40 ปีบางจากโรงกลั่น-น้ำมันแลกข้าว สู่ธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน ตั้งเป้าปี 2023 โต 10 เท่าตัว

เป็นเรื่องที่น้อยคนนักจะทราบว่า ‘บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)’ จะมีจุดเริ่มต้นจาก ‘พลเอกเปรม ติณสูลานนท์’ 

เมื่อ พ.ศ. 2527 รัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีมติอนุมัติให้จัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาบริหารงานโรงกลั่นที่มีอยู่แล้ว  

จึงได้จัดตั้ง บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (ชื่อในขณะนั้น) ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายปิโตรเลียมแห่งชาติ โดยได้มีการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2527 โดยมี ‘เกษม จาติกวณิช’ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และโสภณ สุภาพงษ์ เป็นผู้จัดการใหญ่ 

ก่อนต่อมาในปี พ.ศ. 2533 บางจากได้ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรศรีประจันต์ จำกัด จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งสถานีบริการน้ำมันหรือปั๊มน้ำมันชุมชนแห่งแรก และมีโครงการที่โดดเด่นอย่างน้ำมันแลกข้าว ถัดจากนั้นอีก 1 ปี ‘บางจาก’ ได้เป็นรายแรกของไทยที่ผลิตและจำหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วและบางจากดีเซล 357 กำมะถันต่ำ

พ.ศ. 2558 บางจากได้พลิกโฉมผ่านการลงทุน ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และเหมืองแร่ลิเทียม ก่อนได้มีการขายเหมืองแร่ลิเทียมในเวลาต่อมาโดยมีกำไรมากกว่า 4,000 ล้านบาท

พ.ศ. 2560 ‘บางจาก’ ได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท บางจาก คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 

และใน พ.ศ. 2566 ‘บางจาก’ ประกาศดีลใหญ่ด้วยการซื้อกิจการของเอสโซ่ประเทศไทย ทำให้บางจากมีโรงกลั่นน้ำมันระดับโลก 2 แห่ง สถานีบริการน้ำมันรวมมากกว่า 2,200 แห่งขึ้นเป็นแท่นจำนวนสถานีบริการน้ำมันเป็นเบอร์ 2 ของประเทศ

เจาะกลุ่มธุรกิจในมือ ‘บางจาก’

จากรายงานประจำปีและ Opportunity Day ในไตรมาสที่ 1 พบว่า บางจากมีการดำเนินกิจการใน 6 กลุ่ม ได้แก่ 

1. ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและการค้าน้ำมันดิบ ปัจจุบันมี 2 แห่ง ได้แก่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง และโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ศรีราชาหรือโรงกลั่นน้ำมันของเอสโซ่เดิม มีกำลังการผลิตรวม 294,000 บาร์เรลต่อวันเป็นกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 

2. กลุ่มธุรกิจการตลาด มีสถานีบริการน้ำมันรวมมากกว่า 2,219 แห่ง มีส่วนแบ่งการตลาด 29 เปอร์เซ็นต์ ถ้านับเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ‘บางจาก’ จะมีปั๊มน้ำมันรวมอันดับ 1 นอกจากนี้ในกลุ่มธุรกิจนี้ยังมีร้านกาแฟอินทนิล ที่มีสาขาจำนวนมากถึง 1,020 สาขา 

3. กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด มีการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาดใน 7 ประเทศรวม มีกำลังการผลิตรวมมากกว่า 1,200 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 780 เมกะวัตต์

4. กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มีการผลิตธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพเอทานอล มีกำลังการผลิต 80 ตันต่อวัน 

5. กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ บริษัทได้มีการถือสิทธิ์โดยอ้อมในแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติและถือสิทธิ์การสำรวจปิโตรเลียมหลายแปลงผ่านสัมปทานทรัพยากรธรรมชาติในประเทศนอร์เวย์ 

6. ธุรกิจแห่งอนาคต กลุ่มนี้บางจากมี 2 ธุรกิจหลัก คือ  

ธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน หรือ SAF ธุรกิจส่วนนี้ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างโรงงานภายใต้งบประมาณ 8.5 พันล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 หากเปิดให้บริการแล้วคาดว่าจะมีกำลังการผลิตถึง 1 ล้านลิตรต่อวัน 

โดยจะมีการใช้วัตถุดิบจำพวกไขมัน จากน้ำมันเหลือใช้ น้ำมันจากสัตว์ และอื่น ๆ เพื่อผลิต HEFA เพื่อผสมกับน้ำมันเจ็ท ซึ่ง ICAO ได้รับรองให้ HEFA นำมาผสมถึง 50%

ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง (CDMO) โดย BBGI ร่วมทุนกับพันธมิตรระดับโลกอย่าง Fermbox Bio บริษัทผู้นำด้านการวิจัยและผลิตผลิตภัณฑ์ชีววิทยาสังเคราะห์ด้วยกระบวนการหมักแม่นยำขั้นสูง และก่อตั้งบริษัทร่วมทุน BBFB (BBGI Fermbox Bio) ซึ่งเป็นโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง (Precision Fermentation) เชิงพาณิชย์แห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย โดยระยะแรกจะผลิตเอนไซม์ และขยายการผลิตไปยังผลิตภัณฑ์ด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (Synbio) ที่ล้ำสมัยอื่น ๆ ต่อไป

ในเฟสแรกโรงงานมีกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ 2,000 ตันต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดแล้วเสร็จปลายปีนี้ และเริ่มผลิตช่วงต้นปี 2568 พร้อมขยายเป็นเฟสต่อเนื่องด้วยจุดแข็งคือ การมีพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่ง จะทำให้เราเติบโตในธุรกิจนี้ได้ และมีตลาดรองรับ พร้อมส่งออกไปจำหน่ายภายในภูมิภาค

เจาะลึกเป้าหมาย ธุรกิจในมือ ‘บางจาก’ ก่อนประกาศกลยุทธ์ 1 ก.ย. นี้ 

เป้าหมาย 10X New Growth Chapter 2023 คือมี EBITDA (กำไรก่อนภาษี ต้นทุนทางการเงิน ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน และขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์) ที่ 100,000 ล้านบาท จาก EBITDA เฉลี่ยในปี 2015-2021 คือช่วงปี 2558-2564 อยู่ที่ 12,000 ล้านบาท หรือโตขึ้น 10 เท่าตัว 

จากงบการเงินปี 2566 ทางบางจากมี EBITDA รวม 41,680 ล้านบาท มีที่มาของแหล่งกำไรตามกลุ่มธุรกิจ ดังนี้ 

45% Refinery and Oil Trading Business ที่ประกอบด้วยโรงกลั่น และธุรกิจการตลาดในเครือของบางจาก
43% Natural Resources จากกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติที่มีแหล่งรายได้จาก OKEA ถือสัมปทานแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในนอร์เวย์หลายแห่ง

10% Clean Power Business
2% Bio-Base Products Business

นอกจากการตั้งเป้าหมายให้ EBITDA เติบโต 10 เท่าตัวแล้ว เป้าหมายนี้ของบางจากยังจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของ EBITDA เป็น 

49% Natural Resources สัดส่วนเพิ่มขึ้น 6%
36% Refinery and Oil Trading Business ลดสัดส่วนลง 9%
8% Clean Power Business ลดสัดส่วนลง 2%
4% Bio-Base Products Business เพิ่มสัดส่วนขึ้น 2%
4% New Business กลุ่มนี้จะมีอัตรา EBITDA ถึง 4%


เรื่อง: แทน ธนวัฒน์ บุญรวม