Tuesday, 8 July 2025
NEWS FEED

สตม. ซ้อนแผน รวบหนุ่มแดนปลาดิบแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ ลอบอยู่เกินวีซ่า เหิมขู่ฆ่าอดีตแฟนสาว พบประวัติเอี่ยวแก๊งอุ้มโหดกลางกรุงโตเกียว

กก.สส.บก.ตม.1 จับกุม Mr.ICHIRO (นามสมมติ) อายุ 30 ปี สัญชาติญี่ปุ่น ในข้อหา เป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด นำตัวส่ง พนักงานสอบสวน กลุ่มงาสอบสวน บก.สส.สตม. ดำเนินคดีตามกฎหมาย สถานที่จับกุม หน้าสถานีบริการน้ำมัน ปตท. เจริญกรุง 87 ถ.เจริญกรุง แขวงบางคอแหลม เขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ

จากกรณีที่ กก.สส.บก.ตม.1 ได้รับการประสานงานจากพนักงานสอบสวนในสังกัด บช.น. ให้ดำเนินการสืบสวนติดตาม Mr.ICHIRO (นามสมมติ) อายุ 30 ปี สัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งมีพฤติการณ์เข้าลักษณะเป็นภัยต่อสังคม เนื่องจากได้มี นางสาวบี (นามสมมติ) สัญชาติไทย ผู้เสียหาย มาแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับพนักงานสอบสวน ว่าได้ถูก Mr.ICHIRO อดีตแฟนหนุ่มทำร้ายร่างกายและกักขังหน่วงเหนี่ยว จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า Mr.ICHIRO อยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด และได้ติดต่อขอข้อมูลจากผู้เสียหาย รับแจ้งว่า Mr.ICHIRO มีอารมณ์รุนแรง มักจะส่งข้อความมาขู่ฆ่า ส่งรูปอาวุธปืน เครื่องกระสุน หรือคลิปวิดิโอที่ถ่ายในบริเวณละแวกบ้านพักของผู้เสียหายมาเพื่อคุกคาม และแสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายถูกติดตามและจับตาดูอยู่ ต่อมา กก.1 บก.สส.สตม. ได้รับข้อมูลจากครอบครัวของผู้เสียหายว่า Mr.ICHIRO อยู่ในอาการคล้ายมึนเมา ก้าวร้าว เดินทางมาวนเวียนหาตัวผู้เสียหาย โดยส่งคลิปสถานที่ละแวกบ้านของผู้เสียหาย พร้อมทั้งข้อความขู่ฆ่า ตั้งแต่ช่วงกลางดึกถึงช่วงเช้า กก.1 บก.สส.สตม. จึงวางกำลังคุ้มครองผู้เสียหาย และ เฝ้าคอยตรวจสอบ Mr.ICHIRO  ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่สืบสวนนอกเครื่องแบบที่แฝงตัวอยู่บริเวณบ้านพักของผู้เสียหาย พบรถยนต์หรูยี่ห้อโตโยต้า รุ่นอัลพาร์ด ต้องสงสัยมาวนเวียนไปมาที่บริเวณริมถนนหน้าสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ถ.เจริญกรุง แขวงบางคอแหลม เขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ จึงได้ขอตรวจสอบ พบว่า Mr.ICHIRO นั่งอยู่ในรถยนต์คันดังกล่าว จึงได้จับกุมดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าว

อนึ่งจากการประสานข้อมูลกับทางการญี่ปุ่นรับแจ้งว่า Mr.ICHIRO เป็นสมาชิกองค์กรอาชญากรรมมีชื่อ ในประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมกับพวกรวม 5 คน ก่อคดีอุ้มลักพาตัว ทำร้ายร่างกายและกักขังหน่วงเหนี่ยว ในเขตกรุงโตเกียว หลังจากนั้นได้เดินทางมากบดานในประเทศไทย และมาก่อความรุนแรงกับหญิงไทยจนถูกจับกุมดังกล่าว

ขอนแก่น - งานสัมมนา ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2567

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ได้จัดงานสัมมนาประจำปี 2567 หัวข้อ “แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไร ให้ยั่งยืน” เมื่อเวลา 08.30 -12.00 น. วันอังคารที่ 9 กรกฏาคม 2567 ณ ห้อง Convention 2-3 โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งประกอบด้วย ภาคธุรกิจ ภาคเกษตร สถาบันการเงิน การศึกษา หน่วยงานราชการ และประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ได้รับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสาน ตลอดจนรับฟังมุมมองเกี่ยวกับหนี้เกษตรกรซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดรั้งการพัฒนาภาคเกษตรและเศรษฐกิจอีสานโดยรวม เพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด มีประสิทธิผล และยั่งยืน โดยงานสัมมนาแบ่งเป็น 5 ช่วง ในช่วงแรกได้รับเกียรติจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวสุนทรพจน์ ในหัวข้อ “การเงินกับความกินดีอยู่ดีของคนอีสาน” เป้าหมายสุดท้ายของการดำเนินนโยบายของ ธปท. คือ ความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชน โดยความกินดีอยู่ดีมีองค์ประกอบ 2 เรื่อง คือ 1) รายได้ต้องเพียงพอกับรายจ่ายโดยรวม ถ้าดูภาพรวมประเทศ ศักยภาพไทยเดิมเคยโต 4-5% ช่วงหลังโตช้าลงอยู่ที่ 3% จากปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้รายได้สูงไม่พอ นอกจากนี้ การเติบโตของรายได้แรงงานจะช้ากว่าการเติบโตกำไรบริษัท สะท้อนการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง ทั้งในแง่ครัวเรือนและภายในกลุ่มธุรกิจเองก็ไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะครัวเรือนอีสาน รายได้โตช้า ไม่พอสำหรับรายจ่าย เราจึงเห็นครัวเรือนอีสานพึ่งพาเงินช่วยเหลือมากที่สุด เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรที่มีรายได้ก้อนใหญ่เพียงรอบเดียวต่อปี 2) หนี้สินต้องน้อยกว่าทรัพย์สิน ครัวเรือนไทยมีภาระหนี้สูง โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงถึง 90.8% ในไตรมาส 1 ปี 2567 และที่น่าเป็นห่วงคือหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ได้สร้างรายได้ เช่น หนี้ส่วนบุคคลและหนี้บัตรเครดิต หากดูรายจ่ายเทียบกับรายได้ที่มาจากการทำงาน จะเห็นว่า ครัวเรือนอีสานมีปัญหารายจ่ายสูงกว่ารายได้มานานแล้ว และปัญหาหนักขึ้น สะท้อนจากส่วนต่างระหว่างรายจ่ายกับรายได้ที่ถ่างขึ้น สิ่งที่ตามมา คือ หนี้ แม้จะแก้หนี้ที่มีอยู่ได้ แต่ปัญหาจะไม่จบ เพราะจะมีหนี้ใหม่เพิ่มเข้ามาต่อเนื่อง สะท้อนว่าการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนต้องแก้ให้ครบวงจร ต้องแก้ปัญหาทั้งรายได้ และรายจ่ายด้วย ธปท. จึงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทุกด้าน โดยมี 3 แนวทางที่จะนำไปสู่ความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน ได้แก่ 1) ด้านรายจ่าย หน้าที่ ธปท. ดูแลเสถียรภาพราคา ไม่ให้เงินเฟ้อและค่าครองชีพของคนสูงเกินไป 2) ดูแลรายได้ให้โตอย่างยั่งยืน ต้องมาจากประสิทธิภาพของแรงงาน ธปท. จึงให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเรื่องโครงสร้าง ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน การวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้ และวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินอื่น ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างโอกาสให้คน คือ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และระบบการชำระเงิน 3) แก้ปัญหาหนี้สิน ธปท. ได้มีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ช่วงโควิด ตอนนี้มีมาตรการที่เรียกว่าการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ซึ่งเป็นวิธีแก้หนี้แบบครบวงจร

