Thursday, 25 April 2024
TODAY SPECIAL

30 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ‘ซัดดัม ฮุสเซน’ อดีตประธานาธิบดีอิรัก ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ

เมื่อ 17 ปีที่แล้ว หรือ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ‘ซัดดัม ฮุสเซน’ อดีตประธานาธิบดีแห่งประเทศอิรัก ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ

ย้อนเวลากลับไป ‘ซัดดัม ฮุสเซน’ เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการก่อรัฐประหารในอิรัก ช่วงปี พ.ศ. 2511 โดยทำให้พรรคบะอัธ ที่เขาเป็นหัวหน้าพรรค ก้าวขึ้นสู่อำนาจในระยะยาว พร้อมกับที่ตัวเองขึ้นสู่ตำแหน่งรองประธานาธิบดี หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2522 เขาก็ก้าวเข้ามาเป็นประธานาธิบดีในที่สุด

‘ซัดดัม ฮุสเซน’ กลายเป็นที่จับตาของผู้คนทั้งโลก ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย (พ.ศ. 2534) จากการที่อิรักบุกยึดครองประเทศคูเวต เป็นเหตุให้เหล่าประเทศพันธมิตร ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ต้องนำกองกำลังทหารเข้าจัดการ สงครามครั้งนั้นกินระยะเวลาราว 5 สัปดาห์ ผลปรากฏว่ากองกำลังของซัดดัมเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่ก็ยังมีผลพวงของสงครามที่ถูกลากยาวต่อมาอีกหลายปี

ไฟแห่งสงครามครั้งนั้น สิ้นสุดลงจริง ๆ เมื่อราวปี พ.ศ. 2538 ก่อนที่ในเวลาต่อมา ซัดดัมจะถูกถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดีจากสหรัฐฯ และฝ่ายพันธมิตร พร้อมกับถูกจับกุมเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2546 เวลาผ่านไปกว่า 3 ปี เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ผู้พิพากษาศาลอิรัก ก็สั่งลงโทษประหารชีวิต ซัดดัม ฮุสเซน จากคดีสังหารหมู่ชาวชีอะห์ 148 ราย โดยเขาถูกประหารชีวิตด้วยการถูกแขวนคอในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2549 หรือวันนี้เมื่อ 17 ปีก่อนนั่นเอง

29 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ‘เปเล่’ แชมป์ฟุตบอลโลก 3 สมัย เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ครบรอบ 1 ปี ‘เปเล่’ อดีตดาวเตะระดับตำนาน แห่งทีมชาติบราซิล เจ้าของแชมป์ฟุตบอลโลก 3 สมัย เสียชีวิตอย่างสงบ หลังต่อสู้กับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

‘เปเล่’ หรือ ‘เอ็ดสัน อารันเตส โด นาสซิเมนโต้’ ถือเป็นนักเตะที่ได้รับการเชิดชู และประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของวงการฟุตบอล จารึกสถิติทำประตูเอาไว้ 1,281 ลูกจากการลงสนาม 1,363 นัด (รวมทุกแมตช์ทั้งทางการ และไม่เป็นทางการ)​ ตลอดอาชีพการค้าแข้ง 21 ปี รวมถึงสถิติการยิง 77 ประตูจาก 92 นัดกับทีมชาติบราซิล ครองดาวซัลโวสูงสุดของทัพแซมบ้าร่วมกับเนย์มาร์

นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของฉายา ‘ไข่มุกดำ’ และเป็นนักเตะคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้ถึง 3 สมัย ในปี 1958, 1962 และ 1970

ก่อนจะเสียชีวิต ‘เปเล่’ ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาแบบประคับประคอง ภายหลังจากถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเจ้าตัวต้องรักษาด้วยการทำเคมีบำบัด แต่ก็ไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีเท่าไหร่นัก

และต่อมาวันที่ 29 ธ.ค. 65 ได้มีการยืนยันข่าวเศร้าอย่างเป็นทางการว่า ‘เปเล่’ ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบหลังต่อสู้กับอาการป่วยมาอย่างยาวนาน ตามการยืนยันของ เคลลี คริสตินา นาสซิเมนโต ลูกสาวของเขา

