Sunday, 6 July 2025
ECONBIZ NEWS

SME D Bank สร้างนิวไฮ ปี 66 พาเอสเอ็มอีถึงแหล่งทุนทะลุ 7 หมื่นล้านบาท ชูธง ‘เติมทุนคู่พัฒนา’ 4 ปี ดันเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท

SME D Bank แถลงผลสำเร็จปี 2566 สร้างสถิติใหม่รอบด้าน สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งธนาคาร เผยพาเอสเอ็มอีถึงแหล่งทุนกว่า 7.06 หมื่นล้านบาท และตลอด 4 ปี กว่า 2.3 แสนล้านบาท สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท พัฒนาเสริมแกร่งกว่า 7.5 หมื่นราย รักษาการจ้างงานได้กว่า 7.5 แสนราย  ขณะที่บริหาร NPL มีประสิทธิภาพ เหลือต่ำสุดในรอบ 22 ปี ประกาศปี 2567 ยกระดับสู่ยุคดิจิทัลโดยสมบูรณ์ คิกออฟใช้ระบบ CBS พร้อมแพลตฟอร์ม DX มั่นใจเดินหน้าไร้รอยต่อ  

(9 ก.พ. 67) นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวถึงผลการดำเนินงานของธนาคาร ปี 2566 และภาพรวมตลอด 4 ปี (2563-2566) ว่า จากจุดยืนการเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่พร้อมเคียงข้างส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้เติบโตยั่งยืน ด้วยแนวทาง 'เติมทุนคู่พัฒนา' ประกอบกับความมุ่งมั่น ทุ่มเทของคณะกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานที่รวมพลังเป็น ONE Team ส่งผลให้ปี 2566 ที่ผ่านมา  SME D Bank สร้างสถิติใหม่สูงสุด (New High) นับตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารมาใน 22 ปี สามารถพาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนกว่า 70,695 ล้านบาท และยังเป็นการสร้าง New High ต่อเนื่อง 4 ปีซ้อน (2563-2566) อีกทั้ง ช่วยสร้างประโยชน์เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 323,780  ล้านบาท รักษาการจ้างงานประมาณ 123,200 ราย นอกจากนั้นช่วยพัฒนาเสริมแกร่งธุรกิจอีกกว่า 24,000 ราย

ทั้งนี้ ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2563-2566) ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19  SME D Bank ช่วยเหลือดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ให้สามารถประคับประคองธุรกิจ และข้ามผ่านช่วงเวลายากลำบากไปให้ได้ โดยเติมทุนช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 231,250 ล้านบาท ก่อให้เกิดประโยชน์สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท และช่วยรักษาการจ้างงานได้ประมาณ 752,345 ราย ควบคู่กับช่วยพัฒนาเสริมศักยภาพ ให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและกลับมาฟื้นธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ผ่านการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อบรม สัมมนา ช่วยขยายตลาด ยกระดับมาตรฐาน สนับสนุนเข้าถึงนวัตกรรม พาจับคู่เพิ่มช่องทางขายในและต่างประเทศ เป็นต้น มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมและได้รับประโยชน์มากกว่า 75,000 ราย 

นอกจากนั้น ดูแลลูกค้าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน (ฟ้า-ส้ม) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กว่า 83,520 ราย วงเงินรวมกว่า 145,240 ล้านบาท อีกทั้ง สามารถบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อย่างมีประสิทธิภาพ ลงลด 4 ปีติดต่อกัน เหลือเลข 1 หลัก 2 ปีซ้อน โดยปี 2566 ลดเหลือประมาณ 8,690 ล้านบาท คิดเป็น 8.3% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 22 ปี 

"ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา SME D Bank เพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับการทำงาน อีกทั้ง พัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อตอบความต้องการ ปรับปรุงหลักเกณฑ์อนุมัติสินเชื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์จริง ควบคู่กับสร้าง DNA แห่งการเป็น ‘นักพัฒนา’ หรือ DEVELOPER ในหัวใจของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกคน เพื่อจะพาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน" นางสาวนารถนารี กล่าว

สำหรับปี 2567 การทำงานของ SME D Bank ยกระดับไปอีกขั้น นำระบบดิจิทัลใหม่ หรือ Core Banking System (CBS) ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ปี มาใช้งานอย่างเป็นทางการ สามารถให้บริการทางการเงินแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ครบวงจร ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย นอกจากนั้น ยังมีแพลตฟอร์ม DX (Development Excellent) ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งเป็นระบบพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ สร้างสังคมของการเรียนรู้ e-Learning ศึกษาได้ด้วยตัวเอง 24 ชม. สามารถปรึกษาโค้ชมืออาชีพแบบตัวต่อตัว รวมถึง ยังช่วยเพิ่มช่องทางขยายตลาด นอกจากนั้น ยังนำหลัก ESG (การดูแลสิ่งแวดล้อม (Environment) ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social) และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) มาขับเคลื่อนในทุกมิติขององค์กร สร้างความเชื่อมั่น โปร่งใส ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างคุณค่าแก่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

นางสาวนารถนารี กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า แม้ในวันที่ 1 มีนาคม 2567 นี้ จะครบวาระการทำงาน 4 ปี ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ แต่ด้วยรากฐานมั่นคงขององค์กร อีกทั้ง ทีมผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้จัดการ และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ล้วนเป็นบุคลากรภายในที่ร่วมผลักดันยกระดับองค์กรมาด้วยกัน และยังอยู่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรต่อเนื่อง ทำให้การทำงานทุกด้านของ SME D Bank สามารถเดินหน้าได้ดีอย่างไร้รอยต่อ และเชื่อมั่นว่า SME D Bank พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างทั่วถึง และมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างประโยชน์ความมั่นคงและยั่งยืนแก่ประชาชน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยตลอดไป

‘รมว.ปุ้ย’ เล่นใหญ่!! พลิก สมอ. สร้างมาตรฐาน 1,000 เรื่อง เป้าหลัก!! ‘สกัดสินค้าด้อยคุณภาพ-เสริมศักยภาพภาคอุตฯ’

(9 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ขออนุมัติบอร์ด สมอ. กำหนดมาตรฐานในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ขออนุมัติไว้ 603 มาตรฐาน เป็น 744 มาตรฐาน โดยบอร์ดได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของไทยให้ผลิตสินค้าอย่างมีคุณภาพได้มาตรฐาน สามารถแข่งขันได้ในทุกเวทีการค้า ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยตั้งเป้าหมายในปี 2567 สมอ. จะต้องกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (มอก.) ให้ได้ไม่น้อยกว่า 1,000 มาตรฐาน เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล ทั้ง S-curve และ New S-curve เช่น ยานยนต์สมัยใหม่, EV, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, เครื่องมือแพทย์, อุตสาหกรรมชีวภาพ, AI, ฮาลาล และ Soft power รวมทั้งตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า และเป็นกลไกสกัดสินค้าด้อยคุณภาพจากประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กล่าวว่า จากการประชุมบอร์ด สมอ. เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบร่างมาตรฐาน จำนวน 32 มาตรฐาน เช่น ท่อเหล็กกล้า, คอนกรีต, ปูนซิเมนต์, เตาอบไฟฟ้าแบบตั้งโต๊ะ, เตาอบเตาปิ้งย่างเชิงพาณิชย์, เครื่องอุ่นไส้กรอก, อ่างน้ำวนและสปาน้ำวน, สายสวนภายในหลอดเลือด, ยางวัลคาไนซ์ และมาตรฐานวิธีทดสอบต่างๆ รวมทั้ง เห็นชอบรายชื่อมาตรฐานที่ สมอ. ขอกำหนดมาตรฐานเพิ่มเติมจากเดิมอีก 141 มาตรฐาน จากที่เคยอนุมัติไปก่อนหน้านี้แล้ว 603 มาตรฐาน รวมเป็น 744 มาตรฐาน 

ขณะที่ นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐานที่ สมอ. จะทำเพิ่มเติม เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ 50 มาตรฐาน และมาตรฐานวิธีทดสอบและข้อแนะนำ 91 มาตรฐาน แบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมดังนี้ 

1) S-curve 1 มาตรฐาน 
2) New S-curve 25 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร 
3) มาตรฐานตามนโยบาย 54 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานสมุนไพร และเครื่องกลและภาชนะรับความดัน 
4) มาตรฐานส่งเสริมผู้ประกอบการ 23 มาตรฐาน 
5) มาตรฐานกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ 38 มาตรฐาน ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก ยานยนต์ และสิ่งทอ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปี 2567 นี้ สมอ. ได้รับนโยบายจาก รัฐมนตรีพิมพ์ภัทรา ที่เร่งรัดกำหนดมาตรฐานให้ได้ 1,000 มาตรฐาน โดยให้บูรณาการการทำงานร่วมกับ SDOs ของ สมอ. ทั้ง 8 สถาบันเครือข่าย ได้แก่ สถาบันอาหาร / สถาบันพลาสติก / สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย / สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย / สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ / สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ / สถาบันยานยนต์ และสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ 

รวมทั้งภาคีเครือข่าย SDOs อื่น ๆ ร่วมกันกำหนดมาตรฐานตามความเชี่ยวชาญและความถนัดของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ด้วยเล็งเห็นว่ามาตรฐานเป็นเครื่องมือสำคัญทางการค้า ประเทศที่พัฒนาแล้วใช้มาตรฐานเป็นเครื่องมือในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศ และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการค้า โดยหลังจากนี้ สมอ. จะเสนอบอร์ดให้ความเห็นชอบรายชื่อมาตรฐานในส่วนที่เหลือต่อไป

‘อ.อุ๋ย ปชป.’ แนะ!! นายกฯ สานต่อ ‘คนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกัน’  แทนการผลักดันเงินดิจิทัล ที่ไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไรและเสี่ยงผิดกม. 

(8 ก.พ.67) จากกรณีที่ ป.ป.ช. ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการเงินดิจิทัลของรัฐบาลนายกเศรษฐา ว่าต้องระมัดระวังด้านข้อกฎหมายหลายประการ ซึ่งมีโอกาสจะทำให้โครงการเงินดิจิทัลต้องล่าช้าออกไปอย่างไม่มีกำหนด นั้น นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย อดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้ความเห็นว่า ตนเพิ่งได้ลงพื้นที่สำรวจกิจกรรมทางเศรษฐกิจระดับฐานรากในพื้นที่เขตบางกะปิ เช่น บริเวณตลาดนัดการกีฬาแห่งประเทศไทย ซอยมหาดไทย (รามคำแหง 65) และย่านการค้าหน้าและหลังมหาวิทยาลัยรามคำแหง พบว่าปัญหาส่วนใหญ่ของประชาชนคือ การขาดเงินหมุนเวียนระยะสั้นเพื่อนำมาจับจ่ายใช้สอย บวกกับหนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นสูง ทำให้ต้องจำกัดการใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น เช่น อาหารการกินราคาประหยัด ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ ทำให้สินค้าและบริการอย่างอื่นขายแทบไม่ได้เลย ต้องทยอยปิดตัวเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้เกิดการว่างงานเพิ่มมากขึ้น 

ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากโดยเร็ว หากจะรอให้โครงการเงินดิจิทัล ซึ่งยังติดขัดข้อกฎหมายอีกหลายประการ ยังขาดความชัดเจนว่าจะเริ่มได้เมื่อไหร่ ก็อาจจะไม่ทันการกับความต้องการของประชาชน ตนจึงเสนอให้รัฐบาลสานต่อโครงการคนละครึ่ง ซึ่งทำให้เกิดภาระทางการคลังน้อยกว่าเพราะรัฐบาลออกเงินเพียงครึ่งเดียวของราคาสินค้าและบริการ นำเม็ดเงินเข้าสู่ผู้ประกอบการโดยตรงและพุ่งเป้าไปที่คนที่ต้องการใช้เงินจริงๆ นอกจากนี้ระบบต่างๆ ของโครงการคนละครึ่งได้ถูกวางไว้เรียบร้อยแล้ว โดยไม่ปรากฏข้อติดขัดทางกฎหมาย พร้อมใช้งานได้ทันที ดีกว่าที่จะรอโครงการเงินดิจิทัล ซึ่งไม่รู้จะได้ใช้เมื่อไหร่ และต้องเสียเวลากับการออกแบบโครงสร้างระบบอีก 

นอกจากนี้อีกไม่กี่เดือนก็จะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ซึ่งรัฐบาลคิดจะฉลองยาวถึง 21 วัน ตนก็คิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะสานต่อโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริม Soft Power ที่รัฐบาลกำลังผลักดันอยู่เช่นกัน 

ทั้งนี้ตนเชื่อว่าหากนายกเศรษฐาและรัฐบาลสานต่อทั้งสองโครงการของรัฐบาลชุดที่แล้ว จะได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายอย่างแน่นอน เพราะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยึดถือประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศเป็นสำคัญอยู่เหนือสิ่งอื่นใด

คนไทยต้องทนหรือ?! ‘รมว.พีระพันธุ์’ ชี้ชัด!! สาเหตุทำไมไทยน้ำมันแพง ลั่น!! ถึงเวลารื้อระบบ เร่งสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงโครงสร้างราคาพลังงานของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าพลังงานในราคาแพง โดยระบุว่า นโยบายเร่งด่วนของกระทรวงพลังงานภายใต้การกำกับดูแลของตนนั้น จะมุ่งไปที่การทำให้ราคาพลังงานมีความเป็นธรรมกับประชาชน ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ตนกลับมองว่าเป็นสิ่งที่ต้องทํา และที่สำคัญต้องทําให้ได้ เพราะในฐานะที่ตนเองก็เป็นประชาชนธรรมดาเหมือนกัน ต้องจ่ายค่าน้ำมันต้องจ่ายค่าไฟเหมือนคนทั่วไป ซึ่งก่อนหน้านี้มีความรู้สึกเหมือนถูกมัดมือชก เพราะไม่เคยรู้ว่าทําไมราคาพลังงานขึ้นลงด้วยสาเหตุใด รู้เพียงแต่ว่า เป็นกลไกของตลาดโลก 

ทั้งนี้ จากการศึกษาและเก็บข้อมูลพลังงาน ทั้งเรื่องน้ำมัน และไฟฟ้า พบเห็นช่องว่างว่า ถ้าหากใช้กลไกอํานาจรัฐเข้าไปปรับโครงสร้าง ยังพอจะช่วยได้นะ แม้คนจํานวนมากจะมองว่าทําไม่ได้ แต่ส่วนตัวมองว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครทํามากกว่า พอมีปัญหาทีก็อ้างภาวะตลาดโลก

“ในโครงสร้างที่ประกอบกันมาเป็นราคาน้ำมันหรือค่าไฟฟ้าก็ดี มีส่วนที่เป็นของภาครัฐดูแลอยู่ นอกเหนือจากส่วนที่เป็นภาคเอกชนหรือตลาดโลก ซึ่งในส่วนนี้เราไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้ แต่เราเห็นว่ามันมีส่วนของภาครัฐ ซึ่งส่วนของภาครัฐที่ว่านี้ ยกตัวอย่างเช่นในกรณีน้ำมัน ที่มีเรื่องของภาษี มีเรื่องของเงินกองทุน ซึ่งถ้าหากว่าเราสามารถปรับลดในส่วนนี้ลงมาได้ ก็จะสามารถลดราคาตรงนี้ลงมาได้แน่นอน จะมากจะน้อยกว่ากันอีกที แต่ทําให้เห็นว่าถ้าจะลดจริงจังก็สามารถทําได้”

นายพีระพันธุ์ ได้แจกแจงในส่วนของโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะประกอบไปด้วยภาษี และภาษี และกองทุน และกองทุน และภาษี และภาษี และค่าการตลาด 

จากต้นทุนทั้งหมดในส่วนนี้ นอกเหนือจากค่าการตลาด ถือเป็นเรื่องของภาครัฐแทบทั้งหมด ซึ่งในส่วนนี้เองที่ภาครัฐต้องเข้าไปบริหารจัดการ เป็นต้นว่าไปขอเจรจาให้กระทรวงการคลังลดภาษีสรรพสามิตลง ก็จะช่วยทำให้ราคาลงมาได้

แน่นอนว่า จากโครงสร้างราคาน้ำมันแบบปัจจุบัน วิธีการเดียวที่จะปรับลงได้ ณ รูปแบบปัจจุบัน คือ ให้หน่วยงานภาครัฐลดภาษี ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกหรือมาตรการชั่วคราว ในขณะที่มาตรการขั้นที่สองที่จะดำเนินการต่อไปหลังจากนี้ คือจะสั่งการให้ผู้ค้าน้ำมันแจ้ง ‘ต้นทุนน้ำมัน’ ที่แท้จริง โดยโครงสร้างราคาน้ำมันเป็นแบบนี้ ส่วนหนึ่งถูกกำหนดโดยราคาหน้าโรงกลั่น แน่นอนว่า ปัจจุบันราคาหน้าโรงกลั่นนั้น เป็นราคาที่ภาคเอกชนคิดคํานวณกันเอง ซึ่งทางภาครัฐไม่เคยรับรู้ต้นทุนที่แท้จริงเลย

นายพีระพันธุ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ราคาหน้าโรงกลั่น ซึ่งเอกชนเป็นผู้กำหนด และบอกว่า ราคาเท่านี้ แต่แท้จริงแล้วใช่ตัวเลขนี้หรือไม่ หรือ ต่ำกว่านี้ เพราะฉะนั้น หลังจากนี้ จะประกาศให้ทางเอกชนเข้าชี้แจง และแจ้งต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งถ้าหากว่าได้ต้นทุนที่แท้จริงแล้ว และตรวจสอบได้ว่า ต้นทุนถูกกว่าที่เคยมีตัวเลขคํานวณกันเอง ทางหน่วยงานของกระทรวงพลังงานก็ต้องหาวิธีการ และคิดสูตรมาคํานวณว่าราคาหน้าโรงกลั่นควรจะเป็นเท่าไหร่ โดยยึดเอาราคาที่แท้จริงมาคิดต้นทุน ตอนนี้กําลังเร่งดําเนินการให้มีการแจ้งราคาที่แท้จริงแล้ว

นอกจากนี้ ในส่วนของกองทุนน้ำมัน จำเป็นต้องรื้อระบบใหม่เช่นกัน เพราะในหลักการบอกว่าให้บริษัทน้ำมันจ่ายเข้ากองทุนน้ำมัน แต่ในปัจจุบันกลับมาเก็บจากประชาชน ซึ่งมองว่าโครงสร้างแบบนี้ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ดังนั้น จะต้องรื้อใหม่ และไม่ใช่รื้อเพียงแค่โครงสร้างเท่านั้น แต่ต้องรื้อทั้งระบบ

“ยกตัวอย่าง เงินเดือน 100 บาท เราจะได้ไม่เต็ม 100 บาท เพราะต้องเสียภาษี แต่ในขณะที่บริษัทน้ำมัน ขายน้ำมัน 100 บาท ต้องจ่ายทั้งภาษีและจ่ายเข้ากองทุนน้ำมัน แต่เหตุใดยังได้เงินครบ 100 บาท นั่นเป็นเพราะส่วนที่เหลือประชาชนจ่ายบวกไปในราคาน้ำมัน ซึ่งโครงสร้างเป็นแบบนี้มากี่สิบปี เหตุที่เป็นแบบนี้เพราะระบบวางไว้แบบนี้ เป็นการวางแบบผิด ๆ มานานแล้ว ผมเป็นประชาชนที่ต้องแบกรับภาระเหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกันผมก็เป็นประชาชนที่ได้รับมอบมาทําหน้าที่นี้ เพราะฉะนั้น จึงต้องทําหน้าที่ประชาชนรื้อระบบให้ถูก นี่คือภารกิจหลักที่ผมจะทํา”

นายพีระพันธุ์ ย้ำว่า การดำเนินการเรื่องกองทุนน้ำมัน เป็นมาตรการชั่วคราวภายใต้โครงสร้างแบบที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งในความเห็นของตนนั้นมองว่า โครงสร้างแบบนี้ไม่ถูกต้องและไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาเรื่องพลังงานที่ถูกต้อง ที่ผ่านมามีคนเสนอบอกต้องปรับโครงสร้าง แต่ปรับอย่างไรก็ยังอยู่แบบนี้ เพราะฉะนั้น สำหรับตนไม่ใช่แค่ปรับโครงสร้างแต่ต้องรื้อทั้งระบบเลย ซึ่งจะเป็นมาตรการระยะกลางและยาวที่จะทําต่อไป วันนี้มาตรการบางอย่างแม้จะยังแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด แต่อะไรที่ทำได้ก็ต้องทำก่อน

“หน้าที่ของผม คือจะรื้อระบบพลังงาน ซึ่งเป็นหัวใหญ่ใจความของประเทศ ระบบที่เป็นอยู่วันนี้มันต่อไปด้วยโครงสร้างที่เป็นปัญหา แม้ว่าจะปรับโครงสร้างแล้ว แต่ระบบยังเป็นแบบเดิม ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นผมจะรื้อใหญ่ เมื่อรื้อตรงนี้แล้วมันจะทําให้ราคาน้ำมันและราคาพลังงานลดลง เมื่อลดพันธะชีวิตที่เราต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายพวกนี้ และถูกปลดเรื่องไป เมื่อผมวางระบบใหม่ที่ดี ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น มันก็จะช่วยสร้างเรื่องของความเป็นธรรม ความมั่นคงความยั่งยืนในเรื่องพลังงานให้มากขึ้นไม่เป็นอย่างเช่นที่ผ่านมา”

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! ปัญหาในตลาดหุ้นกู้-เงินเฟ้อติดลบ ความผิดพลาดเชิงนโยบายที่แบงก์ชาติไม่ควรปฏิเสธ

(8 ก.พ. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้เผยถึง ปัญหาในตลาดหุ้นกู้ เงินเฟ้อติดลบ และความผิดพลาดเชิงนโยบายของแบงก์ชาติ ไว้ว่า...

หุ้นกู้ก็คือ ตราสารหนี้ประเภทหนึ่ง ต่างจากตราสารทุน (Equity) ตรงที่มีกำหนดเวลาชำระดอกเบี้ยคงที่และชำระคืนเงินต้นที่แน่นอน ในมุมมองของผู้ลงทุนจึงดูเหมือนไม่มีความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงน้อยกว่าหุ้นหรือตราสารทุน แต่ในความเป็นจริงแล้ว หุ้นกู้มีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ ( Risk of Default) และความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) ซึ่งมีอยู่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจถดถอยและภาวะการเงินมีความผันผวนสูงอย่างเช่นในปัจจุบัน

ขอชื่นชมผู้วางนโยบายที่กระทรวงการคลังและ ก.ล.ต.ในอดีตที่ได้ร่วมมือกันพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง จนกลายเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของการระดมทุนหล่อเลี้ยงภาคเศรษฐกิจจริงในประเทศไทย อีกสองเสาหลักได้แก่ ตลาดหุ้นและเงินกู้ธนาคาร ซึ่งเสาหลักแต่ละแท่งมียอดคงค้างของการระดมทุนอยู่ที่ประมาณ 100% ของ GDP รวมทั้ง 3 เสาก็อยู่ที่ 300% ของ GDP หรือประมาณกว่า 50 ล้านล้านบาท

ปัจจุบันหลังจากที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยแบบไม่บันยะบันยังมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี และสร้างความผันผวนทางการเงินขึ้นมาด้วยน้ำมือของตัวเองอย่างไม่จำเป็น ตลาดหุ้นกู้เริ่มปรากฏร่องรอยของความปริร้าวขึ้นมา ซึ่งเป็นที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากไม่สามารถหยุดการไหลของเลือด อาจลุกลามไปยังเสาหลักอีก 2 เสาได้ ผู้ออกหุ้นกู้ที่ออกมาก่อน 2 ปีที่แล้ว เมื่ออัตราดอกเบี้ยอยู่ใกล้ศูนย์ กำลังถึงกำหนดเวลาไถ่ถอนจำนวนมาก และจำเป็นต้องออกหุ้นกู้ใหม่มาเพื่อชำระคืนของเดิม (Roll over) ต้องประสบปัญหาตลาดการเงินขาดสภาพคล่อง และดอกเบี้ยสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีการปรับสูงขึ้นกว่า 5 เท่าตัว (500%) ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา

เมื่อตอนที่ประเทศไทยมีการแพร่ระบาดของโควิด เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตลาดหุ้นกู้ก็ส่อเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทำนองเดียวกัน แต่ต่างกันที่สาเหตุมาจากด้านรายได้ของธุรกิจที่เหือดหายไปจากการหยุดจับจ่ายใช้สอยของประชาชน รัฐบาลจึงยอมให้แบงก์ชาติตั้งกองทุนรักษาสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ (Bond Market Stabilization Fund-BSF) วงเงิน 400,000 ล้านบาท โดยออกพระราชกำหนดให้แบงค์ชาติสามารถเข้าไปซื้อตราสารหนี้ออกใหม่ได้ในระยะสั้นๆและกระทรวงการคลังรับประกันความเสียหายจากการลงทุนของแบงก์ชาติ (น่าจะถือว่าถูกแบงก์ชาติหลอกให้เอาเงินผู้เสียภาษีมาค้ำประกัน) 

มาคราวนี้สถานการณ์เริ่มสุกงอม แลอาจยังความจำเป็นให้ตั้งกองทุนทำนองดังกล่าวขึ้นอีก เพื่อพยุงตลาดตราสารหนี้ แต่เชื่อว่าครั้งนี้กระทรวงการคลังคงไม่ยอมให้แบงก์ชาติหลอกให้เอาเงินผู้เสียภาษีมาค้ำประกันอีก  เพราะปัญหาครั้งนี้เกิดมาจากความผิดพลาดของแบงก์ชาติเองล้วนๆ หลายฝ่ายรวมทั้งกระทรวงการคลังได้ออกมาเตือนแบงก์ชาติหลายครั้งหลายครา แต่แบงค์ชาติกลับเอาหูทวนลม ดังนั้นจึงไม่อาจงอแงปฏิเสธความรับผิดชอบเหมือนครั้งก่อน โดยเอาเงินผู้เสียภาษีมาค้ำประกันความผิดพลาดของตนเองไม่ได้อีกแล้ว

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมกราคม 2567 ติดลบเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย 

ธนาคารแห่งประเทศไทยคงจะปฏิเสธไม่ได้อีกแล้ว เหมือนที่ผ่านมาว่าไทยยังไม่มีภาวะเงินฝืด (Deflation) และมักจะบอกว่าไม่เกี่ยวกับแบงก์ชาติและโยนความผิดให้คนอื่นว่าเป็นปัญหาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย

ในสถานการณ์เช่นนี้ แบงก์ชาติคงจะมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง ประการแรกลดดอกเบี้ยและยอมรับความผิดพลาดของตนเองที่ทำให้เศรษฐกิจชาติเสียหาย แต่เชื่อว่าแบงก์ชาติคงจะเสียหน้าอย่างมาก และโดยธรรมชาติแล้วมักจะไม่กล้าทำ ประการที่สอง ไม่ทำอะไร คงดอกเบี้ยไว้ตามเดิม เพื่อรักษาหน้าของตัวเอง แล้วก็โยนเคราะห์กรรมให้กับคนไทยทั้งประเทศ 

แต่ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง) ประชุมเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์แล้ว มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ (5 ต่อ 2 เสียง) เลือกแนวทางที่ 2 คือปัดความรับผิดชอบ และโยนขี้ให้ประชาชน ตามแบบฉบับแบงก์ชาติที่สืบทอดกันมา แม้จะมีกรรมการเสียงข้างน้อยที่เริ่มยอมรับความผิดพลาดของนโยบายการเงิน 

สถานการณ์น่าเป็นห่วงครับ

‘กูรู’ เจาะ Trend เทคโนโลยี 2024 AI บุกแน่!! มนุษย์โลกเตรียมรับมือ

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณชวาลิน รอดสวัสดิ์ ผู้บริหารบริษัท นิวไดเมนชั่น จำกัด หรือ NDM บริษัทฯ ที่มีประสบการณ์ด้าน IT Solutions และ HR Development มากว่า 20 ปี ถึงภาพรวมของ Trend เทคโนโลยีในปี 2024 ที่จะมีผลกระทบต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงบุคลากรที่เป็นที่ต้องการ ซึ่งภาคธุรกิจในประเทศไทยต้องตระหนัก เมื่อวันที่ 10 ก.พ.67 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้…

นอกเหนือจาก Trend ด้านพลังงาน หรือ Clean Energy ที่กำลังเขย่าอุตสาหกรรมรถยนต์ จนเกิด EV Sector (Electric Vehicle) อย่างเด่นชัดขึ้น รวมถึงพัฒนาด้าน Hydrogen (Hydrogen-Powered Train) และ Carbon Capture Technology เพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างพลังงานทดแทนแล้ว จากประสบการณ์ในการทำงานช่วง 20 ปีที่ผ่านมาในแวดวงเทคโนโลยี ผมมองเห็นอีกวิวัฒนาการที่ต้องจับตามอง นั่นก็คือ ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที (Information Technology) 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2024 จะมีปรากฏการณ์ของผู้ใช้งานไอทีที่ต้องปรับตัวเองอย่างรุนแรงหนักขึ้นกว่าเดิม เนื่องจาก AI (Artificial Intelligence) หรือที่เราคุ้นกันว่า ‘ปัญหาประดิษฐ์’ จะเข้ามาแทรกซึมอยู่ในชีวิตเรา ทั้งแบบรู้ตัวและแบบไม่รู้ตัว รวมถึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Finance, Health Care และ Manufacturing

ตัวอย่างที่เริ่มเห็นกับบางอุตสาหกรรม ก็เช่นอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ เริ่มมีการนำนวัตกรรม Early Disease Detection มาวิเคราะห์ดูแนวโน้มของการเกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยของมนุษย์ได้ล่วงหน้า 1-6 ปี จากนั้นแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จะใช้ Nano Technology เข้ามาช่วยในการวิจัยค้นคว้าและรักษาผู้ป่วย 

ส่วน Cyber Security ก็เป็นอีกหนึ่ง Trend ที่น่าสนใจและได้ยินบ่อยมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันองค์กร หน่วยงานต่างๆ มีความเสี่ยงโดนโจมตีทาง Cyber สูงมากขึ้นเรื่อยๆ จากสถิติมีอัตราเพิ่มขึ้น 13% ต่อปี จึงต้องหาวิธีป้องกันและ AI จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นแน่ๆ 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการพัฒนา LCNC Platform  (Low Code/No Code) ซึ่งมีลักษณะเป็นโปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อให้ทุกคนสามารถเขียน Software ด้วยตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องเรียน Coding หรือ Programming มาโดยเฉพาะ เพียงมีความเข้าใจในอัลกอริทึม (Algorithm) เบื้องต้น ก็สามารถพัฒนา Software ได้แล้ว และที่น่าตกใจ คือ ในปัจจุบันองค์กรกว่า 76% เริ่มใช้ Platform นี้ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านไอที ซึ่งช่วยให้ประหยัดเวลาและลดต้นทุนไปในตัว และนี่คือสิ่งที่คนทำงาน ธุรกิจ และผู้ข้องเกี่ยวต่อการพัฒนาประเทศต้องเริ่มตระหนัก

เมื่อถามถึงอุตสาหกรรมไอทีในประเทศไทย มีการเติบโตอย่างไร? คุณชวาลินกล่าวว่า “เมื่อปี 2023 ประเทศไทยมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจไอทีรวมๆ แล้วกว่า 930,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 2022 ถึง 4.4% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เติบโตขึ้นเพียง 2.2% เท่านั้น ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีการตื่นตัวด้านไอทีเป็นอย่างมาก ซึ่งธุรกิจผลิต Software และธุรกิจ IT Service ต่างๆ เติบโตขึ้นถึง 15% คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 265,000 ล้านบาท หรือ 30% ของมูลค่ารวมตลาดไอที ส่วนธุรกิจ Data เติบโตขึ้น 5% ในขณะที่ธุรกิจ Hardware หรือ Device ต่างๆ กลับลดลง 4.7% สำหรับอุปสรรคของอุตสาหกรรมไอทีในประเทศไทย คือ การขาดแคลนบุคลากรด้านไอทีที่มีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันองค์กรต่างๆ พยายามสรรหาคนเก่งๆ มาร่วมงานเพื่อขับเคลื่อนโครงการ Digital Transformation ให้กับองค์กร”

เมื่อส่วนคำถามที่ว่า Digital Disruption ส่งผลต่อแวดวงธุรกิจอย่างไร? คุณชวาลิน กล่าวว่า “เมื่อเราเข้าสู่ยุค Digital ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปเร็วมาก อายุของนวัตกรรมจะสั้นลง Technology ใหม่ๆ จะเข้ามาแทนที่ได้เร็วขึ้น ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวให้ทัน ผู้คนต้องเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งต่างกับธุรกิจเมื่อ 20-30 ปีก่อน โดยสิ่งที่จะมา Disrupt อย่างชัดเจน ได้แก่ Hyper-Personalization Data หรือการนำเอา Data จำนวนมากมาประมวลผลเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแทนมนุษย์จะเด่นชัดมากยิ่งขึ้น และการนำ AI เข้ามาตัดสินใจ (Decision Making) โดยใช้ Machine Learning และ Algorithm ต่างๆ มาทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ เพื่อทำให้การตัดสินใจได้ผลแม่นยำและรวดเร็ว โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีความซับซ้อนและมีปริมาณข้อมูลมหาศาลจะมีบทบาทสูงตามมา”

