Monday, 21 April 2025
ECONBIZ NEWS

'อลงกรณ์' มั่นใจปี2566 เปิดประตูอีสานขนส่งสินค้าเกษตรสู่ยุโรปและแปซิฟิกสำเร็จ หลัง 'กรกอ.' เห็นชอบร่างแผนพัฒนาสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมอีสานตอนบนรองรับการลงทุนเพิ่มรายได้เกษตรกร

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมภาค หน่วยงานส่วนราชการส่วนกลางส่วนภูมิภาคและผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมกว่า70คน ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ด้วยโปรแกรม Zoom Meeting โดยมีหัวข้อสำคัญในการประชุม ดังนี้

1) ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำและการเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาสวยงามในการส่งออกต่างประเทศ ( Aqua Feed & Ornamental Freshwater Fish Industry : AFOF)
2) การดำเนินงานของคณะอุตสาหกรรมความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระดับภาค(กรกอ.ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง ตะวันออก และใต้)
3) ความก้าวหน้าการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เชื่อมบิ๊กดาต้ากับภาครัฐและภาคเอกชน
4) การส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการผลิตภาคเกษตร

นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาสินค้าเกษตรที่สำคัญตามศักยภาพแบบครบวงจรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (หนองคาย อุดรธานี เลย หนองบัวลำภูและบึงกาฬ)และตอนบน 2(นครพนม มุกดาหารและสกลนคร)

‘นายกฯ’ สั่งด่วน!! แก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ ดันแนวทาง 'ระยะสั้น-ยาว' บรรเทาทุกข์เกษตรกรสวนปาล์ม

(25 ม.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบและสั่งการให้แก้ไขปัญหาสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมัน เพื่อดูแลช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ซึ่งจากการทำงานอย่างบูรณาการของรัฐบาล ได้สำรวจปัญหาของพืชปาล์มน้ำมัน เนื่องจากตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ถึงช่วงต้นปี 2566 มีผลผลิตปาล์มออกมามาก ทำให้มีผลผลิตปาล์มอยู่ในตลาดมาก ส่งผลให้ราคาปาล์มตกต่ำ ประกอบกับมีการลักลอบนำปาล์มนอกโควต้าเข้ามาในประเทศไทย ทำให้ราคาปาล์มอยู่ที่ 4.80 บาทต่อกิโลกรัม (ราคา ณ วันที่ 20 ม.ค.66)

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพื่อแก้ไขปัญหาราคาปาล์มน้ำมัน นายกรัฐมนตรีได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยให้ช่วยหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อ บรรเทาความเดือดร้อน ดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนชาวสวนปาล์ม โดยในการแก้ไขของรัฐบาลแบ่งเป็นสองรูปแบบ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามีแนวทางในการแก้ไขปัญหา ได้แก่ ขอความร่วมมือสหกรณ์ในพื้นที่ให้ช่วยรับซื้อปาล์มจากเกษตรกรแทนไว้ก่อน และสกัดการลักลอบนำเข้าปาล์มนอกโควต้า ซึ่งจากแนวทางการทำงานของรัฐบาล ทำให้ราคาปาล์มมีการปรับตัวดีขึ้น อยู่ที่ 5 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาวนั้น รัฐบาลผลักดัน พ.ร.บ ปาล์มยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ มีกองทุนสงเคราะห์การทำสวนปาล์ม การประกันราคาปาล์ม มีการจัดทำโครงสร้างกำกับราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงมีกฎเกณฑ์กำกับดูแลเรื่องปาล์มครบวงจร เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ม.มหิดล จับมือ อินโนบิก ผลิตซอสจากผัก ทานพอเหมาะ ลดเสี่ยงรับสารก่อมะเร็ง

สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จับมือ อินโนบิก ผลิตและจำหน่ายซอสจากผัก ภายใต้โครงการวิจัย ‘ซอสซ่อนผัก’ นวัตกรรมทางเลือกเพื่อสุขภาพ

สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ร่วมลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย ‘ซอสซ่อนผัก’ และ ‘ซอสซ่อนผักสูตรเด็ก’ นวัตกรรมคิดค้นและพัฒนาโดยนักวิจัย สถาบันโภชนาการ อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามิน, แร่ธาตุ เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ และใยอาหาร เป็นทางเลือกให้กับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยว และเด็ก ๆ ที่อาจไม่ชอบรับประทานผักได้มีสารอาหารที่เพียงพอ รวมถึงยังเป็นทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพอีกด้วย 

สำหรับงานวิจัย ‘ซอสซ่อนผัก’ นั้น ได้รับการยอมรับโดยได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในต่างประเทศ จากผลการทดสอบในกลุ่มผู้นิยมบริโภคอาหารปิ้งย่าง เพื่อศึกษาการกำจัดสารก่อมะเร็งออกจากร่างกาย ที่มักปนมากับส่วนที่ไหม้เกรียมจากการปิ้งย่าง พบว่าการรับประทานซอสซ่อนผักในปริมาณพอเหมาะ จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการได้รับสารก่อมะเร็งได้อีกด้วย

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เปิดเผยว่า อินโนบิก (เอเซีย) ดำเนินธุรกิจโภชนาการทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย และโภชนเภสัช โดยมุ่งเน้นการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ร่วมกับพันธมิตรและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อส่งเสริมดูแลสุขภาพของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม ให้มีโภชนาการที่ดีและป้องกันโรคต่างๆ  ที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการบริโภคตามวิถีชีวิตสมัยใหม่ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อร่างกายในอนาคต 

ทั้งนี้ เรื่องโภชนาการถือเป็นสาเหตุหลักของความมั่นคงทางด้านสุขภาพและอาหารที่อินโนบิกให้ความสำคัญ การร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญที่มีศักยภาพด้านการวิจัยอย่าง สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลครั้งนี้ เป็นการต่อยอดนวัตกรรมงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ สู่การสร้างผลิตภัณฑ์ของคนไทย โดยมีแผนการผลิตซอสสูตรต้นตำรับและสูตรสำหรับเด็กที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย นำร่องจำหน่ายผลิตภัณฑ์บรรจุในรูปแบบซอง ตั้งเป้าออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 เพื่อเพิ่มทางเลือกการทานอาหารให้กับคนไทยทุกวัย ให้ได้รับประโยชน์ ถูกปาก และสะดวกต่อการรับประทาน อีกทั้งวัตถุดิบในการผลิตซอสซ่อนผักนั้น ยังเป็นผลผลิตจากเกษตรกรไทย ถือเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศไทย

'ลุงหนู' ไฟเขียว!! ร่างงบฯ ปี 67 แตะ 2.44 แสนล้านบาท ดันเมกะโปรเจ็กต์ หนุนแผนระบบขนส่งคมนาคม

‘อนุทิน’ นั่งหัวโต๊ะไฟเขียวร่างงบประมาณปี 67 กว่า 2.44 แสนล้านบาท ดันโครงการเมกะโปรเจ็กต์ หนุนแผนระบบขนส่งคมนาคม เร่งสรุปผลงบประมาณรายจ่าย ชงสำนักงบประมาณภายใน 27 ม.ค.นี้

(24 ม.ค. 66) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คณะที่ 3.2 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างคำของบประมาณบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 108 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 244,505.6705 ล้านบาท โดยเป็นการบูรณาการร่วมกันของ 7 กระทรวง 26 หน่วยงาน

ทั้งนี้แบ่งเป็น เป้าหมายที่ 1 จำนวน 11 หน่วยงาน สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม (สปค.)กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.)กรมเจ้าท่า (จท.) กรมท่าอากาศยาน (ทย.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) (กรมการขนส่งทางราง (ขร.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) (การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รวม 88 โครงการ วงเงิน 243,660.1700 ล้านบาท คิดเป็น 99.65% มีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) M6 บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา M81 บางใหญ่-กาญจนบุรี โครงการทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1065 สาย อ.พรานกระต่าย-พิษณุโลก

โครงการพัฒนาทาง และสะพานโครงข่ายทางหลวงชนบท สนับสนุนด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย โครงการศูนย์ขนส่งชายแดน จ.นครพนม โครงการปรับปรุงท่าอากาศยาน 16 แห่ง โครงการทางพิเศษ (ด่วน) สายกระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต โครงการทางหลวงพิเศษฉลองรัช ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา โครงการออกแบบรายละเอียดงานโยธาโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม และสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นต้น

สำหรับป้าหมายที่ 2 จำนวน 15 หน่วยงาน (จท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานสภาพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์/กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ/กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน/สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) สถาบันพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ม.พะเยา ม.เชียงใหม่ ม.บูรพา และ ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา รวม 20 โครงการ วงเงิน 845.5005 ล้านบาท คิดเป็น 0.35% มีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนเพื่อรองรับงาน NSW

นอกจากนี้ยังมี โครงการพัฒนาระบบการทำเครื่องหมายและขึ้นทะเบียนสัตว์แห่งชาติ (NID) และเครื่องหมายประจำตัวสำหรับซากสัตว์ โครงการออกแบบและพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (ePhyto) ผ่านระบบ NSW โครงการเสริมสร้างความสามารถการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้วยการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน โครงการส่งเสริมการพัฒนาบริการและขยายเครือข่ายของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ การศึกษาเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของประเทศไทย

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 16 – 20 ม.ค. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ ชี้ แนวโน้ม 23 – 27 ม.ค. 66

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 16 – 20 ม.ค. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ ชี้ แนวโน้ม 23 – 27 ม.ค. 66

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent, NYMEX WTI และ Dubai สัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 3-4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยได้แรงสนับสนุนจากแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันของจีนฟื้นตัวหลังเปิดประเทศ โดย IEA, EIA และ OPEC คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันของจีน เฉลี่ยในปี 66 เพิ่มขึ้น 630,000 บาร์เรลต่อวัน จากปีก่อน อยู่ที่ 15.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่การท่องเที่ยวช่วงเทศกาลตรุษจีนคึกคัก โดยสื่อ China Central Television (CCTV) ของจีนรายงานจำนวนการเดินทางโดยรถไฟ ทางหลวง เรือ และเครื่องบิน ในช่วง 7-21 ม.ค. 66 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 50.8% อยู่ที่ 26.23 ล้านเที่ยว ส่วนทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบ ICE Brent สัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 85-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

จับตาการคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) โดย Reuters Poll วันที่ 20 ม.ค. 66 คาดการณ์ FOMC มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งๆ ละ 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.0% ในการประชุมช่วง 31 ม.ค.- 1 ก.พ. 66 และ 15-16 มี.ค. 66 และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นปี 66 หากเป็นไปตามคาด เงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะอ่อนค่า สนับสนุนให้เงินทุนเคลื่อนย้าย (Fund Flow) สู่สินทรัพย์เสี่ยง สินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงน้ำมัน

‘สุริยะ’ สั่ง กรมโรงงานฯ เร่งอบรมเจ้าหน้าที่ กทม.  ก่อนถ่ายโอนภารกิจกำกับดูแลโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2

‘สุริยะ’ สั่ง กรมโรงงานฯ เร่งเครื่องอบรมเจ้าหน้าที่ กทม. กำกับโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 เน้นทำงานได้จริง สอดคล้อง 'MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน'

(23 ม.ค.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกำชับกรมโรงงานอุตสาหกรรม อบรมเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต เน้นการลงมือปฏิบัติงานจริง โดยบูรณาการกับหลักทฤษฎีที่ได้เรียนรู้ เพื่อให้การถ่ายโอนภารกิจกำกับโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 ให้ กทม. เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพตามที่กฎหมายกำหนด ลดความขัดแย้ง สร้างความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้ประชาชน สอดคล้อง ‘MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน’

นายสุริยะ เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) รับนโยบายรัฐบาลในการถ่ายโอนภารกิจกำกับดูแลโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ อปท. และ กทม. ควบคุมดูแลกิจการโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2  และรับแจ้งการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2  ตลอดจนตรวจสอบกรณีโรงงานก่อเหตุเดือดร้อนในพื้นที่ โดยได้แต่งตั้งข้าราชการของ อปท. เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน 

ทั้งนี้ ได้กำชับให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ให้การสนับสนุนด้านคำปรึกษาแนะนำแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของ อปท. และ กทม. ให้ปฏิบัติภารกิจได้ถูกต้อง เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามกฎหมาย สามารถบริการด้านการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 ได้อย่างถูกต้อง เพื่อลดความขัดแย้ง สร้างความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจให้ประชาชน มุ่งสู่การปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมวิถีใหม่ สอดคล้องแนวทางนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม ปี 2566 ‘MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน’

‘รมว.เฮ้ง’ เปิดอาคารสำนักงานจัดหางาน จ.นครปฐม แห่งใหม่ หนุนแรงงานทุกคนในไทยมีอาชีพ ‘มั่นคง-ยั่งยืน’

(23 ม.ค.66) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารสำนักงานจัดหางานจังหวัดนครปฐม (แห่งใหม่) โดยมี นางสาวบุณยวีร์ ไขว้พันธุ์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน นายอธิสรรค์ อินทร์ตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดนครปฐม ร่วมต้อนรับ พระธรรมวชิรานุวัตร เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง เจ้าคณะภาค 14 เป็นประธานสงฆ์ ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครปฐม ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 39 หมู่ 6 ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

นายสุชาติ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานตระหนักดีว่าภารกิจในการให้บริการประชาชนของสำนักงานจัดหางานจังหวัด เป็นภารกิจที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องให้บริการแก่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่างงาน นักเรียน นักศึกษา ผู้พ้นโทษ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ขาดโอกาสทางสังคม ผู้ประกอบการที่ต้องการหาคนทำงาน แรงงานไทยที่ต้องการหางานทั้งในประทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงแรงงานต่างด้าว ล้วนเป็นหน้าที่ที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ต้องให้บริการอย่างเอาใจใส่ ซึ่งบุคคลเหล่านี้คาดหวังมาแล้วว่าต้องได้งาน ได้อาชีพ มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ‘เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ซึ่งผมจะได้ผลักดันให้ประสบความสำเร็จในทุกกลุ่มเป้าหมาย

‘อาคม’ รับรางวัล ‘รมว.คลังแห่งปี’ จาก The Banker หลังโชว์ฝีมือบริหารด้านเศรษฐกิจฝ่าวิกฤตโควิด-19

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับรางวัล Finance Minister of the Year 2023 ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จากนิตยสาร The Banker

(23 ม.ค. 66) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับการคัดเลือกให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งปี 2566 (Finance Minister of the Year 2023) ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จากนิตยสาร The Banker ในเครือ Financial Times ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ด้านเศรษฐกิจและการเงินชั้นนำที่ได้รับความเชื่อถือในระดับสากล โดยนิตยสาร The Banker ได้กล่าวยกย่องการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเฉพาะการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจแบบเฉพาะเจาะจงเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ อาทิ มาตรการคนละครึ่ง เป็นต้น รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Economy) ผ่านมาตรการทางภาษีต่าง ๆ โดยภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เศรษฐกิจไทยได้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

APCO ยืนหนึ่งงานวิจัย ยกระดับนวัตกรรมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ดันผลประกอบการปี 66 พุ่ง ตั้งเป้าโต 30-50%

APCO กางแผนธุรกิจปี 66 พัฒนางานวิจัยต่อเนื่อง เพิ่มประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ภูมิคุ้มกันบำบัด ชูนวัตกรรมวัฒนชีวาย้อนวัย/ชะลอวัย สร้างสังคมชีวี 100 ปีมีสุข ปักธงสมาชิก 20,000 คนใน ปีนี้ ด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง และโครงการ Bye Bye HIV ขยายฐานดูแลผู้ป่วยในวงกว้าง ผลักดันยอดขายเพิ่ม ผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง-พันธมิตรจีนเสริมทัพ ตั้งเป้ารายได้โต 30-50% รักษาอัตรากำไรขั้นต้นไม่ต่ำกว่า 80%

ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APCO เจ้าของธุรกิจนวัตกรรมธรรมชาติเพื่อสุขภาพและความงาม ยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการวิจัย พัฒนา ผลิตและจำหน่ายครบวงจร เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากภาพรวมตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ รวมถึงกำลังซื้อผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น

โดยแผนการดำเนินธุรกิจปีนี้ บริษัทมุ่งเน้นขยายตลาดนวัตกรรมวัฒนชีวาย้อนวัย ชะลอวัย เพื่อสร้างสังคมชีวี 100 ปีมีสุข โดยทำการตลาดเพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิกอย่างต่อเนื่อง จากการบอกต่อจากสมาชิกที่ใช้ผลิตภัณฑ์แล้วได้ผล ซึ่งสมาชิกที่แนะนำเพื่อนเข้าร่วมในสังคมวัฒนชีวา 3 ราย ตามเงื่อนไขของบริษัทจะสามารถใช้นวัตกรรมฟรีไปได้ตลอดทุกเดือน ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้ามีสมาชิกครบ 20,000 คน ภายในเดือนกันยายนนี้ ผลักดันยอดขายประมาณ 200 ล้านบาท 

ขณะที่ นวัตกรรมภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง และ HIV ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประสบความสำเร็จในการช่วยผู้ประสบปัญหาได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะโครงการ Bye Bye HIV ที่ประสบความสำเร็จในการจัดการกับปัญหา HIV ส่งเสริมให้ผู้ติดเชื้อมีคุณภาพชีวิตเป็นปกติ ไม่ต้องพึ่งพายาต้านไวรัสที่มีผลข้างเคียงต่อไป โดยบริษัทตั้งเป้ารายได้เฉพาะนวัตกรรมภูมิคุ้มกันบำบัดเพิ่มขึ้น 20% 

