'ก้าวไกล' ผิดหวัง 'กสทช.' แค่รับทราบควบรวม 'ทรู-ดีแทค' จ่อยื่นป.ป.ช.เอาผิด ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่
(21 ต.ค. 65) ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุมสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติ 3 ต่อ 2 เสียงรับทราบการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค แบบมีเงื่อนไข โดยมีการกำหนดมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้น ว่า เป็นไปตามที่คาดเดา แต่ยังคงผิดหวัง เพราะเราคาดหวังไว้ว่า กสทช.จะใช้อำนาจตัวเองอย่างเต็มที่ ซึ่งหากสังเกตมติครั้งนี้ไม่ใช่การอนุญาตให้ควบรวมแต่เป็นการรับทราบ มีการโหวต 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการลงมติว่าสรุปแล้วกสทช.มีอำนาจให้ควบรวมหรือไม่ สิ่งที่ลงมติออกมาเป็น 2 ต่อ 2 เสียง ซึ่งก็เป็นประเด็นว่าในการลงมติเรื่องนี้จำเป็นจะต้องได้เสียงข้างมากของคณะกรรมการทั้งหมด คืออย่างน้อยต้องได้ 3 เสียงแต่กรณีนี้เป็นการที่คะแนนเท่ากัน จึงต้องให้ประธานชี้ขาด ซึ่งจะใช้ในกรณีที่เป็นกรณีพิเศษไม่ใช่ในกรณีนี้ ตามข้อบังคับการประชุมของกสทช.
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า เมื่อมาดูมติเสียงข้างมากบอกว่าตัวเองไม่มีอำนาจที่จะอนุญาตและใช้วิธีเพียงแค่การรับทราบผลการขอควบรวมธุรกิจ แสดงว่ากสทช.ตีความว่า ทรูและดีแทคไม่ได้อยู่ในธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งค้านสายตาคนทั้งประเทศ และการที่ออกมาตรการหรือเงื่อนไขภายหลังแบบนี้ ตนคิดว่าสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีสำหรับกฎหมายกำกับดูแลในประเทศนี้ ถ้าต่อไปเอไอเอสต้องการจะควบรวมกับ 3BB เขาจำเป็นต้องขออนุญาตหรือไม่ และในกรณีนี้จะนับว่าเป็นธุรกิจประเภทเดียวกันอีกหรือไม่ ฉะนั้น ตนคิดว่ามีปัญหาตั้งแต่กระบวนการโหวตและการตีความกฎหมายทั้งคู่ ผลที่ออกมาในส่วนที่เป็นเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะในหลายเรื่องทั้งในเรื่องเชิงโครงสร้างและในเชิงพฤติกรรม ซึ่งหลายคนอาจจะรู้สึกพอใจแล้วว่ามาตรการที่จะช่วยควบคุมราคา แต่ขอบอกว่าไม่มีการตัดสินของการอนุญาตควบรวมใด ๆ ในโลกนี้ที่ให้รัฐเป็นผู้ควบคุมราคา เพราะทราบกันดีว่าในความเป็นจริงทำได้ยากมาก
“ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นจะต้องมีที่สุดคือมาตรการในเชิงโครงสร้างไม่ว่าจะเป็นการขายลูกค้าให้กับเจ้าอื่น หรือขายคลื่นหรือคืนคลื่นออกมาในส่วนที่มีถือครองคลื่นเกินจำนวนที่กสทช.กำหนดไว้ หรือการใช้เสาสัญญาณร่วมในราคาที่เป็นธรรม ที่สำคัญที่สุดคือทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ขึ้นเป็นเจ้าที่ 3 ซึ่งในกรณีนี้ต้องมีการกันคลื่นไว้ส่วนหนึ่งเพื่อที่จะนำไปประมูลสัมปทานให้กับรายใหม่ได้ และอาจจำเป็นต้องให้แต้มต่อกับรายใหม่ให้ได้ราคาที่ถูกเป็นพิเศษด้วยซ้ำ เพื่อดึงดูดให้มีรายที่ 3 เข้ามา จึงคิดว่าทั้งหมดนี้เป็นเงื่อนไขและมาตรการที่ไม่เพียงพอที่จะกู้คืนสภาพการแข่งขันที่เคยมีอยู่ 3 เจ้าได้เลย จึงเป็นที่มาของการคัดค้านการตัดสินใจของ กสทช. ในครั้งนี้ต่อไป เนื่องจาก กสทช.ไม่ได้ใช้อำนาจของตัวเองอย่างที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
