Sunday, 4 May 2025
GoodsVoice

‘รมว.สุชาติ’ กระตุ้น SMEs มอบรางวัลให้บุคคลต้นแบบ ผู้สร้างแรงบันดาลใจ เผย!! ‘ไทย’ มีศักยภาพพร้อมแข่งขันในตลาดใหญ่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ไกลทั่วโลก

(24 ส.ค. 67) ที่ ทรู ไอคอน ฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงาน 'Thailand Trade Exponential Fest 2024' ซึ่งจัดขึ้นโดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD ว่า “วันนี้ผมได้รับมอบหมายจากท่านภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้มาเป็นประธานในการเปิดงาน 'Thailand Trade Exponential Fest 2024' ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทุกท่าน เป็นที่ทราบกันดีว่าธุรกิจ SME มีส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งธุรกิจ SME คิดเป็น 99.5 เปอร์เซนต์ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด เป็นแหล่งรองรับการจ้างงานกว่า 70 เปอร์เซนต์ ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ"

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์และทุกหน่วยงานในสังกัดมีหน้าที่ร่วมกันสนับสนุนและขับเคลื่อนการค้าให้เติบโต ช่วยแก้ไข ลดปัญหาและอุปสรรคให้ธุรกิจ SME โดยมีเป้าหมายหลักคือการผลักดันให้ธุรกิจ SME มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในสัดส่วนที่ โตขึ้นจาก 35.2 เปอร์เซนต์ เป็น 40 เปอร์เซนต์ ต่อ GDP ภายในปี 2570”

“ผู้ประกอบการ SME ไทยล้วนเป็นผู้ที่มีความสามารถมีศักยภาพพร้อมที่จะแข่งขันในตลาดใหญ่ได้ โดยการจัดงาน“Thailand Trade Exponential Fest 2024” ในวันนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่  ได้เข้ามาร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงการให้คำปรึกษา SME โดยเป็นการรวมพลัง ติดอาวุธและสร้างโอกาสให้ SME ไทย เพื่อขับเคลื่อนมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศ  จากวิทยากรชั้นนำของประเทศ อินฟลูเอนเซอร์ และ Key Opinion Leaders ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนและสร้างสรรค์ธุรกิจไทยให้เติบโต และการจัดงานครั้งนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถเป็นแรงกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้ SMEs ไทยสามารถสร้างธุรกิจให้เจริญก้าวไกลและสามารถส่งออกไกลไปทั่วโลก” นายสุชาติฯ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับงานนี้ ผู้ประกอบการ SMEs รุ่นใหม่ได้รับฟังประสบการณ์ตรงจากรุ่นพี่ที่ประสบผลสำเร็จในการทำธุรกิจกว่า 20 ชีวิต, Soft power ของไทย 6 หนุ่ม วง PROXIE, โค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ จากมันนีโค้ช, ศรุต ทับลอย Game Director ผู้สร้างเกม Home Sweet Home นักแสดงซีรีส์ที่มีกระแสที่โด่งดังไกลไปทั่วเอเชีย, เอิร์ท พิรพัฒน์ วัฒนเศรษสิริ, มิกซ์ สหภาพ วงศ์ราษฎร์ - จิรพิสิษฐ์ รุจน์เจริญ นักธุรกิจรุ่นใหม่ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ 'กางเกงแมวโคราช', ธีระพงศ์ ระบือธรรม ผู้ผลิตยาดมหงส์ไทย, ธี ศิวโรจณ์ คงสกุลผู้กำกับซีรีส์สืบสันดาน, แก๊ป ธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุล นักแสดงซีรีส์สืบสันดาน และทิป มัณฑิตา จินดา Founder & MD of Digital Tips ที่จะมาเป็น Expert ให้คำปรึกษา SME โดยเป็นการรวมพลัง ติดอาวุธและสร้างโอกาสให้ SME ไทย เพื่อขับเคลื่อนมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ ITD ได้ถ่ายทอดสดภาพและเสียงผ่านระบบแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับชมทั่วประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Hybrid Business Matching การนำเสนอสินค้าหรือแผนธุรกิจบนเวทีสดๆ และมีการจัดเตรียมผู้ซื้อที่เป็นนักธุรกิจจากต่างประเทศ เป็นหนึ่งใน Business Matching ที่ไม่ควรพลาด และ SME Virtual Clinic on Stage ที่ ITD ภูมิใจนำเสนอกับกิจกรรมที่ให้ผู้ประกอบการ SME ขอรับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญผ่านแพลตฟอร์ม ITD Expert Anywhere โดยหน้าบริเวณงานยังมีตัวอย่างแบรนด์สินค้า SMEs ที่ประสบความสำเร็จของออกบูธมากกว่า 20 ร้านค้าอีกด้วย

'สุริยะ' แจงปมแนวคิด 'ซื้อคืนรถไฟฟ้า-ลุยจ้างเอกชนเดินรถ' หวังให้รัฐมีอิสระในการกำหนดนโยบาย โดยเฉพาะ 20 บาทตลอดสาย

(26 ส.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแนวคิดการซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้าจากภาคเอกชนคืนกลับมาเป็นของรัฐบาลว่า แนวคิดดังกล่าวกระทรวงคมนาคมได้ทำการศึกษาอยู่แล้ว โดยศึกษาจากต่างประเทศหลาย ๆ ประเทศ เพื่อให้รัฐบาลสามารถควบคุมอัตราค่าโดยสาร สอดคล้องนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาลที่ต้องการลดค่าครองชีพด้านการเดินทางให้กับประชาชน

ทั้งนี้ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ยึดสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าโดยไม่คำนึงถึงสัญญาที่จัดทำไว้กับเอกชน ผู้ประกอบการแต่อย่างใด โดยจะยึดถือสัญญาที่ได้ทำไว้กับเอกชนเป็นหลัก แต่ยังเป็นเพียงแนวคิดที่รัฐบาลอาจจะพิจารณาถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการซื้อ คืนระบบการเดินรถที่เอกชนได้ลงทุนไป รวมถึงสิทธิ์ในส่วนการให้บริการเดินรถตามสัญญาที่รัฐบาลได้ทำไว้กับเอกชนกลับคืนมา ซึ่งรัฐบาลจะยังคงจ้างเอกชนรายเดิมเป็นผู้เดินรถต่อไป อย่างไรก็ตาม จะทำให้รัฐบาลมีอิสระในการกำหนดนโยบายในเรื่องอัตราค่าโดยสาร และสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายได้โดยไม่กระทบกับสัญญาสัมปทานเดิม

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมเตรียมหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาถึงแนวทางที่จะสามารถดำเนินการผ่านการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) โดยยึดภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการดังกล่าว และนำรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ส่งเข้ากองทุนฯ ที่จะจัดตั้งขึ้น เพื่อสนับสนุนในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น รวมถึงยังเป็นการแก้ปัญหาจราจรจิดขัดอีกด้วย

สำหรับรูปแบบการซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้านั้น จะเจรจาร่วมกับเอกชนเพื่อปรับสัญญาสัมปทานจากรูปแบบ PPP Net Cost หรือเอกชนได้รับสิทธิ์ในการลงทุน ระบบเดินรถ และให้บริการเดินรถ พร้อมทั้งเป็นผู้จัดเก็บรายได้ รวมถึงจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลงในสัญญา โดยเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบ PPP Gross Cost ที่ภาครัฐเป็นผู้จัดเก็บรายได้เองทั้งหมด และรัฐชดเชยค่าใช้จ่ายลงทุนระบบเดินรถใน ส่วนที่เอกชนได้ลงทุนไปในระบบเดินรถคืนให้บริษัทเอกชนคู่สัญญาและรัฐจะจ้างเอกชนคู่สัญญารายเดิมเป็นผู้ให้บริการเดินรถจนกว่าสัญญาสัมปทานเดินจะสิ้นสุดลง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะไม่กระทบกับสัญญาของเอกชนอย่างแน่นอน

“ข้อเท็จจริงของแนวคิดเป็นเพียงต้องการจะสื่อให้เห็นว่า เป็นการทำเพื่อแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน โดย ประชาชนจะได้รับบริการรถไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง สอดคล้องกับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในทุกสีทุกเส้นทาง และเมื่อราคาค่าโดยสารถูกลง มั่นใจว่า จะมีผู้โดยสารมาใช้มากขึ้น ดังเช่น สายสีแดง และสายสีม่วงที่ได้มีการลดราคาไปแล้ว ซึ่งก็จะทำให้ส่งผลถึงสภาพการจราจรในถนนตามแนวเส้นทางนั้น ๆ ก็จะติดขัดน้อยลง โดยผมขอยืนยันอีกครั้งว่า ไม่ได้เป็นการยึดสัมปทานคืนจากเอกชนแต่อย่างใด แต่เป็นการซื้อคืนระบบเดินรถและสิทธิ์การเดินรถ แล้วจ้างเดินรถ โดยเปลี่ยนสัญญาจากรูปแบบ PPP Net Cross เป็น PPP Gross Cost ซึ่งประชาชนได้ประโยชน์ ผมอยากสร้างความเชื่อมั่นว่า เราไม่ได้ไปยึดสัมปทาน อาจจะมีการตีความผิด เพราะถ้าพูดแบบนั้น ต่อไปใครจะกล้าเข้ามาลงทุนกับรัฐอีกในอนาคต” นายสุริยะ กล่าว

‘เคทีซี’ รวมพลังพนักงานจิตอาสาจัดกิจกรรม ‘ภาพนี้ให้คุณยายหัวใจฟู’ ‘ส่งต่อ-เสริมสร้าง’ ความสุขแก่ผู้สูงอายุไร้ที่พึ่ง เนื่องในเดือนแห่งวันแม่

(26 ส.ค. 67) บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ 'เคทีซี' เปิดเผยถึงแนวทางในการให้ความสำคัญกับการร่วมพัฒนาบุคลากรและดูแลคนไทยในสังคมให้มีความสุขทั้งกายและใจ และเมื่อประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ จึงได้จัดกิจกรรม 'ภาพนี้ให้คุณยายหัวใจฟู' เพื่อส่งต่อกำลังใจและความห่วงใยเนื่องในเดือนแห่งวันแม่ โดยได้นำพนักงานเคทีซีจิตอาสาเดินทางไปเยี่ยมและทำกิจกรรมสร้างความผ่อนคลายให้กับผู้สูงอายุไร้ที่พึ่งกว่า 60 ชีวิต ณ สถานสงเคราะห์หญิงชราไร้ที่พึ่ง บ้านสุทธาวาส เฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดนครนายก

กิจกรรม 'ภาพนี้ให้คุณยายหัวใจฟู' เริ่มต้นด้วยการที่พนักงานเคทีซีชวนคุณยายร่วมกันวาดภาพระบายสีเพื่อทำการ์ดอวยพร ซึ่งช่วยส่งเสริมสมาธิและผ่อนคลายจิตใจ โดยพนักงานจิตอาสาของเคทีซีได้เรียนรู้การวาดภาพจาก ครูอ๋อ พิศิษฐ์ เอกสินสมบูรณ์ พนักงานเคทีซีที่เกษียณอายุและผันตัวเองเป็นครูสอนศิลปะเต็มตัว เพื่อมาถ่ายทอดการวาดภาพระบายสีแบบง่าย ๆ ให้กับคุณยาย และยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่นกับเหล่าผู้สูงวัยอีกด้วย 

ในขณะที่คุณยายเองได้ฝึกกล้ามเนื้อและคลายความเหงาไปกับกิจกรรมในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นและเพลิดเพลินกับมินิคอนเสิร์ตโดยวงเคทีซี อะคูสติกจากพนักงานจิตอาสา พร้อมรับประทานอาหารว่างและมอบเครื่องใช้อุปโภคบริโภคที่จำเป็น ซึ่งผู้บริหารและพนักงานร่วมกันบริจาคและนำมามอบให้กับมูลนิธิฯ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระและเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับผู้สูงอายุภายใต้การดูแลของมูลนิธิฯ 

นางสาวปิยะสุดา แคว้นนนทรีย์ ผู้บริหารสูงสุด สายงานทรัพยากรบุคคล 'เคทีซี' หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "การได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสุขและผ่อนคลายความกังวลให้ผู้สูงอายุผ่านกิจกรรม 'ภาพนี้ให้คุณยายใจฟู' เป็นหนึ่งพันธกิจที่เคทีซีให้ความสำคัญในการช่วยเหลือสังคมในมิติต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีส่วนร่วมเป็น 'ผู้ให้' ในกิจกรรมต่าง ๆ ตามความถนัดและความสนใจ นอกเหนือจากการส่งเสริมให้พนักงานพัฒนาเสริมทักษะตนเองในด้านต่าง ๆ และหวังว่าโครงการนี้จะมีส่วนช่วยเติมรอยยิ้มและเสริมสร้างกำลังใจที่แข็งแรงให้กับผู้สูงอายุไร้ที่พึ่งอีกทางหนึ่ง และยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนเคทีซีในการทำความดีและทำประโยชน์เพื่อสังคมต่อไป" 

นางสาวปิยฉัตร วงศาโรจน์ ผู้จัดการส่วนดูแล สถานสงเคราะห์หญิงชราไร้ที่พึ่ง บ้านสุทธาวาส เฉลิมพระเกียรติฯ เผยว่า "บ้านสุทธาวาส เฉลิมพระเกียรติฯ ดำเนินการช่วยเหลือดูแลที่พักพิงให้แก่หญิงชราที่ยากไร้ โดยได้รับความเห็นชอบให้เป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ ซึ่งได้เปิดรับคุณยายท่านแรกตั้งแต่ปี 2557 จวบจนปัจจุบันเป็นเวลากว่า 10 ปี  โดยกิจกรรม 'ภาพนี้ให้คุณยายหัวใจฟู' ที่ทางเคทีซีได้จัดขึ้นนี้ เป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มความสุขและความอบอุ่นให้กับผู้สูงอายุในมูลนิธิฯ อย่างมาก การได้รับการสนับสนุนจากเคทีซีเป็นสิ่งที่มีค่าและสำคัญในการช่วยดูแลและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุในมูลนิธิฯ ได้เป็นอย่างดี"

โดยคุณยายบ้านสุทธาวาสฯ ได้เผยถึงการเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ว่า "รู้สึกดีใจมากที่มีหน่วยงานหรือองค์กรให้ความสำคัญ มีคนมาหาและทำกิจกรรมด้วยกัน รู้สึกอบอุ่นหัวใจ มีกำลังใจ ขอบคุณทุกคนที่ทำให้วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันที่มีความสุขมาก"

 

'ราชตฤณมัยสมาคมฯ' ประกาศลุย Entertainment Complex 2 แสนล้าน ดึงดูด 'ต่างชาติท่องเที่ยว-เสริมสร้าง ศก.-ช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียน'

(26 ส.ค. 67) ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า นายปฐวี สุรินทร์ กรรมการบริหารราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงการลงนามในเอ็มโอยูกับกลุ่มนักลงทุนที่จะเข้ามาร่วมทุน ‘The Royal Siam Haven’ เรียบร้อยแล้ว ส่วนพื้นที่ที่จะใช้ในการจัดทำโครงการนั้นขอยังไม่เปิดเผยรายละเอียด เพราะเป็นพื้นที่ใหญ่มาก

แผนการลงทุน 'The Royal Siam Haven' ครั้งนี้ถูกเปิดเผยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 ในการประชุม วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2567 ในวาระครบรอบ 108 โดยมี พลเอกจำลอง บุญกระพือ ประธานกรรมการอำนวยการราชตฤณมัยสมาคมฯ ซึ่งมีสมาชิกสามัญประจำปี 2567

ที่ประชุมได้เปิดตัวโครงการ Entertainment Complex มูลค่าการลงทุนกว่า 2 แสนล้าน ด้วยแนวคิดทันสมัยเข้ากับธุรกิจบันเทิงและการท่องเที่ยวเพื่อเชิญชวนให้ชาวต่างชาติมาท่องเที่ยวเสริมสร้างเศรษฐกิจและเม็ดเงินหมุนเวียน โดยมีแนวคิดที่สอดคล้องกับโลกยุคปัจจุบันในชื่อ 'The Royal Siam Haven'

ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีการเปิดตัว Project แบบครบวงจร World Class ระดับเอเชียซึ่งจะเป็นทั้งสนามม้าแห่งใหม่ที่เป็นสนามม้าเพื่อการแข่งขันระดับสากล โรงแรมระดับ 6 ดาว สนามกอล์ฟที่กว้างขวาง ยอร์ชคลับ ภัตตาคารหรู โรงละคร โรงพยาบาล การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ศูนย์การเรียนรู้ และกิจกรรมกีฬาและบันเทิงอื่น ๆ อีกมากมายเพื่อความสมบูรณ์แบบ

การเปิดตัวภายในงานมีนักลงทุนจากทั่วโลกมาร่วมประชุมปรึกษาหารือพร้อมทั้งร่วมลงทุนภายในโครงการ The Royal Siam Haven ทั้งนี้การดำเนินงานดังกล่าวมีภาคเอกชนเป็นหลักในการขับเคลื่อนโครงการภายใต้ชื่อ บริษัท Royal Sport Complex จำกัด หรือ RSC ซึ่งเป็น Partner ร่วมกับราชตฤณมัยสมาคมฯ 

โครงการ The Royal Siam Haven ถือเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ ทั้งยังเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ของสนามม้าไทยสู่มาตรฐานสากล

GAC Aion Hyper เปลี่ยนชื่อเป็น HYPTEC โชว์หรูด้วยประตูปีกนก จัดเต็มทุกเทคโนโลยี

‘HYPER’ แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าระดับไฮเอนด์ ได้ประกาศการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ ด้วยการเปลี่ยนชื่อแบรนด์ใหม่เป็น HYPTEC และไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนชื่อแบรนด์เท่านั้น แต่เป็นการปรับปรุงภาพลักษณ์และกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ครอบคลุมมากขึ้น สะท้อนถึงการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่มุ่งเน้นเทคโนโลยีล้ำสมัยและการขยายตัวในตลาดโลกอย่างมีนัยสำคัญ

>>ความหมายและแรงบันดาลใจของ HYPTEC

การเปลี่ยนชื่อแบรนด์จาก HYPER เป็น HYPTEC เกิดจากการศึกษาวิจัยตลาดและความต้องการของลูกค้าทั่วโลกอย่างละเอียดลึกซึ้ง ชื่อ ‘HYPTEC’ ถูกออกแบบมาเพื่อสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการในยุคดิจิทัลอย่างเต็มที่ โดยชื่อแบรนด์มีที่มาจาก ‘Hyper’ สื่อถึงความสุดยอดและความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และ ‘Technology’ สื่อถึงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่เพียงแค่หรูหรา แต่ยังล้ำหน้าด้วยคุณสมบัติทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่โดดเด่น

HYPTEC ตั้งเป้าที่จะเป็นสัญลักษณ์ของ ‘Hyper Technology Life’ เพื่อมอบประสบการณ์การขับขี่และเทคโนโลยีที่เหนือระดับให้กับผู้บริโภคทั่วโลก โดยมุ่งมั่นในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการเทคโนโลยีที่ทันสมัยและความสะดวกสบาย ทั้งในแง่ของการใช้งานและความรู้สึกที่ได้รับจากการขับขี่

>>‘สีส้ม HYPTEC’ สัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่

เพื่อเป็นการสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ HYPTEC ยังได้เปิดตัวสีแบรนด์ใหม่คือ ‘สีส้ม HYPTEC’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพลังงานและความสดใส สีนี้ถูกเลือกมาเพื่อสะท้อนถึงการเริ่มต้นใหม่และการมองไปข้างหน้า นอกจากนี้ สีส้ม HYPTEC ยังหมายถึง ‘สิ่งดี ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น’ ซึ่งเป็นการสื่อถึงพลังบวกและความมั่นคงในอนาคต

สีส้ม HYPTEC ยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อผู้บริโภคและตลาดโดยรวม โดยสีดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำในระดับสากล และเป็นสัญลักษณ์ของการเดินหน้าสู่ความสำเร็จในอนาคต
ขับเคลื่อนด้วยการวิจัยและพัฒนา

หนึ่งในจุดแข็งของ HYPTEC คือความมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า ซึ่งไม่เพียงแต่จะตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบัน แต่ยังเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต ในระยะเวลาเพียงสองปี HYPTEC ได้ก้าวข้ามข้อจำกัดและความท้าทายหลายประการในวงการยานยนต์ไฟฟ้า โดย HYPTEC ได้คิดค้น วิจัย และพัฒนา มอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยี ‘นาโนคริสตัล-อโมฟอร์ม’ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เพิ่มระยะทางการเดินทางได้ถึง 100 กิโลเมตรต่อการชาร์จ รวมถึงเทคโนโลยีแบตเตอรี่ Magazine Battery 2.0 ที่มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล HYPTEC OS ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการขับขี่ในทุกสถานการณ์ 

HYPTEC ยังมีการปรับปรุงในด้านการสร้างประสบการณ์การขับขี่ที่หรูหราและทันสมัย รถยนต์ไฟฟ้าของ HYPTEC ไม่เพียงแค่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ในตลาด แต่ยังถูกออกแบบให้มีความหรูหราสูงสุด ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่เพียงต้องการรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังต้องการรถยนต์ที่สามารถสะท้อนถึงสถานะและรสนิยมของตนเอง

การพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้ทำให้ HYPTEC สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอระยะทางการขับขี่ที่ยาวนาน การชาร์จที่รวดเร็ว หรือการสร้างประสบการณ์การขับขี่ที่ล้ำสมัย HYPTEC ได้รับการยอมรับในฐานะแบรนด์ที่สามารถสร้างความประทับใจและความพึงพอใจสูงสุดให้กับผู้บริโภค

>>เปิดตัวสู่ตลาดโลก

HYPTEC ไม่ได้มองเพียงแค่การสร้างชื่อเสียงในตลาดภายในประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นที่จะขยายไปยังตลาดโลกอย่างจริงจังและยั่งยืน บริษัทได้วางแผนในการเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการเปิดตัวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทย และ อินโดนีเซีย) และจะขยายตลาดไปยังภูมิภาคตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ และยุโรป โดยมุ่งเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ HYPTEC จะเข้าร่วมงาน Paris Motor Show ถือเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญที่ HYPTEC จะได้นำเสนอแบรนด์สู่ตลาดภูมิภาคยุโรป เพื่อแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นอกจากนี้ยังเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของ HYPTEC ในการสร้างชื่อเสียงและขยายตลาดในระดับโลกอย่างมีนัยสำคัญ

>>จาก HYPER สู่ HYPTEC ก้าวสู่อนาคตแห่งเทคโนโลยี

การเปลี่ยนชื่อแบรนด์จาก HYPER เป็น HYPTEC ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนชื่อเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ใหม่ที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการขยายตัวในตลาดโลก HYPTEC จะยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุดเพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่เหนือระดับในทุก ๆ การขับขี่ ด้วยความตั้งใจที่จะนำเสนอเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีคุณภาพสูงสุดให้กับผู้บริโภคทั่วโลก ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก HYPTEC มุ่งหวังที่จะสร้างความประทับใจและความพึงพอใจสูงสุดให้กับผู้บริโภค และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

สำหรับลูกค้าที่สนใจรถยนต์ไฟฟ้า AION รถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะที่มาพร้อมกับฟีเจอร์และเทคโนโลยีอัจฉริยะระดับโลก สามารถเข้าไปทดลองขับได้ที่ศูนย์บริการ AION ทั่วประเทศ และสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Website : https://www.aionauto.com/
Facebook : https://www.facebook.com/AIONthailand
Instagram : https://www.instagram.com/aion_thailand/
X (Twitter) : https://x.com/AION_TH
Tiktok : https://www.tiktok.com/@aion_thailand
เลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เลือกแพลตฟอร์ม EV AION

‘ILINK’ พบนักลงทุน โชว์รายได้ครึ่งปีแรกแตะ 3.3 พัน ลบ. พร้อมปักธงครึ่งปีหลัง ดันทุกธุรกิจเติบโตตรงตามเป้า

(27 ส.ค. 67) คุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ หรือ ILINK ร่วมนำเสนอให้ข้อมูลสรุปผลประกอบการบริษัทฯ ประจำไตรมาส 2/67 ภายในงานบริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน (Opportunity Day) จัดโดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ สำหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมานั้น ทั้ง 3 ธุรกิจ ทำฟอร์มดี ไม่มีตก รักษาอัตรากำไรขั้นต้นให้โตแกร่งไปพร้อมกับทำรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สะสมรายได้รวมครึ่งแรกของปี 67 อยู่ที่ 3,318.66 ล้านบาท กำไรสุทธิโต 379.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 62.93 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 19.86% โดยมี อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 11.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ก้าวหน้าตามความคาดหมาย ซึ่งเป็นผลที่สืบเนื่องจากการขับเคลื่อนของทั้ง 3 ธุรกิจ โดยใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังดำเนินอยู่ในแต่ละส่วนธุรกิจ จึงทำให้สามารถสร้างผลงานไว้ได้บรรลุผลตามเป้าหมาย มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งมีแนวโน้มจากการเติบโตผ่านการลงทุนอย่างต่อเนื่อง พร้อมความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในนวัตกรรมที่ต้องการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยที่ในอนาคตจะสามารถส่งต่อให้การเติบโตของ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ในช่วงครึ่งปีหลังสืบเนื่องความยั่งยืนได้อย่างก้าวกระโดดต่อไป

ขณะที่การขับเคลื่อนของธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ ทำรายได้ในไตรมาส 2/67 จากการขาย 6 เดือนแรก รวมอยู่ที่ 1,500.59 ล้านบาท ทำกำไรครึ่งปีแรกรวม 165.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.03 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 4.44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยังคงเป็นธุรกิจหลักที่ทำรายได้เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง จากโลกที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคอุตสาหกรรม ยุคแห่งการสื่อสาร และยุคพลังงาน จึงผลักดันให้แวดวงของเทคโนโลยีด้านสายสัญญาณต้องมีการเปลี่ยนแปลง อีกทั้ง อิทธิพลของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย นับว่า LINK® AMERICAN CABLING และ 19" GERMANY EXPORT RACK นี้ เข้ามาตอบโจทย์ และเป็นแนวทางเปิดโอกาสให้ธุรกิจจำหน่ายสายสัญญาณจากแบรนด์ชั้นนำระดับโลก เป็นแรงหนุนชั้นดีจากปัจจัย อันได้แก่ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นโยบายพลังงานแสงอาทิตย์ และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ 

ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดถึงแนวโน้มการเติบโต คู่กับความโด่ดเด่นต่อเนื่องเรื่องการดำเนินงาน ที่จะทำให้ธุกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ ทำตัวเลขเชิงบวกได้อย่างเป็นรูปธรรม และคาดว่ากลุ่มธุรกิจนี้ จะยังเติบโตรับรายได้จากยอดขายที่ล้นทะลัก และทำกำไรเพิ่มขึ้นได้อีกในครึ่งปีหลังนี้

ในด้านของธุรกิจวิศวกรรมโครงการ ดำเนินการโดยบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เน้นการประมูลโครงการภาครัฐที่สำคัญ ๆ และมีเทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ โครงการเคเบิลใต้น้ำแรงสูง และโครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งกลุ่มธรุกิจนี้ประสบความสำเร็จจากการอาศัยหลักความเชี่ยวชาญ และการมีประสบการณ์ที่เหนือกว่า นำมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับหน่วยงานภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่มากมาย และยังได้รับการรับรองจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และหน่วยงานสำคัญอื่น ๆ ที่การันตีได้จากผลงานอันโดดเด่นอย่างต่อเนื่องที่ทำให้รับรู้รายได้รวม 6 เดือนแรก จากผลประกอบการไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 462.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.77 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 7.13% มีกำไรสุทธิรวมรวม 53.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.31 ล้านบาท หรือ โตถึง 52.02% 

ในขณะที่อัตรากำไรสุทธิ ครึ่งแรกของปี 11.57% เพิ่มขึ้น41.91% ซึ่งมีรายได้รวมประจำไตรมาส 2/67 พุ่งแรง 282.69 ล้านบาท รับกำไรโตสำหรับงวดของไตรมาสนี้ 27.52 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยที่ธุรกิจนี้ ในครึ่งปีหลังคาดการณ์จะมีแนวโน้มเติบโตเพิ่ม และได้รับแรงหนุนดีขึ้นจากการลงทุนของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ร่วมกับต้องการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่กลุ่มธุรกิจนี้สามารถสร้างความประทับใจไว้ให้กับหลายหน่วยงาน และได้รับความเชื่อถือจากองค์กรชั้นนำของประเทศได้อย่างดีเยี่ยม พร้อมกันนี้ คาดว่าจะมีโครงการที่ได้รับสัญญาต่อเนื่องระหว่างปี 2567 - 2568 เพื่อเติม Backlog ให้แข็งแกร่ง นำทัพธุรกิจนี้เติบโตไปตามเป้าหมาย

สำหรับธุรกิจของ บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม หรือ ITEL ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับโทรคมนาคมและดาต้าเซ็นต์เตอร์ เผยตัวเลขครึ่งแรกของปี 67 กวาดรายได้ 1,355.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.56% พร้อมทำกำไรครึ่งปีแรก 160.88 ล้าน เพิ่มขึ้น 30.49% โดยทำอัตรากำไรสุทธิครึ่งปีแรก 11.87% เพิ่มขึ้น 13.90% ซึ่งเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 มี Backlog 2,253.00 ล้านบาท คาดรับรู้รายได้ที่มั่นคง และเปิดตัวโครงการใหม่ นับว่าธุรกิจนี้ เริ่มเห็นภาพที่มีการเติบโตอย่างมาก ผลจากความต้องการบริการข้อมูลความเร็วสูงที่เพิ่มขึ้น ITEL ได้สร้างชื่อเสียงในฐานะผู้เล่นหลัก ในการเป็นผู้ให้บริการสายเคเบิลใยแก้วนำแสง สำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคม รวมทั้ง ITEL ยังได้ใช้จุดแข็ง และขยายเครือข่ายใยแก้วนำแสง เพื่อรองรับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนอย่างต่อเนื่อง มั่นใจครึ่งปีหลังจากนี้ คว้ากำไร พร้อมทำรายได้ รับกำไรจากการเป็นผู้เล่นหลักบนเส้นทางธุรกิจนี้ได้สำเร็จ ดั่งการขึ้นแท่นครองแชมป์ด้านนี้ตามเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ 

“นับว่าทุกธุรกิจในเครือของ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ประสบความสำเร็จทั้งรายได้ และกำไรนั้น เป็นผลจากหลักการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยนำจุดแข็งที่เป็นความเชี่ยวชาญ และเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งนับว่าเป็นที่ยอมรับจากการใช้งานจริง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศทั่วโลก ที่เชื่อมั่นในคุณภาพ และศักยภาพของทุกธุรกิจที่ทำให้มีแนวโน้มผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปีเป็นเชิงบวก ตรงตามการวางแผนเป้าหมายไว้ โดยครึ่งปีหลังมั่นใจ ภาพรวมทั้ง 3 ธุรกิจ เตรียมความพร้อมมาดี และสามารถปรับตัวดีขึ้นได้อีกจากเดิม ปักธงชัดเร่งเครื่องแรง ผลักดันเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ให้ก้าวทันยุคสมัย เตรียมรับมือกับตัวเลขแห่งความสำเร็จ เห็นผลยอดขาย ทำรายได้ และสร้างกำไรแตะจุดสูงสุดกว่าที่เคยมีตามที่คาดการณ์ไว้ได้แน่นอน” คุณสมบัติ กล่าวเสริมตอนท้าย

'ฮาร์เลย์-เดวิดสัน' ดึง 3 รุ่นดัง ย้ายฐานมาผลิตในไทย เริ่มปี 2025 ท่ามกลางเสียงต่อต้าน การเสียเอกลักษณ์แบรนด์ 'เมดอินอเมริกา'

(27 ส.ค.67) เว็บไซต์เดลีเมลรายงานว่า 'ฮาร์เลย์-เดวิดสัน' (Harley-Davidson) ได้เปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า บริษัทจะย้ายฐานการผลิตรถมอเตอร์ไซค์จำนวนหนึ่งไปยัง 'ประเทศไทย' ซึ่งได้สร้างความกังวลต่อคนในพื้นที่รัฐวิสคอนซินว่าอาจจะทำให้เกิดการเลิกจ้างงานตามมา ในขณะที่หลายคนแสดงความไม่พอใจว่าแบรนด์ไอคอนนิกที่ขึ้นชื่อในความภูมิใจเรื่อง 'เมดอินอเมริกา' มาตลอด จะไม่ใช่แบรนด์ที่ผลิตในประเทศแล้ว

โฆษกของฮาร์เลย์-เดวิดสันยืนยันในแถลงการณ์ว่า บริษัทจะย้ายการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ 3 รุ่น ไปผลิตในต่างประเทศเป็นการชั่วคราวเริ่มตั้งแต่ปี 2025 โดยรถทั้ง 3 รุ่นเป็นกลุ่มเครื่องยนต์ Revolution Max ที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์หลักของแบรนด์ ได้แก่รุ่น Pan America, Sportster S และ Nightster

อย่างไรก็ตาม บริษัทระบุว่าการย้ายการผลิตดังกล่าวจะเป็นเพียงการย้ายชั่วคราวเท่านั้น และเป็นเพียงแค่รุ่นปี 2025 เท่านั้น และบริษัทยังมีแผนจะลงทุนเพิ่มอีก 9 ล้านดอลลาร์ในโรงงานหลายแห่งที่สหรัฐอเมริกาด้วย

"การโยกย้ายครั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสำหรับรถรุ่น Grand American Touring และรถรุ่นอื่นๆ ที่ถือเป็นหัวใจหลักของแบรนด์ เช่น รุ่น Softail และ Trike ที่โรงงานในเมืองยอร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย "โฆษกของฮาร์เลย์-เดวิดสัน ระบุพร้อมเผยต่อว่า...

"การเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อการจ้างงานในโรงงานที่สหรัฐฯ"

อย่างไรก็ตาม บรรดาพนักงานในพื้นที่และสหภาพแรงงานของฮาร์เลย์-เดวิดสันต่างยังคงแสดงความกังวลและไม่เห็นด้วย โดยสหภาพแรงงาน The International Association of Machinists & Aerospace Workers (IAM) ระบุว่ารู้สึกเหมือน "ถูกแทงข้างหลัง" โดยถูกทรยศด้วยการย้ายฐานการผลิตดังกล่าวไปต่างประเทศ แล้วส่งกลับมาขายในประเทศให้ผู้บริโภคชาวอเมริกัน 

"การประกาศล่าสุดของฮาร์เลย์-เดวิดสันที่จะโยกย้ายงานและตำแหน่งงานของเราไปยังประเทศไทย สร้างความผิดหวังอย่างมากให้คนงานชาวอเมริกันและยังเป็นการทรยศต่อชื่อเสียงที่สั่งสมมาในฐานะอเมริกัน ไอคอน”

ก่อนหน้านี้ในปี 2019 ฮาร์เลย์-เดวิดสันเคยประกาศย้ายฐานการผลิตจักรยานยนต์สำหรับตลาดจีนออกจากสหรัฐมาไทย เพื่อหนีการรีดภาษีรถสัญชาติอเมริกันจากจีน โดยปัจจุบันโรงงานในประเทศไทยตั้งอยู่ที่ จ.ระยอง  

‘OR’ ร่วมพัฒนาพื้นที่บริเวณสำนักงานใหญ่ ‘ไปรษณีย์ไทย’ จัดตั้ง ‘ศูนย์บริการธุรกิจ-สถานีบริการพลังงานทางเลือก-สวนป่ายั่งยืน’

(27 ส.ค. 67) นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR และ ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัดร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการศูนย์บริการธุรกิจไปรษณีย์ สถานีบริการพลังงานทางเลือก และสวนป่ายั่งยืน ในบริเวณพื้นที่สำนักงานใหญ่ของไปรษณีย์ไทย โดยมีนายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ OR และ นายพิษณุ วานิชผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานพัฒนาประสิทธิภาพองค์กร และรักษาการในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจองค์กร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 อาคารไปรษณีย์ไทย สำนักงานใหญ่ ถนนแจ้งวัฒนะ

นายดิษทัต กล่าวว่า "ความร่วมมือกับไปรษณีย์ไทยในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญยิ่งในการร่วมกันพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหมาะสมที่สุด ทั้งในแง่ของภาพลักษณ์ การดำเนินธุรกิจ และประโยชน์ต่อชุมชน โดย OR จะให้การสนับสนุนด้านพลังงานทางเลือก ได้แก่ การให้บริการ EV Charger และการติดตั้ง Solar Cell บนหลังคาเกาะจ่าย อาคารไปรษณีย์ และอาคารร้านค้า ซึ่งที่ผ่านมา OR ได้ให้ความสำคัญในการปรับทิศทางการดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านทาง platform ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งเครื่องชาร์จ EV Station PluZ หรือการสร้างสถานีบริการต้นแบบแห่งอนาคต ‘Green Station’ ซึ่งใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดผ่านการใช้พลังงานจาก Solar Rooftop เป็นต้น"

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่าเพื่อตอกย้ำกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจความยั่งยืน ‘ESG + E’ ตามกรอบนโยบายของบริษัทฯ ล่าสุดไปรษณีย์ไทยได้ทำความร่วมมือกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เพื่อร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่บริเวณสำนักงานใหญ่ของไปรษณีย์ไทย ในการจัดตั้งโครงการศูนย์บริการธุรกิจไปรษณีย์ สถานีบริการพลังงานทางเลือก และสวนป่ายั่งยืน โดยภายในโครงการจะประกอบด้วยอาคารศูนย์บริการธุรกิจไปรษณีย์ โดยมีสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (EV Charger) สถานีบริการน้ำมัน ซึ่งมีความพิเศษที่มีจำนวนแท่นชาร์จมากกว่าสถานีบริการน้ำมันอื่น ๆ อีกทั้งยังมีสถานีสลับแบตเตอรี่ (Swap Battery)ร้านกาแฟร้านจำหน่ายสินค้า และสวนสุขภาพ ทั้งนี้ อาคารภายในโครงการอาจมีการพิจารณานำระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) มาใช้เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้งานร่วมกันระหว่าง ไปรษณีย์ไทย กับ OR มีความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ และประโยชน์ต่อชุมชน

“ไปรษณีย์ไทยตอกย้ำภาพลักษณ์แบรนด์สื่อสารและขนส่งหลักของชาติที่จะเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ที่เข้าใจคนรุ่นใหม่ เข้าถึงทุกเจนเนอเรชัน ทุกช่วงชีวิต โดยปัจจุบันได้พัฒนาหลากโซลูชันให้ทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลง เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ การจับมือกับ OR ในการจัดตั้งโครงการศูนย์บริการธุรกิจไปรษณีย์ สถานีบริการพลังงานทางเลือก และสวนป่ายั่งยืน เพื่อเป็นสถานที่สำหรับให้คนมานัดพบปะ นัดเพื่อน ใช้บริการสะดวก คล่องตัว สิ่งสำคัญคือการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานทั้งในส่วนของระบบการขนส่ง รวมถึงสำนักงานที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีการนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในระบบงานไปรษณีย์ในระยะแรกจำนวน 250 คัน ในพื้นที่นครหลวงและภูมิภาค และมีแผนที่จะติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (SOLAR PV ROOFTOP) ที่อาคารไปรษณีย์ไทยสำนักงานใหญ่ สำนักงานไปรษณีย์นครหลวง สำนักงานไปรษณีย์เขตศูนย์ไปรษณีย์ ให้ได้ 60% ภายในปี 2573 และครบทั้งหมด 100% ภายในปี 2583”

โครงการนี้ จึงไม่เพียงแต่จะเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างคุ้มค่า แต่ยังเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลดีต่อชุมชนและสังคมโดยรวม และยังเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจให้กับทั้งสององค์กร โดยการผสานจุดแข็งของแต่ละฝ่ายเข้าด้วยกัน อีกทั้ง ยังสอดคล้องกับแนวทาง OR SDG โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน ‘GREEN’ ที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ครอบคลุมตลอดทั้งการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment) ซึ่งตอบโจทย์เป้าหมาย OR 2030 อย่างมีประสิทธิภาพ

EA เคลียร์หนี้ระยะสั้นได้หมด เร่งจัดหาแหล่งเงินทุน พร้อมไปต่อยานยนต์ไฟฟ้า-น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน

 

EA เคลียร์หนี้ระยะสั้นหมด ขอบคุณผู้ถือหุ้นกู้ทุกคนและสถาบันการเงินทุกแห่งที่เชื่อมั่นในศักยภาพ พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ - น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนเพิ่มสภาพคล่องในการทำธุรกิจ เร่งเดินหน้าหาแหล่งเงินทุน เจรจา Strategic Partner 
ที่มีศักยภาพพร้อมเติบโตต่อเนื่อง

(28 ส.ค. 67) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ได้มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 12 รุ่น รวมวงเงินทั้งสิ้นประมาณ 24,000 ล้านบาท การประชุมกับผู้ถือหุ้นกู้ที่จัดขึ้นครั้งนี้เพื่อเป็นการขอให้ยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของหุ้นกู้รุ่นอื่นที่เป็นข้อกำหนดสิทธิ โดยในที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้โหวตยินยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ส่งผลให้บริษัทสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ระยะสั้นได้จบทั้งหมด พร้อมเดินหน้าดำเนินธุรกิจตามแผนที่วางไว้ 

โดยในรายละเอียดการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ที่จัดขึ้นนี้เพื่อพิจารณาวาระ“การขอผ่อนผันให้ (1) การเปลี่ยนแปลงวันครบกำหนดไถ่ถอนตั๋วแลกเงิน ระยะสั้นรุ่น EA24723A และ EA24801A และ (2) การขอขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ EA248A และ EA249A รวมถึงการเสนอปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย การให้หลักประกันและการเข้าทำสัญญาใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อ 11.1 (ญ) ของข้อกำหนดสิทธิ” โดยแบ่งการประชุมเป็น 4 กลุ่ม ช่วงเช้าและบ่าย ในช่วงเช้าเป็นการประชุมผู้ถือหุ้นกู้  รุ่น EA249A EA269A EA289A มีผู้ถือหุ้นกู้ร้อยละ 97.5 ได้ลงมติอนุมัติเห็นด้วย และมีเพียงร้อยละ 2.5  ไม่เห็นด้วย และในช่วงบ่ายเป็นการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 3 กลุ่มด้วยกันดังนี้ กลุ่มที่ 1 รุ่น EA257A,  มีผู้ถือหุ้นกู้ร้อยละ 100.00 ได้ลงมติอนุมัติเห็นด้วย กลุ่มที่ 2 รุ่น EA259A, EA279A, EA299A, EA329A มีผู้ถือหุ้นกู้ร้อยละ 63.79 ได้ลงมติอนุมัติเห็นด้วย และมีเพียงร้อยละ 36.21 ไม่เห็นด้วย และกลุ่มที่ 3 EA261A, EA281A, EA301A, EA331A มีผู้ถือหุ้นกู้ร้อยละ 61.19 ได้ลงมติอนุมัติเห็นด้วย และมีเพียงร้อยละ 38.81 ไม่เห็นด้วย 

การจัดประชุมครั้งนี้ถึงแม้จะไม่สามารถจัดแบบ Hybrid แต่ก็ได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ถือหุ้นสามารถเข้ามาร่วมประชุมที่สถานที่จัดประชุมและสอบถามข้อกังวลได้

นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน (CFO) ของ EA กล่าวว่า “ขอขอบคุณผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่นที่ให้ความร่วมมือและไว้วางใจลงมติอนุมัติให้บริษัทเดินหน้าต่อไป ขอขอบคุณสถาบันการเงินทุกแห่งที่เกี่ยวข้อง วันนี้ EA เคลียร์ปัญหาหนี้ได้ ช่วงเวลาต่อจากนี้จะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมา ด้วยธุรกิจของบริษัทยังคงดำเนินตามปกติ ผู้บริหารชุดใหม่พร้อมเดินเครื่องการทำงานเต็มที่และมั่นใจว่าจะขับเคลื่อนบริษัทให้เติบโตต่อไป”

“ก้าวต่อไปบริษัทกำลังเดินหน้าจัดหาแหล่งเงินทุนทั้งจากสถาบันการเงินในและต่างประเทศ รวมถึงกำลังเจรจาหา Strategic Partners ที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน เพิ่มศักยภาพในการชำระหนี้และพัฒนาธุรกิจ ขณะเดียวกันก็ยังดำเนินการนำรายได้ในอนาคตเข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) เสนอขายให้กับนักลงทุน คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ก็จะมีความคืบหน้าที่ชัดเจน” นายวสุกล่าวเพิ่มเติม 

“ช่วงเวลานับจากนี้เป็นช่วงเวลาของการเดินหน้าธุรกิจที่เป็นเมกะแทรนด์โลก ทั้งด้านแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าขนส่งเชิงพาณิชย์ที่พร้อมในการส่งมอบรถหัวลากไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้า รวมถึงการลงทุนโครงการใหม่ได้แก่ การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยสู่สังคมที่ไร้มลพิษตามพันธกิจของบริษัท” นายวสุกล่าวทิ้งท้าย

40 ปีบางจากโรงกลั่น-น้ำมันแลกข้าว สู่ธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน ตั้งเป้าปี 2023 โต 10 เท่าตัว

เป็นเรื่องที่น้อยคนนักจะทราบว่า ‘บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)’ จะมีจุดเริ่มต้นจาก ‘พลเอกเปรม ติณสูลานนท์’ 

เมื่อ พ.ศ. 2527 รัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีมติอนุมัติให้จัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาบริหารงานโรงกลั่นที่มีอยู่แล้ว  

จึงได้จัดตั้ง บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (ชื่อในขณะนั้น) ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายปิโตรเลียมแห่งชาติ โดยได้มีการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2527 โดยมี ‘เกษม จาติกวณิช’ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และโสภณ สุภาพงษ์ เป็นผู้จัดการใหญ่ 

ก่อนต่อมาในปี พ.ศ. 2533 บางจากได้ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรศรีประจันต์ จำกัด จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งสถานีบริการน้ำมันหรือปั๊มน้ำมันชุมชนแห่งแรก และมีโครงการที่โดดเด่นอย่างน้ำมันแลกข้าว ถัดจากนั้นอีก 1 ปี ‘บางจาก’ ได้เป็นรายแรกของไทยที่ผลิตและจำหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วและบางจากดีเซล 357 กำมะถันต่ำ

พ.ศ. 2558 บางจากได้พลิกโฉมผ่านการลงทุน ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และเหมืองแร่ลิเทียม ก่อนได้มีการขายเหมืองแร่ลิเทียมในเวลาต่อมาโดยมีกำไรมากกว่า 4,000 ล้านบาท

พ.ศ. 2560 ‘บางจาก’ ได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท บางจาก คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 

และใน พ.ศ. 2566 ‘บางจาก’ ประกาศดีลใหญ่ด้วยการซื้อกิจการของเอสโซ่ประเทศไทย ทำให้บางจากมีโรงกลั่นน้ำมันระดับโลก 2 แห่ง สถานีบริการน้ำมันรวมมากกว่า 2,200 แห่งขึ้นเป็นแท่นจำนวนสถานีบริการน้ำมันเป็นเบอร์ 2 ของประเทศ

เจาะกลุ่มธุรกิจในมือ ‘บางจาก’

จากรายงานประจำปีและ Opportunity Day ในไตรมาสที่ 1 พบว่า บางจากมีการดำเนินกิจการใน 6 กลุ่ม ได้แก่ 

1. ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและการค้าน้ำมันดิบ ปัจจุบันมี 2 แห่ง ได้แก่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง และโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ศรีราชาหรือโรงกลั่นน้ำมันของเอสโซ่เดิม มีกำลังการผลิตรวม 294,000 บาร์เรลต่อวันเป็นกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 

2. กลุ่มธุรกิจการตลาด มีสถานีบริการน้ำมันรวมมากกว่า 2,219 แห่ง มีส่วนแบ่งการตลาด 29 เปอร์เซ็นต์ ถ้านับเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ‘บางจาก’ จะมีปั๊มน้ำมันรวมอันดับ 1 นอกจากนี้ในกลุ่มธุรกิจนี้ยังมีร้านกาแฟอินทนิล ที่มีสาขาจำนวนมากถึง 1,020 สาขา 

3. กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด มีการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาดใน 7 ประเทศรวม มีกำลังการผลิตรวมมากกว่า 1,200 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 780 เมกะวัตต์

4. กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มีการผลิตธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพเอทานอล มีกำลังการผลิต 80 ตันต่อวัน 

5. กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ บริษัทได้มีการถือสิทธิ์โดยอ้อมในแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติและถือสิทธิ์การสำรวจปิโตรเลียมหลายแปลงผ่านสัมปทานทรัพยากรธรรมชาติในประเทศนอร์เวย์ 

6. ธุรกิจแห่งอนาคต กลุ่มนี้บางจากมี 2 ธุรกิจหลัก คือ  

ธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน หรือ SAF ธุรกิจส่วนนี้ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างโรงงานภายใต้งบประมาณ 8.5 พันล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 หากเปิดให้บริการแล้วคาดว่าจะมีกำลังการผลิตถึง 1 ล้านลิตรต่อวัน 

โดยจะมีการใช้วัตถุดิบจำพวกไขมัน จากน้ำมันเหลือใช้ น้ำมันจากสัตว์ และอื่น ๆ เพื่อผลิต HEFA เพื่อผสมกับน้ำมันเจ็ท ซึ่ง ICAO ได้รับรองให้ HEFA นำมาผสมถึง 50%

ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง (CDMO) โดย BBGI ร่วมทุนกับพันธมิตรระดับโลกอย่าง Fermbox Bio บริษัทผู้นำด้านการวิจัยและผลิตผลิตภัณฑ์ชีววิทยาสังเคราะห์ด้วยกระบวนการหมักแม่นยำขั้นสูง และก่อตั้งบริษัทร่วมทุน BBFB (BBGI Fermbox Bio) ซึ่งเป็นโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง (Precision Fermentation) เชิงพาณิชย์แห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย โดยระยะแรกจะผลิตเอนไซม์ และขยายการผลิตไปยังผลิตภัณฑ์ด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (Synbio) ที่ล้ำสมัยอื่น ๆ ต่อไป

ในเฟสแรกโรงงานมีกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ 2,000 ตันต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดแล้วเสร็จปลายปีนี้ และเริ่มผลิตช่วงต้นปี 2568 พร้อมขยายเป็นเฟสต่อเนื่องด้วยจุดแข็งคือ การมีพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่ง จะทำให้เราเติบโตในธุรกิจนี้ได้ และมีตลาดรองรับ พร้อมส่งออกไปจำหน่ายภายในภูมิภาค

เจาะลึกเป้าหมาย ธุรกิจในมือ ‘บางจาก’ ก่อนประกาศกลยุทธ์ 1 ก.ย. นี้ 

เป้าหมาย 10X New Growth Chapter 2023 คือมี EBITDA (กำไรก่อนภาษี ต้นทุนทางการเงิน ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน และขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์) ที่ 100,000 ล้านบาท จาก EBITDA เฉลี่ยในปี 2015-2021 คือช่วงปี 2558-2564 อยู่ที่ 12,000 ล้านบาท หรือโตขึ้น 10 เท่าตัว 

จากงบการเงินปี 2566 ทางบางจากมี EBITDA รวม 41,680 ล้านบาท มีที่มาของแหล่งกำไรตามกลุ่มธุรกิจ ดังนี้ 

45% Refinery and Oil Trading Business ที่ประกอบด้วยโรงกลั่น และธุรกิจการตลาดในเครือของบางจาก
43% Natural Resources จากกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติที่มีแหล่งรายได้จาก OKEA ถือสัมปทานแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในนอร์เวย์หลายแห่ง

10% Clean Power Business
2% Bio-Base Products Business

นอกจากการตั้งเป้าหมายให้ EBITDA เติบโต 10 เท่าตัวแล้ว เป้าหมายนี้ของบางจากยังจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของ EBITDA เป็น 

49% Natural Resources สัดส่วนเพิ่มขึ้น 6%
36% Refinery and Oil Trading Business ลดสัดส่วนลง 9%
8% Clean Power Business ลดสัดส่วนลง 2%
4% Bio-Base Products Business เพิ่มสัดส่วนขึ้น 2%
4% New Business กลุ่มนี้จะมีอัตรา EBITDA ถึง 4%


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top