เมื่อถามถึงปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านไอทีขององค์กร, หน่วยงานต่างๆ จะแก้ไขได้อย่างไร เพื่อไม่ให้ถูก AI และ เทคโนโลยียุคใหม่กลืนกิน? คุณชวาลิน กล่าวว่า “แนวโน้มของหลายองค์กรตอนนี้ เริ่มใช้วิธี Outsource คนมากขึ้นกับกลุ่มบุคลากรด้าน IT เนื่องจากช่วยลดภาระด้านบุคลากรขององค์กรได้มาก เลือกคนคุณภาพได้ ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งบทบาทของ ‘บริษัทฯ สรรหาบุคลากร’ จะโดดเด่นขึ้นมา ซึ่งก็รวมถึง NDM ด้วย เพราะจะกลายเฟืองสำคัญในการเป็นผู้ช่วยดูแลทุกกระบวนการขององค์กรต่างๆ ในทางอ้อมได้ดี ตั้งแต่การวางแผนจัดจ้าง ออกแบบ คัดสรรบุคลากร และทำ Onboarding Process ไปจนถึงการส่งมอบบุคคลากรตามความต้องการให้ร่วมปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ”

เมื่อถามถึง NDM กับบทบาทที่เกี่ยวเนื่องในสิ่งที่ว่ามาทั้งหมดนี้? คุณชวาลิน กล่าวว่า “ในส่วนของ NDM เอง เนื่องจากเราคว่ำหวอดกับทุกการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและบุคลากรที่มีคุณภาพ ทำให้เราสามารถสร้างเครือข่ายบุคลากรไอที ที่มีความชำนาญในเทคโนโลยีทุกรูปแบบ เสิร์ฟให้ไปสู่องค์กรในทุกระดับ เพื่อรองรับงานที่เหมาะต่อความต้องการของตลาดในปัจจุบันได้อย่างต่อเนื่อง”

'นายกฯ' รับ!! ไม่เห็นด้วย 'กนง.' คงดอกเบี้ย 2.5% ชี้!! ตอนนี้เงินเฟ้อของประเทศไทยติดลบแล้ว

(7 ก.พ.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังกล่าวถึงการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติคงดอกเบี้ยนโยบาย ที่ 2.5% ว่า ทราบว่ามติ 5:2 ให้คงดอกเบี้ย ซึ่งตรงนี้รัฐบาลก็ต้องน้อมรับ เพราะโดยหน้าที่ของรัฐบาลต้องให้ความเห็น และโน้มน้าวว่าความเดือดร้อนของประชาชนอยู่ตรงไหน เพื่อให้นโยบายการเงินและการคลังเดินไปด้วยกัน 

“เมื่อผลออกมาแบบนี้ถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องยอมรับเพราะว่า กนง.มีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน เราคงไม่ก้าวก่าย แต่ก็อยากเห็นนโยบายการเงินการคลัง เดินไปด้วยกัน และในตอนนี้เงินเฟ้อของประเทศนั้นติดลบแล้ว” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ตนไม่ได้รู้สึกว่าถูกบีบอะไรทั้งสิ้น มีหน้าที่ต้องบริหารต้องทำความเข้าใจก็บริหารกันไป เป็นหน้าที่ที่ต้องบริหารเรื่องนี้อยู่แล้ว ส่วนเรื่องของความเห็นต่างเป็นเรื่องที่เราต้องบริหารความคาดหวังซึ่งกันและกัน 

เมื่อถามว่าการประชุมครั้งนี้ กนง.ไม่ลด แต่ครั้งหน้าอาจจะลดหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่าก็ต้องดูตัวเลขต่อไปเรื่อยๆ ตนเองไม่ได้มีธงว่าต้องลดหรือไม่ลด ถ้าตัวเลขบอกว่าไม่ต้องลดผมก็จะออกมาบอกว่าไม่ควรจะลด

"การเห็นต่าง เห็นด้วย เห็นสมควร ในเรื่องต่างๆ หรือว่าต้องโน้มน้าวในเรื่องนี้ ผมก็จะทำต่อไป"นายเศรษฐา กล่าว 

‘รมว.พีระพันธุ์’ เล็งแก้ กม. สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศไทยและประชาชน

(7 ก.พ. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซ เพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ โดยมีนางสาวอรพินทร์ เพชรทัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนา และผู้บริหาร พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมประชุม

นายพีระพันธุ์ฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่แปลกที่ประเทศไทยมีการสำรองและควบคุมราคาน้ำมันและก๊าซโดยเอกชนมากว่า 40 ปี และราคาขึ้นลงเหมือนหุ้น ทำให้ไม่มีความมั่นคงด้านพลังงานกับประเทศและประชาชน จากนี้ไป คกก.ชุดนี้จะเร่งศึกษาและเร่งทำงานเพื่อแก้ไขกฎหมายที่เป็นธรรมให้ทุกฝ่าย เช่น เปิดการค้าน้ำมันเสรี การสำรองน้ำมันด้วยน้ำมัน และแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลัง เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและประชาชน

'สุริยะ' อัปเดต!! 'สะพานข้ามคลองตำมะลัง' เมืองสตูล คืบหน้า 75%  คาดเสร็จกลางปีนี้ ช่วยหนุน 'ศก.-ขนส่งสินค้าเกษตร-ประมง' ได้มาก

(7 ก.พ.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองตำมะลัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับพระราชทานพระราชานุมัติจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบันมีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 75 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2567 โดยโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่บนเกาะตำมะลัง ประมาณ 2,000 ครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อนในการเดินทาง ที่ผ่านมาการเดินทางต้องสัญจรด้วยเรือข้ามฟาก ต้องใช้เวลาประมาณ 30 นาที 

ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนบนเกาะตำมะลัง และประชาชนทั่วไป ให้สามารถเดินทางระหว่างเกาะตำมะลังและแผ่นดินใหญ่ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สามารถเดินทางไปยังโรงพยาบาลเมื่อมีเหตุฉุกเฉินหรือการอพยพประชาชนในกรณีเกิดภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจการขนส่งสินค้าทางการเกษตรและประมงในพื้นที่อย่างยั่งยืน

สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองตำมะลัง จังหวัดสตูล ทช. ได้ตรวจสอบสภาพพื้นที่ของตำบลตำมะลัง ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ทช. จึงได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณานำเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ 

จากนั้น ทช. จึงได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบ และได้เริ่มก่อสร้างสะพานข้ามคลองตำมะลัง ในปี 2563 มีจุดเริ่มต้นจากแยก ทล.406 บริเวณ กม. ที่ 93+900 ด้านขวาทาง ขนาด 2 ช่องจราจร ตรงเข้าสู่ ท่าเทียบเรือประมงเอกชนริมคลองตำมะลัง จากนั้นสะพานจะข้ามไปยังฝั่งบ้านตำมะลังเหนือ หมู่ที่ 2 ผ่านพื้นที่เกษตรกรรมและถนนดินไปสิ้นสุดที่บริเวณถนนสาธารณะของหมู่บ้าน ใช้งบประมาณ 433.190 ล้านบาท 

ปัจจุบันอยู่ระหว่างงานติดตั้งโครงสร้างราวกันตก งานพื้นสะพานช่วงกลางน้ำ งานติดตั้งชิ้นส่วนสำเร็จรูปพื้นสะพานและงานถนนคอนกรีตเสริมเหล็กฝั่งเกาะตำมะลัง โดยมีรายละเอียดการก่อสร้าง ดังนี้...

- ถนนต่อเชื่อมฝั่งแผ่นดิน บริเวณ กม. ที่ 0+000 - 0+690.500 เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทาง ความยาว 660 เมตร

- สะพานข้ามคลองตำมะลัง บริเวณ กม. ที่ 0+690.500 - 1+491.500 เป็นโครงสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก มีพื้นสะพานเป็นแบบคานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมทางเท้า ความยาว 801 เมตร

- ถนนต่อเชื่อมสะพานฝั่งเกาะตำมะลัง บริเวณ กม. ที่ 1+491.500 - 2+750 เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทาง ความยาว 1,200 เมตร ในส่วนการก่อสร้างลานจอดรถฝั่งเกาะตำมะลัง สามารถรองรับรถยนต์ได้ประมาณ 80 คัน รถจักรยานยนต์ประมาณ 126 คัน และก่อสร้างบันไดทางลาดขึ้นลงสะพาน เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินข้ามคลองตำมะลังได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ระหว่างการก่อสร้าง ทช. ได้จัดประชุมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน กลุ่มเป้าหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน ผู้แทนกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการ ลักษณะโครงการ ขั้นตอนการดำเนินงาน ความคืบหน้าโครงการ พร้อมทั้งได้ตอบข้อซักถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้ที่เข้าร่วมประชุม เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด ซึ่งได้จัดประชุมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ครั้งที่ 3 ไปเมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ลานมัสยิดบ้านตำมะลังเหนือ

‘รทสช.’ ดัน ‘กฎหมายประมง’ เข้าสภาฯ สัปดาห์นี้ หวังพลิกฟื้นประมงพื้นบ้าน-อุตสาหกรรมประมง

เมื่อวานนี้ (6 ก.พ.67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ แถลงภายหลังประชุมพรรคว่า พรรครวมไทยสร้างชาติจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ประมงเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในสัปดาห์นี้ จุดประสงค์เพื่อพลิกฟื้นการทำอาชีพประมง โดยเฉพาะประมงพื้นบ้าน และอุตสาหกรรมประมง ให้กลับมาเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ

นายอัครเดช กล่าวว่า "ที่ผ่านมาเรามีกฎหมายประมงที่ทำให้ชาวประมงเจอปัญหาและอุปสรรคในการประกอบอาชีพประมงเป็นอย่างมาก ทางพรรครวมไทยสร้างชาติจึงต้องการเสนอกฎหมายนี้เพื่อแก้ปัญหาให้อาชีพประมงกลับมาเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศอีกครั้ง ดังนั้นการเสนอ พ.ร.บ.ประมงในครั้งนี้จะทำให้สามารถพลิกฟื้นอุตสาหกรรมประมงและอาชีพของชาวประมงให้กลับมาเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ"

ทั้งนี้ การมีกฎหมายฉบับดังกล่าว ก็เพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพประมงได้เข้าถึงการทำประมง ที่ถูกกฎหมาย เป็นกฎหมายที่สามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบอาชีพประมง ลดอุปสรรคต่าง ๆ 

โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ย้ำอีกว่า การประชุมสภาฯ ครั้งที่ผ่านมามีการยื่น พ.ร.บ.ประมงเข้าสภาฯ มาแล้ว แต่ไม่ผ่าน เนื่องจากยื่นในช่วงปลายของรัฐบาล ทำให้มีปัญหาและอุปสรรคในเรื่องระยะเวลาในการพิจารณา แต่ครั้งนี้ยื่นให้พิจารณาต้นอายุของสภาผู้แทนราษฎร คิดว่า กฎหมายฉบับนี้จะสำเร็จภายในรัฐบาลนี้แน่นอน ขอให้พี่น้องชาวประมงสบายใจได้เพราะเป็นกฎหมายที่ชาวประมงรอคอย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top