‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! ปัญหาในตลาดหุ้นกู้-เงินเฟ้อติดลบ ความผิดพลาดเชิงนโยบายที่แบงก์ชาติไม่ควรปฏิเสธ

(8 ก.พ. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้เผยถึง ปัญหาในตลาดหุ้นกู้ เงินเฟ้อติดลบ และความผิดพลาดเชิงนโยบายของแบงก์ชาติ ไว้ว่า...

หุ้นกู้ก็คือ ตราสารหนี้ประเภทหนึ่ง ต่างจากตราสารทุน (Equity) ตรงที่มีกำหนดเวลาชำระดอกเบี้ยคงที่และชำระคืนเงินต้นที่แน่นอน ในมุมมองของผู้ลงทุนจึงดูเหมือนไม่มีความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงน้อยกว่าหุ้นหรือตราสารทุน แต่ในความเป็นจริงแล้ว หุ้นกู้มีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ ( Risk of Default) และความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) ซึ่งมีอยู่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจถดถอยและภาวะการเงินมีความผันผวนสูงอย่างเช่นในปัจจุบัน

ขอชื่นชมผู้วางนโยบายที่กระทรวงการคลังและ ก.ล.ต.ในอดีตที่ได้ร่วมมือกันพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง จนกลายเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของการระดมทุนหล่อเลี้ยงภาคเศรษฐกิจจริงในประเทศไทย อีกสองเสาหลักได้แก่ ตลาดหุ้นและเงินกู้ธนาคาร ซึ่งเสาหลักแต่ละแท่งมียอดคงค้างของการระดมทุนอยู่ที่ประมาณ 100% ของ GDP รวมทั้ง 3 เสาก็อยู่ที่ 300% ของ GDP หรือประมาณกว่า 50 ล้านล้านบาท

ปัจจุบันหลังจากที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยแบบไม่บันยะบันยังมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี และสร้างความผันผวนทางการเงินขึ้นมาด้วยน้ำมือของตัวเองอย่างไม่จำเป็น ตลาดหุ้นกู้เริ่มปรากฏร่องรอยของความปริร้าวขึ้นมา ซึ่งเป็นที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากไม่สามารถหยุดการไหลของเลือด อาจลุกลามไปยังเสาหลักอีก 2 เสาได้ ผู้ออกหุ้นกู้ที่ออกมาก่อน 2 ปีที่แล้ว เมื่ออัตราดอกเบี้ยอยู่ใกล้ศูนย์ กำลังถึงกำหนดเวลาไถ่ถอนจำนวนมาก และจำเป็นต้องออกหุ้นกู้ใหม่มาเพื่อชำระคืนของเดิม (Roll over) ต้องประสบปัญหาตลาดการเงินขาดสภาพคล่อง และดอกเบี้ยสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีการปรับสูงขึ้นกว่า 5 เท่าตัว (500%) ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา

เมื่อตอนที่ประเทศไทยมีการแพร่ระบาดของโควิด เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตลาดหุ้นกู้ก็ส่อเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทำนองเดียวกัน แต่ต่างกันที่สาเหตุมาจากด้านรายได้ของธุรกิจที่เหือดหายไปจากการหยุดจับจ่ายใช้สอยของประชาชน รัฐบาลจึงยอมให้แบงก์ชาติตั้งกองทุนรักษาสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ (Bond Market Stabilization Fund-BSF) วงเงิน 400,000 ล้านบาท โดยออกพระราชกำหนดให้แบงค์ชาติสามารถเข้าไปซื้อตราสารหนี้ออกใหม่ได้ในระยะสั้นๆและกระทรวงการคลังรับประกันความเสียหายจากการลงทุนของแบงก์ชาติ (น่าจะถือว่าถูกแบงก์ชาติหลอกให้เอาเงินผู้เสียภาษีมาค้ำประกัน) 

มาคราวนี้สถานการณ์เริ่มสุกงอม แลอาจยังความจำเป็นให้ตั้งกองทุนทำนองดังกล่าวขึ้นอีก เพื่อพยุงตลาดตราสารหนี้ แต่เชื่อว่าครั้งนี้กระทรวงการคลังคงไม่ยอมให้แบงก์ชาติหลอกให้เอาเงินผู้เสียภาษีมาค้ำประกันอีก  เพราะปัญหาครั้งนี้เกิดมาจากความผิดพลาดของแบงก์ชาติเองล้วนๆ หลายฝ่ายรวมทั้งกระทรวงการคลังได้ออกมาเตือนแบงก์ชาติหลายครั้งหลายครา แต่แบงค์ชาติกลับเอาหูทวนลม ดังนั้นจึงไม่อาจงอแงปฏิเสธความรับผิดชอบเหมือนครั้งก่อน โดยเอาเงินผู้เสียภาษีมาค้ำประกันความผิดพลาดของตนเองไม่ได้อีกแล้ว

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมกราคม 2567 ติดลบเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย 

ธนาคารแห่งประเทศไทยคงจะปฏิเสธไม่ได้อีกแล้ว เหมือนที่ผ่านมาว่าไทยยังไม่มีภาวะเงินฝืด (Deflation) และมักจะบอกว่าไม่เกี่ยวกับแบงก์ชาติและโยนความผิดให้คนอื่นว่าเป็นปัญหาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย

ในสถานการณ์เช่นนี้ แบงก์ชาติคงจะมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง ประการแรกลดดอกเบี้ยและยอมรับความผิดพลาดของตนเองที่ทำให้เศรษฐกิจชาติเสียหาย แต่เชื่อว่าแบงก์ชาติคงจะเสียหน้าอย่างมาก และโดยธรรมชาติแล้วมักจะไม่กล้าทำ ประการที่สอง ไม่ทำอะไร คงดอกเบี้ยไว้ตามเดิม เพื่อรักษาหน้าของตัวเอง แล้วก็โยนเคราะห์กรรมให้กับคนไทยทั้งประเทศ 

แต่ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง) ประชุมเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์แล้ว มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ (5 ต่อ 2 เสียง) เลือกแนวทางที่ 2 คือปัดความรับผิดชอบ และโยนขี้ให้ประชาชน ตามแบบฉบับแบงก์ชาติที่สืบทอดกันมา แม้จะมีกรรมการเสียงข้างน้อยที่เริ่มยอมรับความผิดพลาดของนโยบายการเงิน 

สถานการณ์น่าเป็นห่วงครับ