รู้จัก 'ลุงดอน' ตัวเดินเรื่องแห่ง ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ หน่วยราชการพิเศษ ผู้ภักดีและอยู่เคียงข้าง ‘ในหลวง ร.๗’
ผมไม่แน่ใจว่าท่านผู้อ่านจะได้ชมภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง '๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ' หรือ '2475 Dawn of Revolution' กันแล้วหรือยัง? จะมีมุมมองในเหตุการณ์ที่แอนิเมชันเรื่องนี้ได้นำมาเล่าเรื่องราวแบบไหน? อันนี้แล้วแต่วิจารณญาณและภูมิรู้ที่แตกต่างกันไปนะครับ
ขอบอกว่าบทความนี้มีสปอยภาพยนตร์เรื่องนี้บางส่วน หากชมแล้วก็คงไม่มีปัญหา ส่วนผู้ที่ยังไม่ชมแนะนำว่าอ่านแล้วรีบไปชมกันนะครับ
มีเรื่องหนึ่งที่ทีมงานอยากให้ผมเล่าเกร็ดเล็ก ๆ ของตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือ ‘ลุงดอน’ ซึ่งในเพจ #ปราชญ์สามสี ได้ลงข้อมูลว่าเป็นตัวละครที่ได้รับแรงบันดาลใจว่ามาจาก นาย ‘พโยม โรจนวิภาต’ ซึ่งมีตัวตนอยู่จริง...เขาเป็นทั้งนักเขียน และเป็นถึงคนสนิทของ ‘รัชกาลที่ ๗’
เอาล่ะ!! ผมจะขยายความและเล่าเรื่องเล็ก ๆ ของ 'ลุงดอน' คนนี้
‘นายพโยม โรจนวิภาต’ เป็นมหาดเล็กรายงานของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โดยตอนเป็นนักเขียนเขามีนามปากกา อ.ก. รุ่งแสง ซึ่งในภาษาอังกฤษ ก็คือ Dawn นั่นเอง (ติดตามอ่านเพิ่มเติมที่ #ปราชญ์สามสี ได้นะครับ : https://www.facebook.com/share/p/CtEEho9UgcQru1EM/?mibextid=oFDknk
ที่มาของเรื่องราวสายลับนั้น เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ไม่นาน ซึ่งคณะราษฎร ซึ่งเป็นรัฐบาลกุมอำนาจการปกครองในเวลานั้น ได้จัดตั้งกองตำรวจพิเศษขึ้น โดยใช้ชื่อว่า ‘กองตำรวจสันติบาล' โดยให้มีหน้าที่สืบสวนหาข่าวสารทางการเมือง ติดตามสอดส่องการเคลื่อนไหวของบุคคลต่าง ๆ นั้น โดยเฉพาะพวกที่เชื่อได้ว่าเป็นพวก ‘กษัตริย์นิยม’ หรือ ‘รอยัสลิสต์’ ทั้งยังมี ‘กองนักสืบพลเรือน’ คอยสอดส่องเหตุการณ์ต่าง ๆ พร้อมรายงานหากบุคคลใด ๆ แสดงท่าทีอันเป็นปรปักษ์ต่อระบอบใหม่ โดยทำงานสอดประสานกับ ‘กองตำรวจสันติบาล’
ส่วนทางราชสำนัก ก็ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานข่าวขึ้นเช่นกัน แต่วัตถุประสงค์ไม่ได้เป็นไปในทางที่คณะราษฎรทำเลยแม้แต่นิดเดียว!!!
เนื่องด้วย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงเกรงว่าพระราชวงศ์บางพระองค์อาจแสดงความไม่พอใจและมีปฏิกิริยาต่อทางรัฐบาลจนเกิดเป็นเรื่องขึ้น จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ฝ่ายราชสำนักจัดตั้งหน่วยราชการพิเศษ ให้คอยสอดส่องความประพฤติของพระราชวงศ์ รวมทั้งความเคลื่อนไหวในด้านต่าง ๆ ของบ้านเมืองโดยทั่วไปด้วย เพื่อทรงทราบว่าใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหนบ้าง ย้ำนะครับว่า 'พระราชวงศ์'
หน่วยราชการพิเศษนี้ใช้คนน้อยมาก ๆ ทั้งยังไม่ได้นำงบจากภาษีของประชาชนมาใช้เพื่อกำจัดใคร โดยหน่วยราชการนี้ประกอบด้วย ผู้สำเร็จราชการพระราชวังในฐานะหัวหน้าหน่วย และผู้ที่ข้าราชการผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดพระองค์ได้คัดเลือกแล้วว่าเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวงการข่าวสาร, หนังสือพิมพ์, วงสังคมทหารและพลเรือน เรียกว่าเป็นคนแบบ 'ไปที่ไหนก็เข้าได้' ที่สำคัญเป็นผู้ที่เคยถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในวัดพระศรีรัตนศาสดารามมากกว่า ๗ ครั้งอีกด้วย
หน่วยราชการพิเศษที่ทรงตั้งขึ้นนี้ นอกจากเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) ผู้สำเร็จราชการพระราชวัง, มหาเสวกตรี พโยม โรจนวิภาต ซึ่งมีรหัสลับแทนตัวว่า 'พ. 27' กับ 'ผู้ช่วย' ที่ไม่ปรากฏชื่อแล้ว ซึ่งจะมีใครอีกหรือไม่ และจบบทบาทลงเมื่อใด ก็มิปรากฏชัดเจน โดย นายพโยม โรจนวิภาต เล่าถึงการตั้งหน่วยราชการพิเศษนี้ว่า...
“…เมื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่พสกนิกรไทยแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเกรงว่าอาจจะมีพระราชวงศ์บางองค์ คิดต่อต้านการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงทรงโปรดให้จัดตั้งหน่วยสอดส่อง ความประพฤติของบรรดาเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์ และทูลเกล้าฯ ถวายรายงานการเคลื่อนไหว แต่การณ์กลับปรากฎว่า พ.๒๗ ได้พบแต่ปฏิกิริยาของพวกคณะปฏิวัติ ทะเลาะวิวาท เพื่อแย่งชิงอำนาจกันเอง ทั้งยังสร้างความสะเทือนพระราชหฤทัยนานาประการ”
หน่วยราชการพิเศษนี้ ทำหน้าที่เสมือนเป็นนักรายงานข่าว นักรวบรวมข้อมูลข่าว นักวิเคราะห์ข่าว และนักประเมินข่าว 'รายวัน' โดยใน ๑ วัน หน่วยงานนี้จะต้องรวบรวมข่าวสารการเมือง ที่นอกเหนือไปจากเรื่องที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย พร้อมสืบไปถึงเบื้องลึก เบื้องหลังอย่างแท้จริง และต้องกรองออกมาจนกลายเป็น 'ข่าวกรอง' ที่ได้กลั่นกรองมาแล้วอย่างแท้จริง โดยมีหลักสำคัญคือ ต้องไม่เสนอข่าวลือ ไม่เสนอข่าวที่ไม่ได้สอบสวนข้อเท็จจริงและต้องไม่สอดแทรกความคิดเห็นใด ๆ ใส่ลงไปนอกจากจะเป็นความคิดเห็นของบุคคลในข่าว ตามที่ได้สืบสวนมาเท่านั้น
การรายงานข่าวดังกล่าวนี้ จะต้องรวบรวมเสนอผู้สำเร็จราชการพระราชวัง ในทุกคืน จนเมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว ก็ต้องรีบจัดพิมพ์ให้เสร็จและอ่านให้ผู้สำเร็จฯ ฟังอีกครั้งหนึ่งเพื่อทวนความ ก่อนจะลงนามกำกับแล้วจึงนำไปผนึกซอง 'ติดครั่ง' ประทับตราพิเศษเป็นอักษรไขว้ พ.ร.ว. (แหวนตราชื่อย่อ พโยม โรจนวิภาต) เสร็จแล้วนำส่งเจ้าหน้าที่กรมวังก่อนย่ำรุ่ง เพื่อ 'เดินหนังสือ' ด้วยรถไฟขบวนแรกจากพระนครไปหัวหิน โดยรายงานนี้จะถึงพระราชวังไกลกังวลราวบ่ายโมงเศษ ซึ่งรัชกาลที่ ๗ จะทรงรับและเปิดซองนี้ด้วยพระองค์เองเพื่อทรงทอดพระเนตรในทันทีที่รายงานไปถึง
เหตุสำคัญครั้งหนึ่ง พ.๒๗ ได้เขียนรายงานไปยังในหลวงรัชกาลที่ ๗ ว่าจะมีการก่อกบฎต่อต้านรัฐบาล โดยโค้ดหมายเลข ๑ แทนตัวพระองค์เจ้าบวรเดช และโค้ดหมายเลข ๒ แทนตัวรองแม่ทัพกบฏคือพระยาศรีสิทธิสงคราม แต่รายงานที่ พ.๒๗ ส่งไปในครั้งนี้ ในหลวงท่านรู้อยู่แล้วว่าจะเกิดกบฎต่อต้านรัฐบาล ซึ่งนำโดยพระองค์เจ้าบวรเดชฯ ในหลวงตรัสกับ พ.๒๗ ว่า “ฉันนึกว่าแกจะรู้ลึกกว่านี้”
ที่พระองค์ตรัสดังนี้ ไม่ใช่ว่าพระองค์มีส่วนรู้เห็นกับการก่อกบฏแต่ประการใด แต่เพราะพระองค์ทรงประเมินและทรงทราบมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วว่า พระองค์เจ้าบวรเดชมีใจอยากจะคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองมาแต่แรกก่อนคณะราษฎร และคิดจะกำจัดพระยาพหลฯ มาตั้งแต่เริ่มมีเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เพราะพระองค์เคยทรงปรามไว้ จนทำให้พระองค์เจ้าบวรเดชทรงขุ่นเคือง ร.๗ เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเตือนพระยาพหลฯ ไว้แล้วด้วยซ้ำว่า ให้ระวังพระองค์เจ้าบวรเดชไว้ (ใครจะบอกว่าพระองค์ทรงรู้เห็นและสนับเรื่องกบฏบวรเดชผมขออนุญาตตบปากสัก ๗ ครั้งนะครับ)
กลับมาที่ พ.๒๗ เขาได้เล่าไว้ในหนังสือ 'พ.๒๗ สายลับพระปกเกล้า' ถึง 'แผนหลั่งเลือดในวังปารุสก์' โดยระบุไว้ว่า...
"…แผนหลั่งเลือดในวังปารุสก์ ซึ่งกลุ่มผู้ก่อการในกรุงเทพฯ จัดขึ้น นอกเหนือแผนการของพระองค์เจ้าบวรเดช คือการบุกเข้าประหาร 'คนสำคัญ' ของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งพักอยู่ในวังปารุสกวัน ทราบว่ากลุ่มนี้ได้ว่าจ้างนักเลงปืนชั้นยอดจากต่างจังหวัดมากำจัดบุคคลสำคัญคนหนึ่ง ในจังหวะที่บุคคลนั้นพรวดพราดออกมาจากห้องนอน ขณะมีเสียงสัญญาณบอกเหตุร้ายดังขึ้น เมื่อกองทัพฝ่ายโคราชยกมาถึงสถานีจิตรลดา และกองหน้าส่วนหนึ่งกำลังบุกเข้าวังปารุสก์"
โดยแผนนี้จะดำเนินการในวันที่ ๑๐ ตุลาคม เมื่อคณะผู้ก่อการเดินทางออกจากจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป้าหมายไม่ใช่ 'พระยาพหลฯ' หากแต่เป็น 'หลวงพิบูลสงคราม' ซึ่งนับว่าประหลาดมาก
แต่เดชะบุญกลุ่มผู้ก่อการได้เลื่อนแผนการออกไป ๑ วัน โดยคณะผู้ก่อการได้ออกเดินทางจากโคราชในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ทำให้แผนสังหารไม่สามารถดำเนินไปได้ เลยเป็นอันว่า 'แผนหลั่งเลือดในวังปารุสก์' ไม่เกิดขึ้น
ทำไม? ถึงไม่จัดการสังหารผู้นำของคณะราษฎรในวันนั้นซะล่ะ ???
ไม่ใช่ว่า พ.๒๗ จะกลัวตายเลยไม่ดำเนินตามแผนต่อเนื่องไปนะครับ โดยเขาเล่าว่าหากเขาลงมือ “กลัวว่าจะกลายเป็นหลักฐานพยานให้ฝ่ายรัฐบาลกล่าวหาได้ว่า ‘พระมหากษัตริย์ทรงมีส่วนรู้ร่วมคิดกับฝ่ายทหารหัวเมือง’ เพราะข่าวทางลับของคณะราษฎรได้มาถึงมือผู้นำของพวกเขาแล้ว ด้วยการข่าวของผู้ก่อการรั่วและเป็นปฐมเหตุให้การต่อต้านรัฐบาลล้มเหลว (พระยาพหลฯ รู้ก่อนคณะผู้ก่อการออกจากโคราช และหลวงพิบูลได้เตรียมการรบแล้ว) ซึ่ง พ.๒๗ มีสิทธิ์โดนสอยร่วงตายอย่างไร้ประโยชน์ ทั้งยังจะเป็นเหตุใช้ปรักปรำในหลวงรัชกาลที่ ๗ เพราะ พ.๒๗ ซึ่งเป็นข้าราชการในวังแต่มา 'ตาย' อยู่ที่วังปารุก์วัน
หลังจากกบฏบวรเดชถูกปราบปรามล่วงไปแล้ว ๔ เดือน ได้มีคำสั่งระบุว่า “สำนักพระราชวังก็มีคำสั่งปลด รองเสวกตรี พโยม โรจนวิภาต ออกจากราชการ ฐานหย่อนสมรรถภาพ” ทั้งยังเป็นที่ต้องการตัว เนื่องจากถูกมองว่ามีส่วนพัวพันในกรณี 'กบฏบวรเดช' ทำให้เขาต้องเดินทางออกนอกประเทศเพื่อหลบภัยการเมือง โดยเขาบรรยายการตามจับบุคคลที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับกบฏบวรเดชไว้ว่า...
"ผู้เอาใจช่วยพวกกบฎและประณามรัฐบาลได้แก่ ใครๆ ไม่ว่าหน้าอินทร์หน้าพรหม ที่เต้นแร้งเต้นกา หรือซุบซิบ เห็นพ้องด้วยกับการกบฎ เพื่อล้มรัฐบาลพระยาพหลฯ คนกบฎประเภทนี้ คือ คนปากเสีย มีโทษติดตะรางได้สวยเหมือนกัน"
ก่อนที่ พ.๒๗ จะหนีออกนอกประเทศเขาได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ โดยทรงมีพระเมตตาพระราชทานเงินให้ ๓,๐๐๐ บาท แล้วทรงให้ออกนอกประเทศ ไปลี้ภัยอยู่ที่ปีนังและสิงคโปร์ จึงเดาได้ว่าในหลวง ร.๗ ท่านทรงคาดไว้แล้ว
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น นายพโยม โรจนวิภาต ได้เข้าร่วมเป็นเสรีไทย โดยเป็นผู้จัดการวิทยุภาคภาษาไทย ได้พูดโจมตีรัฐบาลไทยภายใต้การคุมอำนาจของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อยู่บ่อยครั้ง ทั้งยังได้แต่งกลอนตำหนิ หัวหน้ารัฐบาลที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของญี่ปุ่น ผ่านสถานีวิทยุ ไว้ว่า...
เป็นจอมพลไฉนยอมเป็นจอมแพ้...
ทำผิดแล้วคิดแก้ไม่ได้หรือ...
เกิดเป็นชายชาตรีมีฝีมือ...
ไฉนจึงดื้อให้ไพรีนั่งขี่คอ...
จนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ยุติลง พร้อมกับรัฐบาลประกาศนิรโทษกรรมแก่นักการเมืองทั้งหมดแล้ว เขาจึงเดินทางกลับมาประเทศไทย
ถ้าเราอยากจะรู้จักเขามากกว่านี้ลองไปหาหนังสือที่เขาเขียนชื่อ 'พ.๒๗ สายลับพระปกเกล้า' อ่านกันนะครับ สนุกแน่
เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager