Friday, 3 May 2024
พระนครศรีอยุธยา

อบจ. พระนครศรีอยุธยา รับโล่ห์ผ่านการประเมินการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

วันที่ 3 มีนาคม ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชัน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร นายทวี เสริมภักดีกุลรองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานพิธีเปิดการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและประโยชน์สุขของภูมิภาค กรณีศึกษาภาคกลางตะวันตกและพร้อมมอบโล่รางวัลให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่นที่ผ่านการประเมินการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระดับเข้าถึง เป็นองค์กรแห่งประโยชน์สุข โดยโดยนางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าร่วมพิธีเปิดโครงการพร้อมรับโล่ห์ผ่านการประเมินการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระดับเข้าถึง เป็นองค์กรแห่งประโยชน์สุข

'เพื่อไทย' ลงพื้นที่ให้กำลังใจชาวอยุธยา ชี้!! ถ้าได้เป็นรัฐบาลแก้ปัญหาน้ำท่วมได้แน่นอน

เมื่อเวลา 09.50 น. วันที่ 11 ต.ค. ที่จ.พระนครศรีอยุธยา นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมด้วยน.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นายจิรทัศ ไกรเดชา ส.ส.พระนครศรีอยุธยา นายอัณณพ อารีย์วงศ์สกุล นายอาทิตย์ ภาคอินทรีย์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคพเพื่อไทย เดินทางไปที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลประทานผักไห่ เพื่อลงเรือเยี่ยมพี่น้องประชาชน บริเวณแม่น้ำน้อย องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ลาดชิด อ.ผักไห่ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย จากนั้น น.ส.แพทองธารพร้อมคณะเดินทางมาที่วัดลาดชิด เพื่อพบปะประชาชนเกือบ 100 คนที่ได้รับความเดือดร้อน 

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า วันนี้พรรคเพื่อไทยมาหาพี่น้องประชาชนเพื่อมาให้กำลังใจ ตนได้ลงเรือเห็นแล้วว่าระดับน้ำสูงมาก ขอให้กำลังใจทุกท่าน ถ้าพรรคเพื่อไทยได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง เรามั่นใจว่าจะจัดการดูแลเรื่องน้ำให้ประชาชนดีกว่านี้แน่ ๆ ตนอยากจะดีดนิ้วให้น้ำมันหายไปให้หมด เพื่อให้พี่น้องอยู่กันสบาย ๆ แต่ไม่มีซูเปอร์พาวเวอร์ ต้องรอให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลเพื่อมีแรง กำลังและอำนาจในการช่วยจัดการเรื่องต่าง ๆ ให้กับพี่น้องให้ดีขึ้นกว่านี้ ตอนนี้ขอส่งกำลังใจด้วยความจริงใจจากพรรคเพื่อไทย ขณะนี้ผู้บริหารพรรคเพื่อไทยก็กระจายกำลังกันทำหน้าที่ อะไรที่เราทำได้ เราทำแน่ ขอให้พี่น้องสบายใจ แต่ตอนนี้ขอให้กำลังใจพี่น้องเต็ม ๆ ไปก่อน 

จากนั้น น.ส.แพทองธาร ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้เห็นใจพี่น้องประชาชน เห็นว่ามีระดับน้ำเยอะ ทุกคนดูมีกำลังใจและมีพลังบวก เรามาหาชาวบ้านแต่ชาวบ้านกลับยิ้มแย้มแจ่มใส และให้กำลังใจประชาชน เก่งมาก ๆ ตนขอชื่นชมจากใจที่ชาวบ้านเจอปัญหานี้แล้วยังมีกำลังใจ มีน้ำใจให้กับพรรคเพื่อไทยและพวกเราทั้งหมด 

เมื่อถามว่าจะมีการสานต่อโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ยุคสมัยเปลี่ยนไป เราต้องกลับมามาดูแลเรื่องน้ำแน่นอน แต่ต้องดูรายละเอียดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านน้ำและพรรคเพื่อไทยด้วย แน่นอนว่านี่เป็นปัญหาที่ประชาชนเดือดร้อนและต้องนำมาแก้ไข

เมื่อถามต่อว่าโครงการดังกล่าวเคยมีเสียงวิจารณ์ แสดงว่าพรรคเพื่อไทยจะกลับมาทบทวนใช่หรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า เดิมเรามีแผนโครงการบริหารจัดการน้ำฯ ขณะนั้น เราได้บูรณาการแผนทั้งหมด ปรากฏว่าระหว่างนั้นมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก่อน ทำให้แผนต้องหยุดชะงักลง ถ้ามีโอกาสกลับมาเป็นรัฐบาล เราก็จะยึดแผนเดิมอยู่ ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงโครงการฯ ที่น.ส.แพทองธารพูด บางส่วนอาจมีความจำเป็น เพราะวันนั้นกับวันนี้มันต่างกันร่วม 10 ปีแล้ว ก็อาจจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงการฯ

เมื่อถามว่าหากโครงการนี้ยังคงอยู่ปัญหาน้ำท่วมจะดีขึ้นกว่านี้หรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า ตนมั่นใจว่าดีขึ้น ถ้าโครงการยังอยู่และมีการปฏิบัติตาม

'ประวิทย์' ชาติไทยพัฒนา ลุยหาเสียง เขต 5 พระนครศรีอยุธยา ชู!! พัฒนากรุงเก่าเจริญเทียบสุพรรณฯ - แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก

(13 พ.ค. 66) นายประวิทย์ สุวรรณสัญญา ผู้สมัคร ส.ส. เขต 5 พระนครศรีอยุธยา เบอร์ 12 พรรคชาติไทยพัฒนา ลงพื้นที่ อ.ผักไห่ อ.เสนา อ.บางซ้าย อ.ลาดบัวหลวง ชูนโยบาย บ้านพี่เมืองน้องเราไม่ทิ้งกัน พัฒนาบ้านเรา ให้เหมือนสุพรรณบุรี เพราะพื้นที่คลองสองจังหวัดนี้ติดกัน มีความตั้งใจที่อยากจะเป็นสะพานนำความเจริญจากสุพรรณเข้าสู่อยุธยา เพื่อพี่น้องเกษตรกร เพื่อปากท้องชาวบ้าน เลือกคนใหม่ และเลือกพรรคชาติไทยพัฒนา เบอร์ 18

นอกจากนี้ ยังพร้อมรับฟังปัญหาน้ำท่วมจากพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่ โดยมีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่อยากจะเข้ามาเป็นปากเป็นเสียงและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้พี่น้องพระนครศรีอยุธยาเขต 5 เพื่อที่พี่น้องเขต 5 จะได้ไม่เดือดร้อนทุกปี

ต้านสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา อ้างลดทอนคุณค่าโบราณสถาน แม้สร้างห่างพื้นที่ร่วม 1.5 กิโลเมตร แต่ก็ไม่วายโดนดรามา

(5 ก.ย.66) เฟซบุ๊ก 'Ringsideการเมือง' ได้โพสต์ข้อความกรณี นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สส. อยุธยา เขต 1 พรรคก้าวไกล เตรียมเสนอตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมต่อแหล่งมรดกโลกเมืองเก่าอโยธยาจากโครงการรถไฟความเร็วสูง สถานีอยุธยา ว่า...

ความพยายามที่เกิดขึ้น มีการมองว่า จะยิ่งทำให้โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเสร็จช้าขึ้นไปอีก

สำหรับโครงการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 

ช่วงที่กำลังถกเถียงกันอยู่คือ ช่วงเส้นทาง 13.3 กิโลเมตร จากสถานีบ้านโพมาถึงสถานีพระแก้ว

โดยฝ่ายที่กังวลเรื่องการก่อสร้าง มองว่าที่ตั้งของสถานี อาจไปกระทบกับวิวทิวทัศน์ลดทอนคุณค่าของโบราณสถาน 

เรื่องนี้ มีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ซึ่งฝ่ายหลังมองว่า อยากให้จังหวัดท่องเที่ยวแห่งนี้ มีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อพัฒนาศักยภาพของจังหวัด แต่ฝ่ายแรกมองว่า สถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง อาจทำลายคุณค่าทางวัฒนธรรม

ข้อเท็จจริงจากฝ่ายการรถไฟแห่งประเทศไทย คือ...

ทางหน่วยงาน ได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งมีการศึกษาในด้านการศึกษาผลกระทบต่อโบราณสถาน พร้อมกำหนดมาตรการลดผลกระทบ ซึ่งได้รับการอนุมัติไปแล้วตั้งแต่ปี 2562 

และปัจจุบันยังได้ทำการศึกษาการประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ผ่านทางที่ปรึกษาจากทางมหาวิทยาลัยศิลปากร

ซึ่งประเมินผลกระทบที่มีต่อแหล่งมรดกโลก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านทัศนียภาพ ด้านกายภาพ และด้านสังคมและเศรษฐกิจ

ที่น่าสนใจคือ...

ในการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา พื้นที่ก่อสร้างสถานีได้ตั้งอยู่ในเขตทางรถไฟเดิม 

ซึ่งมีระยะห่างจากพื้นที่แหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มากถึง 1.5 กิโลเมตร

จุดนี้การรถไฟฯ เชื่อว่า การก่อสร้างจะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อโบราณสถานหรือทัศนียภาพในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์อย่างแน่นอน

สรุป...

สถานีรถไฟความเร็วสูงที่ดรามา ก็สร้างในเขตรถไฟเดิม ห่างจากแหล่งมรดก 1 กม. ครึ่ง

แล้วมันมีปัญหาตรงไหน ??? นี่คือคำถามคาใจของฝ่ายที่เชียร์ให้เดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง

การรถไฟแห่งประเทศไทย โดย นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ ให้ความเห็นว่า...

"การก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงในพื้นที่เขตทางรถไฟเดิม ถือเป็นข้อดีที่ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวให้กับพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา และพื้นที่โดยรอบอย่างยั่งยืน สามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว การกระจายความเจริญ สร้างงานสร้างรายได้แก่คนในชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง ตลอดจนยังช่วยเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 

"ด้วยการลดการเดินทางรถยนต์ และปรับโหมดการเดินทางไปสู่ระบบรางมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาและการอนุรักษ์ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาประเทศให้รุ่งเรืองและคงไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมอันดีของไทย 

"ทั้งสองสิ่งสามารถดำเนินการควบคู่กันได้ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของประชาชนชาวไทย และทุกภาคส่วน เพื่อสร้างประเทศไทยให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป"

เปิดเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน สัมผัสเสน่ห์วัฒนธรรมเมืองประวัติศาสตร์ ล่องเรือชมโบราณสถาน พร้อมแวะสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง

(16 ก.ย.66) วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ดำเนินการโดยฝ่ายบริการวิชาการเพื่อสังคม วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม) ภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ใช้องค์ความรู้ที่เป็นความถนัดของวิทยาลัยทำงานร่วมกับชุมชน โดยคณาจารย์ และนิสิตระดับปริญญาตรี ร่วมลงพื้นที่กับ นายธเนศ สนธิ นายกเทศมนตรีตำบลหัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ได้พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวทางน้ำ  ร่วมกันพัฒนาสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์เส้นทางการท่องเที่ยวทางน้ำของตำบลหัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา

จังหวัดพระนครศรีอยุธยาถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดในประเทศไทยที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านประวัติศาสตร์ โบราณสถาน รวมถึงวิถีชีวิตของผู้คนตามลุ่มแม่น้ำน้อยที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ โดยล่าสุด เทศบาลตำบลหัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เดินหน้าเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชน พร้อมรับนักท่องเที่ยว ชูจุดเด่นการท่องเที่ยวทางน้ำเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้แวะสักการะ ไหว้พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตลอดเส้นทาง

ซึ่งจุดเด่นของตำบลหัวเวียงมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหลากหลาย  นอกจากมีวัดเก่าแก่ ศาสนสถาน และบ้านเรือนไทยโบราณ ตำบลหัวเวียงยังเป็นบริเวณที่ไม่มีอุตสาหกรรมในพื้นที่ จึงทำให้มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และมีศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นที่โดดเด่น  เช่น งานจักรสานที่มีการผลิตเพื่อขายและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และอีกหนึ่งมรดกวัฒนธรรมที่มีคุณค่า ประวัติยาวนานหลายปีนั่นก็คือ เมรุลอยอยุธยา ซึ่งนอกจากทำเป็นอาชีพแล้วยังพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปกรรมเมรุลอย

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะเดินทางมาเที่ยวทางน้ำตามเส้นทางเลียบแม่น้ำน้อย จุดเริ่มต้นจะเริ่มจากวัดหัวเวียง ตามตำนาน ‘อิฐเก่าเล่าตำนานของคำว่าหัวเวียง’ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา กองทัพจะผ่านมาเส้นทางนี้ และมีการต่อสู้กับพวกข้าศึก และข้าศึกมีการปล้นเรือสินค้าชาวบ้านที่จะนำสินค้าไปค้าขายกับต่างประเทศ ตัดหัวแล้วเหวี่ยงขึ้นมา 2 ฝั่งแม่น้ำ จึงเรียกกันว่าหัวเหวี่ยง และเรียกต่อ ๆ กันมาเป็น ‘หัวเวียง’ ส่วนจุดเด่นคือการแวะไหว้หลวงพ่ออ้วน ซึ่งชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า คนที่มาไหว้หลวงพ่ออ้วน จะขอเรื่องหน้าที่การงานและความเจริญชีวิต 

จากวัดหัวเวียง ตามเส้นทางเรือจะพาเราไปวัดบางกระทิง ซึ่งเป็นวัดโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี สร้างในปลายรัชสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยจุดเด่นที่นี่คือ มณฑปประดิษฐานรูปเหมือนองค์สมเด็จพุทธาจารย์ (โต) พรหมรังสี คนที่มาไหว้หลวงพ่อต่อจะขอเรื่องความปลอดภัย แคล้วคลาด นั่งท่องเที่ยวสามารถขึ้นทางท่าน้ำและเดินไปด้านหลังวัดได้ ส่วนวัดประดู่โลกเชษฐ์ วัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีตู้พระธรรมลายรดน้ำที่ยังคงความสมบูรณ์ ความสวยงามเอาไว้ให้ได้ชมกัน ชาวบ้านจะไหว้หลวงพ่อเจาะ หลวงพ่อเณร ก็จะเด่นเรื่องสุขภาพ แคล้วคลาดปลอดภัย 

จากนั้น สุดท้ายจะมาสิ้นสุดเส้นทางที่วัดโบสถ์ (บน) เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในโบสถ์มีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามแฝงด้วยปริศนาธรรม และศาลาการเปรียญเก่าตามคำเล่าขานว่าสร้างจากพระตำหนักพระราชทานในรัชกาลที่ 4 ชาวบ้านนิยมเรียกวัดนี้อีกชื่อว่า วัดโบสถ์บ้านกระทุ่ม นอกจาก 4 วัดที่กล่าวไป ยังมีวัดที่ตั้งอยู่ตามเส้นทางเลียบแม่น้ำน้อยอีกหลายวัด 

นักท่องเที่ยวสามารถขอคำแนะนำจากทางชุมชนและข้อมูลได้เพิ่มเติมจากทางชุมชนโดยตรง โดยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายธเนศ สนธิ นายกเทศมนตรีตำบลหัวเวียง โทร. 093 641 9363

‘สส.ปทุม ก้าวไกล’ ค้านโครงการรถไฟความเร็วสูงผ่าอยุธยา อ้าง!! จะถูกถอด ‘มรดกโลก’ เจอชาวเน็ตแห่ถล่มยับ!!

(18 ก.ย. 66) เฟซบุ๊ก ‘เชตวัน เตือประโคน - Chetawan Thuaprakhon’ ของนายเชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี เขต 6 พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความระบุว่า "ประชาชนคนไทยต่างลุ้นกันกรณี “ศรีเทพ” จะได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่ “อยุธยา” ที่เป็นอยู่แล้ว กำลังจะถูก “ถอด” เพราะรถไฟความเร็วสูงผ่ากลางเมือง #ก้าวไกล #มรดกโลก #อโยธยา"

ปรากฏว่าทัวร์ลงมายัง สส.คนดังกล่าว โดยมีความคิดเห็น เช่น

- คนอยุธยาอยากได้ความเจริญมากกว่าค่ะ
- ถ่วงความเจริญครับ
- ความรู้สั้น ความมั่นสูง
- คนอยุธยามีสิทธิ์ไหมคะ
- ก่อนแสดงความเห็นควรหาความจริงและควรมีความรู้
- อยุธยาได้เป็นมรดกโลก และมีการคมนาคมที่ทันสมัยควบคู่กันไป คนไทยและชาวต่างชาติก็จะยิ่งมาเที่ยวอยุธยามากขึ้นค่ะ

- ว่างงานและมาถ่วงความเจริญหรือครับ
- อย่างนี้เกียวโตโดนถอดไปนานแล้วปะครับ

สำหรับประเด็นดังกล่าว สืบเนื่องมาจากการรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยหนึ่งในนั้นคือสถานีอยุธยา แต่กรมศิลปากรออกมาคัดค้านเพราะเกรงว่าจะกระทบต่อโบราณสถาน และมรดกโลก และขอให้การรถไฟฯ ทำการศึกษาผลกระทบต่อมรดกโลกทางวัฒนธรรม หรือ Heritage Impact Assessment (HIA) ทำให้โครงการในสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร หยุดชะงัก การรถไฟฯ ได้จ้างที่ปรึกษามาทำการศึกษาผลกระทบ เพื่อหารูปแบบ และป้องกันผลกระทบในทุกด้านกับการก่อสร้าง ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการ

อีกด้านหนึ่ง นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สส.อยุธยา เขต 1 พรรคก้าวไกล ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการดังกล่าว อ้างว่าที่ตั้งสถานีผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมต่อแหล่งมรดกโลกเมืองเก่าอโยธยา พร้อมเตรียมยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ขอเสนอญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมต่อแหล่งมรดกโลกเมืองเก่าอโยธยาจากโครงการรถไฟความเร็วสูง สถานีอยุธยา ขณะเดียวกัน นายทวีวงศ์ยังมีการขอพบ นายสุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียนเรื่องราวประวัติศาสตร์ในเครือมติชน เพื่อหารืออีกทางหนึ่งด้วย

ขณะเดียวกัน ได้มีการก่อตั้งกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘SAVE อโยธยา’ นำโดย นายภาณุพงศ์ ชลสวัสดิ์ นักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อรณรงค์ปกป้องเมืองอโยธยา และได้จัดเสวนาหัวข้อ ‘รื้อ-ทำลายความทรงจำมรดกวัฒนธรรมอโยธยา’ โดยมีนายธรรดร กุลเกลี้ยง นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มราษฎร โดยวิจารณ์โครงการสถานีรถไฟอยุธยา อ้างถึงโรงภาพยนตร์สกาลา และศาลเจ้าแม่ทับทิม รวมทั้งยังโยงแง่มุมของทุนนิยมกับการอนุรักษ์ และ น.ส.ภัสราวดีเห็นว่าสร้างอ้อมออกไปใช้งบประมาณ 18,000 ล้านบาท ยังน้อยกว่างบประมาณของกองทัพที่มีกว่า 200,000 ล้านบาทอีกด้วย

‘ชาติไทยพัฒนา’ รุดลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ช่วย 2 ยายหลาน บ้านพังทรุดโทรมจากฝน-พายุหนัก

เมื่อไม่นานมานี้ นายประวิทย์ สุวรรณสัญญา กรรมการประชาสัมพันธ์ และเทคโนโลยีสาระสนเทศพรรคชาติไทยพัฒนา ผู้ประสานงานพรรคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และทีมงาน ลงพื้นที่ เข้าเยี่ยม นางศิริ อัมวัฒน์ อายุ 84 ปี อาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 29 หมู่ 7 ต.หนองน้ำใหญ่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับความเดือดร้อนและประสบภัยธรรมชาติ จากพายุและฝนตกหนัก จนบ้านพังเสียหาย

นางศิริ อาศัยอยู่กับหลานชายอายุ 15 ปี กันเพียง 2 คน รายได้ส่วนใหญ่หลานชายเป็นคนหา โดยรับจ้างทั่วไป วันละ 20-40 บาท เพื่อนำมาเลี้ยงชีพ จึงไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ เนื่องจากนางศิริ ไม่สามารถหาเงินได้ด้วยโรคชรา โดยตัวบ้านทรุดโทรม ทางเข้าบ้านต้องใช้แผ่นไม้เก่า ๆ ต่อกันเป็นจำนวนมากเพื่อให้เข้าบ้านได้ โดยคนตัวใหญ่ไม่สามารถเดินเข้าไปได้ และภายในบ้านเสียหายหลายจุด พื้นบ้านทรุดเป็นรูจำนวนมาก

นางศิริ เล่าให้ฟังทั้งน้ำตาว่าเวลาจะไปเข้าห้องน้ำหรือเดินภายในบ้าน ต้องคอยระแวงว่าตรงไหนจะแตกหักแล้วตัวเองจะร่วงลงไป จึงประสานวิงวอน ขอความช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชน ช่วยเหลือเป็นการด่วนต่อไป

'สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา' สร้างประโยชน์อะไร ให้ชาวอยุธยาได้บ้าง

ชวนส่อง!! ประโยชน์ 3 ด้าน จาก ‘สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา’ 🚅💨 ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้พี่น้องชาวอยุธยาได้อย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย!! 🇹🇭✨💵

'กรมศิลป์' ชวน!! นทท. ชม 'วัดไชยฯ' ยามค่ำคืน จัดเต็มแสง-สี-ไฟประดับ เริ่ม!! '13 ต.ค. - 31 ธ.ค. 66'

กรมศิลป์ จัดงาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยวัฒนาราม’ นำเสนอมุมมองใหม่มรดกโลก จัดเต็มแสง สี ไฟประดับโบราณสถานยามค่ำคืน ตั้งแต่เวลา 18.00 - 22.00 น. ผู้สนใจชมได้ตั้งแต่ 13 ต.ค. - 31 ธ.ค. 66 เฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และเทศกาลสำคัญ

กรมศิลปากร จัดกิจกรรมพิเศษ งาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยวัฒนาราม’ นำเสนอมุมมองใหม่มรดกโลกในยามค่ำคืน ผ่านแสง สี ไฟประดับ ณ โบราณสถานวัดไชยวัฒนารามในยามค่ำคืน พร้อมกันนี้ยังชวนนักท่องเที่ยวร่วมแต่งชุดไทยภายในงานดังกล่าวอีกด้วย

งาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยวัฒนาราม’ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า งาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยฯ’ จะมีการโชว์แสง สี ไฟประดับ ระหว่างเวลา 18.00 - 22.00 น. ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม - 31 ธันวาคม พ.ศ.2566 เฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และเทศกาลสำคัญ ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชม ได้ถึง 21.00 น. สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โทร. 035-242286 ต่อ 101

สำหรับ ‘วัดไชยวัฒนาราม’ ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยมีการนำรูปแบบแผนผังของวัดมาจากนครวัด

ภายในวัดมี ‘พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ’ เป็นปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส และมีปรางค์บริวารอยู่รายล้อม โดยมีระเบียงคดภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยจำนวน 120 องค์

นอกจากนี้วัดไชยวัฒนารามยังมี มุมยอดฮิตในการถ่ายรูปที่หน้าวัด บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา หันหน้ากลับเข้ามาทางวัด จะเห็นปรางค์ประธานองค์ใหญ่เด่นเป็นสง่าอยู่ตรงกลาง มีปรางค์บริวารอยู่รอบๆ พร้อมกับสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ

เปิดตัว!! ‘รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ’ คันแรกของไทย พร้อมให้บริการแล้ววันนี้ ใน จ.พระนครศรีอยุธยา

เมื่อวานนี้ (31 ม.ค.67) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการสาธิตการใช้งานรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบร่วมกับการสื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชันด้วยเทคโนโลยี 5G คันแรกของไทย ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โครงการนี้ดำเนินการ โดย ศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) จัดพิธีเปิดการสาธิตการใช้งานรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบร่วมกับการสื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชันด้วยเทคโนโลยี 5G รอบบึงพระราม ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โดยได้รับเกียรติจากนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน และมีผู้บริหารของหน่วยงานร่วมดำเนินการและหน่วยงานเครือข่ายเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง ประกอบด้วย นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายประพันธ์ ตรีบุบผา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายพิชัย สุวรรณกิจบริหาร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ว่าที่ร้อยตรีสมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรีนครพระนครศรีอยุธยา นายสยาม เตียวตรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าโครงการวิจัย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน และหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มจธ.

โดยการสาธิตการใช้งานรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบคันนี้ เป็นกิจกรรมของโครงการสร้างรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบ ร่วมกับการสื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชันระหว่างรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับกับประชาชนและนักท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยี 5G ในเขตโบราณสถาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบ ระดับ 3 ร่วมกับการสื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชันผ่านเครือข่าย 5G เพื่อให้บริการแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวบริเวณรอบบึงพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบคันนี้นับเป็นรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับของคนไทย 100% เนื่องจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และบริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ดำเนินการวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งล้วนเป็นผู้ประกอบการไทยทั้งสิ้น เพื่อสร้างองค์ความรู้ในการต่อยอดพัฒนายานยนต์ไร้คนขับในระดับที่สูงขึ้น และขยายผลไปยังพื้นที่การใช้งานอื่นในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ สำหรับการให้บริการ ทางโครงการจะให้บริการรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวโดยไม่มีค่าใช้จ่ายระหว่างวันศุกร์-วันอังคาร เวลา 09.00-17.00 น. ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 โดยประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถจองที่นั่งผ่านทางแอปพลิเคชันชื่อ ‘5G Auto Bus’ และขึ้นรถได้จากจุดจอดทั้ง 4 จุด ได้แก่

1. ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมืองพระนครศรีอยุธยา
2. วัดมหาธาตุ
3. วัดธรรมิกราช และ
4. วัดพระราม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top