28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

วันนี้เมื่อ 51 ปีก่อน ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จออกประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นพระราชพิธีประวัติศาสตร์ การสถาปนาสยามมกุฎราชกุมาร ‘พระองค์ที่ 3’ ของไทย

ในปี พ.ศ. 2515 อันเป็นวาระที่ ‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ’ ทรงมีพระชนมายุครบ 20 พรรษานั้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร’ ตามโบราณขัตติยราชประเพณี หลังจากพระราชพิธีนี้ได้ว่างเว้นมาเป็นเวลากว่า 80 ปี 

โดยได้มีการอนุโลมการจัดพระราชพิธีฯ ตามโบราณราชขัตติยราชประเพณี โดยกำหนดเป็น 5 ตอน คือ

วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏและพระราชลัญจกร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง 

วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล การเสกน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง 

วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ พระบรมมหาราชวัง 

วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีสถาปนา เฉลิมพระนามาภิไธย ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต 

วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง 

ทั้งนี้ ทรงมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร’ และทรงเป็น ‘มกุฎราชกุมาร’ พระองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรีและของประเทศไทย 

‘พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร’ เป็นพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของราชอาณาจักร และพระบรมราชจักรีวงศ์ เกี่ยวกับการแต่งตั้งรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 

ราชประเพณีการแต่งตั้งรัชทายาทเพื่อสืบราชสมบัติ ได้ปรากฏเป็นกฎหมายมั่นคงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงตรากฎมณเฑียรบาลขึ้นไว้เมื่อจุลศักราช 720 (พ.ศ. 1901) ลำดับพระอิสริยยศพระราชโอรสว่า ‘พระราชกุมารอันเกิดด้วยพระอัครมเหสีเป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า พระราชกุมารอันเกิดแต่แม่ยั่วเมืองเป็นพระมหาอุปราช’ แต่ก็มิได้กำหนดให้ชัดเจนว่า ตำแหน่งสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าเป็นรัชทายาท 

จนถึงแผ่นดิน สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงตราพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1998 ทรงกำหนดให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ซึ่งได้เฉลิมพระราชมณเฑียรแล้วทรงศักดินาหนึ่งแสน และทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระมหาอุปราช รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์ 

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานตำแหน่ง ‘พระมหาอุปราช’ แก่พระบรมวงศ์ผู้มีความชอบอันยิ่งใหญ่ เรียกว่า ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ ตามแบบอย่างกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่เมื่อตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่างลง ก็มิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระบรมวงศ์พระองค์ใดขึ้นดำรงตำแหน่งนี้เป็นเวลาสืบต่อกันหลายปีก็มี 

จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่ทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชเสด็จทิวงคต เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2428 พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริว่าตำแหน่งนี้ไม่เหมาะสมกับกาลสมัย มีประโยชน์น้อยและทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจสับสน จึงมีพระบรมราชโองการประกาศยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อวันที่ 5 กันยายน ปีเดียวกัน 

และมีพระราชดำริต่อมาว่า พระราชอิสริยยศ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช’ ซึ่งเรียกว่า ‘สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า’ ที่ได้ตั้งขึ้นไว้ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าอู่ทองนั้น เป็นขัตติยราชประเพณีอันมีมาแต่โบราณกาล และสอดคล้องตามแบบอย่างการสืบสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศ ที่มีราชประเพณีแต่งตั้งพระราชโอรสองค์ใหญ่เป็นมกุฎราชกุมารดำรงตำแหน่งรัชทายาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มี พระราชพิธีสถาปนา ‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ’ พระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) เฉลิมพระนามาภิไธยเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร’ ดำรงพระราชอิสริยยศตำแหน่งรัชทายาท เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2429 

เวลาต่อมา ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร’ ทรงเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศสถาปนาพระราชโอรสพระองค์ลำดับถัดมา คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ขึ้นดำรงพระราชอิสริยยศเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร’ เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2437 โดยทรงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี ต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ

27 ธันวาคม ของทุกปี  เป็นวัน ‘จิตอาสา’  ผู้อุทิศให้กับการทำงานอาสาสมัคร

วันที่ 27 ธันวาคมของทุกปีเป็น ‘วันจิตอาสา’ โดยวันจิตอาสาก่อตั้งขึ้นหลังจากวันเกิดเหตุการณ์สึนามิที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 เพื่ออุทิศให้กับการทำงานอาสาสมัครช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

โดยในวันนั้นมีอาสาสมัครจำนวนมากหลั่งไหลลงพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิอย่างเร่งด่วน โดยสิ่งตอบแทนอย่างเดียวของพวกเขาคือการได้เห็นผู้รอดชีวิตให้มากที่สุด ขณะที่หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น เครือข่ายจิตอาสาจึงกำหนดให้วันที่ 27 ธันวาคมของทุกปีเป็นวัน ‘จิตอาสา’ เพื่ออุทิศให้กับการทำงานอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และรณรงค์ให้ผู้คนทำความดีต่อกันโดยไม่หวังผลตอบแทน

สำหรับเหตุการณ์สึนามิประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 07.58 น. ของวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 โดยได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ซึ่งจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ห่างจากจังหวัดภูเก็ต ประมาณ 580 กิโลเมตร ซึ่งมีความรุนแรงขนาด 8.9 ริกเตอร์ ทำให้ส่งผลกระทบเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ รวมถึงอาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร 

เหตุการณ์สึนามิประเทศไทยในครั้งนั้น ได้ถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดระนอง จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,400 คน และบาดเจ็บกว่า 8,000 คน ซึ่งนับว่าเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย

26 ธันวาคม พ.ศ. 2547  ครบรอบ 19 ปี ‘สึนามิ’ ถล่มไทย หายนะครั้งรุนแรงจากภัยธรรมชาติ

26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 หรือ วันนี้เมื่อ 19 ปีที่แล้ว ประเทศไทยต้องเผชิญกับหายนะครั้งรุนแรง จากคลื่นยักษ์ที่เรียกว่า ‘สึนามิ’ ที่คร่าชีวิตผู้คนกว่า 2 แสนราย ใน 14 ประเทศในเอเชีย

เหตุการณ์วิปโยคในครั้งนั้น เริ่มต้นเมื่อเวลา 07.58 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ศูนย์กลางอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ห่างจากจังหวัดภูเก็ต ประมาณ 580 กิโลเมตร ที่ละติจูด 3.4 องศาเหนือ ลองจิจูด 95.7 องศาตะวันออก ขนาดความรุนแรง 8.9 ริกเตอร์ ส่งผลกระทบเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ รวมถึงอาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร

ในเวลา 08.30 น. เกิดแผ่นดินไหวรู้สึกได้อีกครั้ง ศูนย์กลางอยู่บริเวณรัฐฉาน ประเทศพม่า ห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 200 กิโลเมตร ที่ละติจูด 20.76 องศาเหนือ 98.04 องศาตะวันออก มีขนาดประมาณ 6.4 ริกเตอร์ ทำให้เกิดความสั่นสะเทือนในหลายจังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน

แผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางบริเวณเกาะสุมาตรา ที่เกิดขึ้นใต้น้ำ ก่อให้เกิดคลื่นน้ำขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า ‘สึนามิ’ (TSUNAMI) ส่งผลกระทบต่อสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย อาทิ หาดป่าตอง หาดกมลา หาดกะรน รวมถึงหาดในยาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติภูเก็ต รวมถึงประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย อย่างรุนแรง

เหตุการณ์สึนามิถล่มไทย 6 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดระนอง จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,400 คน บาดเจ็บกว่า 8,000 คน และสูญหายอีกจำนวนมาก

บ้านเรือนประชาชน รีสอร์ต และโรงแรม ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ อาทิ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน มูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาท

ขณะที่ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากหายนะในครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 167,000 ราย หรือใกล้เคียง 200,000 ราย และมีหลายชีวิตมากที่ถูกคลื่นกลืนหายไปในทะเล ไม่มีทางพบร่าง นับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดของอินโดนีเซีย รวมถึงไทย ศรีลังกา อินเดีย และอีกหลายชาติ รวม 14 ประเทศ

25 ธันวาคม พ.ศ. 2514 ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ชาวเขาเผ่ามูเซอ บ้านผาหมี จ.เชียงราย

วันนี้เมื่อ 52 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ชาวเขาเผ่ามูเซอ ณ หมู่บ้านผาหมี หมู่ที่ 15 ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย พร้อมพระราชทานเหรียญที่ระลึกสำหรับชาวเขา ที่มีเลขโค้ด 6 หลัก เพื่อใช้แทนเลขบัตรประชาชน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ชาวเขาเผ่ามูเซอ ณ หมู่บ้านผาหมี หมู่ที่ 15 ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย

การเสด็จพระราชดำเนินของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่เพียงเป็นการเสด็จฯ ไปทรงส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชต่าง ๆ ทั้งกาแฟ ลิ้นจี่ แมคคาเดเมีย รวมถึงนำวัวพระราชทานให้เลี้ยง พร้อมหาจุดรับซื้อให้ ทำให้ชาวเขาเหล่านั้นไม่ต้องปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย และมีชีวิตความเป็นอยู่ของดีขึ้นเท่านั้น…แต่ยังเป็นการยืนยันว่า ชาวเขาเผ่ามูเซอทุกคนก็คือคนไทย ไม่ใช่คนเร่ร่อนไร้สัญชาติ 

เนื่องด้วยในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงนำ ‘เหรียญที่ระลึกสำหรับชาวเขา’ ซึ่งตรงกลางคือตัวย่อ ‘ชร’ (หมายถึงจังหวัดเชียงราย) ตามด้วยหมายเลขโค้ด 6 หลัก สำหรับใช้แทนเลขบัตรประชาชน พระราชทานแก่ชาวเขาบ้านผาหมีด้วย 

ทั้งนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานเหรียญที่ระลึกแก่ชาวเขาตามจังหวัดต่าง ๆ ประมาณ 20 จังหวัด ในปี พ.ศ. 2506 รวมทั้งหมดกว่า 200,000 เหรียญ โดยทุกเหรียญจะมีอักษรย่อของจังหวัด พร้อมหมายเลขประจำเหรียญตอกกำกับ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการสำรวจสำมะโนประชากรและการพิสูจน์สัญชาติเพื่อทำบัตรประชาชนให้กับชาวเขา

24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 ประเทศไทย ประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคม

รัฐบาลไทยโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ออกประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคม ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับบรรดานานาอารยประเทศ ดังนั้นปี พ.ศ. 2483 จึงมีเพียง 9 เดือน

ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทย ในสมัยโบราณมาเราถือว่า วันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ อันต้องด้วยในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งถือเหมันตฤดูเป็นการเริ่มต้นปี และในสมัยโบราณนั้น วันขึ้นปีใหม่ ได้นับถือคติของพราหมณ์ คือใช้วันที่ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ และเป็นเช่นนั้นตลอดมา จวบจนกระทั่งปี พ.ศ. 2432 แห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 เมษายน ทั้งนี้ก็เนื่องจากทางราชการได้นิยมใช้หลักทางสุริยคติ แต่ก็ยังคล้องต้องตามคติพราหมณ์อยู่นั่นเอง เพราะเดือน 5 ก็ตรงกับเดือนเมษายนเรื่อยมา

ต่อมาทางราชการได้ประกาศเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ เนื่องจากมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติปฏิทิน พ.ศ.2483 และพระราชบัญญัตินั้นเริ่มใช้ได้เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2483 รัฐบาลจึงประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นในปี พ.ศ.2483 จึงมีเพียง 9 เดือนเท่านั้น คือเดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม เพื่อให้สอดคล้องกับปฏิทินของนานาประเทศ มีหนังสือประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ของ ไทยอย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2483 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และการใช้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ จะทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก 

ทั้งนี้ประเทศไทยจึงถือเอาวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยตั้งแต่ นั้นจวบจนกระทั่งทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าวันที่ 1 มกราคม จะถือปฏิบัติเป็นวันขึ้นปีใหม่อย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงถือว่า วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยด้วยเช่นเดียวกัน

23 ธันวาคม พ.ศ. 2491 ‘โตโจ ฮิเดกิ’ อดีตนายกรัฐมนตรี ญี่ปุ่น ถูกประหารชีวิต ในฐานะอาชญากรสงคราม

โตโจ ฮิเดกิ (Tojo Hideki) คือนักการทหารและนักบริหารที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับ เขาได้รับการแต่งตั้งให้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารราบที่ 1 ในปี 1928 (พ.ศ. 2471) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการปราบกลุ่มกบฏ “ยังเติร์ก” ในปี 1936 (พ.ศ. 2479) ก่อนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชาใหญ่กองทัพญี่ปุ่นในแมนจูเรียในปีต่อมา

ตำแหน่งหน้าที่ของ โตโจ ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วนับแต่นั้นมา ในปี 1938 (พ.ศ. 2481) เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสงคราม และเขาก็ได้เป็นหัวแรงสำคัญที่ผลักดันให้ญี่ปุ่นเข้าเป็นภาคีของกลุ่มอักษะสำเร็จในปี 1940 (พ.ศ. 2483) ปีเดียวกันกับที่เข้าได้ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสงครามเต็มตัว จากนั้นอีกเพียงหนึ่งปี เขาก็ได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก ฟูมิมาโระ โคโนเอะ โดยยังยึดเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงสงครามต่อไป

โตโจ นอกจากจะเป็นข้าราชการที่ได้ชื่อเรื่องการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เขายังเป็นนักการทหารที่มีนโยบายก้าวร้าวที่สุดในบรรดาผู้นำญี่ปุ่น เขาคือผู้นำประเทศเข้าสู่สงครามกับสหรัฐฯ ด้วยการบุกโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ในวันที่ 7 ธันวาคม 1941 (พ.ศ. 2484) ซึ่งเบื้องต้นได้ทำให้ญี่ปุ่นขยายอิทธิพลไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตะวันตก

ในปี 1944 (พ.ศ. 2487) โตโจ ก้าวขึ้นมาดูแลกิจการของกองทัพทั้งหมดโดยตรงในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรในสมรภูมิหมู่เกาะมาเรียนา (Mariana Islands) เขาก็ถูกปลดจากตำแหน่งในวันที่ 16 กรกฎาคม 1944 ก่อนที่เขาและรัฐมนตรีทั้งคณะจะประกาศลาออกในอีกสองวันถัดมา และถูกกันไม่ให้เข้ามามีส่วนในการใช้อำนาจบริหารประเทศอีก

หลังจากที่ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามอย่างเป็นทางการ โตโจพยายามใช้ปืนยิงตัวตายในวันที่ 11 กันยายน 1945 (พ.ศ. 2488) แต่ไม่สำเร็จ เขาได้รับการรักษาและมีชีวิตรอดมาได้

ปีถัดมา โตโจถูกดำเนินคดีในความผิดฐานก่ออาชญากรรมสงคราม โดยศาลทหารระหว่างประเทศภาคพื้นตะวันออกไกล (International Military Tribunal for the Far East) หรือศาลอาชญากรสงคราม กรุงโตเกียว ซึ่งศาลได้ตัดสินว่าเขามีความผิดให้ต้องโทษประหารชีวิต

วันที่ 23 ธันวาคม 1948 (พ.ศ. 2491) ฮิเดกิ โตโจ ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ และแม้ว่าเขาจะถูกตัดสินว่าเป็นอาชญากรสงคราม และมีผู้ประท้วงจำนวนมากที่เห็นว่าเขาคือผู้ที่นำหายนะมาให้ญี่ปุ่น แต่ชื่อของเขาก็ยังได้รับการยกย่องในฐานะนายทหารที่สละชีพเพื่อพระจักรพรรดิ ในศาลเจ้ายาสุกุนิ

22 ธันวาคม พ.ศ. 2431 สยาม เสียดินแดนครั้งที่ 8 หลังเสีย ‘สิบสองจุไท’ ให้ฝรั่งเศส

วันนี้เมื่อ 135 ปีก่อน สยามต้องสูญเสียดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันห้าทั้งหกให้กับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2431 พื้นที่ 87,000 ตร.กม. ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันเป็นดินแดนในประเทศเวียดนามและลาว

‘สิบสองจุไท’ คือดินแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของลาวและติดกับทางตะวันตกเฉียงเหนือของญวน เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของตระกูลชาติพันธุ์ไทน้อย ซึ่งประกอบไปด้วย ชาวไทดำ (หรือลาวโซ่ง หรือผู้ไท), ไทขาว และไทพวน (หรือลาวพวน) มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 12 เมือง มีเจ้าปกครองทุกเมือง จึงเรียกกันว่า ‘สิบสองจุไท’ หรือ ‘สิบสองเจ้าไท’ เมืองเอกของสิบสองจุไทคือ ‘เมืองแถง’ หรือ ‘เมืองแถน’ (ปัจจุบันคือเมืองเดียนเบียนฟู ของประเทศเวียดนาม)

ด้านใต้ของสิบสองจุไทลงมาคือดินแดน ‘หัวพันทั้งห้าทั้งหก’ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของชาวไทแดง ไทขาว ไทดำ ไทพวน แต่เดิมประกอบด้วย 5 หัวเมือง ต่อมาเพิ่มอีกหนึ่งหัวเมือง เป็น 6 หัวเมือง แต่ละหัวเมืองปกครองพื้นที่นาหนึ่งพันผืน จึงเรียกว่า ‘หัวพันทั้งห้าทั้งหก’ เมืองเอกของหัวพันทั้งห้าทั้งหกคือ ‘เมืองซำเหนือ’ ปัจจุบันอยู่ในแขวงหัวพัน ประเทศลาว

ดินแดนทั้งสองแห่งข้างต้นนี้ เคยปกครองตนเองเป็นอิสระ จนกระทั่ง ‘อาณาจักรล้านช้าง’ ปัจจุบันคือประเทศลาว ถือกำเนิดขึ้น แล้วขยายอิทธิพลเข้าครอบครองดินแดนทั้งสอง ต่อมาเมื่อถึงรัชสมัย ‘สมเด็จพระเจ้าตากสิน’ อาณาจักรล้านช้างทั้งหมดก็ได้กลายเป็นประเทศราชของไทย ดังนั้นดินแดนสิบสองจุไท และหัวพันทั้งห้าทั้งหก จึงตกเป็นของไทยไปด้วย

เมื่อถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ราวปี พ.ศ.2408 พวก ‘จีนฮ่อ’ หรือชาวจีนอพยพซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพวก ‘กบฏไท่ผิง’ ที่พ่ายแพ้สงครามต่อราชสำนักชิง ได้พากันหลบหนีจากตอนใต้ของจีนลงมายึดครองพื้นที่รอยต่อระหว่างแดนจีนกับญวน หลังจากนั้นได้บุกยึดลงมาจนถึงดินแดนสิบสองจุไท หัวพันทั้งห้าทั้งหก และ ‘เมืองพวน’ (ปัจจุบันคือแขวงเชียงขวาง ประเทศลาว)

ต่อมาใน สมัยรัชกาลที่ 5 กองกำลังจีนฮ่อที่ตั้งอยู่เมืองพวนได้แบ่งออกเป็น 2 ทัพ เพื่อบุกเข้าตีเมืองเวียงจันทน์และหนองคาย กับบุกเข้าตีเมืองหลวงพระบางหลาย กระทั่งในปี พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งกองทัพใหญ่ไปปราบกบฏฮ่ออีกครั้ง โดยรับสั่งให้ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม’ ทรงนำทัพไปปราบกบฏฮ่อทางเมืองพวน แล้วให้ ‘พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)’ นำทัพไปปราบกบฏฮ่อทางหัวพันทั้งห้าทั้งหก กองทัพไทยสามารถเอาปราบกบฏฮ่อได้อย่างราบคาบในปลายปี พ.ศ. 2430

การปราบกบฏฮ่อครั้งหลังสุดนี้ แม้กองทัพไทยจะได้รับชัยชนะ แต่ก็เกิดข้อพิพาทกับทางฝรั่งเศสขึ้น โดยในเวลานั้นฝรั่งเศสได้ขยายอิทธิพลเข้ายึดครองดินแดนญวนไว้ได้แล้ว และฝรั่งเศสยังอ้างว่าดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันทั้งห้าทั้งหกเป็นเมืองขึ้นของญวน ดังนั้นจึงต้องตกเป็นสิทธิของฝรั่งเศสด้วย เมื่อกองทัพไทยรุกไล่กบฏฮ่อจนเข้ามาถึงดินแดนสิบสองจุไท ทางฝรั่งเศสจึงกล่าวหาว่า กองทัพไทยบุกรุกดินแดนของฝรั่งเศสโดยพลการ ทำให้ฝรั่งเศสต้องส่งกองทัพจากแดนญวนเข้ามาขับไล่กบฏฮ่อด้วย แล้วตั้งประจันหน้ากับกองทัพไทยอยู่ที่เมืองแถง

พระยาสุรศักดิ์มนตรีเปิดการเจรจากับ ‘โอกุสต์ ปาวี’ (Auguste Pavie) รองกงสุลฝรั่งเศสประจำหลวงพระบาง แม้ต่างฝ่ายต่างยืนยันสิทธิเหนือดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันทั้งห้าทั้งหก และต้องการให้อีกฝ่ายถอนกำลังทหารออกไป แต่ฝรั่งเศสมีกองทัพที่แข็งแกร่งกว่าไทย และดินแดนพิพาทยังอยู่ใกล้กับญวนมากกว่าไทย หากเกิดสงครามขึ้นจริงก็ยากที่ไทยจะเป็นฝ่ายชนะ

ในที่สุดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2431 ตัวแทนฝ่ายไทยกับฝรั่งเศสจึงได้ทำสัญญาร่วมกันที่เมืองแถง โดยมีเงื่อนไขว่า ในระหว่างที่ยังหาข้อยุติไม่ได้นั้น ทหารฝรั่งเศสจะตั้งอยู่ที่สิบสองจุไท และทหารไทยจะตั้งอยู่ที่หัวพันทั้งห้าทั้งหก ต่างฝ่ายต่างจะไม่ล่วงล้ำเขตแดนกัน

นับแต่นั้นไทยก็เสียสิทธิเหนือดินแดนสิบสองจุไทไปให้กับฝรั่งเศส และสูญเสียดินแดนสิบสองจุไทกับหัวพันทั้งห้าทั้งหกไปอย่างสมบูรณ์เมื่อเกิด ‘วิกฤติการณ์ ร.ศ.112’ หรืออีก 5 ปีต่อมา

21 ธันวาคม พ.ศ. 2525 พิธีสมโภช พระศรีศากยทศพลญาณ พระประธานพุทธมณฑล

วันนี้ เมื่อ 41 ปีก่อน พิธีสมโภช ‘พระศรีศากยทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์’ พระประธานพุทธมณฑล ซึ่งคนทั่วไปนิยมเรียกกันว่า ‘พระใหญ่’ หล่อด้วยโลหะสำริด ประดิษฐานเป็นพระประธานพุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 

พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑลที่พุทธมณฑลแห่งนี้ ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า ‘พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์’ ซึ่งสร้างขึ้นบริเวณใจกลางพุทธมณฑล ในโอกาสเฉลิมฉลองที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาครบ 25 พุทธศตวรรษ โดยมีต้นแบบจากอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งออกแบบไว้ที่ความสูง 2.14 เมตร แต่ภายหลังมีความต้องการให้มีความหมายเป็นที่ประจักษ์ จึงออกแบบให้มีความสูงที่ 15.875 เมตร น้ำหนัก 17,543 กิโลกรัม

ตัวองค์พระมีโลหะสำริดเป็นส่วนประกอบสำคัญ 137 ชิ้น เริ่มสร้างขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2525 ในการจัดสร้างได้แบ่งตัวองค์พระพุทธรูปออกเป็น 6 ส่วนคือ ส่วนพระเศียร (ศีรษะ) ส่วนพระอุระ (อก) ส่วนพระพาหา (แขน) ข้างซ้าย พระนาภี (ท้องถึงสะดือ) ส่วนพระพาหา (แขน) ข้างขวา พระเพลา (ขา) ส่วนพระบาท (เท้า) และส่วนฐานบัวรองพระบาท

เดิมที ในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2498 นั้น ได้มีแนวคิดในการจัดสร้างปูชนียสถานขึ้นเพื่อเป็นพุทธานุสรณียสถาน เนื่องในวโรกาสมหามงคลที่พระพุทธศาสนาเวียนมาบรรจบครบรอบ 2,500 ปี รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณที่จะก่อสร้างองค์พระพุทธรูปในปัจจุบันนี้

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จทรงเททองพระเกตุมาลา และได้ประกอบพิธีเชื่อมประกอบพระเศียรกับองค์พระพุทธรูป และเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประกอบพิธีสมโภชพระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ และทรงเปิดพุทธมณฑลให้ประชาชนได้เข้านมัสการพระพุทธรูปและใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการสร้างตั้งแต่นั้นเป็นมา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top