Sunday, 4 May 2025
GoodsVoice

CATL ผนึกกำลังเครือ ปตท. เดินหน้าพัฒนาระบบนิเวศพลังงานไทย ชูเป้าหมายใหญ่ เปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด

เมื่อวานนี้ (28 ส.ค. 67) บริษัท เอ ซี เอนเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด A C Energy Solution (ACE) และ Contemporary Amperex Technology Co., Ltd. (CATL) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อศึกษาและพัฒนาระบบนิเวศพลังงานไทย ณ สำนักงานใหญ่ CATL เมืองหนิงเต๋อ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมี ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) พร้อมด้วย Mr. LiBin Tan Chief Customer Officer & Co-President of the Market System CATL, นายเอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ ACE และ Mr. See Tzu Cheng (ขวาล่าง) General Manager of APAC & Strategic Projects CATL ร่วมเป็นเกียรติในพิธี

🚗#กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) จากนโยบายการสนับสนุนการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ทำให้ปริมาณการใช้ EV มีการเติบโตอย่างเนื่อง โดยปัจจุบัน ACE และ CATL ได้มีความร่วมมือในการจัดตั้งโรงงานประกอบ EV battery pack โดยใช้เทคโนโลยีชั้นนำจาก CATL และ EV value chain จากกลุ่ม ปตท. โดยมุ่งเน้นการผลิต ประกอบ battery pack ที่มีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังมีแผนในการศึกษาการพัฒนา ระบบ green factory เพื่อรองรับ Net Zero ในอนาคต เพื่อลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้การพัฒนาระบบ Green factory โดยการนำ Renewable energy และ ระบบ battery มาประยุกต์ใช้ ยังสามารถต่อยอดธุรกิจไปได้หลากได้ด้าน ทั้ง PPA และ Private PPA ภายในประเทศในอนาคตอันใกล้

⚡#กลุ่มการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging) การเติบโตอย่างรวดเร็วของยานยนต์ไฟฟ้า จำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ผู้ใช้สามารถชาร์จไฟได้สะดวกและรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตามสถานีชาร์จปัจจุบัน ยังพึ่งพาระบบโดยทั้งหมดจากการไฟฟ้า ทำให้เกิดปัญหาในหลายมิติ อาทิเช่น Grid stability, Low priority power เป็นต้น โดยความร่วมมือดังกล่าวจะร่วมศึกษาความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการพลังงานในสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งการติดตั้งระบบ BESS ร่วมกับ Solar system เพื่อลดภาระการใช้งานพลังงานจาก Grid เพิ่มความเสถียรของระบบไฟฟ้าในสถานีชาร์จ โดยการจัดการกับความผันผวนของการใช้พลังงานและลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนพลังงาน และรองรับการชาร์จเร็ว (Super-fast charging) ได้ถึง 4C - 6C เป็นต้น

🔋#กลุ่มระบบกักเก็บพลังงานและพลังงานหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงระบบพลังงานของประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ความร่วมมือนี้มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเก็บและจัดการพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และนำมาใช้ในช่วงเวลาที่มีความต้องการสูง ระบบ ESS นี้จะช่วยลดการสูญเสียพลังงานและเพิ่มความเสถียรของระบบไฟฟ้า และลดค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงานในช่วงเวลาที่มีค่าไฟฟ้าสูง (peak hours) โดยการใช้พลังงานที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่แทน นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพลังงานและลดภาระการใช้พลังงานจาก Grid นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือในการศึกษาการสร้าง ESS production line และ Battery cell production line เพื่อรองรับการเติบโตและเป็นการสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย

🚉#กลุ่มระบบการขนส่ง การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ไม่ใช่แค่รองรับรถยนต์ส่วนบุคคลเท่านั้น การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับการขนส่งที่ยั่งยืน (Sustainable Transportation) เนื่องจากการขนส่งเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวันและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือดังกล่าวได้ร่วมศึกษาพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน เทคโนโลยี การวางแผนเมืองโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ให้รองรับการขนส่ง อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น ระบบบริหารจัดการพลังงาน ระบบการชาร์จ ระบบ renewable energy ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

ข้อเสนอแก้หนี้ครัวเรือน กับผลงานชิ้นโบแดงของแบงก์ชาติ

(1 ก.ย. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ

ในบรรดาหลายมาตรการที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เสนอในเวที Vision for Thailand เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าข้อเสนอปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชน โดยแบ่งเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ครึ่งหนึ่ง (0.23% ของฐานเงินฝากของธนาคารพาณิชย์) มาสมทบกับเงินของสถาบันการเงินเอง เพื่อ Haircut หนี้ของลูกหนี้ที่มีปัญหา เป็นข้อเสนอที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษและมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติสูง

ข้อเสนอดังกล่าวเป็นการคิดนอกกรอบอีกครั้งหนึ่งของท่านนายกทักษิณ ซึ่งหากทำสำเร็จ ก็จะผ่อนคลายความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องแบกรับภาระหนี้ที่มีจำนวนสูงถึงกว่า 16 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 91% ของ GDP และเป็นตัวเหนี่ยวรั้งการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยมายาวนาน

ทันทีที่ข้อเสนอถูกเผยออกมา ผู้บริหารแบงก์ชาติถึงกับเกิดอาการอึ้ง เมื่อถูกสื่อสอบถามความเห็น แต่ก็ได้ให้ลิ่วล้อออกมาส่งเสียงคัดค้านว่าจะเกิดผลเสียต่อการบริหารหนี้ FIDF (Financial Institutions Development Fund) ต่าง ๆ นานา ทั้ง ๆ ที่หนี้ FIDF ก้อนนี้ ซึ่งยังคงค้างอยู่ประมาณ 600,000 ล้านบาท เป็นหนี้สาธารณะที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง ไม่ใช่หน้าที่ของ ธปท. แต่ ธปท. ในฐานะธนาคารกลางที่เป็นอิสระ เป็นผู้สร้างขึ้นมาจากน้ำมือของ ธปท. เองล้วน ๆ

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2540 หลายท่านอาจจำไม่ได้แล้วว่า ประเทศไทยมีอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed Exchange Rate) ธปท. ในฐานะผู้รับผิดชอบนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน จึงออกไป Defend ค่าเงินบาท ปกป้องไปปกป้องมาจนผลาญเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเสียเกลี้ยง จึงต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 พร้อม ๆ กับการเข้าโปรแกรม IMF การปิดสถาบันการเงิน และการให้รัฐบาลประกาศรับประกันเงินฝากของประชาชนที่สถาบันการเงิน จึงเป็นที่มาของหนี้จำนวนมากมายมหาศาล ซึ่งในที่สุด ธปท. ต้องร้องขอให้รัฐบาลแปลงจากหนี้ของกองทุน FIDF มาเป็นหนี้สาธารณะ (Fiscalization)

เนื่องจากหนี้ FIDF มีที่มาจากระบบสถาบันการเงิน จึงไม่เหมาะสมที่จะให้คนไทยผู้เสียภาษีทั้งประเทศรับภาระหนี้ก้อนนี้ ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท จึงมีความตกลงกันให้ ธปท. รับผิดชอบชดใช้เงินต้น และกระทรวงการคลังรับภาระดอกเบี้ย แต่จนแล้วจนรอด ธปท. ก็ไม่ทำตามสัญญา โดยอ้างว่าไม่มีกำไร ในขณะที่ยังคงจ่ายโบนัสพนักงานอยู่เป็นปกติ 

เมื่อหนี้ไม่ลด การชำระดอกเบี้ย จึงไม่ลดไปด้วย โดยกระทรวงการคลังต้องขอตั้งงบประมาณชำระดอกเบี้ยเป็นจำนวนสูงถึงปีละกว่า 60,000 ล้านบาท

เมื่อ ธปท. ไม่ชำระหนี้เงินต้นตามที่ตกลงกันไว้ จึงเป็นที่มาของการออกกฎหมายกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์นำส่งเงินเพื่อชำระหนี้ FIDF จำนวน 0.46% ของฐานเงินฝาก ในสมัยที่คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาหนี้ FIDF อย่างเบ็ดเสร็จและตรงจุด และผลจากการดำเนินการดังกล่าวได้ทำให้รัฐบาลสามารถลดภาระงบประมาณได้อย่างมากและลดยอดหนี้ FIDF คงค้างเหลือไม่ถึง 600,000 ล้านบาทในปัจจุบัน

ดังนั้นข้อเสนอของอดีตนายกทักษิณ แม้จะทำให้การชำระหนี้ FIDF ล่าช้าไปบ้าง แต่ก็เป็นทางออกที่เหมาะสมในการบรรเทาปัญหาหนี้ภาคประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รุมเร้าสังคมไทยอยู่ทุกวันนี้ ส่วนคนที่ควรรักษามารยาท ก็น่าจะเป็น ธปท. เพราะเป็นผู้สร้างปัญหามาแต่ต้น และก็ไม่สามารถแก้ปัญหาที่ตัวเองก่อขึ้นได้

1 ปี 'พีระพันธุ์' ใต้หมวกเจ้ากระทรวงพลังงาน อะไรทำแล้ว? เรื่องไหนทำอยู่? แล้วไทยจะก้าวสู่ 'ความมั่นคง-เป็นธรรม-ยั่งยืน' ด้านพลังงานได้อย่างไร?

ครบวาระการทำงาน 1 ปี ในฐานะเจ้ากระทรวงพลังงานของ 'นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค' ประชาชนได้รับการดูแลแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอย่างไร? มิติใหม่ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทยคืบหน้าไปมากน้อยแค่ไหน? กฎหมายกำกับดูแลราคาพลังงานให้เป็นธรรมจะได้ใช้เมื่อไหร่? ราคาน้ำมัน-ค่าไฟ จะลดลงได้อย่างไร? 

แล้วการทำงานในปีที่ 2 จะไปต่อแบบไหน? และมีอะไรใหม่ในการดูแลประชาชนด้านพลังงาน? ไปพบกับคำตอบทั้งหมดนี้ได้ในบทสัมภาษณ์พิเศษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เจ้าของแนวคิด 'รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง' เพื่อความมั่นคง เป็นธรรม ยั่งยืน ของระบบพลังงานไทย เพื่อคนไทยทุกคน ดังนี้...

>> ลุยหาช่องทางแก้ปัญหาหมักหมม
"จากประสบการณ์ทํางานในราชการทางการเมือง ผมคิดว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผมทํางานได้เยอะและเร็วพอสมควร ฟังดูเหมือนนาน 12 เดือน 1 ปี แต่ในความเป็นจริง ช่วง 2-3 เดือนแรก ผมต้องศึกษาข้อมูล ศึกษาปัญหา แล้วก็ศึกษาวิธีการแก้ไข ปัญหาของกระทรวงพลังงานซึ่งรับผิดชอบทั้งเรื่องน้ำมัน เรื่องค่าไฟฟ้า เรื่องของราคาแก๊ส แล้วก็อีกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนในเรื่องของพลังงาน มันเยอะมาก และเป็นปัญหาที่หมักหมมมา ไม่ใช่แค่ 5 ปี 10 ปี 

"กระทรวงพลังงานปีนี้จะเริ่มปีที่ 22 แต่ปัญหาที่พูดมาทั้งหมด เกิดมาก่อนกระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องปัญหาน้ำมัน ไม่ต่ำกว่า 40-50 ปี ผมเองใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนแรก ในการศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไข ผมคิดว่าผมพอใจในการทํางานของผมเองที่ 2-3 เดือนแรกก็สามารถที่จะศึกษาทั้งหมดได้ครับ"

>> ออกประกาศให้ผู้ค้าแจ้งต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
"หลังจากศึกษาก็หาวิธีแก้ไข โดยเฉพาะอันดับแรกเลยก็คือเรื่องของน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งประหลาดมากที่เราไม่เคยรู้ต้นทุน และก็ไม่เคยขอให้ผู้ค้าบอกต้นทุนได้ ผมก็ต้องใช้เวลาในการหาวิธีที่จะดําเนินการ เพราะทุกฝ่ายมาบอกกับผมหมดเลยว่า 'ไม่มีอํานาจ' ซึ่งการจะมีอํานาจก็ต้องแก้ไขกฎหมายนะครับ และนอกจากแก้ไขกฎหมายธรรมดา ยังต้องแก้ไขกฎหมายอีกหลายอย่างซึ่งจะใช้เวลา ผมก็ต้องกลับมาใช้กฎหมายที่เป็นกฎหมายปัจจุบันมาศึกษาช่องทาง และผมทําเองทั้งหมด 

"สุดท้ายก็เจอช่องทางตามกฎหมายปัจจุบัน ผมจึงหารือกับทางสํานักงานกฤษฎีกา ซึ่งก็เห็นตรงกัน เลยยกร่างเบื้องต้นขึ้นมา แล้วก็ให้คณะไปร่างต่ออีกทีนึง ก็ออกมาเป็นประกาศกระทรวงพลังงานที่กําหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุน จากนั้น ก็มาเจอกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า การจะประกาศได้ต้องผ่านกระบวนการ พูดง่าย ๆ ภาษาง่าย ๆ ประชาชนเข้าใจง่าย คือต้องประชาพิจารณ์อีก เพราะฉะนั้นก็ทําให้กระบวนการที่จะออกประกาศใช้เวลาอีก 3-4 เดือน สุดท้ายก็มีผลบังคับเมื่อประมาณเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถทําให้ผมรู้ต้นทุนราคาน้ำมัน และรู้ปัญหาที่จะต้องแก้ไขต่อไป"

>> ร่างกฎหมายกำกับดูแลการขึ้นลงของราคาน้ำมัน สกัดผู้ค้าปรับราคาตามอำเภอใจ
"ต่อมา ผมก็คิดว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำมันของบ้านเรา ในเรื่องของการใช้ระบบที่เรียกว่า ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ มารักษาระดับหรือพยุงราคา ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งนอกจากจะเป็นภาระของประเทศแล้ว ยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่ตรงจุด ขณะเดียวกัน ผมก็พบว่าประเทศไทยไม่มีสํารองน้ำมันของ

ประเทศ ที่ว่ามี ๆ กันวันนี้ ไม่ใช่สํารองน้ำมันของประเทศ แต่เป็นสํารองของผู้ประกอบการ และวัตถุประสงค์หลักก็คือ เป็นการสํารองด้านการค้า ขั้นต่ำของการสํารองเพื่อความมั่นคงและปลอดภัยประเทศต้องอย่างน้อย 90 วันตามมาตรฐานสากล แต่ของเราไม่มี ที่มีอยู่ก็แค่ 20 วัน 

"เพราะฉะนั้นเราก็ตกมาตรฐานสากล เป็นมาแบบนี้ 40-50 ปี ไม่เคยมีใครทํา ผมก็ต้องมานั่งคิดอีก แล้วก็มานั่งคิดว่า ตรงนี้จะแก้ปัญหาเรื่องกองทุนน้ำมันยังไง ก็ปรากฏว่ากองทุนน้ำมันไม่เคยมีกฎหมาย เพิ่งมีกันครั้งแรกเมื่อปี 2562 ซึ่งก็เป็นกฎหมายที่ไม่สมบูรณ์อีก ผมก็ต้องมานั่งคิดว่าจะวางระบบเรื่องสํารองน้ำมันประเทศยังไง แล้วก็มาเจอปัญหาเรื่องราคาน้ำมันขายปลีก 

"ผมเองก่อนมาเป็นรัฐมนตรีก็สงสัย ทําไมราคาน้ำมันมันขึ้นลงกันได้ง่ายเหลือเกิน วันนี้อ้างราคาตลาดโลกขึ้น แต่เวลาลงทําไมมันไม่ลงง่ายเหมือนตอนขึ้น ก็ปรากฏว่าไม่มีกฎหมายอีกครับ กลายเป็นว่าการขึ้นลงของราคาน้ำมัน ชาวบ้านก็ไม่เข้าใจเหมือนผมในอดีต ก็หาว่าทําไมกระทรวงพลังงานปล่อย มันไม่ปล่อยได้ไงครับ มันไม่มีกฎหมายให้อํานาจทําอะไรเลย เพราะฉะนั้น ผมก็เลยเร่งทำกฎหมายในเรื่องนี้

"ที่ผมเคยบอกไว้ว่า ผมมีบันได 5 ขั้น ผมก็ไล่มาทีละขั้นนะครับ หลังจากเรื่องของต้นทุนราคาน้ำมันซึ่งเป็นบันไดขั้นที่ 2 ผมก็ต้องรีบมาแก้ปัญหาเรื่องการที่ผู้ประกอบการค้าน้ำมันสามารถทําอะไรก็ได้ตามอําเภอใจ ไม่มีกฎหมาย  ผมก็มาแก้กฎหมายเพื่อกํากับดูแลการประกอบธุรกิจการค้าน้ำมัน ซึ่งเป็นบันไดขั้นที่ 3 และตอนนี้ผมยกร่างกฎหมายนี้เสร็จแล้วครับ

"ผมขออนุญาตทําความเข้าใจนิดนะครับว่า การขออนุญาตค้าน้ำมันกับการกํากับดูแลนี่ไม่เหมือนกัน ทุกวันนี้เรามีแต่กฎหมายที่มาขออนุญาตค้าน้ำมัน แต่เมื่อเราให้อนุญาตไปแล้ว ก็อิสระเลยครับ ในขณะที่ทางด้านไฟฟ้า มีคณะกรรมการ กกพ. หรือคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน เป็นผู้กํากับเรื่องของการประกอบกิจการ เรื่องของราคา เรื่องอื่น ๆ แต่น้ำมันไม่มี การกํากับดูแลสื่อก็ยังมี กสทช. แต่น้ำมันไม่มีครับ อันนี้เป็นเรื่องที่ประหลาด ปล่อยมาอย่างนี้ 40-50 ปี ผมคิดว่าอันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้เกิดปัญหากับพี่น้องประชาชน 

"ดังนั้น ผมก็เลยยกร่างกฎหมายที่ว่า ซึ่งตอนนี้เสร็จแล้ว และจะประชุมคณะทํางานเพื่อจะตรวจร่างที่ผมร่างขึ้นมา กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายใหม่ในการกํากับดูแลไม่ให้การประกอบกิจการน้ำมันของผู้ที่ได้รับใบอนุญาตค้าน้ำมันอยู่แล้ว สามารถทําอะไรได้เองตามอําเภอใจทั้งหมด แล้วสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน เราจะมีการกํากับดูแล แล้วก็จะวางระบบเรื่องกองทุนน้ำมันฯ ใหม่ ซึ่งระยะเวลาการทํากฎหมายนี้จนถึงวันนี้ ผมคิดว่าเร็วพอสมควรแล้วกับการแก้ไขปัญหาในระยะต่อไปครับ"

>> จัดตั้งระบบสำรองน้ำมันแห่งชาติ พลิกภาระหนี้สินกองทุนน้ำมันฯ ให้กลายเป็นทรัพย์สินของชาติ
"ผมกำลังทําเรื่องกฎหมายเรื่องสํารองน้ำมันของประเทศ ซึ่งผมจะเอาน้ำมันตัวนี้มาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันฯ เราจะมีน้ำมันมาดูแลน้ำมัน ผมจะเปลี่ยนกองทุนที่ใช้เงินและสร้างหนี้สาธารณะ ให้เป็น Asset หรือทรัพย์สินของประเทศ ต่อไปกองทุนน้ำมันฯ ที่มีน้ำมันสํารองของประเทศ จะเป็นทรัพย์สินของประเทศไม่ใช่ภาระหนี้สินอีกต่อไป ซึ่งตอนนี้ผมเริ่มต้นทําแล้วครับ”

>> ตรึงค่าไฟสุดกำลัง!! ยับยั้งความเดือดร้อนประชาชน
"เรื่องของค่าไฟฟ้า ในช่วงแรกที่ผมเข้ามาเป็นรัฐมนตรีพลังงานในรัฐบาลชุดนี้ ก็เป็นไปตามนโยบายของพรรคผม และของรัฐบาลตรงกัน คือลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้พี่น้องประชาชน มาถึงปั๊บเราก็แก้ไขปัญหาราคาไฟฟ้าให้อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ทั้งประชาชนทั่วไป และประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วยต่อเดือน แต่ว่าเราสามารถตรึงตรงนี้อยู่ได้ช่วงหนึ่ง เพราะว่าราคาแก๊สในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น พอมาช่วงที่ 2 ก็คือ ช่วงต้นปีนี้ ก็มีข่าวทันทีครับว่าไฟฟ้าจะพุ่งขึ้น

"สิ่งที่ผมพยายามทําก็คือ 'ถ้าลดไม่ได้ ก็ไม่ขึ้นครับ ต้องตรึง' แต่ว่าในช่วงแรกเรามีความจําเป็นต้องขยับราคา เนื่องจากภาระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่รับภาระหนี้แทนพี่น้องประชาชนในการที่ช่วยตรึงค่าไฟในช่วงแรกไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย เขาเพิ่มสูงขึ้น เราเลยจําเป็นต้องอนุญาตขยับราคาขึ้นมาเป็น 4.18 

บาท ก็ขึ้นมานิดเดียวครับ จาก 3.99 บาท ซึ่งตอนแรกมีข่าวลือออกมาว่าจะขึ้นเยอะแยะ แต่ว่าในส่วนของพี่น้องประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ก็ยังคงตรึงไว้ที่ 3.99 บาท เหมือนเดิมครับ

"หลังจากครบระยะ 4 เดือนตรงนี้ ก็มีข่าวขึ้นราคาอีก ซึ่งผมไม่อยากให้ขึ้น รัฐบาลก็ไม่อยากให้ขึ้น หรืออย่างน้อยเมื่อเราลดราคาไม่ได้ ก็ต้องตรึงไว้ที่เดิม นโยบายของเราก็ตรึงไว้ที่ 4.18 บาท ซึ่งการตรึงราคาครั้งที่สองนี้เหนื่อยกว่าครั้งแรกเยอะมากครับ เพราะอะไรครับ เพราะราคาก๊าซขึ้น ในขณะเดียวกันแก๊สในอ่าวไทยที่เราเคยผลิตได้ก็หายไปวันละ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต แล้วยังมีปัญหาอีกหลายอย่าง ผมก็ได้ไปกําชับเรื่องการขุดแก๊สจากอ่าวไทยเพิ่ม ทำให้แก๊สปริมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันที่หายไปก็สามารถกลับมาได้แล้ว และมีบริหารจัดการในอีกหลายเรื่องที่ทําให้เราสามารถตรึงราคาค่าไฟไว้ที่ 4.18 บาท ได้อีกเหมือนเดิม

"พอมาครบ 4 เดือน ในงวดที่เพิ่งผ่านมา ก็มีข่าวมาอีกแล้วว่าจะขึ้นไป 4 บาท 50-60 สตางค์ หรือไปถึง 6 บาทเลยนะครับ ตรงนี้เราก็มาบริหารจัดการ สุดท้ายผมก็ยังสามารถตรึงราคาไว้ได้ที่ 4.18 บาท แล้วคณะรัฐมนตรีก็อนุมัติให้ดูแลกลุ่มเปราะบางที่ 3.99 บาท โดยใช้เงินงบประมาณมาเหมือนเดิม  นี่ก็เป็นสิ่งที่เราทํามาในช่วงหนึ่งปีในการตรึงค่าไฟฟ้า ผมสามารถพูดได้เลยครับว่า ราคาค่าไฟในช่วงที่ผมเป็นรัฐมนตรีพลังงาน อย่างน้อยไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนนะครับ"

>> สร้างหนทางหลุดพ้นปัญหาค่าไฟแพงอย่างยั่งยืน
"ทําอย่างไรที่จะให้พี่น้องประชาชนสามารถใช้ไฟได้ถูกลง มีทางเดียวก็คือต้องใช้พลังงานที่เขาเรียกว่าพลังงานสะอาด ซึ่งก็มี 3 อย่าง คือ ลม, แดด, น้ำ ซึ่งสําหรับพี่น้องประชาชนทั่วไป วันนี้คงคุ้นเคยกับเรื่องของ Solar Rooftop หรือ การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคานะครับ 

"เพียงแต่สิ่งที่เป็นปัญหาและทําให้เกิดปัญหามาตลอดคือ ความยุ่งยากในเรื่องของการติดตั้งและการขออนุญาต ซึ่งผมกําลังจะออกกฎหมายฉบับใหม่ ตอนนี้ยกร่างเสร็จแล้วเหมือนกัน เพื่อที่จะกํากับดูแลเรื่องของการติดตั้งให้ง่ายและสะดวกขึ้น ส่วนที่ผ่านมา ทําไมมันยุ่งยาก ก็เพราะมันไม่มีกฎหมาย พอไม่มีกฎหมาย ทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน ก็บอกว่าเป็นอํานาจของตนเองหมดเลย ประชาชนก็วิ่งไปทั่วเลย ไปหาหน่วยงานนั้น ไปหาหน่วยงานนี้ กว่าจะติดตั้งได้ 

"เพราะฉะนั้นผมจะออกกฎหมายฉบับนี้ ภายในปลายปีนี้ ผมคิดว่ากฎหมายนี้ก็จะเสร็จตามกฎหมายน้ำมันนะครับ ก็จะทําให้พี่น้องประชาชนสามารถติดตั้งระบบ Solar บนหลังคา หรือในพื้นที่บ้านได้สะดวกและง่ายขึ้นครับ"

>> แสวงหานวัตกรรมพลังงานราคาถูกเพื่อประชาชน
"แต่ว่าเมื่อติดตั้งแล้วก็มีประเด็นต่อไปครับ วันนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะเป็นระบบหลังคา Solar หรือระบบไฟฟ้า มันแพงครับ สิ่งที่ผมได้ดําเนินการในส่วนนี้ ก็คือ ให้คนที่เป็นนักประดิษฐ์คิดค้นมาดําเนินการวางระบบ Solar Rooftop ให้ประชาชนในราคาถูกครับ ปกติพลังงานแสงแดดที่มาผลิตไฟฟ้าจะใช้ได้เฉพาะกลางวัน เพราะกลางคืนไม่มีแดด ถ้าจะใช้กลางคืนจะต้องมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า แบตเตอรี่เก็บสํารอง ซึ่งแบตเตอรี่นี่แพงมากครับ อย่างน้อยก็เป็นหลักแสน 

"ดังนั้น สิ่งที่กระทรวงพลังงานโดยผมได้ดําเนินการไปก็คือ เราได้ทําการประดิษฐ์คิดค้นแบตเตอรี่ขึ้นมา ตอนนี้อยู่ระหว่างทดลอง ซึ่งเบื้องต้นผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ แบตเตอรี่นี้สามารถใช้กับเครื่องปรับอากาศได้ 3 เครื่อง ใช้กับตู้เย็นได้ 1 เครื่อง ในงบประมาณเพียงแค่ไม่เกิน 20,000 บาทเท่านั้น ระบบ Inverter ที่ต้องมาควบคุมระบบไฟฟ้าขายกัน 4-5 หมื่นบาท โดยเราสามารถประดิษฐ์ได้อยู่ที่ราคา 7-8,000 บาท ไม่เกินหมื่นบาท 

"ส่วนแผงโซลาร์อย่างต่ำ 160 โวลต์ ปกติจะใช้ 4 แผง แต่เราสามารถดัดแปลงใช้แค่ 2 แผง ทั้งหมดนี้น่าจะอยู่ในวงเงินประมาณ 30,000 บาท ก็สามารถใช้ไฟได้ทั้งกลางวัน กลางคืน ตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนที่ผมสั่งการให้มีการทดสอบทดลองอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งผมมั่นใจว่าในรอบปีที่ 2 ที่ผมดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีพลังงาน ผมจะทําตรงนี้ออกมา และจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายให้กับพี่น้องประชาชนในราคาที่ถูก ซึ่งจะช่วยพี่น้องประชาชนให้หลุดพ้นจากปัญหาค่าไฟแพง โดยไม่ต้องจ่ายค่าไฟ แต่ใช้แสงแดดของเราแทน

>> โยกระบบแก๊สแก้ปัญหาค่าไฟ
"ส่วนเรื่องค่าแก๊สนะครับ แก๊สที่ขุดจากอ่าวไทยผมขออนุญาตเรียนว่าไม่ได้ขุดมาแล้วใช้เป็นแก๊สหุงต้มสําหรับประชาชนได้หมดนะครับ มันต้องมาแยกก่อนและส่วนหนึ่งจะเป็นแก๊สหุงต้ม แต่ที่ผ่านมามีปัญหาว่า มีการนำแก๊สจํานวนหนึ่งไปใช้ในอุตสาหกรรม แต่ใช้ราคาเดียวกับราคาของแก๊สหุงต้ม ซึ่งเป็นการกําหนดราคาแบบไม่ถูกต้อง โดยก่อนหน้านี้ก็เคยมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ แต่ไม่เคยมีใครลงมือทํา แต่ผมได้แก้ไขปัญหานี้ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2566 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2567 นั่นคือ การโยกระบบแก๊สให้อยู่ถูกที่ถูกทาง โดยแก๊สที่ใช้เพื่ออุตสาหกรรมต้องอยู่ในราคาที่ถูกต้องเหมาะสม และตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้ผมสามารถยันราคาค่าไฟไว้ได้ที่ 4 บาท 18 สตางค์ ด้วยการปรับโยกการใช้แก๊สจากอ่าวไทยให้อยู่ในราคาที่ถูกต้อง ไม่ใช่ไปใช้ราคาแก๊สหุงต้มของพี่น้องประชาชน"

>> ร่างกฎหมายกำกับดูแลราคาแก๊สหุงต้ม
“ในเรื่องแก๊สหุงต้ม เราก็ตรึงราคามาตลอดนะครับ 1 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 423 บาท ต่อ 15 กิโลกรัม มีคนร้องเรียนว่า บางร้านขายเกินราคา ซึ่งนี่ก็เป็นอีกปัญหาที่ว่า กระทรวงพลังงานไม่มีอํานาจไปกํากับดูแลตรงนี้

เพราะฉะนั้นพอย้อนกลับไปสิ่งที่ผมพูดก่อนหน้านี้ว่า ผมกําลังออกกฎหมายใหม่ในเรื่องของการกํากับดูแลเรื่องราคาน้ำมัน ก็จะครอบคลุมมาดูแลเรื่องราคาแก๊สนี้ด้วย ซึ่งจะทำให้ต่อจากนี้ไปกระทรวงพลังงานจะมีอํานาจตามกฎหมายใหม่ในการเข้าไปกํากับดูแล ไปตรวจสอบการขายแก๊สหุงต้มให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อให้อยู่ในระดับที่ไม่มีการไปโกงพี่น้องประชาชนก็ได้อีก อันนี้ก็เป็นเรื่องของกฎหมายใหม่ที่จะทําออกมา"

>> เขียนกฎหมายเอง ทำงานทุกวันถึงตี 3
"การจะเขียนกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเข้าใจเรื่อง และคนที่เข้าใจเรื่องก็ต้องเขียนกฎหมายเป็น  ซึ่งต้องถือว่าเป็นโชคดีอย่างนึงที่เผอิญผมเขียนกฎหมายเป็น และเข้าใจเรื่องอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นกฎหมายที่ผมพูดเมื่อสักครู่ ผมเขียนเองหมดเลย ผมใช้เวลากลางคืนทุกคืน กฎหมายที่ผมบอกว่าจะกํากับดูแลกิจการพลังงานไม่ให้มีการปรับราคากันทุกวัน แล้วก็จะดูแลไม่ให้มีการเอาเปรียบพี่น้องประชาชนในเรื่องของน้ำมัน 

"ผมเริ่มเขียนมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 หลังจากที่ผมได้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับต้นทุนราคาน้ำมัน ผมทํางานทุกวันทั้งวัน งานประจํา งานต้องเซ็น ผมไม่เคยค้าง ผมเซ็นทุกวัน ผมใช้เวลาเที่ยงคืนถึงตี 3 ทุกคืน ตั้งแต่เดือนเมษายน เพื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ วันนี้ผมร่างเสร็จแล้ว และผมกำลังจะเชิญประชุมของคณะทํางานด้านกฎหมายของผม เพื่อตรวจสอบต่อไป กฎหมายนี้ผมร่างเองทั้งฉบับ ด้วยมือผมเอง ใช้เวลาเที่ยงคืนถึงตีสามทุกคืน"

>> ลงลึกตัวบทกฎหมายให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย
"อันดับแรกของกฎหมายก็คือ 'บทนิยาม' บทนิยามสําหรับกฎหมายอื่นไม่มีปัญหา เป็นเรื่องเบสิก แต่กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เลยครับ บทนิยามจะเป็นตัวกําหนดหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนราคาน้ำมันแบบไหน อย่างไร คิดอย่างไร 

"จากบทนิยามก็จะมีเรื่องของการกําหนดว่า การประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและแก๊สจะต้องอยู่ภายในกฎหมายนี้อย่างไร กฎหมายนี้จะมีการกําหนดราคามาตรฐานอ้างอิง ว่าแต่ละเดือนราคาน้ำมันควรจะเป็นเท่าไร ถ้าหากผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงกว่าราคากลางที่กําหนดออกมาตรงนี้จะต้องมาพิสูจน์อย่างไรว่า เขามีต้นทุนที่สูงขึ้นถึงจะปรับราคาได้ ไม่ใช่นึกจะปรับก็ปรับนะครับ เพราะฉะนั้นตรงนี้จะเป็นธรรมทุกฝ่าย ประชาชนก็ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ผู้ประกอบการก็ไม่ขาดทุน ขณะเดียวกันภาครัฐก็เข้าไปปรับดูแลได้

"สำหรับรูปแบบของกองทุนน้ำมันที่เป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้ ก็จะมีวางระบบใหม่เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและบรรลุเป้าหมายมากขึ้นกว่าเดิม และจะมีเรื่องของการให้ความเป็นธรรมเกี่ยวกับการร้องเรียนต่างๆ เพราะคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องอาจกําหนดอะไรออกมาแล้วไม่ถูกต้อง ก็มีระบบที่จะสามารถตรวจสอบได้"

>> เปิดช่องน้ำมันเสรีสำหรับผู้ประกอบการ
"ที่สําคัญ ผมจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ รวมไปถึงสหกรณ์ต่าง ๆ สามารถจัดหาน้ำมันมาใช้ได้เอง ที่ผมเคยตอบไปในสภาว่าโครงสร้างราคาน้ำมันที่ทําให้น้ำมันประเทศเราแตกต่างจากประเทศอื่น ไม่ใช่อยู่ที่เนื้อน้ำมัน แต่อยู่เรื่องนโยบายและภาษี ภาษีส่วนหนึ่งคือ ภาษี VAT ภาษี VAT อย่างน้อย 7% นะครับ ภาษี VAT จะเก็บจากการค้า แต่ถ้าเราไม่ได้เป็นการค้า เป็นการใช้ของเราเอง เอาเข้ามามันไม่มี VAT เมื่อไม่มี VAT อย่างน้อยราคาน้ำมันลดไปเลยครับ

"ผมยกตัวอย่างกลุ่มของผู้ประกอบการขนส่ง ทุกวันนี้ ผู้ประกอบการขนส่งจะต้องเติมน้ำมันก็ไปที่ปั๊ม ดูราคาขึ้นลง แต่ที่ผมเคยบอกไว้ว่าผมจะเปิดเรื่องการค้าน้ำมันเสรี ผมก็เอามาลงอยู่ตรงนี้ คําว่าเสรีของผมหมายความว่า เราจะต้องไม่ปิดกั้นประชาชน ถ้าเขาสามารถหาน้ำมันมาใช้ได้เอง ก็ต้องเปิดโอกาส แต่เขาจะหาได้หรือไม่ได้เป็นเรื่องของเขา รัฐต้องไม่ห้าม เพราะนี่คือการค้าเสรี ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีในการหาพลังงานของตัวเองด้วย ตรงนี้จะทําให้ต้นทุนถูกลงและประหยัดเลยครับ เพราะฉะนั้น เงื่อนไขส่วนหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้จะเปิดโอกาสให้พี่น้องเกษตรกร ซึ่งถ้ารวมตัวกันเป็นสหกรณ์ เป็นสมาคม ก็จะสามารถไปหาซื้อน้ำมันมาใช้เองได้ในราคาถูกลง

"ที่สำคัญคือเรื่องของการขนส่ง ซึ่งเป็นต้นทุนของการผลิตสินค้าหลายเรื่อง และเป็นต้นทุนการดํารงชีวิตของคน ก็จะเปิดโอกาสให้มีการตั้งเป็นสมาคม และสามารถไปหาน้ำมันมาใช้เอง ตรงนี้ก็จะหลุดพ้นจากเรื่องของการที่ต้องไปซื้อน้ำมันตามราคาที่คนนู้นประกาศ คนนี้ประกาศ เพราะฉะนั้นถ้าท่านสามารถหาน้ำมันที่ถูกกว่าในประเทศมาใช้ได้ เอาเลยครับ ผมอนุญาต เพราะตรงนี้จะช่วยลดภาระของพี่น้องประชาชนในเรื่องของต้นทุนสินค้า ลดภาระของผู้ประกอบการขนส่ง เพราะไม่ต้องไปจ่ายระบบภาษีเยอะ  

"นี่เป็นสิ่งที่ผมได้เห็นทางออกจากปัญหาที่ว่า ทําอย่างไรจะให้หลุดจากปัญหาเรื่องภาษีได้ โดยที่เราก็ไม่ได้ไปแก้กฎหมายอะไร เพียงแต่ใช้ช่องที่ว่า เมื่อไม่มีการค้า ก็ไม่ต้องเสีย VAT อย่างน้อยตรงนี้ก็ลดภาษี VAT ไปได้ 2 ช่วงนะครับ ที่ผ่านมาโครงสร้างราคาน้ำมันวันนี้โดน VAT 2 ช่วง 

"เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ประกอบการขนส่งสามารถหาน้ำมันมาเองในราคาถูกอยู่แล้ว และไม่ต้องมาเสีย VAT ต้นทุนของผู้ประกอบการขนส่งในเรื่องน้ำมันจะลดลงไปทันที แล้วเมื่อลดภาระเรื่องราคาน้ำมันแล้ว ก็ต้องลดราคาสินค้าให้ประชาชนด้วย ลดต้นทุนการผลิตด้วยนะครับ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผมดำเนินการอยู่ แต่ยังไม่จบ"

>> คุมค่าไฟหอพักให้เหมาะสมเป็นธรรม
"เมื่อกี้เราคุยกันว่า ค่าไฟเราตรึงไว้ที่ 4 บาท 18 สตางค์ ส่วนประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน คิดค่าไฟ 3.19 บาท แต่ปรากฏว่ามีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมได้รับการร้องเรียนเข้ามาก็คือ ผู้ประกอบการที่เอาไฟ 4.18 บาท ไปขายต่อ เช่น หอพัก หรือกิจการอื่น ๆ ที่ไปเก็บค่าไฟเกินกว่า 4 บาท 18 สตางค์ 

"ตามกฎหมายต้องถือว่าท่านเป็นผู้ค้าไฟฟ้านะครับ เอาไฟฟ้าหลวงไปขายถือว่าเป็นการทําการค้า แล้วก็สร้างปัญหา ไม่มีใครมาคุมในส่วนนี้ บางรายขายจาก 4.18 บาท เป็น 8 บาท หรือ 9 บาท 12 บาทก็มี อันนี้ก็ต้องยอมรับความเป็นจริงนะครับ ผมเข้าใจว่าผู้ประกอบการก็ต้องทํา แต่ขณะเดียวกันประชาชนก็เดือดร้อน ทําอย่างไรจะอยู่ในราคาที่เหมาะสม เรื่องนี้ผมได้หารือกับทางสํานักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน ก็คงจะออกเป็นมาตรการต่อไปในการช่วยดูแลปัญหาเรื่องการเอาค่าไฟไปเก็บแพงในหอพัก หรือในกิจการอื่น ๆ ซึ่งจะต้องมีการควบคุมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนกลุ่มนี้เพิ่มเติมต่อไปอีกด้วยครับ"

>> ทำทันที!! ไม่เคยกลัวอิทธิพลกลุ่มทุน 
"ผมเคยเจอคําถามว่า 8 ปีที่แล้ว 9 ปีที่แล้วทําไมถึงไม่ทํา ผมฟังแล้ว ผมรู้สึกตลกนะ 8 ปี 9 ปีที่แล้ว ผมเป็นรัฐมนตรีพลังงานหรือเปล่าล่ะครับ ผมไม่ได้เป็น ผมเพิ่งมาเป็นได้แค่ปีเดียว แล้วคนที่ถามไปอยู่ไหนมาถึงไม่รู้ว่าผมไม่ได้เป็น แต่เมื่อเป็นปั๊บ ผมก็ทําทันทีนะครับ และถ้าผมอยู่ภายใต้อิทธิพลกลุ่มทุน 1 ปีที่ผ่านมา ที่ผมพูดมาทั้งหมดเมื่อกี้ คิดว่าผมทําได้ไหมครับ ผมไม่เคยกลัวครับ ผมทํางานในทางการเมืองมา 30 ปี ผมไม่เคยกลัว และไม่เคยมีผลประโยชน์ ผมทําทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติบ้านเมืองเท่านั้น ไม่เคยกลัว ทําได้ก็ทํา ทําไม่ได้ก็จะทํา ทําให้ถึงที่สุดครับ ผมไม่เคยกลัวอิทธิพลอะไรทั้งนั้น ถ้าผมทําไม่ได้นั่นแหละครับ คือสิ่งที่ผมกลัว กลัวไม่ได้ทํา"

>> ทำงานเยอะ ไม่เครียด ถ้าเครียด ก็เริ่มใหม่ได้
"มันเป็นเรื่องปกติของคนนะ ถ้าจะบอกว่าไม่เครียด มันเป็นไม่ได้หรอก มันก็มีปัญหาที่ทําให้เราเกิดความเครียดนะครับ แต่ความเครียดของผม ส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่บางครั้งคิดไม่ออก คิดไม่ออกว่าปัญหานี้จะแก้ยังไง ไม่ได้เครียดจากการทํางานเยอะนะครับ แต่จะเครียดจากการคิดไม่ออก ผมก็มีวิธีแก้ให้เราลดความเครียดลง เพราะผมคิดว่า เครียดไปมันก็ไม่มีประโยชน์ มันเป็นธรรมชาติของคน มันเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อเกิดแล้วเราต้องมีวิธีแก้ปัญหาให้เราลดความเครียดลง เพื่อจะเดินหน้าต่อไปได้ ถามว่าแก้ความเครียดยังไง ก็แล้วแต่สถานการณ์นะ บางครั้งผมก็ไปเช็ดรถ ล้างรถ ขัดรถ ทําบ้าน ก็ว่ากันไป นั่งดูยูทูบบ้าง ดูเว็บไซต์เรื่องที่เราสนใจ จะได้เปลี่ยนความคิดเปลี่ยนอารมณ์ ให้สิ่งที่มันทําให้เกิดปัญหาในความคิดในสมองมันลดระดับมา แล้วก็เริ่มต้นใหม่ได้ครับ"

>> ทำให้ดีที่สุดเพื่อประชาชน
"ผมอยากเรียนว่าทั้งหมดนี้ ในระยะเวลา 12 เดือน ผมทําได้แค่นี้ ผมคิดว่าผมพอใจ และจะพอใจมากกว่านี้ถ้าทําให้เสร็จหมดภายใน 1 ปีถัดไป ผมก็จะพยายามทําให้ดีที่สุด จะพยายามปรับปรุงและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชนในเรื่องของพลังงานให้มากขึ้น"

"สุดท้าย ต้องขอบพระคุณพี่น้องประชาชนนะครับ เพราะว่าที่ผ่านมาในอดีตทั้งหมดที่ผมทํางานการเมืองมา ไม่เคยมีคนมาเชียร์หรือมาช่วยอะไรมาก ผมเป็นคนทํางานแบบทําในสิ่งที่ต้องทํา ไม่ใช่ทําเพราะว่าคนเชียร์ หรือว่าทําเพราะคนด่า ผมไม่เคยสนใจ แต่ในช่วงที่ผ่านมา ผมรู้สึกแปลกใจ แล้วก็ดีใจ ที่มีคนเชียร์ผมเยอะ แล้วก็สนับสนุนการทํางานผมเยอะ ส่วนหนึ่งผมจําได้ ผมเคยไปออกรายการอาจารย์ยิ่งศักดิ์ ตั้งแต่แรก ๆ ที่ผมเป็นรัฐมนตรี ผมก็บอกว่าผมจะทําเพื่อประโยชน์ประชาชน ขอให้พี่น้องประชาชนเป็นผนังกําแพงให้ผมพิง ก็ต้องขอบพระคุณทุกท่านครับ" เจ้ากระทรวงพลังงานกล่าวทิ้งท้าย

'ททท.' คาด โค้งสุดท้ายปี 67 นทท.แห่เข้าไทย 12.22 ล้านคน หนุนยอดทั้งปีนี้เฉียด 36 ล้านคน สร้างรายได้ประเทศ 1.8 ลลบ.

(2 ก.ย. 67) ช่วงเวลาที่ผ่านมา นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศ 4 เดือนสุดท้ายของปี 2567 (ก.ย.-ธ.ค.) เดินทางเข้าประเทศไทย มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คาดว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 12,226,500 คน หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 20% สร้างรายได้ 652,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% เทียบช่วงเดียวกันของปี 2566 ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กำหนด 4 เดือนสุดท้ายของปี 2567 คิดเป็นสัดส่วน 97% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปีที่รายได้ 673,738 ล้านบาท

สำหรับ คาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยในช่วง 4 เดือนสุดท้าย ยังคงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวตลาดหลักจากเอเชียตะวันออก รองลงมาคือกลุ่มภูมิภาคยุโรป และเอเชียใต้ ส่วนที่เหลือจากตลาดในภูมิภาคอื่นๆ เช่น โดย 10 อันดับแรกของประเทศที่เดินทางเที่ยวไทยมากที่สุด ได้แก่ จีน 2.03 ล้านคน มาเลเซีย 1.83 ล้านคน อินเดีย 7.07 แสนคน เกาหลีใต้ 7.4 แสนคน รัสเซีย 6.98 แสน ลาว 4.34 แสนคน สิงคโปร์ 4.28 แสนคน ไต้หวัน 3.77 แสนคน ญี่ปุ่น 3.46 แสนคน และสหรัฐ 3.41 แสนคน

“แนวโน้มปี 2567 คาดมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยจำนวน 35.99 ล้านคน เพิ่มขึ้น 28% ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ ททท. กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 35 ล้านคน ส่วนรายได้ทางการท่องเที่ยวคาดประมาณ 1.818 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% เมื่อเทียบปีก่อนหน้า”

สำหรับปัจจัยบวกต่อภาคการท่องเที่ยวไทย มีทั้งนโยบายผลักดันการเดินทางผ่านมาตรการ Ease of Traveling ของประเทศไทย อาทิ การผ่อนคลายวีซ่าประเภทท่องเที่ยว การขยายเวลาพำนักในไทยนานขึ้น การยกเว้นยื่นใบ ตม.6 บริเวณด่านชายแดนทางบกทั่วประเทศ เพื่อจูงใจและอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังวางแผนจะเดินทางให้สามารถตัดสินใจเดินทางมาเที่ยวไทยง่ายขึ้น
รวมถึงปัจจัยจำนวนที่นั่งโดยสาร (Seat Capacity) เส้นทางระหว่างประเทศ มีจำนวนรวม 46 ล้านที่นั่ง คิดเป็นการฟื้นตัว 82% ของจำนวนที่นั่งโดยสารระหว่างประเทศเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด และเติบโตขึ้น 24% เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีจำนวนที่นั่งโดยสารประมาณ 37 ล้านที่นั่ง

สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเทศกาลและกิจกรรมสำคัญ อาทิ วันชาติจีน (1 ต.ค.) เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ และการเดินทางท่องเที่ยวตามรอยอินฟลูเอนเซอร์ ศิลปินชื่อดังของชาวไทยและต่างชาติ ผ่านการนำเสนอคอนเทนต์ สถานที่ถ่ายทำซีรีส์ คอนเสิร์ต หรือแฟนมีตติงศิลปินไทยและต่างชาติ

ส่วนปัจจัยท้าทายที่คาดว่าจะกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทย อาทิ การส่งเสริมตลาดเชิงรุกของคู่แข่งในตลาดเอเชียแปซิฟิก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเวียดนาม ที่จัดโปรโมชันดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มเดียวกับไทย รวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงเศรษฐกิจขนาดใหญ่ชะลอตัว ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ได้แก่ สงครามอิสราเอลกับปาเลสไตน์ อิหร่านกับอิสราเอล รัสเซียกับยูเครน หากยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบต่อราคาบัตรโดยสารเครื่องบินแพงขึ้น

นอกจากนี้ ภัยคุกคามจากภัยพิบัติธรรมชาติและภัยก่อการร้าย มีแนวโน้มเพิ่มความถี่เกิดบ่อยครั้งหรือรุนแรง โดยเฉพาะอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นจากผลของวิกฤติคลื่นความร้อน (เอลนีโญ) แผ่นดินไหว น้ำท่วมใหญ่ จนอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน แผนการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวออกต่างประเทศ หรือมาตรการความปลอดภัยในการเดินทาง

นางสาวฐาปนีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดในประเทศ 4 เดือนสุดท้ายของปี 2567 (ก.ย.-ธ.ค.) มีการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือน 72.47 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 6% หรือคิดเป็น 92% ซึ่งเข้าใกล้เป้าหมายจำนวน 4 เดือนสุดท้ายของปี 2567 ที่ตั้งไว้ และมีรายได้รวม 335,240 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นสัดส่วน 83% ของเป้าหมายรายได้ 4 เดือนสุดท้ายของ ปี 2567 ที่ตั้งไว้

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มทั้งจำนวนและรายได้ตลาดในประเทศปี 2567 จะยังคงเป็นไปตามคาดการณ์ไว้ โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ มาตรการการกระตุ้นท่องเที่ยวจัดผ่านอีเวนต์ การท่องเที่ยวโดยซอฟต์พาวเวอร์ อาทิ อาหาร ภาพยนตร์และซีรีส์ แฟชั่น มวยไทย และเฟสติวัล โดยนโยบายส่งเสริมท่องเที่ยวในประเทศภายใต้แคมเปญ “สุขทันที...ที่เที่ยวไทย” และโครงการ “365 วันมหัศจรรย์เมืองไทย ...เที่ยวได้ทุกวัน” 

‘สุริยะ’ แง้ม!! ‘DP World’ ประสานตั้งคณะทำงานร่วมไทย ศึกษาข้อมูล-รายละเอียดการลงทุน ‘โครงการแลนด์บริดจ์’

(2 ก.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (ชุมพร - ระนอง) หรือโครงการแลนด์บริดจ์ โดยระบุว่า กระทรวงฯ ยังคงมีเป้าหมายเดินหน้าผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในรัฐบาลนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ รวมถึงผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

โดยแผนการดำเนินงานในขณะนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการทำหนังสือบรรจุวาระการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ. SEC เข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) เพื่อพิจารณา ก่อนเสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน ก.ย. 2568

อย่างไรก็ดี เมื่อ พ.ร.บ.SEC มีผลบังคับใช้แล้ว จะมีการจัดตั้งสำนักงาน SEC และเข้าสู่แผนงานอื่น ๆ โดยในส่วนการออกแบบทางรถไฟ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รวมถึงการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และคาดว่าสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา EIA แล้วเสร็จในปี 2568 สอดคล้องกับการออกแบบท่าเรือ และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และส่งให้ สผ. พิจารณาแล้วเสร็จในปี 2568

ในส่วนของกระบวนการคัดเลือกเอกชน การจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/2569 ก่อนที่จะคัดเลือกผู้ลงทุนแล้วเสร็จในไตรมาส 2/2569 จากนั้นจะออก พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดิน ก่อนเสนอ ครม. อนุมัติโครงการภายในไตรมาส 2/2569 จากนั้นจะสามารถลงนามสัญญากับผู้ชนะการประกวดราคา และเริ่มดำเนินการก่อสร้างระยะที่ 1 ในไตรมาส 3/2569 แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2573

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางบริษัท Dubai Port World (DP World) ประสานต้องการที่จะให้ สนข.ช่วยให้ข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ ของโครงการอย่างละเอียด จึงมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง สนข.และ DP World ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโครงการนี้มีเอกชนพร้อมลงทุน 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการเอกชนรายใด ต้องการจะตั้งคณะทำงานร่วมกับประเทศไทย ก็สามารถแสดงความประสงค์มาได้ทันที โดยยืนยันว่ากระทรวงคมนาคม และรัฐบาลไทย มีความยินดีต้อนรับนักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลก และไม่ได้ผูกมัด หรือกีดกันรายใดรายหนึ่ง

‘พีระพันธุ์’ ชี้!! ปัญหาด้านพลังงาน (น้ำมัน) หมักหมมมามากกว่าก่อนเกิดกระทรวงฯ ไม่ต่ำกว่า 40-50 ปี

🔎ตามติด 1 ปี ‘พีระพันธุ์’ ใต้หมวกเจ้ากระทรวงพลังงาน
📔อ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ : https://thestatestimes.com/post/2024082922 

‘พีระพันธุ์’ ชี้!! ประเทศไทยไม่มีการสํารองน้ำมันในระดับ 90 วัน เป็นเหตุให้ราคาน้ำมัน ‘ขึ้น-ลง’ กันได้ง่าย

🔎ตามติด 1 ปี ‘พีระพันธุ์’ ใต้หมวกเจ้ากระทรวงพลังงาน
📔อ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ : https://thestatestimes.com/post/2024082922 

‘พีระพันธุ์’ จ่อออกกฎหมายลดความยุ่งยากติดตั้ง-ขออนุญาต ‘โซลาร์รูฟท็อป’ หนุน ‘เงิน-ลดภาษี’ ช่วยคนไทยหลุดพ้นภาระค่าไฟหลักที่ต้องปรับทุก 4 เดือน

เมื่อวานนี้ (2 ก.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อที่จะกํากับดูแลให้การติดตั้งระบบโซลาร์บนหลังคาบ้าน เพื่อติดตั้งได้สะดวกและง่ายขึ้น และมีมาตรการสนับสนุนเงินทุนในการติดตั้ง การหักค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษี  

ทั้งนี้ คาดว่าจะเสร็จพร้อมกับกฎหมายน้ำมันภายในปลายปี 2567 นี้ เพื่อมีส่วนช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากภาระค่าไฟหลักที่ต้องปรับทุก 4 เดือน

รวมถึงเตรียมสนับสนุนการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีและอุปกรณ์สำหรับการติดตั้งระบบ Solar Rooftop แบตเตอรี่สำหรับกักเก็บพลังงานไว้ใช้ในเวลากลางคืนในราคาถูก

ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลอง เบื้องต้นก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยระบบดังกล่าวนี้สามารถใช้กับเครื่องแอร์ได้ 3 เครื่อง ตู้เย็น 1 เครื่อง ประกอบด้วยแผงโซลาร์ เครื่องอินเวอร์เตอร์ และแบตเตอรี่ ทั้งหมดจะอยู่ในวงเงินประมาณ 30,000 บาท

โดยจะเป็นราคาต้นทุนการผลิตไม่รวมค่าบริหารจัดการ สามารถใช้ไฟได้ทั้งกลางวันและกลางคืน 

“เชื่อว่าในรอบปีที่ 2 จะมีผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกมาจำหน่ายในราคาถูก ซึ่งจะลดภาระให้ประชาชนหลุดพ้นจากปัญหาค่าไฟแพงได้"

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า การดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงค่าไฟที่ถูกลงโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้จากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา และขจัดปัญหาความยุ่งยากในการติดตั้งและการขออนุญาต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top