Wednesday, 23 April 2025
POLITICS NEWS

ย้อนอดีต ‘พรรคประชาชน’ กับ ‘กลุ่ม 10 มกราฯ’ ในพรรคประชาธิปัตย์ คนอกหักทางการเมือง ที่ไม่มีใครเห็นหัว สุดท้ายก็ยุบตัว ในสถานการณ์ที่ร่อแร่

(10 ส.ค.67) เมื่อคณะอดีตพรรคก้าวไกลที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 10 ปี ได้อพยพกันไปอยู่พรรคใหม่ “ถิ่นกาขาวชาววิไล และเปลี่ยน ชื่อพรรคมาเป็น 'พรรคประชาชน'

ถามว่าพรรคประชาชนเคยมีตัวตนอยู่จริงไหม คนรุ่น 50-60 ขึ้นไปจะตอบได้ว่า “มี” อันก่อกำเนิดมาจากกลุ่ม 10 มกราฯในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นกลุ่มอกหักทางการเมือง ถูกถีบส่งออกมา มี 'เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์-วีระ มุสิกพงศ์' เป็นแกนนำหลัก ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ มาตั้งพรรคใหม่ ใช้ชื่อว่า 'พรรคประชาชน' ใช้คำขวัญพรรคว่า 'ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน'

พรรคประชาชนมีชื่อเดิมว่าพรรครักไทย จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2526 ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 พรรครักไทยได้เปลี่ยนแปลงชื่อพรรคเป็น พรรคประชาชน

คณะพรรคประชาชนมาเปิดที่ทำการพรรคอยู่ริมคลองประปา ตั้งอยู่ข้ามกระทรวงการคลัง ไม่ไกลจากที่ทำการของพรรคประชาธิปัตย์มากนัก ถ้าเป็นต่างจังหวัดพูดได้ว่า ตะโกนกันได้ยิน

กลุ่ม 10 มกราฯก่อตัวมาจากความขัดแย้งในการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล ในยุคที่ 'พิชัย รัตตกุล' เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีดร.พิจิตต รัตตกุล ลูกชายได้รับการคัดเลือกให้เป็นรัฐมนตรี ในขณะที่สายของ 'เฉลิมพันธ์-วีระ' ถูกมองข้าม แม้กระทั่งในกลุ่มวาดะห์ ก็ไม่มีใครเห็นหัว ไม่มีตำแหน่งใด ๆ

ความขัดแย้งขยายผลมาถึงการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ แบ่งเป็นสองทีมลงแข่งขันกันชัดเจน สายของ 'เฉลิมพันธ์-วีระ' พ่ายแพ้ศึกชิงหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค

กลุ่มของ 'เฉลิมพันธ์-วีระ' ถูกเฉดหัวออกมาอย่างไม่มีปรานีปราศรัย ตัดญาติขาดมิตรต่อกัน กลุ่มก้อนการเมืองสายนี้จึงก่อเกิดเป็น 'พรรคประชาชน'

พรรคประชาชนยุคเปลี่ยนผ่านจึงมีหัวหน้าชื่อเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เลขาธิการชื่อวีระ มุสิกพงศ์ คำขวัญ ของพรรคประชาชน คือโดยประชาชน เพื่อประชาชน

สถานการณ์ทางการเมือง ทำให้พรรคประชาชนไปยุบรวมกับพรรคการเมือง อื่นๆอีก 4 พรรค เช่นพรรคกิจประชาคม พรรคก้าวหน้า เป็นต้น ก่อกำเนิดเป็น 'พรรคเอกภาพ' 

แกนนำของพรรคประชาชนในยุคนั้นนอกจากเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เป็นหัวหน้าพรรค และวีระ มุสิกพงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค ยังมีแกนนำคนสำคัญ อาทิ เดโช สวนานนท์ ไกรสร ตันติพงศ์ เลิศ หงษ์ภักดี อนันต์ ฉายแสง สุรใจ ศิรินุพงศ์ ถวิล ไพรสณฑ์ พีรพันธุ์ พาลุสุขสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ กริช กงเพชร กลุ่มวาดะห์ในสามจังหวัดชายแดนใต้

