Sunday, 5 May 2024
TODAY SPECIAL

11 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ในหลวง รัชกาลที่ 10 นำพสกนิกร ร่วมกิจกรรม ‘ปั่นเพื่อพ่อ Bike For Dad’

วันนี้เมื่อ 8 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เป็นประธานจัดกิจกรรม ‘ปั่นเพื่อพ่อ Bike For Dad’

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้มีพระราชปณิธานที่จะจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ ผู้ทรงมีพระคุณอันประเสริฐ เปรียบดุจพ่อของแผ่นดิน

โดยมีพระราชประสงค์จะจัดกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติ จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และจัดแสดงโขนกลางแปลงพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ร่วมกันแสดงความจงรักภักดีและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ร่วมใจแสดงความกตัญญูและทดแทนคุณพ่อ เพื่อสร้างเสริมความสามัคคีของชาวไทยทั้งชาติ เพื่อสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง มีจิตใจแจ่มใส และเพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้ชื่นชมศิลปวัฒนธรรม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต รับสนองพระราชปณิธานจัดกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ภายใต้ชื่อ ‘ปั่นเพื่อพ่อ Bike For Dad’

โดยกิจกรรมปั่นจักรยาน จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558 เวลา 15.00 น. โดยมีประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม

วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่ในหลวง รัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และเป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นกฎหมายลำดับศักดิ์สูงสุดแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองของประเทศ ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแล้วทั้งสิ้น 19 ฉบับ อันแสดงให้เห็นถึงความขาดเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ไทยเชิงการเมืองการปกครอง เมื่อคณะราษฎร ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการสายทหารบก ทหารเรือ และสายพลเรือน จำนวน 99 คน โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้า ได้ร่วมกันทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศจากพระมหากษัตริย์ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียกว่า ‘พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว’ สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ ได้แก่ การที่กำหนดว่า อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคล คณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรดังนี้ คือ

1. พระมหากษัตริย์
2. สภาผู้แทนราษฎร
3. คณะกรรมการราษฎร
4. ศาล

ลักษณะการปกครองแม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแต่ก็ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่ถาวรและมีการสืบราชสมบัติต่อไปในพระราชวงศ์ การปฏิบัติราชการต่าง ๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎร จึงจะใช้ได้สถาบันที่เกิดใหม่คือ สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติออกกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งเมื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แล้ว จึงจะมีผลบังคับได้ เหตุนี้ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สภาผู้แทนจึงเป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง ส่วนการใช้อำนาจตุลาการยังคงให้ ศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้ว พิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามกฎหมายได้ตามเดิม

กระทั่งถึงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวรซึ่งมีหลักการต่างกับฉบับแรกในวาระสำคัญหลายประการ อาทิ ได้เปลี่ยนระบอบการปกครอง เป็นการปกครองแบบรัฐสภา ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง เป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรี ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้บริการราชการแผ่นดิน แต่คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในการบริหารการแผ่นดินต่อสภาผู้แทน รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมิได้ใช้แต่เพียงอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารแผ่นดินด้วย แต่อย่างไรก็ตามคณะรัฐมนตรีรวมทั้งพระมหากษัตริย์ซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาลก็มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนได้ หากเห็นว่าได้ดำเนินการไปในทางที่จะเป็นภัยหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์สำคัญของรัฐซึ่งมีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งใหม่ ในส่วนเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์นั้น ได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็น ที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

9 ธันวาคม ของทุกปี  เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ร่วมสร้างการตระหนักรู้เรื่องทุจริต

วันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปี ถูกกำหนดขึ้นให้เป็น ‘วันต่อต้านการทุจริตสากล’ หรือ ‘วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล’ (International Anti-Corruption Day) 

วันต่อต้านการทุจริตสากล ถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหภาพสากล (The United Nation : UN) ที่มีมติเห็นชอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ. 2546 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2546 จากนั้นประเทศภาคีสมาชิก จำนวน 191 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาระหว่างวันที่ 9 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ณ เมืองเมอริด้า ประเทศเม็กซิโก

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักของผู้คนในเรื่องการทุจริต อันส่งผลกระทบต่อทั้งความมั่นคงของรัฐบาล เป็นตัวถ่วงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังทำลายรากฐานของประชาธิปไตย และสร้างความตระหนักในบทบาทของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตในการต่อสู้และป้องกัน

ดังนั้น UN จึงได้กำหนดให้ทุกวันที่ 9 ธันวาคมของทุกปีเป็น ‘วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล’ สำหรับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 ได้กำหนดประเด็นความร่วมมือที่สำคัญของรัฐภาคี 3 ประการ ดังนี้

1. ด้านมาตรการเชิงป้องกัน : ทุกประเทศต้องมุ่งป้องกันปัญหาคอร์รัปชันเป็นอันดับแรก
2. ด้านการบัญญัติความผิดทางอาญา : ทุกประเทศต้องถือว่าการคอร์รัปชันทุกรูปแบบคืออาชญากรรม 
3. ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ : ทุกประเทศต้องให้ความร่วมมือในการทำให้อนุสัญญามีผลในทางปฏิบัติได้จริง

8 ธันวาคม พ.ศ. 2484  ญี่ปุ่น ยกพลขึ้นบก เหยียบแผ่นดินไทย  ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านไปตีพม่าและมลายู

การยกพลขึ้นบกของกองทัพญี่ปุ่น เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ.1941) ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.00 น. เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี ปัตตานี และบางปู สมุทรปราการ และบุกเข้าประเทศไทยทางบกที่อรัญประเทศ กองทัพญี่ปุ่นสามารถขึ้นบกได้โดยไม่ได้รับการต่อต้านที่บางปู ส่วนทางภาคใต้และทางอรัญประเทศมีการต่อสู้ต้านทานอย่างหนักของทหารไทย ประชาชนทั่วไปและอาสาสมัครที่เป็นเยาวชน ที่เรียกว่า ยุวชนทหาร ในบางจังหวัด เช่น การรบที่สะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร

โดยกลุ่มยุวชนทหารและกองกำลังผสมทหารตำรวจซึ่งกำลังจะต่อสู้ปะทะกันอยู่ที่สะพานท่านางสังข์ โดยที่กลุ่มยุวชนทหารนั้นมีผู้บังคับการคือร้อยเอกถวิล นิยมเสน ในระหว่างการสู้รบร้อยเอกถวิลนำกำลังยุวชนทหารออกมาปะทะกองทหารญี่ปุ่น แม้ร้อยเอกถวิลจะถูกทหารญี่ปุ่นยิงเสียชีวิต แต่ยุวชนทหารยังคงสู้ต่อไปจนกระทั่งรัฐบาลสั่งหยุดยิง เมื่อเวลา 11.00 น. โดยประมาณ

และในที่สุดรัฐบาลไทยโดยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ได้ประกาศอนุญาตให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยได้

และในวันที่ 8 ธันวาคม ของทุกปี ยังถือเป็น ‘วันนักศึกษาวิชาทหารอีกด้วย’

๗ ธันวาคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี  กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

วันนี้ถือเป็นวันสำคัญของปวงชนชาวไทยอีกวันหนึ่ง โดยเป็นวันคล้ายวันประสูติของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ซึ่งปีนี้ทรงเจริญพระชันษา 45 ปี

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในหลากหลายด้าน ทางด้านกฎหมาย ทรงส่งเสริมหลักการยุติธรรมในสังคม โดยเฉพาะสตรีและผู้ต้องขังหญิง อีกทั้งส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมในระดับนานาชาติ โดยทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตสันถวไมตรีด้านการส่งเสริมหลักนิติธรรมและระบบงานยุติธรรมทางอาญา สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ

อีกหนึ่งพระราชกรณียกิจอันเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทย โดยทรงเป็นองค์ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ด้วยวัตถุประสงค์ในการบรรเทาความเดือดร้อน ตลอดจนช่วยเหลือประชาชนคนไทย ทั้งในยามประสบภัยพิบัติ และส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

เนื่องด้วยเป็นวันคล้ายวันประสูติ ขอพระองค์ทรงมีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เป็นมิ่งขวัญของประชาชนคนไทยสืบไป ทรงพระเจริญ

6 ธันวาคม พ.ศ. 2443  ในหลวง ร.5 อาราธนาพระภิกษุสงฆ์ 33 รูป มาจำวัดที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

วันนี้เมื่อ 123 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาราธนาพระสงฆ์จำนวน 33 รูป มาจำวัดที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เพื่อทำให้เป็นวัดที่สมบูรณ์

วัดเบญจมบพิตรเดิมเป็นวัดโบราณ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่ครั้งสมัยใด ชาวบ้านเรียกว่า วัดแหลม หรือวัดไทรทอง

เมื่อถึงปี 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงคลองสามเสน เพื่อสร้างที่ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถส่วนพระองค์ โดยพระราชทานนามว่า ‘สวนดุสิต’ ซึ่งก็คือพระราชวังดุสิต ในปัจจุบัน ซึ่งบริเวณที่ดินที่ทรงซื้อนั้นมีวัดโบราณ 2 แห่ง คือ วัดดุสิตซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรมโดยถูกใช้เป็นที่สร้างพลับพลา และวัดร้างอีกแห่งซึ่งจำเป็นต้องใช้ที่ดินของวัดสำหรับตัดเป็นถนน พระองค์จึงทรงกระทำผาติกรรม สร้างวัดแห่งใหม่เพื่อเป็นการทดแทนตามประเพณี โดยทรงเลือกบริเวณที่เป็นวัดเบญจมบพิตรปัจจุบัน เป็นวัดที่ทรงสถาปนาตามพระราชดำริว่า การสร้างวัดใหม่หลายวัดยากต่อการบำรุงรักษา ถ้ารวมเงินสร้างวัดเดียวให้เป็นวัดใหญ่และทำโดยฝีมือประณีตจะดีกว่า จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ทรงออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถและถาวรวัตถุอื่น ๆ และมีพระยาราชสงครามเป็นนายช่างก่อสร้าง

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมายังวัด ก็มีพระบรมราชโองการประกาศพระบรมราชูทิศถวายที่ดินให้เป็นเขตวิสุงคามสีมาของวัด พร้อมทั้งพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดเบญจมบพิตร อันหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5 และเพื่อแสดงลำดับรัชกาลในราชวงศ์จักรี

และ พระองค์ก็ได้ถวายที่ดินซึ่งพระองค์ขนานนามว่า ดุสิตวนาราม ให้เป็นที่วิสุงคามสีมาเพิ่มเติมแก่วัดเบญจมบพิตร ครั้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ ทรงโปรดให้อาราธนาพระภิกษุสงฆ์จำนวน 33 รูป ซึ่งโปรดให้คัดเลือกไว้แล้ว และให้รวมฝึกอบรมอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ มาจำวัดที่วัดเบญจมบพิตรทำให้วัดเป็นวัดที่สมบูรณ์ และในคราวนี้เองได้พระราชทานที่วัดเพิ่มเติม และสร้อยนามต่อท้ายชื่อวัดว่า ‘ดุสิตวนาราม’ เรียกรวมกันว่า ‘วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม’ เช่นในปัจจุบัน

5 ธันวาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ

๏ ความคิดถึงเวียนครบจบอีกปี
ความภักดียังมีมิเลือนหาย
ความจงรักห่วงหาไม่คลาคลาย
ความอาลัยมีถวายให้ทุกวัน

๏ ความโศกาเบาบางใช่ห่างเหิน
ความรู้แจ้งดำเนินใช่เพ้อฝัน
ความจริงปรากฏเห็นเช่นทุกวัน
ความเป็น 'พ่อ' ของท่านมั่นในใจ

ผู้ประพันธ์: พรชัย นวการพิศุทธิ์

5 ธันวาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ

5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และภายหลังการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เรื่อง กำหนดวันสำคัญของชาติไทย มีใจความสำคัญให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญของชาติไทย ดังนี้ 

1. เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

2. เป็นวันชาติ 

3. เป็นวันพ่อแห่งชาติ

โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป 

‘5 ธันวาคม เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร’ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด ประชาชนคนไทยยังคงน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันประเสริฐ และเทิดทูนพระองค์ด้วยความรัก ความศรัทธา โดยตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

‘5 ธันวาคม เป็นวันชาติไทย’ แม้โดยทั่วไปมักจะหมายถึง วันเฉลิมฉลองที่ประเทศนั้น ๆ ได้รับอิสรภาพ เป็นเอกราช หรือเป็นวันสถาปนาประเทศ รัฐ ราชวงศ์ วันพระราชสมภพของกษัตริย์ วันเกิดประมุขของรัฐ หรืออาจจะเป็นวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ แต่มักจะถือเป็นวันหยุดประจำของชาติ ซึ่ง ‘วันชาติ’ ของแต่ละประเทศจะเป็นวันใดขึ้นอยู่กับการกำหนดของประเทศนั้น ๆ โดยความเป็นมาของวันชาติไทยนั้น แต่เดิมกำหนดให้เป็นวันที่ 24 มิถุนายน โดยวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติไทยได้ 21 ปี ต่อมาในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 รัฐบาลในขณะนั้นมีความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศ และเป็นการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติ จึงให้ถือวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็น ‘วันชาติ’ มาจนถึงปัจจุบัน

‘5 ธันวาคม เป็นวันพ่อแห่งชาติ’ วันพ่อแห่งชาติ มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 เนื่องจากพ่อเป็นบุคคลผู้มีพระคุณและมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคม เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ และเพื่อให้ผู้เป็นพ่อสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน ดังนั้นจึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็น ‘วันพ่อแห่งชาติ’

4 ธันวาคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันสิ่งแวดล้อมไทย’ วันที่ ในหลวง ร.9 ดำรัสถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม

วันสิ่งแวดล้อมไทย ตรงกับวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี เพื่อระลึกถึงพระราชดำรัสของของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม 

ประวัติของวันสิ่งแวดล้อมไทย เกิดจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ทรงมีพระราชดํารัสแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีใจความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงปัญหาการจัดการน้ำว่า

“สถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และของโลกที่มีความรุนแรงขึ้น และทรงห่วงใยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนชาวไทยกําลังประสบอยู่ พร้อมทั้งตรัสเตือนพสกนิกรให้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ด้วยความสุขุมรอบคอบ โดยให้ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องปฏิบัติ มิใช่เพียงเพื่อประเทศไทยเท่านั้น หากเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของโลกด้วย”

กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี พ.ศ. 2534 ให้กำหนดวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อช่วยกระตุ้นให้ประชาชนทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันมีความสำคัญต่อชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยต้องร่วมมือกันปกป้อง รักษาให้คงอยู่สมบูรณ์ในประเทศอย่างยั่งยืนตลอดไป

3 ธันวาคม ของทุกปี สหประชาชาติกำหนดให้เป็น ‘วันคนพิการสากล’

3 ธันวาคม ของทุกปี สหประชาชาติกำหนดให้เป็น วันคนพิการสากล เพื่อส่งเสริมความเข้าใจต่อคนพิการและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคนพิการ

องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี เป็น 'วันคนพิการสากล' เพื่อรำลึกถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2525 ที่สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติรับรองแผนปฏิบัติการโลกว่าด้วยเรื่องคนพิการ (World Programme of Action concerning Disabled Persons) พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ เฉลิมฉลองวันคนพิการสากลทุกปี เพื่อขับเคลื่อนปฏิบัติการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการอย่างต่อเนื่องทั่วโลก เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยอยู่บนฐานของสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม และได้มาตรฐานในระดับสากล อนึ่ง ตั้งแต่ปี 2530 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดหัวข้อวันคนพิการในแต่ละปีด้วย เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ ศักดิ์ศรีและความยุติธรรมเพื่อคนทั้งมวล ทุกเรื่องคนพิการต้องมีคนพิการ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการสำรวจทางสถิติขององค์การสหประชาชาติ พบว่า กลุ่มประเทศแถบเอเชียและแปซิฟิกนี้มีจำนวนประชากรที่เป็นบุคคลพิการมากที่สุดในโลก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดมาจากปัญหาของความยากจน นอกเหนือจากนั้นก็เป็นเพราะสาเหตุของความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ อุบัติเหตุและผลของสงคราม 

พร้อมกันนี้ทางคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ก็ได้มีแนวนโยบายที่จะเร่งผลักดันและส่งเสริมคนพิการให้อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละชาติ ตั้งคณะกรรมการประสานงานให้ความร่วมมือช่วยเหลือคนพิการและองค์การต่าง ๆ ที่จะร่วมมือสร้างชีวิตคนพิการให้ดีขึ้น ทั้งในระดับชาติและระดับสากล ตลอดจนเร่งพัฒนาส่งเสริมให้คนพิการทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้รับการฟื้นฟู บำบัดรักษา การศึกษา การฝึกฝีมือและอาชีพ หรือแม้กระทั่งมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ทั้งทางการกีฬา วัฒนธรรมประเพณีและสิ่งแวดล้อม

นอกจากงานในด้านสังคมแล้ว ในด้านอาชีพก็เช่นกัน จึงได้สนับสนุนคนพิการในด้านต่าง ๆ เช่น งานหัตถกรรม เป็นต้น ขายลอตเตอรี่ พนักงานรับโทรศัพท์ งานช่างต่าง ๆ เช่น ช่างไม้ ช่างกระจก เป็นต้น ทำให้คนพิการได้มีโอกาสประกอบอาชีพต่าง ๆ ได้มากขึ้น

ส่วนงานที่เกี่ยวกับการศึกษานั้น นานาชาติก็มิได้ละเลย โดยให้โอกาสในการศึกษาของคนพิการด้านต่าง ๆ เช่น การให้ทุนเกี่ยวกับการศึกษาแก่คนพิการ และการผลิตอุปกรณ์ทางการศึกษาแก่คนพิการต่าง ๆ เช่น การผลิตเครื่องเรียงสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์และสแกนเนอร์ของคนตาบอด การผลิตลูกคิดสเลตและสไตลัสสำหรับคนตาบอด ทำให้คนตาบอดศึกษาหาความรู้ได้สะดวกขึ้น นอกจากนั้นแล้วยังมีการจัดแปลหนังสือเรียนของคนปกติมาพิมพ์เป็นหนังสือเรียน เป็นตัวอักษรเบรลล์แก่คนตาบอดอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top