Wednesday, 15 May 2024
NEWS FEED

ออโรร่า วิสดอม ดึงนักลงทุนต่างชาติ ร่วมลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท เปิดโรงงานผลิตถุงมือยางเพื่อส่งออก เผยอีก 3 ปี เตรียมลงทุนเพิ่มกว่า 15,000 ล้านบาท

ศ.ดร.นพ. วิปร วิประกษิต ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ออโรร่า วิสดอม จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมกับนักลงทุนต่างชาติจากจีน และมาเลเซีย ด้วยสัดส่วนนักลงทุนในประเทศไทย 51% และต่างชาติ 49% ในการเปิดตัวโรงงานผลิตถุงมือยางเพื่อการส่งออกด้วยผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง 2 ประเภท 2 แบรนด์ ที่แตกต่างกันตามการใช้งานและประเภทของวัตถุดิบหลัก

ได้แก่ แบรนด์ออโรร่า (AURORA) เป็นผลิตภัณฑ์ถุงมือยางที่ใช้ทั่วไป (Non-medical gloves) และแบรนด์ด็อกเตอร์วีไอพี (DOCTOR VIP) เป็นผลิตภัณฑ์ ถุงมือทางการแพทย์ ซึ่งเป็นถุงมือไนไตร (Nitrile gloves) ด้วยมาตรฐานที่ใช้ในโรงพยาบาลและสถานบริการด้านสุขภาพ

ในระยะเริ่มต้น บริษัทฯจะลงทุนที่ 8 สายการผลิต งบประมาณรวมทั้งค่าที่ดิน และค่าก่อสร้างที่ 3,000 ล้านบาท บนพื้นที่รวม 111 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่โรงงานผลิตถุงมือยางในไตร และพื้นที่สนับสนุน 70% เป็นพื้นที่โรงไฟฟ้าชีวมวล 20% และเป็นพื้นที่จัดเก็บน้ำขนาด 16 ไร่คิดเป็น 10% ของพื้นที่ทั้งหมด และจะทยอยขยายสายการผลิตจนครบ 80 สายการผลิต ใช้เงินลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท

ซึ่งในระยะแรกบริษัทฯ มีกำลังการผลิตในประเทศไทย และกำลังการผลิตจากโรงงานในประเทศจีนที่รองรับความต้องการได้ที่ 3 ล้านกล่องต่อเดือน และจะทยอยเติบโตไปสูงสุดที่ 80 ล้านกล่องต่อเดือน ภายในระยะเวลา 3 ปี

“ปัจจุบัน บริษัทฯมีสาขาอยู่ที่เมืองเทียนจิน ประเทศจีน คือ บริษัท ออโรร่าวิสดอม ไชน่า และมีสาขาในทวีปยุโรป ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก คือ บริษัท ออโรร่า วิสดอม เดนมาร์ก และกำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาจัดตั้งตัวแทนใน ฮ่องกง กัมพูชา และลาวตาม ลำดับ พร้อมทั้งยังพิจารณาที่จะนำสินค้าไปจำหน่ายผ่าน Marketing Platform อื่นๆ ต่อไปอีกด้วย”

สำหรับ โรงงานของบริษัท ออโรร่า วิสดอม ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นโรงงานแห่งแรกที่เปิดสายการผลิตถุงมือ ร่วมกับโรงไฟฟ้าแบบชีวมวลขนาด 8 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ทั้งหมด 111 ไร่ ควบคู่กันไป เพื่อเดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มีการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน และมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ตามแบบโรงงานสีเขียว

มีการหมุนเวียนทรัพยากรน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตและการนำวัตถุดิบที่เหลือจากเกษตรกรในท้องถิ่นมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งผลผลิตทั้งจากโรงงานถุงมือและโรงไฟฟ้าชีวมวล จะสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนขยายการผลิตถุงมือทางการแพทย์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ เช่น ถุงมือทางการแพทย์สำหรับแพทย์เฉพาะทาง เช่น ศัลยแพทย์กระดูก สูติแพทย์ ถุงมือสำหรับการผ่าตัดส่องกล้อง และการจัดตั้งสายการผลิตถุงมือทางการแพทย์แบบปลอดเชื้อ (sterile gloves) เป็นต้น

งานดีๆ ที่ไม่ควรพลาด ‘The Cat Society รวมพลคนรักแมว’ @มิวเซียมสยาม

จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี สำหรับเทศกาลท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน Night at The Museum ที่ทางมิวเซียมสยามเป็นเจ้าภาพ โดยหนล่าสุดนี้เป็นครั้งที่ 10 แถมยังมีความพิเศษเข้าไปอีก เพราะงานนี้มีชื่อตอนว่า The Cat Society “รวมพลคนหลงแมว”

ซึ่งที่มาของคอนเซ็ปนี้ เพราะน้องเหมียวเป็นสัตว์ยอดนิยมในช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งยังเป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่คู่กับมนุษย์มายาวนาน ทางผู้จัดงานจึงนำแนวคิดนี้มาต่อยอด จัดเป็นกิจกรรมเพื่อเป็นพื้นที่ให้คนแรกแมวและบุคคลทั่วไปมารวมตัวกันทำกิจกรรมดีๆ รวมทั้งปลุกกระแสการท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

แน่นอนว่า ภายในงานจะได้พบกับน้องแมวหลากสายพันธุ์ ที่มาโชว์ความน่ารักมากมาย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสนุกๆ อีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็นการออกร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร และฐานกิจกรรมต่างๆ อาทิ Cat Playground เปิดพื้นที่ให้เหล่าบรรดาน้องเหมียวได้มาสนุกกัน Catory Displays เรื่องเล่า แมว แมว แบบที่เราจะได้เรียนรู้ รู้จักเจ้าเหมียวมากขึ้น Catbrary ห้องคลังความรู้ที่จะมาเล่าเรื่องสนุกเกี่ยวกับแมว มุม Cat Charity บูทย้อมแมวขาย by Muse Shop ที่ขนของที่ระลึกแบบชิคๆ มาให้จับจ่าย พร้อม Workshop ระบายสีเสื้อ สร้างน้องแมวในแบบของตัวเอง และกาชาปองจากญี่ปุ่นกว่า 20 คอลเลกชัน

โดยรายได้ส่วนหนึ่งของกิจกรรมหลังจากหักค่าใช้จ่ายมิวเซียมสยามจะมอบให้แก่มูลนิธิรักษ์แมว ปันใจให้แมวจร มูลนิธิรักษ์ และเพจแมวต่างๆ

งานจัดตั้งแต่วันที่ 18 – 20 ธันวาคมนี้ อากาศดีๆ ควรไปอย่างมาก หรือสามารถเข้าไปดูรายละเอียดของงานได้เพิ่มเติมที่ www.facebook.com/museumsiamfan และเว็บไซต์ www.museumsiam.org

ทีมคนละครึ่งอัพเดทตัวเลขโครงการล่าสุด ยอดร้านค้าพุ่งแตะล้าน สร้างเม็ดเงินสะพัดกว่า 45,000 ล้านบาท เป็นการการันตีได้ถึงนโยบายภาครัฐชิ้นเอกที่ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก

จากเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Chao Jiranuntarat’ หรือ สมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หนึ่งในทีมดูแลระบบการลงทะเบียนให้กับโครงการของรัฐบาลหลายโครงการ เช่น เราไม่ทิ้งกัน, วอลเล็ต สบม. รวมทั้งโครงการคนละครึ่ง ได้มีการอัพเดทตัวเลขของโครงการนี้ ไว้ว่า…

คนละครึ่งจนถึง 17/12/20มียอดการลงทะเบียนร้านค้าเกินกว่า 1 ล้านร้านค้า และมีการใช้จ่ายไปแล้วกว่า 45,000 ล้านบาท เป็นจำนวนกว่า 260 ล้านรายการ

ทั้งนี้กลุ่มที่ใช้คนละครึ่งแบ่งออกได้ตามอายุ ดังนี้

- 18-21 ปี = 8%

- 22-30 ปี = 22%

- 31-45 ปี = 40% (ใช้จ่ายมากที่สุด)

- 46-60 ปี = 23%

- 61-80 ปี = 7%

โดยจังหวัดที่มีการใช้งานสูงสุด 10 อันดับแรกได้แก่

1.กรุงเทพมหานคร

2.สงขลา

3.นนทบุรี

4.สมุทรปราการ

5.ชลบุรี

6.เชียงใหม่

7.ปทุมธานี

8.สุราษฎร์ธานี

9.นครศรีธรรมราช

10.ภูเก็ต

เป็นโครงการที่มีการกระจายรายได้สู่ร้านค้าเล็กๆ ทั่วประเทศ และก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

รัฐบาล เดินหน้าสร้างบุคลากรรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เน้นย้ำพัฒนาทักษะให้ตรงความต้องการภาคเอกชน ระบุมีตำแหน่งงานรองรับกว่า 4 แสนอัตรา ภายใน 5 ปี

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและติดตามการขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการพัฒนาให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยเรื่องการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งของโครงการดังกล่าว

ซึ่งกระทรวงแรงงานได้จัดตั้งศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC Labour Administration Center) ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 จ.ชลบุรี โดยร่วมมือกับหลายภาคส่วน

ล่าสุด กระทรวงฯรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบว่า ในปีงบประมาณพ.ศ.2563 ได้ให้บริการจัดหางานแก่กลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิม และอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-Curve) (อาทิ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร) จากที่ตั้งเป้าไว้ 28,000 คน แต่เมื่อดำเนินงานจริงสามารถจัดหางานได้มากถึง 40,464 คน คิดเป็น 144.51% ส่วนงานบริการแนะแนวอาชีพให้นักเรียน นักศึกษา ตั้งเป้าไว้ที่ 48,838 คน ผลการดำเนินงานเกินเป้าหมายเช่นกัน โดยมีจำนวน 70,401 คน คิดเป็น 144.15%

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ประมาณการณ์ว่า ในระยะเวลา 5 ปี (2562-2566) จะมี 4 แสนกว่าอัตรา ทั้งในระดับอาชีวะและปริญญาตรี ที่เป็นความต้องการของภาคเอกชนต่อบุคลากรไทยในพื้นที่อีอีซี

ที่ผ่านมา สกพอ.ได้ร่วมมือกับกระทรวงแรงงานและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สร้างหลักสูตรพัฒนาทักษะบุคลากรให้ตรงความต้องการภาคเอกชน (EEC Model) ควบคู่กับการสร้างแรงจูงใจแก่เอกชนที่รับนักศึกษาที่จบหลักสูตรนี้ คือจะได้รับการลดหย่อนภาษีด้วย

ส่วนการเตรียมพร้อมในระยะยาว กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอน วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.) ขับเคลื่อนการเรียนการสอนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) อย่างต่อเนื่อง

ทั้งการจัดอบรมพัฒนาครูสำหรับการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน และการส่งเสริมเด็กให้เรียนภาษาคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ทั้งนี้ เป็นการสร้างทรัพยากรบุคคลให้ตรงกับความต้องการของภาคเอกชนในอนาคต

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สุดปลื้ม หลัง Bloomberg ยกให้ไทยอยู่ในอันดับ 1 ของประเทศที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจดีสุดปี 64 ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่สำนักข่าว Bloomberg ประกาศให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 1 ของประเทศที่มีแนวโน้มจะเป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่มีภาพรวมทางเศรษฐกิจดีที่สุดในปี 2564

แสดงถึงความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในเรื่องการค้าและการลงทุนในปี 2564

จากรายงานใน หัวข้อ China Lags as Thailand, Russia Rank Top Emerging Market Picks เปิดเผยรายงานการศึกษาแนวโน้มทางเศรษฐกิจในปี 2564 ของ 17 ประเทศ อาทิ ไทย รัสเซีย จีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น โดยมีตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและการเงิน 11 ข้อ ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 1 ในฐานะประเทศที่มีเงินทุนสำรองที่แข็งแกร่ง และมีศักยภาพสูงจากการไหลเข้าของเงินลงทุน (Portfolio Inflows)

แม้ในรายงานดังกล่าว จะมีความห่วงกังวลเรื่องการกระจายวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 ของประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทย ซึ่งพึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลได้เตรียมการรับมือกับประเด็นดังกล่าวเป็นอย่างดี

โดยทางด้านสาธารณสุข รัฐบาลส่งเสริมการดำเนินการควบคุมโรค ป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้างอย่างเข้มงวด ควบคู่ไปกับส่งเสริมความร่วมมือทางด้านสาธารณสุขกับหุ้นส่วนและมิตรประเทศ เพื่อวิจัยและพัฒนา รวมถึงเตรียมผลิตวัคซีนและยกระดับการพัฒนาทางด้านสาธารณสุขไทย รวมทั้งส่งเสริมให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะ และประชาชนสามารถได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง

ส่วนทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รัฐบาลได้เตรียมพร้อมและได้ดำเนินนโยบายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 อาทิ โครงการคนละครึ่งเฟส 1 เฟส 2 เราเที่ยวด้วยกัน และ ช้อปดีมีคืน เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐบาลดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ ด้านคมนาคม ด้านพลังงาน ด้านการจัดการน้ำ ด้านการสื่อสาร รวมถึงการเร่งแผนส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นต้น

รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประกาศดีเดย์ 7 มกราคม 64 จดทะเบียนควบรวม TOT-CAT เป็น บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติหรือ NT ชี้ควบรวมช่วยลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในการดำเนินการควบรวมกิจการระหว่างบมจ. ทีโอที (TOT) และ บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) เป็น บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ (National Telecom Public Company Limited :NT)

โดยมีกำหนดวันจดทะเบียนในวันที่ 7 มกราคม 2564 ซึ่งภายหลังการควบรวมสำเร็จ จะส่งผลให้ NT มีโครงสร้างพื้นฐานครบวงจรมากที่สุด

การควบรวมกิจการในครั้งนี้จะส่งผลทำให้ NT มีโครงข่ายครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดมีคลื่นความถี่โทรศัพท์ ครบทุกระยะ และคุณภาพการใช้งานที่ดีที่สุด ทำให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการให้บริการ ทั้งลูกค้าภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกพื้นที่สำหรับลูกค้าภาครัฐจะได้รับบริการโครงข่ายที่มีความแข็งแกร่งเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาประเทศเพื่อเข้าสู่ Thailand 4.0

และยังสามารถช่วยส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันให้แก่ลูกค้าเอกชนทั้งรายใหญ่และ SME ส่วนประชาชนทั่วไปจะได้รับบริการโทรคมนาคมที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศเพื่อเข้าถึงโลกดิจิทัล ซึ่งหลังการควบรวม NTจะ มีทรัพยากรโครงข่ายที่เพียบพร้อมสำหรับนำไปต่อยอดมีเสาโทรคมนาคม เคเบิลใต้น้ำ คลื่นความถี่ ท่อร้อยสายใต้ดิน, Fiber Optic, Data center และระบบโทรศัพท์ที่มากขึ้น

“NT จะกลายเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่มีศักยภาพในการให้บริการโดยเฉพาะเรื่อง 5G และดาวเทียม ทั้งการนำเอาดิจิทัลมาให้บริการภาคการสาธารณสุข การเกษตร และคมนาคม โดย NT จะเป็นผู้รวบรวมบิ๊กดาต้าผ่าน 5G ที่ประมูลได้ ซึ่งจะเริ่มนำมาให้บริการภาคสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนกัน เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ”

ด้าน พันเอกสรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ CAT เปิดเผยว่า การร่วมมือกันของ 2 หน่วยงานนั้น เพื่อพัฒนาบริการที่ยึดประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการควบรวมกิจการฯ ไปสู่การเป็น NT ด้วยจุดแข็งของ CAT ในเรื่องโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำและภาคพื้นดิน จะสนับสนุนการให้บริการด้านโทรคมนาคมและดิจิทัลร่วมกันของทั้งสองหน่วยงานมีเสถียรภาพมากขึ้น

ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาดิจิทัลโซลูชันที่หลากหลายมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีบนโลกออนไลน์ทั้งในภาคธุรกิจและภาคประชาชน

ขณะที่ นายมรกต เธียรมนตรี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท TOT มั่นใจว่า เมื่อควบรวมทั้ง 2 องค์กรแล้ว NT จะเป็นกลไกของรัฐที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศและประชาชนสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างเข็มแข็ง

ซึ่งทีโอที พร้อมที่จะนำทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นระบบสื่อสัญญาณโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและดิจิทัล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการที่มีความชำนาญในการให้บริการซึ่งมีอยู่ครอบคลุมทั่วประเทศ ตอบสนองความต้องการใช้บริการสื่อสารโทรคมนาคมในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้คนไทยได้ใช้โทรคมนาคมด้านดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ

ถึงแม้ตอนนี้ธุรกิจไทยจะแสดงออกถึงความตื่นตัวเรื่องนวัตกรรมในระดับหนึ่ง แต่จากผลสำรวจของ ‘ไมโครซอฟท์’ กลับพบว่าธุรกิจไทยต้องเร่งเครื่องให้มากกว่าเดิม เพราะรายได้ด้านดิจิทัลของธุรกิจไทยยังตามหลังประเทศผู้นำในภูมิภาคนี้อยู่พอควร

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์(ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยจากผลสำรวจ เรื่อง ‘วัฒนธรรมนวัตกรรม-รากฐานสู่การปรับตัวและฟื้นฟูของธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก’ พบว่า ขณะนี้ภาคธุรกิจไทยได้แสดงออกถึงความตื่นตัวเรื่องนวัตกรรมในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังต้องเร่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

เหตุผลเพราะมีผลสำรวจที่ระบุว่าธุรกิจไทยจะมีสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลอยู่ที่ 48% ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเทียบเท่ากับสัดส่วนรายได้ในปัจจุบันขององค์กรชั้นนำในเอเชียแปซิฟิกนั้น เท่ากับว่าองค์กรไทยในภาพรวมยังตามหลังผู้นำของภูมิภาคนี้อยู่ 3 ปีเต็มนั่นเอง

ธนวัฒน์ เผยอีกว่า “ปัจจุบันนวัตกรรมไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกของธุรกิจอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกองค์กรขาดไม่ได้ โดยสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ทั่วโลกได้กลายเป็นปัจจัยเร่งให้ภาคธุรกิจต้องหันมาสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จากเดิมอาจต้องใช้เวลาหลายปี ให้เสร็จสิ้นและพร้อมขับเคลื่อนธุรกิจได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน ภาคธุรกิจไทยเองได้แสดงออกถึงความตื่นตัวในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังต้องเร่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

“สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้ภาคธุรกิจไทยเร่งยกระดับการสร้างสรรค์นวัตกรรมภายในองค์กรขึ้น 12% พร้อมวางแผนชัดเจนสำหรับการลงทุนพัฒนาศักยภาพในปีหน้า โดยกว่า 72% ขององค์กรไทยที่เข้าร่วมการสำรวจ มองว่าการสร้างสรรค์นวัตกรรมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการฟื้นฟูธุรกิจให้เปลี่ยนแปลง ปรับตัว และกลับมาเติบโตอีกครั้ง ท่ามกลางผลกระทบและแรงกดดันจากการระบาดของโควิด-19 โดยทัศนคติเกี่ยวกับนวัตกรรมในภาคธุรกิจไทยยังคงตามหลังมุมมองขององค์กรระดับแนวหน้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่กว่า 98% เชื่อว่านวัตกรรมเป็นหัวใจสำคัญในการฝ่าสถานการณ์วิกฤต”

ถ้าจะพัฒนาอุตสาหกรรมใน EEC ได้แบบเต็มกำลัง การเสริมพลังด้วยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครือข่าย 5G แบบเต็มรูปแบบ คงเป็นเรื่องที่ต้องบิวท์ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กพอ.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานผลักดันการใช้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงข่าย 5G ให้เกิดการลงทุนพัฒนาระบบ 5จี ในพื้นที่ EEC ผลักดันให้ผู้ประกอบการภาคเอกชน

และหน่วยงานภาครัฐใช้เทคโนโลยี 5G ในโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เขตส่งเสริม EEC ประมาณ 10,000 แห่ง โรงแรมทั้งหมดใน EEC ประมาณ 300 แห่ง หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มเอสเอ็มอี

โดยทำโครงการนำร่องพัฒนาระบบ 5G เริ่มตั้งแต่ บริเวณฐานทัพเรือสัตหีบเสริมความมั่นคง สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน เสริมโครงสร้างพื้นฐาน นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเสริมประสิทธิภาพอุตสาหกรรม และอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เพื่อให้ชุมชนได้เริ่มทดลองใช้ระบบ 5G

พร้อมเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริหารจัดการข้อมูล ผลักดันให้ภาคเอกชนและภาครัฐ จัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ ในพื้นที่ EEC โดยให้ EECd เป็นจุดติดตั้งศูนย์ข้อมูล (ดาต้า เซ็นเตอร์) พร้อมออกแนวทางและปรับข้อกฎหมายเพื่อนำข้อมูลคลาวด์ภาครัฐ และคลาวด์ภาคเอกชน

เฉพาะข้อมูลที่เปิดเผยได้มาจัดทำข้อมูลกลางเพื่อธุรกิจในอนาคต หรือ คอมมอน ดาต้า เลค เพื่อให้ภาคธุรกิจ และกลุ่มสตาร์ทอัพ นำข้อมูลนี้ไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจ เช่น สร้างอี-คอมเมิร์ซ การท่องเที่ยว สาธารณสุข และการแพทย์ และพัฒนาบุคลากรดิจิทัล โดยเน้นผลิตบุคลากรที่มีทักษะตามความต้องการของเอกชน 100,000 คน

อีกทั้งยังรับทราบการขอรับส่งเสริมการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ในช่วง 11 เดือน (ม.ค.- พ.ย. 2563) มีทั้งสิ้น 387 โครงการ มูลค่าลงทุนสูงถึง 1.28 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนจากต่างประเทศ 76,000 ล้านบาท

ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และปิโตรเคมี ส่วนในปี 64 คาดว่า ภาพรวมจะมีเงินลงทุนเข้ามาใน EEC ประมาณ 4 แสนล้านบาท ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1 แสนล้านบาท และการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายอีก 3 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มลงทุนมากในปีหน้า หลังชะลอการลงทุนในปีนี้เพราะเกิดโควิด-19 ระบาด

วายแอลจี ชี้ราคาทองคำยังไปต่อ หลังเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0-0.25% พร้อมส่งสัญญาณตรึงอัตราดอกเบี้ยต่ำยาวต่อเนื่องถึงปี 2566 หนุนราคาทองคำพุ่ง

นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) ผู้นำเข้าและส่งออกทองคำแท่งรายใหญ่ของไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.00 – 0.25% ในการประชุมประจำเดือน ธ.ค.

พร้อมทั้งยืนยันการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มหากมีความจำเป็น เพราะถึงแม้ว่าวัคซีนต้านโควิด-19 จะเป็นปัจจัยบวกแต่ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันยังต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเพราะยอดผู้ติดเชื้อยังพุ่งขึ้น ทำให้ยังไม่สามารถคาดการณ์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ในขณะนี้ ซึ่งผลของการประกาศนโยบายดังกล่าวส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ เฟดยัง ส่งสัญญาณว่าจะยังคงใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยใกล้ศูนย์ไปจนถึงปี 2566 เนื่องจากเฟดยังคงต้องใช้เครื่องมือสนับสนุนเศรษฐกิจให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งตราบใดที่ทั่วโลกยังคงดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำก็จะยังคงทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดทองคำ อีกทั้งการที่เฟดมีนโยบายยังคงซื้อสินทรัพย์ (QE) อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์ต่อเดือนจนกว่าจะมีความคืบหน้าอย่างมากไปสู่การบรรลุเป้าหมายการจ้างงานเต็มประสิทธิภาพและเสถียรภาพด้านราคา ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้มีเงินไหลเข้าตลาดทองคำเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการเคลื่อนไหวของราคาทองคำที่ปรับตัวขึ้นมารับข่าวการประชุมของเฟดนั้น มองว่าในระยะสั้นราคามีทิศทางค่อยๆปรับตัวขึ้น แต่ยังต้องระวังแรงขายที่อาจสลับออกมาเป็นระยะ แต่ภาพในระยะยาวมองว่ายังคงเป็นขาขึ้นอยู่ตราบใดที่ราคายังคงสามารถทรงตัวเหนือระดับแนวรับสำคัญบริเวณ 1,750-1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ส่วนนักลงทุนที่ต้องการเข้าซื้อเก็งกำไรระยะสั้น แนะนำหาจังหวะซื้อหากราคาไม่หลุดบริเวณ 1,839 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพื่อหวังขายทำกำไรบางส่วนเมื่อราคาดีดตัวขึ้นไปไม่ผ่านแนวต้านบริเวณ 1,887-1,899 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ทั้งนี้ ในส่วนของราคาทองคำในรูปเงินบาทนั้น ปัจจุบันถือว่าได้รับแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ราคาทองคำในประเทศปรับขึ้นน้อยกว่าราคาทองคำในตลาดโลก ดังนั้น นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนทองคำในตลาด TFEX ผ่านการลงทุนโกลด์ออนไลน์ฟิวเจอร์ส(Gold Online Futures) ที่เป็นการซื้อขายทองคำล่วงหน้าในรูปแบบดอลลาร์สหรัฐ กับ บ.วายแอลจี ฟิวเจอร์ส เพื่อลดความเสี่ยงจากการผันผวนของค่าเงินบาทได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนต้องศึกษาให้เข้าใจก่อนการลงทุน

Huawei บริษัทเทเลคอมส์ อภิมหายักษ์ใหญ่ของจีน ตัดสินใจทุกกระปุก สร้างโรงงานเต็มรูปแบบนอกบ้านตัวเองเป็นแห่งแรกของโลก

โดยเลือกเมืองบรูแมธ ที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของฝรั่งเศส ใกล้กับรอยต่อพรมแดนของประเทศเยอรมันเป็นฐานการผลิต

ซึ่งการเปิดโรงงานในยุโรปครั้งนี้ไม่ได้มาเล่นๆ เหริน เจิ้งเฟย ประธานบริษัท Huawei ทุ่มเม็ดเงินลงทุนถึง 200 ล้านยูโร (ประมาณ 7.3 พันล้านบาท) สร้างโรงงาน Huawei เป็นฐานการผลิตของบริษัท และสร้างตลาดผลิตภัณฑ์ 5G เพื่อป้อนสู่ตลาดทั่วทั้งยุโรป คาดว่าสามารถสร้างงานให้คนในท้องถิ่นได้ไม่น้อยกว่า 300 อัตรา

นอกจากนี้ ยังทำงานร่วมกับศูนย์วิจัยพัฒนา 23 แห่ง และมหาวิทยาลัยในยุโรปอีกกว่า 100 แห่ง เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึง ซัพพลายเออร์อีกกว่า 3,100 เจ้า โดยตั้งเป้าหมายที่จะขยายฐานลูกค้า 5G ในยุโรป ที่อาจมีมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านยูโรต่อปี

นายฌอง ร็อตเนอร์ ประธานแคว้นกร็องแต็สต์ ทางภาคตะวันออกของฝรั่งเศสให้ความเห็นว่า การลงทุนของ Huawei ถือเป็นข่าวที่วิเศษมาก ซึ่งเขาเชื่อมั่นว่าการลงทุนในครั้งนี้จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจข้ามพรมแดนได้เลยทีเดียว

ถึงแม้ว่าการรุกตลาดยุโรปในครั้งนี้ มีความเสี่ยงจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ที่ยังคงคุกรุ่นตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมพ์ ที่บีบให้ประเทศพันธมิตรให้ร่วมกันคว่ำบาตร Huawei โดยการยกเลิกสัญญาการใช้ระบบ 5G ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของข้อมูลด้านความมั่นคง และมีบางประเทศในยุโรปที่แสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่าจะไม่ใช้ระบบเทคโนโลยีของ Huawei อย่างแน่นอน เช่น อังกฤษ และ สวีเดน

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ตลาดยุโรปถือเป็นตลาดต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของ Huawei และหลายประเทศยังคงอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาสัญญา 5G ของบริษัท รวมทั้งรัฐบาลฝรั่งเศสยังไม่ได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าจะร่วมแบน Huawei กับสหรัฐอเมริกาหรือไม่

การแถลงข่าวเปิดโรงงานใหม่นอกประเทศครั้งแรกของ Huawei จึงเป็นการรุกตลาดยุโรปอย่างเต็มตัว ซึ่งทาง Huawei มั่นใจว่าน่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แต่ต้องแบกรับความเสี่ยงที่ยังคาดเดาไม่ได้ หลังจากที่สหรัฐอเมริกากำลังจะเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ในปีหน้า ว่าจะมีมาตรการกดดันจีนอย่างไร เพื่อไม่ให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าตลาดด้านเทคโนโลยี 5G เบอร์ 1 ของโลก


แหล่งข่าว

https://www.france24.news/en/2020/12/huawei-to-set-up-its-first-factory-outside-china-in-eastern-france-2.html

https://today.rtl.lu/news/business-and-tech/a/1631954.html

http://www.xinhuanet.com/english/2020-12/18/c_139598602.htm


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top