เลือกตั้งครั้งแรก ปี 2532 พรรคประชาชนกวาดที่นั่งในสภามาร่วม 40 ที่นั่งในสถานการณ์ที่พรรคร่อแร่ 'วีระ มุสิกพงศ์' เลขาธิการพรรคติดคุกในช่วงหาเสียงเลือกตั้งคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถวิล ไพรสณฑ์ ขึ้นมารักษาการเลขาธิการพรรคแทน

มาถึงวันนี้อดีตคนพรรคก้าวไกลตัดสินใจใช้ชื่อ 'พรรคประชาชน' อีกครั้งกับโฉมใหม่ โลโก้เป็นไป คำขวัญเป็นไป จุดยืนทางการเมืองที่ไม่เหมือนกัน มีเป้าหมายชัดเจนว่า เลือกตั้งปี 70 ต้องได้เกินครึ่งของสภา จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว

ติดตามกันต่อไปครับว่า พรรคประชาชนอันมีรากเหง้ามาจากพรรคก้าวไกล จะเดินไปบรรลุเป้าหมายหรือไม่ หรือเป็นฝ่ายค้านต่อไป ไม่มีใครร่วมด้วย (ถ้าได้ไม่ถึงครึ่ง)

‘ประชาชน’ หวั่นนำคำว่า ‘ประชาชน’ ไปแอบอ้าง ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ ร่วมเคลื่อนไหวในโซเชียลฯ แชร์ข้อความ ย้ำ!! จุดยืน ไม่ร่วมล้มล้างการปกครอง

(10 ส.ค.67) จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคก้าวไกล ทำให้สส.จำนวน 143 คนของพรรคก้าวไกล ย้ายสังกัดพรรคใหม่ ในชื่อพรรคว่า ‘พรรคประชาชน’ โดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ยืนยันยังคงยึดมั่นอุดมการณ์เดิมของพรรคก้าวไกล และจะเดินหน้าแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อไป

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในโซเชียลฯ โดยชาวเน็ตมีการแชร์ต่อข้อความที่ว่า ข้าพเจ้า ขอประกาศ ณ ที่นี่ว่า คำว่า ‘ประชาชน’ ของพรรคประชาชน ไม่ได้รวมถึงข้าพเจ้าและครอบครัว แต่อย่างใด

ทั้งนี้เพื่อป้องกันการถูกนำไปแอบอ้างในการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันหลักของชาติ อันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในอนาคต

‘ชัยชนะ’ ยันทำงานฝ่ายค้านร่วม ‘พรรคประชาชน’ ได้เหมือนเดิม ไร้ปัญหา แต่หากยังเดินหน้าแก้ ม.112 ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ชัดเจน!! ไม่สนับสนุน

(10 ส.ค.67) นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทำงานร่วมกับพรรคประชาชน ว่า การทำงานในฐานะฝ่ายค้านก็ทำร่วมกันตามปกติ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดจากพรรคก้าวไกลโดนยุบพรรค ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องหาพรรคสังกัดใหม่ ซึ่งวันนี้เราก็เห็นแล้วว่าวิกฤติการเมืองมันเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราจะเห็นว่างูเห่าจากพรรคก้าวไกลไม่มีเลย ทุกคนที่ยังเหลืออยู่ก็ย้ายไปสังกัดพรรคประชาชน เพราะฉะนั้นการทำงานร่วมกันในสภาฯ ในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็ไม่มีอะไรแตกต่างเรายังทำงานกันเหมือนเดิม

เมื่อถามว่าการที่นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิเป็นหัวหน้าพรรคประชาชน จะทำให้การทำงานร่วมกันมีปัญหาหรือไม่ นายชัยชนะกล่าวต่อว่า ไม่มีปัญหาอะไรเพราะนายณัฐพงษ์ เราก็ได้ทำงานร่วมกันมา ตั้งแต่การทำงานในวิปฝ่ายค้าน และคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณ ซึ่งนายณัฐพงษ์ก็ได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคให้เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งที่ผ่านมาการทำงานร่วมกันก็ไม่ได้ติดขัดอะไร และนายณัฐพงษ์ ก็เป็นคนที่ความสามารถ และมีบทบาทในสภาฯอยู่แล้ว

ต่อข้อถามว่า พรรคประชาชนประกาศว่าจะเดินหน้าแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ทางพรรคประชาธิปัตย์จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร นายชัยชนะกล่าวว่า เรื่อง มาตรา 112 ถือเป็นสิทธิของพรรคเขา ที่เขาจะเดินหน้าในจุดยืนของเขา แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เรายืนยันอย่างชัดเจนว่า การแก้ไขกฎหมายถ้าไปกระทบกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เราไม่สนับสนุนอยู่แล้ว

“วันนี้ทำงานในพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ใช่ว่าเราเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้วจะเห็นชอบด้วยทุกเรื่อง ฉะนั้นเรื่องไหนที่ขัดต่ออุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ และขัดกับจุดยืนของเรา เราก็ไม่เห็นด้วย เช่นกฎหมายที่เสนอให้เปิดร้านเซ็กส์ทอยให้ถูกกฎหมาย เราก็โหวตไม่เห็นด้วย แต่เรื่องหลักการทำงานขับเคลื่อนฯ ต้องทำร่วมกันอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหาอะไร” นายชัยชนะ กล่าวทิ้งท้าย

เหตุผลชัดๆ ที่ 'ก้าวไกล' ต้องถูกยุบพรรค แบบไม่ต้องไปเสียเวลาโทษศาลฯ แม้ถนัดรักษาฐานเสียง แต่ยังอ่อนหัดในเชิง 'นิติศาสตร์-รัฐศาสตร์'

(10 ส.ค.67) นายนิธิพัฒน์ พันธุ์ธุมจินดา นักธุรกิจ ฟาร์มปลาสวยงาม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Nitipat Bhandhumachinda’ ระบุว่า...

แม้จะมีกระแสโจมตีศาลรัฐธรรมนูญในบริบทของการตัดสินยุบพรรคการเมืองนั้น

แต่ประโยคที่หัวหน้าพรรคคนใหม่ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายพรรคกรณีแก้ไขมาตรา ๑๑๒ ที่กล่าวถึงแนวทางของพรรคที่ยืนยันจะแก้ไขมาตราดังกล่าวโดยกล่าวหลักการในอนาคตของพรรคว่า "วิธีการปฏิบัติ เราไม่ประมาท เราต้องกลับมาทบทวนเรียนรู้ในส่วนคำตัดสินศาล และประเด็นกฎหมายต่างๆ"

ซึ่งก็ตีความหมายใต้ช่องไฟ ได้ชัดเจนว่า ที่พรรคตนโดนยุบนั้น ไม่ได้มาจากฝีมือใคร แต่มาจากเหตุผลเดียวคือ...

อ่อนอิ๊บอ๋ายในเชิงนิติศาสตร์

ก็ไม่ต่างจากตอนที่เสียเหลี่ยมโดนพรรคเพื่อไทย หลอกให้หลุดไปเป็นฝ่ายค้าน ก็ด้วยเหตุผลเดียวเลยเช่นกันคือ

กระจอกฉัดๆ ในเชิงรัฐศาสตร์

ส่วนที่ยังสามารถรักษาฐานเสียงของตนไว้ได้ ก็ด้วยเหตุผลง่ายๆ เลยว่า...

พรรคที่มุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายวัยต่ำกว่าสี่สิบปี

นอกจากพรรคนี้

แล้วมีพรรคไหนอีกไหมหละครับ

‘สมชัย’ แจงใช้ชื่อ ‘พรรคประชาชน’ ได้ เพราะชื่อนี้ไม่มีใครใช้มาเกิน 20 ปีแล้ว ส่วนเงินของ ‘พรรคก้าวไกล’ จะถูกโยกไปให้ ‘มูลนิธิพัฒนาเยาวชนและคนหนุ่มสาว’

(10 ส.ค.67) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ‘ปั่นไปไหน - สมชัย ศรีสุทธิยากร’ โดยมีข้อความระบุว่า ...

มีคำถามมากมายจากสื่อมาที่ผม ขอตอบทีเดียว (ทำไมไม่รู้จักไปถาม กกต.)

1. ใช้ชื่อพรรคประชาชนได้ไหม เคยเป็นชื่อพรรคการเมืองที่เลิกไปแล้วในอดีต : ทำได้ครับ หากชื่อพรรคนั้นเลิกใช้เกิน 20 ปีไปแล้ว (มาตรา 10 วรรคสอง พ.ร.ป.พรรคการเมือง)
2. โลโก้ สามเหลี่ยมหัวคว่ำ คล้ายพรรคเดิมทำได้ไหม : นายทะเบียนพรรคการเมือง (เลขา กกต.) จะเป็นผู้พิจารณา หากเห็นว่า คล้ายหรือพ้อง ก็จะสั่งให้มีการแก้ไข (มาตรา 18 วรรคสาม พ.ร.ป.พรรค ฯ)

3. ทำไม กรรมการบริหารพรรคมีแค่ 5 คน : จำนวนต่ำสุดที่ระบุในกฎหมายพรรคการเมืองคือ 5 คน แต่ต้องสอดคล้องกับข้อบังคับพรรคด้วย (มาตรา 21 วรรคสอง พ.ร.ป.พรรค ฯ)
4. ค่าสมาชิกตลอดชีพ เมื่อก่อน 2,000 ตอนนี้ ทำไมแค่ 500 บาท : มีการแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง ลดค่าสมาชิก รายปีเป็นไม่น้อยกว่า 20 ปี ตลอดชีพ ไม่น้อยกว่า 200 บาท แต่ต้องให้สอดคล้องกับข้อบังคับพรรค (มาตรา 15(15) และวรรคสี่ ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง)

5. การเปลี่ยนแปลงชื่อพรรค โลโก้พรรค กรรมการบริหารพรรค ทำได้ทันทีหลังมีมติที่ประชุมใหญ่หรือ ไม่ต้องรอให้ กกต. ให้ความเห็นชอบหรือ : กม.ใหม่ มีผลนับแต่วันประชุม แจ้ง กกต.เพื่อทราบเท่านั้น แต่หาก กกต.ตรวจพบภายหลังว่า ไม่เป็นไปตาม กม. ผลการประชุมจะเป็นโมฆะ ต้องจัดประชุมใหม่
6. ทรัพย์สินและเงินในบัญชีของพรรคก้าวไกล หลังจากถูกยุบแล้วไปไหน : กก.บริหารพรรคชุดเดิมต้องส่งรายงานการเงินต่อ กกต.ภายใน 30 วัน หลังจากนั้น สตง. จะตรวจสอบความถูกต้องใน 180 วัน เหลือเท่าไร เป็นขององค์กรสาธารณกุศลที่ระบุในข้อบังคับพรรค สำหรับพรรคก้าวไกล ระบุให้เป็นของมูลนิธิพัฒนาเยาวชนและคนหนุ่มสาว ครับ

'อ.หริรักษ์' ชี้!! หากกฎหมายยุบพรรคการเมืองเป็นการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย การแก้ไข 112 ตามมุม 44 สส. ก็เป็นการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

เมื่อวานนี้ (9 ส.ค.67) รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr โดยระบุว่า ในคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญตอบข้อโต้แย้งทั้งหมดของพรรคก้าวไกล และดูเหมือนศาลรัฐธรรมนูญจะให้ความสำคัญต่อกรณีที่ สส.พรรคก้าวไกล 44 คนเข้าชื่อกันขอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ว่าเป็นเจตนาที่จะเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสำคัญ

ใครที่คิดว่าเป็นการดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติธรรมดา ต้องไปอ่านรายละเอียดเสียก่อนว่า เนื้อหาเป็นอย่างไร

ถ้าบอกว่ากฎหมายที่ให้มีการยุบพรรคการเมืองได้เป็นการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย การแก้ไขมาตรา 112 ตามแนวทางของสส.44 คน ก็เป็นการยิ่งกว่าบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์เสียอีก เพราะไปยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งผู้ที่หมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ มีโทษจำคุก 3 ถึง 15 ปี ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล มาเป็นดังนี้

มาตรา 135/5 ผู้ใดดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 135/6 ผู้ใดดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี องค์รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 135/7 ผู้ใดติชม หรือแสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิดตามมาตรา 135/5 และมาตรา 135/6

มาตรา 135/8 ความผิดฐานในลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ หากข้อที่กล่าวหาที่ว่าเป็นความผิดนั้น เป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว แล้วแต่กรณี และการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

มาตรา 135/9 ความผิดในลักษณะนี้เป็นความผิดอันยอมความได้
ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์...........

ข้อสรุปที่สำคัญคือ
1. โทษจำคุกสูงสุดของผู้ที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์คือ 1 ปี หรือจะเสียค่าปรับ 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล เป็นการลดโทษลงมาให้เหลือเท่ากับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา และจำคุก 6 เดือน หรือปรับสองแสนบาทสำหรับ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งต่ำกว่าโทษจำคุกบุคคลธรรมดา
2. หากติชมหรือแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่มีความผิด
3. หากพิสูจน์ได้ว่า สิ่งที่หมิ่นประมาท เป็นความจริง ไม่ต้องรับโทษ
4. ยอมความได้ เพราะเอาออกจากหมวดความมั่นคง
5. ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ และเป็นผู้เสียหายแทน

อย่างนี้จะไม่เรียกว่า ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ สถาบันพระมหากษัตริย์แล้วจะเรียกว่าอะไร โทษจำคุกเพียง 1 ปี หรือน้อยกว่า เสียค่าปรับเอาก็ได้ ยอมความก็ได้ หรือไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษ ก็เป็นไปได้

ถ้าให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ สำนักพระราชวังต้องใช้เจ้าหน้าที่กี่คนจึงจะปฏิบัติงานนี้ให้ได้ผลได้ เพราะเหตุนี้ประธานรัฐสภาจึงไม่กล้าบรรจุเข้าวาระการประชุม และอย่าได้อ้างว่าเป็นการกระทำของปัจเจกบุคคล ไม่ใช่เป็นการกระทำของพรรค เพราะการอ้างแบบนี้เป็นการอ้างแบบศรีธนญชัย ซึ่งใครๆก็มองออก และแท้ที่จริงแล้วต้องการยกเลิกมาตรา 112 แต่เห็นว่าเป็นไปได้ยาก จึงจะแก้ไขให้มีผลใกล้เคียงกับการยกเลิกมากที่สุด

การดิ้นรนต่อสู้ด้วยการอ้าง 14 ล้านเสียงที่เลือกมา ต้องบอกด้วยว่าใน 14 ล้านเสียงที่เลือกมา มีกี่ล้านเสียงที่เลือกไม่ใช่เพราะต้องการให้ไปแก้หรือยกเลิกมาตรา 112 มีจำนวนมากที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพรรคก้าวไกลจะทำแบบนี้ แต่เลือกเพราะอยากให้โอกาสคนหนุ่มสาวบ้างโดยที่ไม่ได้รู้เลยว่าหนุ่มสาวพวกนี้จะไปทำอะไรต่อประเทศ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์บ้าง และมีกี่ล้านเสียงที่เลือกเพราะไม่ต้องการให้มีการเกณฑ์ทหาร เลือกเพราะต้องการค่าแรงขั้นต่ำวันละ 450 บาท เลือกเพราะต้องการเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท สารพัดเหตุผล การที่ประชาชนเลือกพรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเลือกให้แล้ว จะไปทำอะไรก็ได้ ทำผิดกฎหมายก็ได้

การดิ้นรน การประกาศโจมตีศาลรัฐธรรมนูญ การประกาศยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อในรูปแบบเดิม หมายถึงการที่จะต้องเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ในแบบที่พรรคก้าวไกลต้องการให้ได้ และการที่สถานทูตฝั่งตะวันตก 18 ประเทศ การแถลงการณ์ของสหรัฐอเมริกา องค์การสหประชาชาติ องค์กรเอกชนที่เป็นแนวร่วม ตลอดจนสำนักข่าวฝั่งตะวันตก ต่างออกมาประสานเสียงว่า การยุบพรรคก้าวไกลเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย ยิ่งทำให้น่าเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลกับประเทศเหล่านี้ มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน และน่าจะมีวาระหรือ agenda บางอย่างต่อประเทศไทย การยุบพรรคก้าวไกลอาจเป็นการขัดขวางวาระหรือ agenda นั้น ไม่ให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการก็ได้

ขอให้ข้อมูลว่า นาย Ben Cardin วุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกา ที่ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทย แสดงความกังวลเรื่องการวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นวุฒิสมาชิกที่พยายามยื่นให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ใครก็ตามกล่าวหา หรือโจมตีประเทศอิสราเอล ซึ่งมีการบังคับใช้อยู่ใน 38 รัฐในสหรัฐอเมริกา ให้กำหนดโทษเป็นคดีอาญาโดยให้ผู้ที่ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก แต่ยังไม่สำเร็จ

ต้องขอบคุณศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยด้วยความไม่หวั่นไหวต่อการกดดันของพรรคก้าวไกลและแนวร่วมที่มีชื่อเสียงหลายคน จากเหตุผลและข้อมูลข้างต้น การตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญนับเป็นผลดีต่อประเทศชาติ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องห่วงว่าการยุบพรรคก้าวไกลจะทำให้คนที่สนับสนุนโกรธแค้นจนไประเบิดในคูหาเลือกตั้งครั้งต่อๆไปอย่างที่อดีตหัวหน้าพรรคประกาศ เพราะความจริงได้รับการเปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่ายังมีคนที่ยังมองไม่เห็นอีกไม่น้อย แต่รับรองว่าไม่ใช่ตายสิบเกิดแสนอย่างที่คุยโม้กัน

สำหรับสส. 44 คนของพรรคก้าวไกลที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ขอให้โชคดี เพราะพวกคุณต้องการคำนี้มากกว่าใครๆในขณะนี้

‘ผู้กำกับ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ ชี้!! ประวัติศาสตร์ไทยช่วง 2475 ขาดหาย ‘ในหลวง ร.7’ ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญและสละราชสมบัติ แต่ไม่เคยปรากฏในหนังสือเรียนไทย

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 67 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้จัดกิจกรรมเสวนา 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' และรับชมภาพยนตร์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

สำหรับการเสวนาในหัวข้อ 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' นั้น หนึ่งในวิทยากรที่ขึ้นบรรยายได้แก่ นายวิวัธน์ จิโรจน์กุล ผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชัน ‘2475 Dawn of Revolution รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ ได้พูดถึงวัตถุประสงค์ของการดำเนินการสร้างภาพยนตร์ดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันด้านประวัติศาสตร์ และยังแก้ไขความเข้าใจผิดให้กับบุคคลในประวัติศาสตร์ รวมถึงความพยายามที่จะถ่ายทอดข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี 2475 ที่ผ่านการศึกษาและค้นคว้าแจกแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือและบิดเบือน

โดยบางช่วงบางตอน นายวิวัธน์ได้กล่าวว่า “ประวัติศาสตร์ไทย มีช่วงที่ขาดหายไป โดยเฉพาะในช่วงปี 2475 หลังจากเหตุการณ์ปฏิวัติ และในหลวง รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญและสละราชสมบัติ ซึ่งประวัติศาสตร์หลังจากนี้หายไปและไม่ปรากฏในหนังสือเรียนเลย”

'กิตติ สิงหาปัด' โพสต์!! รอแถลงการณ์จากพรรคการเมือง หลังก้าวไกลถูกยุบ แต่พรรคอื่นนิ่ง ฟาก 'ชาว X' เมนต์สวนจุกๆ

ไม่นานมานี้ นายกิตติ สิงหาปัด ผู้สื่อข่าว โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X (ทวิตเตอร์) ระบุว่า...

"การยุบพรรคเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ดูเหมือนผมยังไม่เห็นแถลงการณ์อย่างเป็นทางการใดๆออกจากพรรค พท./ภจท./พปชร./รทสช./ปชป. ต่อกรณียุบพรรคก้าวไกล หรือสังคมนักการเมืองของไทยเรา ไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติพวกนี้"

หลังโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ ก็มีชาว X เข้ามาคอมเมนต์ในดังกล่าว เช่น...

