Wednesday, 21 May 2025
TheStatesTimes

‘SCB EIC’ เผย!! ‘คนไทย’ รายได้ไม่ถึง 50,000 ยังไม่กล้าซื้อบ้านตอนนี้ เหตุปัญหาหนี้ครัวเรือน-ภาระค่าใช้จ่ายสูง อาจคิดอีกที 5 ปีข้างหน้า

(10 ก.ค.67) ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคด้านที่อยู่อาศัย (SCB EIC Real estate survey 2024) ผ่านช่องทาง ออนไลน์ Survey monkey ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ถึง 11 มีนาคม 2024 มีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 2,185 คนพบว่า...

ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาระค่าใช้จ่ายที่ยังทรงตัวในระดับสูง กดดันต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน ทำให้ความต้องการซื้อในช่วงไม่เกิน 2 ปีข้างหน้ามีสัดส่วนลดลงจากการสำรวจปีก่อนหน้า และความต้องการซื้อส่วนใหญ่ยังอยู่ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งผู้ซื้อส่วนใหญ่คาดหวังว่า สถานการณ์เศรษฐกิจ และกำลังซื้อจะฟื้นตัวมากขึ้น รวมถึงมีความพร้อมทางกาีเงินมากกว่าในปัจจุบัน 

นอกจากนั้น ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งหนึ่งยังไม่มีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัย หรืออาจมีแผนหลังจาก 5 ปีข้างหน้า

ขณะที่กำลังซื้อกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลาง-บนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้มากขึ้นจะช่วยประคองตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2024 และในระยะ 2 ปีข้างหน้าได้บางส่วน โดยเฉพาะในตลาดที่อยู่อาศัยราคามากกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็น Real demand ที่ต้องการซื้อเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 และหลังแรก ตามลำดับ ส่วนความต้องการซื้อเพื่อการลงทุนยังมีสัดส่วนไม่มากนัก ใกล้เคียงกับการสำรวจในปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ สาเหตุหลักของการไม่มีแผนซื้อที่อยู่อาศัยในช่วง 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากตนเองหรือคนในครอบครัว เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว และรายได้หรือภาระค่าใช้จ่ายไม่เอื้ออำนวย ตามลำดับ โดยกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ที่มีรายได้ระดับปานกลาง-ล่าง มองว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ได้ จึงเลือกที่จะปรับตัว และอยู่อาศัยกับครอบครัวแทน

ส่วนกลุ่มที่รายได้หรือภาระค่าใช้จ่ายไม่เอื้ออำนวยส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า สถานการณ์ด้านรายได้หรือภาระค่าใช้จ่ายจะคลี่คลายมากขึ้น จนสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้หลังจาก 5 ปีข้างหน้า

นอกจากนั้น ปัจจัยด้านความคุ้มค่าของราคา / ราคาที่เข้าถึงได้ มีผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมากที่สุด และปัจจัยด้านทำเลสำคัญมากขึ้นและยังสำคัญกว่าปัจจัยด้านความเพียงพอของพื้นที่ใช้สอย ซึ่งกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านทำเลที่สะดวกต่อการเดินทาง และต้องการรักษาสมดุลกับความพอเพียงของพื้นที่ใช้สอยควบคู่ไปด้วย

ด้านตลาดที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุน / เก็งกำไร / ปล่อยเช่า ยังฟื้นตัวได้ไม่มากจากแรงกดดันด้านกำลังซื้อ และมาตรการ LTV ส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนคอนโดในทำเลกรุงเทพฯ ซึ่งยังคงมีความต้องการจากผู้เช่า กลุ่มที่ต้องการอยู่ใกล้ที่ทำงาน สถานศึกษาของตนเอง และสถานศึกษาของบุตรหลาน และกลุ่มที่งบประมาณไม่พอสำหรับการซื้อเป็นหลัก

ขณะที่มาตรการภาครัฐยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย โดยมาตรการด้านดอกเบี้ยจะกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยจากกลุ่มที่มีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัยได้มากที่สุด สำหรับมาตรการอื่น ๆ รองลงมา เช่น การลดหย่อนภาษี รวมถึงการผ่อนคลาย LTV ที่จะช่วยให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 กู้ได้ 100%

ดังนั้น SCB EIC มองว่า ผู้ประกอบการยังเผชิญความท้าทายในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย จากปัจจัยเศรษฐกิจที่ยังคงกดดันการฟื้นตัวของกำลังซื้อ ต้นทุนการพัฒนาโครงการที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงพฤติกรรมของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไป 

สำหรับแนวทางการปรับกลยุทธ์ของผู้ประกอบการคือ  พัฒนาโครงการใหม่อย่างระมัดระวัง โดยคำนึงถึงต้นทุนราคาที่ดิน หลีกเลี่ยงทำเลที่มีการแข่งขันรุนแรง หรือมีหน่วยเหลือขายสะสมสูง รวมถึงการกระจาย Portfolio ให้มีตัวเลือกที่อยู่อาศัยในหลากหลายระดับราคายังคงมีความจำเป็น เน้นการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อสร้างความแตกต่าง สามารถตอบโจทย์ความต้องการ 

นอกจากนั้นควรขยายตลาดผู้ซื้อชาวต่างชาติ ซึ่งกลุ่มผู้ซื้อที่มีสัดส่วนมากที่สุดคาดว่า ยังคงเป็นชาวจีน ขณะที่กำลังซื้อจากรัสเซีย รวมถึงเอเชีย เช่น เมียนมา ไต้หวัน ก็ยังมีศักยภาพ และบริหารจัดการต้นทุนการพัฒนาโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาอัตรากำไร ควบคู่กับการรักษามาตรฐานที่อยู่อาศัย และการให้บริการหลังการขาย เพื่อสร้างความพึงพอใจของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย

นอกจากนั้นผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับเทรนด์ ESG เนื่องจากผู้ซื้อในปัจจุบันโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเทรนด์ ESG มากขึ้น โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยควรหันมาให้ความสำคัญ และดำเนินงานภายใต้กรอบ ESG อย่างครอบคลุม

‘สิงคโปร์’ ไฟเขียว!! นำเข้าแมลง 16 ชนิด เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร ด้าน 'ไทย' ตีปีก มีความได้เปรียบเหนือกว่าประเทศคู่แข่งเพียบ

(10 ก.ค. 67) สำนักงานอาหารของสิงคโปร์ออกประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 ก.ค.) เกี่ยวกับข้อกำหนดใหม่ในการนำเข้าแมลง 16 ชนิดที่ได้รับการอนุมัติเป็นอาหาร โดยประกาศดังกล่าวระบุว่า แมลงและผลิตภัณฑ์จากแมลงเหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถนำมาบริโภคหรือเป็นอาหารปศุสัตว์ โดยแมลงและผลิตภัณฑ์จากแมลงที่นำเข้าเพื่อการบริโภคโดยตรงของมนุษย์จะต้องได้รับการฆ่าเชื้อโรคอย่างเพียงพอ

ทั้งนี้ การนำเข้าแมลงแต่ละชนิดจะได้รับการอนุมัติให้นำเข้าในช่วงอายุที่กำหนดเท่านั้น เช่น จิ้งหรีดและตั๊กแตนได้รับอนุญาตให้นำเข้าในระยะโตเต็มวัยเท่านั้น ในขณะที่หนอนนกและด้วงจะต้องนำเข้าขณะที่ยังเป็นตัวอ่อน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร 

ขณะที่ไทยเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบกว่าประเทศคู่แข่ง ด้วยสภาพอากาศร้อนชื้นที่เหมาะสมสำหรับทำฟาร์มเพาะเลี้ยงแมลงเพื่อส่งออก และยังมีวัตถุดิบเพียงพอในการทำโรงงานผลิตแมลงแปรรูปได้อีก โดยแมลงยอดนิยม อาทิ จิ้งหรีด, ตั๊กแตน, แมงป่อง, ดักแด้, หนอนรถด่วน และด้วง จึงเป็นโอกาสสำคัญทางเศรษฐกิจไทยในการส่งออกแมลงที่เป็นสินค้าส่งออกที่มีอนาคตสดใส ในการสร้างรายได้ให้ประเทศ

‘ธนาคารโลก’ แนะแนว ‘ไทย’ หลุดพ้นกับดัก ‘เศรษฐกิจ-GDP’ โตต่ำ คลอดสมุดปกขาว-กทม.หยุดแบก-เสริมแกร่งเมืองรอง-ลุยอุตฯ ทำเงิน

เมื่อไม่นานมานี้ ‘ธนาคารโลก’ เผยแพร่ ‘รายงานการตามติดเศรษฐกิจไทย’ ฉบับล่าสุด นำเสนอหัวข้อ ‘การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตของเมืองรอง’ ระบุว่า ศักยภาพ การเติบโตระยะยาวของไทยกำลังชะลอตัวลงจากเผชิญความท้าทายจากประชากรสูงวัย ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมประมาณการอัตราการเติบโตที่มีศักยภาพสำหรับปี 2566-2573 เฉลี่ยประมาณร้อยละ 2.7 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าทศวรรษก่อนหน้า 0.5 จุด จากการลดลงอย่างต่อเนื่องของการเติบโตของผลิตภาพปัจจัยการผลิตโดยรวม (TFP) แรงงานที่สูงวัยและลดลง ตลอดจน การเปลี่ยนแปลงจากภาคเกษตรไปสู่ภาคที่มีผลิตภาพสูงกว่าที่หยุดชะงัก

“ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญ จำเป็นต้องแก้ไขความท้าทายสำคัญเพื่อฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยกำลังล้าหลังภูมิภาค การเติบโตของ GDP ต่อหัวช้ากว่าคู่แข่งในภูมิภาคอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยประเทศไทยอยู่ในจุดวิกฤตที่มีความท้าทายด้านผลิตภาพและแนวโน้มประชากรที่ไม่เอื้ออำนวย จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงหากคนรุ่นปัจจุบันต้องการทิ้งมรดกแห่งความเจริญรุ่งเรืองไว้”

>>กรุงเทพฯ ‘เดอะแบก’ การเติบโตประเทศ

รายงานธนาคารโลกระบุว่า การกลายเป็นเมืองของไทยมุ่งเน้นไปที่กรุงเทพฯ ทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศที่สุดโต่ง เป็นส่วนเดียวของประเทศที่สามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก แต่ กทม. ก็กลายเป็นเมืองที่แออัดมากขึ้นเรื่อย ๆ และความไร้ประสิทธิภาพและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความแออัดนั้นกำลังกลายเป็นเรื่องที่ยากจะเอาชนะ

ในแง่ของเศรษฐกิจของประเทศและความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ GDP ของกทม. เมื่อเทียบกับประเทศอื่นพบว่า ขนาด GDP ของกทม.ใหญ่กว่าเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองเกือบ 40 เท่า มากกว่าเมื่อเทียบกับกรณีของมาเลเซีย 8 เท่า อินโดนีเซีย 6 เท่า และเวียดนาม 3 เท่า ขณะที่การลงทุนในกทม. มีสัดส่วนที่ไม่สมดุลกับขนาดและนํ้าหนักทางเศรษฐกิจของเมือง ตัวอย่างเช่น ในปี 2563 ประมาณ 60% ของการใช้จ่ายสาธารณะกระจุกตัวอยู่ในกทม. แม้ว่ากทม.จะมีสัดส่วน GDP เพียง 34% ของประเทศ และ 13% ของประชากร

รายงานธนาคารโลกระบุอีกว่า การกระจายการพัฒนาเศรษฐกิจไปยังหลายเมือง จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากนํ้าท่วมและสภาพอากาศ โดยเฉพาะเมืองรองสามารถเป็นจุดยึดของภูมิภาคใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของ กทม. แสดงสัญญาณของการชะงักงัน เนื่องจากการเติบโตของ GDP มีค่าประมาณเท่ากับการเติบโตของประชากร บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของเมืองเติบโตเต็มที่และอาจอิ่มตัว การปล่อยให้เมืองรองยังคงมีประสิทธิภาพตํ่าก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

ดังนั้นการยกเลิกข้อจำกัดสำหรับเมืองรอง ควบคู่ไปกับการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม จะช่วยให้เมืองรองสามารถดึงดูดการลงทุนและทักษะเพิ่มผลิตภาพมากขึ้น และช่วยให้ประเทศไทยฟื้นตัวจากภาวะซบเซาในปัจจุบัน อีกทั้งยังช่วยสร้างความเจริญรุ่งเรืองในระยาวให้กับประเทศไทย

>> แนะดัน 5 เมืองใหญ่ขยายเศรษฐกิจ

ธนาคารโลกยกตัวอย่าง เมืองรอง 5 แห่งที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ คือ

1.เชียงใหม่ เป็นที่รู้จักกันดีในระดับนานาชาติ และตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ใกล้กับลาว เมียนมา และจีน และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคเหนือของไทย มีภาคการท่องเที่ยว การเกษตร และโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับ digital nomads ในศตวรรษที่ 21

2.ระยอง ตั้งอยู่ในศูนย์กลางของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญ เป็นที่ตั้งของโรงกลั่นนํ้ามันขนาดใหญ่ การผลิตเคมีภัณฑ์และยานยนต์ นอกจากนี้ยังมีท่าเรือนํ้าลึกขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำคัญของภูมิภาคในการอำนวยความสะดวกกิจกรรมการนำเข้าและส่งออก

3.นครสวรรค์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์กลางการขนส่งและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในภูมิภาค ได้ขยายตัวไปสู่การผลิตและอุตสาหกรรมอื่น ๆ มีศักยภาพในการพัฒนาที่ดี เนื่องจากการเชื่อมโยงด้านการขนส่งและต้นทุนที่ดินและแรงงานที่ค่อนข้างไม่แพง

4.ขอนแก่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เป็นหนึ่งในเมืองที่เติบโตเร็วที่สุดในประเทศไทย มีเศรษฐกิจที่หลากหลาย ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเกษตร การผลิต โลจิสติกส์ และการศึกษา

5.ภูเก็ต ทำหน้าที่เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับการท่องเที่ยว การบริการ และกิจกรรมด้านสุขภาพ และยังดึงดูด digital nomads อีกด้วย มีอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่งและเป็นศูนย์กลางการค้าของพื้นที่ผลิตยางที่สำคัญ ท่าเรือของภูเก็ตให้บริการเรือยอร์ชหรูและเรือสำราญ รวมถึงเรือพาณิชย์ขนาดเล็กที่จัดการการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

>>คลอดสมุดปกขาว-กระจายพัฒนา

ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ความหลากหลายช่วยป้องกันบางส่วนเมื่อภาคส่วนเฉพาะประสบกับการหยุดชะงักหรือสภาวะตลาดเปลี่ยนแปลง ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย รัฐบาลต้องกระจายอำนาจให้เมืองรอง ให้อิสระในการวางแผนและตัดสินใจลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มความเป็นอิสระทางการคลัง เพิ่มเครื่องมือสร้างรายได้ท้องถิ่น ด้วยการปรับปรุงระบบภาษีท้องถิ่น เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพิ่มการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการท้องถิ่น รวมไปถึงการส่งเสริมการกู้ยืมของเทศบาล ทั้งอนุญาตให้เมืองรองกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาตลาดพันธบัตรเทศบาล

นอกจากนี้ควรจัดทำ White Paper และโครงการนำร่อง ด้วยการพัฒนานโยบายครอบคลุมสำหรับการเงินโครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่น ทดลองใช้รูปแบบใหม่ในกลุ่มเมืองรองที่เลือก สร้างระบบสนับสนุน ด้วยการจัดตั้งหน่วยสนับสนุนนโยบายและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จัดตั้งกองทุนพัฒนาโครงการเพื่อสนับสนุนการเตรียมโครงการ ควบคู่กับการส่งเสริมการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาการศึกษาและทักษะแรงงานในเมืองรองปรับปรุงการเชื่อมต่อและโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการพัฒนาระบบขนส่งและการสื่อสารระหว่างเมืองรองและกรุงเทพฯ

>> จีดีพีไทย 10 ปีโตเฉลี่ย 1.9%

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในปี 2566 เศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยขยายตัวเพียง 1.9% และช่วงไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัว 1.5% และหากย้อนกลับไป 10 ปี ก่อนหน้าปี 2566 จีดีพีไทยขยายตัวเฉลี่ยเพียงปีละ 1.92% ตํ่าสุดในภูมิภาค ที่ส่วนใหญ่ขยายตัวที่ระดับ 5-6% ต่อปี มีปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก 

ขณะที่ปัจจุบันไทยมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงถึง 91% ต่อจีดีพี กดทับกำลังซื้อ และการบริโภค และโครงการลงทุนต่าง ๆ ของภาครัฐก็ใช้งบลงทุนไม่มาก ทำให้มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ปัจจุบันความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง เพราะส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมดั้งเดิม และรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) สินค้าที่ผลิตตลาดเริ่มลดความนิยมในหลายสินค้า ส่วนรถยนต์เครื่องยนต์สัปดาห์ภายในที่เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยก็เริ่มไม่ตอบโจทย์ เพราะเทรนด์อนาคตนับจากนี้ผู้บริโภคจะหันไปให้ความนิยมรถยนต์ใช้พลังงานสะอาด เช่น รถ EV มากขึ้น

ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หรือเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีเก่า และยังใช้แรงงานเข้มข้น ทำให้ไทยได้แต่ค่าแรง ต่างจากมาเลเซีย และเวียดนามที่เวลานี้ผลิตสินค้าประเภทเดียวกันแต่เป็นสินค้าที่ไฮเทคกว่า และมีมูลค่ามากกว่า ทำให้ยอดส่งออกสูงกว่าไทย

>> ลุยปรับโครงสร้างผลิตดัน GDP

เป็นที่มาของส.อ.ท.ที่อยู่ระหว่างการเร่งยกระดับและปรับโครงสร้างภาคการผลิตของไทยให้ตอบโจทย์เทรนด์ของโลก และเพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ โดยอยู่ระหว่างการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของ 46 กลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิก มีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ระบบอัตโนมัติ โรบอติกส์ และระบบดิจิทัลเข้ามาใช้มากขึ้น มุ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) อุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green) เพื่อตอบโจทย์ Climate Change และ Net Zero

“ในส่วนของภาครัฐเราต้องการการสนับสนุนในหลายเรื่องสำคัญ เช่น การทำกฎหมายให้ทันสมัยเอื้อต่อการลงทุน ช่วยลดต้นทุนการผลิต เช่น ค่าไฟฟ้า ดอกเบี้ย และอื่น ๆ ซึ่งหากโครงสร้างของเรายังเป็นอุตสาหกรรมเดิม ๆ เหมือนในอดีต เป้าหมายของนายกรัฐมนตรีที่จะผลักดันจีดีพีของไทยให้เติบโตได้ปีละ 5% ก็คงไปไม่ถึง ดังนั้นภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันในการผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตอบโจทย์เทรนด์ของโลกเพื่อให้เป้าหมายเป็นไปได้”

>> คลังเร่งมาตรการสู่เป้า 3%

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 เหลือโต 2.4% นั้น ใกล้เคียงกับหลายสำนักงานเศรษฐกิจที่ได้ปรับประมาณการไว้ล่วงหน้า ขณะเดียวกัน หน่วยงาน ประมาณการเศรษฐกิจที่อยู่ในประเทศ จะมีความแม่นยำสูง เนื่องจากเห็นสภาวการณ์ต่าง ๆ ซึ่งในที่สุดก็ปรับมาใกล้เคียงกัน

ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังวางเป้าหมายไว้ให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ เติบโตได้ 3% นั้น ก็จะมีหลายมิติที่ต้องดูแล เช่น การท่องเที่ยว ต้องเพิ่มทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และรายจ่ายต่อหัว รวมทั้งการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการทางภาษีมากระตุ้นเพิ่มเติม และจะมีมาตรการอื่น ๆ ทยอยออกมาดูแลเศรษฐกิจ เพิ่มเติมด้วย เช่น การคํ้าประกันสินเชื่อ เป็นต้น

รวบหัวหน้าแก๊งรัสเซียปลอม นำเข้า จำหน่าย หนังสือเดินทางปลอม และหลอกทำหนังสือเดินทาง ความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท 

กก.4 บก.สส.สตม. ร่วมกับ กก.ปอพ.บก.สส.สตม. จับกุม นายอาเทม (นามสมมติ) อายุ 44 ปี สัญชาติรัสเซีย ตามหมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ 557/2567 ลงวันที่ 26 มิ.ย.2567 ในความผิดฐาน "ทำหนังสือเดินทางปลอมขึ้น  ทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดฯ, จำหน่ายหนังสือเดินทางปลอมฯ, นำเข้าหนังสือเดินทางปลอมฯ" นำตัวส่งพนักงานสอบสวน กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.สตม. ดำเนินคดีตามกฎหมาย สถานที่จับกุม ห้องพักในคอนโดมิเนียมย่าน ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ  

เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน กก.4.บก.สส.สตม. ร่วมกับ กก.ปอพ.บก.สส.สตม. ได้สืบสวนในทางลับเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่ทำหนังสือเดินทางปลอม ซึ่งจากการสืบสวนทราบว่าขบวนการดังกล่าวมีการนำเข้าหนังสือเดินทางและจำหน่ายหนังสือเดินทางปลอมในประเทศไทย โดยเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนได้รับภาพถ่ายหน้าหนังสือเดินทางปลอมของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากการตรวจสอบภาพถ่ายหนังสือเดินทางดังกล่าวโดยละเอียด พบลักษณะพิรุธมีความผิดปกติหลายจุด น่าเชื่อว่าจะเป็นหนังสือเดินทางปลอมของประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้มีหนังสือสอบถามไปยังหน่วยสืบสวนอาชญากรรมข้ามชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา Overseas Criminal Investigations Unit (OCIU) ประจำประเทศไทย และได้รับการยืนยันว่า "หนังสือเดินทางดังกล่าวเป็นหนังสือเดินทางปลอม"
 จากการสืบสวนพบว่าขบวนการดังกล่าวได้มีการลงโฆษณาอย่างโจ่งแจ้งในแอปพลิเคชัน VK, Telegram, WhatsApp และผ่านเว็บไซต์ (passpart.pro) ว่าสามารถทำหนังสือเดินทางได้ 15 สัญชาติ ซึ่งเป็นการขอสัญชาติแบบถูกต้อง

โดยมีการชำระเงินผ่านบัญชีเงินดิจิทัล และได้มีการเปิดบริษัทในประเทศไทยเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้มีผู้เสียหายหลายคนหลงเชื่อและได้ทำการติดต่อไป ซึ่งผู้เสียหายหลายรายไม่ได้รับหนังสือเดินทาง และบางรายที่ได้รับหนังสือเดินทางก็เป็นหนังสือเดินทางที่ปลอมขึ้น  จากการตรวจสอบพบว่าหนังสือเดินทางที่ปลอมขึ้นดังกล่าวนั้นส่งมาโดยบริษัทขนส่ง FEDEX จากประเทศโดมินิกัน เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนได้ทำการประสานกับหน่วยสืบสวนอาชญากรรมข้ามชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสืบสวนขยายผลเพิ่มเติม ต่อมาเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนทราบว่าหัวหน้าของกลุ่มขบวนการดังกล่าวคือ นาย อาเทม (นามสมมติ) สัญชาติรัสเซีย จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเสนอรายงานการสืบสวนต่อผู้บังคับบัญชาและร้องทุกข์ต่อ พงส.บก.สส.สตม. เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

ต่อมาเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน กก.4.บก.สส.สตม., กก.ปอพ.บก.สส.สตม. ได้ทำการขออนุมัติหมายจับจาก ศาลอาญากรุงเทพใต้ ให้จับกุมนาย อาเทม ในข้อหา "ทำหนังสือเดินทางปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดฯ, จำหน่ายหนังสือเดินทางปลอมฯ, นำเข้าหนังสือเดินทางปลอมฯ" และได้ขออนุมัติหมายค้นจากศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อพบตัวบุคคลตามหมายจับและเพื่อพบพยานหลักฐาน จากการเข้าตรวจค้นเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนได้ทำการจับกุมนายอาเทมตามหมายจับดังกล่าว พร้อมกับตรวจยึดพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องจำนวน 12 รายการ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก สมุดบัญชีและบัตรเครดิตของต่างประเทศ ซึ่งจากการตรวจสอบขยายผลพบว่า ขบวนการดังกล่าว  มีการแบ่งหน้าที่กันทำ มีบุคคลที่อยู่ต่างประเทศที่ประเทศโดมินิกันรับคำสั่งในการทำหนังสือเดินทางปลอม นายอาเทม ทำหน้าที่โฆษณาและพูดคุยกับผู้เสียหายทั้งหมดและจัดการเรื่องเงินที่ได้รับจากผู้เสียหาย ทั้งนี้ผู้เสียหายไม่ทราบว่าหนังสือเดินทางนั้นเป็นของปลอม ทำให้มีผู้หลงเชื่อเป็นจำนวนมาก โดยการติดต่อซื้อขายนั้นกระทำผ่านแอปพลิเคชัน TELEGRAM โดยความเสียหายที่ตรวจพบในเบื้องต้นทั้งหมดรวมมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท 

สตม. ขอเรียนให้ท่านทราบว่า สตม. มีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามการกระทำความผิด   ในด้านต่าง ๆ รวมถึงการเฝ้าระวังบุคคลทั้งสัญชาติไทยและสัญชาติอื่น ๆ ที่มีหมายจับ และการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระชนมพรรษา 60 พรรษา เลขที่ 904 หมู่ที่ 6 ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จว.นนทบุรี 11120 หรือติดต่อตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดในพื้นที่ หรือที่ www.immigration.go.th จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง

‘ชูวิทย์’ ขอบคุณทุกกำลังใจ พร้อมเผยสิ่งที่อยากทำก่อนจากไป อโหสิกรรม ‘สันธนะ’ อย่าได้เจอกันอีกไม่ว่าชาตินี้หรือชาติไหน

(10 ก.ค. 67) เพจ ‘สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว’ โพสต์ข้อความจาก นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย ที่ไปรักษาโรคมะเร็งระยะสุดท้ายที่ประเทศอังกฤษ ได้ฝากถึงแฟนคลับ ความว่า…

“ด้วยความคิดถึงขอขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจ ในชีวิตเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน จึงทำให้คิดได้ มีอีกหลายเส้นทาง ที่ชีวิตไม่เคยไปสัมผัส ฝรั่งเรียก ‘Bucket list’ สิ่งที่ทำ ก่อนชีวิตสูญสลาย…

“สิ่งหนึ่งคือ ไม่มัวติดอยู่กับอดีต เพราะนับจากนี้ไป อีกไม่นาน เราก็จะตายไปกันหมด ไม่ช้า ก็เร็ว สิ่งที่เราหามาทั้งชีวิตก็จะไปตกในมือคนอื่น ๆ จะไม่มีใครจำเราได้อีกต่อไป แม้แต่คนในครอบครัว จะมีใคร ไปจำพ่อของทวดได้บ้าง ?...

