'หม่อมไกรสร' ไพรีผู้พินาศ ประมาทเพราะอำนาจ กำเริบน้อยไปถึงมาก พาชีวิตพลาดจนตัวตาย

หากจะพูดถึงเจ้านายที่ชีวิตขึ้นสุด ลงสุดคือ มีอำนาจวาสนาถึงสูงสุด มียศศักดิ์ได้ทรงกรมถึง 'กรมหลวง' ร่วงลงต่ำสุด จนถูกถอดยศเหลือแค่ 'หม่อม' ก่อนถูกประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์คงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก 'พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ' ซึ่งทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร นั้นถือได้ว่าเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจบารมีมาก ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ซึ่งเป็นช่วงที่บ้านเมืองเริ่มเข้ารูปเข้ารอย และเจ้านายเริ่มเข้ามามีบทบาทในการกำกับกิจการบ้านเมือง 

พระองค์เจ้าไกรสรเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ได้เข้ามามีส่วนในการจัดระเบียบพระสงฆ์ ส่งเสริมกิจการของพระพุทธศาสนา ได้กำกับ 'กรมสังฆการี' ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับการศึกษาและพระราชศรัทธาของพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นเจ้านายเพียงไม่กี่พระองค์ที่ได้สถาปนาให้ทรงกรม โดยแรกได้ทรงกรมที่ 'กรมหมื่นรักษ์รณเรศ' เคียงคู่กับพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ของรัชกาลที่ ๒ คือ 'กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์' ซึ่งกาลต่อมาก็คือ 'พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว' รัชกาลที่ ๓ เรียกได้ว่าทรงงานคู่กันมาตลอดรัชกาล แม้จะมีศักดิ์เป็น 'พระปิตุลา' หรือ อา ของรัชกาลที่ ๓ แต่ว่าทั้งสองพระองค์มีพระชันษารุ่นราวคราวเดียวกัน ร่วมงานกันมาอย่างยาวนานต่อเนื่องเรียกได้ว่าเป็นเพื่อนยากของ ร.๓ เลยก็ว่าได้ 

พระองค์เจ้าไกรสร เป็นกำลังสำคัญในการก้าวขึ้นสู่พระราชอำนาชของรัชกาลที่ ๓ เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ ๒ ทรงสวรรคต เพราะนอกเหนือจากบุญญาบารมีทางการเมืองของในหลวงรัชกาลที่ ๓ แล้ว พระองค์เจ้าไกรสรทรงเป็นโต้โผหลักร่วมกับเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ อาทิ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์, กรมหมื่นศักดิพลเสพ, เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค), พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต บุนนาค) ในการสนับสนุนให้ 'กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์' เป็นพระเจ้าแผ่นดิน และพยายามกำจัดคู่แข่งทางการเมือง โดยเฉพาะ 'วชิรญาณภิกขุ' หรือ 'เจ้าฟ้ามงกุฎ' ซึ่งกาลต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ให้ต้องพลาดจากราชบัลลังก์ ทั้งยังตั้งตัวเป็นศัตรูมาอย่างต่อเนื่องอย่างที่เรียกว่า 'จองเวร' ก็ว่าได้ 

เริ่มต้นความเป็น 'ไพรี' หรือ 'ศัตรู' ของพระองค์เจ้าไกรสรที่มีต่อ 'เจ้าฟ้ามงกุฎ' นั้นสืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งเมื่อรัชกาลที่ ๒ ทรงสวรรคต เพราะพระองค์เป็นหนึ่งในโต้โผตามที่กล่าว ทั้งยังแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจน โดยเริ่มต้นจากการ 'หน่วงเหนี่ยว กักขัง' 'วชิรญาณภิกขุ' ซึ่งผนวชมาก่อนสวรรคตราว ๒ สัปดาห์ 

เมื่อรัชกาลที่ ๒ สวรรคต ก็ได้ลวงว่ามีพระบรมราชโองการให้เข้าเผ้า ฯ แต่เมื่อมาถึงพระราชวังหลวงกลับถูก 'กักบริเวณ' เพื่อจัดการเรื่องผู้สืบราชสมบัติเสร็จสิ้นเสียก่อน ณ พระอุโบสถวัดพระแก้ว แล้วแจ้งความจริงแก่พระองค์ (ดีที่พระองค์ทรงเตรียมใจด้วยทรงปรึกษาเรื่องการขึ้นครองราชย์มาก่อนแล้ว โดยเจ้านายผู้ใหญ่ที่นับถือทรงบอกกล่าวแล้วว่ายังมิควร เรื่องนี้จึงช่วยได้เยอะ) 

จากนั้นเมื่อทรงทราบทุกเรื่องแจ้งตลอดแล้วจึงได้เข้าถวายบังคมพระบรมศพ แต่ก็ทรงโดนพระองค์เจ้าไกรสรเข้าประกบพร้อมทรง 'ข่มขู่' จาก 'บันทึกความทรงจำ' พระยาสาปกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) ระบุไว้ว่า “พระจอมเกล้าฯ เสด็จเข้าไป พอเห็นสวรรคตแล้วก็ทรงพระกรรแสงโฮขึ้น หม่อมไกรสรก็เข้าไปกอดไว้แล้วคลําดู ดูที่จีวรกลัวจะซ่อนพระแสงเข้าไป พระจอมเกล้าฯ ก็ตกพระทัยรับสั่งว่าขอชีวิตไว้อย่าฆ่าเสียเลย พระนั่งเกล้าฯ รับสั่งว่าท่านอย่ากลัว ไม่มีใครทําอะไรหรอกอย่าตกพระทัย พี่น้องกันทั้งนั้น ทําอย่างไรได้เวลานั้นโดยท่านตกพระทัย พระบังคลไหลออกมาเปียกสบงเป็นครึ่งผืน” 

นี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอย่างยาวนานกว่า ๒๗ พรรษา

ครั้นมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 'พระองค์เจ้าไกรสร' ได้รับการสถาปนาให้เป็น 'กรมหลวงรักษ์รณเรศ' ทรงกำกับกรมวัง มีหน้าที่ตัดสินคดีความ คุมเบี้ยหวัดของพระราชวงศ์และขุนนาง ทรงคุม 'กรมสังฆการี' อยู่ในกำมือ เรียกว่ามีอำนาจอิทธิพลมาก นั่นทำให้พระราชวงศ์หลายพระองค์ต้องทรงมีอาการหมางเมินต่อพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ด้วยความกริ่งเกรง 'กรมหลวงรักษ์รณเรศ' นั่นเอง 

แต่ถึงจะครองเพศบรรพชิตก็ใช่ว่าจะแกล้งไม่ได้ 'พระวชิรญาณภิกขุ' ขึ้นชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา มีภูมิรู้ทางภาษาบาลีอย่างเอกอุ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบในด้านนี้ของพระองค์ วันหนึ่งจึงทรงอาราธนาพระองค์เข้าสอบความรู้พระปริยัติธรรมสนามหลวงโดยมีรัชกาลที่ ๓ ทรงเสด็จฯ ออกทรงฟังการสอบความรู้พระปริยัติธรรมด้วยทุกวัน ซึ่งปรากฏว่า 'พระวชิรญาณภิกขุ' แปลบาลีได้อย่างไม่ติดขัดจนถึงประโยคที่ ๕ เมื่อผ่านพ้นการแปลในประโยคนี้รวม ๓ วัน ก่อนจะขึ้นในวันใหม่ 'กรมหลวงรักษ์รณเรศ' ก็ได้เข้ามาทรงทักท้วงกับ พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) วัดโมลีโลกยาราม กลางที่ประชุมกรรมการแปลโดยเสียงที่ได้ยินกันทั่วว่า...

"นี่จะปล่อยกันไปถึงไหน" คืออารมณ์ว่าจะปล่อยให้แปลไปสบาย ๆ แบบนี้ได้ยังไง จน 'พระวชิรญาณภิกขุ' ต้องทูลฯ รัชกาลที่ ๓ ขอหยุดแปล ซึ่งรัชกาลที่ ๓ ทรงทราบก็ไม่ทรงขัดศรัทธา อีกทั้งยังทรงพระราชทานพัดยศเปรียญธรรม ๙ ประโยค อันเป็นสัญลักษณ์ของผู้สำเร็จการศึกษาพระปริยัติชั้นสูงสุดแห่งคณะสงฆ์ไทยให้ทรงถือ ก็แสดงให้เห็นชัดว่า ร.๓ ท่านไม่ได้ทรงขุ่นข้องหมองใจใด ๆ ยกเว้นเพียง พระองค์เจ้าไกรสรที่ยังทรงคิดรังควานต่อไป 

เมื่อเล่นงานตรง ๆ ไม่ได้เพราะ ร.๓ ไม่ทรงเล่นด้วย พระองค์เจ้าไกรสร ก็หันมาปล่อยข่าวปลอม สืบเนื่องจากความเป็นปราชญ์ในด้านบาลีของพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ อีกทั้งยังทรงเป็นนักศึกษา นักค้นคว้า ทำให้มีผู้คนไปนมัสการพระองค์ ณ วัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) ซึ่งพระองค์จำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีการปล่อยข่าวว่า 'พระวชิรญาณภิกขุ' ซ่องสุมผู้คนเพื่อหวังผลทางการเมือง ครั้นเมื่อรัชกาลที่ ๓ ทรงทราบเข้าจึงให้ย้ายพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในปี พ.ศ ๒๓๗๙ เพื่อให้พ้นข้อครหา

ปล่อยข่าวปลอมไม่สำเร็จงั้นก็แกล้งอย่างอื่นต่อ หลังจากที่ 'พระวชิรญาณภิกขุ' มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ได้ทรงสถาปนาธรรมยุติกนิกายขึ้น โดยยึดพระวินัยอย่างเคร่งครัด ทั้งการนุ่งห่มก็เรียบร้อย พระภิกษุต้องสำรวมขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นจุดที่ 'กรมหลวงรักษ์รณเรศ' นำมากลั่นแกล้งได้อีก โดยคราวนี้พระองค์ให้คนในสังกัดไปดักรอใส่บาตรพระธรรมยุติ โดยสิ่งที่ใส่ในบาตรคือ 'ข้าวต้ม' ร้อน ๆ คือ ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าในสมัยก่อนยังไม่มี 'ถลกบาตร' หรือ 'สลกบาตร' ซึ่งเสมือนถุงที่ใส่บาตรให้พระได้ถือกันร้อน มีแต่เชิงบาตรไว้ตั้งเมื่อรับบาตรเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อโยมในสังกัดของ 'กรมหลวงรักษ์รณเรศ' ตักบาตรข้าวต้มร้อนๆ แก่พระธรรมยุติ พระท่านก็ปฏิเสธไม่ได้ แถมยังต้องสำรวม ในการรับบาตรนี้พระทั้งหลายก็มือพอง แขนพอง กลับวัดกันไป นี่ก็อีกหนึ่งวิบากที่ร่ำลือกันถึงความ 'จองเวร' จาก 'กรมหลวงรักษ์รณเรศ' 

แต่มีอำนาจก็เสื่อมอำนาจได้ หากมิมีคุณธรรมควบคุมตนกรณีของ พระองค์เจ้าไกรสรก็เช่นกัน พระองค์ทรงมีความหวังว่าพระองค์จะได้เป็นวังหน้าในครั้งที่กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ทรงทิวงคต อีกทั้งยังทรงกระทำการด้วยอำนาจบาตรใหญ่หลายเรื่อง เช่น การตัดสินคดีความอย่างลำเอียงด้วยเห็นแก่สินบน ซ่องสุมผู้คนอย่างมิเหมาะควร กระทำตนเยี่ยงพระมหากษัตริย์ในงานลอยประทีป ณ กรุงเก่า และเมืองเขื่อนขันธ์ ซึ่งมีผู้คนเห็นกันอย่างถ้วนทั่ว หรือแม้กระทั่งเรื่องส่วนพระองค์ที่ทรงมิได้ร่วมหลับนอนกับพระชายาหรือหม่อมห้ามในวัง แต่กลับไปคลุกอยู่กับคนโขนละครซึ่งเป็นชายแต่โปรดฯ ให้แต่งกายเป็นหญิง ซึ่งนับว่าออกลูกมั่นใจว่าไม่มีใครกล้าเป็น 'ศัตรู' กับพระองค์มากไปสักหน่อย 

จากเหตุดังกล่าวในปี พ.ศ. ๒๓๙๑ 'ไพรี' ของพระองค์ จึงเริ่มขึ้นในรูปใบฏีกาที่ยื่นร้องทุกข์การปฏิบัติราชการและพฤติกรรมของพระองค์เป็นจำนวนมาก มากจนเกิดเป็นการจับกุมและต้องตั้งศาลเพื่อตัดสินคดีความของพระองค์ขึ้น ไล่จากเบาคือ เรื่องไม่บรรทมกับพระชายาหรือหม่อมห้าม ซึ่งเป็นเรื่องส่วนพระองค์โดยพระองค์ให้การว่า "ใช้มือกำคุยหฐาน (อวัยวะเพศ) ของกันและกันจนสุกกะ (น้ำกาม) เคลื่อนเท่านั้น" อีกทั้ง "การไม่อยู่กับลูกเมียนั้น ไม่เกี่ยวข้องแก่การแผ่นดิน" เรื่องทำตนเทียมกษัตริย์นั้น ในงานลอยประทีปนั้นก็มีมูลเพียงรับไว้บางส่วน 

แต่ก็ยังไม่ร้ายแรงที่สุด มาหนักตรงเรื่อง 'กินสินบาทคาดสินบน' ซึ่งมีการพิสูจน์ได้หลายเรื่อง โดยเรื่องที่บันทึกไว้ก็มีเรื่องของ 'พระยาธนูจักรรามัญ' ซึ่งถวายฎีกาฟ้องพระองค์ว่าตัดสินคดีไม่ชอบ เมื่อตุลาการชำระความก็ปรากฏว่าผิดจริง นำไปสู่การรื้อการพิจารณาอีกหลายคดี ส่วนเรื่องใหญ่ที่สุดก็คือการซ่องสุมผู้คน ซึ่งว่ากันว่าขุนนางคนไหนที่มีไพร่พล หากยอมสวามิภักดิ์พระองค์ก็จะนับว่าเป็นพวก แต่ถ้าใครไม่ยอมก็จะจองเวรหาเรื่องเอาผิดอยู่เนือง ๆ ซึ่งเรื่องการซ่องสุมผู้คน พระองค์ทรงให้การว่า...

“พระองค์มิได้ทรงจะก่อการกบฏ แต่เป็นการเตรียมไว้หากจะมีการผลัดแผ่นดิน ก็จะไม่ยอมเป็นข้าใคร" คือถ้ารัชกาลที่ ๓ สวรรคต ใครจะครองราชย์ต่อไม่ได้หากไม่ใช่พระองค์เอง ทั้งยังให้การกับตุลาการว่าหากได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจะตั้ง 'กรมขุนพิพิธโภคภูเบนทร์' เป็นวังหน้า ซึ่งคำให้การทั้งปวง ทำให้ตุลาการผู้ชำระความที่เป็นทั้งพระราชวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่ต้องประชุมกันอย่างเคร่งเครียด

ไล่ ๆ กับที่ 'พระองค์เจ้าไกรสร' กำลังเริ่มโดนไต่สวน มีเกร็ดเล่าว่ามีผู้มาถวายพระพุทธรูปองค์หนึ่งแด่ 'วชิรญาณภิกขุ' หรือ ครั้นเมื่อได้มาแล้วบรรดาศัตรูผู้คิดปองร้ายแก่พระองค์ล้วนแล้วแต่แพ้ภัยตนเอง พ่ายลงไปเสียสิ้น พระองค์จึงถวายนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า 'พระไพรีพินาศ' อันหมายถึงการสิ้นศัตรูในคราวแรก ทั้งยังทรงตั้งนามเจดีย์ศิลาเล็ก ๆ องค์หนึ่งว่า 'พระไพรีพินาศเจดีย์' อีกด้วย โดยเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ ได้มีค้นพบว่าในพระเจดีย์มีกระดาษแผ่นหนึ่งประทับตราสีแดงและปรากฏข้อความว่า "พระสถูปเจดีย์ศิลาบัลลังก์องค์ จงมีนามว่าพระไพรีพินาศ ตตเทอญ" และอีกด้านเขียนว่า "เพราะตั้งแต่ทำมาแล้ว คนไพรีก็วุ่นวายยับเยินไปโดยลำดับ" ซึ่งหากนับแล้วไม่เพียงแต่ พระองค์เจ้าไกรสร แต่ยังมีคณะบุคคลอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องพินาศไป ซึ่งจะนำมาเสนอในบทความต่อ ๆ ไป 

กลับมาที่พระองค์เจ้าไกรสร เมื่อตุลาการพิจารณาเป็นความสัตย์ ในหลวงรัชกาลที่ ๓ จึงทรงให้ถอด 'พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ' ให้เหลือแต่เพียง 'หม่อมไกรสร' และตัดสินให้ประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์ ซึ่งส่วนหนึ่งของคำพิพากษาระบุไว้อย่างน่าสนใจว่า "…การที่ตัวได้ดีมียศศักดิ์ขึ้นกว่าแต่ก่อนก็ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ยิ่งกว่าเจ้านายทุกๆ พระองค์ จึงได้คิดกำเริบใจขึ้น แต่ก่อนนั้นยังกำเริบน้อยๆ เดี๋ยวนี้มากขึ้นๆ จนกระทั่งทุกวันนี้ได้ ๒๕ ปีแล้ว บัดนี้ก็ถึงปรารถนาจะเป็นเจ้าแผ่นดิน ให้ตัวรำลึกถึงความหลังดู ... ความชั่วของตัวมันฟุ้งเฟื่องเลื่องฦๅไปทั่วนานาประเทศทั้งปวง หาควรไม่เลย ต่างคนต่างมีใจโกรธแค้นยิ่งนัก แล้วยังมาคิดมักใหญ่ใฝ่สูง จะเป็นวังหน้าบ้าง เป็นเจ้าแผ่นดินบ้าง อย่าว่าแต่คนเขาจะยอมให้เป็นเลย แต่สัตว์เดียรัจฉานมันก็ไม่ยอมให้ตัวเป็นเจ้าแผ่นดิน…"

แต่เรื่องความ 'จองเวร' ของ 'หม่อมไกรสร' ก็จัดว่าไม่ธรรมดา แม้จะถูกตัดสินความผิดถึงประหาร จนในวาระสุดท้าย ที่ 'วชิรญาณภิกขุ' จะขอขมาเพื่อจะทรงยกโทษกรรมเวรที่ทรงกระทำต่อกันมาด้วยดอกไม้ธูปเทียน นอกจากหม่อมไกรสรจะไม่รับแล้ว ยังกลับไปกำทรายแล้วตอบกลับว่า "จะขอผูกเวรไปทุกชาติเท่าเม็ดกรวดเม็ดทราย!!" ซึ่งเรื่องนี้ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ได้ทรงประทานเล่าไว้ในคราหนึ่ง 

'หม่อมไกรสร' ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ณ วัดปทุมคงคา เมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรม ๓ ค่ำ ปีวอก สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๑๐ ตรงกับวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๗๑ ขณะนั้นหม่อมไกรสรมีพระชันษาได้ ๕๖ ปี และนับเป็นพระราชวงศ์องค์สุดท้ายที่ถูกสำเร็จโทษด้วยวิธีนี้


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager