Saturday, 5 July 2025
ECONBIZ NEWS

‘กบน.’ เห็นชอบใช้กองทุนน้ำมันฯ อุดหนุนราคาเบนซิน 1 บาท/ลิตร

(31 ม.ค.67) นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กบน. มีมติเห็นชอบให้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสนับสนุนผู้ใช้น้ำมันในกลุ่มเบนซิน 1 บาท/ลิตร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนหลังสิ้นสุดมาตรการลดการจัดเก็บภาษีกรมสรรพสามิตน้ำมันกลุ่มเบนซิน 1 บาท เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีความผันผวน โดยราคาน้ำมันเบนซินวันที่ 1-30 มกราคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 95.72 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติภารกิจให้เป็นไปตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนในสถานการณ์ที่ราคาพลังงานยังมีความผันผวน

ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 28 มกราคม 2567 ติดลบ 84,349 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 37,875 ล้านบาท ส่วนก๊าซ LPG ติดลบ 46,474 ล้านบาท 

‘กฤษฎา-รมช.คลัง’ แนะ!! รัฐวิสาหกิจเร่งการลงทุน  คาดมีเม็ดเงินสะพัด 2 แสนล้าน กระตุ้น ศก.ได้มาก

(31 ม.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการดำเนินเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีสัดส่วนการลงทุนมาก โดยงบประมาณปี 2567 มีความล่าช้า แต่ได้มีนโยบายให้รัฐวิสาหกิจช่วยเร่งในเรื่องของงบลงทุนและการใช้จ่าย เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ให้ลงพื้นที่ไปดูแลช่วยเหลือลูกค้าในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ เรื่องกีฬา ให้ทุกรัฐวิสาหกิจเข้าไปช่วยเรื่องการเงินหรือการบริหารจัดการในแต่ละสมาคมกีฬา ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ 

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเร่งดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือสนับสนุนอย่างไรบ้าง? นายกฤษฎากล่าวว่า “งบลงทุนให้เร่งลงทุนตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ ซึ่งบางรัฐวิสาหกิจจะเป็นปีงบประมาณแบบรัฐบาล บางรัฐวิสาหกิจเป็นปีปฏิทิน จะช่วยได้ในช่วงเวลาที่เงินลงทุนของรัฐยังไม่ได้ลงไป จะช่วยได้ในช่วงไตรมาสแรกปีงบประมาณ ซึ่งหลังจากไตรมาสที่ 2 เงินงบลงทุนปี 2567 ก็เริ่มลงทุนได้แล้ว วันนี้กรมบัญชีกลาง ได้ผ่อนปรนเรื่องกฎระเบียบการใช้จ่ายเงินงบลงทุน เพื่อให้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น และมีขั้นตอนต่าง ๆ ให้สั้นลง คาดการณ์ว่า ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 อาจมีเม็ดเงินงบลงทุนรวมกว่า 2 แสนล้านบาท และไตรมาสหลังจะมีเพิ่มมากขึ้น”

เมื่อถามถึงความคืบหน้าโครงการพักหนี้นอกระบบ หลังเริ่มลงทะเบียน? นายกฤษฎา กล่าวว่า “กระทรวงมหาดไทย รายงานผลอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ธนาคารก็พร้อมช่วยเหลือ ถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี จึงอยากเชิญชวนคนที่มีหนี้นอกระบบเข้ามาลงทะเบียน เพื่อรับการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างจริงจัง ย้ำว่า โครงการพักหนี้ เป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับเกษตรกรหรือเอสเอ็มอี หลังจากผ่านพ้นช่วงโควิด และเริ่มทำธุรกิจ ถือเป็นโครงการที่ดีในการช่วยเหลือประชาชนและเอสเอ็มอี”

'รมว.ปุ้ย' แจ้งข่าวดี!! 'รัสเซีย' ขยายความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย ยกระดับมาตรฐาน 'ส่งออก-นำเข้าสินค้า' ระหว่างไทย–รัสเซีย

(31 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พบหารือกับนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ที่ประเทศจีน เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา รัสเซียได้ให้ความสำคัญกับประเทศไทยในฐานะมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์ยาวนาน โดยรัสเซียต้องการขยายความร่วมมือกับประเทศไทยในด้านต่างๆ ทั้งพลังงาน การเงิน เทคโนโลยีดิจิทัล เคมีภัณฑ์ และการเกษตร 

สำหรับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของรัสเซีย เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างกันในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยเฉพาะผู้ประกอบการ Start Up และ SMEs อำนวยความสะดวกและสนับสนุนข้อมูลเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของไทย กับเขตประกอบการ Far East ของรัสเซีย ส่งเสริมให้เกิดการประชุม สัมมนา ระหว่างภาคธุรกิจไทยกับรัสเซีย แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ และร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับสูงตามความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของแต่ละฝ่าย จัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน (Working Group) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ MoU ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ล่าสุดคณะผู้แทนการค้าแห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำราชอาณาจักรไทย (The Trade Representation of the Russian Federation in the Kingdom of Thailand) ได้เข้าหารือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อรับทราบข้อมูล มาตรฐาน และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำสินค้าที่ สมอ. ควบคุมเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 144 รายการที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน โดยรัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 37 ของไทย และอันดับที่ 1 ในสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (รัสเซีย, คาซัคสถาน, เบลารุส, อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน) มีการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ มากเป็นอันดับ 1 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 30 - 40 รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าเกษตรและอาหาร แผงสวิตช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า รวมทั้งสินค้าสุขอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อ เช่น ถุงมือยางและถุงยางอนามัย เป็นต้น 

ทั้งนี้ ในปี 2566 ประเทศไทยกับรัสเซียมีมูลค่าการค้ารวม 53,441.29 ล้านบาท โดยไทยส่งออกสินค้าไปรัสเซียมีมูลค่า 29,227.50 ล้านบาท และนำเข้าสินค้าจากรัสเซียมีมูลค่า 24,213.79 ล้านบาท มีดุลการค้าระหว่างประเทศเกินดุลอยู่ที่ 5,013.72 ล้านบาท

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะผู้แทนการค้าแห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำราชอาณาจักรไทย มีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนข้อมูลทางเศรษฐกิจไทย-รัสเซีย และกิจกรรมความร่วมมือด้านมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการของรัสเซีย ส่งออกและนำเข้าสินค้าระหว่างไทย - รัสเซีย ได้เข้าหารือกับ สมอ. เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับมาตรฐาน และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย

โดยเฉพาะสินค้าที่ สมอ. ควบคุม อาทิ สินค้ากลุ่มเหล็ก ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง เครื่องดับเพลิง ของเล่น และหมวกกันน็อก เป็นต้น โดยรัสเซียให้ความสนใจในการนำผลิตภัณฑ์เหล็กเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรไทย รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ เป็นต้น 

การประชุมหารือในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะกระชับความร่วมมือระหว่าง สมอ. กับคณะผู้แทนการค้าแห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำราชอาณาจักรไทย ในการเผยแพร่ข้อมูลมาตรฐานของ สมอ. รวมถึงการส่งเสริมการค้าระหว่างไทยกับรัสเซีย เพื่อขยายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนภายใต้กรอบความร่วมมือและข้อตกลงการค้าเสรีในระบบพหุภาคีและทวิภาคี โดยเร่งรัดการใช้ประโยชน์จากความตกลงที่มีผลบังคับใช้แล้ว รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับกฎระเบียบและมาตรฐานต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าการนำเข้าให้แก่ประเทศไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย 

การประชุมเครือข่ายขั้นสูงแห่งเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 57 ที่ ณ ประเทศไทย 500 บุคลากรระดับหัวกะทิ ร่วมถก 'นวัตกรรม-วิจัย' เพื่ออนาคตคึกคัก

ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพการประชุมเครือข่ายขั้นสูงแห่งเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 57 ( The Asia-Pacific Advanced Network : APAN 57) ระหว่างวันที่ 29 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2567 ณ กรุงเทพมหานคร คาดมีสมาชิกเครือข่าย APAN, องค์กรตัวแทนของสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก, นักวิชาการ  และนักวิจัย ทั้งในและต่างประเทศ กว่า 500 คน เข้าร่วมประชุม

(30 ม.ค.67) ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเครือข่ายขั้นสูงแห่งเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 57 (The Asia-Pacific Advanced Network : APAN 57) พร้อมกล่าวว่า ประเทศไทย โดยสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา หรือ UniNet สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเครือข่ายขั้นสูงแห่งเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 57 หรือ The Asia-Pacific Advanced Network : APAN 57 ภายใต้หัวข้อ Towards a Sustainable Future ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประเทศเจ้าภาพ ในปี ค.ศ. 2024 ที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 29 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ นี้ 

ทั้งนี้ APAN เป็นเครือข่ายขั้นสูงแห่งเอเชียแปซิฟิก เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศของเครือข่ายการวิจัยและการศึกษาแห่งชาติทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งครอบคลุมประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก เป็นพื้นฐานในการให้บริการเชื่อมต่อเครือข่ายความเร็วสูงทั้งในและต่างประเทศ โดยร่วมกันพัฒนาเครือข่าย ส่งเสริมการใช้งานและเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมต่ออย่างต่อเนื่อง ถือเป็นตัวแทนของผลประโยชน์ที่ไม่แสวงหากำไรของเครือข่ายการวิจัยและการศึกษาในประเทศเศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิก 

สำหรับ การประชุม APAN ในครั้งนี้ มีบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในทุกศาสตร์ ทุกสาขาอาชีพ มารวมตัวกันจากการจัดในประเทศไทยกว่า 500 คน เพื่อร่วมกันแสวงหานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ก้าวหน้า โดยเน้นความเป็นเลิศในเครือข่ายขั้นสูงและโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาวิจัย เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างกันจากทุกศาสตร์ในหมู่ประเทศสมาชิกทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อีกทั้งยังส่งเสริมให้นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาและนักวิจัยรุ่นเยาว์ใน APAN ได้มีโอกาสนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยในทุกศาสตร์

“การประชุมตลอด 5 วันนี้ ท่านจะได้พบกับการประชุมวิชาการในระดับ Technical Program การสัมมนา Workshops การนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่มากกว่า 15 ด้าน ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายจากหลายประเทศทั่วโลก โดยมีวิทยากรที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ นำเสนอแนวคิดเจาะลึกในประเด็นเฉพาะด้าน เกี่ยวกับเครือข่ายกิจกรรมด้านวิชาการและสังคม เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และร่วมมือในการพัฒนาระหว่างกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้รับประโยชน์จากการประชุมในครั้งนี้ตามที่คาดหวัง” 

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลไทย มีนโยบายที่จะกระตุ้นและสนับสนุนอย่างเต็มที่ในทุกมิติ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่คนไทย ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ด้วยการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล ที่สามารถปรับเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกได้อย่างรวดเร็ว ทั้งด้านทำให้เกิดความเจริญขึ้นหรือความเสื่อมถอย ซึ่งคนไทยทุกคนจะต้องรู้เท่าทันและปรับวิธีคิดตามความเปลี่ยนแปลงให้ทัน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้อยู่ในมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับทางเศรษฐกิจและสังคม เครือข่าย APAN จึงได้มีส่วนในการเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ผลักดันให้คนไทยเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตามนโยบายนี้

อนึ่งการประชุมเครือข่ายขั้นสูงแห่งเอเชียแปซิฟิก จะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ โดยในครั้งที่ 1 คือ APAN 13 จัดขึ้นที่ภูเก็ต เมื่อปี 2002, ครั้งที่ 2 APAN 19 จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2005, ครั้งที่ 3 APAN 33 จัดขึ้นที่เชียงใหม่ ปี 2012 และล่าสุด ครั้งที่ 4 APAN 57 จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ณ โรงแรมอิสติน แกรนด์ พญาไท 

‘มาคาเลียส’ จัดโปรฯ ‘Makalius Early Bird’ ลดค่าที่พัก-ที่เที่ยวสูงสุด 50% เริ่ม 31 ม.ค.นี้

(30 ม.ค. 67) มาคาเลียส แหล่งรวมอี-วอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย จัดหนักเอาใจเหล่าทราเวลเลอร์ต้อนรับต้นปีกับโปรโมชั่น ‘Makalius Early Bird’ ที่พักที่เที่ยวลดสุงสุด 50% ฉลองปีใหม่ยาว ๆ ได้แก่ 

-IP Plus Pool Villa Pattaya พัทยา พูลวิลล่าสไตล์บาหลี พร้อมสระว่ายน้ำส่วนตัว จากราคา 1,999 บาท/คืน ลดเหลือ 999 บาท/คืน 
-Espana Resort Pattaya Jomtien พัทยา จากราคา 1,219 บาท/คืน ลดเหลือ 609 บาท/คืน 

-Hotel Kuretakeso Thailand Sriracha ที่พักสไตล์ณี่ปุ่น จากราคา 2,199 บาท/คืน ลดเหลือ 1,099 บาท/คืน 

-บัตรสวนน้ำ Vana nava หัวหิน จากราคา 1,190 บาท/ท่าน ลดเหลือ 595 บาท/ท่าน 

-Beach Walk Boutique Resort ที่พักติดทะเลบางแสน จากราคา 3,799 บาท/คืน ลดเหลือ 1,899 บาท/คืน

ด่วน!!! วอร์เชอร์มีจำนวนจำกัด จองก่อนรับสิทธิ์ก่อนเฉพาะที่มาคาเลียสเท่านั้น (www.makalius.co.th) เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2024 หรือจนครบสิทธิ์ตามจำนวน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่โทร. 02 821 5215 หรือ Line Official @makalius

'รมว.ปุ้ย' สวมหมวก 'กรรมการสภานโยบายฯ' ขับเคลื่อนผลึก 'วิจัย-นวัตกรรม' เพื่อชาติ

เมื่อวานนี้ (29 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ครั้งที่ 2/2567 โดยที่ประชุมได้ร่วมหารือแนวทางการขับเคลื่อนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณา แนวทางการขับเคลื่อนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี การแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา กรณีครบวาระการดำรงตำแหน่ง หลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเพื่อการให้บริการทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา ที่ไม่สามารถดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 

การแต่งตั้งประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนหน่วยงาน กรรมการผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ (ร่าง) ระเบียบสภานโยบาย ว่าด้วยการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. ….

"ปัจจุบันหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยตำแหน่งแล้วต้องมีหน้าที่ราชการที่ไม่ใช่เฉพาะการบริหารราชการแผ่นดินในกระทรวงอุตสาหกรรมเพียงเท่านั้น หากแต่ยังมีหน้าที่กรรมการในองค์กรสำคัญของประเทศไทย อีกหลายหน้าที่ด้วยเช่นกัน...

"โดยในส่วนของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานสภานโยบายแล้วนั้น ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็มีหน้าที่เป็นกรรมการ ในกรอบหน้าที่เพื่อมุ่งพัฒนาการอุดมศึกษา ค้นคว้าสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ ๆ ด้านการวิจัย และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทยด้วย...

"ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงมุ่งหวังที่จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ด้านการวิจัย และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ควบคู่ โดยมิได้ผูกหรือยึดติดอยู่กับวิธีการ กระบวนการ แบบใดแบบหนึ่งอย่างตายตัว เนื่องจากทุกประเทศมีการแข่งขันพัฒนาองค์ความรู้ เร่งสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ว่ากันอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปอย่างมากในทุกมิติไม่มีสิ้นสุด ภายใต้ 'ผลึกสำคัญ' ของการวิจัย องค์ความรู้ การสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่จะต้องถูกพัฒนาที่นำไปสู่การใช้ได้จริง ไม่ใช่เฉพาะงานวิจัยอยู่ในเอกสาร เพื่อสร้างประโยชน์ในเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทย อันจะก่อประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่แก่คนไทยต่อไป" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

'สว.วีระศักดิ์' กล่าวเปิดเทศกาลภาพยนตร์ Moscow Film Days  ความร่วมมือครั้งใหญ่ระหว่างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ 'ไทย-รัสเซีย'

เมื่อวานนี้ (29 ม.ค.67) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อดีตเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติของไทย ขึ้นกล่าวแสดงความยินดีกับ รัฐมนตรี ด้านวัฒนธรรมของนครมอสโก และคณะ ในความร่วมมือระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทย จับมือร่วมกับวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของรัสเซีย หนึ่งในประเทศที่มีวงการภาพยนตร์ที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่อีกแห่งของโลก ที่จัดให้มีงานเทศกาลภาพยนตร์ Moscow Film Days เป็นครั้งแรกในไทย ที่โรงภาพยนตร์ SF World Cinema ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์

โดยมีเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยและคณะทูตจากต่างประเทศพร้อมคู่สมรส ผู้แทนการค้าไทย รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้บริหารสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และคณะผู้บริหารสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติของไทยที่มาร่วมแสดงความยินดี

ในพิธีเดินพรมแดง มีการจัดถ่ายทอด live สด การสนทนาสัมภาษณ์กับนักบินอวกาศที่ร่วมแสดงในฉากจริงของภาพยนตร์ ‘The Challenge’ จากนั้นเป็นกิจกรรมขึ้นกล่าวก่อนเปิดฉายภาพยนตร์ ‘The Challenge’ ที่เป็นภาพยนตร์กวาดรายได้สูงสุด 1 ใน 5 เรื่องที่ฝ่ายรัสเซียนำมาทยอยเข้าฉายในไทยนับจากนี้ไปถึงเดือนเมษายน 

‘The Challenge เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของโลกที่ถ่ายทำในสถานที่จริงในอวกาศ ที่สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station หรือ ISS) โดยเป็นเรื่องราวของ ศัลยแพทย์ (นำแสดงโดย ยูเลีย พีริซีลด์ ดารานักแสดงสาวของรัสเซีย) ถูกส่งขึ้นโดยการตัดใจของหน่วยกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติของรัสเซีย มุ่งสู่สถานีอวกาศนานาชาติที่โคจรเหนือพื้นโลกที่อยู่เหนือขึ้นไปกว่า 400 กิโลเมตรเป็นการเร่งด่วน เพื่อไปผ่าตัดช่องอกให้นักบินอวกาศที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุในอวกาศ เพื่อหวังให้สามารถกลับลงสู่พื้นโลกได้ปลอดภัย

การถ่ายทำจริงใช้เวลา 12 วันบนอวกาศ ผ่านการเตรียมงานและฝึกฝนนักแสดงและผู้กำกับให้ขึ้นไปทำภารกิจในสภาพไร้น้ำหนักและปราศจากแรงโน้มถ่วงของโลกอยู่นับเดือน นับเป็นมิติใหม่ที่ผู้ชมจะได้ชมภาพยนตร์สนุกจากบรรยากาศในยานอวกาศจริง

ในการนี้ นายเยฟกินี โธมีคิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยขึ้นกล่าวว่าภาพยนตร์เป็นเครื่องมือสื่อสารที่สามารถสะท้อนแนวคิดวิถีชีวิต ของคนในแต่ละสังคม เพื่อให้ผู้ชมจากอีกสังคมสามารถสัมผัสและเข้าถึงได้ง่าย

นายอเล็กเซย์ ฟูซินด์ รัฐมนตรีด้านวัฒนธรรมของมอสโก ขึ้นกล่าวว่าเป็นความภาคภูมิใจของรัสเซียที่ชาวไทยให้ความสนใจมาร่วมกิจกรรมในเทศกาลที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างไทยกับรัสเซียอย่างอบอุ่นคับคั่ง รวมทั้งภาคธุรกิจภาพยนตร์และคอนเทนต์ของไทยก็เข้าชื่อมาร่วมพบเจรจา Business Matching กับคณะเดินทางภาคเอกชนด้าน ภาพยนตร์และคอนเทนต์ของรัสเซียกันอย่างหนาแน่นด้วย นับเป็นการเปิดมิติความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และหวังจะได้เห็นการร่วมมือผลิตภาพยนตร์แบบ Co-Production ระหว่างรัสเซียและไทยในอนาคตอันใกล้

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ขึ้นกล่าวว่า ในรัสเซียมีการใช้วัฒนธรรมภาพยนตร์ในการขับเคลื่อนสังคมมายาวนาน มีภาพยนตร์สำหรับเข้าโรงฉายในรัสเซียถึงปีละ เฉลี่ย 2 พันเรื่อง และมีกิจการโรงภาพยนตร์ที่กระจายตัวอยู่มากถึง 2 หมื่นแห่งทั่วรัสเซีย ดังนั้นการร่วมมือระหว่างวงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยกับรัสเซียจึงนับเป็นมิติที่ดีในการเสริมพลังทั้งทางเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ภาคประชาชนของทั้งสองประเทศที่มีความสัมพันธ์กันมายาวนาน

รัสเซียและไทยเริ่มมีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางระหว่างกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 และต่อมาขยายเพิ่มเติมใน พ.ศ. 2548

ปัจจุบัน รัสเซียสร้างเมืองภาพยนตร์ (Movie Town) และสวนภาพยนตร์ (Film Park) ขึ้นในกรุงมอสโก จากหมู่โรงงานและนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เลิกใช้งานแล้ว เพื่อช่วยให้กองถ่ายรัสเซียและนานาชาติ สามารถเช่าถ่ายทำฉากต่าง ๆ ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ สามารถจำลองเป็นเมืองใด ๆ ในโลกก็ได้ สามารถมีฉากแปลกตาท้าทาย ทั้งบนบก ฉากใต้น้ำจากการใช้ทะเลสาบขุดขนาดใหญ่ในพื้นที่พร้อมทีมนักดำน้ำสนับสนุน เพื่อให้ผู้กำกับภาพยนตร์สร้างงานตามจินตนาการได้อย่างสะดวก เพราะอยู่ในเขตใกล้เมืองที่มีระบบบริการและสาธารณูปโภคที่เข้าถึงง่ายจากนครหลวงมอสโกเพียง 25 นาทีทางรถยนต์

ทั้งนี้เทศกาลภาพยนตร์ Moscow Film Days มีกำหนดจะเปิดฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘The Challenge’ รอบปกติ ในเครือโรงภาพยนตร์ SF Cinema ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป และจะทยอยนำภาพยนตร์ที่คัดเลือกไว้เข้าฉายต่อเนื่องไปให้คนไทยได้ชมไปเรื่อย ๆ จนครบทั้ง 5 เรื่องในกลางเดือนเมษายน

'ดร.วชิรศักดิ์' มั่นใจ!! ไทยขึ้นแท่นมหาอำนาจในเร็ววัน ก้าวย่างอย่างมั่นคงสู่การเป็นศูนย์กลางของอาเซียน

(29 ม.ค. 67) เพจ 'Bangkok I Love You' โพสต์ข้อความในหัวข้อ 'ก้าวย่างอย่างมั่นคงสู่การเป็นศูนย์กลางของอาเซียน มหาอำนาจตัวจริง' ระบุว่า...

"คนลาว คนเวียดนาม มาเห็นถนนสาย ตจว. บ้านเราถึงกับร้อง ทำไมมันดีกว่าบ้านเขามาก อนาคตบ้านเราเก็บค่าต๋ง ค่าผ่านทางก็รวยแล้วครับ"

ประเทศไทยเป็น Corridor

Corridor คืออะไร?

ผมว่าหลายคนยังไม่ทราบ คนในวงการก่อสร้าง Infrastructure หรือ Mega project การลงทุนระหว่างประเทศจะใช้คำนี้เสมอ เราก็ไม่เข้าใจเพราะเรามองไม่ไกลขนาดนั้น ตอน Ford มาตั้งโรงงานในบ้านเรา ผมได้มีโอกาสเจอ First team ก็เลยถามตรง ๆ ว่า มาทำไมเพราะคู่แข่งแต่ละรายแกร่งยิ่งนัก เขาตอบว่า Corridor ช่วง 10 ปีแรก ขายในประเทศ อีก 20 ปี ไปขายเพื่อนบ้าน ตอนนี้เขมรขับ Ford กันแล้ว อีก 30 ปี ไปขายพม่าได้ Vision 20 ปี มันเป็นแบบนี้นี่เอง

มือถือสองค่ายแย่งกันขาย รายที่สามมาทำไม เขาตอบว่า อัตราส่วนเมื่อเทียบกับที่อื่นทั่วโลกถือว่า ตึงเต็มที่ Reserve ratio มันต่ำกว่ามาตรฐานแล้ว อนาคตยอดเพิ่มแน่นอน มีตัวเลขต่างประเทศมายืนยัน มันเป็นแบบนี้นี่เองการค้าระดับโลกมันมีฐานข้อมูลอ้างอิง เรามองแค่ในบ้านเราถึงไม่เข้าใจว่าเขามาลงทุนทำไม ตัวเลขสำคัญคือจำนวนประชากรต่อ ???

เห็นสิงคโปร์ CNA ทำรายงานเรื่อง การลงทุนของญี่ปุ่นใน AEC มีภาพหนึ่ง Corridor ชัดเจนมาก ทำเลทอง EEC มันเป็นทางผ่านชัด ๆ นี่ไม่รวมรถไฟจากจีน คุณหมิง ผ่านลาว ลงมาอ่าวไทย แบบนี้เรียกว่า Center point วัยรุ่นคงเข้าใจ คนตจว. อาจจะเรียกว่าโคราช อนาคตประเทศเราจะเป็นทางผ่านแบบโคราช แปลว่า แน่นทั้งปี

ไม่แปลก...อะไรที่ถนนบ้านเราโดยเฉพาะในต่างจังหวัดพัฒนาขึ้นดีมาก คนต่างจังหวัดคงเข้าใจไม่ต้องอธิบาย Logistic ต่างชาติแห่กันมาหา Hub คนลาว คนเวียดนาม มาเห็นถนนสาย ตจว. บ้านเราถึงกับร้อง ทำไมมันดีกว่าบ้านเขามาก ถนนสายจากน่านไปออกหลวงพระบางเคยเห็นหรือยัง อนาคตบ้านเราเก็บค่าต๋ง ค่าผ่านทางก็รวยแล้วครับ

บทความจาก ดร.วชิรศักดิ์ จึงสถาพร

'มือเศรษฐกิจจุลภาค' ยกเคส SHEIN แบรนด์แฟชันจีนสุดแรงแซงทุกโค้ง สะท้อนโลกธุรกิจยุคใหม่ อยากคว้าชัยเร็ว ก็ต้อง 'ปรับตัวไวและโคตรไว'

(29 ม.ค.67) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Ta Plus Sirikulpisut' ในหัวข้อ 'ผู้ชนะวงการ Fashion' ระบุว่า...

ยุค 90 Giordano, Esprit, Mango, Benetton
ยุค 2000 Zara, H&M, Topshop, Uniqlo 
Today Is Shein

วงการเสื้อผ้ายุคดั้งเดิม เขาจะมีเสื้อขายปีละ 3-4 Seasons Summer, Spring, Autumn,Winter 1 ฤดูกาลจะมีเสื้อวางขายในร้าน 90 วัน+/- ของเข้าร้านใหม่ New Arrival ผ่านไปสักเดือนนิด ๆ ก็ Sale และก่อนปิดฤดูก็จะมี Final sale พฤติกรรมผู้บริโภคก็จะเดินเข้าไปเจอเสื้อเดิม ๆ 3 ตัว 

แต่คนเดินห้างเขาชอบเข้าร้านพวกนี้จนกระทั่ง...

ZARA ส่งเสื้อใหม่เข้าร้านทุก 2 สัปดาห์และเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเป็น Fast fashion 

UNIQLO เองแม้จะไม่ถึงกับเป็น Fast fashion แต่เขาก็ตั้งบริษัทชื่อ Fast retail ซึ่งกลุ่มนี้ได้เข้ามาเปลี่ยนโลกธุรกิจแฟชั่นจนร้านค้าเดิม ๆ เซไปเลย

วันนี้ SHIEN เข้ามาเปลี่ยนโลก Fast Fashion เป็น Ultra fast fashion ด้วยการใช้ internet, AI และ Online platform ส่งเสื้อเข้ามาสู่สายตาลูกค้าไวกว่าเดิม ผลิตไวกว่า ใช้ AI ส่องแฟชันตาม Social media และออกแบบทันที ผลิตไว และมีจำนวนสินค้าผลิตตาม Data Analysis วันนี้บริษัทนี้เป็นผู้ชนะแล้วครับ

นักธุรกิจรุ่นใหม่ต้องปรับตัวไว
พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์
มือเศรษฐกิจจุลภาค

‘นายกฯ’ ชี้!! ‘ฟรีวีซ่า’ ก้าวสำคัญสัมพันธ์ ‘ไทย-จีน’ มั่นใจ!! ช่วยกระตุ้น ‘เศรษฐกิจ-การค้า-การลงทุน’

(28 ม.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่าน X ว่า ไทยกับจีน ได้ลงนามในความตกลงฟรีวีซ่าสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา และหนังสือเดินทางกึ่งราชการ เมื่อเช้าวันที่ 28 ม.ค.ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.67 

“ผมมองว่าเป็นก้าวสำคัญในความสัมพันธ์ ไทย - จีน และจะมีผลอย่างมากต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพียงในแง่การส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน แต่ยังรวมถึงการค้า การลงทุนด้วย อย่างแน่นอน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 29 ม.ค.นี้ นายหวัง อี้ (H.E.Mr.Wang Yi) สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรมว.ต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีกำหนดเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top