Tuesday, 8 July 2025
ECONBIZ

‘อ.พงษ์ภาณุ’ มอง!! ความท้าทายอาเซียนในสมรภูมิโลก หลากเงื่อนไขทาง ‘ภูมิรัฐศาสตร์-ศก.’ ที่ยังฉุดให้โตช้า

ทีมข่าว THE STATES TIMES / THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 27 ส.ค.66 เกี่ยวกับประเด็นไทยในอาเซียน โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

อาเซียนเป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจภูมิภาคที่สำคัญและใกล้ชิดที่สุดของไทย แม้ว่าในทางการเมือง ยังมีปัญหาอยู่ค่อนข้างมากในบางประเทศ ทั้งเรื่องความรุนแรงและความไม่สงบ เช่น ในเมียนมา หรือแม้แต่ประเด็นความขัดแย้งกับจีนเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ แต่ในด้านเศรษฐกิจ อาเซียนก็ได้มุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) ในระดับที่สูงขึ้นตามลำดับ เพียงแต่ก็ยังไม่สามารถเทียบเคียงได้กับสหภาพยุโรป (European Union) ที่ได้เข้าสู่ความเป็นสหภาพการเงิน (Monetary Union) ที่มีเงินยูโรสกุลเดียวมากว่า 20 ปีแล้ว

สำหรับก้าวแรกของการรวมตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเมื่อปี 2535 เมื่อนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น เสนอในการประชุมผู้นำอาเซียนให้จัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area - AFTA) โดยประเทศสมาชิก 10 ประเทศสามารถขจัดอุปสรรคทางการค้า ทั้งที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษีได้ภายในปี 2008 ก่อให้เกิดตลาดการค้าเดียว อันเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจการลงทุนมากมาย

วันนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ อาเซียนอยู่ในห้วงแห่งความท้าทายทางเศรษฐกิจ แม้เกิด AFTA (เขตการค้าเสรีอาเซียน) แต่ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าผู้นำอาเซียนจะสามารถผลักดันความร่วมมือที่มีนัยสำคัญได้เลย เพราะการเปิดเสรีด้านการค้าบริการก็ไปไม่ถึงไหน เนื่องจากประเทศสมาชิกยังคงยึดมั่นปกป้องธุรกิจบริการของตน ส่วนการเปิดเสรีแรงงานเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์เพราะเป็นสังคมสูงอายุ ก็ไม่คืบหน้า ทั้ง ๆ ที่มีแรงงานอพยพ (Migrant Workers) ในอาเซียนอยู่แล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน 

สุดท้ายด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุกประเทศ ก็มีลักษณะแข่งขันกันเองมากกว่าที่จะร่วมมือกัน ความหวังที่จะให้เกิด ASEAN Single Visa ทำนองเดียวกับกลุ่ม Schengen ยังเป็นแค่ความฝัน

ฉะนั้นในวันนี้ ในวันที่อาเซียนยังหาผู้นำไม่เจอ จึงยังไม่สามารถนำอาเซียนสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจได้ในระดับที่สูงขึ้น 

สื่อญี่ปุ่น เผย ‘Isuzu’ เตรียมเปิดตัวรถกระบะไฟฟ้ารุ่นแรก เล็งใช้ ‘ไทย’ เป็นฐานการผลิตใหญ่ เพื่อส่งออกสู่ตลาดโลก

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 66 สำนักข่าว ‘nikkei’ ของญี่ปุ่น รายงานว่า ‘อีซูซุมอเตอร์’ วางแผนที่จะเปิดตัวรถกระบะไฟฟ้าในประเทศไทยและที่อื่นๆ ในช่วงต้นปี 2025 โดยตั้งเป้าที่จะรักษาส่วนแบ่งการตลาดในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยขณะนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ของจีนเป็นผู้นำการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยแล้ว

สำนักข่าว nikkei  ระบุว่า กระบะไฟฟ้ารุ่นแรกของแบรนด์จากมาจากพื้นฐานของ ISUZU D-MAX ของบริษัท จะผลิตในประเทศไทยสำหรับการเปิดตัวในปี 2025 สำหรับอีซูซุ ครองตลาดรถกระบะในประเทศไทยประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนมากกว่า 40% ของยอดขายรถยนต์ในประเทศ

ด้านยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นมาก ในเดือนกรกฎาคม มียอดขายถึง 5,014 คัน คิดเป็นประมาณ 8% ของยอดขายรถยนต์ใหม่

ทั้งนี้ ISUZU วางแผนใช้ประเทศไทย เป็นฐานในการผลิต กระบะไฟฟ้าอย่าง ISUZU D-MAX เพื่อส่งขายในยุโรปด้วย เบื้องต้น prototype หรือต้นแบบ กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา นอกจากนี้คู่แข่งอย่าง TOYOTA HILUX REVO ที่จะเปิดตัวไฮบริดปีหน้า อาจเห็น ISUZU D-MAX HYBRID ในเวลาไล่เลี่ยกัน

นาย ทาคาชิ ฮาตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ เปิดเผยถึงแผนพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าว่า…

“แม้ว่าอีซูซุได้เปิดตัว Elf EV ที่ญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่การเปิดตัวยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอื่นๆ ต้องคำนึงถึงความต้องการลูกค้าเป็นหลัก สำหรับการเปิดตัว Elf EV รถบรรทุกไฟฟ้าในไทยอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา

สำหรับ ISUZU D-MAX EV อยู่ในขั้นตอนการพัฒนารถต้นแบบจะประกอบที่ไทย และส่งออกไปขายที่ทวีปยุโรป เนื่องจากเราได้ย้ายฐานการผลิตมาที่ไทยทำให้การที่จะประกอบในประเทศญี่ปุ่นเป็นเรื่องยากมาก ซึ่งเราไม่สามารถระบุระยะเวลาที่ชัดเจนได้ว่า จะดำเนินการเมื่อไร เพราะยังอยู่ในกระบวนการขั้นตอนการพัฒนา

การใช้ประเทศไทย เป็นฐานการผลิต ถามว่าต้องลงทุนเพิ่มหรือไม่ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด หากความต้องการเพิ่ม เราจำเป็นต้องขยายโรงงาน ส่งผลให้ต้องเพิ่มการลงทุนเพิ่มขึ้น หากชิ้นส่วนกระบะไฟฟ้าคล้ายกับ D-MAX ปัจจุบันก็สามารถใช้สายการผลิตเดิมได้ มีเพียงชิ้นส่วนแบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า ที่แตกต่าง และต้องเพิ่มสายการผลิตใหม่”

‘รองผู้ว่าฯ เชียงใหม่’ ย้ำชัด ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน หากต้องการพลิกฟื้น ‘เชียงใหม่’ ไร้ปัญหาไฟป่า - PM2.5

ฝุ่นพิษ PM2.5 จากเดิมที่เคยเป็นปัญหาใหญ่ของคนกรุง แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้คืบคลานเข้าปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือและกำลังจะกลายเป็นต้นเหตุภัยสุขภาพของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่ดูเหมือนว่าจะได้รับผลกระทบหนักสุด เพราะเป็นจังหวัดที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น และเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก

ภาพความเลวร้ายของสถานการณ์ได้ปรากฏแก่สาธารณชนผ่านสื่อมวลชนและสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง เกิดเป็นกระแสเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ไขปัญหา

อย่างที่ทราบกันดีว่า นอกเหนือจากภาคขนส่ง-คมนาคมที่เป็นต้นกำเนิดของ PM2.5 แล้ว ปัญหา ‘การเผาป่า’ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว ที่ผ่านมาจึงมีการเรียกร้องให้วางมาตรการเข้มข้นในการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและยั่งยืน

นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ยอมรับว่า ปัญหาไฟป่าและ PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ และทุกภาคส่วนได้พยายามถอดบทเรียนถึงปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้างที่ไม่สามารถทำให้ปัญหาหมดไปได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการเตรียมการรับมือทั้งการปลูกป่า การทำป่าเปียก และใช้เทคโนโลยี บริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านแอปพลิเคชันที่เรียกว่า ซึ่งเป็นแอประบบสนับสนุนการตัดสินใจในบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลโดยการใช้ไฟหรือการเผาในที่โล่ง เป็นระบบที่บูรณาการ ทั้งข้อมูลตรวจวัด ข้อมูลดาวเทียม และข้อมูลพยากรณ์จากแบบจำลองคุณภาพอากาศ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง

แต่ทว่า ด้วยสภาพพื้นที่ป่าของจังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นไม้เบญจพรรณผลัดไป เมื่อเวลาผ่านไป 2-3 ปี เมื่อใบไม้มีจำนวนมากขึ้น หากเกิดไฟป่าขึ้นมา ก็จะเกิดความลำบากในการควบคุม ดังนั้น จึงจะเห็นว่า ทางจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อรับมือกับไฟป่ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าเพิ่มเติม การทำป่าชุมชน และการทำฝายชะลอน้ำ เป็นต้น

และอีกหนึ่งแนวทาง ที่ทางจังหวัดเชียงใหม่จะทํานั่นก็คือ การดึงเชื้อเพลิงออกมาจากป่า เพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัชพืชใบไม้จากพื้นที่ป่า และตอซังข้าวโพด จากพื้นที่เกษตร เพื่อลดการเผา และนับว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่เห็นภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการรับซื้อเศษวัชพืชต่าง ๆ เพื่อนำไปทำเป็นเชื้อเพลิงแบบชีวมวล 

“การนำเศษวัชพืชไปทำเป็นชีวมวล เป็นเรื่องที่ดีมาก ที่ผ่านมาทางหวัดได้พยายามที่จะศึกษา แต่ก็ยังไม่ค่อยประสบผลสําเร็จ เนื่องจากว่า มูลค่าของวัสดุพวกนี้ ไม่คุ้มกับที่ชาวบ้านจะขนไปขาย เพราะมีต้นทุนค่าขนส่ง แต่การที่ภาคเอกชนได้เข้ามาเพิ่มจุดรับซื้อ ที่ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงง่ายขึ้น เชื่อว่าจะเพิ่มแรงจูงใจให้คนขนวัชพืชและตอซังมาขายเพิ่มมากขึ้น และสุดท้ายจะช่วยแก้ปัญหาการเผาป่าได้อย่างยั่งยืน แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือทุกคนต้องตระหนักถึงปัญหาและร่วมมือร่วมใจแก้ไข เพราะไฟป่าหมอกควันที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น ไม่ใช่เป็นปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของพี่น้องประชาชนทุกคนที่จะร่วมกันแก้ไข อย่าลืมว่าอากาศไม่มีพรมแดน ทุกคนหายใจด้วยอากาศเดียวกัน ถ้าเรานิ่งเฉยไม่แก้ไขปัญหาร่วมกัน คิดว่า เรื่องไฟป่า ก็จะอยู่คู่กับเชียงใหม่ไปอีกนาน”

‘EV ไทย’ ติดท็อป 10 ของโลก บริษัทยักษ์ใหญ่แห่ปักฐาน ตั้งแต่โครงการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ไปจนถึงสถานีชาร์จไฟ

เมื่อไม่นานมานี้ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวปาฐกถาในงานThailand Focus 2023 หัวข้อ ‘Benefifs from supply chain relocation and renewed investments : EV industries’ ว่าไทยจะได้ประโยชน์อย่างไรจากการย้ายฐานห่วงโซ่อุปทาน และการกลับเข้ามาลงทุนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 

ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมีความแข็งแกร่ง มีส่วนแบ่งใน GDP ถึง 6% และถูกจัดอยู่ในอันดับ 10 ของโลก มีการเข้ามาขอการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น มีตั้งแต่โครงการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ไปจนถึงสถานีชาร์จไฟ 

โครงการรถยนต์ EV ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้วถึง 17 โครงการ เป็นผู้เล่นรายใหญ่เข้ามา เช่น บีวายดี(BYD), เกรทวอลล์ มอเตอร์ (GWM) และยังมีอีกหลายบริษัทใหญ่ที่กำลังขออนุมัติการส่งเสริมการลงทุน เช่น ฉางอันมอเตอร์ 

ด้านแบตเตอรี่ BOI ได้ส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ 71 โครงการ และสถานีชาร์จไฟ EV 10 โครงการ เพิ่มสถานีชาร์จเป็น 11,000 หน่วย จากปัจจุบัน 4,000 หน่วย

‘สนาม ONE ลุมพินี’ เวทีมวยไทยระดับโลก 'กำลังโด่งดัง-เป็นที่นิยม' ‘นักชกต่างชาติ’ อยากขึ้นสังเวียนสักครั้งเป็นเกียรติประวัติในชีวิต

(26 ส.ค.66) สนามมวยเวทีลุมพินี สังเวียนการแข่งขันมวยของ ONE Championship เวทีมวยในตำนานของเมืองไทย ที่ปัจจุบันขึ้นชั้นระดับ World Class (ระดับโลก) เทียบชั้น Madison Square Gaden ของโลกตะวันตก

มวยไทยกำลังเป็นที่นิยมของเยาวชนคนไทยรวมถึงชาวต่างชาติทั่วโลกที่หันมาเล่นกีฬามวยไทยกันจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะการจัดแข่งขันของ เป็นที่ชื่นชอบของทั้งนักกีฬามวยไทยและต่างชาติ เป็นกีฬาที่เผยแพร่ไปทั่วโลก 

‘สนาม ONE ลุมพินี’ กำลังโด่งดังและเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ ทุกคนต่างอยากขึ้นชกบนเวทีนี้เพื่อเป็นเกียรติประวัติ

