'อ.พงษ์ภาณุ' ติง!! 'ภาครัฐ' ปกป้องอุตฯ ไทย จากสินค้าราคาถูกจีนล่าช้า สวนทาง 'ยุโรป-เมกา' เดินเกมเก็บภาษีขาเข้าป้องกันจีนทุ่มตลาดแต่เนิ่นๆ

(18 ส.ค.67) ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในมุมมองของ 'จีนทุ่มตลาดไทย?' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการเปิดเผยสถิติการค้าแบบทวิภาคี 'ไทย-จีน' ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งปรากฏว่าไทยขาดดุลการค้าจีนแบบวินาศสันตะโร ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น ประชาชนยังไม่มีอำนาจซื้อและยังต้องแบกรับหนี้ภาคครัวเรือนจำนวนมหาศาล

ขณะที่เศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเมื่อเดือนที่แล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับการคาดการณ์อัตราเติบโตของ GDP ทั้งปีขึ้นเป็น 5% แม้ว่าการบริโภค/การลงทุนในประเทศยังทรงตัว อันเป็นผลมาจากภาคอสังหาริมทรัพย์จีนที่เกิดฟองสบู่แตกเมื่อหลายปีก่อน และยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวเท่าไหร่ แต่การขยายตัวของจีนขับเคลื่อนจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวเร็วผิดปกติอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่ออุปสงค์ในประเทศยังไม่ฟื้น แน่นอนย่อมมีกำลังการผลิตส่วนเกิน (Excess Capacity) ซึ่งหากสามารถผลักดันผลผลิตส่วนเกินนี้ออกสู่โลก แม้ว่าจะต้องกดราคาให้ต่ำเป็นพิเศษ ก็ยังดีกว่าปล่อยให้สินค้าคงเหลือเหล่านี้สูญเปล่าไป ซึ่งจากรายงานมีการส่งออกผลผลิตส่วนเกินออกสู่ตลาดหลายประเทศในราคาต่ำกว่าตลาด

ประเทศตะวันตกหลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา และยุโรป ได้รับผลกระทบจากสินค้าถูกจากจีนมาระยะหนึ่งแล้ว จึงได้มีการเก็บภาษีขาเข้าในรูปของ Anti-dumping Duty และ Countervailing Duty จากสินค้าจีน เพื่อป้องกันความเสียหายต่อผู้ประกอบการภายในประเทศจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม แม้ว่าอาจทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระสูงขึ้น

สำหรับประเทศไทย นอกจากจะไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในด้านนโยบายการค้า เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมแล้ว ระบบภาษีอากรของไทย ยังเอื้อให้มีการเอาเปรียบผู้ประกอบการในประเทศอีกด้วย ดังนี้...

ประการแรก 'ไทย-จีน' เป็นเขตการค้าเสรีมาระยะหนึ่งแล้ว ดังนั้น อุปสรรคการค้าทั้งในรูปของอากรขาเข้า และมิใช่อากร ที่พรมแดน ต้องเป็นศูนย์

ประการที่สอง รัฐบาล/กรมสรรพากรในอดีต มีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แก่สินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทต่อชิ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% โดยไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ วันนี้ได้รับรายงานว่า มีการยกเลิกข้อยกเว้นนี้ไปแล้ว

ประการที่สาม ภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยและของอีกหลาย ๆ ประเทศยังคงยึดมั่นในหลักสถานประกอบการถาวร (Permanent Establishment) และได้ยึดมั่นในหลักการนี้อย่างเคร่งครัดเสมอมาเป็นเวลากว่า 100 ปี จนการจัดเก็บภาษีเงินได้ปรับเปลี่ยนไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของโลก ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้ภาษีไปจำนวนมากมายจากที่ควรจะจัดเก็บได้ เพราะการทำธุรกิจในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องทำในรูปของสถานประกอบการถาวร แต่อยู่ในรูปของ Platform Online ซึ่งจะมีสถานประกอบการอยู่ที่ไหนก็ได้ หรือจะบันทึกกำไรในเขตภาษีที่มีอัตราภาษีเงินได้ต่ำที่สุด จึงทำให้กิจการเหล่านี้มีความได้เปรียบเชิงภาษีเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในไทย

นอกจากนี้ ในด้านนโยบายการค้าและการพาณิชย์ นั้น หากทันทีที่มีเหตุต้องสงสัย ว่าสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศมีการทุ่มตลาดและ/หรือได้รับการอุดหนุนให้มีราคาขายต่ำกว่าต้นทุน กระทรวงพาณิชย์จะต้องรีบดำเนินการตามกระบวนการ Anti-dumping Duty และ/หรือ Countervailing Duty เช่นที่นานาประเทศเขาทำกันโดยทันที โดยไม่ต้องรอให้ความเสียหายปรากฏชัดเช่นในปัจจุบัน กรอบกฎหมายของประเทศไทยมีหมดอยู่แล้ว ขาดอยู่ก็เฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย

ที่พูดมาทั้งหมดไม่ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยใช้มาตรการกีดกันทางการค้า (Protectionist Measures) ในทางตรงกันข้าม เราอยากเห็นการค้าเสรีที่อยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เป็นธรรม (Free and Fair Trade) หากรัฐดูแลให้กรอบการแข่งขันมีความเป็นธรรม แล้วผู้ประกอบการไทยยังไม่สามารถแข่งขันได้ ก็สมควรไปขายเต้าฮวยดีกว่า