ส่วนคนในยุคร่วมสมัยกับท่านเรียกท่านว่า ‘ขรัวโต’

ราวปี พ.ศ. 2410 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มาเป็นประธานก่อสร้างปูชนียวัตถุครั้งสุดท้ายที่สำคัญของท่าน คือ พระพุทธรูปหลวงพ่อโต (พระศรีอริยเมตไตรย) ที่วัดอินทรวิหาร (ในสมัยนั้นเรียกว่า วัดบางขุนพรหมใน) ทว่าการก่อสร้างก็ยังไม่ทันสำเร็จ โดยขณะนั้นก่อองค์พระได้ถึงเพียงระดับพระนาภี (สะดือ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ได้มรณภาพบนศาลาเก่าวัดบางขุนพรหมใน ณ วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริรวมอายุได้ 84 ปี อยู่ในสมณเพศ 64 พรรษา เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตารามได้ 20 ปี

21 มิถุนายน พ.ศ. 2542 ‘ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ’ เปิดอย่างเป็นทางการ หนุนกิจการขนาดเล็กที่มีศักยภาพ ได้มีหนทางระดมทุน

ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Market for Alternative Investment - MAI) เป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งที่สองของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2542 และเปิดทำการซื้อขายวันแรกเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2544 มีจุดประสงค์การทำงานโดยทั่วไป เหมือนกับ ‘ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย’ หรือ The Stock Exchange of (Thailand) (SET) คือ ทำหน้าที่เป็นตลาดทุน เพื่อให้กิจการต่าง ๆ สามารถระดมเงินทุนเพิ่มเติมจากสาธารณะได้ แต่ตลาดใหม่นี้ จะเน้นไปที่กิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี - SME) และกิจการเกี่ยวกับนวัตกรรม โดยได้ผ่อนผันหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ลง เช่น ทุนชำระแล้วขั้นต่ำของหลักทรัพย์ในตลาดหลัก คือ 200 ล้านบาท ในขณะที่ขั้นต่ำของตลาดใหม่ ลดลงเป็น 40 ล้านบาท เป็นต้น เพื่อเปิดโอกาสให้กิจการขนาดเล็ก ที่ไม่สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ ได้มีหนทางในการระดมทุน รวมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมการร่วมลงทุน (venture capital) เพื่อเพิ่มจำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

20 มิถุนายน พ.ศ. 2309 ‘ค่ายบางระจัน’ ถูกบุกตีแตก ต้องเสียค่ายให้แก่พม่า ปิดฉากวีรกรรมความกล้าหาญ หลังพระนครไม่สนับสนุน

‘ค่ายบางระจัน’ เป็นค่ายป้องกันตัวเองของชาวบ้านเมืองสิงห์บุรีและเมืองต่าง ๆ ที่พากันมาหลบภัยจากกองทัพพม่าที่บางระจัน ก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 สามารถต้านทานการเข้าตีของกองทัพพม่าได้หลายครั้ง และมีกิตติศัพท์เลื่องลือในด้านวีรกรรมความกล้าหาญในประวัติศาสตร์ไทย

ปี 2307 กองทัพพม่าภายใต้การนำของ ‘เนเมียวสีหบดี’ ยกเข้ามาในขอบคัณธสีมาด้านด่านระแหงแขวงเมืองตาก โดยกวาดต้อนผู้คนตัดกำลังของกรุงศรีอยุธยาทางหัวเมืองเหนือ ในขณะที่มังมหานรธา ตีเข้ามาทางหัวเมืองใต้ สกัดกำลังจากชายทะเลทิศใต้ โดยหมายใจบรรจบเข้าที่กรุงศรีอยุธยา

ต้นเดือนมกราคม 2308 กองทัพของเนเมียวสีหบดี ได้มาหยุดอยู่ที่เมืองวิเศษชัยชาญ และจัดให้ทหารพม่ากองหนึ่งเที่ยวกวาดต้อนทรัพย์สินและผู้คนทางเมืองวิเศษชัยชาญ ราษฎรต่างพากันโกรธแค้นต่อการกดขี่ข่มเหงของทหารพม่า จึงแอบคบคิดกันเพื่อลุกขึ้นต่อสู้

ในเดือน 3 พวกชาวเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรคบุรี และชาวบ้านใกล้เคียงพากันคบคิดอุบายเพื่อล่อลวงทหารพม่า ทั้งรวบรวมผู้คนไว้เพื่อทำการต่อไป ในบรรดาชาวบ้านที่ร่วมกันอยู่นี้มีหัวหน้าที่สำคัญคือ นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมืองง ซึ่งได้หลอกลวงทหารพม่านำไปหาทรัพย์สิ่งของที่ต้องการ ทหารพม่าหลงเชื่อตามไป ก็ถูกนายโชติและพรรคพวกซุ่มอยู่บุกเข้ามาฆ่าฟันพม่าตายประมาณ 20 คน แล้วจึงพากันหนีไปยังบางระจัน

ในเวลานั้นชาวเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงต่างก็เข้ามาหลบอาศัยอยู่ที่บางระจันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ข้าศึกตามเข้าไปได้ยาก ชาวบ้านทั้งหลายจึงพาพรรคพวกครอบครัวอพยพหันมาพึ่งพระอาจารย์ธรรมโชติ ซึ่งมีกิตติศัพท์ว่ามีความเชี่ยวชาญทางวิทยาคมมาก

ต่อมานายแท่นและผู้มีชื่ออื่น ๆ ชักชวนชาวบ้านได้อีกประมาณ 400 คนเศษพากันมาอยู่ที่บ้านบางระจัน หลังจากนั้นก็ตั้งค่ายขึ้นล้อมรอบบ้านบางระจัน 2 ค่าย เพื่อป้องกันทหารพม่าที่จะยกติดตามมาและเพื่อจัดหากำลังและศัตราวุธในแถบตำบลนั้น นอกจากนี้มีคนไทยชั้นหัวหน้าที่เข้ามาร่วมด้วยอีก 7 คน คือ ขุนสรรค์ พันเรือง นายทองเหม็น นายจันหนวดเขี้ยว นายทองแสงใหญ่ นายดอกไม้ และนายทองแก้ว รวมหัวหน้าที่สำคัญของค่ายบางระจันครั้งนั้นรวม 11 คน ตั้งกองสู้กับกองทัพพม่า

การที่พม่าส่งกองทัพมาปราบค่ายบางระจันถึง 7 ครั้ง แต่ต้องแตกพ่ายทุกครั้งนั้น ทำให้แม่ทัพใหญ่ของพม่าวิตกมาก เนื่องจากชาวบ้านบางระจันมีกำลังเข้มแข็งขึ้นทุกที และไม่มีใครอาสาเป็นนายทัพ ขณะนั้นมีชาวรามัญผู้หนึ่งเคยอยู่เมืองไทยมานาน รู้จักนิสัยคนไทยและภูมิประเทศดี ได้เข้าฝากตัวทำราชการอยู่กับพม่าจนได้รับตำแหน่งสุกี้ หรือพระนายกอง สุกี้เข้ารับอาสาจะขอไปตีค่ายบางระจัน เนเมียวสีหบดีจึงแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพคุมพล 2,000 พร้อมทั้งม้าและสรรพาวุธทั้งปวง

สุกี้จึงเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยใช้วิธีตั้งทัพอยู่เฉย ๆ เพราะรู้ว่าชาวบ้านใจร้อนเมื่อถูกยุทธวิธีรบแบบยืดเยื้อ ชาวบ้านก็มีใบบอกไปถึงกรุงศรีอยุธยาเพื่อขอปืนใหญ่และกระสุนมาต่อสู้กับพม่า แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยกรุงศรีอยุธยา ส่งมาแต่นายกองมาช่วยดู ชาวบ้านจึงช่วยกันนำเศษทองเหลืองที่เรี่ยไรมาได้ หล่อเป็นปืนใหญ่ 2 กระบอก แต่ปืนร้าว ใช้งานไม่ได้สุกี้รู้แล้วว่ากองทัพชาวบ้าน ไม่ได้รับการสนับสนุนจากพระนคร จึงมั่นใจว่าชาวบ้านบางระจันเริ่มอ่อนแอ จึงสั่งให้ขุดอุโมงค์เข้าไปใกล้ค่ายบางระจัน แล้วเอาปืนใหญ่ตั้งหอสูงระดมยิงใส่ค่ายจนค่ายแตก ทำให้ไทยต้องเสียค่ายบางระจันแก่พม่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2309

