Tuesday, 14 May 2024
2475DawnofRevolution

'2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ' แอนิเมชันแห่งสยาม ระดมดาราดังพากย์เสียง เปิดรับชมฟรี 13 มี.ค.นี้

เมื่อวานนี้ (28 ก.พ.67) เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเดินทางย้อนเวลากลับไปสัมผัสเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยาม ในรูปแบบแอนิเมชัน 2D สุดเข้มข้น กับ ‘2475 Dawn of Revolution รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ ที่พร้อมให้คุณรับชมฟรีทางออนไลน์ โดยมีศิลปินนักแสดงชื่อดังมาร่วมพากย์เสียง ได้แก่ ฉัตรชัย เปล่งพานิช, สินจัย เปล่งพานิช, จิราวัฒน์ วชิรศรัณย์ภัทร, สุเมธ องอาจ และ กิตติ เชี่ยววงศ์กุล หรือ เกลือ เป็นต่อ

‘2475 Dawn of Revolution’ ถักทอเรื่องราวจากหนังสือประวัติศาสตร์หลายเล่ม พาคุณย้อนกลับไปสู่จุดกำเนิดของประชาธิปไตย เปิดเผยเรื่องราวการต่อสู้ทางอุดมการณ์และความคิดของบุคคลสำคัญในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ผ่านมุมมองที่สดใหม่

‘2475 Dawn of Revolution’ เป็นผลงานจาก ‘NAKRA STUDIO’ เป็นทีมแอนิเมชันรุ่นใหม่ ที่มีความมุ่งมั่นอยากถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ ผ่านรูปแบบแอนิเมชันที่สนุกสนาน เข้าใจง่าย เต็มไปด้วยเนื้อหาที่เข้มข้น อัดแน่นไปด้วยอารมณ์ เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาอันสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย

แอนิเมชันเรื่องนี้ ยังแฝงไปด้วยประเด็นร่วมสมัยที่กระตุ้นให้ผู้ชมฉุกคิด ตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัย และค้นหาคำตอบไปร่วมกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้เหมาะสำหรับผู้ชมทุกเพศทุกวัย ที่ต้องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และชวนคุณค้นหาทางออกว่าคนไทยจะเรียนรู้จากอดีตเพื่อก้าวต่อไปในอนาคตร่วมกันได้อย่างไร

‘2475 Dawn of Revolution’ จะจัดฉายพิเศษเป็นการเปิดตัวรอบปฐมทัศน์ในโรงภาพยนตร์เซนจูรี สุขุมวิท ในวันเสาร์ที่ 9 มีนาคม 2567 นี้ และจะเผยแพร่ทางออนไลน์ให้รับชมฟรี ตั้งแต่วันพุธที่ 13 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

เราขอส่งมอบแอนิเมชัน 2475 Dawn of Revolution ที่พวกเราตั้งใจสร้างขึ้นมา ให้ทุกคนได้รับชม โดยหวังว่า แอนิเมชันเรื่องนี้ จะช่วยจุดประกายให้ผู้ชมสนใจสืบค้นเรื่องราวประวัติศาสตร์ และช่วยเป็นข้อมูลพื้นฐานในการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ครับ” ทีมงานนาคราสตูดิโอ กล่าว

>> ตัวอย่างภาพยนตร์:
Teaser 1 https://www.youtube.com/watch?v=gcC3ICn2uTM  
Teaser 2 https://www.youtube.com/watch?v=MMxWRbLz4EM
Teaser 3 https://www.youtube.com/watch?v=AOpCWYYMdqc 
Teaser 4 https://www.youtube.com/watch?v=NWZw7533GiY

กำหนดฉาย: 13 มีนาคม 2567
เว็บไซต์: https://www.facebook.com/2475animation

รอชม '2475 Dawn of Revolution' หนังประวัติศาสตร์ที่ทุกฝ่ายดูได้

(13 มี.ค. 67) บริษัท นาคราพิวัฒน์ จำกัด หรือนาคราสตูดิโอ จะมีการฉายภาพยนตร์แอนิเมชันประวัติศาสตร์เรื่อง '2475 Dawn of Revolution' ผลงานของผู้กำกับ ซัง-วิวัธน์ จิโรจน์กุล ความยาวประมาณ 2 ชั่วโมง ผ่านออนไลน์ 3 แพลตฟอร์ม ได้แก่ เฟซบุ๊ก '2475 Dawn of Revolution' ยูทูบ 2475 Animation และติ๊กต็อก @2475animation

โดยช่องทางยูทูบ 2475 Animation จะฉายรอบพรีเมียร์ในเวลา 20.00 น. จากนั้นเวลา 21.00 น. จะทยอยเผยแพร่แอนิเมชัน แบ่งเป็น 3 ตอน (ตอนละประมาณ 40 นาที) เพื่อให้คนที่ไม่ทันรอบพรีเมียร์ สามารถมารับชมตั้งแต่เริ่มได้ รวมทั้งจะทยอยอัพโหลด ลงในช่องทางอื่นๆ อย่างเฟซบุ๊ก และติ๊กต็อกด้วยเช่นกัน 

สำหรับภาพยนตร์เรื่อง '2475 Dawn of Revolution' เป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าคณะราษฎร นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดพระราชอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ และเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ก่อนจะนำไปสู่เหตุการณ์ต่างๆ ในกลุ่มคณะราษฎรตามมา

โดยมีทีมพากย์นำโดย อาวอ จิราวัฒน์ วชิรศรัณย์ภัทร พร้อมด้วยนักพากย์ เช่น นก ฉัตรชัย เปล่งพานิช, นก สินจัย เปล่งพานิช, สุเมธ องอาจ, เกลือ กิตติ เชี่ยววงศ์กุล และมี พ.อ.ประทีป สุพรรณโรจน์ ประพันธ์เพลงประกอบ ใช้หนังสืออ้างอิงประมาณ 4-5 ลัง โดยได้ หมู ปัณฑา สิริกุล เรียบเรียงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และเขียนบท พร้อมด้วย ปราชญ์ สามสี เป็นที่ปรึกษาด้านข้อมูลเกร็ดประวัติศาสตร์ มีทีมงานสตรีทอาร์ต คิง ภูมิพล นำโดย นายชวัส จำปาแสน มาช่วยงานภาพ

นายวิวัธน์ จิโรจน์กุล ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้เป็นการนําเสนอประวัติศาสตร์ในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อให้คนไทยได้เข้าใจบริบทและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และให้ผู้ชมได้นําความผิดพลาดในอดีตมาเรียนรู้ เพื่อร่วมกันหาแนวทางที่จะก้าวต่อไปยังอนาคต เพราะประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องเป็นของทุกคน ไม่ใช่ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

สำหรับสิ่งที่อยากจะบอกกับผู้ชมก่อนชมภาพยนตร์นั้น เรื่องนี้เนื้อหาค่อนข้างแน่น พยายามที่จะย่อยให้เข้าใจง่ายที่สุด มองในมุมของแต่ละฝ่ายว่าสิ่งที่ทำเป็นประโยชน์อะไรต่อประเทศชาติ ซึ่งตนเห็นว่าทุกคนมีมุมคิดในการพัฒนาประเทศในแบบของตนเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะเหมาะสมต่อเหตุการณ์หรือเหมาะสมต่อบ้านเมืองหรือเปล่าเท่านั้น

ผู้กำกับภาพยนตร์ 2475 ยืนยันว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ทุกฝ่ายดูได้ เพราะเล่าประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้แต่งข้อมูล และไม่ใช่สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นแล้วบิดเบือน ตลอด 92 ปีที่ผ่านมาการเล่าประวัติศาสตร์ 2475 ไม่เคยเล่าตรงไปตรงมา ถ้าประวัติศาสตร์ตรงนี้ไม่ชัดเจน จะเป็นความขัดแย้งต่อไปไม่จบสิ้น ยืนยันว่าเรื่องราวในภาพยนตร์สืบค้นได้หมด มีหนังสือแนะนำและให้ไปหาอ่าน

"มีคนบอกว่าเราบิดเบือน สร้างขึ้นมาเอง แสดงว่าคุณไม่ได้อ่านประวัติศาสตร์ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในอดีตไม่มีฝั่ง อยู่ที่ว่าเราจะรับได้แค่ไหน" นายวิวิวัธน์ ระบุ

'แป้ง กราฟิตี้' ทิ้งคำถามชวนคิดหลังดู '2475 Dawn of Revolution' หวังฝั่งโปร 'ปรีดี' มีข้อมูลมาโต้ข้อมูลจากหนัง มากกว่าคารม-วาทกรรม

(14 มี.ค. 67) นายสมรนนท์ แย้มอุทัย หรือ 'แป้ง' ศิลปินกราฟฟิตี้ชื่อดัง เจ้าของ X แมวของ Headache @headachestencil ได้โพสต์ถึง แอนิเมชั่น อย่าง 2475 Dawn of Revolution 'รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ' หลังได้ดู โดยมีเนื้อหาดังนี้...

รีวิว เเอนิเมชั่น 2475 จากมุมมองของผมนะครับ

- ด้านภาพ น่าจะได้ทีมงานหลายคนหลายทีมมาจอยกันแหงๆ ลายเส้นปนกันบันเทิงมาก แต่ชอบลายเส้นพวกรายละเอียดสถาปัตยกรรมต่างๆ มาก สวยสัส แต่เสียดายตัวละครหลัก ดันทำเป็นการ์ตูนแบบโบราณไปหน่อย ตอนก้านกล้วยเราไปถึงเลเวลนั้นกันแล้ว ไม่น่าดึงกลับมาเป็นการ์ตูนขยับปากแหง่บๆ แบบนี้

- สงสัยตั้งแต่ต้นจนจบ ปลาหมึกจะสื่อแทนอะไร ปลาหมึกมาบ่อยมาก บ่อยจนอยากแดก

- หนังนานชิบหาย นานแบบเด็กที่ไม่อินมานั่งดูแล้วหลับแน่นอน ข้อมูลแน่นมากช่วงแรกจนจับใจความยาก พอพ้นช่วงอัดข้อมูลค่อยพอรับสารง่ายขึ้น ยิ่งช่วงท้ายๆ ถ้าใครที่ไม่ได้อินหรือจมกับข้อมูลที่เคยเรียนหรือเคยฟังมาก่อน มานั่งฟัง นั่งดูดีๆ จะอินได้เลยทีเดียวแหละ ช่วงท้ายๆ น่าจะเป็นจุดที่ทำให้หลายๆ คนต้องคิดและมองอะไรเปลี่ยนไปได้บ้างถ้าไม่อคติเกินไป ถามว่า propaganda มั้ย มีบ้างอยู่แล้วหนังก็ชัดเจนนะว่าทำมาทำไม แต่หลายคีย์เวิร์ดในหนัง แม่งก็คือคำพูดที่ออกมาจากปากม็อบเองด้วยซ้ำ หลายๆ เรื่องเหมือนหนังแค่อยากเตือนให้อย่าเชื่อหรือฟังอะไรจากด้านเดียวมากกว่า แล้วถ้าไม่อคติแต่ต้น หนังดูพยายามให้คนไทยรักกันมากกว่าจะมาเสี้ยมให้แตกแยกกว่าเดิมนะ

- ในส่วนของข้อมูลเนื้อหา หลายข้อมูลดูแล้วก็แอบตกใจนะ เราอ่านและเรียนประวัติศาสตร์กันจากผู้ชนะเป็นคนเขียนเสมอมา พอลองมาเจอข้อมูลจากอีกมุมแล้วคิดตามก็มีหลายอย่างต้องเอ้ะบ้างแหละ ยิ่งเหล่าคนที่เทิดทูนปรีดีทั้งหลายคงไม่ชอบเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่ก็นั่นแหละครับ ถ้าคุณจะบอกว่าคุณตาสว่าง โดยคุณเลือกรับสารด้านเดียว คุณใช้แค่ตากับหูครับ ยังไม่ทันได้ใช้สมอง ถ้ามีสมองก็รับสารมากขึ้น แล้ววิเคราะห์เองอีกรอบ น่าจะดีกว่างมโข่งกันแบบนี้

- สรุปโดยรวมเลยคือหนังไม่แย่เลยนะ ถ้าว่างๆก็ควรลองนั่งดู แต่ต้องมีสมาธินะ เปิดๆไปทำอย่างอื่นไปดูไปไม่น่าเวิร์ค ถามว่าดูแล้วรักเจ้าขึ้นมั้ย? ถ้าใครที่ไม่อคติอยู่ก็น่าจะมีสะเทือนใจกันบ้างแหละ ส่วนคนที่เทิดทูนอยู่แล้วก็น่าจะมีโกรธและเห็นใจเจ้ามากกว่า บทถือว่าดีเลยนะ เลี่ยงคำเสี้ยมและดูพยายามจริงๆที่จะให้คนไทยดูแล้วกลับมารักกัน และหาทางทำให้ชาติ กษัตริย์ และประชาชน อยู่ร่วมกันไปต่อแบบมีเอกลักษณ์ของตัวเอง และไม่จำเป็นต้องไปพยายามเป็นแบบคนนั้นคนนี้ เพราะเรามีดีของเราพอ ปัญหาทุกวันนี้มันเกิดจากการอยากเปลี่ยนประเทศให้เป็นแบบนั้นแบบนี้ตามอย่างเขา เรามีวิถีของเรา เรามีอะไรหลายๆอย่างของเราเอง ทำไมต้องไปอยากเป็นแบบคนอื่นเขาด้วยล่ะ ทำไมเราถึงไม่ทำตัวให้คนอื่นเขาอยากเป็นแบบเราล่ะ

- สุดท้ายเข้าใจโพสต์ของสมเจียมวันก่อนละ ตอนนี้สิ่งที่อยากเห็นคือฝั่งที่เรียกว่าเป็นฝั่งเดียวกับปรีดี จะมีข้อมูลอะไรมาโต้แย้งข้อมูลใหม่ๆ ในหนังมั้ย? หรือจะใช้เพียงคารมและวาทกรรมเช่นเดิม? แล้วก็ส่งคนไปติดคุกเรียกร้องความสนใจโลกผ่าน NGO ที่เดินหาแดกกับความขัดแย้งในประเทศกันสลอนเต็มไปหมดอยู่แบบนี้? ลองคิดกันดูดีๆนะครับ ว่าตกลงประเทศวุ่นวายเพราะใครกันแน่?

รู้จัก 'ลุงดอน' ตัวเดินเรื่องแห่ง ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ หน่วยราชการพิเศษ ผู้ภักดีและอยู่เคียงข้าง ‘ในหลวง ร.๗’

ผมไม่แน่ใจว่าท่านผู้อ่านจะได้ชมภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง '๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ' หรือ '2475 Dawn of Revolution' กันแล้วหรือยัง? จะมีมุมมองในเหตุการณ์ที่แอนิเมชันเรื่องนี้ได้นำมาเล่าเรื่องราวแบบไหน? อันนี้แล้วแต่วิจารณญาณและภูมิรู้ที่แตกต่างกันไปนะครับ 

ขอบอกว่าบทความนี้มีสปอยภาพยนตร์เรื่องนี้บางส่วน หากชมแล้วก็คงไม่มีปัญหา ส่วนผู้ที่ยังไม่ชมแนะนำว่าอ่านแล้วรีบไปชมกันนะครับ

มีเรื่องหนึ่งที่ทีมงานอยากให้ผมเล่าเกร็ดเล็ก ๆ ของตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือ ‘ลุงดอน’ ซึ่งในเพจ #ปราชญ์สามสี ได้ลงข้อมูลว่าเป็นตัวละครที่ได้รับแรงบันดาลใจว่ามาจาก นาย ‘พโยม โรจนวิภาต’ ซึ่งมีตัวตนอยู่จริง...เขาเป็นทั้งนักเขียน และเป็นถึงคนสนิทของ ‘รัชกาลที่ ๗’

เอาล่ะ!! ผมจะขยายความและเล่าเรื่องเล็ก ๆ ของ 'ลุงดอน' คนนี้ 

‘นายพโยม โรจนวิภาต’ เป็นมหาดเล็กรายงานของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โดยตอนเป็นนักเขียนเขามีนามปากกา อ.ก. รุ่งแสง ซึ่งในภาษาอังกฤษ ก็คือ Dawn นั่นเอง (ติดตามอ่านเพิ่มเติมที่ #ปราชญ์สามสี ได้นะครับ : https://www.facebook.com/share/p/CtEEho9UgcQru1EM/?mibextid=oFDknk 

ที่มาของเรื่องราวสายลับนั้น เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ไม่นาน ซึ่งคณะราษฎร ซึ่งเป็นรัฐบาลกุมอำนาจการปกครองในเวลานั้น ได้จัดตั้งกองตำรวจพิเศษขึ้น โดยใช้ชื่อว่า ‘กองตำรวจสันติบาล' โดยให้มีหน้าที่สืบสวนหาข่าวสารทางการเมือง ติดตามสอดส่องการเคลื่อนไหวของบุคคลต่าง ๆ นั้น โดยเฉพาะพวกที่เชื่อได้ว่าเป็นพวก ‘กษัตริย์นิยม’ หรือ ‘รอยัสลิสต์’ ทั้งยังมี ‘กองนักสืบพลเรือน’ คอยสอดส่องเหตุการณ์ต่าง ๆ พร้อมรายงานหากบุคคลใด ๆ แสดงท่าทีอันเป็นปรปักษ์ต่อระบอบใหม่ โดยทำงานสอดประสานกับ ‘กองตำรวจสันติบาล’

ส่วนทางราชสำนัก ก็ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานข่าวขึ้นเช่นกัน แต่วัตถุประสงค์ไม่ได้เป็นไปในทางที่คณะราษฎรทำเลยแม้แต่นิดเดียว!!! 

เนื่องด้วย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงเกรงว่าพระราชวงศ์บางพระองค์อาจแสดงความไม่พอใจและมีปฏิกิริยาต่อทางรัฐบาลจนเกิดเป็นเรื่องขึ้น จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ฝ่ายราชสำนักจัดตั้งหน่วยราชการพิเศษ ให้คอยสอดส่องความประพฤติของพระราชวงศ์ รวมทั้งความเคลื่อนไหวในด้านต่าง ๆ ของบ้านเมืองโดยทั่วไปด้วย เพื่อทรงทราบว่าใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหนบ้าง ย้ำนะครับว่า 'พระราชวงศ์'

หน่วยราชการพิเศษนี้ใช้คนน้อยมาก ๆ ทั้งยังไม่ได้นำงบจากภาษีของประชาชนมาใช้เพื่อกำจัดใคร โดยหน่วยราชการนี้ประกอบด้วย ผู้สำเร็จราชการพระราชวังในฐานะหัวหน้าหน่วย และผู้ที่ข้าราชการผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดพระองค์ได้คัดเลือกแล้วว่าเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวงการข่าวสาร, หนังสือพิมพ์, วงสังคมทหารและพลเรือน เรียกว่าเป็นคนแบบ 'ไปที่ไหนก็เข้าได้' ที่สำคัญเป็นผู้ที่เคยถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในวัดพระศรีรัตนศาสดารามมากกว่า ๗ ครั้งอีกด้วย 

หน่วยราชการพิเศษที่ทรงตั้งขึ้นนี้ นอกจากเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) ผู้สำเร็จราชการพระราชวัง, มหาเสวกตรี พโยม โรจนวิภาต ซึ่งมีรหัสลับแทนตัวว่า 'พ. 27' กับ 'ผู้ช่วย' ที่ไม่ปรากฏชื่อแล้ว ซึ่งจะมีใครอีกหรือไม่ และจบบทบาทลงเมื่อใด ก็มิปรากฏชัดเจน โดย นายพโยม โรจนวิภาต เล่าถึงการตั้งหน่วยราชการพิเศษนี้ว่า...

“…เมื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่พสกนิกรไทยแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเกรงว่าอาจจะมีพระราชวงศ์บางองค์ คิดต่อต้านการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงทรงโปรดให้จัดตั้งหน่วยสอดส่อง ความประพฤติของบรรดาเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์ และทูลเกล้าฯ ถวายรายงานการเคลื่อนไหว แต่การณ์กลับปรากฎว่า พ.๒๗ ได้พบแต่ปฏิกิริยาของพวกคณะปฏิวัติ ทะเลาะวิวาท เพื่อแย่งชิงอำนาจกันเอง ทั้งยังสร้างความสะเทือนพระราชหฤทัยนานาประการ” 

หน่วยราชการพิเศษนี้ ทำหน้าที่เสมือนเป็นนักรายงานข่าว นักรวบรวมข้อมูลข่าว นักวิเคราะห์ข่าว และนักประเมินข่าว 'รายวัน' โดยใน ๑ วัน หน่วยงานนี้จะต้องรวบรวมข่าวสารการเมือง ที่นอกเหนือไปจากเรื่องที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย พร้อมสืบไปถึงเบื้องลึก เบื้องหลังอย่างแท้จริง และต้องกรองออกมาจนกลายเป็น 'ข่าวกรอง' ที่ได้กลั่นกรองมาแล้วอย่างแท้จริง โดยมีหลักสำคัญคือ ต้องไม่เสนอข่าวลือ ไม่เสนอข่าวที่ไม่ได้สอบสวนข้อเท็จจริงและต้องไม่สอดแทรกความคิดเห็นใด ๆ ใส่ลงไปนอกจากจะเป็นความคิดเห็นของบุคคลในข่าว ตามที่ได้สืบสวนมาเท่านั้น 

การรายงานข่าวดังกล่าวนี้ จะต้องรวบรวมเสนอผู้สำเร็จราชการพระราชวัง ในทุกคืน จนเมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว ก็ต้องรีบจัดพิมพ์ให้เสร็จและอ่านให้ผู้สำเร็จฯ ฟังอีกครั้งหนึ่งเพื่อทวนความ ก่อนจะลงนามกำกับแล้วจึงนำไปผนึกซอง 'ติดครั่ง' ประทับตราพิเศษเป็นอักษรไขว้ พ.ร.ว. (แหวนตราชื่อย่อ พโยม โรจนวิภาต) เสร็จแล้วนำส่งเจ้าหน้าที่กรมวังก่อนย่ำรุ่ง เพื่อ 'เดินหนังสือ' ด้วยรถไฟขบวนแรกจากพระนครไปหัวหิน โดยรายงานนี้จะถึงพระราชวังไกลกังวลราวบ่ายโมงเศษ ซึ่งรัชกาลที่ ๗ จะทรงรับและเปิดซองนี้ด้วยพระองค์เองเพื่อทรงทอดพระเนตรในทันทีที่รายงานไปถึง

เหตุสำคัญครั้งหนึ่ง พ.๒๗ ได้เขียนรายงานไปยังในหลวงรัชกาลที่ ๗ ว่าจะมีการก่อกบฎต่อต้านรัฐบาล โดยโค้ดหมายเลข ๑ แทนตัวพระองค์เจ้าบวรเดช และโค้ดหมายเลข ๒ แทนตัวรองแม่ทัพกบฏคือพระยาศรีสิทธิสงคราม แต่รายงานที่ พ.๒๗ ส่งไปในครั้งนี้ ในหลวงท่านรู้อยู่แล้วว่าจะเกิดกบฎต่อต้านรัฐบาล ซึ่งนำโดยพระองค์เจ้าบวรเดชฯ ในหลวงตรัสกับ พ.๒๗ ว่า “ฉันนึกว่าแกจะรู้ลึกกว่านี้” 

ที่พระองค์ตรัสดังนี้ ไม่ใช่ว่าพระองค์มีส่วนรู้เห็นกับการก่อกบฏแต่ประการใด แต่เพราะพระองค์ทรงประเมินและทรงทราบมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วว่า พระองค์เจ้าบวรเดชมีใจอยากจะคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองมาแต่แรกก่อนคณะราษฎร และคิดจะกำจัดพระยาพหลฯ มาตั้งแต่เริ่มมีเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เพราะพระองค์เคยทรงปรามไว้ จนทำให้พระองค์เจ้าบวรเดชทรงขุ่นเคือง ร.๗ เป็นอย่างมาก 

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเตือนพระยาพหลฯ ไว้แล้วด้วยซ้ำว่า ให้ระวังพระองค์เจ้าบวรเดชไว้ (ใครจะบอกว่าพระองค์ทรงรู้เห็นและสนับเรื่องกบฏบวรเดชผมขออนุญาตตบปากสัก ๗ ครั้งนะครับ)

กลับมาที่ พ.๒๗ เขาได้เล่าไว้ในหนังสือ 'พ.๒๗ สายลับพระปกเกล้า' ถึง 'แผนหลั่งเลือดในวังปารุสก์' โดยระบุไว้ว่า...

"…แผนหลั่งเลือดในวังปารุสก์ ซึ่งกลุ่มผู้ก่อการในกรุงเทพฯ จัดขึ้น นอกเหนือแผนการของพระองค์เจ้าบวรเดช คือการบุกเข้าประหาร 'คนสำคัญ' ของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งพักอยู่ในวังปารุสกวัน ทราบว่ากลุ่มนี้ได้ว่าจ้างนักเลงปืนชั้นยอดจากต่างจังหวัดมากำจัดบุคคลสำคัญคนหนึ่ง ในจังหวะที่บุคคลนั้นพรวดพราดออกมาจากห้องนอน ขณะมีเสียงสัญญาณบอกเหตุร้ายดังขึ้น เมื่อกองทัพฝ่ายโคราชยกมาถึงสถานีจิตรลดา และกองหน้าส่วนหนึ่งกำลังบุกเข้าวังปารุสก์"

โดยแผนนี้จะดำเนินการในวันที่ ๑๐ ตุลาคม เมื่อคณะผู้ก่อการเดินทางออกจากจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป้าหมายไม่ใช่ 'พระยาพหลฯ' หากแต่เป็น 'หลวงพิบูลสงคราม' ซึ่งนับว่าประหลาดมาก 

แต่เดชะบุญกลุ่มผู้ก่อการได้เลื่อนแผนการออกไป ๑ วัน โดยคณะผู้ก่อการได้ออกเดินทางจากโคราชในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ทำให้แผนสังหารไม่สามารถดำเนินไปได้ เลยเป็นอันว่า 'แผนหลั่งเลือดในวังปารุสก์' ไม่เกิดขึ้น 

ทำไม? ถึงไม่จัดการสังหารผู้นำของคณะราษฎรในวันนั้นซะล่ะ ??? 

ไม่ใช่ว่า พ.๒๗ จะกลัวตายเลยไม่ดำเนินตามแผนต่อเนื่องไปนะครับ โดยเขาเล่าว่าหากเขาลงมือ “กลัวว่าจะกลายเป็นหลักฐานพยานให้ฝ่ายรัฐบาลกล่าวหาได้ว่า ‘พระมหากษัตริย์ทรงมีส่วนรู้ร่วมคิดกับฝ่ายทหารหัวเมือง’ เพราะข่าวทางลับของคณะราษฎรได้มาถึงมือผู้นำของพวกเขาแล้ว ด้วยการข่าวของผู้ก่อการรั่วและเป็นปฐมเหตุให้การต่อต้านรัฐบาลล้มเหลว (พระยาพหลฯ รู้ก่อนคณะผู้ก่อการออกจากโคราช และหลวงพิบูลได้เตรียมการรบแล้ว) ซึ่ง พ.๒๗ มีสิทธิ์โดนสอยร่วงตายอย่างไร้ประโยชน์ ทั้งยังจะเป็นเหตุใช้ปรักปรำในหลวงรัชกาลที่ ๗ เพราะ พ.๒๗ ซึ่งเป็นข้าราชการในวังแต่มา 'ตาย' อยู่ที่วังปารุก์วัน 

หลังจากกบฏบวรเดชถูกปราบปรามล่วงไปแล้ว ๔ เดือน ได้มีคำสั่งระบุว่า “สำนักพระราชวังก็มีคำสั่งปลด รองเสวกตรี พโยม โรจนวิภาต ออกจากราชการ ฐานหย่อนสมรรถภาพ” ทั้งยังเป็นที่ต้องการตัว เนื่องจากถูกมองว่ามีส่วนพัวพันในกรณี 'กบฏบวรเดช' ทำให้เขาต้องเดินทางออกนอกประเทศเพื่อหลบภัยการเมือง โดยเขาบรรยายการตามจับบุคคลที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับกบฏบวรเดชไว้ว่า...

"ผู้เอาใจช่วยพวกกบฎและประณามรัฐบาลได้แก่ ใครๆ ไม่ว่าหน้าอินทร์หน้าพรหม ที่เต้นแร้งเต้นกา หรือซุบซิบ เห็นพ้องด้วยกับการกบฎ เพื่อล้มรัฐบาลพระยาพหลฯ คนกบฎประเภทนี้ คือ คนปากเสีย มีโทษติดตะรางได้สวยเหมือนกัน" 

ก่อนที่ พ.๒๗ จะหนีออกนอกประเทศเขาได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ โดยทรงมีพระเมตตาพระราชทานเงินให้ ๓,๐๐๐ บาท แล้วทรงให้ออกนอกประเทศ ไปลี้ภัยอยู่ที่ปีนังและสิงคโปร์ จึงเดาได้ว่าในหลวง ร.๗ ท่านทรงคาดไว้แล้ว

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น นายพโยม โรจนวิภาต ได้เข้าร่วมเป็นเสรีไทย โดยเป็นผู้จัดการวิทยุภาคภาษาไทย ได้พูดโจมตีรัฐบาลไทยภายใต้การคุมอำนาจของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อยู่บ่อยครั้ง ทั้งยังได้แต่งกลอนตำหนิ หัวหน้ารัฐบาลที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของญี่ปุ่น ผ่านสถานีวิทยุ ไว้ว่า...

เป็นจอมพลไฉนยอมเป็นจอมแพ้...
ทำผิดแล้วคิดแก้ไม่ได้หรือ...
เกิดเป็นชายชาตรีมีฝีมือ...
ไฉนจึงดื้อให้ไพรีนั่งขี่คอ...

จนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ยุติลง พร้อมกับรัฐบาลประกาศนิรโทษกรรมแก่นักการเมืองทั้งหมดแล้ว เขาจึงเดินทางกลับมาประเทศไทย 

ถ้าเราอยากจะรู้จักเขามากกว่านี้ลองไปหาหนังสือที่เขาเขียนชื่อ 'พ.๒๗ สายลับพระปกเกล้า' อ่านกันนะครับ สนุกแน่

‘ท็อป วราวุธ’ โพสต์เฟซขอบคุณ ทีมงานผู้ผลิตแอนิเมชัน ย้ำภูมิใจ ที่ได้เกิดเป็นคนไทย ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร แห่งราชจักรีวงศ์

เมื่อวานนี้ (15 มี.ค.67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึง งานแอนิเมชันที่ชื่อว่า '2475 Dawn of Revolution' โดยมีข้อความว่า ...

2475 Dawn of Revolution แอนิเมชันคุณภาพ ที่ร้อยเรียงเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์ของแผ่นดินไทยอย่างละเอียด ขอขอบคุณทีมงานผู้ผลิตแอนิเมชันนี้ ที่ได้ตอกย้ำให้ผมรู้สึกภูมิใจและดีใจที่ได้เกิดเป็นคนไทยภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ครับ

‘ดร.ปิติ’ ชี้ ‘2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ ตีแผ่ความจริง ที่ไม่เคยมีในหนังสือเรียน ย้ำ ต้องศึกษาให้ละเอียด ป้องกัน ผู้ไม่หวังดี บิดเบือนประวัติศาสตร์

(16 มี.ค.67) รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และรองศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับ  แอนิเมชัน 2475 Dawn of Revolution หรือ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ โดยได้ระบุว่า ...

ถึงแม้ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณจะทำให้ 2475 Dawn of Revolution หรือ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ จะมีงานภาพที่ไม่ถึง รวมทั้งการบอกเล่าเรื่องประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา ด้วยวิธีเล่าเรื่องตามลำดับเวลา จะทำให้ animation เรื่องนี้มีรสชาติที่ไม่ร้อนแรง

แต่ในห้วงเวลาที่ประวัติศาสตร์กำลังถูกบิดเบือนด้วยความไม่ปรารถนาดีของบุคคลบางกลุ่ม 

ในห้วงเวลาที่คนบางกลุ่มถูกขังอยู่ใน Echo chamber ที่เต็มไปด้วย disinformation 

ในห้วงเวลาที่คิดว่าตนเองรู้ดี แต่กลับไม่ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม

Animation เรื่องนี้ทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์ที่สุดในการ ตีแผ่ความจริง ที่ไม่เคยมีอยู่ในหนังสือเรียน ได้อย่างที่ตัวละครในเนื้อเรื่องได้กล่าวไว้

สุดสัปดาห์นี้ ใครมีเวลาว่างๆ แนะนำให้ดูครับ

https://youtu.be/rmNvPB6Jxzo?si=hKTN_aliLagHFHyH

เมื่อดูการ์ตูนจบแล้ว ใครอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในรายละเอียด Chayodom Sabhasri อาจารย์ผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถือแนะนำ

2475 untold history ด้วยครับ 20 ตอน ตอนละ 10 นาที ทำ 3 ปีก่อน 
สาระละเอียดกว่าการ์ตูน แต่สอดคล้องกัน กินใจยิ่งกว่าการ์ตูน เพราะนำเอกสารจริงมาแสดง
https://youtu.be/bJifRslul34?si=GvoxM9IhvjGC3Dzl

ต่อจาก Animation และสารคดี ใครอยากเห็นของจริง Kidakorn Angkanarak แนะนำ
ดู ๒๔๗๕ Dawn of Revolution แล้วก็ขอเชิญเข้าเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ (King Prajadhipok Museum) ด้วยนะครับ แหล่งความรู้มากมาย เปิด 09:00 - 16:00 น. ปิดวันจันทร์ อยู่ถนนหลานหลวงตัดกับถนนราชดำเนิน เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ใกล้ ภูเขาทอง ป้อมมหากาฬ โลหะปราสาท
https://maps.app.goo.gl/wKpGDN8RE9X4EYfq5?g_st=ic

‘ผู้สร้างหนัง 2475’ ชี้!! จะฝ่ายไหนก็ไม่สำคัญเท่าความจริง ขอแค่คนไทยได้เรียนรู้และทวงคืนความเป็นธรรมให้รัชกาลที่ ๗

เมื่อวานนี้ (21 มี.ค. 67) จากกรณีที่ น.ส.สุดา พนมยงค์ และนางดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล ทายาทหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ ออกมาเคลื่อนไหวถึงข้อคิดเห็นบางประการเรื่องที่ฝ่ายอธรรมกําลังปลุกกระแส โดยสร้างและเผยแพร่ ภาพยนตร์ 2475 อยู่ในขณะนี้ หลังการฉายภาพยนตร์แอนิเมชันประวัติศาสตร์เรื่อง ‘2475 Dawn of Revolution’ ผลงานของผู้กำกับ ซัง-วิวัธน์ จิโรจน์กุล ผ่านออนไลน์ โดยเปรียบตัวเองเป็นฝ่ายธรรมะ ระบุว่า สถาบันปรีดีฯ จะไม่ตอบโต้ภาพยนตร์เรื่องนี้โดยตรง เพราะทําให้เข้าทางฝ่ายตรงข้าม ที่หวังสร้างข้อมูลเท็จ บิดเบือนประวัติศาสตร์ ยั่วยุเพื่อให้เกิดกระแสด้านลบ

โดยสถาบันปรีดีฯ เผยแพร่ความรู้ และข้อเท็จจริงในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อผู้ที่สนใจจะสามารถสืบค้น เข้าถึงได้สะดวกขึ้น และตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว เคยมีการสร้างสื่อในลักษณะใส่ร้ายและโจมตีการอภิวัฒน์ 2475 แต่ไม่ได้รับความสนใจจากสังคม จึงไม่ประสบความสําเร็จในการปลุกกระแสดังกล่าว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การต่อสู้ระหว่างฝ่ายธรรมะ กับฝ่ายอธรรม ยังคงดำเนินต่อไปในสังคมอีกยาวนาน ขอบคุณกรรมการทุกท่าน ที่ได้ช่วยกันพิจารณาวิถีทางรับมือกับกระแสดังกล่าว และขอเป็นกําลังใจให้ทุกท่านยืนหยัดอยู่กับความถูกต้องเสมอไป ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด เฟซบุ๊กของนายวิวัธน์ จิโรจน์กุล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘2475 Dawn of Revolution’ โพสต์ข้อความระบุว่า "จริงๆ แล้วแอนิเมชันของเราเกือบจะล้มไปหลายครั้ง และผมเริ่มมีความคิดหนึ่งในหัวว่า หรือเรากำลังทำสิ่งที่ผิด เราจึงมีอุปสรรคมากมายเหลือเกิน เหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่อยากให้เราทำ

วันหนึ่ง ผมไม่รู้จะไปต่อยังไงแล้ว ผมจึงไปพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า พนมมืออธิษฐานต่อพระองค์ว่า “ถ้าผมทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ขอให้ผมหมดหนทางไปต่อ ให้งานนี้ล้มเหลว และไม่สามารถเผยแพร่ได้ แต่ถ้าผมทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ขอพระองค์ทรงช่วยให้มีปาฏิหาริย์ ทำให้ผมสามารถทำงานนี้เสร็จ และประสบผลสำเร็จ”

ผมไม่รู้หรอกว่า ปาฏิหาริย์ หรือความดันทุรัง แอนิเมชันตัวนี้มันจึงมาถึงจุดหมายปลายทางได้ เราเจ็บปวดที่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของพระองค์ท่านที่เป็นผู้ซึ่งคอยประนีประนอม ประสาน และประคอง ให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด แต่กลับถูกกล่าวร้าย ถูกกระทำต่างๆ นานา แม้จนปัจจุบัน

ผมไม่ค่อยสนใจเรื่องการถูกชี้ว่าเป็นฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ ทุกคนต่างเป็นตัวเอกในเรื่องราวของตัวเอง เป็นเรื่องปกติ เราเพียงแค่ต้องการคืนความเป็นธรรมให้พระองค์ท่าน และคนไทยจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้

จะเป็นฝ่ายไหน ก็ไม่สำคัญเท่าความจริง"

“เราเห็นประวัติศาสตร์ เราเห็นว่าประวัติศาสตร์ปัจจุบันไม่ค่อยให้ความเป็นธรรมกับรัชกาลที่ 7 เท่าไร คือเราอ่านประวัติศาสตร์ เราเห็นว่าท่านถูกกระทำต่างๆ มากมาย ด้วยความที่กระแสของประวัติศาสตร์ที่เขาเขียนกันขึ้นมาในยุคหลังๆ มักจะเน้นไปในทางโจมตีทำให้การเสียสละของพระองค์ด้อยค่าลง เราแค่รู้สึกว่าเราอยากคืนความเป็นธรรมให้พระองค์ อยากให้คนไทยรู้ว่าท่านสู้เต็มที่แล้ว ท่านพยายามเต็มที่แล้วที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองมันราบรื่นที่สุด” นายวิวัธน์ กล่าว

นายวิวัธน์ กล่าวต่อไปว่า ในช่วงเริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ ออกประกาศคณะราษฎร ผู้คนก็รู้สึกโกรธแค้นกันมาก ซึ่งอาจนำไปสู่ทั้งการก่อหวอดทำร้ายคณะราษฎร หรือก่อกบฏหรือปฏิวัติอะไรขึ้นมาอีก ในเวลานั้น รัชกาลที่ 7 ท่านก็ส่งจดหมายไปยังพระประยูรญาติ ขออย่าเคลื่อนไหวใดๆ จากนั้นเมื่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรม รวมถึงพระยาพหลพลพยุหเสนา แกนนำคณะราษฎร มาขอพระราชทานอภัยโทษ รัชกาลที่ 7 ท่านก็เขียนจดหมายส่งไปเพิ่มเติมอีกฉบับว่าปรับความเข้าใจกันแล้ว

ซึ่งรัชกาลที่ 7 ได้ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันรักษาความสงบ ให้ประเทศไทย (หรือสยามในเวลานั้น) เดินไปได้ แม้กระทั่งช่วงที่มีการสู้รบระหว่างฝ่ายคณะราษฎรกับฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดช ท่านก็พยายามไกล่เกลี่ยให้ทุกฝ่ายมาเจรจากัน อย่าทะเลาะตีกันเพราะคนไทยไม่ควรมาฆ่ากันเอง ตนจึงมองว่ารัชกาลที่ 7 ท่านเสียสละให้ทุกอย่างแล้ว แต่ประวัติศาสตร์แนวใหม่ไม่ค่อยพูดถึงเรื่องเหล่านี้ 

ผู้สร้าง ‘2475 Dawn of Revolution’ เคลียร์ทุกปมข้องใจของหนัง หลัง ‘ส.ศิวรักษ์’ วิจารณ์แบบขาดกาลามสูตร (โต้ตอบช็อตต่อช็อต)

นายวิวัธน์ จิโรจน์กุล ผู้กำกับภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชัน 2475 Dawn of Revolution VS สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เจ้าของนามปากกา ส.ศิวรักษ์ เป็นนักเขียน นักปรัชญา นักคิด และนักวิชาการชาวไทย

จากกรณี นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เจ้าของนามปากกา ส.ศิวรักษ์ เป็นนักเขียน นักปรัชญา นักคิด และนักวิชาการชาวไทย ได้ออกมาวิจารณ์การ์ตูนแอนิเมชัน 2475 Dawn of Revolution ที่ค่อนข้างรุนแรง ด้านนายวิวัธน์ จิโรจน์กุล ผู้กำกับภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชัน 2475 Dawn of Revolution ก็ได้ออกมาชี้แจง ทุกประเด็นจาก ส.ศิวรักษ์ โดยมีเนื้อหา ดังนี้...

>> ส.ศิวรักษ์: หนังตั้งใจทำมาก เพื่อให้เป็นว่าปรีดีเป็นคนเลวร้าย ตั้งใจเล่นงานคณะราษฎร และยกย่องพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างไม่มีที่ติ โดยไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์ เป็นหนังมอมเมาคน

>> นายวิวัธน์: เราพยายามจะให้เห็นมิติต่าง ๆ ของตัวละครแต่ละตัว อย่างเอาจริง ๆ แล้วตัวละคร ‘ลุงดอน’ ในเรื่องค่อนข้างจะช่วยแก้ไขข้อเท็จจริงบางเรื่องให้ปรีดีด้วยซ้ำ เช่น ทำไมปรีดีถึงออกแบบสมุดปกเหลือง ซึ่งมันเป็นแนวคิดที่ปรีดีคิดว่าการมาของลัทธิคอมมิวนิสต์ มันเหมาะสมกับสยามในยุคนั้นหรือไม่ และก็อาจจะไม่เหมาะกับประเทศไทยในยุคนี้เช่นกันด้วยหรือไม่

ขณะเดียวกัน เราก็ต้องเล่าประวัติศาสตร์ให้ครบทุกด้าน (ด้านที่คนไม่เคยรับรู้) ซึ่งการหลีกเลี่ยงที่จะไม่เล่าเรื่องเหล่านี้ มันก็คือ อคติแบบหนึ่งเช่นกัน โดยจริง ๆ แล้วในมุมของรัชกาลที่ 7 หากเราได้ดูในหนัง ก็จะพบว่าท่านก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนพวกเรา อย่างเช่นในตอนสุดท้ายที่ท่านตัดสินใจสละราชสมบัติ ท่านเองก็รู้สึกผิดเป็นอย่างมาก โดยท่านได้เขียนโทรเลข และส่งมาถึงข้าราชบริพาร โดยขออภัย … หมายความว่าอย่างไร?

หมายความว่า ท่านทรงรู้สึกสำนึกผิดมากที่ต้องทิ้งราชบัลลังก์ และปล่อยให้ คณะราษฎรปกครอง เพราะท่านรู้สึกว่าท่านไม่สามารถที่จะยื้อ หรือใช้อำนาจของท่านในการต้านทานการใช้อำนาจอย่างอำเภอใจของทางคณะราษฎรได้อีกต่อไป 

เพราะหากพิจารณาดูจากรัฐธรรมนูญฉบับแรก ทุกคนจะเข้าใจได้เลยว่า แม้พระมหากษัตริย์ จะไม่อนุมัติเรื่องใด ๆ หรือไม่เห็นชอบด้วยกับคณะราษฎร แต่คณะราษฎรก็สามารถใช้เสียงโหวตในสภาเพื่อผ่านกฎหมายได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้เสียงของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นพระองค์ก็เลยรู้สึกว่าท่านไม่อยู่ในสถานะที่สามารถจะแก้ไขอะไรได้ ไม่สามารถที่จะคัดค้านอะไรได้อีกแล้ว และคณะราษฎร ก็มีการออกเสียงตามอำเภอใจ แล้วก็จะผ่านร่างกฎหมายเอง แต่...กลับต้องมายื่นให้ท่านเซ็น ซึ่งท่านก็ต้องเป็นคนเซ็นแทนประชาชน

การที่ท่านอยู่ภายใต้ คณะราษฎร ที่นึกอยากจะออกกฎหมายอะไรก็ได้ อย่างเช่น กฎหมายตั้งศาลพิเศษ โดยที่ไม่มีอุทธรณ์ หรือ ฎีกา และคิดจะตั้งข้อหาใคร ก็ตั้งแล้วก็ยัดเยียดบทลงโทษได้เลย ทำให้ท่านไม่ยอมให้มันออกมาจากมือของท่านโดยเด็ดขาด ท่านไม่ยอมที่จะเซ็นเด็ดขาด ท่านก็เลยตัดสินใจที่จะเดินทางเสด็จไปต่างประเทศและสุดท้ายท่านก็ตัดสินใจที่จะสละราชสมบัติ เพราะสถานะของท่านไม่สามารถที่จะห้ามอะไรต่อไปอีกแล้ว 

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าท่านยังคงอยู่สยาม ท่านก็เหมือนเป็น ‘ตราปั๊ม’ หรือเป็นเหมือน ‘ตรายาง’ เพื่อออกกฎหมาย,ฺดรอนเสรีภาพของประชาชนให้คณะราษฎร ดังนั้นท่านจึงไม่สามารถที่จะทนได้ และการที่หนัง สะท้อนมุมนี้ ก็เพื่อให้เห็นถึงความที่ท่านรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านช่วยอะไรประชาชนและประเทศไม่ได้อีกแล้ว 

ฉะนั้น การที่ ส.ศิวรักษ์ บอกว่ารัชกาลที่ 7 ดีไปหมดทุกอย่าง มันก็ไม่ใช่ มันก็มีมุมที่หนังสะท้อนว่าท่านรู้สึกผิดอยู่ หรือแม้แต่ตัวของ ปรีดี เอง ก็จะเห็นว่ามันมีมุมที่เขาสำนึกผิดอยู่ ผ่านบทสัมภาษณ์ระหว่างเขากับ แอนโทนี่ พอล ผู้สื่อข่าวนิตยสาร เอเชียวีค ประจำปารีส ที่ ปรีดี เองยังยอมรับเลยว่า วิธีการที่เขาทำหลายอย่างมันผิดพลาด อย่างการนำเสนอเศรษฐกิจของเขาก็ผิดพลาด หรือแม้แต่ พระยาทรงสุรเดช ก็สำนึกผิดในตอนหลัง และเอาจริง ๆ แม้แต่จอมพล ป.เอง เขาก็เคยสำนึกผิดด้วยว่าทำบาปทำกรรมกับรัชกาลที่ 7 ไว้มาก เพียงแต่ตัวหนังในภาคนี้ยังเล่าไปไม่ถึง

โดยสรุป เพื่อตอบ ส.ศิวรักษ์ ให้กระจ่างชัดขึ้น ผมมองว่าหนังเรื่องนี้ ได้เล่าถึงความผิดพลาดของทุกฝ่าย จนนำมาสู่เรื่องราวถึงยุคปัจจุบัน เพราะถ้าหากมองย้อนไปในวันที่เกิดการปฏิวัติ แล้ววันนั้นรัชกาลที่ 7 ท่านไม่ยอมขึ้นมา แล้วท่านก็ให้ทหารยึดอำนาจคืน คณะราษฎร ก็อาจจะจบตั้งแต่วันนั้น และนั่นก็อาจจะไม่ยืดเยื้อรุนแรงมาจนถึงเกิดกบฏบวรเดช, เกิดการกบฏ 18 ศพ หรือเกิดการจับประชาชนที่บริสุทธิ์ไปประหารชีวิต เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อประวัติศาสตร์ที่เรียนมาในหนังสือไม่ได้เล่าทั้งหมด ว่ามีอะไรเกิดขึ้น มีความผิดพลาดอะไรขึ้น มีการเกิดความรุนแรงใด ๆ ขึ้น แอนิเมชันเรื่องนี้ จึงทำหน้าที่ของมันในมุมที่หลายคนไม่เคยรู้ถึงภาพความผิดพลาดของทุกฝ่าย

>> ส.ศิวรักษ์: ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยประกาศสงครามกับอังกฤษอเมริกา อาจารย์ปรีดีเป็นหัวหน้าเสรีไทยกอบกู้เอกราชในประเทศชาติได้ เรื่องนี้คนที่ทำหนังเรื่องนี้ไม่เอ่ยถึงเลย เอ่ยถึงแต่ความเลวทั้งหมด ทุกอย่างมาจากความเลวร้ายของปรีดีหมด หนังไม่เคารพข้อเท็จจริง เล่าไม่ครบ แล้วจะเสนออดีตให้ถูกต้องได้ยังไง

>> นายวิวัธน์: ส.ศิวรักษ์ บอกว่าทำไมเราไม่เล่าถึงตอนที่ปรีดีทำขบวนการเสรีไทย ก็ต้องบอกว่าเรายังเล่าไม่ถึงเรื่องสงครามโลก เพราะว่าหนังเรื่องนี้ เล่าแค่จบตอนในช่วงของในหลวงรัชกาลที่ 7 ที่ทรงสละราชสมบัติเท่านั้น แต่ไหนก็พูดเรื่องนี้แล้ว เอาจริง ๆ ท่านเสนีย์ ปราโมช ก็มีบทบาทสำคัญในสงครามโลกครั้งที่สองด้วยนะครับ เพราะท่านเป็นเสรีไทยอเมริกา และเป็นคนที่ล็อบบี้ให้ไม่เกิดการประกาศสงครามกับอเมริกา เป็นคนที่ขวาง จอมพล ป.มาตั้งแต่วันแรกที่ จอมพล ป.จะประกาศสงคราม แล้วท่านไม่ยอมร่วมประกาศสงครามด้วย

ฉะนั้นไอ้การที่ทุกวันนี้ คนเข้าใจว่า ขบวนการเสรีไทย มาจากปรีดีคนเดียว มันไม่ใช่เลย เพราะทุกฝ่ายร่วมมือกัน แม้แต่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ที่ประทับอยู่ที่อังกฤษในขณะนั้น ท่านก็ได้สนับสนุนเสรีไทยในอังกฤษด้วยเช่นกัน หรือแม้แต่รัชกาลที่ 8 ท่านก็มีบทบาทสำคัญในสงครามโลกครั้งที่สองและทำให้ไทยไม่เป็นประเทศแพ้สงครามด้วย

คำถาม คือ เรื่องแบบนี้ทำไม ส.ศิวรักษ์ ไม่เล่า ทำไมเล่าแค่ปรีดี ว่าเป็นคนดีคนเดียว ทำไมไม่เล่าถึงคนอื่น ๆ อย่างข้อตกลงที่รัฐบาลไทยในขณะนั้นทำกับอังกฤษแล้วท่านเสนีย์คัดค้านอย่างหนัก แต่นายปรีดีกลับเห็นด้วย ตรงนี้ทำไม ส.ศิวรักษ์ ไม่เล่า ตรงนี้มันก็เป็นการเล่าประวัติศาสตร์ที่พูดไม่ครบเหมือนกันใช่หรือไม่ 

แล้วส่วนที่ ส.ศิวรักษ์ บอกว่า พระยาทรงสุรเดชทำร้ายทำลายปรีดี รังแกปรีดี นู่นนี่นั่น เราก็นำเสนออยู่ในหนังเรื่องนี้นะ เพราะว่าตอนที่นายปรีดีเสนอสมุดปกเหลือง ก่อนที่ปรีดีจะเดินออกจากห้องประชุม เขาก็หันไปเห็นว่าพระยาทรงสุรเดชยืนคุยกับทาง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และ พระยาศรีวิสารวาจา ที่เหมือนกำลังคิดจะทำอะไรบางอย่าง จากนั้น ปรีดี ก็เลยสงสัย และหันไปมอง พระยาทรงสุรเดช และบอกว่า “พวกแกใช่ไหมที่จัดการเรื่องนี้” คือ พวกเราเล่านะ แต่สุดท้ายเกิดไรขึ้นกับพระยาทรงสุรเดช? เขาก็โดนเนรเทศไง โดนยัดข้อหากบฏ แล้วก็ต้องเนรเทศไปอยู่เวียดนามบ้าง ไปอยู่กัมพูชาบ้าง แล้วก็ต้องเสียชีวิตอย่างน่าเศร้าที่ต่างประเทศ

>> ส.ศิวลักษณ์: หนังเรื่องนี้พยายามสื่อในทำนองว่าในหลวงรัชกาลที่ 7 จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่ว่าพระยาศรีวิสารวาจา กับ นายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศไม่เห็นด้วย ซึ่งตัวหนังเรื่องนี้ไม่เห็นบอกเลยรัฐธรรมนูญที่ในหลวงเตรียมจะพระราชทานนั้นคืออะไร แต่ถ้าเราอ่านดูรัฐธรรมนูญที่พระราชทานนั้นจะมีเพียงเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีเท่านั้นเอง ไม่เปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง เหลวไหล พูดอย่างเดียวว่าในหลวงจะพระราชทาน รธน. อยู่แล้ว เหลวไหลเลอะเทอะ เปรอะเปื้อน
>> นายวิวัธน์: เรื่องนี้ ส.ศิวรักษ์ ก็พูดไม่จริง เพราะร่างรัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 จาก นายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ และพระยาศรีวิสารวาจา ไม่ได้มีแค่การตั้งนายกรัฐมนตรี (และขอบอกด้วยว่าแม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกของคณะราษฎรก็ยังไม่ได้ถ่ายโอนอำนาจให้กับประชาชนอย่าง 100% ด้วย หรือก็คือ ประชาชนก็ยังไม่ได้อำนาจนะ แม้ข้อแรกจะเขียนมาสวยหรูว่า ‘อำนาจเป็นของประชาชน’ แต่เอาเข้าจริงแล้วในหลักการมันก็ยังไม่ถึงประชาชน)

หากแต่ในสาระสำคัญจะหมายถึงว่า วันที่ประชาชนยังไม่รู้เรื่องการปกครอง ยังไม่รู้เรื่องสิทธิและหน้าที่ ทำให้พระมหากษัตริย์หรือผู้ที่มีอำนาจ ไม่สามารถโยนอำนาจนั้น ๆ ลงไปให้ประชาชนได้ทันที ซึ่งทุกประเทศก็เป็นอย่างนี้ ต้องให้กษัตริย์ ช่วยประคับประคองในช่วงแรกก่อน ซึ่งเรื่องนี้ ส.ศิวรักษ์ ก็น่าจะรู้ดีแหละว่ารัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 เป็นยังไง และก็คงรู้ว่าสาระนั้นก็ไม่ได้มีแค่การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว เพราะเมื่อไปดูในรายละเอียดรัฐธรรมนูญของท่าน ยังมีการตั้งสภานิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งอีกด้วย

นอกจากนี้รัชกาลที่ 7 ท่านยังทรงให้นายปรีดีไปร่าง พรบ.เทศบาลและการบริหารท้องถิ่นมาด้วย รู้ไหมเพื่ออะไร? ก็เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้เรื่องสิทธิหน้าที่จากล่างขึ้นบน ก็คือ จากหน่วยงานท้องถิ่นเล็ก ๆ ให้ลองเลือกผู้นำของท้องถิ่น เพื่อเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ อันเป็นการเรียนรู้ ‘ประชาธิปไตย’ แบบค่อยเป็นค่อยไปด้วย และจากระดับท้องถิ่น ก็ค่อยขยายขึ้นมาเป็นระดับ ตำบล / อำเภอ / จังหวัด และ ระดับประเทศ 

ฉะนั้นการที่ ส.ศิวรักษ์ มาบอกว่ารัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 มีแค่การแต่งตั้งนายกฯ ผมว่ามันก็ตลกเกินไปหน่อย ซึ่งผมก็แอบสงสัยนะว่า การที่ ส.ศิวรักษ์ พูดโกหกแบบนี้ หรือจะเป็นกุศโลบายที่อยากให้คนช่วยออกมาพิสูจน์ความจริงให้หรือเปล่า

>> ส.ศิวรักษ์: รัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 ถูกอ้างจากหนังเรื่องนี้ว่าจะทำให้เกิดการริเริ่มประชาธิปไตย นี่มันประชาธิปไตยจอมปลอม ต่างจากของปรีดีที่เสนอมา อันนั้นเป็นประชาธิปไตยจริง ๆ อย่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกเขียนชัดเจนเลยว่า อำนาจทั้งหมดเป็นของราษฎรสยาม แต่จนบัดนี้อำนาจนั้นยังไม่ได้มาเลย ทำไม? เพราะมีคนคิดที่จะทำลายอำนาจรัฐนี้ ให้ถูกถีบ ถูกกระทืบ ถูกโจมตี แม้กระทั่งหนังเรื่องนี้ก็โจมตีด้วย มันไม่เห็นคุณค่าเลยว่าปรีดี พนมยงค์ ต้องการให้อำนาจทั้งหมดกลายเป็นของราษฎรชาวสยาม

>> นายวิวัธน์: มาตรา 1 ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของปรีดีบอกว่า อำนาจสูงสุดนั้น ๆ เป็นของราษฎรทั้งหลาย แต่การบริหารงานของรัฐธรรมนูญฉบับแรกนี้ ก็ยังไม่ได้ให้อำนาจประชาชนอย่างแท้จริง เพราะผมมองว่ามาตรา 1 นี้ เขียนเอาเท่เสียมาก นั่นก็เพราะถ้าอำนาจเป็นของประชาชนทั้งหลายจริง ทำไมเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากเท่าไหร่

ผมอยากให้ ส.ศิวรักษ์ กลับไปดูหลัก 6 ประกาศของคณะราษฎรสักหน่อย ในเรื่องเสรีภาพที่อยู่ในข้อ 5 ซึ่งบอกว่าประชาชนจะต้องมีเสรีภาพ แต่จะต้องไม่ขัดกับหลัก 4 ประการก็คือ มันจะมีหลักด้านความมั่นคง หลักด้านเศรษฐกิจ อันว่าด้วยการออกแบบสมุดปกเหลือง ซึ่งมีจุดหนึ่งที่บอกว่า “ถ้าราษฎรที่เป็นพวกหนักโลก” ตรงนี้สะท้อนรัฐธรรมนูญคณะราษฎรที่มองว่า ‘ราษฎรเป็นคนหนักโลก’ คุณๆ คณะราษฎรทั้งหลายมองคำว่าอำนาจเป็นของประชาชนแบบนี้หรือ

“อำนาจเป็นของประชาชน แต่ประชาชนบางส่วนเป็นคนหนักโลก และต้องเอาคนหนักโลกเหล่านี้มาใช้แรงงานเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ใครเกียจคร้าน ต้องถูกลงโทษ”

ประโยคนี้ คือ อำนาจเป็นของประชาชนหรือ ผมมองว่าอำนาจ มันก็ยังอยู่กับรัฐนะ ดังนั้นนี่คือความย้อนแย้งของรัฐธรรมนูญที่ ส.ศิวรักษ์ บอกว่าดีที่สุดเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ซึ่งจริงๆ แล้วมันใช่หรือไม่

>> ส.ศิวรักษ์: ผมเองก็เคยเชื่อโฆษณาชวนเชื่อ โดยเฉพาะในเรื่องกรณีสวรรคตนั้น ผมเชื่อเลยว่าปรีดีเกี่ยวข้องทั้งนี้ ผมไปเชื่อ คึกฤทธิ์ ปราโมช จนถึงเชื่อเรื่องคนไปตะโกนในโรงหนังเลยว่าปรีดีฆ่าในหลวง เพราะสมัยนั้นผมเชื่อหนังสือพิมพ์สยามรัฐของ คึกฤทธิ์ มาก แต่สุดท้ายผมก็มารู้ทีหลังว่า คึกฤทธิ์ เป็นคนที่เลวร้าย แต่ว่ามีฝีปากในการเขียนมอมเมาให้คนเชื่อได้ ส่วนหนังเรื่องนี้ ยังเปรียบเทียบกับฝีมือการโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่ได้ครึ่งของคึกฤทธิ์เลย หรือแม้แต่กระทั่งเอาราชาศัพท์มาใช้ ก็น่าจะพิจารณาให้ถูกต้องมากกว่านี้ ไหน ๆ จะทำหนังทั้งที

>> นายวิวัธน์: ประเด็นแรกนะครับ เรื่องการตะโกนในโรงหนัง ผมสงสัยมานานแล้วว่า คุณไปรู้ได้ยังไงว่าใครเป็นคนสั่งให้ไปตะโกน ท่านรู้ได้ยังไง? ผมกำลังสงสัยนะ คนที่เค้าไปตะโกนในโรงหนังที่บอกว่าปรีดีฆ่าในหลวงนั้น เขายื่นนามบัตรให้คนในโรงหนังหรือเปล่า ว่าตัวเขามาจากพรรคประชาธิปัตย์ เขาเป็นคนของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือ คนที่ตะโกนว่าปรีดีฆ่าในหลวงบอกเองไหมว่า “ผมเป็นคนของคึกฤทธิ์ ปราโมช” อย่างนี้หรือเปล่า ส.ศิวรักษ์ เห็นหรือว่าเขาคนนั้นพูด มันมีคนยอมรับแบบนั้นด้วยหรือ

ส่วนประเด็นเรื่องคำราชาศัพท์ อันนี้ต้องขอน้อมรับจริง ๆ ว่า ทางทีมเราก็ยังไม่ค่อยเชี่ยวชาญเท่าไหร่ แต่สุดท้ายแล้วเราต้องการให้บริบทของเรื่องนี้ มันถูกเล่าแล้วคนเข้าใจภาพรวมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง แต่ยังไงก็ขอน้อมรับ และจะนำไปปรับแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น

>> ส.ศิวรักษ์: ผมเตือนสติได้อย่างเดียวนะครับใช้หลักกาลามสูตรพุทธเจ้า อย่าเชื่อทุกอย่าง อย่าเชื่อ ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงถ้าหาเอกสารต่างๆ มาสนับสนุนหรือคัดค้าน เพื่อให้นิสิต นักศึกษา นักเรียน ได้เติบโตแบบไม่ถูกยัดเยียด ไม่ใช่ถูกมอมเมา ซึ่งผมเสียดายไม่น้อยที่ตอนนี้คนกำลังถูกมอมเมา จนถึงขั้นไปโจมตีสถาบันปรีดี มูลนิธิปรีดี

>> นายวิวัธน์: เรื่องหลักการกาลามสูตรหรือการที่จะหาหนังสือหรือข้อมูลมาอ้างอิง หนังเราบอกทุกเล่มนะที่เราใช้เป็นฐานข้อมูลนะ ซึ่งในเครดิตตอนท้าย เราจะมีหนังสือหลายเล่มเลยให้คุณไปศึกษาข้อมูลนะ แต่ประเด็น คือ ส.ศิวรักษ์ วิจารณ์เรา แกก็ไม่ได้ยกหนังสือเล่มไหนมาเลยนะ

สุดท้ายทุกอย่างมันต้องพิสูจน์ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ พิสูจน์ด้วยข้อมูลปฐมภูมิ ไม่ใช่ข้อมูลที่คนรุ่นหลังวิพากษ์วิจารณ์โดยที่ไม่ได้เป็นคนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ ซึ่งเราก็พยายามที่จะใช้ข้อมูลที่เป็นข้อมูลชั้นต้น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความคิดเห็นหรือการปรุงแต่งจากคนยุคหลังอยู่แล้ว ดังนั้นหากสงสัยในความเชื่อและความถูกต้องจากในหนัง โปรดไปสืบค้นข้อมูลอ้างอิงในท้ายเครดิตได้เลย 

ส่วนเรื่องการโจมตีสถาบันปรีดี ผมคิดว่าตอนที่หนังออกมาใหม่ ๆ ไม่มีใครไปสนใจสถาบันปรีดีเลยนะ (ร้อนตัว) เพราะเรายังอ้างอิงข้อมูลจากสถาบันปรีดีมาใช้กับหนังเลยด้วยซ้ำ แต่ที่มันมีประเด็นต้องไปวิพากษ์วิจารณ์สถาบันปรีดี ก็เพราะเนื่องมาจากมีจดหมายหนึ่งที่ทางคุณพิภพ ธงไชย นำมาเสนอ รวมถึงมีผู้หลักผู้ใหญ่ในสถาบันปรีดีได้ออกคลิปที่ค่อนข้างแรงในเชิงใส่ร้ายพวกเราพอสมควร โดยกล่าวหาว่า พวกเรารับเงินกองทัพมาทำหนังแอนิเมชันเรื่องนี้ มีการทำไอโอ แล้วบิดเบือนใส่ร้าย จากนั้นก็ขู่ว่าจะฟ้องเราด้วย 

นี่คือสิ่งที่มีผู้เริ่มกับพวกเรา (คนทำหนัง) ก่อนทั้งนั้น ผมไม่ได้เริ่มอะไรเลย และเอาตามความจริง ผมเป็นคนที่ค่อนข้างจะเคารพและให้เกียรติอาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ อย่างมาก ในฐานะที่ท่านได้สร้างชื่อเสียงกับประเทศในการนำดนตรีไปเผยแพร่ในต่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดี และผมก็ไม่ได้มองว่า อาจารย์ดุษฎี กับ ปรีดี เป็นคนเดียวกัน พ่อก็ส่วนพ่อ ลูกก็ส่วนลูก แต่เมื่อมีประเด็นใส่ร้ายว่า เราเอาภาษีประชาชนมาทำหนังใส่ร้ายปรีดี ทั้งที่ผมยังไม่ได้ไปกล่าวหาอะไร แบบนี้มันเป็นธรรมกับผมหรือเปล่า ผมก็อยากรู้เหมือนกัน

>> ส.ศิวรักษ์: สื่ออยู่ในมือคุณครับ พูดยังไงก็พูดได้
>> นายวิวัธน์: เฮ้ย!! ตั้งแต่เปิดตัวแอนิเมชันมา สื่อกระแสหลักอย่างช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง NBT หรือสื่ออย่าง The Standard ไม่มีใครมาช่วยโปรโมตให้เราเลยนะ จะมีก็จะเป็น Top News มีผู้จัดการออนไลน์ มี Nation มี THE STATES TIMES มีแนวหน้า มีไทยโพสต์ ที่มาช่วยโปรโมตเพราะประโยชน์ของงานเราให้บ้าง ซึ่งสื่อเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในมือผมนะครับ 

ขณะเดียวกันผมก็ใช้เงินกับสื่อน้อยมาก เช่น ผมบูสต์โพสต์ในเฟซบุ๊ก วันละ 100 บาทเท่านั้น ส่วนใน Google หรือ YouTube หรือ TikTok ก็ไม่ได้บูสต์เลย เพราะเรามีเงินจำกัดมาก ส่วนสื่อต่าง ๆ ที่มาสัมภาษณ์แล้วนำไปลง ผมก็ไม่ได้จ่ายเงินซื้อพวกเขานะ แต่แค่เพราะหนังมันเป็นกระแสแล้ว สื่อก็เริ่มเข้ามา แล้วบางสื่อที่ได้รับชมแอนิเมชันด้วยแล้ว และเขารู้สึกว่ามันมีประโยชน์ เขาก็เริ่มช่วยโปรโมตให้ ซึ่งบางสื่อเราแบบไม่คาดคิดเลยว่า เขาจะกลับมาช่วยโปรโมตให้เราด้วย

>> ส.ศิวรักษ์: ถึงกับตั้งหอประชุมใหญ่ ในกองทัพบก ‘หอประชุมบวรเดช’ ทั้งที่ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นกบฏ ที่พระปกเกล้ายังใช้คำนี้เอง

>> นายวิวัธน์: ที่บอกว่าไปเชิดชูกบฏบวรเดช ในหนังเราไม่ได้เชิดชูนะ แต่ในหนังแสดงให้เห็นว่า พระองค์เจ้าบวรเดช ท่านก็ฝ่าฝืน เพราะว่ารัชกาลที่ 7 ทรงห้ามแล้วว่าอย่าทำ และพระองค์เจ้าบวรเดชเองยังต้องเขียนจดหมายเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษด้วยที่ได้ยกทัพมาโดยพลการ ทั้ง ๆ ที่พระองค์ก็ทรงห้ามแล้ว และนั่นจึงเป็นเหตุทำให้รัชกาลที่ 7 ต้องทรงหนีไปสงขลา เพื่อไม่ให้ทั้งฝ่ายกบฏและฝ่ายรัฐบาลดึงท่านไปอยู่ร่วม เพราะท่านยืนยันหนักแน่นแล้วว่าจะไม่ยุ่งด้วย ท่านจะขอเป็นคนกลาง ท่านจะไม่เข้ากับฝ่ายไหนทั้งสิ้น

แล้วในส่วนที่ ส.ศิวรักษ์ บอกว่า ทำไมต้องเชิดชูกบฏบวรเดช โดยไปตั้งชื่อหอประชุมนั้น ต้องเรียนแบบนี้ว่า ปรีดี ก็เคยก่อกบฏนะ เป็น ‘กบฏวังหลวง’ หรือคุณจะเรียกเป็นอะไรก็ตาม แต่นั่นก็คือ กบฏที่อาจารย์ปรีดีเป็นหัวหน้ากบฏ และในวันนี้ยังมีสถาบันปรีดีได้เลย จะบอกว่ากบฏบวรเดชเป็นสิ่งไม่ดี แต่กบฏวังหลวงเป็นสิ่งดี แบบนี้ก็ได้หรือ ทั้ง ๆ ที่มันก็กบฏเหมือนกันเนี่ยนะ

>> ส.ศิวรักษ์: เอะอะก็เจ้าดีหมด ไพร่เลวหมด คนที่ทำหนังเรื่องนี้ก็เป็นไพร่ มันไม่สำนึกตัวเองเลยว่าควรจะเข้าใจราษฎร

>> นายวิวัธน์: ทําไมไพร่ไม่มีสิทธิ์ที่จะคิดแตกต่างจากคุณหรือ แม้ผมจะเป็นไพร่ แต่ผมก็มองเห็นว่าใครทำประโยชน์ให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไพร่หรือเป็นเจ้า ถ้าใครทำประโยชน์ให้กับประเทศ เราก็สมควรที่จะเชิดชู อย่างพวกคุณก็ไม่ได้เชิดชู อาจารย์เสนีย์ ปราโมช ทั้ง ๆ ที่ท่านก็ทำประโยชน์ให้กับประเทศ จริงไหม?
>> ส.ศิวรักษ์: พอออกแบบเศรษฐกิจแบบรัฐสวัสดิการที่อังกฤษทำหลังสงครามโลกที่สองแล้ว ก็มีการออกกฎหมายคอมมิวนิสต์มาเล่นงานท่านเลย ทั้ง ๆ ที่ท่านไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์
>> นายวิวัธน์: ไม่ใช่ เรื่องนี้ยังไงก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ของอังกฤษด้วย ผมว่าหลังจากทุกคนที่ได้ดูแอนิเมชันเรื่องนี้แล้ว และก็ไปหาสมุดปกเหลืองอ่าน ก็จะเห็นได้ชัดเจนนะครับว่ามันไม่ใช่
>> ส.ศิวรักษ์: อยากให้คนที่ออกมาว่าปรีดี เรียนรู้จากเด็กรุ่นใหม่ เรียนรู้แบบคนที่ชอบหาข้อเท็จจริง และออกมายืนหยัดเพื่อความถูกต้องดีงาม ไม่เชื่อการมอมเมาจากหนังสวะพวกนี้ครับ

>> นายวิวัธน์: ในอดีตนะครับอาจารย์ปรีดีก็เคยเรียก ส.ศิวรักษ์ ว่า ‘สวะสังคม’ และก็ดู ส.ศิวรักษ์จะภาคภูมิใจกับฉายานี้มากด้วย การที่ ส.ศิวรักษ์ บอกว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังสวะ ผมก็คิดว่าอาจจะเป็นคำชมก็ได้นะ ยินดีเป็นอย่างยิ่ง

แต่ทั้งนี้ผมก็อยากจะบอกว่า ไม่ต้องเชื่อหนังทั้งหมดหรอก ไปหาข้อมูลที่เราที่สืบค้นได้ ซึ่งตรงท้ายเครดิตของหนังมีบอกไว้หมดแล้ว (กดหยุดแล้วไล่ดูที่มาได้เลย) สามารถไปสืบค้นดูความจริงได้เลย ศึกษาก่อน แล้วอยากคัดค้านหรือแย้ง ก็ย่อมทำได้ เพราะประเทศเราเป็นประชาธิปไตย เราสามารถเห็นต่างกันได้ เหมือนอาจารย์เห็นต่างกับผม อาจารย์ก็ด่าผมได้ อาจารย์ก็วิจารณ์ได้ ส่วนผมก็แค่ทำคลิปนี้เพื่อมาอธิบายว่า ‘อาจารย์วิจารณ์อะไรของอาจารย์วะเนี่ย’ อย่างเช่น กรณีสมุดปกเหลืองเป็นรัฐสวัสดิการเอย หรือ รัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 มีสาระแค่เรื่องตั้งนายกฯ อย่างเดียว เป็นต้น

>> ส.ศิวรักษ์: คนรุ่นใหม่จะต้องรวมตัวกันแล้วเอาชนะทรราชให้ได้
>> นายวิวัธน์: ต่อสู้กับทรราช? มันคนละแนวคิดกับแนวทางของผมนะ เพราะผมมองว่า คนทุกคนล้วนมีประโยชน์ เพียงแต่ทุกคนต้องหันมาหาจุดลงตัว แล้วก็ต้องมาคุยกัน ต้องมาร่วมมือกัน เพราะว่าทุกฝ่ายทุกคนล้วนมีประโยชน์ต่อชาติ ภายใต้ข้อดี จุดเด่นของตัวเอง ที่สามารถนำร่วมมือกันทำงานได้

คำถามคือตอนนี้ ส.ศิวรักษ์ มองใครเป็นทรราช มองฝ่ายอธรรมเป็นทรราชหรือเปล่า อย่างตอนนี้ผมคงรับบทเป็นฝ่ายอธรรมไปแล้ว เป็นฝ่ายอธรรม เพราะผมเอาความจริงมาเล่า แบบนั้นใช่หรือไม่ มันเป็นวิธีของฝ่ายธรรมะแบบพวกคุณหรือ แล้ว ส.ศิวรักษ์ จะต่อสู้กับทรราชด้วยวิธีแบบนั้นหรือ ต้องการสร้างปีศาจตนใหม่ขึ้นมางั้นหรือ คุณรู้ตัวไหมว่าตอนนี้คุณกำลังสร้างปีศาจขึ้นมานะ คุณเองที่กำลังสร้างทรราช แต่บอกคนอื่นห้ามสร้างตัวร้าย

อย่างไรก็ตาม ผมยินดีในการที่ ส.ศิวรักษ์ มาวิจารณ์หนังเรื่องนี้ แต่ขอบอกตามตรงว่า ส.ศิวรักษ์ ไม่ได้เข้าใจแอนิเมชันของเราเลย แล้วก็พูดในสิ่งที่แอนิเมชันเราไม่ได้ทำด้วย

ฉะนั้นใครที่ดูคลิป ส.ศิวรักษ์ แต่ยังไม่ได้ดูแอนิเมชัน ‘2475 Dawn of Revolution’ แนะนำว่าลองไปดูด้วยตัวเองก่อนว่า หนังเรื่องนี้เล่าแบบไหน เพราะบางทีมันอาจจะไม่ได้เล่าแบบที่ ส.ศิวรักษ์ พูดก็ได้ 

สุดท้าย อยากให้ทุกท่านยึดหลักกาลามสูตรตามที่ ส.ศิวรักษ์ กล่าวอ้าง อย่าเชื่อในสิ่งที่ใครมาพูดให้ฟัง โดยเฉพาะอย่าเชื่อในสิ่งที่ ส.ศิวรักษ์ บอก

ขอบคุณครับ

เพจ '2475 Dawn of Revolution' ถูกรุมรีพอร์ตโพสต์หนังสือการ์ตูน คาด!! เพราะเนื้อหาอิงหลักฐาน อาจเบิกเนตรผู้คนจากผู้แหกตา

(8 พ.ค. 67) เพจ '2475 Dawn of Revolution' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

เปิดเฟซมา ตกใจ เจอหน้าต่างเด้งเตือน
ว่าเพจโดนลบโพสต์ เพราะมีคนไปรีพอร์ตข้อหาสแปม 
ก็เลยใช้สิทธิ ‘วีโต้’ คัดค้านกลับไป 
จนเฟซบุ๊ก คืนโพสต์กลับมา 

เฮ้ออออ ขอพื้นที่เสรีภาพทางวิชาการหน่อยสิครับ 😆

📣📣📣 เปิดพรีออเดอร์ 🔥🔥🔥
หนังสือการ์ตูน ๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ 
ดัดแปลงจาก ภาพยนตร์แอนิเมชัน
ปกแข็ง เย็บกี่ ขนาด A5  พิมพ์สี่สี ทั้งเล่ม
จำนวน 440-480 หน้า

โอนเงินสั่งจองได้ที่ 
ธนาคารกสิกรไทย 
ชื่อบัญชี  บจก.นาคราพิวัฒน์ 
เลขที่บัญชี 1518061840

💝 สั่งจองหนังสือ โดยส่งข้อมูลตามแบบฟอร์มได้ที่ 
https://forms.gle/Ls647MmQh39qmXYD8

** หากจองผ่าน Form ไม่ได้ ให้ติดต่อทาง inbox เพจนะครับ **


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top