Friday, 4 July 2025
ECONBIZ

‘รมช.คลัง’ เตรียมออกใบอนุญาต ‘เกาหลีใต้’ จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ในไทย พร้อมเดินหน้ายกระดับความร่วมมือ-ขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

(14 พ.ย. 66) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC FMM) ครั้งที่ 30 อย่างไม่เป็นทางการ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา (H.E. Janet L. Yellen) เป็นประธาน ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของการดำเนินนโยบายการเงินการคลังในปัจจุบัน เช่น ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อการก่อหนี้สาธารณะ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อกำลังการผลิตในระบบเศรษฐกิจลดลง และภาระงบประมาณในการสนับสนุนด้านสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังร่วมหารือทวิภาคีกับสาธารณรัฐเกาหลี โดยได้พูดคุยกับทาง ‘H.E. Ji-young Choi’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งได้แจ้งว่า ทางสถาบันการเงินของเกาหลี มีความสนใจขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Banking) ในไทย ซึ่งในขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการให้ใบอนุญาตดังกล่าว คาดว่าสามารถออกประกาศใช้ได้ในเร็วๆ นี้

อีกทั้ง สาธารณรัฐเกาหลียังขอให้ไทยสนับสนุน ในการเป็นประธานร่วมภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน+3 ในปีหน้า และขอเสียงสนับสนุนจากไทยในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ‘World Expo 2030’ ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังแจ้งว่า ไทยพร้อมสนับสนุนและจะประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาให้การสนับสนุนดังกล่าวอีกด้วย

‘ครม.’ เคาะ!! หนุนเงินช่วยชาวนา ไร่ละ 1 พันบาท ไม่เกิน 20 ไร่ พร้อมไฟเขียวขึ้นราคา ‘น้ำตาล’ 2 บาท/กก. หลังต้นทุนชาวไร่อ้อยพุ่ง

(14 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สำหรับส่วนที่ตนดูและรับผิดชอบก็คือเรื่องข้าวและน้ำตาล ในเรื่องราคาข้าวนั้น เป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายข้าว ได้มีการประชุมกันและได้ให้ส่วนที่เกี่ยวข้องทำการหารือกัน ซึ่งได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้หารือและนำสรุปเข้า ครม.วันนี้ ได้ข้อสรุปว่า เงินค่าช่วยบริหารจัดการ ที่จะให้เกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ทั้งหมดจำนวนไม่เกิน 20 ไร่ เกษตรกรแต่ละครัวเรือนก็จะได้ครั้งละไม่เกิน 20,000 บาท ตรงนี้ก็ได้ประชุมเรียบร้อยแล้ว ให้ดำเนินการตั้งแต่มติ ครม.ออก ซึ่งจะรอให้ ธ.ก.ส.เคลียร์รายละเอียดประชุมเสนออีกครั้งหนึ่ง เข้าใจว่าอย่างเร็วก็จะเป็นวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน หรือวันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายนนี้ แต่อยู่ภายในกรอบหนึ่งเดือน ซึ่งเกษตรกรจะได้รับเงินตรงนี้ต่อเนื่องไป

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ส่วนเรื่องน้ำตาล ตนก็ได้รับฟังจากที่ประชุม ซึ่งตนได้มีการประชุมกับคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) และได้พูดคุยกับเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และอธิบดีกรมเจรจาการค้าต่างประเทศ ก็ได้ประชุมหารือร่วมกันไปถึง 2 ครั้ง และได้ข้อสรุปว่าเราจะดำเนินการ ในการที่จะพิจารณาอย่างเหมาะสม ตามความเป็นจริง ประเด็นแรก คือ ดูต้นทุนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย แล้วเห็นว่าก็สมควรให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยขึ้นราคา 2 บาท ตามที่ต้นทุนมีอยู่

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ส่วนกรณีของเรื่องอีก 2 บาท ที่ขอขึ้นเพื่อจะใช้ในกองทุนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม อันนี้เรายังไม่ให้ขึ้น ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม และกรรมการที่เกี่ยวข้องไปหารือกันว่า เรื่องนี้ไม่ควรจะให้ผู้บริโภครับผิดชอบคนเดียว ให้ไปดูว่าเรื่องนี้เกี่ยวพันกับใครอย่างไร มีช่องทางในการดำเนินการจัดการอย่างไร ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นที่ยังไม่อนุมัติ และขอให้ดำเนินการตามนี้

เมื่อถามถึง ปัญหาเรื่องน้ำตาลขาด นายภูมิธรรมกล่าวว่า ก็ได้คุยกับที่ประชุมที่เกี่ยวข้องทุกส่วนแล้ว ยืนยันว่า น้ำตาลจะไม่ขาด

เมื่อถามว่า การประชุมมีเรื่องอื่นด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า คิดว่าเอาเรื่องเฉพาะหน้า ที่เกษตรกรกำลังเดือดร้อน และก็จะได้คุมราคาน้ำตาลขึ้นสองบาท แล้วก็สามารถดำเนินการได้ ให้ส่วนที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ก่อน ส่วนเรื่องอื่นๆ สำหรับอนาคตที่จะต้องมีการปรับอะไรต่างๆ ก็ค่อยว่ากัน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องฉุกเฉิน ที่มีปัญหาอยู่ และเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่ประชาชนกำลังรับผิดชอบ

เมื่อถามว่า จะมีผลตั้งแต่วันนี้หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ครม.ได้กำหนดเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เกี่ยวข้องก็ไปดำเนินการต่อ จะมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

‘Jet Delivery’ เปิดแผนรุกตลาดธุรกิจส่งอาหาร ตั้งเป้าขยายพื้นที่บริการ 100 สาขาทั่วประเทศในปี 68

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท ศิริอริย จำกัด ผู้บริหาร แพลตฟอร์มแอปพลิเคชั่น Jet Delivery เตรียมแผนรุกตลาดธุรกิจส่งอาหาร ตั้งเป้าขยายพื้นที่เปิดบริการ 100 สาขาอำเภอ ทั่วประเทศ ภายในปี 2568

 

แอปพลิเคชัน Jet Delivery แพลตฟอร์มของคนไทย เริ่มเปิดดำเนินธุรกิจส่งอาหารในช่วงปลายปี 2564 จวบจนปัจจุบัน มีสาขามากกว่า 30 สาขา ทั่วประเทศ ได้เตรียมแผนธุรกิจเชิงรุก เพื่อรองรับการขยายสาขาในปี 2567 โดยตั้งเป้าหมาย มีพื้นที่เปิดบริการสาขา รวมไม่น้อยกว่า 60 สาขา และในปี 2568 ตั้งเป้าขยายสาขาให้ได้ ครบ 100 สาขา ปัจจุบัน มีร้านค้าเข้าร่วมขายอาหารบนแพลตฟอร์ม มากกว่า 5,000 ร้านค้า 

2 ปี ที่ผ่านมา Jet Delivery กระตุ้นให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นหมุนเวียน สร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่น ทั้งในส่วนของร้านค้ามีช่องทางการขายมากขึ้น มีรายได้จากการขายอาหารเพิ่มขึ้น มีอัตราการจ้างแรงงานมากขึ้น มีพนักงานส่งอาหารซึ่งเป็นคนในพื้นที่ มีรายได้โดยไม่ต้องจากถิ่นฐานบ้านเกิด

ในการให้บริการ Jet Delivery มีนโยบายการคิดค่า GP (Gross Profit) ที่ต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค ให้สามารถใช้บริการสั่งอาหารได้ประหยัด ตาม Concept ‘ส่งถูก ส่งดี ส่งฟรี ส่งไกล’

รูปแบบการดำเนินงานของ Jet Delivery จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ การเปิดสาขาบริการ ที่บริหารงานโดยบริษัทฯ เอง และ การหาพาร์ตเนอร์ลูกค้าที่มีความพร้อม ความสนใจที่ต้องการสร้างธุรกิจ ในท้องถิ่น โดยการซื้อแฟรนไชส์ ไปเปิดบริการในพื้นที่อำเภอที่ตนสนใจ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี สาขาแฟรนไชส์หลายสาขา สามารถสร้างผลตอบแทน และคืนทุนได้ภายใน 4-6 เดือน

ล่าสุด ผู้บริหาร ได้รับการคัดเลือกเข้าอบรม ในโครงการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ ผ่านโครงการ WE RISE Together สนับสนุนโดยรัฐบาลออสเตรเลียผ่านความร่วมมือแม่น้ำโขง-ออสเตรเลีย จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) แสดงให้เห็นถึงการให้โอกาสกับทุกเพศ อย่างเท่าเทียมในการทำงาน และการสร้างองค์กรธุรกิจด้วยความเสมอภาค

จากนโยบายของบริษัทฯ ที่ต้องการสร้างโอกาสให้คนไทย มีธุรกิจเป็นของตนเอง ส่งเสริมการสร้างอาชีพในท้องถิ่น สามารถสร้างรายได้ ด้วยการกำหนดราคาแฟรนไชส์ราคาประหยัด เพื่อให้ผู้สนใจ สามารถเข้าถึงธุรกิจแพลตฟอร์มแอปฯ เดลิเวอรี่ได้ และมุ่งเน้นทำตลาดในพื้นที่ โดยใช้เงินทุนที่ไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับการต้องสร้างแพลตฟอร์มธุรกิจขึ้นมาใหม่ ย่อมเป็นการเริ่มต้นในการลงทุนที่ดี สำหรับผู้ที่กำลังมองหาธุรกิจใหม่ ๆ และอยากทำธุรกิจที่บ้านเกิดของตนเอง

‘3BB’ ผนึกกำลัง ‘AIS’ พร้อมยกระดับเน็ตบ้านให้คนไทย หลัง กสทช.อนุญาตให้ซื้อกิจการ ย้ำ!! ลูกค้าปัจจุบันใช้งานได้ปกติ

เมื่อวานนี้ (13 พ.ย.66) นายสุพจน์ สัญญพิสิทธิ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB กล่าวถึง กรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้พิจารณาอนุญาตให้บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB (TTTBB) และการซื้อหน่วยลงทุนบางส่วนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บรอดแบนด์ - JASIF ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแก่ 3BB เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา

โดยหลังจากนี้ จะเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย ส่วนการให้บริการของ 3BB ลูกค้าในปัจจุบันนั้น จะยังคงสามารถใช้บริการได้ตามปกติ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ซึ่งทั้ง AIS และ 3BB จะร่วมผนึกกำลังและนำจุดแข็งของทั้งสองบริษัท มาร่วมกันส่งมอบให้ลูกค้าได้รับบริการที่ยกระดับไปอีกขั้น ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีโครงข่าย การขยายพื้นที่ให้บริการ บริการหลังการขาย ดิจิทัล คอนเทนต์ นวัตกรรม ฯลฯ โดยจะทยอยส่งมอบบริการพร้อมสิทธิพิเศษที่หลากหลาย และสะดวกมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

“การที่ 3BB ได้เข้าไปเป็น 1 ในกลุ่มธุรกิจของ AIS ที่เป็นผู้นำทางด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการดิจิทัล นอกจากจะเป็นผลดีแก่ลูกค้าแล้ว ยังช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Infrastructure Sharing) ตามนโยบาย กสทช. ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาอุตสาหกรรม Fix Broadband หรือ เน็ตบ้าน อาทิ ความชำนาญในการพัฒนาบริการเน็ตบ้านในพื้นที่ห่างไกลของ 3BB หรือ ความชำนาญของ AIS เกี่ยวกับบริการดิจิทัล และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจะช่วยให้เติมเต็มซึ่งกันและกัน พร้อมทำให้บริการเน็ตบ้าน ก้าวสู่ความเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอัจฉริยะ ที่จะทำให้ทั้งระดับประชาชน ผู้ประกอบการในทุก ๆ อุตสาหกรรม ตลอดจนเศรษฐกิจประเทศแข็งแกร่ง พร้อมรับมือความท้าทายที่ท่ามกลางความแปรปรวนของเศรษฐกิจในระดับมหภาคได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป” นายสุพจน์ กล่าว

'อ.พงษ์ภาณุ' หวั่น!! นโยบายการเงินแบงก์ชาติซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย หลังเงินเฟ้อตุลาติดลบ และเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดตามประเทศจีน

(11 พ.ย. 66) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ให้มุมมองต่อภาวะความเสี่ยงเงินฝืดกับอิสรภาพธนาคารกลาง ไว้ว่า...