ช่วงที่ 2 นำเสนอหัวข้อ “จับชีพจรความเป็นอยู่ชาวอีสาน” โดย ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สภอ. ให้ภาพแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจอีสาน (Gross Regional Product: GRP) ในปี 2567-68 ว่าจะค่อย ๆฟื้นตัวแต่อัตราการเติบโตยังต่ำกว่าประเทศ อย่างไรก็ตาม ความกินดีอยู่ดีของคนอีสานที่เป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาไม่สามารถสะท้อนผ่านตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจอีสานเติบโตเฉลี่ย 4% แต่รายได้ครัวเรือนเติบโตเพียง 1% ยิ่งไปกว่านั้นครัวเรือนอีสานยังมีรายได้เฉลี่ยน้อยที่สุดในประเทศอยู่ที่ 184,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยสูงถึง 67% สาเหตุจากโครงสร้างกำลังแรงงานและเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากแรงงานอีสานส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในภาคเกษตร 53% แต่กลับสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น ดังนั้น การเข้าใจถึงความกินดีอยู่ดีของคนอีสาน จึงควรพิจารณาในมิติรายได้ครัวเรือนมากขึ้น ในด้านรายจ่าย พบว่า ภาคอีสานมีสัดส่วนการใช้จ่ายในหมวดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริโภคสูงถึง 13% ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการชำระหนี้เงินกู้ เสี่ยงโชค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งเป็นรายจ่ายที่สามารถลดได้ อย่างไรก็ดี นอกจากมิติรายได้ และรายจ่ายครัวเรือนแล้ว การที่คนอีสานจะมีความกินดีอยู่ดีจะต้องมีทัศนคติและความรู้ทางการเงินที่ดีด้วย ที่ผ่านมา ธปท. สภอ. ได้เผยแพร่ความรู้ทางการเงินผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ เสริมแกร่งการเงินกองทุนหมู่บ้าน ชวนน้องท่องโลกการเงิน รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พัฒนาชุมชน สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน ผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีทัศนคติและพฤติกรรมทางการเงินที่ดี ควบคู่กับการยกระดับรายได้ภาคเกษตรผ่านการถอดบทเรียนจากผู้ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจากการติดตามผลพบว่า เกษตรกรกว่าร้อยละ 40 มีพฤติกรรมการเงินที่ดีขึ้น

ช่วงที่ 3 นำเสนอหัวข้อ “วัฒนธรรมหนี้แบบไทย ๆ” โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายพฤติกรรมการก่อหนี้ของคนไทยว่ามีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ของคนในสังคม “วัฒนธรรมหนี้” ช่วยให้เกิดดุลยภาพเชิงสังคมภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่กระจายทางเลือกให้ทุกคนอย่างไม่เป็นธรรม หนี้จึงเป็นปลายทางของปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาหนี้นอกระบบ การแก้ปัญหาหนี้จึงต้องแก้ทั้งระบบไปพร้อมกับการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เช่น การยกระดับรายได้และสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการแข่งขันมากกว่าการออกนโยบายที่แก้ปัญหาเป็นครั้งคราว
ช่วงที่ 4 นำเสนอหัวข้อ “พาเบิ่ง พฤติกรรมการก่อหนี้ของเกษตรกรอีสาน” โดย คุณอภิชญาณ์ จึงตระกูล และคุณพรวิภา แสงศิริวิวัฒน์ ผู้วิเคราะห์อาวุโส ธปท. สภอ. ได้ฉายภาพสถานการณ์หนี้เกษตรอีสานที่น่ากังวล เนื่องจากเกษตรกรอีสานมากกว่าครึ่งเป็นหนี้เรื้อรัง ชำระได้เพียงดอกเบี้ย และมีโอกาสสูงที่จะส่งต่อมรดกหนี้ให้ลูกหลาน โดยมี 3 สาเหตุที่ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้เรื้อรัง ได้แก่ 1) รายได้และรายจ่ายไม่สอดคล้องกัน 2) มีทัศนคติทางการเงินที่อาจนำไปสู่พฤติกรรมการหมุนหนี้ การผิดนัดชำระหนี้ และการเป็นหนี้เรื้อรัง เช่น เห็นด้วยกับการกู้หนี้ใหม่ไปใช้หนี้เก่า การใช้หนี้ช้ากว่ากำหนดเล็กน้อยเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และคิดว่าการกู้เงินจากสถาบันการเงินเป็นสิทธิที่จำเป็นต้องกู้ทุกปี และ 3) นโยบายที่ไม่จูงใจให้เกิดการชำระหนี้ เช่น มาตรการพักหนี้ในอดีตที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี มาตรการพักหนี้เกษตรในปัจจุบันมีการสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ยังรักษาวินัยในการจ่ายหนี้ กล่าวคือ การชำระหนี้รอบนี้ สามารถตัดเงินต้นได้ทันที เนื่องจากรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยให้ จึงเป็นโอกาสที่เกษตรกรจะปลดหรือลดหนี้ได้ แต่การใช้ชื่อมาตรการพักหนี้อาจทำให้เกษตรกรยังคงเข้าใจแบบเดิมได้ ทั้งนี้ ผลการศึกษาชี้ว่าการสื่อสารข้อมูลให้เกษตรกรรับรู้และเข้าใจข้อดีของการชำระหนี้มากขึ้นผ่านช่องทางเครือข่ายทางสังคมท้องถิ่น (Social Network) ที่เกษตรกรมีความคุ้นเคยไม่ว่าจะเป็น ผู้ใหญ่บ้าน ร้านค้าในชุมชน และคนในชุมชนที่ชาวบ้านเชื่อถือ (Local Influencer) สามารถกระตุ้นให้เกษตรกรมีพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดีขึ้นได้ ในช่วงสุดท้าย เป็นการเสวนาหัวข้อ “แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไร ให้ยั่งยืน” ผ่านการเสวนากับผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์  คุณจักรพงษ์ เมษพันธุ์ (โค้ชหนุ่ม) ผู้ก่อตั้งและโค้ชการเงินของ The Money Coach และคุณพสธร หมุยเฮบัว เกษตรกรและผู้ใหญ่บ้านนักพัฒนา บ้านแฝก-โนนสำราญ จ.นครราชสีมา โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นผู้ดำเนินรายการ จากการเสวนาสรุปประเด็นสำคัญ แนวทางการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรให้เกิดความยั่งยืนได้ 4 ข้อ ดังนี้ 1) เพิ่มรายได้ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ปัจจุบันได้เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ผ่านการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ เช่น การทำนาหยอดแทนนาหว่านที่สามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้จริง แต่ยังขาดปัจจัยสนับสนุนที่จะนำไปสู่การขยายผลในวงกว้าง 2) ความรู้และทัศนคติทางการเงิน แม้จะสำคัญแต่อาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเปลี่ยนความรู้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมด้วย เริ่มจากการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย เพื่อให้รู้กำไรหรือขาดทุน รวมทั้งการจัดสรรรายได้ก้อนใหญ่รายปีจากการทำเกษตรให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายรายเดือน และกันเงินสำหรับเป็นเงินทุนในการเพาะปลูกรอบถัดไปก่อนนำไปใช้จ่ายอย่างอื่น อีกทั้งควรเปลี่ยนทัศนคติด้านการเงินที่ไม่ถูกต้อง เช่น การกู้ยืมเงินเพื่อไปใช้หนี้เก่าเป็นเรื่องปกติ หรือการมีหนี้ติดตัวดีกว่าการเอาทรัพย์สินไปขายเพื่อชำระหนี้ 3) การสร้างกลไกที่เหมาะสม ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงนวัตกรรมเพื่อยกระดับการผลิตได้ง่ายขึ้น เช่น เกษตรกรที่นำเทคโนโลยีมาใช้สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้ หรือเข้าถึงสินเชื่อลีสซิ่งดอกเบี้ยต่ำสำหรับเกษตรกรที่ซื้อเครื่องจักรมาใช้เพื่อยกระดับการผลิต 4) นโยบายภาครัฐ ควรเป็นตัวกลางช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกษตรช่วยเหลือตนเองได้ เอื้อให้เกิดความยั่งยืนในภาคเกษตร เช่น นโยบายการปล่อยกู้ไม่ให้เกินศักยภาพของเกษตรกร ไม่สร้างภาระหนี้เกินความจำเป็น รวมถึงออกแบบนโยบายในการกระตุ้นให้เกษตรกรมีพฤติกรรมการชำระหนี้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น “นโยบายธนาคารใกล้บ้าน” และ “ชำระดีมีโชค”

สตม. รวบหนุ่มไต้หวันหัวหมออยู่เกินวีซ่า ปลอมใบรับรองแพทย์หลอกกลุ่มแรงงานข้ามชาติในไต้หวัน ตุ๋นเงินสวัสดิการรัฐไปนับล้าน

ตามนโยบายของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ สตม. สกัดกั้น ตรวจสอบ ระดมจับกุมคนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจผิดกฎหมายในประเทศไทย รวมทั้งให้ดำเนินการตรวจสอบ ชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ในขณะที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ หรือ กลุ่มคนร้ายข้ามชาติที่เข้ามา แฝงตัวอยู่ก่อเหตุ หรือโดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการกระทำความผิด 

ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม., พล.ต.ท.ชูฉัตร ธารีฉัตร ผทค.พิเศษ ตร. รรท.รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ประพันธ์ศักดิ์ ประสานสุข ผบก.สส.สตม., พล.ต.ต.ประสาธน์ เขมะประสิทธิ์ ผบก.ตม.1, พ.ต.อ.รัฐโชติ โชติคุณ รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.ภาณุภาคยณ์ จิตต์ประยูรตี รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.สุรศักดิ์ สุรินทร์แก้ว รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.กีรติศักดิ์ ก้องเกียรติศิริ รอง ผบก.ตม.5 ปฏิบัติราชการ บก.ตม.1, พ.ต.อ.ชิตเดชา สองห้อง รอง ผบก.สส.ภ.7 ปฏิบัติราชการ บก.สส.สตม., พ.ต.อ.ชูวงษ์ อุทัยสาง ผกก.ปอพ.บก.สส.สตม., พ.ต.อ.รัฐพงศ์ แก้วยอด ผกก.4, พ.ต.อ.กาจภณ ปฐมัง ผกก.สส.บก.ตม.1 ร่วมแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหารายสำคัญ ดังนี้  

สตม. รวบหนุ่มไต้หวันหัวหมออยู่เกินวีซ่า ปลอมใบรับรองแพทย์หลอกกลุ่มแรงงานข้ามชาติในไต้หวัน ตุ๋นเงินสวัสดิการรัฐไปนับล้าน กก.สส.บก.ตม.1 ได้รับแจ้งเบาะแสจากสายลับว่าพบเห็นชายสัญชาติไต้หวันพักอาศัยอยู่ซอยแจ้งวัฒนะ 10 ถ.แจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ สงสัยว่าจะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย จึงได้สืบสวนหาข่าวจนทราบว่าชายชาวไต้หวันดังกล่าวคือ MR.WEI CHIA-MING (นามสมมติ) อายุ 53 ปี ซึ่งการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้สิ้นสุดแล้ว และได้ประสานงานกับ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย

เพื่อตรวจสอบประวัติพบว่า MR.WEI CHIA-MING มีประวัติก่ออาชญากรรมในความผิดฐานฉ้อโกงเงินของรัฐบาล โดยการปลอมแปลงเอกสารใบรับรองแพทย์ของบุคคลอื่นและแอบอ้างเป็นทนายความเพื่อเบิกเงินสวัสดิการประกันสังคม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานคนไทยที่เคยไปทำงานที่ไต้หวัน มูลค่าความเสียหายกว่า 1 ล้านบาท แล้วได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย กก.สส.บก.ตม.1 จึงเฝ้าติดตามสืบสวนหาข่าวจนทราบเบาะแสว่า MR.WEI CHIA-MING ได้แอบมาหลบซ่อนตัวอยู่กับหญิงไทยในย่านหลักสี่ กรุงเทพฯ จึงได้วางแผนจับกุม จนกระทั่งพบ MR.WEI CHIA-MING ที่บริเวณกลางซอยแจ้งวัฒนะ 10 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ จึงได้จับกุมในข้อหา เป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด นำตัวส่งพนักงานสอบสวน กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.สตม. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

‘ชัยวัฒน์’ แจงชัด #Saveทับลาน ช่วยป้องปล่อยผีนายทุนฮุบป่า  ส่วนชาวบ้านดั้งเดิม ได้รับความคุ้มครองให้อยู่กินได้แบบถูก กม.

(10 ก.ค.67) จากกรณีอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการปรับปรุงแนวเขต ‘อุทยานแห่งชาติทับลาน’ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ซึ่งหากมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแนวเขตใหม่นี้ จะมีผลทำให้อุทยานแห่งชาติทับลานมีเนื้อที่ลดน้อยลงไปประมาณ 265,000 ไร่ จนเกิดกระแสในโลกออนไลน์ได้มีการติดแฮชแท็ก #Saveทับลาน กันในวงกว้าง โดยส่วนใหญ่ได้มีการรณรงค์ให้ลงชื่อคัดค้าน เนื่องจากเกรงว่าหากเรื่องนี้ผ่านแล้วจะต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไม้กว่า 265,000 ไร่ และมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าพื้นที่ดังกล่าวอาจจะหลุดไปยังมือนายทุนรายใหญ่ และอาจทำร้ายระบบนิเวศของสัตว์ป่าที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์เฟซบุ๊ก Chaiwat Limlikhitaksorn ระบุข้อความว่า...

ขอบคุณผู้ร่วมแสดงความคิดเห็น มีทั้งคัดค้าน และตั้งข้อสังเกต
ให้คิดเรื่องการคัดค้าน !!!

สืบเนื่องอ้างว่า ชาวบ้านอยู่มาก่อน หรือ อุทยานแห่งชาติทับลาน ไปประกาศแนวเขต ทับที่ชาวบ้าน ขอให้ข้อเท็จจริง ความถูกต้อง หัวข้อในประเด็น

1. ราษฎร รายใด มีเอกสารสิทธิ เช่น ส.ค.1 / น.ส.3 และ น.ส.3 ก สามารถนำไปออกเอกสารสิทธิที่ดิน เป็นโฉนดที่ดินได้ (ถูกต้องตามกฎหมาย )

2. ราษฎรอยู่มาก่อนประกาศอุทยานแห่งชาติทับลาน เมื่อปี 2524 นั้น ราษฎรต้องดูข้อเท็จจริง ว่า ถ้าท่านไม่มี ข้อ (1) ถือว่า ‘ผิดกฎหมาย’

ขอแสดงลำดับการประกาศการคุ้มครองพื้นที่ป่า ซึ่งมีกฎหมาย บังคับใช้ หากบุคคลใด บุกรุกป่า ถือว่า ‘ผิดกฎหมาย’ ดังนี้

- เป็นป่าตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ 2484
- เป็นป่าไม้ถาวร 2506
- เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ป่าครบุรี 2509
- เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่า แก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน 2510
- เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าวังน้ำเขียว 2515
- เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน 2524
- เป็นกลุ่มป่ามรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 2548

แนวทางแก้ไข ปัญหาราษฎรที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้งอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า มี มติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 คุ้มครองมิให้ จนท.จับกุมดำเนินคดี รวมถึงผ่อนปรน ผ่อนผันให้ราษฎรทำกินไปพลางก่อน จนกว่าจะมี มติ ครม. หรือ พระราชบัญญัติ เปลี่ยนแปลง เป็นอย่างอื่น เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 มีมาตรา 64 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 มี มาตรา 121 ประกาศใช้ โดยทั้งสองมาตรา(ม 64/ 121) มีความว่า ‘ให้สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า’

ที่สำคัญ และ สำคัญมาก คือ ม 64 และ ม 121 นี้ ออกมาเพื่อคุ้มครองราษฎรที่ทำผิดกฎหมาย ข้อหา ‘บุกรุกแผ้วถางป่า ยึดถือครอบครองที่ดิน’ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน และในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ

ฉะนั้น : ราษฎรที่อยู่มาก่อน จะได้รับการคุ้มครองให้อยู่อาศัย ทำกิน ได้อย่างถูกตามกฎหมายนี้

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สร้างอาชีพ สร้างชีวิต มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพแก่สตรีแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือด้อยโอกาส ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกบริการฟรี

วันนี้ (10 ก.ค. 67) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายวิชิต ชินวงศ์วรกุล รองประธานกรรมการ พร้อมด้วย นางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการ นางชุติมา ตันติศิริวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการฯ นางสาวดวงชุตา ติยะพจนพรกุล ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ และ นางสาวศุภรัตน์ สมบัติเจริญไทย หัวหน้าแผนกส่งเสริมการศึกษาและอาชีพ นำทีมลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ มอบวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้แก่สตรีที่มีรายได้น้อย มีภาระหน้าที่ดูแลคนในครอบครัว เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือด้อยโอกาสทางสังคม จำนวน 20 ราย คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 398,380 บาท (สามแสนเก้าหมื่นแปดพันสามร้อยแปดสิบบาทถ้วน) 

เพื่อให้สตรีได้นำวัสดุอุปกรณ์ไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว อันเป็นการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างความสุขสู่ครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน โดยมี นางวรรณภา สุขคง รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นางสาวชนมณัฐ รอดบุญธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และนางสาวจุรีพร ภิบาลจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดศรีสะเกษ ร่วมในพิธี พร้อมกันนี้ นางสาวเนาวรัตน์ วรรณศิริ หัวหน้าแผนกหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้นำทีมหน่วยแพทย์ฯ ลงพื้นที่ให้บริการประชาชน ฟรี ประกอบด้วย บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป จ่ายยา ตรวจวัดสายตาพร้อมแจกแว่น ฯลฯ โดยมีประชาชนเข้ารับบริการเป็นจำนวนมาก ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดศรีสะเกษ

โครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อสตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อมอบวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้แก่สตรีที่มีรายได้น้อย มีภาระหน้าที่ดูแลคนในครอบครัว เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือด้อยโอกาสทางสังคม มีความรู้ความสามารถ แต่ขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพ โดยมูลนิธิฯ มุ่งหวังในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างชีวิต  ให้กับสตรีได้นำวัสดุอุปกรณ์ไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างความสุขสู่ครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป  โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวและสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี ศรีสะเกษ ขอนแก่น ลำพูนลำปาง เชียงราย และจังหวัดพิษณุโลก 

โดยตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ดำเนินการมอบวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพแก่สตรีไปแล้ว 5 แห่ง จำนวน 32 ราย คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 620,299 บาท (หกแสนสองหมื่นสองร้อยเก้าสิบเก้าบาทถ้วน)

ตลอดระยะเวลากว่า 114 ปี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ขยายขอบข่ายโครงการต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา เท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอีกในหลาย ๆ ทาง เพื่อเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ช่วยเหลือประชาชนครบวงจรในทุกๆ ด้าน ดังปณิธาน มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต ต่อไป

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมการช่วยเหลือของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ที่เฟซบุ๊ก แฟนเพจ www.facebook.com/atpohtecktung

ตรวจพบ DNA ‘ปลาหมอสีคางดำ’ เอี่ยวเอกชนรายใหญ่นำเข้าเมื่อปี 2553 โป๊ะ!! มีการขออนุญาตนำเข้า แต่หลุดระเบียบความปลอดภัยทางชีวภาพ

(10 ก.ค.67) จากเพจ 'BIOTHAI' ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กกรณีปลาหมอสีคางดำที่กำลังระบาดในไทย ระบุว่า...

มีความพยายามจากบุคคลบางกลุ่ม เพื่อบิดเบือน เบี่ยงเบน ปัดความรับผิดชอบ โดยปล่อยเอกสารผ่านสื่อ อ้างว่าปลาหมอสีคางดำ (Sarotherodon melanotheron) ที่ระบาดเพราะมีการนำเข้าจากกลุ่มเพาะเลี้ยงปลาหมอสีสวยงาม (โดยอ้างสถิติการส่งออกปลาหมอสี ซึ่งเป็นคนละสปีชีส์ และไม่ใช่เอเลี่ยนสปีชีส์เดียวกับที่บริษัทเอกชนรายใหญ่นำเข้าในปี 2553 แถมดันเอาสถิติการส่งออกปี 2556-2559 มาโชว์) 

แต่ผลการวิเคราะห์ DNA จากงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์กรมประมง ทำให้บริษัทเอกชนที่ละเมิดระเบียบความปลอดภัยทางชีวภาพ ไม่อาจหลบเลี่ยงความรับผิดชอบจากปัญหาที่เกิดขึ้นได้อีกต่อไป 

การศึกษาเรื่อง 'การวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำในเขตพื้นที่ชายฝั่งของไทยจากโครงสร้างพันธุกรรมของประชากร' โดย อภิรดี และคณะ (2565) กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด พบว่าประชากรปลาหมอสีคางดำที่แพร่ระบาดในประเทศไทยมีแหล่งที่มาร่วมกัน และความแตกต่างระหว่างกลุ่ม haplotype อยู่ในระดับการเปลี่ยนแปลงเพียง 1-2 ลำดับเบสเท่านั้น ซึ่งสามารถอธิบายความแตกต่างทางพันธุกรรมของประชากรแต่ละจังหวัดไว้ว่า น่าจะเกิดจากกลไกของจีเนติกดริฟท์ หรือความคลาดเคลื่อนจากการสุ่มตัวอย่าง ซึ่งเกิดจากปลาที่นำไปปล่อย มากกว่าเกิดจากการนำเข้าหลายครั้ง (multiple introduction)

ดังนั้น "การศึกษาครั้งนี้ช่วยยืนยันที่มาของการแพร่ระบาด โดยข้อมูลระยะห่างทางพันธุศาสตร์ และการจัดลำดับความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการ ชี้ให้เห็นว่าประชากรปลาหมอสีคางดำที่แพร่ระบาดในประเทศไทยมีแหล่งที่มาร่วมกัน"

หมายเหตุ : ขอบคุณทีมนักวิจัย กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ของกรมประมงมาก ๆ ครับ อย่าลืมสรุปและส่งรายงานวิจัยนี้ให้ท่านอธิบดีอ่านโดยด่วนด้วยครับ

รวบหัวหน้าแก๊งรัสเซียปลอม นำเข้า จำหน่าย หนังสือเดินทางปลอม และหลอกทำหนังสือเดินทาง ความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท 

กก.4 บก.สส.สตม. ร่วมกับ กก.ปอพ.บก.สส.สตม. จับกุม นายอาเทม (นามสมมติ) อายุ 44 ปี สัญชาติรัสเซีย ตามหมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ 557/2567 ลงวันที่ 26 มิ.ย.2567 ในความผิดฐาน "ทำหนังสือเดินทางปลอมขึ้น  ทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดฯ, จำหน่ายหนังสือเดินทางปลอมฯ, นำเข้าหนังสือเดินทางปลอมฯ" นำตัวส่งพนักงานสอบสวน กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.สตม. ดำเนินคดีตามกฎหมาย สถานที่จับกุม ห้องพักในคอนโดมิเนียมย่าน ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ  

เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน กก.4.บก.สส.สตม. ร่วมกับ กก.ปอพ.บก.สส.สตม. ได้สืบสวนในทางลับเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่ทำหนังสือเดินทางปลอม ซึ่งจากการสืบสวนทราบว่าขบวนการดังกล่าวมีการนำเข้าหนังสือเดินทางและจำหน่ายหนังสือเดินทางปลอมในประเทศไทย โดยเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนได้รับภาพถ่ายหน้าหนังสือเดินทางปลอมของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากการตรวจสอบภาพถ่ายหนังสือเดินทางดังกล่าวโดยละเอียด พบลักษณะพิรุธมีความผิดปกติหลายจุด น่าเชื่อว่าจะเป็นหนังสือเดินทางปลอมของประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้มีหนังสือสอบถามไปยังหน่วยสืบสวนอาชญากรรมข้ามชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา Overseas Criminal Investigations Unit (OCIU) ประจำประเทศไทย และได้รับการยืนยันว่า "หนังสือเดินทางดังกล่าวเป็นหนังสือเดินทางปลอม"
 จากการสืบสวนพบว่าขบวนการดังกล่าวได้มีการลงโฆษณาอย่างโจ่งแจ้งในแอปพลิเคชัน VK, Telegram, WhatsApp และผ่านเว็บไซต์ (passpart.pro) ว่าสามารถทำหนังสือเดินทางได้ 15 สัญชาติ ซึ่งเป็นการขอสัญชาติแบบถูกต้อง

โดยมีการชำระเงินผ่านบัญชีเงินดิจิทัล และได้มีการเปิดบริษัทในประเทศไทยเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้มีผู้เสียหายหลายคนหลงเชื่อและได้ทำการติดต่อไป ซึ่งผู้เสียหายหลายรายไม่ได้รับหนังสือเดินทาง และบางรายที่ได้รับหนังสือเดินทางก็เป็นหนังสือเดินทางที่ปลอมขึ้น  จากการตรวจสอบพบว่าหนังสือเดินทางที่ปลอมขึ้นดังกล่าวนั้นส่งมาโดยบริษัทขนส่ง FEDEX จากประเทศโดมินิกัน เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนได้ทำการประสานกับหน่วยสืบสวนอาชญากรรมข้ามชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสืบสวนขยายผลเพิ่มเติม ต่อมาเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนทราบว่าหัวหน้าของกลุ่มขบวนการดังกล่าวคือ นาย อาเทม (นามสมมติ) สัญชาติรัสเซีย จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเสนอรายงานการสืบสวนต่อผู้บังคับบัญชาและร้องทุกข์ต่อ พงส.บก.สส.สตม. เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

ต่อมาเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน กก.4.บก.สส.สตม., กก.ปอพ.บก.สส.สตม. ได้ทำการขออนุมัติหมายจับจาก ศาลอาญากรุงเทพใต้ ให้จับกุมนาย อาเทม ในข้อหา "ทำหนังสือเดินทางปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดฯ, จำหน่ายหนังสือเดินทางปลอมฯ, นำเข้าหนังสือเดินทางปลอมฯ" และได้ขออนุมัติหมายค้นจากศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อพบตัวบุคคลตามหมายจับและเพื่อพบพยานหลักฐาน จากการเข้าตรวจค้นเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนได้ทำการจับกุมนายอาเทมตามหมายจับดังกล่าว พร้อมกับตรวจยึดพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องจำนวน 12 รายการ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก สมุดบัญชีและบัตรเครดิตของต่างประเทศ ซึ่งจากการตรวจสอบขยายผลพบว่า ขบวนการดังกล่าว  มีการแบ่งหน้าที่กันทำ มีบุคคลที่อยู่ต่างประเทศที่ประเทศโดมินิกันรับคำสั่งในการทำหนังสือเดินทางปลอม นายอาเทม ทำหน้าที่โฆษณาและพูดคุยกับผู้เสียหายทั้งหมดและจัดการเรื่องเงินที่ได้รับจากผู้เสียหาย ทั้งนี้ผู้เสียหายไม่ทราบว่าหนังสือเดินทางนั้นเป็นของปลอม ทำให้มีผู้หลงเชื่อเป็นจำนวนมาก โดยการติดต่อซื้อขายนั้นกระทำผ่านแอปพลิเคชัน TELEGRAM โดยความเสียหายที่ตรวจพบในเบื้องต้นทั้งหมดรวมมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท 

สตม. ขอเรียนให้ท่านทราบว่า สตม. มีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามการกระทำความผิด   ในด้านต่าง ๆ รวมถึงการเฝ้าระวังบุคคลทั้งสัญชาติไทยและสัญชาติอื่น ๆ ที่มีหมายจับ และการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระชนมพรรษา 60 พรรษา เลขที่ 904 หมู่ที่ 6 ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จว.นนทบุรี 11120 หรือติดต่อตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดในพื้นที่ หรือที่ www.immigration.go.th จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง

'ตม.สมุทรสาคร' บุกตรวจหอพักย่านอ้อมน้อย  พบเจ้าของหอแอบซุกแรงงานต่างด้าวร่วม 100 ชีวิต

(10 ก.ค.67) ภายใต้การสั่งการของ พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม., พล.ต.ต.มานัด ศรีวงษา รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ ผบก.ตม.3, พ.ต.อ.เพลิน กลิ่นพยอม รอง ผบก.ตม.3 เพื่อเป็นการกวดขันจับกุมผู้กระทำผิด ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง จ.สมุทรสาคร จึงได้ออกตรวจสอบการแจ้งที่พักอาศัยของคนต่างด้าว รวมทั้งผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ โดยได้เข้าตรวจสอบที่บริเวณหอพักแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ตามที่ได้รับแจ้งผลจากการตรวจค้น พบแรงงานต่างด้าวแอบพักอาศัยอยู่กันเป็นจำนวนมากนับ 100 คน

และได้มีการตรวจสอบกับทางหอพัก ปรากฏว่าผู้ดูแลหอพักไม่ยอมแจ้งว่ามีต่างด้าวมาพักอาศัยอยู่ให้กับทางเจ้าหน้าที่ได้รับทราบ ตามมาตรา 37 (2) และมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ จึงได้มีการดำเนินการ และดำเนินคดีตามกฎหมาย ต่อไป

ทั้งนี้ พ.ต.อ.ปกฉัตร ชัยสุกวัฒน์ ผกก.ตม.จว.สมุทรสาคร ได้ฝากประชาสัมพันธ์ถึงเจ้าของหอพักผู้ประกอบการและนายจ้างในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ ในการแจ้งที่พักอาศัยของคนต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม รีสอร์ต หอพัก หรือสถานประกอบการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตาม ตรวจสอบ รวมทั้งช่วยเหลือหากเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นได้ทันท่วงที

‘ก.อุตฯ’ เผย ขนกากแคดเมียมกลับ จ.ตาก ครบแล้ว 100% มั่นใจ!! ฝังกลบเสร็จสิ้นตามแผน ภายใน พ.ย. 67 นี้

(10 ก.ค. 67) ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหา และการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ครั้งที่ 4/2567 ว่า การขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมที่ตรวจพบทั้งหมดจากพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดชลบุรี กลับไปยังพื้นที่ต้นทางจังหวัดตาก ได้ดำเนินการขนย้ายเสร็จทุกพื้นที่ครบ 100% เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 

โดยใช้รถขนส่งเป็นรถตู้คอนเทรนเนอร์ที่ปิดคลุมมิดชิด ทั้งหมด 441 เที่ยว พร้อมรถตำรวจนำขบวนเพื่อควบคุมความปลอดภัยตลอดการขนส่ง มีปริมาณกากตะกอนแคดเมียมที่ขนย้ายกลับโรงพักคอยจังหวัดตาก รวมจำนวนทั้งสิ้น 8,568 ถุง วัดน้ำหนักได้ 12,912 ตัน หากเปรียบเทียบกับปริมาณกากตะกอนแคดเมียม ที่แจ้งนำออกจากโรงงานต้นทางจังหวัดตาก 13,800 ตัน คิดเป็นส่วนต่างร้อยละ 6.43 และหากเปรียบเทียบกับประมาณการณ์ปริมาณกากตะกอนแคดเมียมที่ตรวจพบในทุกพื้นที่รวม 12,948 ตัน คิดเป็นส่วนต่างร้อยละ 0.28 

ซึ่งคาดว่าปริมาณน้ำหนักที่แตกต่างจากปริมาณที่แจ้งนำออกจากโรงงานต้นทางจังหวัดตาก เป็นผลมาจากปริมาณความชื้นที่ระเหยไปจากการเก็บกองถุงกากตะกอนแคดเมียมในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นระยะเวลานาน 

สำหรับปริมาณการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมกลับไปยังพื้นที่ต้นทางจังหวัดตากครบแล้ว 100% จำแนกได้ดังนี้ กรุงเทพมหานคร บริษัท ล้อโลหะไทย เมททอล จำกัด เขตบางซื่อ มีจำนวน 99 ถุง ปริมาณรวม 142 ตัน ครบเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 

จังหวัดสมุทรสาคร บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด มีจำนวน 4,554 ถุง ปริมาณรวม 6,962 ตัน ครบเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 / บริษัท ซิน หงส์ เฉิง อินเตอร์ เทค (2008) จำกัด มีจำนวน 672 ถุง ปริมาณรวม 1,008 ตัน ครบเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 และโกดังตำบลคลองมะเดื่อ มีจำนวน 534 ถุง ปริมาณรวม 549 ตัน ครบเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2567 

จังหวัดชลบุรี โกดังที่ตำบลคลองกิ่ว เริ่มขนย้ายกากตะกอนแคดเมียม จำนวน 2,877 ถุง ปริมาณรวม 4,250 ตัน ครบเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 25

ในส่วนการส่งมอบคืนพื้นที่กรุงเทพมหานคร บริษัท ล้อโลหะไทย เมททอล จำกัด เขตบางซื่อ ดำเนินการส่งมอบคืนพื้นที่เรียบร้อยแล้ว จังหวัดสมุทรสาคร บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด และ โกดังตำบลคลองมะเดื่อ อยู่ระหว่างการดำเนินการทำความสะอาดเพื่อตรวจสอบค่าแคดเมียมก่อนส่งคืนพื้นที่ บริษัท ซิน หงส์ เฉิง อินเตอร์ เทค (2008) จำกัด ได้ตรวจสอบค่าแคดเมียมแล้วซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ และอยู่ระหว่างการส่งมอบคืนพื้นที่ จังหวัดชลบุรี โกดังที่ตำบลคลองกิ่ว ทำความสะอาดโดยการดูดฝุ่น จำนวน 3 ครั้งแล้ว โดยจะประสานกรมควบคุมมลพิษเพื่อเข้าตรวจวัดค่าแคดเมียมต่อไป 

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการตรวจสภาพและการกำหนดแนวทางซ่อมแซมบ่อฝังกลบกากตะกอนแคดเมียมที่จังหวัดตากนั้น ได้มีการตรวจสอบร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ร่วมตรวจสอบเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 โดยได้ตรวจสอบการรั่วซึมของฝังกลบแคดเมียม โดยการฉีดน้ำประมาณ 50 ลูกบาศก์เมตร ผลปรากฏว่า ไม่พบการรั่วซึมแต่อย่างใด 

นอกจากนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ว่าผิวบ่อคอนกรีตมีความแข็งแรงและปลอดภัย จึงได้ใช้วิธีการฉีดอัดด้วยซีเมนต์แรงดันต่ำ (low pressure injection) ป้องกันไม่ให้ผิวบ่อเกิดรอยร้าว ส่วนการตรวจสอบความแข็งแรงของผิวบ่อคอนกรีต จะใช้เครื่องสแกนเนอร์ตรวจสอบความหนาแน่นใต้ชั้นคอนกรีต ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการฝังกลบทั้งหมดจนเสร็จสิ้นกระบวนการภายในเดือนพฤศจิกายน 2567

“ที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมตั้งแต่เริ่มต้นจนส่งกลับไปฝังกลบที่ต้นทาง จ.ตาก ได้อย่างราบรื่น เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยไม่พบอุปสรรคและปัญหาแต่อย่างใด และขอให้ประชาชนมั่นใจว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางเป็นไปด้วยความปลอดภัย คำนึงถึงประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก และหากประชาชนหรือผู้สนใจอยากติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง สามารถเข้าติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://cadmium.industry.go.th/web ที่กระทรวงจัดทำขึ้นเพื่อให้ทุกคนคลายความกังวลว่าภาครัฐดำเนินการอย่างเอาจริงเอาจัง และมีความโปร่งใสในทุกขั้นตอน” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวปิดท้าย

‘ดร.วสุ’ ชี้ เรื่อง ‘ป่าทับลาน’ กระทบต่อสถานะมรดกโลก เหตุขอบเขตผืน ‘ป่าเขาใหญ่’ ได้รวมพื้นที่ 'ทับลาน' ไว้ด้วย

(10 ก.ค. 67) ดร.วสุ โปษยะนันทน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม กรมศิลปากร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า…

จากข่าวเรื่องทับลาน อยากขอแลกเปลี่ยนข้อมูลว่าเรื่องนี้จะเป็นประเด็นที่จะมีผลกระทบกับเรื่องมรดกโลกด้วย เพราะในขอบเขตของแหล่งมรดกโลกผืนป่าเขาใหญ่ ได้รวมเอาส่วนของป่าทับลานไว้ด้วย เท่ากับว่าเป็นที่ยอมรับโดยสากลแล้วว่าพื้นที่นี้ มีคุณค่าตามเกณฑ์มรดกโลกเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ และยังถือว่าเป็นองค์ประกอบที่บ่งชี้ถึงความเป็นมรดกโลกที่เรียกว่าคือ Attribute หนึ่งของแหล่งมรดกโลกเขาใหญ่ หากต้องการตัดพื้นที่ส่วนนี้ออกไปก็ต้องมีคำอธิบายว่าพื้นที่ส่วนนี้ไม่มีคุณค่าตามเกณฑ์เหมือนกับส่วนอื่น ๆ ของเขาใหญ่แล้ว และต้องพิสูจน์ให้กรรมการมรดกโลกเห็นด้วยว่าหากตัดส่วนนี้ออกไปแล้วพื้นที่ที่เหลือของเขาใหญ่จะยังคงรักษาคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากล หรือ OUV ไว้ได้ หากอธิบายไม่ได้ย่อมส่งผลกระทบกับเสถียรภาพความเป็นมรดกโลกของป่าเขาใหญ่แน่นอน โดยอาจมีผลมาจากความครบถ้วนสมบูรณ์หรือ Integrity ของแหล่งที่ขาดหายไป

สรุปว่าในเรื่องนี้ขอให้พิจารณากันให้ดี ๆ ถ้าจะสอบถามความเห็นก็ควรเพิ่มอีกคำถามว่ายังเห็นด้วยกับการมีผืนป่าเขาใหญ่เป็นมรดกโลกหรือไม่ ถ้าไม่ก็แล้วไป #saveทับลาน

ความจริงตั้งแต่ครั้งที่เขาใหญ่ได้เป็นมรดกโลกเมื่อนานมาแล้ว คณะกรรมการฯ ก็มีข้อร้องขอให้ปรับปรุงเพิ่มพื้นที่ป่าให้เหมาะสมแล้วตั้งแต่ตอนนั้น เราเคยแจ้งเขาไปว่าอยู่ระหว่างดำเนินการโดยจะตัดส่วนชุมชนและป่าเสื่อมโทรมออก 4 หมื่นกว่าเฮกตาร์ และเพิ่มในพื้นที่ป่าที่มีคุณค่าสูงเข้ามาแทน ประมาณหนึ่งหมื่นเจ็ดพันเฮกตาร์ เป็นการตัดและเพิ่มในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยระบุว่าการปรับปรุงขอบเขตพื้นที่นี้จะแล้วเสร็จในปี 2007 ... นี่มันปี 2024 แล้วนะครับ จนเพิ่งมีข่าวใหญ่จะลดพื้นที่ในช่วงนี้นี่แหละ แต่ไม่เห็นมีข้อมูลว่าจะเพิ่มพื้นที่ป่าเข้ามาเลย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top