Monday, 7 July 2025
ECONBIZ

‘ดร.กิตติ’ สะท้อน!! ‘เอลนีโญ-ลานีญา’ แรงสั่นสะเทือนมนุษยชาติ ต้องมุ่ง ‘พัฒนา-แก้ไข’ ด้วย BCG ประคอง ‘สังคมเศรษฐกิจโลกและไทย’

จากรายการ THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ ‘ดร.กิตติ ลิ่มสกุล’ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ชี้ให้เห็นถึงภาพรวมปัญหาของเศรษฐกิจทั่วโลก ที่อาจจะดูเล็กไปเลย หากเทียบกับอีกปัญหาใหญ่ทางธรรมชาติ ที่สะเทือนสังคมมนุษย์ทั้งโลกไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...

ภาวะเศรษฐกิจโลก ตอนนี้หลายประเทศยังต้องเผชิญปัญหาที่หลากหลาย ไล่ตั้งแต่ประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา ซึ่งภายหลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปนั้น ก็เผชิญภาวะเงินเฟ้อรุนแรง จนต้องขึ้นดอกเบี้ยหลายรอบ ส่งทำให้ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกต้องขึ้นตาม รวมถึงปัญหาสงครามยูเครน ที่กระทบมาถึงยุโรปที่ต้องเผชิญวิกฤติด้านพลังงาน จากการพึ่งพิงรัสเซีย

ขณะที่จีนก็เจอแรงสะดุดด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายเช่นกัน 

ส่วนไทยเอง แม้จะได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวในช่วงนี้ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาด้านการส่งออก (เศรษฐกิจระหว่างประเทศ) การใช้จ่ายของรัฐบาล (การเมือง) ภาวะการหนี้ครัวเรือนสูง (ประชาชน) เกินครึ่งเป็นหนี้ดี เช่น หนี้บ้าน อีกส่วนเป็นหนี้รถยนต์ ส่วนหนี้ไม่ดีเช่น หนี้บัตรเครดิต ต้องส่งเสริมให้คนไทยหันมาออมกันมากขึ้น รวมถึงเพิ่มทักษะให้กับตัวเองเพื่อสร้างรายได้มากขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้หากปล่อยนานเข้าก็คงส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจในระดับมหภาค

ทว่า ปัญหาที่ว่ามาทั้งหมด อาจจะดูเล็กไปเลยเมื่อสังคมโลกต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากธรรมชาติ ซึ่งนาทีนี้ก็คือ ‘เอลนีโญ’ และ ‘ลานีญา’

เอลนีโญ คือ การเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก โดยอุ่นขึ้นหรือเย็นลงผิดปกติ 

ส่วนลานีญาจะตรงข้ามกับของเอลนีโญ ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้น เกิดความไม่สมดุล เช่น การเกิดพายุต่าง ๆ จะเกิดมากขึ้นและรุนแรงขึ้น

ทั้งสองส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในระดับที่ประมาณ 2 องศา

ประเด็น คือ ภายใต้ความพยายามควบคุมให้อุณหภูมิโลกไม่เกิน 2 องศา เช่น การใช้พลังงานฟอสซิล น้ำมัน ถ่านหิน ให้ลดลง ซึ่งสาเหตุเกิดจากมนุษย์เราไม่ว่าจะเป็นด้านคมนาคม อุตสาหกรรม การเกษตรกรรม มันมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่เชื่อมเข้ามาให้จับด้วย

แล้ว เศรษฐกิจ กับ ‘เอลนีโญ-ลานีญา’ ไปเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

ปัจจุบันมีการนำ BCG เข้ามาเป็นเศรษฐกิจแนวใหม่ ที่ภาครัฐและเอกชนเริ่มให้ความสำคัญ เพราะมันจะสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับผู้ที่เข้าใจและผลักดันอย่างรวดเร็ว โดย...

B = Bioeconomy เศรษฐกิจชีวภาพ เราต้องสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนนำทรัพยากรชีวภาพ มาผลิตให้คุ้มค่าที่สุด ควบคู่กับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการให้มีนวัตกรรมและมีมูลค่าสูง

C = Circular economy เศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น มันสำปะหลัง เมื่อปลูกเสร็จแล้ว ฟางข้าวต้องเผาไหม สามารถนำกลับมาหมุนเวียนได้ไหม ถ้านำกลับมาได้จะเกิดมูลค่า

และ G = Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว โดยการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้สารชีวภัณฑ์แทนสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช การฟอกกระดาษด้วยเอนไซม์จากจุลินทรีย์เป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องเร่งให้ความรู้ หากเราไม่ใส่ใจ จะส่งผลต่อเกษตรกร ไม่ได้ผลลัพธ์การปลูกเต็มที่ เกิดความแห้งแล้ง และความยากจนมากขึ้น ส่งผลกระทบความเสียหายเป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ ในภาคประชาชน ก็ต้องช่วยกันประหยัดพลังงาน หันมาการใช้รถสาธารณะ รถไฟฟ้ามากขึ้น หรือการแยกขยะ ก็จะมีส่วนช่วยลดโลกร้อนได้อย่างมาก

เรื่องนี้สำคัญ เพราะเป็นทั้งโอกาสที่ซ่อนอยู่ในเชิงเศรษฐกิจ ถ้าทำได้ดี อีกทั้งยังเป็นความหวังต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ที่ควรต้องเร่งกันผลักดันกันทั้งโลกและในเมืองไทย

‘ม.ขอนแก่น’ ผนึก ‘ม.จีน’ ผุดหลักสูตรวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง สร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม-ศก.

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผนึกมหาวิทยาลัยจากจีน ผุดหลักสูตรวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง พร้อมจัดตั้งสถาบันแลกเปลี่ยนการศึกษารูปแบบใหม่ระหว่างไทย-จีน รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

เมื่อไม่นานนี้ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเซาท์เวสต์เจียวทง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ลงนามความร่วมมือการจัดตั้งสถาบัน ‘The KKU-SWJTU Tianyou Railway Institute’ เพื่อร่วมมือทางวิชาการ และวิจัยระดับประเทศด้านรถไฟความเร็วสูง หรือ ‘High Speed Train’ เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การคมนาคมในภูมิภาค

เนื่องจากเล็งเห็นว่าไทยถือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอินโดจีน สามารถเชื่อมโยงไปสู่ประเทศต่างๆ ในอาเซียน และจีน อีกทั้ง High Speed Train ยังเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลไทยด้วย

“มข.ตระหนักถึงความสำคัญของพันธกิจ และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สำคัญของชาติด้านรถไฟความเร็วสูง จึงกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อผลิตบัณฑิตด้านวิศวกรรมศาสตร์รถไฟความเร็วสูงร่วมกับมหาวิทยาลัย SWJTU ภายใต้ชื่อหลักสูตรวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และก่อตั้งสถาบัน KKU-SWJTU Tianyou Railway Institute ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. เพื่อจัดฝึกอบรม ให้ความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านรถไฟความเร็วสูง”

ด้าน Prof. Yao Faming รองอธิการบดี SWJTU กล่าวว่า ระบบรางรถไฟไทย-จีน เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของนโยบาย ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ (one belt one road) เป็นการเชื่อมโยงระหว่างประเทศในแถบคาบสมุทรอินโดจีน โดยเฉพาะระหว่างไทยและจีน ถือเป็นถนนสายหลัก และกุญแจสำคัญ ด้วยความก้าวหน้าของนโยบาย one belt one road ส่งผลให้ไทยและจีนมีโอกาสมากขึ้นในการผลักดันและพัฒนาการขนส่งระบบราง

การก่อตั้งสถาบันระบบรางเทียนโย่ว โดยความร่วมมือระหว่าง มข. และมหาวิทยาลัยเซาท์เวสต์เจียวทง จะก่อเกิดคุณประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย นำเอาจุดเด่นของแต่ละมหาวิทยาลัย หลอมรวมเป็นการแลกเปลี่ยนทางการศึกษารูปแบบใหม่ระหว่างจีน-ไทย

รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.กล่าวว่า ความร่วมมือจัดหลักสูตรวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูงระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2566-2571) เพื่อรองรับกับเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม และรวมถึงการนำความเจริญสู่ชุมชน และประชาชนในพื้นที่ จึงต้องพัฒนาบัณฑิตที่มีความรู้ มีคุณภาพ และศักยภาพพร้อมรองรับในตลาดแรงงานในอนาคตตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลไทย

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. มีความพร้อมในด้านทรัพยากรบุคลากร มีผู้เชี่ยวชาญ ประกอบกับมีความร่วมมือ และความสัมพันธ์อันดีที่แน่นแฟ้นกับ SWJTU โดยได้แลกเปลี่ยน เยี่ยมเยือน ประชุมหารือในการจัดทำหลักสูตรร่วมกัน ตลอดจนได้รับสนับสนุนจากกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ณ จังหวัดขอนแก่น หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ช่วยคณะวิศวกรรมศาสตร์ขับเคลื่อนการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพในด้านวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูงในยุคดิจิทัล ให้เป็นที่ยอมรับของผู้ใช้บัณฑิต

'การบินไทย' ตั้งลำ!! โชว์รายได้สวยไตรมาส 2 ปี 66 พา 'บริษัท-บริษัทย่อย' ทำกำไรสูงสุดในรอบ 20 ปี

(11 ส.ค. 66) รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 บริษัท และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 37,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 21,526 ล้านบาท หรือ 73.7% แต่ลดลง 9.9% จากไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งเป็นไปตามปกติของธุรกิจที่ไตรมาส 2 จะเป็นช่วงที่มีผู้โดยสารเดินทางต่ำที่สุดในช่วงปี

โดยบริษัทได้เพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางที่เป็นที่นิยม อาทิ ประเทศญี่ปุ่นและจีน มีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.35 ล้านคน และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.2% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 60.3%

บริษัท และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 28,805 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 22,825 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น

โดยบริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 8,576 ล้านบาท ดีกว่าไตรมาส 2 ปี 2565 ที่ขาดทุน 1,299 ล้านบาท โดยในไตรมาส 2 ของปี 2566 นี้เป็นไตรมาส 2 ที่บริษัท และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานสูงสุดในรอบ 20 ปี

ทั้งนี้ บริษัทและบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 3,967 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,643 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัท และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท

ในขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 3,213 ล้านบาท เป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 2,262 ล้านบาท โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 9,307 ล้านบาท

สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัท และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 78,889 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 32,706 ล้านบาท

ในขณะเดียวกันมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 57,280 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 37,175 ล้านบาท บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 21,609 ล้านบาท ดีกว่างวดเดียวกันของปี 2565 ที่ขาดทุน 4,469 ล้านบาท

โดยบริษัทและบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 7,515 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นรายได้รวม 344 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 14,795 ล้านบาท

ในขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 6,457 ล้านบาท เป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 14,776 ล้านบาท มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 23,361 ล้านบาท

ปัจจุบันบริษัทและบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 67 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 47 ลำ โดยบริษัทเพิ่งรับเครื่องบินลำตัวกว้างจากการเช่าดำเนินการเข้ามาในฝูงบินในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาจำนวน 2 ลำ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.0 ชั่วโมงต่อวัน

โดยเป็นส่วนของการบินไทย 14.0 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 76.9% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 192.8% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 81.4% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 49.2% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่ง รวมทั้งสิ้น 6.87 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 126.7%

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 223,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 25,140 ล้านบาท (12.7%) หนี้สินรวมจำนวน 279,571 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 10,369 ล้านบาท (3.9%)

ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 56,253 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 14,771 ล้านบาท

และจากผลประกอบการที่เป็นบวก บริษัทจึงมีเงินสดคงเหลือจำนวน 51,153 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 เพิ่มขึ้น 16,613 ล้านบาท จาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565

‘BOI’ เผย ‘จีน’ นักลงทุนหลักในประเทศไทย ครึ่งแรกปี 66 ลงทุนแล้วกว่า 6.15 หมื่น ลบ.

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เว็บไซต์ไชน่านิวส์ (Chinanews.com) รายงานโดยอ้างอิงรายงานที่เผยแพร่โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทยไม่นานนี้ ว่าจีนได้กลายเป็นแหล่งการลงทุนหลักสำหรับไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2023

รายงานระบุว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ไทยดึงดูดโครงการลงทุนใหม่จากต่างประเทศ 507 โครงการ ในจำนวนนี้เป็นโครงการจากจีน 132 โครงการ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวม 6.15 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด

การลงทุนส่วนใหญ่ครอบคลุมด้านต่าง ๆ ได้แก่ การผลิตยางล้อและผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ การผลิตเหล็ก อสังหาริมทรัพย์ การจัดหาและการจัดจำหน่ายพลังงาน

รายงานระบุว่าสืบเนื่องจากการลงทุนจากจีนที่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจของไทยจึงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนจากจีนได้ยื่นคำขอการลงทุนมากกว่า 900 โครงการ โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 5.26 แสนล้านบาท

WeloveShopping อำลาสมรภูมิอีคอมเมิร์ซ แม้มีกำไร ปิดระบบหลังบ้านสำหรับพาร์ตเนอร์ภายใน 31 ส.ค.66

WeloveShopping อำลาสมรภูมิอีคอมเมิร์ซไทย ประกาศหยุดให้บริการทั้งหมด 31 ส.ค. 2566 แม้ผลประกอบการปีล่าสุดจะมีกลับมาทำกำไรได้ 57 ล้านบาท หลังขาดทุนต่อเนื่องหลายปี 

(10 ส.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บนหน้าเว็บไซต์ Weloveshopping.com แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากบริษัท แอสเซนด์ คอมเมิร์ซ ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ได้ประกาศหยุดให้บริการเว็บไซต์ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. 2566 และปิดระบบหลังบ้านสำหรับพาร์ตเนอร์ภายใน 31 ส.ค. 2566

โดยระบุว่า "เรียนลูกค้า ร้านค้า และพาร์ตเนอร์ทุกท่าน บริษัท เอสเซนด์ คอมเมิร์ช จำกัด มีความเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแจ้งให้ทุกท่านทราบว่า บริษัทมีความจำเป็นต้องยุติการให้บริการเว็บไซต์ weloveshopping.com ในวันที่ 30 มิถุนายน 2566"

"ลูกค้า ร้านค้า และพาร์ตเนอร์ทุกท่านสามารถซื้อขายสินค้าได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 เวลา 23.59 นาฬิกา และยังคงสามารถใช้งานระบบบัญชีรวมถึงระบบร้านค้าได้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 เวลา 23.59 นาฬิกา"

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก CredenData เปิดเผยว่า บริษัท เอสเซนด์ คอมเมิร์ช จำกัด จดทะเบียนในปี 2558 ด้วยทุน 5 ล้านบาท และเพิ่มทุนจดทะเบียนในปี 2562 เป็น 1,410 ล้านบาท โดยตั้งแต่ปี 2558 มีผลประกอบการติดลบ จนกระทั่งในปี 2565 มีรายได้ 1,073, ล้านบาท กำไร 57 ล้านบาท 

สำหรับผลประกอบการตั้งแต่ปี 2558 มีดังนี้...

>> ปี 2558 รายได้ 473,597,785 ขาดทุน -284,275,428
>> ปี 2559 รายได้ 869,418,617 ขาดทุน -585,043,886
>> ปี 2560 รายได้ 152,027,737 ขาดทุน -357,162,904
>> ปี 2561 รายได้ 196,819,176 ขาดทุน -133,976,543
>> ปี 2562 รายได้ 522,823,092 ขาดทุน -57,017,274
>> ปี 2563 รายได้ 449,719,287 ขาดทุน -51,996,920
>> ปี 2564 รายได้ 556,206,019 ขาดทุน -88,117,671
>> ปี 2565 รายได้ 1,073,643,046 กำไร 57,793,449

สำหรับสมรภูมิอีคอมเมิร์ซในปัจจุบันต้องยอมรับว่า มีความยากต่อรายเล็ก เนื่องจากแบรนด์ต่างๆ เริ่มมีช่องทางกระจายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ รวมถึงการใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มในการซื้อขายมากขึ้น 

ดังนั้น การที่อีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มใดจะอยู่รอดต่อได้ หากไม่มีสายป่านหนาหรือทำการตลาดแรงๆ ต่อเนื่อง ก็จำเป็นต้องล่าสินค้าหรือบริการเฉพาะ (niche) ให้ได้เท่านั้น

‘SME D Bank’ เดินหน้าเติมทุนคู่พัฒนาวงการแฟรนไชส์ไทย อัดงบ 400 ลบ. ผุดสินเชื่อซื้อแฟรนไชส์ นำร่อง ‘Inthanin-Otteri’

‘SME D Bank’ ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย เดินหน้าส่งเสริมวงการธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อ วงเงิน 400 ลบ. เพื่อใช้ลงทุนซื้อแฟรนไชส์ที่มีมาตรฐานโดดเด่น นำร่อง 2 แบรนด์ดัง ได้แก่ร้านกาแฟ ‘Inthanin’ และร้านสะดวกซัก ‘Otteri’ ควบคู่จัดโปรแกรมเสริมศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สร้างมาตรฐานแฟรนไชส์ และต่อยอดกิจการด้วยโมเดลแฟรนไชส์  

(10 ส.ค. 66) นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า โมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยกำลังได้รับความนิยมและขยายตัวต่อเนื่อง มีส่วนสำคัญช่วยสร้างโอกาสผู้ประกอบการรายใหม่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือผู้มีธุรกิจอยู่แล้วได้ต่อยอดธุรกิจด้วยโมเดลขายแฟรนไชส์ เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง ดังนั้น SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย จึงเปิดตัวโครงการสนับสนุนธุรกิจแฟรนไชส์ ทั้งผู้รับสิทธิแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซี : Franchisee) และผู้ให้สิทธิแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซอร์ : Franchisor) เข้าถึงบริการด้าน ‘การเงิน’ ควบคู่ด้าน ‘การพัฒนา’

สำหรับด้าน ‘การเงิน’ เปิดตัว ‘สินเชื่อแฟรนไชส์’ เพื่อเป็นเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการไปซื้อแฟรนไชส์ที่ผ่านความร่วมมือกับ SME D Bank เบื้องต้นนำร่องจับมือ 2 แฟรนไชส์ซอร์ชื่อดัง ได้แก่ บริษัท บางจาก รีเทล จำกัด เจ้าของแฟรนไชส์ ‘ร้านกาแฟอินทนิล’ (Inthanin Coffee) และบริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เจ้าของแฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก ‘อ๊อตเทริ วอชแอนด์ดราย’ (Otteri wash & dry) โดยเมื่อผู้ประกอบการที่ไปติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์ ‘Inthanin’ หรือ ‘Otteri’ และผ่านการพิจารณาของแฟรนไชส์ซอร์แล้ว สามารถขอสินเชื่อจาก SME D Bank เพื่อใช้ลงทุนได้ โดยมีวงเงินเตรียมไว้บริการรวม 400 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น MLR -1% (ประมาณ 6.5%ต่อปี) วงเงินกู้ได้สูงสุดถึง 80% ของมูลค่าการลงทุน ระยะเวลากู้ยืมสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 6 เดือน เปิดรับคำขอกู้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 67 หรือจนกว่าจะหมดวงเงินโครงการ แล้วแต่อย่างหนึ่งอย่างใดจะถึงก่อน

ส่วนด้าน ‘การพัฒนา’ เดินหน้าปั้นแฟรนไชส์ซี ควบคู่ส่งเสริมแฟรนไชส์ซอร์ ตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น หลักสูตร ADVANCED CMF ติวเข้ม 5 วันเต็ม ภายในเดือน ส.ค. และ ก.ย. 66 มอบความรู้ด้านกลยุทธ์เขียนแผนธุรกิจเข้าถึงแหล่งทุน และการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ จัด ณ อาคาร SME Bank Tower 

อีกทั้ง ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดโปรแกรมเพิ่มศักยภาพธุรกิจ ให้คำปรึกษาในด้านต่าง ๆ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำโมเดลแฟรนไชส์ไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ และยกระดับมาตรฐานแก่แฟรนไชส์ซอร์ เช่น ด้านกฎหมาย ภาษี มาตรฐานของสถานประกอบการ และเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแจ้งความประสงค์รับบริการ ‘สินเชื่อแฟรนไชส์’ และงานพัฒนาได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ www.smebank.co.th, LINE Official Account : SME Development Bank เป็นต้น รวมถึงสาขา SME D Bank ทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1357

‘รัฐบาล’ ประกาศลดขั้นตอนวีซ่า อำนวยความสะดวก แก่ นทท. หลังยอด นทท.6 เดือนแรกพุ่ง โกยรายได้กว่า 6 แสนล้านบาท

(10 ส.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนไทยมีมากต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว 31 ก.ค.- 6 ส.ค. เฉลี่ยวันละ กว่า 8 หมื่นคน

โดยยอดนักท่องเที่ยวสะสมแตะ 16 ล้านคนแล้ว พบ 5 ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยจำนวนสูงสุด ได้แก่ มาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ อินเดีย และรัสเซีย ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานสนับสนุนนโยบาย อำนวยความสะดวก กระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา เกิดการสร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 663,862 ล้านบาทโดย นักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ นักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย 2,513,520 คน จีน 1,935,241 คน เกาหลีใต้ 945,217 คน อินเดีย 913,479 คน และรัสเซีย 869,998 คน

สำหรับสัปดาห์ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจากจีน เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยมากที่สุด จำนวน 95,581 คน รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย 73,810 คน เกาหลีใต้ 37,754 คน อินเดีย 27,707 คน และเวียดนาม 25,717 คน สะท้อนให้เห็นว่าไทยยังคงเป็นจุดหมายสำคัญที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

น.ส.รัชดา กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน โดยกระทรวงการต่างประเทศได้เพิ่มความสะดวกในการขอรับการตรวจลงตรา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งได้มีการลดขั้นตอนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว โดยได้ปรับลดเอกสารประกอบการยื่นขอรับการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยวพร้อมกับลดระยะเวลาการพิจารณาการตรวจลงตราเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยโดยเฉพาะจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ได้แก่

1.) ลดเอกสารประกอบการยื่นขอรับการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยวเหลือเพียง 6 รายการ ประกอบด้วย หน้าหนังสือเดินทาง, รูปถ่าย, บัตรโดยสารเครื่องบิน, ที่พัก, เอกสารยืนยันที่อยู่ และหลักฐานทางการเงิน 

2.) ลดระยะเวลาการพิจารณาอนุมัติการตรวจลงตราจาก 14 วันทำการเหลือ 7 วันทำการ

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำระบบเชื่อมโยงข้อมูลตรวจสอบเอกสารประกอบการขอรับการตรวจลงตรา ซึ่งจะช่วยให้การตรวจสอบและการพิจารณาอนุมัติการตรวจลงตรามีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลอย่างดี จนตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น เป็นไปตามคาดการณ์ และแม้ในช่วงนอกฤดูกาล ก็ยังมีตัวเลขนักท่องเที่ยวที่น่าพอใจ จากการดำเนินนโยบายการจัดกิจกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยว ที่สอดรับกับความสนใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

รวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการนำเสนอความงดงามของประเทศ และไมตรีภาพที่มีต่อผู้มาเยือน ซึ่งจากผลการสำรวจของเว็บไซต์ด้านการท่องเที่ยวชั้นนำ ประเทศไทยอยู่ในความสนใจอันดับต้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง” น.ส.รัชดา กล่าว

‘บิ๊กตู่’ ปลื้มใจ!! อนุมัติลงทุนใน EEC ทะลุ 2 ลลบ. มั่นใจช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-สังคม-พัฒนาชีวิต ปชช.

(10 ส.ค. 66) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความสำคัญและความสำเร็จการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีการลงทุนเกินเป้าหมายที่วางไว้ โดยวางเป้าหมายมูลค่าการลงทุนที่ 1.5 ล้านล้านบาท แต่อนุมัติการลงทุนแล้วถึง 2 ล้านล้านบาท และเป็นการลงทุนที่ส่วนใหญ่มาจากเอกชน

ความสำเร็จของ EEC ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การลงทุนปี 2561 - ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ในส่วนของมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น มีจำนวนถึง 1,360,349 ล้านบาท โดย 3 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเทศ/เขตบริหารพิเศษ ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง

ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F

การพัฒนา EEC ให้เป็นต้นแบบพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบเป็นเป้าหมายของนักลงทุน ช่วยผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีกรอบการพัฒนา คือ ‘Ecosystem’ พัฒนาระบบนิเวศรองรับการเติบโตในทุกมิติ ให้เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การประกอบธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาเมือง และการยกระดับชีวิต ความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างยั่งยืน ‘Exclusive’ กำหนดสิทธิประโยชน์และมาตรการพิเศษ ในการชักชวนการลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะตัว โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากโครงการการลงทุนนั้น ๆ และ ‘Collaborative’ บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการทำให้การลงทุน เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณการทำงานของรัฐบาล ทุกหน่วยงานที่ร่วมมือกันจนเห็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ EEC ไม่ใช่เพียงความสำเร็จด้านโครงสร้างความเชื่อมโยง แต่รวมถึงการลงทุนจำนวนมาก มากกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ ทั้งเห็นความสำเร็จถึงประโยชน์ที่ส่งตรงถึงคนไทย พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน สร้างงาน พัฒนาการศึกษา นวัตกรรม โดยไม่มองข้ามการพัฒนาอย่างสมดุล ยั่งยืน นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า EEC ที่รัฐบาลภูมิใจ ให้ความสำคัญในการดำเนินการตลอดมานั้น จะเกิดประโยชน์ถึงประชาชนทุกคน

PPS เผยงบครึ่งปีแรกรายได้ 207.36 ล้านบาท โต 1.99% เล็งธุรกิจรักษ์โลกต่อยอดเติบโต เล็งจับมือแบรนด์ดัง ดีไซน์วิลล่าหรูโครงการยามู

PPS เผยผลประกอบการครึ่งปีแรก 2566 รายได้ 207.36 ล้านบาท โต 1.99% ทิศทางธุรกิจครึ่งปีหลัง ทยอยรับรู้รายได้ต่อเนื่อง เล็งธุรกิจรักษ์โลกเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ยั่งยืน ด้านโครงการยามู วิลล่าหรูอัลตร้าลักซ์ชัวรี่จ. ภูเก็ต จับมือแบรนด์ระดับโลกร่วมออกแบบ

ดร.พงศ์ธร ธาราไชย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (PPS) เปิดเผยว่า ผลประกอบการครึ่งปีแรก 2566 บริษัทมีรายได้รวม 207.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีรายได้รวม 203.31 ล้านบาท จำนวน 4.05 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.99% และมีขาดทุนสุทธิ 5.27 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 7.51 ล้านบาท  อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกำไรขั้นต้น 50.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี 47.16 ล้านบาท จำนวน 3.14 ล้านบาท จากการควบคุมต้นทุนที่ดี

ส่วนผลประกอบการไตรมาส 2/2566 บริษัทมีรายได้รวม 105.15 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีรายได้รวม 106.04 ล้านบาท จำนวน 0.89 ล้านบาท หรือลดลง 0.84% และมีขาดทุนสุทธิ 6.63 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 8.30 ล้านบาท จำนวน 14.93 ล้านบาท 

ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากรับรู้รายได้โครงการควบคุมงานระยะสั้นจากภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทสามารถส่งมอบงานได้เร็ว ขณะที่กำไรสุทธิลดลงเนื่องจาก การตั้งคืนรายได้ของ บริษัท โปรเจคท์ ทรี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ที่มีการปรับการรับรู้รายได้เงินในงวดสุดท้ายของการส่งมอบงานรับเหมาก่อสร้างบ้าน งวดสุดท้ายของบ้านวิลล่าที่ภูเก็ต

สำหรับทิศทางธุรกิจครึ่งปีหลัง 2566 คาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้จากโครงการใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งกระแสเงินสดของบริษัทปรับตัวดีขึ้น โดยบริษัทมีแผนชำระคืนเงินกู้ต่อเนื่อง เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่าย

ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้าง มีแนวโน้มชะลอตัวจากงบการลงทุนภาครัฐที่ล่าช้า ส่งผลให้ภาคเอกชนชะลอลงทุนตาม อย่างไรก็ตาม บริษัทวางแผนเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ประจำ โดยการเป็นตัวแทนจำหน่ายแอปพลิเคชัน KANNA ที่ใช้ในการบริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้างให้กับโครงการของลูกค้าอื่นๆ  รวมถึงนำมาให้บริการลูกค้าของ PPS 

นอกจากนี้ บริษัทวางแผนทำธุรกิจรักษ์โลกเพื่อต่อยอดการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อต่อยอดจากธุรกิจการก่อสร้างอย่างยั่งยืน โดยเพิ่มทุนในบริษัทย่อย เพื่อดำเนินการตรวจวัด และการรับรองคาร์บอนเครดิต รวมไปถึงการวางแผนการลดคาร์บอนและจำหน่ายและติดตั้งอุปกรณ์ EV charger สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องเพื่อทำให้เกิดธุรกิจความยั่งยืนที่ครบวงจรอีกด้วย

ด้านโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทอัลตร้าลักซ์ชัวรี่วิลล่าในที่ดินแหลมยามูจ.ภูเก็ต (Headland Cape Yamu) ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 หลัง โดยมีแผนที่จะร่วมออกแบบตกแต่งวิลล่าร่วมกับ หนึ่งในแบรนด์ระดับโลก เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างภาพลักษณ์ของวิลล่า ตอบสนองความต้องการกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อระดับบน  พร้อมทั้งปรับราคาขายเริ่มต้นที่ 350 ล้านบาท โดยตั้งเป้าปิดการขายปีนี้อย่างน้อย 1 หลัง

‘พาณิชย์’ เล็งส่งสินค้าสูตรโซเดียมต่ำตีตลาดญี่ปุ่น สอดรับนโยบาย รบ.ญี่ปุ่น รณรงค์ลดบริโภครสเค็ม

(10 ส.ค. 66) นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าจากการติดตามสถานการณ์การค้าในต่างประเทศ ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มาโดยต่อเนื่องนั้น ล่าสุดได้รับรายงานจากนายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถึงสถานการณ์สินค้าอาหารในญี่ปุ่น

โดยทูตพาณิชย์รายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ได้ตั้งเป้าปริมาณการบริโภคเกลือของประชากรอายุ 20 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 7.0 กรัมต่อวัน ในปี 2567 ซึ่งเป็นเป้าหมายภายใต้โครงการ ‘ญี่ปุ่นสุขภาพดี 21’ หลังจากการสำรวจสุขภาพและโภชนาการของประชาชน พบว่า คนญี่ปุ่นบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละ 10 กรัม ซึ่งเป็นสองเท่าของปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ โดยร้อยละ 70 ของการบริโภคเกลือของคนญี่ปุ่นมาจากเครื่องปรุง ไม่ว่าจะเป็น ซอสโชยุ เต้าเจี้ยวมิโซะ เกลือ ซุป ซอสต่างๆ ฯลฯ แหล่งการบริโภคเกลือของกลุ่มผู้บริโภคแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน เช่น กลุ่มผู้สูงอายุบริโภคเกลือจากผักดอง กลุ่มคนหนุ่มสาวบริโภคเกลือจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องแกงกะหรี่ ซึ่งเป็นสินค้าอาหารแปรรูป เป็นต้น จึงคาดการณ์ได้ว่า สินค้าอาหารแปรรูปลดเกลือมีแนวโน้มความต้องการของตลาดสูงขึ้นในอนาคต

ซึ่งการบริโภคเกลือปริมาณมากเกินไปยังเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญในด้านความยั่งยืนของระบบประกันสังคม ซึ่งคนญี่ปุ่นช่วงอายุ 40 - 59 ปี 1 ใน 3 คน และคนที่อายุมากกว่า 60 ปี 1 ใน 2 คนเป็นโรคความดันสูง

นอกจากนี้ ในอดีตคนญี่ปุ่นเป็นเส้นเลือดในสมองตีบหรืออุดตันจำนวนมาก โดยมีสาเหตุจากการบริโภคเกลือมากเกินไป ความอ้วน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย ฯลฯ การแก้ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาล ภาคเอกชน อาทิ ผู้ผลิตอาหาร ร้านอาหาร ฯลฯ ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตอาหารของญี่ปุ่นพยายามวิจัยและพัฒนาสินค้าอาหารลดเกลือภายใต้คอนเซปต์ ‘อร่อย สุขภาพดี สะดวก’ สินค้ามีความหลากหลายออกจำหน่ายมากขึ้น ภายในซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งมีชั้นวางสินค้าที่รวบรวมสินค้าเหล่านี้เอาไว้โดยเฉพาะ แสดงให้เห็นถึงความสนใจของผู้บริโภคต่อสินค้าเกลือต่ำ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดในการบริโภคเกลือ

“ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกสินค้าอาหารสำคัญของญี่ปุ่น หากผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตอาหารแปรรูปหรือวัตถุดิบที่ตรงกับความต้องการและแนวทางการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่น ก็อาจได้รับความสนใจจากผู้ซื้อมากยิ่งขึ้นและเป็นโอกาสในการขยายตลาดและมูลค่าการส่งออกสู่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป” นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า ช่วงเดือน มกราคม-มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปญี่ปุ่นแล้วมูลค่ากว่า 59,243 ล้านบาท 

APCO โชว์งบครึ่งปีแรกโตดี รายได้ 151.67 ล้านบาท กำไรโต 80.71% Q3/66 แตกไลน์อาหารเสริมบำรุงสมอง ยอดส่งออกวัฒนชีวาเพิ่ม

APCO เผยผลประกอบการครึ่งปีแรก 2566 รายได้รวม 151.76 ล้านบาท กำไร 58.42 ล้านบาท โต 80.71% ยอดจำหน่ายทุกผลิตภัณฑ์โตตามเป้า ทิศทางธุรกิจไตรมาส 3/2566 แนวโน้มดีต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์เรือธงหนุนยอดขาย แตกไลน์อาหารเสริมบำรุงสมอง ยอดส่งออกวัฒนชีวาเพิ่ม 

ศ.ดร. พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APCO เจ้าของธุรกิจนวัตกรรมธรรมชาติเพื่อสุขภาพและความงาม ยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการวิจัย พัฒนา ผลิตและจำหน่ายครบวงจร เปิดเผยว่า ผลประกอบการครึ่งแรกปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 151.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 113.91 ล้านบาท จำนวน 37.84 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 33.22% และมีกำไรสุทธิ 58.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 32.33 ล้านบาท จำนวน 26.09 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 80.71% 

ส่วนผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 68.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 57.87 ล้านบาท จำนวน 10.73 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 18.54 % และมีกำไรสุทธิ 25.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 17.01 ล้านบาท จำนวน 8.11 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 47.66%

ผลประกอบการครึ่งปีแรก 2566 ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากบริษัทจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดจำหน่ายทุกผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะนวัตกรรมวัฒนชีวาย้อนวัยชะลอวัย

สำหรับทิศทางธุรกิจไตรมาส 3/2566 แนวโน้มเติบโตดี จากผลิตภัณฑ์เรือธง ได้แก่ ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ภูมิคุ้มกัน HIV/AIDS และนวัตกรรมย้อนวัยชะลอวัย รวมถึงผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง ที่คาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ บริษัทเริ่มทดลองจำหน่ายผลิตภัณฑ์ MMM เสริมสร้างบำรุงระบบสมอง ในช่องทางที่เหมาะสมที่สุด โดยคาดว่าจะได้กระแสตอบรับที่ดี ซึ่งจากการทดลองกับกลุ่มเป้าหมายพบว่ามีผลลัพธ์ที่น่าพอใจ 

อีกทั้ง ได้รับคำสั่งซื้อล็อตแรกกว่า 10,000 ขวด จากผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ย้อนวัย 'วัฒนชีวา' ภายใต้แบรนด์ Youthlocked และ Youthlocked A เพื่อจัดจำหน่ายใน 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม 

‘รมย์ คอนแวนต์’ เปิดห้องซีรีส์ใหม่ 4 รูปแบบ หลังกวาดยอดขาย 1,400 ลบ. เน้นเรียลดีมานด์ ห้องใหญ่ ให้ความรู้สึกเหมือนบ้าน ชวนสัมผัสประสบการณ์ A Life Retreat Exhibition 8 ส.ค. - 22 ก.ย.นี้

บมจ.พราว เรียล เอสเตท (PROUD) เปิด 'รมย์ คอนแวนต์' เผยโฉมคอนโด Luxury Wellness แห่งแรกใจกลางเมืองบน ถ.คอนแวนต์-สาทร โชว์ห้องซีรีส์ใหม่ “ไซส์ใหญ่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน” ฟังก์ชั่นหลากหลาย ตอบรับเรียลดีมานด์ แถมอัดโปรโมชั่นแรงรับตั๋วเครื่องบินเที่ยวยุโรป ส่วนลดมูลค่ารวมกว่า 800,000 บาท หลังกวาดยอดขาย 1,400 ล้านบาท พร้อมจัดงาน A Life Retreat Exhibition นิทรรศการที่จะพาคุณรื่นรมย์ไปกับ 5 สัมผัส และการพักผ่อนเหนือระดับในที่พักอาศัยใจกลางเมือง ตั้งแต่ 8 ส.ค. - 22 ก.ย.นี้

นางสาวพราวพุธ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหาร บริษัท พราว เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า  หลังจากเปิดตัวโครงการ รมย์ คอนแวนต์ Luxury Wellness Condominium แห่งแรกใจกลางเมืองบน ถ.คอนแวนต์-สาทร มีกระแสตอบรับดีเกินคาด หลังกวาดยอดขาย 1,400 ล้านบาท โดยเฉพาะห้องขนาดใหญ่อย่าง Sky Villa และห้อง 3 ห้องนอน เราเลยเข้าใจความต้องการของผู้อยู่อาศัย ว่าต้องการใช้ชีวิตในห้องที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ทางโครงการจึงตอบสนองความต้องการของกลุ่มเรียลดีมานด์ โชว์ห้องซีรีส์ใหม่ 4 รูปแบบ ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ เพดานสูงโปร่ง ฟังก์ชั่นหลากหลาย ตอบโจทย์ทุกความต้องการ ถือเป็นห้องรูปแบบ 2 และ  3 ห้องนอนขนาดใหญ่ที่หาได้ยาก และกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมากในขณะนี้ ประกอบด้วย 

• LA FORÊT VILLA: ห้องขนาด 128 ตรม. ชั้น 3-11 ถือว่าเป็น Rare item ห้องสวยของโครงการ รับวิว 270 องศาที่เน้นให้ผู้อยู่อาศัยใกล้ชิดกับธรรมชาติรายล้อมด้วยความเขียวชอุ่มจากยอดไม้ที่ได้จากพื้นที่สวนด้านล่างของโครงการ และสวนโดยรอบฝั่งโบสถ์คริสต์และอุโมงค์ต้นไม้ตลอดซอยคอนแวนต์  เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการพื้นที่ใช้สอยมากในราคาคุ้มค่า

• 2 BEDROOM PLUS: ห้องขนาด 119.49 ตร.ม. ชั้น 3-20 เป็นรูปแบบ 2 ห้องนอนและ 1 ห้องอเนกประสงค์ที่สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ยืดหยุ่นต่อความต้องการของสมาชิกในครอบครัว 
• JUNIOR PENTHOUSE: ห้องขนาด 181.65 ตร.ม. ชั้น 23-27 ออกแบบสำหรับครอบครัวใหญ่ให้คุณได้สัมผัสความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน พื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่และความลงตัวของทุกห้องที่สามารถชมวิวได้ในทุก ๆ ห้อง และเพิ่มพื้นที่ด้วยทางเข้าออกห้องแบบ 2 ทางแยกกัน แถมสิทธิจอดรถได้ถึง 3 คัน 
• PENTHOUSE 1-2: ห้องขนาด 418.61 - 469.85 ตร.ม. บนชั้น 28 - 29 จัดมาเพื่อความพิเศษที่สุดของความเหนือระดับ ด้วยพื้นที่การใช้งาน 2 ชั้นและสวนส่วนตัวลอยฟ้ารับวิวได้สุดสายตา แบ่งฟังก์ชั่นใช้งานไว้อย่างลงตัว พร้อมผู้เชี่ยวชาญให้ออกแบบตกแต่งเพิ่มเติมโดย PIA

ช่วง Grand Opening ยังมีโปรโมชั่นพิเศษมอบตั๋วเครื่องบิน กทม.-ยุโรป และส่วนลดสูงถึง 800,000 บาท พร้อมจัดงาน "A Life Retreat Exhibition" นิทรรศการที่จะพาคุณรื่นรมย์ในชีวิตผ่าน 5 สัมผัส SEE SOUND SCENT SENSE TOUCH ในโครงการ 'รมย์ คอนแวนต์' (ROMM Convent) สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ฟรี ตั้งแต่วันนี้ – 22 มิ.ย. 66

'รมย์ คอนแวนต์' เป็นคอนโด Luxury Wellness ใจกลางเมือง บนทำเลศักยภาพที่หาได้ยากที่สุดแห่งหนึ่งบนถนนคอนแวนต์ -สาทร มูลค่าโครงการรวม 4,150 ล้านบาท ด้วยคอนเซปต์ CBD Retreat Residences ที่เน้นเชื่อมโยงให้ผู้อาศัยสัมผัสรูปแบบการใช้ชีวิตที่มากกว่าได้ไปพร้อมสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีและยืนยาว ไปกับการใช้ชีวิตใจกลางเมืองได้อย่างเต็มที่แต่ยังคงสามารถเข้าถึงการพักผ่อนเหนือระดับได้เมื่อเดินทางกลับมาที่รมย์ คอนแวนต์ ด้วยการออกแบบทุกพื้นที่ในห้องพัก Wellness Facilities บนพื้นที่ส่วนกลางกว่า 2,000 ตร.ม. และบริการดูแลสุขภาพระดับบ VVIP จากโรงพยาบาล BNH, แอปพลิเคชั่น Bedee by BDMS และ Proud Health Butler 

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการรมย์ คอนแวนต์ (ROMM CONVENT) เว็บไซต์: https://bit.ly/RommConvent  , Facebook: https://bit.ly/fbproudrealestate หรือ โทร 02-026-8999

‘บิ๊กป้อม’ ย้ำ ‘ทส.’ ดูแล-ปกป้องสิ่งแวดล้อม คืนอากาศบริสุทธิ์ หนุนยกระดับท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

(9 ส.ค. 66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ที่ประชุมได้มีการพิจารณา เห็นชอบประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม 3 พื้นที่ (จ.กระบี่, จ.พังงา และ จ.สุราษฎร์ธานี) เพื่อควบคุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม และให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างเท่าเทียม และได้เห็นชอบรายงาน EIA งานก่อสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้า จ.กาญจนบุรี ตามโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้า เพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 รวมทั้งงานก่อสร้างสายส่งไฟฟ้ารองรับนิคมอุตสาหกรรม จ.กาญจนบุรี และเห็นชอบ EIA โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ลำปาง เพื่อจัดหาแหล่งน้ำให้กับราษฎร บรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตร และอุปโภคบริโภค

นอกจากนั้น ยังได้เห็นชอบ (ร่าง) มาตรการเฝ้าระวังป้องกัน และแก้ไขปัญหามลพิษอันเกิดจาก พีเอ็ม 2.5 ตั้งแต่ระยะเตรียมการ ระยะเผชิญเหตุ และระยะบรรเทา รวมถึงมาตรการตลอดทั้งปี เพื่อให้ทุกหน่วยงานบูรณาการแก้ปัญหาพีเอ็ม 2.5 ในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพในปีต่อไป

พล.อ.ประวิตร ยังได้กำชับให้ ทส.และผู้เกี่ยวข้อง กำกับ ติดตามการดำเนินงานของเจ้าของโครงการที่ผ่านความเห็นชอบรายงาน EIA แล้ว โดยให้มีการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาธรรมชาติไว้ให้มากที่สุด พร้อมได้กล่าวชื่นชม ทส.และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ได้ทุ่มเท เสียสละการทำงานอย่างเต็มที่ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล มีธรรมชาติที่สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากมลพิษที่เป็นภัยต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้เดินทางมายังประเทศไทยซึ่งมีจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ จากรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมากในขณะนี้

‘เครดิตบูโร’ เปิด ‘หนี้เน่า’ ไตรมาส 2  ตัวเลขทะลุ 1 ล้านล้าน หนี้รถยนต์พุ่ง 18%

เครดิตบูโร เปิดข้อมูลหนี้เสีย ไตรมาส 2 พุ่งทะลุ 1ล้านล้าน จากไตรมาสแรกที่ 9.5 แสนล้าน คาดหนี้เสียเพิ่มต่อตัวต่อเนื่องหลังจากนี้ จากเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่เต็มที่ ห่วงหนี้เสียรถยนต์พุ่ง 2 แสนล้าน เพิ่มขึ้นถึง 18%

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับ หนี้เสีย, หนี้มีปัญหา, หนี้ NPLs, หนี้ปรับโครงสร้าง โดยระบุว่า 

1. ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 จากการประมวลผลจากฐานข้อมูลสถิติที่เอาตัวตนออกไปแล้วของเครดิตบูโรพบข้อเท็จจริงว่า หนี้ครัวเรือนไทยทั้งก้อนหลังการปรับปรุงข้อมูลโดย ธปท. เรามีตัวเลขอยู่ที่ 15.96 ล้านล้านบาทคิดเป็น 90.6% ของ GDP ที่สะท้อนว่าเศรษฐกิจของเรามีปัญหาในเรื่องนี้ 

“เรามีปัญหาแล้ว เรามีปัญหาอยู่เรามีปัญหาต่อ (อีกซักพัก) เรายังออกจากกับดักตรงนี้ไม่ได้ในเวลานี้”

2. ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย 13.45 ล้านล้านบาทจัดเก็บอยู่ในระบบของเครดิตบูโรครับ ครอบคลุม 32 ล้านลูกหนี้ที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงินไทยกว่า 135 แห่ง

หนี้เสียไปแล้วรอการแก้ไขในตอนนี้กลับมาแตะระดับ 1 ล้านล้านบาทอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2566 ที่ระดับ 1.03 ล้านล้านบาทคิดเป็น 7.7% เมื่อไตรมาส 1 ปี 2566 มันอยู่ที่ 9.5 แสนล้านบาทครับ คำถามคือมันจะไปต่อหรือไม่ คำตอบคือมันต้องไปต่อแน่ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจแบบยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และทั่วถึง

ประกอบกับจะมีการชักคืนมาตรการช่วยเหลือออกตามแผน แล้วกลับไปใช้มาตรการตามปกติเดิมมารองรับ ตามการคาดการณ์จะไม่ไหลมาแบบรุนแรง แต่มีโอกาสเพิ่มแน่ ๆ ท่านที่สนใจพิจารณาได้จากกราฟสีแดงที่ปรากฏในภาพด้านล่างนะครับ

หนี้ตัวที่สองคือหนี้เสียที่เอาไปปรับโครงสร้าง เอาไปซ่อม เพื่อให้กลับมาเป็นหนี้ดี จ่ายได้ ตรงนี้มีจำนวน 9.8 แสนล้านบาทครับ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่อยู่ที่ระดับ 8 แสนล้านบาท

แน่นอนว่ามาจากการเร่งเข้าไปช่วยเหลือ, ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการที่ออกแบบมาโดย ธปท. 
ทุกท่านที่สนใจดูได้จากเส้นสีดำนะครับ ดูว่ากราฟมันเชิดหัวขึ้น ถ้าปรับแล้วรอดก็เป็นหนี้ดี, ถ้าปรับแล้วทำไม่ได้ ยังจ่ายไม่ได้ก็ต้องปรับอีกหรือปล่อยไหลเป็นหนี้เสีย