สำหรับผลิตภัณฑ์เพื่อสัตว์เลี้ยงยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้ายอดจำหน่ายในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 20% โดยบริษัทวางแผนการส่งออกไปต่างประเทศเพิ่มเติมภายในปี 2566 นี้

ด้านพันธมิตรในประเทศจีนที่นำนวัตกรรมวัฒนชีวาและนวัตกรรมภูมิคุ้มกันบำบัดเข้าไปจำหน่าย คาดว่า ยอดขายจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการปลดล็อคโควิด-19 ประมาณเดือนมีนาคมนี้ เชื่อว่าจะเพิ่มรายได้ให้กับ APCO อย่างมีนัยสำคัญ

'เสี่ยเฮ้ง' เร่ง 'ผลิต-บรรจุ' แรงงานป้อน 'ท่องเที่ยว-บริการ' หลัง 'นายกฯ' ห่วงภาคธุรกิจขาดแรงงานช่วง ศก.ฟื้น

(21 ม.ค.66) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวขณะเปิดงานเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนที่จังหวัดราชบุรีเมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมาถึงกรณีที่ผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวและบริการประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากธุรกิจมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วทำให้ผู้ประกอบการมีความต้องการแรงงานสูงขึ้นนั้น และท่านนายกฯ ได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งขับเคลื่อนแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคท่องเที่ยวและบริการโดยเร่งฝึกอาชีพเพื่อผลิตแรงงานในสาขาที่ขาดแคลนรวมทั้งบรรจุตำแหน่งงานว่างในภาคท่องเที่ยวและบริการอย่างเร่งด่วน ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ ผมได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการมาโดยตลอด 

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินงานของกระทรวงแรงงาน ได้ให้สำนักงานแรงงานจังหวัดลงพื้นที่สอบถามความต้องการแรงงานจากผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งจากรายงานของสำนักงานแรงงานจังหวัด 60 จังหวัด พบว่า มีสถานประกอบกิจการประเภทโรงแรม ที่พัก ภัตตาคาร ร้านค้า จำนวน 32,359 แห่ง ลูกจ้าง 297,824 คน สถานประกอบกิจการที่มีความต้องการแรงงาน จำนวน 1,817 แห่ง ลูกจ้าง 9,763 คน ในส่วนของกรมการจัดหางาน ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นมีสถานประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการแจ้งความต้องจ้างงานในแพลตฟอร์มไทยมีงานทำ จำนวน 4,881 อัตรา มีผู้สมัครงาน จำนวน 4,019 คน ได้รับการบรรจุงานแล้ว จำนวน 3,491 คน และที่จังหวัดภูเก็ตได้มีการจัดงานนัดพบแรงงาน มีนายจ้าง/สถานประกอบการแจ้งความประสงค์ต้องการแรงงานกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต จำนวน 178 แห่ง ตำแหน่งงานว่าง 1,313 ตำแหน่ง 3,698 อัตรา บรรจุงานในสถานประกอบการแล้วจำนวน 50 แห่ง ลูกจ้างจำนวน 550 อัตรา มีนักศึกษาฝึกงานในสถานประกอบการ จำนวน 3,749 คน และนักเรียน นักศึกษาทำงานพาร์ทไทม์ช่วงว่างจากการเรียน จำนวน 345 คน

ขณะที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกำลังเร่งดำเนินการฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานให้แก่แรงงานภาคท่องเที่ยวและบริการ อาทิ พนักงานต้อนรับ พนักงานผสมเครื่องดื่ม นวดแผนไทย เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ได้ฝึกไปแล้ว จำนวน 1,649 คน จากเป้าหมาย 4,900 คน และปรับแผนการฝึกเพิ่มเป็น 9,000 คน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการมากขึ้น 

ด้าน คุณรังสิมันต์ กิ่งแก้ว อุปนายกฝ่ายยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยว สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการจังหวัดภูเก็ตได้เริ่มคลี่คลายลงแล้ว หลังจากที่รัฐบาล กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดนัดพบแรงงาน การฝึกอบรมทักษะระยะสั้น การให้นักเรียน นักศึกษาได้ทำงานพาร์ทไทม์ช่วงว่างจากการเรียน ทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานลดน้อยลง และคาดการณ์ว่าไตรมาส 2 สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ เนื่องจากในช่วงเดือนมีนาคม 2566 จะมีนักศึกษาที่จบการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้น 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top