Sunday, 6 July 2025
ECONBIZ NEWS

'ผู้ว่าแบงก์ชาติ' ยัน!! ศก.ไทย 'ไม่วิกฤติ' ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตามคำขอ ด้านสื่อญี่ปุ่นมอง 'เศรษฐา' ต้องการอ้างตัวเลขวิกฤติ ดัน 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

เมื่อวานนี้ (21 ก.พ. 67) สำนักข่าวนิกเกอิของประเทศญี่ปุ่น เผยแพร่บทสัมภาษณ์นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยสื่อญี่ปุ่นแห่งนี้ ระบุว่า ธปท.ได้คัดค้านข้อเรียกร้องให้มีการจัดประชุมฉุกเฉินเพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่นายเศรษฐพุฒิ บอกว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างและวัฏจักรที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จะไม่ได้รับการแก้ไขด้วยการพลิกกลับของนโยบายทางการเงิน

ทั้งนี้ นายเศรษฐพุฒิ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวนิกเกอิ ว่า ธนาคารกลางจะ 'ไม่ดันทุรัง' ต่อสถานการณ์ดอกเบี้ยในขณะนี้ซึ่งอยู่ในระดับสูงในรอบทศวรรษ แต่ขอให้พิจารณาตัวเลขล่าสุดที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบ และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่เติบโตเพียง 1.9% ในปี 2566 ที่ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งเป็นผลจากอุปสรรคทางการเมืองที่ทำให้งบประมาณรัฐบาลปี 2567 ล่าช้า

“ถ้าเราลดอัตราดอกเบี้ยลง มันไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายมากขึ้น หรือทำให้บริษัทจีนนำเข้าปิโตรเคมีจากประเทศไทยมากขึ้นแต่อย่างใด แล้วมันก็ไม่ได้ทำให้รัฐบาลกระจายงบประมาณได้รวดเร็วขึ้นด้วย และนี่คือปัจจัยหลัก 3 ประการที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยค่อนข้างช้า” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า แรงกดดันทางการเมืองที่ส่งถึงธนาคารกลางกำลังมีมากขึ้น ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบต่อเนื่องถึง 4 เดือน ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการอุดหนุนด้านพลังงานของภาครัฐ ประกอบกับรายรับจากการท่องเที่ยวที่อ่อนแอและการหดตัวของการส่งออก แต่ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ก.พ. ธนาคารกลางยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ซึ่งเป็นการปฏิเสธข้อเรียกร้องของนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ที่เรียกร้องให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง

นายเศรษฐาได้ย้ำถึงข้อเรียกร้องนี้อีกครั้งเมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากมีการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ที่อ่อนแอลง และเรียกร้องให้ธนาคารกลางจัดการประชุมหารือเป็นการฉุกเฉินก่อนการประชุมทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 เม.ย.นี้

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงความสัมพันธ์ของเขากับนายเศรษฐา ซึ่งควบตำแหน่ง รมว.คลัง โดยยืนยันว่า นายเศรษฐา มีความเป็นมืออาชีพและมีความจริงใจ 'แต่ปฏิเสธว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤต' แม้ว่านายเศรษฐาได้พยายามชี้ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอมาตลอด เพื่ออ้างว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤติ ซึ่งนี่จะส่งผลทำให้กระบวนการทางนิติบัญญัติ สามารถอนุมัติการเดินหน้านโยบาย 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ได้ง่ายขึ้น

“การฟื้นตัวแม้จะมีความอ่อนแอ แต่มันก็มีความต่อเนื่อง” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าว

นิกเกอิรายงานต่อไปว่า ท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อธนาคารกลาง ทําให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขณะที่เศรษฐพุฒิไม่มีสิทธิ์ได้รับการต่ออายุ หลังจากหมดวาระในปี 2568 เนื่องจากเขาจะเกษียณอายุในวัย 60 ปี 

“มีความตึงเครียดแต่ก็อยู่ในลักษณะที่สร้างสรรค์ระหว่างรัฐบาลและธนาคารกลางอยู่เสมอ เพราะเราสวมหมวกที่แตกต่างกัน ไม่มีเหตุผลใดที่ทั้งสองจะทํางานร่วมกันไม่ได้ คุณเพียงแค่ต้องเข้าใจว่า เรามีบทบาทที่แตกต่างกันตามกฎหมาย” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

ผู้ว่าการธนาคารฯ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางได้ฝ่าฟันกับเสียงเรียกร้องเพื่อให้เปลี่ยนแปลงนโยบาย หลังมีข้อวิจารณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยตามหลังแนวโน้มของทั่วโลกที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ปี 2565

“เราบอกว่าไม่ นั่นไม่เหมาะสมสำหรับเรา เพราะว่าการฟื้นตัวของเรานั้นช้ากว่าประเทศอื่นๆ” นายเศรษฐพุฒิระบุ

ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 ก.พ. คณะกรรมการฯ (คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.) จำนวน 2 คนลงมติให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ซึ่งนายเศรษฐพุฒิ กล่าวกับนิกเกอิว่า เสียงส่วนน้อยมีความกังวลเกี่ยวกับอุปสรรคเชิงโครงสร้างที่มีความรุนแรงมาก ดังนั้น จึงอาจเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็น “ความเป็นกลางในรูปแบบใหม่”

นอกเหนือจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน อาทิ จำนวนประชากรและผลิตผลจากแรงงานที่ลดลงแล้ว คณะกรรมการฯยังเห็นถึงความกังวลที่ประเทศไทยพึ่งพาภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีแรงงานคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของแรงงานไทยทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันเมื่อเทียบกับในจีดีพี

“สิ่งที่เราเห็น คือ การทดแทนการนําเข้ามากขึ้นในประเทศจีน...ซึ่งนั่นไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของวัฏจักรในเศรษฐกิจจีน แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่พวกเขา (จีน) ที่ผลิตด้วยตัวเองมากขึ้น และไม่ได้มีการนำเข้า” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

ในขณะที่การเข้าพักที่สั้นลงและการใช้จ่ายที่ลดลงของนักท่องเที่ยว ก็ทำให้เกิดความกังวลเช่นกัน โดยนายเศรษฐพุฒิ ตั้งข้อสงสัยว่า ประเทศไทยอาจจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาถึง 40 ล้านคนต่อปี แต่ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่บันทึกไว้ในปี 2562 ก่อนโควิดระบาด

“สิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปมากอันเป็นผลมาจากโควิด” ผู้ว่าการธนาคารฯกล่าว และระบุว่า “มันเป็นเรื่องเสี่ยงที่จะสรุปว่า ทุกอย่างจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมด้วยความล่าช้า คุณต้องทำอะไรสักอย่าง หากคุณต้องการได้ตัวเลขนั้น”

อนึ่ง นายกรัฐมนตรีเศรษฐา เคยกล่าวว่า เขาจะไม่แทรกแซงธนาคารกลางแต่จะพยายามโน้มน้าวให้ "เห็นใจคนที่กำลังทรมาน”

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวย้ำกับนิกเกอิว่า “พวกเขากำลังเผชิญกับความเจ็บปวด เพราะว่ารายได้ไม่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วตามที่เราต้องการ แต่เราก็รู้สึกถึงวิธีการที่ดีกว่าในการแก้ไขปัญหา คือ การออกมาตรการที่ตรงเป้าหมาย และมันไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม ที่จะต้องมาแจกอุปกรณ์ช่วยชีวิตให้กับทุกๆคน”

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ กล่าวว่า เขารับรู้ถึงผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่มีต่อผู้กู้ แต่กล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควร จะเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ที่มากกว่า 90% ของจีดีพี

“ผมคิดว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ใช่ส่วนเล็กๆเลย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำมากมาเป็นเวลา มันกระตุ้นให้คนกู้ยืม ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ผมคิดว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด ในแง่ของการพยายามทําให้หนี้ครัวเรือนมีความยั่งยืนมากขึ้น” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

'สุกี้ตี๋น้อย' แจกโบนัสพนักงาน 2.5 เดือน ขวัญถุงอีกคนละ 5,000 บาท หลังปี 66 โกย 5 พันล้าน อานิสงส์ 'ขยายสาขา-ข้าวแกง-Express' ช่วยโต

(21 ก.พ. 67) บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (BNN) ได้ประกาศรายได้ปี 2566 ว่า มีรายได้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5.244 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น +31.9% จากปี 2565 และกำไรปี 2566 อยู่ที่ 913 ล้านบาท เพิ่มขึ้น +54.5% จากปี 2565 ซึ่งกำไรนี้ยังทำให้บริษัทใหญ่อย่าง Jay Mart ที่ถือหุ้น 30% ของสุกี้ตี๋น้อย ได้อานิสงค์ในกำไรไปถึง 247 ล้านบาท

สำหรับ รายได้ กำไรของสุกี้ตี๋น้อยย้อนหลัง 5 ปี…

- ปี 2562 รายได้ 499 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท
- ปี 2563 รายได้ 1.223 พันล้านบาท กำไร 140 ล้านบาท
- ปี 2564 รายได้ 1.572 พันล้านบาท กำไร 147 ล้านบาท
- ปี 2565 รายได้ 3.976 พันล้านบาท กำไร 591 ล้านบาท
- ปี 2566 รายได้ 5.244 พันล้านบาท กำไร 913 ล้านบาท

จากอานิสงค์ความปังดังกล่าว ได้ส่งต่อไปยังพนักงานสุกี้ตี๋น้อยทุกคน ด้วยการประกาศทุ่มเงินจำนวน 110 ล้านบาท เพื่อใช้ในการแจกเงินโบนัสให้กับพนักงานทุกคนจำนวน 2.5 เท่าของเงินเดือน และแจกเงินขวัญถุงไว้สำรองให้แก่พนักงานอีก 5,000 บาท ให้กับพนักงานมากกว่า 2,500 ชีวิต

คุณนัทธมน พิศาลกิจวนิช เจ้าของกิจการร้านสุกี้ตี๋น้อย เล็งเห็นว่า พนักงานมีส่วนสำคัญที่สุดในการเติบโตของบริษัท เพราะถ้าไม่มีพวกเขา เราก็อยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา สุกี้ตี๋น้อยได้เพิ่มสาขามากขึ้นในต่างจังหวัดถึง +12 สาขา อีกทั้งยังมีการเพิ่มพอร์ตธุรกิจด้วยการแตกไลน์ไปที่ ข้าวแกงตี๋น้อยปันสุข และธุรกิจตี๋น้อย Express ซึ่งเป็นการชิงตลาดของผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางมากขึ้น

อีกทั้งยังตั้งเป้าจะสาขาไปที่ภาคเหนือและอีสานโดยเน้นหัวเมืองใหญ่อย่าง เชียงใหม่, ขอนแก่น และอุดรธานี ปัจจุบัน สุกี้ตี๋น้อยมีสาขาทั้งหมด 57 สาขา

‘บอร์ดอีวี’ ไฟเขียว!! ซื้อ ‘รถบัส-รถบรรทุกไฟฟ้า’ ลดภาษีสูงสุด 2 เท่า ชี้!! มีผลบังคับใช้ถึงสิ้นปี 68 หวังลดการปล่อย ‘มลภาวะ’ ภาคขนส่ง

(21 ก.พ.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี (EV) ครั้งแรกของปี 2567 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบมาตรการสำคัญเพื่อส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าให้ครบทั้งระบบ

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) โดยอนุญาตให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งานมาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้

โดยแยกเป็น กรณีซื้อรถที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ สามารถนำมาหักค่าใช้จ่าย ได้ 2 เท่า ส่วนกรณีนำเข้ารถสำเร็จรูปจากต่างประเทศ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า 

สำหรับมาตรการนี้จะมีผลใช้บังคับจนถึงสิ้นปี 2568 ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งานสามารถซื้อได้ไม่จำกัดจำนวน และไม่กำหนดเพดานราคาขั้นสูง คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คัน โดยขั้นตอนต่อจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมสรรพากร พิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

นายนฤตม์ กล่าวว่า การออกมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่นี้ จะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจในการลดการปล่อยคาร์บอน ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงช่วยสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในประเทศ 

“การที่บอร์ดอีวีได้ออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากมาตรการ EV3 และ EV3.5 ที่เน้นกลุ่มรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และรถกระบะเป็นหลัก คาดว่าจะมีการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าประมาณ 6,000 คัน และรถบรรทุกไฟฟ้าอีก 4,000 คัน ช่วยลดการปล่อยมลภาวะในภาคการขนส่ง และผลักดันการเป็นศูนย์กลางอีวีของภูมิภาคในรถยนต์ทุกประเภท” นายนฤตม์ กล่าว

พร้อมกันนี้ที่ประชุมบอร์ดอีวี ยังได้เห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 เช่น ขยายขอบเขตของรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิให้ครอบคลุมรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และเพิ่มคุณสมบัติของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กรณีที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 3 kWh แต่มีระยะทางวิ่งมากกว่า 75 กิโลเมตรต่อรอบการชาร์จ รวมทั้งมีมาตรฐานความปลอดภัย สามารถเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้ เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการมากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐสามารถกระตุ้นตลาดอีวีในประเทศ ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากยอดจดทะเบียนรถยนต์อีวีที่สูงถึงกว่า 76,000 คันในปี 2566 เพิ่มขึ้น 6.5 เท่าจากปีก่อน นำมาสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมอีวีแบบครบวงจร

โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 บีโอไอ ได้ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวี จำนวน 103 โครงการ เงินลงทุนรวม 77,192 ล้านบาท แบ่งเป็น

- รถยนต์อีวี 18 โครงการ 40,004 ล้านบาท
- รถจักรยานยนต์อีวี 9 โครงการ 848 ล้านบาท
- รถบัสอีวีและรถบรรทุกอีวี 3 โครงการ 2,200 ล้านบาท
- แบตเตอรี่สำหรับรถอีวีและ ESS 39 โครงการ 23,904 ล้านบาท
- ชิ้นส่วนสำคัญ 20 โครงการ 6,031 ล้านบาท
- สถานีอัดประจุไฟฟ้า 14 โครงการ 4,205 ล้านบาท

'ค่าครองชีพ' พุ่ง!! ทำคนซื้อบ้านต่ำ 3 ล้าน เริ่มผ่อนไม่ไหว พบ!! หนี้เสียสินเชื่อบ้านทะลัก 1.2 แสนล้านบาท

(21 ก.พ.67) ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้เผยภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังต้องเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัวตามที่คาด อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเนื่องไปถึงภาวะหนี้ครัวเรือนและกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างเลี่ยงไม่ได้ ผู้บริโภคชะลอแผนซื้อบ้านออกไปก่อน ทำให้ภาพรวมความต้องการซื้อทั่วประเทศในไตรมาสล่าสุดลดลง 14% และลดลงทุกประเภทที่อยู่อาศัย สวนทางภาพรวมราคาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศที่ปรับขึ้นตามต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น กลายเป็นอุปสรรคต่อกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ที่มองหาที่อยู่อาศัยในราคาที่จับต้องได้

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (ไตรมาส 4 ปี 2562) พบว่า ภาพรวมความต้องการซื้อในระยะยาวยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี โดยความต้องการซื้อคอนโดฯ ปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด 12% ตามมาด้วยที่อยู่อาศัยแนวราบอย่างทาวน์เฮ้าส์ เพิ่มขึ้น 10% และบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น 2%

นอกจากนี้ยังพบว่าที่อยู่อาศัยราคา 1-3 ล้านบาท มีจำนวนมากที่สุดในตลาดด้วยสัดส่วน 30% ของจำนวนที่อยู่อาศัยทั้งหมดทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคระดับล่าง ยังคงไม่มีกำลังซื้อเพียงพอที่จะดูดซับอุปทานเหล่านี้

สอดคล้องกับข้อมูลของเครดิตบูโรที่พบว่าหนี้เสียจากสินเชื่อบ้านเพิ่มสูงขึ้น ผู้ซื้อระดับล่างเริ่มผ่อนบ้านไม่ไหวจากปัญหาค่าครองชีพที่แพงขึ้น โดยประมาณ 60-70% ของหนี้ที่กำลังจะเสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยหรือประมาณ 1.2 แสนล้านบาท มีปัญหามาจากคนที่ผ่อนบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง

สำหรับภาพรวมราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ มีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับภาพรวมของทั้งประเทศ พบว่าดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับเพิ่มขึ้น 4% เทียบปีก่อน โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นทุกรูปแบบที่อยู่อาศัย ส่วนคอนโดฯ เพิ่มขึ้นมากที่สุดเพิ่มขึ้น 5% เทียบปีก่อน ตามมาด้วยที่อยู่อาศัยแนวราบอย่างบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น 3% เทียบปีก่อนและทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น 3% เทียบปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนการก่อสร้างโครงการใหม่ที่กลายเป็นปัจจัยกดดันให้ผู้ประกอบการต้องวางกลยุทธ์เพื่อปรับราคาให้สอดคล้องกับทั้งต้นทุนและกำลังซื้อของผู้บริโภค

ทั้งนี้ราคาบ้านที่แพงขึ้นในยุคที่อัตราดอกเบี้ยสูงกลายเป็นความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภค ทำให้ความต้องการซื้อในกรุงเทพฯ ลดลงอย่างมาก โดยภาพรวมความต้องการซื้อลดลง 15% เทียบไตรมาสก่อนและลดลง 27% เมื่อเทียบปีก่อน 

อย่างไรก็ดี หากมองในระยะยาวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ ภาพรวมความต้องการซื้อในกรุงเทพฯ ยังคงเป็นบวก โดยความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น 8% ซึ่งบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 10% สวนทางกับความต้องการระยะสั้น ตามมาด้วยคอนโดฯ เพิ่มขึ้น 8% และทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น 5%

สำหรับทำเลที่มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุดในกรุงเทพฯ ในไตรมาสล่าสุด ส่วนใหญ่อยู่ในทำเลนอกเขตศูนย์กลางธุรกิจ และกรุงเทพฯ รอบนอก อันดับ 1 ได้แก่ เขตบางเขน เพิ่มขึ้น 16% เทียบไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น 10% เทียบปีก่อนด้วยทำเลที่ใกล้รถไฟฟ้า 2 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และยังอยู่ใกล้สนามบินดอนเมืองจึงเชื่อมต่อการเดินทางได้อย่างสะดวก ตามมาด้วยเขตบางกอกใหญ่ เพิ่มขึ้น 15% เทียบไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น 24% เทียบปีก่อน, เขตลาดกระบัง เพิ่มขึ้น 13% เทียบไตรมาสก่อน ลดลง 5% เทียบปีก่อน , เขตบางขุนเทียน เพิ่มขึ้น 9% เทียบไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น 1% เทียบปีก่อน และเขตประเวศ เพิ่มขึ้น 6% เทียบไตรมาสก่อนและเพิ่มขึ้น 10% เทียบกับปีก่อน

นายวิทยา อภิรักษ์วิริยะ ผู้จัดการทั่วไป ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (ฝั่งดีเวลลอปเปอร์) กล่าวว่า หากมองภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้อาจไม่ได้สดใสเท่าใดนัก ยังมีปัจจัยท้าทายที่สืบเนื่องมาจากปีก่อนหน้า ทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงฟื้นตัวไม่มากนัก อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมทั้งค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูง ปัจจัยเหล่านี้กำลังผลักให้กลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ต้องชะลอการซื้อบ้านออกไปก่อน

'รมว.ปุ้ย' เผย!! ครม. เห็นชอบราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ปี 65/66 ที่ 1,197.53 บาท/ตัน  ราคาอ้อยขั้นต้น ปี 66/67 ที่ 1,420 บาท/ตัน ช่วยดันรายได้ชาวไร่อ้อย

(21 ก.พ.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 เห็นชอบราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ปี 2565/66 ราคาเฉลี่ยทั่วประเทศในอัตราที่ 1,197.53 บาท/ตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. กำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อย เท่ากับ 71.85 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย 513.23 บาท/ตัน ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งเพิ่มขึ้น 117.53 บาท/ตัน จากราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2565/66 ที่ราคา 1,080 บาท/ตัน ซึ่งการที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นจะสามารถเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบราคาอ้อยขั้นต้น ปี 2566/67 ในอัตรา 1,420 บาท/ตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. กำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 85.20 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย 608.57 บาท/ตัน เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้รับค่าอ้อยสำหรับนำไปใช้เป็นเงินทุนในการเพาะปลูก การบำรุงรักษาอ้อย และการดำรงชีพต่อไป

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ปี 2565/66 และราคาอ้อยขั้นต้น ปี 2566/67 สอน. จะดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ถือว่าไม่ขัดกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ

สอน. ได้ติดตามสถานการณ์ผลผลิตอ้อยเข้าหีบและเฝ้าระวังการเผาอ้อย ฤดูการผลิตปี 2566/67 นับตั้งแต่วันเปิดหีบ (10 ธันวาคม 2566) ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นระยะเวลา 72 วัน มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 68.41 ล้านตัน แบ่งเป็นปริมาณอ้อยสด 48.86 ล้านตัน ปริมาณอ้อยถูกลักลอบเผา 19.55 ล้านตัน และมีจุดความร้อน (Hotspot) สะสมในพื้นที่ปลูกอ้อย 47 จังหวัด จำนวน 2,159 จุด หรือคิดเป็น 6.45% จากจุดความร้อน (Hotspot) สะสมที่พบในประเทศ 33,448 จุด จะเห็นได้ว่ามีจุดความร้อน (Hotspot) สะสมนอกพื้นที่ปลูกอ้อยสูงถึง 31,289 จุด หรือคิดเป็น 93.55% จากจุดความร้อน (Hotspot) สะสมที่พบในประเทศ

บล็อกเชนช่วยดัน!! 'ไทย' ซื้อขายทองคำยืนหนึ่งในอาเซียน-แตะอันดับ 7 โลก พบ!! สัดส่วนซื้อขายออนไลน์ 65% ปริมาณเทรดทะลุ 5 ล้านล้านบาท

เมื่อวานนี้ (20 ก.พ.67) พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) เปิดเผยถึงการซื้อขายทองคำผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยระบบบล็อกเชน ทำให้การซื้อขายในตลาดทองคำไทยทะลุไปถึง 5 ล้านล้านบาท ยืนหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน และไต่ไปถึงอันดับ 7 ของโลก

- การซื้อขายทางกายภาพอยู่ที่ 35% การซื้อขายทองคำดิจิทัลผ่านบล็อกเชนอยู่ที่ 65%

- ตลาดทองคำได้พัฒนาระบบการซื้อ-ขายบนบล็อกเชน ทำให้สามารถเกิดความคล่องตัวในการซื้อในหน่วยที่เล็กมากเพียง 0.0001 กรัม หรือใช้เงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 100 บาท

- การซื้อขายทองคำในระบบออนไลน์ยังมาจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดล่วงหน้า (ฟิวเจอร์ส) โดยมีมูลค่าการซื้อขายต่อวันประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท

- ตลาดฟิวเจอร์สเป็นการเข้าถึงการเทรดในตลาดระดับโลก เช่น การซื้อขายผ่าน Tradingview ด้วยบัญชี YLG Futures ที่นักลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนฟิวเจอร์สในตลาด CME Group ตลาดฟิวเจอร์สอันดับหนึ่งของโลกจากสหรัฐฯ สามารถเทรดได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดของประเทศไทย 

สำหรับความเคลื่อนไหวของตลาดทองคำในปีนี้...

ระยะสั้น มองว่ายังเป็นการแกว่งตัวลงทดสอบระดับต่ำสุดเดิมของเดือน ธ.ค.2566 ที่ระดับ 1,973 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐเริ่มมีสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายช้าลง จากไตรมาสแรกเป็นไตรมาสสอง ทำให้ทองคำได้รับแรงกดดัน  

ระยะยาว ในปี 2567 มองแนวรับแรกไว้ที่โซน 1,902-1,884 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ระดับต่ำสุดของเดือนก.ค. 2566 และเดือนก.ย. 2566 ตามลำดับ)  และแนวรับถัดไปในโซน 1,804-1,764 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเชื่อมั่นว่าแนวรับแรกราคามีโอกาสยืนได้ 

โดยมองว่าช่วงครึ่งหลังของปีจะกลับมาเคลื่อนไหวในแดนบวก และหากราคาปรับตัวผ่านระดับ 2,080 ดอลลาร์ต่อออนซ์ขึ้นไปได้ มีโอกาสขึ้นไปทดสอบระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,144 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งหากทำระดับสูงสุดใหม่ขึ้นไปได้ รอบนี้แนวต้านถัดไปมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปถึงบริเวณ 2,200-2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์

'กรมเจ้าท่า' เตรียมเผยโฉมใหม่ 'ท่าเรือท่าเตียน' มี.ค.นี้   พร้อมเร่งพัฒนาท่าเรืออื่นๆ ในกรุงเทพและปริมณฑล 

(20 ก.พ.67) นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า ท่าเรือท่าเตียนมีความสำคัญตั้งแต่ในอดีต เป็นท่าเรือสำคัญของพระนคร ในฐานะตลาดการค้าขนาดใหญ่ เป็นจุดขนส่งอาหาร ผัก ผลไม้ และเป็นท่าเรือโดยสารอีกด้วย ปัจจุบันความสำคัญท่าเรือท่าเตียน มีจุดเชื่อมต่อกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญมากมาย อาทิ พระบรมมหาราชวัง, วัดพระแก้ว, วัดโพธิ์, วัดอรุณฯ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ที่มีความสำคัญอย่างมาก และด้วยตำแหน่งที่ตั้งของท่าเตียนในปัจจุบัน ที่อยู่ตรงข้ามกับพระปรางค์วัดอรุณฯ จะทำให้เป็นอีกหนึ่งท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็น Landmark ให้กับนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มาเช็กอิน และถ่ายภาพ มุมฝั่งตรงข้าม ที่เห็นพระปรางค์วัดอรุณฯ ที่สวยงามยามพระอาทิตย์ตก 

สำหรับ ท่าเรือท่าเตียน มีความสำคัญสำหรับการเดินทางคมนาคมทางน้ำ รองรับเรือต่างๆ ดังนี้ 1. เรือข้ามฝากท่าเตียน ฝั่งท่าวัดอรุณ ธนบุรี 2. เรือโดยสารสาธารณะ (เรือด่วนเจ้าพระยา เรือไฟฟ้า) 3. เรือทัวร์ และเรือทั่วไป

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า ได้ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณท่าเรือท่าเตียน และพื้นที่ด้านหน้าอาคารสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมออกทั้งหมด แล้วดำเนินการก่อสร้างท่าเรือใหม่ เพื่อใช้สำหรับการคมนาคมทางน้ำ ทั้งเรือข้ามฟากและเรือโดยสาร อีกทั้งใช้เป็นแหล่งพักผ่อน และชมวิวทิวทัศน์แม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมออกแบบท่าเรือให้กลมกลืนกับ อาคารบริเวณใกล้เคียงโดยต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ซึ่งท่าเรือฯ มีสิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่ให้บริการ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ลานโล่ง รวม 1,320 ตารางเมตร มีอาคารพักคอย จำนวน 2 หลัง พร้อมทางลาดสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ เก้าอี้รองรับสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ ที่จอดรถวีลแชร์และการประชาสัมพันธ์ด้วยระบบภาพและเสียง สำหรับโป๊ะเทียบเรือ มีจำนวน 4 ลูก ประกอบด้วย ท่าเรือข้ามฟาก จำนวน 2 ลูก และท่าเรือโดยสาร จำนวน 2 ลูก โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 39.047 ล้านบาท พร้อมเปิดใช้ในเดือนมีนาคม 2567 นี้

สำหรับแผนพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นสถานีเรือ 29 ท่า อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา โดย...

1. แบ่งเป็นท่าเรือที่ปรับปรุงแล้วเสร็จ จำนวน 9 ท่า ได้แก่ท่ากรมเจ้าท่า, ท่าสะพานพุทธ, ท่าเรือนนทบุรี, ท่าเรือพายัพ, ท่าบางโพ, ท่าช้าง, ท่าราชินี, ท่าเตียน, ท่าสาทร 

2. ท่าเรือที่อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุง มีจำนวน 5 ท่า ได้แก่...

- ท่าพระปิ่นเกล้า ผลงาน 60% คาดว่าจะแล้วเสร็จ เม.ย. 67
- ท่าพระราม 5 ผลงาน 45% คาดว่าจะแล้วเสร็จ พ.ค. 67
- ท่าปากเกร็ด ผลงาน 20% คาดว่าจะแล้วเสร็จ ส.ค. 67
- ท่าพระราม 7 ผลงาน 42% คาดว่าจะแล้วเสร็จ พ.ย. 67
- ท่าเกียกกาย ผลงาน 24% คาดว่าจะแล้วเสร็จ ธ.ค. 67

ทั้งนี้ เนื่องจากตำแหน่งก่อสร้างเป็นบริเวณเดียวกับตำแหน่งก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การก่อสร้างทั้ง 2 โครงการไม่กีดขวางกันจึงมอบให้ กรุงเทพมหานคร ดำเนินการต่อ)

3. ในปี พ.ศ. 2568 วางแผนจะพัฒนาปรับปรุงเพิ่มอีกจำนวน 4 ท่า ได้แก่ ท่าโอเรียนเต็ล, ท่าเทเวศร์, ท่าสะพานกรุงธน (ซังฮี้) และท่าเขียวไข่กา

