Tuesday, 6 May 2025
GoodsVoice

‘Whoscall’ ผนึกกำลังตำรวจไซเบอร์ รับเทศกาลวันแม่ แจกฟรี!! 500,000 โค้ดพรีเมียม 2 เดือน หมดเขต 31 ส.ค.นี้

(8 ส.ค.67) Gogolook บริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อความเชื่อมั่น (TrustTech) ผู้พัฒนา แอปพลิเคชัน Whoscall แอปพลิเคชันระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จัก และป้องกันสแปมสำหรับสมาร์ทโฟน ร่วมกับกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) จึงถือโอกาสช่วงเทศกาลวันแม่ ส่งวิดีโอแคมเปญ #ไม่มีใครตัดสายเก่งเท่าแม่คุณ ชวนลูกทุกคนมอบของขวัญสุดล้ำค่าเพื่อปกป้องแม่ ด้วยการโหลดแอปฯ Whoscall พร้อมแจกโค้ด Whoscall พรีเมียม เบสิก ฟรี! 2 เดือน ตั้งแต่วันนี้ - 31 สิงหาคม 2567

จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ล่าสุดของบช.สอท. ระหว่างเดือน มีนาคม 2565 - มิถุนายน 2567 เผยให้เห็นว่า คนไทยตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพมากกว่า 575,500 คดี มูลค่าความเสียหายสะสมกว่า 65,715 ล้านบาท หรือ เฉลี่ยมูลค่าความเสียหายวันละ 80 ล้านบาท โดย 64% เกิดขึ้นกับกลุ่มเพศหญิงวัยทำงานตอนกลางจนถึงวัยสูงอายุ ตั้งแต่อายุ 30 - 60 ปีขึ้นไป สูงถึงกว่า 248,800 คดี ดังนั้น Gogolook ในฐานะบริษัทที่มีความมุ่งมั่น อย่างแน่วแน่ในการป้องกันกลลวงจากมิจฉาชีพ พร้อมส่งเสริมให้ทุกคนหันมาปกป้องคนที่คุณรักจากภัยคุกคาม จากการหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ

ด้าน นางสาว มนประภา รัตนกนกพร หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Whoscall กล่าวว่า “การปกป้อง ‘แม่’ หรือผู้สูงอายุจากมิจฉาชีพเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน ในขณะที่เราสามารถปกป้องมิจฉาชีพได้ด้วยตนเอง ‘แม่’ ของเราอาจรู้ไม่เท่าทัน โดยจากการสำรวจของบริษัทเมื่อไม่นานมานี้ พบว่า การมีเงินเก็บเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเงินออม เงินเกษียณ หรือ เงินบำนาญ และความไม่ชำนาญในการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุมักตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพ ซึ่งปัจจุบัน Whoscall เป็นหนึ่งในแอปพลิเคชัน ที่ไทยนิยมใช้มากที่สุดสำหรับการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพ ดังนั้นในช่วงเทศกาลวันแม่ปีนี้ เราจึงได้ร่วมมือกับ บช.สอท. ออกวิดีโอแคมเปญ เพื่อร่วมรณรงค์การเฝ้าระวังภัยจากมิจฉาชีพ พร้อมจัดกิจกรรมแจกโค้ด Whoscall พรีเมียม เบสิก ฟรี เป็นของขวัญสุดล้ำค่าให้แก่คนที่เรารัก”

วิดีโอแคมเปญภายใต้คอนเซปต์ #ไม่มีใครตัดสายเก่งเท่าแม่คุณ ที่จะปล่อยออกมาในช่วงเทศกาลวันแม่นี้ เป็นการนำเสนอไอเดียการสื่อสารผ่านหนังโฆษณาที่มุ่งเน้นไปที่การปกป้องผู้ใช้จากการรับสายและข้อความที่ไม่พึงประสงค์ โดยแคมเปญนี้ได้มีการหยิบยกเคสตัวอย่างจริง ซึ่งทางแบรนด์ได้มีการตรวจสอบและขออนุญาตจากผู้เกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายแล้ว โดยเคสที่หยิบยกขึ้นมาเป็นเคสตัวอย่างของคุณแม่หลายท่านที่ถูกมิจฉาชีพหลอกเงิน ตามมาด้วย ความสูญเสียมหาศาลทั้งทางทรัพย์สินและสภาพจิตใจ ที่มาพร้อมวลีเด็ด ‘อย่าให้ค่าน้ำนมกลายเป็นค่าเสียหาย’ เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ลูก ๆ ตระหนักถึงปัญหา และอยากถือโอกาสเชิญชวนลูกทุกคนลุกขึ้นมาร่วมมือกันปกป้องคุณแม่ จากมิจฉาชีพด้วยการโหลดแอปพลิเคชัน Whoscall และแจ้งเบาะแสของการหลอกลวงกับสายด่วนตำรวจไซเบอร์ 1441

ด้าน พ.ต.ท. ดร.ปุริมพัฒน์ ธนาพันธ์สิริ รอง ผกก.4 บก.สอท.1 ผู้แทนหน่วยกองบัญชาการตำรวจ สืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่า “จากข่าวมิจฉาชีพที่ได้เห็นกันมาตลอดทำให้คนไทยเริ่มตื่นตัว และระวังภัยจากมิจฉาชีพที่เข้ามาในรูปแบบต่าง ๆ กันมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนรุ่นใหม่ ที่อัปสกิลการเอาตัวรอด และรู้วิธีการต่อกรกับมิจฉาชีพในคราบคอลเซ็นเตอร์หลากหลายรูปแบบได้ แต่ไม่ใช่กับคนรุ่นแม่หรือผู้สูงอายุ จากสถิติล่าสุดของ บช.สอท.สามารถสรุปได้ว่า กลุ่มผู้หญิงวัยทำงานไปจนถึงผู้สูงวัย หรือบรรดาแม่เป็นเป้าหมาย หลักของมิจฉาชีพ โดยคดีการหลอกลวงทางออนไลน์จากมิจฉาชีพที่สร้างมูลค่าความเสียหาย ให้กับประเทศไทยมากที่สุด คือ ‘คดีหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์’ โดยมีมูลความเสียหายรวมเกือบ 7 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมถึงคดี ที่อยู่ในระบบออฟไลน์ หรือผู้ที่ไม่ได้มาแจ้งความ ดังนั้นความร่วมมือกับ Whoscall ถือเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ในจังหวะที่ สถานการณ์มีความรุนแรง และมูลค่าความเสียหายสะสมมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ เราพร้อมร่วมมือกับ Whoscall เพื่อปกป้องชุมชนจากภัยคุกคาม และป้องกันกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเปราะบางมากที่สุด”

ดังนั้นพิเศษในช่วงเทศกาลวันแม่ปีนี้ Whoscall จัดกิจกรรมแจกโค้ด Whoscall พรีเมียม เบสิก เป็นระยะเวลา 2 เดือน ให้ทั้งแม่และลูก ฟรี!! จำนวน 500,000 โค้ด รวมมูลค่ากว่า 29 ล้านบาท

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Whoscall ได้ฟรี!! ทั้ง iOS และ Android และ กรอกโค้ด WHOSCALLSAVEMOM ที่ https://redeem.whoscall.com/ เพื่อเข้าถึงฟีเจอร์การใช้งานต่างๆ อาทิเช่น การบล็อกสายมิจฉาชีพ ระบบอัปเดตหมายเลขโทรศัพท์ภายในเครื่องโดยอัตโนมัติ รวมไปถึงการป้องกันลิงก์จาก SMS ปลอม ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 สิงหาคม 2567

ทั้งนี้ สามารถรับชมวิดีโอแคมเปญได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=5cLr3l7JoPE
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Whoscall ได้ฟรี! ทั้ง iOS และ Android ที่ https://app.adjust.com/1fl5tjhg

และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://whoscall.com/th/blog/articles/1306 และ https://www.facebook.com/whoscall.thailand

รู้จัก Chayanna แบรนด์ผ้าไหมไทย ใต้ความมุ่งมั่น 'ดร.ชญณา ศิริภิรมย์' แต่งเติมศิลป์สู่ผืนผ้าไหม ยึดกระบวนการผลิตที่ขออิงธรรมชาติให้มากที่สุด

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ ดร.ชญณา ศิริภิรมย์ หรือคุณจ๊ะ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารแบรนด์ผ้าไหมไทย Chayanna ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากคุณแม่ 

ดร.ชญณา เล่าว่า คุณแม่เป็นคนที่ชอบใส่ผ้าไทยและสะสมผ้ามายาวนาน เลยคุ้นเคยกับผ้าไหมไทย และตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจจากการตัดเสื้อผ้าไหมให้กับเพื่อน ๆ สวมใส่ จนกระทั่งได้สำรวจตลาดแล้วยังพบว่าไม่มีแบรนด์ผ้าไหมไทยที่ผลิตจากไหมมัดหมี่แล้วย้อมสีจากธรรมชาติ 100% แบบดั้งเดิมจริง ๆ 

ดร.ชญณา เผยอีกว่า ผ้าไหมของ Chayanna สร้างความแตกต่าง โดยใช้เทคนิคการทอผ้าแบบโบราณ แต่ออกแบบลวดลายให้ทันสมัย จนกลายเป็นจุดแข็งของแบรนด์ คือ ย้อมสีจากธรรมชาติ หมักผสมดิน ที่ให้สีและกลิ่นที่เป็นธรรมชาติ และใช้น้ำจากหนองน้ำล้างสีย้อมแทนน้ำประปา ในทุกกระบวนการผลิต เป็นการผลิตจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของศิลปินพื้นบ้าน ที่หาไม่ได้จากการทำแบบอุตสาหกรรม ลักษณะเด่นของผ้าไหมแบรนด์ Chayanna จะมีความบางเบาและเนื้อผ้าแน่น โดยได้รับการรับรองตรานกยูงพระราชทานจากกรมหม่อนไหม ทำให้คนซื้อสบายใจและมั่นใจได้ว่าได้ผ้าไหมแท้ ๆ 

ปัจจุบัน Chayanna มีลายทั้งหมด 4 ลาย ได้แก่ 1.ลายดวงใจดอกแก้ว เป็นลายผ้าไหมที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ นิยมมัดลายด้วยดอกแก้วสี่กลีบ โดยได้พัฒนาด้วยการมัดลายดอกแก้วห้ากลีบ เพิ่มความโดดเด่นงดงามสะดุดตามากขึ้น 

2.ลายบัวหลวงสุโขทัย ถูกยกให้เป็นดอกไม้ที่ใช้ในการเทิดทูนความดีงาม ความบริสุทธิ์ และเป็นสัญลักษณ์ของสุโขทัย 

3.ลายดอกกุหลาบไฟ สื่อถึงความรักที่ร้อนแรง ลวดลายออกแบบใหม่ผสมผสานกลีบกุหลาบกับเปลวไฟอย่างสร้างสรรค์ 

4.ลายคั่นนาคพิง ด้วยความศรัทธาพญานาค จึงออกแบบลวดลายให้เป็นรูปตัวซีคล้ายลวดลายพญานาค 

เมื่อถามถึงในส่วนของการทำตลาด? ดร.ชญณา เผยว่า ยังอยู่ในตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) แต่ตัวชี้วัดที่บอกว่าแนวทางของแบรนด์ Chayanna มาถูกทางแล้วคือ ลูกค้าส่วนใหญ่เมื่อซื้อไปแล้วจะกลับมาซื้อซ้ำแทบทุกเดือน โดยส่วนใหญ่นิยมซื้อเพื่อเป็นของขวัญของที่ระลึกในโอกาสสำคัญ โดยเฉพาะกับตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีชาวต่างชาติให้ความสนใจสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่นิยมผ้าไหมสีเขียว และสีเหลืองจากดอกดาวเรือง 

"ในปัจจุบันเราได้ขยายตลาดไปในเอเชีย โดยการเข้าร่วมงานแฟชันวีกที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี"

สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดหรือสั่งซื้อได้ที่ www.chayannasilk.com

‘GULF’ กำไร Q2/67 สร้างเม็ดเงิน 4,779 ล้านบาท เติบโต!! 34% พร้อมเดินหน้าต่อยอดลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล

(8 ส.ค.67) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF หรือ บริษัทฯ) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 โดยมีรายได้รวม (total revenue) เท่ากับ 32,617 ล้านบาท ลดลง 3% จากไตรมาส 2/2566 จากราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ยที่ลดลงจากราคาค่าก๊าซธรรมชาติและค่า Ft ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม กำไรจากการดำเนินงาน (core profit) เท่ากับ 4,779 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จาก 3,556 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของกลุ่มบริษัทฯ มีสาเหตุหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โดยโครงการกัลฟ์ ปลวกแดง (GPD) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD กำลังการผลิตติดตั้งรวม 2,650 เมกะวัตต์ ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์หน่วยผลิตที่ 3 ในเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ในไตรมาส 2/2567 GULF รับรู้ผลการดำเนินงานเต็มไตรมาสของโครงการ GPD หน่วยที่ 1-3 (กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,987.5 เมกะวัตต์) ซึ่งทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2566 และโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง (HKP) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,540 เมกะวัตต์ ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์หน่วยผลิตที่ 1 (กำลังการผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ GULF รับรู้กำไรจากการดำเนินงานเต็มไตรมาสของโครงการ HKP หน่วยที่ 1 ในไตรมาสนี้ นอกจากนี้ GULF ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากกลุ่ม GJP ในไตรมาส 2/2567 จำนวน 643 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 7 โครงการมีปริมาณการขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มขึ้น โดยมี load factor เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 67% ในไตรมาส 2/2566 เป็น 80% ในไตรมาสนี้ อีกทั้งในช่วงไตรมาส 2/2566 โรงไฟฟ้า SPP จำนวน 3 โครงการภายใต้กลุ่ม GJP มีการหยุดซ่อมบำรุง (B-inspection)

ในส่วนของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ในไตรมาส 2/2567 GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมภายใต้กลุ่ม Gulf Gunkul จำนวน 182 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จาก 148 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความเร็วลมเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจาก 5.2 เมตร/วินาที ในไตรมาส 2/2566 เป็น 5.5 เมตร/วินาที ในไตรมาสนี้ อีกทั้งโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล GCG มีกำไรที่เพิ่มขึ้นจาก 37 ล้านบาท ในไตรมาส 2/2566 เป็น 51 ล้านบาท ในไตรมาสนี้ หรือเพิ่มขึ้น 40% จากปริมาณการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนราคาไม้เฉลี่ยที่ลดลงจาก 833 บาท/ตัน ในไตรมาส 2/2566 เป็น 680 บาท/ตัน ในไตรมาสนี้ แม้ว่าราคาค่า Ft ขายส่งเฉลี่ยจะลดลงก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 2/2567 โครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ศรีราชา (GSRC) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD มีกำไรที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ที่ลดลง โดยมี load factor เฉลี่ยจาก 92% ในไตรมาส 2/2566 เป็น 84% ในไตรมาสนี้ เนื่องจากในเดือนมิถุนายนโรงไฟฟ้ามีการหยุดซ่อมบำรุง (CI-inspection) ตามแผนงาน นอกจากนี้ กลุ่มโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 12 โครงการภายใต้กลุ่ม GMP มีกำไรที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณการขายไฟฟ้าให้ทั้ง กฟผ. และลูกค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง เนื่องจากโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 2 โครงการภายใต้กลุ่ม GMP มีการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ (C-inspection) ตามแผนงานในไตรมาส 2/2567

ในส่วนของธุรกิจก๊าซนั้น ในไตรมาส 2/2567 GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากโครงการ PTT NGD จำนวน 382 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 256% จาก 107 ล้านบาท ในไตรมาส 2/2566 โดยมีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จาก 412.5 บาท/ล้านบีทียู ในไตรมาส 2/2566 เป็น 341.5 บาท/ล้านบีทียู ในไตรมาสนี้ ในขณะที่ราคาน้ำมันเตาสูงขึ้นจาก 70.0 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในไตรมาส 2/2566 เป็น 81.6 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในไตรมาสนี้ ซึ่งราคาขายส่วนใหญ่ของโครงการ PTT NGD จะอิงกับราคาน้ำมันเตา ในขณะที่ต้นทุนจะขึ้นอยู่กับราคาก๊าซธรรมชาติ

นอกจากนี้ ในไตรมาส 2/2567 นี้ GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากการลงทุนใน INTUCH จำนวน 1,621 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 269 ล้านบาท หรือ 20% จาก 1,352 ล้านบาท ในไตรมาส 2/2566 โดยสาเหตุหลักมาจากผลประกอบการของ AIS ที่ดีขึ้น จาก ARPU ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนที่ลดลงจากการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ 

ทั้งนี้ GULF มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในไตรมาส 2/2567 จำนวน 10,244 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับ 8,620 ล้านบาท ในไตรมาส 2/2566 ในขณะที่กำไรสุทธิ (net profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ในไตรมาส 2/2567 เท่ากับ 4,741 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% จาก 2,885 ล้านบาท ในไตรมาส 2/2566 โดยในไตรมาส 2/2567 บริษัทฯ รับรู้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง เนื่องจากค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงจาก 36.63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 เป็น 37.01 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวเป็นเพียงการบันทึกรายการทางบัญชี และไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและผลประกอบการของ GULF แต่อย่างใด

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 GULF มีสินทรัพย์รวม 481,852 ล้านบาท หนี้สินรวม 337,974 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 143,877 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (net interest-bearing debt to equity) อยู่ที่ 1.85 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 1.70 เท่า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากจำนวนหนี้สินระยะยาวที่เพิ่มขึ้นจากการออกหุ้นกู้ในเดือนเมษายน 2567 ประกอบกับการเบิกเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

ด้าน นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF เปิดเผยว่า “บริษัทฯ ยังคงประมาณการการเติบโตของรายได้รวมในปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 25-30% โดยโครงการต่าง ๆ ของบริษัทฯ ยังคงดำเนินไปตามแผน สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 โครงการโรงไฟฟ้า GPD หน่วยที่ 4 (662.5 เมกะวัตต์) มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตามแผนในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) มีแผนที่จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ 5 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 532 เมกะวัตต์ ในเดือนธันวาคม 2567 นอกจากนี้ โครงการ solar rooftop ภายใต้ GULF1 คาดว่าจะสามารถเข้าลงนามสัญญาได้ไม่ต่ำกว่า 270 เมกะวัตต์ ภายในปี 2567 และดำเนินการจ่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าไม่ต่ำกว่า 180 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปีนี้ โดย GULF1 มีเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจ solar rooftop ให้ได้มากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 ในส่วนของธุรกิจก๊าซ HKH ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่บริษัทฯ ถือหุ้น 49% ได้เริ่มนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันจำนวน 6 ลำ รวม 400,000 ตัน เพื่อนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า HKP หน่วยผลิตที่ 1 อีกทั้งมีแผนจะนำเข้าเพิ่มเติมอีกประมาณ 200,000 ตัน ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นจะผลักดันให้รายได้ของกลุ่ม GULF ในปี 2567 เป็นไปตามเป้าหมาย”

โดย นางสาวยุพาพิน กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับโครงการอื่น ๆ ของบริษัทฯ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนายังเป็นไปตามแผน โดยโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 มีกำหนดถมทะเลแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2567 และจะเริ่มก่อสร้าง LNG terminal ในช่วงกลางปี 2568 ในขณะที่โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มีกำหนดรับมอบพื้นที่จากการท่าเรือเพื่อเริ่มก่อสร้างท่าเรือในปลายปี 2568 ในส่วนของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองนั้น สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2568 ขณะที่สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2569

ในส่วนของธุรกิจดิจิทัล ธุรกิจศูนย์ข้อมูล GSA DC (data center) ของกลุ่มบริษัทฯ อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยเฟสแรกซึ่งมีขนาด 25 เมกะวัตต์มีแผนเปิดให้บริการในเดือนเมษายน 2568 โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะขยายศูนย์ข้อมูลดังกล่าวเพิ่มอีก 25 เมกะวัตต์ในเฟสที่ 2 ภายในพื้นที่เดียวกัน รวมเป็น 50 เมกะวัตต์ โดย GSA DC จะมุ่งเน้นไปที่การใช้พลังงานสะอาด และได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับความต้องการใช้ GPU ในการประมวลผลข้อมูล (cloud computing) ด้วย เนื่องจากปัจจุบันองค์กรธุรกิจต่าง ๆ กำลังขับเคลื่อนไปสู่ digital transformation จากการใช้งาน big data, IoT และ AI ซึ่ง workload ของ AI ดังกล่าวต้องใช้ GPU ในการประมวลผลข้อมูล ซึ่งจำเป็นต้องใช้พลังงานมหาศาลและใช้ระบบ liquid cooling ในการระบายความร้อน โดยกลุ่มลูกค้าหลักของ GSA DC จะเป็นกลุ่ม hyperscalers enterprise และหน่วยงานรัฐบาล ส่วนธุรกิจ cloud ที่บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ Google เพื่อให้บริการ Google Distributed Cloud air-gapped มีแผนที่จะเปิดให้บริการในช่วงกลางปี 2568 โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ได้แก่ องค์กรที่ต้องการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่มีความสำคัญหรือเป็นความลับ โดยผู้ใช้งาน Google Cloud สามารถเลือกที่จะจัดเก็บข้อมูลที่ศูนย์ข้อมูล GSA DC ของบริษัทฯ ได้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมองการต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจไปสู่บริการอื่น ๆ ในอนาคต ซึ่งได้แก่ AI และ cybersecurity

สำหรับเรื่องการควบรวมบริษัทระหว่าง GULF และ INTUCH นั้น ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งการจัดตั้งบริษัทใหม่ (NewCo) คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2/2568”

GULF มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน และการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ครอบคลุม 40 จังหวัดทั่วไทยผ่านหลากหลายโครงการ เช่น โครงการพลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย โดย GULF ร่วมกับ AIS ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และระบบสื่อสารจากสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่ห่างไกล ขาดแคลนสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้าและระบบสื่อสารโทรคมนาคม ตั้งเป้า 30 พื้นที่ในระยะเวลา 5 ปี มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างการเติบโตร่วมกันของเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน

‘Salesforce-Workday’ เปิดตัว ‘AI Employee Service Agent’ เครื่องมือช่วยวิเคราะห์-เสริมประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน

เมื่อไม่นานมานี้ Salesforce (เซลส์ฟอร์ซ) ผู้นำด้าน AI CRM อันดับ 1 และ Workday (เวิร์กเดย์) ผู้ให้บริการเทคโนโลยีบริหารทรัพยากรบุคคลและการเงินสำหรับองค์กร เปิดตัว AI Employee Service Agent ใหม่ ซึ่งเป็น AI ที่ทำหน้าที่เสมือนตัวแทนในการให้บริการแก่พนักงานภายในองค์กร ทำให้งานประจำเป็นอัตโนมัติ ให้บริการเฉพาะบุคคล และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการทำงานของพนักงาน

การรวมเทคโนโลยี Agentforce Platform และ Einstein AI ของ Salesforce เข้ากับแพลตฟอร์ม Workday และ Workday AI จะช่วยให้องค์กรสามารถสร้างและบริหารจัดการบริการผู้ช่วยส่วนตัวนี้ได้หลากหลายรูปแบบ บริการนี้จะทำงานร่วมกับพนักงานและเสริมประสิทธิภาพซึ่งกันและกัน เพื่อสนับสนุนความสำเร็จของพนักงานและลูกค้าในทุกธุรกิจ โดยใช้ข้อมูลจากระบบ CRM ของ Salesforce และข้อมูลการเงินและทรัพยากรบุคคลของ Workday มาสร้างฐานข้อมูลร่วมที่น่าเชื่อถือ เพื่อสื่อสารกับพนักงานด้วยภาษาธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพและเข้าใจง่าย ทำให้กระบวนการต่าง ๆ เช่น การปฐมนิเทศ การเปลี่ยนแปลงสวัสดิการด้านสุขภาพ การพัฒนาอาชีพ และอื่น ๆ ราบรื่นและง่ายดายยิ่งขึ้น 

ในกรณีที่มีปัญหาซับซ้อน ระบบจะส่งต่อปัญหานั้นไปยังพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยจะมีการส่งต่อข้อมูลประวัติและบริบทของปัญหาไปด้วย เพื่อให้พนักงานสามารถดำเนินการแก้ไขได้อย่างต่อเนื่อง การทำงานร่วมกันระหว่างระบบ AI และพนักงานในลักษณะนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการ เนื่องจากมีการบูรณาการและใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างเหมาะสม

มาร์ค เบนิออฟฟ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Salesforce กล่าวว่า “เรารู้ดีว่า AI นั้นเปิดโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับองค์กรธุรกิจ เพราะจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้แก่พนักงาน และนำประสบการณ์ที่น่าประทับใจมามอบให้แก่ลูกค้า นั่นเป็นเหตุผลที่เราตื่นเต้นกับแพลตฟอร์ม Agentforce ใหม่ล่าสุด ซึ่งจะทำให้มนุษย์และ AI สามารถร่วมมือกันขับเคลื่อนความสำเร็จให้แก่ลูกค้าของเราได้ และที่สำคัญเราได้ร่วมมือกับ Workday ในการพัฒนาบริการนี้ร่วมกัน ด้วยพลังของ Generative AI และ Autonomous AI หรือ AI ที่สามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้พนักงานทุกคนสามารถได้รับคำตอบ เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ  แก้ไขปัญหา และดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

คาร์ล เอสเชนบาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Workday กล่าวว่า “องค์ประกอบสำคัญของธุรกิจใด ๆ ก็ตาม คือ พนักงาน ลูกค้า และการเงิน ทั้งสามสิ่งนี้เป็นรากฐานที่ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ การนำ Generative AI ที่ทรงพลังมาผนวกกับแพลตฟอร์มและข้อมูลของ Salesforce และ Workday จะเสริมพลังให้ลูกค้าสามารถสร้างประสบการณ์พนักงานที่ขับเคลื่อนด้วย AI ได้ ซึ่งจะส่งผลให้ลูกค้ามีความพึงพอใจ และก่อให้เกิดมูลค่าธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” 

ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ครั้งสำคัญนี้จะรวมแพลตฟอร์มคลาวด์ชั้นนำสองแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุดในวงการธุรกิจเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างนวัตกรรมการทำงานและประสบการณ์ใหม่ให้แก่พนักงาน โดยใช้ประสิทธิภาพของเทคโนโลยี Generative AI การร่วมมือครั้งนี้จะนำมาซึ่งประโยชน์ ดังนี้

•AI Employee Service Agent ที่ทำงานบนแพลตฟอร์ม Einstein 1 และ Workday AI: Salesforce และ Workday จะบูรณาการแพลตฟอร์ม Einstein ที่ทำหน้าที่เสมือนผู้ช่วยส่วนตัวกับ Workday AI เพื่อนำพลังของโซลูชัน Generative AI ทั้งสองมารวมกัน เพื่อสร้างประสบการณ์พนักงานแบบไร้รอยต่อที่สามารถเข้าถึงได้ผ่านแพลตฟอร์มของทั้งสองบริษัท AI Employee Service Agent นี้ใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ในการสื่อสารด้วยภาษาธรรมชาติกับพนักงาน และประมวลผลจากฐานข้อมูลที่แบ่งปันร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้คำตอบที่เกี่ยวข้องและมีลักษณะการสนทนาตามคำถามของพนักงาน บริการผู้ช่วยส่วนตัวนี้จะแนะนำและดำเนินการแทนพนักงานผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นประสบการณ์ของพนักงานเป็นศูนย์กลาง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน 

•ฐานข้อมูลที่สามารถเข้าถึงและใช้งานร่วมกันได้จะถูกสร้างขึ้นบน Salesforce Data Cloud และ Workday: Salesforce และ Workday จะมีฐานข้อมูลร่วมกัน โดย Workday จะใช้ประโยชน์จาก Salesforce Zero Copy Partner Network ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงและดำเนินการกับข้อมูลด้านการเงิน ทรัพยากรบุคคล และ CRM ผ่านแพลตฟอร์มของทั้งสองบริษัทได้อย่างสะดวก โดยไม่จำเป็นต้องทำสำเนาข้อมูลหรือสร้างการเชื่อมต่อด้วยตนเอง การแบ่งปันข้อมูลนี้จะดำเนินการอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเฉพาะข้อมูลที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น 

•การผสานรวมอย่างราบรื่นระหว่างแพลตฟอร์ม Workday และ Slack: Workday จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกับ Slack โดยมีอินเทอร์เฟซการสนทนาที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงและทำงานร่วมกันกับข้อมูลด้านการเงินและทรัพยากรบุคคลของ Workday ได้อย่างสะดวกมากขึ้น เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับงาน เงินเดือน ใบสมัครงาน รายละเอียดพนักงาน และสมุดบันทึกประจำวัน โดยสามารถดำเนินการได้โดยตรงผ่าน Slack ซึ่ง Slack จะบันทึกการสนทนาเกี่ยวกับข้อมูลเหล่านี้ไว้ ทำให้ผู้ใช้สามารถค้นหา สรุป และดำเนินการกับข้อมูลใน Workday ได้ตลอดเวลา 

