‘พาณิชย์’ เล็งส่งสินค้าสูตรโซเดียมต่ำตีตลาดญี่ปุ่น สอดรับนโยบาย รบ.ญี่ปุ่น รณรงค์ลดบริโภครสเค็ม

(10 ส.ค. 66) นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าจากการติดตามสถานการณ์การค้าในต่างประเทศ ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มาโดยต่อเนื่องนั้น ล่าสุดได้รับรายงานจากนายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถึงสถานการณ์สินค้าอาหารในญี่ปุ่น

โดยทูตพาณิชย์รายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ได้ตั้งเป้าปริมาณการบริโภคเกลือของประชากรอายุ 20 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 7.0 กรัมต่อวัน ในปี 2567 ซึ่งเป็นเป้าหมายภายใต้โครงการ ‘ญี่ปุ่นสุขภาพดี 21’ หลังจากการสำรวจสุขภาพและโภชนาการของประชาชน พบว่า คนญี่ปุ่นบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละ 10 กรัม ซึ่งเป็นสองเท่าของปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ โดยร้อยละ 70 ของการบริโภคเกลือของคนญี่ปุ่นมาจากเครื่องปรุง ไม่ว่าจะเป็น ซอสโชยุ เต้าเจี้ยวมิโซะ เกลือ ซุป ซอสต่างๆ ฯลฯ แหล่งการบริโภคเกลือของกลุ่มผู้บริโภคแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน เช่น กลุ่มผู้สูงอายุบริโภคเกลือจากผักดอง กลุ่มคนหนุ่มสาวบริโภคเกลือจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องแกงกะหรี่ ซึ่งเป็นสินค้าอาหารแปรรูป เป็นต้น จึงคาดการณ์ได้ว่า สินค้าอาหารแปรรูปลดเกลือมีแนวโน้มความต้องการของตลาดสูงขึ้นในอนาคต

ซึ่งการบริโภคเกลือปริมาณมากเกินไปยังเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญในด้านความยั่งยืนของระบบประกันสังคม ซึ่งคนญี่ปุ่นช่วงอายุ 40 - 59 ปี 1 ใน 3 คน และคนที่อายุมากกว่า 60 ปี 1 ใน 2 คนเป็นโรคความดันสูง

นอกจากนี้ ในอดีตคนญี่ปุ่นเป็นเส้นเลือดในสมองตีบหรืออุดตันจำนวนมาก โดยมีสาเหตุจากการบริโภคเกลือมากเกินไป ความอ้วน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย ฯลฯ การแก้ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาล ภาคเอกชน อาทิ ผู้ผลิตอาหาร ร้านอาหาร ฯลฯ ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตอาหารของญี่ปุ่นพยายามวิจัยและพัฒนาสินค้าอาหารลดเกลือภายใต้คอนเซปต์ ‘อร่อย สุขภาพดี สะดวก’ สินค้ามีความหลากหลายออกจำหน่ายมากขึ้น ภายในซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งมีชั้นวางสินค้าที่รวบรวมสินค้าเหล่านี้เอาไว้โดยเฉพาะ แสดงให้เห็นถึงความสนใจของผู้บริโภคต่อสินค้าเกลือต่ำ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดในการบริโภคเกลือ

“ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกสินค้าอาหารสำคัญของญี่ปุ่น หากผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตอาหารแปรรูปหรือวัตถุดิบที่ตรงกับความต้องการและแนวทางการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่น ก็อาจได้รับความสนใจจากผู้ซื้อมากยิ่งขึ้นและเป็นโอกาสในการขยายตลาดและมูลค่าการส่งออกสู่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป” นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า ช่วงเดือน มกราคม-มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปญี่ปุ่นแล้วมูลค่ากว่า 59,243 ล้านบาท