นอกจากนี้ สนาม ONE ลุมพินี เวทีมวยไทยระดับโลก ยังมีโรงเรียนมวยไทยลุมพินี ที่มี พล.ท.นรินทร์ มีสมบูรณ์ เป็นหัวหน้าโรงเรียน กับผลงานการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ C Licence (รุ่นที่ 2) สำหรับกำลังพลของกองทัพบก ภายใต้ศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก (มวยไทยลุมพินี)

'บอสใหญ่ BAM' ชวนนักศึกษาทั่วไทย ระเบิดไอเดียสร้างสรรค์ ร่วมประชันโครงการ 'BAM สร้างแบรนด์' ชิงเงินกว่า 4 แสนบาท

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ประจำวันที่ 26 ส.ค.66 ได้พูดคุยกับแขกพิเศษ นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เกี่ยวกับงานประกวด 'BAM สร้างแบรนด์' งานที่เปิดโอกาสให้กับนิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ได้ร่วมระเบิดไอเดียสร้างแบรนด์ BAM ให้ปัง และยั่งยืน ชิงเงินรางวัล รวมกว่า 400,000 บาท พร้อมรับโล่รางวัลและประกาศนียบัตร โดยร่วมสมัครและส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 ส.ค. 2566 นี้ ว่า...

BAM เป็นองค์กรหลักที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ทั้ง NPL และ NPA โดยทำหน้าที่แก้ไขหนี้เสียให้กลับเป็นหนี้ดีเพื่อส่งคืนสู่ระบบเศรษฐกิจปกติอีกครั้ง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา BAM ดำเนินธุรกิจโดยมีแนวคิดในการสร้างเสริมเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เข้มแข็ง โดยแบ่งปันโอกาส คำนึงถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกมิติ เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่ผ่านมา BAM ได้ดำเนินโครงการที่เป็นการส่งเสริมให้เยาวชน นิสิตนักศึกษา ได้รับการพัฒนาทักษะและยกระดับคุณภาพการเรียนรู้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น 'โครงการมอบทุนการศึกษา' ให้กับนักเรียนนักศึกษา มากกว่า 15,000 ทุน รวมเป็นเงินกว่า 70 ล้านบาท 

'โครงการโรงเรียนต้นคิด ชีวิตยั่งยืน' เพื่อให้นักเรียนระดับประถมศึกษา ได้จัดทำแปลงเกษตรอาหารกลางวันในพื้นที่โรงเรียน เป็นการส่งเสริมสุขภาพอนามัยที่ดี และเพิ่มคุณค่าโภชนาการควบคู่ไปกับแผนการเรียนการสอน พัฒนาทักษะด้านการเกษตร

สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนโดยมุ่งเน้นประสบการณ์จริง ด้วยการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจัด 'โครงการประกวดการออกแบบทรัพย์สินรอการขายของ BAM' โดยนำแบบที่ชนะการประกวดไปปรับปรุงพัฒนาทรัพย์ต้นแบบของ BAM เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินรอการขายให้เป็นที่ต้องการของตลาด และยังเป็นการเปิดเวทีให้นักศึกษาได้แสดงฝีมือในเชิงสร้างสรรค์อย่างเต็มที่

***สำหรับในส่วนของโครงการ 'BAM สร้างแบรนด์' ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ BAM ตั้งใจที่จะให้นิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ได้มีพื้นที่ในการนำเสนอความคิด จัดทำแผน ซึ่งจะสร้างการรับรู้ ของแบรนด์ BAM ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ความหลากหลายทางจินตนาการและความคิดที่สดใหม่

"ผมมองว่าการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้นำเสนอความคิดนั้น เพราะเป็นผู้ไม่เคยผ่านประสบการณ์ในการทำงานมาก่อน จึงมีจินตนาการที่กว้างไกล มีการครีเอทแนวความคิดที่ใหม่และสด ซึ่งจะทำให้นักศึกษาเหล่านี้เติบโตเป็นต้นกล้าได้ในอนาคต ต่างจากการจ้างบริษัทเอเจนซี่ ที่ส่วนใหญ่ต้องเป็นไปตามประสบการณ์ของแต่ละบริษัทนั้นๆ เท่านั้น" นายบัณฑิต กล่าว

ในส่วนของเงินรางวัลรวม ก็มีทั้งสิ้น 440,000 บาท ประกอบด้วย...

- รางวัลชนะเลิศ มูลค่า 200,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตรจำนวน 1 รางวัล 
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มูลค่า 100,000 บาท  พร้อมประกาศนียบัตรจำนวน 1 รางวัล  
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ  2  มูลค่า  50,000  บาท พร้อมประกาศนียบัตรจำนวน 1 รางวัล 
- รางวัลชมเชย มูลค่า 30,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตรจำนวน 2 รางวัล 
และรางวัล Popular Vote มูลค่า 30,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตรจำนวน 1 รางวัล

สำหรับโครงการ 'BAM สร้างแบรนด์' จะหมดเขตรับสมัครในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 โดยหลังจากนั้นจะมีการคัดเลือกทีมให้เหลือ 20 ทีม และมีการเทรนนิ่ง พร้อมคัดรอบรองชนะเลิศ, ประกาศ 10 ทีมสุดท้าย และประกาศผลในรอบสุดท้ายพร้อมมอบรางวัล ในวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ต่อไป

"เราหวังว่าโครงการนี้ จะเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะสามารถนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้งานจริงในอนาคตได้ต่อไป" นายบัณฑิต กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามน้องๆ คนไหนที่สนใจ ยังพอมีเวลา สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.bam.co.th และทาง LINE Official Account :@bambrandcontest สมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ www.bambrandcontest.com

‘HACKaTHAILAND 2023’ เสริมทักษะดิจิทัลคนไทย ผ่านกิจกรรมดิจิทัลแบบไร้ขีดจำกัด

(25 ส.ค. 66) ดีอีเอส - ดีป้า ผนึกกำลังเครือข่ายพันธมิตรเปิดมหกรรมแสดงเทคโนโลยีดิจิทัล ‘HACKaTHAILAND 2023 : DIGITAL INFINITY’ ร่วมยกระดับความรู้และทักษะด้านดิจิทัล ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไปเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือโลกอนาคตที่ดิจิทัลเข้ามามีส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตรอบด้าน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านกิจกรรมจัดแสดงเทคโนโลยีดิจิทัลที่หลากหลาย เวทีเสวนาและการบรรยายพิเศษ รวมถึงการประชันไอเดียด้านดิจิทัลบนเวที Pitching กับ 5 โซนไฮไลต์ ณ Plenary Hall 1-4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งเป้าผู้เข้าร่วมกิจกรรมตลอด 2 วันไม่น้อยกว่า 40,000 คน สร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมากกว่า 1,000 ล้านบาท

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานในพิธีเปิดมหกรรมแสดงเทคโนโลยีดิจิทัล ‘HACKaTHAILAND 2023 : DIGITAL INFINITY’ โดยมีผู้แทนจากสถานทูต ผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และเครือข่ายเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึง นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานกรรมการกำกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, ผศ.ดร.ณัฐพลนิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ‘ดีป้า’ พร้อมคณะผู้บริหารและพนักงานร่วมในพิธีโดยพร้อมเพรียง

นายชัยวุฒิ เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลฯ มุ่งมั่นผลักดันประเทศไทยสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนและบุคลากรดิจิทัล ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศผ่านการเสริมสร้างความรู้และทักษะด้านดิจิทัลที่จำเป็นแก่ประชาชนทุกช่วงวัยให้สามารถต่อยอดประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย พร้อมรับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต

“ด้วยเหตุนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ โดย ดีป้า จึงจัดมหกรรมแสดงเทคโนโลยีดิจิทัลสุดยิ่งใหญ่ในชื่อ HACKaTHAILAND 2023: DIGITAL INFINITY ขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 26 สิงหาคม ณ Plenary Hall 1 – 4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับความรู้และประสบการณ์ด้านดิจิทัลที่ทันสมัย พร้อมอัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัลที่น่าสนใจ ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายและการดำเนินงานของกระทรวงที่มุ่งส่งเสริมให้คนไทยมีความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล เพื่อช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลประเทศในภาพรวม ผ่านแนวทางการทำงานตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570)” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ‘HACKaTHAILAND 2023 : DIGITAL INFINITY’ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง ดีป้าและเครือข่ายพันธมิตร ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มาร่วมมอบประสบการณ์ ยกระดับความรู้และทักษะด้านดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนไทยทุกกลุ่มและทุกช่วงวัยตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ก่อนนำพาประเทศไทยเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจ และสังคมดิจิทัลอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยภายในงานมีการนำเสนอเทคโนโลยีดิจิทัลในรูปแบบ Edutainment เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัสประสบการณ์ด้านดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความรู้จากเวทีเสวนาและการบรรยายพิเศษจากเหล่ากูรูในแวดวงรวมไปถึงการประชันไอเดียด้านดิจิทัลในหลากหลายสาขา ซึ่ง ‘HACKaTHAILAND 2023 : DIGITAL INFINITY’ แบ่งเป็น 5 โซนไฮไลต์ ประกอบด้วย

1.) FUTURE ZONE : เตรียมความพร้อมกำลังคนของประเทศ เพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลผ่าน Showcase เทคโนโลยีใหม่ของโลก และการสร้างประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) กับGENERATIVE AI STUDIO โดยการจำลองสตูดิโอที่รองรับทุกไอเดียการสร้างสรรค์ผลงานดิจิทัล

2.) COMMERCE ZONE : รวบรวมเทคโนโลยีเพื่อการซื้อ – ขายในโลกยุคใหม่ที่ครอบคลุมระบบนิเวศเพื่อการค้าพร้อมพบกับความสำเร็จจากการยกระดับตลาดสดสู่ตลาดยุคใหม่ ที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ลดต้นทุน และเพิ่มยอดขายอย่างยั่งยืน รวมถึง Showcase ตลาดแห่งโลกอนาคตที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ล้ำสมัยมาใช้ยกระดับการบริหารจัดการร้านค้า การเปิดตัวแพลตฟอร์มข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Platform) ด้าน E-commerce สัญชาติไทย เพื่อวิเคราะห์เทรนด์การค้าขายจาก Social Platform และ E-Commerce Platform รวมถึงการเนรมิตพื้นที่เป็น Live Studio เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้รับชมเบื้องหลังการขายของออนไลน์ จากบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังใน 4 หมวดสินค้า คือ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ความงาม อาหาร และเทคโนโลยี

3.) TOURISM ZONE : เปิดประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวแห่งอนาคต ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลแบบเต็มขั้นผ่านกิจกรรม Digital Tourism Fair เชื่อมโยงทุกการเดินทางให้เป็นเรื่องง่าย ด้วยการออกแบบและวางแผนการเดินทางอย่างชาญฉลาด สะดวก สบาย ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยว พร้อมพบกับ Showcase แพลตฟอร์มท่องเที่ยวระดับชาติ ThailandCONNEX เชื่อมต่อทุกโอกาสให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในยุคดิจิทัล

4.) CONTENT ZONE : พบกับโอกาสสำคัญของวงการเกมไทยกับกิจกรรม Demo Day ของโครงการ depa Game Accelerator Program Batch 3 ที่เหล่าคนทำเกม ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นจะมาประชันผลงาน เพื่อค้นหาสุดยอดเกมและนักพัฒนาเกมรุ่นใหม่ พร้อมเปิดประสบการณ์ไปกับ ‘เกมไทย Showcase’ ที่ผู้ร่วมงานจะได้ลองเล่นเกมที่ได้รับการพัฒนาโดยฝีมือคนไทย และพื้นที่พบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ของคนในเครือข่าย และภาคอุตสาหกรรม

5.) WELL-BEING ZONE : พบกับ Showcase แพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ(Health Link) พร้อมการเสวนาในหลากหลายหัวข้อ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนด้วยเทคโนโลยี Big Data และการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ‘The International Conference on Big Data Analytics and Practices’ (IBDAP)

นอกจากนี้ HACKaTHAILAND 2023: DIGITAL INFINITY ยังมีเวที Pitching ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ได้แสดงศักยภาพทางความคิดในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น

- กลุ่ม DIGI-PRENEUR การเฟ้นหาสุดยอด DIGITAL SOLUTIONS เพื่อพลิกโฉมประเทศ ชิงเงินรางวัลรวม 1 ล้านบาท

- กลุ่ม FUTURE CAREER การแข่งขันด้าน DIGITAL SKILLS ต่อยอดอาชีพแห่งโลกอนาคตและยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวม 2 ล้านบาท

- กลุ่ม YOUTH การแข่งขัน HACKATHON by Digital Youth Network กับหัวข้อนวัตกรรมสร้างสรรค์โลกดิจิทัลใน5 หมวด ประกอบด้วย Startup, Program, Technology, Business และ Activity ชิงเงินรางวัลรวม 275,000 บาท

- กลุ่ม E-COMMERCE การแข่งขันของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ และดิจิทัลคอนเทนต์ครีเอเตอร์หน้าใหม่ ชิงเงินรางวัลรวม 280,000 บาท

- กลุ่ม DIGITAL CONTENT การประชันไอเดียของเหล่าคนทำเกม ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น เพื่อเฟ้นหา The Best Game of depa Game Accelerator Program Batch 3 พร้อมรับทุนสำหรับต่อยอดผลงานรวม 500,000 บาท

ภายในพิธีเปิดยังมีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่าง ดีป้า และAustralian-Thai Chamber of Commerce, Malaysian Research Accelerator for Technology & Innovation (MRANTI) บริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และความร่วมมือในการนำเทคโนโลยีคลาวด์ เอไอ มาประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการเปิดหลักสูตรเพื่อพัฒนากำลังคนดิจิทัลกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี(ประเทศไทย) จำกัด

พร้อมกันนี้ ยังมีการแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนแนวคิดจากกูรูในหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น นายจิติณัฐ อัษฎามงคล ประธาน ONE Championship ประเทศไทย, ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด, นายธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเซนด์ มันนี่จำกัด, นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัดและ นายคมสันต์ ลี ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ฯลฯ

“มหกรรมแสดงเทคโนโลยีดิจิทัล HACKaTHAILAND 2023 : DIGITAL INFINITY ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญของคนไทยที่จะได้สัมผัสประสบการณ์ด้านดิจิทัลสุดประทับใจแบบไร้ขีดจำกัด เรียนรู้ประโยชน์ของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากำลังคนและเพิ่มศักยภาพให้กับดิจิทัลสตาร์ทอัปไทย เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน ขับเคลื่อนประเทศสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ที่สำคัญประชาชนจะมีภูมิคุ้มกันในการรับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากโลกอนาคต โดย ดีป้า ประเมินว่า ตลอดระยะเวลา 2 วันของการจัดงานมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบ Online และ Onsite ไม่น้อยกว่า 40,000 คน สามารถสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมากกว่า 1,000 ล้านบาท” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารและรายละเอียดต่าง ๆ ของงาน HACKaTHAILAND 2023 : DIGITAL INFINITY ได้ที่LINE OA: @depaThailand, Facebook Page : HACKaTHAILAND และ Website: www.hackathailand.com

‘รัฐบาล’ เผย ตัวเลข BOI พบ การลงทุนด้านอุตสาหกรรมฟื้นตัว ‘อิเล็กทรอนิกส์-อาหารแปรรูป-EV’ ปังสุด มูลค่าลงทุนกว่า 3 แสนลบ.

(25 ส.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เรื่องการฟื้นตัวด้านอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป และรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเดือนมกราคม – มิถุนายน 2566 มีมูลค่าเงินลงทุน 364,420 ล้านบาท สะท้อนความสำเร็จมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะการกระตุ้นการลงทุนอุตสาหกรรม EV แบบครบวงจรของรัฐบาล

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน ซึ่งแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศมาจากจีน สิงคโปร์ และญี่ปุ่น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองคือ กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลได้เดินหน้าลงทุนไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และสถานีชาร์จไฟฟ้า ทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตหลักของยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ได้รับการส่งเสริมแล้ว 14 โครงการ เงินลงทุนรวม 33,970 ล้านบาท คิดเป็นกำลังการผลิต 276,640 คันต่อปี

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยมีการพัฒนามากขึ้น ถือเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ของโลก เนื่องจากมีห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจรจากการดำเนินการในอุตสาหกรรมนี้มาอย่างยาวนาน และจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ออกมาตรการให้เงินอุดหนุนการซื้อรถยนต์ EV เพื่อสร้างตลาดในประเทศ และจะก่อให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องตามมา โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ สำหรับ EV

น.ส.รัชดา กล่าวว่า รัฐบาลดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลัก ภายใต้แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ในการส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลดำเนินมาตรการสนับสนุนแบบครบวงจร ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโต เท่าทันประเทศอื่นในภูมิภาค และมีศักยภาพตอบโจทย์การลงทุน ตามมาตรฐานสากล

‘ดร.เผ่าภูมิ’ ชี้!! ‘เงินดิจิทัล’ เข้าทันที ไม่ต้องลงทะเบียน  คาดใช้งานได้ช่วงครึ่งแรก 67 คาบเกี่ยวสงกรานต์พอดี

‘เผ่าภูมิ’ ชี้!! โครงการ ‘เงินดิจิตอล’ หรือ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่ต้องลงทะเบียน ผ่านแอปฯ ใดๆ เงินจะถูกโอนเข้าบัญชีอัตโนมัติให้ผู้มีสิทธิ์ทุกคนทันที

โดย ดร.เผ่าภูมิ ได้เผยกับรายการ ‘เรื่องเล่าเช้านี้’ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.66 ว่า นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 จะเป็นคนละอันกับแอปฯ เป๋าตัง และคาดว่าจะเริ่มให้ประชาชนใช้งานได้ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า (ปี พ.ศ. 2567) หรือช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2567

ดร.เผ่าภูมิ ระบุเพิ่มเติมว่า ทางเพื่อไทยจะพยายามดำเนินการให้ทันก่อนเดือนเมษายน 2567 ซึ่งจะคาบเกี่ยวกับช่วงเทศกาลสงกรานต์พอดี และประชาชนจะได้เดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปจับจ่ายใช้ทันในช่วงนั้น

เมื่อถามถึงเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะมีใครได้บ้าง? ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า ประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป รวมไปถึงกลุ่มผู้พิการ คนชรา ที่มีสวัสดิการอื่น ๆ ก็จะได้รับเต็มจำนวนโดยไม่หัก ประชาชนที่มีสิทธิ์รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่ต้องดำเนินการใด ๆ ไม่ต้องลงทะเบียนผ่านแอปฯ รอเงินเข้าบัญชีอัตโนมัติอย่างเดียว พร้อมเตือนอย่าหลงกลมิจฉาชีพให้โหลดแอปฯ หรือกดลิงก์ต่าง ๆ

เมื่อถามถึงวิธีใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท? ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า เมื่อได้เงินดิจิทัล 10,000 บาท จะมีแอปฯ ที่ผูกกับบัตรประชาชนให้โหลด หรือจะใช้บัตรประชาชนคู่กับ QR Code ส่วนตัวที่จะออกให้โดยหน่วยงานรัฐ ส่วนกรณีผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือก็สามารถใช้บัตรประชาชนคู่กับ QR Code ส่วนตัวของเรา ซึ่งจะมีผูกในระบบอยู่แล้วโดยประชาชนไม่ต้องดำเนินการใด ๆ ขณะเดียวกันในส่วนกรณีที่มีการส่งข้อความให้กดลิงก์ต่าง ๆ หรือโหลดแอปฯ เกี่ยวกับเงินดิจิทัล 10,000 ในตอนนี้ ขอย้ำว่า เป็นมิจฉาชีพทั้งหมด เพราะตอนนี้ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อเด็ดขาด

เมื่อถามว่า ทำไมต้องเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้คนไทย? ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า เพื่อสู้กับความยากจนในสภาวะรายได้ไม่พอรายจ่าย เป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

เมื่อถามว่า ทำไมต้องกำหนดรัศมี 4 กม. จากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน? ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า เพื่อกระจายการจับจ่ายที่กระจุกตัวในเมืองใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและท้องถิ่น ส่วนการใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท ต้องใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน จะใช้ทีเดียวหรือทยอยใช้ก็ได้ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน

สำหรับนโยบาย เงินดิจิทัล 10,000 บาท ถือเป็นมาตรการเฉพาะหน้า เป็นรากฐานสำคัญเพื่อต่อยอดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยคาดว่าเศรษฐกิจในการดูแลของรัฐบาลเพื่อไทย จะโตปีละ 5% ส่งผลให้ปี 2570 ค่าแรงขึ้นต่ำขึ้นเป็น 600 บาทต่อวัน, เงินเดือนปริญญาตรีเริ่มที่ 25,000 ต่อเดือน ซึ่งตรงนี้เป็นเป้าหมายต่อไปของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

อีอีซี โชว์หมุดหมายศูนย์กลางลงทุนโลก  ตั้งเป้า 5 ปี ปั๊มเงินกว่า 2.2 ล้านล้าน

(24 ส.ค. 66) นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่ EEC ยึดหลักสอดรับกับบริบทโลกของอุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อดึงดูดและรองรับการลงทุนจากทั่วโลกในพื้นที่เศรษฐกิจนี้ ก้าวแรกที่สำคัญของเป้าหมาย 5 ปีต่อจากนี้ คือ เริ่มจากพื้นฐานที่สำคัญได้แก่ ที่ดินผ่านการจัดสรรให้เกิดการลงทุนเฉพาะแต่ละกลุ่มธุรกิจ การพัฒนาทักษะแรงงานขั้นสูง รวมทั้งการปรับปรุงกลไกทางกฎหมายและระเบียบให้ง่ายแก่การเข้ามาลงทุน ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งทาง อีอีซี ได้ตั้งเป้าดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศให้ได้กว่า 2.2 ล้านล้านบาท ภายในช่วงปี 2565-2570

โดยขณะนี้ได้เดินหน้าผลักดันการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้วยแผนงานการสร้างการรับรู้นโยบายในวงกว้าง ด้วยการจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือการจัดโรดโชว์ต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ ผู้ขายในพื้นที่ ได้เชื่อมต่อกับผู้ซื้อทั้งจากไทยและต่างชาติ โดยการขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าว จะดำเนินการในเชิงบูรณาการกับภาคีเครือข่ายธุรกิจชั้นนำของไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่มาของการจัดงาน EEC Cluster Fair 2023 ครั้งแรก! ในพื้นที่ อีอีซี มีเป้าหมายที่สำคัญ คือ พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ให้กลายเป็นหมุดหมายใหม่แห่งการลงทุนของประเทศ

‘Kazakh Thai Alliance’ เชิญร่วมทริปธุรกิจสุด Exclusive ปักหมุด คาซัคสถาน ในงาน ‘Food Business Matching’

‘Kazakh Thai Alliance’ โดยการสนับสนุนของสถานทูตคาซัคสถาน ประจำประเทศไทย เดินหน้าจัดงาน ‘2023 / Food Business Matching Trip & MARKET SURWEY’ โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 - 21 กันยายน 2566 นี้ ที่เมืองอัลมาตี้ ประเทศคาซัคสถาน

โดยในงานทางสถานทูตคาซัคสถาน หอการค้า และสมาคมนักธุรกิจอัลมาตี้ได้เชิญ Importer, Distributor และ Buyer ของ Modern Trade / Local Modern Trade รายใหญ่ ๆ ในคาซัคสถาน มาเพื่อเจรจาธุรกิจกับผู้ผลิตสินค้าและผู้ส่งออกจากประเทศไทย

รวมทั้งจะมีกิจกรรม Business Networking หลังงาน พร้อมด้วยการประชุมร่วมกับ Kazakh Invest รวมถึงการเยี่ยมชม Almaty Industrial Zone ซึ่งเป็นพื้นที่นิคมที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและมีความสะดวกสบายในการดำเนินธุรกิจ และมีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่ถูกมาก

ในโอกาสนี้ Kazakh Thai Alliance ได้จัดทริปสุดพิเศษให้กับทุกท่านที่สนใจไปสำรวจห้างและซูเปอร์มาร์เก็ต ทุกแบรนด์ชั้นนำ รวมถึงร้านแบบท้องถิ่นของคาซัคสถาน เพื่อให้ทุกท่านได้เข้าใจบริบทของตลาดมากยิ่งขึ้น ซึ่งในทริปนี้ ผู้ประกอบการทุกท่านสามารถนำสินค้าตัวอย่างไปเจรจาธุรกิจได้เลยทันที 

สำหรับท่านที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับงาน พร้อมทั้งงบประมาณการเดินทางได้ที่ www.thailandfestival.co

อนึ่ง ‘คาซัคสถาน’ นับเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียกลาง และมีศักยภาพด้านการค้ากับไทยมากที่สุด ถือเป็นโอกาสใหม่ของผู้ประกอบการไทย ที่กำลังมองหาตลาดใหม่ ประตูการค้าที่สามารถเชื่อมธุรกิจระหว่างทวีปเอเชียและทวีปยุโรป

โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทย-คาซัคสถาน มีมูลค่า 136 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 98.42% คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 61.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการนำเข้า 74.21 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาซัคสถานเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชที่แยกตัวมาจากอดีตสหภาพโซเวียต และยังเป็นคู่ค้าที่มีศักยภาพมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียกลาง ซึ่งประกอบด้วย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน

ในขณะที่ภาพรวมการค้าระหว่างไทย-ภูมิภาคเอเชียกลาง มีมูลค่า 207.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 41.67% คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 99.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการนำเข้า 107.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สินค้าส่งออกของไทยที่มีโอกาสและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคท้องถิ่น ผู้นำเข้า และตัวแทนจำหน่ายคาซัคสถาน ได้แก่ อาหาร ทะเลกระป๋องและแปรรูป วัตถุดิบสำหรับปรุงอาหาร และอุปกรณ์เครื่องเขียน เป็นต้น

‘รถโดยสารไฟฟ้า’ หนึ่งในกุญแจสำคัญพาเมืองไร้มลพิษ ช่วยปลดล็อกปัญหาโลกร้อน - ส่งมอบอากาศใสบริสุทธิ์

ปัญหาโลกร้อน มลพิษทางอากาศ ถือเป็นปัญหาที่ผู้คนทั้งโลกกำลังเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะเดียวกันก็เริ่มตระหนักและมองหาทางออกที่ยั่งยืน เพื่อรักษาอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมของโลกให้คงความเหมาะสมสำหรับอยู่อาศัยกันต่อไป

ทางออกที่มองหาจนเจอก็คือการพาโลกทั้งใบไปสู่ ‘สังคมคาร์บอนต่ำ’ โดยมีตัวแปรสำคัญคือ ‘พลังงานสะอาด’ ที่จะมาทำหน้าที่ทดแทนพลังงานรูปแบบเดิม (เช่น ถ่านหิน น้ำมัน) แต่มีประสิทธิภาพไม่ด้อยไปกว่ากัน

และหากมองกระแสโลกในปี 2023 ก็พอจะเห็นว่า ‘พลังงานไฟฟ้า’ กำลังได้รับความสนใจจากคนทุกกลุ่ม และหลาย ๆ อุตสาหกรรมพยายามประยุกต์ใช้พลังงานไฟฟ้า เนื่องจากเห็นประโยชน์และศักยภาพที่คุ้มค่า แต่ที่เห็นได้ชัดก็คงเป็นเรื่องของ ‘ยานพาหนะ’ ที่ตอนนี้มีหลายเจ้ายานยนต์ได้เปิดตัวอวดโฉม ‘รถยนต์พลังงานไฟฟ้า’ ในค่ายของตัวเอง แถมมียอดจับจองถล่มทลาย

แต่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่อง ‘จำนวนผู้โดยสาร’ ที่บรรจุได้เพียงไม่กี่คนต่อหนึ่งเที่ยว (บางครั้งก็แค่ 1 คน 1 คัน) และหากทุกคนหันมาเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลกันหมด เราก็คงจะได้เห็นภาพท้องถนนที่เต็มไปด้วยรถยนต์ที่ขยับทีละ 2 เมตรก็ต้องจอดนิ่งเหมือนเดิมแน่

หนทางเลี่ยงเหตุการณ์น่าสะพรึงแบบนั้นก็คงต้องหันหน้าเข้าหา ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ หรือ e-Buses เพราะนอกจากจะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดฝุ่น-มลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง เป็นยานพาหนะที่เข้าถึงคนได้จำนวนมาก บรรทุกผู้โดยสารต่อรอบได้เยอะกว่ารถยนต์ส่วนบุคคล และหากมีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและหันมาใช้บริการรถโดยสารสาธารณะกันมากขึ้น ทำให้ปริมาณความหนาแน่นบนท้องถนนลดลงด้วย

ซึ่งแนวโน้มการหันมาใช้รถโดยสารไฟฟ้าก็พอจะเด่นชัดมากขึ้น สอดคล้องกับรายงานที่น่าสนใจของ Bloomberg ที่คาดว่าภายในปี 2040 หรืออีก 17 ปี ข้างหน้า รถโดยสารสาธารณะทั่วโลกจะถูกปรับเปลี่ยนเป็น ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ ในสัดส่วนมากกว่า 67% ของรถโดยสารทั้งหมด

แน่นอนกว่า หากมีปัจจัยอื่น ๆ หนุนนำให้สังคมโลกนิยมใช้รถโดยสารไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น เช่น ระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ นวัตกรรมทันสมัยที่เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ก็คงได้เห็นรถโดยสารไฟฟ้าวิ่งให้บริการมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศ ก็เริ่มเดินหน้าจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้ามาวิ่งให้บริการประชาชนในประเทศกันแล้ว

เอาล่ะ!! มองกลับมาที่ ‘เมืองไทย’ ของเราก็ไม่น้อยหน้าต่างประเทศเหมือนกัน ทั้งภาครัฐและเอกชนก็เริ่มตื่นตัวและให้ความสนใจกับรถโดยสารไฟฟ้าแล้ว ซึ่งหากได้ยืนรอรถที่ป้ายรถเมล์สักแห่งในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่สัญจรบนท้องถนนทุก ๆ วัน ก็ต้องสะดุดตากับรถโดยสารไฟฟ้าสีน้ำเงินเข้มที่วิ่งมาจอดเทียบป้ายอยู่เรื่อย ๆ แถมยังมีหลากหลายเส้นทางให้บริการด้วย

หากเพ่งมองให้ดีจะพบว่า ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ สีน้ำเงินเข้มนี้เป็นของ ‘ไทย สมายล์ บัส’ ตอนนี้ให้บริการครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ และพื้นที่ปริมณฑล ภายใต้สโลแกน “เดินทางด้วย รอยยิ้ม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” 

ซึ่งก็เป็นการ ‘ใส่ใจสิ่งแวดล้อม’ ที่เห็นเป็นรูปธรรม เพราะการใช้รถโดยสารไฟฟ้าจะไม่เพิ่มมลพิษทางอากาศ ไม่ปล่อยฝุ่น PM2.5 หรือควันสีดำเหม็น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อระบบทางเดินหายใจ

ทั้งนี้ รถโดยสารไฟฟ้า 1 คัน สามารถลดก๊าซคาร์บอนฯ ได้มากถึง 72 ตันคาร์บอนต่อปี เทียบเท่ากับการดูดซับคาร์บอนฯ ของต้นไม้ 7,602 ต้นต่อปี (อ้างอิงข้อมูลจากสำนักเศรษฐกิจป่าไม้ กรมป่าไม้ ระบุว่า ป่าไม้พื้นเมืองดูดซับคาร์บอนฯ 0.95 ตันคาร์บอน / ไร่ / ปี หรือ 100 ตัน / ไร่)

เรียกได้ว่า ยิ่งมีรถโดยสารไฟฟ้ามากแค่ไหน ผู้คนก็ยิ่งได้สูดอากาศบริสุทธิ์เต็มปอดมากเท่านั้น หรือหากต่อยอดให้ครอบคลุมได้ทั้งประเทศ นอกจากจะได้อากาศที่สดชื่นชุ่มปอดแล้ว ระบบการเดินทางของไทยก็จะเชื่อมต่อหากันแบบไม่สะดุด ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว ส่วนผู้ประกอบการก็คงได้ยิ้มออกกันถ้วนหน้า

สรุปง่าย ๆ ก็คือได้ประโยชน์หลายต่อนั่นเอง!!

ก็มารอดูกันว่าในอีก 17 ปีข้างหน้า ระบบขนส่งบ้านเราจะพลิกโฉมไปใช้ ‘พลังงานไฟฟ้า’ ได้มากน้อยแค่ไหน แต่หากฝันอยากเห็น ‘เมืองไทยไร้คาร์บอน’ แบบครอบคลุมทั่วประเทศ ก็คงต้องเร่งมือพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้โดนใจประชาชน และจัดหา ‘ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า’ มาแล่นให้บริการโดยไว

‘EA’ ผนึกเครือข่ายพันธมิตร จัดกิจกรรม ‘วิทยาศาสตร์พลเมือง’ เรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างความยั่งยืนให้ป่าชายเลน

เมื่อไม่นานมานี้ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด เดินหน้าอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตามกลยุทธ์ EA Go Green Clean Energy ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมวิทยาศาสตร์พลเมือง (Citizen Science) มุ่งมั่นส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ กองทัพบก (บางปู) จัดขึ้นโดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พร้อมด้วยเครือข่ายภาคเอกชน และพันธมิตร

นายฉัตรพล ศรีประทุม ผู้อำนวยการ โครงการกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ เป็นผู้แทน EA ร่วมผลักดันกิจกรรมวิทยาศาสตร์พลเมือง เรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายจากภาคธุรกิจจำนวน 6 หน่วยงาน ประชาชน และสื่อมวลชนกว่า 150 คน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านกิจกรรมวิทยาศาสตร์พลเมือง โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานดังกล่าว โดยภายในงานได้มีกิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจและตระหนักในคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนี้

- Exploring Nature by Technology สร้างการเรียนรู้ระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ (Thailand Biodiversity Information Facility: TH-BIF) และ TH-BIF Journey แอปพลิเคชัน เพื่อการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ

- Anyone can be Citizen Science เรียนรู้ความสำคัญของระบบนิเวศป่าชายเลน และภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

- Nature Walk, Nature Talk ให้ความรู้เบื้องต้นผ่านการสังเกต ศึกษา และสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของพืช สัตว์ และระบบนิเวศ ควบคู่ไปกับการทดลองใช้งาน แอปพลิเคชัน TH-BIF Journey 

- Art and Science เชื่อมโยงศิลปะกับวิทยาศาสตร์ การบันทึกธรรมชาติ ผ่านภาพวาด และเทคนิคการถ่ายภาพ

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ ตระหนักถึงความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยและสุขภาพของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่ร่วมกันส่งผลให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพในวงกว้าง ดังนั้นเราจึงมุ่งมั่นที่จะจัดการและดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมฯ ตลอดจนรวมการพิจารณาและประเมินความหลากหลายทางชีวภาพเข้ากับกระบวนการทำงานของเรา รวมถึงได้มีการสำรวจความหลากหลายของชนิดพันธุ์และเส้นทางการบินของนกแต่ละชนิดในพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม และได้สำรวจความหลากหลายของพืชพรรณโดยใช้รูปแบบทุติยภูมิ ภาพถ่ายดาวเทียมและการสำรวจในพื้นที่ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาพัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาดในการขับเคลื่อนการยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวและเกิดความยั่งยืน

‘ITEL’ เซ็นสัญญารับงานโครงการ Course Online ภายใต้ ‘กสทช.’ มูลค่ากว่า 297 ล้านบาท

(21 ส.ค. 66) ​บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม หรือ ITEL คว้างานโครงการพัฒนาทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัล ในภารกิจบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม กลุ่มที่ 5 (ภาคใต้) หรือ โครงการ Course Online มูลค่า 297,208,550 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

​นายณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL ผู้ให้บริการโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติก ที่มีความเสถียรภาพสูงสุดทั่วประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เข้าทำสัญญาโครงการพัฒนาทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัล ในภารกิจบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม กลุ่มที่ 5 (ภาคใต้) จาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) มูลค่าทั้งสิ้น 297,208,550.00 บาท (สองร้อยเก้าสิบเจ็ดล้านสองแสนแปดพันห้าร้อยห้าสิบบาทถ้วน) ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าใช้จ่ายทั้งปวงไว้ด้วยแล้ว โดยสัญญาเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2566 ถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2568

​“บริษัทเล็งเห็นถึงความสำคัญของการต่อยอดจากโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีที่บริษัทได้ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยบริษัทฯ ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมทางสังคม ที่ต้องให้เกิดความเท่าเทียมกันในพื้นที่ห่างไกลในด้านทักษะความรู้การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างโอกาสและการพัฒนาศักยภาพให้กับประชาชน และผู้ด้อยโอกาสในสังคม เพื่อการดำเนินธุรกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับสังคมที่ยั่งยืน” นายณัฐนัย กล่าว

​อย่างไรก็ตาม งานใหม่ที่ ITEL ได้รับความไว้วางใจนั้น จะสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 เติบโตได้ต่อเนื่อง และผลักดันให้ผลประกอบการโดยรวม เติบโตได้ 20-30% ตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งยังทำให้งานในมือ (Backlog) เพิ่มมากขึ้น

‘ออมสิน’ ปล่อยสินเชื่อหนุนผู้ประกอบการอีวี วงเงินรายละ 50 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ 3.745% ต่อปี

(21 ส.ค. 66) นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสิน ให้ความสำคัญในการสนับสนุนยุทธศาสตร์การใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศมุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืน โดยล่าสุด ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อ ‘GSB EV Supply Chain’ ภายใต้การบันทึกความร่วมมือกับ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicle (EV) และผู้ประกอบการ Supply Chain ของอุตสาหกรรม EV ซึ่งเป็นการผลิตยานยนต์ใช้พลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สร้างมลพิษทางอากาศ โดยคาดหวังให้ความร่วมมือดังกล่าวเป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ภาครัฐให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเป็นการผลักดันประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และเคลื่อนที่สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ได้ตามแผนและนโยบายของประเทศ

สินเชื่อ ‘GSB EV Supply Chain’ สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และ Supply Chain ได้แก่ ผู้ผลิต/ผู้ประกอบยานยนต์ไฟฟ้า (OEM) ผู้ผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบยานยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายสนับสนุนให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อหมุนเวียนทำธุรกิจ หรือลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และ Re-Finance ภายใต้ ‘โครงการสินเชื่อธุรกิจ GSB EV Supply Chain’ โดยเป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเก็จ ‘สินเชื่อ Green Loan’ ซึ่งเป็นสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเศรษฐกิจสีเขียว วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 3.745 % ต่อปี (MOR/MLR-3 % ต่อปี) ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 2 ปี และสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการวงเงินมากกว่า 50 ล้านบาท สามารถใช้วงเงินสินเชื่อ ‘โครงการ GSB For BCG Economy’ ได้ ซึ่งไม่จำกัดวงเงินกู้

อนึ่ง ที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อเพื่อรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคตามกระแสอนุรักษ์พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ สินเชื่อ GSB Green Home Loan สำหรับผู้บริโภครายย่อยที่มีความต้องการซื้อบ้านประหยัดพลังงาน สินเชื่อ GSB Go Green ตอบสนองผู้ที่ต้องการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดภาระค่าไฟ หรือติดตั้งแผงโซล่าร์ หรือซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และสินเชื่อ GSB for BCG Economy สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึง สินเชื่อ GSB Green Biz สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ด้าน นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้แก่สมาชิกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ ตลอดจนเข้าถึงความรู้ในการจัดการทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs และ Start up เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ให้เติบโต อย่างมั่นคง

“ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ตามที่ภาครัฐได้ประกาศนโยบายสนับสนุนให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 จากการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศภายในปี 2573 และตั้งเป้าในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย เดินไปข้างหน้าคือ การระดมเงินทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท กลไกทางการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนได้อย่างแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต” นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top