Saturday, 3 May 2025
GoodsVoice

'ต่างชาติ' วิเคราะห์!! 'กาสิโนไทย' จะเป็นคู่แข่งรายใหญ่สุดของ 'มาเก๊า-สิงคโปร์' ชี้!! ภายในสิ้นทศวรรษ 2030 อาจโตแซงสิงคโปร์ ทั้งในแง่ 'รายได้-ความนิยม'

(3 ก.ย. 67) สำนักข่าว CNBC (ซีเอ็นบีซี) รายงานว่า ‘รัฐบาลไทย’ กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติเข้าประเทศ และกระตุ้นการใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ด้วยการออกมาตรการและนโยบายมากมาย เช่น การยกเว้นวีซ่า และยังมีอีกหนึ่งความพยายามในการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ตกเป็นข้อถกเถียงอย่างมากคือ การสร้าง ‘เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์’ (Entertainment Complex) หรือ ‘บ่อนกาสิโนเสรี’ เนื่องจากนักวิชาการบางส่วนกังวลว่า ‘กาสิโน’ อาจไม่ได้ช่วยหนุนเศรษฐกิจในระยะยาว

จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ ‘ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ....’ เมื่อเดือน ส.ค. พบ คนไทยมากกว่า 50% ไม่เห็นด้วยกับกาสิโนถูกกฎหมาย และอีก 30% เห็นด้วย และที่เหลือยังตัดสินใจไม่ได้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายมองว่ายังมีข้อกังวลและผลกระทบทางเศรษฐกิจหลายประการ

อย่างไรก็ตาม ในมุมของผู้สังเกตการณ์อุตสาหกรรมกาสิโนต่างชาติและผู้เชี่ยวชาญ มองว่า กาสิโนอาจสร้างรายได้ให้กับไทยได้มาก หนุนให้กาสิโนเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวแห่งใหม่ และประเทศไทยอาจกลายเป็นคู่แข่งรายใหญ่ที่สุดของ ‘มาเก๊า’ และ ‘สิงคโปร์’ ภายในสิ้นทศวรรษ 2030

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน มิ.ย. เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีไทยสั่งให้มีการร่างกฎหมายเพื่อทำให้ ‘เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์’ ถูกกฎหมายในไทย โดยซีเอ็นบีซี ระบุ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในการท่องเที่ยว เพิ่มการจ้างงาน และฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง และแม้ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของไทยแทนที่ ‘เศรษฐา’ แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะยังคงดำเนินการต่อไป

หยิน เชา หยาง นักวิเคราะห์จากเมย์แบงก์ อินเวสเมนต์ แบงก์ บอกว่า “สถานการณ์การเมืองไทยไม่แน่นอน แต่ไม่ได้ทำให้แผนการสร้างกาสิโนถูกปัดตก” และผลวิจัยจากเมย์แบงก์ พบว่า หากร่างกฎหมายนี้ผ่าน กาสิโนของไทยอาจสร้างรายได้มากถึง 187,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

>>กาสิโนดึงดูดนักท่องเที่ยว

เบน ลี หุ้นส่วนผู้จัดการ IGamiX Management and Consulting กล่าวว่า “ไทยได้เห็นแล้วว่าการสร้างกาสิโนส่งผลอย่างไรต่อสิงคโปร์ และเห็นอำนาจของเงินพนันในมาเก๊า ถ้าไทยทำให้มันถูกกฎหมาย อาจหนุนให้กาสิโนกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว”

ซีเอ็นบีซีระบุ การท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่การท่องเที่ยวไทยยังคงเติบโตชะลอตัว นักท่องเที่ยวที่มาเยือนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 และแนวโน้มการเติบโตอาจไม่ดีขึ้น จนกว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาท่องเที่ยวได้เต็มที่

ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนราว 28 ล้านคนในปี 2566 ซึ่งยังคงห่างไกลจากยอดนักท่องเที่ยวที่มาเยือนไทยเมื่อปี 2562 ที่ระดับ 40 ล้านคน

“ประเทศไทยเป็นยักษ์ใหญ่ด้านการท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในตลาดท่องเที่ยวของภูมิภาคที่ใคร ๆ ก็กลัว แต่ประเทศยังคงประสบกับปัญหาฟื้นเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโควิด-19” ลีกล่าว

แกรี โบเวอร์แมน ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลเชิงลึกด้านการท่องเที่ยวและลูกค้า จากบริษัทเช็ก-อิน เอเชีย กล่าวว่า “การท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการแข่งขันสูง และหลายประเทศในภูมิภาคพยายามหาวิธีวางให้การท่องเที่ยวเป็นเสาหลักของการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ” 

อย่างไรก็ดี โบเวอร์แมนมองว่า เมื่อกาสิโนถูกกฎหมายจะทำให้ไทยมีสถานะที่แข็งแกร่งมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจท่องเที่ยวของไทยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนจำนวนมาก และภาคส่วนนี้พร้อมขยายตัวได้อีก

>>ทิศทางกาสิโนไทย
คำถามส่วนใหญ่จากนักสังเกตการณ์อุตสาหกรรมกาสิโน คือ ประเทศไทยจะสร้างกาสิโนในจังหวัดใด แม้รัฐบาลยังไม่เปิดเผยจังหวัดเป้าหมายอย่างเป็นทางการ แต่นักวิเคราะห์คาดว่า ไทยอาจจะไม่ตั้งกาสิโนใจกลางกรุงเทพมหานคร

“กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่พัฒนาแล้ว และไม่มีที่ให้พัฒนามากกว่านี้ ผมไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่ายังมีที่ดินว่างในกรุงเทพฯ" หยิน จากเมย์แบงก์กล่าว และว่า กาสิโนอาจสร้างในพื้นที่ที่มีประชากรน้อย เช่น ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทยอย่าง ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่อื่น ๆ ในไทยที่เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ และพัทยา ที่คาดว่าอาจเป็นที่ตั้งของกาสิโนได้เช่นกัน

ด้าน ‘อัลแลน เซแมน’ ประธานกรรมการบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ‘หลานไกวฟง กรุ๊ป’ เผยกับซีเอ็นบีซีว่า โมเดลกาสิโนไทยไม่เหมือนกับโมเดลของมาเก๊า ซึ่งเป็นเมืองที่มีคลัสเตอร์กาสิโนอยู่รวมกันจำนวนมากเหมือนกับลาสเวกัส และตนไม่เชื่อว่า กาสิโนไทยจะประสบความสำเร็จในอนาคต

เซแมนเตือนว่า “หลายรัฐบาลชอบสร้างกาสิโนในพื้นที่ด้อยพัฒนา เพราะมองว่าจะช่วยให้เกิดการพัฒนา แต่หากคุณมีกาสิโนเพียงแห่งเดียวในเมืองที่พัฒนาแล้ว ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเช่นกัน”

ขณะที่โบเวอร์แมนจากเช็ก-อิน เอเชีย มองว่า ไทยมีแนวโน้มทำตามโมเดลของสิงคโปร์ โดยการสร้างกาสิโนพร้อมรีสอร์ตที่มีกิจกรรมสันทนาการเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่นักพนัน

“ที่มารีนาเบย์แซนด์ มีทั้งบาร์สุดอลังการชั้นบน มีสระว่ายน้ำ โรงแรม พิพิธภัณฑ์ ร้านอาหาร คนหนุ่มสาวที่ไม่ได้มาเล่นพนันก็สามารถสนุกไปกับบริการในส่วนนี้ได้”

ซีเอ็นบีซีอ้างอิงรายงานร่างกฎหมายเอ็นเตอร์แทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ระบุว่า ประชาชนคนไทยที่ต้องการเข้ากาสิโนในประเทศ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 5,000 บาท ส่วนต่างชาติอาจได้เข้าฟรี ซึ่งซีเอ็นบีซีเผยว่า โมเดลนี้มีความคล้ายกับกาสิโนในสิงคโปร์ที่คนท้องถิ่นต้องจ่ายเงินเข้ากาสิโน 150 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 4,000 บาท)

นอกจากนี้ กาสิโนของไทยยังต้องได้รับใบอนุญาตดำเนินงานอย่างถูกกฎหมายซึ่งรัฐบาลไทยอนุญาตดำเนินธุรกิจนานสุดที่ 30 ปี และมีเงื่อนไขผู้ให้บริการต้องจ่ายเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับเปิดกาสิโนครั้งแรก และจ่ายรายปีอีก 1,000 ล้านบาท

โบเวอร์แมนย้ำว่า รัฐบาลไทยอาจกำหนดให้ผู้ประกอบการสหรัฐฯ ที่ต้องการลงทุนอุตสาหกรรมกาสิโนในไทย ต้องทำงานร่วมกับบริษัทไทยด้วย เพื่อให้บริษัทในท้องถิ่นมีส่วนร่วมและได้ประโยชน์

>>กาสิโนไทยแซงหน้าสิงคโปร์?

แม้ยังไม่ชัดเจนว่าเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ของไทยจะเกิดขึ้นจริงไม่ แต่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกาสิโนหลายคนมีความคิดเห็นในทิศทางเดียวกันว่า หากไทยสร้างกาสิโนได้สำเร็จ 5 - 8 แห่งทั่วประเทศ ไทยอาจแซงหน้าตลาดกาสิโนของสิงคโปร์ได้ ในแง่ของความนิยมและรายได้ของกาสิโน แต่กาสิโนของมาเก๊าจะยังคงเป็นแหล่งกาสิโนเบอร์หนึ่งต่อไป

จากรายงานผลประกอบการของผู้ประกอบการแต่ละรายในมาเก๊า แสดงให้เห็นว่า รายได้จากกาสิโนในเมืองนี้มีมูลค่า 114,000 ล้านปาตากามาเก๊า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ขณะที่สองกาสิโนในสิงคโปร์สร้างรายได้ราว 2,530 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกัน

ลีจาก IGamiX บอกว่า “หากกาสิโนไทยถูกกฎหมาย ไทยจะมีศักยภาพแซงหน้าแหล่งการพนันอื่น ๆ ในเอเชียได้แน่นอน ยกเว้น มาเก๊า” และเสริมว่า กาสิโนไทยอาจยกระดับเทียบเท่ากาสิโนมาเก๊าได้ ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดี

'กรมเจ้าท่า' ลุย 'ท่าเรือสำราญ' 3 จังหวัด หวังดันรายได้ท่องเที่ยวทางทะเล ตั้งเป้าเป็นศูนย์รับเรือสำราญใหญ่ที่สุดในโลก ชง 'เกาะสมุย' พิกัดแรก

เมื่อวันที่ (1 ก.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ‘กรมเจ้าท่า’ ได้เริ่มว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ และได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2563 - 2566 ภายใต้แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว วงเงินรวม 156.15 ล้านบาท เนื่องจากโอกาสทางการเติบโตของการท่องเที่ยวทางทะเลผ่านเรือสำราญขนาดใหญ่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

โดยแผนพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ มีจำนวน 3 โครงการ ได้แก่

1. โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

โครงการนี้จะใช้พื้นที่ในการพัฒนาประมาณ 47 ไร่ แยกเป็นพื้นที่บนฝั่ง 15 ไร่ และพื้นที่นอกชายฝั่ง 32 ไร่ รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 12,172 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน 6,414.41 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา 5,757.19 ล้านบาท รูปแบบการลงทุนในลักษณะ PPP Net Cost โดยให้เอกชนเป็นผู้ร่วมลงทุนในการก่อสร้างและการดำเนินงานทั้งหมด โดยรัฐจะชำระค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคืนให้ในระยะเวลา 10 ปี

โดยโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2568 จนถึงปี 2604 โดยเริ่มก่อสร้างในปี 2572 และจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี  2575 ซึ่งมีระยะเวลาการให้บริการยาวนานถึง 30 ปี คาดการณ์ว่าหลังจากเปิดให้บริการจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ตั้งแต่ 200,000 ถึง 400,000 คนต่อปี และรองรับเรือสำราญได้ 240 เที่ยวต่อปี

จากการศึกษาโครงการฯ คาดว่าโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ที่เกาะสมุยจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจตลอดระยะเวลา 30 ปี ประมาณ 46,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์สูงกว่า 15%

สถานะโครงการปัจจุบันกรมเจ้าท่าได้ส่งรายงานผลการศึกษา ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาแล้ว คาดว่าจะสามารถนำโครงการเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ก่อนสิ้นปี 2567 และจะเริ่มก่อสร้างในปี 2572 เมื่อโครงการนี้เสร็จสิ้นจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพการท่องเที่ยวของประเทศไทยในระดับโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

2. โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต เพื่อรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal)

โครงการนี้จะปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตให้สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ บริเวณชายฝั่งอันดามัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2567 โดยจะดำเนินการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ด้วยการขยายความยาวหน้าท่าเทียบเรือ ขุดลอกความลึกของร่องน้ำเท่ากับ -10.5 เมตร จากระดับน้ำลงต่ำสุด หรือ -12.8 เมตร เทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง

นอกจากนี้ จะขุดลอกเพื่อขยายแอ่งกลับลำเรือให้มีความเหมาะสม ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นและติดตั้งไฟหัวเขื่อน และก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารและเครื่องมืออุปกรณ์ที่เป็นมาตรฐานของท่าเทียบเรือสำราญที่เป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port) โดยเมื่อท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตได้รับการปรับปรุงตามแผนดังกล่าว จะทำให้ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตมีศักยภาพเป็นท่าเรือแบบ Hybrid ที่เป็นทั้ง Home Port รองรับเรือ Cruise ขนาดกลางถึงเล็ก และเป็นท่าเรือแวะพัก (Port of call) รองรับเรือ Cruise ขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียที่บรรทุกผู้โดยสารได้ถึง 4,200 - 4,900 คน

3. โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณอ่าวไทยตอนบน บริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี

โครงการจะพัฒนาบริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยท่าเรือเป็นลักษณะผสมผสาน (Hybrid) โดยจะเป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port) สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1,500 คนต่อชั่วโมง และท่าเรือแวะพัก (Port of Call) จะสามารถรองรับผู้โดยสาร จำนวน 3,500 - 4,000 คนต่อชั่วโมง

อีกทั้งท่าเรือนี้จะพัฒนาให้สามารถรองรับเรือสำราญที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ รองรับเรือสำราญเข้าเทียบท่าได้พร้อมกัน 2 ลำ ความยาวท่าเทียบเรือ 300 เมตร พร้อมก่อสร้างอาคารพักผู้โดยสาร อีกทั้งจะพัฒนาที่จอดรถยนต์ เพื่อรองรับการเชื่อมต่อทางบกไปยังแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาที่จอดเรือโดยสาร และเรือเร็ว เพื่อเชื่อมต่อการท่องเที่ยวไปยังเกาะแก่งต่าง ๆ

สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้น ประเมินวงเงินลงทุนอยู่ที่ 7,412 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าลงทุนก่อสร้าง 5,934 ล้านบาท และค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) 1,478 ล้านบาท โดยกรมเจ้าท่าจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost สัญญาสัมปทาน 30 ปี คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลภายในปี 2568 ก่อนดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2569 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2572

'ดร.กอบศักดิ์' เผยข่าวดี MIT ตั้งสถาบันสอนบริหารธุรกิจในไทย เชื่อ!! ช่วยดันไทยก้าวสู่สังคมแห่งเทคโนโลยีอีกขั้นได้เร็วขึ้น

เมื่อวานนี้ (2 ก.ย.67) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

การตัดสินใจก่อตั้งสถาบัน MIT แห่งที่สองของโลกที่ประเทศไทยนั้นจะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสในหลาย ๆ ด้าน โดยจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้และการวิจัยทางด้านนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ ๆ กับนักวิจัยของไทย บริษัทไทย มหาวิทยาลัยไทย หน่วยงานภาครัฐไทย และในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ไทยและอาเซียน ตอบโจทย์สำคัญ ทำให้เราสามารถก้าวขึ้นไปบน Technological Ladder หรือก้าวขั้นบันไดของเทคโนโลยีได้เร็วยิ่งขึ้น

นับเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย เมื่อสถาบันบริหารธุรกิจเอ็มไอที สโลน (MIT Sloan School of Management) ซึ่งเป็นสถาบันสอนบริหารธุรกิจระดับโลกได้ตัดสินใจเปิดสถาบันแห่งที่สองนอกสหรัฐอเมริกา ที่ใจกลางกรุงเทพมหานครฯ ประเทศไทย ภายใต้ชื่อ ‘สถาบันบริหารธุรกิจเอ็มไอที สโลน แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (MIT Sloan Office for Southeast Asian Nations – MSAO)’ หลังจากที่ได้ถูกก่อตั้งขึ้นที่ประเทศชิลี สำหรับภูมิภาคลาตินอเมริกา เมื่อปี 2556 

โดย สถาบัน MIT ที่ก่อตั้งขึ้นในกรุงเทพฯ นั้นจะเริ่มเปิดดำเนินการในช่วงปลายเดือนตุลาคม ปี 67 ที่กำลังจะมาถึง โดยจะเป็นการเปิดตัวโดยจัดสัมมนาเรื่อง ‘Beyond Years : the Future of Longevity’ รวมทั้งมีกิจกรรมที่น่าสนใจอื่น ๆ อาทิเช่น การแสดงเทคโนโลยีใหม่, Chimate Change, เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), การทำธุรกิจในอนาคต และโอกาสทางด้านธุรกิจอีกมากมาย

'บางจาก' แทงสวน!! กระแสพลังงานยุคใหม่ เลี่ยมทอง 'ปิโตรเลียม-SAF' แง้ม!! เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน พาอนาคต 'รายได้-กำไร' พุ่ง

ในช่วงบ่ายของวันที่ (2 ก.ย. 67) ที่ผ่านมา กลุ่มบางจากได้จัดแถลงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทบางจาก 'Bangchak Group Way Forward to 2030' นำโดย นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้นำแต่ละกลุ่มธุรกิจของเครือบางจาก 

หลักใหญ่ใจความของการแถลงหนนี้ มุ่งเน้นไปที่เป้าหมายในปี 2573 ของกลุ่มบางจากที่ตั้งเป้าจะต้องมีตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่แท้จริงของธุรกิจ ซึ่งไม่รวมค่าดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในระดับทะลุ 1 แสนล้านบาทให้ได้ (เป้ารายได้รวมทะลุ 1 ล้านล้านบาท)

แผนการสู่เป้าหมายระดับนี้จะต้องทำอย่างไร ?

>> การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
หากพิจารณาจากแผนการลงทุนระหว่างปี 2568-2573 ที่ปักไว้ที่ 1.2 แสนล้านบาท จะเป็นเม็ดเงินเพื่อขยายการลงทุนในทุก ๆ กลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ โดยงบลงทุนจะมาจากกระแสเงินสดในบริษัทบวกกับการกู้เงินเข้ามาเสริมศักยภาพ

เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะในขณะที่บริษัทพลังงานอื่น ๆ เริ่มวางแผนการลงทุนสเตปต่อไป ด้วยการ 'ลด' การพึ่งพาของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะ 'น้ำมัน' แต่ 'บางจาก' กลับสวนกระแสผ่านความเชื่อที่ว่า..

“ทรัพยากรธรรมชาติ ยังคงมีความจำเป็นต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ จะต้องมีการพัฒนาผ่านการเพิ่มศักยภาพของทรัพยากรเดิม ให้สะอาดขึ้น ควบคู่กับประสิทธิภาพที่สูงขึ้น"

เมื่อปักธงเช่นนี้ บางจาก จึงเลือกขยายการลงทุนในธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ E&P (Exploration and Production) โดยปัจจุบัน OKEA ผู้ผลิตปิโตรเลียมในนอร์เวย์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบางจาก สร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ถึง 2.8 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเตรียมขยายการลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมแห่งอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยอาศัยจุดแข็งผ่านการนำองค์ความรู้จาก OKEA มาต่อยอดความสำเร็จ โดยเฉพาะการยืดอายุแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นความเชี่ยวชาญหลัก เพื่อการ 'แก้มือ' จากที่เคยลงทุนล้มเหลวกับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในประเทศอินโดนีเซียมาก่อน 

ทั้งนี้กลุ่มบางจากตั้งเป้ากับแผนการในกลุ่มธุรกิจ E&P โดยจะต้องสร้างกำลังการผลิตปิโตรเลียมทั้งจาก OKEA และกลุ่มบริษัทที่จะไปลงทุนในภูมิภาคอาเซียนนี้ให้ได้ไม่น้อยกว่า 100,000 บาร์เรลต่อวัน 

>> เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน 
อีกหนึ่งธุรกิจบางจากปักธง คือ การผลิต SAF (Sustainable Aviation Fuel) หรือ 'เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน' เพราะมองว่าในอนาคตข้างหน้า ธุรกิจการบินจะยังมีความต้องการใช้พลังงานน้ำมันอย่างต่อเนื่องต่อไป 

"ขนาดการพกพาวเวอร์แบงก์ขึ้นเครื่องบิน ยังเป็นเรื่องต้องห้าม ดังนั้นเครื่องบินที่ใช้พลังงานแบตเตอรี ก็น่าจะยังต้องใช้เวลาเดินทางอีกยาวไกล" คุณชัยวัฒน์ เปรียบเทียบให้เข้าใจ

คุณชัยวัฒน์ เผยอีกว่า ในอนาคต SAF จะมีความจำเป็นต่ออุตสาหกรรมการบิน เนื่องจากมีคุณสมบัติที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับน้ำมันอากาศยานทั่วไป สอดคล้องกับเทรนด์โลก ที่ปัจจุบันสหภาพยุโรป (EU) กำหนดให้เครื่องบินที่จะบินเข้าไปในพื้นที่จะต้องมีการผสม SAF เข้าไปในเชื้อเพลิงไม่น้อยกว่า 2% และในปี 2,593 ทาง EU กำหนดให้ต้องมีส่วนผสมของ SAF ไม่น้อยกว่า 65%

"ปัจจุบันบางจากได้มีการลงทุนสร้างหน่วยผลิตน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF) ในพื้นที่ 8.9 ไร่ ภายในพื้นที่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง ภายใต้งบลงทุน 8.5 พันล้านบาท มีกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน" คุณชัยวัฒน์ เสริม

ด้านนายธรรมรัตน์ ประยูรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบางจาก กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ให้ข้อมูลถึงความได้เปรียบของบริษัทฯ จากการที่มีโรงกลั่นน้ำมันหลักเป็นของตนเอง จะทำต้นทุนการผลิต SAF ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยได้ถึง 3 เท่า 

โดยเบื้องต้นคาดว่า หน่วยการผลิตดังกล่าวจะแล้วเสร็จในวันที่ 31 มีนาคม 2568 ซึ่งได้มีการเจรจาซื้อขายไปแล้วประมาณ 30-40% ของกำลังการผลิต 

"ปัจจุบันทางกลุ่มบางจากอยู่ระหว่างการรวบรวมน้ำมันใช้แล้ว เพื่อเป็นสต๊อกในการผลิต SAF โดยสามารถรวบรวมได้ประมาณวันละ 5 แสนลิตรจากอัตราการใช้น้ำมันพืชของไทยที่มีการใช้วันละ 3 ล้านลิตร" คุณชัยวัฒน์เสริม พร้อมทั้งยังเปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า "ในอนาคตจะต้องมีการจัดหาวัตถุดิบอย่างน้ำมันใช้แล้วในประเทศข้างเคียงด้วย"

บางจาก เผยอีกว่า สำหรับภาพรวมในไตรมาสแรกของปี 2567 โดยกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน รายงานว่ามีปริมาณการใช้น้ำมันอากาศยานอยู่ที่เฉลี่ย 16.7 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งยังไม่กลับเข้าสู่ปริมาณการใช้งานปกติแบบช่วงก่อนโควิดที่มีการใช้น้ำมันอากาศยานในไทยเฉลี่ย 20 ล้านลิตรต่อวัน และทาง บางจาก คาดว่า SAF ที่ผลิตได้จะเข้าไปเสริมในช่องว่างของปริมาณการใช้น้ำมันอากาศยานดังกล่าว 

สำหรับกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ นอกจาก E&P และ SAF ก็ยังมีอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่บางจากมีการลงทุนผ่าน บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ซึ่งมีการลงทุนโรงไฟฟ้าใน 7 ประเทศ มีกำลังการผลิต 1,183.2 MW และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 776.2 MW

โดยในกลุ่มธุรกิจส่วนนี้ บางจากได้มีการปรับกลยุทธ์ เพื่อดำเนินการพัฒนาโครงการให้แล้วเสร็จ จากนั้นจะนำระดมทุนสู่ตลาด เพื่อนำกระแสเงินสดมาลงทุนเพิ่มในพื้นที่อื่น ๆ อีก โดย BCPG ตั้งเป้าว่าจะเข้าสู่ SET50 ในปี 2573 

นอกจากในกลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิมของบางจากแล้ว อีกหนึ่งธุรกิจของบางจากที่มีความน่าสนใจ คือ ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง (Contract Development and Manufacturing Organization - CDMO) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานแห่งแรกของภูมิภาคอาเซียน โดยคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 

โดยในช่วงแรกธุรกิจนี้ จะมีกำลังการผลิต 200,000 ลิตรต่อปี ซึ่งระยะแรกจะผลิตเอนไซม์ และขยายการผลิตไปยังผลิตภัณฑ์ด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (Synbio) ที่ล้ำสมัยอื่น ๆ ต่อไป โดยมีการตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตเป็น 1 ล้านลิตรต่อปีในปี 2571

'รมว.ปุ้ย' เผยตัวเลขการผลิตน้ำตาลทรายของไทยปี 67 กำชับ!! 'สอน.' ดูแลปริมาณให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ

(4 ก.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้รับข้อมูลการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยปี 2567 จากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) โดยในฤดูการผลิตปี 2566/67 ที่ผ่านมา มีปริมาณอ้อยเข้าหีบจำนวน 82.17 ล้านตัน มีผลผลิตน้ำตาลทราย 8.80 ล้านตัน โดยในครึ่งปีแรกของปี 2567 (มกราคม - มิถุนายน 2567) ไทยใช้น้ำตาลเพื่อบริโภคภายในประเทศ 1.27 ล้านตัน แบ่งออกเป็น น้ำตาลที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม 0.52 ล้านตัน และน้ำตาลที่ใช้ในการบริโภคโดยตรง (รวมร้านยี่ปั๊วและห้างโมเดิร์นเทรด) 0.75 ล้านตัน 

โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2567 ไทยมีน้ำตาลเพื่อบริโภคภายในประเทศคงเหลือ 1.77 ล้านตัน และ สอน. ได้คาดการณ์ว่าระหว่างเดือนกันยายน - ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตถัดไป ไทยจะใช้น้ำตาลเพื่อบริโภคภายในประเทศ 0.8 ล้านตัน ซึ่งตนได้กำชับให้ สอน. ดูแลปริมาณน้ำตาลให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า สอน. ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลในการดูแลปริมาณน้ำตาลให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ โดย สอน. ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรงทั่วประเทศ รายงานปริมาณน้ำตาลคงเหลือส่งให้ สอน. เป็นประจำทุกวัน 

ปัจจุบัน ราคาขายหน้าโรงงานอยู่ที่ 21 - 22 บาท/กิโลกรัม (ไม่รวมค่าโลจิสติกส์และ VAT) ราคาขายปลีกตามห้างโมเดิร์นเทรดอยู่ที่ 27 - 28 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่เป็นไปตามกลไกการตลาดที่จะต้องมีการบวกเพิ่มค่าการตลาดและค่าบรรจุภัณฑ์

"ถือว่าเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการรักษาเสถียรภาพความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากน้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่ง สอน. จะบริหารจัดการการจำหน่ายเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าจะมีปริมาณน้ำตาลทรายเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ" นายวิฤทธิ์กล่าวปิดท้าย

'เทลสกอร์' ชี้!! ยอดรวมอินฟลูฯ-คอนเทนต์ครีเอเตอร์ไทย แตะ 9 ล้านคน ในจังหวะตลอดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ไทยขยายตัว 25-30% แตะ 4.5 หมื่นล้านบาท

(4 ก.ย.67) นางสาวสุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทลสกอร์ จำกัด เปิดเผยว่า เทลสกอร์ ได้ประเมินภาพรวมตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในประเทศไทยในปีนี้มีมูลค่าประมาณ 4.50 หมื่นล้านบาท มีการเติบโต 25-30% เนื่องจากกลุ่มลูกค้าภาคเอกชนได้มุ่งทำตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์อยู่ในระดับสูง

“ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้หลายฝ่ายประเมินว่าอาจไม่สดใสมากนัก แต่ภาคเอกชนไทยยังรุกทำการตลาด เนื่องจากการเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์และครีเอเตอร์ยังมีความสำคัญในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งภาพรวมตลาดมีการขยายตัวในระดับดังกล่าวต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว” 

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ยังทุ่มงบการตลาดระดับสูง จะเป็นกลุ่มเพื่อสุขภาพและความงาม กลุ่มไลฟ์สไตล์ และกลุ่มการเงิน ส่วนกลุ่มที่ชะลอการใช้งบจะเป็น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และรถยนต์ตามภาพรวมตลาดที่หดตัวลง 

ทั้งนี้แนวโน้มการทำตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์และครีเอเตอร์ที่มีการขยายตัวสูง โดยในประเทศไทยมีจำนวนอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ประมาณ 9 ล้านคน ส่วนในทั่วโลก จากสถิติของ Linktree ระบุว่ามีจำนวนคอนเทนต์ครีเอเตอร์ประมาณ 200 ล้านคนทั่วโลก หรือประมาณ 3% จากประชากรโลก อีกทั้ง ภาพรวมตลาด คอนเทนต์ครีเอเตอร์ในไทย มีมูลค่าประมาณ 5.5 ล้านล้านบาท

สำหรับตลาดไทยกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานมีจำนวนสูงขึ้น มีความสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียและการใช้เวลาบนโลกออนไลน์ของคนไทย ที่อยู่ในระดับสูงอันดับต้นในโลก อีกทั้ง จากการประเมินของ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ระบุว่า ประชากรไทยมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ประมาณ 89.5% และมีช่องทางโซเชียลมีเดียมากถึง 50 ล้านคน คิดเป็น 71.5% ของประชากรทั้งหมด

ทั้งนี้ บริษัท เทลสกอร์ ที่ดำเนินธุรกิจในด้านอินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้งแพลตฟอร์ม ได้ร่วมมือกับ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด จัดงาน The Mall Lifestore Presents Thailand Influencer Awards 2024 by Tellscore งานประกาศรางวัลสุดยอดอินฟลูเอนเซอร์ และสุดยอดอินฟลูเอนเซอร์แคมเปญที่ใหญ่สุดแห่งปี โดยจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 รวมทั้งสิ้น 59 สาขา

สำหรับงานจัดอยู่ในแนวคิด The Future is Yours! เพื่อร่วมแสดงถึงศักยภาพอินฟลูเอนเซอร์และนักการตลาดที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางและสร้างสรรค์อนาคตของเศรษฐกิจไทย พร้อมเน้นหาอินฟลูเอนเซอร์คุณภาพ การร่วมสร้างมาตรฐานและคอมมูนิตี้อินฟลูเอนเซอร์ของประเทศไทยให้แข็งแกร่ง

ขณะที่กำหนดการจัดงาน มีขึ้นในวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2567 ณ เอ็มซีซี ฮอลล์ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ

BDMS ขยายความร่วมมือกลุ่มเฮลท์แคร์ยักษ์ใหญ่จากรัสเซีย เพิ่มการเข้าถึงการแพทย์คุณภาพสูงระหว่างสองประเทศ

(4 ก.ย. 67) ณ กรุงมอสโก บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด มหาชน (BDMS) และ MEDSI Group ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อขยายความร่วมมือระหว่างสองผู้ให้บริการด้านสุขภาพเอกชนรายใหญ่ที่สุดของไทยและรัสเซีย ณ MEDSI Group สำนักงานใหญ่ กรุงมอสโก โดยมี มร. เอ จี โซโคลอฟ (Mr. A.G. Sokolov) ประธาน MEDSI Group และนายบุรณัชย์ ลิมจิตติ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส ส่วนการตลาดต่างประเทศ โฆษณาและประชาสัมพันธ์ของ BDMS เป็นตัวแทนลงนามในข้อตกลง

MOU ฉบับนี้ ขยายขอบเขตความร่วมมือทั้งด้านทางการแพทย์ การให้บริการคำปรึกษาทางไกล การให้บริการความเห็นที่สอง การดูแลอย่างต่อเนื่อง และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์คุณภาพสูงระหว่างทั้งสองประเทศ สำหรับผู้ป่วยชาวรัสเซียทั้งที่พำนักอยู่ในประเทศไทย และเมื่อกลับไปรัสเซีย

ในฐานะผู้ให้บริการด้านสุขภาพเอกชนรายใหญ่ที่สุดของไทย ด้วยจำนวนโรงพยาบาลในเครือฯ ถึง 58 แห่ง พร้อมคลินิกสุขภาพและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง BDMS มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยชาวรัสเซียทั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และกลุ่มนักท่องเที่ยว ด้วยมาตรฐานของเครือข่ายที่แข็งแกร่งในจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของชาวรัสเซีย ทั้งกรุงเทพฯ, ภูเก็ต, พัทยา และเกาะสมุย

นอกจากการดูแลกลุ่มผู้ป่วยที่รอการรักษาแล้ว BDMS ยังมีเครือข่ายศูนย์ช่วยเหลือฉุกเฉินเอกชนที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งหมายถึงความพร้อมทั้งด้านความต้องการทางการแพทย์เร่งด่วน และกรณีฉุกเฉินที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ผู้ป่วยจึงสามารถมั่นใจได้ว่า BDMS สามารถให้บริการได้ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดก็ตาม 

นอกจากนี้ BDMS ยังมีศูนย์เคลื่อนย้ายฉุกเฉิน (BDMS Medevac Center) ที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง โดยสามารถติดต่อได้ที่หมายเลข 1724 ซึ่งไม่เพียงแต่ดูแลประสานงานเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น แต่ยังสามารถดำเนินการส่งตัวผู้ป่วยกลับไปยังภูมิลำเนาได้ในกรณีที่จำเป็น

MEDSI Group เป็นเครือข่ายโรงพยาบาลและคลินิกเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศรัสเซีย โดยให้บริการทางด้านสุขภาพแบบครบวงจร ตั้งแต่การดูแลทางการแพทย์เบื้องต้น เคสฉุกเฉิน ตลอดจนการวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง การรักษาด้วยศัลยกรรมที่ซับซ้อน และการฟื้นฟูทางการแพทย์ MEDSI Group ประกอบด้วยโรงพยาบาลและคลินิกจำนวน 148 แห่งในประเทศรัสเซีย โดยตั้งอยู่ในกรุงมอสโกและพื้นที่ใกล้เคียงจำนวน 69 แห่ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยหลัก ศูนย์วินิจฉัยทางคลินิก คลินิกเด็ก โรงพยาบาลคลินิก คลินิกดิจิทัล SmartLab นอกจากนั้น อีก 79 แห่งตั้งอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของรัสเซีย และมีบริการให้คำปรึกษาทางไกล ปัจจุบัน MEDSI Group มีพนักงานมากกว่า 15,000 คน และมีบุคลากรทางการแพทย์กว่า 5,000 คน

'สถานทูตจีน' เผย!! บทสรุปการลงทุนในประเทศไทยช่วง 2 ปีหลัง ลงทุน 7 พันล้านเหรียญ-รายได้ท่องเที่ยวเข้าไทย 3.5 แสนล้านบาท

(4 ก.ย. 67) สถานทูตจีนประจำประเทศไทย เปิดเผยถ้อยแถลงการณ์เกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศจีนกับประเทศไทย มีทั้งหมด 5 ข้อ ระบุว่า...

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สื่อมวลชนไทยติดต่อกับสถานทูตจีนประจำประเทศไทยเพื่อสัมภาษณ์ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-ไทย โดยทางสถานทูตจีนได้รวบรวมประเด็นและตอบคำถามต่าง ๆ ที่น่าสนใจไว้ดังนี้...

1.นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันเป็นอย่างไร?

จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และเป็นตลาดหลักและประเทศที่มีอุตสาหกรรมการผลิตใหญ่ของโลก ประเทศจีนดำเนินตามยุทธศาสตร์การเปิดประเทศที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ที่สำคัญจีนมีส่วนร่วมต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ประมาณ 30% มานานกว่า 10 ปีติดต่อกัน

จีนมุ่งมั่นที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมที่มีคุณภาพสูง และเปิดกว้าง เพื่อบรรลุถึงความทันสมัยอย่างครอบคลุม โลกในปัจจุบันอยู่ในภาวะสับสนวุ่นวาย จีนยินดีที่จะเพิ่มเสถียรภาพให้กับโลกด้วยการพัฒนาอย่างสันติ และเสนอโอกาสใหม่ ๆ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของโลกด้วยการพัฒนาแบบเปิดกว้างของตัวเอง โดยทำงานร่วมกับประเทศอื่น ๆ เพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติ

2. ท่านประเมินผลความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีนอย่างไร?

จีนและไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดี เปรียบเหมือนเป็นญาติที่ดีที่มีความใกล้ชิดทางสายเลือด เป็นหุ้นส่วนที่ดีที่มีอนาคตร่วมกัน ประชาชนทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดดุจพี่น้อง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน

ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรของไทยที่สำคัญ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยมากกว่า 40% เฉพาะทุเรียนเพียงรายการเดียวก็มีมูลค่า 4,566 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา

กิจการต่าง ๆ ของจีนยังเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง จากสถิติเบื้องต้นพบว่า บริษัทจีนลงทุนในไทยมากกว่า 1,000 แห่ง โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการยื่นโครงการการลงทุน 588 โครงการ มูลค่าการลงทุนเกือบ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานใหม่ และการผลิตสมัยใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาของประเทศไทยเป็นอย่างมาก มีส่วนสนับสนุนที่สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในไทย การจ้างงาน การเก็บภาษี การฝึกอบรมบุคลากร สวัสดิการสังคม และด้านอื่น ๆ

ไทยยังเป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวจีน ก่อนการระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเยือนประเทศไทยสูงถึง 11 ล้านคน ในปีนี้ทางการไทยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะสูงถึง 8 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 350,000 ล้านบาท

จีนมีความเชื่อมั่นว่า การพัฒนาของจีนจะยังประโยชน์ให้ไทย โดยจีนยังคงตั้งเป้าหมายที่จะสร้างความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนความทันสมัยอย่างครอบคลุม จีนกลายเป็นตลาดหลักของโลก ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ไทย-จีนมีการเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการปรับปรุง แก้ไข กฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับระบบเศรษฐกิจ และการค้า เราเชื่อว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและไทย จะมีอนาคตขยายตัวมากยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองมากยิ่งขึ้น

3. ท่านมองความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างไทยและจีนในปัจจุบันอย่างไร?

การค้าระหว่างจีนและไทยมีโครงสร้างที่ชดเชยซึ่งกันและกัน เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันและได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยก่อนปี 2562 จีนขาดดุลและไทยเกินดุล แต่หลังจากปี 2563 ได้เปลี่ยนเป็นจีนเกินดุลและไทยขาดดุล เป็นผลมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจและการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป

แต่การขาดดุลหรือเกินดุลไม่สามารถมองอย่างง่าย ๆ ว่า ใครได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ สิ่งสำคัญคือ ขึ้นอยู่กับว่าการค้าที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับความต้องการ และโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ จีนมีตลาดที่ใหญ่มาก แต่ไม่เคยตั้งเป้าว่าจะต้องเกินดุลการค้ากับไทย จีนยินดีเปิดตลาดให้ไทยส่งออกไปยังจีนมากขึ้น และได้อำนวยความสะดวก ออกมาตรการการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากจากสื่อท้องถิ่นและในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าจีนมายังประเทศไทย ความจริง เกือบ 80% สินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีน เป็นสินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง ซึ่งถูกนำมาผลิต เพิ่มมูลค่า ก่อนการส่งออกในท้ายสุด

ส่วนสิ่งที่เรียกว่าสินค้าราคาถูกที่ดึงดูดความสนใจของประชาชน ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาหาร สินค้าเพื่อสุขภาพ เสื้อผ้าและเครื่องประดับ เป็นต้น ซึ่งมีสัดส่วนไม่ถึง 10% ของยอดมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีน หรืออีกแง่สินค้าเหล่านี้มีมูลค่าแค่ครึ่งเดียวของสินค้าเกษตรของไทยที่ส่งออกไปจีน โดยสินค้าเกษตรเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เสริมความต้องการของประชาชนในแต่ละประเทศ เช่น ทุเรียนไทย ส่งออกไปจีน ส่วนส้มและผลไม้เขตอบอุ่นของจีนบางชนิดส่งเข้ามาไทย

จากรายงานของสื่อ สินค้าจีนในบางส่วนมีปัญหาไม่ได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์อาหารและยาของไทย (อย.) หรือไม่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของไทย (สมอ.) รวมถึงไม่ได้มาตรฐานอื่น ๆ เป็นต้น รัฐบาลจีนเรียกร้องให้บริษัทจีนและชาวจีนดำเนินกิจการตามกฎหมาย ข้อบังคับในต่างประเทศอย่างเคร่งครัดโดยตลอด เราสนับสนุนรัฐบาลไทยให้เข้มงวดในการกำกับดูแลตามกฎหมาย แก้ไข ปราบปรามการละเมิดกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ที่ผ่านมากิจการขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอีของไทย เผชิญกับการแข่งขันจากสินค้าจีน โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อประกอบกับปัจจัยเชิงลบอื่น ๆ ทำให้กิจการเอสเอ็มอี ประสบความยากลำบาก เราตระหนักดีถึงความสำคัญของกิจการเหล่านี้ เข้าใจถึงความยากลำบากที่เกิดขึ้น เราเชื่อว่ากิจการเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุน ช่วยเหลือ และเรายินดีที่จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ช่วยเหลือ พัฒนา ภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างยั่งยืนระหว่างจีนและไทย

4. ท่านมองบทบาทของวิสาหกิจจีนในไทยต่อการพัฒนาของประเทศไทยอย่างไร?

บริษัท หัวเว่ย เป็นบริษัทไฮเทคของจีนที่เพื่อนชาวไทยคุ้นเคย เมื่อท่านเดินเข้าไปในอาคารบริษัท หัวเว่ย ในประเทศไทย จะได้เห็นข้อความสะดุดตาว่า ‘Grow in Thailand, Contribute to Thailand’ หรือ ‘เติบโตในไทย และมีส่วนช่วยเหลือประเทศไทย’ ปรากฏอยู่ในสายตา สะท้อนให้เห็นแนวความคิดร่วมกันของบริษัทจีนมากกว่า 1,000 แห่งที่มาลงทุนและตั้งโรงงานในประเทศไทย เพื่อสร้างเครือข่ายการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ในอีกด้านก็เป็นความปรารถนาดีของกิจการของจีนที่ต้องการช่วยเหลือ ยกระดับการพัฒนาของไทย ตอบสนองต่อความสัมพันธ์จีน-ไทยที่ว่า ‘จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน’

เรามั่นใจว่าการลงทุนของวิสาหกิจจีนช่วยให้ไทยพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำ 5G มาใช้เชิงพาณิชย์ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอยู่ในแนวหน้าในภูมิภาค ซึ่งทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสื่อสารและเทคโนโลยีดิจิทัลของจีนหลายแห่ง เช่น หัวเว่ย, ZTE และ China Mobile ไทยกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานใหม่และผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว จีนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและมีบทบาทสำคัญในกระบวนการการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์  มูลค่าผลผลิตรวมของนิคมอุตสาหกรรมระยองไทย-จีนมีมูลค่ามากกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 80% ของผลผลิตเหล่านั้นส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ

วิสาหกิจจีนที่มาลงทุนในไทย มุ่งมั่นที่จะพัฒนาแบบบูรณาการ เชื่อมโยงกับกิจการของไทย ในการสร้างห่วงโซ่การผลิต ห่วงโซ่อุปทานโดยใช้วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตในไทย เพื่อส่งเสริมพัฒนากิจการของคนไทย โดยสินค้าที่ผลิตและส่งออก มีการใช้ปัจจัยการผลิตของไทยมากกว่า 40% และมีการขยายสัดส่วนการใช้ปัจจัยการผลิตของไทยอย่างจริงจัง บริษัท Xinyuan Energy Thailand มีซัพพลายเออร์ในไทย 459 ราย บริษัท China Resources Thailand มีซัพพลายเออร์ในไทยมากกว่า 700 ราย และบริษัท SAIC Motor-CP มีซัพพลายเออร์ในไทยมากกว่า 100 ราย รวมถึงวิสาหกิจจีนในประเทศไทยยังปฏิบัติตามกฎระเบียบว่าด้วยใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเคร่งครัด

วิสาหกิจจีนยังช่วยเพิ่มการจ้างงานและอบรมบุคลากร ไทยยังมีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยต้องจ้างพนักงานไทย 4 คน ถึงจะยื่นขอใบอนุญาตทำงานพนักงานต่างชาติได้ 1 คน บริษัทจีนที่ลงทุนในไทยทำเกินกว่ากฎระเบียบเหล่านี้มาก สัดส่วนของพนักงานคนไทยของบริษัท SAIC Motor-CP อยู่ที่ระดับ 97.5% ของบริษัท Haier Thailand คือ 94% และของบริษัท Zhongce Rubber Thailand อยู่ที่ 92% คาดว่าบริษัทจีนได้สร้างงานกว่า 300,000 ตำแหน่ง พนักงานเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีค่าจ้างที่ค่อนข้างมั่นคง แต่ยังได้รับการฝึกอบรมทักษะที่ดี เป็นบุคลากรที่มีทักษะเพิ่มขึ้นอีกด้วย การอบรมเพิ่มศักยภาพเหล่านี้ยังเปิดกว้างให้คนไทย ให้สังคมไทยอีกด้วย บริษัทหัวเว่ยได้จัดตั้ง Huawei ASEAN Academy (Thailand) ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรการอบรมแก่คนไทยไปแล้ว 96,200 คน

วิสาหกิจจีนในไทยมีความกระตือรือร้นกับสวัสดิการสาธารณะ ดำเนินการการกุศล และสนับสนุนการศึกษาสายอาชีพ การแพทย์และการดูแลสุขภาพ เพื่อทำประโยชน์ต่อสังคมไทย ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) ให้ทุนสนับสนุนการศึกษาอักษรเบรลล์ สำหรับผู้พิการทางสายตา SANY Heavy Industry (Thailand) บริจาคทุนทรัพย์ให้กับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า Sinohydro (Thailand) บริจาคกองทุนป่าชายเลนให้กับกรุงเทพมหานคร และ Haier Thailand ให้การสนับสนุนทางการเงินก่อสร้างโรงเรียนประถมศึกษาในท้องถิ่น วิสาหกิจจีนหลายแห่งได้รับรางวัลที่มอบโดยหน่วยงานรัฐบาลไทย เช่น รางวัลความสำเร็จด้านความรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่น / รางวัลสถานประกอบการด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการดีเด่น และ รางวัลนายจ้างดีเด่น

จากรายงานของสื่อและคดีที่เกี่ยวข้องที่ทางตำรวจไทยสอบสวน ชาวจีนบางคนได้เข้าร่วมในธุรกิจการบริการในประเทศไทย โดยมีคนเป็นจำนวนน้อยเกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่อลามก การพนัน และยาเสพติด และบางคนได้หลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางกฎหมายโดย ‘ให้คนอื่นถือหุ้นแทน’ สำหรับปัญหาการละเมิดกฎหมายของท้องถิ่นที่ต้องสงสัยเหล่านี้ จีนสนับสนุนไทยในการสืบสวนและปราบปรามการกระทำเหล่านี้ตามกฎหมาย และรักษาความสงบเรียบร้อยของตลาดที่มีความเป็นธรรม และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย ความจริงแล้ว หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของทั้งสองประเทศได้ดำเนินการความร่วมมือที่ดีในการป้องปราบธุรกิจสีดำและสีเทามาโดยตลอด

5. ท่านมองปัญหาใหม่ที่เกิดจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติอย่างไร?

แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ประเทศต่าง ๆ ต่างก็กำลังเผชิญกับปัญหาในการพัฒนาแพลตฟอร์มเหล่านี้ โดยอีคอมเมิร์ซช่วยลดขั้นตอนทางธุรกิจ ประหยัดต้นทุนการทำธุรกรรม และนำเสนอทางเลือกที่สะดวกมากขึ้นแก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบพิเศษของตนเอง ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น ทำให้รูปแบบธุรกิจแบบดั้งเดิมต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านการแข่งขันที่รุนแรง และเกิดความท้าทายใหม่ ๆ โดยเฉพาะการควบคุมดูแลด้านการบริหาร คุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การคุ้มครองสิทธิผลประโยชน์ของร้านค้าและผู้บริโภค 

ดังนั้น เราต้องมีมาตรการรับมือ เพื่อเพิ่มจุดแข็งและหลีกเลี่ยงจุดอ่อน แสวงหาข้อได้เปรียบ หลีกเลี่ยงข้อเสีย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาของเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือการใช้ประโยชน์จากอีคอมเมิร์ส โดยก่อนหน้านี้ไทยได้การถ่ายทอดสดอีคอมเมิร์ซเพื่อนำสินค้าไปขายให้จีน ซึ่งขายได้สำเร็จถึง 4,000 ล้านบาทภายในสองวัน และยังได้ใช้การถ่ายทอดสดทางอีคอมเมิร์ซเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งมีผู้เข้าชมมากกว่า 20 ล้านคน มียอดการทำธุรกรรมถึง 100 ล้านบาท จีนยินดีและส่งเสริมให้ไทยใช้ประโยชน์จากรูปแบบอีคอมเมิร์ซใหม่ ๆ เพื่อขยายตลาดจีน ยินดีที่จะกระชับความร่วมมือในการพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัล แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการกำกับดูแลตลาดอีคอมเมิร์ซ และร่วมกันใช้โอกาสใหม่ของยุคอินเทอร์เน็ต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top