Friday, 4 July 2025
NEWS FEED

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเปิดการประชุมร่วมตำรวจไทย-มาเลเซีย ระดับบริหาร ครั้งที่ 27 ส่งเสริมความร่วมมือในกิจการตำรวจ และการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดน

วันนี้ (6 สิงหาคม 2567) เวลา 09.00 น. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมร่วมระหว่างตำรวจไทยและตำรวจมาเลเซีย ระดับบริหาร ครั้งที่ 27 ณ โรงแรมดิ แอทธินี โฮเท็ล แบงค็อก กรุงเทพมหานคร โดยมี พล.ต.อ.ตัน ศรี ราซารุดิน บิน ฮุสเซน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย และ พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมพิธี การประชุมร่วมระหว่างตำรวจไทยและตำรวจมาเลเซีย ระดับบริหาร ครั้งที่ 27 เป็นการประชุมประจำปีที่จัดขึ้นสลับกันระหว่างทั้งสองประเทศ ในปีนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระหว่างวันที่ 5 - 8 สิงหาคม 2567 โดยที่ประชุมได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล 9 หัวข้อ ได้แก่  
1. การลักลอบนำเข้าและการค้าอาวุธ  
2. การลักลอบนำเข้ายานพาหนะที่ถูกโจรกรรมระหว่างสหพันธรัฐมาเลเซียและราชอาณาจักรไทย  
3. การค้ามนุษย์และการลักลอบหลบหนีเข้าเมือง 
4. อาชญากรรมทางเศรษฐกิจและอาชญากรรมทางไซเบอร์  
5. การลักลอบนำเข้าและการค้ายาเสพติด 
6. การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนตามแนวชายแดน  
7. อาชญากรรมทางทะเลและการกระทำอันเป็นโจรสลัด 
8. การก่อการร้าย ซึ่งส่งผลกระทบต่อราชอาณาจักรไทยและสหพันธรัฐมาเลเซียและงานข่าวกรอง 
9. การฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพบุคลากร 

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ฯ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการส่งเสริมความร่วมมือในกิจการตำรวจ และรักษาคำมั่นของทั้งสองฝ่ายในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดน ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรอง ทรัพยากร และความเชี่ยวชาญ ตามข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายได้มีร่วมกัน และสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการรักษาความสงบเรียบร้อย การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคสังคมของทั้งสองประเทศ ยืนยันว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย มีความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าพัฒนาความร่วมมือระดับทวิภาคี เพื่อนำมาซึ่งความปลอดภัยและความมั่นคงของทั้งสองประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อีอีซี ผนึกกำลัง อบจ.ระยอง สถานศึกษา ภาคเอกชน ส่งเสริมการใช้ระบบสารสนเทศในการขนส่งสาธารณะ ในพื้นที่ อีอีซี

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2567 ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การสนับสนุนการใช้ระบบสารสนเทศสำหรับการขนส่งสาธารณะ ร่วมกับ ดร.ปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา รองศาสตราจารย์ ดร.สถาพร เชื้อเพ็ง รองอธิการบดีวิทยาเชตศรีราชามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายอินทัช มาศวงษ์ปกรณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เวีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศผ่านระบบแอปพลิเคชั่นให้บริการรถโดยสารสาธารณะ ผ่านความร่วมมือจากหน่วยงานดังกล่าว ณ ห้อง Conference 1-2 สำนักงานอีอีซี ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือสำคัญ เพื่อสร้างต้นแบบการใช้ระบบสารสนเทศสำหรับการขนส่งสาธารณะในพื้นที่อีอีซี โดยนำระบบแอปพลิเคชั่น ViaBus ที่พัฒนาโดยบริษัทเอกชนมาใช้ประโยชน์ในการติดตามรถโดยสารสาธารณะ ในแบบเรียลไทม์ โดยจะนำร่องให้บริการในรถโดยสารสวัสดิการของ มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงรถโดยสารสาธารณะของ อบจ.ระยอง ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ นักเรียน นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป ได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ผ่านการใช้ระบบฯ ดังกล่าว ซึ่งจะช่วยยกระดับการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ให้มีความทันสมัย ปลอดภัย อำนวยความสะดวกให้เกิดการบริหารเวลา รองรับการวางแผนเดินทางของประชาชนในพื้นที่อีอีซี

ทั้งนี้ ความร่วมมือตาม MOU จะเป็นการร่วมกันผลักดันให้เกิดการใช้ระบบสารสนเทศ สำหรับระบบขนส่ง สาธารณะในพื้นที่อีอีซี ให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลายต่อไป โดยจะประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน และผู้ที่สนใจอื่น ๆ เพื่อยกระดับโครงข่ายการเดินทาง ระบบคมนาคมในพื้นที่อีอีซี ด้วยเทคโนโลยีที่ ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ เชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการเดินทางของประชาชนอย่างไร้รอยต่อ ยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนภายในพื้นที่อีอีซีอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ดร.ปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง กล่าวว่า การมีระบบขนส่งมวลชนที่ดีสำหรับจังหวัดระยอง เป็นความฝันของคนระยอง และของผมที่อยากจะทำให้กับคนระยอง แต่จากการพูดคุยในหลายครั้ง หลายเวที การที่จะปฏิรูประบบขนส่งในจังหวัดระยองอย่างเต็มรูปแบบ มันมีข้อจำกัดในการดำเนินการอยู่หลายประเด็น ทั้งทางด้านภาระทางงบประมาณ ด้านกฎหมาย และด้านผลกระทบต่อระบบเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นประเด็น ละเอียดอ่อนและไม่ได้ขึ้นอยู่กับ อบจ.ระยอง แต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นภาพความฝันที่สมบูรณ์ของผมคงต้องใช้เวลา แต่ผมยังคงเชื่อว่ามันต้องเกิดขึ้นได้แน่นอน การร่วมมือกับ อีอีซี ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเติมความฝันของผมให้มีภาพชัดขึ้น ผมเชื่อว่าการนำแอปพลิเคชั่น ViaBus ไปประยุกต์ใช้ จะส่งประโยชน์ต่อคนระยอง ต่อ อบจ.ระยอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาโครงการ “รถสาธารณะไฟฟ้าวิ่งเลียบชายหาดแหลมเจริญ” ที่ อบจ.ระยอง กำลังดำเนินการอยู่ แอปพลิเคชั่น ViaBus นี้จะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของโครงการ ที่จะสร้างความสะดวกให้แก่กลุ่มผู้ใช้บริการโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ และจะเป็นประโยชน์ในการต่อยอดสำหรับโครงการอื่นๆ ของ อบจ.ระยอง ต่อไปได้อย่างแน่นอน
รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยบูรพา มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในครั้งนี้ ในการร่วมกับ อีอีซี นำแอปพลิเคชั่น ViaBus มาใช้ประโยชน์เป็นระบบเพิ่มเติมจากแอปพลิเคชั่น BBUTransit ที่มหาวิทยาลัยได้พัฒนาและใช้ติดตามรถสวัสดิการของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน เพื่อขยายการอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มนิสิต บุคลากร ประชาชน และผู้รับบริการภายในมหาวิทยาลัยให้กว้างขวางมากขึ้น ทั้งนี้จากเป้าหมายของมหาวิทยาลัยบูรพาที่ว่า “เราจะทำให้ ม.บูรพา ให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่ง EEC” มหาวิทยาลัยบูรพาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกับ อีอีซี ผ่านแอปพลิเคชั่น ViaBus ในครั้งนี้ จะสามารถเป็นต้นแบบให้สามารถขยายผลการใช้ประโยชน์ไปยังพื้นที่อื่นๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ อีอีซี สามารถผลักดันการเชื่อมต่อโครงข่ายด้านคมนาคมขนส่งและยกระดับการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ได้สำเร็จ ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะมีความทันสมัย ปลอดภัย อำนวยความสะดวก ให้เกิดการบริหารเวลา รองรับการวางแผนการเดินทางของประชาชนในพื้นที่อีอีซีต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.สถาพร เชื้อเพ็ง รองอธิการบดีวิทยาเชตศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือกับ อีอีซี นำแอปพลิเคชั่น ViaBus ไปใช้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการรถสวัสดิการของวิทยาเขตศรีราชาในปัจจุบัน ให้มีความมีความ ทันสมัยมากขึ้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกับ อีอีซี ในครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์ต่อนิสิตบุคลากร รวมถึงประชาชนและผู้มาติดต่อ เพื่อการวางแผนการเดินทางในพื้นที่วิทยาเขตได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ทาง วิทยาเขตศรีราชาหวังว่า การร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถเป็นต้นแบบได้อย่างสมบูรณ์ตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ และมีความยินดีให้การสนับสนุนในการขยายผลการใช้ประโยชน์ไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั้งในพื้นที่ อีอีซี และในวิทยาเขตอื่นของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อไป นายอินทัช มาศวงษ์ปกรณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เวีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทเวีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยยกระดับระบบขนส่งสาธารณะ อำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารในการวางแผนและบริหารเวลาการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะประจำทางและรถโดยสารให้บริการของหน่วยงาน โดยนวัตกรรม ViaBus นั้นให้บริการด้านการติดตามและนำทางรถโดยสารแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเข้าถึงข้อมูลการเดินทางในระบบรถโดยสารได้ง่ายขึ้น เช่น ตำแหน่งรถ สถานี(ป้าย) เส้นทาง ทำให้ผู้โดยสารสามารถตัดสินใจในการเดินทาง รวมถึงบริหารเวลาและวางแผนการการเดินทางได้ดีขึ้นและไม่ใช่เพียงผู้โดยสารเท่านั้น นวัตกรรม ViaBus นี้ยังนำเทคโนโลยีระบบบริหารจัดการ มาช่วยเหลือผู้ประกอบการเดินรถให้สามารถบริหารจัดการการเดินรถได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความอัตโนมัติและตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสารมากขึ้นทั้งนี้ ความร่วมมือตาม MOU ในครั้งนี้จะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาการยกระดับการคมนาคมขนส่งแบบบูรณาการ ทำให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ช่วยให้เสริมสร้างเศรษฐกิจ เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้เดินทางได้รับการเดินทางที่ทันสมัยและไร้รอยต่อ และสามารถยกระดับการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกต่อไป

สตม.รวบแล้ว!! ขบวนการขนคนต่างด้าวขึ้นเหนือล่องใต้อ้างโปรไฟล์รับขนส่งทั่วไทย

ตามนโยบายของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ สตม. สกัดกั้น ตรวจสอบ ระดมจับกุมคนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจผิดกฎหมายในประเทศไทย รวมทั้งให้ดำเนินการตรวจสอบ ชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในขณะที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ หรือ กลุ่มคนร้ายข้ามชาติที่เข้ามาแฝงตัวอยู่ก่อเหตุ หรือโดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการกระทำความผิด

วันนี้ (5 ส.ค. 67) เวลา 11.00 น. ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม., พล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ปิติ นิธินนทเศรษฐ์ รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ประพันธ์ศักดิ์ ประสานสุข ผบก.สส.สตม., พล.ต.ต.เกติ์ฉกาจ นิลประดับ ผบก.ตม.5, พล.ต.ต.ทรงโปรด สิริสุขะ ผบก.ตม.6, พ.ต.อ.ภาณุภาคยณ์ จิตต์ประยูรตี รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.เอกกร บุษบาบดินทร์ รอง ผบก.ตม.5, พ.ต.อ.ศุภโชค หยงสตาร์ รอง ผบก.ตม.6, พ.ต.อ.เฉลิมชนม์ แหลมทอง รอง ผบก.ตม.6, พ.ต.อ.ชินวุฒิ ตั้งวงษ์เลิศ ผกก.ตม.จว.สงขลา, พ.ต.อ.ชูวงษ์ อุทัยสาง ผกก.ปอพ.บก.สส.สตม., พ.ต.อ.อภิเษก ปิศโน ผกก.ตม.จว.น่าน, พ.ต.ท.พิระวัตร์ วงศ์ศิริเมธีกุล สวญ.ตม.จว.ชุมพร ร่วมแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหารายสำคัญ ดังนี้

สตม.รวบแล้ว!! ขบวนการขนคนต่างด้าวขึ้นเหนือล่องใต้อ้างโปรไฟล์รับขนส่งทั่วไทย
ตม.จว.น่าน ร่วมกับ ตม.จว.สุรินทร์ จับกุม นายหนูเรียง (สงวนนามสกุล) อายุ 48 ปี สัญชาติไทย ตามหมายจับของศาลจังหวัดน่าน ที่ จ.34/2567 ลงวันที่ 15 มี.ค.2567 ในความผิดฐาน ร่วมกันกระทำความผิดฐาน (ผู้ใช้) รู้ว่าคนต่างด้าวคนใดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ ให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.เวียงสา จว.น่าน ดำเนินคดีตามกฎหมาย สถานที่จับกุมบริเวณถนนสาธารณะคุ้มวัดกลาง หมู่ 9 ต.รัตนบุรี อ.รัตนบุรี จว.สุรินทร์

จากกรณี เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2567 เวลาประมาณ 20.00 น. ตม.จว.น่าน ร่วมกับ นปพ.กก.สส.ภ.จว.น่าน ประจำจุดตรวจห้วยน้ำอุ่น จับกุมนายจิระวัฒน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 50 ปี พร้อมคนต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา จำนวน 6 คน ในความผิดฐาน รู้ว่าคนต่างด้าวคนใดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.เวียงสา จว.น่าน ดำเนินคดีตามกฎหมายนั้น จากการสอบถาม นายจิระวัฒน์ ให้การรับสารภาพว่าได้รับงาน รับ-ส่ง คนต่างด้าวจากนายหนูเรียง ตกลงค่าจ้างไว้เป็นจำนวน 18,000 บาท ให้ไปส่งคนต่างด้าวจำนวน 6 คน จากต้นทาง อ.เชียงม่วน จว.พะเยา ปลายทางบริเวณชายแดนบ้านแหลม อ.โป่งน้ำร้อน จว.จันทบุรี และจะได้รับค่าจ้างหลังจากส่งตัวคนต่างด้าวที่ปลายทางแล้ว โดยใช้แอพพลิเคชั่น Zello และ Line พูดคุยติดต่อกับนายหนูเรียง เพื่อนัดแนะถึงรายละเอียดในการ รับ-ส่ง คนต่างด้าวรวมถึงค่าตอบแทนจากนายหนูเรียง จึงได้ทำการสืบสวนขยายผลพบว่านายหนูเรียง มีพฤติกรรมในการลักลอบรับ-ส่ง คนต่างด้าวไปทั่วราชอาณาจักร และได้ลักลอบขนส่งคนต่างด้าวไปยังพื้นที่ภาคใต้ นอกจากนี้ยังพบว่านายหนูเรียงเป็นบุคคลตามหมายจับของศาลจังหวัดทุ่งสง ในข้อหา “ให้ที่พัก ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ แก่คนต่างด้าวที่เข้าเมืองมา โดยผิดกฎหมาย เพื่อให้พ้นจากการจับกุม” จำนวน 1 หมาย ตม.จว.น่าน จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานส่งพนักงานสอบสวน สภ.เวียงสา จว.น่าน

เพื่อขออนุมัติศาลจังหวัดน่าน ออกหมายจับ นายหนูเรียงฯ ในข้อหา “ร่วมกันกระทำความผิด (ผู้ใช้) รู้ว่าคนต่างด้าวคนใดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ให้เข้าพักอาศัย ช่อนเร้น หรือช่วย ด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม" ต่อมาจากการสืบสวนทราบว่านายหนูเรียง ได้หลบหนีคดีไปพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ หมู่ 9 ต.รัตนบุรี อ.รัตนบุรี จว.สุรินทร์ จึงได้ไปประสานงานกับ ตม.จว.สุรินทร์ เข้าตรวจสอบและจับกุม นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.เวียงสา จว.น่าน ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

‘โค้ชเป้’ พูดกับ ‘วิว กุลวุฒิ’ ระหว่างแข่งรอบชิงฯ แบดโอลิมปิก 2024

(6 ส.ค.67) ความเคลื่อนไหวหลังจากที่ ‘วิว กุลวุฒิ วิทิตศานต์’ นักแบดมินตันทีมชาติไทย แพ้ ‘วิคเตอร์ แอ็กเซลเซน’ จากเดนมาร์ก ไป 0-2 เกม 11-21 และ 11-21 ในศึกแบดมินตันโอลิมปิก 2024 ประเภทชายเดี่ยว รอบชิงชนะเลิศ คว้าเหรียญเงินมาครอง

ทั้งนี้ โลกออนไลน์ มีการแชร์คลิป ‘โค้ชเป้’ ภัททพล เงินศรีสุข ผู้ฝึกสอนของ กุลวุฒิ พูดให้กำลังใจกับ เจ้าวิว ระหว่างแข่งขัน โดยที่ไม่ได้กดดันนักกีฬาแม้แต่น้อย ทำให้ได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก

“พี่บอกแล้วไง เอ็งจะหาประสบการณ์อย่างนี้ไม่ได้แล้ว เอ็งจะแพ้ชนะไม่เป็นไร เอ็งเอาความรู้ ความรู้สึก วิธีคิดวิธีเล่นเอาไปใช้ เรียนรู้จากเขา เขาคือสุดยอด”

ทั้งนี้ จากผลการแข่งขันดังกล่าวทำให้ วิว กุลวุฒิ สร้างประวัติศาสตร์ เป็นนักแบดมินตันไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่ได้เหรียญจากโอลิมปิกเกมส์ในระดับเหรียญเงินอีกด้วย

สตม.จับกุมนายหน้าผู้ประสานงานขบวนการขนคนต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

ตม.จว.ชุมพร ร่วมกับ กก.ปอพ.บก.สส.สตม. จับกุมนายฮาวาย (สงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี สัญชาติไทย ตามหมายจับศาลจังหวัดชุมพร ที่ จ.247/2567 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน "ร่วมกันให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใดๆ แก่คนต่างด้าวซึ่งรู้ว่าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อให้พ้นจากการจับกุม" นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.สลุย จว.ชุมพร ดำเนินคดีตามกฎหมาย สถานที่จับกุม ริมถนนเทศบาล 4 ต.ระแหง อ.ลาดหลุมแก้ว จว.ปทุมธานี

ตามที่เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 เวลาประมาณ 06.30 น. ได้เกิดอุบัติเหตุรถกระบะ (ตู้ทึบ) ขนคนต่างด้าวชาวเมียนมาพลิกคว่ำบริเวณ ต.สลุย อ.ท่าแซะ จว.ชุมพร ที่เกิดเหตุพบคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจำนวน 18 คน (ได้รับบาดเจ็บ) ซึ่งสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 1 คน คือ นายสิทธิศักดิ์ หรือบาส (สงวนนามสกุล) อายุ 20 ปี ส่ง สภ.สลุย จ.ชุมพร ดำเนินคดีตามกฎหมาย นั้น
ต่อมา ตม.จว.ชุมพร ร่วมกับ กก.สส.บก.ตม.6 และ บก.สส.สตม. ได้ทำการสืบสวนขยายผลพบว่า ผู้ต้องหาได้รับการว่าจ้างให้ไปรับคนต่างด้าวชาวเมียนมา ที่ ต.ปากแพรก อ.เมือง จว.กาญจนบุรี เพื่อไปส่งยัง อ.หาดใหญ่ จว.สงขลา โดยในครั้งนี้มีรถที่ไปรับคนต่างด้าวด้วยกันอีก 1 คัน คือ นายธีรพงษ์ (ได้ออกหมายจับดำเนินคดีไปแล้ว) จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า นายธีรพงษ์ ได้รับโอนเงินค่าน้ำมันมาจากนายฮาวาย จึงได้สืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลออกหมายจับนายฮาวาย และจับกุมตัวนายฮาวายได้ในพื้นที่ จว.ปทุมธานี จากการขยายผล พบว่า นายฮาวาย ได้รับการประสานจากนายหน้าในพื้นที่ จว.กาญจนบุรี โดยนายฮาวาย ทำหน้าที่เป็นนายหน้าจัดหา  รถขนคนต่างด้าว จากพื้นที่ภาคกลางไปยังพื้นที่ภาคใต้ ร่วมกับนายอนุรักษ์ หรือบอย โดยจะได้ส่วนต่างจากการติดต่อจัดหารถหัวละ 1,000 บาท ซึ่งมีคดีที่พบความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับนายฮาวาย และนายอนุรักษ์ อีก 3 คดี ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง, ตม.จว.พัทลุง และ สภ.นาขยาด ร่วมกันจับกุมนายอนุรักษ์ และ น.ส.เพ็ญ (ภรรยา) พร้อมพวกรวม 6 คน พร้อมชาวเมียนมาหลบหนีเข้าเมือง 58 คน ตรวจยึดรถกระบะ (รั้วคอก 3 คัน) จากการขยายผลพบว่านายอนุรักษ์ได้รับการติดต่อว่าจ้างมาจากนายหน้า ในพื้นที่ จว.สมุทรสาคร ให้รับคนต่างด้าวในพื้นที่ จว.สมุทรสาคร ไปยัง จว.สงขลา โดยนายอนุรักษ์ได้รับงานขนคนต่างด้าว จากนายหน้ารายนี้มาแล้วหลายครั้ง (ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิสูจน์ทราบตัวบุคคล)
2. เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง, ตม.จว.สุราษฎร์ธานี, สภ.ท่าฉาง ร่วมกันจับกุม นายวีระพล พร้อมชาวเมียนมาหลบหนีเข้าเมือง 15 คน และรถกระบะรั้วคอก 1 คัน เมื่อสืบสวนขยายผลพบว่านายวีระพล/ผู้ต้องหา ได้รับการติดต่อว่าจ้างมาจากนายอนุรักษ์ ให้รับคนต่างด้าวในพื้นที่ จว.สมุทรสาคร ไปยัง จว.สงขลา ในราคา 15,000 บาท ซึ่งผู้ต้องหาเคยติดต่อรับงานเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง เมื่องานสำเร็จจะได้รับเงินโอนค่าจ้างจากนายอนุรักษ์ โดยพบพยานหลักฐานต่าง ๆ ระหว่างผู้ต้องหากับนายอนุรักษ์ และนายหน้าในพื้นที่ จว.สมุทรสาคร ต่อมาศาลจังหวัด   ไชยา อนุมัติหมายจับนายอนุรักษ์ เจ้าหน้าที่สืบสวนติดตามจับกุมตัวได้เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2567 ในความผิดฐาน “ช่วยเหลือซ่อนเร้นฯ คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายให้พ้นการจับกุม”
3. เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2567 (วันเดียวกับคดีที่ สภ.ท่าฉาง) เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง, ตม.จว.นครศรีธรรมราช, สภ.ทุ่งสง ร่วมกันจับกุมนายอัสดา และภรรยา พร้อมชาวเมียนมาหลบหนีเข้าเมือง 11 คน ตรวจยึดระกระบะตู้ทึบ 1 คัน เมื่อสืบสวนขยายผลพบว่านายอัสดา/ผู้ต้องหา ได้รับการติดต่อว่าจ้างมาจากนายอนุรักษ์ ให้รับคนต่างด้าวในพื้นที่ จว.สมุทรสาคร ไปยัง จว.สงขลา ในราคา 15,000 บาท ซึ่งผู้ต้องหาเคยติดต่อรับงานเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง เมื่องานสำเร็จจะได้รับเงินค่าจ้าง นอกจากนี้ยังพบพยานหลักฐานต่าง ๆ ระหว่างผู้ต้องหากับนายอนุรักษ์ และนายวีระพล ผู้ต้องหาในคดีที่ 3 ขณะนี้อยู่ในระหว่างพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้ร่วมกระทำความผิดเพิ่มเติมในคดีนี้

จากการวิเคราะห์แผนประทุษกรรมในกลุ่มเครือข่ายนายอนุรักษ์ พบว่า กลุ่มเครือข่ายดังกล่าวมีความเคลื่อนไหว มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 จนถึงปัจจุบัน โดยนายอนุรักษ์ และนางเพ็ญ (ภรรยา) เป็นผู้ประสานงานกับนายหน้าชาวเมียนในพื้นที่ จว.สมุทรสาคร และ นายฮาวาย ผู้ทำหน้าที่ประสานงานในพื้นที่ภาคกลาง โดยจะเป็นตัวกลางในการประสานงานทีมขนจาก จว.กาญจนบุรี หรือ จว.สมุทรสาคร มายังพื้นที่ จว.สงขลา ซึ่งนายอนุรักษ์จะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมขน และจะได้รับค่าตอบแทนหัวละ 3,500 บาท ซึ่งจะประสานงานกับกลุ่มรถขนจาก จว.สงขลา ไปยัง จว.นราธิวาส เพื่อลักลอบข้ามไปยังประเทศมาเลเซีย โดยพบความเชื่อมโยงกับเครือข่ายของนายซัฟยัน และกลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมดำเนินคดีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

สรุปผลการปฏิบัติ พบการกระทำความผิดในเครือข่ายของนายอนุรักษ์ทั้งสิ้น 4 คดี จับกุมผู้ต้องหา 12 คนขยายผลออกหมายจับ 3 คน (จับกุมทั้งหมด) จำนวนคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 102 คน ยึดยานพาหนะ 6 คัน จากการสืบสวนขยายผลยังพบว่าเครือข่ายนายอนุรักษ์ มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายที่ สตม. ร่วมกับ บก.ทล., บก.ปคม. ภ.7, 8, 9 และหน่วยงานความมั่นคง ร่วมกันสืบสวนขยายผลการลักลอบขนคนต่างด้าวที่ใช้เส้นทางด้าน อ.สังขละบุรี จว.กาญจนบุรี ได้แก่ เครือข่ายนายวิทยา จับกุมเมื่อวันที่ 5 เม.ย.2566 พื้นที่ สภ.เมืองกาญจนบุรี, เครือข่ายซูก้า-นิตาเว จับกุมเมื่อวันที่ 4 เม.ย.2566 พื้นที่ สภ.ทุ่งตะโก จว.ชุมพร และเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2566 พื้นที่ สภ.ทองผาภูมิ จว.กาญจนบุรี, เครือข่ายวุธ แม่กลอง จับกุมเมื่อวันที่ 7, 25 มิ.ย.2566 พื้นที่ สภ.รัตภูมิ จ.สงขลา และเครือข่ายลักลอบขนคนต่างด้าวที่ใช้เส้นทางผ่าน จว.ตาก ได้แก่ เครือข่ายซูซูมา จับกุมเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2566 พื้นที่  สภ.บางกล่ำ จ.สงขลา

โดยความเชื่อมโยงกับกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ มีการกระทำความผิดในลักษณะขบวนการ ที่มีการแบ่งหน้าที่กันทำ (นายหน้าประสานงานแนวชายแดน/นายหน้าประสานงานพื้นที่ชั้นใน จว.กาญจนบุรี-ปทุมธานี-สมุทรสาคร-สงขลา-จชต. (จัดหารถ)/ผู้ดูแลจุดพักคอย/หัวหน้าทีมขน-ทีมขน (ตอนบน/ตอนล่าง) ซึ่ง สตม. ได้ร่วมกับ ภ.7,8,9, บช.ก. เฝ้าระวังกลุ่มขบวนการดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จนนำมาสู่การจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาของในเครือข่ายนายอนุรักษ์ ซึ่งชุดสืบสวน สตม. จะได้ดำเนินการขยายผลเพื่อนำผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีต่อไป สตม. ขอเรียนให้ท่านทราบว่า สตม. มีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามการกระทำความผิดในด้านต่าง ๆ รวมถึงการเฝ้าระวังบุคคลทั้งสัญชาติไทยและสัญชาติอื่น ๆ ที่มีหมายจับ และการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระชนมพรรษา 60 พรรษา เลขที่ 904 หมู่ที่ 6 ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จว.นนทบุรี 11120 หรือติดต่อตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดในพื้นที่ หรือที่ www.immigration.go.th จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง

สตม.ตามรวบบังหยันหัวโจกขนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองข้ามชาติ

ตม.จว.สงขลา ร่วมกับ ตม.จว.ปัตตานี จับกุมนายซัฟยัน หรือบังหยัน (สงวนนามสกุล) อายุ 24 ปี สัญชาติไทย ตามหมายจับศาลจังหวัดสงขลา ที่ จ.455/2567 ลงวันที่ 5 ก.ค.2567 ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน "ช่วยเหลือซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ พ้นจากการจับกุม" นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.รัตภูมิ จว.สงขลา ดำเนินคดีตามกฎหมาย สถานที่จับกุม บริเวณหมู่บ้านปาแดลางา ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จว.ปัตตานี

สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน ตม.จว.สงขลา จับกุมแรงงานต่างด้าวสัญชาติบังกลาเทศหลบหนีเข้าเมือง 19 คน พร้อมผู้ให้การช่วยเหลือ 2 คน เหตุเกิดที่ถนนสายเอเชียหมายเลข 2 ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จว.สงขลา หลังจากนั้นได้ขยายผลการจับกุมพบว่านายซัฟยันหรือบังหยันผู้อยู่เบื้องหลังในการกระทำความผิดครั้งนี้ จึงรวบรวมพยานหลักฐานจนกระทั่งศาลจังหวัดสงขลาออกหมายจับในความผิดฐาน ร่วมกันให้ที่พักพิง ให้การช่วยเหลือคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาผิดกฎหมายเพื่อให้พ้นจากการจับกุมของพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมาสืบทราบว่านายซัฟยันฯ มาหลบอยู่ที่บ้านพักในเขต อ.หนองจิก จว.ปัตตานี จึงประสาน ตม.จว.ปัตตานี บูรณาการกำลังร่วมกับ ชุดสืบสวน บก.สส.จชต. และ สภ.หนองจิก ไปร่วมตรวจสอบและจับกุมได้ที่บ้านหลังดังกล่าว
สำหรับนายซัฟยันฯ หรือบังหยัน ถือเป็นกลไกสำคัญระดับสั่งการในการลำเลียงแรงงานต่างด้าวสัญชาติบังกลาเทศจากประเทศกัมพูชาผิดกฎหมายผ่านประเทศไทยไปยังประเทศมาเลเซียทางช่องทางธรรมชาติ มีหมายจับจากการกระทำความผิดข้างต้นติดตัวจำนวน 2 หมายจับ จะทำหน้าที่สั่งการประสานงานกับนายหน้าประเทศเพื่อนบ้านเพื่อจัดหารถขนแรงงานต่างด้าวครั้งละ 15-20 คน จากพื้นที่ตอนบนมายังภาคใต้ตลอดเส้นทางจนถึงมือนายจ้างที่ต้องการใช้แรงงานผิดกฎหมายในประเทศมาเลเซีย เจ้าหน้าที่จึงใช้เวลารวบรวมพยานหลักฐานหลายเดือนถึงจะพิสูจน์ทราบตัวบุคคลได้ นอกจากนี้ยังพบว่าเครือข่ายนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนำพาคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเคยจับกุมมาแล้ว 3 คดี ในการทลายเครือข่ายครั้งนี้ถือเป็นการตัดวงจรสำคัญในการขนแรงงานผ่านประเทศไทย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางได้ถึง 62 คน เป็นคนไทย 10 คน คนต่างด้าว 52 คน ตรวจยึดยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดได้ 8 คัน หลังจากนี้จะควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรรัตภูมิเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

2. สตม.ตามรวบบังหยันหัวโจกขนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองข้ามชาติ
ตม.จว.สงขลา ร่วมกับ ตม.จว.ปัตตานี จับกุมนายซัฟยัน หรือบังหยัน (สงวนนามสกุล) อายุ 24 ปี สัญชาติไทย ตามหมายจับศาลจังหวัดสงขลา ที่ จ.455/2567 ลงวันที่ 5 ก.ค.2567 ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน "ช่วยเหลือซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ พ้นจากการจับกุม" นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.รัตภูมิ จว.สงขลา ดำเนินคดีตามกฎหมาย สถานที่จับกุม บริเวณหมู่บ้านปาแดลางา ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จว.ปัตตานี สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน ตม.จว.สงขลา จับกุมแรงงานต่างด้าวสัญชาติบังกลาเทศหลบหนีเข้าเมือง 19 คน พร้อมผู้ให้การช่วยเหลือ 2 คน เหตุเกิดที่ถนนสายเอเชียหมายเลข 2 ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จว.สงขลา หลังจากนั้นได้ขยายผลการจับกุมพบว่านายซัฟยันหรือบังหยันผู้อยู่เบื้องหลังในการกระทำความผิดครั้งนี้ จึงรวบรวมพยานหลักฐานจนกระทั่งศาลจังหวัดสงขลาออกหมายจับในความผิดฐาน ร่วมกันให้ที่พักพิง ให้การช่วยเหลือคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาผิดกฎหมายเพื่อให้พ้นจากการจับกุมของพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมาสืบทราบว่า นายซัฟยันฯ มาหลบอยู่ที่บ้านพักในเขต อ.หนองจิก จว.ปัตตานี จึงประสาน ตม.จว.ปัตตานี บูรณาการกำลังร่วมกับ ชุดสืบสวน บก.สส.จชต. และ สภ.หนองจิก ไปร่วมตรวจสอบและจับกุมได้ที่บ้านหลังดังกล่าว

สำหรับนายซัฟยันฯ หรือบังหยัน ถือเป็นกลไกสำคัญระดับสั่งการในการลำเลียงแรงงานต่างด้าวสัญชาติบังกลาเทศจากประเทศกัมพูชาผิดกฎหมายผ่านประเทศไทยไปยังประเทศมาเลเซียทางช่องทางธรรมชาติ มีหมายจับจากการกระทำความผิดข้างต้นติดตัวจำนวน 2 หมายจับ จะทำหน้าที่สั่งการประสานงานกับนายหน้าประเทศเพื่อนบ้านเพื่อจัดหารถขนแรงงานต่างด้าวครั้งละ 15-20 คน จากพื้นที่ตอนบนมายังภาคใต้ตลอดเส้นทางจนถึงมือนายจ้าง ที่ต้องการใช้แรงงานผิดกฎหมายในประเทศมาเลเซีย เจ้าหน้าที่จึงใช้เวลารวบรวมพยานหลักฐานหลายเดือนถึงจะพิสูจน์ทราบตัวบุคคลได้ นอกจากนี้ยังพบว่าเครือข่ายนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนำพาคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเคยจับกุมมาแล้ว 3 คดี  ในการทลายเครือข่ายครั้งนี้ถือเป็นการตัดวงจรสำคัญในการขนแรงงานผ่านประเทศไทย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางได้ถึง 62 คน เป็นคนไทย 10 คน คนต่างด้าว 52 คน ตรวจยึดยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดได้ 8 คัน หลังจากนี้จะควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรรัตภูมิเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ผนึก CEO คิงส์ แพ็ค อินดัสเตรียล มอบทุนการศึกษา แก่เยาวชนพิจิตร

เมื่อวานนี้ (5 ส.ค.67) เวลา 13.00 น. นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ลงพื้นที่มอบทุนการศึกษาให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมตามโครงการ เพิ่มทักษะด้านอาชีพ แก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยเป็นโครงการที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนโครงการ ฯ เพื่อเป็นการฝึกทักษะด้านอาชีพให้เป็นแรงงานมีฝีมือเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน  โดยมีนางสาวน้อยหน่า บางสีองค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพิจิตร ให้การต้อนรับและได้รับเกียรติจากนายสิงหราช วงษ์เสงี่ยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ร่วมในพิธีในครั้งนี้

นางเธียรรัตน์ กล่าวว่า ในนามมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ รู้สึกยินดีและขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่นายทวี จุลศักดิ์ศรีสกุล ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท คิงส์แพ็ค อินดัสเตรียล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ถุงพลาสติกชนิดอ่อนแบรนด์ “ฮีโร่” ได้เห็นความสำคัญของการฝึกอาชีพของเยาวชนไทย โดยได้มอบทุนการศึกษา ทุนละ 6,000 บาท จำนวน 5 ทุน รวมเป็นเงิน 30,000 บาท ให้กับเยาวชนที่ผ่านการฝึกอบรมตามโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพ แก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 5 คนประกอบด้วย ผู้ที่ได้รับทุนสาขาช่างเชื่อมอารค์โลหะด้วยมือ 3 คน คือ นายวุฒิชัย ใจเอื้อ อายุ 21ปี นายพิพัฒน์ โก่งสอน อายุ 19ปี  นายวุฒิพงศ์ เพ็ชรอำไพ อายุ 19 ปี และผู้ที่ได้รับทุนสาขาช่างตรวจเช็คระยะรถยนต์ 2 คน คือ นายวุฒิคุณ อุกา อายุ 22ปี นายพีรพัฒน์ เมินไธสง อายุ 17 ปี

นางเธียรรัตน์ กล่าวต่อว่า เยาวชนทั้ง 5 คน มีฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจน แต่มีความตั้งใจที่จะฝึกทักษะฝีมือ เพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพ เลี้ยงตนเองและครอบครัวโดยกิจกรรมในวันนี้ได้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมูลนิธิในด้านการสร้างสาธารณประโยชน์ต่อชุมชน  ซึ่งเยาวชนเหล่านี้จะเติบโตและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

FDI 101 เปิดอีกด้าน!! เงินลงทุนจากต่างประเทศใน 'จีน-อาเซียน' ตัวเลขสะสมจีนยังใหญ่กว่าอาเซียน 20 เท่า ส่วน ศก.ใหญ่กว่า 5 เท่า

(5 ส.ค. 67) จากเฟซบุ๊ก 'Sompob Pordi' ของ นายสมภพ พอดี นิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ 'FDI 101' ระบุว่า...

FDI ย่อมาจาก Foreign Direct Investment ซึ่งคือ เงินลงทุนจากต่างประเทศในภาคเศรษฐกิจจริง เช่น สร้างโรงกลั่นนํ้ามัน โรงไฟฟ้า โรงงานอาหารกระป๋อง ฯลฯ

ถ้าบังเอิญไปเห็นข้อความในภาพปลากรอบ (https://www.facebook.com/share/p/Kb79wYUJj1FeA7AT/?mibextid=oFDknk) ที่ปั่นให้คนอ่านเข้าใจผิดว่า 'เศรษฐกิจจีนแย่แล้ว' ไม่มีใครสนใจหอบเงินไปลงทุนแล้ว จากตรงนี้ไปคือข้อเท็จจริงครับ

เป็นความจริงที่ ในปี 2022 กับ 2023 FDI ของอาเซียนพุ่งกระฉูดเป็น $229 bn ในขณะที่ของจีนลดลงจากที่พีคในปี 2021 ที่ $344 bn เหลือ $100+ ใน 2022 กะ 2023

แต่ถ้าเราเอาตัวเลข FDI สะสมของจีน กะ อาเซียน มาวางเทียบกัน จะตื่นตาตื่นใจเพราะ ตัวเลขของจีนใหญ่กว่าอาเซียนกว่า 20 เท่า 

ส่วนที่ว่าจะเติบโตนำจีนใน 10 ปี ผมไม่รู้จริงว่าเขาหมายถึงอะไร เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจจีนใหญ่กว่าอาเซียนเกือบ 5 เท่า คาดว่าเขาฝันไปมากกว่า

สิ่งที่ภาพปลากรอบบอกเรา ไม่ได้แปลกอะไรเพราะ...

1. ตอนนี้จีนมีทุนของตัวเองมากมหาศาลแล้ว ไม่ได้พยายามดึงเอา FDI เข้าประเทศ แถมตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีเรียบ ไม่เหลืออะไรแล้ว

2. จีนถูกฝรั่งควํ่าบาตร/กีดกันทางการค้าสารพัด แล้วทุนข้ามชาติที่ไหนจะขนเงินเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานโน่นนี่อย่างในอดีต

ถ้าผมเป็นสื่อเพื่อแสวงหากำไร ผมคงหากินกับคนโง่เหมือนกันเพราะง่ายดี 

แต่คงไม่สนุกเพราะจะทำให้ผมโง่ลง ๆ ทุกวัน 5555

‘อนุทิน’ แจง เหตุปล่อยน้ำ ‘เขื่อนขุนด่านปราการชล’ กะทันหัน ยัน!! ไม่ถึงขั้นภัยพิบัติ ส่วนผู้ว่าทุกจังหวัดมีแผนรองรับอุทกภัยอยู่แล้ว

(5 ส.ค. 67) ที่กรมชลประทานนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำในเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก อย่างกะทันหัน ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างกำลังดำเนินการ โดยสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่ถือเป็นภัยพิบัติ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบก็ลดลง

เมื่อถามว่าหลังจากนี้จะมีการกำชับอย่างไรเนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝน โดยเฉพาะเรื่องการเตือนภัยประชาชน นายอนุทิน กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกคนก็ต้องตื่นตัวตลอดเวลา ซึ่งสถานการณ์ที่จังหวัดนครนายก เมื่อคืนวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมาน้ำมาตอนกลางคืน และมีฝนตกฉับพลัน ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ขอให้ไปฟังรายงานที่กระทรวงก่อน

เมื่อถามต่อว่าจะต้องกำชับไปในพื้นที่เสี่ยงภัยหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า จริง ๆ แล้วไม่ต้องกำชับ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติในช่วงเวลานี้อยู่แล้ว

เมื่อถามถึงกรณีที่เกิดขึ้นเป็นการปล่อยน้ำแบบฉุกเฉิน โดยไม่แจ้งคนที่อยู่ท้ายเขื่อนจะต้องกำชับอะไรหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ยัง ไม่ได้เป็นแบบที่ผู้สื่อข่าวถาม ซึ่งหลังจากนี้จะนำไปประเมิน ซึ่งเมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้ก็ต้องดำเนินการตามแผน อาจมีอะไรที่นอกเหนือแผนบ้าง ซึ่งตรงนี้อาจต้องตัดสินใจแบบเร่งด่วน ดังนั้นต้องไปดูว่าอะไรที่ตัดสินใจกะทันหันแล้วมันดีหรือไม่ดี แต่ตนเองขอความเห็นใจว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดทุกคนต้องมีแผนรองรับอุทกภัยอยู่แล้ว ไม่ต้องไปบอกหรือกำชับ เขาต้องเตรียมแผนอยู่แล้ว

‘ผู้พัฒนาแอปฯ ทางรัฐ’ ชี้!! แอปฯ ปลอดภัย-รักษาข้อมูลส่วนบุคคล ยืนยัน!! ใช้มาตรฐานระดับโลก-ตรวจเฝ้าระบบตลอด 24 ชั่วโมง

(5 ส.ค. 67) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA แจ้งว่า แอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ เป็นแอปพลิเคชันของภาครัฐที่พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชนที่มีการเชื่อมข้อมูล และบริการจากส่วนราชการต่าง ๆ มาไว้ในที่เดียวกัน เพื่อให้ประชาชนในทุกช่วงวัยสามารถใช้บริการออนไลน์ของภาครัฐได้ในแอปฯ เดียวอย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย โปร่งใส และตรวจสอบได้ รวมถึงเป็นช่องทางในการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet

ดังนั้น การที่ประชาชนจะเข้าใช้งานแอปฯ ทางรัฐ จำเป็นต้องมีการพิสูจน์ว่าผู้ที่กำลังจะเข้าใช้งานแอปฯ ทางรัฐ เป็นประชาชนตัวจริงหรือไม่ โดยการให้ประชาชนผู้นั้นถ่ายภาพใบหน้า และภาพบัตรประจำตัวประชาชนของตนเอง เพื่อเอาไปเปรียบเทียบกับภาพใบหน้าและข้อมูลบัตรประชาชนของประชาชนผู้นั้นที่มีอยู่ในระบบของภาครัฐว่าตรงกันหรือไม่ หรือที่เรียกว่าการทำ KYC (Know Your Customer) เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นเข้าถึงข้อมูลของประชาชนผู้นั้น หรือสวมสิทธิ์ ซึ่งเป็นมาตรการการป้องกันและรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือแบบเดียวกับที่ธนาคารในประเทศไทยใช้ (IAL 2.3) ตามประกาศของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ในปัจจุบัน แอปฯ ทางรัฐเป็นเพียงช่องทางในการเชื่อมโยงข้อมูลและบริการจากหน่วยงานต้นทางโดยไม่ได้เก็บข้อมูลประชาชนจากหน่วยงานต้นทางมาไว้ที่แอปฯ ทางรัฐแต่อย่างใด และข้อมูลส่วนบุคคลที่แสดงในแอปฯ ทางรัฐสามารถเข้าถึงได้เฉพาะเจ้าของข้อมูล และผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูลเท่านั้น

นอกจากนี้ แอปฯ ทางรัฐมีมาตรการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบและข้อมูลต่าง ๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ และพัฒนาระบบที่มีการเข้ารหัสข้อมูลและใช้เทคโนโลยีการยืนยันตัวตนที่ทันสมัยโดยทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ร่วมกับทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาระบบที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก โดยเน้นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลและระบบเป็นหลัก มีการตรวจสอบและทดสอบระบบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทดสอบเจาะระบบและแก้ไขช่องโหว่ต่าง ๆ ทั้งก่อนให้บริการและระหว่างการให้บริการเพื่อป้องกันการแฮกและการเข้าถึงข้อมูลและบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังมีการใช้เทคโนโลยีป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ในระดับสูง (State-of-the-Art Cybersecurity Protection)

ตลอดจนการบริหารจัดการและจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลภายใต้แนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กำหนด และเป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 รวมถึงตามมาตรฐานที่ DGA ได้รับการรับรอง เช่น ISO 27001 (Security Management) เป็นต้น

นอกจากนี้แอปฯ ทางรัฐยังให้บริการอยู่ในระบบที่มีความน่าเชื่อถือ มีเสถียรภาพ อีกทั้งยังมีการตั้ง war room เฝ้าระวังระบบและภัยคุกคามทางไซเบอร์ด้วยทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญของ DGA ร่วมกับ สกมช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตลอด 24 ชั่วโมง

โดยสามารถพิสูจน์ได้จากวันแรกที่เปิดรับลงทะเบียนโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet ซึ่งมีผู้ไม่ประสงค์ดีพยายามโจมตีระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างหนัก ตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่เปิดรับลงทะเบียน โดยเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนกดเข้าใช้งานแอปฯ ทางรัฐเป็นจำนวนมหาศาลเช่นเดียวกัน แต่แอปฯ ทางรัฐก็ยังสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถรองรับการลงทะเบียนฯ ได้ถึง 18.8 ล้านคนภายใน 24 ชั่วโมงโดยระบบไม่ล่มและไม่มีปัญหาเรื่องข้อมูลรั่วไหล

สำหรับประเด็นข้อสงสัยที่ว่า แอปทางรัฐเป็นระบบเปิดที่เชื่อมต่อไปถึงบัญชีธนาคารของทุกคนหรือไม่นั้น ในปัจจุบัน แอปทางรัฐ ยังไม่มีการเชื่อมกับบัญชีธนาคารและไม่มีการเก็บข้อมูลบัญชีธนาคารของประชาชนแต่อย่างใด

ทั้งนี้แอปฯ ทางรัฐ อนุญาตให้หน่วยงานของรัฐเชื่อมโยงข้อมูลและบริการของตนเข้าสู่แอปพลิเคชันทางรัฐเท่านั้น ภายใต้วิธีการเชื่อมต่อที่มีการควบคุมกำกับดูแล และมีความมั่นคงปลอดภัยสูง โดยไม่ได้เปิดให้บุคคลทั่วไป หรือภาคเอกชน หรือธนาคารเชื่อมโยงข้อมูลบัญชีและระบบบริการกับแอปฯ ทางรัฐแต่อย่างใด ซึ่งแอปฯ ของธนาคาร และผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet ต้องเชื่อมโยงและรับส่งข้อมูลกับแพลตฟอร์มการชําระเงินกลาง (Payment Platform) ของภาครัฐเพื่อรองรับการชำระเงินซึ่งเป็นคนละระบบกับแอปฯ ทางรัฐ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top