รู้จัก ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ’ จอมพล เจ้าฟ้า อัจฉริยะนักดนตรี ต้นสำเนาตำนาน ‘โหมโรง’

ไม่แน่ใจว่าคุณจำภาพจากภาพยนตร์อนิเมชันเรื่อง ‘2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ ตอนหนึ่งได้หรือไม่? ตอนที่พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) นำกำลังบุกเข้าไปใน ‘วังบางขุนพรหม’ ก่อนเข้าควบคุมตัว ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต’ ผู้รักษาพระนคร โดยที่พระองค์ไม่ทรงเชื่อสายตาว่าคนที่ทรงใกล้ชิดและทรงมีบุญคุณอย่างมากมาก่อน

แต่เรื่องที่จะเล่าไม่ใช่เรื่องในปี พ.ศ. 2475 แต่จะเป็นเรื่องราวทางการดนตรีที่เกิดขึ้นใน ‘วังบางขุนพรหม’ และพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต’ ซึ่งไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระอัจฉริยภาพทางการด้านการทหารเลยแม้แต่น้อย ซึ่งได้เรียบเรียงมาเล่าสู่กันฟังแบบนี้ 

เริ่มตั้งแต่เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ 8 พรรษา พระองค์ทรงเข้ารับการศึกษาตามแบบอย่างพระราชกุมารและพระราชกุมารีในสมัยนั้น โดยทรงศึกษาทั้งวิชาด้านภาษาทั้งไทยและอังกฤษ รวมไปถึงศิลปวิทยาในด้านต่าง ๆ เช่น การละคร การดนตรีไทย โดยเฉพาะดนตรีไทยพระองค์สามารถทรงซออู้ได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งยังทรงเครื่องดนตรีอื่น ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว 

จนเมื่อ ‘ทูลกระหม่อมบริพัตร’ เสด็จ ฯ ไปทรงศึกษาต่อวิชาการทหารที่ประเทศเยอรมนี นอกจากวิชาทหารพระองค์ยังได้ทรงศึกษาวิชาโปรดของพระองค์นั่นก็คือ ‘ดนตรี’ โดยได้ทรงศึกษาการเล่นเปียโน การประสานเสียง การประพันธ์เพลง การเป็นวาทยากรควบคุมวงดนตรีขนาดใหญ่ เรียกว่าผลการเรียนทั้งในส่วนที่เป็นทหารก็ยอดและในส่วนของการดนตรีก็เยี่ยม 

พระองค์ทรงเคยเล่าเรื่องเกี่ยวกับความชอบทางดนตรี ประทานแก่ ‘พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา’ พระธิดาฟังว่า “…ถ้าพ่อเลือกได้ พ่อจะเรียนดนตรีและภาษา และจะทำงานด้านดนตรีอย่างเดียว แต่พ่อเลือกไม่ได้ เพราะพ่อบังเกิดมามียศตำแหน่ง ต้องทำงานให้ประเทศชาติ ทูลหม่อม (รัชกาลที่ 5) สั่งให้พ่อไปเรียนวิชาทหารเพื่อกลับมาปรับปรุงกองทัพไทย พ่อก็ไปเรียนวิชาทหาร บางครั้งพ่อเบื่อบางวิชาที่ต้องเรียนจนทนไม่ไหว ต้องเก็บพ็อกเก็ตมันนี่เอาแอบไปเรียนดนตรี แอบไปเรียนเพราะพวกผู้ใหญ่สมัยนั้นเห็นว่าวิชาดนตรีไม่เหมาะกับชายชาติทหาร เมื่อได้เรียนดนตรีที่พ่อรักก็สบายใจ เกิดความอดทนที่จะเรียนและทำงานที่พ่อเบื่อ…”

มาในปี พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมจัดซื้อที่ดินพระราชทานแก่ ‘ทูลกระหม่อมบริพัตร’ เพื่อใช้สร้างวังที่ประทับ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2444 ในขณะที่ยังทรงศึกษาอยู่พระองค์ได้ทรงให้สร้างวังในรูปแบบเรอเนซองส์ผสมผสานกับลวดลายศิลปะแบบนีโอ-บารอก โดยเริ่มก่อสร้างจากตำหนักหอจากไม้เป็นประเดิม จนกระทั่งพระองค์ทรงศึกษาจบและนิวัติกลับสยามในปี พ.ศ. 2446 ซึ่งที่ตำหนักหอแห่งนี้เองที่ทูลกระหม่อมได้เริ่มทรงดนตรีไทย ก่อนที่วังจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี พ.ศ. 2449 ซึ่งที่ประทับแห่งนี้ก็คือ ‘วังบางขุนพรหม’ อันโอ่อ่า โดยเป็นสถานที่จัดงานต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ใช้เป็นที่จัดงานสังสรรค์ของพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นสถานศึกษาซึ่งเรียกกันในสมัยนั้นว่า ‘บางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้’ หรือ ‘บางขุนพรหมคอลเลจ’ และอีกหนึ่งความสำคัญของวังแห่งนี้ก็คือ ‘คอนเสิร์ตฮอลล์’ ห้องบันทึกเสียงและศูนย์การประชันวงดนตรี 

ย้อนกลับในปีพ.ศ. 2446 ‘ทูลกระหม่อมบริพัตร’ ได้เริ่มทรงดนตรีไทยอย่างจริงจัง โดยทรงรวบรวมมหาดเล็กเรือนนอกที่สามารถเล่นดนตรีไทยได้มาก่อตั้งเป็นวงพิณพาทย์ไม้แข็งของวังบางขุนพรหม จากการเริ่มวงที่รวบรวมมหาดเล็กมาต่อเพลง ไม่ช้าก็กลายเป็นวงที่อุดมไปไปด้วยนักดนตรีไทยชั้นยอดแห่งยุคอย่างด้วยการจัดการวงจากหลวงกัลยาณมิตตาวาส (ทับ พาทยโกศล) และนำการบรรเลงโดยจางวางทั่ว พาทยโกศล นอกจากวงปี่พาทย์พระองค์ก็ยังทรงตั้งวงเครื่องสายที่ทรงบรรเลงร่วมกับพระญาติและผู้ใกล้ชิดอีกด้วย 

สำหรับยุคนั้น ‘วังบางขุนพรหม’ คือสถานที่สำคัญแห่งการประลองทางดนตรี โดยมีวงดัง ๆ นอกไปจาก วงปี่พาทย์วังบางขุนพรหมที่นำโดย ‘จางวางทั่ว พาทยโกศล’ ก็จะมีวงอย่างเช่น วงปี่พาทย์วังบูรพานำโดย ‘จางวางศร’ (หลวงประดิษฐ์ไพเราะ) วงสมเด็จพระบรมฯ (เมื่อครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ’) นำโดย ‘นายโสม’ (พระเพลงไพเราะ) วงพระองค์เพ็ญ (กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม) นำโดย นายขลิบ ชำนิราชกิจ เป็นต้น ซึ่งบรรยากาศในการประชันก็จำลองมาอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง ‘โหมโรง’ ซึ่งท่านผู้อ่านลองไปหาชมกันได้ โดย ‘ทูลกระหม่อมบริพัตร’ ก็เป็นพระองค์แรกในการทดลองบันทึกเสียงทั้งการประชัน การบรรเลงต่าง ๆ ไว้ในแผ่นครั่ง ตั้งแต่ในครั้งกระนู้น ซึ่งถ้าวงใดได้มาบรรเลงหรือประชัน ณ วังบางขุนพรหมแม้จะไม่ชนะ แต่ก็มีชื่อเสียงกลับไปว่าได้มาแสดง ณ วังแห่งนี้แล้ว

จากดนตรีไทยมาสู่ดนตรีสากล จริง ๆ แล้วทูลกระหม่อมบริพัตรทรงเริ่มนิพนธ์เพลงไทยสากลก่อนเพลงไทยเดิม แม้ว่าพระองค์จะทรงตั้งวงปี่พาทย์ขึ้นก่อน เอ้า !!! ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ ? 

เรื่องของเรื่อง ‘กรมพระนครสวรรค์วรพินิต’ ในขณะที่ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือ พระองค์ได้ทรงนิพนธ์ทำนองเพลงตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ของดนตรีสากล สำหรับบรรเลงด้วยแตรวงโดยเฉพาะขึ้นเป็นครั้งแรกในสยาม เพลงนั้นก็คือเพลง ‘วอลซ์ปลื้มจิต’ ซึ่งถือว่าเป็นเพลงไทยสากลเพลงแรกในประวัติศาสตร์การดนตรีของประเทศไทย โดยเพลงพระนิพนธ์ในชุดแรกที่เรียกว่าเพลงฝรั่งแท้ ๆ นอกจากวอลซ์ปลื้มจิตแล้วก็จะมีอีก 4 เพลงคือ เพลงวอลซ์ประชุมพล เพลงวอลซ์โนรี เพลงมณฑาทอง และ เพลงมาร์ชบริพัตร ทั้ง 5 เพลงนี้ ในปัจจุบันพบเพียงแค่ 4 เพลง เพลงที่หายไปก็คือ ‘เพลงวอลซ์โนรี’ ซึ่งเพลงวอลซ์โนรีนี้เป็นเพลงที่ทรงนิพนธ์ประทานให้แก่เจ้าหญิงโนรี แห่งประเทศสวีเดน เมื่อครั้งที่เจ้าหญิงโนรีเสด็จมาในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

จากเพลงแบบสากล พระองค์ยังทรงนำเพลงไทยแท้ ๆ  มาเรียบเรียงเสียงประสานแบบสากล จนกลายเป็นเพลงไทยทำนองฝรั่ง โดยเพลงที่เราคุ้นเคยก็คงเป็นเพลง ‘มหาฤกษ์ มหาชัย’ กับเพลงอื่น ๆ อาทิ เพลงสรรเสริญเสือป่า เพลงสาครลั่น และเพลงที่มีความลุ่มลึก คำนึง ถึงคนที่จากไปไกลอย่าง ‘เพลงพญาโศก’ ซึ่งนำไปบรรเลงโดยทั่วไป 

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงนิพนธ์เพลงไทยแท้ ๆ สำเนียงแบบไทย เรียบเรียงแบบไทยแต่เอามาเล่นในแตรวง โดยทรงทำไว้เป็นโน้ตรวมฉบับรวมทั้งวง (Score) ทั้งหมด 20 เพลง ตัวอย่างเช่น เพลงแขกมอญบางขุนพรหม (เพลงนี้เมื่อแรกเริ่มทรงนิพนธ์เป็นเพลงสำหรับวงโยธวาทิตก่อนแล้วจึงปรับปรุงเป็นทางพิณพาทย์ในเวลาต่อมา ชื่อบางขุนพรหมแต่พระองค์ทรงแต่งเพลงนี้ที่พระราชวังบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรี ) เพลงเขมรพวงสามชั้น เพลงเขมรชมจันทร์ เพลงถอนสมอ เพลงบุหลันชกมวย ฯลฯ 

โดยทั้ง 20 เพลง ทูลกระหม่อมบริพัตรได้ได้ทรงประพันธ์ขึ้นใหม่ทั้งหมด ทรงทำทางเป็นเพลงสำหรับแตรวงหรือวงโยธวาทิต แต่ทรงยึดแนวเพลงของเก่าเป็นพื้น แล้วก็ดัดแปลง ตัดลงจากสามชั้นเป็นชั้นเดียวบ้าง แล้วก็ทรงประทานให้แตรวงทหารเรือหรือทหารบกได้นำไปบรรเลง นับเป็นพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีที่ไม่เหมือนใคร

