Monday, 20 May 2024
สถาพร บุญนาจเสวี

กบฏ ร.ศ.๑๓๐ คณะก่อการจากนายทหารหนุ่มหัวก้าวหน้า ผู้ไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็น 'ระบอบประชาธิปไตย'

กบฏ ร.ศ.๑๓๐ คณะก่อการผู้ไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็น ‘ระบอบประชาธิปไตย’

เดือนพฤศจิกายนมีเหตุการณ์สำคัญ ๆ หลายเหตุการณ์ หนึ่งในนั้นคือ ‘การพระราชทานอภัยโทษ’ กบฏ ร.ศ.๑๓๐ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงครองสิริราชสมบัติมาถึงปีที่ ๑๕ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวเป็นอิสระทุกคน รวมเวลาที่ถูกคุมขังจริงรวม ๑๓ ปี

จากเดิมที่มีบทลงโทษ โดยคณะตุลาการศาลทหารตัดสินลงโทษให้จำคุกและประหารชีวิต โดยมี โทษประหารชีวิตหัวหน้าผู้ก่อการจำนวน ๓ คน คือ ร้อยเอก เหล็ง ศรีจันทร์, ร้อยโท จรูญ ณ บางช้าง และ ร้อยตรี เจือ ศิลาอาสน์ และโทษจำคุกแบ่งเป็นตลอดชีวิต ๒๐ คน จำคุกยี่สิบปี ๓๒ คน จำคุกสิบสองปี ๓๐ คน และจำคุกสิบห้าปี ๖ คน แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้มีพระบรมราชวินิจฉัย และได้มีพระบรมราชโองการพระราชทาน ‘อภัยโทษ ละเว้นโทษประหารชีวิต ด้วยทรงเห็นว่า ทรงไม่มีจิตพยาบาทต่อผู้คิดประทุษร้ายแก่พระองค์’

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป จากคำบอกเล่าและบันทึกของผู้ก่อการว่า กบฏ ร.ศ.๑๓๐ เป็นการรวมตัวกันของนายทหารหนุ่มหัวก้าวหน้า ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่มาถูกจับได้เสียก่อน จึงกลายเป็น ‘กบฏ’ ตรงนี้ให้สังเกตตรงความต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่ ‘ระบอบประชาธิปไตย’ นะครับ

การรวมตัวกันของคณะนายทหารหนุ่มนี้นำโดย ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) และคณะอีกหลายต่อหลายท่าน โดยมีเหตุเริ่มต้นตามบันทึกจากข้อเขียนใน ‘หมอเหล็งรําลึก ภาคปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ.๑๓๐’ อนุสรณ์ในงานศพ ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อวันอังคารที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๓ โดยพุ่งเป้าไปที่รัชกาลที่ ๖ ขณะเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สรุปความว่า 

“ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีนายทหารต้องถูกเฆี่ยนหลังด้วยเหตุไม่สมควรประกอบด้วย ร้อยเอก โสม พร้อมด้วยนายร้อย นายดาบ และ นายสิบพลทหาร รวม ๕ คน กลางสนามหญ้าภายในกระทรวงกลาโหม เนื่องจากไปมีเหตุวิวาทเรื่องผู้หญิงกับมหาดเล็กของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ซึ่งการเฆี่ยนตามจารีตนครบาลนั้นได้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงไม่ยอม ทูลฯ ฟ้องในหลวงรัชกาลที่ ๕ เพื่อให้ลงโทษให้ได้ จนเกิดเป็นวาทกรรมที่ว่า ‘สมเด็จพระยุพราชทรงยืนกรานจะให้เฆี่ยนหลังเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง’” 

แต่เชื่อไหมครับว่าความเป็นจริงที่ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นทางการมันช่างขัดแย้งกับบันทึกนี้!!! 

ความขัดประการแรกขัดกับ ‘ประกาศกระแสพระราชดําริห์ในเรื่อง เป็นลูกผู้ชาย’ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศไว้เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ร.ศ.๑๒๘ โดยมีความตอนหนึ่งระบุว่า “การที่จะลงพระราชอาญาด้วยอาการใดๆ มีตีและขังเป็นต้น ก็ทรงพระราชดําริห์ว่าน่าจะไม่เป็นประโยชน์ เพราะลูกผู้ดีไม่ใช่สัตว์เดียรฉานที่จะบังคับบัญชาได้ด้วยอาญา” ซึ่งความตอนนี้ก็สอดคล้องกับที่ทรงพระราชบันทึกไว้ใน ‘ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖’

ความขัดแย้งประการต่อมาจาก ‘หนังสือยุทธโกษ’ ซึ่งเป็นหนังสือของทหาร และ ‘ประกาศถอดยศนายทหาร ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา’ ทั้งสองฉบับนี้ต่างระบุตรงกันว่า ‘ทหาร’ เป็นฝ่ายทำร้ายมหาดเล็ก ไม่ใช่มหาดเล็กทำร้ายทหารตามที่คณะกบฏ ร.ศ.๑๓๐ อ้าง 

