Friday, 26 April 2024
TODAY SPECIAL

20 มกราคม พ.ศ. 2539 ’สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ‘ เป็นองค์ประธานในพิธี ปล่อย ‘เรือหลวงจักรีนฤเบศร’ ลงน้ำ ณ อู่เรือบาซาน สเปน

เรือหลวงจักรีนฤเบศร ได้เริ่มสร้างในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2536 และมีการวางกระดูกงูในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2539 โดย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีปล่อยเรือหลวงจักรีนฤเบศรลงน้ำ ณ อู่เรือบาซาน ประเทศสเปน ก่อนจะขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2540

โดย เรือหลวงจักรีนฤเบศร เป็นเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ลำแรกและลำเดียวในขณะนี้ของราชนาวีไทย ใช้ปฏิบัติภารกิจด้านยุทธการและช่วยเหลือภัยพิบัติตลอดน่านน้ำไทย ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 11,485.5 ตัน ยาว 182.50 ม. กว้างสุด 30.50 ม. กินน้ำลึก 6.25 ม. ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 2 เครื่อง กำลัง 11,780 แรงม้า และเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ จำนวน 2 เครื่อง กำลัง 44,250 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 26 นอต ทหารประจำเรือ 601 คน ทหารประจำหน่วยบิน 758 คน สามารถบรรทุกเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่ง (SEA HARRIER) ได้ 9 เครื่อง และเฮลิคอปเตอร์ (SEA HAWK) อีก 6 เครื่อง ใช้งบประมาณในการสร้าง 7 พันล้านบาท 

19 มกราคม พ.ศ. 2545 ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์  ณ อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2545 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ออกแบบอาคารโดย เฮลมุต ยาห์น (Helmut Jahn) สถาปนิกชาวอเมริกัน-เยอรมัน

โดยโครงสร้างหลักของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประกอบด้วยเหล็กและแก้ว ซึ่งยาห์นบอกว่านี่เป็น ‘สถาปัตยกรรมแห่งศตวรรษที่ 21’ โดยสนามบินแห่งนี้ได้เริ่มเปิดทดลองใช้ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 และเปิดบริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งโครงการประมาณ 155,000 ล้านบาท

18 มกราคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันกองทัพไทย’ รำลึกพระนเรศวรทำยุทธหัตถีมีชัยต่อทัพพม่า

วันกองทัพไทย เป็นวันที่ระลึกในวาระที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีและมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชาของพม่า โดยถือเอาวันที่ 18 มกราคม ของทุกปีเป็นวันกองทัพไทยตามการคำนวณจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่ระบุว่า พระองค์กระทำยุทธหัตถี ในวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จ.ศ. 954 คำนวณได้ ตรงกับวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ 18 แห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยา เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลก ปีเถาะ พ.ศ. 2098 ทรงมีสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์สุโขทัยองค์แรกที่ครองกรุงศรีอยุธยาเป็นพระบิดา และมีพระวิสุทธิกษัตรี เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิอีกด้วย

ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่า องค์พระนเรศวรได้ถูกนำเป็นองค์ประกัน ณ เมืองหงสา และได้ร่ำเรียนวิชาความรู้ ความสามารถต่างๆ เพื่อรอวันที่จะได้กลับมากู้ชาติกู้แผ่นดินอีกครั้ง แต่ด้วยความกตัญญูของสมเด็จพระนเรศวร ที่มีต่อพระเจ้าบุเรงนอง ที่ชุบเลี้ยงดูแลจนเติบใหญ่ จึงไม่ทำการขัดขืนใดๆ เมื่อพระเจ้าบุเรงนองยังมีชีวิตอยู่ แต่ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบุเรงนอง สมเด็จพระนเรศวรได้กลับมาปกครองยังพระนครกรุงศรีอยุธยา และด้วยวิชาความรู้และความสามารถของพระองค์ ได้ทำการรบข้าศึกต่างๆ และชนะเรื่อยมา จนเป็นที่เกรงกลัวของข้าศึกเป็นอย่างมาก จนกระทั่งวันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรได้ทำการยุทธหัตถีกับสมเด็จพระมหาอุปราชาของพม่าและเอาชนะได้ในที่สุด โดยการยุทธหัตถีนั้น หมายถึงการต่อสู้ด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นการต่อสู้ของกษัตริย์เพราะต่อสู้ตัวต่อตัว ตัดสินแพ้ชนะกันที่ความคล่องแคล่ว แกร่งกล้า และผู้ใดที่ทำการยุทธหัตถีชนะ จะได้รับการยกย่องพระเกียรติยศสูงสุดอีกด้วย

และอีกเหตุการณ์หนึ่งของพระนเรศวรมหาราชคือการยิงปืนข้ามแม่น้ำสโตงถูกสุรกรรมาจนตาย ต่อมาเมื่อมีพระชนมายุ 35 พรรษา พระมหาธรรมราชา พระบิดาสวรรคต พระองค์จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และได้ทรงสถาปนาพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราชา แต่ให้มีพระเกียรติสูงเสมอพระเจ้าแผ่นดินอีกองค์หนึ่ง ครั้นพระชนมายุ 37 พรรษา ก็ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา พระชนมายุ 40 พรรษา เสด็จยกทัพไปตีเมืองเขมรและแม้แต่ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ พระองค์ก็ยังอยู่ในระหว่างการยกทัพไปตีเมืองอังวะ แต่เกิดประชวรเป็นหัวระลอก (ฝี) ที่พระพักตร์และเป็นพิษจนเสด็จสวรรคตเสียก่อนในปี พ.ศ. 2148 รวมสิริพระชนมายุได้ 50 พรรษา ทรงครองราชย์เป็นระยะเวลา 15 ปี

17 มกราคม พ.ศ. 2376 ‘รัชกาลที่ 4’ ทรงค้นพบ ‘ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง’ ยกย่องให้เป็น ‘มรดกแห่งความทรงจำของโลก’

จารึกพ่อขุนรามคำแหง หรือ จารึกหลักที่ 1 เป็นศิลาจารึกที่บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สมัยกรุงสุโขทัย ซึ่ง ศิลาจารึกนี้ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นผู้ทรงค้นพบขณะผนวชอยู่ เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2376 ณ เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย มีลักษณะเป็นหลักสี่เหลี่ยมด้านเท่า ทรงกระโจม สูง 111 เซนติเมตร หนา 35 เซนติเมตร เป็นหินทรายแป้งเนื้อละเอียด มีจารึกทั้งสี่ด้าน ปัจจุบันเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร

เนื้อหาของจารึกแบ่งได้เป็นสามตอน ตอนที่ 1 บรรทัดที่ 1 ถึง 18 เป็นการเล่าพระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราชตั้งแต่ประสูติจนเสวยราชย์ ใช้คำว่า 'กู' เป็นหลัก ตอนที่ 2 ไม่ใช้คำว่า 'กู' แต่ใช้ว่า 'พ่อขุนรามคำแหง' เล่าถึงเหตุการณ์และธรรมเนียมในกรุงสุโขทัย และตอนที่ 3 ตั้งแต่ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 12 ถึงบรรทัดสุดท้าย มีตัวหนังสือต่างจากตอนที่ 1 และ 2 จึงน่าจะจารึกขึ้นภายหลัง เป็นการสรรเสริญและยอพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหง และกล่าวถึงอาณาเขตราชอาณาจักรสุโขทัย

ทั้งนี้จารึกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น 'มรดกความทรงจำแห่งโลก' เมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยยูเนสโกบรรยายว่า "[จารึกนี้] นับเป็นมรดกเอกสารชิ้นหลักซึ่งมีความสำคัญระดับโลก เพราะให้ข้อมูลอันทรงค่าว่าด้วยแก่นหลักหลายประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโลก ไม่เพียงแต่บันทึกการประดิษฐ์อักษรไทยซึ่งเป็นรากฐานแห่งอักษรที่ผู้คนหกสิบล้านคนใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน การพรรณนาสุโขทัยรัฐไทยสมัยศตวรรษที่ 13 ไว้โดยละเอียดและหาได้ยากนั้นยังสะท้อนถึงคุณค่าสากลที่รัฐทั้งหลายในโลกทุกวันนี้ร่วมยึดถือ”

อย่างไรก็ตาม จารึกหลักที่ 1 นี้เอง ก็มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อถือได้ของบางส่วนหรือทั้งหมดของศิลาจารึกดังกล่าว โดย ‘พิริยะ ไกรฤกษ์’ นักวิชาการที่สถาบันไทยคดีศึกษา ออกความเห็นว่า การใช้สระในศิลาจารึกนี้แนะว่าผู้สร้างได้รับอิทธิพลมาจากระบบพยัญชนะยุโรป เขาสรุปว่าศิลาจารึกนี้ถูกบางคนแต่งขึ้นในรัชกาลที่ 4 หรือไม่นานก่อนหน้านั้น 

ซึ่งนักวิชาการเห็นต่างกันในประเด็นว่าด้วยความน่าเชื่อถือของศิลาจารึกนี้ ผู้ประพันธ์บางคนอ้างว่ารอยจารึกนั้นเป็นการแต่งขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั้งหมด บ้างอ้างว่า 17 บรรทัดแรกนั้นเป็นจริง บ้างอ้างว่ารอยจารึกนั้นพระยาลือไทยทรงแต่งขึ้น นักวิชาการไทยส่วนใหญ่ยังยึดถือความน่าเชื่อถือของศิลาจารึกนี้รอยจารึกดังกล่าวและภาพลักษณ์ของสังคมสุโขทัยในจินตนาการยังเป็นหัวใจของชาตินิยมไทย และ ‘ไมเคิล ไรท์’ นักวิชาการชาวอังกฤษ เสนอแนะว่าศิลาจารึกดังกล่าวอาจถูกปลอมขึ้น ทำให้เขาถูกขู่ด้วยการเนรเทศภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย

ทางด้าน ‘จิราภรณ์ อรัณยะนาค’ เขียนบทความแสดงทัศนะว่า ศิลาจารึกหลักที่ 1 ได้ผ่านกระบวนการสึกกร่อนผุสลายมาเป็นเวลานานหลายร้อยปี ใกล้เคียงกับศิลาจารึกหลักที่ 3 หลักที่ 45 และหลักที่กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร ไม่ได้ทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4

16 มกราคม พ.ศ. 2447 ‘กระทรวงเกษตราธิการ’ ได้ก่อตั้ง ‘โรงเรียนช่างไหม’ จุดกำเนิด 'มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์' ในยุคปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรทางด้านการเกษตร ก่อตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ แรกเริ่มเป็น ‘โรงเรียนช่างไหม’ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2447 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม องค์อธิบดีกรมช่างไหม ในกระทรวงเกษตราธิการ ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนช่างไหมขึ้น ณ ท้องที่ตำบล ทุ่งศาลาแดง กรุงเทพมหานคร ในบริเวณเดียวกันกับสวนหม่อนและสถานีทดลองเลี้ยงไหม 

โดยจัดการศึกษาหลักสูตร 2 ปี สอนเกี่ยวกับวิชาการ เลี้ยงไหมโดยเฉพาะ ต่อมาใน พ.ศ. 2449 ได้ขยายหลักสูตรเป็น 3 ปี โดยเพิ่มวิชาการเพาะปลูกพืชอื่นๆ เข้าในหลักสูตรตลอดจนได้เริ่มสอนวิชาสัตวแพทย์ด้วยและได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียน เป็นโรงเรียนวิชาการเพาะปลูกต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนการเพาะปลูก 

โดยในปี พ.ศ. 2451 กระทรวงเกษตราธิการ ได้รวมโรงเรียนที่อยู่ในสังกัด 3 โรงเรียนคือ โรงเรียนแผนที่ โรงเรียนกรมคลอง และโรงเรียนวิชาการเพาะปลูก เป็นโรงเรียนเดียวกัน เพื่อผลิตคนเข้ารับราชการในกรมกองต่างๆ ของกระทรวงเกษตราธิการ โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่าโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการ และย้ายสถานที่ตั้งมารวมกัน ณ พระราชวังสระปทุม พร้อมกับได้ให้เรียบเรียงหลักสูตรใหม่ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักสูตรระดับอุดมศึกษาวิชาการเกษตรศาสตร์ หลักสูตรแรกของประเทศไทย

โดยได้เริ่มดำเนินการสอนหลักสูตรใหม่นี้ในปี พ.ศ. 2452 และในปี พ.ศ. 2456 รัฐบาลได้ยกโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการไปรวมเข้ากับโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ด้วยเหตุที่วัตถุประสงค์ของโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการตรงกับพระราชดำริในการจัดตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนซึ่งได้ทรงจัดตั้งขึ้นในกระทรวงธรรมการ งานศึกษาวิชาเกษตรศาสตร์จึงมาสังกัดกระทรวงธรรมการ

ต่อมาได้รับการก่อตั้งอีกครั้งในปี พ.ศ. 2460 ในนามโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม และได้รับการยกฐานะเป็น วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถัดจากนั้นมา รัฐบาลได้ปรับปรุงและรวมกิจการของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เกษตรกลาง บางเขน กับโรงเรียนวนศาสตร์ จังหวัดแพร่ และสถาปนาเป็น ‘มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์’ ในปี พ.ศ. 2486 

ซึ่งในระยะแรกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดสอนเฉพาะด้านการเกษตรเท่านั้น แต่ต่อมาได้ขยายสาขาวิชาครอบคลุมทั้งเกษตรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ วิศวกรรมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ บริหารธุรกิจ และงานบริการ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

วันเกิด ‘วิกิพีเดีย’ สารานุกรมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทุกคนสามารถ ‘เขียน-แก้ไข-เพิ่มเติม’ ข้อมูลได้อย่างอิสระ

เมื่อ 23 ปีก่อนหรือเมื่อ 15 มกราคม พ.ศ. 2544 เป็นวันเกิด ‘วิกิพีเดีย’ เว็บสารานุกรมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ทุกคนเป็นเจ้าของและสามารถเขียน แก้ไข และเพิ่มเติมข้อมูลได้อย่างอิสระ

หากคิดจะค้นหาข้อมูลในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เชื่อว่าเว็บ ‘วิกิพีเดีย’ (Wikipedia) คงเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่หลายคนคลิกเข้าไปอ่านข้อมูล นอกจากจะเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่ขึ้นมาให้เห็นแล้ว เว็บวิกิพีเดียยังเป็นเว็บสารานุกรมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีข้อมูลนื้อหามากกว่า 62 ล้านบทความ อีกทั้งยังครอบคลุมภาษาที่หลากหลาย

สำหรับ ‘วิกิพีเดีย’ นั้น ก่อตั้งโดย จิมมี่ เวลส์ (Jimmy Wales) และ แลร์รี แซงเจอร์ (Larry Sanger) โดยก่อนหน้าที่จะมีวิกิพีเดีย พวกเขาได้ก่อตั้ง ‘นูพีเดีย’ (Nupedia) มาก่อน ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2544 แต่ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากเป็นระบบที่มีการตรวจทานข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน ผู้ที่จะร่วมแก้ไขได้ต้องมี ‘คุณวุฒิสูง’ จึงส่งผลให้แทบไม่มีการเขียนบทความลงในนูพีเดีย

เมื่อเป็นเช่นนั้น จิมมี่ เวลส์ จึงปรึกษากับ แลร์รี แซงเจอร์ และได้ข้อสรุปว่า ควรสร้างเว็บแยกออกมาจาก ‘นูพีเดีย’ แบบที่สาธารณชนมีส่วนร่วมแก้ไขเนื้อหาหรือเขียนบทความได้ และในที่สุด ‘วิกิพีเดีย’ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยมีโดเมนคือ wikipedia.com เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2544 และต่อมาได้เปลี่ยนเป็น wikipedia.org โดยได้รับการดูแลและการสนับสนุนจากมูลนิธิวิกิมีเดีย องค์กรไม่แสวงผลกำไร

อย่างไรก็ตาม ถือเป็นที่รู้ ๆ กันของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์ว่า การจะเชื่อหรืออ้างอิงข้อมูลจาก ‘วิกิพีเดีย’ จะต้องใช้อย่าง ‘ระมัดระวัง’ เนื่องจากเป็นเว็บที่ ‘ใครๆ’ ก็เข้ามาปรับแต่ง ลบ แก้ไขข้อมูลได้อย่างอิสระ ทำให้ข้อมูลในบางเรื่องถูก ‘บิดเบือน’ หรือ ‘ปรับเปลี่ยน’ อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นควรจะมีแหล่งอ้างอิงข้อมูลมากกว่า 1 แห่ง และตรวจสอบข้อมูลอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน

14 มกราคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันทรัพยากรป่าไม้แห่งชาติ’  สร้างความตระหนักรู้-อนุรักษ์ป่าไม้ในประเทศไทย

14 มกราคม ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันทรัพยากรป่าไม้แห่งชาติ’ มุ่งสร้างความตระหนักรู้ และให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทย

‘ป่าไม้’ เป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติที่ให้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ประชาชน ช่วยรักษาความสมดุลย์ของภาวะแวดล้อมและป้องกันภัยธรรมชาติซึ่งนำความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สาเหตุที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติส่วนหนึ่งมาจากการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าจนทำให้เกิดความเสียหายต่อสภาพป่าไม้ของชาติ ทำให้เกิดความไม่สมดุลย์ทางภาวะแวดล้อมขึ้นจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

เมื่อ 14 มกราคม พ.ศ. 2532 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 พระราชกำหนดดังกล่าวได้ให้อำนาจรัฐมนตรีฯ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการให้สัมปทานป่าไม้สิ้นสุดลงทั้งแปลงได้อันเนื่องมาจากอุทกภัยภาคใต้ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2531 โดยเฉพาะที่ตำบลกระทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยพิจารณาแล้วเห็นว่าภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า จำเป็นต้องทำการรณรงค์ต่อเนื่องและระยะยาวให้ประชาชนได้เข้าใจและให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้โดยสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดไม้ทำลายป่าจึงขออนุมัติให้กำหนดวันที่ 14 มกราคมของทุกปีเป็น ‘วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ’

‘กรมป่าไม้’ จัดงานวันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติเพื่อประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของวันดังกล่าวมีกิจกรรมที่สำคัญ เช่น จัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ การบรรยายความรู้ในสถานศึกษา ประกวดวาดภาพป่าไม้ แจกเอกสารเผยแพร่ แจกกล้าไม้แก่ประชาชน จัดประชุมชี้แจงแก่ประชาชน เชิญชวนให้ประชาชนงดเว้นการตัดไม้ทำลายป่า พร้อมทั้งร่วมกันปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ในทุกท้องที่ภาคเอกชน ประชาชนควรให้การสนับสนุนและเข้าร่วมกิจกรรมกับทางราชการเท่าที่สามารถจะทำได้ ควรถือเอาวันที่ 14 มกราคมเป็นวัดลดละเลิกการบุกรุกแผ้วถางป่าและตัดไม้ทำลายป่า ร่วมมือร่วมใจกันปลูกต้นไม้ทดแทนที่ถูกตัดทำลายไปให้มากที่สุด

13 มกราคม พ.ศ. 2563 ‘สธ.’ แถลงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกในไทย เป็น ‘นักท่องเที่ยวชาวจีน’ เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น

วันนี้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขออกมาแถลงยืนยันว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกของประเทศ เป็นเพศหญิง วัย 61 ปี จากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน 

ย้อนกลับไปปลายเดือนธันวาคม 2562 มีรายงานว่า ประเทศจีนพบกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ โดยยังไม่สามารถระบุเชื้อที่เป็นสาเหตุ จำนวน 27 คน และเพิ่มเป็น 44 คน ในวันที่ 3 มกราคม 2563 และกลุ่มผู้ป่วยทั้งหมดนี้มีความเชื่อมโยงกับตลาดค้าส่งอาหารทะเลในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน และในวันเดียวกันนั้น ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงเริ่มมาตรการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

ต่อมา วันที่ 8 มกราคม 2563 ไทยตรวจพบนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีน มีไข้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อตรวจร่างกายแรกรับผู้ป่วยวัดอุณหภูมิได้ 38.6 องศาเซลเซียส และมีอาการไอแห้งเล็กน้อย ไม่มีน้ำมูก เมื่อสอบประวัติก็พบว่า เคยไปตลาดค้าส่งอาหารทะเลในอู่ฮั่น จนในที่สุด 13 มกราคม 2563 กระทรวงสาธารณสุข ออกมาแถลงยืนยันว่า พบเชื้อโควิด-19 เป็นรายแรกในไทย หลังจีนเปิดเผยข้อมูลเชื้อโรคดังกล่าวเพียง 1 วัน โดยระบุว่า เชื้อโรคดังกล่าวเป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เรียกว่า SARS-CoV-2 หรือที่องค์การอนามัยโลกประกาศชื่อภายหลังว่า COVID-19

แม้ รมว.สาธารณสุข จะแสดงความเชื่อมั่นในการหาวัคซีน หรือเพิ่มมาตรการป้องกัน แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ วิถีชีวิตของคนไทยทั้งประเทศตลอดหลายปีที่ผ่านมา

แต่ด้วยเวลาที่ผ่านไปประชาชนเริ่มมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ป้องกันตัวเอง มีวินัยอยู่สม่ำเสมอ บวกกับมีการพัฒนาวัคซีน มีมาตรการป้องกันที่เข้มงวด ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง และทำให้ประชาชนคนไทยได้กลับมาลืมตาอ้าปาก ออกไปใช้ชีวิต ทำมาหากิน ได้อย่างสบายใจมากขึ้นอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์จะผ่อนคลายลงกว่าเดิมแล้ว แต่เราทุกคนยังคงต้องป้องกันตนเอง ไม่ประมาท ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังเช่นเดิมจะเป็นผลดีกับตัวเราเองที่สุด

12 มกราคม 2566 เปิดฉากดีลยักษ์ 'เอสโซ่ - บางจาก' ปิดฉากตำนาน 'ปั๊มเสือ' 129 ปีในไทย

นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนแรงในวงการพลังงาน หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2566 บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2566 ได้มีมติเอกฉันท์อนุมัติการเข้าทำธุรกรรมและเห็นชอบให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติการเข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จาก ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. 

โดยบางจากฯ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับ ExxonMobil เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2566 และคาดว่าจะสามารถดำเนินการซื้อขายและชำระเงินค่าหุ้นแก่ผู้ขายได้ภายในครึ่งหลังของปี 2566 โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนที่กำหนด และเตรียมพร้อมทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมด (tender offer) ของเอสโซ่ หลังจากการทำธุรกรรมกับ ExxonMobil เสร็จสิ้น

ซึ่งการเข้าซื้อกิจการ ESSO ประเทศไทย โดยมีสัดส่วน 65.99% โดยคิดเป็นมูลค่าเบื้องต้นราว 20,000 ล้านบาท โดยราคากิจการที่ซื้อจะเป็นราคาที่ตั้งต้นด้วย 55,000 ล้านบาท ก่อนปรับปรุงรายการทางการเงินต่าง ๆ อีกราว 25,000 ล้านบาท ทำให้เหลือเป็นราคากิจการเบื้องต้นราว 30,000 ล้านบาท และการลงทุนครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญสู่ความมั่นคงทางพลังงานที่มากขึ้นของบางจากฯ และประเทศไทย เป็นการลงทุนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่เพิ่มความยั่งยืนและเพิ่มการเข้าถึงพลังงานได้ง่ายขึ้น

สำหรับการลงทุนครั้งนี้มีสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องคือโรงกลั่นน้ำมันกำลังการกลั่น 174,000 บาร์เรลต่อวัน เครือข่ายคลังน้ำมัน และสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศกว่า 700 แห่ง ก่อให้เกิดการประหยัดเชิงขนาดและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุนของบริษัท โดยจะทำให้บางจากฯ มีกำลังการกลั่นน้ำมันรวม 294,000 บาร์เรลต่อวัน 

และเครือข่ายสถานีบริการกว่า 2,100 แห่ง ซึ่งการเข้าทำธุรกรรมดังกล่าว เป็นการเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 65.99% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ เอสโซ่ จาก ExxonMobil โดยมีมูลค่ากิจการ 55,500 ล้านบาท และมีกลไกการปรับราคาซื้อขายหุ้นตามที่ระบุในสัญญาซื้อขายหุ้น

ดังนั้นเมื่อ บางจาก ได้รวมกับ เอสโซ่ แล้ว จะทำให้ บางจาก มีความยิ่งใหญ่เพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว โดยหากมองจากจำนวนสาขาบริการน้ำมันหากรวมกันจะอยู่ที่กว่า 2,100 สาขา ทั้งนี้หากนำไปเทียบกับสถานีบริการน้ำมันของผู้ประกอบการราย อาทิ เช่น โออาร์ (OR) มีสถานบริการน้ำมันอยู่ที่ 2,473 สาขา และ พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) มีสถานีบริการน้ำมัน 2,212 สาขา 

อย่างไรก็ตาม ถือเป็นการปิดตำนาน ‘ปั๊มพี่เสือ’ อย่างเป็นทางการ หลังเปิดให้บริการมาทั้งสิ้น 129 ปีในประเทศไทย และหลงเหลือไว้แต่เพียงความทรงจำให้นึกถึง...

11 มกราคม พ.ศ. 2465  ‘Leonard Thompson’ มนุษย์คนแรก  ได้รับการฉีด ‘อินซูลิน’ รักษาโรคเบาหวาน

วันนี้เมื่อ 102 ปีก่อน Leonard Thompson เป็นมนุษย์คนแรกของโลก ที่ได้รับการฉีด ‘อินซูลิน’ รักษาโรคเบาหวาน

ในปี ค.ศ. 1889 นักวิทยาศาสตร์ 2 คน คือ Joseph von Mering และ Oskar Minkowski พบสาเหตุของโรคเบาหวานโดยบังเอิญ จากการทดลองตัดตับอ่อนของสุนัขออกไปเพื่อดูว่าสุนัขจะเป็นอย่างไรบ้างเมื่อไม่มีอวัยวะนี้

ปรากฏว่าระดับน้ำตาลในเลือดของสุนัขสูงขึ้น และสุนัขมีอาการของโรคเบาหวาน คือ ปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำมาก และน้ำหนักลด นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองยังพบอีกว่า ตับอ่อนทำงานผลิตสารอีกชนิดที่ไม่ได้หลั่งออกไปตามท่อสู่ลำไส้ แต่หลั่งออกไปสู่ร่างกายตามกระแสเลือด การค้นพบนี้ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ในเรื่องของฮอร์โมนขึ้น

หลังจากนั้น Frederick Banting ศัลยแพทย์ชาวแคนาดาผู้สนใจเรื่องเบาหวาน เขาอ่านพบงานวิจัยของ Joseph von Mering และ Oskar Minkowski ซึ่งพบว่าตับอ่อนเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน Frederick Banting ตั้งสมมติฐานว่า หากผูกท่อน้ำย่อยของตับอ่อนไม่ให้หลั่งออกมา น้ำย่อยจะไหลกลับไปที่ตับอ่อนทำให้ตับอ่อนอักเสบและเซลล์ที่สร้างน้ำย่อยสลายไป ก็จะเหลือแต่เซลล์ที่สร้างสารที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และจะทำให้การสกัดเอาสารนี้ออกมาได้ผลดีขึ้น และเริ่มทำการทดลองกับสุนัขตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ ด้วยการขออนุญาต ศาสตราจารย์ John Macleod เพื่อใช้ห้องทดลองเล็กของมหาวิทยาลัยโตรอนโต โดยมี Charles Best-นักศึกษาแพทย์ เป็นผู้ช่วย และ James Collip-นักชีวเคมี เป็นที่ปรึกษา

หลังการทดลอง 3 เดือนเต็ม ก็ประสบความสำเร็จ สามารถสกัดสารออกมาจากตับอ่อนของสุนัข ซึ่งเมื่อฉีดเข้าไปในเลือดของสุนัขที่เป็นเบาหวาน สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดลงได้ เขาเรียกสารที่สกัดออกมานี้ว่า Isletin ซึ่งต่อมาได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น อินซูลิน (Insulin) การค้นพบนี้ช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานต้องเสียชีวิตด้วยภาวะกรดในเลือด (Diabetic Ketoacidosis-DKA) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของผู้เป็นเบาหวานเวลานั้น

โดย Leonard Thompson อายุ 21 ปี คือคนไข้คนแรกที่ได้รับการฉีดอินซูลินเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2465 (ค.ศ. 1922) หลังได้รับอินซูลิน Leonard Thompson มีชีวิตอยู่ได้อีก 13 ปี

และจากผลการค้นพบอินซูลินซึ่งสามารถช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์จำนวนมหาศาล ทำให้ Frederick Banting, John Macleod, Charles Best, และ James Collip จึงได้รับรางวัลโนเบล ใน ค.ศ. 1923 อีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top