Sunday, 6 July 2025
ECONBIZ NEWS

‘กต.’ เล็งลงนาม ฟรีวีซ่า ‘ไทย-คาซัคสถาน’ แบบถาวร เม.ย.นี้ ตั้งเป้าดึง นทท.คาซัคฯ ทัวร์เมืองไทยปี 67 ไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน

(24 ก.พ. 67) นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เปิดเผยวานนี้ (23 ก.พ.) ภายหลังการจัดงาน ‘Amazing Thailand Roadshow To Almaty’ ณ เมืองอัลมาตี ประเทศคาซัคสถาน จัดโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ กต. ว่า จากการเดินทางมาร่วมกิจกรรมสำรวจลู่ทางการค้าและการลงทุนในประเทศคาซัคสถานรอบนี้ ทาง กต.ได้เริ่มกระบวนการจัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตรา หรือ ‘ยกเว้นวีซ่า : Visa-Free’ (ฟรีวีซ่า) ซึ่งกันและกันอย่างถาวรระหว่างฟรีวีซ่าแล้ว แต่เนื่องจากอยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องเอกสารระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลคาซัคสถาน ทำให้ต้องชะลอการลงนามฯ ไปก่อน

“ตามที่ทางนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้มีการเชิญนายมูรัท นูร์ตลิว รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของคาซัคสถาน เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ในเดือน เม.ย. 2567 เราตั้งเป้าว่าน่าจะเห็นการลงนามความตกลงยกเว้นวีซ่าอย่างถาวรระหว่างไทยกับคาซัคสถานอย่างแน่นอน”

หลังจากล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติขยายระยะเวลาการยกเว้นวีซ่าเพื่อการท่องเที่ยว ให้กับนักท่องเที่ยวคาซัคสถานไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. - 31 ส.ค. 2567 ต่อเนื่องจากมติ ครม. ก่อนหน้านี้ที่ประกาศยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวคาซัคสถานในช่วงระหว่างวันที่ 25 ก.ย. 2566 - 29 ก.พ. 2567

“นี่จึงเป็นเหตุผลที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอให้ ครม.มีมติขยายระยะเวลาการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวคาซัคสถานอีก 6 เดือนจนถึงสิ้นเดือน ส.ค. 2567 เพื่อให้มั่นใจว่าจะครอบคลุมช่วงเวลาดำเนินการจัดทำความตกลงระหว่าง ไทยกับคาซัคสถาน ในการยกเว้นวีซ่าซึ่งกันและกันอย่างถาวร” นายจักรพงษ์ กล่าว

และเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ทางกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ ททท. ได้หารือร่วมกับผู้บริหารสายการบิน แอร์ อัสตานา (Air Astana) พร้อมแจ้งข่าวดีเรื่องการดำเนินการจัดทำความตกลง ไทย-คาซัคสถาน ยกเว้นวีซ่า ระหว่างกันอย่างถาวรอีกด้วย

“ทางตัวแทนผู้บริหารแอร์อัสตานาดีใจมาก จริงๆ เขาดีใจตั้งแต่รัฐบาลไทยประกาศยกเว้นวีซ่าให้นักท่องเที่ยวคาซัคสถานตั้งแต่รอบแรกแล้ว ยิ่งต่อรอบที่ 2 ก็ยิ่งดีใจ เพราะในมุมนักธุรกิจเขาขอแค่ภาครัฐกำหนดแผนงานให้ชัดเจน แน่นอน ที่เหลือเขาไปทำการบ้านต่อเอง โดยในปี 2567 ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการฯ สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวคาซัคสถานเดินทางเข้าประเทศไทยในปี 2567 ไม่น้อยกว่า 2 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งได้ 1.7 แสนคน”

และแม้ว่าคาซัคสถานจะเป็นประเทศที่มีฐานการผลิตพลังงานค่อนข้างมาก แต่ในบางจังหวะ บางเมือง ไฟฟ้าเกิดดับไปเลย 30 วันในช่วงฤดูหนาวที่อากาศติดลบกว่า 40-50 องศา ถ้าสามารถเริ่มบังคับใช้ความตกลงยกเว้นวีซ่าดังกล่าวได้เมื่อไร ชาวคาซัคสถานก็พร้อมเก็บกระเป๋าออกจากบ้าน เดินทางมาประเทศไทยได้เลย ด้วยปัจจัยสำคัญอย่างการมีเส้นทางบินตรงจากคาซัคสถานมาไทย ยิ่งสนับสนุนการเดินทางอย่างสะดวกสบาย

“นี่จึงเป็นเหตุผลที่นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ให้ความสำคัญและพูดตลอดว่า การมี เที่ยวบินตรง (Direct Flight) จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวอย่างมาก ไม่ต้องเสียเวลาต่อเครื่องบิน นี่คือ Ease of Travelling อย่างหนึ่ง” รมช.การต่างประเทศกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ด้านประเทศคาซัคสถาน ได้ประกาศยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยแล้วตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. 2562 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ผู้ที่ต้องการไปเยือนคาซัคสถานสามารถพำนักในประเทศได้นานสูงสุด 30 วัน โดยไม่จำเป็นต้องขอวีซ่า

ปรับทัศนคติเรื่องการเงิน กับ 'โจ มณฑานี ตันติสุข' 'วินัย' ที่สร้างได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้วิกฤตมาเยือน

กลายเป็นประเด็นโด่งดัง ภายหลังจากกระแสข่าวที่ คุณโจ มณฑานี ตันติสุข ดีเจ พิธีกร นักวิจารณ์ นักเขียนและวิทยากรชื่อดัง ได้รีวิวการใช้เงินเดือนละ 15,000 บาท อย่างไรใน กทม. แบบชีวิตดี๊ดี จนทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันในสังคมตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าเป็นจริงหรือไม่?

วันนี้รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้มีโอกาสพูดคุยกับเธอในประเด็นนี้ พร้อม ๆ ไปกับมุมมองชวนคิดที่จะชวนคนไทยได้ตระหนักถึงการใช้และบริหารการเงินในแบบที่ทุกคนสามารถอยู่ได้อย่างไม่ทุกข์ และสุขได้ในยุคที่เงินในกระเป๋าบางคนอาจจะไม่ได้แน่นฟูก็ตาม

โดย THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ได้เปิดบทสนทนา ด้วยการซักถามถึงจุดเริ่มต้นที่คุณโจได้ก้าวเข้ามาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการเงิน ซึ่ง เธอ ได้เล่าให้ฟังว่า...

จุดเริ่มต้นสำคัญมาจากชีวิตในช่วงวิกฤตการเงินต้มยำกุ้ง โดยสาเหตุเกิดจากเป็นคนไม่มีความรู้เรื่องการเงิน เมื่อเกิดวิกฤตแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร อีกทั้งยังปิดใจไม่ยอมรับว่าตัวเองประสบปัญหาการเงิน จนภายหลังก็เข้าใจว่า สาเหตุของวิกฤตการเงินของตนเกิดจากการใช้จ่ายเงินผิดพลาดนั่นเอง

ดังนั้น คุณโจ จึงหันมาศึกษาเรียนรู้เรื่องการเงินจากอินเทอร์เน็ต จากหนังสือ และงานสัมมนาต่าง ๆ อย่างจริงจัง ทำให้ทราบว่าตัวเองมีปัญหาทางจิตวิทยาการเงิน ภายใต้ตัวแปรที่เรียกว่า 'คนเลี่ยงเงิน' 

คุณโจ เล่าต่อว่า 'คนเลี่ยงเงิน' ในที่นี้ คือ ไม่ใส่ใจในรายละเอียดว่าเราใช้เงินไปกับอะไร ใบแจ้งหนี้ส่งมาก็ไม่สนใจ ทำให้จ่ายหนี้ช้าตลอด จนถูกตัดน้ำตัดไฟเป็นประจำ 

การหลีกเลี่ยง ทำให้ไม่รู้สถานการณ์การเงินของตัวเอง จนนำพาชีวิตคุณโจไปสู่ความยากลำบากที่สุด ถึงขั้น บ้านโดนยึด ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ติดตัว นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่คุณโจ อยากนำประสบการณ์ตรงมาถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ โดยให้คำแนะนำผู้คนผ่านทางเฟซบุ๊ก เพื่อตั้งใจให้ทุกคนหลุดพ้นจากปัญหาการเงิน ซึ่งกล้าพูดเต็มปากเลยว่า 'มีแต่ความทุกข์ทรมาน'

เมื่อถามว่า อะไร คือ สัญญาณอันตรายทางการเงิน? คุณโจ กล่าวว่า เมื่อคุณเริ่มหมุนเงินไม่ทัน หรือเงินอยู่กับเราได้ไม่นาน เงินชักหน้าไม่ถึงหลังและเริ่มยืมเงินจากคนรอบข้างมากขึ้น จนกลายเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัวเมื่อไร... สุดท้ายคุณจะกลายเป็นคนล้มละลาย ฉะนั้นหากเริ่มมีสัญญาณเตือนเหล่านี้เข้ามา ต้องรีบแก้ไขปัญหาโดยด่วน แต่อยากให้กำลังใจว่าไม่ว่าจะล้มตอนอายุเท่าไหร่ ล้มแล้วลุกได้เสมอ การล้มละลายไม่ใช่จุดจบของชีวิต แต่เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของชีวิตต่างหาก

เมื่อถามถึงนิยามในการบริหารจัดการการเงินที่ดีต้องทำอย่างไร? คุณโจ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ที่ มุมมอง หรือ Mindset ทางการเงินของแต่ละคน ถ้าอยากมีเงิน แต่ไม่หารายได้ ไม่ตั้งใจทำงาน จะใช้ช่องทางกู้หนี้ยืมสินเพียงอย่างเดียว แน่นอนย่อมเป็นหนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลับกันถ้าเรามีเงิน แต่ไม่มีวินัยทางการเงิน เช่น ไม่มีการบันทึกการใช้เงินในแต่ละวันหรือไม่ แบบนี้ก็อาจจะทำให้สุขภาพทางการเงินย่ำแย่ได้ในระยะยาว

เมื่อถามว่า ทุกวันนี้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตเป็นปัญหาใหญ่มาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะไปบังคับให้ผู้คนเลิกใช้? คุณโจ กล่าวว่า ถ้าต้องใช้ ก็อยากให้ปรับ Mindset ใหม่ เช่น คุณต้องเข้าใจว่า การจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต เป็นมุมมองความคิดที่ทำลายตัวเอง ซึ่งถ้าไม่เปลี่ยนความคิดนี้ก็อาจจะทำให้คุณเป็นหนี้ไปเรื่อย ๆ และนั่นจะทำให้ปัญหาทางการเงินด้านอื่น ๆ ตามมา ควรซื้อเมื่อพร้อม

ขณะเดียวกันการหยุดก่อหนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นก้าวแรก เพื่อควบคุมหนี้ที่สร้างไว้ก่อน เพราะถ้าไม่หยุดหนี้มันก็มีโอกาสขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องเข้ากระบวนการควบคุมพฤติกรรม (ในต่างประเทศมีโครงการในลักษณะนี้) และต้องรู้สถานการณ์ตัวเองว่าตอนนี้มีหนี้อะไรค้างอยู่บ้าง มีดอกเบี้ยเท่าไหร่ หนี้คงค้างเท่าไหร่ เงินต้นคงค้างเท่าไหร่ ถึงจะบริหารได้ 

ยิ่งไปกว่านั้น Mindset ในการใช้เงินก็สำคัญ อย่าปล่อยให้จิตใจเราถูกผลักด้วย Need หรือ Want ลองปรับวิธีคิด ซื้อแต่ของจำเป็น ก่อนของที่อยากได้เสมอ ซึ่งการใช้จ่ายเงินไปกับสิ่งใด ก็จะสะท้อนว่าเราให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น ๆ ด้วยเช่นกัน อาทิ ใช้เงินไปกับคนรักมาก ๆ แสดงว่าเราอยากได้ความรัก เป็นต้น

สรุปแล้วทั้งการจัดการและขจัดปัญหาทางด้านการเงิน ล้วนแล้วแต่ต้องแก้ที่ Mindset ซึ่งเอาจริง ๆ ก็ถือเป็นเรื่องยาก โดยคุณโจมองว่า คนที่มักจะมีวินัยการเงินได้ดี มักจะประสบวิกฤตมาก่อน แต่ขณะเดียวกันทุกคนก็สามารถสร้างวินัยการเงินได้ตั้งแต่วันนี้ โดยไม่ต้องรอให้วิกฤตมาเยือนได้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้เมื่อถามว่าควรเริ่มสร้างวินัยทางการเงินตั้งแต่เมื่อไร? คุณโจ แนะว่า ควรเริ่มตั้งแต่วัยประถมเลย เพราะเด็ก ๆ จะได้รู้คุณค่าของเงิน รักเงิน มี Mindset เชิงบวกกับเงิน เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีความแข็งแรงทางการเงิน และมีสันติสุขทางการเงิน

สำหรับปัญหาหนี้บัตรเครดิตนั้น โจ มณฑานี กล่าวว่า Mindset การจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต เป็นมุมองความคิดที่ทำลายตัวเอง ซึ่งถ้าไม่เปลี่ยนความคิดนี้ก็อาจจะเป็นหนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งการเป็นหนี้ในต่างประเทศ เขาจะให้ลูกหนี้เข้ามาเซ็นเพื่อหยุดก่อหนี้ก่อนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งการหยุดก่อหนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นก้าวแรก เพื่อควบคุมหนี้ที่สร้างไว้ก่อน เพราะถ้าไม่หยุดหนี้มันก็มีโอกาสขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องเข้ากระบวนการควบคุมพฤติกรรม และต้องรู้สถานการณ์ตัวเองว่าตอนนี้มีหนี้อะไรค้างอยู่บ้าง มีดอกเบี้ยเท่าไหร่ หนี้คงค้างเท่าไหร่ เงินต้นคงค้างเท่าไหร่ ถึงจะบริหารได้ โดยเฉพาะ Mindset การใช้เงินว่าจิตใจเราถูกผลักด้วยอะไร need หรือ want ซื้อของจำเป็น หรือซื้อของที่ฉันอยากได้ เราต้องเลือกซื้อของจำเป็นก่อนอยากได้เสมอ ซึ่งการใช้จ่ายเงินไปกับอะไรแสดงว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องนั้น เช่น ใช้เงินไปกับคนรักมาก ๆ แสดงว่าเราอยากได้ความรัก เป็นต้น 

เมื่อถามถึงประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในตอนนี้ กับหัวข้อ 'เงินเดือนละ 15,000 บาท ใช้ในเมืองหลวงได้พอจริงหรือไม่?' คุณโจ มองว่า จริง ๆ แล้วอยู่ที่คุณภาพชีวิตที่เราเลือก และคำว่าคุณภาพชีวิตที่ดีของแต่ละคนก็แตกต่างกัน อย่างตนเลือกใช้คุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านการปลดหนี้ การมีเงินออมเกษียณ ไม่ต้องรอหมายศาลว่าจะมาเมื่อไหร่ ได้กินของอร่อย ซึ่งพี่กินไข่ต้มราดน้ำปลาพริกก็อร่อยแล้ว เคยกินน้ำก๊อกมาแล้วในช่วงที่ยากลำบาก แต่ก็มีความสุขมากเพราะเปลี่ยนตัวเองแล้วและรู้ว่าจากนี้ไปจะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม 

ในช่วงท้าย คุณโจ ได้กล่าวด้วยว่า "วิกฤตชีวิตที่เกิดขึ้นช่วยลอกเปลือกของเราออกเหลือแต่แก่นของตัวเองอย่างแท้จริง ซึ่งความพอเพียง เป็นกุญแจไปสู่สันติสุขทางการเงิน อย่างทุกวันนี้ก็มีความสุขกับการเขียนหนังสือเล่มใหม่ ๆ หลายเล่ม และที่กำลังจะจัดจำหน่าย คือ เรื่อง 'เด็กๆ ที่ร่ำรวยและมีความสุข' เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้อ่านและนำไปสอนลูก ๆ เกี่ยวกับการเงินได้"

ปัจจุบัน คุณโจ ยังคงเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย พร้อมให้คำปรึกษาทางการเงิน ผ่านทางเฟซบุ๊ก 'Montaneemoney' ท่านใดสนใจก็สามารถติดตามกันได้ตามลิงก์นี้ >> https://www.facebook.com/montaneemoney?mibextid=ZbWKwL

‘รมว.ปุ้ย’ ชี้!! ‘หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ ไปได้สวย พบ!! เอสเอ็มอี 3.2 ล้านราย สนใจติดปีกเข้าถึงแหล่งเงินทุน

(24 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึง ความคืบหน้าของ โครงการ ‘ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ ซึ่งเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้กับเอสเอ็มอีของประเทศไทย สามารถเข้าถึงเงินทุน โดยโครงการนี้ ภายหลังได้มอบให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ เป็นหัวหอกไปดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มเอสเอ็มอีอย่างมาก

สำหรับกลไกในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีของโครงการนี้ เกิดขึ้นภายใต้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ / บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) และสถาบันการเงินทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือที่คุ้นหูในชื่อ เอ็กซิมแบงค์ 

“ก่อนหน้าที่จะเปิดดำเนินการโครงการนี้ ปัญหาใหญ่ของพี่น้องชาวเอสเอ็มอี คือ ‘ทุน’ การเข้าถึงทุนค่อนข้างยากและลำบากทีเดียว ทั้งกลุ่มที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ใช้แหล่งเงินทุนหรือสินเชื่อผิดประเภท จนต้องแบกรับภาระสูงเกินความจำเป็น และกลุ่มที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ที่ยิ่งเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก…

กลไกการช่วยเหลือจากกระทรวงอุตสาหกรรมในครั้งนี้ จึงถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีมีทุนไปพัฒนาธุรกิจในอุตสาหกรรมของตัวเอง มีเวลามุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น โดยเราได้นำกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ บสย.เข้าช่วยเสริมความแข็งแกร่ง ด้วยการเข้าค้ำประกันให้เอง”

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า จากข้อมูลที่ได้รับการรายงานกลับมาขณะนี้ ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน หรือ ‘บสย.F.A.Center’ พบข้อมูลเอสเอ็มอีราว 3.2 ล้านราย โดยในนั้นเป็นเอาเอ็มอีที่ขาดโอกาสและหลักประกันในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เข้าประสานงานใช้กลไกที่ถูกออกแบบนี้ค้ำประกันสินเชื่อ และอีกส่วนยังเข้าสู่กระบวนการแก้ไขหนี้ ปรับแผนธุรกิจ ปรับโครงสร้างหนี้ 

ดังนั้น โครงการ ‘ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ จึงถือเป็นอีกโครงการจากกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เข้าช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยได้อย่างตรงจุด อันจะช่วยผลักดันและต่อยอดเศรษฐกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศไทยได้อย่างดีต่อไป

'สุริยะ' เผย!! สาย 'มห.3019' เชื่อมสะพานไทย-ลาว แห่งที่ 2 รุดหน้ากว่า 82% เตรียมเปิดใช้ภายในปีนี้ ช่วยหนุน 'โลจิสติกส์ฮับ-เขตเศรษฐกิจพิเศษ'

(23 ก.พ.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ถึงการดำเนินโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย มห.3019 แยก ทล.212 ถึงบ้านบางทรายใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ความคืบหน้ากว่า 82% ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างผิวจราจรทางเชื่อม ทางแยก และสะพาน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้ประชาชนใช้สัญจรอย่างเป็นทางการในปี 2567 นี้ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัดในตัวเมือง รองรับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต เพิ่มศักยภาพการขนส่งระหว่างนิคมอุตสาหกรรมกับสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 2 สู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ กาฬสินธุ์ และนครพนม สนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (Special Economic Zone: SEZ) ส่งเสริมการเพิ่มขีดสมรรถนะทางเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบาย 'ส่งเสริมและยกระดับเปิดประตูการค้า การท่องเที่ยว เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางทุกมิติ' และสอดรับกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการเป็นศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค (Logistic Hub) เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ กระจายความเจริญจากเมืองใหญ่สู่เมืองเล็ก อีกทั้งเป็นการเพิ่มโครงข่ายโลจิสติกส์การขนส่งออกสู่ สปป.ลาว 