ข้อขัดแย้งต่อมาคือ ผู้ที่ทูลฯ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตการ ‘เฆี่ยน’ นั้นไม่ใช่ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ’ (รัชกาลที่๖) แต่เป็น ‘พลเอก พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช’ ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ โดยเป็นการลงโทษตาม ‘กฎว่าด้วยอํานาจลงอาญาทหารบก’ ที่มีโทษอยู่ ๗ ประการคือ 

๑.โบย 
๒.จําขัง 
๓.กักขัง 
๔.ยังมืด 
๕.กักยาม 
๖.ทัณฑกรรม 
๗.ภาคทัณฑ์ 

เพราะทหารเหล่านั้นมีความผิดฐานออกนอกกรมกองในเวลาวิกาล แล้วไปวิวาทกับบุคคลพลเรือน เป็นเรื่องผิดวินัยอย่างร้ายแรง จนเมื่อรัชกาลที่ ๖ ทรงครองราชย์ กฎการโบยนี้ได้ถูกยกเลิกเพราะพระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับการโบยตีทหาร 

แต่แค่เริ่มต้นด้วยการเสียศักดิ์ศรีเพราะการ ‘เฆี่ยน’ หรือ ‘โบย’ นั้นมันน่าจะยังไม่เพียงพอ เราก็มาพออีกบันทึกหนึ่งเพื่อยืนยันความชอบธรรมในการจะเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะกบฎ ร.ศ.๑๓๐ มาจากบทความ ‘ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจรีญของประเทศ’ (สะกดตามต้นฉบับ) เขียนโดย ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์) นายทหารหัวหน้าคณะผู้ก่อการกบฏ ร.ศ.๑๓๐ ซึ่งใส่ร้ายและยัดเยียดการปกครองโดยกษัตริย์ให้เป็นสิ่งชั่วร้าย ดังระบุว่า

“… การปกครองประเทศตามวิธีนี้ เป็นวิธีที่ร้ายแรงมาก เพราะกระษัตริย์มีอำนาจเต็มที่ โดยอยู่เหนือกฎหมาย กระษัตริย์กระทำการชั่วร้ายอย่างหนึ่งอย่างใดก็ทำได้ เพราะไม่มีใครขัดขวาง ...ราษฎรที่ไม่มีความผิด กระษัตริย์จะเอามาเฆี่ยนตีหรือฆ่าฟันและจองจำได้ตามความพอใจ ทรัพย์สมบัติแลที่ดินของราษฎรนั้น กระษัตริย์จะเบียดเบียนมาแลกเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวได้โดยไม่มีขีดขั้น อย่างไล่ที่ทำวังเป็นต้น …” 

รวมไปถึงการโจมตีในหลวงรัชกาลที่ ๖ ในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านของการจัดการราชการ เรื่องเสือป่า เรื่องข้าราชบริพารส่วนพระองค์ จนสุดท้ายนอกจากความคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กลายมาเป็นการ ‘ลอบสังหาร’ ในหลวงรัชกาลที่ ๖ เพื่อเปลี่ยนกษัตริย์ใหม่ โดยมือสังหารมีที่มาจากการ ‘จับสลาก’

ไหน? ว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบใหม่ ? 

จากคำให้การของคณะกบฏ ร.ศ.๑๓๐ พวกเขาอยากจะเปลี่ยนแปลงทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีข้อสรุปเลยว่าจะเปลี่ยนเป็นระบอบไหน จะเป็นแบบญี่ปุ่นที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญโดยมีการทหารนำ หรือจะเป็นแบบสาธารณรัฐ แบบฝรั่งเศส แต่ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ นอกจากประโยชน์ที่จะเกิดกับตัวพวกคณะเอง

เนื้อหาในการประชุมที่มักจะมีแต่จะยกใครขึ้นเป็นกษัตริย์หรือเป็นประธานาธิบดี เช่น ถ้าเปลี่ยนกษัตริย์ ก็จะทูลเกล้าฯ ถวายราชบัลลังก์แก่ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ’ เพราะพระองค์เป็นทหารสามารถสร้างความเข้มแข็งที่นำโดยทหารได้แน่ (ประชาธิปไตยแบบไหน?) แต่ถ้าเป็นสาธารณรัฐ ประธานาธิบดีก็ต้องเป็น ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์’ หรือจะเอายังไง ? ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปเพราะวนอยู่เท่านี้ 

แต่ในมุมกลับกัน เรื่องการปรับเปลี่ยนการปกครองนั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงศึกษาธิการ เร่งรัดจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ ซึ่งมีการจัดแผนการศึกษาแห่งชาติเป็นระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ให้ไปสร้างโรงเรียนประชาบาลให้ครบทุกตำบลภายใน ๑๕ ปี นับแต่ทรงครองราชย์ เพื่อที่จะให้การศึกษา ให้ความรู้ด้านการปกครอง อันจะเป็นจุดเริ่มต้นในการพระราชทานการปกครองท้องถิ่นให้กับราษฎร อันเป็นรากฐานไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่พระองค์เรียกว่า ‘คอนสติตูชั่น’

ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ท่านทรงเข้าพระทัยดีในเรื่องของรูปแบบการปกครองสมัยใหม่ ดังที่ปรากฎในพระราชบันทึกเรื่อง ‘คอนสติตูชั่น’ และ ‘โสเชียลิสม์’ ที่ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ หนึ่งปีก่อนจะเกิดกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ โดยความตอนหนึ่งระบุว่า 

