Saturday, 18 May 2024
TODAY SPECIAL

4 ธันวาคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันสิ่งแวดล้อมไทย’ วันที่ ในหลวง ร.9 ดำรัสถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม

วันสิ่งแวดล้อมไทย ตรงกับวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี เพื่อระลึกถึงพระราชดำรัสของของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม 

ประวัติของวันสิ่งแวดล้อมไทย เกิดจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ทรงมีพระราชดํารัสแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีใจความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงปัญหาการจัดการน้ำว่า

“สถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และของโลกที่มีความรุนแรงขึ้น และทรงห่วงใยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนชาวไทยกําลังประสบอยู่ พร้อมทั้งตรัสเตือนพสกนิกรให้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ด้วยความสุขุมรอบคอบ โดยให้ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องปฏิบัติ มิใช่เพียงเพื่อประเทศไทยเท่านั้น หากเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของโลกด้วย”

กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี พ.ศ. 2534 ให้กำหนดวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อช่วยกระตุ้นให้ประชาชนทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันมีความสำคัญต่อชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยต้องร่วมมือกันปกป้อง รักษาให้คงอยู่สมบูรณ์ในประเทศอย่างยั่งยืนตลอดไป

3 ธันวาคม ของทุกปี สหประชาชาติกำหนดให้เป็น ‘วันคนพิการสากล’

3 ธันวาคม ของทุกปี สหประชาชาติกำหนดให้เป็น วันคนพิการสากล เพื่อส่งเสริมความเข้าใจต่อคนพิการและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคนพิการ

องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี เป็น 'วันคนพิการสากล' เพื่อรำลึกถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2525 ที่สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติรับรองแผนปฏิบัติการโลกว่าด้วยเรื่องคนพิการ (World Programme of Action concerning Disabled Persons) พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ เฉลิมฉลองวันคนพิการสากลทุกปี เพื่อขับเคลื่อนปฏิบัติการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการอย่างต่อเนื่องทั่วโลก เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยอยู่บนฐานของสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม และได้มาตรฐานในระดับสากล อนึ่ง ตั้งแต่ปี 2530 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดหัวข้อวันคนพิการในแต่ละปีด้วย เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ ศักดิ์ศรีและความยุติธรรมเพื่อคนทั้งมวล ทุกเรื่องคนพิการต้องมีคนพิการ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการสำรวจทางสถิติขององค์การสหประชาชาติ พบว่า กลุ่มประเทศแถบเอเชียและแปซิฟิกนี้มีจำนวนประชากรที่เป็นบุคคลพิการมากที่สุดในโลก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดมาจากปัญหาของความยากจน นอกเหนือจากนั้นก็เป็นเพราะสาเหตุของความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ อุบัติเหตุและผลของสงคราม 

พร้อมกันนี้ทางคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ก็ได้มีแนวนโยบายที่จะเร่งผลักดันและส่งเสริมคนพิการให้อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละชาติ ตั้งคณะกรรมการประสานงานให้ความร่วมมือช่วยเหลือคนพิการและองค์การต่าง ๆ ที่จะร่วมมือสร้างชีวิตคนพิการให้ดีขึ้น ทั้งในระดับชาติและระดับสากล ตลอดจนเร่งพัฒนาส่งเสริมให้คนพิการทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้รับการฟื้นฟู บำบัดรักษา การศึกษา การฝึกฝีมือและอาชีพ หรือแม้กระทั่งมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ทั้งทางการกีฬา วัฒนธรรมประเพณีและสิ่งแวดล้อม

นอกจากงานในด้านสังคมแล้ว ในด้านอาชีพก็เช่นกัน จึงได้สนับสนุนคนพิการในด้านต่าง ๆ เช่น งานหัตถกรรม เป็นต้น ขายลอตเตอรี่ พนักงานรับโทรศัพท์ งานช่างต่าง ๆ เช่น ช่างไม้ ช่างกระจก เป็นต้น ทำให้คนพิการได้มีโอกาสประกอบอาชีพต่าง ๆ ได้มากขึ้น

ส่วนงานที่เกี่ยวกับการศึกษานั้น นานาชาติก็มิได้ละเลย โดยให้โอกาสในการศึกษาของคนพิการด้านต่าง ๆ เช่น การให้ทุนเกี่ยวกับการศึกษาแก่คนพิการ และการผลิตอุปกรณ์ทางการศึกษาแก่คนพิการต่าง ๆ เช่น การผลิตเครื่องเรียงสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์และสแกนเนอร์ของคนตาบอด การผลิตลูกคิดสเลตและสไตลัสสำหรับคนตาบอด ทำให้คนตาบอดศึกษาหาความรู้ได้สะดวกขึ้น นอกจากนั้นแล้วยังมีการจัดแปลหนังสือเรียนของคนปกติมาพิมพ์เป็นหนังสือเรียน เป็นตัวอักษรเบรลล์แก่คนตาบอดอีกด้วย

2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติยุบ 3 พรรคการเมือง ‘พลังประชาชน - ชาติไทย - มัชฌิมาธิปไตย’

วันนี้เมื่อ 15 ปีก่อน ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้ยุบ 3 พรรคการเมือง ‘พลังประชาชน - ชาติไทย - มัชฌิมาธิปไตย’ ปมทุจริตการเลือกตั้งปี 2550

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เวลา 12.00-13.32 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยกรณีอัยการสูงสุดมีคำร้องให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เนื่องจากกระทำผิดทุจริตการเลือกตั้ง เมื่อปี 2550 โดยศาลฯ มีคำสั่งให้ยุบพรรคทั้ง 3 พรรค รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรคเป็นจำนวน 37 คน, 43 คน, และ 29 คน ตามลำดับ มีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญคำสั่งให้ยุบพรรคสามารถสรุปได้ดังนี้

สำหรับกรณีของ ‘พรรคพลังประชาชน’ นั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า กรณีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรคกระทำการฝ่าฝืนและขัดต่อ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ที่มีผลทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต และได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่พรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคคนอื่น ๆ ต้องร่วมรับผิดชอบ

ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่าคำแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้องฟังไม่ขึ้น เนื่องจากนายยงยุทธ เป็นนักการเมืองหลายสมัย มีฐานะเป็นถึงรองหัวหน้าพรรค และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ย่อมต้องเพิ่มความเข้มงวดที่จะไม่กระทำการใด ๆ อันฝ่าฝืนกฎหมาย แต่นายยงยุทธ ติยะไพรัช กลับกระทำผิดเสียเอง

นอกจากนี้กรณีที่พรรคพลังประชาชนโต้แย้งว่าได้จัดการประชุมชี้แจงเพื่อกำชับไม่ให้ผู้สมัครของพรรคกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งแล้วก็ตามนั้น ศาลเห็นว่าแม้พรรคจะมีการกระทำดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นความรับผิดในการที่กรรมการบริหารพรรคจะไปกระทำผิดเอง เพราะทำให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้มีผลบังคับใช้

ส่วนที่มีข้อโต้แย้งว่าผลการสืบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ละเมิดสิทธิและไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมนั้น ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่า กกต.มีหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาล และได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายมาอย่างถูกต้องแล้ว

สำหรับกรณีของ ‘พรรคมัชฌิมาธิปไตย’ และ ‘พรรคชาติไทย’ ในการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของนายสุนทร วิลาวัลย์ รองหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตยและนายมณเฑียร สงฆ์ประชา รองเลขาธิการพรรคชาติไทยนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินไปในทิศทางเดียวกันคือวินิจฉัยให้ยุบพรรคและตัดสิทธิเลือกตั้งแก่กรรมการบริหารพรรคคนละ 5 ปี

อย่างไรก็ดี ในส่วนข้อโต้แย้งของพรรคมัชฌิมาธิปไตยเกี่ยวกับสถานภาพการเป็นกรรมการบริหารพรรคนั้น ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่าแม้นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ จะได้ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคไปตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2550 อันจะมีผลให้กรรมการบริหารพรรคต้องพ้นสภาพไปด้วยก็ตาม แต่ยังมีข้อกำหนดที่ให้กรรมการบริหารพรรคต้องทำหน้าที่รักษาการต่อไปจนกว่านายทะเบียนพรรคการเมืองจะตอบรับการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น จึงถือว่านายสุนทร ยังคงทำหน้าที่เป็นกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย อยู่ในขณะเกิดเหตุ แม้จะมีสถานภาพเป็นเพียงผู้รักษาการก็ตาม อันเป็นเหตุให้การกระทำใด ๆ ของกรรมการบริหารพรรคที่ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มีเหตุให้ต้องยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคดังกล่าว