โครงการดังกล่าวมีระยะทางรวม 14.211 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 804.159 ล้านบาท โดยพื้นที่โครงการตั้งอยู่บริเวณตำบลโพนทราย และตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร มีจุดเริ่มต้นบริเวณ ทล.12 (กม. ที่ 781+000) และไปสิ้นสุดที่บริเวณ ทล.212 (กม. ที่ 414+262) ซึ่งใน 4 กิโลเมตรแรกจะดำเนินการขยายถนนทางหลวงชนบทจาก 2 ช่องจราจร เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร จากนั้นในส่วนที่เหลือจะดำเนินการก่อสร้างถนนใหม่ทั้งหมดจนไปถึงจุดสิ้นสุดโครงการเชื่อมกับสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 2 โดยก่อสร้างเป็นถนนผิวจราจรแบบคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 4 ช่องจราจร ไป - กลับ มีไหล่ทาง พร้อมสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 แห่ง มีการติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง เครื่องหมายจราจร และสิ่งอำนวยความปลอดภัย เพื่อการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยและมั่นใจให้แก่ประชาชนที่สัญจรบนเส้นทางดังกล่าว

'สภาอุตฯ' เผย!! ตัวเลขเดือนมกราคม 67 ยอดผลิตรถ EV พุ่ง 9,000% ยอดขายในตลาดเติบโต 200% มี EV ไหลวนบนถนนแล้ว 1.48 แสนคัน

(23 ก.พ. 67) เริ่มต้นเดือนแรกของปีด้วยการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของยานยนต์ไฟฟ้า เมื่อกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เผยแพร่รายงานจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศ ในเดือนมกราคม 2567

โดยยอดผลิต EV พุ่งกระฉูด อาทิ ในส่วนของรถยนต์นั่ง เดือนมกราคม 2567 ผลิตได้ 52,509 คัน ลดลง -7.27% จากเดือนมกราคม 2566 โดยตัวเลขการผลิต EV พุ่งกระฉูดเกือบหนึ่งหมื่นเปอร์เซ็นต์จากการเริ่มตั้งโรงงานผลิตต่าง ๆ ของค่ายรถโดยเฉพาะแบรนด์จีน ซึ่งการผลิตจะต้องเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อนโยบาย EV 3.5 ดังนี้...

-สันดาป (ICE) 32,655 คัน ลดลง -28.95% จากเดือนมกราคม 2566
-แบตเตอรี่ (BEV) 652 คัน เพิ่มขึ้น +9,214.29% จากเดือนมกราคม 2566 
-ไฮบริด (HEV) 18,801 คัน เพิ่มขึ้น +94.63% จากเดือนมกราคม 2566
-ปลั๊กอิน (PHEV) 401 คัน ลดลง -59.70% จากเดือนมกราคม 2566

ด้านยอดขาย EV เริ่มท้าทายตลาด โดยเมื่อเทียบสัดส่วนเดือนมกราคมปีก่อนกับปีนี้ จะเห็นได้ว่า ปีที่แล้ว ICE ครองตลาด 30% ส่วน BEV และ HEV ยังมีตัวเลขอยู่ในหลักหน่วย แต่ปีนี้ การเติบโตของอีวีที่มีหลายเจ้าเข้าตลาดไทยมา ทำให้ยอดขาย BEV เติบโตในระดับ 200% ดังนี้...

-สันดาป (ICE) 14,373 คัน สัดส่วน 26.22 ของยอดขายทั้งหมด ลดลง -32.81%
-แบตเตอรี่ (BEV) 9,763 คัน สัดส่วน 17.81 ของยอดขายทั้งหมด เพิ่มขึ้น +205.48%
-ไฮบริด (HEV) 10,130 คัน สัดส่วน 18.48 ของยอดขายทั้งหมด เพิ่มขึ้น +71.52%
-ปลั๊กอิน (PHEV) 98 คัน สัดส่วน 0.18 ของยอดขายทั้งหมด ลดลง -67.66%

ส่วนยอด EV สะสมนั้น BEV ยังคงเป็นดาวเด่น ดังนี้...

- แบตเตอรี่ (BEV) มีจำนวนทั้งสิ้น 147,743 คัน เพิ่มขึ้น +301.75% จากปีก่อน
- ไฮบริด (HEV) มีจำนวนทั้งสิ้น 357,645 คัน เพิ่มขึ้น +33.75% จากปีก่อน
- ปลั๊กอิน (PHEV) มีจำนวนทั้งสิ้น 54,907 คัน เพิ่มขึ้น + 26.63 จากปีก่อน

‘วิชัย ทองแตง’ นำทัพ ‘TPN Global’ แถลงพันธกิจ เข้าบริหาร ‘Mister Global Organization’ อย่างเป็นทางการ

(23 ก.พ.67) ‘คุณวิชัย ทองแตง’ ประธานที่ปรึกษากลุ่มบริษัท ทีพีเอ็น โกลบอล จำกัด, ‘คุณปุ้ย-ปิยาภรณ์ แสนโกศิก’ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีเอ็น โกลบอล จำกัด และประธานองค์กร Mister Global, ‘ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท’ ประธานที่ปรึกษาองค์กร Mister Global พร้อมด้วย ‘ดร.พงษ์รพี บูรณสมภพ’ และ ‘คุณประดิษฐ์ ประดินันทน์’ ที่ปรึกษาองค์กร Mister Global นำทัพแถลงข่าวพันธกิจเวทีระดับโลก Mister Global Organization ในวาระครบรอบ 10 ปี เปลี่ยนมือเข้าสู่การบริหารภายใต้ บริษัท ทีพีเอ็น โกลบอล จำกัด

โดยในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ‘Jason Bretfelean Dylan’ Mister Global 2023 เข้าร่วมแถลงข่าว ทั้งนี้ ‘คุณปุ้ย ปิยาภรณ์’ ยังเผยถึงวิสัยทัศน์ใหม่ในวาระครบรอบ 10 ปี ของเวทีระดับโลกอย่าง Mister Global ในการเฟ้นหาผู้ครองตำแหน่งในปี 2024 ขยายอายุผู้เข้าประกวดตั้งแต่ 18-35 ปีบริบูรณ์ และหากสุภาพบุรุษท่านใดที่อายุเกิน 35 ปี แต่ยังมีพลัง เป้าหมาย และศักยภาพ ก็สามารถพิสูจน์ตัวตนเข้าร่วมการประกวดได้อีกด้วย

พร้อมกันนี้ยังได้เปิดตัว ‘คุณแองจี้-เสริมสิรี แสนโกศิก’ เจ้าของแบรนด์ ‘Unix Wear’ ในฐานะ National Director of Mister Global Thailand ที่กล่าวถึงบทบาทใหม่นี้ด้วยว่า “พร้อมแล้วในหน้าที่และบทบาทใหม่ ที่จะจุดประกายความฝันของใครหลายๆ คน ซึ่งเริ่มต้นได้บนเวทีแห่งนี้ Mister Global Thailand ตามหาสุภาพบุรุษที่มั่นใจในภาพลักษณ์ มีพลังในการขับเคลื่อนสังคม และมั่นใจในทัศนคติของตัวเอง เพื่อเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปยืนอยู่บนเวทีระดับโลกค่ะ”

สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเวทีเกียรติยศแห่งสุภาพบุรุษ Mister Global Thailand และ Mister Global ได้ทาง FB TPNG, Mister Global Thailand และ Mister Global และ Youtube TPNG แล้วพฤษภาคมนี้เตรียมเฟ้นหาสุภาพบุรุษของประเทศไทยก่อนจะไปตามหาสุภาพบุรุษผู้เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งบนเวทีโลกประจำปี 2024 ในเดือนตุลาคมนี้ไปด้วยกัน

‘คมนาคม’ ตอบชัด!! ปมสร้างรถไฟความเร็วสูง จ.พระนครศรีอยุธยา ยัน!! พัฒนาบนเส้นทางเดิม ไม่เวนคืนที่ดิน ไม่ส่งผลต่อมรดกโลก

เมื่อวานนี้ (22 ก.พ. 67) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้เป็นผู้ชี้แจง ตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ เพื่อชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรในประเด็นปัญหาผลกระทบจากการก่อสร้าง สถานีรถไฟความเร็วสูงพระนครศรีอยุธยา ตามที่ นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งกระทู้ถามแยกเฉพาะ โดยยืนยันว่า โครงการดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อมรดกโลก และกระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายสุรพงษ์ชี้แจงว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA) เพื่อลดข้อกังวลใจของ UNESCO และประชาชน โดยประเทศไทยยังไม่เคยมีการจัดทำรายงาน HIA มาก่อน ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมตระหนักถึงความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบต่อการเป็นมรดกโลก โดยขอยืนยันว่า สถานีอยุธยาไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่มรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ UNESCO แต่อยู่ห่างออกไป 1.5 กิโลเมตร และมีแม่น้ำป่าสักคั่นอยู่ ดังนั้น การขยายตัวของเมืองเข้าไปในเขตมรดกโลกจึงเป็นไปได้ยาก

นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ได้ยกตัวอย่างเมืองมรดกโลกอื่น ๆ ที่มีสถานีรถไฟอยู่ใกล้ เช่น วัดโทจิ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น และมรดกโลกมหาวิหารโคโลญ ประเทศเยอรมนี เพื่อแสดงให้เห็นว่าสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาสามารถอยู่ร่วมกับมรดกโลกได้ และอธิบายถึงแผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะ รองรับผู้โดยสาร รวมทั้งพัฒนาเส้นทางรถสาธารณะ และปรับปรุงระบบขนส่งรูปแบบใหม่

โดยสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาได้ออกแบบมาเพื่อรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยว มีพื้นที่จอดรถ พื้นที่สีเขียว สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภูมิทัศน์รอบสถานีจะสวยงาม เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยว

ยืนยันว่าได้ดำเนินการศึกษาแนวทางปรับปรุงรูปแบบสถานีเพื่อลดผลกระทบต่อโบราณสถาน พร้อมทั้งดำเนินการตามผลการศึกษา ออกแบบรายละเอียด และมติคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง โดยการพัฒนาพื้นที่สถานีอยุธยาถือเป็นการพัฒนาบนแนวเส้นทางเดิม ไม่ได้ทำการเวนคืนที่ดินแต่อย่างใด

ส่วนประเด็นเรื่องทุนจากต่างประเทศ นายสุรพงษ์กล่าวว่า โครงการนี้ดำเนินการจ้างโดยมีผู้รับจ้างเป็นบริษัทของไทย วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างส่วนใหญ่ล้วนมาจากไทย และมีคณะผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเข้าร่วมสังเกตการณ์อย่างโปร่งใส

รมช.คมนาคมระบุว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงอยุธยาถือเป็นโครงการพัฒนาที่สำคัญต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ รัฐบาลมีแผนรองรับผลกระทบต่าง ๆ อย่างรอบคอบ และคำนึงถึงความโปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน

'พีระพันธุ์' หารือ 'ผู้ว่าฯ ยูนนาน' ยกระดับ 'ความสัมพันธ์-ร่วมมือ' ไปอีกขั้น เตรียมต่อยอด 'เศรษฐกิจ-พลังงานสะอาด-อุตสาหกรรมสีเขียว'

เมื่อวานนี้ (22 ก.พ. 67) ณ ห้องสีเหลือง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายหวัง หยู่โป (H.E. Mr. Wang Yubo) รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิวนิสต์จีนประจำมณฑลยูนนาน ผู้ว่าการมณฑลยูนนาน และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำรัฐบาลมณฑลยูนนาน เข้าเยี่ยมคารวะ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรีฯ ยินดีที่ได้พบผู้ว่าการมณฑลฯ อีกครั้ง ขอบคุณมณฑลยูนนานในความร่วมมือระหว่างกันที่ดีมาตลอด ซึ่งตั้งแต่จีนกลับมาเปิดประเทศในปี 2566 ได้มีคณะผู้แทนระดับสูงของไทยเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์และศึกษาดูงานที่มณฑลยูนนานอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นว่า หากทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกันในทุกด้าน ทั้งในเชิงภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน จะสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทวีความสัมพันธ์ระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้นต่อไป 

ด้านผู้ว่าการมณฑลฯ ยินดีและเป็นเกียรติที่ได้มีโอกาสเยือนไทย การต้อนรับอย่างอบอุ่นจากไทย แสดงให้เห็นว่าไทยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างจีน-ไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างเคารพและไว้วางใจร่วมกัน เอื้อประโยชน์แก่กันในทางเศรษฐกิจ เข้าใจซึ่งกันและกันในทางวัฒนธรรม ดังนั้น จีนและไทยจึงเปรียบเสมือนครอบครัวเดียวกัน ที่ได้หยั่งรากลึกลงในหัวใจของประชาชนทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะการเยือนไทยของ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี 2565 ที่ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มีความหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ สอดคล้องกับที่ได้ประกาศแถลงร่วมว่าด้วยการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย-จีน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ร่วมกัน

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นความร่วมมือต่าง ๆ ที่สำคัญ ดังนี้

ด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เห็นพ้องส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกันผ่านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจีนพร้อมให้การสนับสนุนไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน โดยจีนจะส่งเสริมแถบเส้นทาง R3A ไทย - ลาว - จีน ต่อเนื่อง ถือเป็นเส้นทางสำคัญในการนำเข้า - ส่งออกสินค้าระหว่างไทยและจีน ซึ่งผู้ว่าการมณฑลฯ ชื่นชมว่า หลังจากการเปิดแถบเส้นทาง R3A แล้ว ได้ประหยัดเวลาขนส่งสินค้าและลดต้นทุนทางธุรกิจได้มาก โดยเมื่อปี 2566 มีจำนวนการนำเข้าสินค้ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไทยพร้อมพัฒนา เส้นทางสายไหม (One Belt One Road) ให้ต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันส่งเสริมด้านการใช้พลังงานสะอาดในเส้นทางด้วย

ด้านการใช้พลังงานสะอาด เห็นพ้องที่จะผลักดันการใช้พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว ผ่านการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีของหน่วยงานที่ภาครัฐเกี่ยวข้องด้านพลังงาน โดยรองนายกรัฐมนตรีเห็นศักยภาพของมณฑลยูนนาน ที่มีการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) จำนวนมาก ซึ่งผู้ว่าการมณฑลฯ เห็นพ้องที่จะนำศักยภาพด้านการใช้พลังงานน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ของมณฑลยูนนานมาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกัน

ด้านความร่วมมือทางวิชาการ ทั้งสองพร้อมต่อยอดจากความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาของไทยและมณฑลยูนนาน โดยผู้ว่าการมณฑลฯ ยินดีกับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและทางวิชาการ ซึ่งปัจจุบันมีนักศึกษาชาวไทยจำนวนกว่า 1,000 คน ศึกษาอยู่ ณ มณฑลยูนนาน

ด้านการท่องเที่ยวและความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ทั้งสองฝ่ายยินดีกับการลงนามความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาและหนังสือเดินทางกึ่งราชการ ไปเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 1 มีนาคม 2567 ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนทั้งสองฝ่าย มีการไปมาหาสู่กันเพิ่มขึ้น โดยรองนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไทยพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากมณฑลยูนนานและให้ความสำคัญสูงสุดกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ขณะที่ผู้ว่าการมณฑลฯ เชื่อมั่นว่า จะเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ขยายโอกาสและฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

‘กฤษฎา-รมช.คลัง’ คิกออฟ ‘โครงการ บสย. Business School’ ดึง ‘บสย.- ธปท.’ ให้ความรู้นักศึกษาเพื่อก้าวสู่ SMEs รุ่นใหม่

ไม่นานมานี้ น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาล และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง สนับสนุนให้หน่วยงานจากภาคการเงิน ภาคการศึกษา และภาคการพัฒนาสังคม ร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะทางการเงินให้กับประชาชนถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของกระทรวงการคลังที่สำคัญด้านการสร้างโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ล่าสุด ตนพร้อมด้วยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จัด ‘โครงการ บสย. Business School’ โดยเริ่ม Kick Off โครงการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จ.พิษณุโลก

น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว บสย. และธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือร่วมกันเป็นวิทยากรให้ความรู้ในหลักสูตรทางด้านการเงิน เพื่อเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมสำหรับการก้าวไปสู่การตั้งธุรกิจ และผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ให้กับนักศึกษา โดยเป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประชาชนทุกกลุ่มมีความรู้พื้นฐานทางด้านการเงิน สำหรับนำไปใช้กับครอบครัว และนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจได้ต่อไปในอนาคต 

'เครดิตบูโร' ชี้!! หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งแตะ 91% ต่อ GDP หวั่น!! ครัวเรือนผ่อนบ้านรถไม่ไหว เสี่ยงถูกยึด

เมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการประกาศสถิติหนี้ครัวเรือนออกมาด้วยตัวเลขที่น่าตกใจ โดยเมื่อวันที่ 19 ก.พ. ได้มีการรายงานหนี้ครัวเรือนในไตรมาสที่สามของปี 2566 โดยผลออกมาว่า มีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90.9% นับว่ายังอยู่ช่วงอันตรายมาตลอดตั้งไตรมาสแรกที่ +90.7 และเพิ่มขึ้นมาสู่ +90.8% ในไตรมาสที่ 2 

(22 ก.พ. 67) นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร ได้กล่าวบน Facebook ว่าหนี้ครัวเรือนไทยตอนนี้อยู่ในระบบอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท หรือ ราว +91% ต่อ GDP ซึ่งเมื่อเทียบกับนานาประเทศ ถ้าเกิน 80% ถือว่าเป็นระดับที่อันตรายแล้ว

หากมองย้อนหลังลงไป หนี้ครัวเรือนไทยเข้าสู่โซนอันตรายหรือมากกว่า +80% ตั้งแต่ปี 2556 และพุ่งสูงขึ้นมาตลอดจนแตะ +85.9% ในปี 2558 จากวิกฤตน้ำท่วมที่ส่งต่อภาระไปแก่ครัวเรือน แม้หลังปี 2558 หนี้จะหมดและทยอยลดลง แต่ในปี 2019 - 2020 หนี้ได้ก่อตัวขึ้นจนดีดขึ้นสูงถึง +94.7% อีกทั้งนโยบายพักหนี้นั้นทำให้หนี้ยังคงค้างอยู่ในระบบ แม้จะหนี้จะลดลงมาในปีต่อมา แต่ก็ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับอันตราย

นายสุรพล เสริมว่า จากข้อมูลเครดิตบูโร มีสินเชื่อรวมที่ 13.7 ล้านล้านบาท ซึ่งมี 3 ก้อนที่น่าเป็นห่วง คือ...

- หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 
- สินเชื่อค้างชำระ แต่ไม่เกิน 90 วัน (SM) 
- สินเชื่อที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง (TDR) ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง 

นายสุรพล ยังย้ำว่า หนี้เสียกลับมาทะลุ 1.05 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 ที่ 28% สินเชื่อรถ และสินเชื่อบ้านน่าเป็นห่วง ลูกหนี้หลายรายผ่อนรถไม่ไหว ปล่อยให้รถถูกยึด ทำให้มีรถเข้าสู่ตลาดประมูลถึง 2 แสนคัน ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลย สินเชื่อบ้านก็เช่นกัน ที่มีพอร์ตหนี้เสียถึง 1.8 แสนล้านบาท เติบโตถึง 7% เท่ากับมีบ้านที่กำลังจะถูกยึดถึง 1.8 แสนหลังหากไม่สามารถแก้ปัญหาในการชำระหนี้ได้

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์หนี้ครัวเรือนว่า ในไตรมาส 3 ปี 2566 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่คาดว่าในไตรมาส 4 ปี 2566 นี้น่าจะอยู่ราว 91% โดยกลุ่มครัวเรือนที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งอาจส่งผลให้ NPL ทยอยปรับเพิ่มขึ้น (ในกลุ่มเปราะบาง) แต่ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ ทำให้ SMEs ขนาดเล็กและครัวเรือนกลุ่มเปราะต้องจับตาดูไว้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top