สมัยก่อนระบบการเงินโลกตั้งอยู่บนมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) เงินตราสกุลต่าง ๆ มีค่าคงที่อิงอยู่กับน้ำหนักทองคำ ต่อมาหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 มีการใช้ระบบ Bretton Woods ค่าเงินก็ยังคงที่แต่อิงกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ นโยบายการเงิน (Monetary Policy) มักจะไม่ค่อยมีบทบาททางเศรษฐกิจเท่าไหร่ 

หน้าที่หลักของนโยบายการเงินคือ การรักษาระดับคงที่ (Parity) ของอัตราแลกเปลี่ยน ต่อเมื่อระบบการเงินโลกเปลี่ยนมาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา นโยบายการเงินจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระดับราคา และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าธนาคารกลางจะต้องมีอิสรภาพในการทำหน้าที่นี้โดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง ความเชื่อในอิสรภาพของธนาคารกลางและการใช้ Inflation Targeting มาเป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงิน ได้ช่วยให้เงินเฟ้อของโลกที่เคยสูงถึงกว่า 20% ลดลงมาอยู่ระดับไกล้ศูนย์มาเป็นเวลานาน

ประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ยึดมั่นในหลักความเป็นอิสระของธนาคารกลาง โดยเฉพาะหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ได้มีการแก้กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อประกันความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินและทำให้การปลดผู้ว่าการฯ ยากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะกระทำไม่ได้หากผู้ว่าการฯ บกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง

1 ปีครึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่านโยบายการเงินได้สร้างความผันผวนอย่างรุนแรงให้กับเศรษฐกิจไทย เมื่อโลกมีเงินเฟ้อสูงเมื่อไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว ธนาคารกลางทุกประเทศได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วตามกรอบ Inflation Targeting ขณะที่ทางการไทยกลับรี ๆ รอ ๆ ปรับดอกเบี้ยช้ากว่าประเทศอื่น จนอัตราเงินเฟ้อของไทยในปีที่แล้วขึ้นไปสูงถึงกว่า 6% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในอาเซียนและสูงกว่ากรอบ Inflation Targeting ที่เห็นชอบร่วมกับรัฐบาล ถึงกว่า 2 เท่า 

พอมาถึงปีนี้ ภายหลังการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ดูเหมือนว่าการดำเนินการนี้จะสายเกินไปและผิดที่ผิดเวลา จนซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้เงินเฟ้อมีอัตราติดลบในเดือนตุลาคม และมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดตามประเทศจีนไป และก็ถือเป็นการหลุดกรอบ Inflation Targeting 2 ปีติดต่อกัน เราไม่เคยได้ยินคำขอโทษของธนาคารแห่งประเทศไทยสักครั้งเดียว

เรายังเชื่อในอิสรภาพของธนาคารกลาง แต่อิสรภาพนี้จะต้องมีควบคู่ไปกับ Accountability ฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งต้อง Accountable ต่อประชาชนที่เลือกตั้งเข้ามา แต่ธนาคารกลาง ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและได้รับการคุ้มครองอิสรภาพตามกฎหมาย ควรจะต้องมี Accountability มากกว่านี้ อย่างน้อยก็ควรจะต้องเคารพเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งเปรียบเสมือนสัญญาประชาคม

‘พีระพันธุ์’ ขอบคุณทุกฝ่ายร่วมแก้ปัญหา ลั่น!! ตอนนี้ทุกปั๊มมีน้ำมันพร้อมให้บริการ

(13 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า จากกรณีที่สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดปัญหาน้ำมันในสถานีบริการมีไม่เพียงพอต่อการจำหน่ายเนื่องจากประชาชนตอบรับนโยบายลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน ทำให้ก่อนวันลดราคาในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ประชาชนชะลอการเติม และมาเติมพร้อมกันในวันที่ 7 พฤศจิกายน ซึ่งมียอดเติมน้ำมันเบนซินทุกชนิดรวมกันสูงถึงเกือบ 70 ล้านลิตรในวันเดียว จากปกติมีการเติมเฉลี่ยวันละ 30 ล้านลิตร

โดยจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลังทราบปัญหา จึงได้มีการสั่งการตั้งคณะทำงานตรวจสอบการจำหน่ายน้ำมันขึ้นทันที และมีการจัดประชุมในเย็นวันเดียวกันเพราะเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งสำนักงานพลังงานจังหวัด พาณิชย์จังหวัด และเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม ก็ได้เร่งลงพื้นที่ พร้อมกำชับสถานีบริการน้ำมันที่มีน้ำมันไม่เพียงพอจำหน่ายเร่งซื้อน้ำมันเข้ามาเติมเพื่อให้ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ 

ทั้งนี้ ต้องขอบคุณทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ทุกฝ่าย ที่เร่งดำเนินการแก้ปัญหา รวมทั้งขอบคุณเจ้าของสถานีบริการน้ำมันและผู้ค้าน้ำมัน ที่เร่งดำเนินการ ทั้งการเพิ่มรอบส่งน้ำมัน การปรับแผนกระจายน้ำมันให้ทั่วถึง จากการตรวจสอบก็พบว่า สถานีบริการที่อยู่ในเมือง สามารถแก้ปัญหาได้ภายใน 1-2 วัน ยกเว้นสถานีบริการน้ำมันที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่จำเป็นต้องจ้างรถเอกชนเพิ่มเติม ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ใน 3-4 วัน

"ผมยังยึดมั่นคำเดิม อะไรที่ทำได้ ทำก่อน อย่างกรณีวันแรก (7 พ.ย.66) ทันทีที่มีการแชร์ข้อมูลเรื่องสถานีบริการมีน้ำมันไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย ผมได้สั่งการให้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการจำหน่ายน้ำมันขึ้นทันที ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานีบริการน้ำมัน และส่งข้อมูลเข้าส่วนกลาง เพื่อแจ้งไปยังกรมธุรกิจพลังงานให้เร่งประสานผู้ค้าน้ำมันในการเพิ่มรอบการส่ง กระจายปริมาณน้ำมันจากคลังให้เพียงพอและทั่วถึง ซึ่งบางสถานีบริการอยู่ในพื้นที่ห่างไกล จึงอาจเกิดความล่าช้าในการขนส่ง และบางสถานีระบบสั่งจ่ายน้ำมันก็เกิดเหตุขัดข้อง ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย ผมขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาและสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว กระทรวงพลังงานจะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากประชาชนพบว่าปัญหาเรื่องการจำหน่ายน้ำมัน สามารถแจ้งเรื่องได้ที่ศูนย์บริการร่วมกระทรวงพลังงาน โทร 02-140-7000” นายพีระพันธุ์กล่าว

‘สาธารณสุข’ เผย ‘โซลาร์’ บนหลังคา รพ. คืบหน้า ช่วยลดปล่อยคาร์บอน เซฟค่าไฟกว่า 300 ล้านต่อปี

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ระบุถึง ความคืบหน้าการขับเคลื่อนการอนุรักษ์พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามนโยบาย Smart Energy and Climate Action 

ล่าสุดหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว 1,252 แห่ง ช่วยลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 35,420 tCO2-eq /ปี ประหยัดค่าไฟได้กว่า 322 ล้านบาท/ปี

ทั้งนี้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Climate Change) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งจากโรคต่างๆ และภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น โดยผลการศึกษาในปี พ.ศ.2565 พบว่าโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วน 9% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ หรือ 33,766,720 tCO2-eq /ปี

โดยกิจกรรมที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงสุดคือ การเดินทางมาโรงพยาบาลของผู้ป่วย และญาติ และการใช้ไฟฟ้าในโรงพยาบาล ซึ่งข้อมูลการจัดการพลังงาน ปี 2564 พบว่า มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าถึง 1,217 ล้านกิโลวัตต์/ปี คิดเป็นค่าไฟฟ้าประมาณ 4,730 ล้านบาท/ปี

สำหรับหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลระดับต่างๆ ซึ่งข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 ต.ค.2566 มีหน่วยบริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว 1,252 แห่งจากทั้งหมด 1,857 แห่ง มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 62,245.80 กิโลวัตต์

‘SME D Bank’ มอบ ‘ทุนการศึกษา-อุปกรณ์กีฬา’ ให้นร. รร.วัดป่าระกำ พร้อมบริจาคแผงโซล่ารูฟท็อป ติดบนหลังคา ช่วยวัดประหยัดค่าใช้จ่าย

(13 พ.ย.66) นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ ร่วมขับเคลื่อนองค์กร ตามแนวทาง ESG ได้แก่ การดูแลสิ่งแวดล้อม (Environment) ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) ควบคู่การดำเนินกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) จัดกิจกรรมมอบทุนการศึกษาและอุปกรณ์กีฬา ให้แก่นักเรียนโรงเรียนวัดป่าระกำ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดอัฑฒศาสนาราม จ.นครศรีธรรมราช ช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวและการดําเนินชีวิต เพื่อให้นักเรียนได้ใช้จ่ายในชีวิตประจําวัน

นอกจากนั้น ธนาคารได้รับเกียรติจาก นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานสักขีพยานรับมอบกิตติมศักดิ์ จาก บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PRIME ผู้นำธุรกิจด้านนวัตกรรมพลังงานทดแทนครบวงจร หน่วยงานพันธมิตรของ SME D Bank ร่วมบริจาคและติดตั้งแผงโซล่ารูฟท็อป บนหลังคากุฏิอนุสรณ์พระครูนิโครธจรรยานุยุต (พ่อท่านมุ่ย) เพื่อสร้างประโยชน์ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้งานภายในวัด ช่วยให้วัดประหยัดค่าใช้จ่าย โดยธนาคารและประชาชนผู้มีจิตศรัทธา ยังได้ร่วมกันทำความสะอาดโดยรอบบริเวณวัด เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สืบทอดประเพณีอันดีงามที่มีมาแต่โบราณ ก่อให้เกิดความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนาให้วัฒนาถาวร รวมทั้งสนับสนุนวัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้พระธรรมวินัย เป็นศูนย์รวมของประชาชนในการจัดพิธีวันสำคัญต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนาสืบไป ณ วัดป่าระกําเหนือ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566

'รมว.พิมพ์ภัทรา' เปิดงานประจำปี สศอ. OIE Forum 2566 พลิกโฉมอุตสาหกรรมไทย เผยวาระเร่งด่วน 6 ด้าน หนุน 'ภาคอุตฯ - ผู้ประกอบการไทย' เติบโตอย่างยั่งยืน

(13 พ.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดงานและปาฐกถาพิเศษในงานประจำปี OIE FORUM 2566 ครั้งที่ 15 'MIND : Set for Sustainability ปรับมุมคิด พลิกอุตสาหกรรมไทย สู่ความยั่งยืน' จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิดในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่การเติบโตที่ยั่งยืน เผยวาระเร่งด่วน 6 ด้านสำคัญเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง และเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจและสังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ การเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ การแข่งขันในภูมิภาคและสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าทั่วโลก รวมถึงความขัดแย้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างประเทศที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยอยู่ในภาวะที่ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก เป็นผลมาจากการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงาน รวมทั้งผลจากการฟื้นฟูของภาคการท่องเที่ยวที่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยารักษาโรค อุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นต้น 

แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ตลอดจนภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย ที่เป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และความสามารถในการชำระหนี้ของคนไทย โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ซึ่งจะมีการผลักดันเรื่องการพักหนี้ให้กับผู้ประกอบการ SME ตามนโยบายรัฐบาล โดยหาแนวทางการช่วยเหลือที่เหมาะสม เช่น การพักเงินต้น การพักดอกเบี้ย โดยไม่สร้างปัญหา Moral Hazard หรือการจงใจผิดชำระหนี้ของลูกหนี้ ขณะที่ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิต ภาคเกษตรและส่งผลต่อเนื่องมายังวัตถุดิบที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพื้นที่อ่อนไหวสูงที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรอื่น ๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริม สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไทยทุกกลุ่มให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดวาระเร่งด่วน 6 ด้านสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม ประกอบด้วย...

1. อุตสาหกรรมเป้าหมาย เน้นอุตสาหกรรมที่จะเป็นอนาคตของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ครอบคลุมสินค้าที่เกี่ยวข้อง อาทิ การผลิตแบตเตอรี่ แผงวงจร 

2. อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิด 'เศรษฐกิจนำอุตสาหกรรม' โดยนำมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม มาเป็นเครื่องมือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมฮาลาล ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค (Halal Hub) ควบคู่กับการขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อและเป็นฐานลูกค้ามุสลิมรายได้สูงของไทย รวมถึงยาและเครื่องสำอาง และสปาฮาลาล 

3. อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการปรับปรุงกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษในพื้นที่อุตสาหกรรมให้เข้มงวดขึ้น 

4. มุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้การบริการ และการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการปรับปรุงฐานข้อมูลภาคอุตสาหกรรมให้เป็นระบบ 

5. การส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัป ให้มีความเข้มแข็งและอยู่รอดได้ ภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงต่าง ๆ ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ผ่านกลไกของหน่วยงานภายในกระทรวง 

และ 6. การเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อ่อนไหวสูงที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม 

ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนดังกล่าวจะส่งผลให้เศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น นำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว สามารถนำพาประเทศไทยก้าวข้ามวิกฤตต่างๆ และเดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต

ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งสู่ 'อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ' ที่ 'เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน' ใน 4 มิติ ได้แก่...

มิติที่ 1 ด้านความสำเร็จทางธุรกิจ 
มิติที่ 2 ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวม 
มิติที่ 3 ความลงตัวกับกติกาสากล 
และมิติที่ 4 การกระจายรายได้สู่ชุมชนและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน 

นอกจากนี้ เพื่อยกระดับการทำงานสู่รัฐบาลดิจิทัล กระทรวงอุตสาหกรรมได้เปิดแพลตฟอร์ม การบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม (i-Industry) ให้ลูกค้าของกระทรวงอุตสาหกรรมลงทะเบียนเพื่อเข้าถึงบริการของกระทรวงในด้านต่าง ๆ ทั้งการอนุมัติ อนุญาต การชำระค่าธรรมเนียม การส่งเสริมพัฒนาให้คำปรึกษาทางธุรกิจ รวมถึงการรายงานข้อมูลการประกอบกิจการผ่านระบบ iSingleForm เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ดัชนีอุตสาหกรรม ออกแบบนโยบายและสร้างกลไกการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างตรงประเด็น ประกอบกับการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงาน ภายใต้กฎหมายของกระทรวงอย่างเข้มข้น ครอบคลุม 4 ด้าน คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการมีการประกอบกิจการที่ดี ลดข้อขัดแย้งและขจัดปัญหาข้อร้องเรียนของชุมชนและสังคม

ด้านนางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า สำหรับงานประจำปี OIE FORUM 2566 ถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เข้าสู่ปีที่ 15 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีนำเสนอมุมมอง และแลกเปลี่ยนแนวคิดในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่การเติบโตที่สมดุลและยั่งยืน ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ และการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล โดยการจัดงานในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้นกว่า 2,000 คน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ สื่อมวลชน ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป แบ่งเป็นผู้เข้าร่วมงาน ณ สถานที่จัดงาน จำนวนกว่า 550 คน และผู้เข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ (Live Streaming) จำนวน 1,500 คน 

ทั้งนี้ ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ 'ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจไทยที่ยั่งยืน' โดย รมว.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล, ผลการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงเสวนาในหัวข้อ 'MIND : Set for Sustainability ปรับมุมคิด พลิกอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน' จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากแวดวงอุตสาหกรรม 

นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการนำเสนอผลการดำเนินงานที่สำคัญของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำนวน 11 เรื่อง ตลอดจนการเสวนาออนไลน์ 3 หัวข้อย่อย เผยแพร่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 วัน โดยหัวข้อที่ 1 'Manpower : ยกระดับแรงงานยุคใหม่ พลิกอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน' หัวข้อที่ 2 'Empowering Innovation & Digital Transformation : เสริมพลัง สร้างอนาคตอุตสาหกรรมไทย' และหัวข้อที่ 3 'Next Moves to Net Zero : อุตสาหกรรมไทย ก้าวต่อไปสู่เป้าหมายโลก'

‘FETCO’ ชี้!! รบ.ออก พ.ร.บ.กู้เงินแจกดิจิทัลวอลเล็ต  เป็นแนวทางที่ถูกต้อง ‘มีความโปร่งใส-มีผู้ตรวจสอบ’ 

(13 พ.ย.66) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวถึงกรณีการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า การที่รัฐบาลมีการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และมีผู้ตรวจสอบ ดังนั้นเรื่องนี้ต้องโปร่งใส ตรงไปตรงมา 

ทั้งนี้ นายกอบศักดิ์ เผยว่าอีก โครงการดังกล่าว คาดว่า จะก่อหนี้ให้กับประเทศเพิ่ม 2-3% แต่คงไม่ถึงกับไปกระทบให้ถูกปรับลดเครดิตเรตติ้งของประเทศไทย 

'ลดราคาน้ำมัน' นโยบายจากรัฐช่วยลดภาระประชาชน 3 เดือน ช่วงแรก 'น้ำมันหมด' จุดเสียงก่นด่า แต่เป็นการกรุยทางปรับลดระยะยาว

ขณะนี้นโยบาย ‘ลดภาระค่าใช้จ่ายราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมัน’ กำลังดำเนินไป และมีการปรับลดราคาน้ำมันลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ กลุ่มน้ำมันเบนซิน ที่มีการปรับลดราคาลงในคราวเดียว 2.50 บาท ต่อ ลิตร เมื่อวันที่ 6 พ.ย.66 ที่ผ่านมา โดยเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 1 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 ลดลง 2.50 บาทต่อลิตร ส่วน E85 และ E20 ลดลง 0.80 บาทต่อลิตร ซึ่งมีผลในวันที่ 7 พ.ย. 66 เวลา 05.00 น. เป็นต้นไป

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น พบว่า ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 66 เป็นต้นมา สถานีบริการน้ำมัน หลายแห่ง ขึ้นป้าย ‘น้ำมันหมด’ โดยเฉพาะ กลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ส่งผลกระทบต่อการเดินทางสัญจรของประชาชน จนมีกระแสข่าวว่า สถานีบริการน้ำมันกักตุนน้ำมันไม่ยอมนำออกมาจำหน่าย

ซึ่งหากติดตามข้อมูลจากแหล่งข่าวต่าง ๆ รวมทั้งสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ผ่านมา ย่อมเข้าใจได้ว่า หลัง มติ ครม. ที่ให้ปรับลดราคาน้ำมัน ผ่านกลไกภาษีสรรพสามิต และบริหารจากกองทุนน้ำมันฯ โดยปรับลดราคาน้ำมันสูงสุด 2.50 บาท ต่อลิตร นาน 3 เดือน มีผล 7 พ.ย. 66 สถานีบริการน้ำมันต่าง ๆ ย่อมต้องบริหารสต๊อกน้ำมัน เพื่อให้ขาดทุนน้อยที่สุด เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้ชดเชยส่วนต่างที่ปรับลงอย่างรุนแรงให้ ส่งผลให้แทบไม่มีสถานีบริการน้ำมันใด สั่งน้ำมันมาจำหน่ายในช่วงก่อนปรับลดราคา

และในวันที่ 9 พ.ย. 66 ก็มีการปรับลดราคาน้ำมันลงอีก 60 สตางค์ต่อลิตร หากสถานีบริการใด ที่ยังสต๊อกน้ำมันที่ซื้อก่อนวันที่ 6 พ.ย. 66 เท่ากับว่า ราคาลงไป 2.50+0.6 = 3.10 บาท ต่อลิตร นั่นหมายความว่า หากลองคำนวณว่า ยังมีน้ำมันคงเหลือ 10,000 ลิตร ปั๊มก็จะขาดทุนทันที 31,000 บาท ปรากฏการณ์น้ำมันหมด จึงเกิดขึ้นแทบทุกพื้นที่

การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนตามต่างจังหวัด ที่ใช้รถจักรยานยนต์ในการเดินทางเป็นจำนวนมาก ย่อมได้รับเสียงชื่นชมนโยบายนี้ ถึงแม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 3 เดือน แต่ย่อมเริ่มเห็นทิศทางในการปรับกลไกราคาน้ำมัน ให้สอดคล้องตามต้นทุน และสามารถพยุงช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน ให้เหมาะสม

'น้ำมันหมด' ปรากฏการณ์สั้น ๆ ที่อาจได้รับเสียงก่นด่า จากผู้ที่เข้าเติมน้ำมันตามสถานีบริการ ในช่วงเวลานี้ ที่จะทำให้ประชาชนเริ่มยิ้มได้ กับ สถานการณ์ราคาน้ำมัน ที่มีแนวโน้มลดลงในระยะยาว

เรื่อง: The PALM

'อ.พงษ์ภาณุ' มอง!! พิษสงคราม สั่นคลอนระบบการเงินโลก เสนอใช้ Local Currencies แทนดอลลาร์ 'ชำระเงิน-ค้าขาย' แบบทวิภาคี

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ...ถึงเวลาแล้วหรือยัง ใครได้ใครเสีย?' เมื่อวันที่ 12 พ.ย.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

สงครามสั่นคลอนระบบการเงินโลก เสนอใช้ local currencies แทนดอลลาร์

ผลพวงจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดความผันผวนทางการเงินอย่างไม่เคยมีมาก่อน 

อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เคยอยู่ที่ระดับ 0% กระโดดขึ้นมาอยู่ที่ 5.5% และไม่มีแนวโน้มจะกลับสู่ระดับเดิมในเร็ววัน 

แม้ว่าจะไม่มีสัญญาณใดๆ จากตลาดเงินตลาดทุนว่าสงครามที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จะลุกลามไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 แต่เชื่อว่าความผันผวนทางเศรษฐกิจจะยังคงมีอยู่ต่อไปและอาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มที่จะใช้เงินดอลลาร์เป็นอาวุธในการคว่ำบาตรประเทศที่เป็นศัตรูเป็นครั้งคราว ซึ่งเป็นการทำลายความเชื่อมั่นในระบบการเงินอีกด้วย

ขณะนี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะร่วมกันผลักดันและสนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่น (Local Currencies) ในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น ดังเช่นที่ประเทศไทยเคยมีบทบาทนำในการผลักดัน Asian Bond Market Initiative สมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 20 ปีที่แล้ว 

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ธนาคารกลางของ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็ได้เซ็น MOU ที่จะสนับสนุนการใช้เงินบาท, ริงกิต และรูเปียะ ในการชำระเงินการค้าขายแบบทวิภาคี ซึ่งถือเป็นความพยายามที่ดีและน่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง

แน่นอนว่า การผลักดันให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่น คงไม่ใช่เรื่องง่าย และดูจะฝืนธรรมชาติด้วยซ้ำ เพราะมีความเสี่ยงสูง และต้นทุน (Transaction Costs) ต่อผู้ประกอบการ โดยวัดจาก Spread ของธนาคารก็สูงกว่ามาก 

แต่สถานภาพปัจจุบันที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงเป็นเงิน Reserve Currency สกุลเดียวของโลกมาเป็นเวลากว่า 80 ปี และมีสัดส่วนกว่า 80% ในการชำระเงินและในทุนสำรองระหว่างประเทศ จนมีพลังต่อรองในเวทีเศรษฐกิจโลกเสมอมานั้น คงถึงเวลาที่ภาครัฐของทุกประเทศ โดยเฉพาะกระทรวงการคลังและธนาคารกลาง จะต้องร่วมมือกันอย่างเข้มข้น ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น 

ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินท้องถิ่น เครื่องมือบริหารความเสี่ยง ตลาดเงินตลาดทุน รวมทั้งในระยะปานกลาง/ยาว ต้องจัดตั้งกลไกเชื่อมโยงอัตราแลกเปลี่ยนทำนองเดียวกับ European Monetary System (EMS) และการมุ่งไปสู่เงินสกุลเดียวทำนองเดียวกับเงินยูโร ต้องคิดไว้ได้บ้างแล้ว...

‘รัฐบาล’ เตรียมผลักดัน ‘กรมอุตสาหกรรมฮาลาล’ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว-ส่งออกไปตลาดที่มีศักยภาพ

เมื่อวานนี้ (11 พ.ย.66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาล ว่า อุตสาหกรรมฮาลาลมีมากกว่าเรื่องอาหาร​ แต่รวมถึงการผลิตหรือการบริการอื่น ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนาอิสลาม ได้แก่ เครื่องสำอางค์ เครื่องใช้ประจำวัน เครื่องนุ่งห่ม สาธารณูปโภค การผลักดันให้ไทยได้เป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค หรือ ฮาลาลฮับ (Halal Hub) และเป็นครัวโลกนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น​ ฮาลาลเป็นยิ่งกว่าอาหาร​ ฮาลาลคือความศรัทธาและวิถีชีวิต เราจะไปให้ไกลกว่าแค่เรื่องอาหาร

นางรัดเกล้า กล่าวว่า ในก้าวแรกนี้​ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมมาตรการและแผนงาน รวมทั้งแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลสำหรับรองรับการท่องเที่ยวและผลักดันการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง อาเซียน และเอเชียใต้ เป็นต้น นอกจากนี้จะมีการผลักดันกรมก่อตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาล ขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อยกระดับฮาลาลไทยสู่สากลอย่างเต็มที่ ​

นางรัดเกล้า กล่าวว่า ตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ที่มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 13.5 ตามสัดส่วนประชากรมุสลิมโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลในปี 2566 เพียงครึ่งปีแรก (ม.ค.-ก.ค.) สามารถส่งออกมีมูลค่าถึง 136,503 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ เช่น ข้าว ธัญพืช น้ำตาลทราย ฯลฯ ในขณะที่กลุ่มอาหารที่ต้องผ่านการรับรอง เช่น เนื้อสัตว์-อาหารทะเล อาหารแปรรูป ฯลฯ มีอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 7.5 และ 10.3 ตามลำดับ ซึ่งไทยมีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,043 ราย มีร้านอาหารฮาลาลมากกว่า 3,500 ร้าน ดังนั้น หากจะผลักดันให้อาหารฮาลาลของไทยขยายตลาดมากขึ้นและเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก 

นางรัดเกล้า กล่าวว่า การผลักดันครั้งนี้​ เป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับคนไทย​ โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิม ซึ่งการที่ไทยมีพรหมแดนติดกับประเทศมาเลเซียนั้นเป็นจุดแข็งให้สามารถเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค หรือ ฮาลาลฮับ (Halal Hub) เป็นฐานการผลิตที่ดีสำหรับทั้งชาวมุสลิมในประเทศเองและเพื่อส่งออกรองรับตลาดโลก สอดรับกับการเป็นครัวของโลกอย่างชัดเจน​ และที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือนี่เป็นเพีบงแค่จุดเริ่มต้น

‘พีระพันธุ์’ ร่วมศึกษางานบริษัทพลังงานชั้นนำของ ‘จีน’ เล็งพัฒนาความร่วมมือ หนุนพลังงานสีเขียวอย่างยั่งยืน

(11 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ขณะเข้าร่วมการประชุม Communist Party of China (CPC) in Dialogue with Political Parties from Southeast and South Asian Countries (ในหัวข้อ Enhancing the Pillars of High-quality Development, Embracing a Brighter) ณ WYNDHAM GRAND Plaza Royale Colorful Yunnan Kunming ประเทศจีน ระบุว่า…

ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมที่นครคุนหมิงตามคำเชิญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งนี้ ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมและศึกษาดูงานที่บริษัท Yunnan Energy Investment Group จำกัด (YEIG) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ของมณฑลยูนนาน และได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งใน ‘บริษัทยอดเยี่ยม 500 อันดับแรกของจีน’ ติดต่อกัน 7 ปี

ผมได้รับทราบข้อมูลว่า บริษัท YEIG นี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 เดิมชื่อ ‘บริษัท การลงทุนไฟฟ้ามณฑลยูนนาน จำกัด’ อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารทรัพย์สินของรัฐของรัฐบาลมณฑลยูนนาน (State-owned Assets Supervision and Administration Commissionof Yunnan Provincial People's Government) โดยมีธุรกิจหลัก คือ การผลิตพลังงานสะอาด (น้ำ ลม แสงอาทิตย์ ก๊าซธรรมชาติ และชีวภาพ) และยังดำเนินธุรกิจด้านการเงิน โลจิสติกส์ สารสนเทศ (Big Data) และกิจการอื่นๆ ผ่านบริษัทในเครือกว่า 100 บริษัท 

นอกจากนี้ YEIG ยังได้นำยุทธศาสตร์ ‘ก้าวออกไป’ ของรัฐบาลจีนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจการในต่างประเทศ โดยการก่อตั้งบริษัท Hong Kong Yunnan Energy International Investment จำกัด เพื่อลงทุนโครงการสถานีไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและพลังไอน้ำในเมียนมา และโรงงานปูนซีเมนต์ในลาวและอินโดนีเซีย รวมทั้งได้จัดตั้งสำนักงานตัวแทนในต่างประเทศ เช่น ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม ติมอร์-เลสเต บังกลาเทศ และเนปาล รวมถึงในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านพลังงาน รวมทั้งมุ่งดำเนินการตามวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และแผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์มณฑลยูนนาน และรัฐบาลมณฑลยูนนาน โดยเฉพาะการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสีเขียวให้เป็นอุตสาหกรรมหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาใหม่ที่ยั่งยืนของมณฑลต่อไป

ผมขอขอบคุณท่าน หู จวิน ประธานบริษัทฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกๆ ท่าน ที่ให้การต้อนรับผมและคณะเป็นอย่างดี และทาง YEIG ยังพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกระทรวงพลังงานในภารกิจต่างๆ ด้านพลังงาน โดยจะให้ตัวแทนในประเทศไทยติดต่อผม เพื่อประสานงานแนวทางต่าง ๆ กันต่อไป ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีครับ

‘พิมพ์ภัทรา’ มอบ ‘อสจ.สุราษฎร์ฯ-ศูนย์ฯ ภาค 10’ ร่วมพัฒนาอุตสาหกรรม มุ่งขับเคลื่อนประเทศ สอดรับ ‘อุตสาหกรรมไทยเติบโตคู่ชุมชนอย่างยั่งยืน’

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรวจราชการและมอบนโยบายให้แก่หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีนายวัชรินทร์ ไชยานุพงศ์ อุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี (อสจ.สุราษฎร์ธานี) นางสาวอริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้แทนศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคใต้ สาขาย่อยจังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้การภาค 7 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สาขาสุราษฎร์ธานี ร่วมต้อนรับ ณ ห้องประชุมศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 จังหวัดสุราษฎร์ธานี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวให้กำลังใจการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 ผู้บริหาร บุคลากรทุกคนเป็นกำลังหลักสำคัญในการขับเคลื่อนองคาพยพของกระทรวงอุตสาหกรรม และยังต้องมีหน้าที่เป็นผู้ประสานระหว่างชุมชนถึงโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าอยู่คู่ชุมชนได้อย่างมีความสุข

ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างสมดุลในระยะยาว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามนโยบาย ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ให้เติบโตคู่ชุมชนยั่งยืน’ ซึ่งเป็นแนวทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่สามารถเติบโตไปได้ อยู่ได้ร่วมกับชุมชนอย่างมีความสุขนั่นเอง

อสจ.สุราษฎร์ธานี ระบุว่า พื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจการ จำนวน 934 โรง มีจำนวนการจ้างงาน 36,419 คน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มการผลิตอื่น ๆ เช่น ขุดดิน ดูดทราย ผลิตไฟฟ้า คัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว จำนวน 364 โรงงาน กลุ่มแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ จำนวน 232 โรงงาน กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ผลิตน้ำแข็ง เครื่องดื่ม แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จำนวน 135 โรงงาน กลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง จำนวน 69 โรงงาน และกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม จำนวน 10 โรงงาน มีเงินลงทุน จำนวน 65,334.48 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีประทานบัตรเปิดการทำเหมือง จำนวน 33 ประทานบัตร และยังได้รายงานการปฏิบัติงานที่เห็นผลสำคัญ คือ โครงการยกระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัยด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์ ที่มีแนวโน้มมุ่งสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีความสะดวกในการบริโภค มีบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม สามารถคงคุณภาพผลิตภัณฑ์ไว้ได้ยาวนาน การเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกร ผู้ผลิต หรือเอสเอ็มอี มีขีดความสามารถพร้อมเข้าสู่การผลิตสินค้าที่มีคุณค่าเพิ่ม (Value Creation) ภายใต้กระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety)

ทั้งนี้ มีโครงการค่าใช้จ่ายแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน เสริมสร้างความรู้ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ต้นแบบ และทดสอบตลาด ในปี 2566 โดยมีกรณีที่ประสบความสำเร็จ คือ ซอสคั่วกลิ้งปรุงสำเร็จ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านควนไทร ต.ท่าโรงช้าง อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ได้พัฒนาต่อยอดมาจากส่วนผสมพื้นถิ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังได้รายงานถึงการดำเนินงาน ‘พลอยได้…พาสุข’ ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยหมักอินทรีย์ ภายใต้โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถ เพื่อสนับสนุนการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจและการนำไปดำเนินการ เป็นโครงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน หรือ กลุ่มบุคคล ที่มีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) หรือ วัสดุพลอยได้ (By-product) จากภาคอุตสาหกรรม มาต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักแนวคิด ‘การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน’ ซึ่งเห็นผลและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอีกด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top