Saturday, 20 April 2024
NEWS FEED

รัฐบาลประกาศเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน เม.ย.นี้ ต่างชาติมาไทยเก็บ 300 บาท

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนเม.ย.นี้ รัฐบาลได้รับทราบการวางแผนเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยคนละ 300 บาท หรือเรียกกันว่าค่าเหยียบแผ่นดิน  เพื่อนำเงินที่ได้ไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ และทำประกันให้กับนักท่องเที่ยว กรณีประสบอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิต จะได้รับวงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท หรือ ค่ารักษาพยาบาล ได้รับสูงสุด 5 แสนบาท โดยวางแผนเก็บรวมกับค่าตั๋วเครื่องบินกรณีเดินทางทางอากาศ และส่วนการเดินทางทางบก อยู่ระหว่างการพิจารณาวิธีการ 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้มีนโยบายเดินหน้าแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวในปีนี้ ซึ่งเป็นปีท่องเที่ยวไทย โดยกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำหนดโปรโมทการท่องเที่ยวไทยภายใต้แนวคิดอะเมซิ่ง ไทยแลนด์ นิว แชปเตอร์ จุดขายใหม่ด้านการท่องเที่ยวของไทย ภายในเดือนมกราคม นี้ รวมถึงเดินหน้าจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวสีขาว สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือบีซีจีโมเดล  ในภาคการท่องเที่ยว ที่จะช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและปลอดภัยขึ้น 

'โอมิครอน' ใน US และ UK ถึงจุดพีคเร็วมาก นักวิทย์ ชี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนโรคระบาดใหญ่

บรรดานักวิทยาศาสตร์พบเห็นสัญญาณการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตัวกลายพันธุ์โอมิครอนอาจถึงจุดสูงสุดแล้วในสหราชอาณาจักร เช่นเดียวกับสหรัฐฯ พร้อมชี้ว่าเคสผู้ติดเชื้ออาจเริ่มลดลงอย่างฉับพลันหลังจากนี้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนถึงขั้นมองว่าบางทีโอมิครอนอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโรคระบาดใหญ่ ที่เปิดทางให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับไวรัส

เหตุผลก็คือตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าแพร่กระจายเชื้อรวดเร็วมากๆ บางทีอาจไม่มีคนเหลือให้ติดเชื้อแล้ว ไม่ถึง 1 เดือนครึ่ง หลังจากมันถูกตรวจพบเป็นครั้งแรกในแอฟริกาใต้ "มันกำลังลดลงอย่างรวดเร็วเท่ากับตอนที่มันเพิ่มขึ้น" อาลี มอคแด็ด ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันในซีแอตเทิลกล่าว

แต่ขณะเดียวกัน พวกนักวิทยาศาสตร์เตือนว่ายังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับระยะถัดไปของโรคระบาดใหญ่ เนื่องจากจุดสูงสุดและการลดลงใน 2 ประเทศ เกิดขึ้นโดยใช้เวลาต่างกันและมีอัตราความรวดเร็วต่างกัน ดังนั้นช่วงเวลายากลำบากยังคงรออยู่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์หรือหลายเดือนข้างหน้า ทั้งสำหรับคนไข้และโรงพยาบาลต่างๆ ที่อัดแน่นไปด้วยผู้ป่วย แม้นหากข้อสันนิษฐานเคสผู้ติดเชื้อลดลงเกิดขึ้นจริงก็ตาม

"ยังคงมีคนอีกมากมายที่จะติดเชื้อ ตอนที่เราไต่ลงเนินเขาทางด้านหลัง" คำกล่าวของ ลอเรน อันเซล เมเยอร์ส ผู้อำนวยการสถาบันโมเดลโควิด-19 แห่งมหาวิทยาลัยเทกซัส ซึ่งคาดหมายว่าเคสผู้ติดเชื้อจะถึงจุดพีคสุดภายในสัปดาห์นี้

ในส่วนของโมเดลที่ได้รับความเชื่อถืออย่างมากของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ระบุว่าจำนวนเคสผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐฯ จะแตะระดับสูงสุด 1.2 ล้านคนในวันที่ 19 มกราคม และจากนั้นจะลดลงอย่างรวดเร็ว "ง่ายๆ เลยคือทุกคนที่สามารถติดเชื้อจะติดเชื้อหมดแล้ว" มอคแด็ด ระบุ