"เสรีภาพไม่ใช่รึ เค้าจะพูดไม่พูด ก็เรื่องของเขา"

"พรรคหนึ่งทำผิดกม.แล้วถูกยุบก็เรื่องปกติมั้ยคะ? ทำไมพรรคอื่นต้องมีแถลงการณ์ถึงพรรคนั้นด้วยล่ะ อีกอย่างพรรคที่ถูกยุบๆเพราะกรณีล้มล้างการปกครอง พรรคอื่นจะแถลงการณ์ถึงเพื่อ?!"

"เวลาคุณขับรถบนถนน แล้วทำผิดกฎจราจร เพื่อจะได้แซงคนอื่นๆ เพื่อให้ไปเร็วขึ้น ผู้โดยสารนั่งในรถ ดีใจกันใหญ่ ฉันถึงที่หมายคนแรก ชนะแล้ว แต่มันมีด่านตำรวจดักจับอยู่ แล้วคนอื่นที่ขับตามมาเห็น คุณกำลังโดนใบสั่ง คุณคิดยังไง สมน้ำหน้าไงคะ แล้วเยาะเย้ยกลับด้วย พี่เคยโดนมาแล้ว พี่รู้ดี"

"แล้วตอนที่ พรรคไทยรักไทย / พรรคพลังประชาชน / พรรคไทยรักษาชาติ ถูกยุบ มีพรรคฝ่ายตรงข้ามออกมาแถลงการณ์อะไรมั้ยครับ? แม้แต่สื่อมวลชน อย่างพวกคุณยังแสดงออกชัดเจนว่าสมน้ำหน้าที่ถูกยุบด้วยซ้ำ"

"ถามว่าก่อนจะโดน...ทุกพรรคเตือนแล้วเคยฟังมั้ยล่ะ นอกจากมั่นหน้ากันแล้ว ยังดูถูกคนอื่นว่าเค้าไม่แน่จริงเท่าตัวเอง ถ้าคิดว่าอยากให้มีแถลงการณ์ก็ออกเองเลยค่ะ จะเห็นอกเห็นใจก็ตามสบาย ว่างๆ ก็ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคใหม่ที่เพิ่งตั้งเลย ทำตัวเองทั้งนั้นเวลาเดือดร้อนจะให้คนอื่นซวยไปด้วย ตลก"

"ไม่รู้กฎหมายเหรอคะ ศาลตัดสินแล้วก็จบ จะไปวิจารณ์อะไร แล้วนี่ก็ไปตั้งพรรคใหม่ชื่นมื่น ยักไหล่แล้วไปต่อ จะไปอะไรเขาคะ"

"คุณกิตติมีแถลงการณ์หรือความเห็นยังไงกรณีที่สื่อมวลชนผู้ประกาศข่าวร่วมอาชีพเดียวกันโดนคดีทุจริตจนต้องติดคุกแล้วก็ยังออกมาทำหน้าที่สื่อเหมือนเดิมในองค์กรสื่อเดียวกันกับคุณกิตติครับ ขอความเห็นในฐานะสื่อที่ทำข่าวเรื่องการทุจริตอย่างสม่ำเสมอครับ???"

"จะให้พรรคที่กล่าวอ้างแถลงการณ์อย่างไร เมื่อผู้นำพรรค / สส. ก็แสดงความเสียใจและไม่เห็นด้วย แต่กลับถูกบรรดาด้อมส้มไปไล่ด่าพวกเขาเสียๆ หายๆ คุณกิตติทราบไหม"

"มันจะคล้าย ๆ กับที่ก้าวไกลเองก็ไม่ได้แสดงความออกใดๆ ในวันสำคัญของชาติเหมือนพรรคอื่นๆ นั้นละครับ"

"อยากถามกลับว่า จะแถลงการณ์เพื่ออะไร ถ้าคุณคิดตามหลักกฎหมายจริงๆ และสิ่งที่เกิดขึ้น คิดแบบไม่เข้าข้างใครเลยนะ แบบเป็นกลางสุดๆ พรรคก้าวไกล สมควรถูกยุบ และยุบถูกต้องแล้ว ถามหาแถลงการณ์? จริยธรรมที่ควรมีในพรรคก้าวไกล หมิ่นเบื้องสูง ลากสถาบันลงมาเล่นสนุก ดูหมิ่น ควรแล้วหรือ #อย่าบิด!!"

'อั้ม เนโกะ' รับ!! ไม่เห็นด้วย ศาลรธน. ยุบพรรคเลวๆ แม้จะทรยศผลประโยชน์ส่วนรวมของ ปชช.ในสังคม

(9 ส.ค.67) อั้ม เนโกะ-ศรัณย์ ฉุยฉาย นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งลี้ภัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก วิจารณ์คำตัดสินยุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญ และวิจารณ์พรรคก้าวไกล โดยระบุว่า...

“ทุกคนรู้โลกรู้ว่าบริบททางอำนาจของศาลไทยเป็นยังไง ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคส้ม แม้ว่าจะเป็นพรรคที่อ่อนหัดทางการเมือง เป็นพรรคขี้ข้าจักรวรรดินิยมตะวันตก ทรยศผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนในสังคม อ้างประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนพร้อมหันหน้าซุกไข่ประเทศมหาอำนาจที่ใช้คำว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องหมายทางการค้า โดยไม่มีความคิดวิพากษ์หรือต่อต้านแต่อย่างใด ดังนั้นแล้วต่อให้พรรคก้าวไกลจะไม่ได้เป็นพรรคก้าวหน้า ไม่ใช่พรรคฝ่ายซ้าย หรือเป็นพรรคที่สามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงได้ อั้มก็ไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคเลว ๆ นี้ค่ะ”

'ลอรี่' ขอบคุณรัฐบาลสหรัฐฯ ห่วงใย ปมยุบ 'ก้าวไกล' หวัง!! คงไม่นำมาใช้สร้างแรงกดดันต่อกันในเวทีสากล

ไม่นานมานี้ นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ หรือ ‘ลอรี่’ รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงกรณีนายแมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้แสดงความเป็นกังวลต่อสถานการณ์การเมืองไทย หลังเหตุยุบพรรคก้าวไกลที่ระบุว่าคำตัดสินศาลอาจเป็นการบั่นทอนประชาธิปไตยในประเทศไทย โดยได้ชี้แจงเป็นภาษาอังกฤษ (แปลไทย) ความว่า...

“ผมลอรี่ พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ ในฐานะตัวแทนประชาชนคนไทย เรายินดีน้อมรับความเป็นห่วงของท่าน แต่คงไม่มีประโยชน์อะไร หากนำมันมาสร้างแรงกดดันต่อกัน ระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ในเวทีสากล

เพราะประเด็นภายในชาติเรื่องนี้ มีความละเอียดอ่อน ความพยายามที่จะแก้ หรือยกเลิกกฎหมาย ‘Lèse-majesté’ หรือ ม.112 อันเป็นกฎหมายคุ้มครองประมุขแห่งรัฐ ซึ่งประเทศโดยมากมีบังคับใช้กันทั่ว ถือเป็นพฤติกรรมชัดเจนว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองไทย ที่เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข แยกขาดจากกันไม่ได้

ศาลรัฐธรรมนูญไทย ได้วินิจฉัย เมื่อพรรคมีความผิดสำเร็จในพฤติกรรมที่ทำให้สถาบันกษัตริย์อ่อนแอลง ย่อมเป็นการกระทำที่เป็นการบ่อนทำลายต่อระบอบการปกครองไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้

ผมหวังว่าท่านจะเข้าใจสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย ไม่ได้มีอะไรน่าเป็นห่วง กฎหมายต้องเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้ ขณะที่พรรคการเมืองจัดตั้งใหม่ ที่ทางพรรคก้าวไกลเปิดตัว ก็สามารถต่อสู้ในแนวทางประชาธิปไตยของตัวเองต่อไปได้

ขอบคุณในความห่วงใย.. แต่ประเทศไทยเราโอเค“


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top