ทำไม? ในหลวงรัชกาลที่ ๔ ทรงต้องการปราสาทขอม ประวัติศาสตร์เรื่องอาณานิคม ที่คนรุ่นใหม่เล่าไม่ครบบริบท
เมื่อประมาณสักหลายเดือนก่อน ผมได้ลองอ่านเรื่องประวัติศาสตร์อ่านสนุก ๆ ในโลก Social Media ซึ่งเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และปราสาทนครวัดจำลองในพื้นที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งปราสาทจำลององค์นี้ ซึ่งพระองค์มีพระราชบัญชาให้ขุนนางได้จำลองมาไว้ แต่ประเด็นที่น่าสนใจไม่ใช่เรื่องราวของการนำเอาปราสาทนครวัดมาจำลองไว้ แต่มันเกี่ยวกับเรื่องของการรื้อถอนปราสาทหินจากเขมรเพื่อนำมาไว้ในสยาม แต่ประวัติศาสตร์อ่านสนุกนั้นไม่บอกไว้ว่าทำไม ? ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ ถึงต้องรื้อปราสาทหินมาไว้ในพระนคร นอกจากพระองค์ยังทรงต้องการที่จะให้ชาวพระนครได้ชมปราสาทหินเขมร ซึ่งมันคือ 'เรื่องปลายทาง'
จากการไม่อธิบายตรงนั้น ทำให้หลายต่อหลายคนที่ได้มาอ่านก็คิดไปกันเองโดยไม่เข้าใจว่าในหลวงรัชกาลที่ ๔ เพียงแค่ต้องการปราสาทหินมาไว้ในพระนครเพื่อแสดงความเป็นเจ้าเหนือหัวของกษัตริย์เมืองเขมรที่เป็นประเทศราช ซึ่งผมมองว่าไม่ถูกต้องเท่าไหร่นัก หากจะเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ สมควรจะเล่าบริบทให้ครบ
'เรื่องต้นทาง'
ในช่วงรัชกาลที่ ๔ สยามเริ่มเข้าสู่ความเชี่ยวกรากของนักล่าอาณานิคมโดยเฉพาะ 'นักล่าหน้าใหม่' ซึ่งมีความกระหายในการ 'ล่าเมืองขึ้น' ไม่ให้น้อยหน้าชาติในยุโรปที่ออกมาหาเมืองขึ้นก่อนหน้านั่นก็คือฝรั่งเศส ซึ่งกระโดดเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังอังกฤษ แต่ต้องการแสดงแสนยานุภาพให้โลกเห็นว่าตนเองก็ไม่ธรรมดา และการหาเมืองขึ้นเพื่อเชื่อมโยงตั้งแต่ทะเลจีนใต้ไปถึงประเทศจีนเป็นหมุดหมายสำคัญของฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้น
หลังจากผ่านพ้นช่วงการเมืองอันวุ่นวาย ฝรั่งเศสก็มีแนวความคิดที่จะออกสู่โลกอันกว้างใหญ่เพื่อหาเมืองขึ้น โดยสร้างชมรมนักสำรวจโดยสมอ้างมันคือชมรมการสำรวจอารยธรรมเพื่อความรู้ใหม่ของชาติ แต่เอาจริง ๆ ก็คือการสำรวจเพื่อประเมินทรัพยากรก่อนเข้ายึดครองนั่นเอง ซึ่งหนึ่งในการสำรวจครั้งนั้นก็มี ญวณ เขมร และลาว ซึ่งทุกประเทศล้วนเกี่ยวข้องกับสยาม ซึ่งเรื่องเล่านี้เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงทราบกันเป็นอย่างดีแล้ว
ภายหลังจากภาพชุดแรกของนักธรรมชาติฝรั่งเศสชื่อ อองรี มูโอต์ ได้วาดและระบายสีภาพ 'อังกอร์วัด' และเมืองโบราณาอื่น ๆ กว่า ๘๐๐ ภาพ ในช่วงปี ค.ศ. ๑๘๕๙ ก่อนนำไปตีพิมพ์ในวารสารเที่ยวรอบโลก Le Tour Du Monde ในช่วง ค.ศ. ๑๘๖๓ ซึ่งขณะที่มูโอต์ได้พบอังกอร์วัด กองทัพฝรั่งเศสได้เข้ายึดครองญวณภาคใต้ได้สำเร็จ จากญวณก็พุ่งเป้าไปยังกัมพูชาเพื่อต่อยอดแผนอันทะเยอทะยานในการมีอิทธิพลเหนือภูมิภาคนี้แต่เพียงผู้เดียว โดย นาวาตรีโบนาร์ด ข้าหลวงใหญ่แห่งโคชินไชน่า ได้เข้าไปในนครเสียมราฐอย่างเงียบ ๆ เพื่อศึกษาลู่ทางต่าง ๆ โดยเขาพบว่า 'นครวัด' อันรกร้างเหมาะจะเป็น 'สัญลักษณ์' ที่เหมาะสมที่สุดแห่งความชอบธรรมของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส เพราะว่าฝรั่งเศสกำลังจะพลิกฟื้นซากแห่งอารยธรรมโบราณให้แก่ประเทศที่ขาดการพัฒนา เพียงแต่อังกอร์วัดยังเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่ชื่อว่า 'สยาม'
'เรื่องกลางทาง'
การที่ฝรั่งเศสเริ่มเข้ามาสนใจเขมรนั้น อยู่ในพระเนตรพระกรรณของในหลวงรัชกาลที่ ๔ มาตลอด พระองค์ทรงตระหนักถึงพิษภัยการคุกคามของฝรั่งเศสที่มีมากกว่าอังกฤษ แถมการทูตใด ๆ ก็ไม่สามารถระงับความอยากได้เขมรของฝรั่งเศสได้ เพราะฝรั่งเศสเดินเกมลุกอย่างหนักทั้งจากการเข้าเฝ้า 'สมเด็จพระนโรดมฯ พรหมบริรักษ์' เพื่อเสนอผลประโยชน์ที่เขมรจะได้รับหากแยกทางกับสยาม
การตอบโต้ฝรั่งเศสในครั้งนั้นของในหลวงรัชกาลที่ ๔ เพื่อตอบโต้การคุกคามของฝรั่งเศสในก็คือพระราชบัญชาให้ขุนนางไทยสำรวจปราสาทนครวัดอย่างถ้วนถี่ เพื่อรื้อถอนเข้ามายังสยาม แต่ในขณะที่สยามกำลังสำรวจนี้ ฝรั่งเศสได้ขนวัตถุโบราณออกจากเขมรไปอย่างต่อเนื่อง หลักฐานการขนสามารถดูได้จากหลักฐานของฝรั่งเศสเองซึ่งเยอะมาก ๆ
แต่การตอบโต้แรกไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากปราสาทนครวัดนั้นใหญ่โตเกินไป แผนถัดไปจึงมีพระบรมราชโองการให้รื้อถอนปราสาทหินขนาดย่อม ๆ เข้ามาสัก ๒ หลัง โดยส่งกำลังพลถึง ๑,๐๐๐ คนเข้าไปโดยมุ่งไปที่ปราสาทพระขรรค์และปราสาทตาพรหม ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถูกฝรั่งเศสเพ่งเล็งและรายงานไปยังข้าหลวงใหญ่ในโคชินไชน่าแทบจะทันที
ถ้าอ่านถึงตรงนี้หลายคนที่อ่านก็คงดรามากันแล้ว เหมือนจากเหตุต้นเรื่องที่ผมได้เล่ามา แต่พระบรมราโชบายนี้มีความลึกซึ้งกว่าที่เราจะมองเผิน ๆ ได้ เพราะเรามีปราสาทขอมในสยามที่ใกล้กรุงเทพฯ เยอะแยะ ทำไม ? ถึงต้องเอาปราสาทที่ไกลจากสยามออกถึงขนาดนั้น และไม่ใช่แค่พระองค์อยากนำปราสาทมาก่อไว้เพื่อเกียรติยศแต่อย่างใด
พระองค์ดำเนินพระราโชบายการรื้อถอนปราสาทหินเขมรเข้ามาเพื่อแสดงความเป็น 'เจ้าอธิราช' เหนือเขมรอย่างถูกต้องทั้งพฤตินัยและนิตินัย เพราะฝรั่งเศสในขณะนั้นเขามาลักกินขโมยกิน ทั้ง ๆ ที่ผู้สถาปนากษัตริย์เขมรคือพระมหากษัตริย์แห่งสยาม
'เรื่องปลายทาง'
โครงการรื้อถอนปราสาทพระขรรค์และปราสาทตาพรหม ก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากมีทหารป่าเขมรประมาณ ๓๐๐ คน เข้ามาโจมตีขุนนางสยามจนล้มตาย บาดเจ็บไปหลายคน แต่กระนั้นในหลวงรัชกาลที่ ๔ ยังคงมีพระราชบัญชาให้ดำเนินการต่อ 'เอาเข้ามาให้จงได้' เพราะเดิมครั้งนั้นคือการเสียบ้านเสียงเมืองในส่วนของเขมรซึ่งอยู่กับสยามมาอย่างยาวนานนับเนื่องมาถึง ๔ รัชกาล
แต่ในท้ายที่สุดเหล่าขุนนาง เสนาบดีได้เข้าชื่อทำเรื่องทูลเกล้าฯ ขอพระราชทาน 'ระงับ' เพราะเหลือกำลังที่จะรื้อ หรือถ้ารื้อมาแล้วการประกอบขึ้นใหม่ถ้าทำแล้วไม่เหมือน ไม่สมบูรณ์ ก็จะเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศไปเสียอีก ทำให้เวลาต่อมาจึงได้ทรงมีพระราชบัญชาให้สร้างปราสาทนครวัดจำลอง ย่อส่วนลงมาไว้เป็นที่ระลึกภายในพื้นที่ของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวังที่เราได้เห็นกันอยู่ถึงวันนี้
นอกเหนือการนำปราสาทหินเขมรเข้าในพระนคร ในหลวงรัชกาลที่ ๔ ยังคงมีสัญญาลับที่ทำกับเขมรในปี ค.ศ. ๑๘๖๓ เพื่อยังคงดำเนินการักษาอธิราชของสยามที่มีต่อเขมรไว้ แต่ฝรั่งเศสก็ขัดขวางไว้เช่นเคย โดยใช้เรือปืนมาข่มขู่สยามถึงปากน้ำเจ้าพระยาจนเราต้องยอม ส่วนทางเขมรฝรั่งเศสก็ส่งตัวแทนเข้าสู่ราชสำนักเขมรและเสนอผลประโยชน์เพื่อให้เขมรเลิกเป็นประเทศราชของสยาม และเป็นมาเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส
สุดท้ายเขมรก็ตกลงเพราะประโยชน์ที่ได้มันค่อนข้างจะคุ้มค่ามาก ๆ ในช่วงเวลานั้น ทำให้การลักกิน ขโมยกินของฝรั่งเศสเป็นเรื่องถูกต้องทั้งทางพฤตินัยและนิตินัย สัญญาลับที่เราทำกับเขมรก็เป็นโมฆะไปโดยปริยาย แล้วฝรั่งเศสก็เดินหน้ายึดพื้นที่ไปเรื่อย ๆ จนพื้นที่ญวณ เขมร และลาวเป็นพื้นที่ในอารักขาของฝรั่งเศสไปทั้งหมด
สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงดำเนินพระราโชบายและที่ทรงได้มีพระราชบัญชา เป็นการมองการณ์ไกล เพื่อแสดงความเป็นเจ้าอธิราชให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการรุกรานของฝรั่งเศสที่จะเกิดขึ้น เพราะหากฝรั่งเศสได้เขมร พื้นทื่อื่น ๆ ที่ติดกับเขมรย่อมต้องเสียตามไปอีกเป็นแน่แท้ แล้วการณ์ทุกอย่างก็เป็นอย่างที่พระองค์คาดไว้ จากนโยบายเรือปืนของฝรั่งเศส ที่เราได้ผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องในอีกถึง ๒ รัชกาล
เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager