Saturday, 3 May 2025
GoodsVoice

'กพช.' ไฟเขียว!! ต่อเวลาชดเชยราคาน้ำมันผสมเชื้อเพลิงชีวภาพอีก 2 ปี อุ้ม!! 'กลุ่มเกษตรกร-รง.เอทานอล-ผลิตน้ำมันปาล์ม' ให้มีเวลาปรับตัว

(5 ก.ย. 67) ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 4 ก.ย.2567 มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาชดเชยราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปี จากเดิมที่จะหมดอายุลงในวันที่ 24 กันยายน 2567 นี้ โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 17 กันยายน นี้เป็นลำดับต่อไป 

ทั้งนี้ พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ต่างๆ และน้ำมันดีเซล B7 และดีเซล B20 มาตั้งแต่ปี 2565 แต่กฎหมายเปิดโอกาสให้ขอยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ขอขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไปแล้วหนึ่งครั้ง โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 24 ก.ย. 2567 นี้ ดังนั้นจะเหลือโอกาสในการขอขยายเวลาได้อีก 1 ครั้ง ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย โดยจะไปสิ้นสุดในวันที่ 24 ก.ย. 2569 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปอีก 2 ปี เพื่อให้เวลาอย่างจริงจังในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มโรงงานเอทานอล รวมถึงน้ำมันปาล์ม ให้มีระยะเวลาในการปรับตัวไปจำหน่ายผลผลิตในตลาดส่วนอื่นๆ แทนการนำมาผสมในน้ำมัน เช่น จำหน่ายในตลาดเครื่องสำอาง เวชภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เป็นต้น

‘Stellantis’ ตั้ง ‘PNA’ เป็นตัวแทนจำหน่าย ‘Leapmotor’ ในไทย พร้อมวางแผนเปิดโชว์รูม-เพิ่มช่องทางการขายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

(5 ก.ย. 67) ‘Stellantis’ บริษัทผู้ผลิตยานยนต์และผู้ให้บริการด้านการคมนาคมชั้นนำระดับโลก ประกาศแต่งตั้ง ‘บริษัท พระนครยนตรการ จำกัด  (PNA)’ เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ‘Leapmotor’ อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ด้วยความร่วมมือกับ PNA นี้ นับเป็นก้าวแรกสำหรับการเปิดตัวแบรนด์ Leapmotor ให้ลูกค้าในประเทศไทยได้สัมผัส

PNA และเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้ง จะเปิดโชว์รูมและศูนย์บริการแห่งใหม่ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางการนำเสนอและการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของ Leapmotor ให้กับลูกค้าในไทย

Stellantis และ Leapmotor ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน Leapmotor International B.V. เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ในสัดส่วน 51:49 เพื่อขยายตลาดในต่างประเทศ โดย Leapmotor International ได้รับสิทธิ์ในการจำหน่ายและส่งออก รวมถึงการผลิต Leapmotor นอกประเทศจีนแต่เพียงผู้เดียว บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างนิยามใหม่ของยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย โดยได้รับการสนับสนุนจากทีมงานที่มีความสามารถภายในองค์กรเอง

นายแดเนียล กอนซาเลซ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการอาเซียนและผู้จัดจำหน่ายทั่วไปของ Leapmotor International B.V.  กล่าวว่า “เรามีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับพระนครยนตรการ พันธมิตรของเราเพื่อขยายแบรนด์ Leapmotor มายังประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยของ Leapmotor เราเชื่อว่าลูกค้าของเราในประเทศไทยจะชื่นชอบรถยนต์ของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มองหาประสบการณ์การขับขี่ที่ยอดเยี่ยมและชาญฉลาด”

คุณธวัชชัย จึงสงวนพรสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท พระนครยนตรการ จำกัด กล่าวว่า “PNA มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์ที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ประกอบกับ Leapmotor มุ่งมั่นที่จะมอบรถยนต์อัจฉริยะ พร้อมพื้นที่กว้างขวางและสะดวกสบายให้กับลูกค้า เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้ช่วยให้ลูกค้าของเราในประเทศไทยได้เป็นเจ้าของรถยนต์ที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้ รวมทั้งยกระดับไลฟ์สไตล์ให้กับลูกค้าของเรา”

สำหรับ Stellantis N.V. (NYSE / MTA / Euronext Paris: STLA) เป็นบริษัทผู้ผลิตยานยนต์และผู้ให้บริการด้านการคมนาคมชั้นนำระดับโลก แบรนด์ของบริษัทถือเป็นตำนานและเป็นที่รู้จัก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลงใหลของผู้ก่อตั้งบริษัทที่มีวิสัยทัศน์และกลุ่มลูกค้าในปัจจุบัน ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นนวัตกรรม ซึ่งรวมถึง Abarth, Alfa Romeo, Chrysler, Citroën, Dodge, DS Automobiles, Fiat, Jeep®, Lancia, Maserati, Opel, Peugeot, Ram, Vauxhall, Free2move และ Leasys

ด้วยพลังแห่งความหลากหลาย บริษัทเป็นผู้นำในเรื่องการคมนาคมของโลก บริษัทมุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านการคมนาคมอย่างยั่งยืนและยิ่งใหญ่ที่สุด รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่ายและชุมชนที่บริษัทได้เข้าไปทำธุรกิจ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.stellantis.com

ส่วน Leapmotor จัดตั้งขึ้นในปี 2558 และเป็นบริษัทยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โดยมี มร.จู เจียงหมิง เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทและยังเป็นวิศวกรไฟฟ้าที่มีประสบการณ์ด้านเทคนิคมาเป็นเวลากว่า 30 ปี

Leapmotor มีสำนักงานใหญ่ที่เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน บริษัทมีธุรกิจในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การออกแบบยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ การวิจัยและพัฒนา การผลิต การขับขี่อัจฉริยะ การควบคุมมอเตอร์ไฟฟ้า การพัฒนาระบบแบตเตอรี่ และโซลูชันเครือข่ายยานยนต์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคลาวด์คอมพิวติ้ง

ในฐานะที่เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยี ชิ้นส่วนหลักของ Leapmotor จึงถูกพัฒนาและผลิตขึ้นเองภายในบริษัท ซึ่งรวมถึงระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าและระบบอัจฉริยะ โดยสัดส่วนของชิ้นส่วนที่พัฒนาและผลิตขึ้นเองคิดเป็นสัดส่วน 60% ของต้นทุนยานพาหนะทั้งหมด บริษัทยังได้เปิดตัวเทคโนโลยีไฟฟ้าอัจฉริยะชั้นนำอย่างต่อเนื่อง เช่น ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า Eight-in-One เทคโนโลยี Cell-to-Chassis ที่ผลิตในระดับอุตสาหกรรมเป็นรายแรก รวมทั้งการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E/E) แบบรวมศูนย์ที่เรียกว่า 4 โดเมนในหนึ่งเดียว (Four-Domain-in-One) ซึ่งเป็นครั้งแรกของวงการ

Stellantis ได้ลงทุนใน Leapmotor เมื่อปี 2566 และช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2567 Stellantis และ Leapmotor ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาในชื่อ Leapmotor International B.V. เพื่อขยายตลาดในต่างประเทศ

ส่วน บริษัท พระนครยนตรการ จำกัด (PNA) เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย และทำธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2502บริษัทมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยานยนต์มาเป็นเวลากว่า 60 ปี 

กลุ่ม PNA ได้ให้บริการด้านยานยนต์แบบครบวงจร ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การนำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์ การรับจ้างประกอบรถยนต์ การปรับแต่งรถ การบริหารจัดการฟลีทรถยนต์ การให้เช่ารถยนต์สำหรับองค์กร การให้สินเชื่อสำหรับผู้ซื้อรถ การบริหารจัดการศูนย์ PDI (Pre-Delivery Inspection) และการจัดการคลังอะไหล่

'แบงก์ชาติ' จ่อยกร่างกฎหมายให้แบงก์พาณิชย์รับผิดชอบ 100% หากลูกค้าถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงินจากช่องโหว่ในระบบ

(5 ก.ย. 67) ไม่นานมานี้ น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบชำระเงิน และคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ แบงก์ชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายกำหนดสถาบันการเงิน พัฒนาและออกแบบระบบ ที่สามารถปิดช่องโหว่ ป้องกันแอปพลิเคชันแปลกปลอมบนโมบายแบงก์กิ้ง รวมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติของสถาบันการเงินที่ชัดเจนมากขึ้น หากเกิดความเสียหายจากกรณีแอปฯ ดูดเงิน

หากแบงก์ไม่สามารถทำได้หรือมีช่องโหว่ในระบบแล้วเกิดความเสียหาย แบงก์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหาย คืนเงินแก่เจ้าของบัญชี 100% จากปัจจุบัน เป็นการเฉลี่ยเงินคืน ตามสัดส่วน จากเงินกองทุนเยียวยาผู้เสียหาย ที่ยึดคืนจากผู้กระทำความผิด

พร้อมยกกรณีศึกษา ของสิงคโปร์ หากมีเงินโอนออกจากบัญชี โดยไม่มีข้อความ SMS แจ้งเตือนไปยังมือถือเจ้าของบัญชี ธนาคาร ต้องรับผิดชอบ ใช้เงินคืนตามจำนวน หากแต่แจ้งเตือนไปแล้ว แบงก์ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เป็นต้น

ผู้บริหารแบงก์ชาติกล่าวอีกว่า มิจฉาชีพ ปรับตัวหลบเลี่ยงมาตรการป้องกันต่างๆ อยู่ตลอดเวลา จึงเห็นว่าทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ แก้ปัญหาอย่างจริงจัง เช่น การป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพ ส่งข้อความ SMS ถึงประชาชนได้เหมือนทุกวันนี้

'ขุนคลัง' ชี้!! การเมืองนิ่งมีส่วนทำตลาดหุ้นไทยขึ้นแรงกว่า 30 จุด แง้ม!! ปมขึ้นค่าแรง 400 บาท เตรียมหาทางช่วยผู้ประกอบการแล้ว

(5 ก.ย. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล ‘นายพิชัย ชุณหวชิร’ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ตอบคำถามสื่อมวลชนกรณีสถานการณ์การลงทุนที่ตลาดหุ้นไทยในวันนี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเกือบ 30 จุด ว่าถือเป็นเรื่องที่ดี และน่ายินดี

เมื่อถามว่าการตอบรับของตลาดหุ้นมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนใช่หรือไม่? นายพิชัย ระบุว่า "ก็คงมีส่วนด้วย แต่ก็มีหลายประเด็นที่เป็นปัจจัยเกี่ยวข้องกัน"

เมื่อถามว่ามาตรการเรื่องภาษีที่กระทรวงแรงงานอยากให้กระทรวงการคลังเสนอเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศในวันที่ 1 ต.ค.นี้? นายพิชัย กล่าวว่า "ตอนนี้ได้รับแจ้งความคืบหน้าเข้ามาแล้ว อยู่ระหว่างการรอพิจารณามาตรการทางภาษีที่จะเสนอเข้ามาอีกครั้ง"

'ศูนย์วิจัยกสิกรไทย' มอง!! ตัวแปรโรงเรียนนานาชาติผุดเป็นดอกเห็ด หลักสูตรทันสมัย-คนมีเงินระดับ 30 ล้านบาทขึ้นไป จ่อเพิ่มขึ้นถึง 24%

(6 ก.ย.67) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปี 2567 ตลาดโรงเรียนนานาชาติจะเติบโต 13% จากปีก่อนหน้า และมีมูลค่ามากกว่า 8 หมื่นล้านบาท จากจำนวนนักเรียนและโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าเล่าเรียนที่มีการปรับตัวสูงขึ้น โรงเรียนนานาชาติยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปสู่นอกกรุงเทพฯ มากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ที่จำกัดในเมืองหลวง และการแข่งขันของจำนวนโรงเรียนในกรุงเทพฯ ที่หนาแน่น

แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของนักเรียนโรงเรียนนานาชาติในไทยเกิดจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือ การเพิ่มขึ้นของนักเรียนต่างชาติที่สอดคล้องกับจำนวนชาวต่างชาติในตำแหน่งผู้บริหารที่เข้ามาทำงานในไทย ที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 0.6% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ ความนิยมในหลักสูตรการศึกษาต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยและทันการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเมื่อเทียบกับหลักสูตรไทย รวมไปถึงศักยภาพการลงทุนด้านการศึกษาของผู้ปกครองที่สูงขึ้น สะท้อนจากคาดการณ์จำนวนคนที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ฯ ในไทยจะเพิ่มขึ้น 24% ระหว่างปี 2566-2571 ยังเป็นปัจจัยหลักที่หนุนการเติบโตของจำนวนนักเรียน โรงเรียนนานาชาติ

แนวโน้มธุรกิจโรงเรียนนานาชาตินั้น การแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติ พบว่า โรงเรียนนานาชาติมีแนวโน้มขยายตัวสู่นอกกรุงเทพฯ มากขึ้น ในช่วงปี 2555-2567 อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี ของจำนวนนักเรียนและจำนวนโรงเรียนนานาชาติที่ตั้งในภูมิภาคอื่นจะสูงกว่าของกรุงเทพฯ ถึง 4.3% และ 6.3% ตามลำดับ โดยพบว่า ด้านจำนวนนักเรียนนานาชาติมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในกรุงเทพอยู่ที่ 5.3% ขณะที่ตามต่างจังหวัดอยู่ที่ 9.6% สอดคล้องกับจำนวนโรงเรียนนานาชาติ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในกรุงเทพอยู่ที่ 2.4% ขณะที่ตามต่างจังหวัดอยู่ที่ 8.7%

การแข่งขันในธุรกิจโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มขึ้น และพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่จำกัดทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติต้องสำรวจตลาดใหม่ๆ ในหัวเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่, ระยอง และภูเก็ต เป็นต้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจใน 21 เมืองหลักได้เติบโตในอัตราที่สูงกว่ากรุงเทพฯ โดยในปี 2565 อัตราการเติบโต GDP ต่อหัวของ 21 เมืองหลักสูงกว่ากรุงเทพฯ ถึง 2% ซึ่งทำให้ตลาดนอกกรุงเทพฯ ดูน่าสนใจมากขึ้น

แนวโน้มนี้แสดงให้เห็นโอกาสขยายธุรกิจโรงเรียนนานาชาติไปยังพื้นที่นอกกรุงเทพฯ โดยเฉพาะภาคกลางและตะวันออก ซึ่งน่าจะเป็นตลาดศักยภาพ เพราะมีจำนวนวนครัวเรือนรายได้เกิน 100,000 บาทต่อเดือน รองจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยจำนวนครัวเรือนมีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป พบว่า กรุงเทพ-ปริมณฑล 201,649 บาท ภาคกลาง-ตะวันออก 113,082 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) 65,590 บาท ภาคใต้ 64,863 บาท และภาคเหนือ 63,005 บาท อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำนวนครัวเรือนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในแต่ละภูมิภาคมีจำนวนน้อยกว่ากรุงเทพฯ ทำให้ผู้ประกอบการอาจจะต้องปรับลดค่าเล่าเรียนให้สอดคล้องกับรายได้ผู้ปกครองที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

ตลาดโรงเรียนนานาชาติในไทยนั้น คาดว่าในปี 2567 มูลค่าตลาดโรงเรียนนานาชาติไทยจะเติบโตราวร้อยละ 13 จากปี 2566 แตะ 8.7 หมื่นล้านบาท โดยมีการเติบโตตั้งแต่ปี 2563 ที่ 57,000 ล้าน ปี 2564 ที่ 60,000 ล้าน ปี 2565 ที่ 66,000 ล้าน ปี 2566 ที่ 77,000 ล้าน รวมเติบโต 4 ปีติดกันก่อนถึงปีนี้ 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของกิจการโรงเรียนนานาชาติ ก็มีอยู่ด้วยเช่นกัน ดังนี้...

- การเพิ่มขึ้นของค่าเล่าเรียนโรงเรียนนานาชาติ อาจทำให้ผู้ปกครองพิจารณาส่งบุตรหลานไปศึกษาในต่างประเทศแทน เนื่องจากช่องว่างระหว่างค่าเล่าเรียนเริ่มลดลง ในปีการศึกษา 2567 ค่าเล่าเรียนเฉลี่ยต่อปีของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยอยู่ที่ 764,484 บาท ในขณะที่ค่าเล่าเรียนเฉลี่ยต่อปีของโรงเรียนประจำในนิวซีแลนด์อยู่ที่ประมาณ 1,150,208 บาท

- โรงเรียนนานาชาติ อาจเผชิญกับความท้าทายจากการแข่งขันกับโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยที่พัฒนาคุณภาพและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า ผู้ปกครองอาจตัดสินใจเปลี่ยนไปเลือกโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยที่มีการเปิดสอนโปรแกรมภาษาอังกฤษ และสอนหลายภาษา เช่น ไทย อังกฤษ และจีน เป็นต้น ซึ่งท้าทายจุดแข็งของโรงเรียนนานาชาติในด้านภาษา

- การพัฒนาทางเทคโนโลยีทำให้การเรียนโฮมสคูลง่ายขึ้น และเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเรียนโฮมสคูลต่ำกว่าการเรียนในโรงเรียนนานาชาติ จึงอาจส่งผลกระทบต่อจำนวนนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติได้ โดยค่าใช้จ่ายในการสอบ GED (เทียบวุฒิมัธยมปลายของสหรัฐฯ) รวมกับค่ากวดวิชาแบบเรียนตัวต่อตัว 100 ชั่วโมง จะอยู่ที่ประมาณ 160,800 บาท

'ซีเค' แนะรัฐ ต้องกำชับให้ธุรกิจต่างชาติตั้งโรงงานในไทย เอื้อ!! จ้างคนไทย ใช้วัตถุดิบไทย ให้เงินไหลอยู่ในประเทศ

เมื่อไม่นานมานี้ จากช่องติ๊กต็อก ‘Ckfastwork’ ของ ‘ซีเค เจิง’ นักธุรกิจหนุ่มลูกครึ่งไทย-จีน (มาเก๊า) ผู้เติบโตที่ประเทศอเมริกา และเป็นหนึ่งในผู้บริหารของ ‘Fastwork Technologies’ ได้โพสต์คลิปขณะเข้าพูดคุยกับ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในเรื่องสินค้าจากต่างประเทศทะลักเข้าไทย ซ้ำยังขายในราคาถูก

โดยภายในคลิปที่ปรากฏ เป็นช่วงที่ซีเค เจิ้ง กำลังกล่าวว่า “เงินทุกบาท ทุกสตางค์ มันไหลออกนอกประเทศหมดเลยนะครับ เพราะว่าสิ่งที่เขาขาย คือสินค้าจีน 100% ก็แปลว่าเงินออกนอกประเทศหมดเลย ถ้าเขาอยากจะขายราคานี้ ต้องบังคับให้เขาต้องเปิดโรงงานที่ไทย อย่างน้อยหากเขาเปิดโรงงานที่ไทย สร้างโรงงานที่ไทย จ้างงานคนไทย มันก็อาจจะเป็นอีกทางหนึ่ง และอย่างน้อยเงินก็ยังอยู่ในนี้ (ประเทศไทย) ครับ”

ต่อมา นายภูมิธรรมได้เอ่ยถามกลับมาว่า “แล้วต้องใช้ของ ๆ เราไหม? เช่น วัตถุดิบต่าง ๆ ภายในประเทศ”

ซีเค กล่าวตอบว่า “ก็ควรครับ ดีครับ แต่ผมแค่อยากให้โรงงานอยู่ในประเทศไทย เพราะว่าอย่างน้อยเงินเข้าที่ประเทศไทย เข้าธนาคารไทย เข้าที่คนไทย พนักงานได้เงินแล้วใช้จ่ายกับคนไทย ซึ่งจะทำให้เงินหมุนเวียนในประเทศไทยครับ”

พลิกโฉม!! 1 ปี ‘กระทรวงอุตสาหกรรม’ ภายใต้หญิงเก่งสุดแกร่ง ‘ปุ้ย-พิมพ์ภัทรา’

เมื่อวันที่ (6 ก.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางเข้ากระทรวงฯ เพื่ออำลาตำแหน่ง โดยได้เข้าสักการะเพื่ออำลาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ พระภูมิ และองค์พระนารายณ์ 

‘พิมพ์ภัทรา’ ได้กล่าวขอบคุณข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมทุกคนที่ทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็มว่า “ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ตนมีความภาคภูมิใจที่ได้เข้ามาทำงานในกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับทุกท่าน ขอบคุณจากหัวใจ ที่ได้สร้างภาพจำที่ดีให้กับกระทรวงฯ ทั้งนี้ ความสำเร็จต่าง ๆ จะไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้เลยหากไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากชาวกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีความรู้ความสามารถ และได้ส่งพลังงานดี ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้วันนี้ทุกคนมีรอยยิ้มที่กว้างกว่าวันแรกที่เข้ามาทำงาน อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าทุกท่านจะร่วมแรงร่วมใจทำงานเพื่อกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านและครอบครัวของพวกเราต่อไป”

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ‘ณัฐพล รังสิตพล’ ได้กล่าวอำลา ‘พิมพ์ภัทรา’ ว่า “1 ปี ที่ผ่านมา รัฐมนตรีพิมพ์ภัทรา เป็นผู้นำที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะอุตสาหะ มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม สามารถทำงานร่วมกับข้าราชการในทุกระดับเป็นอย่างดี ขอบคุณท่านที่ดูแลเศรษฐกิจฐานราก ช่วยหลือชุมชน ผู้ประกอบการ และได้ผลักดันนโยบาย 'รื้อ ลด ปลดสร้าง' ได้อย่างเป็นรูปธรรม ตนในฐานะตัวแทนของผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ขอกราบขอบพระคุณ และพร้อมที่จะสานต่อนโยบายต่อไป”

ทั้งนี้ผลงาน 1 ปีในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนของ ‘พิมพ์ภัทรา’ ได้ขับเคลื่อนนโยบาย 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นแนวทางในการพลิกอุตสาหกรรมไทยที่รองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต :

‘รื้อ’ ด้วยการเร่งรื้อปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น อาทิ ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ที่คงค้างจำนวนมากจนแล้วเสร็จ ทำให้เกิดการลงทุนเพิ่ม 12,000 ล้านบาท และดำเนินการออกใบอนุญาตที่ขอใหม่ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด แก้ไขปัญหาผังเมือง เพื่อให้เกิดการลงทุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ 

‘ลด’ ด้วยการลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการประกอบการ 

(1) เร่งดำเนินการจัดการกากอุตสาหกรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและพี่น้องประชาชนคนไทย 

(2) ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยและสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลอันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยมาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลไม่ให้ลักลอบเผาไร่อ้อยเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 

(3) กวดขันให้มีการตรวจ กำกับดูแลโรงงาน/วัตถุอันตราย และโรงงานอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวถึงร้อยละ 87.66 จากเป้าหมายร้อยละ 90 เพื่อให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน 

(4) ส่งเสริมการทำเหมืองแร่ในเมือง (Urban Mining) เพื่อสร้าง/ขยายเครือข่ายการนำขยะหรือของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ 

(5) กวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศและคุ้มครองความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนคนไทยซึ่งเป็นผู้บริโภค 

(6) ผลักดันการจัดตั้งนิคม Circular แห่งแรกของไทยในพื้นที่ EEC ให้เป็นพื้นที่เป้าหมายของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน และพัฒนานิคม Smart Park เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ การแพทย์ หุ่นยนต์ และดิจิทัล 

(7) เร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า/จักรยานยนต์ไฟฟ้า Solar Rooftop และอุตสาหกรรม Recycle เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยแนวคิด BCG 

(8) พัฒนาองค์กรดิจิทัลเพื่อให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ 

(9) จัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และฝุ่น PM 2.5 สู่ชั้นบรรยากาศ และจัดตั้งศูนย์บริหารภาวะฉุกเฉินจากการประกอบการและจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยจากโรงงานอุตสาหกรรม

‘ปลด’ ด้วยการปลดภาระให้ผู้ประกอบการ โดยการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาด 

(1) ปลดล็อกการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 

(2) ช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ด้วยสินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความตั้งใจในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน 

(3) ผลักดันเหมืองแร่โปแตชเพื่อส่งเสริมการผลิตปุ๋ยภายในประเทศ อันเป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลิตผลทางการเกษตรให้เกษตรกร และได้จัดสรรผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

(4) เร่งส่งเสริม MSMEs ให้มีศักยภาพและแข่งขันได้ 

‘สร้าง’ ด้วยการเร่งสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ตลาดโลก โดยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร (Food for the Future) อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลก อาทิ อุตสาหกรรมฮาลาล ฯลฯ 

ทั้งนี้ นโยบายทั้งหมดได้ส่งต่อให้กับนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ได้ทำงานสานต่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนคนไทยอย่างเป็นรูปธรรม มีความต่อเนื่องและยั่งยืนตลอดไป

'กองทุนน้ำมันฯ' พลังเดียวที่ 'พีระพันธุ์' ไว้ใช้แก้ปัญหาพลังงานในรอบ 1 ปี สู่การจัดตั้ง SPR เปลี่ยนหนี้หนุน ‘กองทุนฯ' ให้กลายเป็นทรัพย์สินของประเทศ

ท่ามกลางบรรยากาศของความรู้สึกคับข้องใจของบรรดาผู้ที่สนับสนุนพรรครวมไทยสร้างชาติถึงการเข้าร่วมรัฐบาลแพทองธาร 1 แต่หลาย ๆ คนอาจ หลงลืม เพิกเฉย หรือละเลยต่อผลงานหนึ่งปีของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ หัวหน้าพรรคฯ ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

เป็นหนึ่งปีในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของ ‘พีระพันธุ์’ ที่สร้างประโยชน์โภคผลอันมหาศาลให้เกิดกับพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งหมดทั้งมวล ด้วยการเดินหน้าเต็มที่ในการแก้ปัญหา ‘เชื้อเพลิงพลังงาน’ ที่หมักหมมมายาวนานกว่า 50 ปี ตั้งแต่วิกฤตการณ์น้ำมันของโลกในปี 1973 ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกในตอนนั้นสูงขึ้นเกือบ 300%

ด้วยตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบ กำกับ และดูแล ‘เชื้อเพลิงพลังงาน’ ไม่ได้ทำการศึกษาถึงต้นตอของปัญหาเพื่อทำการปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจัง อาทิ...

(1) ต้นทุนของน้ำมันเชื้อเพลิงที่แท้จริง ซึ่ง ‘พีระพันธุ์’ ได้ให้กระทรวงพลังงานออกประกาศของกระทรวงฯ ให้ผู้ค้าน้ำมันต้องรายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่อกระทรวงฯ ทุกเดือน เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถรับรู้ต้นทุนที่แท้จริงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งระบบ 

(2) ‘ราคาน้ำมัน’ ต้องไม่ขึ้นลงรายวัน ‘พีระพันธุ์’ ได้สั่งให้มีการ ‘รื้อระบบการปรับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง’ โดยผู้ค้าต้องแจ้งให้กระทรวงฯ ทราบก่อน และให้ผู้ค้าปรับราคาขายปลีกน้ำมันได้เพียงเดือนละหนึ่งครั้ง สิ้นสุด หมดยุคที่บรรดา ‘ผู้ค้าเชื้อเพลิงพลังงาน’ จะกำหนดราคาตามอำเภอใจ ‘พีระพันธุ์’ ได้สั่งให้มีการศึกษาข้อมูลของประเทศต่าง ๆ เพื่อเตรียม ‘สร้าง’ ระบบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นธรรมและยั่งยืนเพื่อพี่น้องประชาชนคนไทย เพื่อนำผลสรุปการศึกษามาพิจารณาในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ทั้งหมด

(3) แก้ไขปัญหา ‘กองทุนน้ำมัน’ ซึ่งเป็นภาระหนักของประเทศและพี่น้องประชาชนคนไทย เพราะที่มาทุกยุคทุกสมัยและทุกรัฐบาลต่างก็ใช้ ‘กองทุนน้ำมัน’ ในการอุดหนุนและชดเชยทำให้สามารถตรึงราคา ‘เชื้อเพลิงพลังงาน’ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลและก๊าซ LPG เพราะเชื้อเพลิงทั้งสองชนิดนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ด้วยเป็นเครื่องมือในระยะสั้นเพียงชั่วคราวและต้องคำนึงถึงระเบียบวินัยทางการเงินการคลังเป็นสำคัญ แต่ในปัจจุบันการณ์กลับกลายเป็นว่า ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ณ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2567 ติดลบสุทธิถึง 106,843ล้านบาท

ปัจจุบัน ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ยังเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียวที่รัฐบาลใช้ในการแก้ไขปัญหาราคาเชื้อเพลิงพลังงาน เพราะไม่ว่าจะเป็น บทบาท อำนาจหน้าที่ และกฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพได้ ‘พีระพันธุ์’ จึงจำเป็นต้องใช้ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ เครื่องมือเดียวที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจากวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเป็นการลดทอนและบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซ LPG ของพี่น้องประชาชนคนไทยไปก่อน พร้อมกับเตรียมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพลิงยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve) ไปด้วย โดย ‘พีระพันธุ์’ จะเปลี่ยน ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ที่ใช้เงินและสร้างหนี้สาธารณะ ให้กลายมาเป็นทรัพย์สินของประเทศ ต่อไปกองทุนน้ำมันฯ ที่มีน้ำมันสำรองของประเทศ จะเป็นทรัพย์สินของประเทศไม่ใช่ภาระหนี้สินอีกต่อไป

ทั้งนี้ SPR นอกจากจะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานจากการที่รัฐบาลเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองเพียงพอใช้ในประเทศได้ 50-90 วันแล้ว ยังเป็นการสร้างเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิงอีกด้วย เพราะจะต้องมีการหมุนเวียน เข้าและออก มีการจำหน่ายถ่ายโอนให้โรงกลั่นและบริษัทที่จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงตลอดเวลา ด้วยปริมาณน้ำมันสำรองใน SPR เป็นทรัพย์สินที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้ 

ดังนั้นปริมาณน้ำมันสำรองใน SPR จะทำให้รัฐบาลมีอำนาจในการต่อรองและเพิ่มการถ่วงดุลให้กับระบบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศอีกด้วย เพราะจะสามารถรู้ต้นทุนที่แท้จริงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาในประเทศได้ตลอดเวลา ราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศจะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ณ เวลาที่ซื้อมาหรือจำหน่ายออกไป ซึ่งที่สุดจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติกับพี่น้องประชาชนคนไทยอย่างมากมาย

นอกจากนั้นแล้ว สิ่งต่าง ๆ ที่ ‘พีระพันธุ์’ ได้ทำ กำลังทำ และจะทำ อาทิ (1) ‘ค่าไฟฟ้า’ หากไม่สามารถลดราคาได้ ก็ตรึงราคาไว้ไม่ให้ขึ้น ‘ค่าไฟฟ้าในหอพัก’ ต้องเหมาะสมเป็นธรรม สนับสนุนการติด ‘โซลาร์ รูฟ’ เพื่อแก้ปัญหาค่าไฟแพงอย่างยั่งยืน (2) สนับสนุนสร้างนวัตกรรมพลังงานราคาถูก เช่น ไฮโดรเจนซึ่งจะเป็นพลังงานแห่งอนาคต (3) ‘ก๊าซหุงต้ม’ กระทรวงฯ ต้องมีอำนาจในการกำกับ ดูแล อย่างเต็มที่ (4) เปิดช่องให้ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ให้บริการสาธารณะกุศล รวมไปถึงสหกรณ์การเกษตร การประมง สามารถจัดหาแหล่งน้ำมันราคาถูกมาใช้ได้เอง

ระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา ‘พีระพันธุ์’ ได้พยายามทำงานอย่างหนักเพื่อพี่น้องประชาชนคนไทย ซึ่งหวังว่าจะสามารถ ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ ปัญหา ‘เชื้อเพลิงพลังงาน’ ที่เหลือทั้งหมดให้เสร็จสิ้นได้ภายใน 1 ปี โดย ‘พีระพันธุ์’ ขอให้มั่นใจว่าจะพยายามปรับปรุงและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชนคนไทยในเรื่องของพลังงานให้ดีที่สุด โดยไม่กลัวอิทธิพลอะไรและไม่อยู่ใต้อิทธิพลใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ ‘พีระพันธุ์’ ฝากขอบคุณและขอให้พี่น้องของประชาชนคนไทยช่วยเป็นผนังกำแพงให้พิงเพื่อทำงานสำคัญนี้ให้สำเร็จแล้วเสร็จด้วย

‘อ.เจษฎา’ ชี้!! ตลาดหุ้นยุค ‘อุ๊งอิ๊ง’ พุ่งขึ้นแรงมาก สูงสุดในรอบ 6 เดือน มอง!! เป็นฝีมือของ ‘ทักษิณ’ เพราะ ‘นายกฯ’ ยังไม่ได้เริ่มทำงาน

(7 ก.ย.67) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีดังกล่าวว่า ระบุว่า …

โอ้..ตลาดหุ้นยุค ครม. คุณอุ๊งอิ๊ง พุ่งแรงมากครับ ! ตอนนี้ SET ขึ้นไปทะลุ 1400 และขึ้นไปสูงสุดในรอบ 6 เดือนแล้ว 

คนละเรื่องกับ ครม. ยุคคุณเศรษฐา เลยที่มีแต่ตกเอา ตกเอา จนมาถึงก้นหลุม  ก่อนจะเด้งขึ้นหลังจากมีนายกฯ คนใหม่

ซึ่งก็คงไม่ใช่ฝีมือคุณอุ๊ง โดยตรง เพราะยังไม่เริ่มทำงานอะไร .. แต่น่าจะเป็นฝีมือคุณพ่อ กับการแสดงวิสัยทัศน์ มากกว่ามั้งครับ ฮ่าๆๆ 

‘ไทยเบฟ’ ตั้ง ‘ลิตเติ้ล จอห์น ดิจิทัล’ ทุนจดทะเบียน ‘หมื่นล้าน’ ลุยธุรกิจดิจิทัล

(7 ก.ย.67) มีกระแสข่าวใหญ่ ‘บิ๊กดีล’ ของ ‘บิ๊กคอร์ป’ ยักษ์เครื่องดื่มและอาหารในภูมิภาคอาเซียนอย่าง ‘ไทยเบฟเวอเรจ’ ที่ถูกเอ่ยไปอยู่ในโผของรายชื่อที่สนใจธุรกิจแพลตฟอร์ม Food Dlivery อย่าง ‘โรบินฮู้ด (Robinhood)’ ที่ก่อนหน้านี้ประกาศ ‘ยกธงขาว’ จะปิดให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood เป็นการถาวร วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 หลังบริษัทเผชิญ ‘ขาดทุนบักโกรก’ สะสมกว่า 5,000 ล้านบาท

เกิดความปราชัยในสนามธุรกิจไม่ทันไร เห็นการกลับลำ เลื่อนการยุติให้บริการออกไปก่อน เมื่อมีบรรดา ‘นายทุนใหญ่’ ให้ความสนใจยื่นเสนอเจรจาซื้อกิจการ ‘รับไม้ต่อ’ เพื่อเป็นหนึ่งใน ‘ขั้วที่ 3’ รายใหญ่ สู้ศึกฟู้ดเดลิเวอรี่ยกใหม่

‘ทุนใหญ่’ ที่ถูกเผยจะเป็นผู้นำทัพ ‘โรบินฮู้ด’ ปรากฏชื่อของ ‘บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน)’ ที่มี ‘เจ้าสัวหนุ่ม ฐาปน สิริวัฒนภักดี’ ทายาทของราชันย์น้ำเมา ‘เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็น 1 ใน 3 รายชื่อที่อยู่ในวงบิ๊กดีล! ดังกล่าว

ความเคลื่อนไหวของ ‘ไทยเบฟ’ สอดรับกับกระแสข่าวรุกฟู้ดเดลิเวอรี่เห็นชัดเจนมากขึ้น เมื่อมีการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาใหม่ภายใต้ชื่อ ‘บริษัท ลิตเติ้ล จอห์น ดิจิทัล จำกัด’ (Little John Digital) ซึ่งมีทุนจดทะเบียนมากถึง 1 หมื่นล้านบาท(10,000 ล้านบาท) ประกอบด้วยหุ้นสามัญ 1,000,000 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท

ขณะที่การลงทุนดังกล่าว จะเป็นเงินทุนที่จัดจากภายใน ส่วนการถือหุ้นนั้น มีบริษัทโดยอ้อมของเครืออย่าง “โอเพน อินโนเวชั่น”(Open Innovation) ที่เป็นบริษัทลงทุนด้านเทคโนโลยี และดิจิทัล ถือหุ้นใน ‘ลิตเติ้ล จอห์น ดิจิทัล’ สัดส่วน 99.9999%

ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวมีรายนาม ‘คณะกรรมการบริษัท’ ที่เป็นแม่ทัพนายกองของ ‘ไทยเบพ’ ครบครัน! ทั้ง นายอวยชัย ตันทโอภาส ผู้เป็นขุนพลธุรกิจสุราให้กับเจ้าสัวเจริญมาอย่างยาวนาน นายโฆษิต สุขสิงห์ ที่เป็นขุนพลข้างกายเจ้าสัวหนุ่ม ฐาปน และดูแลธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ธุรกิจโลจิสติกส์ รวมถึง ‘เทคโนโลยี-ดิจิทัล’ ด้วย ยังมี นางต้องใจ ธนะชานันท์ ซึ่งดูแลด้านความยั่งยืน นางสาวนันทิกา นิลวรสกุล นายโสภณ ราชรักษา ที่ก้าวเป็น ‘แม่ทัพธุรกิจอาหาร’ ให้กับกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ หมาด ๆ และเป็นการสลับเก้าอี้กับ ‘นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล’ ที่เปลี่ยนจากเคลื่อนธุรกิจอาหาร ไปดูแลธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ นายกฤษฎา วรรธนภาคิน และนายพิพิธ จริยวัฒนวิจิตร

‘ไทยเบฟ’ เป็นอาณาจักรเครื่องดื่มและอาหารที่ใหญ่ มีแบรนด์สินค้ามากมาย โดยงวด 9 เดือน (ปีงบประมาณ ต.ค.-66 ก.ย.67) บริษัททำรายได้จากการขายที่ 217,055 ล้านบาท เติบโตเล็กน้อย 0.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรก่อนหักภาษี (EBITDA) 38,595 ล้านบาท เติบโต 2.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เครื่องดื่มโดยรวมทั้ง เหล้า เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ทำเงินมหาศาล ส่วน ‘อาหาร’ 9 เดือน มีรายได้จากการขาย 15,022 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีกำไรก่อนหักภาษี 1,438 ล้านบาท ลดลง 0.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

พอร์ตโฟลิโออาหารเต็มไปด้วย ‘แบรนด์แกร่ง’ ที่ยืนหนึ่งยาวนานนับสิบปี เช่น ร้านอาหารญี่ปุ่น โออิชิ แกรนด์ ชาบูชิ ยังมีเสริมทัพด้วยแบรนด์ระดับโลกทั้งไก่ทอดเบอร์ 1 ‘เคเอฟซี’ และร้านกาแฟ ‘สตาร์บัคส์’ ฯ ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่พร้อมต่อจิ๊กซอว์ สร้างการเติบโตในอนาคต

ดังนั้น ภาพใหญ่เครื่องดื่มเป็น ‘หัวใจ’ สำคัญของบริษัท แต่เครื่องดื่มเป็นสินค้าคู่ (Combination) ‘อาหาร’ อยู่เสมอ กินแล้วต้องดื่ม ทำให้บริษัทยังหาช่องเพื่อเบ่งพอร์ตโฟลิโอให้ใหญ่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งครึ่งปีแรก ‘อาหาร’ มีสัดส่วนรายได้เพียง 6.7% เท่านั้น และ ‘กำไรสุทธิ’ เพียง 3.6% สะท้อนว่ายังโตได้อีก!

หากสร้างการเติบโตของไทยเบฟอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ PASSION 2025 ที่จะขยายตลาด สร้างแบรนด์ ‘เข้าถึงผู้บริโภค’ ให้มากขึ้น

หากดีลประวัติศาสตร์รุกคืบเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีอย่าง ‘โรบินฮู้ด’ จะเสริมแกร่งให้กับ ‘ไทยเบฟรอบทิศ’ ไม่ว่าจะเป็นการเสิร์ฟอาหารถึงมือผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันจะสตาร์บัคส์ เคเอฟซี และอื่นๆ ล้วนมีบริการดังกล่าว ซึ่งบางอย่างพึ่งพาพันธมิตร แต่มีบางอย่างที่ทำเองอย่าง โออิชิ

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญสุดหากได้ ‘โรบินฮู้ด’ มาอยู่ใต้เงา ‘ไทยเบฟ’ นั่นคือการได้ ‘คลังแสงข้อมูล’ (Big Data) ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้ออาหารของผู้บริโภค ซื้อเมนูอะไร ราคาต่อบิลเท่าไหร่ ความถี่เป็นอย่างไร ฯ ซึ่งสามารถนำไปวิเคราะห์ ต่อยอดการทำตลาด จัดโปรโมชั่นเพื่อ ‘กระตุ้นยอดขาย’ ได้อีกมากโข

ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้ข้อมูลบรรดา ‘หน้าร้านอาหาร’ ต่างๆ ที่จะเป็นอีกหนึ่ง ‘จิ๊กซอว์’ ให้ไทยเบฟ ต่อยอด ‘การขายเครื่องดื่มทุกหมวด’ ไม่ว่าจะเป็นเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์

นี่มองแค่การเสริมแกร่งไทยเบฟ ยังไม่นับทั้งอาณาจักร ‘ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น’ หรือทีซีซี กรุ๊ป มองยังไง

เป็นที่ประจักษ์ว่า ‘โรบินฮู้ด’ อยู่ใต้เงา ‘เอสซีบี เอกซ์’ (SCB X) ที่จุดเริ่มต้นอยากช่วยเหลือคนตัวเล็กช่วงวิกฤติโควิด-19 ทว่า การลงสนามฟู้ดเดลิเวอรี หนึ่งในธุรกิจเผาเงิน เพื่อแลกกับผู้บริโภคมาใช้แพลตฟอร์มไม่ได้แจ้งเกิดง่ายๆ ยิ่งต้องกลืนเลือด 5,000 กว่าล้านบาท ใน 4 ปี จะกัดฟันฝืนขาดทุนต่อ ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะไม่ต่อยอดธุรกิจหลัก (Core business)

เมื่อ ‘เอสซีบี เอ็กซ์’ จะทิ้ง ‘โรบินฮู้ด’ สร้างมาแล้วไม่สูญเปล่า นายทุนใหญ่ต้องการรับช่วงต่อ ได้เม็ดเงินมา ‘บรรเทาบาดแผลธุรกิจ’ ได้ไม่มากก็น้อย ส่วนทุนใหม่รับศักยภาพจากดีลนี้ คือการได้ยอดลูกค้าที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันไม่น้อยเพราะมีจำนวน ‘นับล้านราย’ ร้านค้าบนแพลตฟอร์มที่พร้อมเสิร์ฟลูกค้า ‘ร่วมแสนราย’ เหล่า ‘ไรเดอร์’ อีกนับ ‘หมื่นชีวิต’

แบรนด์ ‘โรบินฮู้ด’ ติดตลาดแจ้งเกิดแล้ว และภาพลักษณ์แบรนด์ถือว่าครองใจผู้บริโภค คนใช้งานอย่างดี เมื่อมีทุนมาใส่เงินต่อ การ ‘ลุกขึ้นเดิน-วิ่ง’ สู้ต่ออีกครั้งย่อมไม่ใช่เรื่องยากเกินไป ยิ่งถ้าอยู่ภายใต้ ‘ไทยเบฟ’ รับรองว่า ‘สงครามฟู้ดเดลิเวอรี่’ 8.6 หมื่นล้านบาท เดือด!!

ในแวดวงธุรกิจ จะเห็น ‘ไทยเบฟ’ เดินทางลัด ‘ซื้อและควบรวมกิจการ’ (M&A) อยู่เป็นนิจ เพราะมีเงิน มันสมอง(ขุนพลนายกอง) พร้อมต่อยอดสิ่งที่ซื้อมาให้เติบโต และซีนเนอร์ยี ทั้งอาณาจักรแสนล้านบาทได้

เห็นการซื้อกิจการบ่อย ๆ ของไทยเบฟ และล้วนเป็นบิ๊กดีลระดับ ‘หมื่นล้าน-แสนล้านบาท’ แทบทั้งสิ้น

ปัจจุบันไทยเบฟมีภาระหนี้ทั้งจากกู้เงินธนาคาร หุ้นกู้ ที่จะครบกำหนดชำระ เช่น 5 ปี และอื่นๆ รวมมูลค่า 209,044 ล้านบาท (ณ สิ้นมิ.ย.67) แต่กระนั้น อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน หรือ Interest Bearing Debt to Equity Ratio อยู่ในระดับต่ำ 0.68% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน อยู่ระดับ 0.65% สะท้อนฐานะทางการเงินขององค์กรแกร่ง

อย่างไรก็ตาม แม้ ‘ไทยเบฟ’ จะมีชื่ออยู่ในโผผู้สนใจเจรจา ‘โรบินฮู้ด’ แต่ดีลนี้ ยังไม่ใช่!สำหรับยักษ์เครื่องดื่มและอาหาร เพราะรายงานข่าวระบุว่า ‘รายอื่น’ คือผู้คว้า ‘โรบินฮู้ด’ ไปต่อยอดธุรกิจเรียบร้อยแล้ว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top