3. ไส้ในของหนี้ที่เสียไปแล้วหรือหนี้ NPLs ประกอบด้วย หนี้กู้ซื้อรถยนต์เกือบ 2 แสนล้านบาท หนี้กู้ซื้อบ้าน ที่อยู่อาศัย 1.8 แสนล้านบาท หนี้ Ploan 2.5 แสนล้านบาท บัตรเครดิต 5.6 หมื่นล้านบาท หนี้เกษตร 7.2 หมื่นล้านบาท เป็นต้น ที่น่าสังเกตคือหนี้กู้มาซื้อรถยนต์นั้นมันเพิ่มขึ้นจากกลางปีที่แล้ว มิถุนายน 2565 สูงถึง 18% อันนี้ต้องยอมรับว่ากลิ่นไม่ค่อยดี

แม้ว่าทุก ๆ คนกำลังรอกลิ่นแห่งความเจริญงอกงามทางเศรษฐกิจในอนาคตตามที่แต่ละคนวาดหวังแต่กลิ่นแห่งความเป็นจริงวันนี้และในระยะอันใกล้มันส่งผ่านตัวเลขออกมาแบบทำให้ไม่สบายใจ ไม่สบายเนื้อสบายตัวเอาเสียเลยในเวลานี้

เส้นกราฟสีเหลืองคือหนี้ที่กำลังจะเสีย หนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษ หนี้ SM กราฟปักหัวลงจาก 6 แสนล้านบาท มาเป็น 4.75 แสนล้านบาท พระเอกยังคงเป็นหนี้กู้มาซื้อรถยนต์นะครับ 2 แสนล้านบาท

หนี้เสียต้องเร่งแก้ไข เริ่มต้นได้อย่างไรให้ยั่งยืน มาตรการที่ช่วยให้ยืน จะต้องคืนในปลายปี แล้วชีวีตจะเดินไปอย่างไร

'เซ็นทรัลฯ' ลุยปรับโฉมร้าน Family Mart พลิกโฉมเป็น Tops Daily ยัน!! แม้จะมีการเปลี่ยนชื่อร้านแล้ว แต่ 'โอเด้ง' ยังมีขายตามปกติ

เมื่อไม่นานมานี้ เซ็นทรัล รีเทล หรือ CRC ผู้บริหารเชนร้านสะดวกซื้อ Family Mart เริ่มทยอยปรับโฉมและเปลี่ยนชื่อร้าน Family Mart เป็น Tops Daily แล้ว เช่นสาขาในย่านปิ่นเกล้า ทั้งการเปลี่ยนป้ายหน้าร้าน และประโยคต้อนรับลูกค้าของบรรดาพนักงาน

อย่างไรก็ตาม สำหรับแฟนสินค้าเด่นของ Family Mart อย่าง ‘โอเด้ง’ ยังสบายใจได้ เนื่องจากพนักงานของร้านยืนยันว่า แม้จะมีการเปลี่ยนชื่อร้านแล้ว แต่โอเด้งยังมีขายตามปกติ

การเปลี่ยนแปลงนี้ คาดว่าเป็นไปตามแนวทางที่ CRC ประกาศเมื่อช่วงต้นปี 2566 นี้ ว่าจะปรับกลยุทธ์ของธุรกิจค้าปลีก ด้วยการใช้แบรนด์ Tops เป็นแกนกลาง ขณะเดียวกันความต้องการของผู้บริโภคยังเปลี่ยนแปลงไปด้วย

โดยนายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทรัล รีเทล กล่าวในขณะนั้นว่า เทรนด์ของธุรกิจร้านสะดวกซื้อในไทยเปลี่ยนแปลงไป ตลาดต้องการร้านที่ขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ร้าน Family Mart ซึ่งมีพื้นที่เฉลี่ย 120 ตร.ม. ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ต่างจากร้านในแบรนด์ Tops ที่มีขนาดพื้นที่ร้านประมาณ 250-300 ตารางเมตร จึงมีความหลากหลายของสินค้ามากกว่า

พร้อมกันนี้ เซ็นทรัล รีเทล ยังปรับยุทธศาสตร์ด้านแบรนด์ด้วยการโฟกัสการใช้แบรนด์ Tops กับธุรกิจต่าง ๆ ในกลุ่มสินค้าอาหารเพื่อสร้างการจดจำ เช่น Tops, Tops Food Hall, Tops Fine Food, Tops Club และ Top Daily

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ร้าน Family Mart ในไทยมีสาขาลดลงต่อเนื่องจากจำนวนประมาณ 1,000 สาขา เมื่อปี 2560-2561 แต่ในช่วงปี 2564 ลดเหลือ 805 สาขา และปัจจุบันข้อมูลบนเว็บไซต์ของเซ็นทรัล รีเทล ระบุว่า บริษัทมีร้านสะดวกซื้อ 409 สาขา

สำหรับเส้นทางธุรกิจร้าน Family Mart ในประเทศไทยนั้น Family Mart เป็นร้านสะดวกซื้อสัญชาติญี่ปุ่น ภายใต้การบริหารของแฟมิลี่มาร์ทกรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท อิโตชู จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เข้ามาเปิดสาขาแรกในประเทศไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2536 ที่พระโขนง ตามด้วยสาขา 2 ที่สีลม ต่อมาเปิดสาขาแฟรนไชส์แห่งแรกที่เสนานิเวศน์ ก่อนจะมีสาขาครบ 100 สาขา ในธันวาคม 2542 ด้วยการเปิดสาขาลาดพร้าว 35 ตามด้วยสาขาในต่างจังหวัดเป็นครั้งแรกในจังหวัดชลบุรี คือ สาขาพัทยาวงศ์อมาตย์

สำหรับหนึ่งในสินค้าฮิตอย่างโอเด้งนั้น เริ่มขายใน 10 สาขาเมื่อสิงหาคม 2549 จากนั้น Family Mart เดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่อง โดยมีสาขาครบ 500 สาขาในปี 2551 และครบ 600 สาขา ในปี 2553 จากนั้น ปี 2555 เมษายนจึงเปิดสาขาลำดับที่ 700 และเปิดสาขาลำดับที่ 800 เมื่อปี 2556

ขณะเดียวกันบริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอรร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมเซ็นสัญญาลงนามในสัญญาร่วมทุน กับ บริษัท แฟมิลี่มาร์ท จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2555 และต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท เซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท จำกัดเมื่อปี 2556

ต่อมาในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด บริษัทย่อยของ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อหุ้นของ บริษัท เซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท จำกัด ในอีก 49.00% ที่เหลืออยู่จาก แฟมิลี่มาร์ท ประเทศญี่ปุ่น ทำให้แฟมิลี่มาร์ทในไทยเหลือสถานะเพียงแฟรนไชส์ของแฟมิลี่มาร์ทญี่ปุ่น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top