Tuesday, 6 May 2025
GoodsVoice

‘EA’ โชว์ครึ่งแรกปี 67 กวาดรายได้หมื่นล้าน-กำไรสุทธิ 1.4 พันล้านบาท มั่นใจ!! เคลียร์ดอกเบี้ยหุ้นกู้ตามนัด พร้อมเดินหน้าหาพาร์ทเนอร์เสริมแกร่ง

(15 ส.ค. 67) นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน กล่าวว่า “แม้รายได้และกำไรในครึ่งแรกของปี 2567 จะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้มีการส่งมอบ EV Bus ให้กับลูกค้ารายใหญ่ลดต่ำลง แต่ EA ยังมีรายได้ประจำที่เกิดขึ้นจากการขายไฟให้กับภาครัฐเดือนละประมาณ 1,000 ล้านบาทเพียงพอสำหรับการชำระคืนดอกเบี้ยหุ้นกู้ให้กับผู้ถือหุ้นกู้และคืนหนี้ให้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน” 

ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 กำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ 1,430.44 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยลดลงจากผลการดำเนินงานของธุรกิจผลิตและจำหน่าย รถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์ จากผลการดำเนินงานของธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและจากผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เนื่องจากการหมดระยะเวลาการรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล (adder) 

สำหรับแผนการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ในส่วนของธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์ บริษัทฯจะมุ่งเน้นไปที่การจำหน่ายรถหัวลากไฟฟ้า (EV Truck) เป็นหลัก โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการส่งมอบให้กับกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่หลายราย เช่น กลุ่มบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) JWD กลุ่มบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) PTTGC กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอช เอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) WHA เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังมีคู่ค้าอีกหลายรายที่อยู่ระหว่างการเจรจา และเตรียมการส่งมอบ EV Truck เพราะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการจากปัญหาราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง และสอดรับกระแส Green Energy ซึ่งอยู่ในเมกะเทรนด์โลก 

ในส่วนของธุรกิจแบตเตอรี่บริษัทฯ อยู่ในระหว่างปรับปรุงการออกแบบเพื่อนำแบตเตอรี่ไฟฟ้าไปใช้ในการผลิตรถหัวลากไฟฟ้า รวมถึงการนำแบตเตอรี่ไปจำหน่ายในรูปแบบของ Energy Storage (ESS) 

ในส่วนของธุรกิจไบโอดีเซล บริษัทมีรายได้จํานวน 2,042.40 ล้านบาท จากรายได้จากการผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล (B100) จากการผลิตและจำหน่ายกลีเซอรีนบริสุทธิ์ และจากการผลิตและน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) รวมถึงรายได้จากการผลิตและจำหน่าย PCM

นอกจากนี้ในส่วนของธุรกิจอื่น ๆ บริษัทฯยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจบริการสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า รายได้โครงการรับเหมาก่อสร้างติดตั้ง Solar Rooftop และรายได้จากโครงการกำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่เกาะล้านที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และเทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

ในส่วนของงบดุล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 110,006.34 ล้านบาท โดยมีหนี้สินรวมจำนวน 69,709.87 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 40,296.48 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2566 จำนวน 3,713.14 ล้านบาท โดยหลักลดลงจากการจ่ายการจ่ายปันผลจำนวน 1,113.85 ล้านบาท ลดลงจากองค์ประกอบอื่นของส่วนของเจ้าของจำนวน 3,426.25 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจำนวน 1,430.44 ล้านบาท

สำหรับการบริหารจัดการสภาพคล่อง หลังจากที่บริษัทได้ถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือจาก BBB+ (Negative) เป็น BB+ (Negative) ผู้บริหารได้ใช้นโยบายและการจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในการบริหารจัดการอย่างเร่งด่วน กล่าวคือ ในวันที่ 8 สิงหาคม 2567 กลุ่มกิจการได้เข้าทำสัญญาเงินกู้ยืม ระยะยาวและเงินกู้ยืมร่วม (Syndicated Loan) กับสถาบันการเงินหลายแห่งคิดเป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 8,500 ล้านบาท เพื่อวัตถุประสงค์ในการชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน โดยมีการกำหนดเงื่อนไขการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยภายใน 3 ปี โดยกลุ่มกิจการจะทยอยจ่ายคืนเงินกู้ผ่านกระแสเงินสด (Cash Flow) จากการดำเนินงานตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาครัฐ (PPA) 

ในวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2567 สำหรับหุ้นกู้รุ่น EA248A ผู้ถือหุ้นกู้มีมติอนุมัติการขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้โดยไม่ถือเป็นเหตุให้ผิดนัดจำนวน 1,500 ล้านบาท จากเดิมครบกำหนดในวันที่15 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เป็นวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยจากเดิมร้อยละ 3.11 ต่อปีเป็นร้อยละ 5.00 ต่อปี และมีหลักประกันให้เพิ่มเติม โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดชำระ  

ในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้รุ่น EA249A บริษัทได้ขออนุมัติการขยายวันครบกำหนด ไถ่ถอนหุ้นกู้โดยไม่ถือเป็นเหตุให้ผิดนัดจำนวน 4,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผู้ถือหุ้นกู้ที่เข้าร่วมประชุม ในวันดังกล่าวไม่ครบองค์ประชุมซึ่งกำหนดไว้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 66 ของหุ้นกู้ที่ยังไม่ได้ไถ่ถอน จึงจะจัดการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 2/2567 ในวันที่ 23 สิงหาคม โดยการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งนี้ จะต้องมีองค์ประชุมมาเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของหุ้นกู้ที่ยังไม่ได้ไถ่ถอน บริษัทคาดว่า จะครบองค์ประชุมและได้รับการอนุมัติ

อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงิน บริษัทฯอยู่ในระหว่างการเจรจาหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ Strategic Partner ที่มีศักยภาพสามารถเข้ามาเพิ่มทุน และเพิ่ม Synergy ระหว่างกัน รวมถึงการจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทฯ ซึ่งรวมถึงการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) หรือการจำหน่ายสินทรัพย์ให้แก่นักลงทุนที่ให้ความสนใจ

นอกจากนี้ บริษัทยังมีพัฒนาการที่สำคัญในไตรมาสที่สอง 2 โครงการที่สำคัญ คือ โครงการที่ 1 EA ได้ลงนามในสัญญาร่วมพัฒนาโครงการ (Joint Development Agreement) กับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) จัดตั้งบริษัทร่วมทุน Super Holding Company ในบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแบบรวมศูนย์ของ สปป.ลาว ริเริ่มการเป็นศูนย์กลางการจำหน่าย และบริหารพลังงานสะอาดแบบครบวงจรของประเทศ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศให้มีเสถียรภาพในระยะยาว และตั้งเป้าภายใน 3 ปี เพิ่มรายได้ค่าไฟฟ้า ลดภาระ การนำเข้าน้ำมันดิบพัฒนาโครงการกักเก็บพลังงานไฟฟ้า จัดหาโซลูชั่น EV ลงทุนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมร่วมผลักดันสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์แห่งชาติ ‘Battery of Asia’

โครงการที่ 2  EA ได้เข้าร่วมลงนามเป็น Strategic Partner กับ CRRC Dalain ซึ่งเป็นการส่งเสริมการลดคาร์บอนไดออกไซด์ของเครื่องยนต์สันดาปในแบบเก่า การเปลี่ยนแปลงเพื่อการยกระดับอุปกรณ์เส้นทางคมนาคม ซึ่ง EA และ CRRC Dalian ได้ร่วมมือใน 

1. ร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบไฟฟ้าแบตเตอรี่ และ/หรือระบบไฟฟ้าแบตเตอรี่ดีเซลไฮบริด สำหรับรถไฟหัวรถจักรและรถไฟโดยสาร

2. ร่วมกันสำรวจและประเมินความต้องการของลูกค้า จำหน่ายและจัดหาผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาร่วมกันในประเทศไทยและตลาดต่างประเทศ 

3. ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ตามความต้องการของตลาดเป้าหมาย โดยใช้เทคโนโลยี การผลิตรถไฟที่แข็งแกร่งของ CRRC Dalian และเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมและเทคโนโลยี Ultra-fast charge ของ EA เพื่อสร้างขีดความสามารถของเทคโนโลยีในระยะยาว ในด้านต้นทุน และประสิทธิภาพ 

4. ร่วมกันพิจารณาจัดตั้งโรงงานผลิตและประกอบในประเทศไทย

'นสพ.ไทยรัฐ' ออกประกาศ!! คุณสมบัติโครงการสมัครใจลาออก ยอมรับ!! ประสบปัญหาขาดทุน ยอดขายลดลง

(15 ส.ค.67) สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา บริษัท วัชรพล จํากัด ผู้จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ออกประกาศโครงการสมัครใจลาออก ถึงพนักงานในบริษัท โดยระบุว่า เนื่องจากปัจจุบันยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ลดลงมาก ส่งผลกระทบกับธุรกิจ ทำให้บริษัทฯ ประสบภาวะขาดทุน ด้วยเหตุนี้ ทางบริษัทฯ จำเป็นต้องดำเนินการปรับลดค่าใช้จ่ายและลดอัตรากำลังในทุกหน่วยงาน 25% เพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้ โดยรายละเอียดของโครงการดังกล่าว มีดังนี้ต่อไป 

1. คุณสมบัติของพนักงานที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ
พนักงานสังกัดบริษัท วัชรพล จํากัด ทุกระดับ ที่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจํา

2. วิธีการดำเนินการ 
2.1) พนักงานที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ ให้กรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มหนังสือแสดงความประสงค์ได้ที่ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ตั้งแต่วันที่ 14 - 30 สิงหาคม 2567
2.2) ฝ่ายทรัพยากรบุคคล จะพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติพนักงาน ที่บ่นความประสงค์เข้าร่วมโครงการ และจัดทํารายชื่อ เพื่อนําเสนอในการพิจารณาของสายบังคับบัญชา ตามขั้นตอนต่อไป
2.3) ผลการพิจารณาอนุมัติจากประธานกรรมการบริหาร ให้ถือเป็นที่สิ้นสุด

3. ผลประโยชน์ตอบแทนตามโครงการ
3.1) เงินช่วยเหลือตามอายุงาน โดยให้นับอายุงานตั้งแต่วันที่เข้าทํางานกับบริษัทฯ จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567

>> สำหรับเงินช่วยเหลือนั้นสอดคล้องกับอายุงานจะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.ครบ 120 วันขึ้นไป แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้เงินเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
2.ครบ 1 ปีขึ้นไป แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้เงินเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
3.ครบ 3 ปีขึ้นไปแต่ไม่ครบ 6 ปีได้เงินเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
4.ครบ 6 ปีขึ้นไป แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้เงินเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน
5.ครบ 10 ปีขึ้นไป แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้เงินเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
6.ครบ 20 ปีขึ้นไป ได้เงินเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน

ทั้งนี้ พนักงานที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติ จะพ้นสภาพการเป็นพนักงาน ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ส่วนพนักงานที่ได้รับอนุมัติตามโครงการ จะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นเช็ค ในวันที่ 22-31 ตุลาคม 2567 ที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล

'เอ็มจี' ต้อนรับ ‘รมว.ปุ้ย’ ชมโรงงาน พร้อมร่วมเปิดไลน์ผลิต ‘ALL NEW MG3 HYBRID+’ ชูศักยภาพโรงงาน ด้วยกำลังการผลิตสูงสุด 100,000 คันต่อปี

(15 ส.ค.67) บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ - ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย ได้รับเกียรติจาก นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม, นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบการควบคุมทางสรรพสามิต และ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พร้อมคณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเปิดไลน์การผลิตรถไฮบริดรุ่นล่าสุด ALL NEW MG3 HYBRID+ ก่อนเปิดตัวและประกาศราคาอย่างเป็นทางการในไทย วันที่ 20 สิงหาคม นี้ พร้อมเยี่ยมชมฐานการผลิตรถยนต์เอ็มจีในไทย ที่ครอบคลุมการผลิตรถยนต์ในทุกรูปแบบการขับเคลื่อน ทั้งรถยนต์สันดาปภายใน รถยนต์พลังงานทางเลือก และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมถึงโรงงานประกอบแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรก ในประเทศไทย พร้อมแสดงศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่ครอบคลุม

สำหรับ โรงงานผลิตรถยนต์แบบครบวงจรของ เอ็มจี ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (WHA ESIE 2) จังหวัดชลบุรี บนพื้นที่ทั้งหมด 437.5 ไร่ พัฒนาขึ้นภายใต้งบการลงทุนที่สูงถึงกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่ง เอ็มจี ถือเป็นแบรนด์รถยนต์จีนที่มีการลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทยสูงเป็นอันดับต้น ๆ กับจุดเด่นของโรงงานที่สามารถผลิตและประกอบรถยนต์ครอบคลุมทุกรูปแบบการขับเคลื่อนด้วยกำลังการผลิตสูงสุด 100,000 คันต่อปี 

โดยมีพื้นที่ของโรงประกอบตัวถัง (Body Shop) โรงพ่นสีรถยนต์ (Paint Shop) โรงประกอบรถ (General Assembly Shop) ครอบคลุม ไปถึงส่วนของคลังจัดเก็บอะไหล่เพื่อรองรับรถยนต์ของเอ็มจีทุกรุ่น รวมถึงพื้นที่ NEW ENERGY INDUSTRIAL PARK ซึ่งประกอบด้วย โรงประกอบแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน 

ส่วนภายในโรงงานมีการจัดสรรพื้นที่เป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ ส่วนการประกอบแบตเตอรี่ ประกอบด้วยสายการผลิตอัตโนมัติที่ทันสมัยอย่างการนำหุ่นยนต์ (Robotic) เข้ามาช่วยในการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐานที่แม่นยำสามารถประกอบแบตเตอรี่ Cell-To Pack ได้สูงสุดมากกว่า 50,000 แพ็คต่อปี

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยกว่า 10 ปี เอ็มจี ยังคงพัฒนาแบรนด์อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยอย่างครอบคลุม ในฐานะผู้บุกเบิกยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดย เอ็มจี ได้มีพัฒนาและขยาย MG EV ECOSYSTEM เพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต พร้อมทั้ง ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในนโยบายส่งเสริมต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายให้คนไทยได้ใช้ยานยนต์คุณภาพในราคา ที่เข้าถึงได้ ซึ่งล่าสุด เอ็มจี ได้เริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ เริ่มต้นด้วยโกลบอลโมเดลอย่าง NEW MG4 ELECTRIC 

นอกจากนี้ เอ็มจี ยังสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือกอย่างยั่งยืน ด้วยการขยายไลน์การผลิตเพื่อรองรับการผลิตรถไฮบริดอย่าง ALL NEW MG3 HYBRID+ ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้ ตอกย้ำให้เห็นถึงเทคโนโลยียานยนต์ที่ผสมผสานทั้งระบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน และระบบไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสอดรับกับทิศทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นอีกหนึ่งเซ็กเมนต์ ที่ไทยมีโอกาสเป็นฐานการผลิตระดับโลกได้ต่อไป

'ไฮเออร์' ทุ่มงบหมื่นล้าน ผุด รง.ผลิตแอร์ ใน WHA เป้า 6 ล้านเครื่องต่อปี หนุนไทยฮับการผลิตใหญ่ในอาเซียน พร้อมจ้างงานเพิ่ม 3,000 ตำแหน่ง

(15 ส.ค. 67) มร.โจว หยุนเจี๋ย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮเออร์ กรุ๊ป กล่าวว่า “นับเป็นก้าวสำคัญภายใต้วิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ในการมุ่งขยายธุรกิจให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของโลก การขยายการเติบโตในครั้งนี้ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่แห่งใหม่และเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน

ซึ่งไทยนับเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ประกอบกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยที่มีมูลค่ากว่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งไฮเออร์ยังคงเป็นผู้นำในตลาดโดยมีส่วนแบ่งกว่า 13% เป็นยอดขายอันดับ 1 ในกลุ่มเครื่องปรับอากาศแมส ในแง่ของจำนวนในช่องทางออฟไลน์

ไอเออร์มีฐานการผลิตที่ไทยก่อนหน้านี้คือโรงงาน ณ ปราจีนบุรี เป็นฐานการผลิตตู้เย็นและตู้แช่ และโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศของไฮเออร์แห่งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 324,000 ตร.ม. ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 (WHA ESIE 3) จ.ชลบุรี

โดยพื้นที่ดังกล่าวนับเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของประเทศไทย ห่างจากท่าเรือแหลมฉบังใน จ.ชลบุรี 49 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 131 กิโลเมตร

รวมถึงสามารถเชื่อมต่อด้านคมนาคมได้หลายเส้นทาง โดยโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศของไฮเออร์แห่งนี้ รองรับกำลังการผลิตเครื่องปรับอากาศสูงสุดถึง 6 ล้านเครื่องต่อปี โรงงานดังกล่าวมีแผนการดำเนินการก่อสร้างแบ่งเป็น 3 เฟส และมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2570

-เฟสแรกจะเปิดในส่วนของการผลิต 3 ล้านเครื่องในเดือนกันยายน 2568
-เฟสที่สองและเฟสสามจะเสร็จสิ้นพร้อมเปิดดำเนินการในปี 2569 และ 2570 ตามลำดับ

ทั้งนี้หลังจากดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้นโรงงานแห่งนี้จะกลายเป็นฐานการผลิตเครื่องปรับอากาศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศของไฮเออร์

การเติบโตของตลาดแอร์ในไทยที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท โดยไฮเออร์กินมาร์เก็ตแชร์เบอร์ 1 ที่ 13% ตลอดทั้งปี โฟกัสเจาะตลาดกลุ่ม Mid to High ตั้งเป้าสิ้นปี 67 กวาดรายได้ 11,000 ล้าน ซึ่งผ่านมาครึ่งปีแรกกวาดรายได้ทะลุ 6,600 ล้านบาท

โดยไอเออร์เป็นแบรนด์มีจุดแข็งเรื่องช่องทางจำหน่ายออฟไลน์ที่มีสัดส่วนกว่า 90% ช่องทางออนไลน์ 10% ทางแบรนด์มองเห็นโอกาสในการขยายช่องทางออนไลน์ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 15-20% ภายในปีหน้า

พร้อมกันนี้ ไฮเออร์ยังมุ่งส่งเสริมการกระจายความรู้ทางด้านเทคโนโลยีอันโดดเด่นเฉพาะตัวของแบรนด์ทั้งด้านการวิจัย การผลิต และการขาย แก่บุคลากรเพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพ ผ่านความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชนท้องถิ่น โดยในอนาคตอีก 2 ปีข้างหน้า

เมื่อโรงงานดำเนินการสร้างเสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะกระตุ้นตลาดแรงงาน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกระจายรายได้สู่ชุมชน พร้อมสามารถสร้างงานให้ผู้คนในจังหวัดชลบุรีได้กว่า 3,000 ตำแหน่ง นับเป็นการส่งเสริมการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกหนึ่งช่องทาง

'ไทยออยล์' แจ้งข่าวดี!! ผู้รับเหมาช่วง จ่ายค่าจ้างกลุ่มผู้ใช้แรงงานแล้ว พร้อมขอบคุณทุกหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ช่วยผลักดันลุล่วง

(16 ส.ค.67) จากกรณีกลุ่มผู้ใช้แรงงานรวมตัวชุมนุมบริเวณริมถนนสุขุมวิท หน้าโรงกลั่นไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 เนื่องจากไม่ได้รับค่าจ้างจากผู้รับเหมาช่วงของ UJV - Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd., Petrofac South East Asia Pte. Ltd. และ Saipem Singapore Pte. Ltd. (UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem) นั้น

ในวันที่ 9 สิงหาคม 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และผู้แทน UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem ได้ร่วมประชุมหารือเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้รับชำระค่าจ้าง โดยมี ไทยออยล์ เข้าร่วมสังเกตการณ์ ณ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ข้อสรุปว่า...

UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem ตกลงจะนำเงินไปจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายให้กับลูกจ้างในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานฯ 2 ฉบับ (ที่ 20/2567 และ 21/2567) โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะเข้าไปกำกับดูแลกลไกและเงื่อนไขการจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายให้ครบถ้วน

ทั้งนี้ ในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ไทยออยล์ ได้รับรายงานว่า บริษัท เอสทีพี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (STP) และ บริษัท เอสซีไอ สยาม โคเรีย อินดัสเตรียล จำกัด (SCI) ได้ชำระเงินค่าจ้างค้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างแล้ว ส่งผลให้กลุ่มลูกจ้างได้ยุติการรวมตัวชุมนุมบริเวณหน้าโรงกลั่นไทยออยล์เมื่อเวลา 18.15 น.

ทั้งนี้ ทาง ไทยออยล์ ได้แสดงความขอบคุณหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ที่ช่วยประสานและผลักดันให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่รวมตัวชุมนุมดังกล่าวได้รับค่าจ้างค้างจ่าย ทำให้สถานการณ์คลี่คลาย บรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ

'รมว.ปุ้ย' สั่ง 'สนอ.' เกาะติดราคาน้ำตาลตลาดโลก ห่วง!! อาจกระทบราคาอ้อยในไทยปี 67/68

เมื่อวานนี้ (15 ส.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้กำชับให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลตลาดโลกอย่างใกล้ชิด ห่วงอาจกระทบกับราคาอ้อยในประเทศ ฤดูการผลิตปี 2567/68 ซึ่งสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ราคาน้ำตาลตลาดโลกเฉลี่ยที่ระดับ 20 เซนต์ต่อปอนด์ ลดลง 16.67% จากปี 2566 ที่ราคาอยู่ในระดับ 24 เซนต์ต่อปอนด์ เนื่องจากมีสต็อกน้ำตาลในตลาดโลกเป็นจำนวนมาก และบราซิล ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกมีผลผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งได้เพิ่มสัดส่วนการผลิตน้ำตาล ประกอบกับในฤดูการผลิตปี 2566/67 ไทยมีผลผลิตน้ำตาล 8.81 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12.80% จากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมี 7.81 ล้านตัน 

สำหรับสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 แนวโน้มราคาน้ำตาลตลาดโลกจะอยู่ในระดับที่ไม่เกิน 21 เซนต์ต่อปอนด์ โดยมีปัจจัยมาจากบราซิลสามารถผลิตน้ำตาลได้มากขึ้น และหากอินเดียได้เปลี่ยนนโยบายอนุญาตให้ส่งออกน้ำตาลได้ตามปกติ จะส่งผลให้สต็อกน้ำตาลในตลาดโลกสะสมเพิ่มขึ้น ส่วนไทยคาดว่าในฤดูการผลิตปี 2567/68 จะมีผลผลิตอ้อย 92 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11.96% เมื่อเทียบกับฤดูการผลิตปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณอ้อย 82.17 ล้านตัน

ด้าน นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า เบื้องต้น สอน. ได้นำตัวเลขมาคิดคำนวณราคาอ้อยในประเทศสำหรับฤดูการผลิตปี 2567/68 หากราคาน้ำตาลตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับที่ 21 เซนต์ต่อปอนด์ จะส่งผลให้ราคาอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,200 บาทต่อตันอ้อย ลดลง 15.49% เมื่อเทียบกับฤดูการผลิตปีที่ผ่านมาที่มีราคาอ้อยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,420 บาทต่อตันอ้อย 

อย่างไรก็ดี องค์ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยในประเทศยังคงมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ในฤดูการผลิตปี 2567/68 สอน. จะมีแนวทางในการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ชาวไร่อ้อยมีผลผลิตที่ดี และโรงงานได้น้ำตาลทรายที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยผลักดันราคาอ้อยในประเทศให้สูงขึ้นในอนาคต สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะให้ชาวไร่อ้อยจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะสามารถเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทาง

'GAC Group' ประกาศศักดา 'HYPTEC SSR' ที่สุดแห่งไฮเปอร์คาร์ไฟฟ้า ก้าวกระโดดครั้งใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์จีน จ่อลุยตลาดโลก

ประกาศศักดาอย่างเต็มตัวไปเมื่อ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังจาก GAC Group ได้เปิดตัว HYPTEC SSR เวอร์ชัน Global Model อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้กับไฮเปอร์คาร์จากประเทศจีนที่พร้อมจะทำตลาดในระดับโลก นับเป็นการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ของประเทศจีนไปสู่มาตรฐานระดับโลก โดยรถไฮเปอร์คาร์ถือเป็น 'ที่สุดของรถยนต์สมรรถนะสูง' ในอุตสาหกรรมยานยนต์ การผลิต HYPTEC SSR และจำหน่ายในต่างประเทศได้สำเร็จ ไม่เพียงแต่เป็นการทำลายการผูกขาดเทคโนโลยีของไฮเปอร์คาร์จากชาติตะวันตกเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี วัฒนธรรม และแบรนด์รถยนต์ระดับสูงของจีนอีกด้วย นับเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์จีน

นับตั้งแต่ HYPTEC SSR เปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา HYPTEC ได้มุ่งมั่นพัฒนารถยนต์ในทุกด้าน ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การออกแบบ การทดสอบ การผลิตอัจฉริยะ และระบบห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาจะช่วยยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมยานยนต์จีน อีกทั้งยังได้ส่งเสริมนวัตกรรมยานยนต์และวงการมอเตอร์สปอร์ตในประเทศ ทำให้จีนก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีอิทธิพลในวงการยานยนต์ระดับโลก

HYPTEC ยึดมั่นในแนวทางที่จริงจังและมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนารถยนต์ระดับพรีเมียม ซึ่งสามารถดึงดูดนักออกแบบดีไซน์รถยนต์ระดับโลกอย่างคุณ Pontus Fontaeus นักออกแบบรถยนต์ชื่อดังที่เคยร่วมงานกับแบรนด์รถยนต์ระดับโลกอย่าง Ferrari, Bugatti และ Lamborghini ได้เลือกที่จะร่วมมือกับ HYPTEC ในการรังสรรค์ HYPTEC SSR ให้เป็นงานศิลปะชิ้นเอก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคุณภาพสูงสุดของไฮเปอร์คาร์ยุคใหม่

ในงาน Thailand International Motor Expo 2023 ที่ผ่านมา HYPTEC SSR ได้สร้างสถิติราคาสูงสุดสำหรับการส่งออกรถยนต์ของประเทศจีน และยังมีการสั่งซื้อจากลูกค้าภายในงานอีกด้วย นอกจากนี้ที่งาน Milan Design Week ไฮเปอร์คาร์ไฟฟ้า HYPTEC SSR ได้รับความสนใจจากนักออกแบบทั่วโลก ด้วยการผสมผสานศิลปะจีนและตะวันตกเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว สร้างความประทับใจให้กับผู้คนภายในงานเป็นอย่างยิ่ง และในเดือนตุลาคมนี้ HYPTEC SSR ยังมีแผนที่จะเข้าร่วมงาน Paris Motor Show เพื่อแสดงศักยภาพเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศจีนในภูมิภาคยุโรปอีกด้วย

การเปิดตัวรถเวอร์ชัน Global Model ของ HYPTEC SSR ยังเป็นการเสริมสร้างการยอมรับในความสามารถของอุตสาหกรรมยานยนต์จีนจากผู้บริโภคในต่างประเทศอีกด้วย HYPTEC ได้ก้าวข้ามพรมแดนออกจากประเทศจีน และไม่เพียงแต่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาสู่ตลาดโลก แต่ยังยกระดับสถานะของอุตสาหกรรมยานยนต์จีนในระดับสากล HYPTEC ใช้ความสามารถและนวัตกรรมที่โดดเด่น เพื่อเปลี่ยนมุมมองของผู้บริโภคที่ให้ความเชื่อมั่นแบรนด์รถยนต์ระดับไฮเอนด์จากฝั่งตะวันตก ให้หันมาสนใจรถยนต์ระดับไฮเอนด์จากประเทศจีนมากยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ การเปิดตัว HYPTEC SSR เวอร์ชัน Global Model เป็นสัญญาณของการก้าวสู่แบรนด์ระดับโลกในระดับไฮเอนด์ โดย HYPTEC SSR ซึ่งเป็นไฮเปอร์คาร์ที่ถูกออกแบบ วิจัย พัฒนา และผลิตขึ้นเองโดย GAC ทั้งหมด ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในวงการซูเปอร์คาร์และไฮเปอร์คาร์ เป็นการเปิดประตูให้กับไฮเปอร์คาร์จากประเทศจีนสู่เวทีระดับโลกอย่างแท้จริง เพื่อสร้างรถไฮเปอร์คาร์หมายเลขหนึ่งของจีน HYPTEC ได้ก้าวผ่านความท้าทายทางเทคนิคหลายประการ ตั้งแต่การออกแบบจนถึงการวิจัยและพัฒนา และในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการสร้างสายการผลิตไฮเปอร์คาร์ของประเทศจีนเป็นครั้งแรก HYPTEC SSR ได้ใช้มาตรฐานการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ถึง 1,184 มาตรฐาน ในการสร้างสรรค์ศิลปะและเทคโนโลยีเพื่อมอบประสบการณ์เหนือระดับให้กับผู้ใช้งาน ทั้งยังเป็นการกำหนดมาตรฐานการผลิตไฮเปอร์คาร์ในระดับสากลอีกด้วย

HYPTEC SSR ได้รับการออกแบบด้วยเทคโนโลยีระดับโลกหลายอย่าง รวมถึงตัวถังที่ทำจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ 100% โครงสร้างที่ทำจากอะลูมิเนียมมีน้ำหนักเบาและมีความแข็งแรงสูง ในด้านเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า HYPTEC SSR ได้พัฒนาระบบแบตเตอรี่ที่สามารถจัดการความร้อนได้ดี ช่วยให้สามารถส่งพลังงานไปสู่ระบบขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของมอเตอร์ไฟฟ้า HYPTEC SSR ใช้มอเตอร์สามตัวที่ให้กำลังมากกว่า 1,000 แรงม้า นอกจากนี้ยังใช้ยางที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นยางเกรดเดียวกับที่ใช้ในอากาศยาน พร้อมด้วยจานเบรกที่ทำจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์คุณภาพสูง ถือเป็นการเติมเต็มช่องว่างในเทคโนโลยีรถสมรรถนะสูงของประเทศจีน

นอกจากนี้ การเปิดตัว HYPTEC SSR เวอร์ชัน Global Model ยังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในต่างประเทศมากมาย ซึ่งเป็นการเริ่มต้นบทใหม่ของแบรนด์ HYPTEC ในระดับสากล HYPTEC SSR จะเริ่มต้นการส่งมอบในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเดือนสิงหาคมนี้ และจะขยายตลาดไปยังตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ และยุโรปอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะทำให้ HYPTEC ได้รับการยอมรับในฐานะแบรนด์รถยนต์ระดับไฮเอนด์ของโลก อีกทั้งการเปิดตัว HYPTEC SSR เวอร์ชัน Global Model ยังเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาที่ครอบคลุมทั้งในด้านการวิจัย การออกแบบ การทดสอบ การผลิตอัจฉริยะ และห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์จีน และเป็นการแสดงให้เห็นถึงเสน่ห์และนวัตกรรมของยานยนต์ระดับไฮเอนด์จากประเทศจีนอีกด้วย

สำหรับลูกค้าที่สนใจรถยนต์ไฟฟ้า AION รถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะที่มาพร้อมกับฟีเจอร์และเทคโนโลยีอัจฉริยะระดับโลก สามารถเข้าไปทดลองขับได้ที่ศูนย์บริการ AION ทั่วประเทศ และสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:

Website : https://www.aionauto.com/
Facebook : https://www.facebook.com/AIONthailand
Instagram : https://www.instagram.com/aion_thailand/
X (Twitter) : https://x.com/AION_TH
Tiktok : https://www.tiktok.com/@aion_thailand

‘กฟผ.’ จับมือ ‘CNOS’ เซ็น MOU แลกเปลี่ยนความรู้-เทคโนโลยี เตรียมความพร้อมพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็กในไทย

กฟผ. และบริษัทยักษ์ใหญ่จีน CNOS ร่วมลงนาม MOU แลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการนำโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) มาใช้ในไทย มุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านการจัดหาพลังงานระยะยาว

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 67 นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ Mr.Qiao Gang, Vice President of China National Nuclear Corporation Overseas Ltd. (CNOS) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ มุ่งส่งเสริมพลังงานสะอาด สร้างความมั่นคงและความยั่งยืนด้านการจัดหาพลังงาน ณ ห้อง Press Conference ชั้น 3 อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ.

นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. มีเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งพลังงานนิวเคลียร์เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าสูง ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตไฟฟ้า สามารถช่วยเพิ่มความมั่นคงและความยั่งยืนด้านการจัดหาพลังงานในระยะยาวได้ 

ปัจจุบัน กฟผ. อยู่ระหว่างศึกษาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor: SMR) ตลอดจนการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย ซึ่ง SMR เป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ในแผนพลังงานชาติ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานในอนาคตและเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน นอกจากนี้โรงไฟฟ้า SMR มีขนาดเล็กจึงมีความยืดหยุ่นและความปลอดภัยสูง โดยออกแบบและผลิตเป็นโมดูลในโรงงานแล้วนำไปติดตั้งในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาการก่อสร้างได้ 

ด้าน Mr.Qiao Gang, Vice President of CNOS กล่าวว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแล้ว 57 เครื่อง (Unit) และกำลังก่อสร้างหรืออยู่ในระหว่างขออนุมัติจากรัฐบาล 36 เครื่อง โดยเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของ China National Nuclear Corporation (CNNC) ที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแล้ว 26 เครื่อง และอยู่ระหว่างก่อสร้างหรืออนุมัติ 18 เครื่อง ซึ่ง CNNC เป็นบริษัทแม่ของ CNOS และเป็นบริษัทเดียวในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ดำเนินธุรกิจด้านนิวเคลียร์อย่างครบวงจรตั้งแต่ การทำเหมืองยูเรเนียมที่เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ การออกแบบและก่อสร้าง จนถึงการจัดการเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว และเป็นกำลังหลักในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะการพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR ที่ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก CNNC อยู่ระหว่างการก่อสร้าง SMR แห่งแรก 

โดยกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในสิ้นปี 2568 สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งเมื่อทราบว่า กฟผ. เป็นหน่วยงานสำคัญด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย มีความมุ่งมั่นในการสำรวจและพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศไปสู่ความยั่งยืน ตามแนวทางที่รัฐบาลไทยกำลังพิจารณาและวางแผนการใช้โรงไฟฟ้า SMR ในทศวรรษหน้า เนื่องจากพลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานสะอาด มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ กฟผ. และ CNOS จะร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ และโรงไฟฟ้า SMR ทั้งในด้านเชื้อเพลิง งานวิศวกรรม งานก่อสร้าง การดำเนินงานและการบำรุงรักษา รวมถึงการจัดการกากกัมมันตรังสีและเชื้อเพลิงใช้แล้ว โดย CNOS จะให้การสนับสนุนการศึกษาและเตรียมการพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR ของ กฟผ. เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ด้านพลังงานนิวเคลียร์และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่การดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

'ครูเอ้-อัษฎาวุธ' แจ้ง!! เตรียมจัดงานใหญ่ ฉลอง 144 ปี หลวงประดิษฐไพเราะ เผย!! ดีใจ 'เยาวชนไทย-หลากวัย' หันมาสนใจเรียนดนตรีไทยเพิ่มขึ้น

THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ 'อาจารย์อัษฎาวุธ สาคริก' หรือ 'อาจารย์เอ้' เลขาธิการ มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ถึงความเป็นมาของมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2524 เพื่อเป็นอนุสรณ์ในโอกาสครบรอบ 100 ปี ของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) อันเป็นมูลนิธิเกี่ยวกับดนตรีไทยมูลนิธิแรกของประเทศไทย ที่มีวัตถุประสงค์หลาย ๆ ด้าน เช่น การอนุรักษ์สืบสาน, การพัฒนาและสร้างโอกาสใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนสังคมดนตรีไทยในระดับต่าง ๆ รวมถึงรวบรวมองค์ความรู้ที่กระจัดกระจาย มาสื่อสารให้คนในยุคปัจจุบันได้รับรู้ถึงคุณค่าที่แท้จริงของดนตรีไทย

ช่วงหนึ่งของรายการ อ.เอ้ เล่าให้ฟังว่า โจทย์ที่สำคัญในวันนี้ คือ จะทำอย่างไรให้ดนตรีไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนได้เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันทางมูลนิธิฯ ได้มีการจัดทำโครงการเพื่อนดนตรี ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงดนตรี และงานวิชาการกับกลุ่มคนใหม่ ๆ รวมถึงการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ดนตรีไทย ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการจัดแสดงสิ่งของเท่านั้น แต่ต้องการนำเสนอองค์ความรู้ง่าย ๆ เพื่อสร้างการเรียนรู้ได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น

"ในปี พ.ศ. 2568 จะเป็นวาระครบรอบ 144 ปี ของหลวงประดิษฐไพเราะ ทางมูลนิธิฯ จึงเตรียมที่จะจัดกิจกรรมพิเศษมากมาย เพื่อร่วมรำลึกถึงท่าน เช่น การจัดทำละครโทรทัศน์, ละครเวที, การเผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์, การจัดเทศกาลดนตรีไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการวางแผนงาน ฝากติดตามกันในปีหน้า"

เมื่อถามถึงความสนใจดนตรีไทยของเด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบัน? อ.เอ้ เผยว่า "มีความสนใจในดนตรีไทยมากขึ้น มีทักษะมากขึ้น และมีความกล้าในการนำเสนอมากขึ้น แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ การถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับดนตรีไทยไปสู่เด็กและเยาวชนอย่างลึกซึ้งเท่านั้นเอง"

เมื่อพูดถึงการเรียนดนตรีไทย ที่มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ อ.เอ้ เผยว่า ปัจจุบันมีการเปิดสอนทุกชนิดของเครื่องดนตรีไทย โดยสอนทุกวันเสาร์และอาทิตย์ 

"การสอนของเรามีลักษณะเป็นชมรม เป็นครอบครัวใกล้ชิดกัน เหมือนพี่สอนน้องกันมากกว่า ซึ่งถ้าผู้สนใจไม่มีพื้นฐานดนตรีไทยก็สามารถเรียนได้ โดยปัจจุบันมีเยาวชนจนถึงผู้สูงวัยให้ความสนใจมาเรียนดนตรีไทยกันจำนวนมาก"

ในช่วงท้ายอาจารย์เอ้ ฝากข้อคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับดนตรีไว้ด้วยว่า "การฟังดนตรี เราฟังผ่านทางหู และรับรู้ด้วยหัวใจ ศิลปะบางอย่างไม่ต้องเข้าใจลึกซึ้ง ขอแค่รู้สึกได้ รับรู้ได้ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราก็พอ"

'ปลากะพง 3 น้ำ' สุดยอดปลาแห่งทะเลสาบสงขลา 'ความฝัน-ความทุ่มเท' ของชายชื่อ 'เจือ ราชสีห์'

ถือเป็นอีกบทบาทคู่ขนานของ 'นายเจือ ราชสีห์' ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนักการเมืองคนสำคัญในจังหวัดสงขลา ที่ THE STATES TIMES ได้มีโอกาสมาทำความรู้จัก ในหมวกอีกใบกับบทบาทผู้อยู่เบื้องหลังและผลักดันคุณภาพชีวิตชาวสงขลา ผ่านการสนับสนุนให้มีการพัฒนาผลผลิตจากปลากะพง ต.เกาะยอ อ.เมือง สงขลา ซึ่งเป็นหนึ่งในปลาเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลา ให้มีความโดดเด่น โดยเฉพาะตำบลเกาะยอ จนกลายเป็น 'ปลากะพง 3 น้ำ' (น้ำจืด-น้ำเค็ม-น้ำกร่อย) และได้รับรองคุณภาพด้วยมาตรฐาน GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ว่ามีรสชาติเป็นเอกลักษณ์และเนื้อขาว แน่นนุ่ม กลิ่นละมุน

ไม่เพียงเท่านั้น 'เจือ ราชสีห์' ยังได้ผลักดันให้ชาวชุมชนเกาะยอ นำผลผลิตออกมาแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน แถมสามารถจัดเก็บได้นาน รสชาติยังคงเหมือนเดิม เช่น ปลากะพงแช่แข็งแบบสุญญากาศ ปลากะพงรมควัน ปลากะพงซาชิมิ จนสามารถขึ้นห้างสยามพารากอนได้ในปัจจุบัน

THE STATES TIMES เริ่มบทสนทนา กับ 'เจือ ราชสีห์' ถึงจุดเริ่มต้นและที่มาที่ไปของปลากะพง 3 น้ำ ซึ่ง เจือ ก็เล่าให้ฟังว่า "นี่คือหนึ่งในของเลื่องชื่อของจังหวัดสงขลา และถือเป็นอาชีพที่ทำสืบต่อกันมาในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาไม่น้อยกว่า 50 ปี โดยมีการปรับตัวตามยุคสมัยมาเรื่อย ๆ ซึ่งอาจจะไม่ถึงกับทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาร่ำรวยจนเป็นเศรษฐี เศรษฐีนี แต่อาชีพนี้ก็เลี้ยงปากเลี้ยงท้องมาหลายครอบครัว หลายช่วงอายุคน"

จุดเปลี่ยน!! เจือ เล่าต่อว่า "โอกาสสำคัญที่เริ่มทำให้ผู้เลี้ยงปลากะพง 3 น้ำได้ลืมตาอ้าปาก เกิดขึ้นเมื่อช่วงวิกฤตโควิด-19 หลังจากบรรดาลูกค้าทั้งร้านอาหาร โรงแรม ตลาดในพื้นที่เงียบเหงา เท่านั้นยังไม่พอยังถูกซ้ำเติมด้วยปลากะพงจากมาเลเซียที่ราคาถูกกว่า ช่วงนั้นต้องยอมรับว่าอาชีพนี้เกือบสูญหายจากทะเลสาบสงขลา...

"ช่วงนั้นทั้งผม ทั้งกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพง ได้ไปร้องขอกระทรวงพาณิชย์ มีการอุดหนุนส่วนต่างราคา ทำให้อาชีพนี้ ยังคงดำรงอยู่ได้...

"แต่สุดท้าย ยังไงก็ตาม เราจะไปขอให้รัฐบาลช่วยเหลือตลอดไปไม่ได้ เราต้องยืนหยัดสู้ด้วยลำแข้งลำขาของตัวเราเอง"

นายเจือ ยังได้ขยายความช่วงแห่งการยืนหยัดให้ฟังต่อว่า "เรากลับมาเริ่มต้นค้นหาจุดแข็งของปลากะพงของเรา โดยจุดแข็งของปลากะพงของเรา คือ สถานที่ที่เราเลี้ยง นั่นคือ ทะเลสาบสงขลาที่มีน้ำ 3 น้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ทำให้ปลาของที่นี่อร่อยมากเป็นพิเศษ เป็นปลากะพงที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน สร้างเอกลักษณ์ให้รสชาติ ภายใต้เนื้อขาว แน่นนุ่ม กลิ่นละมุน...

"เมื่อปลากะพง 3 น้ำ สร้างเอกลักษณ์สุดพิเศษได้ เราก็นำไปต่อยอดด้วยการขอ GI หรือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นปลากะพงเจ้าแรกและเจ้าเดียวในขณะนี้ที่ได้รับเครื่องหมาย GI ซึ่งสิ่งนี้เป็นมูลค่าเพิ่มที่ทำให้ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา จนปัจจุบันมีผู้คนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก"

เมื่อพูดคุยกันถึงจุดนี้ ก็ทำให้ผู้สัมภาษณ์นึกย้อนไปถึงตำราของ 'ปีเตอร์ เอฟ ดรักเกอร์' หนึ่งในปรมาจารย์ด้านการบริหารจัดการ ที่มักจะเน้นย้ำถึงการแสวงหาจุดแข็ง และใช้จุดแข็งในการต่อยอดความสำเร็จ ซึ่งในรายละเอียดเชิงที่ไม่ได้ลงไว้ ณ ที่นี้ ช่างสอดคล้องกับวิธีคิดของ 'เจือ ราชสีห์' เหลือเกิน

อย่างไรก็ตาม 'เจือ' ก็ยังกล่าวอย่างถ่อมตนว่าความสำเร็จของปลากะพง 3 น้ำในวันนี้ยังต่อยอดไปได้อีกมาก และยอมรับว่า ยังมีองค์ความรู้บางอย่างที่สามารถค้นหาเพื่อเติมเต็มลงไปในสินค้าได้อีกเยอะ แม้พื้นฐานของผู้คนที่นี่จะมีประสบการณ์ในด้านการเพาะเลี้ยงมาไม่น้อยกว่า 50 ปีก็ตาม

"ในอนาคตเรายังต้องนำองค์ความรู้ใหม่ๆ มาผสมผสานกับผลิตภัณฑ์ปลาของเราอย่างต่อเนื่อง เช่น การถนอมปลาแบบอิเคะจิเมะ (เทคนิคขั้นสูงในการเก็บรักษาปลา ที่ทำให้ปลาตายโดยเฉียบพลัน) ซึ่งจะช่วยคงคุณภาพให้กับตัวสินค้า รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นปลาเค็ม, ปลารมควัน, หนังปลาทอดกรอบ ซึ่งตอนนี้เราก็กำลังพัฒนาอยู่และไปได้สวย"

ไม่เพียงแค่เรื่องของผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ 'เจือ' ยังมองไกลไปถึงเรื่องของการออกร้านที่ต้องทำให้มีความโดดเด่น น่าสนใจ สร้างแรงดึงดูดต่อผู้มาแวะเวียนอีกด้วย

"ร้านในรูปแบบเดิม ที่เราเอาแค่สินค้าสดออกไปโชว์หรือไปขายอย่างเดียว มันคงไม่พออีกแล้ว เราต้องเพิ่มเติมบางอย่างเข้าไป อย่างเช่น ตอนนี้เราทำอาหารปรุงสำเร็จควบคู่ไปกับขายปลาสดพร้อมๆ กัน เพื่อให้ลูกค้าได้ชิมกันสดๆ ไปเลยว่าถูกปากหรืออร่อยกว่าปลากะพงที่อื่นไหม ตรงนี้ก็กลายเป็นจุดดึงดูดที่ทำออกมาได้ดีทีเดียว"

ท้ายที่สุด 'เจือ' ได้บอกกับ THE STATES TIMES อีกว่า สิ่งหนึ่งที่เขาเน้นย้ำกับชาวประมงและผู้เกี่ยวข้องเสมอ ก็คือ เขาจะไม่ยอมให้ปลากะพง 3 น้ำ ไปสู้ในตลาดที่เน้นการตัดราคากันเด็ดขาด เขาอยากให้ทุกคนสู้ที่คุณภาพ จงเชื่อมั่นและมั่นใจว่าปลากะพง 3 น้ำคุณภาพไม่ด้อยไปกว่าใครแน่นอน...

"ความฝันของผมนะ ผมอยากเห็นปลากะพง 3 น้ำของทะเลสาบสงขลา เป็นเหมือนกับแซลมอนที่ส่งออกไปทั่วโลกได้ ถ้าทำได้อย่างนั้นจริง คุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงจะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน" นายเจือ ราชสีห์ กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top