>>ประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับ

การสนับสนุนอย่างรวดเร็วทันทีจาก AI Employee Service Agent ด้วยการสนทนาภาษาธรรมชาติ ไม่ว่าพนักงานจะทำงานบน Salesforce, Slack หรือ Workday บริการผู้ช่วยส่วนตัวนี้จะให้ความช่วยเหลือตามบริบทโดยเข้าใจคำขอของพนักงาน ค้นหาความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากแหล่งข้อมูลรวมของ Workday และ Salesforce จากนั้นจะดำเนินการแก้ไขปัญหาข้ามแพลตฟอร์มโดยอัตโนมัติ 

•การเริ่มงานอย่างราบรื่น: AI Employee Service Agent จะช่วยประสานงานเอกสารต่าง ๆ จัดสรรทรัพยากร และจัดการฝึกอบรม เพื่อให้พนักงานใหม่สามารถเริ่มปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

•บริการด้านทรัพยากรบุคคลที่พนักงานสามารถดำเนินการได้เอง: ตอบคำถามเกี่ยวกับวันลา สวัสดิการ และนโยบายต่าง ๆ รวมถึงเปิดให้พนักงานสามารถดำเนินการด้วยตนเอง เช่น การปรับแผนประกันสุขภาพ

•การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง: จัดทำแผนการเรียนรู้เฉพาะบุคคล ตามบทบาท ทักษะ และความสนใจของพนักงานแต่ละคน ซึ่งสามารถติดตามผ่านระบบ Workday

ซาล คอมพาเนียห์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายดิจิทัลและสารสนเทศของ Cushman & Wakefield กล่าวว่า “ในฐานะบริษัทบริการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ชั้นนำระดับโลก เราให้ความสำคัญอย่างมากกับการสนับสนุนและกระตุ้นให้พนักงานของเรามีความผูกพันกับองค์กร ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการให้บริการลูกค้า การที่เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานข้ามสองแพลตฟอร์มที่เราใช้งานมากที่สุด คือ Workday และ Salesforce และนำเสนอประสบการณ์พนักงานที่ได้รับการปรับแต่งด้วย AI จะเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานอย่างสิ้นเชิงสำหรับเรา”

>>ประโยชน์ต่อนายจ้าง

การผสานรวมข้อมูลด้านทรัพยากรบุคคล การเงิน และการดำเนินงานเข้ากับโมเดล AI ขั้นสูงของ Salesforce และ Workday จะช่วยยกระดับศักยภาพของบุคลากรให้สูงกว่าขีดความสามารถของพนักงานแต่ละคน นอกจากนี้ยังเสริมสร้างความรู้ความสามารถ เพิ่มประสิทธิภาพ และความยืดหยุ่นในการทำงานของทีมงานทั้งองค์กร ดังนี้

•การวางแผนกำลังคนอย่างแม่นยำ: ใช้ข้อมูลจาก Workday เกี่ยวกับจำนวนพนักงานและทักษะของพวกเขา ประกอบกับข้อมูลความต้องการของลูกค้าจาก Salesforce เพื่อวางแผนกำลังคนให้ตรงกับความต้องการได้อย่างแม่นยำ

•การวางแผนทางการเงินอย่างต่อเนื่อง: นำข้อมูลที่ผสานรวมกันระหว่างข้อมูลพนักงานและข้อมูลลูกค้ามาใช้ในการคาดการณ์ล่วงหน้า การจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ และการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

•การสนับสนุนการขายอย่างชาญฉลาด: ให้คำแนะนำแก่ทีมงานขายในการดำเนินการซื้อขายที่ซับซ้อน โดยวิเคราะห์ข้อมูลกิจกรรมการขายในอดีต และแนะนำการฝึกอบรมเฉพาะด้านที่เหมาะสมสำหรับพวกเขา

อาร์ ‘เรย์’ หวัง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Constellation Research, Inc. กล่าวว่า “การบูรณาการกระบวนการทางธุรกิจและข้อมูลเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้บริหารระดับสูงให้ความสนใจในยุคของเทคโนโลยี AI ปัจจุบัน บริษัทต่าง ๆ ประสบความยากลำบากในการหาผู้ให้บริการหรือพันธมิตรที่สามารถให้ความโปร่งใสและการเข้าถึงข้อมูลของลูกค้า พนักงาน และข้อมูลทางการเงินได้อย่างครบถ้วน อย่างไรก็ตาม พื้นฐานข้อมูลที่ใช้ร่วมกันระหว่าง Workday และ Salesforce จะช่วยให้พันธมิตรเหล่านี้สามารถนำเสนอความสามารถของ AI ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงประสบการณ์การทำงานของพนักงานให้มีความเป็นส่วนตัว มีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพมากขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นด้วย”

‘คาเธ่ย์ กรุ๊ป’ สั่งซื้อเครื่องบิน A330neo จำนวน 30 จากแอร์บัส เพิ่มความสะดวก-ทันสมัยในการเดินทาง พร้อมมุ่งสู่ Net Zero

(8 ส.ค. 67) คาเธ่ย์ กรุ๊ป (Cathay Group) กลุ่มสายการบินประจำชาติของฮ่องกงได้สั่งซื้อเครื่องบินลำตัวกว้างรุ่น เอ330-900 (A330-900) จำนวน 30 ลำจากแอร์บัส การสั่งซื้อดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากที่สายการบินได้ทำการประเมินภายใต้โครงการปรับปรุงฝูงบินลำตัวกว้างขนาดกลางอย่างถี่ถ้วน

เครื่องบินที่สั่งซื้อใหม่นี้จะช่วยให้ Cathay สามารถปรับปรุงฝูงบินรุ่นก่อนหน้าซึ่งคือรุ่น เอ330-300 (A330-300) ให้มีความทันสมัย และเพิ่มจำนวนเที่ยวบินของเส้นทางในภูมิภาคที่มีผู้โดยสารหนาแน่น นอกจากนี้ยังสามารถทำการบินไปยังจุดหมายปลายทางที่ไกลขึ้นได้ โดยเครื่องบินลำใหม่ที่ Cathay สั่งซื้อเหล่านี้จะติดตั้งเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ เทรนท์ 7000 (Rolls-Royce Trent 7000) รุ่นล่าสุด เช่นเดียวกับเครื่องบิน เอ330นีโอ (A330neo) ทุกรุ่น

นายโรนัลด์ แลม (Ronald Lam) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Cathay Group กล่าวว่า "ในขณะที่ Cathay กำลังเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของกระบวนการฟื้นฟูสายการบิน เรามุ่งมั่นที่จะร่วมพลิกโฉมสายการบินเพื่อเพิ่มความทันสมัยและสร้างการเติบโต ทั้งในด้านขอบเขตของการดำเนินงานและคุณภาพของบริการ เรายินดีที่จะประกาศการสั่งซื้อเครื่องบิน A330neo ที่มีความทันสมัยรุ่นล่าสุดนี้ การลงทุนครั้งใหญ่ครั้งนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงความมั่นใจที่ยิ่งใหญ่ของเราต่อสถานะการเป็นศูนย์กลางการบินชั้นนำระดับนานาชาติของฮ่องกงเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการร่วมสนับสนุนการเติบโตและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของฮ่องกงอีกด้วย"

"A330 เป็นเครื่องบินประเภทหนึ่งที่สายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิค (Cathay Pacifc) ใช้ทำการบินมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้ว และเครื่องบินใหม่ทั้งหมดนี้จะถูกนำไปปฏิบัติการบินในจุดหมายปลายทางในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก แต่สามารถใช้สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศระยะไกลได้เช่นกันหากมีความจำเป็น 

เครื่องบิน A330neo รุ่นใหม่นี้ประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้นและมอบความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสารมากขึ้นประสิทธิภาพและประโยชน์เหล่านี้จะช่วยให้ Cathay Pacific ปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นและสนับสนุนเป้าหมายของเราในการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593"

นายคริสเตียน เชอเรอร์ (Christian Scherer) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเครื่องบินพาณิชย์ของแอร์บัส กล่าวว่า "คำสั่งซื้อเครื่องบิน A330neo ล่าสุดของ Cathay ถือเป็นการแสดงความเชื่อมั่นอย่างมากต่อเครื่องบินรุ่นใหม่ล่าสุดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Cathay เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการเครื่องบิน A330 ที่มีประสบการณ์มากที่สุดในโลก โดย A330neo ถือเป็นรุ่นที่ทดแทนฝูงบิน A330 ที่มีอยู่เดิมได้อย่างราบรื่น โดยมอบคุณสมบัติทางเทคนิคและการปฏิบัติการที่คล้ายคลึงกัน อีกทั้งยังลดการใช้เชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ เครื่องบิน A330neo ใหม่ยังมีห้องโดยสารแบบแอร์สเปช (Airspace) ซึ่งได้รับรางวัลด้านการออกแบบ และสิ่งอำนวยความสะดวกจำนวนมาก ซึ่งรับประกันว่าผู้โดยสารจะได้รับประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น"

"A330neo จะเป็นเครื่องบินหลักที่ Cathay ใช้สำหรับเที่ยวบินภายในภูมิภาคที่ต้องการเครื่องบินขนาดใหญ่ แต่ก็มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรองรับเส้นทางระหว่างประเทศที่มีระยะทางไกลได้ โดยการใช้งานเครื่องบิน A330neo ควบคู่กับเครื่องบินตระกูลเอ320 (A320) และฝูงบินเอ350 (A350) จะทำให้ Cathay ได้รับประโยชน์อย่างสูงสุดจากการใช้เครื่องบินรุ่นล่าสุดของแอร์บัส"

เครื่องบินรุ่น A330-900 สามารถบินได้ไกลถึง 7,200 ไมล์ทะเลหรือ 13,330 กิโลเมตรโดยไม่ต้องหยุดพักเติมน้ำมัน รวมถึงติดตั้งห้องโดยสารของ Airspace ซึ่งได้รับรางวัลด้านการออกแบบและมอบประสบการณ์การบินคุณภาพสูงให้กับผู้โดยสาร เช่นเดียวกับเครื่องบินแอร์บัสลำอื่น ๆ A3330กeo สามารถใช้เชื้อเพลิงผสมที่ประกอบด้วยเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ได้มากถึง 50 % และเรามีเป้าหมายที่จะใช้ซื้อเพลิง SAF ได้ครบ 100% ภายในปี 2573

ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม แอร์บัสได้รับการยืนยันคำสั่งซื้อเครื่องบิน A330 รวมจำนวน 1,805 ลำจากลูกค้ากว่า 130 รายทั่วโลก จากคำสั่งซื้อเหล่านี้ ปัจจุบันมีเครื่องบิน A330 จำนวน 1,469 ลำ ลำที่ได้ให้บริการบินในเส้นทางบินต่าง ๆ ทั้งระยะไกล ระยะกลาง และระยะสั้นทั่วโลก

ฟ้าเปิด!! ‘9 สถาบันการเงิน’ พร้อมปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กลุ่ม ‘EA’ ปลดล็อกทางการเงิน แก้ปัญหา Liquidity กว่า 8,000 ลบ.

(9 ส.ค. 67) สถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ 9 แห่ง รวมถึง 4 กองทุนภายใต้การบริหารของบลจ. แอสเซท พลัส (Asset Plus) เซ็นสัญญาเงินกู้ระยะเวลา 3 ปี โดยบริษัทฯจะทยอยจ่ายเงินกู้คืนผ่านกระแสเงินสด (Cash Flow) จากการดำเนินงานตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาครัฐ (PPA) 

นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน (CFO) ของ EA กล่าวว่า “การที่สถาบันการเงินทั้ง 9 แห่งและกองทุนอีก 4 กองทุนของบลจ. แอสเซท พลัส (Asset Plus) ร่วมยืนยันให้เงินกู้ EA เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า บริษัทฯยังมีการประกอบธุรกิจและรับรู้รายได้จากการขายไฟตามปกติ และการที่ได้รับเงินกู้ในครั้งนี้จะทำให้บริษัทฯ ไม่มีปัญหาสภาพคล่อง จากเงินกู้ระยะสั้นและตั๋วแลกเงิน (B/E) ในอีก 1 ปีข้างหน้า” 

ในส่วนของหุ้นกู้ 2 รุ่น ประกอบด้วย หุ้นกู้รุ่นที่ 1 EA248A วงเงิน 1,500 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดชำระ  ในวันที่ 15 สิงหาคม 2567 และ หุ้นกู้รุ่นที่ 2 EA249A วงเงิน 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดชำระในวันที่ 29 กันยายน 2567 บริษัทฯ จะดำเนินการขอเลื่อนกำหนดการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระออกไป พร้อมทั้งเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็น 5% ต่อปีทั้ง 2 รุ่น และมีหลักประกันให้เพิ่มเติมโดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัด โดยบริษัทฯยืนยันว่าจะชำระดอกเบี้ยที่จะครบกำหนด เพียงขอเลื่อนการไถ่ถอนเฉพาะเงินต้นเท่านั้น

การขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและการจัดการประชุมผู้ถือหุ้นกู้มีรายละเอียดดังนี้

หุ้นกู้: EA248A

เงื่อนไขเดิม: ครบ  15 ส.ค. 67 ดอกเบี้ย 3.11% ต่อปี 

ขอแก้ไขใหม่: ***เดิม ตามหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นกู้ เลื่อนเงินต้นและดอกเบี้ย เงินต้น ชำระในวันที่ 30 มิ.ย. 68 (ขอเลื่อน 10 เดือน 15 วัน)

**ขอแก้ไขใหม่ ครบกำหนดคืนเงินต้น 31 พ.ค. 68 (ขอเลื่อน 9 เดือน 16 วัน) เลื่อนเฉพาะเงินต้น แต่ชำระดอกเบี้ย ดอกเบี้ยเดิม 3.11% เพิ่มขึ้น +1.89% รวมเป็นดอกเบี้ย 5% ต่อปี หมายเหตุ: มีหลักประกันให้เพิ่มเติมและไม่ถือเป็นเหตุผิดนัด

วันที่นัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้: 9 สิงหาคม 2567

หุ้นกู้: EA249A

เงื่อนไขเดิม: ครบ  29 ก.ย. 67 ดอกเบี้ย 3.20% ต่อปี

ขอแก้ไขใหม่: **เดิม ตามหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นกู้ เลื่อนเงินต้นและดอกเบี้ย เงินต้น ชำระในวันที่ 30 มิ.ย. 68 (ขอเลื่อน 9 เดือน 16 วัน)

**ขอแก้ไขใหม่ ครบกำหนดคืนเงินต้น  31 พ.ค. 68 (ขอเลื่อน 8 เดือน 1 วัน) เลื่อนเฉพาะเงินต้น แต่ชำระดอกเบี้ย โดยดอกเบี้ยเดิม 3.20% เพิ่มขึ้น +1.80% รวมเป็นดอกเบี้ย 5% ต่อปี หมายเหตุ: มีหลักประกันให้เพิ่มเติมและไม่ถือเป็นเหตุผิดนัด

วันที่นัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้: 14 สิงหาคม 2567

นายวสุ กลมเกลี้ยง กล่าวเพิ่มเติมว่า “การขอเลื่อนการไถ่ถอนหุ้นกู้ทั้ง 2 รุ่นนี้ ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับชำระเงินคืนเต็มจำนวนภายในไม่เกิน 10 เดือน ซึ่งจะได้รับเงินคืนก่อนสถาบันการเงินและกองทุนของ บลจ. แอสเซท พลัส (Asset Plus) ที่จะได้รับเงินคืนตามสัญญาเงินกู้ 3 ปี สำหรับแนวทางที่บริษัทฯจะนำมาชำระหุ้นกู้ทั้ง 2 รุ่นนี้นั้น นอกจากจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ แล้ว บริษัทฯ ยังอยู่ในระหว่างการเจรจาหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ Strategic Partner(s) ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงินและเพิ่ม Synergy ระหว่างกัน รวมถึงการนำสินทรัพย์บางส่วนมาจำหน่ายต่อกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ทั้งนี้บริษัทฯ มั่นใจว่า หากดำเนินการทุกอย่างได้ตามแผนงาน ผลประกอบการของบริษัทฯ จะกลับมาเติบโตได้ดีเหมือนเดิม และจะสามารถชำระเงินกู้ รวมทั้งหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดต่อไปในอนาคตได้ทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาให้บริษัทฯ ในระยะยาว และเป็น win-win solution กับทั้งสถาบันการเงิน ผู้ถือหุ้นกู้ และบริษัทฯ” 

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้ 3 ตัวแปร Black Monday ตลาดหุ้นทั่วโลก 'AI ไม่ปังดังหวัง-ญี่ปุ่นปรับขึ้นดอกเบี้ย-สหรัฐฯ ว่างงานพุ่ง'

จากรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 11 ส.ค.67 ได้พูดคุยในประเด็น 'Black Monday ตลาดหุ้นทั่วโลก: ไทยเตรียมรับแรงกระแทกอย่างไร?' โดยมี 'อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์' อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้พูดถึงประเด็นนี้ ว่า...

ตลาดทุนเป็นกลไกสำคัญที่สุดกลไกหนึ่งของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่การที่ตลาดทุนมีอารมณ์ผันผวนอย่างรุนแรงเมื่อวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม และ 2-3 วันก่อนหน้า ทั้ง ๆ ที่ 2 สัปดาห์ก่อนตลาดหุ้นนิวยอร์กและตลาดโตเกียวต่างก็ทำสถิติ New High มาด้วยกัน บรรยากาศความโลภ (Greed) ถูกแทนที่ด้วยความกลัว (Fear) ภายในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ จึงต้องถือว่าตลาดทุนได้ส่งสัญญาณบางอย่าง ซึ่งผู้วางนโยบายเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมิอาจที่จะละเลยได้

ประการแรก Artificial Intelligence-AI คือทางออกของโลกจริงหรือไม่ ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับอานิสงส์จากความคาดหวังในอนาคตของธุรกิจ AI และบริษัท Tech Firms ต่าง ๆ อาทิ Apple, Amazon, Alphabet, Meta และ Microsoft เมื่อผลประกอบการที่ประกาศออกมาไม่เป็นไปตามคาด ประกอบกับแนวโน้มความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลกซึ่งจะมีผลต่ออุตสาหกรรมผลิต Chips จึงก่อเกิดผลกระทบรุนแรงต่อตลาดหุ้นทั่วโลก

ประการที่สอง ตลาด Unwind Yen Carrytrade การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่นในรอบหลาย 10 ปี ในสถานการณ์ที่ธนาคารกลางสำคัญรวมทั้ง Fed กำลังและเตรียมที่จะลดดอกเบี้ย ได้ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลสำคัญของโลกเคลื่อนไหวอย่างรุนแรง และได้ก่อให้เกิดการปรับสมดุลของพอร์ตการลงทุน (Portfolio Rebalancing) ของนักลงทุนทั่วโลก ที่เคยกู้เงินเยนมาลงทุนในตราสารสกุลดอลลาร์ แต่ตลาดที่ได้รับผลโดยตรงและแรงที่สุดก็คือ ตลาดนิวยอร์กและตลาดโตเกียว ซึ่งมีดัชนีร่วงลงกว่า 10%

ประการสุดท้ายและน่าจะเป็นสาเหตุสําคัญที่สุด คือความกลัว Recession แม้ สหรัฐฯ รอดพ้นจาก Recession มาตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยจาก 0 มาเป็น 5.5% ในปัจจุบัน แต่ความกลัวดังกล่าวเริ่มเข้าใกล้ความจริงยิ่งขึ้นเมื่อตัวเลขการว่างงานของสหรัฐฯ ประจำเดือนกรกฎาคมมีการประกาศออกมาอยู่ที่ 4.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี การที่ Fed ไม่ลดดอกเบี้ยในการประชุมรอบที่แล้วก็ทำให้ตลาดผิดหวังมาทีหนึ่งแล้ว แม้ว่า ประธาน Jerome Powell จะได้ออกมาปลอบว่า Fed เตรียมพร้อมลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าในเดือนกันยายน โดยตลาดเชื่อว่าอาจจะมีการลดถึง 50%

ในด้านของตลาดไทย ถึงจะได้รับผลกระทบอยู่บ้างในช่วงแรก แต่ก็สามารถตีกลับสู่ปกติอย่างรวดเร็ว และแม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ในระยะปานกลาง-ยาว แต่ตลาดไทยก็น่าจะได้รับผลบวกจากความผ่อนคลายแรงกดดันต่าง ๆ จากการลดดอกเบี้ยของ Fed 

ส่วน ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’ แม้จะไม่ค่อยจะมีความห่วงใยต่อปากท้องชาวบ้านเท่าไหร่ ก็ควรจะเลิกทำตัวเป็นตัวตลก และกลับตัวกลับใจมาทำหน้าที่ของตนที่ควรจะเป็นในการร่วมมือกับรัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชาติเสียที มิเช่นนั้นคนไทยอาจจะลืมว่าประเทศไทยก็มีธนาคารกลางกับเขาเหมือนกัน เพราะที่ผ่านมา ธปท.ทำตัวเหมือนจ่าเฉยที่มีอยู่ตามแยกจราจรทั่วไป แทนที่จะเป็นธนาคารกลางที่ดีเช่นธนาคารกลางชั้นนำอื่น ๆ

‘HP’ เล็งย้ายฐานจากจีนมาไทย เลี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ 'จีน-ไต้หวัน' เผย!! ซัพพลายเออร์กำลังสร้างโรงงาน-คลังสินค้าใหม่ในไทย

(9 ส.ค.67) สำนักข่าวนิกเกอิเอเชีย ระบุว่า 'เอชพี' (HP) บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่จากสหรัฐฯ มีแผนจะย้ายฐานการผลิตคอมพิวเตอร์พีซี มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ จากจีนมายังประเทศไทย เพื่อลดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับไต้หวัน นับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่สุดของ HP ในการกระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน 

โดยแผนการดังกล่าวถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่ HP เคยดำเนินการมา เพื่อกระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอย่างจีน โดยบริษัทซัพพลายเออร์ของ HP อย่างน้อย 5 ราย กำลังสร้างโรงงานผลิตและคลังสินค้าแห่งใหม่ในไทย 

ปัจจุบัน HP มีฐานการผลิตใหญ่ที่สุดอยู่ในประเทศจีน สร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานร่วมกับซัพพลายเออร์ครอบคลุมทั่วประเทศจีน รวมถึงการพัฒนาเมือง 'ฉงชิ่ง' ให้กลายเป็นศูนย์กลางการส่งออกคอมพิวเตอร์พีซีชั้นนำของโลก 

ขณะที่ข้อมูลของบริษัทวิจัยไอดีซี ระบุว่า HP เป็นบริษัทที่จำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากเลอโนโว โดยมีการส่งมอบคอมพิวเตอร์พีซี มากถึงราว 52 ล้านเครื่องในปี 2566 

‘ผู้ถือหุ้นกู้ EA’ รุ่น EA248A โหวตหนุน ยืดหนี้ 9 เดือน 16 วัน รับดอกเบี้ยเพิ่มเป็น 5% จ่ายทุก 6 เดือน ชี้!! ไม่ถือเป็นเหตุผิดนัด

(9 ส.ค. 67) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ได้มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ รุ่น EA248A วงเงิน 1,500 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดชำระในวันที่ 15 สิงหาคม 2567 โดยผู้ถือหุ้นกู้ 98.5849% ได้ลงมติอนุมัติขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ไปอีก 9 เดือน 16 วัน มีเพียง 1.4151% ไม่เห็นด้วย

ทั้งนี้ ส่งผลให้ หุ้นกู้ รุ่น EA248A ไม่ถือเป็นเหตุผิดนัด และการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากเดิม 3.11% เพิ่มอีก 1.89% รวมเป็น 5.00% ต่อปี พร้อมชำระดอกเบี้ยทุก ๆ 6 เดือน (ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 และวันครบกำหนดไถ่ถอน) และมีการเพิ่มหลักประกันแก่หุ้นกู้ โดยบริษัทฯยืนยันว่าจะชำระดอกเบี้ยที่จะครบกำหนด เพียงขอเลื่อนการไถ่ถอนเฉพาะเงินต้นเท่านั้น

นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน (CFO)  กล่าวว่า สำหรับแหล่งที่มาของเงินทุนที่ใช้ในการชำระหนี้หุ้นกู้ และดอกเบี้ยมาจาก 

1.กระแสเงินสดจากรายได้ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมประมาณ 1,000 ล้านบาท/ เดือน ซึ่งเป็นกระแสเงินสดหลักให้กับบริษัทฯ 

2.เงินทุนที่ได้รับจากการเข้าร่วมทุนกับผู้ร่วมทุนรายใหม่ (Strategic Partner) ที่ให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาในโครงการต่าง ๆ ของบริษัทฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา 

3.การจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทฯให้กับนักลงทุนที่ให้ความสนใจ รวมถึงการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund)

“EA ขอยืนยันและรับรองว่าการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ยังคงดำเนินการเป็นไปตามปกติ และขอให้ผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่นเชื่อมั่นว่าภาพรวมของการประกอบธุรกิจ ยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะมีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ” นายวสุกล่าว

ครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มที่ดีสำหรับการแก้ปัญหาสภาพคล่องระยะสั้นของ EA หลังจากเจ้าหนี้สถาบันการเงิน 9 แห่ง พร้อมสนับสนุนสินเชื่อใหม่ และ ผู้ถือหุ้นกู้ EA รุ่น EA248A อนุมัติขยายเวลาชำระหนี้ และมั่นใจว่าการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ EA รุ่น EA249A ในวันที่ 14 ส.ค.นี้ จะได้รับการสนับสนุนพิจารณาอนุมัติขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปเช่นเดียวกัน

‘เศรษฐา’ สั่งติดตามการค้าชายแดน หนุนจัด ‘มหกรรมการค้า’ ชี้!! 6 เดือน ขยายตัวดีขึ้น ส่งสัญญาณบวก ทำมูลค่าเศรษฐกิจเพิ่ม

(11 ส.ค. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการหน่วยงานเกี่ยวข้อง ดำเนินนโยบายระหว่างประเทศด้วยความเป็นมิตร ส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกันในทุกระดับ เพื่อเพิ่มตัวเลขมูลค่าการค้าชายแดน-ผ่านแดน โดยให้ติดตามสถานการณ์การค้าอย่างใกล้ชิด เชื่อว่าเป็นตลาดที่สำคัญของการส่งออกสินค้าของไทย เพื่อต่อยอดเพิ่มพูนประโยชน์ทางด้านการค้าระหว่างประเทศกับเพื่อนบ้านและประเทศคู่ค้าและความสัมพันธ์ที่ดีของประชาชนในพื้นที่ และเพิ่มมูลค่าการค้าให้เศรษฐกิจไทย

โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 การค้าชายแดน-ผ่านแดน ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งสัญญาณบวก ขยายตัวที่ 3.6% จึงสนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าชายแดนใน งานมหกรรมการค้าชายแดนปี 2567 กระตุ้นเศรษฐกิจการค้าชายแดน สร้างพันธมิตรทางการค้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศคู่ค้า สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทย

นายชัย กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินนโยบายตามแนวทางของนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศ ติดตามสถานการณ์การค้าชายแดนและผ่านแดนอย่างใกล้ชิด จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2567 ที่มีสัญญาณที่ดี อยู่ในแดนบวก มีมูลค่าการค้ารวม 912,283 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออก 534,316 ล้านบาท ส่วนมูลค่าการนำเข้าของไทยอยู่ที่ 377,968 ล้านบาท โดยที่ไทยได้ดุลการค้า 156,348 ล้านบาท โดยมูลค่าการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ ในช่วงครึ่งปีแรก มีมูลค่าการค้ารวม 493,470 ล้านบาท โดยมูลค่าการค้าสูงสุดตามลำดับ ได้แก่ ลาว มีมูลค่าสูงสุด 150,697 ล้านบาท มาเลเซีย 149,361 ล้านบาท เมียนมา 106,630 ล้านบาท และ กัมพูชา 86,783 ล้านบาท ซึ่งจากมูลค่าการค้ารวมทั้งหมด แบ่งเป็นการส่งออก 305,452 ล้านบาท ในส่วนของการนำเข้าอยู่ที่ 188,019 ล้านบาท ทำให้ไทยได้ดุลการค้ารวม 117,433 ล้านบาท จากสินค้าส่งออกชายแดนที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล 23,109 ล้านบาท น้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ 10,432 ล้านบาท และน้ำยางข้น 8,221 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าการค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม ช่วงครึ่งปีแรก มีมูลค่าการค้ารวม 418,813 ล้านบาท โดยการค้าผ่านแดนไปจีนมีมูลค่าสูงสุดที่ 244,175 ล้านบาท สิงคโปร์ 53,137 ล้านบาท และเวียดนาม 36,269 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งจากมูลค่าการค้ารวมทั้งหมด แบ่งเป็นการส่งออก 228,864 ล้านบาท และการนำเข้า 189,949 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.0% โดยสินค้าส่งออกผ่านแดนสำคัญ ได้แก่ ทุเรียนสด 67,601 ล้านบาท ฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ 40,957 ล้านบาท และยางแท่ง TSNR 19,500 ล้านบาท

นายชัย กล่าวว่า มูลค่าทางการค้าเพิ่มมากขึ้น เป็นข้อพิสูจน์ถึงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดกิจกรรม ส่งเสริมการค้าชายแดน-ผ่านแดน งานมหกรรมการค้าชายแดนปี 2567 ระหว่างวันที่ 15 – 18 ส.ค.ที่จ.สงขลา บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการค้าภายใน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เข้าร่วม โดยจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า ประชุมติดตามสถานการณ์การค้าชายแดน เจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ และสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าชายแดน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top