‘คมนาคม’ ตอบชัด!! ปมสร้างรถไฟความเร็วสูง จ.พระนครศรีอยุธยา ยัน!! พัฒนาบนเส้นทางเดิม ไม่เวนคืนที่ดิน ไม่ส่งผลต่อมรดกโลก

เมื่อวานนี้ (22 ก.พ. 67) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้เป็นผู้ชี้แจง ตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ เพื่อชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรในประเด็นปัญหาผลกระทบจากการก่อสร้าง สถานีรถไฟความเร็วสูงพระนครศรีอยุธยา ตามที่ นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งกระทู้ถามแยกเฉพาะ โดยยืนยันว่า โครงการดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อมรดกโลก และกระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายสุรพงษ์ชี้แจงว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA) เพื่อลดข้อกังวลใจของ UNESCO และประชาชน โดยประเทศไทยยังไม่เคยมีการจัดทำรายงาน HIA มาก่อน ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมตระหนักถึงความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบต่อการเป็นมรดกโลก โดยขอยืนยันว่า สถานีอยุธยาไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่มรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ UNESCO แต่อยู่ห่างออกไป 1.5 กิโลเมตร และมีแม่น้ำป่าสักคั่นอยู่ ดังนั้น การขยายตัวของเมืองเข้าไปในเขตมรดกโลกจึงเป็นไปได้ยาก

นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ได้ยกตัวอย่างเมืองมรดกโลกอื่น ๆ ที่มีสถานีรถไฟอยู่ใกล้ เช่น วัดโทจิ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น และมรดกโลกมหาวิหารโคโลญ ประเทศเยอรมนี เพื่อแสดงให้เห็นว่าสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาสามารถอยู่ร่วมกับมรดกโลกได้ และอธิบายถึงแผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะ รองรับผู้โดยสาร รวมทั้งพัฒนาเส้นทางรถสาธารณะ และปรับปรุงระบบขนส่งรูปแบบใหม่

โดยสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาได้ออกแบบมาเพื่อรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยว มีพื้นที่จอดรถ พื้นที่สีเขียว สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภูมิทัศน์รอบสถานีจะสวยงาม เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยว

ยืนยันว่าได้ดำเนินการศึกษาแนวทางปรับปรุงรูปแบบสถานีเพื่อลดผลกระทบต่อโบราณสถาน พร้อมทั้งดำเนินการตามผลการศึกษา ออกแบบรายละเอียด และมติคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง โดยการพัฒนาพื้นที่สถานีอยุธยาถือเป็นการพัฒนาบนแนวเส้นทางเดิม ไม่ได้ทำการเวนคืนที่ดินแต่อย่างใด

ส่วนประเด็นเรื่องทุนจากต่างประเทศ นายสุรพงษ์กล่าวว่า โครงการนี้ดำเนินการจ้างโดยมีผู้รับจ้างเป็นบริษัทของไทย วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างส่วนใหญ่ล้วนมาจากไทย และมีคณะผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเข้าร่วมสังเกตการณ์อย่างโปร่งใส

รมช.คมนาคมระบุว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงอยุธยาถือเป็นโครงการพัฒนาที่สำคัญต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ รัฐบาลมีแผนรองรับผลกระทบต่าง ๆ อย่างรอบคอบ และคำนึงถึงความโปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน