Tuesday, 6 May 2025
GoodsVoice

ประเมินสถานการณ์ 'EV' ปีหน้าจะเริ่มถูกกว่ารถสันดาปในหลายรุ่น หลังราคาแบตฯ รถยนต์ไฟฟ้ากำลังลดลงอย่างรวดเร็วถึง 90%

(18 ส.ค.67) Business Tomorrow เปิดเผยว่า ราคารถยนต์ไฟฟ้า EV กำลังเริ่มใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป โดยการเปลี่ยนแปลงนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้รถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นตัวเลือกหลักของผู้บริโภคในอนาคตอันใกล้ จากปัจจัยดังนี้...

1) ราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้ทยอยปรับตัวลดลงถึง -90% ตั้งแต่ปี 2008 ถึง 2023 (รายงานจาก Department of Energy สหรัฐฯ)

2) ปัจจุบันราคาแบตเตอรี่ EV อยู่ที่ประมาณ 130 ยูโรต่อ kWh ลดลงจาก 1,319 ยูโรต่อ kWh ในปี 2008

3) การลดลงของราคาแบตเตอรี่ EV เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเพิ่มการยอมรับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก

4) ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นอาจเท่ากับรถยนต์สันดาปได้เร็วที่สุดในปี 2025

5) ค่าเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษาที่ต่ำลงทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวเลือกที่น่าดึงดูดสำหรับผู้บริโภคมากขึ้น

6) Gartner ที่ปรึกษาระดับโลกคาดการณ์ว่าภายในปี 2027 ต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะถูกกว่ารถยนต์ 

7) การศึกษาของ JD Power พบว่าต้นทุนรวมในการเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าในระยะเวลา 5 ปีนั้น ต่ำกว่าการเป็นเจ้าของรถยนต์ ICE ใน 48 จาก 50 รัฐของสหรัฐฯ

8) แม้ว่าต้นทุนแบตเตอรี่จะลดลง แต่การเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้ายังต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จ เพิ่มขึ้นอีกด้วย

#อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในอนาคตอันใกล้ รถยนต์ไฟฟ้า EV กำลังจะมีราคาถูกกว่ารถยนต์สันดาปมากขึ้นไปเรื่อย ๆ จากต้นทุนแบตเตอรี่ที่ทยอยปรับตัวลดลง ซึ่งจะกลายเป็นอนาคตที่น่าติดตาม 

‘ชาร์ป’ ประกาศเดินหน้าธุรกิจในอาเซียน หลังตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้ายังเติบโตต่อเนื่อง พร้อม!! ลงทุนโรงงานใน ‘ประเทศไทย’ เพื่อส่งออกสินค้าไปไกล ขายให้ทั่วโลก

(18 ส.ค.67) ชาร์ป คอร์ปอเรชั่น (Sharp) ผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีสำหรับผู้บริโภคและโซลูชันสำหรับภาคธุรกิจ จัดงานใหญ่ระดับภูมิภาค ‘SHARP Sync-Up 2024’ ขึ้นที่ประเทศไทย เพื่อเผยถึงนโยบายการดำเนินธุรกิจ

นายโมโมกิ ทามุระ รองประธานฝ่ายธุรกิจระหว่างประเทศ และผู้จัดการทั่วไปธุรกิจไฟฟ้าและโซลูชั่นอัจฉริยะ บริษัท ชาร์ป คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ภูมิภาคอาเซียน มีประชากรกว่า 671 ล้านคน เป็นตลาดสำคัญของบริษัทฯ สะท้อนจากภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในอาเซียน (อ้างอิง Euromonitor) ปี 2567 คาดการณ์เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 1.4 ต่อปี และชาร์ปยังเป็นแบรนด์อันดับ 1 ของอาเซียน ในกลุ่มตู้เย็นและไมโครเวฟ

ขณะที่ประเทศไทย เป็นหนึ่งในตลาดที่สำคัญ ทั้งการสร้างยอดขาย และเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของชาร์ปฯ โดยมี 2 โรงงาน สำหรับผลิตไมโครเวฟ ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ ส่งออกตลาดทั่วโลก ล่าสุดมีโรงงานเพิ่งย้ายฐานผลิตมาจากประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้ในอนาคตบริษัทฯ เตรียมจะลงทุนในไทยเพิ่มเติม ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา

นอกจากนโยบายการทำธุรกิจแล้ว ภายในงานยังนำเสนอเครื่องใช้ไฟฟ้า ทีวี สมาร์ทโฮมโซลูชัน ‘Cocoro Home’ และนวัตกรรม ‘AIoT’ ใหม่ ๆ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคนี้ เช่น เตาอบไมโครเวฟแบบลิ้นชักที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร โดยมีการออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ (Ergonomic Design) เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในซีกโลกตะวันตก การันตีด้วยยอดขายกว่า 1 ล้านเครื่องในประเทศสหรัฐอเมริกา 

จากผลตอบรับนี้ ชาร์ป จึงเตรียมเปิดตัวเตาอบไมโครเวฟนี้ในตลาดอาเซียน โดยมีระบบการปรุงอาหารด้วยเซ็นเซอร์ที่ล้ำสมัยแต่ใช้งานง่าย สามารถปรับเวลาในการปรุงอาหารและความร้อนได้หลายระดับ ให้ทุกคนสามารถทำเมนูเพื่อสุขภาพด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ ที่บ้าน 

นอกจากนี้ ฝาประตูยังมาพร้อมกับระบบ Easy Wave Open ที่ใช้เซ็นเซอร์ในการตรวจจับความเคลื่อนไหว ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องอาหารหกเลอะเทอะ พื้นที่ด้านในกว้างขวาง เหมาะสำหรับครอบครัวขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ และระดับความสูงที่เหมาะสมกับสรีระ จึงเหมาะกับผู้ใช้ทุกคน

'อ.พงษ์ภาณุ' ติง!! 'ภาครัฐ' ปกป้องอุตฯ ไทย จากสินค้าราคาถูกจีนล่าช้า สวนทาง 'ยุโรป-เมกา' เดินเกมเก็บภาษีขาเข้าป้องกันจีนทุ่มตลาดแต่เนิ่นๆ

(18 ส.ค.67) ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในมุมมองของ 'จีนทุ่มตลาดไทย?' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการเปิดเผยสถิติการค้าแบบทวิภาคี 'ไทย-จีน' ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งปรากฏว่าไทยขาดดุลการค้าจีนแบบวินาศสันตะโร ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น ประชาชนยังไม่มีอำนาจซื้อและยังต้องแบกรับหนี้ภาคครัวเรือนจำนวนมหาศาล

ขณะที่เศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเมื่อเดือนที่แล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับการคาดการณ์อัตราเติบโตของ GDP ทั้งปีขึ้นเป็น 5% แม้ว่าการบริโภค/การลงทุนในประเทศยังทรงตัว อันเป็นผลมาจากภาคอสังหาริมทรัพย์จีนที่เกิดฟองสบู่แตกเมื่อหลายปีก่อน และยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวเท่าไหร่ แต่การขยายตัวของจีนขับเคลื่อนจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวเร็วผิดปกติอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่ออุปสงค์ในประเทศยังไม่ฟื้น แน่นอนย่อมมีกำลังการผลิตส่วนเกิน (Excess Capacity) ซึ่งหากสามารถผลักดันผลผลิตส่วนเกินนี้ออกสู่โลก แม้ว่าจะต้องกดราคาให้ต่ำเป็นพิเศษ ก็ยังดีกว่าปล่อยให้สินค้าคงเหลือเหล่านี้สูญเปล่าไป ซึ่งจากรายงานมีการส่งออกผลผลิตส่วนเกินออกสู่ตลาดหลายประเทศในราคาต่ำกว่าตลาด

ประเทศตะวันตกหลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา และยุโรป ได้รับผลกระทบจากสินค้าถูกจากจีนมาระยะหนึ่งแล้ว จึงได้มีการเก็บภาษีขาเข้าในรูปของ Anti-dumping Duty และ Countervailing Duty จากสินค้าจีน เพื่อป้องกันความเสียหายต่อผู้ประกอบการภายในประเทศจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม แม้ว่าอาจทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระสูงขึ้น

สำหรับประเทศไทย นอกจากจะไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในด้านนโยบายการค้า เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมแล้ว ระบบภาษีอากรของไทย ยังเอื้อให้มีการเอาเปรียบผู้ประกอบการในประเทศอีกด้วย ดังนี้...

ประการแรก 'ไทย-จีน' เป็นเขตการค้าเสรีมาระยะหนึ่งแล้ว ดังนั้น อุปสรรคการค้าทั้งในรูปของอากรขาเข้า และมิใช่อากร ที่พรมแดน ต้องเป็นศูนย์

ประการที่สอง รัฐบาล/กรมสรรพากรในอดีต มีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แก่สินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทต่อชิ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% โดยไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ วันนี้ได้รับรายงานว่า มีการยกเลิกข้อยกเว้นนี้ไปแล้ว

ประการที่สาม ภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยและของอีกหลาย ๆ ประเทศยังคงยึดมั่นในหลักสถานประกอบการถาวร (Permanent Establishment) และได้ยึดมั่นในหลักการนี้อย่างเคร่งครัดเสมอมาเป็นเวลากว่า 100 ปี จนการจัดเก็บภาษีเงินได้ปรับเปลี่ยนไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของโลก ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้ภาษีไปจำนวนมากมายจากที่ควรจะจัดเก็บได้ เพราะการทำธุรกิจในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องทำในรูปของสถานประกอบการถาวร แต่อยู่ในรูปของ Platform Online ซึ่งจะมีสถานประกอบการอยู่ที่ไหนก็ได้ หรือจะบันทึกกำไรในเขตภาษีที่มีอัตราภาษีเงินได้ต่ำที่สุด จึงทำให้กิจการเหล่านี้มีความได้เปรียบเชิงภาษีเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในไทย

นอกจากนี้ ในด้านนโยบายการค้าและการพาณิชย์ นั้น หากทันทีที่มีเหตุต้องสงสัย ว่าสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศมีการทุ่มตลาดและ/หรือได้รับการอุดหนุนให้มีราคาขายต่ำกว่าต้นทุน กระทรวงพาณิชย์จะต้องรีบดำเนินการตามกระบวนการ Anti-dumping Duty และ/หรือ Countervailing Duty เช่นที่นานาประเทศเขาทำกันโดยทันที โดยไม่ต้องรอให้ความเสียหายปรากฏชัดเช่นในปัจจุบัน กรอบกฎหมายของประเทศไทยมีหมดอยู่แล้ว ขาดอยู่ก็เฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย

ที่พูดมาทั้งหมดไม่ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยใช้มาตรการกีดกันทางการค้า (Protectionist Measures) ในทางตรงกันข้าม เราอยากเห็นการค้าเสรีที่อยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เป็นธรรม (Free and Fair Trade) หากรัฐดูแลให้กรอบการแข่งขันมีความเป็นธรรม แล้วผู้ประกอบการไทยยังไม่สามารถแข่งขันได้ ก็สมควรไปขายเต้าฮวยดีกว่า

‘อโกด้า’ จัดอันดับให้ ‘หาดใหญ่’ เป็นเมืองคุ้มค่าทางการท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้น!! ให้ภาคธุรกิจโรงแรมคึกคัก เพิ่มรายได้ให้คนในพื้นที่

(18 ส.ค.67) อโกด้า เผยผลสำรวจ ‘หาดใหญ่’ เป็นเมืองที่คุ้มค่าที่สุดในเอเชีย ในราคาห้องพักเฉลี่ย 1,250 บาท/คืน ส่งผลบวกต่อการท่องเที่ยวในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาเพิ่มมากขึ้น

ดร.สิทธิพงษ์ สิทธิภัทรประภา นายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่ สงขลา เผยว่า ผลสำรวจ แพลตฟอร์ม 
อโกด้า ส่งผลเชิงบวกต่อการท่องเที่ยว ทำให้อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง

โดยเฉพาะในเรื่องราคาห้องพักโรงแรม ที่ถือว่าคุ้มค่าที่สุดในเอเชีย สามารถกระตุ้นกลุ่มนักท่องเที่ยวใน 2 กลุ่มได้อย่างดี คือ กลุ่มที่ไม่เคยมาท่องเที่ยวในอำเภอหาดใหญ่เลย อยากจะลองมาเที่ยวสักครั้ง และ กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่เคยมาแล้ว แต่ไม่ได้กลับมานานแล้ว ก็อยากจะกลับมาอีกครั้ง

ขณะนี้ ผลสำรวจของอโกด้า ได้ถูกนำไปต่อยอด ขยายผล มีการรีวิว การเดินทางมาเที่ยวที่หาดใหญ่ รวมถึง มีอะไรน่าเที่ยว น่ากิน ทำให้ภาคการท่องเที่ยวเราคึกคักมากยิ่งขึ้น โดยห้องพักโรงแรมในอำเภอหาดใหญ่ขณะนี้มีอยู่กว่า 2 หมื่นห้อง พร้อมให้การต้อนรับนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพการท่องเที่ยวในอำเภอหาดใหญ่ ขณะนี้จะเป็นบวก มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจ แต่ก็อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมกันผลักดันการท่องเที่ยวทั้งภาพรวมของประเทศและภาพพื้นที่ เฉพาะจังหวัด เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ตรงเป้าหมาย เพิ่มรายได้ให้กับภาคธุรกิจและประชาชนมากยิ่งขึ้น

'เซ็นทารา ไลฟ์' ทำถึง!! ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ลูกค้า 'ทรู-ดีแทค' 'จัดส่วนลดห้องพัก-ตักอาหารเช้าได้ถึง 4 โมงเย็น-ไม่จำกัดเวลาเช็กอิน'

(19 ส.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา เครือโรงแรมชั้นนำของประเทศไทย ร่วมกับทรู คอร์ปอเรชั่น ประกาศความร่วมมือในการส่งมอบความสุขให้กับลูกค้าทรูและดีแทค ผนึกกำลังตอกย้ำแนวคิด ‘Better Together’ ภาพของการเติบโตและก้าวใหม่ที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ควบคู่ไปกับแคมเปญจากเซ็นทารา ไลฟ์ ที่ต้องการยกระดับความสุขให้คุ้มกว่าใคร โดยขอมอบอิสระแห่งการพักผ่อนที่มาพร้อมส่วนลดห้องพักและสิทธิพิเศษอีกมากมายให้กับลูกค้าทรูและดีแทค ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ทุกแห่งทั่วไทย เพื่อตอบโจทย์ความตั้งใจของเซ็นทารา ไลฟ์ ที่ต้องการให้ทุกการพัก…อัปไปอีกขั้น

ลูกค้าทรูและดีแทคจะได้สัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวอย่างอิสระและการบริการอย่างสะดวกสบายสูงสุด ตามหัวใจหลักของแบรนด์เซ็นทารา ไลฟ์ คือ Elevating the Essentials หรือ อิสระแห่งการพักผ่อน อาทิ การเข้าพักแบบเต็มอิ่ม 24 ชั่วโมง ไม่จำกัดเวลาเช็กอินและเช็กเอาต์, บริการอาหารเช้าถึง 16.00 น., โปรโมชันซื้อ 1 แถม 1 สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม (เมนูที่ร่วมรายการตลอดการเข้าพัก)

พร้อมส่วนลดห้องพักเพิ่มเติม 100 บาท เมื่อเข้าพักที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ทั้ง 8 แห่งในไทย สามารถรับข้อเสนอสุดเอ็กซ์คลูซีฟนี้ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 กันยายน 2567 ทางแอปทรูไอดี และดีแทคแอป โดยสามารถเข้าพักได้ถึง 31 ธันวาคม 2567

‘หยวนต้า’ วิเคราะห์!! ‘นักลงทุนต่างชาติ’ เริ่มกลับมาสนใจซื้อหุ้นไทย หลังได้นายกฯ คนใหม่-ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว มีโอกาสฟื้นตัวใน 1-2 เดือน

(20 ส.ค. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘Business Tomorrow’ โพสต์ข้อความในหัวข้อ ‘1,400 จุดแค่เอื้อม ฝรั่งเล็งเดินเครื่องช้อนหุ้นไทย ‘หยวนต้า’ ชี้เป็นจุดน่าซื้อที่สุดรอบ 2 ปี’ ระบุว่า…

คุณภาดล วรรณรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านทาง Live สด กับ Business Tomorrow เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2567 กล่าวว่า…

แนวโน้มตลาดหุ้นไทยเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ดีขึ้นจากปัจจัยการเมืองไทยคลายล็อกจุดเปลี่ยนสำคัญคือก้าวขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เบื้องต้นประเมินว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว และมีโอกาสเห็นการฟื้นตัวของดัชนีฯ แตะ 1,400 จุดภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า 

สำหรับปัจจัยสนับสนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน คาดว่าเกิดจากกระบวนการแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าจะเห็นโฉมหน้า ครม.ชุดใหม่ภายในสิ้นเดือน ส.ค. และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเริ่มทำงานในเดือน ก.ย.นี้ 

นอกจากนี้ ตลาดจับตาการทบทวนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต อาจจะเห็นการเปลี่ยนรูปแบบในมิติลดความเสี่ยงภาระหนี้ของประเทศ หรืออาจปรับเปลี่ยนให้เกิดผลบวกต่อการบริโภคในประเทศโดยตรง เป็นลักษณะนโยบายประชานิยม ส่วนหนึ่งเพื่อปูทางสู่การเลือกตั้งในอีก 3 ปีข้างหน้า

"ตอนนี้ต้องบอกว่าแนวโน้มหุ้นไทยโดยรวมอยู่ในช่วงที่มีนารีขี่ม้าขาวมาช่วย ไม่ใช่ม้าธรรมดาแต่เป็นม้าบินจะพาหุ้นไทยติดปีก ทำให้คาดหวังได้ว่าใน 1-2 เดือนข้างหน้ามีโอกาสเห็น 1,400 จุด และในปีนี้ต้องบอกว่าหุ้นไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ในความรู้สึกส่วนตัวมองว่าหุ้นไทยกำลังเป็นบรรยากาศที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนในรอบ 2 ปีทั้งจากปัจจัยต่างประเทศที่เอื้อและการเมืองไทยคลายกังวล" คุณภาดล กล่าว 

คุณภาดล ยังประเมินอีกว่า มีโอกาสสูงที่นักลงทุนต่างชาติจะเริ่มกลับมาซื้อหุ้นไทยอีกครั้ง เนื่องจากค่าเงินบาทส่งสัญญาณแข็งค่า ทำให้ต่างชาติรับส่วนต่างกำไรเพิ่มขึ้นจากค่าเงิน ถึงแม้ว่าเมื่อวันที่ 19 ส.ค. ต่างชาติมีสถานะขายสุทธิเกือบ 1.05 หมื่นล้านบาท แต่หากพิจารณาพบเป็นผลกระทบจากรายการบิ๊กล็อตหุ้น SCCC มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ฉะนั้นหากตัดรายการดังกล่าวจะพบต่างชาติกำลังเดินเครื่องซื้อสุทธิหุ้นไทยราว 1.5 พันล้านบาท

ฟังสัมภาษณ์หุ้นไทยจะบินหรือจะตก ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ นายกฯ คนใหม่ (ภาดล วรรณรัตน์)
https://www.youtube.com/watch?v=RhrjqiQk-g4

‘ไทยสมายล์บัส’ เปิด 13 เส้นทางวิ่งรถ 24 ชม. ‘เที่ยงคืน-ตี 5’ หวังรองรับการเดินทางช่วงกลางคืนของพี่น้องประชาชน

เมื่อวานนี้ (19 ส.ค.67) น.ส.กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทย สมายล์ กรุ๊ป หรือ TSB ผู้นำการให้บริการรถเมล์และเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทที่เป็นผู้รับใบอนุญาตเดินรถอย่างถูกต้องจากกรมการขนส่งทางบกในการให้บริการพี่น้องประชาชน ได้รับข้อร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่มีรถให้บริการช่วงเวลากลางคืนในหลายพื้นที่ หลังจากผู้ประกอบการรายเดิม ยกเลิกวิ่งกะกลางคืนในบางเส้นทางไปก่อนหน้านี้

ทางด้านบริษัทได้พิจารณาถึงความต้องการเดินทางในช่วงกลางคืนของพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย จึงได้ทยอยจัดเพิ่มการเดินรถกะสว่าง หรือรถ 24 ชั่วโมง ขณะนี้ให้บริการแล้วใน 13 เส้นทาง นับตั้งแต่เวลา 00.00 น. (เที่ยงคืน) ถึงเวลา 05.00 น. มีรถเมล์โดยสารพลังงานไฟฟ้าออกให้บริการในเส้นทางต่าง ๆ ตลอดทุกชั่วโมง อีกทั้งจะทยอยเพิ่มจำนวนรถต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องไปกับความต้องการของผู้โดยสาร

สำหรับสายรถที่ ไทยสมายล์บัส เปิดวิ่งให้บริการช่วงกลางคืน ประกอบด้วย

1. สาย 1-3(34) เส้นทางบางเขน-ถนนพหลโยธิน-หัวลำโพง
ให้บริการตั้งแต่เวลา : 23.00 น., 00.00 น., 01.00 น., 02.00 น., 03.00 น., 05.00 น.
2. สาย 1-37(27) เส้นทางมีนบุรี-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ให้บริการเวลา : 22.00 น., 00.00 น., 05.00 น.
3. สาย 1-39(71) เส้นทางสวนสยาม-คลองเตย
ให้บริการเวลา : 22.00 น., 22.40 น., 00.00 น., 01.00 น., 02.00 น., 03.45 น., 04.00 น., 04.15 น., 04.30 น., 04.45 น., 05.00 น.
4. สาย 2-15(97) เส้นทางกระทรวงสาธารณสุข-รพ.สงฆ์
ให้บริการเวลา : 23.00 น., 00.00 น., 01.30 น., 03.00 น., 04.00 น., 04.10 น., 04.20 น., 04.30 น., 04.40 น., 04.50 น., 05.00 น.
5. สาย 2-38(8) เส้นทางแฮปปี้แลนด์-ท่าเรือสะพานพุทธ
ให้บริการเวลา : 22.00 น., 23.00 น., 00.00 น., 01.00 น., 02.00 น., 03.45 น., 04.00 น., 04.10 น., 04.20 น., 04.30 น., 04.40 น., 04.50 น., 05.00 น.

6. สาย 3-1(2) เส้นทางปากน้ำ-ท่าเรือสะพานพุทธ
ให้บริการเวลา : 22.00 น., 00.00 น., 01.00 น., 02.00 น., 03.00 น., 03.50 น., 04.05 น., 04.20 น., 04.35 น., 04.50 น., 05.00 น.
7. สาย 3-6(25) เส้นทางโรงเรียนปทุมคงคาสมุทรปราการ-สถานีขนส่งเอกมัย (เพิ่ม 1 คัน)
ให้บริการเวลา : 22.40 น., 23.00 น., 01.00 น., 02.00 น., 04.30 น., 04.45 น., 05.00 น.
8. สาย 3-36(4) เส้นทางท่าเรือคลองเตย-ท่าเรือภาษีเจริญ
ให้บริการเวลา : 22.00 น., 23.30 น., 01.00 น., 02.00 น., 03.30 น., 04.00 น., 04.30 น., 05.00 น.
9. สาย 34 เส้นทางรังสิต-หัวลำโพง
ให้บริการเวลา : 22.10 น., 00.00 น., 03.40 น., 04.20 น., 05.00 น.
10. สาย 4-36(7) เส้นทางโรงเรียนศึกษานารี-หัวลำโพง
ให้บริการเวลา : 23.30 น., 01.00 น., 02.30 น., 03.45 น., 04.00 น., 04.10 น., 04.20 น., 04.30 น., 04.40 น., 04.50 น., 05.00 น.

11. สาย 4-44(80A) เส้นทางหมู่บ้าน วปอ.11-สวนหลวงพระราม 8
ให้บริการเวลา : 22.30 น., 01.00 น., 04.45 น., 05.00 น.
12. สาย 4-46(84) เส้นทางวัดไร่ขิง-BTS กรุงธนบุรี
ให้บริการเวลา : 22.00 น., 23.00 น., 00.00 น., 01.00 น., 02.00 น., 03.00 น., 04.00 น., 04.10 น., 04.20 น., 04.30 น., 04.40 น., 04.50 น., 05.10 น.
13. สาย 4-15(82) เส้นทางท่าน้ำพระประแดง-บางลำพู
ให้บริการเวลา : 22.00 น., 23.00 น., 00.00 น., 01.00 น., 02.00 น., 03.00 น., 04.00 น.(04.29), 04.30 น.(04.31), 04.40 น., 05.00 น.

ขณะเดียวกัน TSB ยังคำนึงถึงปัญหาค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน โดยรถเมล์ไฟฟ้าสีน้ำเงินทุกคันจะรองรับบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ HOP Card ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ ‘เดลิ แมกซ์ แฟร์’ (Daily Max Fare) ให้ผู้โดยสารสามารถขึ้น-ลง กี่ครั้ง กี่ต่อ ไม่อั้นภายในหนึ่งวัน ด้วยการจ่ายค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 40 บาทต่อวันเท่านั้น หรือนั่งรถต่อเรือ เรือต่อรถ ชำระค่าโดยสารสูงสุดเพียง 50 บาทเท่านั้น แต่หากผู้โดยสารท่านใดไม่ได้นั่งบ่อยก็จ่ายตามจริง เริ่มเพียง 15-20-25 บาท

‘การรถไฟไทย-มาเลฯ’ เห็นชอบเปิดเดินรถ ‘กรุงเทพอภิวัฒน์-บัตเตอร์เวอร์ธ’ เชื่อมต่อการเดินทาง-กระตุ้นท่องเที่ยว-เศรษฐกิจ ระหว่าง 2 ประเทศ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13-16 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนการรถไฟฯ เดินทางเข้าประชุมร่วมระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยและการรถไฟมาเลเซีย ครั้งที่ 42 (42nd KTMB - SRT Joint Conference) ณ เมืองโคตา คินาบาลู รัฐซาบาห์ สหพันธรัฐมาเลเซีย เพื่อขยายความร่วมมือการให้บริการเดินรถเชื่อมต่อระหว่างไทย-มาเลเซีย อำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ประชาชน การขนส่งสินค้าของทั้งสองประเทศแบบไร้รอยต่อ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายของ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐบาล

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเดินทางไปร่วมประชุมฯ ของนายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการการรถไฟฯ และคณะผู้แทนการรถไฟฯ กับการรถไฟมาเลเซียครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความร่วมมือการให้บริการขนส่งทางรางของทั้ง 2 ประเทศร่วมกันในทุกมิติ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการจัดเดินขบวนรถจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-ปาดังเบซาร์-บัตเตอร์เวอร์ธ รัฐปีนัง สหพันธรัฐมาเลเซีย เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางของชาวไทยและชาวมาเลเซียให้ไปมาหาสู่กันแบบไร้รอยต่อ ซึ่งเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบให้มีการขยายเส้นทางขบวนรถไฟท่องเที่ยว MySawasdee จากมาเลเซียมาไทย จากเดิมเปิดให้บริการถึงสถานีชุมทางหาดใหญ่ ให้ขยายมาถึงสถานีสุราษฎร์ธานี หลังขบวนรถท่องเที่ยว MySawasdee ได้รับผลตอบรับที่ดีเยี่ยม มีจำนวนผู้โดยสารเต็มทุกเที่ยว การขยายเส้นทางรถไฟท่องเที่ยวนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว และนำรายได้เข้าสู่ประเทศเพิ่มขึ้น โดยหลังจากนี้ทั้ง 2 หน่วยงานจะมีการตกลงรายละเอียด และระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ประชุมฯ เห็นชอบในหลักการแล้ว จะได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อพิจารณาการเปิดให้บริการขบวนรถไฟเส้นทางต่อขยายจากสถานีกลางกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ไปยังสถานีบัตเตอร์เวอร์ธ โดยในช่วงแรกจะเป็นการทดลองการเดินรถเป็นระยะเวลา 6 เดือน  

'ดร.คงกระพัน' เปิดแผน!! เขย่า ปตท.ครั้งใหญ่ พลังงานรูปแบบใหม่ รายได้ใหม่ โอกาสระยะยาว

แม้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ทาง ปตท.จะแถลงผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี โดยมีกำไรสุทธิรวมของ ปตท. และบริษัทย่อยจำนวน 64,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,475 ล้านบาท หรือ 34.4% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2566 พร้อมๆ กับการเปิดเผยภาษีนำส่งรัฐรวม 35,684 ล้านบาท และส่วนร่วมบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตด้านราคาพลังงาน ตั้งแต่ปี 2563 ในวงเงินกว่า 24,000 ล้านบาท เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน

แต่สิ่งที่ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บอสใหญ่คนใหม่ ดูจะย้ำในงานแถลงครั้งนี้บ่อยครั้ง กลับไม่ใช่การเน้นในเรื่องของความสำเร็จจากผลการดำเนินงานจากกลุ่ม ปตท.เท่าไรนัก 

เหตุผลหนึ่ง เพราะ ดร.คงกระพัน รู้ดีว่ากลุ่มธุรกิจเดิมของ ปตท.ที่มีอยู่ เริ่มส่งสัญญาบางอย่าง เช่น การเติบโตขึ้นบ้าง ทรงๆ บ้าง และบางกลุ่มอาจจะเหนื่อยในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของพลังงานรูปแบบเดิม ซึ่งในอนาคต เชื่อว่าจะต้องปรับเปลี่ยนไปจากอิทธิพลของ 'สภาพภูมิอากาศ' ในโลกที่บีบให้มนุษย์ต้องหันมาใช้พลังงานที่สะอาดมากขึ้น 

ขณะเดียวกันแนวโน้มพลังงานฟอสซิลพลังงานเดิมที่ใช้อยู่ ก็จะค่อยๆ ลดลงในอนาคต ภายใต้การคาดการณ์ว่า ถ่านหินจะลดลงเร็วกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ถัดมาคือน้ำมันก็จะลดลงต่อไป ส่วนก๊าซธรรมชาติจะลดลงช้า ปตท.ยังมุ่งเน้นในการขยายธุรกิจก๊าซธรรมชาติ คือ LNG และมุ่งมองหาพลังงานหมุนเวียนอื่นมาพลังงานทดแทน ซึ่งหลัก ๆ จะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์และลม รวมไปถึงไฮโดรเจน

ดังนั้น สิ่งที่ ดร.คงกระพัน ได้ประกาศในเชิงของเป้าหมายจากนี้ จึงชัดเจนไปที่ การมุ่งสร้างธุรกิจเพื่อความมั่นคงทางพลังงานให้เมืองไทย ที่อยู่บนพื้นฐานความถนัดของ ปตท. และต้องทำกำไรได้ในระยะยาว ซึ่งก็คงไม่พ้นการปรับทิศหันหาพลังงานสะอาดที่เด่นชัดขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานแห่งอนาคต ที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero 

"การทำให้ ปตท.เติบโตยั่งยืนอย่างสมดุลจากนี้ จะอยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ ที่จะสร้างความ "แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน' หรือ TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD...

"ขณะนี้เรากำลังทบทวนตัวเอง (Revisit) เพื่อเดินหน้าแผนกลยุทธ์ใหม่ในการทำธุรกิจ จากเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ที่ ปตท. ก็ไม่ต่างจากผู้ผลิตในกลุ่ม Oil Major ต่าง ๆ ในโลก ซึ่งมองเห็นเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) และแนวโน้มการใช้น้ำมันจะลดน้อยลง ส่งผลให้ทุกรายกระโดดเข้าไปทำธุรกิจอื่นนอกเหนือจากเรื่องน้ำมัน ซึ่งอาจจะมีทั้งธุรกิจที่ถนัดบ้างไม่ถนัดบ้าง มีการลองผิดลองถูก แต่ในส่วนของเราจากนี้ คงต้องเลือกทำแบบโฟกัส เพราะเงินเราไม่ได้มีอย่างไม่จำกัด"

ดร.คงกระพัน เผยต่อว่า ปัจจุบันธุรกิจของ ปตท.แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ธุรกิจ Hydrocarbon & Power ที่ครอบคลุม การสำรวจและผลิต ก๊าซ น้ำมัน ปิโตรเคมีและการกลั่น ค้าปลีกน้ำมัน และธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจที่เรามีความถนัด ซึ่งตอนนี้มีสัดส่วนกำไร 99% ของกำไรรวมของ ปตท. แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ธุรกิจกลุ่มนี้ก็ต้องปรับตัว ทำให้ดีขึ้น ต้นทุนต่ำลง รวมถึงการหาโอกาสในการเติบโตใหม่ ๆ เช่น การหาพันธมิตรที่เหมาะสม เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับธุรกิจ แต่สิ่งสำคัญคือจะทำแบบเดิมไม่ได้ ต้องทำควบคู่กับการลดคาร์บอน

อีกกลุ่มคือ ธุรกิจ Non-Hydrocarbon เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับเมกะเทรนด์ (Mega Trend) อย่างเช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ปตท. ได้ทบทวนธุรกิจกลุ่มนี้ใหม่ทั้งหมดทั้ง value chain และพบว่าธุรกิจ EV Charging หรือการอัดประจุกระแสไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ น่าจะเป็นธุรกิจที่เหมาะสมกับกลุ่ม ปตท. โดยสามารถใช้จุดแข็งของบริษัท ปตท.นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่มี Ecosystem ที่ดี ใกล้ชิดกับลูกค้า โดย OR จะมีบทบาทเป็น Mobility Partner ให้กับคนไทย

อย่างไรกับก็ตาม การจะ Revisit ตัวเองนั้น ดร.คงกระพัน มองว่าจะต้องวิเคราะห์ 2 มุมมองให้ออก คือ...

1) ธุรกิจที่ทำใน Value Chain นั้นยังเป็นธุรกิจที่ดีอยู่หรือไม่ เพราะ 3-4 ปีที่แล้วกับวันนี้คนละเรื่องกัน

และ 2) ปตท. มี Right to play หรือจุดแข็งในการจะเข้าไปทำธุรกิจกลุ่มนี้หรือไม่

"ถ้ามีทั้ง 2 อย่าง แปลว่าธุรกิจยังน่าสนใจอยู่ เราสู้ ทำต่อ หรือบางธุรกิจอาจจะต้องเร่งเครื่องด้วย บางธุรกิจอาจจะต้องออก เช่น กรณีที่ธุรกิจที่ลงทุนไปแล้วไม่ตอบโจทย์ ปตท. ก็มีทางออกหลายวิธี เช่น อาจจะต้องหาพาร์ตเนอร์เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจที่จะต้องดูความสามารถในการแข่งขันว่าเหมาะสมกับเราไหม สามารถเข้าหรือออกได้ ไม่อย่างนั้นจะเป็นการกอดสินทรัพย์ (Asset) ไว้เยอะเกินไป เราจึงควรต้องทำให้ตัวเบา" ดร.คงกระพัน กล่าว

ทั้งนี้ ภายใต้แผนการทบทวนตัวเองของ ปตท. ก็มีการพูดถึง 'CCS – ไฮโดรเจน' เข้ามาเป็นสมการสำคัญอยู่อย่างชัดเจนขึ้นด้วย

"อย่างที่บอกไปว่า ตอนนี้เราทำ Strategy Plan เสร็จแล้ว ซึ่งก็จะเริ่มบอกได้ชัดเจนว่า ธุรกิจไหนจะเร่งเครื่อง? ธุรกิจไหนจะถอย? อย่างไฮโดรคาร์บอนจะทำไฮโดรเจน คู่กันกับ CCS ช่วงปลายปีก็จะรู้ว่าต้องใช้เงินลงทุนเท่าไร ต้องกู้เท่าไร ต้องปันผลอย่างไร จะมีความสามารถที่จะลงทุนแค่ไหน ก็เอามาเทียบกับโครงการที่จะเกิดขึ้น แต่แน่นอนว่าอยู่ในแผนการ...

"นั่นก็เพราะ 'ไฮโดรเจน' (Hydrogen) จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยลดคาร์บอน สำหรับภาคอุตสาหกรรม เพราะอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้า โรงกลั่น โรงปิโตรเคมี หากปรับเปลี่ยนมาใช้ไฮโดรเจนเป็นส่วนผสมของเชื้อเพลิง จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ หากเราสามารถใช้ไฮโดรเจนทดแทนไฮโดรคาร์บอนได้ 5% ก็จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 5% เช่นกัน"

(***แนวโน้มราคาต้นทุนผลิตไฮโดรเจนจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ทำให้ ปตท.อาจจะดำเนินการได้เร็วกว่าแผน)

ดร.คงกระพัน เสริมอีกว่า "ก่อนหน้านี้ทางท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ได้ไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งท่านก็คุยเรื่องไฮโดรเจนเหมือนกัน ทาง ปตท. ก็ได้มีคุยกับท่านแล้ว ทางซาอุดีอาระเบียก็อยากจะมาลงทุนที่เมืองไทย ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะตลาดนี้มีศักยภาพใหญ่กว่า Mobility เป็นร้อยเท่าเลยทีเดียว"

"ส่วนการลงทุนเรื่อง CCS (การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage) จะอยู่ในแผนการลงทุน 5 ปีแน่นอน และไม่ใช่สิ่งเดียวกับที่ ปตท.สผ. ทำก่อนหน้านี้ ซึ่งโครงการของ ปตท.สผ. นั้นเป็นแซนด์บ็อกซ์ เป็นการทดลองเบื้องต้น แต่โครงการนี้กลุ่ม ปตท. เราวางแผนกลยุทธ์การกักเก็บคาร์บอนร่วมกัน หรือก็คือใครปล่อยก็เก็บ เช่น IRPC, GC, GPSC, TOP จะต้องดักจับคาร์บอนมาจากโรงงานตัวเอง การเก็บไม่ได้แปลว่า ต้องปล่อยแล้วก็เก็บ บางทีอาจจะเก็บตั้งแต่ยังไม่ปล่อยเลยก็ได้ โดยมี ปตท. เป็นคนลงทุนเรื่อง Infrastructure และทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อปลดล็อกกฎระเบียบ และให้ ปตท.สผ. ช่วยดูแลปลายทาง ในเรื่องการเก็บลงหลุมเช่น ใต้ทะเล"

อย่างไรก็ตาม ดร.คงกระพัน มองว่า ในส่วนของเทคโนโลยี CCS นั้น ในต่างประเทศไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ มีการลงทุนทำกันมาเยอะในหลายประเทศ อย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรปก็มีเทคโนโลยีอยู่แล้ว ซึ่งหากปตท.จะลงทุน ก็อาจจะลงทุนพัฒนาร่วมกับพันธมิตร หรืออาจจะไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อเอาเทคโนโลยีมาปรับประยุกต์ ก็เป็นไปได้หมด

สุดท้าย ซีอีโอ ปตท. ให้บทสรุปว่า ไม่ว่าจะมีความท้าทายในด้านพลังงานอย่างไร ปตท.ต้องมีทิศทางชัดเจน ดังวิสัยทัศน์ 'ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน' ซึ่งต้องสร้างความแข็งแรงร่วมกับสังคมไทย ภายใต้การเติบโตทางธุรกิจที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืนอย่างสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการมีธรรมาภิบาลที่ดี รวมถึงยึดความมั่นคงทางพลังงานของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ

'วินฟาสต์' ถอยทัพ!! รอจังหวะดีๆ ค่อยกลับมา ไม่ฝืนเดินหน้าเพราะมีแต่เจ็บตัว เหตุ!! ตลาดไทยไม่ง่าย ภายใต้สงครามราคาดุที่เกิดขึ้นจากแบรนด์จีน

(21 ส.ค. 67) วินฟาสต์ (VinFast) แบรนด์รถไฟฟ้า 100% สัญชาติเวียดนาม ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 เป็นบริษัทในเครือของ Vingroup (VIC) ยักษ์ใหญ่ในเวียดนามที่ถือธุรกิจหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล และโรงแรม ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท (ปี 2566)

วินฟาสต์เริ่มขยายธุรกิจสู่ตลาดใหญ่ของโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และในปีนี้วินฟาสต์เล็งขยายธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจริงจัง และไทย เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่วินฟาสต์จะเข้ามาทำตลาด ทั้งนี้เนื่องจากตลาดรถไฟฟ้าในบ้านเรากำลังเติบโตด้วยนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาล

ในไทยวินฟาสต์ เข้ามาตั้งบริษัทลูกตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว คือ บริษัทวินฟาสต์ ออโต้ (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 108,360,000 บาท และในงานมอเตอร์โชว์ ปี 2024 นำรถเข้ามาอวดโฉมหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น VF e34 , VF5 ,VF6 , VF7, VF8, VF9 รวมถึงรถกระบะไฟฟ้า VF Wild ตัวใหม่ล่าสุดด้วย

แต่ยังไม่ทันได้ตั้งไข่มีกระแสข่าวออกมาว่า วินฟาสต์ ชะลอแผนการทำธุรกิจในไทย พร้อมเลื่อนเปิดตัวรถรุ่นแรก VF5 ออกไปแบบไม่มีกำหนด รวมถึงผู้บริหารคนแรก วู ดัง เยน ฮัง (Vu Dang Yen Hang) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ วินฟาสต์ ออโต้ (ประเทศไทย) จำกัด ถูกสั่งให้กลับไปดูงาน วินกรุ๊ป ที่เวียดนามอีกต่างหาก และตอนนี้ยังไม่มีผู้รักษาการแทน ขณะเดียวพนักงานคนไทยฝ่ายการตลาดจะถูกให้ออกภายในสิ้นเดือนนี้ (สิงหาคม)  ด้วยเหตุผลว่าปีนี้ไม่มีการจำหน่ายรถในประเทศไทย

ซึ่งตอนนั้นเธอให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "การเปิดตัวแบรนด์ของเราในประเทศไทยเป็นก้าวสำคัญภายใต้กลยุทธ์การขยายธุรกิจสู่ทั่วโลกของวินฟาสต์ ซึ่งจะเสริมสร้างฐานธุรกิจในประเทศศูนย์กลางยานยนต์ที่คึกคักที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าครบทุกรุ่นของเราสะท้อนถึงบทบาทผู้นำของวินฟาสต์ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของปฏิวัติการขนส่งสีเขียวของประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่อนาคต ที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นสำหรับทุกคน"

ประเทศไทยคือตลาดรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลในหลายด้าน จากข้อมูลของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย คาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี 2567 นี้ วินฟาสต์มุ่งมั่นที่จะขยายตัวอย่างรวดเร็วในตลาดประเทศไทย และเสริมสร้างความเป็นผู้นำในการบุกเบิกการพัฒนาการขับเคลื่อนสีเขียวและยั่งยืนทั่วโลก

บวกกับได้มีการพูดคุยกับดีลเลอร์ในช่วงแรกถึง 15 รายที่สนใจจะทำธุรกิจกับวินฟาสต์ อีกทั้งยังมีแผนเปิดโชว์รูมประมาณ 30 แห่งภายในปี 2567 แต่ปัจจุบันแผนคงถูกพับเก็บไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนดีลเลอร์ไม่รู้ชะตากรรม ว่าเหลือเท่าไร ถอดใจตามหรือเปล่า หรือจะเบี่ยงเบนไปขายแบรนด์อื่นหรือยัง

สาเหตุของการพับการทำธุรกิจในไทย น่าจะเกิดจากภายใต้ภาวะสงครามราคาที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ในตลาดไทยค่อนข้างรุนแรงด้วยแบรนด์จีน ขนาดรถค่ายญี่ปุ่นที่อยู่มานานยังซวนเซกันทั้งขบวน วินฟาสต์ในฐานะแบรนน้องใหม่จึงต้องทบทวนธุรกิจอีกรอบ เพราะการทำตลาดรถในไทยไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ นอกจากจะมีตัวเล่นเยอะทั้งค่ายญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา และจีน คุณภาพสินค้า เครือข่ายการจำหน่าย การบริการหลังการขาย กลยุทธ์ในการทำตลาด และที่สำคัญชื่อเสียงของแบรนด์ การสร้างแบรนด์ ความน่าเชื่อถือต่อลูกค้าคนไทย ทุกอย่างต้องใช้เวลา ไม่สามารถใช้การตัดราคา รถราคาถูก และจะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้

โจทย์ดังกล่าวข้างต้นสร้างความหนักใจให้กับวินฟาสต์ไม่มากก็น้อย ดังนั้นการถอยทัพกลับไปตั้งหลัก คิดทบทวนอีกครั้งก็ยังไม่สาย ที่สำคัญคิดว่าช่วงนี้ยังไม่เหมาะสมที่จะรุกเข้ามาตลาดไทย เหตุการแข่งขันกำลังเดือด ถ้าโดดเข้าร่วมวงตอนนี้มีแต่เจ็บตัว การพักรบไปก่อน รอจังหวะดี ๆ ค่อยกลับมารุกธุรกิจก็ยังไม่สาย จะได้อยู่ยาว ๆ เป็นตัวเลือกให้กับคนไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top