1 ธันวาคม พ.ศ. 2487 ธนาคารกรุงเทพ เปิดให้บริการเป็นวันแรก

วันนี้เมื่อ 79 ปีก่อน ธนาคารกรุงเทพ เปิดทำการวันแรก ปัจจุบันเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 6 ของอาเซียน และเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์รวม

ธนาคารกรุงเทพเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2487 มีสำนักงานใหญ่แห่งแรกเป็นอาคารพาณิชย์ 2 คูหาในย่านราชวงศ์ ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร โดยเจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ร่วมกับคุณหลวงรอบรู้กิจ มีทุนจดทะเบียน 4.0 ล้านบาท มีพนักงานรุ่นแรก 23 คน คณะกรรมการบริหารประกอบด้วย พล.อ.เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เป็นประธาน และหลวงรอบรู้กิจ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนแรกและเป็นผู้ริเริ่มสร้างฐานลูกค้าของธนาคารด้วยการบริการให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 ธนาคารกรุงเทพได้ขยายสาขาไปต่างประเทศ แห่งแรกคือที่ ฮ่องกง ต่อมาได้ไปเปิดที่ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาได้ไปเปิดที่ สิงคโปร์

จากนั้น ในปี 2518 ธนาคารกรุงเทพ ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งนับเป็นธนาคารแห่งแรกของไทยที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย

ปัจจุบัน ธนาคารกรุงเทพ เป็นธนาคารที่มีสินทรัพย์มากที่สุดในประเทศ มีสินทรัพย์ทั้งหมดประมาณ 3.80 ล้านล้านบาท มีสาขาทั้งหมดกว่า 1,135 สาขา เครื่องเอทีเอ็มกว่า 9,362 เครื่อง สาขาไมโคร (Micro Branch) ที่เปิดให้บริการ 7 วัน มีเครือข่ายสาขาต่างประเทศ 31 แห่ง ในเขตเศรษฐกิจสำคัญ 14 แห่ง นอกเหนือจากสาขาอีกประมาณ 300 แห่ง ของธนาคารเพอร์มาตา ประเทศอินโดนีเซีย ที่เข้ามาอยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารกรุงเทพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 (ข้อมูลเมื่อปี 2565)

30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ ‘กรมทหารเรือ’ เป็น ‘กองทัพเรือ’

วันนี้ เมื่อ 90 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ ‘กรมทหารเรือ’ เป็น ‘กองทัพเรือ’ ขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม 

กองทัพเรือมีกำเนิดควบคู่มากับการสร้างอาณาจักรไทยนับตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี กองทัพไทยในสมัยเดิมนั้นมีเพียงทหารเหล่าเดียวมิได้แบ่งแยกออกเป็นกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ อย่างเช่นในสมัยปัจจุบัน หากยาตราทัพไปทางบกก็เรียกว่า ทัพบก หากยาตราทัพไปทางเรือก็เรียกว่า ทัพเรือ การจัดระเบียบการปกครองบังคับบัญชากองทัพไทยในยามปกติยังไม่มีแบบแผนที่แน่นอน ในยามศึกสงครามได้ใช้ทหารทัพบกและทัพเรือรวม ๆ กันไป ในการ ยาตราทัพเพื่อทำศึกสงครามภายในอาณาจักรหรือนอกอาณาจักร ก็มีความจำเป็นต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการลำเลียงทหารและเครื่องศัสตราวุธ 

เรือนอกจากจะสามารถลำเลียงเสบียงอาหารได้คราวละมาก ๆ แล้ว ยังสามารถลำเลียงอาวุธหนัก เช่น ปืนใหญ่ ไปได้สะดวกและรวดเร็วกว่าทางบกด้วย จึงนิยมยกทัพไปทางเรือจนสุดทางน้ำแล้วจึงยกทัพต่อไปทางบก กิจการทหารเรือดำเนินไปเช่นนี้จนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

