Sunday, 5 May 2024
TODAY SPECIAL

21 ธันวาคม พ.ศ. 2525 พิธีสมโภช พระศรีศากยทศพลญาณ พระประธานพุทธมณฑล

วันนี้ เมื่อ 41 ปีก่อน พิธีสมโภช ‘พระศรีศากยทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์’ พระประธานพุทธมณฑล ซึ่งคนทั่วไปนิยมเรียกกันว่า ‘พระใหญ่’ หล่อด้วยโลหะสำริด ประดิษฐานเป็นพระประธานพุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 

พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑลที่พุทธมณฑลแห่งนี้ ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า ‘พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์’ ซึ่งสร้างขึ้นบริเวณใจกลางพุทธมณฑล ในโอกาสเฉลิมฉลองที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาครบ 25 พุทธศตวรรษ โดยมีต้นแบบจากอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งออกแบบไว้ที่ความสูง 2.14 เมตร แต่ภายหลังมีความต้องการให้มีความหมายเป็นที่ประจักษ์ จึงออกแบบให้มีความสูงที่ 15.875 เมตร น้ำหนัก 17,543 กิโลกรัม

ตัวองค์พระมีโลหะสำริดเป็นส่วนประกอบสำคัญ 137 ชิ้น เริ่มสร้างขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2525 ในการจัดสร้างได้แบ่งตัวองค์พระพุทธรูปออกเป็น 6 ส่วนคือ ส่วนพระเศียร (ศีรษะ) ส่วนพระอุระ (อก) ส่วนพระพาหา (แขน) ข้างซ้าย พระนาภี (ท้องถึงสะดือ) ส่วนพระพาหา (แขน) ข้างขวา พระเพลา (ขา) ส่วนพระบาท (เท้า) และส่วนฐานบัวรองพระบาท

เดิมที ในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2498 นั้น ได้มีแนวคิดในการจัดสร้างปูชนียสถานขึ้นเพื่อเป็นพุทธานุสรณียสถาน เนื่องในวโรกาสมหามงคลที่พระพุทธศาสนาเวียนมาบรรจบครบรอบ 2,500 ปี รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณที่จะก่อสร้างองค์พระพุทธรูปในปัจจุบันนี้

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จทรงเททองพระเกตุมาลา และได้ประกอบพิธีเชื่อมประกอบพระเศียรกับองค์พระพุทธรูป และเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประกอบพิธีสมโภชพระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ และทรงเปิดพุทธมณฑลให้ประชาชนได้เข้านมัสการพระพุทธรูปและใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการสร้างตั้งแต่นั้นเป็นมา

20 ธันวาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ เปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันนี้เมื่อ 56 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างเป็นทางการ และทรงปลูกต้นกาลพฤกษ์ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย 

ในครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมอบพระบรมราโชวาทเนื่องในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า

"...การตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นอีกแห่งหนึ่งนั้น เป็นคุณอย่างยิ่ง เพราะทำให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภูมิภาคที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งต่อไปจะเป็นผลดีแก่การพัฒนา ยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างยิ่ง ความสำเร็จในการตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเป็นความสำเร็จที่ทุกคนควรจะยินดี..."

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอุดมศึกษาสถานแห่งแรก ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้กำเนิดของมหาวิทยาลัยจะมีแนวความคิดย้อนหลังไปได้ถึงก่อน สงครามโลกครั้งที่สอง แต่การเตรียมการก่อสร้างอย่างจริงจัง กระทำกันในรัฐบาล ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะที่เริ่ม พัฒนาภูมิภาคส่วนนี้ของประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2505 การลงมือก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2507 โดยมีมติจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูง ด้านวิศวกรรมศาสตร์และเกษตรศาสตร์ขึ้นที่บ้านสีฐาน จังหวัดขอนแก่น และเสนอชื่อสถาบันนี้ว่า มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Khon Kaen Institute of Technology มีชื่อย่อ K.I.T. โดยมีสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบ

ต่อมาในปีพ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อ เป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตราพระราชบัญญัติ ‘มหาวิทยาลัยขอนแก่น’ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2509 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนาของมหาวิทยาลัย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2510 

มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นศูนย์รวมทางความคิด สติปัญญาของสังคม และเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ภูมิภาค ตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเป็นเนินดินลูกคลื่นสีแดง มีชื่อเรียกว่า 'มอดินแดง' บนพื้นที่ประมาณ 5,500 ไร่ นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และหน่วยงานเทียบเท่าคณะอีกจำนวนมาก

19 ธันวาคม พ.ศ. 2423  วันประสูติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 วันประสูติ ‘เสด็จเตี่ย’ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดากองทัพเรือไทย

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมารดาคือ เจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2423

พระองค์ทรงได้รับถวายพระสมัญญาจากกองทัพเรือว่าเป็น 'พระบิดาของกองทัพเรือไทย' และต่อมาได้แก้ไขเป็น 'องค์บิดาของทหารเรือไทย' เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 จากพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงวางรากฐานและพัฒนาปรับปรุงทหารเรือสยามให้เจริญก้าวหน้าตามแบบประเทศตะวันตก

ส่วนกรณีที่นักเรียนนายเรือพากันเรียกพระองค์ว่า 'เสด็จเตี่ย' นั้น พลเรือโท ศรี ดาวราย สันนิษฐานว่า มาจากการที่พระองค์ทรงขัดดาดฟ้าให้นักเรียนนายเรือใหม่ ๆ ที่ฝึกภาคทางทะเลบนเรือหลวงพาลีรั้งทวีปดูเป็นแบบอย่าง ในปี พ.ศ. 2462 หลังจากที่ทอดพระเนตรเห็นนักเรียนเหล่านั้นทำงานนี้ด้วยท่าทางเงอะงะเก้งก้าง โดยตรัสกับพวกนักเรียนเหล่านั้นว่า 'อ้ายลูกชาย มานี่เตี่ยจะสอนให้'

เมื่อช่วงต้นรัชกาลที่ 6 กรมหลวงชุมพรฯ ทรงออกจากราชการซึ่ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “…กรมหลวงชุมพรฯ ไม่ทรงสบาย ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกเป็นนายทหารกองหนุนอยู่ชั่วคราว ๑ จนถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๖๐ จึงเสด็จกลับเข้ามารับราชการเป็นตำแหน่งจเรทหารเรือ…”

แต่กรณีนี้ ศรัณย์ ทองปาน มีความเห็นต่างออกไปโดยเห็นว่า “…ในช่วงต้นรัชกาลที่ ๖ เกิดเหตุนายทหารเรือผู้หนึ่งเมาสุราในร้านอาหารสันธาโภชน์ ที่ตำบลบ้านหม้อ แล้วเกิดวิวาทกับมหาดเล็กหลวง ทำให้รัชกาลที่ ๖ ทรงพิโรธ ดังความในพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า ‘…ปรากฏชัดว่าได้ฝึกสอนนักเรียนนายเรือในหนทางไม่ดี ทำให้มีจิตฟุ้งซ่านจนนับว่าเสื่อมเสียวินัยและนายของทหาร…สมควรลงโทษเป็นตัวอย่าง’

ประกอบกับมีข่าวลือว่า กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์กับกรมขุนนครสวรรค์วรพินิต กำลังวางแผนก่อกบฏ ชิงราชสมบัติ โดยแม้ว่าพระองค์ทรงออกจากราชการแล้วทางการก็ยังให้ตำรวจท้องที่คอยติดตามการเคลื่อนไหวของพระองค์…”

ระหว่างที่ทรงอยู่นอกราชการ กรมหลวงชุมพรฯ ทรงหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นหมอยา ใช้พระนามว่า 'หมอพร' ในช่วงนี้เองที่กล่าวกันว่า ทรงปราบนักเลงนางเลิ้งได้อยู่หมัด ได้นักเลงมาเป็นลูกน้องด้วย ช่วงเวลานี้กินเวลาราว 6 ปี พระองค์จึงได้กลับเข้ารับราชการกองทัพเรืออีกครั้ง หลังสยามประกาศสงครามกับเยอรมนี

เมื่อได้เสด็จกลับเข้ารับราชการทหารเรือและทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติราชการทหารเรือด้วยพระอุตสาหะวิริยะแล้วก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเลื่อนพระยศเป็นนายพลเรือโท และนายพลเรือเอก ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ เฉลิมพระอิสริยยศเป็น กรมขุนและกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ตามลำดับ กับได้โปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ซึ่งเป็นตำแหน่งบังคับบัญชากำลังพลเทียบเท่าตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือในปัจจุบัน ก่อนที่จะโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรืออันเป็นตำแหน่งสูงสุดในราชการทหารเรือ

ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ กรมหลวงชุมพรฯ ได้กราบถวายบังคมลาออกไปรักษาพระองค์ที่มณฑลสุราษฎร์ซึ่งเดิมมีชื่อว่า 'มณฑลชุมพร' อันพ้องกับพระนามกรม และได้ประชวรสิ้นพระชนม์เสียที่นั้น เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466

18 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ‘ไทยคม’ ดาวเทียมดวงแรกของไทย ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร 

วันนี้ เมื่อ 30 ปีก่อน ดาวเทียมไทยคม (THAICOM) ดาวเทียมดวงแรกของไทย ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรจากฐานส่งของบริษัท แอเรียนสเปซ (Arianespace) แห่งฝรั่งเศส ที่เมืองคูรู (Kourou) ประเทศเฟรนช์ เกียนา (French Guiana) ทวีปอเมริกาใต้

ดาวเทียมไทยคม สร้างโดยบริษัท ฮิวจ์ สเปซ แอร์คราฟท์ (Hughes Space Aircraft) ของสหรัฐอเมริกา เพื่อให้บริการสื่อสารผ่านช่องสัญญาณดาวเทียม รองรับการสื่อสารของประเทศที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว สามารถถ่ายทอดทั้งสัญญาณโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง โทรศัพท์ และการสื่อสารข้อมูล มีอายุการใช้งานประมาณ 15 ปี (ถึง พ.ศ. 2551)

ทั้งนี้ ชื่อ ‘ไทยคม’ เป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน โดยย่อมาจากคำว่า Thai Communications ในภาษาอังกฤษ หรือไทยคม (นาคม) เดิมดาวเทียมดวงนี้อยู่ที่พิกัด 78.5 องศาตะวันออก เรียกชื่อว่า ไทยคม 1 เมื่อย้ายมาอยู่ที่ 120 องศาตะวันออก ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2540 จึงเรียกชื่อใหม่ว่า ‘ไทยคม 1A’

17 ธันวาคม พ.ศ. 2498  วันสวรรคตของ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี  พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

17 ธันวาคม พ.ศ.2498 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระนามเดิม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เสด็จสวรรคต

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระนามเดิม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) เป็นพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทย รวมทั้งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ต้นราชสกุลมหิดล ซึ่งเป็นราชสกุลที่สืบราชสันตติวงศ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน

นอกจากนี้พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งองค์สภาชนนีสภาอุณาโลมแดง อันเป็นชื่อของสภากาชาดไทยเมื่อครั้งแรกตั้งในต้นรัชกาลที่ 5 เป็นพระองค์แรกและพระองค์เดียว และองค์สภานายิกา สภากาชาดไทย พระองค์ที่ 2 และทรงสร้างสถานพยาบาลขึ้น ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสภากาชาดไทย

เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระราชนัดดา เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี ขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตามพระราชสัมพันธ์ของพระองค์กับรัชกาลที่ 8 คือพระอัยยิกา (ย่า) และดำรงพระอิสริยยศนี้จนตลอดพระชนมายุ

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระชนม์ชีพยาวนาน 6 รัชกาล ก็ทรงพระประชวรหลังตกจากพระที่นั่งสูง 6 ฟุตกระแทกกับพื้นห้องทำให้พระอัฐิที่คอต้นพระเพลาหัก และต้องรักษานานถึง 3 เดือน ต่อมาอีก 5 ปี ก็ประชวรด้วยมีอาการอักเสบที่พระปับผาสะ

วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมายังวังสระปทุมเมื่อเวลาประมาณ 2 ยาม เนื่องจากคณะแพทย์ที่ถวายการรักษาสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ากราบบังคมทูลว่าพระอาการหนักสุดที่จะแก้ไขแล้ว พระชนมชีพคงจะถึงที่สุดในไม่ช้า ภายในห้องพระบรรทมของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้านั้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงยืนอยู่ปลายพระบาท พร้อมด้วยคณะแพทย์และพยาบาลที่เฝ้าพระอาการ ส่วนหน้าห้องพระบรรทมนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประทับอยู่

นอกจากนั้น ก็มีเสด็จพระองค์วาปีฯ หม่อมเจ้าหลาน ๆ และข้าหลวงหมอบเฝ้าเต็มไปหมด เนื่องจากเป็นที่ทราบกันแล้วว่าพระอาการน่าเป็นห่วงตั้งแต่ 5 ทุ่ม จึงมาคอยส่งเสด็จกันพร้อมหน้าในวาระสุดท้าย หลังจากตีสองชาววังที่เฝ้าอยู่ในที่นั้นทั้งปวงต่างก็ได้ยินเสียงสวดมนต์เบา ๆ ติดต่อกันโดยหาตัวผู้สวดไม่ได้ พอผ่านไปได้ 16 นาที สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าก็เสด็จสวรรคตด้วยพระหทัยวายในพระอาการสงบ เมื่อเวลา 2.16 น. โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงถวายบังคม ‘สมเด็จย่า’ อยู่ที่เบื้องปลายพระบาทนั่นเอง สิริพระชนมายุได้ 93 พรรษา 3 เดือน 7 วัน

ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ที่ประชุมใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ เป็นบุคคลสำคัญของโลก เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 150 ปีวันคล้ายวันพระราชสมภพ ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555 ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพและการอนุรักษ์พัฒนาด้านวัฒนธรรม พร้อมกับบุคคลและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลกอีก 97 รายการ

16 ธันวาคม พ.ศ. 2510  ในหลวง รัชกาลที่ 9  ชนะเลิศการแข่งขันเรือใบในกีฬาแหลมทอง

วันที่ 16 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของไทย โดยกำหนดให้เป็น ‘วันกีฬาแห่งชาติ’ เพื่อน้อมรำลึกถึง ในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงชนะเลิศการแข่งขันกีฬาเรือใบประเภทโอเค ในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ที่กรุงเทพฯ 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงเข้าร่วมการแข่งขันแล่นเรือใบในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 (ปัจจุบันคือซีเกมส์) ที่จัดขึ้นในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 4 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ทรงชนะเลิศได้รับเหรียญทองร่วมกับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงโปรดกีฬาเรือใบเป็นพิเศษ ทั้งยังโปรดที่จะต่อเรือใบพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง เนื่องจากพระองค์ทรงโปรดปรานการช่างอยู่แต่เดิมแล้ว และเรือ ‘นวฤกษ์’ เรือใบประเภท OK ที่พระองค์ใช้ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ก็เป็นเรือที่พระองค์ทรงต่อขึ้นเองเช่นกัน

เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติในพระปรีชาสามารถและในฐานะที่เคยเป็นนักกีฬาทีมชาติไทย คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบและกำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคมของทุกปี เป็นวัน ‘วันกีฬาแห่งชาติ’

15 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันชาสากล เครื่องดื่มยอดนิยมของโลก

วันชาสากลตรงกับวันที่ 15 ธันวาคมของทุกปี มีจุดกำเนิดจากเกษตรกรผู้ปลูกชาในอินเดีย ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมในการค้าชา

รู้หรือไม่ ทุกวันที่ 15 ธันวาคมของทุกปี ถือเป็นวันชาสากล (International Tea Day) ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยจุดเริ่มต้นของวันชาสากลมากจากเกษตรกรผู้ปลูกชาในเบงกอลตะวันตกและหลายรัฐทางตอนเหนือของอินเดีย รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องถึงสิทธิและความชอบธรรมในการค้าชาของตนเอง 

ในช่วงนั้น แม้ชาจะเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่มีการปลูกอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ แต่อุตสาหกรรมค้าชาในประเทศอินเดียกลับมีความอ่อนแอและบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกชากลุ่มเล็กๆ ในหลายพื้นที่ได้นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการปลูก ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตดีขึ้น ได้ผลิตผลเพิ่มมากขึ้น และชาที่ได้ก็มีคุณภาพดี

แต่ทว่า เกษตรกรเหล่านี้กลับไม่ได้รับความเป็นธรรมในการค้าขาย พวกเขาถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกกดราคา จนทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง จนกระทั่งองค์กรเพื่อการสื่อสารและการศึกษาของประเทศอินเดีย (CEC - Centre for Communication and Education) ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือสิทธิของเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยในประเทศ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ พวกเขาได้ร่วมมือกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติเข้ามาพัฒนาและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ค้าชากลุ่มย่อย ๆ ให้ได้รับความเป็นธรรมในการค้าชาและทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น 

ต่อมา ชาได้ถูกพัฒนาให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพนับตั้งแต่นั้น และได้มีการจัดตั้งให้วันที่ 15 ธันวาคมของทุกปีคือวันชาสากล เพื่อระลึกถึงคุณประโยชน์ของชาและตระหนักถึงความสำคัญของเหล่าเกษตรกรตัวเล็ก ๆ ผู้ปลูกพืชซึ่งกลายเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่า

ทั้งนี้ ชา ถือเป็นเครื่องดื่มที่อยู่คู่กับมนุษย์มายาวนานกว่า 2,000 ปี โดยชาวจีนเป็นชนชาติแรกที่รู้จักการปลูกและบริโภคชา และเมื่อเวลาผ่านไปชาได้ถูกเผยแพร่ไปปลูกยังที่ต่าง ๆ จนกลายเป็นที่นิยม การดื่มชาถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในหลายชาติทั้ง อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย

14 ธันวาคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันลิงโลก’ สร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ลิง

‘วันลิงโลก’ ตรงกับวันที่ 14 ธันวาคม ของทุกปี ถูกตั้งขึ้นโดย ‘Casey Sorrow’ และ ‘Eric Millikin’ นักศึกษาจาก Michigan State University ในปี 2000 ต่อมาวันดังกล่าวมีการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ลิง สัตว์โลกที่มีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด

ลิงเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับวานร มีมากกว่า 260 ชนิด อาศัยอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ลิงเป็นสัตว์ฉลาด โดยลิงและมนุษย์มีบรรพบุรุษร่วมกันมาก่อนที่จะมีวิวัฒนาการแยกตัวออกจากกัน

อย่างไรก็ตามลิงหลายสายพันธุ์ก็กำลังตกอยู่ในอันตราย เผชิญภัยคุกคามต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการถูกล่า การถูกทำลายแหล่งอาศัย และอื่น ๆ 

ในประเทศไทยมีลิงหลากหลายชนิด โดยมี 6 ชนิดที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง คือลิงกัง ลิงลม ลิงวอก ลิงเสน ลิงแสม ลิงอ้ายเงี้ยะ โดยห้ามจับล่า ห้ามค้า หรือครอบครอง

13 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงรับ ‘คุณทองแดง’ เป็นสุนัขทรงเลี้ยง

วันนี้ เมื่อ 25 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงรับ ‘คุณทองแดง’ เป็นสุนัขทรงเลี้ยง

คุณทองแดง เป็นลูกของ ‘แดง’ สุนัขจรจัดบริเวณซอยศูนย์แพทย์พัฒนา ถนนพระราม 9 เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงนำมาเลี้ยงหลังจากเสด็จพระราชดำเนินไปเปิดศูนย์การแพทย์พระราม 9 และนายแพทย์คนหนึ่งนำคุณทองแดงมาทูลเกล้าฯ ถวายให้ทอดพระเนตร คุณทองแดงเกิดหลังลูก ๆ ของคุณมะลิไม่กี่วัน และทรงยกให้คุณมะลิเลี้ยงดู ทองแดง มีพี่น้องรวม 7 ตัว ซึ่งชาวบ้านตั้งชื่อให้ว่าทองแดง เพศเมีย, คาลัว เพศเมีย, หนุน เพศเมีย, ทองเหลือง เพศผู้ ได้ไปอยู่บ้านของข้าราชบริพารคนหนึ่ง, ละมุน เพศเมีย, โกโร เพศเมีย, โกโส เพศเมีย

คุณทองแดงมีลักษณะพิเศษต่างจากลูกสุนัขตัวอื่น คือ มีสายสร้อยรอบคอครึ่งเส้น มีถุงเท้าขาวทั้ง 4 ขา มีหางม้วนขดเป็นวง ปลายหางดอกสีขาว และมีจมูกแด่น ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายตัวเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ขณะมีอายุได้ 5 สัปดาห์ ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงค้นในหนังสือว่า ‘คุณทองแดง’ มีลักษณะคล้ายคลึงกับสุนัขพันธุ์บาเซนจิ ซึ่งเป็นสุนัขพันธุ์โบราณ มีถิ่นกำเนิดทางแอฟริกาใต้ นิยมใช้งานในการล่าสัตว์ แต่ ‘คุณทองแดง’ มีขนาดตัวใหญ่กว่าสุนัขพันธุ์บาเซนจิทั่วไป พระองค์จึงทรงเรียกคุณทองแดงว่าเป็นสุนัขพันธุ์ไทยซูเปอร์บาเซนจิ ก่อนหน้านี้ทรงเรียกว่า เป็นสุนัขพันธุ์เทศ (ย่อมาจาก เทศบาล)

คุณทองแดงเป็นสุนัขทรงเลี้ยงตัวโปรดและปรากฏตัวตามสื่ออยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง 'ทองแดง’ หรือ ส.ค.ส. พระราชทาน โดยพระองค์ทรงฉายพระบรมรูปร่วมกับสุนัขทรงเลี้ยงต่าง ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2549-2559 รวมไปถึงระหว่างที่พระองค์ประทับรักษาพระอาการประชวรที่โรงพยาบาลศิริราช ก็มีคุณทองแดงเฝ้าติดตามพระวรกายไม่ห่าง จนเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2558 หลังอายุได้ 17 ปี คุณทองแดงก็สิ้นลมหายใจด้วยโรคชรา ณ วังไกลกังวล

12 ธันวาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน เลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคและขบวนราบ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เวลา 15.30 น. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคและขบวนราบ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ณ ท่าวาสุกรี

ในครั้งนั้น บรรยากาศตลอดเส้นทางขบวนเรือพระราชพิธี ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ตั้งแต่บริเวณท่าวาสุกรีจนถึงท่าราชวรดิฐ มีปวงชนชาวไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ เฝ้ารอรับเสด็จเนืองแน่น

เพื่อสัมผัสบรรยากาศแห่งความงดงามของประเพณีและวัฒนธรรมไทยของริ้วขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาติเพียงแห่งเดียวของโลก พร้อมกับการได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ในเส้นทางเสด็จพระราชดําเนินเป็นเส้นทางเดียวกับที่เคยใช้มาตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top