4. ในปี พ.ศ. 2569 วางแผนจะพัฒนาปรับปรุงเพิ่มอีกจำนวน 11 ท่า ได้แก่ ท่าราชวงศ์, ท่าวัดเทพากร, ท่าพิบูลสงคราม 2, ท่าวัดเทพนารี, ท่าวัดตึก, ท่ารถไฟ, ท่าพิบูลสงคราม, ท่าสี่พระยา, ท่าวัดเขมา, ท่าพรานนก และท่าวัดสร้อยทอง

อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวเพิ่มเติม กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการตามนโยบาย 'คมนาคม เพื่อความอุดมสุข ของประชาชน' ซึ่งหมายถึงความสุขของประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านความปลอดภัย ด้านการให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากลและด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกรอบแนวทางภายใต้นโยบายของรัฐบาลและทุกหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม จะต้องขับเคลื่อนนโยบายด้านต่างๆ สู่การปฏิบัติ เพื่อประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาเกิดความสะดวกและความปลอดภัย

‘สุริยะ’ เผย ตั๋วเครื่องบินแพง เหตุคำนวณราคาอิงน้ำมันโลก ชี้!! ควรปรับสูตรคำนวณใหม่ ลดราคาให้ทันช่วงสงกรานต์

(20 ก.พ.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม กล่าวถึงกรณีผู้ใช้เครื่องบินโดยสารโพสต์ในโซเชียลมีเดียถึงราคาตั๋วเครื่องบิน กรุงเทพฯ - ภูเก็ต มีราคาแพงมาก ว่า ตนได้ให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่ดูแลเรื่องการกำหนดเพดานค่าโดยสาร เครื่องบินหลังจากตรวจสอบแล้ว ตั๋วเครื่องบินที่บอกว่ามีราคาเป็นหมื่น ไม่ใช่เพราะเป็นการเดินทางไป - กลับ แต่ถ้าเป็นสายการบินแบบ low cost ไม่น่าจะเกิน 5,000 บาท ต่อเที่ยวบิน แต่ในขณะเดียวกันตนได้ให้ ผู้อำนวยการ กพท. ไปดูการปรับสูตรเพื่อที่จะลดราคาตั๋วเครื่องบินลง เพราะในสูตรเดิมมีค่าน้ำมัน ที่อยู่ในสูตรการคำนวณราคา แต่เดิมราคาน้ำมัน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตอนนี้น้ำมันถูกลงแล้ว จะต้องมีการปรับสูตร ทาง กพท. ก็จะชวนสายการบินต่าง ๆ มาพูดคุยกัน เพื่อหาทางลดภาระของผู้โดยสาร

เมื่อถามว่ามีราคาในใจที่คิดว่าเหมาะสมจะอยู่ที่เท่าไหร่ นายสุริยะกล่าวว่า มันคงจะต้องถูกกว่าเดิมแน่ แต่เท่าไหร่นั้นมันมีสูตรการคำนวณอยู่ และยืนยันว่าจะทันในช่วงที่ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ คือช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน

ไทยขาดดุลจีนมหาศาล ไม่ใช่เรื่องใหม่!! ต้องแก้ด้วย ‘ยกระดับ-ปรับคุณภาพสินค้า’

(20 ก.พ. 67) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กต่อกรณีไทยขาดดุลการค้าจีน 1.3 ล้านล้านบาท ไทยขาดดุลจีนมาโดยตลอดมากกว่า 2 ทศวรรษ และมีมูลค่าขาดดุลที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยระบุว่า…

“ข้อมูลไทยขาดดุลจีนมหาศาล ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มันคือ Wake-Up Call !! #ไฟลนก้น ไทยต้องยกระดับสินค้า/ปรับคุณภาพ #ไม่ง่ายแต่ต้องทำ”

ทั้งนี้ สินค้าส่งออกไทยไปจีน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัตถุดิบ /กึ่งวัตถุดิบ /สินค้าเกษตร ผลไม้ ฯลฯ ล้วนมีมูลค่าเพิ่มต่ำ (เราส่งออกสินค้าขั้นสุดท้าย Final Product /Consumer Product ไปจีนน้อยมาก)

ในขณะที่ ไทยนำเข้าสินค้าทุน /เครื่องมือ/เครื่องจักรจากจีน จึงขาดดุลจีนมูลค่ามหาศาลมาโดยตลอด

ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา จีนเป็นแหล่งนำเข้าหลักของสินค้าไทยมาโดยตลอด โดยตัวเลขล่าสุด ปี 2566 จีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทย สัดส่วนสูงถึง 24.4% ทิ้งห่างแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก (10.8%)

สำหรับในปี 2566 ไทยและจีนมีมูลค่าการค้าร่วมกัน 3,608,662 ล้านบาท  ไทยส่งออกไปจีน 1,174,558 ล้านบาท และไทยนำเข้าจากจีน 2,434,104 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1,259,546 ล้านบาท หรือเกือบ 1.3 ล้านล้านบาท

ดังนั้น สินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศไทยต้องปรับตัวอย่างหนัก เพื่อความอยู่รอด และจำเป็นยกระดับอัพเกรดสินค้า ปรับคุณภาพ และพัฒนาสินค้านวัตกรรม เพื่อให้สินค้าไทยอยู่ในระดับกลาง/ระดับบนในสายตาของผู้บริโภค ผู้ผลิตไทยควรเน้นภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่มีคุณภาพดีกว่า ในการแข่งขันกับสินค้าจีน  

อย่างไรก็ตาม ประเทศคู่ค้าจีน ส่วนใหญ่ก็ขาดดุลจีนถ้วนหน้า อย่างเช่น  เวียดนาม ก็ขาดดุลจีนมหาศาล (แถมเวียดนามขาดดุลจีนมากกว่าที่ไทยขาดดุลจีนเป็นเท่าตัว)

'พลังงาน' จ่อหารือสรรพสามิต หวังใช้กลไกภาษีช่วยอุ้มราคาดีเซล หลังกองทุนน้ำมันรับภาระอ่วม ยืนราคา 30 บาทได้แค่สิ้น มี.ค.นี้

(20 ก.พ. 67) แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า กระทรวงฯ เตรียมทบทวนมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ในส่วนของน้ำมันดีเซลที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ตรึงราคาไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2567 โดยหนึ่งในแนวทางสำคัญก็คือ การหารือกับกรมสรรพสามิต เพื่อใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตในการช่วยสนับสนุน เนื่องจากปัจจุบันบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้อุดหนุนราคาดีเซลเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5.30 บาทต่อลิตร จากเดิมที่เคยอุดหนุนในอัตราไม่ถึง 5 บาท

ทั้งนี้ เชื่อว่าจากการอุดหนุนดังกล่าว กองทุนน้ำมันฯน่าจะบริหารจัดการตรึงราคาน้ำมันดีเซลได้จนสิ้นสุดระยะเวลาตามมาตรการดังกล่าว เนื่องจากกองทุนฯ ยังมีเงินกู้เหลืออยู่ที่สามารถเบิกจากสถาบันการเงินได้อีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จากปี 2565-2566 ที่รัฐบาลให้กรอบวงเงินกู้ได้ไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท โดยทำเรื่องกู้รวมไปแล้ว 1.05 แสนล้านบาท เพื่อการบริหารดูแลราคาดีเซล

“เชื่อว่ากองทุนน้ำมันฯ จะบริหารจัดการเงินจนสามารถตรึงราคาน้ำมันในประเทศให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรได้ตนถึง 31 มี.ค. 67 แน่นอน แต่หลังจากนั้นคงต้องทบทวนรายละเอียดกันใหม่ หากต้องการต่ออายุมาตรการออกไปอีก” แหล่งข่าว กล่าว

สำหรับปัจจัยสำคัญมาจากราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องจ่ายเฉพาะดีเซลวันละประมาณ 375 ล้านบาทหรือเฉลี่ยเดือนละ 1.1 หมื่นล้านบาท โดยเมื่อหักลบกับรายได้จากกลุ่มเบนซินและชดเชยก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) อีกราว 1,700 ล้านบาทต่อเดือนทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีเงินไหลออกวันละประมาณ 320 ล้านบาทหรือเดือนละประมาณ 10,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี หากระดับราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกยังคงมีทิศทางผันผวนในระดับเฉลี่ย 105-110 เหรียญต่อบาร์เรลคาดว่าฐานะกองทุนน้ำมันฯ จะติดลบประมาณ 100,000 ล้านบาทภายในเม.ย.นี้

“ราคาน้ำมันที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวนสูงเดี๋ยวขึ้น ลง จากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์เป็นหลัก ทั้งจากการสู้รบในทะเลแดง และในช่วง 1-2 วัน รัสเซีย-ยูเครนมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นภายหลังนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปฏิเสธข้อเสนอหยุดยิงชั่วคราว ประกอบกับสถานการณ์ในตะวันออกกลางก็ทวีความตึงเครียดขึ้นเช่นกัน” แหล่งข่าว กล่าว

อย่างไรก็ตามปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 11 ก.พ. 2567 มีฐานะสุทธิ -87,828 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชี LPG ติดลบ 46,584 ล้านบาท บัญชีน้ำมัน ติดลบ 41,244 ล้านบาท

“หากดูจากวงเงินที่เหลือกองทุนน้ำมันฯอาจจะบริหารจัดการตรึงราคาดีเซลยืดได้ถึง เม.ย. เท่านั้น หลังจากจากนั้น พ.ค.ทุกอย่างจะเกิดปัญหากระทรวงพลังงานเองก็กำลังเร่งหาแนวทางที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยจะต้องสรุปออกมาให้ชัดเจนในช่วง มี.ค. และต้นเม.ย. โดยเร่งด่วน เพราะสถานการณ์ขณะนี้ของกองทุนฯ ต่างจากอดีตที่เป็นวิกฤตราคาน้ำมัน แต่ปัจจุบันเป็นวิกฤตสภาพคล่องกองทุนน้ำมันแล้ว ซึ่งการกู้เพิ่มนั้นแม้แต่สถาบันการเงินรัฐก็คงไม่สามารถดำเนินการให้ได้หากไม่มีแหล่งรายได้ไปการันตี” แหล่งข่าว กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top