พ.ศ. 2394 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจการทหารเรือเริ่มแบ่งออกมาชัดเจน และแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ทหารเรือวังหน้า ขึ้นตรงกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กับทหารเรือวังหลวง หรือทหารมะรีนสำหรับเรือรบ ขึ้นตรงกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหพระกลาโหม โดยทหารเรือวังหน้ามีหน่วยขึ้นในสังกัด คือ กรมเรือกลไฟ กรมอาสาจาม และกองทะเล (บางทีเรียกว่ากองกะลาสี) ส่วนกรมอรสุมพลมีหน่วยขึ้นในสังกัด คือ กรมเรือกลไฟ กรมอาสามอญ และกรมอาสาจาม ซึ่งทหารทั้งสองหน่วยนี้เป็นอิสระจากกัน

พ.ศ. 2408 ในสมัยต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การปกครองประเทศยังเป็นระบบจตุสดมภ์อยู่โดยมีกรมพระกลาโหมว่าการฝ่ายทหาร ในขณะนั้นกิจการฝ่ายทหารเรือแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ทหารเรือวังหน้า หรือทหารเรือฝ่ายพระราชวังบวร ขึ้นตรงกับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ) และทหารเรือวังหลวง หรือกรมอรสุมพล ขึ้นตรงกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และต่อมาในปี พ.ศ. 2412 ขึ้นตรงกับเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ สมุหพระกลาโหม

พ.ศ. 2435 ได้มีการจัดระเบียบการปกครองแผ่นดินใหม่ และยกเลิกการปกครองแบบจตุสดมภ์ กำหนดให้มีกระทรวงในราชการ โดยกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ปกครองบรรดาหัวเมืองต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร เป็นผลให้กระทรวงกลาโหม ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการปกครองทางหัวเมือง คงมีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทหารอย่างเดียว จึงได้โอนกรมทหารเรือมาขึ้นกับกระทรวงกลาโหม

11 ธันวาคม พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนฐานะกรมทหารเรือเป็นกระทรวงทหารเรือ และในวันเดียวกันนั้นก็ได้ประกาศแต่งตั้งจอมพลเรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ

8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกระทรวงทหารเรือกับกระทรวงทหารบกเป็นกระทรวงเดียวกัน ภายใต้นามกระทรวงกลาโหม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เป็นผลทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบกระเทือนดังกล่าวนี้ด้วย ทำให้ฐานะทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะตกต่ำ จำเป็นต้องพิจารณาตัดทอนรายจ่ายของประเทศให้น้อยลงให้สมดุลกับรายได้ เป็นผลทำให้มีการปรับปรุงการจัดระเบียบราชการใหม่ด้วย 

พ.ศ. 2475 มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศ กองทัพเรือถูกลดฐานะเป็นเพียงกรมทหารเรือเช่นเดิม กรมต่างๆ ของทหารเรือลดฐานะมาเป็นกองทั้งหมด เว้นแต่กรมเสนาธิการทหารเรือเท่านั้น นอกจากนั้นส่วนราชการของทหารเรือบางส่วนซึ่งได้เอาไปรวมกับฝ่ายทหารบกก็กลับมาสังกัดอยู่ในกรมทหารเรือตามเดิม

30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อกรมทหารเรือเป็นกองทัพเรือ ให้เป็นการสอดคล้องกับการเรียกชื่อส่วนรวมของทหารบกว่ากองทัพบก และขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม

29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ในหลวง ร.9 ทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันนี้ เมื่อ 60 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงปลูกต้นนทรี 9 ต้น พร้อมร่วมการแสดงดนตรีที่หอประชุมของมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก

วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จของคณะกรรมการสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

และได้ทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ณ บริเวณหน้าหอประชุม มก. ทั้งยังมีพระราชดำรัสถึงบุคลากรและนิสิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในคราวนั้นว่า

“ขอฝากต้นไม้นี้ให้มหาวิทยาลัยและนิสิตช่วยกันรักษาให้ดี อย่าให้หงอย ขอฝากนิสิตทั้งหลาย ขอให้ช่วยกันรักษาตัวเองให้ดี และอย่าลืมว่าตัวเองนั้นจะอยู่กันได้ก็ด้วยแผ่นดินไทย ขอให้ช่วยรักษาแผ่นดินไทยไว้ด้วย คนไทยถ้าไร้แผ่นดินก็จะหงอยกันหมด อยู่กันไม่ได้ และเราก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น”

นอกจากนี้ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระมหากรุณาธิคุณร่วมการแสดงดนตรีที่หอประชุมของมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก อันนำไปสู่การเสด็จ ‘เยี่ยมต้นนนทรี’ ที่ทรงปลูกและ ‘ทรงดนตรี’ สืบเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2515

โดย ‘ต้นนนทรี’ เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 เพราะต้นนนทรีเป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืนยาวนาน มีใบเขียวตลอดทั้งปี ลักษณะใบเป็นฝอยคล้ายใบกระถิน ดอกสีเหลืองประปรายด้วยสีขาว ช่อดอกเป็นพวงระย้า ฝักไม่ยอมทิ้งต้น ทนทานในทุกสภาพอากาศของเมืองไทย 

ซึ่งต้นนนทรีทั้ง 9 ต้น ได้สร้างความเป็นสง่าราศี เป็นขวัญกำลังใจ เป็นจิตวิญญาณและให้ความร่มเย็น แก่เหล่าลูกนนทรีมาโดยตลอด ปัจจุบันนนทรีทั้ง 9 ต้นเจริญเติบโตเป็นไม้ใหญ่ เต็มวัย มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 53 เซนติเมตร มีความสูงเฉลี่ย 15 เมตร 

มีพื้นที่เรือนยอดปกคลุม 123 ตารางเมตรต่อต้น หรือพื้นที่เรือนยอดรวม 1,108 ตารางเมตร ด้วยต้องยืนตระหง่านฝ่าร้อนฝ่าฝนและหนาวมาเป็นระยะเวลายาวนานย่อมถูก โรคภัยเบียดเบียน มหาวิทยาลัยได้เฝ้าดูแลต้นนนทรีทั้ง 9 ต้น ด้วยความใส่ใจมาตลอด พร้อมทั้งทำศัลยกรรมตกแต่งปิดโพรงภายในจากการทำลายของโรคอย่างถูกวิธี เพื่อให้นนทรีทั้ง 9 ต้นดำรงความเป็นเกียรติประวัติแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สืบไป

28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483  ฝรั่งเศส ทิ้งระเบิดถล่ม ‘นครพนม’  เปิดฉากสงคราม ‘กรณีพิพาทอินโดจีน’

วันนี้ เมื่อ 83 ปีก่อน ฝรั่งเศส ทิ้งระเบิดถล่ม ‘นครพนม’ เปิดฉากสงคราม ‘กรณีพิพาทอินโดจีน’

จากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ที่มหาอำนาจยุโรปแผ่อิทธิพลของลัทธิอาณานิคมเข้ามาในเอเชียตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศตกเป็น ‘รัฐอาณานิคม’ และเกิดกรณี ร.ศ.112 สำหรับประเทศไทย ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรป และฝรั่งเศสมีสถานะที่อ่อนแอจนกระทั่งถูกเยอรมนียึดครอง (21 มิถุนายน 2483) เป็นการกระตุ้นให้รัฐบาลไทยขณะนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเคารพต่อการแบ่งดินแดนในเอเชียของชาติมหาอำนาจอาณานิคมอย่างฝรั่งเศสอีกต่อไป

เมื่อฝรั่งเศสยอมแพ้เยอรมนีได้ขอทำให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ตอบ (11 กันยายน พ.ศ. 2483) ที่จะให้สัตยาบันด้วยข้อแม้ 3 ข้อคือ

1. ให้ถือร่องน้ำลึกเป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศ

2. ขอไชยบุรีและจำปาสัก ซึ่งฝั่งขวาของแม่น้ำโขงตรงข้ามกับหลวงพระบาง และตรงข้ามกับปากเซ ให้ไทย โดยถือแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนระหว่างประเทศ

3. ขอให้ฝรั่งเศสรับรองว่าถ้าอินโดจีนเปลี่ยนจากอธิปไตยฝรั่งเศสไป ฝรั่งเศสจะคืนอาณาเขตลาวและกัมพูชาให้ไทย

รัฐบาลฝรั่งเศสตอบปฏิเสธ 2 ข้อหลัง

จอมพล ป. ให้สัมภาษณ์เรื่องดังกล่าวแก่หนังสือพิมพ์ กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมจนเกิดขบวนการเรียกร้องดินแดนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเดินขบวนของคณะนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (8 ตุลาคม พ.ศ. 2483)

ขณะที่จอมพล ป. เองก็ตัดสินใจใช้กำลังรบกับฝรั่งเศสอย่างฉับพลัน เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสและรัฐบาลญี่ปุ่นมีข้อตกลงระหว่างกันที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถนำกองทัพของตนเข้ามาตั้งในเวียดนามได้ แม้ญี่ปุ่นจะมีทีท่าเห็นใจไทยในการขอปรับปรุงดินแดนกับฝรั่งเศส แต่รัฐบาลไทยก็หวั่นว่าหากกองทัพญี่ปุ่นขยายเขตของตนจากเวียดนามเข้าสู่ลาวและกัมพูชาก็จะเป็นอุปสรรคต่อนโยบายของไทย

20 ตุลาคม พ.ศ. 2483 จอมพล ป. กล่าวขอบคุณนิสิตนักศึกประชาชนที่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลทางวิทยุกระจายเสียง และปลุกความรู้สึกชาตินิยม เพลงปลุกใจออกเผยแพร่ เช่น เพลงข้ามโขง เพลงดอกฟ้าจำปาศักดิ์ เพลงเสียมราฐ ฯลฯ เริ่มมีออกเผยแพร่

และในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 รัฐบาลออกประกาศว่าเครื่องบินฝรั่งเศส 5 ลำ โจมตีทิ้งระเบิดจังหวัดนครพนมและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ รัฐบาลไทยประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่เกี่ยวข้อง 24 จังหวัด พร้อมกันนั้นกองทัพไทยเคลื่อนเข้าไปยึดครองดินแดนที่มีข้อพิพาทกัน มีการต่อสู้ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางทะเลที่เกาะช้าง จังหวัดตราด

ในสงครามครั้งนี้ญี่ปุ่นเสนอตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ยกรณีพิพาท (25 มกราคม พ.ศ. 2484) ตกลงให้มีการหยุดยิงในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2484 และมีการลงนามในอนุสัญญาโตเกียว 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 เป็นผลให้ไทยได้ดินแดนไชยบุรี, จำปาสัก, เสียมราฐ และพระตะบอง (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ลานช้าง, จำปาศักดิ์, พิบูลสงคราม และพระตะบอง ตามลำดับ) เรื่อยมาจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี 2488 และต่อมาได้มีการสร้างอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงทหารไทยที่เสียชีวิตไปในการรบครั้งนี้เรียกว่า ‘อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ’

27 พฤศจิกายน ของทุกปี  ถือเป็น ‘วันสาธารณสุขแห่งชาติ’  สืบเนื่อง ร.6 ทรงก่อตั้ง ‘กรมสาธารณสุข’

วันนี้เมื่อ 105 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งกรมสาธารณสุขขึ้นแทนกรมประชาภิบาล จึงถือเอาวันนี้เป็น ‘วันสาธารณสุขแห่งชาติ’

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งกรมสาธารณสุขขึ้นในกระทรวงมหาดไทย แทนกรมประชาภิบาล โดยให้รวมกองบัญชาการ กองสุขศึกษา กองสาธารณสุข กองยาเสพติดให้โทษ กองโอสถศาลารัฐบาล กองบุราภิบาล เข้าด้วยกัน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น กรมสาธารณสุข เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทรเป็นอธิบดีกรมสาธารณสุข องค์แรก นับเป็นวาระแรกที่มีการใช้คำว่า 'สาธารณสุข' จึงถือว่า วันที่ 27 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น 'วันสถาปนาการสาธารณสุข'

เดิมทีในสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยยังคงมีกิจการ ทางด้านการแพทย์ แบ่งออกเป็นหลายฝ่าย เช่น กองบัญชาการ กองสุขศึกษา กองสาธารณสุข กองยาเสพติดให้โทษ กองโอสถศาลารัฐบาล กองบุราภิบาล ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกระทรวงมหาดไทยมีความประสงค์ที่จะปรับปรุง กิจการของกรมพยาบาล ให้กว้างขวาง โดยการขอพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนจากกรมประชาภิบาล มาเป็นกรมสาธารณสุข ซึ่งพระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้สามารถจัดตั้งได้ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นชัยนาทนเรนทร อธิบดีกรมมหาวิทยาลัย เป็นอธิบดีกรมสาธารณสุข อยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2485 จึงได้มีการสถาปนากรมสาธารณสุขขึ้น เป็นกระทรวงสาธารณสุข โดยถือเอาวันที่ 10 มีนาคม เป็นวันสถาปนา 'กระทรวงสาธารณสุข'

26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระพันปีหลวง เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตร ม.รามคำแหงรุ่นแรก

วันนี้ เมื่อ 48 ปีก่อน ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ และ ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ’ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นแรก 

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ดำเนินการขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พร้อมพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชด้วย ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 เป็นวันเสด็จพระราชดำเนินในพิธี โดยใช้สถานที่จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก คือ บริเวณหน้าสำนักหอสมุดกลาง

หลังจากพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปทางด้านหลังสำนักหอสมุดกลาง เสด็จขึ้นหอสมุดกลางทางประตูด้านหลัง เสด็จเข้าห้องรับรอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทูลเกล้าฯ ถวายครุยปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และรองอธิการบดีทูลเกล้าฯ ถวายครุยปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ทางสังคมวิทยา แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฉลองพระองค์ครุย แล้วทรงลงปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยในสมุดเยี่ยมของมหาวิทยาลัย เมื่อถึงหมายกำหนดการพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเสด็จพระราชดำเนินเข้าเวทีที่ประทับ ทรงบูชาพระรัตนตรัย แล้วเสด็จประทับพระราชอาสน์ ที่หน้าสำนักหอสมุดกลาง

นายกสภามหาวิทยาลัย ได้ขอพระราชทานพระราชวโรกาสกราบบังคมทูลสดุดี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อธิการบดีเชิญปริญญาบัตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและรองอธิการบดีเชิญปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางสังคมวิทยาขึ้นทูลเกล้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

จากนั้น เป็นการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรตามลำดับ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2517 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานปริญญาบัตรแล้ว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิต ความตอนหนึ่งว่า...

“มหาวิทยาลัยรามคำแหงนี้เป็นมหาวิทยาลัยในแบบที่ให้โอกาสแก่ ผู้ปรารถนาวิชาความรู้ ให้เข้ามาศึกษาค้นคว้าวิทยาการต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง และอย่างอิสระจึงอำนวยประโยชน์ได้มาก ในด้านสนับสนุนส่งเสริมบุคคลทั่วไป และโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานแล้ว ให้ได้ฟื้นฟูเพิ่มพูนความสามารถของตนทางด้านวิชาการ เพื่อนำไปปรับปรุง การงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยกฐานะหน้าที่ให้สูงขึ้น มหาวิทยาลัยมีความมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งเสริม ผู้ที่เข้ามาศึกษาดังนี้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้วทุกคนควรจะได้มองเห็น และควรที่จะได้น้อมนำมาเป็นคติในการดำเนินชีวิต และการงานต่อไป โดยทำความตั้งใจและความเพียรให้มั่นคง ในอันที่จะฝึกฝนและปรับปรุงตนเอง ในการทำงานให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ และสำคัญที่สุดควรจะได้พยายาม หาทางนำความคิดวิทยาการซึ่งอุตส่าห์ฝึกฝนศึกษามาได้ด้วยยากนั้นมาใช้ ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อความ เจริญมั่นคงของชาติบ้านเมืองของเรา”

25 พฤศจิกายน ของทุกปี วันวชิราวุธ (วันคล้ายวันสวรรคต) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

วันวชิราวุธ (วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า) ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (1 มกราคม พ.ศ. 2423 - 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468) เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 6 ในราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติเมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม ปีจอ พ.ศ. 2453 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 รวมพระชนมายุ 45 พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม 15 ปี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในหลายสาขา ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้นับพันเรื่อง กระทั่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า ‘สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า’ พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ใน พระราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ไม่มีวัดประจำรัชกาล แต่ได้ทรงมีการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงหรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน ขึ้นแทน ด้วยทรงพระราชดำริว่าพระอารามนั้นมีมากแล้ว และการสร้างอารามในสมัยก่อนนั้นก็เพื่อบำรุงการศึกษาของเยาวชนของชาติ จึงทรงพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนขึ้นแทน

สำหรับพระราชกรณียกิจที่สำคัญ พระองค์นั้นได้เป็นผู้ให้พระราชทานกำเนิดกิจการลูกเสือไทยขึ้น ซึ่งพระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ได้ทรงริเริ่มและพัฒนาไว้ล้วนแต่เป็นรากฐานที่สำคัญซึ่งนำไปสู่ความเจริญของประเทศ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top