Friday, 31 May 2024
สถาพร บุญนาจเสวี

โจทย์ใหญ่!! การถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ ในวันที่ไทยมี ‘คนไม่ปกติ’ หมายคิดแต่จะล้มเจ้า

ผมอาจจะเขียนเรื่องนี้ช้าไปกว่าทุก ๆ คน แต่อยากให้เรื่องนี้เป็นเรื่องช้าที่ช่วยย้ำเตือนถึงพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ของพวกเราชาวไทย แม้ว่าคนอาจจะพยายามเปลี่ยนแปลงระบอบ ยกเลิกระบบ และแก้ไขกฎหมายอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งในสภาและนอกสภา

จากเหตุการณ์ป่วนขบวนเสด็จฯ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มันมีความจริงด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจราจรเมื่อขบวนเสด็จฯ และกฎหมายเกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยเมื่อมีขบวนเสด็จฯ ซึ่งหลายคนไม่เคยสนใจรับรู้ โดยเฉพาะเยาวชนที่เรียกตัวเองว่าผู้นำการเปลี่ยนแปลง (ซึ่งบางคนมันก็ไม่ใช่เยาวชนแล้วล่ะ) แต่มักจะทำผิดกฎหมายอยู่บ่อย ๆ โดยมักจะอ้างว่าตัวเองมีสิทธิ เสรีภาพในการกระทำการนั้น ๆ ผมอยากจะพรุสวาทเบ ๆ ด้วยคำสั้น ๆ ถึงพวกเขาเหล่านั้นว่า ‘ไอ้บ้า’ ประเทศมีกฎหมายถ้าอยากอยู่แบบทำอะไรก็ได้ ก็ไปอยู่ในสถานที่ ที่เขาไม่มีกฎหมาย แต่คงยากเพราะไปที่ไหนเขาก็มีกฎควบคุมทั้งนั้นสรุปคือ ‘ลำบาก’ กับการอยู่ละ!!

กลับมาดูกฎหมายที่ผมจะเล่ากันดีกว่า...

เริ่มต้นด้วยกฎหมายเกี่ยวกับขบวนเสด็จฯ โดยเฉพาะว่าด้วยการจราจร ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงห่วงใยราษฎรของพระองค์เมื่อมีการเสด็จฯ และจำเป็นต้องปิดการจราจร ทรงเกรงว่าการเสด็จพระราชดำเนินของพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ จะกระทบกับการเดินทางของประชาชน จึงให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดแนวทางอำนวยความสะดวกด้านการจราจรมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 โดยมีแนวทางในการปฏิบัติ 10 ข้อ ดังนี้….

1. ไม่ให้ปิดการจราจร เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางได้ตามปกติ

2.ในเส้นทางเสด็จฯ ให้จัดช่องทางเสด็จฯ และช่องทางประชาชน โดยใช้อุปกรณ์ เช่น กรวยยาง ป้ายไฟ เพื่อความสะดวก

3. เส้นทางฝั่งตรงข้ามทางเสด็จฯ กรณีที่มีเกาะกลางถนนเส้นทางฝั่งตรงข้าม สามารถใช้ได้ตามปกติ กรณีไม่มีเกาะกลางถนน ให้ใช้อุปกรณ์ เช่น กรวยยางวาง โดยประชาชนสามารถวิ่งตามเส้นทางที่จัดไว้ได้ตามปกติ

4. กรณีทางร่วมทางแยกให้ประชาชนใช้เส้นทางได้ตามปกติ โดยใช้วิธีการควบคุมรถ เช่น ใช้กรวยยางวางควบคุมกระแสรถ

5. สำหรับสะพานกลับรถ หรือสะพานข้าม ให้ประชาชนใช้ได้ตามปกติ

6. กรณีทางพิเศษที่มีด่านเก็บเงิน ให้วางแนวกรวยยางด้านซ้ายให้ประชาชนเดินรถได้ โดยให้เหลือช่องทางสำหรับขบวนเสด็จอย่างน้อย 2 ช่องทาง

7. กรณีเส้นทางร่วมทางแยก ไม่ให้บังคับให้ประชาชนเปลี่ยนเส้นทาง ให้คำนึงถึงความตั้งใจของประชาชนเป็นหลัก

8. เน้นย้ำในการวางอุปกรณ์ให้พิจารณาตามความเหมาะสม ให้คำนึงถึงเวลา ให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด

9. ใช้มาตรการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดกับทั้งประชาชนและผู้ปฏิบัติหน้าที่

10. ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นต้องลงไปกำกับดูแลด้วยตนเอง สำหรับผู้ปฏิบัติให้ใช้วาจา กิริยา ท่าทางด้วยความสุภาพ ไม่ให้ประชาชนรู้สึกว่าถูกบังคับ

การดำเนินการปรับรูปแบบการถวายการอารักขาระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลัก เพื่อถวายความปลอดภัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ในระดับสูงสุด เพื่อให้สมกับพระเกียรติ และเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ก็เลยไม่เข้าใจว่าเมื่อดำเนินการลักษณะดังกล่าวนี้แล้วทำไมยังไป ‘หนักศีรษะ’ ของหญิงสาวและชายหนุ่มคู่นั้นอีก (ไม่อยากพิมพ์ชื่อให้เป็นเสนียดคีย์บอร์ดครับ) หรือมันยังไม่สาแก่ใจในการ ‘ด่า’ และ ‘ความต้องการบางอย่าง’ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องเจ้า เรื่องนาย ทำให้ต้องรีบขับรถด้วยความเร็วเพื่อเข้าไปแทรกขบวนเสด็จฯ แต่เมื่อโดนกัก ก็ลงไปลำเลิก ว่ากล่าว เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ถวายการอารักขาอย่างคนไร้อารยะ ซึ่งเขาทั้งคู่คงลืมเรื่องกฎแห่งความปลอดภัยทางการจราจร และกฎหมายอีกหลายต่อหลายข้อ โดยเฉพาะกฎหมายตาม พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 ซึ่ง ‘ไอ้คนพวกนี้’ มันไม่เคยสนใจอยู่แล้ว แต่ผมขอตัดบางข้อใน พรบ. เพื่อนำไปสู่ข้อความสำคัญดังนี้...

การถวายความปลอดภัย หมายความว่า “การรักษาความปลอดภัยสําหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และให้หมายความรวมถึงการรักษาความปลอดภัยสําหรับผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์.....และบุคคลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นพระราชอาคันตุกะ....โดยครอบคลุม พระราชฐาน ที่ประทับหรือที่พัก...ขณะที่เสด็จฯ ไปหรือไปยังที่ใด รวมตลอดถึงการรักษาความปลอดภัยของ ยานพาหนะ และสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง”

โดยมี ‘หน่วยราชการในพระองค์’ และ ‘หน่วยงานรัฐ’ เป็นผู้รับผิดชอบ โดยไปอ่านฉบับเต็มได้นะครับ ไม่ยาวแค่ 3 หน้าสั้น ๆ ที่ https://www.royaloffice.th/wp-content/uploads/2018/09/พรบ-ถวายความปลอดภัย.pdf 

แต่คุณเชื่อไหม? ว่ากฎหมายฉบับนี้ก็มีช่องที่ทำให้พวกคนไร้อารยะเห็นช่องในการจะก่อการ เพราะกฎหมายฉบับนี้ไม่มีบทลงโทษใด ๆ ครับ จะเอาผิดไอ้คนพวกนี้ก็ทำได้แค่ ‘กฎหมายจราจร’ เท่านั้น (ซึ่งหลายคนจะพยายามโยงไปที่ ม.112 มันก็ไม่สามารถนะโยม อย่ามั่ว!! เพราะล่าสุดที่พวกมันโดนจับคือคดีเก่าล้วนๆ และเจตนาพวกมันก็ชัดว่าต้องการประทุษร้ายต่อพระบรมวงศานุวงศ์ โดนถอนประกันไม่ใช่เรื่องแปลก และจะโดน ม.116 ก็สมควรได้รับไปครับ) 

ปกติประเทศไทยของเรานี้ ไม่มีใครที่จะกระทำการอันมิบังควรต่อองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ นอกจากไอ้คนประเภทที่เราได้เห็นกันมานี่ล่ะครับ 

จากเหตุการณ์และกฎหมายที่ว่ามา ก็เลยทำให้สภาเดือดครับ เพราะเล็งเห็นแล้วว่ามี ‘คนไม่ปกติ’ อยู่ในสังคมไทยของเรา ทั้งยังกล้าที่จะกระทำการมิบังควรให้เกิดขึ้นโดยไม่มีจิตสำนึก จึงได้มีการผลักดันอย่างเต็มที่เพื่อ ‘เพิ่มโทษ’ และ ‘ลดจุดอ่อน’ พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 โดยเป็นโทษหนักต่างกรรมต่างวาระ ทั้งโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี และปรับถึง 500,000 บาท ในกรณีที่ก่อเกิดอันตรายต่อร่างกายและชีวิตขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งข้อนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นเป็นแน่ (ยกเว้นพวกมัน) 

แต่สภาก็ยังคงมีท่านผู้ทรงเกียรติหลายท่าน ‘ขวาง’ ทั้งยังไม่พูดถึงกรณีการละเมิดดังกล่าว แต่เฉไฉไปพูดถึงเรื่องความปลอดภัยและโทษที่ ‘คนไม่ปกติ’ ได้รับ ทั้งยังไปยกเรื่องการปะทะกันของกลุ่มคน โดยไม่สนใจถึงมูลเหตุที่ทำให้เกิดขึ้นเลยแม้แต่นิดเดียว ก็อย่างว่าน่าจะเป็น ‘พรรคพวกเดียวกัน’ หรือไม่ก็คงเป็น ‘คนไม่ปกติ’ เหมือนกัน ไม่แปลกที่ใครจะคิดไปในทางเดียวกันว่าพรรคของพวกท่านนั่นแหละที่อยู่เบื้องหลัง โดยอาจจะเป็นผู้นำจิตวิญญาณของท่านหรือสาวคางทูมเป็นผู้บงการก็ได้ 

อ่านมาถึงตรงนี้ทุกท่านมองว่าเราควรทำอย่างไรกันดี? เมื่อเรามีพวก ‘คนไม่ปกติ’ คิดแต่จะล้มเจ้าอยู่ทุกวัน

รู้จัก ‘เกาเหลา’ วาระแห่งสยาม เมื่อถึงงานเลี้ยงตรุษจีน จริงจังมากถึงขั้นต้องมี ‘เจ้ากรมเกาเหลาจีน’ ดูแลเฉพาะ

เนื่องในเทศกาลตรุษจีน ผมก็เลยอยากจะเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับตรุษจีนสักหน่อย แต่เรื่องของงานฉลอง ความเป็นมา การกราบไหว้บรรพบุรุษ เทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คงมีคนเขียนเล่าถึงกันเยอะแล้ว ผมเลยอยากจะขอเล่าเรื่องประกอบเทศกาลที่คนนึกไม่ค่อยถึงอย่างเรื่องของอาหาร โดยเฉพาะเรื่องของ ‘เกาเหลา’ ที่เมื่อกว่าร้อยปีก่อนเคยมี ‘กรมเกาเหลาจีน’ ซึ่งมีเจ้ากรมระดับท่านขุนเลยทีเดียว รวมไปถึงคำว่า ‘เหลา’ ที่เป็นขั้นสุดของอาหารหรูมันมีความเป็นมายังไง 

ย้อนกลับไปในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน กลุ่มเจ้าภาษีนายอากร หรือผู้มั่งมีชาวจีนในกรุงเทพฯ ต่างนำสิ่งของมาทูลเกล้าฯ ถวาย อาทิ ของสด หมู เป็ด ไก่ เป็นจำนวนมาก ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชปรารภว่า สิ่งของเหล่านี้ ควรจะได้เป็นไปในทางการกุศล จึงโปรดให้มีงานพระราชกุศลขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว โดยให้มีการเลี้ยงพระสงฆ์ที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยวันละ ๓๐ รูป 

นอกจากนี้สิ่งของที่บรรดาชาวจีนนำมาถวายในเทศกาลตรุษจีนแล้ว ยังโปรดให้บรรดาเจ้านายพระราชวงศ์ ท้าวนางในราชสำนัก จัดมาร่วมในเทศกาลตรุษจีนด้วย สิ่งนั้น คือ ‘ขนมจีน’ เนื่องจากชื่อเป็นไปในทางจีน โดยให้จัดมาเป็นเรือขนมจีนเพื่อถวายพระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วก็ได้เลี้ยงข้าราชการต่อไป

เทศกาลตรุษจีน จึงได้เข้าสู่ราชสำนักนับตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา จนเป็นธรรมเนียมที่จะมีการถวายภัตตาหารและเลี้ยงขนมจีนเรื่อยมา 

ครั้นมาถึงสมัยรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยและทรงรับสั่งว่า “การที่ทำบุญตรุษจีนเลี้ยงขนมจีนนั้นไม่ใช่ของจีน เป็นแต่สักว่าชื่อเป็นจีน ให้ทำ ‘เกาเหลา’ ที่โรงเรือนยกเข้ามาเลี้ยงพระสงฆ์แทนขนมจีน เป็นของหัวป่าก์ชาวเครื่องทำ...” 

ซึ่งการทำ ‘เกาเหลา’ น่าจะเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับชาววัง ณ ขณะนั้น เนื่องจากห้องพระเครื่องต้นในวังนั้นมีแต่แม่ครัวอาหารไทย ไม่มีผู้ใดที่สามารถปรุงอาหารอย่างจีนได้ ทั้งเกาเหลาในสมัยนั้นก็ประกอบไปด้วย ‘เครื่องในสัตว์’ ซึ่งถ้าไม่รู้วิธีทำก็จะไม่สะอาดและเหม็นคาว จึงจำเป็นต้องใช้ ‘กุ๊กชาวจีน’ ผู้สันทัดในการนี้ 

ความสำคัญของ ‘เกาเหลา’ ในครั้งนั้น ทำให้เกิดตำแหน่งราชการใหม่ขึ้นในครั้งนั้นคือ ‘เจ้ากรมเกาเหลาจีน’ ซึ่งมีหลักฐานในราชกิจจานุเบกษาครั้งรัชกาลที่ ๔ ว่า...

“...ให้ตั้ง จีนเอ้ง เป็น ขุนราชภัตการ จางวางจีนช่างเกาเหลา พระราชทานให้ถือศักดินา ๕๐๐ ทำราชการตั้งแต่ ณ วันจันทร์ เดือนแปด บุรพาสารทแรมสิบค่ำ ปีมะเมียสัมฤทธิศก...” 

ขุนราชภัตการคนนี้ ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็น ‘หลวงราชภัตการ’ โดยมีธิดาคนหนึ่งของคุณหลวงท่านนี้ชื่อ ‘เพ็ง’ ได้ถวายตัวทำราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอมอยู่งานในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าจอมมารดาเนื่องจากมีพระราชธิดาคือ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้านงคราญอุดมดี’ 

สำหรับคำว่า ‘เกาเหลา’ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ให้ความหมายไว้ว่า…

เกาเหลา [-เหฺลา] น. แกงมีลักษณะอย่างแกงจืด. (จ.). จากหนังสือ ‘วันก่อนคืนเก่า’ โดย ส.พลายน้อย ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจคือ ตามความหมายเดิมของคำว่า ‘เกาเหลา’ (เกาโหลว) แปลว่า ‘ตึกสูง’ คนไทยเราเห็นอาหารชนิดนี้ทำขายในร้านอาหารจีนที่เรียกว่า ‘เหลา’ หรือ ‘เกาเหลา’ จึงได้เรียกแกงจืดที่ทำขายบนเหลาว่า ‘เกาเหลา’ เกาเหลาในยุคเก่าจึงเป็นชื่อเรียกแกงจืดอย่างจีนที่ปรุงด้วยเครื่องในและขายอยู่บน ‘เหลา’ 

ส่วนคำว่า ‘เหลา’ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ให้ความหมายไว้ว่า เหลา [เหฺลา] น. ภัตตาคาร. (จ.). และจากหนังสือ ‘วันก่อนคืนเก่า’ โดย ส.พลายน้อย ก็ได้อธิบายไว้ให้เข้าใจง่าย ๆ คือ หอหรือตึก โดยทั่วไปหมายถึงสถานที่จำหน่ายอาหาร พ้องกับความหมายตามพจนานุกรม ในสมัยก่อนก็มักจะได้ยินคนทั่วไปเวลาจะไปหาอาหารหรู ๆ แพง ๆ ทาน ก็มักจะพูดว่า ‘ไปขึ้นเหลา’ หรือ ‘ไปกินเหลา’ ที่พูดแบบนี้เนื่องจากคำว่า ‘ภัตตาคาร’ นั้นยังไม่ปรากฏในช่วงเวลานั้น (สันนิษฐานว่าคำว่า ‘ภัตตาคาร’ น่าจะเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๗ นี้เอง) และร้านค้าที่จำหน่ายอาหารหรู ๆ นั้น ถ้าไม่ใช่ร้านในโรงแรมก็มักจะเป็นร้านอาหารจีนย่านสำเพ็ง, สะพานหัน หรือย่านเยาวราชนั่นเอง ซึ่งน่าตั้งกันมาตั้งแต่สมัยในหลวงรัชกาลที่ ๓ ที่มีชาวจีนทำการค้าขายอยู่ในไทยจำนวนมาก 

โดยมากคนที่ไปขึ้น ‘เหลา’ ก็มักจะเป็นพ่อค้าชาวจีนเพราะชาวไทยในสมัยก่อนไม่นิยม เนื่องจาก ‘อาหารเหลา’ มีราคาค่อนข้างสูงและรสชาติอาจจะไม่ถูกปากมากนัก ซึ่งการ ‘ไปขึ้นเหลา’ ของคนไทยก็เพิ่งจะมานิยมในช่วงหลัง ๆ ไม่ถึงร้อยปีล่วงมานี่เอง แถมถ้าสังเกตให้ดีร้านอาหารจีนเหล่านี้ก็มักจะลงท้ายด้วยคำว่า ‘เหลา’ เช่น ห้อยเทียนเหลา (หยาดฟ้าภัตตาคาร), ก๋ำจั่นเหลา, กี่จั่นเหลา, ปักจันเหลา เป็นต้น หรือถ้าไม่ลงท้ายด้วย ‘เหลา’ ก็มักจะเป็นชื่อแบบจีนไปเลย เช่น พงหลี, โว่วกี่, เม่งฮวด เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ‘เจ้ากรมเกาเหลาจีน’ นั้น ก็ได้ถูกลดบทบาทไปในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เนื่องจากได้มีคำร้องขอให้จัด ‘เรือขนมจีน’ เหมือนอย่างสมัยรัชกาลที่ ๓ ส่วนผู้ประกอบอาหาร ‘เกาเหลา’ นั้น ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ได้ทรงเล่าไว้สั้น ๆ ว่า “...แล้วผู้ทำก็ล้มตายหายจาก กร่อย ๆ ลงก็เลยละลายหายไปเอง...” ซึ่งสันนิษฐานว่า กรมเกาเหลาจีน คงจะค่อย ๆ หมดบทบาทไปในช่วงนี้นี่เอง 

ส่วน ‘เหลา’ นั่นยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบันตามที่เราทราบ ๆ กัน และมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยไปอย่างไม่หยุดยั้ง ส่วน ‘เกาเหลา’ ก็กลายเป็นอาหารที่ไม่มีเส้นดังที่เรารู้จักกันปัจจุบัน แถมยังถูกนำไปเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ถูกกันซะอย่างนั้น

ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ (新正如意 新年发财) คิดหวังสิ่งใดขอให้สมหวัง สมปรารถนาในปีใหม่นี้ มีแต่ความสุขมั่งคั่ง โชคดีร่ำรวยตลอดปีมังกรนะครับ 

สุขสันต์วันตรุษจีน 2567 

‘แผ่นดินของเรา’ (Alexandra) บทเพลงแห่งความรัก โอบอุ้มหัวใจคนไทยให้กลับมารักและโอบกอดประเทศของเรา

เดือนกุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรัก เป็นเดือนที่ผมมักจะหลับตาแล้วเห็นสีชมพูหรือไม่ก็สีฟ้าน้ำทะเล สำคัญที่สุดคือจะเป็นเดือนที่มีเสียงเพลงดังในหูและก้องในใจ อย่างไพเราะตลอดทั้งเดือน พร้อม ๆ ไปกับเพลงสำคัญที่ผมมักจะนึกถึงขั้นมาในบัดดล เพราะปลื้มและหลงรักมากเพลงหนึ่งในชีวิตเลยทีเดียว 

อ้อ!! ขอบอกก่อนว่า เพลงนี้ยังเป็นบทเพลงที่ทำให้ตัวผมรู้สึกรักในแผ่นดินไทยของเรามากที่สุดด้วยครับ...ว่าแล้วผมก็ขอนำมาเขียนเล่าให้ท่านๆ ได้อ่านกันเพลิน ๆ 

เพลงสำคัญที่ผมรักมากเพลงนี้ คือเพลง ‘แผ่นดินของเรา’ หรือ ‘Alexandra’ เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 34 ของในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ขึ้น เนื่องในโอกาสที่เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนต์ สหราชอาณาจักร เสด็จเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ในปี พ.ศ. 2502 

เพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้มีความอัศจรรย์ในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ช่วงเวลาแห่งการประพันธ์เพลง ท่วงทำนองที่เกิดขึ้น พร้อมด้วยเนื้อหาทั้งไทยและอังกฤษ เมื่อทุกความอัศจรรย์มาประกอบกัน ทำให้เพลงนี้มีเสน่ห์ ไพเราะ ลึกซึ้ง เหนือกาลเวลา 

สำหรับผมเพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ เป็นเพลงที่ผมตกหลุมรักและฟังได้ไม้รู้จักเบื่อตั้งแต่โน้ตตัวแรกไปจนถึงตัวสุดท้าย  

ทีนี้ขอมาเริ่มต้นความอัศจรรย์ของเพลงนี้ ด้วยเรื่องราวของ ช่วง ‘เวลา’ ของการประพันธ์เพลง ซึ่งหลายๆ ท่านคงได้ทราบกันแล้วว่าเพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งการ ‘รอเครื่องบินลง’ โดยเมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จฯ ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อไปรับเจ้าหญิงอเล็กซานดราด้วยพระองค์เองนั้น ในช่วงเวลาที่ทรงรอเครื่องบินลงจอดที่ท่าอากาศยานราวๆ 10 นาที (อาจจะหย่อนไปกว่านี้เล็กน้อย) ทำนองเพลงจำนวน 16 ห้องเพื่อใช้ต้อนรับพระราชอาคันตุกะอันลุ่มลึกเพลงนี้ก็เกิดขึ้น...ซึ่งนี่คือเรื่องน่าเหลือเชื่อลำดับแรกของเพลงนี้ 

ความอัศจรรย์ต่อมาคือ ท่วงทำนองของบทเพลง โดยส่วนตัวผมไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในทางดนตรีอะไรนักหนา แต่ด้วยความเป็นนักฟัง ซึ่งพอจะมีความรู้ที่เกิดจากการฟังเป็นใหญ่ เมื่อฟังแล้วจึงรู้สึกได้ว่าคอร์ดตั้งต้นนั้นช่างดูง่าย ฟังง่าย แต่พอฟังลึก ๆ แล้ว จะมีความยากของการเดินคอร์ดอยู่ค่อนข้างมาก 

เอาจริง ๆ !! ใครเป็นนักดนตรีต้องทำการบ้านกับเพลงนี้ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะฮาร์โมนีของคอร์ด ซึ่งเป็นโน้ตที่ยาก เพราะบางครั้งห่างกันแค่ครึ่งเสียง บางครั้งห่างกันแค่นิดเดียวแบบนิดเดียวจริง ๆ 

‘แผ่นดินของเรา’ หรือ ‘Alexandra’ ไม่ใช่เพลงที่มีความหนัก เบา แบบขาดจากกัน แต่มีความเกาะเกี่ยวยึดโยงในแต่ละโน้ต เพื่อให้เพลงพาผู้ฟังไปในหลาย ๆ มิติ ไม่ใช่เพลงที่แค่แต่งมาแล้ว ‘เพราะ’ เฉย ๆ แต่เป็นเพลงที่ ‘เพราะจนถึงอารมณ์’ ซึ่งแสดงถึงความสามารถของคนแต่ง ที่ต้องบอกว่าเก่งแบบสุด ๆ นี่แหละพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของในหลวงรัชกาลที่ 9 

ต่อกันที่ อัศจรรย์แห่งเนื้อเพลง เมื่อในหลวง ร.9 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง ‘แผ่นดินของเรา’ หรือ ‘Alexandra’ ตามทำนองที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ 16 ห้องเพลง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ 

มรว.เสนีย์ ปราโมช ขึ้นชื่อว่าเป็นบุคคลที่เก่งในเรื่องภาษา สามารถแต่งโคลงกลอนได้คล่องแคล่วทั้งภาษาอังกฤษและไทยได้รับสนองพระบรมราชโองการ ด้วยการเขียนเนื้อเพลงเบื้องต้นทูลเกล้าฯ ถวาย ก่อนที่เครื่องบินพระที่นั่งของเจ้าหญิง จะลงจอดได้อย่างเหลือเชื่อเช่นเดียวกัน โดยเนื้อเพลงภาษาอังกฤษมีดังนี้... 

Alexandra
Welcome to thee
Here in this land of sunshine and of flowers.
May ye be blessed by the blessing.
That has made our country happy.

แปลโดยรวมก็คือ “เราขอต้อนรับเจ้าหญิงอเล็กซานดราสู่เมืองไทย แผ่นดินแห่งแส่งพระอาทิตย์อันอบอุ่นและเต็มไปด้วยดอกไม้อันสวยงาม เมื่อมาถึง ณ ที่แห่งนี้แล้วก็ขอให้ทุกพรอันประเสริฐจงมีแด่ท่าน ซึ่งนั่นทำให้ประเทศของพวกเรามีความสุข (แปลโดยผู้เขียน) ซึ่งก็เป็นเนื้อเพลงสั้น ๆ แต่เปี่ยมไปด้วยมิตรไมตรี ทั้งยังแสดงถึงความเป็นประเทศไทยที่มีรอยยิ้มไว้ต้อนรับมิตรจากต่างแดนอย่างอบอุ่นราวกับแสงพระอาทิตย์ยามเช้า เพราะนี่คือประเทศไทยดินแดนแห่งความสุขของคนไทย”

ทีนี้มาถึงเนื้อเพลงไทยกันบ้าง แต่ผมต้องขอเล่าย้อนก่อนว่า เนื้อเพลงเวอร์ชันภาษาไทยนั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2516 ซึ่งสภาพแวดล้อมทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศไทยนั้นเต็มไปด้วยความหวาดระแวง ในประเทศก็กลัวในเรื่องของเผด็จการ เรื่องของคอมมิวนิสต์ ประหัตประหารกัน ภายนอกประเทศก็ระแวดระวังภัยจากสงครามความเชื่อจากรอบด้าน ทั้งยังมีบางส่วนที่เข้ามาประชิดติดชายแดนไทย ด้วยเหตุนี้ การสร้างขวัญ กำลังใจและความสามัคคีให้เกิดขึ้นกับคนในชาติ ซึ่งการใช้บทเพลงที่มีเนื้อหาหลอมรวมใจให้คนไทยได้ภูมิใจและรักแผ่นดินของตนเองจึงเป็นเครื่องมือที่มีนัยยะสำคัญเป็นอย่างยิ่ง 

จากเหตุดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชดำริว่า ท่วงทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ Alexandra ไพเราะ และน่าจะใส่คำร้องภาษาไทยได้ จึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชานุญาตให้ท่านผู้หญิง มณีรัตน์ บุนนาค ประพันธ์คำร้องภาษาไทย ซึ่งในหลวง ร.9 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ทั้งยังทรงพระราชนิพนธ์เพิ่มเติมจากเดิมที่มีเพียง 16 ห้องเพลง โดยเพิ่มท่อนกลาง และท่อนท้าย จนครบ 32 ห้องเพลง 

อนึ่ง ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เป็นอีกหนึ่งท่านที่มีความสามารถในเชิงการประพันธ์ค่อนข้างสูง โดยท่านได้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยของเพลงพระราชนิพนธ์ไว้หลายบทเพลง อาทิ ความฝันอันสูงสุด เกาะในฝัน ไร้เดือน และเพลงแผ่นดินของเรานี้ ท่านก็สะท้อนภาพบ้านเมืองของเราออกมาได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งยังไม่ทิ้งเนื้อในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ทั้งยังนำมาขยายความได้อย่างสวยงาม ดังนี้...

ถึงอยู่แคว้นใด ไม่สุขสำราญ เหมือนอยู่บ้านเรา ชื่นฉ่ำค่ำเช้าสุขทวี
ทรัพย์จากผืนดิน สินจากนที มีสิทธิ์เสรี สันติครองเมือง
เรามีป่าไม้อยู่สมบูรณ์ ไร่นาสดใสใต้ฟ้าเรือง
โบราณสถานส่งนามประเทือง เกียรติเมืองไทยขจรไปทั่วแดนไกล
รักชาติของเรา ไว้เถิดผองไทย ผืนแผ่นแหลมทอง รวมพี่รวมน้องด้วยกัน
รักเกียรติรักวงศ์ เสริมส่งสัมพันธ์ ทูนเทิดเมืองไทยนั้น ให้ยืนยง

ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ท่านได้เขียนเรื่องราวของเพลงนี้ไว้ใน www.rspg.org ความว่า...

“กี่ปีมาแล้วที่ความนึกคิดนี้ถ่ายทอดออกมาเป็นบทกลอน ข้าพเจ้าอยากระบายความรู้สึกให้เป็นที่รู้กันว่า ความบันดาลใจในเรื่องนี้มีที่มาจากการสังเกตของข้าพเจ้า ได้รู้เห็นพระราชอัธยาศัย พระราชจริยาวัตร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติปฏิบัติ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่เสื่อมคลาย”

“สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่นเล็ก ๆ พระราชทานข้าราชการ ทหาร พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี เพราะบ้านเมืองขณะนั้นยุ่งอลเวง น่าเป็นห่วงอนาคตของประเทศชาติ” 

มาถึงวันนี้ในห้วงเดือนแห่งความรัก เพลง ‘แผ่นดินของเรา’ หรือ ‘Alexandra’ ช่วยเติมเต็มความรักของคนไทยอย่างผมให้นึกถึงความงดงามและน่าภาคภูมิใจของประเทศไทยของเรา จึงไม่แปลกใจที่ใครต่อใครก็อยากจะเข้ามาเยี่ยมเยียนประเทศของเรา ไม่แปลกใจที่คนที่จากบ้านเกิดเมืองนอนไปไกลหลายต่อหลายคนก็อยากกลับมาแผ่นดินแห่งนี้ 

ผมอยากชวนให้เรามากอดประเทศไทยด้วยความรัก พร้อมกับฟังเพลงพระราชนิพนธ์ที่ผมรักมากๆ เพลงนี้ มาภูมิใจที่เราได้เกิดและอยู่ในประเทศไทย แผ่นดินที่งดงามและอุดมสมบูรณ์ไม่แพ้แผ่นดินไหนๆ แผ่นดินที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงรักและเมตตาประชาชนของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง 

แผ่นดินที่เราเรียกว่าบ้าน ‘แผ่นดินของเรา’ ครับ

‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ผู้นำหน่วยรบพิเศษแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้านายนอกพระราชวงศ์ เบื้องหลังพิชิตศึกสงคราม 9 ทัพ

‘ผู้นำหน่วยรบพิเศษ, หน่วยจารชน, หน่วยทะลวงฟัน, หน่วยนินจา, หน่วยเสือหมอบแมวเซา, หน่วยทหารกองโจร’

คำเหล่านี้เปรียบเสมือน Key Word ของเจ้านายพระองค์หนึ่ง นาม ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ‘ซึ่งเป็นพระโอรสของ ‘พระเจ้าขุนรามณรงค์’ พระเชษฐาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

แม้ว่าจะมีชาติกำเนิดเป็นสามัญชน เนื่องจากเกิดแต่อนุภรรยา และนับว่าเป็นเจ้านายนอกราชวงศ์จักรี แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ขึ้นเป็นเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีในชั้นพระองค์เจ้า เนื่องจากทรงพระเมตตาและทรงเล็งเห็นว่า เจ้านายพระองค์นี้จะเป็นกำลังสำคัญต่อกองทัพของกรุงรัตนโกสินทร์เป็นแน่ 

‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ที่ผมกำลังจะเล่าให้ฟังนี้ หากเราจะค้นหาพระประวัติของพระองค์อย่างละเอียดนั้น บอกได้เลยว่า ‘ยากมาก’ เหมือนค้นหาประวัติของสายลับที่ถูกซ่อนไว้ในชั้นความลับ จะพบก็แต่เพียงร่องรอยที่ประทับและบันทึกการรบของพระองค์เท่านั้น

หากแต่ก็พอมีประวัติของประทับ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ อยู่บ้าง นั่นก็คือ ‘วังบ้านปูน’ วังที่ ณ วันนี้ หลงเหลือเรื่องราวให้ติดตามน้อยพอดู รู้แต่เพียงว่าในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกนั้น เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อปกป้องบ้านเมืองในภาวะที่ยังไม่ปลอดจากสงคราม รัชกาลที่ ๑ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายเสด็จไปประทับในพื้นที่บริเวณตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยไล่ลงไปทางทิศใต้จนถึงวัดระฆัง อันได้แก่ วังสวนลิ้นจี่, วังสวนมังคุด และวังบ้านปูน

สำหรับ ‘วังบ้านปูน’ นั้น มีประวัติที่ระบุเพียงพระนาม ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ไปประทับเพียงองค์เดียว ไม่ปรากฏเชื้อสายของพระองค์ และมีเพียงซากของกำแพงเก่าที่ไม่น่าจะระบุอะไรได้ชัดเจนนัก หรือถ้าจะมีบันทึก ก็มีเพียงสั้นๆ จากพระนิพนธ์เรื่อง ‘ตำนานวังเก่า’ ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ ที่ระบุว่า…

“วังบ้านปูน อยู่ระหว่างวังสวนมังคุดกับวัดระฆัง ซึ่งในเวลานั้นมีทางเดินเป็นตรอกเรียกว่า ‘ตรอกเจ้าขุนเณร’ และปัจจุบันเชื่อกันว่า พื้นที่ของ ‘วังบ้านปูน’ ได้กลายเป็นโรงเรียนสุภัทรา และ ภัทราวดีเธียเตอร์ ไปแล้ว”

>> จากที่ประทับ ก็มาสู่เรื่องของภารกิจการรบของพระองค์ที่พอจะมีบันทึกกันอยู่บ้างดีกว่า...

เริ่มจากคราวสงคราม ๙ ทัพ ที่เป็นสงครามใหญ่กับฝั่งพม่าครั้งสุดท้าย ครานั้น ‘พระเจ้าปดุง’ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์โก้นบอง (ราชวงศ์สุดท้ายของพม่า) ได้ส่งไพร่พลจำนวนกว่า ๑๕๐,๐๐๐ นาย มาบุกกรุงรัตนโกสินทร์ถึง ๙ กองทัพ ได้มุ่งเข้าตีตั้งแต่เหนือจรดใต้ 

- ทัพที่ ๑ ตีเมืองปักษ์ใต้ ตั้งแต่ชุมพรลงไปจนถึงเมืองถลาง 
- ทัพที่ ๒ ตีหัวเมืองตะวันตกทางด่านบ้องตี้ ตีเมืองราชบุรี, เพชรบุรี เพื่อไปบรรจบทัพที่ ๑ ที่เมืองชุมพร 
- ทัพที่ ๓ ตีหัวเมืองเหนือจากเชียงแสน, ลำปาง ไล่ลงมาเพื่อมาบรรจบที่กรุงเทพฯ 
- ทัพที่ ๔ ตีหัวเมืองเหนือจาก เมืองตาก, กำแพงเพชร ลงมาบรรจบที่กรุงเทพฯ
- ส่วนทัพที่ ๕, ๖, ๗, ๘, ๙ ซึ่งมีทัพหลวงของพระเจ้าปดุงรวมอยู่ด้วย โดยยั้งรอกองทัพอื่นๆ เพื่อที่จะรุกเข้าสู่สยามทางด่านพระเจดีย์สามองค์

เกริ่นทัพของพม่าไปแล้ว ก็ขอวนมาที่ ‘กองทัพสยาม’ ซึ่งก็ต้องแจ้งให้ทราบชัดว่า เรามีคนน้อยกว่าเขาเยอะ โดยเฉพาะทัพหลัก ๕ กองทัพ ที่เราต้องต้านไว้ก่อนที่พม่าจะรุกเข้ามาในเขตปะทะ…

โดยจอมทัพสยามในขณะนั้นคือ ‘สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท’ ได้มีพระบัณฑูรมอบหมายภารกิจให้ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ พร้อมหน่วยรบพิเศษที่พระองค์เข้าพื้นที่ก่อนที่ทัพหลักจะเดินทางไปถึง เพื่อไปสกัดทัพหน้าของพม่า คอยดูลาดเลา สืบราชการลับ และรวบรวมไพร่พลที่พอจะเป็นกำลังรบได้ ซึ่งในบริเวณนั้นก็จะมี ชาวไทย, มอญ, ข่า, ละว้า และกะเหรี่ยง ตั้งค่ายเฉพาะกิจอยู่ที่ท่ากระดาน อันเป็นยุทธการสำคัญและเสี่ยงตายมากๆ 

(ปัจจุบันพื้นที่ตรงนี้ถูกน้ำท่วมไปหมดแล้ว ที่เคยปรากฏชื่อก็จะมี ‘บ้านเจ้าเณร’ หรือชื่อเดิมของเขื่อนศรีนครินทร์ที่เรียกว่า ‘เขื่อนเจ้าเณร’ ให้ได้นึกตาม)

ภารกิจต่อมาเมื่อทัพหลวงของวังหน้า (สยาม) มาถึงแล้ว ก็ได้เริ่มยุทธวิธี ‘การรบแบบกองโจร’ โดยใช้ไพร่พลเพียง ๑,๘๐๐ คน อ้อมไปตีค่ายพม่าจากด้านหลัง คอยปล้นเสบียงและยุทโธปกรณ์ของพม่า ทั้งช้าง ทั้งม้า ที่ยกมาจากเมืองเมาะตะมะ ทวาย และตะนาวศรีไม่ให้ถึงกองทัพหลักของพม่าที่ตั้งประชิดอยู่ในชายแดนไทย เรียกว่าทำยังไงก็ได้ให้ทัพพม่าเกิด ‘ห่วงหน้า-พะวงหลัง’ ขาดแคลนเสบียง เสียขวัญ ดังพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ระบุว่า... 

“พระเจ้าปดุง (พม่า) ทราบว่ากองทัพหน้ามาถึงประชิดอยู่กับไทย ได้แบ่งเสบียงในกองทัพหลวงส่งมายังกองทัพหน้าก็ถูกไทยตีชิงเอาไปเสียเนืองๆ ครั้งหนึ่งใช้เอาเสบียงบรรทุกช้าง ๖๐ เชือก มีกองลำเลียงเสบียง คุมมา ๕๐๐ คน กองโจรของไทยไปซุ่มอยู่ก็ตีเอาไปได้หมด ทีหลังจึงส่งเสบียงกันไม่ได้”

เมื่อเหตุการณ์เป็นอย่างนี้อยู่ราวๆ ๒ เดือนเศษ ‘สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท’ ทรงเห็นว่ากองทัพพม่ามีใจที่ฮึกเหิมน้อยลง อดอยากปากแห้ง หนีทัพไปก็มาก จึงได้รุกระดมตีค่ายพม่าพร้อมกันทุกค่ายจนทัพพม่าแตกพ่ายหนีตายกลับไปจนสิ้นทัพ ซึ่งการที่จะเป็นเช่นนั้นได้ ล้วนเกิดจากยุทธวิธีแทรกซึม เพื่อทำลายล้างหลังบ้านของกองทัพพม่า จนไม่เป็นอันทำการรบ จากความฉกาจของหน่วยรบพิเศษ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ นั่นเอง 

อย่างไรก็ตาม หลังจากสงคราม ๙ ทัพ ก็เหมือนว่าเรื่องของ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ดูจะเงียบหายไป จนกระทั่งมาเกิดเหตุการณ์ศึกใหญ่อีกครั้งทางฝั่งลาวในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ จากบันทึก ‘อานามสยามยุทธ’ ถึงเรื่องกบฏของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ 

โดยพระองค์ได้รับภารกิจพิเศษจาก ‘สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ’ ในการรบแบบกองโจร โดยใช้ ‘ทหารไทย+ทวาย’ ที่เป็นคนโทษประมาณ ๕๐๐ คน ร่วมกับทหารในสังกัดของพระณรงค์สงคราม แห่งเมืองนครราชสีมาอีก ๕๐๐ คน เข้ารบแบบกองโจร ปล้นเผาค่าย ด้วยวิธีแบบจารชนคือ จับทหารลาวมาได้ ๗ คน ซึ่งยอมสวามิภักดิ์ต่อ พระองค์เจ้าขุนเณร (ซึ่งกำลังหาเสบียงกินกันเอง...นับว่าลำบากน่าดู) แล้ววางแผนดำเนินการแทรกซึมโดยใช้ทหารลาว ๑ คนผสมกับทหารไทยอีก ๖ คน แต่งกายเป็นลาวทำทีกลับเข้าค่ายลาวที่ทุ่งส้มป่อย โดยพระองค์เจ้าขุนเณรได้ตรัสสั่งแผนว่า...

“ถ้าเข้าค่ายลาวได้ ให้ไล่ฆ่าฟันลาวในค่ายคลุกคลีตีลาวไปอย่าให้ลาวทันตั้งตัวหาอาวุธได้ ให้นำคบเพลิงเผาค่ายลาวขึ้นด้วย”

เหตุการณ์เป็นไปตามแผนไฟลุกโหมเผาค่ายทุ่งส้มป่อยไปทั้งค่าย ทหารลาวที่บ้างก็นอนหลับ บ้างก็นั่งดื่ม บ้างก็ไม่พร้อมจะรบ ก็ถูกกำลังกองอาทมาต ๕๐๐ คน ซึ่งนำโดยพระองค์ลอบเข้าค่าย ฆ่าฟันทหารลาวเป็นจำนวนมาก จนเมื่อทัพหลวงของไทยมองเห็นค่ายของลาวเกิดไฟไหม้ จึงได้ยกทัพใหญ่บุกเข้าไปสมทบ ไล่รุกจนทัพลาวแตกกระเจิงไป

เรื่องน่าทึ่งของ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ก็คือหากนับจากเหตุสงคราม ๙ ทัพที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ คงมีพระชนม์ไม่น่าต่ำกว่า ๒๐ ชันษา มาจนถึงสงครามกับเจ้าอนุวงศ์ในปี พ.ศ. ๒๓๖๙ ที่ห่างกันถึง ๔๑ ปี พระชันษาของพระองค์ก็น่าจะประมาณ ๖๑ เมื่อมาเป็นหัวหน้าหน่วยรบพิเศษในครั้งหลัง แสดงว่าพระองค์ยังคงรักษาความเก่งกล้า ความเชี่ยวชาญ และร่างกายที่มีสมรรถภาพไม่แพ้วัยหนุ่ม

การรบการแบบกองโจรของ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ในพื้นที่การรบ ทำให้การรบของทัพหลวงได้รับชัยชนะรวดเร็วขึ้น แก้ไขสถานการณ์ที่เพลี่ยงพล้ำแก่ข้าศึก ให้กลายเป็นได้เปรียบอย่างคาดไม่ถึง กลยุทธ์ที่เสี่ยงแก่ชีวิต แต่รู้การแพ้ชนะในเวลาอันสั้น ใช้การลวง การจู่โจม ด้วยความเด็ดขาด กล้าหาญ รุนแรง รวดเร็ว เป็นแนวทางของการรบแบบกองโจรที่สืบต่อมาจนสมัยนี้

ที่ผมยกเรื่องของ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ มาเล่านี้ นอกจากจะเป็นการหยิบเกร็ดประวัติศาสตร์มาเผยแพร่แล้ว อีกส่วนสำคัญก็เพื่อให้เราได้ตระหนักรู้ถึงการเสียสละภายใต้วีรกรรมอันเก่งกล้าของบรรพบุรุษไทย อย่าง ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ที่แลดูเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง ในการนำพระนามของพระองค์ท่านไปตั้งเป็นชื่อ ‘ค่ายขุนเณร’ กรมรบพิเศษที่ ๕ ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ 

เพราะนี่คือ สิ่งยึดเหนี่ยวสำคัญที่จะช่วยเตือนใจแก่เหล่า กำลังรบพิเศษแห่งสยาม ให้ฮึกเหิม เติมไฟด้วยเกียรติวีรกรรมของ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ไว้เป็นหมุดหมายแห่งความมุ่งมั่น เพื่อปกป้องอธิปไตยชาติไทยของเราสืบต่อไป...

'หากิน' ด้วยการปั้นผีลวง ไว้ลวงหลอก 'ถูกหากิน' เพราะ 'อุปาทาน' ในใจตนหลอกตัว

เรื่องของ 'ผี' เป็นความเชื่อกันมาเป็นปกติทั่วโลก แต่ใครเห็นกัน จริง ๆ เห็นกัน จะ ๆ บ้าง ผมว่าคงนับได้เลย แต่ถ้าผีในใจผมว่าเรื่องนี้เล่ากันได้เยอะ

ครั้งนึงเมื่อหลายปีก่อน ผมได้อุปสมบทเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ร่วมกับอีกหลายบุคคล ณ วัดป่าศรัทธารวม จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งวัดแห่งนี้เดิมเป็นป่าช้าแห่งที่ ๒ ของจังหวัดนครราชสีมา และเป็นสถานที่สำหรับเผาศพผู้ที่ตายด้วยโรคติดต่อ เช่น อหิวาตกโรค, กาฬโรค เป็นต้น 

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ณ ที่แห่งนี้ได้มีปักหมุดหมายในการสร้างวัดสำหรับการปฏิบัติภาวนาให้แก่ประชาชนให้เกิดขึ้นอีก ๑ แห่งในจังหวัดนครราชสีมา นอกเหนือไปจากวัดป่าสาละวัน ซึ่งมีพระกรรมฐานคณะแรกมาจำพรรษา ณ วัดป่าแห่งนี้อันประกอบด้วย ๑.พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ๒.พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ๓.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ๔.พระอาจารย์หลุย จันทสาโร ๕.พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ๖.พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธัมโม และสามเณรอีก ๔ รูป รวมเป็น ๑๐ รูป 

นั่นคือจุดเริ่มต้นของวัดป่าแห่งนี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวัดป่าสำคัญที่มีพระอาจารย์นักปฏิบัติมาจำพรรษาหรือภาวนาด้วยความวิเวก ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังร่มรื่น สงบ สมกับเป็นวัดป่า แม้จะผ่านเหตุการณ์ที่น่าเศร้าใจอย่าง 'จ่าคลั่ง' กราดยิงมาเมื่อไม่นานมานี้ 

กลับมาที่เรื่องผีกันต่อ ตามที่ว่ากันว่า ณ วัดแห่งนี้เป็นป่าช้าเก่า มีที่เผาศพแบบเปิดโล่งไม่ใช่เมรุที่วัดทั่วไปมี เวลาเผาศพก็จะมีกลิ่นล่องลอยไปในชุมชนให้ได้ปลงสังเวชกัน และแน่นอนย่อมมีเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับผีสาง 

เรื่องที่เล่ากันมากก็มักจะเป็นการเห็นเงาคนมานั่งอยู่ใกล้ ๆ กับที่เผาศพ บ้างก็ว่าเห็นเงาคนมาเดินรอบเมรุกลางแจ้ง โดยเฉพาะเล่าว่า พระในวัดได้มาปฏิบัติเดินจงกรมอยู่ ณ บริเวณหน้าเมรุแล้วปรากฏว่ามีคนมาเดินจงกรมตามหลังแล้วภาวนาว่า 'พุทโธ' ตามที่พระรูปนั้นกำลังภาวนาอยู่ เรื่องนี้ถูกยกมาเล่าตอนที่ผมบวชอยู่และกำลังจะไปภาวนาในช่วงหลังทำวัตรเย็นแล้ว 

หรืออีกเรื่องก็เล่ากันว่าในป่าช้าเดิมซึ่งอยู่ทางหลังวัดเวลาที่มีพระไปนั่งสมาธิภาวนาอยู่หน้าองค์พระขาว พระพุทธรูปปางประทานพร ซึ่งเดิมเป็นอุโบสถ โดยขณะนั่งสมาธิไปก็ได้ยินเสียงโหยหวนลอยมาตามลมบ้าง ได้ยินเสียงคนจำนวนมากพูดซุบซิบกันบ้าง ได้ยินเสียงเท้าหนัก ๆ เดินอยู่ใกล้ ๆ บ้าง หรือพระบางรูปเดินจงกรมภาวนาก็รู้สึกว่ามีคนจ้องมอง หรือมีคนนั่งอยู่ใกล้ๆ ที่เดินจงกรมบ้าง เอาเข้าจริงๆ ก็ยังไม่มีคนที่พบจริงๆ มาเล่าให้ฟังนะ มีแต่เรื่องเล่า เพื่อมาเล่าต่อ...

อย่างเรื่องที่มีผู้มาเล่าให้ผมฟังตอนอุปสมบท ก็คือเรื่องจากผู้ที่อุปสมบทพร้อมผมได้พบเจอ 'ผี' ที่กุฏิของเขา โดยท่านผู้นั้นเล่าว่าท่านกำลังจำวัดอยู่แล้วได้ยินเสียงกุกกัก ๆ ก็เลยจะลุกขึ้นไปดู ก็ปรากฏว่าลุกไม่ขึ้นพยายามเท่าไหร่ก็ลุกไม่ขึ้น ด้วยอาการที่เรา ๆ ท่าน ๆ รู้จักกันดีว่า 'ผีอำ' แต่พอกลั้นใจหลับตาภาวนา ท่านผู้นั้นก็ค่อย ๆ ลืมตาแล้วก็เห็นเงาขนาดใหญ่นั่งอยู่บนร่างของท่าน เมื่อกลั้นใจภาวนาอีกครั้งเงานั้นก็หายไป และสามารถลุกขึ้นมาได้แล้วท่านก็เดินลงจากกฏิด้วยความรู้สึกหวาด ๆ 

พอลงจากกุฏิ ก็ได้พบเห็นเหมือนร่างคนกำลังเดินออกจากกุฏิไปแบบเลื่อนตัวไป หรือไปแบบลอย ๆ จนค่อย ๆ หายไป นี่คือเรื่องราวของพระนวกะที่ได้อุปสมบทพร้อมผมมาเล่าในวงสนทนาก่อนที่เราจะแยกย้ายกันไปภาวนา 

พอฟังเรื่องเล่าเรื่องนี้ คุณเชื่อไหม? ผมรู้สึกอย่างเดียวว่าท่านผู้นั้นมาบวชอย่างไร? ถึงเจอผี ทั้ง ๆ ที่คณะของท่านช่างเสียงดัง เจี๊ยวจ๊าว ราวกับการมาอุปสมบทคือการมาเข้าค่าย ไม่น่าจะเจออะไรเพราะเสียงมันช่างดังเหลือเกิน อ้อ!! ผมลืมบอกไปว่าการอุปสมบทครั้งนั้นคือ การอุปสมบทหมู่ ถ้าอยากปลีกวิเวกต้องหาที่ทางและช่วงเวลาเอาเอง เพราะความไม่สงบมีอยู่สูง 

กลับมาที่เรื่องผีที่พระร่วมรุ่นของผมเล่าว่าเจอ ผมคิดเอาเองในฐานที่ปกติผมมักจะปฏิบัติภาวนาแบบเอกา เรื่องผีสางผมก็กลัว แต่การอุปสมบทครั้งนั้นมีความหมายเนื่องจากเป็นการอุปสมบทระยะสั้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จึงอยากตั้งใจปฏิบัติภาวนา ซึ่งสถานที่ ที่ 'เขาเล่าว่า' ผมก็ล้วนไปปฏิบัติ ทั้งเดินจงกรม ทั้งนั่งสมาธิวิปัสสนา ปรากฏว่าผมไม่เจอ 'ผี' แต่สิ่งที่ผมเจอและสัมผัสได้จากวัดป่าแห่งนี้ กลับกลายเป็นการที่เราสามารถเข้าสู่สมาธิได้อย่างรวดเร็ว สมกับที่เป็นวัดป่าที่พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านมาปฏิบัติไว้ดีแล้ว ชอบแล้ว 

ผมบอกตรง ๆ เลยว่าผมไม่เคยเจอผี หรือผมอาจจะเจอ แต่ผมไม่ได้สนใจก็ได้ เพราะสิ่งที่สำคัญของการจะเจอหรือไม่เจอมันสำคัญที่ 'ใจ' เมื่อ 'ใจ' เป็นใหญ่เราก็สามารถควบคุมการ พบ เจอ นิมิต หรือการสัมผัสใดๆ ได้ คำว่า 'ใจ' เป็นใหญ่หรือใช้ 'ใจนำ' นี้ อาจารย์ใหญ่ของพระป่า 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ท่านได้เคยกล่าวไว้แล้ว และเมื่อเราอุปสมบทในร่มเงาวัดป่า เราจึงต้องนำมาใช้ให้เห็นจริงใช้ 'ใจ' ควบคุมให้จิตไม่โลดแล่นไปอยากเจออะไร ไปสนใจอะไรภายนอก 'จิตใจ'

ฉะนั้น 'ผี' ที่พระท่านนั้นเจอ ผมจึงคิดว่ามันเกิดขึ้นจาก 'อุปาทาน' ที่เกิดจากการฟังแล้วคิดตามว่ามันมี มันต้องมี มันควรมี พอคิดตามนี้ 'ผี' ในใจก็ปรากฏได้เพราะเราไม่ควบคุมมัน สุดท้ายมันก็มาปรากฏกับสังขารของเรา ด้วยความเหนื่อยจากการคิด พูด ฟัง กลายเป็น 'ผีอำ' หรือการเป็น 'ผีเลื่อน' / 'ผีลอย' ผมคิดว่ายังงั้นนะ 

เช่นเดียวกันกับเรื่องราวในสังคมยุคนี้ที่ชอบยกเอาเรื่องที่ไม่จริง สิ่งที่ไม่มี โกหกตนเองจนเชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนี้ ทำให้ความหลอกลวงถูกยกเป็นเรื่องจริงในใจตนเอง และเอาความจริงที่หลอกลวงตนเองเหล่านั้นไป หลอกเด็ก หลอกเยาวชน หลอกคนที่เชื่อให้หลงไปกับ 'ผี' ในใจที่มันไม่มีอยู่จริง อาทิ จดหมายของผู้นำปฏิวัติ ๒๔๗๕ ที่ไม่มีจริง การใช้วาทกรรมที่ล่วงละเมิดผู้อื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่เรื่องจริง การอวดอุตริในตนที่ไม่มีอยู่จริงตามสำนักทรงหรือสำนักลงนะทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งตัวแทนประชาชนที่นำเอาข้อมูลอันไม่มีอยู่จริงมาอภิปรายกันในสภา หรือแม้กระทั่งการสัญญาของผู้บริหารประเทศที่ไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่  

สิ่งเหล่านี้คือ 'ผี' จริง ๆ 'ผี' ในใจของคนบางคนที่ถูกนำไปหลอกให้กลายเป็น 'ผี' ในใจของสังคมโดยรวม จากเรื่องของผีในวัด เรื่องของพระที่โดนผีหลอก มาสู่เรื่องของ 'คน' เรื่องของ 'อุปาทาน' ที่ทำให้สิ่งที่ไม่มีอยู่จริงกลายเป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นจนเป็นตัวตน แล้วคุณจะยินดีให้ 'ผี' แบบนี้มาหลอกคุณอยู่ทุกวันไปทำไม

มรดก 'สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ' ถึง 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' สำเนียงเหน่อเฉพาะตัว ที่ฉีกจากสำเนียงสไตล์อีสาน

ในฐานะลูกหลานคนโคราช ที่มักมีคนถามผมว่าผมพูดโคราชหรือพูดอีสาน ผมบอกว่าผมฟังโคราชได้แปลออก ส่วนอีสานผมพูดได้ ฟังออกแต่สำเนียงค่อนข้างจะทองแดงไม่ใช่อีสานแท้ๆ หลายคนก็งงว่าทำไม? 

หลายคนก็ถามว่าจริงๆ โคราชก็เว้าอีสาน แต่ไม่ใช่ลาวหรือ? เออ !!! งงไปอีก ผมบอกไม่ใช่ เพราะโคราชมีแต่เจ้านายลาวมารบด้วย แต่ไม่เคยตั้งรกราก ก็ไม่น่าจะพูดอีสานเหมือนชาวบ้านเขา เอ้า !!! งงอีกที นี่แหละที่ทำให้ผมต้องหาคำตอบเพื่อให้ความงงของผมลดลงไปบ้าง

 

โดยคำตอบแรกต้องนับเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๐๐๐ กรุงศรีอยุธยาสถาปนาเมืองนครราชสีมา และสร้างกำแพงอิฐ กว่าจะสำเร็จมั่นคงลงหลักปักฐานต้องมีกำลังคนของอยุธยาจำนวนไม่น้อยถูกเกณฑ์ให้เคลื่อนย้ายมาตั้งหลักแหล่งที่แม้จะต่างชาติพันธุ์ เช่น มอญ, เขมร, มลายู 

ซึ่งคนเหล่านี้จำเป็นต้องสื่อสารด้วยภาษาไทย (ในตระกูลภาษาไทย-ลาว) ที่มีสำเนียงต่างจากคนไทยใช้พูดทุกวันนี้ ได้แก่สำเนียงสองฝั่งโขง ซึ่งแพร่กระจายอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามาก่อนนานแล้ว ที่ปัจจุบันเรียก สำเนียงเหน่อ จนเกิดการผสมผสานเป็นรูปแบบเฉพาะ ตรงนี้ถือว่าว่าเป็นมรดกที่มีมาตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ได้สร้างให้เมืองนครราชสีมากลายเป็นเมืองพระยามหานครขอบขัณฑสีมา

ภาษาอีสานสำเนียงโคราช จึงน่าจะมีรากเหง้าเค้าต้นจากสำเนียงหลวงกรุงศรีอยุธยาของคนต้นอยุธยาที่พูดสำเนียงเหน่อ 'สุพรรณ' ซึ่งเป็นสำเนียงหลวงอยุธยา พยานสำคัญได้แก่ เจรจาโขนด้วยลีลายานคางสำเนียงเหน่อ 

แต่เกิดการ Cross ด้านภาษากับลาวฝั่งไทย ซึ่งเมืองนครรราชสีมามีอาณาเขตครอบคลุมถึงและแลกเปลี่ยน ค้าขายกันอย่างเป็นปกติ ดังนั้นการพูดอีสานของคนโคราชจึงไม่เหมือนสำเนียงของใครในอีสาน “พูดอีสานแต่สำเนียงและคำบางคำไม่เหมือนอีสานที่อื่น” 

ส่วนภาษาโคราชที่เหน่อมากๆ และเป็นภาษาเฉพาะมาจากไหน? ถ้าเราจำเรื่องของ 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' หรือ 'เจ้าพิมาย' แมวเก้าชีวิตสมัยอยุธยาได้ เรื่องสำเนียงและภาษาโคราชก็ถือว่าเป็นมรดกจากท่านนี่แหละ  

โดยก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ ไม่น้อยกว่า ๓ - ๔ เดือน 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' พระโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศซึ่งต้องโทษเนรเทศไปอยู่ลังกาได้ระหกระเหินหนีมาจนถึงเมืองจันทบุรี แล้วก็ชักชวนชาวเมืองชายทะเลทางตะวันออกยกเป็นกองทัพหลายพัน เพื่อหวังจะมารบพม่าเพื่อแก้ไขกรุงศรีอยุธยา แต่แผนแตกเสียก่อน พม่ายกกองทัพมาตีจนแตกพ่าย ต้องหนีไปเมืองนครราชสีมาซึ่งเป็นพระยามหานครขอบขัณฑสีมาแห่งกรุงศรีอยุธยา 

กรมหมื่นเทพพิพิธเมื่อมาถึงเมืองนครราชสีมาก็ประสบชะตากรรมเกือบถูกฆ่า แต่ก็รอดและได้รับสถาปนาเป็นเจ้าครองอาณาเขต เป็นพระเจ้าแผ่นดิน สืบพระวงศ์พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีฯ ซึ่งเรียกกันว่า 'เจ้าพิมาย'

นอกจากกำลังพลจากหัวเมืองชายทะเลตะวันออกแล้วนั้น ยังมี 'ข้าเก่า' ของ 'เจ้าพิมาย' จากกรุงศรีอยุธยาหนีพม่าขึ้นไปตั้งหลักแหล่งเพิ่มเติมอยู่ด้วยอีกมาก ชาวอยุธยาก็ได้เคลื่อนย้ายมาเป็นเจ้านายขุนนาง, ข้าราชการ, พลไพร่ และผสมผสานกลุ่มคนดั้งเดิมที่อยู่มาก่อนกรุงแตกมานานอยู่พอสมควรแล้ว 

สำเนียงภาษาโคราชก็เป็นการผสมระหว่างการพูดเหน่อของสำเนียงหลวงอยุธยาตามข้างต้นผสมกับสำเนียงของชาวหัวเมืองทะเลตะวันออกของชาวระยองและชาวจันทบุรี ที่ได้มาเป็นกองกำลังให้กับ 'เจ้าพิมาย' ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย 

เพราะเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพมาปราบ 'ก๊กเจ้าพิมาย' แล้ว ก็ไม่ได้กวาดต้อนผู้คนชาวหัวเมืองตะวันออกเหล่านี้ลงมากรุงธนบุรี อีกทั้งคนพวกนี้ก็ได้ลงหลักปักฐานอยู่ที่เมืองนครราชสีมาแล้ว สุดท้ายก็กลายเป็น 'คนโคราช' แล้วก็เกิดประเพณีใหม่กลายเป็น 'วัฒนธรรมโคราช' ที่โคตรเฉพาะตัวอย่างเช่น สําเนียงโคราช ที่กระเดียดไปทางสําเนียงชายทะเลตะวันออกแถบระยองและจันทบุรี ผสมสำเนียงเขมร แม้ผู้คนแถวปราจีนบุรีและนครนายกเมื่อสัก ๕๐ ปีมาแล้วก็พูดสําเนียงเก่าแบบ 'ยานคาง' ไม่ต่างจากสําเนียงโคราชนัก

ปัจจุบันภาษาและสำเนียงโคราชที่เป็นเฉพาะก็มีอยู่หลายอำเภอแต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะหลายอำเภอก็พูดอีสานแต่ทว่า 'ภาษาและสำเนียงโคราชมีความคล้ายความเหน่อของคนภาคตะวันออกแต่ภาษาแตกต่างออกไป'

ตัวอย่างที่ชัดก็คือ 'เพลงโคราช' ก็มีฉันทลักษณ์และลีลาเดียวกับเพลงพาดควาย, เพลงฉ่อย (ไม่ใช่ลําตัดที่เพิ่งเกิดสมัยรัชกาลที่ ๕) ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง แต่ต่างตรงอัตลักษณ์ด้านภาษาและสำเนียงที่แปร่งไป

นอกจากนี้ 'คนโคราช' ยังมีประเพณีอื่นๆ ที่เหมือนกับคนลุ่มเจ้าพระยาอยุธยาภาคกลาง เช่น กินข้าวจา, เคียวหมาก, ตัดผมเกรียน, นุ่งโจงกระเบน แม้กระทั่งศิลปวัฒนธรรมทางด้านสถาปัตยกรรม วัดวาอาราม ที่ไม่เหมือนกับคนอีสานอื่นๆ เอาซะเลย 

นี่แหละถึงบอกว่าคนโคราชไม่ใช่ลาว และคนโคราชพูดบางอำเภอพูดโคราช บางอำเภอพูดอีสานแต่ก็เป็นอีสานที่เหน่อเป็นเฉพาะตนที่เรียกกันว่า 'เหน่อแบบโคราช' และวัฒนธรรมอื่นๆ ที่แตกต่างเฉพาะตน 

รู้จัก กรมหมื่นเทพพิพิธ 'แมวเก้าชีวิต' แห่งกรุงศรีอยุธยา อยู่แห่งหนใด นำพาสิ่งไหนก็ไม่ชนะ มีแต่พังพินาศ

กรมหมื่นเทพพิพิธ 'ลูกพระสนม' ในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นเจ้านายนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ชีวิตของพระองค์เต็มไปด้วยสีสัน ทั้งหนีราชภัย ออกผนวช ถูกจับ ถูกเนรเทศ เป็นเจ้าผู้ปกครอง เป็นเชลย พระองค์ สู้กับชีวิต สู้กับอุปสรรค จนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ

กรมหมื่นเทพพิพิธ มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าแขก เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หลังจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศปฏิวัติสำเร็จ ก็ทรงสถาปนาพระราชวงศ์ให้ทรงกรม คือ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าแขก เป็น 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ร่วมกับ เจ้าพี่ เจ้าน้อง อีกหลายพระองค์ โดยเป้าประสงค์ให้สามารถคานอำนาจกับเหล่าบรรดาขุนนางทั้งหลาย แต่ก็ไม่เป็นไปตามที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงคาดไว้...ทำไมล่ะ ? 

ลูกพระสนมพระองค์อื่น ๆ ที่ได้ 'ทรงกรม' และมีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ช่วงนี้มีกลุ่ม ที่เรียกกันว่า 'เจ้าสามกรม' คือ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี ซึ่งเจ้าทั้ง ๓ นี้เป็นขั้วตรงข้ามอีก ๓ เจ้าฟ้า 

กลุ่ม ๓ เจ้าฟ้านำโดย 'เจ้าฟ้ากุ้ง' กรมขุนเสนาพิทักษ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี และ เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ กรมขุนพรพินิต ซึ่งกรมหมื่นเทพพิพิธอยู่ในขั้วนี้ ซึ่งแปลก แต่ก็นับว่าอยู่ถูกขั้ว 

'เจ้าสามกรม' เริ่มต้นความขัดแย้งในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ด้วยการเดินเกมหนักจัดการ 'เจ้าฟ้ากุ้ง' ด้วยการกราบบังคมทูลฟ้องว่า "เจ้าฟ้ากุ้ง เสด็จเข้ามาลอบทำชู้กับเจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาลย์ ถึงในพระราชวังเป็นหลายครั้ง" จนเป็นเหตุให้องค์รัชทายาทถูกลงลงพระราชอาญาถึงกับสวรรคต จนว่างวังหน้าอยู่ถึง ๒ ปี 

ส่วน 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ใช้เวลา ๒ ปีที่ว่างนี้ 'ล็อบบี้' เสนาบดีขุนนางผู้ใหญ่ พร้อมกราบบังคมทูลให้ 'เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ กรมขุนพรพินิต' ขึ้นเป็นวังหน้า โดย 'ข้าม' เจ้าฟ้าเอกทัศไป ด้วยความมั่นใจว่าถ้าไม่มีอะไรพลิกผัน 'กรมขุนพรพินิต' ต้องได้เป็น 'พ่ออยู่หัว' แน่ๆ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็มีพระราชดำริเห็นชอบ แม้ว่าเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อจะทรงเป็น 'น้อง' ก็ตาม 

เพราะมีบันทึกระบุไว้ว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ทรงมีพระราชดำรัสไว้ครั้งหนึ่งว่า “กรมขุนอนุรักษ์มนตรี(เจ้าฟ้าเอกทัศ)นั้นโฉดเขลาหาสติปัญญาและความเพียรมิได้ ....” ตรัสมอบราชสมบัติให้ 'กรมขุนพรพินิต' กรมหมื่นเทพพิพิธจึงกล้าเปิดหน้าเล่น

แต่เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จสวรรคต ความอลหม่านก็เกิดขึ้น

คือทั้ง ๒ ฝ่าย เริ่มต้นจาก 'กลุ่มสามเจ้าฟ้า' กรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งทรงอยู่ฝ่ายเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ก็เชิญเอาพระแสงดาบ พระแสงกระบี่ และพระแสงง้าวข้างพระที่ ส่งให้ชาวที่เชิญตามเสด็จฯ เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ไปยังพระตำหนักสวนกระต่าย 

ข้างฝ่าย 'เจ้าสามกรม' แสดงการไม่ยอมรับแผ่นดินใหม่ พากันเสด็จฯ เข้าไปในวังบ้าง แล้วเชิญเอาพระแสงบนพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ไปไว้ที่ตำหนักศาลาลวด ฐานที่มั่นของ 'เจ้าสามกรม'

ครั้นเมื่อถึงเวลาเข้าเฝ้าถวายสัตย์ ต่อพอ่อยู่หัวพระองค์ใหม่ ก็ปรากฏว่า “เจ้าสามกรม” ไม่เสด็จฯ มา “กรมขุนอนุรักษ์มนตรี” จึงได้คิดแผน อาราธนาพระราชาคณะ ๕ รูป ก็ไปเจรจากับ “เจ้าสามกรม” เพื่อให้ยินยอมที่จะเข้าเฝ้าถวายสัตย์ต่อหน้าพระพักตร์

แต่เมื่อเจ้าสามกรมยินยอมมาเฝ้าเป็นที่ปรึกษาราชการ 'เจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี' ในฐานะที่ปรึกษาจึงทำการจับกุมทั้ง 3 พระองค์แล้วนำไปสำเร็จโทษ 

จบตรงนี้ 'เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ กรมขุนพรพินิต' ก็ได้ครองราชย์เป็น 'พระเจ้าอุทุมพร' ซึ่งถ้ามองเกม กรมหมื่นเทพพิพิธ ก็น่าจะได้อวยยศแน่ๆ แต่เหตุการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น 

ความซวยครั้งที่ ๑ ของ กรมหมื่นเทพพิพิธ ก็มาเยือน เพราะผ่านไป ๒ เดือน ได้เกิดเหตุการณ์ก็ 'น้อง' ไม่ต้องการบัลลังก์ จึงขอคืนให้พี่ แล้ว 'พระเจ้าอุทุมพร' ก็เสด็จออกผนวช จนรู้จักกันในพระนามว่า 'ขุนหลวงหาวัด' 

ส่วนเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี จึงได้ขึ้นครองราชย์เป็น 'พระเจ้าเอกทัศน์' หรือ 'สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์' ถึงตรงนี้ กรมหมื่นเทพพิพิธก็กลัวพระราชภัย ก็เลยต้องออกผนวชเช่นกัน

แต่ออกบวชไม่นานก็คิดอ่านจะนำเอาพระราชบัลลังก์คืนแก่พระเจ้าอุทุมพร เพราะบรรดาขุนนางน้อยใหญ่มาฟ้องว่า 'พระเจ้าเอกทัศน์' นั้นน่าจะทำให้กรุงศรีฯ ต้องวิบัติ เนื่องจาก ขุนนางพี่น้อง ๒ กร่าง ผู้ใกล้ชิดพ่ออยู่หัว คือ พระยาราชมนตรีบริรักษ์และหมื่นศรีสรรักษ์ มาป่วนงานราชการ จนเละเทะไปหมด 

กรมหมื่นเทพพิพิธก็เลยนำความกราบบังคมทูลพระภิกษุพระเจ้าอุทุมพร เพื่อขอเชิญพระองค์ชิงบัลลังก์พระเจ้าเอกทัศน์ แต่ พระภิกษุพระเจ้าอุทุมพร อาจจะเกรงว่า กรมหมื่นเทพพิพิธ จะล้มกระดานหรือทำการยึดครองบัลลังก์กรุงศรีฯ ซะเอง ก็เลยนำไปฟ้องเรื่องนี้กับ 'พระเจ้าเอกทัศน์' 

ความซวยครั้งที่ ๒ ก็บังเกิดจากหวังดีกลับกลายเป็น 'กบฏ' ถูกจับประหารทั้งแก๊ง แต่โชคดีที่ กรมหมื่นเทพพิพิธถูกเว้นโทษตาย รับแต่โทษเนรเทศไปลังกา ซึ่งในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศท่านได้สร้างวัดและฝังรากหยั่งลึกไว้บ้างแล้ว

'พระเจ้ากรุงลังกา พระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์' ได้ให้การต้อนรับ 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' เป็นอย่างดี เมื่อไปอยู่เกาะลังกาได้ไม่นานนั้น เป็นที่ชื่นชอบของขุนนางและราษฎรมาก เพราะเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง และที่สำคัญทรงเป็นชาวพุทธมาตั้งแต่กำเนิด 

ความซวยครั้งที่ ๓ ของพระองค์ก็มาเยือน เพราะในลังกามีกระแสอยากจะล้มล้าง พระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์ เนื่องจากทรงเป็นชาวทมิฬ ที่นับถือฮินดูมาก่อน พอมานับถือพุทธก็มีวัตรปฏิบัติที่แปลกประหลาด ซึ่งถ้าล้มล้างได้ก็จะนำบัลลังก์ถวายแก่กรมหมื่นเทพพิพิธ !!! 

แต่การล้มล้างยังไม่ทันเกิด  พระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์ ทรงทราบข่าว จึงทรงกวาดล้างผู้ไม่หวังดีทั้งหมด ส่วน 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ก็ต้องหนีตามระเบียบเพราะมีสิทธิ์ตายนอกราชอาณาจักรเป็นแน่ 

พระองค์ทรงลงเรือหนีกลับมาเมืองมะริด แต่ต้องถูกกักตัวไว้เพราะต้องโทษเนรเทศ กรมการเมืองก็แจ้งมายังกรุงศรีอยุธยาว่า กรมหมื่นเทพพิพิธเสด็จ ฯ กลับเข้ามา ก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการสั่งให้รับตัวมากักไว้ที่เมืองตะนาวศรี 

ความซวยครั้งที่ ๔ ของพระองค์ก็มาถึงอีกครั้ง เมื่อสงครามเสียกรุงครั้งที่ ๒ ได้อุบัติขึ้น โดย 'พระเจ้ามังระ' ได้มีพระบัญชาให้ 'มังมหานรธา' ยกทัพบุกเข้าเมืองชายแดนกรุงศรีฯ ตั้งแต่ ทวาย มะริด รวมไปถึงตะนาวศรีที่ 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ทรงประทับอยู่  พระองค์ก็เลยต้องหนีเตลิดไปถึงเมืองเพชรบุรี ทางการจึงรายงานขึ้นไปที่กรุงศรีอยุธยา จึงมีพระบรมราชโองการสั่งให้กรมหมื่นเทพพิพิธไปอยู่เมืองจันทบุรี ขนาดสงครามมาประชิด พระเจ้าเอกทัศก็ยังทรงไม่ไว้วางพระราชหฤทัยให้กรมหมื่นเทพพิพิธกลับกรุงศรี ฯ 

แต่ใช่ว่า 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' จะนิ่งเฉย เพราะมองว่าจะช้า จะเร็วกรุงศรีฯ ก็น่าจะแตก เลยทรงรวบรวมกำลังคนโดยทรงอ้างว่าจะไป 'กู้กรุง' ทำให้มีผู้คนไปร่วมด้วยจำนวนมาก ดังข้อความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า “คนในกรุงเทพมหานครรู้ก็ยินดี คิดกันพาครอบครัวหนีออกจากพระนคร ออกไปเข้าด้วยกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นอันมาก บรรดาหม่อมเจ้าชายหญิง ซึ่งเป็นพระหน่อ ในกรมหมื่นเทพพิพิธ กับทั้งหม่อมห้ามและข้าไทก็หนีออกไปหาเจ้า” 

โดยมีผู้คนจากทั้ง ปราจีนฯ, นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี มาร่วมกันเพื่อ 'กู้กรุง' หลายพันคน กรมหมื่นเทพพิพิธ จึงทรงยกกองกำลังไปตั้งไว้ ณ ปากน้ำโยทกา เมืองนครนายก ซึ่งพระองค์ดำเนินการก่อน 'พระเจ้าตาก' ถึง ๖ เดือน 

แต่ไม่รู้ว่าพระองค์ทำกรรมอะไรไว้ ความซวยครั้งที่ ๕ ก็มาถึง เพราะยังไม่ทันจะไป 'กู้กรุง' พม่าก็ยกทัพมาจัดการจนกระเจิง แต่การนี้บางบันทึกก็บอกว่า กองทัพที่ยกมาปราบกองกำลังกรมหมื่นเทพพิพิธครั้งนี้ ไม่ใช่กองทัพพม่า แต่เป็นกองทัพของพระเจ้าเอกทัศนั่นเอง เพราะกลัวกรมหมื่นเทพพิพิธจะ 'ปฏิวัติ' ยึดอำนาจก็เลยชิงจัดการซะก่อน...ก็ว่ากันไป 

ไม่ว่าจะเป็นกองทัพของใคร พม่าหรือกรุงศรีฯ ผลที่ได้ก็เหมือนกันคือทำให้กรมหมื่นเทพพิพิธต้อง 'หนี' โดยครั้งนี้หนีไป 'เมืองนครราชสีมา'

เมื่อมาถึงเมืองนครราชสี 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ก็ทรงคิดจะชวนเจ้าเมืองนครราชสีมาให้เกณฑ์กองทัพไปรบพม่าอีก แต่พระยานครราชสีมาไม่คิดแบบนั้น ความซวยครั้งที่ ๖ ก็มาเยือนพระองค์ 

เพราะพระยานครราชสีมาคิดจะจับตัว 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ส่งกรุงศรีอยุธยา ตอนแรกพระองค์คิดจะ 'หนี' อีก แต่พระโอรส หม่อมเจ้าประยงค์ ทูลให้ 'สู้' จึงได้ทรงฆ่าเจ้าเมืองนครราชสีมาเหลือแต่หลวงแพ่งน้องชายพระยานครราชสีมาที่หนีไปได้ หลังจากนั้นพระองค์จึงได้เข้าไปตั้งกองกำลังอยู่ในเมืองนครราชสีมา

ความซวยครั้งที่ ๗ มาเยือนอย่างรวดเร็ว เพราะ 'หลวงแพ่ง' มา 'เอาคืน' โดยตีเมืองนครราชสีมาคืนได้สำเร็จ แรกทีเดียวหลวงแพ่งจะฆ่ากรมหมื่นเทพพิพิธ แต่พระพิมายขอชีวิตไว้ ด้วยเห็นว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ที่เหลือรอดอยู่ไม่กี่คนในขณะนั้น ก่อนที่ 'พระพิมาย' จะทูลฯ เชิญ กรมหมื่นเทพพิพิธ ไปเมืองพิมายและยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน สืบพระวงศ์พระเจ้าแผ่นดินต่อไป ซึ่งรู้จักและเรียกกันว่า 'เจ้าพิมาย'

ส่วน 'พระพิมาย' ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น 'เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แห่งเมืองพิมาย'

หลังจากนั้นไม่นาน 'เจ้าพิมาย' ก็ได้วางแผนจัดการ 'หลวงแพ่ง' ที่ครองเมืองนครราชสีมาที่ไม่ให้เป็นหอกข้างแคร่ โดยใช้โอกาสที่ 'หลวงแพ่ง' ได้เชิญ 'พระพิมาย' เพื่อนเก่า มางานบุญที่บ้าน 'พระพิมาย' เล่นไม่ซื่อถือโอกาสขณะนั่งดูละครเพลินๆ ฆ่าหลวงแพ่งกลางงานบุญนั่นเอง ก่อนนำกองกำลังเข้ายึดเมืองนครราชสีมา อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด 

จากการณ์นี้ทำให้ 'เจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธ' ได้เมืองนครราชสีมาเพิ่มเข้ามาอีก จนมีเขตปกครองจนถึงเวียงจันทน์ ด้านใต้จรดกรุงกัมพูชา มีอํานาจเหนืออาณาเขตเมืองนครราชสีมาทั้งหมด เป็นที่รู้จักกันในชื่อ 'ก๊กเจ้าพิมาย'

แต่เวลานั้นเกิด 'เจ้าแผ่นดิน' ขึ้นหลายกลุ่ม เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาสูญสลายไปแล้ว ทำให้ผู้นำท้องถิ่นตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าปกครองบ้านเมืองของตัวเอง ไม่ขึ้นกับใคร นอกจากเจ้าพิมาย ก็มี เจ้าพระพิษณุโลก เจ้าพระฝาง เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตาก)

เจ้าพิมาย 'เป็นเจ้าแผ่นดิน' อยู่ได้ไม่นาน ความซวยครั้งที่ ๘ ก็เข้ามาเยือนเพราะ พระเจ้ากรุงธนบุรีประกาศที่จะรวบรวมหัวเมืองทั้งหลายให้กลับมาเหมือนในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงยกทัพมาเยือน 'เจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธ'

เจ้าพิมายเมื่อทราบข่าวการศึกว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีจะยกทัพขึ้นมาตี จึงให้จัดแต่งนายทัพ นายกอง ออกไปรับศึกที่นอกเมืองนครราชสีมาเป็น ๒ ทัพใหญ่ ผลปรากฏว่า กองทัพเจ้าพิมายถูกตีแตกพ่ายไปทั้งหมด จึงถึงคราวต้องทรง 'หนี' อีกครั้ง โดยทรงตั้งใจจะมุ่งหน้าสู่กรุงเวียงจันทน์ แต่ก็ถูกจับได้ระหว่างทาง และนำตัวกลับมายังกรุงธนบุรี

แรกเริ่ม 'พระเจ้ากรุงธนบุรี' ทรงไม่ปรารถนาจะสำเร็จโทษ แต่ 'เจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธ' ไม่ยอมสวามิภักดิ์ 'พระเจ้ากรุงธนบุรี' จึงตรัสว่า...

"ตัวหาบุญวาสนาบารมีมิได้ ไปอยู่ที่ไหนก็พาพวกผู้คนที่นับถือพลอยพินาศฉิบหายที่นั่น ครั้นจะเลี้ยงไว้ก็จะพาคนที่เชื่อถือบุญพลอยล้มตายเสียอีกด้วย เจ้าอย่าอยู่เลยจงตายเสียครั้งนี้ทีเดียวเถิด อย่าให้เกิดจลาจลในแผ่นดินสืบไปข้างหน้าอีกเลย"

ความซวยครั้งสุดท้ายนี้จึงเป็นอันปิดบัญชีชีวิตนักการเมือง แมวเก้าชีวิต แห่งกรุงศรีอยุธยาไปแต่เพียงเท่านี้

บทเพลงพระราชนิพนธ์แห่งความสุข  จากองค์พระมหากษัตริย์สู่พสกนิกรชาวไทย 

ประเทศไทยของเราเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่จากเดิมที่นับเอาวันที่ ๑ เมษายนของทุกปีเป็นวันปีใหม่แบบของไทยเรา โดยนับเนื่องกันมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเรามีเพลงประจำปีใหม่ไทยของเราหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ซึ่งแต่งทำนองและเรียบเรียงโดย 'พระเจนดุริยางค์' (ปิติ วาทยะกร) แต่งคำร้องโดย 'ขุนวิจิตรมาตรา' (สง่า กาญจนพันธุ์) โดยมีชื่อเพลงว่า 'เถลิงศก' และเริ่มใช้ขับร้องต้อนรับปีใหม่แบบไทยในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ โดยระบุชัดในเนื้อร้องท่อนนึงว่า...

“วันที่หนึ่งเมษายน ตั้งต้นปีใหม่
แสงตะวันพร่างพรายใส สว่างแจ่มจ้า
เสียงระฆังเหง่งหง่างก้อง ร้องทักทายมา
ไตรรงค์ร่าระเริงปลิว พลิ้วพลิ้วเล่นลม.....” 

แต่ร้องกันได้เพียงแค่ ๖ ปีก็มาถึงยุค ‘เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย’ … ‘จอมพล ป.พิบูลสงคราม’ ที่มีความต้องการให้ประเทศไทยมีความเป็นสากลเหมือนอารยประเทศในทุก ๆ เรื่อง โดยเฉพาะ ‘วันปีใหม่’ ซึ่งน่าจะนับเอาตามหลักสากล จึงได้ออกกฎหมายและประกาศ ‘พระราชบัญญัติ ปีปฏิทินพุทธศักราช ๒๔๘๓’ โดยยกเลิกปีใหม่แบบเดิมและให้เริ่มนับเอาวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นปีแรกแห่งการนับปีใหม่ตามหลักสากล เพลง 'เถลิงศก' เพลงปีใหม่เดิมก็เป็นอันเลิกใช้ โดยมีเพลงที่อาจจะอนุมานในการร้องหรือเปิดในช่วงปีใหม่ในช่วงของท่านจอมพลก็คือเพลงประกอบการเต้นลีลาศหรือรำวงมาตรฐานโดยวงสุนทราภรณ์ เช่น ‘รื่นเริงเถลิงศก’ / ‘รำวงปีใหม่’

ส่วนบทเพลงสำคัญที่เปรียบเสมือนพรจากฟ้า เป็นของขวัญของปวงชนชาวไทยในทุกวันขึ้นปีใหม่ เกิดขึ้นเมื่อวันส่งท้ายปี พ.ศ. ๒๔๙๔ นั่นก็คือบทเพลงพระราชนิพนธ์ ‘พรปีใหม่’

‘พรปีใหม่’ เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๓ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นบทเพลงที่ส่งต่อความสุขใจ ความปรารถนาดี จากพระองค์ท่าน สู่พสกนิกรชาวไทยของพระองค์ 

หลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จนิวัตประเทศไทยและประทับในประเทศไทยเป็นการถาวร ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ จนถึงวาระขึ้นปีใหม่ครั้งนั้น พระองค์มีพระราชประสงค์จะพระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรด้วยเพลง 

สำหรับบทเพลง ‘พรปีใหม่’ นี้ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ไม่ได้เริ่มต้นแต่งใหม่ทั้งหมดในคืนวันก่อนปีใหม่ปี ๒๔๙๔ - ๒๔๙๕ แล้วนำไปบรรเลงเลยอย่างที่ทุกคนเข้าใจ แต่จริง ๆ แล้วพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองมานานก่อนหน้านั้นแล้วบางส่วน ก่อนจะมาปรับปรุง เพิ่มเติมจนจบ จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทยซึ่งเป็นคำอวยพรปีใหม่ ลงไปจนครบซึ่งก็พอดีกับการจะพระราชทานในค่ำคืนวันนั้นพอดี ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสเล่าเบื้องหลังการพระราชนิพนธ์เพลง ‘พรปีใหม่’ พระราชทานแก่คณะกรรมการโครงการ ‘ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์’ ที่เข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ ความว่า...

“...เพลงพรปีใหม่ คนก็ว่าแต่งในวันปีใหม่ หรือวันก่อนวันปีใหม่ แท้จริงแต่งมานาน ก่อนที่จะออกปีใหม่เป็นปีหรือสองปี แล้วก็แต่งแบบทุลักทุเล ตอนนั้นไม่สบาย คืออยู่ที่เมืองนอก ไปมีอุบัติเหตุ หมอบอกว่าห้ามเล่นแซกโซโฟน แต่ว่าท่านจักรพันธ์อยู่ด้วย ก็ให้ท่านเป่าแซกโซโฟน ท่านก็เป่ามีเสียงออกมาได้ แต่ท่านไม่รู้ว่านิ้วจะวางอย่างไร ลงท้ายก็เอานิ้วของเราใส่บนแซกโซโฟน แล้วท่านก็เป่า ลงท้ายท่านก็เล่นแซกโซโฟนได้ และเมื่อหมออนุญาตให้เป่าแซกโซโฟน ก็เลยเริ่มเล่นเป็นเพลงที่แต่งเอาเอง คนหนึ่งเล่นส่วนหลัก แล้วอีกคนก็เล่นต่อสลับกันไปอย่างนี้แล้วจดเอาไว้มาถึงปลายปี ก็เลยนึกว่าเอ๊ะ...เราแต่งเพลงสำหรับให้พรปีใหม่ ก็เอาอันนี้ที่แต่งไว้แล้วมีคนแต่งสองคนไม่รู้ว่าเป็นเพลง ก็มาปรับปรุงให้เป็นเพลงได้…”

เพลงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ที่ได้รับพระราชทานชื่อว่า ‘พรปีใหม่’ เดินทางไปถึงวงดนตรี ๒ วง ในคืนวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ซึ่งทั้ง ๒ วงกำลังบรรเลงดนตรีส่งท้ายปีเก่ารับปีใหม่อยู่ ๒ แห่ง โดยวงแรกคือวงดนตรีของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแสดงอยู่ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

อีกวงคือวงสุนทราภรณ์ ซึ่งกำลังแสดงอยู่ที่ศาลาเฉลิมไทย เมื่อทั้ง ๒ วงได้รับบทเพลงพระราชนิพนธ์ ก็ได้นำไปเรียบเรียงเพื่อใช้สำหรับการบรรเลงเป็นวงและเตรียมการขับร้องอยู่สักพักก่อนที่จะนำไปบรรเลงและขับร้องเมื่อเข้าสู่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งนอกจากจะสร้างความประหลาดใจจากบทเพลงใหม่ที่ได้รับพระราชทานมาแล้วนั้น ผู้ที่ได้รับชม รับฟัง บทเพลงพระราชนิพนธ์ ‘พรปีใหม่’ ในครั้งนั้น ล้วน ตื่นเต้น ตื้นตัน และปลาบปลื้มไปกับความสุขที่ได้รับพรจากฟ้า จากพระเจ้าแผ่นดินผู้รักผสกนิกรของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง (ผมพิมพ์ไปนึกภาพตามไปยังขนลุกเลย) 

“สวัสดีปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาเราท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาเราท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมหฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี
ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ”

นับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕ มาถึงปัจจุบัน กว่า ๗๑ ปี ที่ชาวไทยได้ร้องเพลง ‘พรปีใหม่’ ในทุกช่วงเทศกาลฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขและการเดินหน้าต่อไปในทุก ๆ ปีแล้วนั้น เพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ยังแสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ไทยของเรา ที่อยากเห็นปวงชนชาวไทยมีความสุข อยู่ดีกินดี มีความสุขในบ้าน ในเมือง ที่ร่มเย็นด้วยพระบารมี ตลอดทั้งปีใหม่และตลอดไป

เมื่อ ‘กม.สูงสุด’ ถูกคณะราษฎรเสกเป็น ‘ของขลัง’ แห่งยุคสมัย อุปโลกน์ให้สูงส่งกว่ากษัตริย์ ทั้งที่สถานะเป็นเพียง ‘กฎหมาย’

การเกิด ‘ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ’ นั้นเกิดขึ้นโดยการรังสรรค์ของคณะราษฎร ด้วยการสร้างรัฐธรรมนูญให้มีรูปลักษณ์จับต้องได้ กลายเป็นของขลัง มีพิธีกรรมประกอบ มีพิธีรีตองเฉพาะ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ควรบูชา มีสถานะที่สูงส่งกว่ากษัตริย์ เพื่อรองรับฐานอำนาจของระบอบใหม่ ทำทุกๆ อย่าง เพื่อให้ประชาชนได้รู้จักรัฐธรรมนูญ

แต่ไม่ทำอย่างเดียวคือ ทำให้ประชาชนได้รู้ว่ารัฐธรรมนูญคือ ‘กฎหมาย’ 

นับจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ มาจนถึงวันที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ความพยายามต่างๆ ของคณะรัฐบาลและคณะราษฎรในการเผยแพร่ ให้ความรู้ เกี่ยวกับการปกครองในระบอบใหม่ โดยมีกฎหมายสูงสุดคือ “รัฐธรรมนูญ” ยังเป็นไปอย่างอิหลักอิเหลื่อ ทั้งนี้เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งภายในคณะราษฎร และระหว่างคณะราษฎรกับคณะรัฐบาล จนนำมาสู่การยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาลจาก ‘พระยามโนปกรณ์นิติธาดา’ มาเป็น ‘พระยาพหลพลพยุหเสนา’ 

รัฐบาลคณะนี้โดยการผลักดันของ ‘หลวงวิจิตรวาทการ’ ที่ต้องการเผยแพร่รัฐธรรมนูญจึงเกิดขึ้นมาอีกครั้ง

คณะทำงานนำโดย ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ ได้ร่างแผนการที่จะเผยแพร่แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ รวมถึงการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ การส่งหน่วยโฆษณาการลงพื้นที่ทุกตำบล เพื่อประชาสัมพันธ์ อย่างเป็นรูปธรรม ก่อนจะถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้นด้วย ‘กบฏบวรเดช’ 

เนื่องจากวิธีการให้ความรู้แบบเดิมก่อนเกิดกรณี ‘กบฏบวรเดช’ นั้น ไม่สามารถเข้าถึงและสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนได้ การนำเสนอรัฐธรรมนูญแบบใหม่ของคณะราษฎรจึงเกิดขึ้น 

การปรับให้ ‘รัฐธรรมนูญ’ กลายเป็น ‘สิ่งศักดิ์สิทธิ์’ คุ้มบ้าน ป้องเมือง ควรค่าแก่การเคารพบูชามีสถานะไม่แตกต่างจาก ‘ของขลัง’ เอาง่ายๆ คือ ‘ความรู้ไม่ต้องมี’ เน้น ‘ความงมงาย’ เข้าไว้ จูงใจคนได้ง่ายกว่า และเมื่อมีความศักดิ์สิทธิ์ก็ต้องได้รับการปกป้อง คุ้มครอง ไม่ให้ใครมาทำลาย 

สร้างให้ ‘รัฐธรรมนูญ’ มีค่าเท่ากับ ‘พระมหากษัตริย์’ เป็นสิ่งที่จับต้องได้ และเป็นหน้าที่ของชาติและประชาชนที่ต้องปกป้อง

ในเดือนธันวาคม พ.ศ ๒๔๗๖ รัฐบาลได้จัดตั้ง ‘สมาคมคณะรัฐธรรมนูญ’ โดยมีจุดประสงค์ดำเนินการในด้านการธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ สร้างความสามัคคี อบรมสมาชิก และดำเนินการด้านต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการปกครองด้วยระบอบใหม่ ไม่ให้ใครมาโค่นล้มได้ 

โดย ‘สมาคม’ ประกอบด้วย ๒ องค์กรคือ ‘ชุมนุมใหญ่’ และ ‘คณะกรรมการกลาง’ ซึ่งสมาคมนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของ ‘รัฐธรรมนูญ’ !!! 

หลังจากงานงานฉลองรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งบรรดาสมาคมฯ ภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะแม้แต่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ยังต้องทรงเสด็จฯ ทอดพระเนตรงาน ซึ่งก็ตรงกับเจตนารมณ์ที่ชัดแจ้งว่าความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญนั้น แม้แต่พระมหากษัตริย์ยังต้องทรงมาร่วมงานฉลองให้

‘ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ’ โดยเฉพาะการสร้างสิ่งยึดเหนี่ยวเกิดขึ้นจากแนวความคิดของ จำรัส มหาวงศ์นันทน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน ด้วยการเสนอให้มีการสร้าง ‘รัฐธรรมนูญจำลอง’ เป็นสมุดข่อย อัญเชิญไปยังศาลากลางจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นการเผยแพร่รัฐธรรมนูญไปด้วย ซึ่งถ้าจบตรงแค่นี้ก็น่าจะไม่เป็นไรมาก 

แต่คุณจำรัส แกไปเพิ่มมูลค่าความศักดิ์สิทธิ์ด้วยการเสนอให้ ‘รัฐธรรมนูญจำลอง’ นั้นต้องวางอยู่บน “พานแว่นฟ้า” ซึ่งใช้สำหรับวางของสูง แล้วคณะรัฐบาลขณะนั้นก็เอาด้วย เพราะอยากจะทำยังไงก็ได้ให้รัฐธรรมนูญคือสัญลักษณ์สำคัญแทนพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว

รัฐธรรมนูญจำลองจำนวน ๗๐ ชุด เป็นสมุดไทยลงรักปิดทองเป็น ‘รัฐธรรมนูญ’ วางบนพาน 2 ชั้น เป็น ‘พานรัฐธรรมนูญ’ โดยในวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ ได้มีพิธีสมโภช ‘พานรัฐธรรมนูญ’ ก่อนที่จะการส่งมอบให้กับผู้แทนราษฎรแต่ละจังหวัด 

พิธีในครั้งนั้น มีสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการ เป็นประธานในพิธี ทรงเจิมพานรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ประกอบเสียงมโหรีปี่พาทย์ เสียงสวดอำนวยจากพระสงฆ์ ๗๐ รูป มีพิธีเวียนเทียนสมโภช ก่อนจะนำไปประดิษฐานร่วมกับพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ก่อนที่จะ ‘อัญเชิญ’ เพื่อไป ‘ประดิษฐาน’ ยังจังหวัดต่าง ๆ จำนวน ๖๙ ชุดและอีก ๑ ชุด จะประดิษฐานไว้ ณ ที่ทำการใหญ่ของ “สมาคมคณะรัฐธรรมนูญ” พระราชอุทยานสราญรมย์

การอัญเชิญ ‘พานรัฐธรรมนูญ’ ก็เป็นไปอย่างเอิกเกริก ราวกับเป็นสิ่งสำคัญของชาติบ้านเมือง พอไปถึงจังหวัดต่าง ๆ ก็มีการนำขึ้นบุษบกแห่แหนให้ชมกันรอบเมือง ก่อนจะนำไปประดิษฐาน ณ ศาลากลางของจังหวัดนั้นๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าสักการะบูชา ด้วยดอกไม้ ธูป เทียน และมีการปฏิญาณตนต่อหน้าพานรัฐธรรมนูญ 

จากความ ‘ขลัง’ ระดับจังหวัด ก็กระจายลงไปถึงความ ‘ขลัง’ ระดับอำเภอ ดังที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเห็นว่า “พานรัฐธรรมนูญนี้ถือว่าขลัง เผยแพร่ไปมากเก๊งตามจิตต์วิทยาว่าขลัง หรือสงวนไว้ขลัง ถ้าถือว่าแพร่หลายไปทำให้คนรู้จัก และเลื่อมใสยิ่งขึ้น ก็ควรทำให้แพร่หลายไป” 

‘พานรัฐธรรมนูญ’ ที่ได้รับไปนั้นจะต้องผ่านพิธีกรรม มีพิธีการที่สมเกียรติ เพราะถือเป็นของสูง เวลานำไปจัดงานหรือเพื่อให้ประชาชนสักการะก็ต้องมีพลับพลาสำหรับประดิษฐานอย่างโอ่โถง 

ทั้งหมดเพื่อหวังผลบั้นปลายให้ ‘รัฐธรรมนูญ’ กลายเป็นแหล่งที่มาของอำนาจอันชอบธรรมในระบอบใหม่ เทียบเคียงกับสถานะบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบเก่านั่นเอง 

นอกจากพานที่กล่าวมาแล้ว ‘ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ’ ยังมีมิติครอบคลุมออกไปอย่างหลากหลาย ลึกซึ้ง อย่างเช่น อนุสาวรีย์ก็ไม่ได้มีแค่ ‘อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย’ ถนนราชดำเนินกลาง ก็ยังมี ‘อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ’ ที่ก่อสร้างตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่ ๖ แห่ง เช่นที่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ฯลฯ อย่างวัด ก็มี ‘วัดประชาธิปไตย’ (ปัจจุบันคือวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน) 

ยังไม่รวมสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในงานปั้น งานเครื่องหมาย โดยเป็นศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ สื่อถึงระบอบใหม่ ควบคู่ไปกับงานฉลอง ‘รัฐธรรมนูญ’ ที่ยิ่งใหญ่กว่างานฉลองของระบอบเก่า 

จนกระทั่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้นำบ้านเมืองของเราเข้าสู่ยุค ‘เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย’ การยึดเอา ‘รัฐธรรมนูญ’ เป็นของขลัง ของสำคัญ ของชาติจึงค่อยๆ มลายหายไป 

จาก ๑๐ ธันวาคม พ.ศ ๒๔๗๕ มาจนถึง ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ผ่านไปแล้ว ๙๑ ปี 

ปัจจุบันประชาชนได้รู้แล้วว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ คือ ‘กฎหมาย’ ไม่ใช่ ‘ของขลัง’ ไม่จำเป็นต้อง ‘บูชา’ แต่ถึงกระนั้น มันก็ยังไม่ได้ฝังรากลึกให้ประชาชนได้ยึดถืออย่างมีสำนึกและเข้าใจอย่างที่มันควรจะเป็น นับเนื่องมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ 

ทำไมนะ ? 

พระแก้วมรกต ถูกอัญเชิญออกจากที่ประดิษฐานกี่ครั้ง ครั้นสมัยรัตนโกสินทร์ และด้วยเหตุอันใด

ในช่วงสักเดือนกว่า ๆ มานี้ ผมได้พูดคุยและสัมภาษณ์นักวิชาการหลายต่อหลายท่านในเรื่อง ‘เมืองมรดกโลกเมืองศรีเทพ’ จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ในระหว่างที่พูดคุยผมก็เกิดนึกถึงเรื่องอื่น ๆ ของจังหวัดเพชรบูรณ์ไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการตั้งนครบาลเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงใหม่เพื่อหนีสงคราม และเรื่องการขนทรัพย์สินอันมีค่าหลาย ๆ อย่างของชาติไปเตรียมไว้ ณ ถ้ำฤาษีสมบัติ ซึ่งทรัพย์สินมีค่านั้น มี ‘พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร’ หรือ ‘พระแก้วมรกต’ รวมอยู่ด้วย 

การอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ สถานที่ต่าง ๆ เคยเกิดขึ้นนับเนื่องเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว ผมไม่ขอเล่าซ้ำ แต่ถ้าจำเพาะมาในยุครัตนโกสินทร์ของเรานี้ ‘พระแก้วมรกต’ เคยถูกอัญเชิญออกจากที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ ‘วัดพระศรีรัตนศาสดาราม’ สักกี่ครั้ง? เคยถูกอัญเชิญออกจากพระบรมมหาราชวังสักกี่ครา? เรื่องนี้แหละ ที่ผมกำลังจะเล่าให้อ่านเพลิน ๆ กัน 

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ‘พระแก้วมรกต’ นั้นแกะสลักมาจากแท่งหินหยกทั้งก้อน ซึ่งไม่ได้มีแต่เพียงองค์พระที่เราเห็นเพียงอย่างเดียว แต่ด้านล่างขององค์พระที่ไม่ได้แกะสลักนั้น เป็นแท่งหินขนาดกว้างใกล้เคียงกับองค์พระคือประมาณ ๔๘ เซนติเมตร ลึกลงไปประมาณ ๒๙ เซนติเมตร สวมลงไปในฐานกลีบบัวคว่ำบัวหงายที่มีทองคำหุ้มอยู่ ถ้าจะอัญเชิญไปไหนก็ต้องเป็นการเฉพาะ เพราะไม่สามารถนำไปตั้งบนพื้นเรียบ ๆ ได้เลย 

การอัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ ออกจากที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถแต่ไม่ได้นำออกจากพระบรมมหาราชวังนั้นเกิดขึ้นทั้งสิ้น ๕ ครั้ง ดังนี้...

ครั้งแรก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มความสูงของบุษบกโดยนำพระแท่นเบญจาสามชั้นหุ้มด้วยทองคำ ที่เคยใช้ประดิษฐานรองรับพระบรมโกศ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ มาถวายเป็นพุทธบูชา เสริมหนุนองค์บุษบกที่ทรงพระแก้วมรกตให้สูงขึ้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ครั้งที่สอง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘พระพุทธปรางค์ปราสาท’ เพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกตในปีพ.ศ. ๒๓๙๘ ครั้นก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์มีพระบรมราชวินิจฉัยว่าปราสาทแห่งนี้มีขนาดเล็กไม่เพียงพอแก่การพระราชพิธีต่าง ๆ จึงนำไปประดิษฐานไว้ภายในพระอุโบสถตามเดิม พระพุทธปรางค์ปราสาทนี้คือ ‘ปราสาทพระเทพบิดร’ นั่นเอง 

ครั้งที่สาม ในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ คือในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ เกิดไฟไหม้พระพุทธปรางค์ปราสาทลุกลามไฟโหม เกรงไฟจะไหม้พระอุโบสถวัดพระแก้วไปด้วย จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ พระมหามณเฑียร ชั่วคราว 

ครั้งที่สี่ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ในโอกาสครบ ๑๕๐ ปีแห่งการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ในปีพ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นครั้งที่ ๓ ตามรอบการบูรณะคือ ๕๐ ปี จะบูรณะใหญ่ ๑ ครั้ง จึงได้มีการอัญเชิญพระแก้วมรกตออกจากที่ประดิษฐานและทำการถ่ายภาพองค์พระแก้วมรกตเป็นครั้งแรก 

ครั้งที่ห้า ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ในคราวบูรณะวัดพระแก้วครบ ๒๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ มาแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นการบูรณะซ่อมแซมโครงสร้างบุษบก ซึ่งทรุดตามพื้นอุโบสถจึงต้องอัญเชิญองค์พระแก้วมรกตลงจากบุษบก โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นแม่กองบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ในครั้งนั้น 

ส่วนการอัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ ออกจากที่ประดิษฐานสู่ภายนอกนั้นมีสองเหตุการณ์ที่พอจะเล่าให้อ่านกันได้ ดังนี้...

เหตุการณ์แรก เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๖๓ ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ บ้านเมืองของเราได้เกิด “โรคห่า”ระบาด ผู้คนล้มตายไปกว่า ๓๐,๐๐๐ คน วัดต่างๆ มีซากศพของผู้ป่วยโรคห่าทับถมเหมือนกองฟืน ถนนเงียบไร้คนเดิน แม่น้ำก็ไม่สามารถดื่มกินเนื่องจากปนเปื้อน เพราะสมัยนั้นยังไม่รู้วิธีป้องกันหรือกำจัดโรคอย่างเป็นรูปธรรม 

รัชกาลที่ ๒ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบ ‘พระราชพิธีอาพาธพินาศ’ เพื่อปลอบประโลมจิตใจราษฎรและเป็นการปัดรังควานแก่พระนคร ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘ห่า’ คือผีร้ายที่ทำให้เกิดโรคระบาด ซึ่งพิธีดังกล่าวประกอบด้วย การยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืนยันฟ้าสาง การอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุธาตุออกแห่ไปรอบพระนคร พระภิกษุทรงสมณศักดิ์ร่วมเจริญพระพุทธมนต์ โปรยทราย ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ทั้งทางบกและทางเรือ ในหลวงรัชกาลที่ ๒ ทรงรักษาศีล ทรงไถ่ชีวิตสัตว์ ทรงปล่อยนักโทษ ห้ามประชาชนฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและให้อยู่แต่ในบ้าน ลดการติดต่อ เว้นระยะห่าง จนเชื้อลดลงและหายไปในที่สุด 

เหตุการณ์ที่สอง ซึ่งเล่ากันว่าเกิดขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ ‘พระแก้วมรกต’ ไม่ได้ถูกอัญเชิญออกจากที่ประดิษฐานโดยพระมหากษัตริย์ แต่ถูกอัญเชิญตามคำสั่งลับของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งต้องการย้ายเมืองหลวงไปยังนครบาลเพชรบูรณ์เพื่อหนีสงคราม 

คำสั่งลับ ‘ปฏิบัติการทองคำ’ ระบุให้ ขนทรัพย์สินของชาติ ทองคำ และ ‘พระแก้วมรกต’ เพื่อหนีสงคราม ปฏิบัติการนี้ไม่มีการบันทึกหรือออกข่าวเป็นทางการ แต่กลับมีพบเห็นเหตุการณ์และบันทึกเรื่องราวที่สามารถปะติดปะต่อกันเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่การขนทรัพย์สินออกจากหัวลำโพงโดยทางรถไฟ จนกระทั่งไปถึงเพชรบูรณ์จึงต่อรถ และขนขึ้นเขาโดยเท้า ไปยัง ถ้ำฤาษี ต.บุ่งน้ำเต้า อ.หล่มสัก โดยอัญเชิญพระแก้วมรกต ใส่ลังไม้สักเดินทอง ขนาดกว้าง ๑ เมตร ยาว ๑.๕๐ เมตร 

ส่วนการอัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ กลับกรุงเทพฯ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยเป็นเรื่องเล่าจากความทรงจำของ ‘พระอุดมญาณโมลี’ (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) ซึ่งท่านได้รับพระบัญชาจาก สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ให้ไปเป็นสักขีพยานอัญเชิญพระแก้วมรกตจากถ้ำแห่งหนึ่งที่เมืองเพชรบูรณ์กลับไปยังกรุงเทพมหานคร โดยท่านเล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า...

“…การอัญเชิญพระแก้วมรกตในครั้งนี้มีทรัพย์สินอย่างอื่นด้วย คือ ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ และสมบัติอื่น ๆ อันมีค่าของชาติ โดยมีพิธีการอัญเชิญ มีทหารยืนเข้าแถวเป็นระเบียบ ตั้งแถวเป็นแนวยาวรอรับ มีนายทหาร มีทหารฝรั่งต่างชาติด้วย และมีทหารผิวดำคล้าย ๆ ทหารจากแอฟริการ่วมในพิธีด้วย โดยการอัญเชิญกลับในครั้งนั้น บรรทุกเดินทางโดยขบวนรถยนต์ของทางการทหารกลับกรุงเทพฯ ซึ่งหลวงพ่อก็ไม่ได้กลับพร้อมขบวนรถนั้น โดยในระหว่างนั้นหลวงพ่อได้ไปพักที่วัดมหาธาตุ ในตัวเมืองเพชรบูรณ์ พักอยู่เป็นเวลาประมาณ ๗ วัน…” 

แม้ว่าหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรของเหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่ได้มีบันทึกอยู่อย่างเป็นทางการ มีเพียงหนังสือแจ้งราชการทางทหารของ พันเอก หาญ อุดมสรยุทธ์ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพื้นที่ จากพยานแวดล้อมที่เป็นชาวบ้าน ตอกย้ำด้วยคำบอกเล่าของพระเถระสายวิปัสสนากรรมฐานหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ก็น่าจะช่วยอนุมานเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้พอสังเขป 

แต่อย่างไรก็ดี เราอาจจะต้องให้ความเป็นธรรมในเหตุการณ์ครั้งหลังสุด เพราะถือว่าเป็นเพียงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและประวัติศาสตร์กระซิบ ที่ยังคงต้องหาหลักฐานประกอบให้เกิดความเชื่อมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อความกระจ่างชัดสมบูรณ์มากขึ้นต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top