นอกจากเพลงที่เล่นในแตรวงแล้ว กรมพระนครสวรรค์ยังทรงนิพนธ์เพลงไทยแท้ที่บรรเลงด้วยปี่พาทย์ โดยเพลงประเภทนี้ พระองค์ทรงนิพนธ์เป็นส่วนมาก เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงลี้ภัยการเมืองไปประทับที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย โดยเพลงที่พระองค์ทรงนิพนธ์สำหรับวงปี่พาทย์นี้มีทั้งหมด 25 เพลง เช่น เพลงแขกมอญบางขุนพรหม เถา (ซึ่งเพลงนี้เป็นเพลงแรกในพระชนม์ชีพของพระองค์ โดยนอกจากเรียบเรียงเพื่อใช้กับแตรวงแล้ว ทางเพลงนี้ก็เป็นทางแบบไทยเดิมจึงสามารถเรียบเรียงเป็นแบบปี่พาทย์ได้อีกทาง) เพลงน้ำลอดใต้ทราย เพลงแขกสาย เถา เพลงโหมโรงประเสบัน เพลงเทวาประสิทธิ์ เถา ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเพลงที่คนดนตรีไทยคุ้นเคยกันดี 

ประเภทขับร้องหรือทางร้องซึ่งประเภทนี้แยกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือช่วงที่ทูลกระหม่อมทรงประทับที่วังบางขุนพรหม เมื่อพระองค์ทรงนิพนธ์เพลงเสร็จก็จะประทานให้หม่อมเจริญ พาทยโกศล ทำทางขับร้องถวาย ช่วงที่สองเมื่อเสด็จฯ ไปประทับอยู่ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อพระองค์ทรงพระนิพนธ์เพลงใหม่ขึ้น พระองค์ทรงต่อทางร้องประทานให้คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ โดยเวลาที่ทรงต่อทางร้องจะทรงใช้ซออู้สีนำ บางครั้งก็ทรงเปล่งพระสุรเสียงนำบ้าง 

ประเภทสุดท้ายคือเพลงเดี่ยว ตามที่ทราบพระองค์ทรงมีความชำนาญในการสีซอสามสายเป็นอย่างมาก จึงมีเพลงพระนิพนธ์ที่เป็นทางเดี่ยวสำหรับซอสามสายไว้มากกว่าทางเดี่ยวของเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ ส่วนเครื่องดนตรีตะวันตกนั้นมีแค่ทางเดี่ยวแตรคอร์เนทเพียงอย่างเดียว ซึ่งบทเพลงประเภทเพลงเดี่ยวนี้มีเพียง 4 เพลงเท่านั้น ได้แก่ ทางเดี่ยวซอสามสายเพลงบุหลันลอยเลื่อน ทางเดียวซอสามสายเพลงอาเฮีย ทางเดี่ยวซอสามสายเพลงสารถี 3 ชั้น และทางเดี่ยวแตรคอร์เนทเพลงสารถี 3 ชั้น

สมเด็จเจ้าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และสมาชิกในราชสกุลบริพัตร ทรงมีเวลาเตรียมพระองค์ไม่ถึง 12 ชั่วโมง หลังจากเช้าแห่งวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระองค์ต้องทิ้งวังและปล่อยให้ข้าราชบริพารร่วม 400 ชีวิตดูแลตัวเอง โดยทรงมีเงินส่วนพระองค์ติดไปเพียง 9,000 บาท โดยคณะผู้ก่อการได้จัดขบวนรถถังและรถหุ้มเกราะห้อมล้อมรถ นำเสด็จฯ จากวังบางขุนพรหมไปยังสถานีหัวลำโพง บนรถไฟที่ประทับยังมีตำรวจอีกสองกองร้อย ตามเสด็จไปควบคุมพระองค์จนถึงชายแดนไทยจนออกจากประเทศไทยไปยังปีนัง ก่อนจะเสด็จฯ ไปประทับเป็นการถาวรที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย โดยพระองค์ทรงประทับอยู่ต่างแดนร่วม 12 ปี ก่อนที่พระองค์ทรงประชวรด้วยโรคพระวักกะ (โรคไต) และพระหทัย (โรคหัวใจ) และได้สิ้นพระชนม์ในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2487 โดยพระศพของพระองค์ได้อัญเชิญกลับมาประเทศไทยในอีก 4 ปีหลังจากวันสิ้นพระชนม์ ก่อนจะมีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพทูลกระหม่อมบริพัตร ในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2493 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง

นี่คือเรื่องราวทางดนตรีและพระอัจฉริยภาพของ ‘พระบิดาแห่งเพลงไทยสากล’ จอมพล จอมพลเรือ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต’


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager