รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (18) : ‘รองพีร์’ กับการแก้ปัญหา ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ #1 ตรึงราคา ‘ค่าไฟฟ้า’ อย่างต่อเนื่อง เพื่อความเหมาะสม และเป็นธรรม
(16 มี.ค. 68) ‘ราคาพลังงาน’ เป็นปัญหาที่หมักหมมเรื้อรังมาอย่างยาวนาน โดยที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐอย่างเช่นกระทรวงพลังงานซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบแทบจะไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้เลย ‘ราคาพลังงาน’ สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติโดยรวมในทุก ๆ มิติ อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง จนกระทั่งเรื่องของความมั่นคง ฯลฯ นับวัน ปัญหาจาก ‘ราคาพลังงาน’ ก็ยิ่งส่งผลกระทบกับสังคมไทยมากยิ่ง และเมื่อประเทศเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ภาครัฐจึงต้องเริ่มปล่อยมือจากรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค อาทิ การบทบาทในการผลิตไฟฟ้าด้วยการลดการลงทุนสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แล้วอนุญาตให้เอกชนเข้ามาทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าแทน เพื่อนำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้จ่ายลงทุนในด้านอื่น ๆ แทน
อีกทั้งยังมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานซึ่งเป็นองค์กรอิสระมาทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการไฟฟ้าทั้งระบบ ดังนั้นรับมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่ผ่านมาส่วนใหญ่จึงปล่อยให้สถานการณ์ ‘ราคาพลัง’ เป็นไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งแปลง่าย ๆ ว่า “ปล่อยให้ ‘ราคาพลังงาน’ เป็นไปตามยะถากรรม” และใช้กลไกเดิม ๆ ที่มีอยู่เข้าจัดการ เช่น “กองทุนน้ำมัน” ในการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม (LPG) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและส่งผลกระทบอย่างสำคัญของค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนคนไทย (จนปัจจุบัน “กองทุนน้ำมัน” ติดลบไปแล้วร่วมหนึ่งแสนล้านบาท) อีกทั้งการแปรรูป ‘การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย’ รัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าบริหารจัดการธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซของชาติ จนกลายเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ จึงทำให้ต้องสูญเสียจุดยืนในการเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของรัฐ แทนที่จะดำเนินกิจการเพื่อเป็นการให้บริการในลักษณะที่สามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทยได้ กลายเป็นบริษัทเอกชนที่ต้องให้ความสำคัญกับประโยชน์ขององค์กรอันได้แก่ ‘ผลกำไร’ เป็นลำดับแรก และทำให้แนวคิดตลอดจนวิธีในการดำเนินการแปลกแยกไปจากวัตถุประสงค์แรกตั้งไปโดยสิ้นเชิง ‘ราคาพลังงาน’ ในส่วนของเชื้อเพลิงพลังงานจึงกลายเป็นเรื่องที่มีการอ้างว่าเป็นไปตามกลไกของตลาดโลก จึงทำให้ชัดเจนว่า ‘ราคาเชื้อเพลิงพลังงาน’ เป็นไปตาม ‘ยะถากรรม’ อย่างสิ้นเชิง
รวมทั้งที่ผ่านมา รัฐมนตรีที่ดูแลรับผิดชอบกระทรวงพลังงานส่วนใหญ่กลับเป็นอดีตผู้บริหารของบริษัทพลังงาน ดังนั้นการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้ ‘ราคาพลังงาน’ เป็นธรรมแก่พี่น้องประชาชนคนไทยจึงกลายเป็นความยากยิ่งและถูกปล่อยปละละเลยมาโดยตลอด กระทั่งในปี พ.ศ. 2566 เมื่อ ‘รองพีร์ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เข้ามาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไม่ได้ “ปล่อยให้ ‘ราคาพลังงาน’ เป็นไปตามยะถากรรม” และใช้เพียงแต่กลไกเดิม ๆ ที่มีอยู่เข้าจัดการเท่านั้น โดยได้มีการศึกษาข้อมูลตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น โดยมีความพยายามทำให้ ‘ราคาพลังงาน’ ทั้ง ‘น้ำมันเชื้อเพลิง’ และ ‘ไฟฟ้า’ ซึ่งมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยนั้น ถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรมพี่น้องประชาชนคนไทย แนวคิด “รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง” จึงได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นนโยบาย และถูกขับเคลื่อนปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
ตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่งในส่วนของการแก้ไขปัญหา ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ โดย ‘รองพีร์’ (1)ได้ผลักดันให้มีการลดค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชนจนกระทั่งสามารถตรึงราคาค่าไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องไม่ให้สูงขึ้นตามที่มีการคาดการณ์เอาไว้ และยังคงมีการตรึงราคาค่าไฟฟ้าไว้อยู่จนทุกวันนี้ แม้จะทำให้ กฟผ. ต้องแบกรับภาระหนี้ร่วมหนึ่งแสนล้านบาทก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และเพื่อไม่ให้กระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้อง (2)ได้มีความพยายามในการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool gas) เพื่อให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติในภาพรวมลดลง และเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ รวมทั้งเร่งรัดติดตามการขุดเจาะและผลิตก๊าซจากอ่าวไทยเพื่อลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ด้วยในปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของไทยกว่า 60% ใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ
ด้วย พรบ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ทำให้ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้านั้นอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทั้งหมด โดยเฉพาะค่า FT (Fuel Adjustment Charge (at the given time)) ซึ่งใช้ในการคำนวนเพื่อปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือ ‘ค่าไฟฟ้าผันแปร’ อันเป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ โดย กกพ.เป็นผู้พิจารณาปรับค่า Ft ทุก 4 เดือน นับแต่ กกพ.ชุดแรกเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่ผ่านมาต่างปล่อยให้ กกพ.เป็นผู้ดำเนินการกำหนดราคาค่าไฟฟ้า ดังนั้น ‘ค่า FT’ จึงถูกกำหนดให้เป็นไปตามเหตุและปัจจัยที่ กกพ. ได้พิจารณา แต่ ‘รองพีร์’ ได้พยายามคิดค้น แสวงหาวิธีการและมาตรการต่าง ๆ ในทุกรูปแบบเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าภายในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพลังงาน เพื่อให้ผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งรัฐและเอกชนมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุด และทำให้ค่า FT ต่ำที่สุด
ดังเช่น ค่าไฟฟ้าในงวดปัจจุบัน (มกราคม-เมษายน พ.ศ. 2568) ถ้าเป็นไปตามที่ กกพ.เสนอจะอยู่ที่หน่วยละ 5.49 บาท ซึ่ง ‘รองพีร์’ ไม่เห็นด้วย กกพ. จึงเสนอให้ราคาคงที่หน่วยละ 4.18 บาทเหมือนเดิม แต่‘รองพีร์’ ได้ขอให้ลดลงอีกหน่อยจนเหลือหน่วยละ 4.15 บาทการลดอัตราค่าไฟฟ้าจริงจึงอยู่ที่หน่วยละ 1.34 บาท ไม่ใช่ 3 สตางค์ตามที่เข้าใจกัน ซึ่ง ภาระดังกล่าวถูกผลักให้ ‘กฟผ.’ ต้องรับผิดชอบ โดยพี่น้องประชาชนคนไทยเป็นหนี้ ‘กฟผ.’ เพราะ ‘กฟผ.’ เรียกเก็บค่าไฟฟ้าต่ำกว่าต้นทุนของตัวเองจากนโยบายของรัฐที่จะไม่ให้พี่น้องประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้ามากจนเกินไป แต่จำเป็นทยอยใช้หนี้ดังกล่าวคืนให้กับ ‘กฟผ.’ เพื่อไปใช้หนี้คืนอีกทอดหนึ่ง ทำให้เกิดสมการที่ใช้ในการเก็บ ‘ค่าไฟฟ้าผันแปร’ ว่าจะต้องเก็บเท่าไรเพื่อที่ ‘กฟผ.’ จะมีเงินเพื่อนำไปใช้หนี้ตามข้อเสนอของกกพ.ตามแนวทางที่ได้กล่าวมา ซึ่ง ‘รองพีร์’ ตัดสินใจเสนอให้มีการยืดหนี้แล้วจ่ายบางส่วน ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยรับภาระน้อยกว่าที่กกพ.ได้เสนอมา และในขณะเดียวกัน ‘กฟผ.’ เองก็จะมีเงินเพื่อนำไปชำระหนี้จำนวนหนึ่ง และเมื่อมีโอกาสที่สามารถทำให้ต้นทุนลดลงได้อีก ‘กฟผ.’ จึงค่อยเรียกเก็บ ‘ค่า FT’ เพิ่มจากพี่น้องประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อมาเฉลี่ยใช้หนี้ดังกล่าวในอนาคตต่อไป