‘คอนสติตูชั่น’ ว่า “ถ้ามีผู้ต้องการ ‘คอนสติตูชั่น’ จริงๆ และเปนไปได้จริง จะเปนคุณอย่างใดฤาไม่ แต่ถ้าแม้ต่างว่ามีคนจำพวก ๑ ซึ่งตั้งใจดีจริง มีความมุ่งดีต่อชาติจริง จะมาร้องฎีกาขึ้นโดยตรง ๆ ขอให้มีคอนสติตูชั่น เราเองจะไม่มีความแค้นเคืองเลย ตรงกันข้าม เราจะยอมพิจารณาดูว่า จะสมควรยอมตามคำขอร้องของคนนั้นฤาไม่ ถ้ามีคอนสติตูชั่นได้จะยิ่งดี...” 

นอกจากนั้นพระองค์ก็เข้าใจลักษณะการปกครองที่มีรัฐธรรมนูญดังข้อความที่ว่า 

“..คุณแห่งลักษณปกครอง โดยมี ‘คอนสติตูชั่น’..นั้นเปนการตัดความไม่แน่นอนไปได้มาก เพราะอำนาจไม่ได้อยู่ในมือคนๆเดียว ซึ่งแม้ว่าจะดีฤาชั่วปานใดก็เปลี่ยนไม่ได้ ประชาชนได้เสียงในการปกครองชาติบ้านเมืองของตนเอง ...และถ้าแม้จะกล่าวไปแต่โดยทางว่าเปนแบบแผนดีฤาไม่คงไม่มีใครเถียงเลย คงต้องยอมรับว่าดีทั้งนั้น” 

ถ้าคุณอ่านถึงตรงนี้คุณจะเห็นภาพการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในเรื่องของการปรับเปลี่ยนการปกครองของพระมหากษัตริย์ของเรา จากรัชกาลที่ ๕ มารัชกาลที่ ๖ ไปสู่รัชกาลที่ ๗ จนเกิดการยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ทุกพระองค์จะมุ่งเน้นให้เกิดการศึกษาและสร้างรากฐานเสียก่อน เพื่อไม่ให้การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนั้น ‘เสียของ’ แต่บรรดาผู้อยากเปลี่ยนแปลงไม่เคยมองมุมนี้กันเลย คิดแต่ว่า ‘ยึดอำนาจ’ ก่อน แล้วค่อยคิดทีหลังเสมอ ๆ 

มาถึงตรงนี้ กบฏ ร.ศ. ๑๓๐ เราจะเห็นม่านเทา ๆ จากความไม่ชัดเจนในการก่อการ และการมีข้อมูลที่ช่างย้อนแย้ง เอาแน่เอานอนไม่ได้ จนกลายเป็นหอกทิ่มแทงคณะผู้ก่อการกันเอง แต่เผอิญว่าหอกมันทิ่มมาเร็วกว่าคณะราษฎร ๒๔๗๕ เลยกลายเป็นกบฏ 

แต่ที่พอจะยืนยันได้ กบฏ ร.ศ. ๑๓๐ ไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็น ‘ระบอบประชาธิปไตย’ จริง ๆ หรอก 

เมื่อใต้ร่มไม้ใหญ่-ผืนป่า-ลำธาร ก่อกำเนิด 'ชีวิต-ทอแสงส่องให้ทั่วหล้า' แล้วเหตุไฉน จึงมีผู้ชี้นำว่า 'ความมืดมิด' คิดว่าเกิดจากร่มไม้ใหญ่

“ถูกปลูกฝังว่าเราควรอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ จนสุดท้ายเรามองไม่เห็นแสงเลย #แล้วเมื่อไหร่เราจะเติบโตสักที” คำคมจากศิลปินท่านหนึ่ง ที่กลายเป็นข้อถกเถียงกันพอสมควรว่าหมายถึงอะไร ศิลปินท่านนั้นหิวแสง หรือกำลังพูดถึงการเติบโตแบบไหน 

ที่ผมเกริ่นมาข้างต้นนั้นช่างมันเถอะ คำคมของศิลปินท่านนั้นก็ช่างมันเถอะ!!!

สำหรับผมต้นไม้ใหญ่เป็นสิ่งสำคัญ ร่มไม้ที่มีอยู่คือความร่มเย็น การอยู่ใต้ร่มไม้เราก็เห็นแสงได้ ซึ่งข้อนี้คงขัดกับสิ่งที่ศิลปินท่านนั้นแสดงความคมแบบทื่อ ๆ ไว้

ความสำคัญของต้นไม้ใหญ่ที่ปกคลุมช่วยทำให้พืชพรรณเบื้องล่างชุ่มชื้นไม่โดนแสงแดดแผดเผา ประเทศไทยเราต้องการต้นไม้ใหญ่จำนวนมากเพื่อช่วยฟอกอากาศ ช่วยเก็บกักความชุ่มชื้นไว้ในผืนดิน ช่วยอุ้มชูต้นไม้เล็กให้ค่อย ๆ โตเป็นต้นไม้ใหญ่ 

ร่มไม้ใหญ่ที่ผมนึกถึงและอยากเล่าเรื่องราวคงจะเป็นเมื่อครั้งที่ได้ไปทำฝายทดน้ำที่เรียกว่า ‘ฝายแม้ว’ ที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อถวายแก่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในปี ๒๕๔๙ 

ครั้งนั้นผมเริ่มต้นด้วยการสำรวจที่พื้นที่ป่าตามเส้นทางชมธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ซึ่งในวันนั้นผมได้มีโอกาสสัมผัส ‘ป่า’ ที่อุดมไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ โดยการนำทางของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เส้นทางธรรมชาติที่คุณห้ามออกนอกทางเป็นอันขาดไม่งั้นหลงป่าแน่นอน 

เราเดินกันมาได้ราว ๆ ครึ่งชั่วโมง เดินพูดคุยกันแบบสบาย ๆ แม้จะเส้นทางจะมีความลำบากอยู่บ้าง เพราะเป็นทางขึ้น ๆ ลง ๆ แคบบ้าง กว้างบ้าง แต่ไม่มีความรู้สึกว่าร้อนเกินไป หรือเย็นเกินไป ด้วยร่มไม้จากป่าที่ปกคลุม พร้อมกับการได้รู้จักพันธุ์ต้นไม้ไม่คุ้นหู อย่าง น้ำเต้าพระฤาษี แต่ที่สำคัญกว่าผมได้พบกับความจริงที่สำคัญอย่างนึง

เจ้าหน้าที่อุทยานถามผมขณะเดินว่าสังเกตเห็นอะไรในป่าบ้างไหม ? คุณเห็นต้นไม้ที่หนาแน่นมีลักษณะยังไงบ้าง ? ผมนี่งงเลย มันก็ป่า มีต้นไม้แน่น แล้วมันยังไง ? 

ต้นไม้ที่หนาแน่นนั้น หากสังเกตดี ๆ มันมีความเป็นระเบียบเป็นบางส่วน คำว่า ‘บางส่วน’ ที่ว่ามันกินพื้นที่ ‘บางส่วน’ ของภูเขาที่ผมกำลังมองเห็นไม่ใช่บางส่วนเล็ก ๆ แต่มันเป็นบางส่วนที่ค่อนข้างกว้าง ป่าที่เห็นรวม ๆ จะเป็นป่าไม้เต็ง ส่วนที่เป็นระเบียบแทรกอยู่เป็นต้น ‘สัก’ ซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะแถวๆ ริมห้วย

ป่าไม้ ‘สัก’ ที่เห็นเป็นระเบียบแต่ปกคลุมไปอย่างกว้างขวางนั้น เจ้าหน้าที่บอกผมว่าแต่เดิมมันเคยเป็นที่ ‘หัวโล้น’ เป็นวง ๆ อยู่ท่ามกลางภูเขา เพราะเกิดจากแผ้วถางทำไร่เลื่อนลอย ลักลอบตัดไม้ และน่าจะขยายวงไปมากกว่านี้ แต่พื้นที่ ‘หัวโล้น’ เหล่านี้ค่อย ๆ หายไปเพราะได้รับการปลูกป่าทดแทน จากการสังเกตของบุคคลผู้หนึ่งที่ได้นั่งเฮลิคอปเตอร์ผ่านไปเมื่อประมาณสัก ๑๐ กว่าปีก่อน

ป่าที่ถูกปลูกขึ้นเพื่อทดแทนป่าที่หายไป โดยเป็นการปลูกพันธุ์ไม้ที่ไม่ได้รบกวนระบบนิเวศเดิม ช่วยรักษาความชุ่มชื้นหน้าดิน และตลอดทางที่เดินผ่านจะเห็นทางน้ำขนาบไปด้วย แม้จะไม่มีน้ำแต่ก็มีความชุ่มน้ำอย่างเห็นได้ชัด

บางส่วนที่มีลำน้ำไหลผ่านผมก็จะเห็นฝายแม้วที่ทำขึ้นจากไม้ไผ่และก้อนหิน ขนาบสองฝั่งลำน้ำเล็กๆ ด้วยต้นไม้ใหญ่ปกคลุม 

‘ในหลวงรัชกาลที่๙’ คือบุคคลผู้นั่งเฮลิคอปเตอร์ผ่านไปในวันนั้น พระองค์ทรงสังเกตเห็นความแหว่งของป่า สีของป่าที่ดูเหมือนคนป่วย พระราชดำริในการปลูกป่าในภาคเหนือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผสมกับการสร้างฝายแม้วเพื่อชะลอและกักเก็บน้ำให้เกิดประโยชน์ต่อการเกษตร เจ้าหน้าที่ท่านนั้นบอกกับผม 

นอกจาก ‘ป่าไม้’ จริง ๆ ที่พระองค์ทรงปลูกแล้ว พระองค์ยังทรง ‘ปลูกป่าในใจ’ ให้เกิดขึ้นใจของปวงชนด้วย ผมก็เป็นหนึ่งคนที่จดจำความร่มเย็นจากป่าที่พระองค์ทรงปลูกไว้ได้อย่างเต็มหัวจิตหัวใจ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระองค์ที่ว่า

“…ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...” 

เรื่องออกจากร่มไม้ใหญ่หรือเรื่องการเติบโต หากยังไม่รู้จัก และจะออกจากร่มไม้ก็ช่างมันเถอะนะครับ ส่วนเจ้าหน้าที่ท่านนั้นก็ได้พูดคุยกับผมมาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นเพื่อนกัน และส่งข่าวคราวหากันอยู่บ่อย ๆ และเราเห็นตรงกันครับว่า...

บ้านเราต้องมีต้นไม้ มีป่า มีน้ำ แล้วเราถึงจะมี ‘ชีวิต’ ครับ

‘อีสาน ๒๔๙๘’ ต้นกำเนิด ‘ฝนหลวง’ เพื่อปวงชน ความคิดสร้างสรรค์ที่คนรุ่นใหม่บางคน ไม่เคยมี

๑๔ พฤศจิกายนของทุกปี ถือเป็น ‘วันพระบิดาแห่งฝนหลวง’ ที่มักจะมีทีมงานสัมภเวสีออกมาดิ้น ปรักปรำ และด้อยค่า ‘ฝนหลวง’ เพื่อปวงชนของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยใส่ชุดความคิดที่ว่า “ในหลวงภูมิพลลอกความคิดเรื่องฝนหลวงมาจากฝรั่ง” ให้กับกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าคนรุ่นใหม่ เพื่อด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งชุดความคิดแบบนี้เมื่อใส่เข้าไปแล้วก็ไม่มีการพิสูจน์หรือหาข้อมูลเพิ่มเติม ได้แต่พร่ำบอกต่อกันไปราวกับนกแก้ว นกขุนทอง 

สรุปแล้วก็งงเหมือนกันว่า คนรุ่นใหม่บางคนทำไมถึงคิดกันได้เพียงเท่านี้? 

ถ้าจะเล่าเรื่องการเกิด ‘ฝนหลวง’ ก็อยากจะย้อนเชื่อมโยงไปกับการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรอีสานระหว่างวันที่ ๒-๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ที่เส้นทางเสด็จฯ ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ นั้น จะต้องผ่านพื้นที่ทุรกันดารมากมาย ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะถึงจุดหมาย

ระหว่างเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินฯ ในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งยี่ห้อเดลาเฮย์ ซีดานสีเขียว จากจังหวัดนครพนมไปจังหวัดกาฬสินธุ์ ผ่านจังหวัดสกลนครและเทือกเขาภูพาน พระองค์ได้พบความขัดแย้งกันของความแห้งแล้งในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่พระองค์ต้องทรงแก้ไข 

เรื่องมีอยู่ว่าพระองค์ได้ทรงสอบถามราษฎรเกี่ยวกับความเสียหายทางการเกษตรที่คาดว่าน่าจะเกิดจากความแล้ง แต่กลับกันทรงพบว่า มันเกิดขึ้นจากน้ำท่วม ทั้ง ๆ ที่พื้นที่โดยรอบมีแต่ดินแดงและฝุ่นฟุ้งกระจายไปทั่ว ส่วนพอถึงหน้าแล้งก็ไม่มีฝน ไม่มีน้ำที่สามารถจะใช้เพื่ออุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรได้ ทั้งที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆเป็นกลุ่มก้อน สรุปคืออีสานมีทั้งน้ำท่วมและฝนแล้ง ไม่มีสิ่งที่จะแก้ไขได้...แต่พระองค์ไม่ทรงคิดอย่างนั้น

ด้วยความที่พระองค์ทรงเป็น ‘นวัตกร’ การแก้ปัญหาความขัดแย้งจนเป็นปัญหาปากท้องของราษฎรจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ปัญหาแรกคือน้ำท่วม เพราะการท่วมเกิดขึ้นจากไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ หรือพื้นที่ชะลอน้ำ เรื่องนี้ถูกแก้ด้วย ‘ฝายน้ำล้น’ และ ‘เขื่อน’ ขนาดเล็ก ๆ เพื่อชะลอและรองรับน้ำ ไม่ให้เกิดการชะล้างหน้าดินและสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร

ส่วนอีกเรื่องคือ ‘ฝน’ เป็นเรื่องที่พระองค์ทรงขบคิดและนำมาต่อยอดเมื่อกลับจากการเสด็จฯ ภาคอีสานแทบจะในทันที 

“...แต่มาเงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไมจะดึงเมฆนี่ลงมาให้ได้ ก็เคยได้ยินเรื่องการทำฝน ก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้ มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้...”

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ซึ่งเป็นวิศวกรประดิษฐ์ควายเหล็ก ที่มีชื่อเสียงเข้าเฝ้าฯ และพระราชทานแนวความคิดนั้น พร้อมๆ กับที่พระองค์ได้ทรงเริ่มต้นลงมือทำการค้นคว้าทดลอง ประดิษฐ์คิดค้น และปฏิบัติการทดลองจริงในท้องฟ้า มิได้ทรงปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ คือทรงหาทั้งคนช่วยคิด ช่วยทำและทรงค้นคว้าพร้อมทรงปฏิบัติเองด้วยเพื่อความรวดเร็ว  

สำหรับการสร้าง ‘ฝนเทียม’ ที่คนรุ่นใหม่ถูกหลอกว่าฝรั่งเขาคิดได้ ในหลวง ร.๙ ไปลอกเขามา เรื่องนี้คนเชื่อต้องมีอคติบังตาขนาดไหน? และต้องไม่ศึกษาหาความรู้เบอร์ไหน? ถึงหลงเชื่อได้ขนาดนั้น 

‘พระองค์ไม่ได้ทรงคิดทดลองสร้างฝนเทียมเป็นคนแรก’ อันนั้นถูกต้อง!! เพราะผู้คิดทดลอง คือ นาย วินเซนต์ เชฟเฟอร์ และ เออร์วิง ลองมัวร์ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยใช้ส่วนประกอบหลักในการสร้างฝนเทียมคือสาร Silver Iodide ที่มีคุณสมบัติทำให้เมฆมีความเย็นเหนือจุดเยือกแข็ง ด้วยการโปรยสารนี้ลงมาจากเครื่องบินหรือปล่อยให้ลมหอบขึ้นไป จะทำให้ไอน้ำเกิดการควบแน่น และหนักมากพอจนตกลงมาเป็นฝน 

ดังนั้นหลักสำคัญของวิธีการนี้คือ ‘ปล่อยให้ลมหอบอนุภาคขึ้นไป’ หรือ ‘ปล่อยอนุภาคลงมา’ นั่นเอง ซึ่งว่ากันตามจริง มันคือ ‘เม็ดฝนตามยถากรรม’ ตามสารเคมีที่ใครก็ทดลองได้ ไม่ได้เป็นสิทธิบัตรทางความคิดอะไร ทั้งยังไม่เหมือนวิธีการทำ ‘ฝนหลวง’ แล้วจะเรียกว่าลอกได้อย่างไร?    

แน่นอนว่า ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ และนักคิดค้นอย่างพระองค์ ทรงต้องทรงอ่านการผลการทดลองนี้เป็นแน่แท้ ตามที่พระองค์ได้พระราชทานแนวความคิดต่อ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ว่า “...เคยอ่านหนังสือ...ทำได้” 

กระนั้น พระองค์จึงทรงคิดค้นและต่อยอดเพื่อให้ ‘ฝน’ ของพระองค์ ‘ควบคุมได้’ ไม่ได้สักแต่เอาสารเคมีไปโปรยเพื่อให้เกิดฝนตามยถากรรม 

ก่อกวน - เลี้ยงให้อ้วน - โจมตี ๓ ขั้นตอนที่พระองค์ทรงทดลอง สู่เทคนิคที่เรียกว่า ‘Super Sandwich’ ลงรายละเอียด จนเกิดเป็น ‘ฝนเทียม’ ที่มีประสิทธิภาพ มากกว่าการโปรยแค่สารเคมีอย่างเดียวอย่างที่ฝรั่งเขาทำกัน ซึ่งกระบวนการสร้าง ‘ฝน’ ของพระองค์ได้รับสิทธิบัตร ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕ เนื่องจากเป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นตอนที่สูงขึ้น เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรม 

ทั้งนี้ ‘ฝนหลวง’ ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้รับการยอมรับในหมู่นักวิทยาศาสตร์, องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และอุตุนิยมวิทยาระดับโลก จนในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ‘ฝนหลวง’ ก็ได้รับสิทธิบัตรโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนในต่างประเทศ สำนักสิทธิบัตรยุโรป (EPO) ก็ขึ้นทะเบียน ‘ฝนหลวง’ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาตามหมายเลข ‘EP1491088’ อีกทั้งยังมีสิทธิบัตรอยู่ในประเทศอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้าแค่การโปรยสารเคมีบางอย่างลงบนเมฆแล้วเกิด ‘ฝนเทียม’ แต่ควบคุมไม่ได้ มีเม็ดฝนแล้วแต่บุญแต่กรรม ‘ฝนหลวง’ ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก็คงไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ 

แน่นอนว่า คนรุ่นใหม่ที่อยากด้อยค่าสถาบันฯ ก็คงคิดแต่มุมที่พระองค์ทรงลอกฝรั่งมา ก็วนอยู่แค่นั้น และไม่ได้สำเหนียกรู้เลยว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องผ่านการค้นคว้า ทดลอง จนเกิดเป็นงาน ‘Original’ มันเป็นแบบไหน?

‘ฝนหลวง’ ไม่เพียงแค่ช่วยราษฎรชาวอีสาน แต่ยังช่วยราษฎรในภูมิภาคอื่น ๆ อีกด้วย การคิดค้น ต่อยอดด้วยความสร้างสรรค์ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ท่านทรงทำให้ดูแล้ว เกิดผลจริงแล้ว พิสูจน์ได้ ไม่ใช่ ‘ฝนเทียม’ จากสาร Silver Iodide ที่กระจัดกระจายและไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สร้างสรรค์และพิสูจน์อะไรไม่ได้สักอย่างเดียว

‘ในหลวง ร.๙’ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมประชาชนภาคอีสาน จุดเริ่มต้น ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ร่วงหล่นจากตำแหน่ง

พอถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ภาพประวัติศาสตร์หนึ่งที่จะวนมาให้เราได้ระลึกถึงกัน ก็คือการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรภาคอีสานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ ๙) ระหว่างวันที่ ๒ - ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรในภาคกลางมาแล้วในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ซึ่งในครั้งนั้นถือว่าเป็นการเสด็จฯ ครั้งประวัติศาสตร์ เพราะไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสด็จฯ ทั่วทั้งภาคอีสานมาก่อน จะมีก็เพียง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่เคยเสด็จฯ ประพาสต้น จังหวัดนครราชสีมาโดยทางรถไฟเป็นการส่วนพระองค์ 

การเสด็จพระราชดำเนินประพาสอีสานและประเทศไทยในครั้งนั้นเกิดขึ้นจากการสนับสนุนของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น 

ทำไม ? จอมพล ป. จึงสนับสนุนการเสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎร ต่างจังหวัด ของรัชกาลที่ ๙ 

สืบเนื่องจากรัฐบาลพม่าโดยนายกรัฐมนตรีอูนุ ได้กราบบังคมทูลเชิญในหลวงรัชกาลที่ ๙ เยือนสหภาพพม่าเพื่อทรงเปิดการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก ‘ฉัฏฐสังคายนา’ แต่ด้วยการกราบบังคมทูลเชิญในครั้งนั้นถือว่าไม่เป็นทางการเนื่องจากไม่ได้เป็นการเชิญโดยประมุขประเทศคือประธานาธิบดีบาอู พระองค์จึงทรงปฏิเสธ 

แต่จอมพล ป.เองก็ต้องการใช้การเสด็จฯ เยือนพม่าในคราวนี้ เพื่อสนับสนุนนโยบายการต่างประเทศ และการเมืองภายในประเทศของตน ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงตระหนักดีว่า พระองค์สามารถใช้เรื่องนี้ต่อรองทางการเมืองกับรัฐบาลได้ โดยพระองค์มีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัดเป็นการแลกเปลี่ยนกับการเสด็จฯ เยือนพม่าตามความต้องการของรัฐบาล

การต่อรองนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานที่ จอมพล ป. ต้องการฟื้นฟูบทบาทและกระชับความสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากมองว่าตนเองกำลังสู่ขาลง และการใช้ประโยชน์จากสถาบันฯ จะเป็นโอกาสที่ตนจะมีฐานทางการเมืองที่มั่นคงมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นนอกเหนือจากการเสด็จพระราชดำเนินในที่ต่างๆ แล้ว จอมพล ป.ยัง สนับสนุนให้ฟื้นฟูกรมกองและพระราชพิธีต่างๆ ที่ถูกยุบไปโดยคณะราษฎรขึ้นมาอีกครั้ง แม้บางอย่างจะเป็นไปในแบบย่นย่อก็ตาม

กลับมาเรื่องของการเสด็จพระราชดำเนินประพาสอีสานกันต่อ จากการต่อรองที่เกิดขึ้น ทำให้ จอมพล ป. กุลีกุจอในการวางแผนการเสด็จฯ ของในหลวง ร.๙ ไว้ ๓ ภาค คือ ภาคอีสาน, ภาคกลาง และภาคเหนือตลอดช่วงฤดูแล้งของปี ๒๔๙๘ โดยก่อนที่พระองค์จะเสด็จฯ เยือนภาคอีสาน พระองค์ทรงขอให้รัฐบาลจัดแผนการเสด็จฯ ไปยังบางจังหวัดในภาคกลาง ซึ่งจอมพล ป. ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับสนองพระบรมราชโองการทันทีพร้อมอนุมัติเงินจำนวน 260,000 บาท เพื่อใช้ในการซ่อมแซมที่ประทับ ค่าใช้จ่ายในการเสด็จฯ และค่าพระกระยาหาร … เรียกว่าใจป้ำสุดๆ 

ข่าวการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคอีสานได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว การร่ำลือปากต่อปากก็ทำให้แพร่ไปอย่างทั่วถึง ประชาชนแม้ในถิ่นทุรกันดารต่างหอบเสื่อหอบหมอน ข้าวปลาอาหาร จูงลูกจูงหลาน ชักชวนกันมาเฝ้า ทั้งในตัวเมืองที่กำหนดเป็นสถานที่รับเสด็จฯ หรือตามเส้นทางเสด็จผ่านทางถนนและทางรถไฟ อย่างที่สถานีรถไฟนครราชสีมา มีราษฎรมาเฝ้ารับเสด็จเป็นแสนคน โดยเดินทางมาจากอำเภอต่างๆ ทำให้โรงแรมในเมืองทุกแห่งเต็มหมดจนต้องพักกันตามศาลาวัด

“บารมีของในหลวงองค์นี้ล้นเหลือนัก” 
“เหมือนฟ้ามาโปรด” 
“แต่นี้ไปความแห้งแล้งจะหมดไปจากอีสานละ”  
“ฮ้อนปานใดก็ฮีดได้ ขอเห็นเจ้าอยู่หัวคักๆ เถอะ” 

คำเหล่านี้คือ คำพูดจากประชาชนเมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จฯ โดยมีภาพจำตลอดสองข้างทางที่เสด็จฯ นั้น คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่อยากจะชื่นชมพระบารมี แม้มืดค่ำก็ไม่ได้มีความย่อท้อ ทั้งยังตั้งโต๊ะบูชาเรียงรายไว้เป็นแถว จุดธูปเทียน ทำให้แสงเทียนแวววาวอยู่ในความมืดทั้งสองฟากถนน เป็นภาพที่งดงาม ประชาชนต่างนั่งพนมมือขณะที่รถพระที่นั่งผ่าน

ในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ ประวัติศาสตร์ชาติไทยต้องจารึกว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จฯ ไปสักการะพระธาตุพนม และภาพประวัติศาสตร์นึงที่เกิดขึ้น ณ จังหวัดนครพนมนี้ก็คือภาพที่ ในหลวง ร.๙ ทรงหยุดพระราชดำเนินที่แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ วัย ๑๐๒ ปี และโน้มพระองค์ลงจนพระพักตร์แทบแนบชิดศีรษะแม่เฒ่า แย้มพระสรวลด้วยความเมตตา พระหัตถ์แตะมือกร้านของแม่เฒ่าด้วยความอ่อนโยนถือได้ว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์ ซึ่งแสดงถึงความอ่อนโยนของพระองค์ ที่ทรงน้อมพระองค์ลงสู่ราษฎร อันเป็นข้อหนึ่งในทศพิธราชธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์

การเสด็จฯ เยือนต่างจังหวัดได้เปิดโอกาสให้ประชาชนร้องทุกข์ต่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดยตรงแทนที่จะยื่นเรื่องผ่านส่วนราชการ ทำให้ข้าราชการได้ตื่นตัวเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ มากขึ้น เรียกได้ว่าไม่เคยเกิดขึ้นผ่านระบบการปกครองของพรรคการเมืองหรือคณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ ๒๔๗๕ เป็นต้นมา และในการเสด็จฯ เยือนภาคอีสานในครั้งนี้ รัชกาลที่ ๙ ยังได้ทรงพบกับ กระต่าย โดนสโสฤทธิ์ และ ผุย ชนะนิกร นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรลาว ซึ่งเดินทางข้ามชายแดนมาเข้าเฝ้าฯ พระองค์ที่หนองคายด้วย โดยนายกฯ ลาว ถึงกับประหลาดใจที่คนไทยให้การต้อนรับในหลวงอย่างที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิตนี้ 

แต่คนที่น่าจะประหลาดใจที่สุดน่าจะเป็น จอมพล ป. พิบูลสงคราม เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยือนราษฎรภาคอีสานในครั้งนี้ สำหรับในหลวงรัชกาลที่ ๙ ถือว่าเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักของประชาชนให้แก่พระองค์ และสำหรับจอมพล ป. แล้ว การสนับสนุนการเสด็จฯ ในครั้งนี้อาจเป็นนโยบายทางการเมืองที่ผิดพลาด เพราะนอกจากจะไม่สามารถสร้างความนิยมชมชอบตัวเขาในหมู่ประชาชนได้แล้ว กลับกลายเป็นว่าความชอบธรรมทางการเมืองและสังคมของจอมพล ป. กำลังถูกท้าทายจากบทบาทใหม่ของรัชกาลที่ ๙ ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบของประชาชน ซึ่งกลายเป็นชนวนที่ต่อมาจอมพล ป. ลดงบประมาณการเสด็จพระราชดำเนินภาคเหนือของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ลง 

พร้อมด้วยทัศนคติของจอมพล ป. ที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ นั้น ‘ย่ำแย่ลง’ ตามอุปนิสัยของท่านจอมพล ที่เรียกได้ว่า ‘ขี้อิจฉา’ โดยเฉพาะจุดแตกหักเกิดขึ้นหลังจากงาน ‘งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ’ หนังสือพิมพ์ที่ควบคุมโดย จอมพล ป. และ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์  ที่ชื่อว่า ‘ไทเสรี’ ได้ลงข่าวโจมตีพระราชวงศ์อย่างหยาบคาย (เป็นการพาดหัวข่าวในลักษณะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ)

กระแสของสังคมได้โต้กลับหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นอย่างรุนแรง รวมทั้งการอภิปรายโจมตีรัฐบาลอย่างหนักหน่วง ทำให้ความนิยมในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เป็นมาอย่างยาวนาน เสื่อมลงไปอีก ทั้งยังสร้างความโกรธแค้นชิงชัง จอมพล ป. ให้เกิดขึ้นกับประชาชน จนเกิดเป็นการทำรัฐประหารยึดอำนาจจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่มีนักวิชาการตกขอบชอบยกเหตุการณ์นี้ว่าเกิดขึ้นจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทั้งๆ ที่องค์พระมหากษัตริย์ในสมัยจอมพล ป. แทบจะไม่มีพระราชอำนาจใดๆ เลย และบริบททางสังคมและการเมืองในสมัยนั้นต้องการมิ่งขวัญของปวงชนมากกว่าผู้นำเผด็จการที่ชอบแอบอ้างตนและหวังการใช้ประโยชน์จากองค์พระมหากษัตริย์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top