19 มิถุนายน พ.ศ. 2521 ‘การ์ฟิลด์’ ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ การ์ตูนแมวส้มที่ได้รับการตีพิมพ์มากที่สุดในโลก

การ์ตูนแมว ‘การ์ฟิลด์’ ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2521 โดยได้รับการเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์จำนวน 41 ฉบับ ต่อมามีการปรับเปลี่ยนบุคลิกหลายครั้งให้เข้ากับยุคสมัย

เรื่องราวของ ‘การ์ฟิลด์’ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยง ตัวเอกของเรื่องเป็นแมวสีส้ม มีลายสีดำ ที่มีของโปรดเป็นลาซานญา ชื่นชอบการดูทีวี นอน และการแกล้งคนอื่น 

โดยการ์ตูนเรื่องนี้เป็นผลงานของนักเขียนการ์ตูนชาวอเมริกัน ‘จิม เดวิส’ (Jim Davis) ซึ่งเขาได้ตั้งชื่อตัวการ์ตูนแมวอ้วนตัวนี้ตามชื่อปู่ของเขา ‘เจมส์ การ์ฟีลด์ เดวิส’

นอกจากนี้ ‘การ์ฟิลด์’ เป็นการ์ตูนอเมริกันที่ประสบความสำเร็จที่สุดเรื่องหนึ่ง ได้รับการตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารกว่า 2,570 ฉบับ ถูกบันทึกลงกินเนสบุ๊คว่าเป็นการ์ตูนช่องที่ได้รับการตีพิมพ์มากที่สุดในโลก และยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูน แอนิเมชั่น และสินค้าลิขสิทธิ์อื่น ๆ มากมาย

นอกจากนี้ ยังถือกันว่าวันนี้เป็นวันเกิดของ ‘การ์ฟิลด์’ อีกด้วย

18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 ‘มหาวิทยาลัยเชียงใหม่’ เปิดสอนวันแรก มหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคแห่งแรกของไทย

วันนี้เมื่อปี พ.ศ. 2507  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเรียนวันแรก โดยมี 3 คณะเริ่มต้น ได้แก่ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ตามโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2501 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งอยู่ ณ ดินแดนล้านนา อันเป็นแหล่งสะสมวัฒนธรรมอันล้ำค่ามานานกว่า 700 ปี มีสภาพภูมิประเทศงดงามท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันเป็นธรรมชาติ บริเวณเชิงดอยสุเทพ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

นับตั้งแต่มีการเรียกร้องให้ขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาออกสู่ภูมิภาค โดยขอให้รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 ในที่สุดการเรียกร้องก็สัมฤทธิ์ผลก่อให้เกิดความภูมิใจและดีใจเป็นอย่างยิ่งแก่ชาวล้านนา

วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้น โดยกำหนดให้เปิดสอนในปีการศึกษา 2507 และให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการเตรียมการจัดตั้ง

วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2507 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 81 ตอนที่ 7 ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2507 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 วันเปิดเรียนวันแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างเป็นทางการ

วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2551 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

17 มิถุนายน พ.ศ. 2174 ‘มุมตัซ มาฮาล’ ราชินีแห่งอินเดีย สิ้นพระชนม์ จุดเริ่มต้นการสร้างอนุสรณ์สถานแห่งความรัก ‘ทัชมาฮาล’

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2174 ‘มุมตัซ มาฮาล’ ราชินีแห่งอินเดีย สิ้นพระชนม์ระหว่างมีพระประสูติกาล โดย ‘สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน’ พระสวามี ทรงเสียพระราชหฤทัยอย่างที่สุด จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘ทัชมาฮาล’ หลุมฝังพระศพให้พระมเหสี ซึ่งใช้เวลามากกว่า 20 ปี จึงแล้วเสร็จเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ที่สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน ทรงมีต่อพระมเหสีของพระองค์

ทั้งนี้ ทัชมาฮาล มีรากศัพท์เดิมมาจากภาษาอาหรับ โดยคำว่า ‘ตาจญ์’ แปลว่า มงกุฎ และ ‘มะฮัล’ แปลว่า สถาน โดยตั้งอยู่ในสวนริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ในเมืองอักรา ประเทศอินเดีย นับเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่

อนุสรณ์สถานแห่งความรักอันยิ่งใหญ่นี้ มีเนื้อที่ประมาณ 42 เอเคอร์ เป็นสุสานหินอ่อน ศิลาแลง ประดับลวดลายเครื่องเพชรพลอย หิน โมรา และเครื่องประดับจากมิตรประเทศ ได้รับคำรับรองว่าสร้างขึ้นด้วยสัดส่วนที่วิจิตรและงดงามที่สุด กว้างยาวด้านละ 100 เมตร สูง 60 เมตร โดยมีผู้สร้างและออกแบบร่วม 20,000 คน

นอกจากนี้ ทัชมาฮาล ยังเป็นที่ตั้งของมัสยิด หออาซาน และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ โดยมีนายช่างที่ออกแบบชื่อ ‘อุสตาด ไอซา’ ถูกประหารชีวิต เพื่อมิให้ไปออกแบบสถาปัตยกรรมใด ๆ ที่สวยกว่าได้ ซึ่งส่วนหัวของทัชมาฮาลมีลักษณะโดมที่เรียกว่าโอเนียนโดม

อย่างไรก็ตาม หลังจากพระมเหสีมุมตัซสิ้นพระชนม์จากการให้กำเนิดทายาทพระองค์ที่ 14 สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันทรงอยู่ในพระอาการโศกเศร้าถึง 2 ทศวรรษ พระราชทรัพย์ส่วนใหญ่สูญเสียไปเพื่อการสร้างอนุสรณ์แห่งความรักของทั้งสองพระองค์ พระองค์ถูกกักขังถึง 8 ปี จนกระทั่งเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2209

ตามตำนานกล่าวว่า พระองค์ทรงใช้เวลาทั้งวันในการจ้องมองเศษกระจกที่สะท้อนภาพของทัชมาฮาล และสิ้นพระชนม์ด้วยเศษกระจกในพระหัตถ์ พระศพของพระองค์ถูกฝังในทัชมาฮาลเคียงข้างพระมเหสี ซึ่งพระองค์ไม่เคยลืม

16 มิถุนายน พ.ศ. 2518 วันสถาปนา ‘วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า’ สถาบันผลิตแพทย์ทหารแห่งเดียวในประเทศไทย

‘วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า’ เป็นสถาบันผลิตแพทย์ทหารแห่งเดียวในประเทศไทย ก่อตั้งเป็นสถาบันแพทยศาสตร์ลำดับที่ 7 ของประเทศ จากกระแสพระบรมราโชวาทของ ‘พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร’ โดยดำเนินงานร่วมกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก และดำรงสถานะสถาบันสมทบของ มหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2518 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าได้รับอนุมัติเข้าสมทบกับ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อประสาทปริญญา แพทยศาสตรบัณฑิต ทำให้การก่อตั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้ามีความสมบูรณ์ กระทรวงกลาโหมจึงมีคำสั่งลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ให้วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เป็นหน่วยขึ้นตรงกรมแพทย์ทหารบก และอนุมัติให้เปิดดำเนินการได้ จึงถือเอาวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2518 เป็นวันสถาปนาวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

ทั้งนี้ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าใช้หลักสูตรของทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งใช้เวลาในการศึกษา 7 ปี  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ถึงปี พ.ศ. 2523 จนมีการเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตเป็น 6 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ถึงปัจจุบัน

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้ามีการพัฒนาทั้งทางด้านวิชาการและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอน อาทิเช่น สนับสนุนการวิจัยให้แก่นักเรียนแพทย์ทหาร ตลอดจนอาจารย์แพทย์ทั้งชั้นปีคลินิก และให้ทุนการศึกษาแก่ผู้มีผลการเรียนดีไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ การสนับสนุนการศึกษาต่อและดูงานต่างประเทศของอาจารย์และนักเรียนแพทย์ทหาร การก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ สระว่ายน้ำ อาคารหอพัก โรงประกอบเลี้ยงและซักรีด ทั้งยังหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อให้เพียงพอต่อการเรียนการสอน และการเรียนรู้ของนักเรียนแพทย์ทหาร 

นอกจากนี้ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าได้ผลิตบัณฑิตแพทย์ทหาร ซึ่งได้จัดสรรให้แก่เหล่าทัพต่าง ๆ ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองบัญชาการกองทัพไทย รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือกำลังพล ครอบครัว ตลอดจนประชาชนที่อยู่ห่างไกล หรือพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งเป็นการบรรเทาการขาดแคลนแพทย์ในกองทัพ และในชนบทของประเทศได้เป็นอย่างดี

15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 'ศาลโลก' ตัดสิน 'ปราสาทเขาพระวิหาร' เป็นของกัมพูชา ส่งผลให้ไทยสูญเสียดินแดนบริเวณปราสาท 150 ไร่

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลโลก หรือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ พิพากษาชี้ขาดคดี ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศกัมพูชา

ทั้งนี้ ปราสาทหินแห่งนี้เป็นศิลปะขอม สร้างขึ้นเพื่อถวายพระศิวะ ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ราวปี 1545-1593 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ของขอม ภาษาเขมรเรียกว่า ‘เปรี๊ยะ วิเฮียร์’ (Phrea vihear) ตัวปราสาทสูง 657 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่บนทิวเขาพนมดงรัก ซึ่งกั้นระหว่างประเทศกัมพูชากับไทย ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศเหนือ ด้านหน้าและทางขึ้นอยู่ในเขตประเทศไทย แต่ตัวปราสาทส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกัมพูชา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ค้นพบปราสาทแห่งนี้เมื่อปี 2442 แล้วทรงจารึกพระนามของพระองค์และปีที่ค้นพบไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดีว่า ‘118 สรรพสิทธิ์’ เนื่องจากเขาพระวิหารตั้งอยู่ตรงรอยต่อของไทยกับกัมพูชา ซึ่งผลัดกันยึดครองดินแดนแถบนี้

จนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยได้ส่งทหารเข้ายึดครองพื้นที่บริเวณเขาพระวิหาร เจ้านโรดม สีหนุ จึงยื่นฟ้องต่อศาลโลกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 การไต่สวนพิจารณาคดีเป็นไปอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 3 ปี มีการนัดพิจารณาสืบพยานทั้งหมด 73 ครั้ง จนในที่สุด ศาลโลกก็ตัดสินให้กัมพูชาเป็นฝ่ายชนะคดีด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 เสียง ส่งผลให้ประเทศไทยต้องยินยอมทำตามข้อเรียกร้องทั้ง 2 ข้อของกัมพูชา นับเป็นการเสียดินแดนครั้งล่าสุดของประเทศไทยในยุครัตนโกสินทร์ เสียพื้นที่ไปทั้งหมดประมาณ 150 ไร่

หลังจากแพ้คดี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยินยอมให้นักศึกษาเดินขบวนประท้วงคำตัดสิน และปิดทางขึ้นปราสาทซึ่งอยู่ในเขตประเทศไทย เป็นการตอบโต้กัมพูชา เหลือเพียงทางขึ้นเป็นช่องเขาแคบ ๆ สูงชันและอันตราย ในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของกัมพูชา เขาพระวิหารก็ถูกสั่งปิด-เปิดให้เข้าชมอยู่หลายครั้งตามสถานการณ์ภายในประเทศ ก่อนจะเกิดความร่วมมือกันอีกครั้งระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวจนถึงปัจจุบันนี้ เขาพระวิหารนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของ จ. ศรีสะเกษ

14 มิถุนายน พ.ศ. 2310 ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ สั่ง ‘ทุบหม้อข้าว’ บุกตีเมืองจันทบุรี ยุทธวิธีอันลือลั่นในปัจจุบัน ที่ปลุกขวัญกำลังใจทหารกล้าจนสำเร็จ

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2310 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ คือ ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ ได้ยกทัพบุกตีเมืองจันทบูร หรือเมืองจันทบุรี และได้ปลุกขวัญกำลังใจเหล่าทหารด้วยการ ‘ทุบหม้อข้าว’ หมายจะได้กินข้าวเช้าในเมืองจันทบุรี หากตีเอาเมืองไม่ได้ ก็ให้ตายด้วยกันเสียให้หมด ถือว่าเป็นกลศึกที่ปลุกขวัญกำลังใจแก่ทหารกล้าเป็นอย่างมาก และเป็นยุทธวิธีอันลือลั่นมาจนถึงทุกวันนี้

จากเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว 2 เดือน สมเด็จพระเจ้าตากฯ เดินทัพจากระยองผ่านแกลงเข้าบางกระจะ มุ่งยึดจันทบุรี เจ้าเมืองจันทบุรีไม่ยอมสวามิภักดิ์ สมเด็จพระเจ้าตากฯ ต้องการยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นที่มั่นเพื่อรวบรวมกำลังมาตีพม่า จึงสั่งทหารทุกคนว่า

"เราจะตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้ เมื่อกองทัพหุงข้าวเสร็จแล้ว ทั้งนายไพร่ให้เททิ้งอาหารที่เหลือและต่อยหม้อเสียให้หมด หมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันที่ในเมืองเอาพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ ก็จะให้ได้ตายเสียด้วยกันให้หมดทีเดียว"

ทั้งนี้ ในวันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2310 ครั้นถึงเวลา 19.00 น. สมเด็จพระเจ้าตากฯ จึงได้สั่งให้ทหารไทยและจีนลอบเข้าไปอยู่ตามสถานที่ที่ได้วางแผนไว้แล้ว ให้คอยฟังสัญญาณเข้าตีเมืองพร้อมกัน จึงให้โห่ขึ้นให้พวกอื่นรู้ เมื่อเวลา 03.00 น. สมเด็จพระเจ้าตากฯ ก็ขึ้นคอช้างพังคีรีบัญชร ให้ยิงปืนสัญญาณพร้อมกับบอกพวกทหารเข้าตีเมืองพร้อมกัน ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากฯ ก็ไสช้างเข้าพังประตูเมืองจนทำให้บานประตูเมืองพังลง ทหารสมเด็จพระเจ้าตากฯ จึงกรูกันเข้าเมืองได้ พวกชาวเมืองต่างพากันละทิ้งหน้าที่หนีไป ส่วนพระยาจันทบุรีก็พาครอบครัวลงเรือหนีไปยังเมืองบันทายมาศ สมเด็จพระเจ้าตากฯ ตีเมืองจันทบุรีได้ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 7 แรม 3 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เพลา 3 ยามเศษ ตรงกับวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 03.00 น. หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว 2 เดือน

หลังจากนั้น สมเด็จพระเจ้าตากฯ ได้เคลื่อนทัพไปยังเมืองตราด พวกกรมการและราษฎรเกิดความเกรงกลัวต่างพากันมาอ่อนน้อมโดยดี ที่ปากน้ำเมืองตราดมีเรือสำเภาจีนมาทอดทุ่นอยู่หลายลำ สมเด็จพระเจ้าตากฯ จึงได้เรียกนายเรือมาพบ แต่พวกจีนนายเรือขัดขืนต่อสู้ สมเด็จพระเจ้าตากฯ จึงนำกองเรือไปล้อมสำเภาจีนเหล่านั้น ได้ทำการต่อสู้กันอยู่ประมาณครึ่งวันก็ยึดสำเภาจีนไว้ได้หมด ได้ทรัพย์สินสิ่งของมาเป็นจำนวนมาก

แผนการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากฯ ได้เดินทางกลับจากตราดมาตั้งมั่นรวบรวมผู้คนอยู่ที่เมืองจันทบุรี เพื่อวางแผนปฏิบัติการรบเพื่อตีกรุงศรีอยุธยาคืนจากข้าศึก พร้อมกับสั่งให้ต่อเรือรบและรวบรวมเครื่องศาสตราวุธและยุทธภัณฑ์ภายในเวลา 3 เดือน พร้อมกับฝึกไพร่พลให้พร้อมที่จะปฏิบัติการ

เมื่อสิ้นฤดูมรสุมในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากฯ ได้ยกกองทัพเรือจากจันทบุรีเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วเข้าโจมตีข้าศึกที่เมืองธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากฯ ยึดเมืองธนบุรีและปราบนายทองอินได้แล้ว จึงเคลื่อนทัพต่อไปที่กรุงศรีอยุธยาเข้า ยึดค่ายโพธิ์สามต้นปราบพม่าจนราบคาบ สามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมา เมื่อวันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เวลาบ่ายโมงเศษ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 13.00 น. ใช้เวลา 7 เดือนหลังจากคราวเสียกรุงศรีอยุธยา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top