'โอมิครอน' ใน US และ UK ถึงจุดพีคเร็วมาก นักวิทย์ ชี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนโรคระบาดใหญ่

บรรดานักวิทยาศาสตร์พบเห็นสัญญาณการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตัวกลายพันธุ์โอมิครอนอาจถึงจุดสูงสุดแล้วในสหราชอาณาจักร เช่นเดียวกับสหรัฐฯ พร้อมชี้ว่าเคสผู้ติดเชื้ออาจเริ่มลดลงอย่างฉับพลันหลังจากนี้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนถึงขั้นมองว่าบางทีโอมิครอนอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโรคระบาดใหญ่ ที่เปิดทางให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับไวรัส

เหตุผลก็คือตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าแพร่กระจายเชื้อรวดเร็วมากๆ บางทีอาจไม่มีคนเหลือให้ติดเชื้อแล้ว ไม่ถึง 1 เดือนครึ่ง หลังจากมันถูกตรวจพบเป็นครั้งแรกในแอฟริกาใต้ "มันกำลังลดลงอย่างรวดเร็วเท่ากับตอนที่มันเพิ่มขึ้น" อาลี มอคแด็ด ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันในซีแอตเทิลกล่าว

แต่ขณะเดียวกัน พวกนักวิทยาศาสตร์เตือนว่ายังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับระยะถัดไปของโรคระบาดใหญ่ เนื่องจากจุดสูงสุดและการลดลงใน 2 ประเทศ เกิดขึ้นโดยใช้เวลาต่างกันและมีอัตราความรวดเร็วต่างกัน ดังนั้นช่วงเวลายากลำบากยังคงรออยู่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์หรือหลายเดือนข้างหน้า ทั้งสำหรับคนไข้และโรงพยาบาลต่างๆ ที่อัดแน่นไปด้วยผู้ป่วย แม้นหากข้อสันนิษฐานเคสผู้ติดเชื้อลดลงเกิดขึ้นจริงก็ตาม

"ยังคงมีคนอีกมากมายที่จะติดเชื้อ ตอนที่เราไต่ลงเนินเขาทางด้านหลัง" คำกล่าวของ ลอเรน อันเซล เมเยอร์ส ผู้อำนวยการสถาบันโมเดลโควิด-19 แห่งมหาวิทยาลัยเทกซัส ซึ่งคาดหมายว่าเคสผู้ติดเชื้อจะถึงจุดพีคสุดภายในสัปดาห์นี้

ในส่วนของโมเดลที่ได้รับความเชื่อถืออย่างมากของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ระบุว่าจำนวนเคสผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐฯ จะแตะระดับสูงสุด 1.2 ล้านคนในวันที่ 19 มกราคม และจากนั้นจะลดลงอย่างรวดเร็ว "ง่ายๆ เลยคือทุกคนที่สามารถติดเชื้อจะติดเชื้อหมดแล้ว" มอคแด็ด ระบุ

เขากล่าวว่า ในข้อเท็จจริงที่ผ่านการคำนวณอันซับซ้อนของทางมหาวิทยาลัย ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่แท้จริงของสหรัฐฯ การประมาณการซึ่้งนับรวมคนที่ไม่เคยตรวจเชื้อด้วย ได้ผ่านจุดพีคมาแล้ว โดยแตะระดับ 6 ล้านคนเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันในสหราชอาณาจักร เคสผู้ติดเชื้อใหม่โควิด-19 ลดลงเหลือราวๆ 140,000 คนต่อวันในสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากเคยพุ่งขึ้นมากกว่า 200,000 คนต่อวันในช่วงต้นเดือน

เควิค แม็คคอนเวย์ ศาสตราจารย์เกษียณอายุ ด้านสถิติประยุกต์แห่งมหาวิทยาลัยโอเพ่นของสหราชอาณาจักร ระบุว่าในขณะที่เคสผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ อย่างเช่น ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ และทางตะวันตกของแถบมิดแลนด์ แต่การแพร่ระบาดอาจเลยจุดพีคแล้วในลอนดอน

ข้อมูลเหล่านี้เพิ่มความหวังแก่ 2 ประเทศ ว่าอาจกำลังได้เห็นสิ่งเดียวกับที่เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ ซึ่งเคสผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างรวดเร็ว แต่จากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อก็ลดลงอย่างมากในอีก 1 เดือนต่อมา

"เรากำลังพบเห็นเคสผู้ติดเชื้อที่กำลังลดลงอย่างชัดเจนในสหราชอาณาจักร แต่ผมอยากเห็นเคสผู้ติดเชื้อลดลงมากกว่านี้ ก่อนที่เราจะสรุปได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ จะเกิดขึ้นที่นี่ด้วย" นายแพทย์พอล ฮันเตอร์ ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลียแห่งสหราชอาณาจักรกล่าว

มีความแตกต่างหลายอย่างระหว่างสหราชอาณาจักรกับแอฟริกาใต้ อาทิ การมีประชากรสูงวัยกว่าของสหราชอาณาจักร และแนวโน้มที่ประชาชนของสหราอาณาจักรใช้เวลาอยู่ในร่มมากกว่าในช่วงฤดูหนาว นั่นหมายความว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของแต่ละประเทศจะมีความไม่แน่นอนแตกต่างกันออกไป

ในอีกด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่สหราชอาณาจักรตัดสินใจบังคับใช้ข้อจำกัดต่างๆ น้อยที่สุดในการรับมือกับโอมิครอน ดังนั้นจึงอาจทำให้ตัวกลายพันธุ์นี้แพร่ระบาดในหมู่พลเมืองของสหราชอาณาจักรเร็วกว่ามากเมื่อเทียบกับประเทศยุโรปตะวันตกอื่นๆ อย่างเช่น ฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี ที่กำหนดมาตรการเข้มงวดควบคุมโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ชาบีร์ มาห์ดี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์มหาวิทยาลัยวิตวอเตอร์สแรนด์ของแอฟริกาใต้ ระบุว่าประเทศยุโรปทั้งหลายที่กำหนดล็อกดาวน์เข้มข้น ไม่จำเป็นต้องก้าวผ่านระลอกการแพร่ระบาดของโอมิครอนด้วยจำนวนเคสผู้ติดเชื้อที่น้อยกว่าแต่อย่างใด และบางทีมันอาจใช้เวลาการแพร่ระบาดเป็นเวลานานกว่าด้วยซ้ำ

เมื่อวันอังคาร (11 ม.ค.) องค์การอนามัยโลกระบุว่าพบเคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ทั่วยุโรป 7 ล้านคนในสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังอ้างโมเดลของศาสตราจารย์มอคแด็ด ประมาณการว่าประชากรครึ่งหนึ่งของยุโรปจะติดเชื้อโอมิครอนภายในช่วงเวลาราวๆ 8 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ฮันเตอร์และผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ คาดหมายว่าโลกจะผ่านพ้นระลอกการแพร่ระบาดของโอมิครอนไปได้ "บางทีอาจจะขึ้นๆ ลงๆ ไปตลอดทาง แต่ผมหวังว่าในช่วงอีสเตอร์ เราจะหลุดพ้นจากสิ่งนี้"

เมเยอร์ส มหาวิทยาลัยเทกซัส ระบุว่าบางทีโอมิครอนอาจเป็นจุดเปลี่ยนของโรคระบาดใหญ่ โดยชี้ภูมิคุ้มกันผ่านการติดเชื้อ เช่นเดียวกับยาใหม่ๆ และวัคซีน อาจทำให้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นอะไรบางอย่าง "ที่เราสามารถอยู่ร่วมด้วยได้ง่ายขึ้น"

"ในช่วงท้ายของระลอกการแพร่ระบาดนี้ จะมีคนติดเชื้อมากกว่าตัวกลายพันธุ์บางตัวของโควิด-19 มากมายหลายเท่า" เมเยอร์สกล่าว "ณ จุดหนึ่ง เราจะสามารถขีดเส้นและโอมิครอนอาจเป็นจุดนั้น จุดที่เราเปลี่ยนผ่านจากหายนะที่คุกคามโลก สู่บางอย่างที่อาจเป็นโรคๆ หนึ่งที่สามารถจัดการได้ง่ายกว่ามาก" เธอระบุ

กระนั้นก็ตามเธอเตือนว่ายังมีความเป็นไปได้ที่ตัวกลายพันธุ์ใหม่หนึ่งๆ จะอุบัติขึ้นมา ซึ่งมันอาจเลวร้ายกว่าโอมิครอนก็เป็นได้


(ที่มา:เอพี)
https://mgronline.com/around/detail/9650000003356