เขากล่าวว่า ในข้อเท็จจริงที่ผ่านการคำนวณอันซับซ้อนของทางมหาวิทยาลัย ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่แท้จริงของสหรัฐฯ การประมาณการซึ่้งนับรวมคนที่ไม่เคยตรวจเชื้อด้วย ได้ผ่านจุดพีคมาแล้ว โดยแตะระดับ 6 ล้านคนเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันในสหราชอาณาจักร เคสผู้ติดเชื้อใหม่โควิด-19 ลดลงเหลือราวๆ 140,000 คนต่อวันในสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากเคยพุ่งขึ้นมากกว่า 200,000 คนต่อวันในช่วงต้นเดือน

เควิค แม็คคอนเวย์ ศาสตราจารย์เกษียณอายุ ด้านสถิติประยุกต์แห่งมหาวิทยาลัยโอเพ่นของสหราชอาณาจักร ระบุว่าในขณะที่เคสผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ อย่างเช่น ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ และทางตะวันตกของแถบมิดแลนด์ แต่การแพร่ระบาดอาจเลยจุดพีคแล้วในลอนดอน

ข้อมูลเหล่านี้เพิ่มความหวังแก่ 2 ประเทศ ว่าอาจกำลังได้เห็นสิ่งเดียวกับที่เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ ซึ่งเคสผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างรวดเร็ว แต่จากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อก็ลดลงอย่างมากในอีก 1 เดือนต่อมา

"เรากำลังพบเห็นเคสผู้ติดเชื้อที่กำลังลดลงอย่างชัดเจนในสหราชอาณาจักร แต่ผมอยากเห็นเคสผู้ติดเชื้อลดลงมากกว่านี้ ก่อนที่เราจะสรุปได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ จะเกิดขึ้นที่นี่ด้วย" นายแพทย์พอล ฮันเตอร์ ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลียแห่งสหราชอาณาจักรกล่าว

มีความแตกต่างหลายอย่างระหว่างสหราชอาณาจักรกับแอฟริกาใต้ อาทิ การมีประชากรสูงวัยกว่าของสหราชอาณาจักร และแนวโน้มที่ประชาชนของสหราอาณาจักรใช้เวลาอยู่ในร่มมากกว่าในช่วงฤดูหนาว นั่นหมายความว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของแต่ละประเทศจะมีความไม่แน่นอนแตกต่างกันออกไป

ในอีกด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่สหราชอาณาจักรตัดสินใจบังคับใช้ข้อจำกัดต่างๆ น้อยที่สุดในการรับมือกับโอมิครอน ดังนั้นจึงอาจทำให้ตัวกลายพันธุ์นี้แพร่ระบาดในหมู่พลเมืองของสหราชอาณาจักรเร็วกว่ามากเมื่อเทียบกับประเทศยุโรปตะวันตกอื่นๆ อย่างเช่น ฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี ที่กำหนดมาตรการเข้มงวดควบคุมโควิด-19

สมุทรปราการ-“วีร์สุดา รุ่งเรือง” นายกบางพลีใหญ่ แถลงนโยบาย ลั่น พร้อมพัฒนาแก้ปัญหาความเดือดร้อนเพื่อพี่น้องชาวบางพลี

นายสมจิตร ขวัญอ่อน ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบางพลีใหญ่ เป็นประธานเปิดการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบางพลีใหญ่ สมัยวิสามัญ สมัยที่ 1 ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2565 ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี ดร.วีร์สุดา รุ่งเรือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางพลีใหญ่ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบางพลีใหญ่ 

โดยการเปิดประชุมสภา ในครั้งนี้ มีวาระและการแถลงนโยบายการบริหารงานต่อสภาของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางพลีใหญ่ ภายใต้ยุทธศาสตร์และเป้าหมายการพัฒนาท้องถิ่น 12 ด้าน ประกอบด้วย นโยบายเร่งด่วน 1. สร้างแนวร่วมการแก้ไขปัญหาในเชิงสาธารณสุข สาธารณูปโภคพื้นฐานกับนิติบุคคลของทุกหมู่บ้าน ตามกรอบที่กฎหมายกำหนดและครอบคลุมทุกพื้นที่สาธารณะของทุกหมู่อย่างเป็นรูปธรรม 2. จัดตั้งศูนย์บริการรับแจ้งเหตุให้การช่วยเหลือฉุกเฉิน และข้อร้องเรียนต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง และสายด่วนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางพลีใหญ่

3. กำจัดวัชพืชและขุดลอกคลอง โดยดำเนินการให้เสร็จสิ้นอย่างเร่งด่วน และเฝ้าระวังไม่ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน 4. สร้างพื้นที่เซฟตี้โซนเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปลอดยาเสพติด โดยชุมชนมีส่วนร่วมและเป็นศูนย์กลางบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5. พัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้ทันสมัย ปลอดภัย เป็นที่ไว้วางใจของผู้ปกครองที่นำบุตรหลานมาพัฒนาการให้สมวัย 6. ส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรม กลุ่มองค์กร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชรบ.อสม. กลุ่มสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ยากไร้ เด็ก เยาวชน อปพร. รวมถึงส่งเสริมกลุ่มอาชีพ การสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน เป็นชุมชนที่เข้มแข็งยั่งยืนและเป็นรูปธรรม

'บิ๊กป้อม' ชื่นชม นักฟุตบอลทีมชาติไทย หลังคว้าแชมป์ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020 สร้างความสุขให้คนไทย

มาดามแป้ง'นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย นำ 4 ขุนพล นักฟุตบอลทีมชาติไทย ได้แก่  ชนาธิป สรงกระสินธิ์, กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์,อดิศักดิ์ ไกรษร และ บดินทร์ ผาลา เข้าสวัสดีปีใหม่ 2565 พร้อมมอบของขวัญปีใหม่ ให้กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พร้อมขอรับพร เพื่อความเป็นสิริมงคล 

“เฉลิมชัย” เร่งรับมือผลไม้ฤดูการผลิตปี 65 ล่วงหน้า! มอบ “อลงกรณ์” ลุยเหนือติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดพร้อมตรวจด่านเชียงแสน - เชียงของ เผย! ‘ไทย’ ได้เปรียบดุลการค้าผักผลไม้จีนกว่า 3 เท่าตัว

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดมาตรการที่เข้มงวดโดยเฉพาะด่านนำเข้าจีน และส่งผลต่อการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรผลไม้ของไทย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการและบริหารการจัดการผลไม้ (Fruit Board) มีความเป็นห่วงสถานการณ์และได้เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรและภาคการเกษตรของไทย จึงได้มอบหมายให้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ ลงพื้นที่ภาคเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่เชียงใหม่ ลำพูนและเชียงรายระหว่างวันที่ 11-15 ม.ค.

โดยจะติดตามความคืบหน้าในหลายด้านได้แก่การบริหารจัดการผลไม้ของภาคเหนือ ฤดูการผลิตปี 2565(ลำไย) ความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.)ภาคเหนือ การขับเคลื่อนศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center :AIC) จังหวัดเชียงใหม่ลำพูนและเชียงราย พร้อมตรวจเยี่ยมด่านเชียงของและด่านเชียงแสนในการส่งออกผลไม้และสินค้าเกษตรทางบกและทางเรือลำน้ำโขง โดยเฉพาะมาตรการ SPS และโควิดฟรี(Covid Free) และแนวทางแก้ไขปัญหาการขนส่งผ่านด่านบ่อเตนและด่านโมฮ่าน

การประชุมหารือกับวิสาหกิจชุมชนเพื่อพัฒนากาแฟอาราบิก้า(Arabica) ตลอดห่วงโซ่อุปทาน การบริหารจัดการน้ำของโครงการชลประทานภาคเหนือตอนบนและการขับเคลื่อนโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนภาคเหนือ เพื่อพัฒนาการเกษตรในเมืองและส่งเสริมเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อแก้ปัญหา pm.2.5และลดก๊าซเรือนกระจกตอบโจทย์ Climate Change ตามแนวทาง COP26

 

 

นิสิตจุฬาฯ เสนอขอ ลดค่าเทอม อย่างน้อย 20% หวังช่วยลดภาระ หลังโควิดยังระบาดหนัก

เมื่อวันที่ 11 มกราคม สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ส่ง จดหมายเปิดผนึกถึงคณบดี เรื่องเสนอข้อเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยทบทวนมาตรการลดค่าเทอมเพิ่ม โดยระบุว่า ตามที่สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ ร่วมกับองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสโมสรนิสิต/กรรมการนิสิตทุกคณะ พร้อมกับผู้สนับสนุนกว่า 8,000 รายชื่อได้เสนอข้อเรียกร้องถึงอธิการบดีให้พิจารณาลดค่าเล่าเรียนในภาคการศึกษาต้น ประจำปีการศึกษา 2564 ร้อยละ 50 อันมีผลสำเร็จไปแล้วนั้น

ปรากฏว่าในภาคการศึกษาปลาย ประจำปีการศึกษา 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังคงส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่ของนิสิตและประชาชนในประเทศเป็นวงกว้าง และได้นำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในทุกภาคส่วน ซึ่งอาจลดทอนโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาของนิสิตจากการเรียนการสอนออนไลน์ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลายลง ทำให้นิสิตไม่สามารถเข้าใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัย ตลอดจนสวัสดิการของมหาวิทยาลัยตามปกติได้อีกชั่วระยะหนึ่ง

‘ฟรอนทาเล่’ ประกาศผ่านโซเชียลสโมสร คว้าตัว ‘ชนาธิป’ ร่วมทัพอย่างเป็นทางการ

คาวาซากิ ฟรอนทาเล่ ทีมแชมป์เจลีก ฤดูกาลที่ผ่านมา ประกาศผ่านโซเชียลมีเดียของสโมสรยืนยันคว้าตัว "เจ" ชนาธิป สรงกระสินธ์ ห้องเครื่องทีมชาติไทยจากทีมคอนซาโดเล่ ซัปโปโร ไปร่วมทีมอย่างเป็นทางการ

"ทางสโมสรรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งที่จะแจ้งให้ทุกท่านได้ทราบถึงการเข้าร่วมทีมของชนาธิป นักเตะซูเปอร์สตาร์ชาวไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในญี่ปุ่น" แถลงการณ์ของสโมสร เริ่มกล่าว

"แม้ว่าจะมีสโมสรฟุตบอลมากมายทั่วโลก แต่ชนาธิปก็ได้เลือกสโมสรของพวกเรา ซึ่งทำให้เรารู้สึกขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง และเรายังรู้สึกเคารพรักอย่างสุดซึ้งต่อชาวไทยทุกท่านที่มอบความไว้วางใจให้แก่นักเตะคนสำคัญมายังคาวาซากิ ฟรอนทาเล่ของพวกเรา"

"ทางสโมสรยินดีต้อนรับบุคคลสำคัญของทุกท่านด้วยความอบอุ่น จากนี้ไปเราจะใช้โซเชียลมีเดียในการเผยแพร่ข้อมูลมากมายให้ทุกท่านได้เห็น เราอยากให้ทุกท่านได้รู้จักคาวาซากิ ฟรอนทาเล่ให้มากขึ้น และเราก็จะศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยให้มากขึ้นเช่นกัน"

"ยินดีต้อนรับชนาธิป สรงกระสินธ์และชาวไทยทุกท่านสู่คาวาซากิ ฟรอนทาเล่ อย่าลืมติดตามบัญชีอย่างเป็นทางการของคาวาซากิ ฟรอนทาเล่กันนะ" ทีมแชมป์เจลีก แถลงปิดท้าย

ผู้เชี่ยวชาญ ยังกังขา ‘เดลตาครอน’ สายพันธุ์ใหม่จริง หรือถอดรหัสผิดพลาด?

ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกบางส่วนชี้ โควิด-19 “เดลตาครอน” อาจเกิดจากความผิดพลาดของการถอดรหัสในห้องแล็บ

เมื่อวานนี้ (9 ม.ค.) มีข่าวที่สร้างความตระหนกให้กับคนทั้งโลกอีกครั้ง เมื่อ ลีออนดิออส คอสตริคิส (Leondios Kostrikis) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพจากมหาวิทยาลัยไซปรัส ประเทศไซปรัส รายงานว่า ตรวจพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ลูกผสม ระหว่างเชื้อสายพันธุ์เดลตากับโอมิครอน เรียกว่า “เดลตาครอน (Deltacron)”

“ขณะนี้มีการติดเชื้อร่วมของโอมิครอนและเดลตา และเราพบว่าสายพันธุ์นี้เป็นการรวมกันของสองสายพันธุ์นี้” คอสตริคิสบอก

เขาให้เหตุผลว่า ที่เชื่อว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการผสมกัน เนื่องจากมีการระบุลายเซ็นทางพันธุกรรมที่เหมือนโอมิครอนภายในจีโนมของสายพันธุ์เดลตา

คอสตริคิสและทีมวิจัยของเขาได้รายงานพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาครอนแล้ว 25 ราย โดยข้อมูลลำดับพันธุกรรมของผู้ติดเชื้อเดลตาครอนทั้ง 25 รายนี้ได้ถูกส่งไปยัง GISAID หรือฐานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของไวรัสระหว่างประเทศแล้งเมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ คอสตริคิสเชื่อว่า อย่างไรสายพันธุ์ใหม่นี้จะถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์โอมิครอนที่มีศักยภาพในการแพร่เชื้อได้สูงกว่าอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม หลังสื่อทั่วโลกมีการรายงานการค้นพบนี้ของไซปรัสออกไป ก็มีเสียงแสดงความไม่เห็นด้วยจากผู้เชี่ยวชาญหลายคนทั่วโลก โดยระบุว่า “การค้นพบดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดในห้องแล็บ โดยเป็นการปนเปื้อนของไวรัสที่อยู่ในแล็บ”

ดร.ครูติกา คุปปาลี แพทย์โรคติดเชื้อที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวเพียงว่า “เดลตาครอนไม่มีอยู่จริง” โดยเธอเขียนข้อความบนทวิตเตอร์ว่า “เดลตาครอนไม่ใช่ของจริง และน่าจะเกิดจากการเรียงลำดับพันธุกรรมผิดพลาด จากการปนเปื้อนของชิ้นส่วนโอมิครอนในตัวอย่างสายพันธุ์เดลตาในห้องแล็บ”

ในขณะเดียวกัน ดร.ทอม พีค็อก นักไวรัสวิทยาจากอิมพีเรียลคอลเลจ สหราชอาณาจักร ผู้เชี่ยวชาญการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสระดับโลก กล่าวในทวิตเตอร์ว่า ลำดับพันธุกรรมของโควิด-19 เดลตาครอนที่สื่อต่างๆ ทั่วโลกรายงานออกไปแล้วนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดจากการปนเปื้อนระหว่างสารพันธุกรรมของโอมิครอนและเดลตาในห้องปฏิบัติการ เวลาถอดรหัสพันธุกรรมจึงมีรหัสปนกันออกมาเสมือนเกิดเป็นสายพันธุ์ลูกผสม

“และจากการนำเอาข้อมูลรหัสพันธุกรรมมาสร้างเป็นแผนภูมิวิวัฒนาการ Phylogenetic Tree พบว่าตัวอย่างผู้ติดเชื้อทั้ง 25 รายไม่ได้มาจากคลัสเตอร์เดียวกัน ซึ่งแปลก เพราะหากเป็นสายพันธุ์ลูกผสมเพิ่งเกิดใหม่ ยังไม่ระบาดเป็นวงกว้าง ควรจะอยู่ในคลัสเตอร์เดียวกัน” ดร.พีค็อกระบุ

เขาเสริมว่า ลำดับพันธุกรรมของเดลตาที่มีการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์อื่นปรากฏขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว เช่น การพบการกลายพันธุ์ของมิวในเดลตา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดขึ้น

ด้าน ศ.นิก โลแมน ผู้เชียวชาญด้านจีโนมของจุลินทรีย์จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา กล่าวว่า แม้ว่าการเกิดลูกผสมระหว่างเดลตาและโอมิครอนจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลก แต่ก็เห็นพ้องกับผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นว่า การค้นพบเดลตาครอนของไซปรัสน่าจะเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในกระบวนการถอดรหัสพันธุกรรมจีโนมของไวรัสมากกว่า

สำหรับประเทศไทยเอง ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์ข้อความระบุว่า “ไวรัสชื่อประหลาดอย่างเดลตาครอน ถ้ามีจริงต้องแยกเชื้อออกมาให้ได้ เพิ่มปริมาณได้ และถอดรหัสออกมาได้ชัดเจน การได้ข้อมูลจากคนป่วยมาโดยตรง รีบถอดรหัส โอกาสสูงมากคือ การปนเปื้อนของไวรัสทั้งเดลตาและโอมิครอนที่อยู่ในแล็บ อย่าได้ขึ้นพาดหัวข่าวรีบเร่งบอกสื่อทั้งๆ ที่ยังไม่วิเคราะห์ผลให้ถี่ถ้วนก่อน

“ส่วนตัวเห็นด้วยกับ ดร.ทอม พีค็อก ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่กับข้อมูลไวรัสทุกวันทั้งวัน บอกว่าหลังดูข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมว่า ไวรัสชื่อประหลาดนี้ ไม่น่ามีอยู่จริงครับด้วยเหตุผลข้างต้น จำเป็นต้องเพาะออกมาให้เห็นจริงๆ ก่อนค่อยเชื่อ ... ถาม WHO ก่อนก็ดีนะ ก่อนเรียกอะไรแบบเดลตาครอน”

ขณะที่ศูนย์จีโนม รพ.รามาธิบดี ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า “ถามว่าเกิดสายพันธุ์ลูกผสม “เดลตาครอน” ขึ้นที่ไซปรัสแล้วใช่หรือไม่ คำตอบคือน่าจะไม่ใช่”

โดยศูนย์จีโนมได้นำข้อมูลรหัสพันธุกรรม 25 ตัวอย่างที่ไซปรัสได้แชร์ไว้ให้ GISAID มาวิเคราะห์เอง ก็พบว่า เมื่อนำข้อมูลรหัสพันธุกรรมมาสร้างเป็นแผนภูมิวิวัฒนาการ Phylogenetic Tree ตัวอย่างทั้ง 25 รายไม่ได้มาจากคลัสเตอร์เดียวกัน โดยเพราะหากเป็นสายพันธุ์ลูกผสมเพิ่งเกิดใหม่ มีที่มาจากแหล่งเดียวกันยังไม่ระบาดเป็นวงกว้าง ควรจะอยู่ในคลัสเตอร์เดียวกันไม่แตกกิ่งก้านสาขาไปมากมาย

“และจากรหัสพันธุกรรมทั้ง 25 ตัวอย่างบ่งชี้ว่าเป็นสายพันธุ์ “เดลตา” ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนสารพันธุกรรมของ “โอมิครอน” เข้ามาระหว่างการถอดรหัสพันธุกรรม” ศูนย์จีโนมระบุ

คำถามที่ตามมาคือหากมีสายพันธุ์ลูกผสมเกิดขึ้นมาจริงๆ ทางศูนย์จีโนมฯ จะตรวจพบหรือไม่ “คำตอบคือน่าจะตรวจพบ เพราะขณะนี้เราถอดรหัสพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยีสายยาว (long-read sequencing) ประมาณ 1,000 - 2,000 ตำแหน่งต่อสาย ดังนั้นหากพบรหัสพันธุกรรมของเดลตาและโอมิครอนผสมปนกันอยู่ในสายเดียวกัน ก็แสดงว่าน่าจะเป็นสายพันธุ์ลูกผสม”

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เสริมสร้างอนาคตเด็กไทย มอบทุนการศึกษาในระดับชั้นประถม และทุกระดับปีสุดท้าย (ทุนสัญจร) แก่เยาวชนภาคใต้ รวม 6 จังหวัด 

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนายจารุรัตน์ คุณัตถานนท์ กรรมการและเหรัญญิก นายนิพนธ์ ลีละศิธร กรรมการ ร่วมในพิธีมอบทุนการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา และทุนทุกระดับปีสุดท้าย (ทุนสัญจร) ประจำปี พ.ศ. 2564 แก่เยาวชนที่ประพฤติดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในพื้นที่ภาคใต้ 6 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดตรัง สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง และกระบี่ รวม 265 ทุน รวมเป็นเงินจำนวน 2,255,000 บาท (สองล้านสองแสนห้าหมื่นห้าพันบาทถ้วน)

เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมตามที่มุ่งหวัง เติบโตพร้อมมีวิชาความรู้ สร้างอนาคตของตนเองและครอบครัว เป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติ อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในปีนี้มูลนิธิฯ กำหนดให้มอบผ่านระบบออนไลน์ [Zoom] โดยมีบุคลากรจากสถานศึกษา และเยาวชนจากสถาบันต่างๆ ร่วมในพิธีมอบผ่านระบบออนไลน์ 

การมอบทุนการศึกษาของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง แบ่งเป็นการมอบทุนระดับชั้นประถมศึกษา ทุนต่อเนื่องในทุกระดับชั้น และทุนทุกระดับปีสุดท้าย มอบ ณ ที่ทำการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง กรุงเทพฯ รวม 2,336 ทุน และมอบทุนการศึกษาสัญจรในระดับชั้นประถม และทุกระดับปีสุดท้ายให้แก่สถาบันการศึกษาในส่วนภูมิภาค โดยปีนี้มูลนิธิฯได้มอบให้กับเยาวชนในพื้นที่ภาคใต้ รวม 265 ทุน  รวมทุนการศึกษาที่มอบทั้งหมดในปี พ.ศ. 2564 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 16,930,000 บาท (สิบหกล้านเก้าแสนสามหมื่นบาทถ้วน)  

สธ.ประเมินสถานการณ์ ‘โอมิครอน’ ลาม 2 เดือน แต่จะค่อยๆ ลดลง พร้อมคุมอยู่ภายใน 1 ปี

สธ. งัด 4 มาตรการรับมือโอมิครอน มุ่งชะลอการระบาดให้ระบบสาธารณสุขดูแลได้ คาดระบาดอย่างน้อย 2 เดือน จ่อลดวันกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูง ปีนี้โควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น หากอัตราตายลดเหลือ 0.1% จังหวัดยอดพุ่งอีก 2 สัปดาห์ค่อยๆ ลด

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รุจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 65 ที่กระทรวงสาธารณสุข ว่า แผนรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกมกราคม 2565 หรือโอมิครอน มี 4 มาตรการ คือ 

1.) มาตรการสาธารณสุข จะมุ่งชะลอการระบาดเพื่อให้ระบบสาธารณสุขดูแลได้ ฉีดวัคซีนเพิ่มภูมิต้านทานให้ประชาชน คัดกรองตนเองด้วย ATK ติดตามเฝ้าระวังกลายพันธุ์ 

2.) มาตรการการแพทย์ มุ่งเน้นใช้ระบบดูแลที่บ้านและชุมชน (Home Isolation/Community Isolation) ระบบสายด่วนประสานการดูแลผู้ติดเชื้อ ช่องทางด่วนส่งต่อเมื่อมีอาการมากขึ้น และเตรียมพร้อมยาและเวชภัณฑ์ โดยในส่วนของยาฟาวิพิราเวียร์ยังมีประสิทธิภาพดีในการรักษาผู้ติดโควิด-19 ถ้าเริ่มต้นให้เร็วรวมถึงโอมิครอนด้วย ขณะนี้มีสำรองประมาณ 158 ล้านเม็ด

3.) มาตรการสังคม ประชาชนใช้การป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด (UP : Universal Prevention) และสถานบริการปลอดความเสี่ยงโควิด (COVID Free Setting) 

และ 4.) มาตรการสนับสนุน ค่าบริการรักษาพยาบาล และค่าตรวจต่างๆ 

ทั้งนี้ ในปี 2565 จะก้าวเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นของโรคโควิด-19 โดยเชื้อลดความรุนแรง ฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิต้านทาน และชะลอการแพร่ระบาด

ผู้สื่อข่าวถามว่า โควิด-19 จะเป็นโรคประจำถิ่นเมื่อไหร่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การจะเป็นโรคประจำถิ่นเกิดจากลักษณะตัวโรคลดความรุนแรงลง ประชาชนมีภูมิต้านทาน ระบบรักษามีประสิทธิภาพ ลดอัตราป่วยหนัก เพื่อให้อัตราเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำมาก สาเหตุที่โควิดเป็นโรคระบาดรุนแรง เพราะอัตราเสียชีวิตสูงถึง 3% และค่อยๆ ลดลง หากลดมาถึง 0.1% ก็จะเข้าข่ายโรคประจำถิ่นได้ ส่วนอีกนานหรือไม่ ตนได้ปรึกษากับกรมควบคุมโรคว่า ขณะนี้เป็นระลอกโอมิครอนที่จะอยู่ประมาณ 2 เดือนจากนั้นจะค่อยๆ ลดลง เกิดพีคเล็กๆ ไปอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ หากการจัดการวัคซีนดี ประชาชนร่วมฉีดให้มีภูมิต้าน โรคไม่กลายพันธุ์เพิ่ม การติดเชื้อไม่รุนแรงมากขึ้น ก็คาดว่าภายในปีนี้จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปได้

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคพิจารณาลดวันกักตัว กรณีเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งเดิมจะต้องกักตัวนาน 14 วัน ซึ่งนานกว่ากรณีคนติดเชื้อที่รักษาในรพ. ที่อยู่ที่ 10 วัน จึงให้พิจารณาดูว่าสามารถลดวันกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูงเหลือ 7 วันได้หรือไม่ รวมถึงการปรับนิยามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงใหม่ หากใส่หน้ากากอนามัยถือเป็นสัมผัสเสี่ยงต่ำ แต่หากสัมผัสระหว่างที่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยจึงจะถือเป็นสัมผัสเสี่ยงสูง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top