“เราควรคิดถึงสิ่งที่เรามีความสุขในวันนี้ เลิก คิด แค้น เคือง พยาบาท ใครต่อใคร เพราะทุกสิ่งมันผ่านไปหมดแล้ว ยิ้ม พอใจ กับที่เรามีอยู่วันนี้ที่ทุก ๆ เช้า เราตื่นมาได้ ด้วยร่างกายที่ไม่เจ็บปวด แม้จิตใจจะยังสู้ แต่ร่างกายไม่ไหว ก็ต้องปล่อยไป มีอีกหลายอย่างที่เราต้องทำก่อนตาย หาความสุข ในสิ่งที่ เราอยากทำ” 

ส่วนข้อความถึง ‘สันธนะ’ หลังศาลอาญา มีคำพิพากษาในคดีหมิ่นประมาท โรงแรมของชูวิทย์ ระบุว่า “ข้าพเจ้า ขอขมากรรมต่อท่าน ที่ได้ล่วงเกินประการใดก็ตาม ทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ทั้งตั้งใจ และไม่ตั้งใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งรู้ก็ดี ไม่รู้ก็ดี นับแต่อดีตชาติเป็นต้นไป มาจวบจนปัจจุบันชาติ…

“ขอให้อโหสิกรรม ต่างคนต่างเดิน ไป ตามทางตัวเองด้วยเทอญ อย่าได้พบเจอกันอีก ไม่ว่าชาตินี้ชาติไหน”

อย่างไรก็ตาม ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีดำ อ. 2892/2565 ที่บริษัท ต้นตระกูล จำกัด โดยนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เป็นโจทก์ฟ้องนายสันธนะ ประยูรรัตน์ เป็นจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จ, หมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา พร้อมเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท

กรณีเหตุการณ์ ระหว่างวันที่ 5-8 พ.ย.2565 ต่อเนื่องกัน จำเลยได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จและสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ต่อพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ในทำนองว่า ชั้นล็อบบี้ภายในโรงแรม เดอะเดวิส ซอยสุขุมวิท 24 กรุงเทพฯ มีกลุ่มวัยรุ่นชายหญิงประมาณ 100 คน เข้ามามั่วสุมเสพยาเสพติดในห้องน้ำชายและเปิดบริการเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้จำเลยยังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายแขนงสร้างความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียงแก่โจทก์

ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 328 ให้คุก 1 ปี ปรับ 100,000 บาท แต่จำเลยไม่เคยต้องโทษมาก่อน เห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดี โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาทและลงโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อกับสื่อเป็นเวลารวม 5 วัน ติดต่อกัน

นายสันธนะ ระบุว่า ข้อหาอื่นที่ฟ้องคดีมา ศาลยกฟ้องทั้งหมด แต่ในข้อหาหมิ่นประมาท ศาลเห็นว่ามีความผิดจึงพิพากษาจำคุก 1 ปี รอลงอาญา 2 ปี ปรับอีก 100,000 บาท ซึ่งได้จ่ายค่าปรับไปแล้ว ส่วนกรณีที่โจทก์เรียกค่าเสียหายมา 100 ล้านบาทนั้น ศาลระบุว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าเสียหายอย่างไร จึงให้จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ 100,000 บาท แต่ตนเองยังไม่จ่ายเพราะเตรียมที่จะยื่นอุทธรณ์คดีต่อไป

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สร้างอาชีพ สร้างชีวิต มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพแก่สตรีแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือด้อยโอกาส ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกบริการฟรี

วันนี้ (10 ก.ค. 67) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายวิชิต ชินวงศ์วรกุล รองประธานกรรมการ พร้อมด้วย นางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการ นางชุติมา ตันติศิริวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการฯ นางสาวดวงชุตา ติยะพจนพรกุล ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ และ นางสาวศุภรัตน์ สมบัติเจริญไทย หัวหน้าแผนกส่งเสริมการศึกษาและอาชีพ นำทีมลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ มอบวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้แก่สตรีที่มีรายได้น้อย มีภาระหน้าที่ดูแลคนในครอบครัว เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือด้อยโอกาสทางสังคม จำนวน 20 ราย คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 398,380 บาท (สามแสนเก้าหมื่นแปดพันสามร้อยแปดสิบบาทถ้วน) 

เพื่อให้สตรีได้นำวัสดุอุปกรณ์ไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว อันเป็นการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างความสุขสู่ครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน โดยมี นางวรรณภา สุขคง รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นางสาวชนมณัฐ รอดบุญธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และนางสาวจุรีพร ภิบาลจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดศรีสะเกษ ร่วมในพิธี พร้อมกันนี้ นางสาวเนาวรัตน์ วรรณศิริ หัวหน้าแผนกหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้นำทีมหน่วยแพทย์ฯ ลงพื้นที่ให้บริการประชาชน ฟรี ประกอบด้วย บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป จ่ายยา ตรวจวัดสายตาพร้อมแจกแว่น ฯลฯ โดยมีประชาชนเข้ารับบริการเป็นจำนวนมาก ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดศรีสะเกษ

โครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อสตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อมอบวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้แก่สตรีที่มีรายได้น้อย มีภาระหน้าที่ดูแลคนในครอบครัว เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือด้อยโอกาสทางสังคม มีความรู้ความสามารถ แต่ขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพ โดยมูลนิธิฯ มุ่งหวังในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างชีวิต  ให้กับสตรีได้นำวัสดุอุปกรณ์ไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างความสุขสู่ครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป  โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวและสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี ศรีสะเกษ ขอนแก่น ลำพูนลำปาง เชียงราย และจังหวัดพิษณุโลก 

โดยตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ดำเนินการมอบวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพแก่สตรีไปแล้ว 5 แห่ง จำนวน 32 ราย คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 620,299 บาท (หกแสนสองหมื่นสองร้อยเก้าสิบเก้าบาทถ้วน)

ตลอดระยะเวลากว่า 114 ปี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ขยายขอบข่ายโครงการต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา เท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอีกในหลาย ๆ ทาง เพื่อเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ช่วยเหลือประชาชนครบวงจรในทุกๆ ด้าน ดังปณิธาน มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต ต่อไป

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมการช่วยเหลือของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ที่เฟซบุ๊ก แฟนเพจ www.facebook.com/atpohtecktung

'เฉลิม' ท้า!! ‘เพื่อไทย’ ขับพ้นพรรคตามระเบียบ หลัง 'อิ๊งค์-เศรษฐา' ไม่ปลื้ม ‘วัน’ โผล่เชียร์ 'บิ๊กแจ๊ส'

(10 ก.ค. 67) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังนายวัน อยู่บำรุง บุตรชาย ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี เพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีที่มีภาพไปร่วมติดตามผลการนับคะแนนเลือกตั้งนายกอบจ.ปทุมธานี ที่บ้านพักของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า เรื่องที่เกิดขึ้นทราบว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย รวมทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ แสดงความไม่พอใจนายวันในเรื่องนี้อย่างรุนแรง ถึงขั้นระบุว่าจะต้องหยุดทำงาน นายวันเลยทำหนังสือลาออกเองเลย

“เมื่อหนุ่ม (นายวัน) ลาออกแล้ว ผมจะอยู่ในพรรคเพื่อไทยต่อได้อย่างไร ก็เลยขอให้พรรคขับผมออกจากพรรคตามระเบียบพรรคการเมือง เพื่อจะได้ไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งขณะนี้มีพรรคการเมือง 2-3 พรรคติดต่อเข้ามาแล้ว ยืนยันว่าผมตกได้ แต่ผมต่ำไม่ได้“ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

‘ชาวเน็ต’ ถกสนั่นประเด็น ‘ห้องน้ำ’ รองรับ LGBTQIA+ จะมีได้ไหมในไทย เสียงส่วนใหญ่เห็นพ้อง หวั่นความสะอาด-ความปลอดภัย หากทำ ‘แบบรวม’

(10 ก.ค. 67) ปัจจุบันทั่วโลกเปิดกว้างมากขึ้นเกี่ยวกับ LGBTQIA+ ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยก็มีกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ รองรับกลุ่มคนเหล่านี้ เพื่อให้พื้นที่ในสังคมแก่พวกเขาอย่างทัดเทียมกัน อีกทั้งหลาย ๆ คน ก็ตระหนักถึงเรื่อง ‘เพศสภาพ’ และ ‘รสนิยมทางเพศ’ กันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเกี่ยวกับ LGBTQIA+ ก็ยังคงมีเรื่องให้ถกเถียงอยู่เป็นระยะ ล่าสุดเรื่อง ‘ห้องน้ำ’ ก็กลายเป็นที่พูดถึง หลังมีคนจุดประเด็นเรื่อง ‘ห้องน้ำไม่แบ่งเพศจะเป็นไปได้ไหมในสังคมไทย?’

โดยอ้างอิงจาก Sukha Thesis (สุขาธีสิส) อดีตกลุ่มนักศึกษาที่เคยโด่งดังจากการทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับห้องน้ำสำหรับ LGBTQIA+ ซึ่งจะแบ่งห้องน้ำออกเป็น 4 ประเภท

1. อนุญาตให้เข้าตามเพศสภาพได้ เป็นห้อง ‘น้ำชาย-หญิง’ ตามเดิม แต่อนุญาตให้ทรานส์เข้าตามเพศสภาพได้
2. ห้องน้ำห้องที่ 3 มีห้อง ‘น้ำชาย-หญิง’ ตามเดิม แต่เพิ่มห้องที่ 3 มาคั่นกลาง สำหรับ ‘LGBTQIA+’
3. ห้องน้ำเฉพาะ แบ่งสัดส่วนชัดเจน สร้างห้องน้ำหลาย ๆ ห้อง แบ่งเฉพาะเพศ เช่น ห้องน้ำสำหรับเกย์, ห้องน้ำสำหรับทรานส์
4. ห้องน้ำรวม (All Gender) ใช้ร่วมกันได้ทุกเพศ มองที่ฟังก์ชั่นการใช้งานของห้องน้ำ คือ ห้องน้ำเป็นแค่สถานที่มาปลดทุกข์, ทำความสะอาดร่างกาย

ทั้งนี้ ความคิดเห็นส่วนใหญ่มองว่า ห้องน้ำรวม (All Gender) สร้างความลำบากใจมากที่สุดหากเกิดขึ้นจริง โดยหลายคนยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่ไปต่างประเทศ บางคนก็กระอักกระอ่วนใจที่ต้องเข้าไปภาพของเพศอื่นกำลังใช้ห้องน้ำ และกังวลเรื่องความปลอดภัย

บ้างก็กังวลเรื่องความสะอาด หากเป็นห้องน้ำรวม สุขภัณฑ์ชายต้องไม่เรียงติดกัน ซอยเป็นห้อง ผนังกั้นต้องจากพื้นถึงเพดาน มีประตูมิดชิด

ซึ่งในประเทศไทย ห้องน้ำแบบที่ 1 และ 2 นั้น เรียกได้ว่าเป็นห้องน้ำที่มีอยู่เป็นปกติ หลาย ๆ ครั้งที่เราจะเห็นทรานส์เข้าห้องน้ำหญิง บางคนก็เลือกใช้ ‘ห้องน้ำคนพิการ’ หรือที่สากลเรียกว่า ‘Universal toilet’ (ห้องน้ำสำหรับทุกคน)

สตม. รวบหนุ่มไต้หวันหัวหมออยู่เกินวีซ่า ปลอมใบรับรองแพทย์หลอกกลุ่มแรงงานข้ามชาติในไต้หวัน ตุ๋นเงินสวัสดิการรัฐไปนับล้าน

ตามนโยบายของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ สตม. สกัดกั้น ตรวจสอบ ระดมจับกุมคนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจผิดกฎหมายในประเทศไทย รวมทั้งให้ดำเนินการตรวจสอบ ชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ในขณะที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ หรือ กลุ่มคนร้ายข้ามชาติที่เข้ามา แฝงตัวอยู่ก่อเหตุ หรือโดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการกระทำความผิด 

ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม., พล.ต.ท.ชูฉัตร ธารีฉัตร ผทค.พิเศษ ตร. รรท.รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ประพันธ์ศักดิ์ ประสานสุข ผบก.สส.สตม., พล.ต.ต.ประสาธน์ เขมะประสิทธิ์ ผบก.ตม.1, พ.ต.อ.รัฐโชติ โชติคุณ รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.ภาณุภาคยณ์ จิตต์ประยูรตี รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.สุรศักดิ์ สุรินทร์แก้ว รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.กีรติศักดิ์ ก้องเกียรติศิริ รอง ผบก.ตม.5 ปฏิบัติราชการ บก.ตม.1, พ.ต.อ.ชิตเดชา สองห้อง รอง ผบก.สส.ภ.7 ปฏิบัติราชการ บก.สส.สตม., พ.ต.อ.ชูวงษ์ อุทัยสาง ผกก.ปอพ.บก.สส.สตม., พ.ต.อ.รัฐพงศ์ แก้วยอด ผกก.4, พ.ต.อ.กาจภณ ปฐมัง ผกก.สส.บก.ตม.1 ร่วมแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหารายสำคัญ ดังนี้  

สตม. รวบหนุ่มไต้หวันหัวหมออยู่เกินวีซ่า ปลอมใบรับรองแพทย์หลอกกลุ่มแรงงานข้ามชาติในไต้หวัน ตุ๋นเงินสวัสดิการรัฐไปนับล้าน กก.สส.บก.ตม.1 ได้รับแจ้งเบาะแสจากสายลับว่าพบเห็นชายสัญชาติไต้หวันพักอาศัยอยู่ซอยแจ้งวัฒนะ 10 ถ.แจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ สงสัยว่าจะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย จึงได้สืบสวนหาข่าวจนทราบว่าชายชาวไต้หวันดังกล่าวคือ MR.WEI CHIA-MING (นามสมมติ) อายุ 53 ปี ซึ่งการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้สิ้นสุดแล้ว และได้ประสานงานกับ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย

เพื่อตรวจสอบประวัติพบว่า MR.WEI CHIA-MING มีประวัติก่ออาชญากรรมในความผิดฐานฉ้อโกงเงินของรัฐบาล โดยการปลอมแปลงเอกสารใบรับรองแพทย์ของบุคคลอื่นและแอบอ้างเป็นทนายความเพื่อเบิกเงินสวัสดิการประกันสังคม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานคนไทยที่เคยไปทำงานที่ไต้หวัน มูลค่าความเสียหายกว่า 1 ล้านบาท แล้วได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย กก.สส.บก.ตม.1 จึงเฝ้าติดตามสืบสวนหาข่าวจนทราบเบาะแสว่า MR.WEI CHIA-MING ได้แอบมาหลบซ่อนตัวอยู่กับหญิงไทยในย่านหลักสี่ กรุงเทพฯ จึงได้วางแผนจับกุม จนกระทั่งพบ MR.WEI CHIA-MING ที่บริเวณกลางซอยแจ้งวัฒนะ 10 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ จึงได้จับกุมในข้อหา เป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด นำตัวส่งพนักงานสอบสวน กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.สตม. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ขอนแก่น - งานสัมมนา ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2567

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ได้จัดงานสัมมนาประจำปี 2567 หัวข้อ “แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไร ให้ยั่งยืน” เมื่อเวลา 08.30 -12.00 น. วันอังคารที่ 9 กรกฏาคม 2567 ณ ห้อง Convention 2-3 โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งประกอบด้วย ภาคธุรกิจ ภาคเกษตร สถาบันการเงิน การศึกษา หน่วยงานราชการ และประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ได้รับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสาน ตลอดจนรับฟังมุมมองเกี่ยวกับหนี้เกษตรกรซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดรั้งการพัฒนาภาคเกษตรและเศรษฐกิจอีสานโดยรวม เพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด มีประสิทธิผล และยั่งยืน โดยงานสัมมนาแบ่งเป็น 5 ช่วง ในช่วงแรกได้รับเกียรติจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวสุนทรพจน์ ในหัวข้อ “การเงินกับความกินดีอยู่ดีของคนอีสาน” เป้าหมายสุดท้ายของการดำเนินนโยบายของ ธปท. คือ ความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชน โดยความกินดีอยู่ดีมีองค์ประกอบ 2 เรื่อง คือ 1) รายได้ต้องเพียงพอกับรายจ่ายโดยรวม ถ้าดูภาพรวมประเทศ ศักยภาพไทยเดิมเคยโต 4-5% ช่วงหลังโตช้าลงอยู่ที่ 3% จากปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้รายได้สูงไม่พอ นอกจากนี้ การเติบโตของรายได้แรงงานจะช้ากว่าการเติบโตกำไรบริษัท สะท้อนการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง ทั้งในแง่ครัวเรือนและภายในกลุ่มธุรกิจเองก็ไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะครัวเรือนอีสาน รายได้โตช้า ไม่พอสำหรับรายจ่าย เราจึงเห็นครัวเรือนอีสานพึ่งพาเงินช่วยเหลือมากที่สุด เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรที่มีรายได้ก้อนใหญ่เพียงรอบเดียวต่อปี 2) หนี้สินต้องน้อยกว่าทรัพย์สิน ครัวเรือนไทยมีภาระหนี้สูง โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงถึง 90.8% ในไตรมาส 1 ปี 2567 และที่น่าเป็นห่วงคือหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ได้สร้างรายได้ เช่น หนี้ส่วนบุคคลและหนี้บัตรเครดิต หากดูรายจ่ายเทียบกับรายได้ที่มาจากการทำงาน จะเห็นว่า ครัวเรือนอีสานมีปัญหารายจ่ายสูงกว่ารายได้มานานแล้ว และปัญหาหนักขึ้น สะท้อนจากส่วนต่างระหว่างรายจ่ายกับรายได้ที่ถ่างขึ้น สิ่งที่ตามมา คือ หนี้ แม้จะแก้หนี้ที่มีอยู่ได้ แต่ปัญหาจะไม่จบ เพราะจะมีหนี้ใหม่เพิ่มเข้ามาต่อเนื่อง สะท้อนว่าการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนต้องแก้ให้ครบวงจร ต้องแก้ปัญหาทั้งรายได้ และรายจ่ายด้วย ธปท. จึงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทุกด้าน โดยมี 3 แนวทางที่จะนำไปสู่ความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน ได้แก่ 1) ด้านรายจ่าย หน้าที่ ธปท. ดูแลเสถียรภาพราคา ไม่ให้เงินเฟ้อและค่าครองชีพของคนสูงเกินไป 2) ดูแลรายได้ให้โตอย่างยั่งยืน ต้องมาจากประสิทธิภาพของแรงงาน ธปท. จึงให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเรื่องโครงสร้าง ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน การวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้ และวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินอื่น ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างโอกาสให้คน คือ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และระบบการชำระเงิน 3) แก้ปัญหาหนี้สิน ธปท. ได้มีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ช่วงโควิด ตอนนี้มีมาตรการที่เรียกว่าการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ซึ่งเป็นวิธีแก้หนี้แบบครบวงจร

ช่วงที่ 2 นำเสนอหัวข้อ “จับชีพจรความเป็นอยู่ชาวอีสาน” โดย ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สภอ. ให้ภาพแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจอีสาน (Gross Regional Product: GRP) ในปี 2567-68 ว่าจะค่อย ๆฟื้นตัวแต่อัตราการเติบโตยังต่ำกว่าประเทศ อย่างไรก็ตาม ความกินดีอยู่ดีของคนอีสานที่เป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาไม่สามารถสะท้อนผ่านตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจอีสานเติบโตเฉลี่ย 4% แต่รายได้ครัวเรือนเติบโตเพียง 1% ยิ่งไปกว่านั้นครัวเรือนอีสานยังมีรายได้เฉลี่ยน้อยที่สุดในประเทศอยู่ที่ 184,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยสูงถึง 67% สาเหตุจากโครงสร้างกำลังแรงงานและเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากแรงงานอีสานส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในภาคเกษตร 53% แต่กลับสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น ดังนั้น การเข้าใจถึงความกินดีอยู่ดีของคนอีสาน จึงควรพิจารณาในมิติรายได้ครัวเรือนมากขึ้น ในด้านรายจ่าย พบว่า ภาคอีสานมีสัดส่วนการใช้จ่ายในหมวดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริโภคสูงถึง 13% ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการชำระหนี้เงินกู้ เสี่ยงโชค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งเป็นรายจ่ายที่สามารถลดได้ อย่างไรก็ดี นอกจากมิติรายได้ และรายจ่ายครัวเรือนแล้ว การที่คนอีสานจะมีความกินดีอยู่ดีจะต้องมีทัศนคติและความรู้ทางการเงินที่ดีด้วย ที่ผ่านมา ธปท. สภอ. ได้เผยแพร่ความรู้ทางการเงินผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ เสริมแกร่งการเงินกองทุนหมู่บ้าน ชวนน้องท่องโลกการเงิน รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พัฒนาชุมชน สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน ผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีทัศนคติและพฤติกรรมทางการเงินที่ดี ควบคู่กับการยกระดับรายได้ภาคเกษตรผ่านการถอดบทเรียนจากผู้ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจากการติดตามผลพบว่า เกษตรกรกว่าร้อยละ 40 มีพฤติกรรมการเงินที่ดีขึ้น

ช่วงที่ 3 นำเสนอหัวข้อ “วัฒนธรรมหนี้แบบไทย ๆ” โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายพฤติกรรมการก่อหนี้ของคนไทยว่ามีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ของคนในสังคม “วัฒนธรรมหนี้” ช่วยให้เกิดดุลยภาพเชิงสังคมภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่กระจายทางเลือกให้ทุกคนอย่างไม่เป็นธรรม หนี้จึงเป็นปลายทางของปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาหนี้นอกระบบ การแก้ปัญหาหนี้จึงต้องแก้ทั้งระบบไปพร้อมกับการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เช่น การยกระดับรายได้และสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการแข่งขันมากกว่าการออกนโยบายที่แก้ปัญหาเป็นครั้งคราว
ช่วงที่ 4 นำเสนอหัวข้อ “พาเบิ่ง พฤติกรรมการก่อหนี้ของเกษตรกรอีสาน” โดย คุณอภิชญาณ์ จึงตระกูล และคุณพรวิภา แสงศิริวิวัฒน์ ผู้วิเคราะห์อาวุโส ธปท. สภอ. ได้ฉายภาพสถานการณ์หนี้เกษตรอีสานที่น่ากังวล เนื่องจากเกษตรกรอีสานมากกว่าครึ่งเป็นหนี้เรื้อรัง ชำระได้เพียงดอกเบี้ย และมีโอกาสสูงที่จะส่งต่อมรดกหนี้ให้ลูกหลาน โดยมี 3 สาเหตุที่ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้เรื้อรัง ได้แก่ 1) รายได้และรายจ่ายไม่สอดคล้องกัน 2) มีทัศนคติทางการเงินที่อาจนำไปสู่พฤติกรรมการหมุนหนี้ การผิดนัดชำระหนี้ และการเป็นหนี้เรื้อรัง เช่น เห็นด้วยกับการกู้หนี้ใหม่ไปใช้หนี้เก่า การใช้หนี้ช้ากว่ากำหนดเล็กน้อยเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และคิดว่าการกู้เงินจากสถาบันการเงินเป็นสิทธิที่จำเป็นต้องกู้ทุกปี และ 3) นโยบายที่ไม่จูงใจให้เกิดการชำระหนี้ เช่น มาตรการพักหนี้ในอดีตที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี มาตรการพักหนี้เกษตรในปัจจุบันมีการสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ยังรักษาวินัยในการจ่ายหนี้ กล่าวคือ การชำระหนี้รอบนี้ สามารถตัดเงินต้นได้ทันที เนื่องจากรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยให้ จึงเป็นโอกาสที่เกษตรกรจะปลดหรือลดหนี้ได้ แต่การใช้ชื่อมาตรการพักหนี้อาจทำให้เกษตรกรยังคงเข้าใจแบบเดิมได้ ทั้งนี้ ผลการศึกษาชี้ว่าการสื่อสารข้อมูลให้เกษตรกรรับรู้และเข้าใจข้อดีของการชำระหนี้มากขึ้นผ่านช่องทางเครือข่ายทางสังคมท้องถิ่น (Social Network) ที่เกษตรกรมีความคุ้นเคยไม่ว่าจะเป็น ผู้ใหญ่บ้าน ร้านค้าในชุมชน และคนในชุมชนที่ชาวบ้านเชื่อถือ (Local Influencer) สามารถกระตุ้นให้เกษตรกรมีพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดีขึ้นได้ ในช่วงสุดท้าย เป็นการเสวนาหัวข้อ “แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไร ให้ยั่งยืน” ผ่านการเสวนากับผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์  คุณจักรพงษ์ เมษพันธุ์ (โค้ชหนุ่ม) ผู้ก่อตั้งและโค้ชการเงินของ The Money Coach และคุณพสธร หมุยเฮบัว เกษตรกรและผู้ใหญ่บ้านนักพัฒนา บ้านแฝก-โนนสำราญ จ.นครราชสีมา โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นผู้ดำเนินรายการ จากการเสวนาสรุปประเด็นสำคัญ แนวทางการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรให้เกิดความยั่งยืนได้ 4 ข้อ ดังนี้ 1) เพิ่มรายได้ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ปัจจุบันได้เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ผ่านการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ เช่น การทำนาหยอดแทนนาหว่านที่สามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้จริง แต่ยังขาดปัจจัยสนับสนุนที่จะนำไปสู่การขยายผลในวงกว้าง 2) ความรู้และทัศนคติทางการเงิน แม้จะสำคัญแต่อาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเปลี่ยนความรู้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมด้วย เริ่มจากการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย เพื่อให้รู้กำไรหรือขาดทุน รวมทั้งการจัดสรรรายได้ก้อนใหญ่รายปีจากการทำเกษตรให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายรายเดือน และกันเงินสำหรับเป็นเงินทุนในการเพาะปลูกรอบถัดไปก่อนนำไปใช้จ่ายอย่างอื่น อีกทั้งควรเปลี่ยนทัศนคติด้านการเงินที่ไม่ถูกต้อง เช่น การกู้ยืมเงินเพื่อไปใช้หนี้เก่าเป็นเรื่องปกติ หรือการมีหนี้ติดตัวดีกว่าการเอาทรัพย์สินไปขายเพื่อชำระหนี้ 3) การสร้างกลไกที่เหมาะสม ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงนวัตกรรมเพื่อยกระดับการผลิตได้ง่ายขึ้น เช่น เกษตรกรที่นำเทคโนโลยีมาใช้สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้ หรือเข้าถึงสินเชื่อลีสซิ่งดอกเบี้ยต่ำสำหรับเกษตรกรที่ซื้อเครื่องจักรมาใช้เพื่อยกระดับการผลิต 4) นโยบายภาครัฐ ควรเป็นตัวกลางช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกษตรช่วยเหลือตนเองได้ เอื้อให้เกิดความยั่งยืนในภาคเกษตร เช่น นโยบายการปล่อยกู้ไม่ให้เกินศักยภาพของเกษตรกร ไม่สร้างภาระหนี้เกินความจำเป็น รวมถึงออกแบบนโยบายในการกระตุ้นให้เกษตรกรมีพฤติกรรมการชำระหนี้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น “นโยบายธนาคารใกล้บ้าน” และ “ชำระดีมีโชค”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top